Thursday, 9 May 2024
SDGS

‘S&P’ หนุนองค์กรใช้พลังงานสะอาด-ซื้อคาร์บอนเครดิต มุ่งสู่ความเป็นกลางคาร์บอน ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

(20 ม.ค. 67) ‘มณีสุดา ศิลาอ่อน’ ประธานเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รางวัลนั้นเกิดจากความพยายามเดินหน้าธุรกิจ ตามแนวคิด ‘คุณภาพ คุณค่า คุณธรรม’ เพื่อสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า

จากจุดเริ่มต้นปี พ.ศ. 2559 ที่บริษัทเริ่มติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อป บนอาคาร 4 แห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตเบเกอรี่ บางพลี โรงงานผลิตเบเกอรี่ จ.ลำพูน และโรงงานผลิตอาหารลาดกระบัง รวมทั้งศูนย์กระจายสินค้า S&P (S&P Smart Distribution Center) ที่ลงทุนกว่า 500 ล้านบาท พร้อมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาด 594 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 785,712 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 390 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ได้ถึง 12,104 ต้น

ขณะที่โรงงานผลิตเบเกอรี่และอาหาร 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตเบเกอรี่บางนา-ตราด กม.23.5 (เฟส 3) โรงงานผลิตเบเกอรี่ลำพูน และ โรงงานผลิตอาหารลาดกระบัง สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวมทั้งสิ้น 2,285,531 กิโลวัตต์ ต่อชั่วโมงต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1,092 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ได้ถึง 33,980 ต้น ส่วนโรงงานผลิตเบเกอรี่สุขุมวิท 62 โครงสร้างอาคารไม่สามรถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ จึงนำระบบ Solar Light มาใช้แทน ซึ่งรวมแล้วทั้งหมด สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ราว 20-25%

นอกจากนี้ ในการบริหารจัดการคาร์บอน สโคป 1 และ 2 เป็นเรื่องที่เอสแอนด์พีดำเนินการต่อเนื่อง และพยายามพัฒนาแนวทางใหม่ ๆ ขึ้นเรื่อย ๆ โดยปี 2566 เอสแอนด์ พี ได้ซื้อคาร์บอนเครดิตจากบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนแล้ว 1.3 หมื่นตัน ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่เอส แอนด์ พี ปล่อยต่อปี โดยยังไม่รวมปริมาณคาร์บอนจากสาขาอีกเกือบ 500 สาขา ที่จะเริ่มนับและคำนวณปริมาณคาร์บอนในปีนี้

นอกจากนี้ ยังได้นำรถไฟฟ้า S&P EV Truck จำนวน 1 คัน มาใช้ในการขนส่งสินค้า ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงปีละประมาณ 20 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังตั้งเป้าการเพิ่มรถบรรทุกพลังงานสะอาดอีก 4 คัน ในปี 2567 เพื่อครอบคลุมระยะทางขนส่งสายหลัก และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิง

ขณะเดียวกันได้มีการปรับปรุงระบบการขนส่งใหม่ ของศูนย์กระจายสินค้า ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่การบรรจุสินค้าใส่รถยนต์ การกำหนดเส้นทางการเดินรถ เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน และค่าใช้จ่าย และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานด้าน Supply chain ให้ดียิ่งขึ้น หลังจากการปรับปรุงทำให้สามารถลดค่านํ้ามันลงได้ถึง 9 ล้านบาทต่อเดือน

มณีสุดา กล่าวอีกว่า การทำงานด้านความยั่งยืน และใส่ใจสิ่งแวดล้อม เกิดจากจุดเริ่มต้นการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่โรงงาน ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการตื่นตัวเรื่องนี้ ทำให้ต้องใช้งบค่อนข้างสูง

อีกทั้ง สิ่งที่ดำเนินการไปพร้อม ๆ กัน เป็นการปรับพฤติกรรมพนักงานในองค์กร เริ่มจากการแยกขยะ เก็บขวดพลาสติกมาอัพไซคลิ่งเป็นเสื้อของพนักงานทำมาแล้ว 3 รุ่น รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์สินค้า สู่วัสดุรีไซเคิล หมายรวมถึงพลาสติกที่เริ่มจากการลดความหนาของพลาสติกลง ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปได้แล้วทั้งหมด 94%

“การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ในร้าน ซึ่งมีอยู่เกือบ 500 สาขาทั่วประเทศ หากต้องเปลี่ยนพลาสติกทั้งหมด ต้องใช้งบไม่ตํ่ากว่า 100 ล้านบาท หรือแม้แต่การลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนภาคในองค์กร รวมถึงกระบวนการผลิตทั้งหมดให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้องใช้งบเป็น 1,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นการลงมือทำ จากสิ่งใกล้ตัวก่อนและค่อย ๆ ทยอยทำ จะช่วยให้งานทั้งหมดสามารถเดินหน้าไปได้ ไม่เช่นนั้นคำนวณ Payback Period มันไม่คุ้ม”

เอส แอนด์ พี พยายามทำทั้ง Green Product และ Green Restaurant ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 11 สาขา รวมถึงการทำ โครงการ Food Rescue โดยร่วมกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟซัสทีแนนซ์ หรือ ‘SOS Thailand’ ส่งต่ออาการส่วนเกินให้กับผู้ที่มีความต้องการ ทำให้สามารถลดขยะอาหารจาก 240 ล้านบาท เหลือ 168 ล้านบาทในปัจจุบัน

“เอส แอนด์ พี ยังดำเนินการร่วมกับซัพพลายเชน เช่น เกษตรกรและพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายขององค์กร เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ค.ศ.2050”

‘พีระพันธุ์’ เคาะ!! ‘ค่าไฟฟ้าสีเขียว’ 4.55 บาท/หน่วย เปิดทางพลังงานสะอาด ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

