เวลาพูดถึงชื่อของ ‘คุณกรณ์ จาติกวณิช’ เชื่อว่าหลายคนจะให้นิยามของนักเศรษฐศาสตร์ การนักการเงิน และขุนคลังมือฉมังที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก จากการถูกยกย่องให้เป็นรัฐมนตรีคลังโลก โดยนิตยสารเครือ The Banker คนแรกของประเทศไทย
คุณกรณ์ ถือเป็นคนการเมืองร่วมสมัย แต่เต็มไปด้วยมุมคิดที่ทันโลก ทันกระแส ล้อไปกับบุคลิกที่เคร่งขรึม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภายใต้หน้าฉากเหล่านั้น เขากลับมีมุมต่างที่ไม่ค่อยมีคนคุ้นเคยอยู่หลายมิติ ซึ่งวันนี้ THE STATES TIMES จะพาทุกคนไปเปิดมุมต่างจากชีวิตคนดังของ ‘คุณกรณ์ จาติกวณิช’ ที่เชื่อว่าทุกคนน่าจะอมยิ้มในหลากมุมเหล่านั้นไม่น้อยเลยทีเดียว
Q : ตอนคุณกรณ์เป็นเด็ก ได้รับการปลูกฝังในเรื่องอะไรบ้าง
คุณกรณ์ : คุณพ่อคุณแม่ของผมก็ถือว่า เป็นคนทันสมัยในยุคของท่าน ท่านก็ค่อนข้างปล่อยเราให้คิดเอง มีความเป็นเสรีในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ พอสมควร ผมเป็นลูกคนกลาง มีพี่ชายกับน้องชาย แล้วพ่อผมบ้ากีฬา เลยถูกปลูกฝังมากที่สุดก็คือทางด้านกีฬา แล้วจนถึงทุกวันนี้ เราสนิทสนมกันมากเพราะว่าเรายังเล่นกีฬาอยู่ด้วยกันในระหว่างสามพี่น้อง กีฬาเป็นเหมือนตัวสื่อสัมพันธ์ให้กับพี่น้องกับคุณพ่อด้วยนะครับ
ส่วนในเรื่องทั่วไป ที่จำได้มากที่สุด ก็คือจะย้ำในเรื่องของการไม่เอารัดเอาเปรียบใคร ไม่เคยพูดเรื่องอื่น ไม่เคยพูดในเรื่องของเป้าหมายชีวิตอะไรพวกนี้เลย แค่บอกว่าทำให้ดีที่สุด เพราะว่าทั้งสองท่านมีอาชีพเป็นข้าราชการ คุณแม่เป็นอาจารย์ คุณพ่อเป็นข้าราชการประจำกระทรวงการคลัง เพราะฉะนั้นท่านจะพูดถึงเรื่องของภาระหน้าที่ว่าคนเราเกิดมาไม่ใช่เรื่องของการมีความสุขหรือใฝ่หาความสุขอย่างเดียว นี่ถือเป็นชุดความคิดของคนในยุคนั้นเลย แต่ว่าคนเราเกิดมามันมีหน้าที่ ซึ่งแต่ละคนหน้าที่ต่อสังคมก็ต่างกันไป แล้วผมก็จำประเด็นตรงนี้ไว้ คุณพ่อจะพูดกับผมว่า มันไม่ใช่เรื่องของการหาความสุขอย่างเดียวนะแต่ว่ามีหน้าที่ต้องทำด้วย ส่วนสำคัญก็มีแค่นี้ครับ คือหนึ่งอย่าเอารัดเอาเปรียบใคร และก็อย่าไปเสียเปรียบใครด้วย แต่ว่าถ้าต้องเลือกก็เสียเปรียบนิดๆ ก็จะดีกว่า อย่าพยายามสร้างความได้เปรียบและอย่าเอาเปรียบเขา
Q : ความทรงจำเกี่ยวกับคุณพ่อระหว่างที่ยังเป็นเด็กมีอะไรบ้าง?
คุณกรณ์ : คุณพ่อเคยเล่าให้ผมฟังว่า สมัยคุณพ่อยังเล็ก คุณปู่ผมท่านเป็นพระยา ผมไม่รู้ว่าท่านพูดเกินจริงหรือเปล่านะ แต่ท่านบอกว่าท่านเคยร่วมโต๊ะกินข้าวกับปู่ผมแค่ 1-2 ครั้งเองในชีวิต นอกนั้นก็คือกินในครัว ส่วนผู้ใหญ่ก็กินบนโต๊ะ เพราะฉะนั้นพอมาถึงตอนที่คุณพ่อเลี้ยงผม ท่านก็มีพัฒนาการมาเยอะ เราจะกินอาหารด้วยกันทุกวันตรงเวลา เป็นเหมือนกับเป็นกิจวัตรประจำวันของเราทุกคนนะครับ ทุกเย็น ไม่ว่ายังไงก็แล้วแต่คือต้องกินข้าวร่วมกัน แล้วจะมีกติกาบนโต๊ะกินข้าวของเราด้วย อย่างเช่นตอนผมเด็กๆ จะไม่เคยมีน้ำดื่มวางบนโต๊ะ หลายๆ คนที่โตมาในในสมัยเดียวกับผมจะคุ้นเคยกับเรื่องนี้ ก็คืออย่ากินข้าวคำน้ำคำ ถ้าอยากจะคล่องคอหน่อยก็ซดน้ำแกงหรือแกงจืด ส่วนน้ำจะวางไว้ข้างหลัง กินข้าวเสร็จแล้วค่อยดื่มน้ำ
แต่คุณพ่อผมถึงแม้ว่าท่านจะเลี้ยงผมต่างจากที่คุณปู่ผมเลี้ยงคุณพ่อก็ตาม แต่ก็ยังมีความต่างกับบทบาทหน้าที่ของพ่อในยุคสมัยปัจจุบัน หรือแม้แต่ที่ผมเลี้ยงลูกของผม คือเราจะมีความรู้สึกว่าการกอดกับพ่อเป็นเรื่องที่ต่างคนต่างเกร็งกันอยู่ ไม่ใช่เรื่องปกติ ในยุคสมัยนั้นเป็นแบบนั้น ถ้าจะกอดก็ต้องกอดคุณแม่ ส่วนพ่อจะมีแบบอารมณ์ขึงขังดูเป็นนักเลงโบราณ ฉะนั้นการแสดงออกในแง่ของความรักก็จะมีความต่างกัน
