Thursday, 9 May 2024
SDGS

‘คาร์บอนเครดิตป่าไม้’ อีกหนึ่งทางเลือกน่าลงทุน ช่วยสร้างเม็ดเงิน แถมได้ปลูกป่า ลดก๊าซเรือนกระจก

ปัจจุบัน ‘คาร์บอนเครดิต’ เข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งการซื้อขายจากที่ต่าง ๆ เพื่อข้อมูลการชดเชยการปล่อยคาร์บอน แต่มีอีกหนึ่งส่วนที่เป็นแหล่งลดคาร์บอนได้ไม่แพ้กันคือ การส่งเสริมคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้

(25 ม.ค. 67) พฤฒิภา โรจน์กิตติคุณ ผู้อำนวยการสำนักรับรองคาร์บอนเครดิต กล่าวงานฟอรั่มไม่มีค่า ภายใต้ Theme ‘สร้างเสน่ห์ ชุมชนสีเขียว: Enchanting Green Community’ ช่วง เสวนา ‘ชวนคุยชวนคิด ปลูก ไม้มีค่าจากต้นกล้า สู่ Carbon Neutrality คาร์บอนเครดิต’ จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่า…

แนวทางภาพรวมการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยนั้น ต้องมีการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า อย่างน้อย 68% ในปี พ.ศ. 2583 และ 74% ในปี พ.ศ. 2593 รวมถึงการ ยุติการใช้ถ่านหิน ในปี พ.ศ. 2593 และใช้เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน (CCUS) และการดักจับ และกักเก็บคาร์บอนเป็นกระบวนการสกัดพลังงานชีวภาพ (BECCS) รวมถึงการใช้พลังงานที่สะอาดทั้งในภาคขนส่ง และอุตสาหกรรม ในปี พ.ศ. 2588

ทั้งนี้ ไม่ได้มีแค่การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานแต่เพียงอย่างเดียว การปลูกต้นไม้ ตามแผนการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากสาขาป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน 120 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2580 - 2608

นอกจากนี้ทาง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) ได้มีสนับสนุนคาร์บอนเครดิต (Carbon Credits) ในภาคป่าไม้ โดยดูดซับปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่ลดและกักเก็บได้ จากการดำเนินโครงการ T-VER หรือการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ (Thailand Voluntary Emission Reduction Project :T-VER) และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ อบก. และถูกบันทึกในระบบทะเบียนของ อบก. ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ Standard และ Premium โดยมีเงื่อนไขการดำเนินโครงการดังนี้ 

1.เป็นไม้ยืนต้น (ชนิดใดก็ได้) ที่มีเนื้อไม้ และอายุยืนยาว 
2.มีหลักฐานเอกสารแสดงสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเอกสารที่ยืนยันได้ว่าเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่นั้น ๆ ยินยอมให้ดำเนินการ

โดยสถิติโครงการ T-VER ภาคป่าไม้ โครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งหมด 51 โครงการ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะกักเก็บได้ 361,966 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี โครงการที่ได้รับรองคาร์บอนเครดิต 8 โครงการ ปริมาณคาร์บอนเครดิต 123,708 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ เป็นพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่ง ประมวลรัษฎาภรให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการขายคาร์บอนเครดิตในประเทศตามโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อบก. ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค.2570

ผลึก อาจหาญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาลูกค้าและชุมชน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ได้มีการตั้งธนาคารต้นไม้ โดยเริ่มจากครอบครัวละ 9 ต้น ทำให้ชุมชนเกิดความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้นในชุมชนทั่วประเทศ สร้างรายได้ไปกว่าปีละ 100 ล้านบาท และได้มีการร่วมกับ อบก. ในการให้ความรู้เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตมากขึ้น และได้มีการตั้งงบสนับสนุนชุมชน 100 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในชุมชนไม่เกินชุมชนละ 50,000 บาท ซึ่งสามารถใช้ต้นไม้เป็นหลักประกันได้อีกด้วย โดยปัจจุบันมีต้นไม้ไม่ต่ำกว่า 200 ชนิดที่รับเป็นหลักประกันซึ่งมีราคากลางในการประเมินต้นไม้ได้ โดยปัจจุบันนั้นมีผู้รับสินเชื่อเป็นวงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาทแล้ว

ประสิทธิ์ เกิดโต รองผู้อำนวยการกรรมการผู้จัดการ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กล่าวว่า บทบาทของป่าไม้สามารถเพิ่มเป็นพื้นที่เศรษฐกิจได้ ต้องปลูกแล้วสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ อย่าง ยางพารา ไม้สัก ยูคาลิปตัส ในส่วนคาร์บอนเครดิตนั้นเป็นรายได้เสริมโดยมีค่าเฉลี่ยคือ 259 บาท และมีการประมาณรายได้ 120 ล้านบาท ในพื้นที่ 2 แสนไร่ ยิ่งมีพื้นที่มากยิ่งได้ต้นทุนการตรวจที่ลดลงอีกด้วย

จิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ กล่าวว่า ธุรกิจปลูกป่าทำรายได้ 18% ต่อปี ถือเป็นธุรกิจที่น่าลงทุน ซึ่งมีการให้คาร์บอนเครดิตที่สูง โดย 70% ของคาร์บอนเครดิตมาจาก ยางพารามากถึง 120 ล้านตันคาร์บอนซึ่งเป็นการส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อความยั่งยืนในการดูดซับคาร์บอนและสร้างรายได้เสริมให้กับประชาชนที่มีส่วนร่วมอีกด้วย

เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเป็นสองสิ่งนี้อาจสวนทางกันแต่ปัจจุบัน ‘คาร์บอนเครดิตจากป่าไม้’ อาจเป็นคำตอบของสองสิ่งให้อยู่ร่วมกันได้อย่างดีด้วย

SET ส่งเสริมปลูกป่าชายเลน-ลดขยะทะเลชุมชนมอแกน สร้างแบบอย่าง สู่ วิถีองค์กรตระหนักลดคาร์บอนเครดิต

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รักษ์โลกสู่วีถียั่งยืน หนุนแนวคิด ESG (Environment, Social, และ Governance) ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน โดยเน้นรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล แนวคิดนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากนักลงทุนทั่วโลก 

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญได้ร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางด้านความยั่งยืน หรือ ESG ด้วยการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม โดยภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ พร้อมผู้บริหาร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ใน 3 ปีข้างหน้าเข้ามาสนับสนุนการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน เพื่อสร้างตลาดทุนที่มีคุณภาพ สู่การเติบโตที่ยั่งยืน รวมถึงยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน และเสริมศักยภาพการแข่งขัน 

โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สร้างแพลตฟอร์ม SET Social Impact เพื่อเป็นแนวร่วมการแก้ไขปัญหาสังคม โดยสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมตื่นรู้ ผ่านการริเริ่ม สร้างความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยมุ่งหวังให้คนไทยเกิดการเรียนรู้ ร่วมรับรู้ ร่วมปรับพฤติกรรม และร่วมผลักดัน แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการต่างๆ ดังนี้

1.Care the Bear เพื่อส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยระบบตรวจวัดการปล่อยก๊าซจากการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างพฤติกรรมการบริโภคคุ้มค่า ภายใต้เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

2.Care the Whale เพื่อส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการบริหารจัดการของเสีย และสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการทำงานเชิงพื้นที่ในถนนรัชดาภิเษก โดยร่วมกับอาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย และศูนย์การค้าบนถนน

3.Care the Wild เพื่อส่งเสริมการสร้างพื้นที่ป่า เพื่อสร้างสมดุลในระบบนิเวศ

ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ฯ นำผู้บริหาร เจ้าหน้าที่องค์กร และสื่อมวลชน ร่วมมอบถุงยังชีพแก่ชาวชุมชนมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา และร่วมกันเก็บขยะทะเล ภายใต้โครงการ Care the Whale โดยมีอันดามันดิสคอฟเวอรี่ส์ ซึ่งเป็น SE ด้านพัฒนาชุมชน ในโครงการ SET Social Impact Gym ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้นำกิจกรรม

โดยการเก็บขยะทะเลที่หน้าหาดชุมชนมอแกน ในครั้งนี้ได้จำนวนกว่า 204 กิโลกรัม ตีเป็นมูลค่า 1,000 กว่าบาท ที่ถือว่าเป็นรายได้เสริมให้กับชาวชุมชนมอแกนและเป็นการช่วยลดปริมาณขยะทะเลที่เป็นพลาสติก เพราะถือว่า อันตรายที่สุดที่ทำให้ทะเลเกิดไมโครพลาสติกต่าง ๆ และสัตว์ทะเลต้องตายลงไป เพราะกินพวกพลาสติกที่อยู่ในท้องทะเล

โครงการนี้ถือว่าได้ผลดีมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ขยะทะเลค่อนข้างมาก กระทั่งช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่เกิดวิกฤตโควิด ชุมชนมอแกนไม่มีนักท่องเที่ยว ชุมชนมอแกนจึงได้รวมกลุ่มกันประมาณ 6 - 7 คน เพื่อจะเก็บขยะทะเล เพื่อสร้างรายได้เข้าสู่หมู่บ้านมอแกน

อย่างไรก็ตาม จากความร่วมมือกันของหลายหน่วยงานทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทจดทะเบียน และอันดามันดิสคอฟเวอรี่ส์ ได้ร่วมกันให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ชุมชนมอแกนในการแยกขยะประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแยกฝา แยกขวด และแยกฉลาก เพื่อเพิ่มเสริมสร้างมูลค่าของขยะทะเลให้เป็นรายได้ที่มากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน Care the Wild เพื่อส่งเสริมการสร้างพื้นที่ป่า เพื่อสร้างสมดุลในระบบนิเวศ เพื่อการทำซ้ำและขยายผลเชิงพื้นที่ต่อไป ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญเช่นกัน จึงได้มีการเข้าร่วมปลูกป่าโกงกาง ที่ท่าดินแดง จังหวัดพังงา จำนวน 300 ต้น เนื่องจากป่าโกงกาง หรือป่าที่เกิดจากทะเลจะช่วย จะช่วยลดคาร์บอนเครดิต หรือ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมได้เป็นจำนวนมาก และสามารถผลิตก๊าซออกซิเจนได้สูงกว่าป่าทั่วไปที่เกิดขึ้นตามภูเขา อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนบ้านท่าดินแดงอีกด้วย

ทั้งนี้หากย้อนไปช่วงปี 2547 ที่เกิดเหตุการณ์สึนามิ ที่ซัดถล่มชายฝั่งอันดามัน ทำให้หลายหมู่บ้านได้รับความเสียหายในครั้งนั้นค่อนข้างมาก แต่หมู่บ้านท่าดินแดง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีการปลูกป่าโกงกางค่อนข้างหนาแน่น ทำให้สามารถปกป้องหมู่บ้านไว้ได้ และหลังจากนั้นจึงได้มีการรณรงค์ปลูกป่าโกงกางโดยมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนและเข้ามาดูแล

