Thursday, 25 April 2024
รัสเซีย

‘ตุรกี’ ซบ ‘รัสเซีย’ จับมือร่วมพันธมิตรเฉพาะกิจ เคลียร์ปัญหาใจในซีเรีย ดีดสหรัฐฯ ออกนอกวง

เมื่อวันพุธ 29 กันยายน 2021 ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เปิดรีสอร์ทหรูในเมืองโซชิ ต้อนรับการมาเยือนอย่างเป็นทางการของ ประธานาธิบดี ราเซป ไทยิป แอโดแกน ผู้นำตุรกี เป็นการพบหน้าหารือกันเป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือน และในครั้งนี้ถือเป็นการประชุมวาระพิเศษ ที่ทั้ง 2 ผู้นำจะทำข้อตกลงร่วมกันในหลายประเด็น ได้แก่ การซื้อระบบขีปนาวุธ S-400 เสริมกองทัพตุรกี และจับมือกันเพื่อสร้างเสถียรภาพในซีเรีย

หลังจากที่นัดคุยกันเป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมง แม้จะไม่มีการให้รายละเอียดกับผู้สื่อข่าวถึงเนื้อหาการประชุม แต่เป็นการพบกันด้วยบรรยากาศที่ชื่นมื่น โดยประธานาธิบดีปูตินได้กล่าวขอบคุณผู้นำตุรกีในการมาเยือนครั้งนี้ ที่ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นกันที่มีประโยชน์ร่วมกันอย่างมากมาย และจะมีการติดต่อกันเพิ่มเติมหลังจากนี้อีกแน่นอน 

เช่นเดียวกันกับประธานาธิบดีแอโดแกน ก็กล่าวว่าเป็นการพูดคุยอย่างมีเนื้อหาสาระจริงๆ และกล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย และตุรกี เริ่มพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ การพูดคุยครั้งนี้ทั้ง 2 ฝ่ายก็จะประนีประนอมเข้าหากันเพื่อให้สามารถบรรลุผลประโยชน์ร่วมกันได้ในที่สุด

แต่ผลประโยชน์อะไรที่ทำให้ทั้งตุรกี และ รัสเซีย พยายามจับมือร่วมกันให้ได้ในวันนี้ 

คำตอบอาจอยู่ที่ "ซีเรีย" 

ซึ่งที่ผ่านมา ปมความขัดแย้งอย่างหนึ่งระหว่างตุรกี และ รัสเซีย ก็เกิดขึ้นที่ซีเรีย โดยเป็นที่รู้กันว่าฝ่ายรัสเซียสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลของประธานาธิบดี บาซาร์ อัล-อาซาด มาโดยตลอด ในขณะที่ตุรกีสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาล และกองทัพของรัสเซีย ก็เคยปะทะกับฝ่ายกองทัพตุรกีในเมืองอิดลิบของซีเรียมาแล้ว

ถึงแม้จะมีความสัมพันธ์อันคลุมเครือ แต่ก็มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ทั้ง 2 ชาติมีความเห็นตรงกันคือ ไม่อยากให้สหรัฐอเมริกาเข้ามายุ่ง 

รัสเซีย วิกฤตติดเชื้อรายวันทุบสถิติสูงสุด หลังโควิดคร่าชีวิตวันเดียวพุ่งกว่าพันราย

รัสเซีย รายงานเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 ต.ค. พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่รายวัน สูงสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด เพิ่มขึ้นจาก 1 เดือนก่อนถึง 70% ในขณะที่เคสผู้ติดเชื้อในประเทศแห่งนี้กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อัตราการฉีดวัคซีนยังคงอยู่ในระดับต่ำ

คณะทำงานเฉพาะกิจด้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของรัสเซีย ระบุในวันอาทิตย์ (17 ต.ค.) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 34,303 คน เพิ่มขึ้นถึง 70% จากระดับ 20,174 คนของวันที่ 19 กันยายน