‘กระทรวงพลังงาน’ คาด ก.พ. เคาะราคาค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว คาดราคาเหมาะสม 4.55 บาทต่อหน่วย ปลดเงื่อนไขทางต่างชาติต้องการพลังงานสะอาด ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งแก้กฎหมายโรงงานผลิตไฟฟ้าโซลาร์หลังคาเกิน 1,000 หน่วยไม่ต้องขออนุญาต

(20 ม.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภายในไม่เกินเดือน ก.พ.2567 กระทรวงพลังงานจะประกาศอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว หลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศหลักเกณฑ์การให้บริการและการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวไปแล้ว นับว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีความพร้อมในการจัดหา ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ มีทั้งกระบวนการผลิต จัดหา และการรับรองไฟฟ้าสีเขียวเพื่อรองรับความต้องการพลังงานของธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังรวมถึงบริษัทข้ามชาติ ที่ต้องการขยายการลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ทั้งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ขจัดอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน จากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ได้เป็นอย่างดี มั่นใจว่าจะมีไฟฟ้าสีเขียวในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ

ทั้งนี้ จึงมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผน PDP เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในระบบอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะไม่สามารถเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการ และแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเจาะจงแหล่งที่มาได้

รับฟังความเห็นสาธารณะ ม.ค. นี้
เสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกกพ.กล่าวว่า ตั้งแต่การประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังสะอาดภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) เข้าสู่ระบบกว่า 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 ควบคู่ไปกับการออกแบบกำหนดหลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว และแนวทางการกำกับดูแลให้กระบวนการบริหารจัดการและรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียวให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การคำนวณอัตราราคาเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว และพร้อมให้การไฟฟ้าให้บริการแล้ว และเตรียมที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในช่วงเดือนม.ค. 2567 นี้ โดยการประกาศโครงการ การจัดทำอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT) จะสามารถขยายโครงการนี้ให้ครอบคสุมความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าได้หลากหลายขึ้นและปรับปรุงข้อจำกัดต่าง ๆ

พลังงานสะอาดจากโซลาร์เซลล์สูงสุด
ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 250 ล้านตันต่อปี โดย 100 ล้านตัน มาจากภาคการไฟฟ้า มีการตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2030 การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงเหลือ 75 ล้านตัน และภายในปี 2080 จะมีการใช้พลังงานหมุนเวียน 80% โดยส่วนใหญ่มาจากโซลาร์เซลล์ ประมาณ 20,000 เมกะวัตต์

คมกฤชคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ. กล่าวว่า อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวเบื้องต้นที่คำนวณเพื่อจะนำมาเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายในเดือนม.ค. 2567 โดยคำนวณราคาค่าไฟไว้ที่ 4.55 บาทต่อหน่วย ที่น่าจะเป็นตัวเลขที่เหมาะสม มารับฟังความเห็นฯ โดยตัวเลขต่างๆ มีการรวบรวมจากค่าบริการของต่างประเทศที่ได้มีการประกาศใช้ไปแล้วด้วย

แก้กฎหมาย-ลดหย่อนภาษีโซลาร์หลังคา
ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเดินหน้าแก้ไขกฎหมายปลดล็อคให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก Solar Rooftop ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับ ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอีกต่อไป ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขกฎกระทรวง คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ. 2567

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมมาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ และส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับหน่วยงานรัฐ รวมทั้งเตรียมผลักดันมาตรการลดหย่อนภาษีประจำปี ส่งเสริม Solar Rooftop ในกลุ่มบ้านอาศัย วงเงินไม่เกิน 2 แสนบาท 10 กิโลวัตต์ เพื่อสนับสนุนคนใช้โซลาร์ 9 หมื่นครัวเรือนต่อปี เพื่อลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้า สำหรับประชาชนผู้ร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน

‘วินโคสท์’ ตอกย้ำผู้นำสวนอุตสาหกรรมสีเขียว จ่อติดโซลาร์เพิ่ม 5 เมกกะวัตต์ ในไตรมาส 1/67

(19 ม.ค. 67) นายจักร จามิกรณ์ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สวนอุตสาหกรรม วินโคสท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WIN เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมดำเนินการติดตั้งโซลาร์เพิ่มอีก 5 เมกกะวัตต์ ในไตรมาส 1/67

ทั้งนี้ ล่าสุดได้ส่งมอบงานรับเหมาก่อสร้าง (EPC) โครงการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 15 โครงการ ทั้งในโครงการภาครัฐ และเอกชน  คิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 97.15% รวมถึงการรับรู้รายได้ ของธุรกิจให้เช่าพื้นที่คลังสินค้า มีกลุ่มลูกค้าเข้ามาใช้บริการเช่าคลังสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 71.86% เพิ่มขึ้นเป็น 86.69%

นอกจากนี้บริษัทจะทยอยรับรู้รายได้จากโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ประกอบด้วย การติดตั้งโซลาร์ให้กับ โรงพยาบาลนวเวช และศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก

ผลการดำเนินธุรกิจตลอดปี 66 มีปัจจัยที่เป็นบวกต่อการดำเนินธุรกิจทั้งสองประเภท สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใช้พลังงานสะอาดขององค์กรภาครัฐและเอกชน ที่ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการต้นทุนด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการขับเคลื่อนธุรกิจที่มุ่งไปสู่การลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน 

ขณะที่กลุ่มธุรกิจการให้บริการเช่าพื้นที่คลังสินค้าในเขตปลอดอากรและคลังทั่วไป มีอัตราการขยายตัวเช่าพื้นที่ของกลุ่มลูกค้าจากต่างชาติเข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทพร้อมเดินหน้าสู่การพัฒนาโครงการ สวนอุตสาหกรรม สีเขียววินโคสท์ 2 เพื่อรองรับการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