และ Care the Bear ได้มีการคำนวณปริมาณคาร์บอนที่เกิดจากเกิดขึ้นโดยการพยายามที่จะใช้รถโดยสารให้น้อยที่สุดหรือบรรจุคนในเรือให้เต็มลำ และคำนวณระยะทางของการใช้ยานพาหนะ โดยคำนวณเรือที่เดินทางไปหมู่เกาะสุรินทร์กี่กิโลเมตร รวมถึงวิเคราะห์ถึงอาหารที่รับประทานว่า เหลือทิ้งเท่าไร เป็นจำนวนกี่กิโลกรัม และขยะที่เกิดขึ้นบนหมู่เกาะสุรินทร์ เช่น กระดาษ ขวด กระเป๋า ก็จะเก็บนำมาคำนวณ ในการช่วยลดจำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ได้

อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังขับเคลื่อนวาระสำคัญของตลาดทุนไทยและประเทศสู่ความยั่งยืน มุ่งสู่ Net Zero ตามเป้าหมายในปี 2050 สอดคล้องมาตรฐาน SBTi และเข้าร่วมการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD) โดยมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการด้าน ESG ภายในองค์กรอย่างเข้มข้น เช่น การต่อยอดโครงการ SET’s Journey Towards Net Zero เพื่อมุ่งสู่การเป็น Net Zero Organization การพัฒนาองค์กรให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น (Culture transformation) พร้อมกับการพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงและการกำกับดูแลกิจการที่มีประสิทธิภาพ (Risk management & Enhancing governance)

‘รทสช.’ เดินหน้าผลักดันนโยบาย Solar Rooftop เสรีในครัวเรือน หนุน ‘แก้ไขกฎ-ลดขั้นตอนติดตั้ง’ ช่วยปชช. เข้าถึงไฟฟ้าราคาถูก

(24 ม.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยภายหลังประชุมพรรคว่า พรรคมีมติในการสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินนโยบายโซลาร์รูฟท็อป (Solar rooftop) เสรีในส่วนของครัวเรือน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจะมีปัญหา และอุปสรรคในการขออนุญาตติดตั้ง Solar rooftop บนหลังคาบ้านเรือน เนื่องจากต้องขอใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และขออนุญาตติดตั้งได้ยากมาก

ดังนั้น ทางสส.ของพรรค จึงมีมติให้นายเกรียงยศ สุดลาภา สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นผู้ยื่นกระทู้ถามสดในสภาฯ ในวันที่ 25 มกราคม 2567 ที่จะถึงนี้ ถามนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงความคืบหน้าในโครงการ Solar rooftop เสรีซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญของพรรครวมไทยสร้างชาติ

เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงในการเข้าถึงโครงการ Solar rooftop เสรี เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในครัวเรือน และเสริมในสิ่งที่กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการไปแล้ว คือการลดค่าไฟให้กับประชาชน 

โดยโครงการติดตั้ง Solar rooftop เสรีมีส่วนสำคัญในการลดค่าไฟให้กับประชาชน ถ้าประชาชนต้องการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเรือน สามารถทำได้โดยง่ายไม่ต้องติดกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ยุ่งยากเหมือนในอดีต ถือเป็นการใช้พลังงานราคาถูก

นายอัครเดช กล่าวต่ออีกว่า เดิมทีการขออนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านเรือน มีขั้นตอนยุ่งยาก เพราะต้องมีการเขียนแบบ มีการตรวจสอบ มีการติดตั้ง ซึ่งต้องเป็นไปตามนโยบายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จากนี้ไปจะง่ายขึ้น ส่วนเรื่องความปลอดภัย ยังเหมือนเดิม เพียงแต่จะลดขั้นตอนการอนุญาตติดตั้งในระดับครัวเรือนได้เร็วขึ้น

“รายละเอียดเรื่องนี้ ขอให้ประชาชนรอฟังการชี้แจงของน.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ที่จะมาตอบกระทู้สดในสภาฯ ถือเป็นนโยบายสำคัญของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ตั้งใจทำงานให้กับประชาชน” โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติกล่าว

'รมว.พีระพันธุ์' มอบนโยบายพลังงานสู่ 7 จังหวัดภาคใต้ ช่วยชาวบ้านเข้าถึง 'พลังงานทดแทน' ต่อยอดวิสาหกิจชุมชน

(24 ม.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการมอบนโยบายให้กับพลังงานจังหวัดทั้ง 7 จังหวัดที่เข้าร่วมนำเสนอผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชน โดยให้พลังงานจังหวัดเป็นตัวแทนของกระทรวงพลังงานในการสำรวจพื้นที่ต่างๆ รวมถึงสอบถามความต้องการของประชาชนในส่วนที่กระทรวงพลังงานจะสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้

ทั้งนี้ หลายวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีและความรู้จากพลังงานจังหวัด ทำให้ชาวบ้านสามารถแปรรูปอาหารและผลิตภัณฑ์ต่างๆ จนทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานทดแทนให้กับประชาชน จึงมีความสำคัญ และเป็นหน้าที่ที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานจังหวัดต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ 

ดังนั้น จึงต้องการให้พลังงานจังหวัดทุกจังหวัดช่วยกันสำรวจพื้นที่ ทำหน้าที่ใกล้ชิดประชาชน รวมถึงพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เพื่อให้ประชาชนได้มีไฟฟ้าใช้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีรายได้จากการใช้เทคโนโลยีพลังงาน 