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันอยู่ที่ 999 ราย ลดลงเล็กน้อยจาก 1,002 คนเมื่อวันเสาร์ (16 ต.ค.) ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด

เจ้าหน้าที่รัสเซียพยายามเร่งอัตราการฉีดวัคซีน โดยใช้ลอตเตอรี่ เงินโบนัส และสิ่งจูงใจอื่นๆ โน้มน้าวประชาชน แต่ประชาชนยังคงมีความเคลือบแคลงใจต่อวัคซีนในวงกว้าง และการส่งสัญญาณที่ขัดแย้งกันของบรรดาเจ้าหน้าที่ กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางความพยายามดังกล่าว

รัฐบาลเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า มีชาวรัสเซียเพียง 43 ล้านคน หรือประมาณ 29% ของประชากรทั้งหมดเกือบ 146 ล้านคน ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว

แม้จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่วังเครมลินปฏิเสธการล็อกดาวน์ทั่วประเทศรอบใหม่ แบบเดียวกับที่เคยกำหนดในช่วงต้นๆ ของโรคระบาดใหญ่ หลังมันก่อผลกระทบเลวร้ายต่อเศรษฐกิจและกัดกร่อนคะแนนนิยมของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน โดยหันไปมอบอำนาจบังคับใช้ข้อจำกัดสกัดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แก่เจ้าหน้าที่ระดับภูมิภาคแทน

'ไบเดน' แขวะ!! 'จีน-รัสเซีย' ไร้เงาผู้นำบนเวที COP26 ด้านจีนสวน ยังดีกว่าบางประเทศที่เคยถอนตัว

กลายเป็นดราม่าร้อนแรงกลางงานประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาเพื่อปัญหาสภาพอากาศครั้งที่ 26 (COP26) จนได้ เมื่อ 'โจ ไบเดน' ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาแขวะแรงถึง ผู้นำจีน 'สี่ จิ้นผิง' และ ประธานาธิบดี รัสเซีย 'วลาดิมีร์ ปูติน' ว่าขาดภาวะผู้นำในเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อน เนื่องจากผู้นำทั้งคู่ไม่มาเข้าร่วมการประชุม COP26 ประจำปีนี้ 

การประชุม COP26 นับเป็นงานสำคัญที่มีผู้นำประเทศมากกว่า 120 ชาติ มาเข้าร่วมโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อถกปัญหาด้านสภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-12 พฤศจิกายน ที่เมืองกลาสโกล ในสกอตแลนด์ 

แต่กลับไม่พบ สี จิ้นผิง และ วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำของ 2 ชาติมหาอำนาจมาเข้าร่วมประชุม โดยทั้งจีน และรัสเซีย แจ้งว่าติดปัญหาเรื่องการระบาด Covid-19 ที่ทำให้ไม่สะดวกเดินทางไปต่างประเทศในช่วงนี้ 

โดยผู้นำรัสเซียจะเข้าร่วมประชุมทางไกลผ่านสื่อออนไลน์ ส่วนผู้นำจีนได้ส่งถ้อยแถลงแสดงเจตจำนงในการเป็นส่วนหนึ่งของสมัชชาภาคีอนุสัญญาผ่านมาทางกระทรวงการต่างประเทศของจีน

แต่ก็ไม่วายโดนผู้นำสหรัฐฯ อย่างโจ ไบเดน แขวะแรงว่า... 

"ทั้ง ๆ ที่จีนพยายามเหลือเกินที่จะให้ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นผู้นำโลก แต่ไม่ยอมมาร่วมประชุม COP26! ได้เหรอ! นี่เป็นประเด็นสำคัญของโลกเลยนะครับ แต่พวกเขา (จีน/รัสเซีย) กลับไม่มา แล้วประเทศอื่นเขาจะคิดยังไง แล้วยังจะอ้างตัวเป็นผู้นำโลกได้อีกหรือ? สำหรับจีน ผมพูดตรง ๆ เลยนะ พลาดมาก!!"