‘ชาวนากาฬสินธุ์’ หันปลูกแตงโม-ขายเมล็ดส่งนอก โกยเงินล้าน ชี้!! ใช้น้ำน้อย ราคาดีกว่าขายข้าวเปลือก สร้างรายได้ต่อรายสูง

(19 ม.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของเกษตรกรชาว จ.กาฬสินธุ์ ทั้งพื้นที่รับน้ำชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว พบว่ามีการทำนาปรังหรือนาฤดูแล้งเต็มพื้นที่ ขณะที่พื้นที่นอกเขตชลประทาน มีการเพาะปลูกพืชอายุสั้น พืชตระกูลแตงเป็นจำนวนมาก โดยใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติที่มีอยู่อย่างเพียงพอ

นางประนอม ภูเต้านา อายุ 45 ปี เกษตรกรบ้านขมิ้น เลขที่ 95 หมู่ 5 ต.นาดี อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า พื้นที่นาอยู่นอกเขตชลประทาน แต่ก็อยู่ใกล้กับหนองเลิงไก่โอก แหล่งน้ำสาธารณะประจำตำบลนาดี ซึ่งปีนี้มีปริมาณน้ำเป็นจำนวนมาก เพียงพอต่อการสูบขึ้นมาหล่อเลี้ยงแปลงแตงโม และแปลงแตงแคนตาลูป ที่เพาะปลูกประมาณ 2 ไร่

นางประนอม กล่าวอีกว่า ที่เลือกเพาะปลูกพืชตระกูลแตง 2 ชนิด เพราะว่าอายุสั้น ใช้น้ำน้อย ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศร้อนแล้งได้ดี อายุ 4 เดือนเก็บผลผลิตจำหน่าย ที่สำคัญมีบริษัทของเอกชนเข้ามาส่งเสริม มีประกันราคาแน่นอน โดยเป็นแตงลูกผสม จำหน่ายเมล็ดส่งต่างประเทศ ก.ก.ละ 1,600-2,000 บาท ปลูกมาประมาณ 20 ปี รายได้เฉลี่ยรายละ 5 หมื่นบาท ซึ่งรายได้สูงกว่าปลูกข้าวนาปรังและพืชฤดูแล้งชนิดอื่น

นางประนอม กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อราคาขายเมล็ดแตงโมและเมล็ดแตงแคนตาลูปสูง โดยที่ผ่านมาได้กำไรทุกปี ขณะที่ราคาขายข้าวเปลือกยังตกต่ำ รายได้ไม่คุ้มทุน เพราะปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี ค่าแรง ค่าเก็บเกี่ยวสูง ดังนั้น ในปีนี้จึงพบว่าพี่น้องเกษตรกรชาวนาในหมู่บ้าน หันมาปลูกแตงโม และแตงแคนตาลูปลูกผสม เพื่อขายเมล็ดต่างประเทศกับบริษัทเอกชนถึง 20 ราย ที่หากเฉลี่ยได้กำไรไร่ละ 5 หมื่น ก็จะมีรายได้ในภาพรวมถึง 1 ล้านบาททีเดียว

‘นายกฯ’ หารือ อดีตนายกฯ สหราชอาณาจักร ผลักดันความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศ

เมื่อวานนี้ (18 ม.ค.67) ณ ศูนย์ประชุม Congress Centre เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือกับนาย Tony Blair ประธานกรรมการบริหาร Tony Blair Institute of Global Change และอดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นาย Tony Blair อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้มาพบและคุยเกี่ยวกับ Tony Blair Institute of Global Change ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยไม่หวังผลกำไร และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกันของโลก โดยมีความตั้งใจที่จะหาความร่วมมือกับประเทศไทย โดยเฉพาะด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human development)

โดยทางนาย Tony Blair มีความเชื่อมั่นว่า การร่วมมือระหว่างรัฐบาล และองค์กรต่าง ๆ จะช่วยทำให้ประเทศมีการพัฒนาขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้น เพื่อให้ทางสถาบัน Tony Blair Institute of Global Change ได้เข้ามาศึกษาข้อมูลในประเทศไทย เพื่อพัฒนา และต่อยอดในประเด็นต่าง ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกัน

‘BBL’ ประกาศยุทธศาสตร์ Connecting ASEAN หนุนธุรกิจไทยเข้าถึงโอกาสโตยั่งยืนในภูมิภาค

(18 ม.ค.67) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ประกาศยุทธศาสตร์ Connecting ASEAN หรือ เชื่อมโยงอาเซียน สนองนโยบายรัฐบาล ในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) เข้าสู่ประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนระยะยาว อีกทั้งสนับสนุนธุรกิจไทยที่ขยายกิจการไปทั่วภูมิภาค

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ BBL กล่าวว่า ธนาคารดำเนินยุทธศาสตร์ Connecting ASEAN ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) เข้าสู่ประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนระยะยาว รวมทั้งนโยบายสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green – BCG) และการยกระดับของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor - EEC) ให้เป็นศูนย์กลางอัจฉริยะสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน

“เป็นที่น่ายินดีที่ลูกค้าต่างประเทศของธนาคารกรุงเทพ ได้เริ่มเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยธนาคารได้ให้การสนับสนุนไปแล้วหลายราย ไม่ว่าจะเป็นบริษัท บีวายดี เกรทวอลล์มอเตอร์ส และฉางอาน การที่บริษัทเหล่านี้เลือกเข้ามาตั้งศูนย์การผลิตสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในพื้นที่ EEC ของไทยจะส่งผลดีต่อเนื่องไปถึงห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนภายในประเทศ และจะกระตุ้นให้เกิดธุรกิจและการจ้างงานใหม่ให้กับคนรุ่นต่อไป” นายชาติศิริ กล่าว

