Thursday, 9 May 2024
SDGS

‘TCMA’ ชู!! ต้นแบบนิเวศนวัตกรรม บรรลุ Net Zero 2050  พร้อมดัน ‘สระบุรี’ ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกในไทย

เมื่อวานนี้ (10 ม.ค.67) ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยว่า TCMA ได้ดำเนินการร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าดำเนินงานของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มุ่งสู่การลดการปล่อยคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ 2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap การนำโรดแมปสู่การปฏิบัติการเปลี่ยนผ่าน

อีกทั้งยังได้แลกเปลี่ยนการดำเนินงานภายใต้แนวคิด Climate Partnership Determination นอกจากนี้ TCMA ได้ร่วมกับ Global Cement and Concrete Association (GCCA) องค์กรด้านซีเมนต์และคอนกรีตระดับโลก นำเสนอความก้าวหน้าดำเนินงาน Decarbonization Action และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกในระดับโลก

ดร.ชนะ กล่าวอีกว่า TCMA นำ 2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap มาสู่การปฏิบัติการเปลี่ยนผ่าน เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero 2050 มีการจัดทำแผนการดำเนินงานที่ลงรายละเอียด และพัฒนานิเวศนวัตกรรมดำเนินงานบูรณาการความร่วมมือเชิงพื้นที่ในจังหวัดสระบุรี ภายใต้ Public-Private-People Partnership (PPP)-Saraburi Sandbox: A Low Carbon City สร้างสระบุรีเป็นต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกในไทย 

PPP-Saraburi Sandbox เป็นการพัฒนารูปแบบความร่วมมือทำงานในเชิงพื้นที่ (Area Base) โดยใช้แนวทาง 3C คือ Communication - Collaboration - Conclusion step-by-step และ 3P คือ Public - Private - People Partnership นำโดยจังหวัดสระบุรี บูรณาการความร่วมมือและร่วมกันกำกับดูแล ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกระดับ ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ทำงานเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ผ่านโครงการต้นแบบที่สอดคล้องกับ Thailand NDC แผนลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ครอบคลุมมิติด้านนโยบาย กฎหมาย กฎระเบียบ (Policy/ Law/ Regulation) 

อีกทั้ง ด้านแหล่งทุน (Climate Funding) ด้านเทคโนโลยี (Technology) และด้านการกำกับดูแล (Governance) การดำเนินงานด้วยวิธีนี้ จะทำให้โครงการที่ทำด้านลดก๊าซเรือนกระจกมีความชัดเจนและวัดผลได้

สำหรับโครงการภายใต้ PPP-Saraburi Sandbox จะประกอบด้วย 

- การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด (Accelerating Energy Transition) เช่น การจัดหาพื้นที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ (Solar Floating) และระบบผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจน การพัฒนาสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization) และการส่งเสริมปลูกพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์

- การยกระดับเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Fostering Green Industry & Green Product) ด้วยการศึกษาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน และส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ หรือปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก รวมถึงการพัฒนาปูนซีเมนต์ที่ผลิตจากนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

- การจัดการวัสดุเหลือใช้ (Turning Waste to Value) ด้วยการนำวัสดุเหลือใช้มาเป็นวัตถุดิบทดแทน หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy: CE)

- การทำเกษตรกรรมคาร์บอนต่ำ (Promoting Green Agriculture) ด้วยการปลูกพืชพลังงานตามโมเดล BCG เช่น การทำนาเปียกสลับแห้ง ลดการใช้น้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

- การเพิ่มพื้นที่สีเขียว (Increasing Green Space) สนับสนุนการปลูกป่าชุมชนเพิ่ม 38 แห่งทั่วจังหวัด ช่วยดูดซับคาร์บอน ต่อยอดสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิต และสร้างรายได้ให้ชุมชน

"การนำเสนอดังกล่าวอยู่ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (COP28) ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์" 

ถอดรหัสธุรกิจรักษ์โลก สไตล์ 'รอยัล ภูเก็ต มารีน่า'  ย่างก้าวสู่ท่าจอดเรือปลอดคาร์บอนแห่งแรกในเอเชีย

(11 ม.ค.67) รอยัล ภูเก็ต มารีน่า (RPM) ได้ประกาศตัวในฐานะท่าจอดเรือปลอดคาร์บอนแห่งแรกของเอเชีย ความสำเร็จครั้งสำคัญที่ถูกสร้างขึ้นจากความมุ่งมั่นที่ผ่านมาในการเปลี่ยนแปลงมากมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน การได้รับการรับรองในครั้งนี้ RPM ไม่เพียงแต่ตอกย้ำตัวเองในฐานะผู้นำถึงการพัฒนาด้านความยั่งยืน กำหนดมาตรฐานในการเป็นผู้นำในการสร้างแนวทางปฏิบัติทางเรือที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมไปสู่ทั่วทั้งเอเชียอีกด้วย

