วันนี้ในอดีต 11 มีนาคม 2484 'ประเทศไทย-ฝรั่งเศส' ทำพิธีเจรจาลงนามเพื่อสันติภาพในข้อตกลงกรณีพิพาทอินโดจีน วันที่ชาติไทยได้ดินแดนที่เสียไปในยุคล่าอาณานิคมคืนกลับมา (ชั่วคราว)
11 มีนาคม เป็นอีกวันสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทยในอดีต โดยเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2484 ประเทศไทยและฝรั่งเศส ได้มี พิธีเจรจาลงนามเพื่อสันติภาพ ในข้อตกลงกรณีพิพาทอินโดจีน หรือ 'สงครามอินโดจีน' ระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส ณ กรุงโตเกียว
เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นเหตุความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส ที่เกิดขึ้นระหว่างที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังดำเนินการรบติดพันอยู่ในทวีปยุโรป แต่ยังไม่ขยายมาสู่ทวีปเอเชีย และยังมีมูลเหตุสืบเนื่องมาจาก ประเด็นการอ้างสิทธิ เหนือดินแดนอินโดจีนบางส่วน ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส คือ ดินแดนลาวและกัมพูชา ซึ่งเคยเป็นของไทยมาก่อน ก่อนที่จะสูญเสียให้ฝรั่งเศสไป ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ที่เป็นยุคล่าอาณานิคม ของมหาอำนาจโลกตะวันตก ช่วงปี พ.ศ. 2410-2449
ครั้งนั้นประเทศไทย จำต้องยอมทำสัญญา และเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสรวม 5 ครั้ง โดยประเทศไทยได้เสียจำนวนเนื้อที่ที่เสียไปประมาณ 467,000 ตารางกิโลเมตร เกือบเทียบเท่ากับเนื้อที่ของประเทศไทยในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังเสียพี่น้องไทยในแคว้นเขมร 2,900,000 คน ในแคว้นลาว 940,000 คน เพื่อรักษาดินแดนส่วนใหญ่ไว้
ต่อมา ในช่วงระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสเกิดความห่วงใย ต่ออาณานิคมของตนเอง ในภูมิภาคอินโดจีน เพราะเกรงว่าประเทศไทย จะส่งกำลังเข้ายึดครองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ที่ถูกฝรั่งเศสยึดครองไป เนื่องจากท่าทีของญี่ปุ่น ที่มีท่าทียอมรับไทยเป็นพันธมิตร ในฐานะกลุ่มเอเชีย ที่ยังไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติใดมาก่อน
เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2483 ฝรั่งเศสได้มาทาบทามกับไทย เพื่อเจรจาทำสัญญาไม่รุกรานกัน รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ 'พล.ต.หลวง พิบูลสงคราม' หรือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ตอบไปในวันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2483 ว่า
"ยินดีจะรับข้อเสนอของฝรั่งเศส แต่ใคร่ขอให้ฝ่ายฝรั่งเศสตกลงดังนี้คือ"
1. วางแนวเส้นเขตแดนลำแม่น้ำโขง ให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวคือถือหลักร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์
2. ให้ปรับปรุงเส้นเขตแดนให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือ ให้ถือว่าแม่น้ำโขง เป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีน ตั้งแต่ทิศเหนือมาจดทิศใต้ จนถึงเขตแดนกัมพูชา โดยให้ฝ่ายไทยได้รับดินแดนทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับหลวงพระบาง และตรงข้ามกับปากเซ (ซึ่งเป็นจุดที่มีปัญหาเขตแดนบ่อย ๆ) คืนมา
3. ให้ฝรั่งเศสรับรองว่า ถ้าอินโดจีนของฝรั่งเศส เปลี่ยนจากอธิปไตยฝรั่งเศสไป ฝรั่งเศสจะคืนอาณาจักรลาวและกัมพูชาให้ไทยตามเดิม
ซึ่งต่อมาในวันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2483 ฝรั่งเศสได้ตอบบันทึกของไทย เรื่องการปรับปรุงเส้นเขตแดนดังนี้
1. รัฐบาลฝรั่งเศสจะจัดผู้แทนอินโดจีนมาประชุม (ซึ่งเดิมตกลงไว้ว่าจะส่งเจ้าหน้าที่ชั้นระดับเอกอัครราชทูตมาประชุม)
2. ฝรั่งเศสไม่ยอมเจรจาปัญหาดินแดนอื่น ๆ นอกจากปัญหาเรื่องเกาะในลำน้ำโขง
