‘สามล้อ’ เป็นหนึ่งในยานพาหนะขนส่งซึ่งผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะในต่างจังหวัด หนึ่งในขนส่งสาธารณะที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายก็คือ ‘สกายแล็บ (Skylab)’ รถสามล้อเครื่องยนต์สันดาปภายใน แต่เมื่อโลกเผชิญกับคลื่นความร้อน การพัฒนารถอีวีเข้ามาทดแทนระบบสันดาป ประเทศไทยก็มีการพัฒนาสามล้ออีวีรูปลักษณ์ทันสมัย สวย เก๋ เท่ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชื่อว่า ‘KHamKoon’ หรือ ค้ำคูณ
สามล้ออีวี KHamKoon พัฒนาโดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ (RMT) ร่วมกับ บริษัท เทคโนโลยีอีสานเหนือ จำกัด โดย วิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ จังหวัดอุดรธานี ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตอบรับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความทันสมัย ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ เอ็มเทค สวทช. เล่าถึงที่มาของโครงการว่า สามล้อ ‘KHamKoon’ ถูกพัฒนาด้วยแนวคิดให้เป็นทางเลือกใหม่สำหรับการขนส่งสาธารณะในจังหวัดอุดรธานี ที่กำลังเติบโตรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ในอนาคต แต่การทำอะไรต้องแตกต่างจากคนอื่น ถ้าทำเหมือนคนอื่นเราก็ไม่ก้าวหน้า บุคคลหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญของโครงการนี้คือ คุณวิกรม วัชระคุปต์ รองประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว ซึ่งเดินทางไปทำงานที่อุดรธานีบ่อยครั้ง และรู้จักกลุ่มอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ปรึกษาว่าจะทำอะไรร่วมกับอุตสาหกรรมในอุดรธานีดี ผมเสนอว่าลองทำรถสามล้อดีไหม เนื่องจากคนที่นั่นนิยมใช้รถสามล้อสกายแล็บ แต่ยังติดขัดเรื่องความปลอดภัย ความทันสมัย อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคใหม่ และในมุมของวิศวกรรมก็มีจุดที่ต้องปรับปรุงหลายจุด ประกอบกับอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ เป็นหัวเมืองสำคัญที่จะเชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว เป็นหนึ่งสถานีที่รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จอดรับ-ส่งผู้โดยสาร ก่อนเข้าหนองคาย เชื่อมต่อไป สปป.ลาว ถ้ารถไฟความเร็วสูงมา เมืองต้องปรับเปลี่ยน จึงเป็นที่มาของโครงการนี้
“ในมุมของคนอุดรธานี มีกลยุทธ์ในการพัฒนาเมืองด้วยคีย์เวิร์ดคือ ‘เมืองเดินได้’ หมายถึงคนไม่จำเป็นต้องใช้รถส่วนตัวในการเดินทาง แต่หันมาใช้รถสาธารณะแทน แล้วรถสาธารณะอะไรที่ตอบโจทย์ความเป็นเมืองที่มีขนาดกะทัดรัดเช่นอุดรธานี นั่นก็คือ micro mobility ผนวกกับเรามีโอกาสคุยกับผู้ประกอบการที่ผลิตรถสกายแล็บในอุดรธานี คุยกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี และ วิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาองค์ความรู้ และเห็นว่าการพัฒนารถสามล้ออีวี KHamKoon จะทำให้นักศึกษาของวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ ได้เรียนรู้นวัตกรรมยานยนต์ยุคใหม่ เมื่อได้ภาคเอกชนมาร่วม เราก็ดีไซน์สามล้ออีวี ตั้งแต่การออกแบบ พัฒนาแบบ พัฒนาเทคโนโลยี ทำโปรโตไทป์ จากนั้นจึงเขียนโครงการขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. และได้รับการอนุมัติ โดยเอกชนคือวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ ร่วมสนับสนุนทุนวิจัย 10 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับให้ใช้สถานที่ของวิทยาลัยพัฒนาต้นแบบรถสามล้อ KHamKoon” ดร.เอกรัตน์ กล่าว
โครงการรถต้นแบบ ‘สามล้อ KHamKoon’ เริ่มดำเนินการช่วงเดือนกันยายน 2565 สิ้นสุดโครงการเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งสำเร็จได้ด้วยงานวิจัยยุคใหม่ ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง เชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานตั้งแต่ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และ สมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการขนส่งแห่งอนาคต มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางการพัฒนาธุรกิจ ภายใต้บริบทเศรษฐกิจสีเขียว และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตอย่างยั่งยืน เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การขนส่งสาธารณะยุคใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบรับกับเมืองแห่งอนาคต
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของโครงการนี้ ไม่ได้อยู่แค่การผลิตรถยนต์สามล้ออีวีออกมาขายเท่านั้น แต่ต้องการให้รถสามล้อ KHamKoon ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมฐานราก ให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมทั้งการผลิต การท่องเที่ยว การบริการ ขับเคลื่อนจีดีพีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