นายชาติศิริ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งที่ธนาคารมุ่งเน้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คือ การสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตอย่างแข็งแกร่งสำหรับหลายภาคอุตสาหกรรม ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวลง จากปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัจจัยอื่นๆ การดำเนินยุทธศาสตร์ Connecting ASEAN จะมุ่งสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยชูบทบาทโดดเด่นของของไทยในฐานะสะพานสำคัญที่จะช่วยเชื่อมโยงอาเซียนกับนักธุรกิจและนักลงทุนจากทั่วทวีปเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก

อาเซียนยังเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจสามารถเติบโตได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ด้วยจุดเด่นหลายๆ ด้าน เช่น จำนวนประชากรรวมกันกว่า 650 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ตลาดที่กำลังพัฒนาและมีความต้องการหลากหลาย มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ใกล้อินเดียและจีน ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยอาเซียนกำลังเติบโตก้าวขึ้นเป็นระบบเศรษฐกิจที่จะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกในปี 2573

“ภูมิภาคอาเซียนยังมีโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนอีกมาก ขณะที่ตลาดอื่นๆ ทั่วโลกกำลังชะลอตัว ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารไทยที่มีความพร้อมที่สุด สำหรับการสนับสนุนบริษัทที่ต้องการขยายตลาดในระดับภูมิภาค เนื่องจากธนาคารมีเครือข่ายทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ที่มีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจในแต่ละประเทศอย่างลึกซึ้ง และมีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ดีกับพันธมิตรในประเทศเหล่านั้น ที่สืบทอดมาตลอด 8 ทศวรรษ” นายชาติศิริ กล่าว

“ด้วยจุดแข็งที่โดดเด่นของธนาคาร ที่มีเครือข่ายสาขาใน 9 จาก 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียน มีธนาคารในเครือ คือ ธนาคารเพอร์มาตา ที่อินโดนีเซีย ธนาคารบางกอกแบงค์เบอร์ฮาด ที่มาเลเซีย และธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) นอกเหนือจากสาขาในฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ธนาคารกรุงเทพพร้อมที่จะสนับสนุนลูกค้าของเราด้วยบริการทางการเงินที่ครบถ้วน สำหรับการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ และยังสามารถช่วยเชื่อมโยงลูกค้าเหล่านี้กับบริษัทอื่นๆ ที่มีโอกาสจะร่วมมือกันได้ทั่วทั้งภูมิภาค” นายชาติศิริ กล่าว

ตลอดระยะเวลา 8 ทศวรรษที่ผ่านมา ธนาคารมุ่งเน้นสนับสนุนลูกค้าทุกกลุ่มให้บรรลุเป้าหมายในทุกช่วงชีวิตและเจริญเติบโตได้เต็มศักยภาพ โดยสำหรับลูกค้าบุคคล ให้มีความมั่นคงทางการเงินสำหรับครอบครัว และบริษัททุกขนาด ให้มีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งธนาคารได้ช่วยลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ด้วยบริการทางการเงินและเงินทุนสำหรับการดำเนินธุรกิจ แบ่งปันข้อมูล ความรู้ คำแนะนำและสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ทำให้ลูกค้าสามารถเติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ก้าวขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ ส่วนหนึ่งสามารถขยายกิจการออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนและทวีปเอเชียที่ธนาคารมีเครือข่ายสาขาอย่างกว้างขวางครอบคลุม

“ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว ยังมีลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารจำนวนไม่น้อย ที่มีการค้าขายข้ามชายแดนมากขึ้น หลายรายสามารถขยายกิจการออกไปต่างประเทศ โดยการสนับสนุนจากสาขาในต่างประเทศของธนาคารกรุงเทพ รวมทั้งธนาคารในเครือ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจของประเทศไทย” นายชาติศิริ กล่าว

นายชาติศิริ กล่าวต่อไปว่า ธนาคารตระหนักดีว่ายังคงมีลูกค้าอีกส่วนหนึ่งที่ยังเปราะบาง สืบเนื่องมาตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 และยังไม่ฟื้นตัวในภาวะที่เศรษฐกิจโดยรวมยังชะลอตัวลง ธนาคารจะพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อช่วยลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและลูกค้าบุคคล ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ให้สามารถผ่านช่วงนี้ไปได้ ตามแนวทางเดียวกับที่ธนาคารได้ดำเนินการมาแล้วในช่วงก่อนหน้าที่กิจกรรมทางธุรกิจได้ชะงักงันเนื่องจากโควิด-19 ในปี 2563 และต่อเนื่องถึงปี 2566

“ท่ามกลางความผันผวนทางธุรกิจในระบบเศรษฐกิจโลก ธนาคารกรุงเทพพร้อมดำเนินการเพื่อสนับสนุนลูกค้าให้สามารถผ่านความท้าทายและความยากลำบากเหล่านี้ และสามารถแสวงหาโอกาสที่เหมาะสมสำหรับสร้างการเติบโต โดยจะดำเนินการอย่างสอดรับกับรัฐบาลที่ได้ออกมาตรการลดภาระค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และมาตรการต่างๆ มาให้ความช่วยเหลือ และสอดรับกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้ดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อช่วยดูแลเงินเฟ้อ และช่วยให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น เพื่อให้บริษัทไทยสามารถฟันฝ่าอุปสรรค ก้าวข้ามความท้าทายที่รออยู่ และเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

‘ภาครัฐ’ กระตุ้น SMEs รับมือทิศทางการค้าโลก เร่งปรับตัวเข้าสู่ทิศทางแห่งเศรษฐกิจสีเขียว 

(18 ม.ค.67) นายนที สิทธิประศาสน์ กรรมการและเลขานุการ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำกลไกการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Transition) สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ทัดเทียมกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 

ทั้งนี้ ปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นความท้าทายระดับโลก โดยได้มีคาดการณ์ว่า ในปีพ.ศ. 2593 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้ทั่วโลกมีมูลค่าทางเศรษฐกิจลดลง 10% ประเทศไทยจึงมีนโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

โดยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC COP ในการประชุมหลายครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมีการประกาศเป้าหมายสำคัญ คือ ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปีพ.ศ. 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีพ.ศ. 2608 

ขณะที่ในต่างประเทศได้เริ่มใช้เงื่อนไขทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures) เช่น สหภาพยุโรปมีมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM ในหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ ทำให้กระทบต่อการส่งออกของผู้ประกอบการ นอกสหภาพยุโรปแล้ว ประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน อาจมีการพิจารณาการใช้มาตรการในลักษณะเดียวกันในอนาคต 

ดังนั้นแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวจึงเป็นหนึ่งในแนวทางเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และจะเป็นการพัฒนาสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมโลกไปสู่ความยั่งยืน โดยที่ธุรกิจในทุกระดับจึงต้องดำเนินการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันจากนโยบายและมาตรการทางสิ่งแวดล้อมที่บังคับใช้ในปัจจุบันและมีแนวโน้มที่จะมีความเข้มข้นขึ้นในอนาคต 

"ส.อ.ท. จึงได้จัดตั้งสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเตรียมความพร้อม และยกระดับการพัฒนาคุณภาพสินค้าและการผลิตในสังคม เศรษฐกิจ อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ รวมถึงส่งเสริม และสร้างมาตรฐานการตรวจสอบ การรับประกัน และการรับรองในระดับสากล เพื่อยกระดับการประกอบการอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการทุกขนาด"

นางอภิรดี ขาวเธียร รองผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า สสว. เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว จึงร่วมกับ ส.อ.ท. โดยสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งโดยมากแล้วยังขาดองค์ความรู้และบุคลากรในการปรับตัว เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ทัดเทียมกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีความพร้อมในทุกด้านมากกว่า

โดยเริ่มต้นที่กลุ่มอุตสาหกรรม 6 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม การท่องเที่ยว พลาสติก สิ่งทอ และอาหาร ซึ่งจัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าให้คำปรึกษาเชิงลึกร่วมกับการจัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการรายกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว และพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรภาคอุตสาหกรรมให้มีความรู้และความสามารถในการจัดการ เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการยกระดับโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรมสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียวให้สามารถเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมต้นน้ำให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศและเศรษฐกิจระดับมหภาค 

OR เล็งปั้น ‘อุทยานอเมซอนลำปาง’ เป็นแลนด์มาร์กใหม่ หนุนงาน สร้างรายได้ สยายปีกสู่แหล่งท่องเที่ยวสีเขียว

OR จัดงาน OR Sustainability: SDG In Action ตอกย้ำความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนตามกรอบแนวคิด ESG ผ่านวิถีการดำเนินงานด้วย SDG ในแบบฉบับของ OR จนเป็นองค์กรต้นแบบในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างยั่งยืน จากการจัดอันดับทั้งในระดับสากลและระดับประเทศในปี 2566 พร้อมเผยเรื่องราวความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG ผ่านการลงมือทำ

(17 ม.ค. 67) นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า OR มีวิสัยทัศน์และแนวคิดในการสร้างความยั่งยืน โดยมีการนำประเด็นความยั่งยืนตามแนวทาง SDG ในแบบฉบับของ OR คือ S-Small โอกาสเพื่อคนตัวเล็ก D-Diversified โอกาสเพื่อการเติบโตทุกรูปแบบ และ G-Green โอกาสเพื่อสังคมสะอาด มาผสมผสานกับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

พร้อมทั้งนำเป้าหมาย OR 2030 Goals มาติดตามและทบทวนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินงานด้านความยั่งยืนถูกผนวกเข้าไปกับการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง ซึ่ง OR ได้นำไปสู่การลงมือปฏิบัติจริง แบบ In Action ตั้งแต่กลยุทธ์ แผนปฏิบัติการและเป้าหมายธุรกิจจนเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น วิภาวดี 62, โครงการไทยเด็ด และการพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน เป็นต้น

นายดิษทัต กล่าวว่า สิ่งที่ทำมาตลอดคือ การคำนึงถึงชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยดูแลคนตัวเล็กไปสู่ธุรกิจใหม่และอยู่ในระบบนิเวศด้านสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง คาเฟ่ อเมซอน ที่มี Value Chain ส่งผลให้ปัจจุบันมีสาขามากกว่า 4,000 สาขา พร้อมมีโรงคั่วกาแฟ และมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในการขนส่ง และช่วยคำนวณสต็อก ฯลฯ

นอกจากนี้ ในส่วนของเมล็ดกาแฟ ทาง OR ก็จะนำร่องจังหวัดลำปาง ด้วยการปลูกกาแฟสายพันธุ์ต่าง ๆ อย่างจริงจังบนพื้นที่ของ OR เองราว 600 ไร่ พร้อมทั้งพัฒนาไปสู่เมืองท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยเหลือเกษตรกร สร้างงาน ยกระดับคุณภาพชีวิต กระจายรายได้ ดูแลสิ่งแวดล้อม ได้อย่างมาก

“เราอยากสร้างอุทยานอเมซอนลำปาง ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้เพาะพันธุ์กาแฟ เพราะคนไทยชอบดื่มกาแฟ ซึ่งยังไม่มีองค์กรใดทำอย่างจริงจัง จึงหวังว่าอีก 5 ปี เมื่อเราสามารถเพาะพันธุ์ต้นกล้ากาแฟและพัฒนาให้แข็งแรงและสมบูรณ์ จนส่งมอบให้กับเกษตรกรให้เกิดความยั่งยืน พร้อมรับซื้อกาแฟด้วยราคาที่เป็นธรรมได้แล้ว ก็หวังว่า 3-5 ปีนี้ เราจะเห็นความสวยงามบนพื้นที่สีเขียว เกิดแหล่งเยี่ยมชมของประชาชน สร้างรายได้ให้จังหวัดลำปางต่อไป”