ปัจจุบัน จีน เป็นประเทศที่มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดในโลก ส่วนรัสเซียอยู่ในอันดับ 4 ดังนั้นการไม่ปรากฏตัวของผู้นำทั้ง 2 ชาติอย่างกับนัดหมายในงาน COP26 นั้น จึงกลายเป็นที่สังเกต และเปิดช่องให้ผู้นำสหรัฐฯ ออกปากโจมตีเพื่อสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของจีน และรัสเซีย

2 ยักษ์ ‘รัสเซีย-อินเดีย’ เร่งจับมือกระชับมิตร ขยายฐาน ‘ธุรกิจ - พลังงาน - ยุทโธปกรณ์’

‘วลาดิมีร์ ปูติน’ ผู้นำรัสเซีย บินข้ามทวีปมาเยือน ‘นเรนทรา โมดี’ นายกรัฐมนตรีอินเดียอย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา นับเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศเป็นครั้งที่ 2 เท่านั้นตลอดทั้งปีของปูติน เนื่องจากปัญหาการระบาด Covid-19

ครั้งล่าสุดที่เห็นปูตินเดินทางเยือนต่างประเทศ คือ ช่วงกลางเดือนมิถุนายนของปีนี้ ที่มีงานประชุมทวิภาคีระหว่างสหรัฐอเมริกา และ รัสเซีย ที่กรุงเจนีวา ในสวิตเซอร์แลนด์ แล้วหลังจากนั้นก็ยังไม่ได้เห็นปูตินเดินทางไปไหนอีกเลย แม้กระทั่งงานประชุมสุดยอดผู้นำโลก COP26 เพื่อปัญหาสภาพอากาศที่เมืองกลาสโกว์ ในสกอตแลนด์ ก็ยังไร้เงาผู้นำแห่งรัสเซีย

แต่มาครั้งนี้ ทริปสุดท้ายปลายปีที่ปูตินยอมออกเดินทางจากทำเนียบเครมลิน เป็นการนัดพบกับนายกรัฐมนตรีนเนทรา โมดี แห่งอินเดีย พร้อมรัฐมนตรีคนสำคัญชุดใหญ่ทั้งฝ่ายต่างประเทศ และกลาโหม ส่งสัญญาณชัดว่าการพบปะกันของทั้ง 2 ผู้นำระดับยักษ์ใหญ่คนละซีกโลกต้องไม่ธรรมดาแน่ ๆ

และก็เป็นดังคาด หลังจากที่ 2 ผู้นำ ‘ปูติน-โมดิ’ พบกันด้วยบรรยากาศอันชื่นมื่นแล้ว ยังสามารถบรรลุข้อตกลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญร่วมกันถึง 28 ฉบับ ที่รวมถึงการขยายฐานการผลิตปืนไรเฟิล Kalashnikov โมเดลคลาสสิกของรัสเซีย ที่เป็นหนึ่งในยุทโธปกรณ์ที่มีการใช้งานมากที่สุดในโลก และอินเดียเป็นหนึ่งในฐานการผลิตปืน Kalashnikov ให้กับรัสเซียที่ปูตินต้องการให้ผลิตเพิ่มขึ้นอีกกว่า 6 แสนกระบอก 

นอกจากนี้รัสเซียตกลงที่จะขายระบบขีปนาวุธรุ่นล่าสุด S-400 ให้กับอินเดีย พร้อมข้อตกลงความร่วมมือทางทหาร และเทคโนโลยีระหว่างกันอีกถึงปี 2031 

ส่วนด้านเศรษฐกิจ ทั้งรัสเซีย และอินเดีย ได้ตกลงที่จะเร่งขยายมูลค่าทางการค้าให้ได้ถึง 3 หมื่นล้านเหรียญต่อปี ภายในปี 2025 และ Rosneft บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของรัสเซียก็ได้เซ็นสัญญาส่งน้ำมันให้กับบริษัทน้ำมันของอินเดียในปริมาณมากถึง 2 ล้านตันภายในปี 2022 