RPM เป็นที่รู้จักกันดีในด้านนวัตกรรมเชิงนิเวศน์ที่มีการผสมผสานความหรูหรา ความยั่งยืน และความสง่างาม เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว มอบประสบการณ์การใช้ชีวิตที่แตกต่างในสภาพแวดล้อมอันเงียบสงบของจังหวัดภูเก็ต

>> RPM พัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

RPM เปรียบเสมือนประตูสู่อ่าวพังงาและทะเลอันดามัน ท่าเรือมาตรฐานระดับสากล ผู้บุกเบิกด้านการบริการท่าจอดเรือที่ได้รับรางวัลและการรับรองมาตรฐานสูงสุดของภูเก็ต สะอาด ปลอดภัย ทันสมัยท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ มอบบริการครบวงจร ดั่งสวรรค์ของการใช้ชีวิตริมทะเล

นอกจากบริการที่จอดเรือแล้ว ยังมีที่พักอาศัยระดับ 5 ดาว ตั้งแต่อพาร์ตเมนต์ เพนต์เฮาส์ ไปจนถึงวิลล่าและอความิเนียม (ที่พักพร้อมท่าจอดเรือส่วนตัว) นอกเหนือจากเสน่ห์ในการอยู่อาศัยแล้ว RPM ยังเป็นศูนย์กลางธุรกิจ ด้วยทำเลทองที่ตั้งใจกลางเกาะภูเก็ต จึงเหมาะอย่างยิ่งกับการเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับธุรกิจ พื้นที่เช่าสำหรับร้านอาหารหรือสำนักงาน และพื้นที่ในการจัดกิจกรรม อีเวนต์ต่าง ๆ มากมาย

เป็นเวลากว่า 20 ปีที่ RPM บุกเบิกและเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมท่าจอดเรือ ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นเลิศในการให้บริการ สิ่งอำนวยความสะดวก สุขภาพ และความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยตั้งแต่ปี 2559 RPM หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยแผงโซลาร์เซลล์บนอาคารที่จอดเรือในร่ม สามารถจ่ายพลังงานได้มากกว่า 40% ต่อวัน รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแห่งประเทศไทย หรือ อบก. ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศเพื่อต่อสู้กับปัญหาภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ RPM ยังทำงานร่วมกับพันธมิตร ในการลดการใช้ขวดพลาสติกในกิจกรรมการเดินเรือทุกประเภท ตั้งเป้าหากสำเร็จจะสามารถช่วยลดขวดพลาสติกไปได้ราว ๆ กว่า 4 ล้านขวดต่อปี

ในฐานะผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน RPM มีจุดประสงค์ในการสร้างแรงบันดาลใจที่กระตุ้นและเน้นย้ำให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ท่าจอดเรือควรมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ของประเทศไทยมีความสอดคล้องกับแนวทางกับหลักสากลด้วย ความมุ่งมั่นนี้สอดคล้องกับเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของประเทศไทยในการบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608

RPM ตั้งใจอย่างยิ่งที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบมากขึ้น พร้อมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและยั่งยืนกับผู้อยู่อาศัยในปัจจุบันและขยายศักยภาพกับนักลงทุนและชุมชนโดยรอบที่กว้างขึ้น ความมุ่งมั่นดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับประเทศไทยในฐานะการเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และสร้างมาตรฐานสำหรับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในภาคการท่องเที่ยวทั้งในประเทศไทยและทั่วทั้งเอเชีย

นายกูลู ลัลวานี ประธานบริษัท รอยัล ภูเก็ต มารีน่า (RPM) กล่าวว่านอกเหนือจากบทบาททั่วไปในฐานะท่าจอดเรือแล้ว RPM เป็นเหมือนจุดหมายปลายทางที่ผสมผสานความหรูหราและความยั่งยืนได้อย่างลงตัว ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่มอบไลฟ์สไตล์ที่กลมกลืนกับความงามดั้งเดิมของภูเก็ต ในฐานะท่าจอดเรือปลอดคาร์บอนแห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชีย และนี่คือการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการใช้ชีวิตที่หรูหราแต่ทว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เดือนที่ผ่านมา เรายังเป็นองค์กรธุรกิจผสมผสาน (Mixed-use Development) ที่เป็นกลางทางคาร์บอนแห่งแรกและแห่งเดียวในภูเก็ต ก้าวสำคัญในครั้งนี้ส่งผลให้เรากำลังวางแผนที่จะพัฒนาโครงการใหม่ในปีนี้ รวมถึงโรงแรมระดับ 5 ดาว วิลล่าหรู และคอนโดมิเนียม เพื่อตอกย้ำเส้นทางสู่ความสำเร็จของเรา ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาพื้นที่สำหรับจอดเรือ พื้นที่เชิงพาณิชย์ เปิดโอกาสให้ได้สัมผัสวิถีชีวิตของท่าเรือที่ผสมผสานความหรูหรา สะท้อนถึงคุณค่าและความมุ่งมั่นของ RPM ได้เป็นอย่างดี