“ต้องขอบคุณ บพข. ซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่ดี สนับสนุนงานวิจัยที่สามารถเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมให้เกิดการนำไปใช้ได้จริง ซึ่งการขนส่งแห่งอนาคต เป็นหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ” ดร.เอกรัตน์ กล่าว
ดร.วัลลภ รัตนถาวร นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีการผลิตและซ่อมบำรุง ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ เอ็มเทค สวทช. เล่าถึงการวิจัยและพัฒนาว่า รถสามล้อทั่วไปจะมีจุดศูนย์ถ่วงอยู่ใกล้กับล้อหน้า เมื่อเข้าโค้งด้วยความเร็วจะเกิดการสไลด์ ล้อยก หรือพลิกคว่ำได้ง่าย ทีมวิจัยจึงได้นำความเชี่ยวชาญด้านระบบขับเคลื่อนและระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ออกแบบ ‘การเพิ่มเสถียรภาพในการเข้าโค้งให้แก่รถ’ โดยเทคโนโลยีเฉพาะที่พัฒนาขึ้น คือ ‘มอเตอร์ควบคุมการขับเคลื่อนที่ควบคุมล้อแต่ละล้อได้อย่างอิสระตามสถานการณ์การขับขี่แบบอัตโนมัติ’ ซึ่งจากการทดสอบประสิทธิภาพความปลอดภัยในการใช้งานพบว่า ผู้ขับขี่สามารถขับรถต้นแบบ KHamKoon แล้วกลับรถหรือเปลี่ยนทิศทางรถอย่างรวดเร็ว (J-turn) ที่ความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้อย่างปลอดภัย ตรงตาม มอก. 3264-2564 ที่เป็นมาตรฐานสากล
“เทคนิคสำคัญการออกแบบสามล้อ KHamKoon มี 3 ส่วนหลักๆ คือ 1. ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า ซึ่งเป็นตามเทรนด์ใหม่ เปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปเป็นระบบไฟฟ้า 2. ด้านวิศวกรรม ต้องออกแบบตัวรถให้มีความมั่นคง แข็งแรง น้ำหนักเบา และส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในพื้นที่ และ 3. ต้องวิ่งได้ดี มีความปลอดภัย เนื่องจากธรรมชาติของรถสามล้อ ต้องเลี้ยวในพื้นที่แคบ อาจเกิดการพลิกคว่ำ การสไลด์ หรือรถยกตัวได้ง่าย เราจึงใช้องค์ความรู้ด้านวิศวกรรม มาแก้ปัญหาเชิงโครงสสร้าง จนผ่านการทดสอบตามมาตรฐานสากล” ดร.วัลลภ กล่าว
สำหรับโครงสร้างรถ ทีมวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์โครงสร้าง ซึ่งอยู่ในกลุ่มวิจัยเดียวกัน ได้ดำเนินการออกแบบใหม่ โดยปรับแต่งให้เป็นรถที่คงไว้ซึ่งลักษณะเค้าโครงเดิมของสกายแล็บ แต่มีความทันสมัย แข็งแรงและปลอดภัยในการใช้งานมากยิ่งขึ้น โดยทีมวิจัยได้ใช้หลักการ finite element analysis หรือการคำนวณเพื่อวิเคราะห์ความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับการสร้างแบบจำลองยานยนต์ด้วยเทคโนโลยี simulation จนได้เป็นผลงานการออกแบบ ‘โครงสร้างรถที่มีศักยภาพในการเป็นเกราะเสริมความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร’
ส่วนประเด็นด้านการเพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทีมวิจัยได้ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์จากระบบสันดาปภายใน ให้เป็นระบบไฟฟ้า (อีวี) โดย KHamKoon ผ่านการออกแบบให้ใช้แบตเตอรี่ความจุ 12 kWh เป็นแหล่งพลังงาน ทำให้วิ่งได้ระยะทาง 120-150 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ด้วยแท่นชาร์จ AC type 2 ที่มีให้บริการทั่วไปในปัจจุบัน และสามารถปรับการผลิตรถให้ใช้แบตเตอรี่ที่มีความจุมากขึ้น และใช้รูปแบบการชาร์จแบบเร็ว (fast charge) ได้ หากมีความต้องการในอนาคต
ปัจจุบันทีมวิจัยได้ส่งมอบรถต้นแบบ KHamKoon คันแรกให้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีแล้ว ในเบื้องต้น สภาอุตสาหกรรมฯ ตั้งเป้าหมายนำต้นแบบรถ KHamKoon มาใช้ในการทำแซนด์บ็อกซ์ ให้บริการรับส่งผู้โดยสารภายในโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี และรับส่งระหว่างโรงพยาบาลกับที่จอดรถซึ่งอยู่ห่างออกไป 1-2 กิโลเมตร เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดภายในสถานพยาบาลและพื้นที่โดยรอบ พร้อมกับพัฒนาความพร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ พื้นที่จุดจอดให้บริการรถ สถานีชาร์จ แอปพลิเคชันสำหรับเรียกรถ เพื่อให้การใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะภายในจังหวัดเป็นเรื่องง่าย
ขณะเดียวกัน ก็มีการพัฒนากำลังคนร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ รวมถึงการอัปสกิล-รีสกิล บุคลากรที่เกี่ยวข้องให้มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตและซ่อมบำรุงรถอีวี ภายใต้แนวคิดคนในจังหวัดจะต้องผลิตและซ่อมบำรุงได้ด้วยตัวเอง เมื่อผ่านการพัฒนาถึงระดับพาณิชย์ สามล้อ KHamKoon จะมีราคาที่จับต้องได้ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแบบยั่งยืนระยะยาว ตามแผนส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (Next-gen Automotive) ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Emission) ในปี 2065