นับเป็นการบรรลุข้อตกลง และการเดินหมากภูมิศาสตร์การเมืองที่น่าสนใจมากสำหรับทั้งรัสเซีย และอินเดีย ที่ทุกคนต่างรู้กันว่า ยืนอยู่คนละฝั่งของขั้วอำนาจโลก

โดยทางรัสเซีย นับเป็นพันธมิตรคนสำคัญที่สุดของจีนแผ่นดินใหญ่ และประสานยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมืองร่วมกันอย่างลึกซึ้ง แต่การมาเยือนอินเดียครั้งนี้ของปูติน จำเป็นต้องระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากว่า อินเดียและจีน ยังมีข้อพิพาทรุนแรงในเขตพื้นที่แถบเทือกเขาหิมาลัย เขตหุบเขากัลวาน และเขตที่ราบสูง อัคไซ ชิน ดังนั้น การยกระดับความร่วมมือทางการทหารระหว่างอินเดียและรัสเซีย ก็สุ่มเสี่ยงที่จะสร้างความบาดหมางให้กับทางปักกิ่งได้เช่นกัน 

‘ปูติน’ กร้าว! ขู่ชาติตะวันตก ยัน จะตอบโต้พฤติกรรมคุกคามแน่

มอสโก (เอเอฟพี/รอยเตอร์ส) - ความตึงเครียดหนักระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกยังไม่มีทีท่าว่าจะบรรเทาเบาบางลง ล่าสุด ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียขู่ว่าจะตอบโต้ภัยคุกคาม พร้อมกับเผยโฉมเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์รุ่นใหม่

ในระหว่างการประชุมร่วมกับนายทหารระดับสูงที่กรุงมอสโก ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้กล่าวถึงความตึงเครียดกับชาติตะวันตกกรณียูเครน ว่า ปัญหาตึงเครียดที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO สถานการณ์มีแต่เลวร้ายลงตลอดทำให้รัสเซียต้องถูกบีบบังคับให้ต้องรับมือ และพร้อมจะใช้กำลังตอบโต้หากถูกชาติตะวันตกคุกคามด้วยความก้าวร้าวทางการเมือง

ในคำแถลงนี้ จุดสำคัญที่เป็นข้อเรียกร้องของปูตินต่อชาติพันธมิตรตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ คือ การสร้างหลักประกันว่า NATO จะไม่ขยายอิทธิพลด้วยการติดตั้งอาวุธประชิดพรมแดนของรัสเซีย และห้ามไม่ให้ยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ด้วย ซึ่งข้อเรียกร้องของปูตินนี้อยู่ในร่างความตกลง ที่รัสเซียส่งให้ชาติตะวันตกเมื่อไม่กี่วันก่อน เพื่อยุติการเผชิญหน้าบริเวณพรมแดนยูเครนกับรัสเซีย หลังจากในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รัสเซียระดมกำลังทหารกว่าแสนนาย พร้อมรถถังและยุทโธปกรณ์จำนวนมากไปประชิดพรมแดน จนหลายฝ่ายเกรงกันว่ารัสเซียจะบุกยูเครนอีกครั้ง หลังจากที่ยึดคาบสมุทรไครเมียไปจากยูเครนเมื่อ 7 ปีก่อน และจากนั้นมารัสเซีย ยังได้หนุนหลังกองกำลังแบ่งแยกดินแดนในยูเครนมาโดยตลอด

สหรัฐฯ สั่งทหาร 'เตรียมพร้อมขั้นสูงสุด' รับมือวิกฤต ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ที่รอวันปะทุ

สหรัฐฯ สั่งการให้ทหาร 8,500 นาย "เตรียมพร้อมขั้นสูงสุด" ท่ามกลางเหตุเผชิญหน้าเกี่ยวกับยูเครน ชี้รัสเซียยังคงเดินหน้าเสริมกองกำลังของตนเองตามแนวชายแดนของประเทศ