‘ธ.กสิกรไทย’ จริงจัง!! เริ่มใช้ ‘รถแลกเปลี่ยนเงินตรา’ พลังงานไฟฟ้า พร้อมตั้งเป้าผลิตบัตรเครดิต-เดบิตด้วยวัสดุรีไซเคิล 20 ล้านใบใน 7 ปี

(11 ม.ค. 67) นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนในการแก้ปัญหาโลกร้อน จึงเดินหน้านโยบายและปรับการดำเนินงานต่าง ๆ ภายในองค์กร รวมถึงส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงไลฟ์สไตล์กรีนเพื่อมุ่งสู่ Net Zero Commitment ตามที่ธนาคารได้ประกาศไว้เมื่อปี 2564

โดยด้านการดำเนินงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการเปลี่ยนรถยนต์ของธนาคารจากรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วจำนวน 175 คัน และจะทยอยเปลี่ยนจนครบทั้งหมดภายในปี 2573 มีการทยอยติดตั้งแผงโซลาร์ในอาคารสำนักงานหลักและสาขา โดยตั้งเป้าติดตั้งให้ครบทุกสาขาที่มีศักยภาพในการติดตั้งจำนวน 278 แห่ง ภายใน 2 ปี การปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการของธนาคารไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น

และให้ความสำคัญกับการจัดการขยะในอาคารสำนักงานหลักเพื่อลดปริมาณขยะที่ไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ รวมทั้งส่งเสริมพนักงานและบุคลากรของธนาคารให้มีความรู้และเกิดพฤติกรรมที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ธนาคารยังมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการรักษ์โลกได้ง่ายขึ้น ผ่านการใช้บริการของธนาคารที่ใส่ใจเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทยได้เปิดตัวนวัตกรรมบริการที่มีเป้าหมายช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 2 โครงการ เป็นธนาคารแรกในไทย ได้แก่ การพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือรถ EV Currency Exchange และการจัดทำและเปลี่ยนบัตรเครดิตและบัตรเดบิตเป็นบัตรที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งทั้งสองโครงการได้พัฒนาสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย และมีการนำไปให้บริการจริงแล้ว

สำหรับรถ EV Currency Exchange เป็นรถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ขับเคลื่อนได้สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และใช้แบตเตอรี่ที่ได้พลังงานจากแผงโซลาร์ที่ติดตั้งบริเวณหลังคารถสำหรับการให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราในรถได้ต่อเนื่องสูงสุด 10 ชั่วโมงโดยไม่ต้องเสียบปลั๊กไฟ ปัจจุบันนำร่องเพิ่มความสะดวกสบายในการให้บริการแลกเงินแก่นักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเริ่มที่ จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดแรก และมีแผนขยายจำนวนรถให้ครอบคลุมมากขึ้นในอนาคต

ด้านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตธนาคารกสิกรไทย มีการเปลี่ยนมาใช้บัตรที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งช่วยลดการผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ใบละ 42 กรัมคาร์บอนฯ หรือลดลง 62% จากการใช้วัสดุแบบเดิม โดยเริ่มมีการทยอยนำบัตรแบบใหม่นี้มาใช้ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 ให้แก่ลูกค้าที่ออกบัตรใหม่ บัตรทดแทน และบัตรต่ออายุ ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเปลี่ยนบัตรกว่า 20 ล้านใบได้ครบทั้งหมดภายใน 7 ปี ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 770 ตันคาร์บอนฯ เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 51,333 ต้น

นายพิพิธกล่าวตอนท้ายว่า ในปี 2567 ธนาคารยังคงเดินหน้าผลักดันลูกค้าให้ร่วม GO GREEN Together อย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนเงินทุน องค์ความรู้ และการพัฒนา Innovation ใหม่ ๆ รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้าง Green Ecosystem ให้เกิดขึ้นจริง และร่วมกันพาประเทศสู่ Net Zero อย่างยั่งยืนต่อไป

‘บางกอกแอร์เวย์ส’ เดินหน้าสู่ภารกิจ ‘สายการบินรักษ์โลก’ หวังลด ‘มลพิษ-ก๊าซเรือนกระจก’ ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

(10 ม.ค. 67) นับเป็นทั้งโอกาสสำคัญและความท้าทายของอุตสาหกรรมการบินในการเปลี่ยนผ่านสู่ ‘สายการบินรักษ์โลก’ 

โดย กัปตันพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสายการบิน ‘บางกอกแอร์เวย์ส’ ฉายภาพว่า เส้นทางการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ ดำเนินภายใต้แนวคิดการเชื่อมโยงความสุขสานต่อถึงชุมชนและสังคมไทยอย่างยั่งยืน ‘Connect Your Happiness’ ในมิติ ESG

เริ่มด้วย ‘E - Environmental Journey’ การปูเส้นทางการบินสีเขียว ถือเป็นภารกิจใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันผลักดัน เนื่องจาก ‘ECO Friendly’ ได้กลายเป็นโจทย์สำคัญในการแข่งขันทางธุรกิจของทุกวันนี้ โดยเน้นกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

“นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมการบินรวมถึงธุรกิจท่าอากาศยานทั่วโลก ทุกภาคส่วนทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อรับมือกับปัญหาทางด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและวิกฤติสิ่งแวดล้อม ที่มีแนวโน้มทวีคูณความรุนแรงขึ้นจากหลายปัจจัย”

โดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ‘อุตสาหกรรมการบิน’ อาจถูกมองว่าเป็นผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ เนื่องจากเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนอันดับ 3 ของภาคการขนส่ง หรือ 11% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด จึงเป็นที่มาของการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ของรัฐบาลทั่วโลก รวมถึงกรอบนโยบายของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ‘ไออาต้า’ (The International Air Transport Association: IATA) ที่วางแผนจะก้าวเข้าสู่เป้าหมาย ‘Net Zero Carbon Emission’ หรือคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2050

เช่นเดียวกับบางกอกแอร์เวย์สที่ให้ความตระหนักต่อการจัดการกับปัญหาทางสิ่งแวดล้อมผ่านหลายโครงการที่เป็นรูปธรรม อาทิ ‘ด้านการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ’ (Climate Crisis Management) ประกอบด้วย โครงการการวางแผนใช้น้ำมันอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันได้มีการวางระบบปฏิบัติการสำหรับนักบินประจำสายการบินฯ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมันอย่างคุ้มค่า

อีกทั้งยังได้วางแผนศึกษา ‘การใช้เชื้อเพลิงการบินแบบยั่งยืน’ (Sustainable Aviation Fuels: SAF) และบูรณาการเทคโนโลยีกับนวัตกรรมต่างๆ มาช่วยประหยัดพลังงาน พร้อมกันนี้ยังได้เข้าร่วมโครงการ ‘Carbon offsetting and Reduction Scheme for International Aviation’ ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนให้ภาคการบินบรรลุเกณฑ์การรักษาระดับปริมาณการปล่อยคาร์บอนสุทธิอย่างสมดุล

เพื่อตอกย้ำเป้าหมายการสร้างอุตสาหกรรมการบินสีเขียว หรือ ‘Green Aviation’ ที่มุ่งเน้นลดมลพิษและก๊าซเรือนกระจก บางกอกแอร์เวย์สได้เดินหน้าโครงการพัฒนา ‘สนามบินสีเขียว’ นำร่องด้วย 3 สนามบินภายใต้การบริหารของบริษัทฯ ได้แก่ ‘สมุย ตราด สุโขทัย’ เพื่อชูโมเดลการจัดการทรัพยากรและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการปรับปรุงและพัฒนาการออกแบบก่อสร้างอาคารผู้โดยสารให้มีลักษณะเปิดโล่งและจัดให้มีพื้นที่สีเขียวโดยรอบสนามบิน การันตีด้วยรางวัลตราสัญลักษณ์ G - Green จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ประกาศให้สนามบินสมุยและสนามบินตราดเป็นกรีนแอร์พอร์ต หรือสนามบินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปี 2021

“นอกจากนี้ ในอนาคตยังมุ่งกำหนดแนวทางเพื่อปั้นเมกะโปรเจกต์ที่สำคัญระดับประเทศอย่างโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ให้เป็นหนึ่งในสนามบินสีเขียวที่มีผลงานโดดเด่นระดับภูมิภาคอีกด้วย”

และเพื่อเน้นย้ำเป้าหมายการลดคาร์บอนในกระบวนการทำงาน ล่าสุดบริษัทฯ ได้ริเริ่มวางแผนสำหรับโครงการ Low Carbon Skies by Bangkok Airways โดยจะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2567 เพื่อมุ่งสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจภายใต้ความยั่งยืนในมิติต่างๆ ตามแนวทางของ IATA ที่เน้นด้านการจัดสรรการใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (SAF) การกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แหล่งกำเนิด การชดเชยและการดักจับคาร์บอน การศึกษาการนำเทคโนโลยีใหม่ไฟฟ้าและไฮโดรเจนเข้ามาใช้ และการปรับปรุงด้านโครงสร้างพื้นฐานและประสิทธิภาพการดำเนินงาน

กัปตันพุฒิพงศ์ เล่าถึงอีกมิติของแนวคิด ESG ว่า ‘S - Social Development’ เพราะหัวใจสำคัญของก้าวที่ยั่งยืน คือการก้าวไปพร้อมกับชุมชน ตลอด 55 ปีที่ผ่านมา บางกอกแอร์เวย์สมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนเพื่อเป็นสายการบินที่ดีที่สุดของเอเชีย! โดยคำนึงถึงการสนับสนุนชุมชนและสังคมเป็นหัวใจสำคัญ สะท้อนผ่านพันธกิจของบริษัทฯ ที่มุ่งมั่นให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับสังคม

ไม่ว่าจะเป็นชุมชนในเส้นทางที่บริษัทฯ ทำการบินรวมกว่า 11 หมุดหมายแห่งอารยธรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนถึงการจัดตั้งชุมชนสัมพันธ์สนามบินจำนวน 3 แห่ง ณ สมุย ตราด และสุโขทัย โดยได้เข้าไปสร้างปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชน ผ่านการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน เพื่อรับรู้ถึงปัญหาและเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือพัฒนาในด้านต่างๆ ที่จะสามารถสานพลังสร้างสรรค์ชุมชนให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน

“ผู้โดยสารสายการบินบางกอกแอร์เวย์สจะได้สัมผัสประสบการณ์ความยั่งยืนตั้งแต่ก้าวแรกที่ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นบริการเสิร์ฟอาหาร ณ บูทีคเลาจน์ ซึ่งรวบรวมผลิตผลจากชุมชนเกษตรกร สดจากสวน มารังสรรค์เป็นเมนูสุดพิเศษเสิร์ฟตามเทศกาลต่างๆ เช่น เมนูมะยงชิดลอยแก้ว ส่งตรงจากโครงการเกษตรอินทรีย์ สุโขทัย และกาละแมลำไย วัตถุดิบจากเชียงใหม่”

ด้านมิติ ‘G - Good Governance’ ธุรกิจการบินกับมิติธรรมาภิบาล โดยตั้งแต่แรกก่อตั้งสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส บริษัทฯมีเป้าหมายดำเนินงานและพัฒนาระบบการบริหารจัดการ ยึดหลักธรรมาภิบาลและการกำกับดูแลกิจการที่ดี ถ่ายทอดแนวความคิดจากรุ่นสู่รุ่น

เพื่อเป็นการการันตีถึงการดำเนินธุรกิจตามกรอบธรรมาภิบาล และการขับเคลื่อนธุรกิจที่ให้ความสำคัญทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ล่าสุดบริษัทฯ มีความภาคภูมิใจที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นหนึ่งในรายชื่อหุ้นยั่งยืน ประจำปี 2566 ‘SET ESG Ratings 2023’ ระดับ BBB ในกลุ่มธุรกิจบริการ (Services) จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้รับคะแนน CGR บริษัทจดทะเบียนที่มีการกำกับดูแลกิจการระดับ 5 ดาว ‘ดีเลิศ’ (Excellent CG Scoring) จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี

อีกทั้งยังได้รับการพิจารณาผ่านเกณฑ์ประเมินสำหรับรางวัลการันตี ‘ดาวแห่งความยั่งยืน’ ระดับ 5 ดาว ในโครงการ STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวยั่งยืน และรางวัลการันตีด้านสิ่งแวดล้อมโดยได้รับประกาศนียบัตร ‘EIA Symposium and Monitoring Awards 2023’ ซึ่งสนามบินสุโขทัย - สนามบินสมุยได้รับรางวัลยอดเยี่ยม - ดีเด่น ในโครงการที่ปฏิบัติตามมาตรการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 เพื่อสร้างคุณค่าร่วมให้กับผู้มีส่วนได้เสียและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจพร้อมมุ่งมั่นพัฒนาการดำเนินธุรกิจ สู่การเปลี่ยนผ่านเป็นหนึ่งใน ‘สายการบินรักษ์โลก’ อย่างเต็มขั้นต่อไปในอนาคต

‘คลัง’ เตรียมปล่อยแพ็กเกจอุดหนุน ESG ลงทุนเพื่อ ‘สิ่งแวดล้อม’ ลดหย่อนภาษีได้

(9 ม.ค. 67) นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) รวมถึงการดำเนินการตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมสังคมและธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์การลงทุนของโลกเนื่องจากธุรกิจที่มี ESG ที่ดีจะสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขัน และศักยภาพของการเติบโตในระยะยาว

ปัจจุบันมีมาตรการหลากหลายในการส่งเสริม และจูงใจที่จะพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลังนั้นจะพิจารณามาตรการภาษีคาร์บอนเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนในธุรกิจสีเขียวใช้พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาดมากขึ้น

ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการชำระภาษีบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลสำหรับการสนับสนุนด้าน ESG ด้วย นอกจากนี้ยังมีมาตรการสินเชื่อธุรกิจสีเขียวดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจสีเขียวหรือการติดตั้งแผงโซลาร์ตามบ้านเรือนซึ่งสถาบันการเงินของรัฐได้ดำเนินการไปแล้ว

“มาตรการใดพร้อมก็จะเดินหน้าไปก่อนได้เลยไม่ต้องรอให้ออกมาเป็นแพ็กเกจเพราะหากรออาจใช้เวลาในการดำเนินการ และไม่ทันต่อสถานการณ์ได้”

ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ในปีนี้กรมฯ มีแผนที่จะผลักดันมาตรการทางภาษีเพื่อดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมใน 4 รายการประกอบด้วย 

1.มาตรการสนับสนุนการผลิตและใช้แบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) และรวมถึงแบตเตอรี่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่นโซลาร์เซลล์

