Thursday, 19 June 2025
WORLD

‘เซเลนสกี้’ ต้องกลับบ้านมือเปล่าอีกครั้ง หลัง ‘ทรัมป์’ เทนัดออกจากงาน G7 ก่อนกำหนด

(18 มิ.ย.68) โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ผู้นำยูเครนต้องพบกับความผิดหวังอีกครั้ง หลังจากที่เขาลงทุนบินข้ามทวีป เดินทางมาแคนาดาเพื่อเข้าร่วมวงประชุมสุดยอดผู้นำ G-7 ที่เมือง  Kananaskis แต่ปรากฏว่าสวนทางกับโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ เพียงไม่กี่ชั่วโมง เพราะทรัมป์ขอตัวกลับกรุงวอชิงตัน ดีซี อย่างกะทันหัน โดยอ้างเหตุสถานการณ์ความรุนแรงระหว่าง อิสราเอล-อิหร่าน 

ทำให้เซเลนสกี้ไม่มีโอกาสได้เจอทรัมป์เป็นการส่วนตัว เพื่อขอความช่วยเหลือด้านอาวุธ และ ทุนสนับสนุนอีก แต่เมื่อไม่ได้เจอ ก็คือไม่ได้เงิน ต้องบินกลับบ้านอย่างผิดหวัง

ส่วน มาร์ก คาร์นีย์ นายกรัฐมนตรีแคนาดา ที่เป็นเหมือนเจ้าภาพของงาน ก็ยอมให้เซเลนสกี้เข้าพบ หารือเป็นการส่วนตัว และได้มอบเงินช่วยเหลือให้เล็กน้อยเป็นขวัญถุงก่อนกลับบ้าน แต่ไม่ยอมออกแถลงการณ์ร่วมของ G-7 ให้กับเซเลนสกี้ในการแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนยูเครน 

ซึ่งเซเลนสกี้ คงต้องยอมรับว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่ใช่วาระสำคัญเร่งด่วนอีกต่อไปแล้ว ตั้งแต่เกิดสงครามในกาซา เมื่อปี 2023 ตามมาด้วยความขัดแย้งระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน และล่าสุด การยิงถล่มกันระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 

แต่ทั้งนี้ การนัดพบระดับผู้นำสหรัฐอย่างทรัมป์ และ เซเลนสกี้ ที่ในงาน G-7 มีการลงกำหนดการล่วงหน้า ยืนยันเป็นมั่นเหมาะแล้ว เซเลนสกี้ถึงยอมลงทุนบินข้ามน้ำ ข้ามทะเลกว่า 5,000 ไมล์ เพื่อมาหา 

และแหล่งข่าวยืนยันว่า เซเลนสกี้ มีคิวนัดเป็นลำดับที่ 3 ในตารางนัดหมายของทรัมป์ด้วยซ้ำ และไปถึงแคนาดาในช่วงบ่ายวันที่ 17 มิถุนายน ก่อนจะถึงคิวนัด  ก่อนที่จะรู้ว่า ทรัมป์ ยกเลิกคิวนัดทั้งหมดอย่างกะทันหัน และบินกลับดี.ซี.ไปก่อนหน้านั้นแล้วตั้งแต่หลังงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์ เพราะต้องการไปติดตามสถานการณ์ระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน 

ทรัมป์ได้กล่าวก่อนขอตัวออกจากงานประชุมว่า "พวกเราจะเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำกับผู้นำชาติสมาชิกแสนวิเศษ แต่ผมจะต้องขอตัวบินกลับก่อน ด้วยเหตุที่เป็นที่รู้กัน และผมหวังว่าพวกเขาจะเข้าใจ" 

แม้จะรู้ถึงเหตุจำเป็นของทรัมป์ แต่คณะทูตยูเครนก็อดแสดงความน้อยใจไม่ได้ ที่เห็นว่าทรัมป์ลดลำดับความสำคัญของสงครามในยูเครน ซึ่งนอกจากจะไม่พูดถึงแล้ว ทรัมป์ยังใช้สิทธิ์ฐานะชาติสมาชิกหลัก ขอให้ยับยั้งแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุม G-7 ที่เกี่ยวข้องกับยูเครนด้วย โดยให้เหตุผลว่าถ้อยแถลงของเซเลนสกี้ต่อต้านรัสเซียมากเกินไป ที่อาจกระทบกับวาระการเจรจาระหว่างทรัมป์ กับปูติน ที่กำลังดำเนินอยู่

ซึ่งเป็นข้ออ้างที่จะให้พูดแบบตรง ๆ ก็คือ เหมือนดีดเซเลนสกี้ออกจากงาน เพราะหากเทียบกับการเจรจาระหว่าง สหรัฐ-อิหร่าน ที่ก็ยังดำเนินอยู่เหมือนกัน แต่อิสราเอลก็ยังยกพลไปโจมตีทางอากาศอิหร่านได้โครม ๆ ไม่เห็นทรัมป์จะว่าอะไรเลย