จอห์น เคอร์บี โฆษกเพนตากอน ระบุว่า ทหารเหล่านี้อาจได้รับคำสั่งให้เข้าประจำการเพื่อสนับสนุนกองกำลังตอบโต้ของนาโต้ (Nato Response Force) หากว่านาโต้เคลื่อนไหวเสริมกำลังพลในเหล่าประเทศสมาชิกยุโรปตะวันออกของนาโต้ สืบเนื่องจากภัยคุกคามจากรัสเซีย

"ชัดเจนว่าเวลานี้รัสเซียไม่มีเจตนาลดสถานการณ์ความตึงเครียด" เคอร์บีบอกกับพวกผู้สื่อข่าว ระหว่างแถลงข่าวสั่งการให้ทหารเตรียมพร้อมขั้นสูงสุด

ทหารเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นกองกำลังภาคพื้นและหน่วยสนับสนุน ได้รับการแจ้งว่าให้เตรียมพร้อมสำหรับเคลื่อนพลภายใน 5 วันหากมีคำสั่งให้เข้าประจำการออกมา "สหรัฐฯ จะดำเนินการอย่างหนักแน่นในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ตอบโต้ความเคลื่อนไหวต่างๆ ของรัสเซียที่ทำร้ายเรา พันธมิตรของเราและคู่หูของเรา" เคอร์บี กล่าว

เคอร์บี บอกว่า หากมีการระดมพลกองกำลังตอบโต้ของนาโต้ ทหารสหรัฐฯ อาจถูกส่งเข้าประจำการเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของกองกำลังชาติต่างๆ ในพันธมิตรนาโต้ตามแนวชายแดนของรัสเซีย "จำนวนมากของทหารเหล่านี้มีเจตนาเพื่อกองกำลังตอบโต้ของนาโต้"

ทั้งนี้ เคอร์บี้ ไม่ได้ระบุว่าสหรัฐฯ มีกำหนดการแน่นอนหรือไม่ว่าจะต้องเคลื่อนพลเมื่อใด และย้ำว่า การเตรียมการนี้มีจุดประสงค์ที่จะทำให้นาโต้มั่นใจว่า อเมริกาพร้อมที่จะเข้าช่วยหากต้องมีการใช้กำลังทหารเพื่อตอบโต้เหตุการณ์รุกรานยูเครนขึ้นมา

โฆษกเพนตากอน กล่าวว่า การเคลื่อนกำลังพลของสหรัฐฯ นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อกองกำลังพันธมิตรนาโต้ตัดสินใจสั่งให้มีการเดินทัพกองกำลังตอบโต้อย่างรวดเร็ว หรือ “หากมีการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์” ที่เกี่ยวข้องกับความตึงเครียดจากการสั่งสมกำลังทหารของรัสเซียที่ชายแดนติดกับยูเครน

ด้าน ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เสริมว่าอาจมีการประจำการกองทหารอื่นๆ อีกบางส่วน โดยไม่ได้ให้รายละเอียดอย่างเฉพาะเจาะจง อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าทหารเหล่านี้จะไม่ถูกส่งเข้าประจำการในยูเครน ประเทศซึ่งกำลังหาทางเข้าเป็นสมาชิกของนาโต้

‘ปูติน’ เริ่มของขึ้น!! ออกสื่ออัด ‘สหรัฐฯ-ยุโรป’ หลังตั้งใจดึงรัสเซียเข้าสู่สงครามให้ได้

ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ฉุนขาด!! ออกมาอัดยับ เหล่าบรรดาชาติตะวันตกที่กำลังสร้างสถานการณ์ความตึงเครียดในยูเครน เพื่อดึงรัสเซียเข้าสู่สงครามให้ได้ โดยไม่สนใจข้อต่อรองขั้นพื้นฐานของรัสเซียในเรื่องความมั่นคงภายในของยูเครนและรัสเซียเลยแม้แต่น้อย