ผมจำได้ว่าคุณพ่อจะมาเล่านิทานให้ฟังบ้างนานๆ ทีก่อนนอน และทุกครั้งจะเป็นการเล่านิทานเกี่ยวกับประสบการณ์สมัยสงคราม คือสงครามโลกในสมัยของท่าน ซึ่งพอโตขึ้นผมก็มานั่งค่อยๆ แกะเอาว่า คุณพ่อน่าจะเสริมเติมอยู่พอสมควรนะ คุณพ่อเล่าว่าสมัยนั้นบ้านอยู่สาทร และญี่ปุ่นอยู่ในเมือง บางครั้งที่บ้านก็จะโดนลูกหลง โดนระเบิดจากเครื่องบินเครื่องบินอังกฤษบ้าง เราก็จะสนุก เราก็จะชอบฟัง
และที่สำคัญกิจกรรมที่ทำกับคุณพ่อคือการเล่นกีฬา ทั้งเล่นเทนนิส ว่ายน้ำ พอเราโตขึ้นหน่อยคุณพ่อก็ฝึกให้เราตีกอล์ฟด้วย เพราะคุณพ่อผมเป็นนักเล่นกอล์ฟทีมชาติ ซึ่งก็เป็นความรัก เป็นกิจวัตรที่ยังติดตัวผมอยู่จนถึงทุกวันนี้เลย
Q : กีฬาที่คุณกรณ์ชื่นชอบคืออะไร
คุณกรณ์ : ต้องบอกก่อนว่าผมคือคนตัวใหญ่ น้ำหนักประมาณ 91-92 กิโลกรัม หมายความคือผมวิ่งช้า และกระโดดไม่ค่อยขึ้น ฉะนั้นนักกีฬาที่ผมถนัดก็เป็นกีฬาทางน้ำ ผมว่ายน้ำตั้งแต่เด็ก พอเข้ามหาวิทยาลัย ผมก็พายเรือ โดยเฉพาะเมื่อผมไปเรียนที่ออกซฟอร์ด การพายเรือคือกีฬาหลักของเขา ผมก็เลยตัดสินใจว่าจะเล่นกีฬานั้น ลองดูว่าเราไปถึงแค่ไหน และผมก็เล่นโปโลน้ำด้วย ทุกวันนี้ผมก็ยังออกกำลังด้วยการว่ายน้ำอยู่
Q : คุณพ่อได้พูดว่ามีสามสิ่งที่จะให้ลูกได้ อยากจะทราบว่าในสามสิ่งนั้นมีเรื่องอะไรบ้าง
คุณกรณ์ : สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องการศึกษา เพราะว่ารุ่นคุณพ่อผมก็ต้องถือว่าเป็นรุ่นแรกๆ ที่ได้มีโอกาสได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ แล้วพี่น้องทุกคนของคุณพ่อ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายได้ไปเรียนต่างประเทศหมด ซึ่งก็ถือว่าไม่ได้เป็นเรื่องธรรมดานะครับในยุคสมัยนั้น
พอมาถึงเรา คุณพ่อคุณแม่ก็จะพูดอยู่เสมอว่า ไม่มีอะไรทิ้งเป็นมรดกให้มากนัก แต่ว่าจะมีการศึกษาที่ดีที่สุดที่เราเข้าถึงและติดตัวเราได้ ซึ่งท่านก็เน้นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนเรื่องที่สอง เป็นเรื่องที่ผมเน้นเสมอทุกครั้งเลยว่ามีความสำคัญกับครอบครัวก็คือเรื่องของความรักกีฬา และเรื่องที่สามคือเรื่องค่านิยม ผมคิดว่าค่านิยมสำคัญ เรื่องค่านิยมต่ออผู้อื่น ความหมายคือเราควรประพฤติตนต่อผู้อื่นยังไง ค่านิยมในแง่ของความรับผิดชอบที่เรามีต่อสังคม ค่านิยมในเรื่องของความผิดความถูก เหล่านี้ผมถูกปลูกฝังมา ไม่ใช่การออกคำสั่งหรือนั่งเทศน์ให้ฟัง แต่จะสัมผัสและซึมซับได้จากพ่อแม่ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา
Q : ตอนเด็กๆ มีเพื่อนสนิทหรือไม่?
คุณกรณ์ : ผมเป็นคนที่มีเพื่อนที่สนิทมากมาโดยตลอดนะครับ ผมเกิดที่อังกฤษ แต่ว่าประมาณสองขวบก็กลับมาไทย เพราะฉะนั้นช่วงแรกๆ ไม่มีความทรงจำอะไร พอกลับมาผมเข้าเรียนอนุบาลแล้วก็เรียนประถมที่โรงเรียนสมถวิลราชดำริ (ตอนนี้ไม่มีแล้ว) ก็มีเพื่อนที่รักมากที่นั่นอยู่หลายคน หลังจากนั้นผมไปเรียนสาธิตปทุมวัน เรียนอยู่ได้ไม่ถึงสองปี ยังไม่จบป.6 เลยผมก็ไปต่างประเทศแล้ว ผมก็เลยมีเพื่อนอีกชุดหนึ่งที่เป็นเพื่อนชาวอังกฤษจนถึงทุกวันนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งมีเพื่อนจากสมัยเรียนที่สมถวิลแวะมาคุยกัน
Q : เพื่อนลักษณะนิสัยยังไงที่จะเข้ากับเราได้ดี?