2.มาตรการภาษีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 

3.มาตรการสนับสนุนการผลิตไบโอพลาสติก 

และ 4.มาตรการภาษีเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุโดยกรมฯ อยู่ระหว่างการศึกษา และเร่งหาข้อสรุปเพื่อเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป

สำหรับมาตรการสนับสนุนการผลิต และใช้แบตเตอรี่ BEV จะผูกกับเงื่อนไขกับการมีระบบรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ในปีที่ 2566 ยอดการจดทะเบียนรถ BEV สูงกว่าปีก่อนหน้าถึง 700% และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าการใช้รถ BEV จะสูงขึ้นกว่านี้ดังนั้นจึงจำเป็นต้องวางแผนการกำจัดซากแบตเตอรี่ในอนาคตด้วย ทั้งนี้กรมฯ จะได้วางระบบ Track and Test เพื่อติดตามแบตเตอรี่ลูกนั้น ๆ ว่าปัจจุบันอยู่ที่ไหนด้วย

ทั้งนี้หลักคิดในการจัดเก็บภาษีแบตเตอรี่คือ ปัจจุบันกรมสรรพสามิตเก็บภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่ในอัตรา 8% แต่หากมีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วหรือเป็นแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพการให้พลังงานได้สูง และมีน้ำหนักเบา เป็นต้น อัตราภาษีที่กรมฯ จะคิดนั้นก็จะต่ำลงโดยอาจกำหนดอัตราภาษีเป็นหลายอัตราตามประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ เช่น 1%, 3%, 5% และ 8%

ขณะเดียวกันกรมฯ อาจต้องทบทวนเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับแบตเตอรี่ที่ผูกติดกับเงื่อนไขที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องมีแผนการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ขายออกไปด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าแนวทางนี้มีความยุ่งยากเพราะเมื่อกรมฯ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แก่ผู้ประกอบการไปแล้วจะต้องติดตามไปตลอดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ลูกนั้นซึ่งอาจนานถึง 20 ปีหากผู้ประกอบการไม่ได้รีไซเคิลตามที่ตกลงกรมฯ จะต้องเรียกสิทธิประโยชน์ทางภาษีคืน และต้องมีค่าปรับทางภาษีด้วย ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นผู้ประกอบการรายดังกล่าวอาจเลิกกิจการไปแล้วก็ได้ การติดตามทวงภาษีคืนก็อาจทำไม่ได้

“กรมฯ จะต้องทบทวนระบบการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ผูกกับการรีไซเคิลซึ่งมีหลายรูปแบบโดยในบางประเทศใช้ระบบ Deposit Refund โดยตั้งเป็นกองทุนเพื่อการนี้ซึ่งเมื่อมีการนำซากแบตเตอรี่ มาคืนกองทุนนี้ก็จะจ่ายเงินให้จำนวนหนึ่งสำหรับแนวทางหนึ่งที่กรมฯ กำลังพิจารณาคือ การมอบให้คนกลางหรือบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านรีไซเคิลแบตเตอรี่มาทำหน้าที่รีไซเคิลแทนผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นต้น”

ส่วนมาตรการภาษีคาร์บอนนั้นหลักคิดคือ นอกเหนือจากมีเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในประเทศแล้วยังเพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) แต่ต้องไม่เป็นภาระต่อประชาชนผู้ใช้สินค้า และบริการ

กรมควบคุมมลพิษ หนุนใช้ ‘น้ำมันยูโร 5’ เชื่อช่วยลดฝุ่น PM2.5 ได้กว่า 20-24%

(9 ม.ค. 67) นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า พล ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ติดตามการดำเนินงานตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (พื้นที่ที่มีปัญหา/พื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นละออง) รวมถึงการควบคุมฝุ่นในเมือง สนับสนุนเร่งรัดการจำหน่ายน้ำมันคุณภาพมาตรฐานยูโร 5 ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ เพื่อลดมลพิษจากไอเสียรถยนต์โดยเฉพาะฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันในกลุ่มน้ำมันเบนซิน –แก๊สโซฮอล์ และกลุ่มดีเซล ให้เป็นมาตรฐาน ยูโร 5 โดยโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ไทยออยล์ บางจาก พีทีทีจีซี บางจากศรีราชา ไออาร์พีซี  และเอสพีอาร์ซี พร้อมจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567

สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 ทั้งกลุ่มน้ำมันเบนซิน – แก๊สโซฮอล์ และกลุ่มดีเซล จะมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm (10 ส่วนในล้านส่วนโดยน้ำหนัก) ขณะที่มาตรฐานยูโร 4 จะมีกำมะถันไม่เกิน 50 ppm 

โดยน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร5 สามารถใช้ได้กับรถยนต์ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ และไม่ก่อเกิดปัญหาต่อเครื่องยนต์ จากการทดสอบการปล่อยมลพิษโดยห้องปฏิบัติการตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะของกรมควบคุมมลพิษ  รถยนต์มาตรฐานยูโร

และรถยนต์มาตรฐานยูโร 4 ซึ่งมีการใช้งานมากที่สุด เมื่อมาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 จะทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 ลดลงถึง 20 – 24%