‘รมว.พีระพันธุ์’ เดินหน้าให้ความรู้ด้าน ‘พลังงาน’ แก่คนไทย หนุนผลิต-ใช้ ‘พลังงานทดแทน’ ปักหมุด ‘ไทย’ สู่ศูนย์กลางเอเชีย

(23 ม.ค. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ United Thai Nation Party’ โพสต์ข้อความในหัวข้อ รมว.พลังงานลงพื้นที่ จ.ชุมพร เปิดกิจกรรม ‘คาราวานความสุข @ชุมพร’ หนุนชุมชนใช้พลังงานทดแทน โดยระบุว่า…

เมื่อวันที่ 22 มกราคม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ลงพื้นที่จังหวัดชุมพร เปิดงาน ‘กระทรวงพลังงาน คาราวานความสุข @ ชุมพร’ ตามนโยบายสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อวางรากฐานให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานในภูมิภาคเอเชีย และ สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งจากภาคพลังงาน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำองค์กรเอกชน กลุ่มพลังมวลชน ร่วมพิธีกว่า 2,000 คน ณ ลานกิจกรรมเทศบาลเมืองชุมพร อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร 

นายพีระพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ ‘พลังงานสร้างสุข ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มั่นคง เป็นธรรม ยั่งยืน เพื่อคนไทยทุกคน’ เพื่อประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับนโยบายด้านการส่งเสริมสนับสนุนการผลิตและใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน สร้างความเข้าใจและเข้าถึงองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน ไปยังกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการอาคาร โรงงานและประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ทั้งนี้ มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านพลังงานและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ด้านพลังงานและสินค้าชุมชนให้มีโอกาสพบผู้บริโภคได้โดยตรง รวมทั้งสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการและชุมชนต่าง ๆ ให้สามารถแลกเปลี่ยน ซื้อขาย ตลอดจนตกลงร่วมมือทางด้านพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน เสริมสร้างและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่มูลค่าระหว่างภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการ และเพื่อเป็นกรณีตัวอย่างแก่ผู้ประกอบการและชุมชนอื่น ๆ ให้เกิดการขยายผลในวงกว้าง

‘ก.พลังงาน’ เล็งใช้สิทธิทางภาษีจูงใจ ‘ภาคเอกชน’ หันมาใช้เครื่องจักรคุณภาพสูง เพื่อลดการใช้พลังงาน

(23 ม.ค.67) นายชำนาญ กายประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา ‘การส่งเสริมการผลิต การใช้และการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง ด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี’ ภายใต้โครงการพัฒนาและติดตามผล มาตรการทางภาษีเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่า การดำเนินงานโครงการนั้นเป็นการศึกษาแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการปรับมาใช้เครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพพลังงาน โดยใช้กลไกทางการเงินเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนและการปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ

ด้าน นายสมชาติ ตั้งลิขสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า พพ. ได้ดำเนินการศึกษาโครงสร้างภาษี ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมถึงรูปแบบสิทธิประโยชน์ทางภาษี เครื่องจักร อุปกรณ์และกิจกรรมที่ให้สิทธิประโยชน์ ผู้รับสิทธิประโยชน์ และอัตราภาษีที่ได้รับสิทธิประโยชน์ ที่ได้ดำเนินการในประเทศไทย และในต่างประเทศ

พร้อมกันนี้ ยังได้จัดประชุมหารือและรับฟังความคิดสำหรับ (ร่าง) แนวทางและหลักเกณฑ์การส่งเสริมการผลิตการใช้ และการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี กับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน

อย่างไรก็ดี ได้มีผลการศึกษาแนวทางในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เหมาะสมต่อประเทศไทย คือ รูปแบบการยกเว้นภาษีเงินได้ โดยหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนการคำนวณภาษี และสนับสนุนอุปกรณ์ที่ติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง, อุปกรณ์ที่ติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงาน เพื่อผลักดันให้มีการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงมากยิ่งขึ้น และยังช่วยลดการใช้พลังงานในภาพรวมของประเทศ ภายใต้เงื่อนไขอัตราภาษีที่จะนำไปคำนวณสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมนั้น จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ด้านพลังงานที่จะได้รับ

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ได้จากการศึกษาจำเป็นต้องมีการนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาก่อนดำเนินการต่อไป

‘บลจ. พรินซิเพิล’ สานต่อโครงการกิจกรรมเพื่อสังคม รวมเงินพนักงานร่วมแสน มอบโอกาสแก่โรงเรียนที่ชัยภูมิ

(22 ม.ค. 67) คุณแบรนดา ชู ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนพรินซิเพิล จำกัด พร้อมด้วยผู้บริหารและพนักงาน ร่วมโครงการกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ส่งมอบโอกาสแก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนโบว์มอนท์ ร่วมพัฒนา อำเภอซับใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ โดยมอบเงินจากการโอนสิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีของพนักงานรวม 178,000 บาท และเสื้อกันหนาวสำหรับเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล อายุ 3 - 6 ปี และเด็กนักเรียนใหม่จำนวน 100 ตัว แก่ คุณทิม โบว์มอน ผู้ก่อตั้งโรงเรียนโบว์มอนท์ ร่วมพัฒนา เพื่อนำไปพัฒนาโรงเรียนและมอบให้แก่เด็กนักเรียนต่อไป 