คุณกรณ์ : ก็ไม่เรื่องมาก โดยส่วนใหญ่เพื่อนจากสมัยนั้นก็จะเรียกชื่อเล่นผมก็คือดอน สมัยนั้นก็มีคนถามอยู่เสมอ ผมจำได้ครูถามผมทุกปีว่า ชื่อกรณ์แล้วทำไมต้องมีชื่อเล่นชื่อดอนอีก คือมันสั้นพออยู่แล้ว แต่เราจะไปรู้ได้ยังไงก็พ่อแม่ตั้งให้ (หัวเราะ) ก็เนี่ยครับสบาย ๆ กันเอง ความจริงวัฒนธรรมของโรงเรียนสาธิตปทุมวัน ผมมองว่าพวกเราที่อยู่สาธิตปทุมวัน มันมีความต่างนะ แต่ละสาธิตมีความต่างกันไป จุฬาเป็นแบบหนึ่ง ประสานมิตรเป็นอีกแบบหนึ่ง เกษตรก็เป็นอีกแบบหนึ่ง
ปทุมวันเราก็มีความภาคภูมิใจในความหลากหลายของเด็ก จนถึงทุกวันนี้มันก็สะท้อนให้เห็นต่างคนต่างไปทำอะไรที่มีความแตกต่างหลากหลายกันมาก เรื่อยๆ สบายๆ แต่ก็ยังคบกันอยู่ ตอนนี้ก็ถึงวัยที่เราก็จะไปงานแต่งของลูกเพื่อนบ้างครับ บางทีก็ไปงานศพของผู้ใหญ่ของเพื่อนบ้าง ก็ยังเจอกันอยู่เรื่อยๆ
แล้วสมัยที่ผมไปเมืองนอกแรกๆ เด็กต่างชาติก็ไม่เยอะ เด็กไทยไม่ต้องพูดถึง จะไม่ได้เจอเลย ถึงไปเรียนพร้อมกันก็จะแยกย้ายกันอยู่คนละโรงเรียน อย่างเก่งก็คือตอนปิดเทอมสมัยนั้นกลับมาเยี่ยมบ้านปีละหน ก็มาเจอกันที่นี่ แต่ว่าก็คบกับเด็กฝรั่งนะ ซึ่งผมมองว่ามันเป็นหนึ่งในประสบการณ์ มันไม่ใช่แค่ไปเรียนเพื่อเอาความรู้ มันไปเรียนเพื่อสะสมประสบการณ์ เรียนรู้ถึงขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของเขา ซึ่งหลายๆ เรื่องเราก็นำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตของเรา มาช่วยพัฒนาบ้านเมืองในบทบาทนักการเมืองที่ตามมา ผมก็จะมีเพื่อนฝรั่งอยู่ ยังคบกันอยู่เหมือนเดิม แต่แน่นอนคือไม่ค่อยได้เจอกันบ่อย
Q : เพื่อนคนไทยกับเพื่อนชาวต่างชาติมีความแตกต่างกันอย่างไร?
คุณกรณ์ : มีแน่นอน สมัยที่ผมไปเมืองนอกใหม่ๆ ผมจะสัมผัสได้ถึงความแตกต่าง แต่ที่ชัดเจนมากที่สุดคือเรื่องของคำว่า ‘ใจ’ คือมันจะเห็นชัดเลยนะครับว่า ภาษาอังกฤษเขาไม่มีคำว่า ‘ใจ’ นะ ส่วนภาษาไทยมีแต่คำว่าใจ เสียใจ เห็นใจ เข้าใจ ผิดใจ คือเหมือนกับว่า ของเราทุกอย่างจะกำหนดด้วยเรื่องของใจ ซึ่งของฝรั่งเขาอาจจะอ้างถึงเหตุผลมากกว่า เขาจึงไม่มีคำว่าใจ ซึ่งตรงนี้ในทางปฏิบัติเราก็จะเห็น อย่างเช่นผมเอาขนมจากบ้านกลับไป สำหรับเรามันเป็นเรื่องปกติมากที่เราเอาขนมจากบ้านเราไปแบ่งกันไป แต่เขาของจะไม่ ตรงกันข้ามกับเราเลย ของใครของมัน ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรนะครับ เพียงแต่เป็นวัฒนธรรมที่ต่างกัน ที่สำคัญคือต้องเคารพในเส้นแบ่งระหว่างกัน
ผมจำได้ว่าตอนเข้าเรียนมหาลัย ไปเช่าบ้านอยู่ด้วยกันกับเพื่อนฝรั่ง 4-5 คน ในบ้านเช่าก็มีตู้เย็นอยู่ตู้เดียว ถ้าจำไม่ผิดเพื่อนของผมตีเส้นแบ่งในตู้เย็นเลยว่า มุมขวาด้านนี้คือพื้นที่ของผม อีกมุมก็เป็นของอีกคน แล้วก็แต่ละคนก็จะต้องมีขนม นม เนย ขนมปังของตัวเองวางอยู่ในพื้นที่ ผมก็คุยกับเพื่อนว่ามันจะอะไรกันนักหนาวะ คือดูสิพวกเราต่างคนต่างซื้อนมคนละขวด เนยคนละก้อน ทำให้ตู้เย็นเต็มไปด้วยเนยกับนม ซึ่งจริงๆ แล้วมันน่าจะมีอะไรมากกว่านี้ ผมก็เลยว่า เอาอย่างนี้ไหม เราลงขันกันก็ได้ มีเงินอยู่ก้อนหนึ่งแล้วเราก็ไปซื้อนู่นซื้อนี่ให้มันมีความหลากหลายมากขึ้น ชีวิตมีสีสันมากกว่า แล้วก็แชร์กันไป บางทีอาจจะเสียเปรียบบ้างวันนี้ เดี๋ยวก็ได้เปรียบวันหน้า คืออย่าไปคิดอะไรมาก พอสักพักเขาก็มีความคิดว่า ‘วัฒนธรรมนี้ดี’