ในช่วงนี้มีความกดอากาศสูง สภาพอากาศปิด อัตราการระบายอากาศไม่ดี ทำให้ฝุ่นละอองเกิดการสะสมในบรรยากาศจนอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ซึ่งยานพาหนะเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 หลักในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

‘EA’ เริ่มส่งมอบคาร์บอนเครดิตโครงการ E-Bus ในกทม. ให้สวิตเซอร์แลนด์  ตามข้อตกลงปารีส Article 6.2 มุ่งขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย NDC

(9 ม.ค.67) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้เริ่มส่งมอบคาร์บอนเครดิตจากโครงการ ‘รถโดยสารประจำทางไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร’ (Bangkok E-Bus Programme) ซึ่งเป็นโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศโครงการแรกของโลกที่มีการซื้อขายกันเกิดขึ้น ภายใต้ความตกลงปารีส Article 6.2 ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างไทย-สวิตเซอร์แลนด์ ผ่านกรอบความร่วมมือกันระหว่างประเทศที่มีการระบุชัดเจนว่าจะต้องเป็นโครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่อยู่นอกเหนือจากแผนการดำเนินงานของประเทศ (Nationally Determined Contributions : NDC) มีการปฏิบัติตรงตามมาตรฐานด้านคุณภาพต่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน โดยมี Klik Foundation เป็นผู้ซื้อ Carbon Credit ที่เกิดขึ้นและนำ Carbon Credit ดังกล่าวไปลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้

นายฉัตรพล ศรีประทุม ผู้อำนวยการโครงการกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ข้อตกลงปารีส 6.2 ซึ่งรถโดยสารประจำทาง EV นี้เป็นโครงการอันดับแรก ๆ ของโลกที่มีการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตสำเร็จ โดยทาง EA มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างประเทศในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม การเดินหน้าของโครงการดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนให้เราก้าวเข้าสู่สังคม เศรษฐกิจแบบปลอดคาร์บอนฯ อีกทั้งสามารถเข้าถึงเงินทุนระหว่างประเทศเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยเป็นแรงกระตุ้นที่ดีสำหรับภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการที่ช่วยรักษาและปกป้องสิ่งแวดล้อม

Mr. Michael Brennwald Head International, Klik Foundation กล่าวว่า “โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ความตกลงปารีส ของรถโดยสารประจำทาง EV นี้ เป็นโครงการนำร่อง เพื่อการสนับสนุนกิจกรรมการรักษาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน การแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ข้อตกลงปารีส 6.2 นั้น มีการร่วมกันพัฒนามาอย่างแข็งขันจากทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังมองหาโอกาสในการร่วมมือกับภาคเอกชนในประเทศไทยและประเทศข้างเคียง เพื่อที่จะสร้างโครงการในการร่วมมือกันระหว่างประเทศกับสวิตเซอร์แลนด์

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทั้งประเทศไทยและประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้มีการลงนามในความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ความตกลงปารีส 6.2 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565   โดยสัญญาแบบทวิภาคีกำหนดกรอบความร่วมมือกันระหว่างทั้งสองประเทศและสร้างแนวทางสำหรับ การพัฒนาโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดทำกรอบความร่วมมือโดยสมัครใจสำหรับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศและเป็นส่วนสำคัญในการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

‘EXIM’ ผุด 3 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อธุรกิจเพื่อความยั่งยืน หนุนธุรกิจ ‘SMEs-ส่งออก’ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

(8 ม.ค. 67) เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มุ่งมั่นเดินหน้าสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาโลกสีเขียว (Green Development Bank) จึงทำงานสานพลังกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจ รวมถึงคนตัวเล็กหรือ SMEs เข้าถึงบริการด้านความรู้ โอกาส และเงินทุน เพื่อปรับทิศทางการดำเนินงานให้สามารถเริ่มต้นและขยายธุรกิจสู่เวทีโลกได้อย่างยั่งยืน

นำไปสู่การจัดเต็มแพ็คเกจของขวัญปีใหม่ 2567 เพื่อผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG ด้วยการเปิดตัว 3 ผลิตภัณฑ์ ‘สินเชื่อเพื่อธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ ดอกเบี้ยต่ำ 2.99% ต่อปี นาน 3 เดือน และยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า ‘สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่เริ่มต้นส่งออก’ วงเงินหมุนเวียนสูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย สำหรับผู้ประกอบการไทย Size S ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่สนใจเริ่มต้นส่งออกหรือนำเข้าเพื่อส่งออก และ ‘มาตรการช่วยเหลือต่อเนื่องแก่กลุ่ม SMEs ที่เป็น NPLs จากช่วงโควิด-19’ ปรับลดดอกเบี้ยและพักชำระดอกเบี้ย-เงินต้นตามเงื่อนไขของธนาคาร

‘EA’ รับรางวัล ‘Sustainability Disclosure Recognition 2023’ สะท้อนความมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน ตามกรอบ ESG