นายดิษทัต กล่าวอีกว่า สำหรับงบประมาณในการสร้างอุทยานดังกล่าว ยังไม่สามารถบอกได้ แต่คาดว่าอีก2-3 เดือน จะขออนุมัติงบการลงทุนจากคณะกรรมการบริการฯ โดยความคืบหน้าขณะนี้ได้เตรียมหน้าดิน เรือนเพาะชำไว้รองรับแล้ว จึงหวังว่ากาแฟที่ OR จะทำการวิจัยพัฒนาและเพาะพันธุ์จะมีความเข้มแข็งมีคุณภาพและรสชาติดีที่สุด

สำหรับงบลงทุนด้านความยั่งยืนนั้น คาดว่าจะมีความกว้างในแง่ของหน้างานอย่างมาก เพราะจะแฝงเผื่อเพื่อสอดรับไปในทุกๆ กลุ่มธุรกิจ อาทิ การทำหลังคาโซลาร์รูฟท็อป, ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) รวมถึงอุปกรณ์สนับสนุนที่ก่อให้เกิดพลังงานสะอาด เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ OR จะไม่มองเป็นต้นทุน และไม่ได้มองการดำเนินงานในส่วนนี้เป็นเรื่องของผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่หวังให้อีก 15-20 ปี ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนของการเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลเพื่อตอบโจทย์พอร์ตพลังงานสะอาดเพิ่มเข้ามา

“เราเอาธุรกิจยั่งยืนเข้ามา สิ่งที่ทำจะลดต้นทุนทางการเงิน ตอบโจทย์คาร์บอนเครดิตอนาคต โดยทำเป็นระบบที่ถูกต้อง เช่น การปลูกกาแฟโดยมีต้นไม้บังแสงแดดจะเคลมคาร์บอนเครดิตในตลาดสากลได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่นี้ในลำปาง” นายดิษทัต กล่าวเสริม

สำหรับดีมานด์ของคาเฟ่อเมซอนตกอยู่ที่เฉลี่ยปีละ 6,000 ตันต่อปี ในขณะที่ความต้องการกาแฟของทั้งประเทศอยู่ที่ 80,000 ตันต่อปี และการที่ OR เข้ามาจริงจังกับเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาเรื่องของเพาะพันธุ์กาแฟดูจะยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง ดังนั้น OR จะเข้ามาช่วยเพิ่มดีมานด์ในส่วนนี้ ขณะเดียวกันก็เพื่อสะท้อนให้ประชาชนรักและรับรู้ว่า OR ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐได้ให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง

‘วสท.-NCC’ จัดงาน ‘วิศวกรรมแห่งชาติ 2567’ 24-26 ก.ค.67 อัปเดต ‘นวัตกรรม ESG-องค์ความรู้ระดับโลก’ สู่ ‘วิศวกรไทย’

(17 ม.ค. 67) วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (NCC) จัดงาน ‘งานวิศวกรรมแห่งชาติ 2567’ ภายใต้ชื่อ ‘International Engineering Expo 2024’ พร้อมยกระดับการจัดงานสู่เวทีระดับนานาชาติ สร้างโอกาสให้วิศวกรไทยพร้อมก้าวสู่งานวิศวกรรมระดับโลก เสริมทัพองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมผ่านเสวนากว่า 50 หัวข้อ อัปเดตนวัตกรรมใหม่ระดับโลกจากบูธที่มาร่วมจัดแสดง 150 บริษัท ระหว่างวันที่ 24 - 26 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คาดผู้เข้าชมงานตลอด 3 วัน กว่า 30,000 คน สร้างรายได้จากการซื้อขายและ Business Matching กว่า 1,000 ล้านบาท

รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐนับเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ ที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและยกระดับชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น คาดว่าปี 2566 มูลค่าการก่อสร้างของภาครัฐอยู่ที่ 8.4 - 8.5 แสนล้านบาทหรือขยายตัว 2.5 - 3.5% จากฐานในปี 2565 ส่วนปี 2567 เชื่อมั่นว่ายังคงเติบโตเช่นเดียวกับปี 2566 เนื่องจากรัฐบาลยังคงให้การสนับสนุนการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐขนาดใหญ่ (Mega Projects) อย่าง โครงการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างจากภาคเอกชนขนาดใหญ่ อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โครงการอสังหาต่าง ๆ เป็นต้น   

จากการเติบโตของโครงการขนาดใหญ่ทำให้ปัจจุบันความต้องการวิศวกรรมเน้นไปในเรื่องของเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมอัจฉริยะ เครื่องจักร อุปกรณ์ทางการก่อสร้าง วัสดุที่ทันสมัยหรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ที่แตกต่าง อาทิ AI โดรน หุ่นยนต์อัตโนมัติ เป็นต้น วิศวกรรุ่นใหม่จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ศาสตร์ที่หลากหลาย เพื่อตอบรับโอกาสและรองรับความก้าวหน้างานวิศวกรรมระดับโลก นอกจากนี้ ยังต้องมีแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Environmental, Social, Governance: ESG) ด้วย  

รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กล่าวถึงการจัด ‘งานวิศวกรรมแห่งชาติ’ ว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้คนในแวดวงวิศวกรได้เข้ามาอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ ตลอด 30 ปีที่จัดงานได้รับความสนใจอย่างดี โดยเฉพาะหัวข้อเสวนาซึ่งปีนี้มีถึง 50 หัวข้อว่าด้วยเรื่อง Engineering Sustainability และจะยกระดับสู่การจัดประชุมระดับนานาชาติด้านวิศวกรรม เพื่อให้ไทยเป็นเวทีในการกำหนดเทรนด์ของภูมิภาค 