แล้วความจริงระยะหลังๆ ที่ประเทศเขาเปิดมากขึ้น คนต่างชาติเข้าไปมากขึ้น เดี๋ยวนี้เราจะเห็นวัฒนธรรมตามร้านอาหาร ที่เขาเริ่มทำเหมือนพวกเราทำก็คือสั่งมาแล้วแบ่งกันกิน แต่ก่อนนี้คือจานใครจานมัน แต่เดี๋ยวนี้คือเอาไว้ตรงกลาง มีจานแบ่งไป ซึ่งผมคิดว่ามันหลากหลายมากขึ้น แล้วก็สนุกมากขึ้น ซึ่งเราถนัดอยู่แล้ว เราก็สนุกในวัฒนธรรมไทยของเรา เขาก็เรียนรู้จากเราได้ ในขณะเดียวกันเราก็เรียนรู้ถึงเหตุผลที่มาของวัฒนธรรมแบบของเขา ความสำคัญในแง่ของการเคารพสิทธิ์ของแต่ละคน ไม่ก้าวล่วงไปละเมิดสิทธิของเขา หลักนิติรัฐมันเป็นหลักของฝรั่ง ซึ่งเราก็เข้าใจว่าทำไมเขาถึงให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์ กติกา หรือกฎหมาย ในขณะที่ทางเอเชียมันจะเป็นคล้ายๆ แบบว่าไม่เป็นไร
Q : ในช่วงมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัยที่ไปเรียนต่างประเทศ มีอะไรที่หายไปบ้างไหม?
คุณกรณ์ : ตอนนั้นเราอาจจะยังไม่ค่อยรู้สึกเท่าไหร่ แต่ว่าแน่นอนที่สุดแล้วมันมีได้มีเสีย แล้วก็พอถึงเรื่องการตัดสินใจอนาคตของลูกเราเอง เราก็เอาประสบการณ์ สิ่งที่เราได้มาชั่งใจ เพื่อช่วยกันตัดสินใจว่าอะไรดีที่สุด สมัยนั้น พวกเราต้องไปเร็วกว่าที่ควร ผมไปตั้งแต่อายุ 11 ปี ประมาณป.6 ซึ่งเพื่อนผมหลายคนที่ไปเรียนต่างประเทศก็ไปในวัยนั้น ถ้าถามว่าทำไมเราต้องไปเร็ว เพราะว่าเราไม่มีทักษะภาษา ถ้าเราคิดจะเข้าโรงเรียนดีๆ เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ เราต้องไปตั้งแต่เด็ก เพื่อที่จะได้เรียนรู้ภาษา เรียนรู้วิถีชีวิตของเขา
แต่เดี๋ยวนี้สำหรับคนที่มีสตางค์ เขาสามารถที่จะเรียนโรงเรียนอินเตอร์ก็ได้ หลายคนก็เลยไม่จำเป็นที่ต้องไปเร็วขึ้นหรือแม้แต่หลายคนที่ไม่ได้เรียนอินเตอร์ แต่เรียนปกติธรรมดา เขาก็เข้าถึงภาษาอังกฤษได้มากกว่าคนสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ต รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ แต่ก่อนมันไม่ค่อยมี มันเข้าถึงยาก เดี๋ยวนี้จบมัธยมไปเรียนต่อมหาลัยก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ยาก สมัยก่อนถือว่ายากมาก พอไปแล้วต้องเริ่มจากศูนย์เลย ตอนที่ผมไปคือพูดภาษาอังกฤษเกือบไม่ได้ พอได้งูๆ ปลาๆ แบบเรียนป.4 ป.5 ประเทศไทย ไปที่ไหนก็ต้องพกดิกชันนารีไปด้วย
Q : ใช้เวลาปรับตัวนานแค่ไหน?
คุณกรณ์ : พอมองย้อนกลับไป กว่าผมจะมีทักษะภาษาในระดับที่มีความรู้สึกว่าไม่เสียเปรียบเขา ก็ใช้เวลาประมาณ 3 ปี แต่เราไม่รู้สึกอย่างนั้นนะ คือความยืดหยุ่นความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ของเด็กมันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ผมไปถึงผมก็อยู่ได้เลย แล้วก็ค่อยเรียนรู้ไป ทางโรงเรียนเขาก็ให้โอกาส ช่วงเที่ยงที่เด็กคนอื่นได้พักเล่น เขาก็จัดให้ผมไปเรียนพิเศษภาษาอังกฤษขั้นต้น ผมก็ต้องออกแรงมากกว่าเพื่อนฝรั่ง และทางโรงเรียนที่นั่น เขาก็มีความยืดหยุ่นพอสมควร อย่างเช่น 1-2 ปีแรก ผมสอบไม่ได้คะแนนเพียงพอที่จะเรียนต่อได้ แต่เขาก็อะลุ่มอล่วยให้ เขาบอกไม่เป็นไร ถ้าเปรียบเทียบกับทักษะภาษาถือว่าโอเค ผมก็เร่งวิ่งตามให้ทัน เขาให้โอกาสผม จนกระทั่งเราอยู่ในฐานะที่ช่วยตัวเองได้
Q : ในมุมเพื่อนกับคุณอภิสิทธิ์เป็นอย่างไรบ้าง?