ทั้งนี้ บลจ. พรินซิเพิล จัดทำโครงการ CSR มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 สอดคล้องกับนโยบายของกลุ่มพรินซิเพิลที่ดูแลและทำงานเพื่อสังคมผ่านมูลนิธิ Principal Financial Group Foundation เมืองดีมอยน์ (Des Moines) รัฐไอโอวา (Iowa) ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้หลักการสำคัญ 3 ข้อ คือ Learn more, Earn more, Save more เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจด้านการเงินแก่ผู้ด้อยโอกาส และมอบโอกาสต่อยอดสู่การสร้างพฤติกรรมการออม ตลอดจนสร้างผลตอบแทนการลงทุนให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตไปจนถึงวัยเกษียณ 

‘วิชัย ทองแตง’ อุทิศตนช่วย ‘ลดเหลื่อมล้ำ’ เดินหน้าปั้นธุรกิจสตาร์ตอัปไทยให้แข็งแกร่ง

เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงาน 2 ทศวรรษแห่งการแบ่งปัน 9 ทศวรรษแห่งการสร้างสรรค์สังคม เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี กองทุนทำบุญวันเกิดกับธรรมศาสตร์ และ 90 ปี การสถาปนามหาวิทยาลัย โดยมีทั้งศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันเข้าร่วมงานคับคั่ง

พร้อมกันนี้ ภายในงาน ยังได้จัดเวทีเสวนาพิเศษ “มุมมองฅนธรรมศาสตร์ มองปัญหาสู่ทางออกสังคมไทย ปัญหาคอร์รัปชัน เศรษฐกิจและตำรวจ” โดยศิษย์เก่าธรรมศาสตร์หลายรุ่น ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คุณวิชัย ทองแตง ทนายความ และนักลงทุน และ คุณศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมเสวนา

ทั้งนี้ คุณนายวิชัย ทองแตง ได้ให้มุมมองทางด้านเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยตกอยู่ในกับดักบางอย่าง คนไทยมีรายได้เฉลี่ยปานกลาง 2.4 แสนบาทต่อปี ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมี 4.5 แสนบาทต่อปี ซึ่งตนเองสนใจตัวเลขนี้แล้วก็ติดตามตัวเลขนี้มาตั้งแต่จบมหาลัยธรรมศาสตร์ ทุกวันนี้ยังสะเทือนใจอยู่ว่า เส้นแบ่งแห่งความยากจนอยู่ที่ 2,802 บาท หรือปีละ 30,000 กว่าบาทเท่านั้นเอง คนไทยส่วนใหญ่อยู่ภายใต้กับดักความเหลื่อมล้ำนี้ แน่นอนว่า สิ่งที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่นี้ เป็นเรื่องที่ตนเองยอมรับไม่ได้ จึงได้ออกเดินสายบรรยายฟรีทั่วประเทศ เพื่อที่จะลดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ให้ได้ ส่วนจะได้มากหรือน้อยไม่ว่ากัน

ขณะเดียวกัน ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสะเทือนใจ ก็คือ ตอนที่รัฐบาลประกาศให้ประชาชนเข้ามาจดเข้ามาลงทะเบียนรับสิทธิ์เรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ ที่เรียกทั่วไปว่า บัตรคนจนนั้น มีผู้ยื่นลงทะเบียนถึง 22,293,473 ล้านราย นับเป็นสัดส่วนถึง 30% ของประเทศนี้

ขณะที่ จีดีพีภาคเกษตรไทยไตรมาสที่หนึ่งปี 66 มีสัดส่วนประมาณ 6.2% ของจีดีพีประเทศไทย ในขณะที่เนื้อที่ทางการเกษตรมีถึง 149.25 ล้านไร่ หรือ 46% ของทั้งประเทศ ตรงนี้คือความเหลื่อมล้ำหรือไม่ และด้วยความเหลื่อมล้ำที่ยังแผ่ขยายอยู่ในสังคมไทย จึงมีแนวคิดที่จะช่วยปั้นธุรกิจของคนไทยให้เติบโตและอยู่รอดต่อไป

คุณวิชัย ระบุว่า ตนเองผ่านอุปสรรคผ่านการทําธุรกิจมามากมาย โดยยึดมั่นในหลักการ 2 อย่าง Execution การลงมือปฏิบัติทำให้บรรลุผล และ implementation กระบวนการที่เริ่มตั้งแต่เอาความคิดมาวางแผนขึ้นโครงการให้สามารถปฏิบัติให้เกิดผลได้ ซึ่งทั้ง 2 ข้อนี้คือหัวใจสำคัญที่จะให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

ยกตัวอย่าง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้จัดงานครั้งแรกที่เชียงใหม่ เกี่ยวกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ติดอันดับเมืองที่มีฝุ่นควันติดเป็นอันดับ 1 ของโลกมา 20 ปีแล้ว แม้จะมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปประชุมหาทางแก้ไขมาตลอด แต่ปัจจุบันฝุ่นควัน PM2.5 ก็ยังเป็นปัญหาของจังหวัดเชียงใหม่อยู่เช่นเดิม ทั้งนี้ ตนเองได้เข้าไปทำโครงการที่เรียกว่า “หยุดเผา เรารับซื้อ” ซึ่งเป็นการลงทุนสร้างโรงงานรับซื้อสิ่งที่ชาวบ้านเผา ไม่ว่าจะเป็น ฟางข้าว ใบไม้ และตอซังข้าวโพด นำมาขายเข้าโรงงาน เพื่อที่จะนำไปผลิตชีวมวลอัดเม็ดส่งขายต่างประเทศต่อไป 