“หัวข้อเสวนาเราจะดูเรื่องที่เป็นที่พูดถึงในขณะนั้น อย่างตอนที่สนามบินสุวรรณภูมิร้าว เราก็เอาเรื่องนี้มาเสวนากัน ปีนี้เราจะเน้นในเรื่องวิศวกรรมและความปลอดภัยของระบบราง บ้านเรายังไม่มีมาตรฐานเรื่องนี้ ที่ผ่านมาเราก็อิงมาตรฐานของประเทศอื่นแทน” 

นอกจากนี้ ภายในงานจะมีการนำหุ่นยนต์ AI หรือนวัตกรรมเกี่ยวกับวิศวกรรมต่าง ๆ มานำเสนอ ผู้เข้าชมงานไม่จำเป็นต้องเป็นวิศวกร ประชาชนทั่วไปก็ชมได้ อย่างประชาชนหากต้องการสร้างอาคารสีเขียว มางานนี้จะเข้าใจว่าอาคารสีเขียวเป็นอย่างไร ก็สามารถเอาความรู้ที่ได้ไปสื่อสารกับคนออกแบบ ช่าง หรือวิศวกร ภายในงานมีคลินิกวิศวกรรมสำหรับประชาชน เพื่อให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรม เช่น บ้านร้าว บ้านทรุด ต้องแก้ไขอย่างไร 

นายสมจิตร์ เปี่ยมเปรมสุข ประธานคณะกรรมการจัดงาน International Engineering Expo 2024 กล่าวว่า งานวิศวกรรมแห่งชาติ เป็นงานที่จัดต่อกันมาอย่างยาวนาน จนเป็นที่ยอมรับของวงการวิศวกรทั่วประเทศ โดยงานด้านวิศวกรรมเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านโครงการต่าง ๆ ที่เป็นระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการบริหารจัดการแบบดิจิตอล การผลิตและบริหารจัดการด้านพลังงาน อาคารอัจฉริยะต่าง ๆ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีโครงการด้านวิศวกรรมขนาดใหญ่มากมาย จึงเหมาะให้วิศวกรจากประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) เข้ามาศึกษางานวิศวกรรมขนาดใหญ่ นอกจากนี้ งานด้านวิศวกรรมปัจจุบันยังต้องคำนึงถึงความใส่ใจในความยั่งยืน (ESG) และ Net Zero ด้วย 

“การจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติปีนี้อยู่ภายใต้แนวคิด Driving Sustainability Responsiveness ‘ขับเคลื่อนวิศวกรรม เพื่อตอบรับความยั่งยืน’ ภายในงานจะมีการนำเทคโนโลยีวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืนมาแสดง ซึ่งปัจจุบัน ESG ในไทยยังเป็นแค่การสมัครใจ แต่ในอนาคตจะต้องบังคับ เพราะต่างชาติจะมาลงในไทยเขาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย”

คุณสุรพล อุทินทุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือในการจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติในครั้งนี้ เป็นการรวมความแข็งแกร่งของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในด้านองค์ความรู้ในทุกสาขาวิศวกรรมกับความเชี่ยวชาญในการจัดงานแสดงสินค้าของบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อยกระดับการจัดงานให้เป็นงานระดับนานาชาติ พร้อมต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ Exhibitor และ Visitor จากนานาชาติ โดยสัญญาความร่วมมือครั้งนี้จะเริ่มขึ้นในปีนี้และต่อเนื่องไป 3 ปี

“สำหรับพื้นที่ในการจัดงานใช้พื้นที่ 5,000 ตร.ม. มี 150 บริษัททั้งไทยและต่างประเทศมาออกบูธ 50 หัวข้อสัมมนา จากวิทยากร Best Practice หลากหลายแบบอย่างความสำเร็จด้านความยั่งยืน ซึ่งทางเราจะจัดรูทการเดินชมงานและการเข้าฟังสัมมนาที่เหมาะสม สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาร่วมงานทาง NCC มีความพร้อมในการรองรับ อำนวยความสะดวก ทั้งเรื่องการขนย้ายเทคโนโลยีเข้ามาแสดง การจัดห้องพัก และการที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์อยู่ใกล้ MRT ทำให้สะดวกในการเดินทาง” 

คุณสุรพล กล่าวทิ้งท้ายว่า ปีนี้ผู้แสดงสินค้าจะมีทั้งมาจากโซนยุโรปและโซนเอเชีย ซึ่งนับเป็นปีแรกที่โซนเอเชียเข้าร่วม และยังเป็นปีแรกที่วิศวกรจากกลุ่มประเทศ CLMV จะมาเดินชมงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้เข้าชมงานจากภูมิภาคอื่นในปีต่อไป

“องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมได้ช่วยให้เมื่อครั้งรีโนเวตศูนย์ประชุมสิริกิติ์ สามารถเลือกใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมทำให้ใช้เงินลงทุนน้อยและระยะเวลาการก่อสร้างเร็ว งานดังกล่าวจึงเหมาะกับทุกท่านที่ต้องการองค์ความรู้ด้านวิศวกรรม เครื่องกล นวัตกรรม เทคโนโลยี ซึ่งสามารถมาชมแล้วนำไปขยายต่อได้”

งาน ‘International Engineering Expo 2024’ จะจัดพร้อมงาน ‘ASEAN TOOLS EXPO 2024’ งานแสดงนวัตกรรมฮาร์ดแวร์และเครื่องมือช่างระดับภูมิภาคอาเซียน ระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคมนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คาดผู้เข้าชมงานกว่า 30,000 คน สร้างรายได้จากการซื้อขายและ Business Matching กว่า 1,000 ล้านบาท

จับตาเทรนด์ ‘ซื้อ-ขาย’ น้ำมันใช้แล้ว สู่การผลิต SAF ลดปล่อยคาร์บอนฯ สูงถึง 80% เมื่อเทียบเชื้อเพลิงปกติ