คุณกรณ์ : คุณอภิสิทธิ์ก็ไปอังกฤษรุ่นเดียวกัน เรื่องที่แปลกก็คือคุณอภิสิทธิ์เกิดที่อังกฤษเหมือนกัน เพราะคุณพ่อของคุณอภิสิทธิ์เรียนหมออยู่ที่เมืองนิวคาสเซิล คุณอภิสิทธิ์ก็ไปเกิดที่นั่น ส่วนพ่อผมเป็นข้าราชการประจำอยู่ที่สถานทูตไทยที่กรุงลอนดอน ผมก็เลยเกิดที่เชลซี แต่ว่าเราไม่ได้เจอกันในช่วงนั้น ไม่ได้รู้จักกันด้วย จนกระทั่งคุณอภิสิทธิ์ไปเรียนต่ออังกฤษตอนอายุ 11 ปีเหมือนกัน ก็ไม่ได้เจอกันอีก กว่าที่มาเจอกันก็อายุประมาณ15-16 ปีแล้ว คือเล่นกีฬาแล้วเจอกัน ก็เลยเริ่มที่จะรู้จักกันตั้งแต่ตอนนั้น แต่มาสนิทกันจริงๆ ก็ตอนช่วงที่เรียนมัธยม แล้วบังเอิญมาเรียนคณะเดียวกันที่ออกซฟอร์ด หลังจากนั้นคุณอภิสิทธิ์กลับมา แกมีความตั้งใจที่จะเข้าสู่วงการการเมืองตั้งแต่แรกแล้ว ส่วนผมไม่เคยสนใจ ก็แยกเส้นทางเดินกัน ผมก็ไปสู่ภาคธุรกิจและบริษัทหลักทรัพย์ จนกระทั่งอายุ 30 กว่า ก็โคจรกลับมาเจอกันอีกที
Q : ทีมฟุตบอลที่ชื่นชอบ
คุณกรณ์ : อย่างที่ว่า มันเป็นเรื่องแปลกของคนเราว่าเลือกเชียร์ทีมอะไร อย่างคุณอภิสิทธิ์เกิดนิวคาสเซิลก็เชียร์นิวคาสเซิล อันนี้สมเหตุสมผล ผมเกิดเชลซีแต่ผมเชียร์ลีดซึ่งมันเป็นทีมที่แปลกสำหรับหลายๆ คน วันนี้อาจจะไม่รู้สึกแปลกเท่าไรเพราะลีดส์กลับมาอยู่ในพรีเมียร์ลีก แต่ว่าเมื่อก่อนลีดส์มันอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ แต่ผมเชียร์ลีดส์ตั้งแต่ผมอายุ 9 ขวบ ก็เกือบจะ 50 ปีแล้ว
สาเหตุที่เชียร์คือผมจำได้เลย วันนั้นผมเปิดทีวีแล้วมีการแข่งขันถ้วยใหญ่ก็คือเอฟเอคัพ สมัยนั้นไม่ได้เรียกพรีเมียร์ลีกนะ เขาเรียกดิวิชั่น 1 ลีดส์เตะกับทีมซันเดอร์แลนด์ ตอนอยู่ทีมดิวิชั่นสอง แล้วลีดส์แพ้ 1-0 ซึ่งถ้าย้อนกลับไปดู ซันเดอร์แลนด์วันนั้นก็ถือเป็นสุดยอดในประวัติศาสตร์สโมสร แล้วด้วยความรู้สึกเห็นใจทีมผู้แพ้ มันก็เลยทำให้มีความผูกพันแล้วก็เริ่มเชียร์ลีดส์ตั้งแต่วันนั้น ติดตามอยู่ตลอดลีดส์หายไปจากดิวิชั่น 1 ที่เปลี่ยนมาเป็นพรีเมียร์ลีก 20 ปี จนกระทั่งกลับมาได้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แล้วก็เกือบตกชั้นไปอีกเมื่อปีที่แล้ว ลุ้นกันถึงนัดสุดท้ายเกือบนาทีสุดท้าย
คือชีวิตจะง่ายขึ้นเยอะเลย ถ้าสมมุติผมเลือกตั้งแต่เด็กว่าผมควรจะเชียร์ลิเวอร์พูล เชียร์แมนยู หรือเชียร์แมนซิตี้ แต่ว่าบางเรื่องมันเลือกไม่ได้จริงๆ พอเริ่มเชียร์แล้วก็เปลี่ยนไม่ได้จริงๆ ไม่ได้มีเหตุผลว่าทำไมถึงเชียร์เขา แต่พอมาถึงยุคนี้ ผมก็ภาคภูมิใจที่เชียร์ลีดส์ ผมมีความรู้สึกว่าลีดส์เล่นสนุก พอดีได้ผู้จัดการทีมที่ถือว่าเป็นผู้จัดการในตำนานอย่าง ‘บิเอลซ่า’ ที่มาจากอาร์เจนตินา แล้วก็ช่วยทำให้เขาขยับเลื่อนชั้นขึ้นมาด้วยสไตล์การเล่นที่ดี ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนผู้จัดการทีมแล้วแต่ว่าก็ยังคล้ายๆ กันอยู่ อย่างเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว ลีดส์เล่นกับเชลซีไม่มีใครคิดว่าลีดส์ชนะเชลซีได้ ปรากฏลีดส์ชนะ 3-0 แล้วตัวสถิติก็บ่งบอกว่าทีมลีดส์วิ่งมากกว่านักเล่นของเชลซี ประมาณคนละ 11 กิโลเมตร หรืออะไรสักอย่าง คือมันเยอะมาก วิ่งพล่าน แบบที่เราดูแล้วเหนื่อย
Q : มีนักเตะในดวงใจของลีดส์มั้ย
คุณกรณ์ : ที่ชอบที่สุดเขาเพิ่งออกไปคือราฟินญ่า ไปบาร์เซโลนา หรือแม้แต่เควิน ฟิลลิปก็ย้ายไปอยู่แมนซิตี้แต่ก็ยังไม่ได้เล่นสักที ซึ่งตรงนี้ก็น่าเสียดาย แต่ที่ยังอยู่ในลีดส์ หรือที่เอาเข้ามาหลายคน ผมว่าน่าสนใจมากนะ ไอเรนเซนที่ตามผู้จัดการคนใหม่เข้ามา ผมถือว่าดูสนุกนะ แฮร์ริสัน แม้แต่แบมฟอร์ด ผมว่าน่าเชียร์ครับ
Q : มีความทรงจำอะไรเกี่ยวกับสงครามกุหลาบระหว่างลีดส์และแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดบ้างไหม?