ซึ่งชีวมวลอัดเม็ด กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการอย่างสูง มีออเดอร์มาแล้ว 10 ล้านตันต่อปี แต่ประเทศไทยสามารถผลิตและส่งออกไปได้ไม่ถึงปีละ1 แสนตัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ในวิกฤตฝุ่น PM2.5 ได้สร้างโอกาสอันยิ่งใหญ่ให้กับประเทศไทย และเกษตรกรไทย เพียงแต่ยังไม่มีใครมาพลิกใช้วิกฤตที่เกิดขึ้นนำไปสร้างโอกาสต่อเท่านั้น

พร้อมกันนี้ คุณวิชัย ยังระบุถึงภารกิจในปัจจุบันซึ่งก็คือ การเป็นนักปั้น หมายถึงปั้นธุรกิจสตาร์ตอัปไทยให้ประสบความสำเร็จ เพราะจากสถิติที่ผ่านมา มีสตาร์ตอัปไทยเกิดขึ้นมานับหมื่นราย แต่มีศักยภาพเหลือรอดแค่ 1% ทั้ง ๆ ที่มีกลุ่มธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital : VC) มาลงทุนร่วมกับสตาร์ตอัปไทยจำนวนเยอะมาก แต่กลับไปไม่ถึงไหน 

“จากการที่ได้เข้ามาช่วยปั้นธุรกิจมาหลายปี พบว่า อุปสรรคสำคัญที่สตาร์ตอัปไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ คือ เมื่อไหร่ที่บริษัทจะเพิ่มทุนหรือขยายธุรกิจ จะต้องมาขอความเห็นชอบ (consent) จากผู้ร่วมลงทุนก่อน ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่สําหรับคนปฏิบัติงาน เพราะไม่มีสิทธิ์ตัดสินได้เอง ก่อนหน้านี้เคยลงไปช่วยปั้นสตาร์ตอัป 2 ราย แต่ไม่สำเร็จ เพราะติดปัญหาต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ลงทุน ซึ่งถือหุ้นอยู่เพียง 5% เท่านั้น แน่นอนว่าเรื่องเช่นนี้ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำหรับผู้ที่จะเข้าไปลงทุนในสตาร์ตอัปต้องพิจารณาให้ดี”

นายวิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของเงื่อนไข การปั้นธุรกิจนั้น ได้วางไว้เป็นพื้นฐาน 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. เราจะไม่ใช้เทคโนโลยี เพื่อโกง หรือหลอกลวงผู้อื่น 2. เราจะเรียนรู้ เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดี มีคุณธรรม และ3. เราจะแบ่งปันความรู้ และโอกาส แก่ผู้ที่ด้อยกว่า ซึ่งเงื่อนไขนี้ เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ตนเองจะเซ็นสัญญาร่วมทุนกับ บริษัท บิทคับ จํากัด เมื่อปี 2565 ขณะนั้นมีคนในเครือข่าย 1,500 คน ตนได้บอกกับ คุณท็อป (จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา) ไปว่าหากคนในเครือข่ายปฏิญาณยอมรับในเงื่อนไข 3 ข้อนี้ได้ ตนเองจะช่วย ซึ่งทางกลุ่มบิทคับยอมรับในเงื่อนไขนี้ จึงเกิดการทำงานร่วมกันในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน 

ส่วนการคัดเลือกบริษัทที่จะปั้นนั้น จะโฟกัสที่ 3 ส่วน คือ สตาร์ตอัป, SME และบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโต โดยธุรกิจที่จะเข้าไปสนับสนุนหรือไปปั้นต่อนั้น จะต้องมี 2G ก่อน G แรกคือ Growth ต้องมีการเติบโต รายได้มากน้อยไม่ว่ากัน และ G ที่สอง คือ Gain ต้องมีกำไร เพราะนั่นแปลว่าเข้าใจวิธีการบริหารและต้นทุนธุรกิจดีถ้ามี 2G แล้ว ก็ไม่ต้องเหนื่อยมาก จากนั้นก็จะหาช่องทางระดมทุน หรือแนะนำกลุ่ม VC พร้อมทั้งช่วยวางแผนทางการเงินให้ ปัจจุบันมีทีมงานช่วยวิเคราะห์จำนวน 90 คน ทำเรื่องวิเคราะห์ธุรกิจเอสเอ็มอี หรือสตาร์ตอัป ที่ต้องการความช่วยเหลือโดยเฉพาะ 

คุณวิชัย ย้ำว่า นอกเหนือจากเงินทุน และแผนธุรกิจที่จะทำให้สตาร์ตอัปประสบความสำเร็จแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างมากนั่นคือ “เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่” เพื่อนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ และทุกครั้งที่ไปบรรยายจะเน้นให้ทุกคนคำนึงถึง 3 เรื่องหลัก ๆ คือ Collaboration การทํางานร่วมกันเป็นพันธมิตรกัน, Connection การเชื่อมต่อทางธุรกิจ และ Mergers & Acquisition (M&A) การควบรวมกิจการ เพราะการทำธุรกิจไม่ต้องไปแย่งชิงกัน แต่ต้องจับมือกันแบ่งปัน ใครเก่งด้านใดก็ทำเรื่องนั้น ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้จะนำพาธุรกิจไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างแน่นอน