ท่ามกลางกระแสข่าวว่ารัสเซียเตรียมนำกองทัพบุกยึดยูเครนในไม่ช้านี้ที่หลุดออกมาสะพัด แต่จนแล้วจนรอดรัฐบาลเครมลินก็ปฏิเสธในทุกทีไป เฉกเช่นเดียวกันกับปูตินเอง ที่ไม่ได้ออกสื่อแสดงความเห็นโดยตรงเกี่ยวกับความตึงเครียดบริเวณชายแดนยูเครน-รัสเซียมานาน 

อย่างไรก็ตามแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกา และชาติพันธมิตรตะวันตก ซึ่งได้ส่งกองทหารหนุนยูเครน กดดันรัสเซียอย่างหนัก โดยล่าสุด โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ เตรียมส่งกองหนุนเพิ่มให้อีกกว่า 3,000 นาย เข้าไปในเยอรมัน, โรมาเนีย และโปแลนด์ นอกเหนือจากกองกำลังต่างหากของ NATO โดย จอห์น เคอร์บี โฆษกของแพนทากอน ได้กล่าวว่า กองกำลังส่วนนี้มีภารกิจเพื่อสกัดการรุกราน และเสริมกำลังให้กับกองรบแถวหน้าให้กับพันธมิตรของเรา ซึ่งพร้อมเคลื่อนพลประจำการได้ในทันทีเร็วๆ นี้

พอมาถึงจุดนี้ ก็เหมือนจะทำให้ผู้นำรัสเซียเริ่มเดือด และดูท่าจะไม่อดทนอีกต่อไป จนได้มีการออกมาให้สัมภาษณ์กับนักข่าวขณะไปเยือนนายกรัฐมนตรีฮังการีว่า “จนถึงตอนนี้ก็ชัดเจนแล้วว่า ชาติพันธมิตรตะวันตกไม่ได้สนใจข้อเรียกร้องของรัสเซียเรื่องความมั่นคงเลย”

รัสเซีย-เบลารุส ซ้อมรบกระสุนจริง เร้าพลเมืองสหรัฐฯ ออกจากยูเครนด่วน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เมื่อวันพฤหัสบดี (10 ก.พ.) เร่งเร้าพลเมืองอเมริกาให้เดินทางออกจากยูเครนในทันที ในขณะที่การซ้อมรบกระสุนจริงของรัสเซียและการระดมกำลังทหารตามแนวชายแดน โหมกระพือความกังวลว่ามอสโกจะยกพลรุกรานยูเครน

ความตึงเครียดระหว่างวอชิงตันกับมอสโกพุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่สงครามเย็น ด้วยสหรัฐฯ ประมาณการว่า มีทหารรัสเซียราว 130,000 นาย ระดมกำลังกันอยู่ตามแนวชายแดนติดกับยูเครน

"พลเมืองอเมริกันควรเดินทางออกมาเดี๋ยวนี้เลย" ไบเดนกล่าวในการสัมภาษณ์ที่บันทึกเทปไว้ล่วงหน้ากับสำนักข่าวเอ็นบีซีนิวส์ "เรากำลังรับมือกับหนึ่งในกองทัพใหญ่ที่สุดในโลก มันเป็นสถานการณ์ที่ต่างออกไปอย่างมากและสิ่งต่างๆ อาจเข้าสู่ความบ้าคลั่งอย่างรวดเร็ว"

ไบเดน เน้นย้ำว่า ไม่มีกรณีแวดล้อมใดที่เขาจะส่งทหารเข้าไปยังยูเครน แม้กระทั่งในภารกิจช่วยหลือพลเมืองอเมริกันในกรณีที่รัสเซียเปิดฉากรุกราน "มันจะเป็นสงครามโลก เมื่ออเมริกาและรัสเซียเริ่มยิงเข้าใส่กัน เราจะอยู่ในโลกที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง" เขากล่าว

คำพูดของไบเดนถูกเผยแพร่ออกมาหลายชั่วโมง หลังจากรัสเซียเคลื่อนรถถังข้ามชายแดนเข้าสู่เบลารุส เพื่อซ้อมรบกระสุนจริง ที่เรียกเสียงเตือนจากนาโต้ และกระตุ้นให้ตะวันตกต้องเร่งมือในความพยายามหลีกเลี่ยงเกิดสงครามในทวีปยุโรป