คุณกรณ์ : ไม่เท่าไรสำหรับผม ถ้าย้อนกลับไปลีดส์เคยมีคล้าย ๆ แบบคู่อริในตำนานอยู่อีกหลายทีม สมัยที่ผมเริ่มเชียร์จะเป็นทีมที่ตอนนี้รู้สึกพึ่งล้มละลายไป คือดาร์บี้เคาน์ตี้ ก็จะมีตำนาน เรื่องของการแข่งขันที่ค่อนข้างเข้มข้นระหว่างกัน ระยะหลังมาเป็นแมนยู แต่ถ้าไปถามแมนยู เขาไม่ได้มีเราอยู่ในสายตา เพราะว่าเราตกชั้นไปนานแล้ว ช่วงอเล็กซ์ เฟอร์กูสันนี่คือไม่มีลีดส์อยู่ในสายตาเลย เว้นแต่ประมาณปี 1991 ซึ่งครั้งนั้นลีดส์ชนะดิวิชั่น 1 ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นพรีเมียร์ลีกแล้วแมนยูได้ที่ 2 แล้วอีริค คันโตนา เคยอยู่ลีดส์ หลังจากที่ลีดส์ชนะก็เปลี่ยนไปอยู่แมนยู แล้วปีนั้นแมนยูก็ชนะ ซึ่งก็ทำให้ชาวลีดส์รู้สึกอยู่พอสมควร แต่ก็โอเคมันเป็นเรื่องปกติในวงการฟุตบอล มาถึงวันนี้ ความจริงมันก็มีทีมอื่นที่ลีดส์ช่วงชิงก่อนที่จะเลื่อนชั้นขึ้นมา อย่างแบร๊ดฟอร์ด ผมว่ามันก็มีพัฒนาการว่า คู่ปรับเราคือใคร เปลี่ยนไปตามยุคสมัย
Q : คุณกรณ์ชอบดูซีรีส์?
คุณกรณ์ : จริงๆ ผมดูของหลายประเทศมากนะครับและนี่คือข้อดีของสตรีมมิ่ง โดยส่วนใหญ่ผมก็ดูผ่าน Netflix ซึ่งมันมีทั้งเกาหลี อังกฤษ อเมริกัน สแกนดิเนเวีย สเปน ญี่ปุ่น จีน ผมดูหมด แต่หลักๆ ที่ยอมรับว่าตอนนี้ชอบแล้วก็มีความรู้สึกว่ามาตรฐานมันดีขึ้นเรื่อยๆ คือของเกาหลี ผมมีความรู้สึกว่าบทเขียนดี ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าความเป็นคนเอเชียด้วยกันมันทำให้เราเข้าใจในหลายๆ เรื่องที่เขาพยายามที่จะสื่อออกมา และระดับการพัฒนาสังคมและความคิดของเขา เขาสะท้อนประเด็นปัญหาสังคม ซึ่งก็ตรงกับประเด็นปัญหาทางสังคมของเราในหลายๆ เรื่อง มันก็เลยน่าสนใจว่าเกาหลีก็เริ่มคิดอย่างนี้ หรือเขาก็พยายามที่จะชี้นำคนรุ่นใหม่หรือประชาชนของเขาผ่านซีรีส์ ให้คิดแบบนี้ในเรื่องนี้
อย่างเช่น ถ้าย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกาหลีจะไม่มีการพูดถึงประเด็น LGBTQ+ เลย แต่ตอนนี้เริ่มแทรกเข้ามาเหมือนกับมีเจตนาที่จะทำให้คนเกาหลียอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น อย่างเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน เรื่องการเมืองของเกาหลีก็สุดยอดไม่ได้ต่างจากเราเท่าไหร่ในแง่ของอิทธิพล การเอารัดเอาเปรียบ อิทธิพลของทุนใหญ่ที่มีต่อสังคม หลายๆ เรื่องมันก็เลยทำให้สนุกขึ้น ซึ่งผมดูทั้งเรื่องปัจจุบัน แล้วก็เรื่องย้อนยุคที่อิงประวัติศาสตร์เขา แล้วก็ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าในไทยมีอุตสาหกรรมนี้ ในระดับมาตรฐานแบบนี้ มีเงินทุนเข้ามาสนับสนุนมากเท่านี้ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเราที่สามารถดัดแปลงเป็นเรื่องเล่าแบบเกาหลีมีเยอะเลย แล้วผมคิดว่ามันเป็นเหมือนกับสมบัติ ที่เรียกว่า Soft Power ที่รอวันให้มีการจุดพลุให้เป็นสมบัติของโลกได้
จริงๆ โดยรวมก็คือดูเพื่อความบันเทิง แต่ก็มีความรู้สึกว่า มันกระตุ้นให้เราได้คิด ประเทืองปัญญาของเราด้วย อย่างช่วงนี้ผมดูเรื่องย้อนยุคอยู่ 51 ตอน ตอนละ 1 ชั่วโมง ตาแฉะเลย
ความจริงเรื่องนี้ไม่ใช่ซีรีส์ใหม่ ซีรีส์ชื่อ Empress Ki (กีซึงนัง จอมนางสองแผ่นดิน) เป็นเรื่องย้อนยุคกลับไปสมัยโครยอ ในยุคราชวงศ์หยวนซึ่งเคยมีจักรพรรดินีองค์หนึ่ง ซึ่งจริงๆ เป็นคนเกาหลี แต่ขึ้นมาเป็นจักรพรรดินีของราชวงศ์หยวนช่วงท้ายได้ ซึ่งเขาก็เอาข้อเท็จจริงส่วนนี้มาขยายเป็นเรื่อง แล้วก็สะท้อนให้เห็นถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนที่เป็นประเทศที่มีอำนาจ มีประชากรที่มากกว่าทางเกาหลีอยู่แล้ว กับตัวเกาหลีที่มีลักษณะเหมือนกับเป็นเมืองขึ้นของจีน แล้วมีผลอย่างไรต่อเกาหลี
Q : แล้วอย่างซีรีส์ฝรั่ง เช่น Game of Thrones ชอบไหม?