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมทำให้หลายบริษัทสามารถจับมือเป็นพันธมิตรกันแล้วเพิ่มความแข็งแกร่ง ส่วนการเชื่อมต่อธุรกิจต่อธุรกิจนั้น ไม่จําเป็นต้องเป็นธุรกิจเดียวกัน บางครั้งการที่นักธุรกิจสองฟากฝั่งคนละธุรกิจมานั่งคุยแลกเปลี่ยนกันก็อาจจะเกิดนวัตกรรมใหม่เกิดความคิดใหม่ ๆ ส่วนเรื่อง M&A หากต้องการเติบโตไปกว่าเดิมจะต้องทำเรื่องนี้ ยกตัวอย่าง กลุ่มโรงพยาบาลของผม กลุ่มพญาไทและเปาโว ซึ่งตอนนั้นมี 8 โรงพยาบาล ได้ร่วมกับอาจารย์ประเสริฐ ประสาททองโอสถ ซึ่งขณะนั้นมี 22โรงพยาบาล ทำการควบรวมกิจการกันเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2553 ทำให้มีจำนวนโรงพยาบาล 30 โรงพยาบาล และหลังจากนั้น เกิดกระแสเงินสดใหม่เข้ามาในธุรกิจเยอะมาก ทําให้เราสามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว จนถึงวันนี้เรามี 53 โรงพยาบาล รวมถึงโรงงานผลิตยา 2 โรงงาน และร้านขายยาอีก 1,100 แห่ง ทำให้กลุ่มของเราสามารถก้าวขึ้นไปอยู่ในอันดับหนึ่งของเอเชีย และเป็นอันดับ 5 ของโลก แต่หากพิจารณาด้าน Hospitality หรือความมีไมตรีจิตในการบริการ เราเป็นอันดับหนึ่งของโลกแทบจะทุกครั้งที่มีการประกวด ซึ่งตรงนี้คือจุดแข็งและศักยภาพของคนไทย ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้”

คุณวิชัย ยังให้มุมมองต่อธุรกิจในอนาคตด้วยว่า ปัจจุบันบริบทของโลกได้มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานด้น ESG คือ ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ล่าสุดในการประชุม COP28 ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้มีข้อตกลง เรียกร้องให้เปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบพลังงาน ในลักษณะที่ยุติธรรม เป็นระเบียบเรียบร้อยและเท่าเทียมกันเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ตามหลักวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นภาคธุรกิจจะต้องตื่นตัวในเรื่อง ESG แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็จะต้องทำ เพราะถ้าเราไม่ทำ ในวันข้างหน้าเราจะถูกชาวคนทั้งโลกแบน และอยากให้ทุกธุรกิจยึดมั่นว่าสโลแกน มุ่ง Net Zero, GO Green, Lean เหลื่อมล้ำ, ย้ำความร่วมมือ แล้วทุกธุรกิจจะบรรลุเป้าหมายและช่วยรักษาโลกไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย

‘ไทย’ เตรียมรับมือวิกฤตอาหาร ภายใต้สภาพอากาศสุดขั้ว ยก Food loss food waste ใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่าเป็นทางออก

การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างย่อมมี ‘ต้นทุน’ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหมายถึงต้นทุนที่เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ทุกคนบนโลกกำลังจ่ายไปทุกเวลา นาที ชั่วโมงและทุกวัน รวมเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาลในการขาดแคลนอาหารในอนาคต

ข้อมูลจาก World economic forum ระบุว่า เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว สภาพภูมิอากาศ และที่เกี่ยวข้องกับน้ำทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเกือบ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปี 2562 มูลค่าความเสียหายนี้จะเพิ่มขึ้นมาจาก 184 พันล้านดอลลาร์ในปี 2513 อย่างไรก็ตาม หากอ้างอิงตามรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) จะพบว่าตัวเลขที่แท้จริงของความสูญเสียดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะสูงกว่านี้อีก

เนื่องจาก ความล้มเหลวในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่สำคัญในรายงานความเสี่ยงทั่วโลก โดยแบบสำรวจ 70% ให้คะแนนมาตรการที่มีอยู่เพื่อป้องกันหรือเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า “ไม่มีประสิทธิภาพ” หรือ “ไม่มีประสิทธิภาพอย่างมาก”

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทย กล่าวว่า เรื่องน่ากังวลในอนาคตอีกอย่างที่เกี่ยวกับ 1 ในปัจจัย 4 ที่สำคัญการดำรงชีวิต คือความมั่นคงด้านอาหาร หรือ Food security โดยไทยมีการเตรียมการเรื่องของอาหารแห่งอนาคต Future food ไม่ว่าจะเกิดโรคระบาดในสัตว์หรือสภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลทำไม่มีผลผลิตจากปศุสัตว์นั้น ก็จะมีการนำพืชเข้ามาทดแทนหรือแมลง สาหร่าย รวมถึงจุลินทรีย์เข้ามาทดแทน เมื่อมีความจำเป็น

ในปัจจุบันนั้นมีการนำมาตรการ Food loss food waste ซึ่งเป็นการนำวัตถุดิบมาใช้คุ้มค่าที่สุด โดยมี กระบวนการ 3Rs อันได้แก่ ใช้น้อยหรือลดการใช้ (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และใช้ใหม่ (Recycle)

“ภาคของธุรกิจอย่างน้อยต้องเตรียมในเรื่องพื้นฐานความยั่งยืนที่ต้องล้อไปตามเทรนด์ของโลก โดยเริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนทั้งด้านพลังงานทางเลือกเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นและให้คู่ค้าเห็นว่ามีโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนความยั่งยืน และยังต้องเตรียมความพร้อมรับมาตรการบังคับทางด้านภาษีที่ยังไม่น่าจะมีผลในเร็ว ๆ นี้ แต่ก็ต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต”