นาโต้ระบุว่า ความเคลื่อนไหวประจำการขีปนาวุธ ยานเกราะหนัก และกองทหารติดปืนกลของรัสเซีย ตอกย้ำถึง "ช่วงเวลาอันตราย" สำหรับทวีปยุโรป ราว 3 ทศวรรษหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

พวกผู้นำตะวันตกพยายามติดต่อไปมากับมอสโก ในความพยายามรักษาช่องทางการสื่อสารระหว่างสองฝ่ายเอาไว้ เปิดโอกาสให้รัสเซียระบายความคับข้องใจเกี่ยวกับการแผนขยายอิทธิพลของนาโต้เข้าสู่ยุโรปตะวันตกและบรรดาประเทศอดีตสหภาพโซเวียต

อย่างไรก็ตาม พวกเขาพยามหาทางแสดงออกถึงความแน่วแน่ในการเผชิญกับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าท่าทีของรัสเซียที่ซ้ำเติมสถานการณ์ความตึงเครียดที่หนักหน่วงอยู่ก่อนแล้ว "รัสเซียไม่ควรประเมินเราต่ำเกินไป ทั้งในแง่ความเป็นหนึ่งเดียวกันและความมุ่งมั่นของเราในฐานะพันธมิตรอียูและในฐานะพันธมิตรนาโต้" โอลาฟ์ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีระบุ

เพนตากอนเผยในวันพฤหัสบดี (10 ก.พ.) ว่า ในความพยายามลดโอกาสของการคำนวณพลาดระหว่างการซ้อมรบของรัสเซียกับเบลารุส บรรดาผู้บัญชาการด้านกลาโหมของสหรัฐฯ และเบลารุสได้พูดคุยทางโทรศัพท์กัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่พบเห็นบ่อยครั้งนัก

รัสเซียยังได้ส่งเรือรบ 6 ลำ ล่องผ่านช่องแคบบอสพอรัส สำหรับซ้อมรบทางนาวีในทะเลดำ และทะเลอาซอฟที่อยู่ติดกัน

ข่าวกรองสหรัฐฯ คาดรัสเซียบุกยูเครนพุธนี้ เชื่อเปิดฉากถล่มด้วยขีปนาวุธและระเบิด

เพนตากอนระบุในวันอาทิตย์ (13 ก.พ.) การติดต่อเจรจาระดับสูงระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียรอบล่าสุด "ไม่ได้ก่อมุมมองในแง่บวกใดๆ" ในขณะที่หน่วยข่าวกรองอเมริกาคาดมอสโกอาจเปิดฉากโจมตียูเครนวันพุธนี้ (16 ก.พ.) และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ชี้การรุกรานอาจเริ่มต้นการถล่มด้วยขีปนาวุธและระเบิด ซึ่งจะคร่าชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์

จอห์น เคอร์บี โฆษกของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน ให้คำประเมินอย่างขุ่นมัวเกี่ยวกับการสนทนากันนาน 1 ชั่วโมง ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เมื่อวันเสาร์ (12 ก.พ.) ที่ผ่านมา

"แน่นอนว่า มันไม่ใช่สัญญาณว่าสิ่งต่างๆ มุ่งหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง มันไม่ใช่สัญญาณที่มิสเตอร์ปูตินแสดงเจตนาใดๆ ที่จะลดความตึงเครียด และแน่นอนว่า ไม่ใช่สัญญาณที่เขาจะผูกมัดตนเองกับการมุ่งหน้าสู่เส้นทางด้านการทูต" เคอร์บีให้สัมภาษณ์กับรายงานฟ็อกซ์นิวส์ซันเดย์ "ดังนั้น มันไม่ได้มอบบ่อเกิดแห่งมุมมองในแง่บวกแก่เราใดๆ"