คุณกรณ์ : ผมชอบอยู่แล้ว Game of Thrones ไม่มีใครไม่ชอบ แต่อย่างที่ว่าครับ ซีรีส์ย้อนยุคประวัติศาสตร์เกาหลีคือเขาทำออกมาในแนว epic เดี๋ยวคนนี้ก็มารบกับคนนั้น เดี๋ยวพอเงื่อนไขเปลี่ยนไปก็มาสลับข้างกัน คือมันจะมีความสลับซับซ้อนสะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ แล้วก็เรื่องของผลประโยชน์หลายๆ เรื่อง ผมว่าน่าสนใจมาก ส่วนของฝรั่งเขาก็ทำได้ดี ผมก็ชอบอยู่เหมือนกัน แต่ว่าเรื่องที่ทันสมัยของเกาหลี เขาก็ทำได้สุดยอดนะ แบบเรื่อง Start-Up เมื่อสองปีที่แล้ว ผมชอบเรื่องนี้มาก แล้วล่าสุดก็คือเรื่อง Extraordinary Attorney Woo อูยองอู ทนายอัจฉริยะ ที่เป็นเรื่องของทนายความที่เป็นออทิสติก เรื่องนี้ก็คือต้องดู ซึ่งผมว่าท้ายปีนี้ต้องกวาดรางวัลหมด คือทั้งในแง่ของตัวเรื่อง ประเด็นที่เขาพยายามสื่อสารแล้วก็ความสนุกสนาน แล้วก็ทักษะของนักแสดงสุดยอดจริง
Q : เศรษฐศาสตร์มีความน่าสนใจอย่างไรสำหรับคุณกรณ์?
คุณกรณ์ : หลักๆ ผมว่ามันคืออิทธิพลจากพ่อผม พ่อของผมเป็นข้าราชการกระทรวงการคลัง ท่านเข้ามาด้วยคำเชิญของ ดร.ป๋วย (อึ๊งภากรณ์) สมัยเริ่มก่อตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการคลังในกระทรวงการคลัง ซึ่งถือว่าเป็นคลังสมอง เป็นผู้ออกนโยบายทางเศรษฐกิจให้กับกระทรวงการคลัง ผมก็เลยค่อยๆ ซึมซับมา พ่อของผมไม่ได้เอาเรื่องงานมาเล่าให้ฟังมากมาย แต่ว่าเราก็มีความรู้สึกว่าอยากเดินตามรอยคุณพ่อ มันเป็นการปลูกฝังความสนใจในหลักวิชาเศรษฐศาสตร์ในตัวเรา
เศรษฐศาสตร์มันเป็นวิชาที่เกี่ยวกับสังคม มันเกี่ยวกับวิธีคิดของมนุษย์ ในตัวของมนุษย์ทุกคนมันจะมีทั้งความกลัวและความโลภคอยสู้กันอยู่ในตัวของเราเอง ซึ่งมันมีผลต่อพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย การบริโภค การกู้ยืมเงินทุกอย่าง ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ก็เลยเป็นเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่อายุประมาณ 15-16 ปี สุดท้ายก็ตัดสินใจที่จะเรียนวิชานี้ในระดับมหาวิทยาลัย แต่ว่าผมก็ต้องเลือกอีกว่าผมจะไปเรียนวิชานี้ที่ไหนเพราะเศรษฐศาสตร์มีหลายแบบ อย่างที่ประเทศไทยเรามีจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ที่อังกฤษเขามีออกซฟอร์ดกับเคมบริดจ์ ถ้าผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เคมบริดจ์มันจะออกมาในแนวทฤษฎีมากหน่อย เน้นในเรื่องของคณิตศาสตร์ สูตรคำนวณ การวิเคราะห์ดาต้า ถ้าไปทางออกซฟอร์ดมันจะออกมาในแนวสังคมมากขึ้น แล้วก็ผสมผสานการเรียนเศรษฐศาสตร์กับอีกสองวิชาหลักด้วยก็คือรัฐศาสตร์กับปรัชญา เป็นปริญญาควบ 3 วิชา คือใครเรียนเศรษฐศาสตร์ก็ต้องเรียนสองอันนี้ด้วย ซึ่งมันน่าสนใจว่าทำไมคนเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์แล้วต้องเรียนปรัชญา ต้องมีรัฐศาสตร์ผสมอยู่ด้วย หรือถ้าจะเรียนรัฐศาสตร์ต้องมีเศรษฐศาสตร์อยู่ด้วยและปรัชญา เรียนรัฐศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้