ประเทศไทยสามารถใช้จุดแข็งเพื่อการเตรียมรับมือกับวิกฤติที่จะเกิดขึ้น แต่ในภาพรวมจากการประเมินทางเศรษฐกิจกำลังชี้ว่าวิกฤติสภาพภูมิอากาศเริ่มเป็นความเสี่ยงที่มีความชัดเจนมากขึ้น นับเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ทุกคนต้องจ่าย

ยกตัวอย่างประเทศจีนที่ประสบความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยตรงมากกว่า 42,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงฝนตกหนัก แผ่นดินถล่ม พายุลูกเห็บ และไต้ฝุ่น ตามข้อมูลของรัฐบาลจีนที่อ้างอิงจากข้อมูลของ WMO ระบุว่า ความเสียหายจากพายุไซโคลนเขตร้อนถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุด รองลงมาคือน้ำท่วม และภัยแล้งตามมาเป็นอันดับสาม

ขณะที่ในแอฟริกา ภัยพิบัติระหว่างปี 2513-2564 ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 43,000 ล้านดอลลาร์ โดยภัยแล้งคิดเป็น 95% ของสาเหตุการเสียชีวิต ส่วนที่ยุโรปตามข้อมูลของ WMO ระบุว่าความเสียหายอยู่ที่ 562 พันล้านดอลลาร์ โดย 8% ของการเสียชีวิตจากภัยพิบัติทั่วโลกที่กระทบคนยุโรป 

สำหรับอเมริกาใต้ มูลค่าขาดทุนอยู่ที่ 115.2 พันล้านดอลลาร์ และสำหรับอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และแคริบเบียน อยู่ที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะเดียวกัน การประเมินสภาพภูมิอากาศแห่งชาติของสหรัฐฉบับล่าสุดได้สรุปว่าเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในปัจจุบันทำให้ประเทศเสียหาย 1 พันล้านดอลลาร์ทุกสามสัปดาห์ และความเสียหายเฉลี่ย 150 พันล้านดอลลาร์ในแต่ละปีระหว่างปี 2561-2565

เหตุการณ์สุดขั้วที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศถูกกำหนดให้เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมากขึ้น 

นอกจากนี้ ตามรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 28 หรือที่เรียกว่า COP28 ที่ชี้ว่า “ต้องมีการรับมือภัยพิบัติที่มากขึ้น”

แม้ว่าทั่วโลกได้ใช้ความพยายามทั้งการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านไปเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแต่ก็ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน ความเสียหายยังหลอกหลอนต่อไป การเข้าใจและเตรียมความพร้อมอาจทำให้วิกฤติกลายเป็นโอกาสเหมือนที่ไทยใช้เตรียมพร้อมด้านอาหารมั่นคง

‘โรบินสัน’ ผนึก ‘Tesla’ จัดทำ Supercharger ในภาคเหนือ รับเทรนด์ตลาด EV เติบโต มุ่งสู่องค์กรต้นแบบค้าปลีกสีเขียว

(21 ม.ค. 67) เข้าสู่ตลาดรถไฟฟ้าที่มีการเติบโตแรงเป็นทางเลือกของผู้บริโภค ทำให้ค้าปลีกไทยต่างมีการติดตั้ง สถานีชาร์จไว้รองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าในแทบทุกพื้นที่แล้ว รวมถึง ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ร่วมจัดบริการจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า Supercharger ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ กำแพงเพชร เป็นสาขาแรกในภาคเหนือ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางภาคเหนือตอนล่างในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งานรถไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว

‘Supercharger’ เป็นความร่วมมือกับ เทสลา (Tesla) ได้ติดตั้งอยู่บริเวณลานจอดรถภายในศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ กำแพงเพชร จำนวนทั้งสิ้น 8 หัวชาร์จ ประกอบด้วย ประเภท CCS2 DC รองรับการจ่ายกำลังไฟฟ้าได้สูงสุด 250 กิโลวัตต์ จำนวน 6 หัวชาร์จ และประเภท AC รองรับการจ่ายกำลังไฟฟ้าได้สูงสุด 11 กิโลวัตต์ จำนวน 2 หัวชาร์จ

ทั้งนี้ ทำให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในศูนย์การค้าได้รับความสะดวก รวมถึงสามารถตรวจสอบความพร้อมของสถานี Supercharger และตรวจสอบสถานะการชาร์จ ผ่านแอปพลิเคชัน Tesla ได้

“การติดตั้ง สถานี Supercharger ในศูนย์การค้าครั้งนี้ สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนยุคปัจจุบันที่หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกพบว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าปี 2566 มีสัดส่วนการเติบโตกว่า 399.05%”

แผนในระยะต่อไป ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ มีแผนร่วมมือกับ Tesla เพื่อจัดทำ Supercharger ในสาขาอื่น ๆ ต่อไป โดยเป็นไปตามแนวทางองค์กรที่วางไว้ ‘A Lifestyle Community for All Living’

ทั้งนี้ มีความสอดคล้องกับแผนโรดแมป ภารกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ของ เซ็นทรัล รีเทล ในการเป็นองค์กรต้นแบบค้าปลีกสีเขียว Green & Sustainable Retail ร่วมสร้างความยั่งยืนในระยะยาว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top