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ส่งเสียงเตือนรอบแล้วรอบเล่าและเริ่มเตือนแบบตรงไปตรงมามากขึ้นเรื่อยๆ ว่าปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซียใกล้เข้ามาทุกขณะ และประเทศต่างๆ กำลังเร่งอพยพพลเมืองของตนเองออกจากยูเครน

เจค ซุลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นในวันอาทิตย์ (13 ก.พ.) ไม่ยืนยันรายงานข่าวที่ระบุ ข่าวกรองสหรัฐฯ บ่งชี้ว่ารัสเซียกำลังมีแผนรุกรานยูเครนในวันพุธ (16 ก.พ.) โดยเพียงแต่บอกว่าพวกเขาจะพยายามปกป้องกัน "เหตุโจมตีน่าประหลาดใจใดๆ" ด้วยการแชร์ข้อมูลเท่าที่รู้เกี่ยวกับแผนการของรัสเซีย

"เราไม่สามารถคาดเดาวันเวลาได้อย่างแน่นอน แต่ตอนนี้เราพูดมาสักพักแล้วว่าเรากำลังอยู่ในจุดนั้น และการรุกรานอาจเริ่มขึ้น ปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ของรัสเซียในยูเครนอาจเริ่มขึ้นได้ทุกวันนับตั้งแต่นี้ รวมถึงในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ก่อนกีฬาโอลิมปิกเกมส์จบลง" ซุลลิแวนให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็น เมื่อถูกถามถึงความเป็นไปได้ที่มันจะเกิดขึ้นในวันพุธ (16 ก.พ.)

สหรัฐฯ ย้ายที่ทำการสถานทูตพ้นกรุงเคียฟ อ้างรัสเซียโจมตีทำลายล้างยูเครนได้ทุกเมื่อ

สหรัฐฯ กำลังย้ายปฏิบัติการของสถานทูตประจำยูเครน จากกรุงเคียฟไปยังลวิฟ เมืองทางตะวันตก จากการเปิดเผยของแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศในวันจันทร์ (14 ก.พ.) โดยอ้างถึง "การเร่งเสริมกำลังพลของกองทัพรัสเซีย"

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เตือนว่ามอสโกกำลังเดินหน้าสะสมกำลังพลมากกว่า 100,000 นาย ใกล้ชายแดนติดกับยูเครนและในเบลารุส และอาจลงมือโจมตีทำลายล้างได้ทุกเมื่อ ในนั้นรวมถึงกรุงเคียฟ แม้ว่าทางรัสเซียยืนกรานปฏิเสธคำกล่าวหาของทางตะวันตก และบอกว่าพวกเขาไม่มีแผนรุกรานใดๆ

"การรุกรานใดๆ เข้าสู่ยูเครนจะนำมาซึ่งความรุนแรงครั้งเลวร้าย การทำลายล้างครั้งใหญ่ และความสูญเสียที่ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาวอเมริกา ชาวยูเครนหรืออื่นๆ" เนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ

บลิงเคน กล่าวในถ้อยแถลงว่า การตัดสินใจย้ายปฏิบัติการของสถานทูตไปยังเมืองลวิฟ ห่างจากชายแดนทางตะวันตกของยูเครนติดกับโปแลนด์ ราวๆ 80 กิโลเมตร เป็นการดำเนินการภายใต้ความกังวลด้านความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ของสถานทูตได้รับคำสั่งให้เดินทางออกจากยูเครน และพลเมืองสหรัฐฯ ได้รับคำแนะนำให้เดินทางออกจากประเทศแห่งนี้ด้วยระบบขนส่งพาณิชย์

บลิงเคน เน้นย้ำว่าการย้ายปฏิบัติการของสถานทูตในครั้งนี้ ไม่ได้ดำเนินการในแนวทางที่บ่อนทำลายแรงสนับสนุนของสหรัฐฯ ที่มีต่ออำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน และคณะผู้แทนทูตของสหรัฐฯ จะยังคงติดต่อกับรัฐบาลยูเครน "สหรัฐฯ ยังคงเดินหน้ากดดันมอสโกเพื่อหนทางออกทางการทูต" เขากล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top