มันกลายเป็นแหล่งกำเนิดของนักการเมือง นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนแล้วคนเล่าก็คือจบจากคณะนี้ที่มหาลัยนี้คุณอภิสิทธิ์ก็เรียนคณะนี้ คุณไอติม (พริษฐ์ วัชรสินธุ) ก็เรียนคณะนี้ ผมก็เช่นกัน มันเหมือนกับเป็นแหล่งผลิต นักการเมือง แต่ผมก็ไม่รู้สึกอย่างนั้นตอนที่เข้าไปเรียนเพราะผมไม่เคยคิดจะเป็นนักการเมือง แต่ว่าสุดท้ายแล้วมันอาจจะไปจุดประกายบางอย่างทำให้เราสนใจ ซึ่งถึงเวลาที่เหมาะสมผมก็พลัดเข้ามาอยู่ในวงการ สำหรับผมจนถึงทุกวันนี้ยังก็สนใจเรียนรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ตลอดเวลา
คือผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า การเรียนมันไม่ได้จบแค่ในห้องเรียน ในการที่จะศึกษาเรียนรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์มันมีวิวัฒนาการและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อย่างเช่นเมื่อสิบปีที่แล้วตอนที่ผมยังเป็นรัฐมนตรี มันมีวิกฤตเศรษฐกิจที่เราเรียกว่า ‘วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์’ ทางธนาคารกลางทั่วโลกเขาก็แก้ปัญหาแบบฉีกตำราทิ้ง คือสมัยเราต้มยำกุ้งสิบปีก่อนนั้น ฝรั่งเขาแนะนำบอกว่าเราต้องรัดเข็มขัด แต่กลายเป็นว่าเราเจ๊งไปกันใหญ่เลย เขาก็เลยเรียนรู้ว่ามันไม่ใช่ คือตามสูตรทฤษฎีที่เรียนมา ถ้าสมมุติว่าประเทศขาดงบประมาณขาดทุนสำรองสิ่งที่ต้องทำก็คือประหยัด มันเป็นไปตามตรรกะทั่วไป แต่เขาพบว่ามันไม่ใช่ มันกลับกลายเป็นตรงข้ามว่าช่วงนั้นต้องอัดฉีด ต้องปล่อยให้เงินมันล้น เข้าถึงเงินได้ง่ายเศรษฐกิจมันก็จะได้ฟื้น เขาก็เลยใช้วิธีแบบใหม่ในการแก้ปัญหาแล้วก็สำเร็จ
หลักเศรษฐศาสตร์บอกว่า ถ้าเงินมันเยอะ สิ่งที่เกิดขึ้นคือค่าเงินลดก็คือเงินเฟ้อ แต่ปรากฏสิบกว่าปีเพิ่งมาเริ่มปรากฏเงินเฟ้อตอนนี้ ช่วงที่เขาพิมพ์เงินแจกกลับกลายเป็นเงินฝืดด้วยซ้ำไป อัตราดอกเบี้ยบางประเทศติดลบ นี่คือฉีกตำราเศรษฐศาสตร์ทั้งหมดเลย ผมถึงบอกว่า ตัวหลักวิชามันไม่นิ่ง ผมจึงบอกว่ามันไม่ใช่ศาสตร์ ถ้าเป็นศาสตร์มันต้องตายตัว
แต่อันนี้คือมันเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ผมเลยบอกว่าเป็นวิชาที่น่าสนใจมาก บางทีผมคุยกับลูก คุยในเรื่องเศรษฐศาสตร์ แต่เขาจะไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่ผมกำลังคุยอยู่คือเรื่องเศรษฐศาสตร์ อย่างเช่น จำได้เลยคือไปแถวเยาวราช ลูกผมถามว่าทำไมร้านทองถึงต้องเปิดติดๆ กัน ทำไมไม่แยกกันไปเปิด มันเป็นคำถามที่น่าสนใจ ว่าทำไมมันถึงมีแหล่งร้านค้าเหล่านี้ เหมือนเมื่อก่อนนี้ จะซ่อมคอมพิวเตอร์ทำไมต้องไปพันธุ์ทิพย์หรือจะไปเช่าพระก็ก็ต้องไปที่พันธุ์ทิพย์ หรือแม้แต่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ มันก็จะรวมสินค้าประเภทเดียวกันอยู่ที่เดียวกัน ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ถ้าตอบแบบชาวบ้านทั่วไปก็คือมันเป็นแหล่งที่เราไปที่เดียว เราได้ของครบแล้วเลือกได้ การแข่งขันทำให้เรามั่นใจว่าได้ราคาที่เป็นธรรมที่สุดแล้วเพราะว่าใครขายแพงกว่าก็จะขายไม่ได้เพราะมีร้านติดกันที่ขายสินค้าเหมือนกันแต่ราคาถูกกว่า เราก็เลยมีความมั่นใจแทนที่จะต้องไปร้านใดร้านหนึ่ง เราก็ไปที่แหล่งนี้ก็จะได้ของที่เราต้องการในราคาที่เป็นธรรม มันก็เป็นอะไรที่ย้อนแย้งว่า ถ้าไม่แข่งกันแล้วก็ต่างคนต่างแยกกันอยู่น่าจะดีกว่า ผมว่าเรื่องแบบนี้ฝรั่งเขาสนใจ