3. ฝรั่งเศสยืนยันการรักษาสถานภาพทางการเมือง และบูรณภาพแห่งดินแดนอินโดจีนไว้ ต่อการอ้างสิทธิทั้งปวง และการรุกรานไม่ว่าจะมีกำเนิดมาจากทางใด
หลังได้รับคำตอบดังกล่าว วันที่ 8 ตุลาคม 2483 พล.ต.หลวง พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ได้ขอ มติสนับสนุนการเรียกร้องดินแดนไทยคราวที่เสียให้แก่ฝรั่งเศสไปเมื่อ ร.ศ. 112 คืน ประชาชนชาวไทยเกือบทั้งประเทศ พร้อมใจกันเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส นับเป็นการเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุด หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
จากนั้นสถานการณ์ยิ่งตึงเครียดมากขึ้น เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างจัดหน่วยกำลังทหาร เผชิญหน้ากันตามชายแดน จนเกิดการปะทะกันในที่สุด เมื่อฝรั่งเศสได้ส่งเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 ก่อนที่เหตุการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้ จะกลายเป็นสงครามที่รุนแรง โดยหนึ่งในการรบที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักคือ การรบที่เกาะช้างวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484
อย่างไรก็ตาม ภายหลังสงครามอินโดจีนฝรั่งเศส ได้สงบลงด้วยข้อตกลงพักรบ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2484 ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจในเอเชียขณะนั้น เข้ามาเป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ย กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ไซ่ง่อน บนเรือรบญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2484
มีการตกลงทำสัญญาเลิกรบกันที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2484 มีนายโซสุเกะ มัดซูโอกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายญี่ปุ่น ฝ่ายไทยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงการต่างประเทศไทยเป็นหัวหน้าคณะ และฝ่ายฝรั่งเศสมี อาร์เซน อังรี เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงโตเกียวเป็นหัวหน้า
"ข้อความในสนธิสัญญา ระบุว่า ฝรั่งเศสจะยอมเสียดินแดนแขวงหลวงพระบางฝั่งขวาแม่น้ำโขง แคว้นจำปาศักดิ์ และแคว้นเขมร ให้แก่ไทย ข้อตกลงดังกล่าว จึงทำให้กรณีพิพาทจบลงด้วยดี"
และในวันถัดมา 12 มีนาคม พ.ศ.2484 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ และประดับธงชาติญี่ปุ่นคู่กับธงชาติไทยเป็นเวลา 3 วัน พร้อมกับให้มีการสวนสนามฉลองชัยที่พระนคร ในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2484 ก่อนจะมีการลงนามในอนุสัญญาโตเกียว ซึ่งเป็นอนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 โดยมีกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์เป็นหัวหน้าคณะลงนาม
นอกจากนี้ รัฐบาลได้แต่งตั้งนายควง อภัยวงศ์เป็นประธานกรรมการรับมอบดินแดนคืนจากรัฐบาลฝรั่งเศส ดินแดนที่ได้กลับคืนมาครั้งนี้ รัฐบาลไทยได้แบ่งออกเป็น 4 จังหวัด คือ พระตะบอง พิบูลสงคราม จำปาศักดิ์ และลานช้าง
และภายหลังจากที่กองทัพไทย มีชัยชนะต่ออินโดจีนฝรั่งเศส พล.ต.หลวงพิบูลสงคราม ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม หรืออดีตพล.ต.หลวงพิบูลสงคราม ทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตไปในการรบจากสงครามครั้งนี้
เหตุการณ์ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทย สามารถได้สิทธิประโยชน์จากมหาอำนาจยุโรปได้ แต่อย่างไรก็ตาม หลังการทำพิธีลงนามเพื่อสันติภาพ ในข้อตกลงกรณีพิพาทอินโดจีน ชาวไทยได้ชื่นชมยินดีกับดินแดนที่ได้กลับคืนมาไม่นานนัก เมื่อฝรั่งเศสพลิกสถานการณ์เป็นฝ่ายชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีเสียงทางการเมืองระหว่างประเทศมากขึ้น ในที่สุดฝรั่งเศสจึงบีบบังคับให้ไทย ต้องคืนดินแดนดังกล่าวกลับไปให้ฝรั่งเศสอีก