(3 ม.ค. 67) บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA ได้รับรางวัลเกียรติคุณ ‘Sustainability Disclosure Recognition 2023’ หรือ ‘การเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ประจำปี 2566’ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 จัดโดยสถาบันไทยพัฒน์ โดยมี นายวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มอบรางวัลให้กับ นายวิทยา เชียงอุทัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ผู้แทนองค์กรเข้ารับรางวัล ตอกย้ำการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน

นายวิทยา เชียงอุทัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ เปิดเผยว่า EA ผู้นำด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาด มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชนและสังคม ด้วยการกำกับดูแลกิจการที่ดี มากว่า 15 ปี

โดย EA เป็นผู้ริเริ่มและยกระดับธุรกิจพลังงานสะอาดด้วยผลงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมธุรกิจพลังงานทดแทน, ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน, ธุรกิจแบตเตอรี่ ลิเธียม ไอออน, ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และสถานีชาร์จ EA Anywhere บนพื้นฐานการดำเนินธุรกิจตามหลักของธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG สู่สาธารณะอย่างครบถ้วนและโปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน คู่ค้า และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

การได้รับรางวัล Sustainability Disclosure Recognition 2023 ต่อเนื่อง 4 ปีซ้อน ถือเป็นความภาคภูมิใจ ที่สะท้อนผลสำเร็จในความมุ่งมั่นการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนตามกรอบ ESG และเจตจำนงขององค์กรที่จะร่วมสร้างและแบ่งปันความสำเร็จ ภายใต้แนวคิด ‘นวัตกรรมสังคมองค์กร’ หรือ Corporate Social Innovation (CSI) ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

อนึ่ง สำหรับในปี 2566 มีองค์กรที่ได้รับการเชิดชูเกียรติรวมทั้งสิ้น 132 รางวัล แบ่งออกเป็น 3 ประเภทรางวัล ได้แก่ รางวัลเกียรติคุณ (Award) 54 แห่ง ประกาศเกียรติคุณ (Recognition) 50 แห่ง และกิตติกรรมประกาศ (Acknowledgement) 28 แห่ง 

'รมว.ปุ้ย' ชี้!! เหตุผลปี 67 รถยนต์รุ่นใหม่ต้องมีมาตรฐาน ยูโร 5 สร้างมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม 'ลด-ควบคุม' มลภาวะทางอากาศ

(3 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โพสต์ข้อควาผ่านเฟซบุ๊ก 'พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล' เผยสาเหตุ ทำไมตั้งแต่ปีใหม่นี้ รถยนต์รุ่นใหม่ต้องมีมาตรฐานยูโร 5 ระบุว่า...

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นวันเริ่มบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและรถยนต์ขนาดใหญ่ คือ รถยนต์กระบะ รถบัส รถบรรทุก ทั้งใช้เครื่องยนต์เบนซินและดีเซล

ส่วนมาตรฐานยูโร 5 คืออะไร? หลายคนยังสงสัยว่ายังไง ทำไมต้องยูโร 5?...

หลักใหญ่ใจความของมาตรฐาน ยูโร 5 คือกฎเกณฑ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อลดหรือควบคุมมลภาวะทางอากาศ ส่งผลให้การปล่อยมลภาวะออกมาต้องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยเดิมประเทศไทยใช้มาตรฐานยูโร 4 แต่พอเข้าสู่ปีใหม่นี้ ก็คือยูโร 5 แล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วจะประกาศใช้ตั้งแต่ 2564 แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาด จึงมีการเลื่อนมาเป็น 2567 นั่นเอง

รมว.ปุ้ย กล่าวอีกว่า สำหรับรถยนต์ใหม่ที่ออกมาตามเกณฑ์ยูโร 5 จะต้องมีมาตรฐานที่กำหนดและจะต้องติดตั้งตัวควบคุมหรือตัวกรองฝุ่นละอองจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ นั่นหมายความว่าจะสามารถควบคุมฝุ่นจากการเผาไหม้ลงได้อีกระดับตามมาตรฐานค่ะ โดยมีเกณฑ์ที่จะต้องตรวจวัดและควบคุมเช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) สารไฮโดรคาร์บอน (HC) สารไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) สารมลพิษอนุภาคและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) ซึ่งจะมีค่าเกณฑ์ตัวเลขของการตรวจวัด

โดยทาง สมอ.ได้แจ้งปุ้ยมาแล้ว และได้มีการเปิดรับยื่นคำขอตรวจประเมินมาแล้ว มีผู้ผลิตได้ยื่นผ่านระบบ E-License มาตั้งแต่กุมภาพันธ์ ปีที่ผ่านมาแล้วค่ะ และมาจนถึงธันวาคม 2566 มี 50 คำขอจาก 25 ราย สมอ.พร้อมออกใบอนุญาต

รมว.ปุ้ย กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรฐานยูโร 6 มีแผนจะบังคับใช้มาตรฐานนี้กับรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินในวันที่ 1 มกราคม 2568 โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top