น้ำมันพืชใช้แล้ว ไม่ว่าจะทอดหรือผัด อาจเป็นสิ่งของที่ต้องนำไปทิ้งเพราะการใช้ซ้ำอาจหมายถึงอันตรายต่อสุขภาพ แต่จากนี้ไปสิ่งเหลือทิ้งอย่างน้ำมันใช้แล้วกำลังจะมีมูลค่า จากการกำหนดราคารับซื้อในตลาดทั่วไป

สาเหตุที่ของเหลือทิ้งนี้กลายเป็นสินค้ามีราคาเพราะน้ำมันพืชใช้แล้วเหล่านี้จะนำไปผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน : Sustainable Aviation Fuel (SAF) ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 80%เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงโดยปกติ อีกทั้ง สามารถใช้ผสมในน้ำมันเครื่องบินในปัจจุบัน (Jet A1) ได้ทันทีและมีความปลอดภัย และสอดคล้องกับเป้าหมายองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) รวมถึงสหภาพยุโรป (อียู) สู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซโลกร้อนเป็นศูนย์ (net zero goal) ในอุตสาหกรรมการบินพลเรือนภายในปี ค.ศ. 2050

สำหรับกลไกการซื้อน้ำมันพืชใช้แล้ว มีความพยายามสร้างเครือข่ายที่ชัดเจนและน่าสนใจมาก

(17 ม.ค. 67) ธรรมรัตน์ ประยูรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและค้าน้ำมัน บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนโดยการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัท ธนโชคน้ำมันพืช (2012)จำกัด จนมีทุนจดทะเบียน60ล้านบาท โดยบางจากฯ ถือหุ้นในสัดส่วน45%ซึ่งการร่วมทุนนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการบริหารจัดการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil, UCO)วัตถุดิบในการผลิตน้ำมันอากาศยานSAFของ บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ จำกัด 

“ล่าสุดได้ร่วมมือกับบริษัท สปาเก็ตตี้แฟคทอรี่ จำกัดผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารSpaghetti Factoryและร้านอาหารในเครือ10สาขา รวบรวมน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว เพื่อนำไปผลิตน้ำมันอากาศยานยั่งยืน”

ด้านผู้ใช้น้ำมันอย่างสายการบินแห่งชาติอย่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)ร่วมมือกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) นำเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน ใช้นำร่องกับเที่ยวบินของการบินไทยในเส้นทางภูเก็ต-กรุงเทพฯ 

อย่างไรก็ตาม แม้สัญญาณการผลิตและใช้น้ำมันSAF จะมีการตื่นตัวอย่างเห็นได้ชัดแต่ในทางปฏิบัติจริงถนนแห่งความยั่งยืนก็ยังไม่ราบรื่นสดใสนักแม้จะปูด้วยก้อนเมฆบนท้องฟ้าก็ตาม

กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่าเป้าหมายของ ทอท.ต้องการเป็น Net Zero ภายใน 10 ปี  กลยุทธ์ที่หนึ่ง คือการส่งเสริมและผลักดันน้ำมันเชื้อเพลิงยั่งยืน ซึ่ง ปัจจุบันยังไม่มีผลิตในไทยปัจจุบัน จึงมีราคาแพงกว่าเชื้อเพลิงปกติประมาณ 8 เท่า 

ดังนั้น ทอท.จะมองหาพันธมิตรในการพัฒนา SAF ในไทย เพื่อให้ต้นทุนลดลงเหลือ 2.2 เท่า เป็นโอกาสให้สายการบินได้ใช้ และไม่ถูกกีดกันการค้าจากยุโรปที่ให้ความสำคัญในเรื่องการใช้น้ำมัน SAF

“ปัจจุบันหลายประเทศในยุโรปมีเงื่อนไขกำหนดว่าภายในปี 2025 สายการบินต้องมีน้ำมัน SAF ผสมอยู่ในกระบวนการผลิตน้ำมันเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการบินราว 2% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกปี ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของไทยที่จะพัฒนาน้ำมันนี้ ทำให้การลงทุนและสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ แต่ส่วนสำคัญจะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน”

ด้านชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมัน SAF ในฝูงบินของการบินไทย โดยได้เริ่มต้นใช้น้ำมัน SAF ในปีนี้ปริมาณ 1.6 ล้านตัน และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2025 ปริมาณ 2.2 ล้านตัน ซึ่งผลแตกต่างของการใช้น้ำมัน SAF และน้ำมันเชื้อเพลิงปกติ หากใช้น้ำมัน SAF 1% จะมีส่วนต่างต้นทุนเพิ่มขึ้น 1.5 พันล้านบาท ดังนั้นหากการบินไทยเพิ่มปริมาณน้ำมัน SAF 10% ก็ต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 1.5 หมื่นล้านบาท

“โรดแมปของการบินไทย 2025 จะต้องใช้ SAF 2% ของปริมาณน้ำมันที่ใช้การบินทั้งหมด และเพิ่มต่อเนื่องเพื่อผลักดันเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 โดยอาจจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 60% แต่เป้าหมายเหล่านี้ปัจจุบันยังไม่มีการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ โดย SAF ราคาต้นทุนในสิงคโปร์สูงกว่าน้ำมันปกติ 3 เท่ากว่า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของสายการบินเพิ่มขึ้น”

ถึงเวลานี้ทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจว่าน้ำมัน SAF และช่วยกันทำให้ต้นทุนจับต้องได้เพื่อร่วมกันใช้และผลักดันสู่เป้าหมายความยั่งยืนให้ได้ ไม่ใช่เพื่อใครแต่เพื่อเราทุกคน อย่างน้อยก็รู้ว่าน้ำมันใช้แล้วอย่าทิ้งขายได้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top