เท่ากับว่าทริปนี้ เซเลนสกี้มาเพื่อถ่ายรูปกับเจ้าภาพ และ กลับบ้านมือเปล่า นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่การทูตยูเครน ถึงกับแสดงอาการถอดใจว่า ในสัปดาห์หน้าที่จะมีงานประชุมกลุ่มประเทศสมาชิก NATO ที่กรุงเฮก หากเซเลนสกี้จะเดินทางไปขอเข้าประชุมด้วย มันจะคุ้มหรือไม่ แม้ผู้นำเยอรมันจะออกมายืนยันว่า ทรัมป์จะเดินทางไปร่วมงานประชุม NATO ด้วยอย่างแน่นอนก็ตาม 

ถึงชาติพันธมิตรยุโรปจะปลอบใจเซเลนสกี้ และยืนยันว่ายังไงก็อยู่ข้างยูเครน แต่สำหรับเซเลนสกี้แล้ว มันไม่มีความหมายเลยถ้าสหรัฐอเมริกาไม่ลงมาช่วยสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง อย่างที่โจ ไบเดน เคยให้มาก่อน 

ซึ่งเซเลนสกี้ก็ต้องทำใจว่า ช่วงกระแสพีคสุดของยูเครนได้ผ่านไปแล้ว ต่อให้ในวันนี้ผู้นำสหรัฐยังเป็นโจ ไบเดน ก็ใช่ว่ายูเครนจะได้รับการสนับสนุนเหมือนเมื่อก่อน เพราะตอนนี้กระแสไหลมาที่ตะวันออกกลางหมดแล้ว และผลลัพธ์ของสงครามระหว่าง อิสราเอล-อิหร่าน อาจกลายเป็นจุดพลิกขั้วอำนาจในตะวันออกกลางได้นานอีกหลายสิบปีทีเดียว

เมื่อเป็นเช่นนี้ เซเลนสกี้ ต้องถอยกลับไปต่อคิวใหม่ เพราะหัวแถวไม่ว่างซะแล้ว

‘ฮุน เซน’ รับมีคลิปเสียงคุย ‘นายกฯ อิ๊งค์’ จริง ลั่นจำเป็นต้องบันทึกเสียงกันถูกบิดเบือน

ฮุน เซน โพสต์เฟซบุ๊ก ยอมรับโทรศัพท์คุยกับ นายกฯ อิ๊งค์ และบันทึกเสียงไว้ แชร์ให้ผู้เกี่ยวข้องประมาณ 80 คน เผยคลิปเต็ม 17 นาที หลุดออกมาแค่ 9 นาที

(18 มิ.ย. 68) สมเด็จ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภาและอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า เมื่อค่ำวันที่ 15 มิ.ย. ข้าพเจ้าได้สนทนาทางโทรศัพท์กับนายกรัฐมนตรีของไทยนาน 17 นาที 6 วินาที โดยมีล่าม

ตามปกติแล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดหรือการบิดเบือนข้อเท็จจริงในเรื่องทางการ จึงจำเป็นต้องบันทึกเสียงการสนทนาเพื่อความโปร่งใส รวมถึงเพื่อวัตถุประสงค์ภายในกัมพูชาด้วย

จากนั้น ข้าพเจ้าได้แบ่งปันการบันทึกเสียงการสนทนาของข้าพเจ้ากับนายกรัฐมนตรีของไทย ให้แก่บุคคลประมาณ 80 คน รวมถึงสมาชิกคณะกรรมการถาวรของพรรค วุฒิสภา ทีมรัฐสภา หน่วยงานกิจการต่างประเทศ หน่วยการศึกษา กลุ่มกิจการชายแดน และสมาชิกกองทัพ ในบรรดาบุคคลเหล่านี้ เป็นไปได้ว่า บางคนไม่เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีของไทย

ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการสนทนาของเรา ผู้นำไทยได้กล่าวหาผู้นำกัมพูชาต่อสาธารณะว่า ดำเนินการทางการเมืองอย่าง 'ไม่เป็นมืออาชีพ' และมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองผ่านเฟซบุ๊ก

ส่วนเรื่องไฟล์เสียงที่หลุดออกมา ผมสังเกตว่ามีการเผยแพร่ต่อสาธารณะเพียงประมาณ 9 นาทีเท่านั้น ดังนั้น หากฝ่ายไทยต้องการไฟล์เสียงแบบเต็ม ข้าพเจ้าพร้อมที่จะเผยแพร่ไฟล์เสียงความยาว 17 นาที 6 วินาทีทั้งหมด

'ชาวกัมพูชา' ชุมนุมแสดงพลังกลางกรุงพนมเปญ ย้ำจุดยืนรักษาดินแดน - ต่อต้านผู้รุกราน

(18 มิ.ย.68) กระทรวงข้อมูลข่าวสารฯกัมพูชา ได้ถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊ก "ក្រសួងព័ត៌មាន - Ministry of Information" ที่มีผู้ติดตาม 1.4 ล้านคน เผยแพร่ภาพของพลเมืองชาวกัมพูชาได้ออกมาแสดงพลังรักชาติ พร้อมสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลในการป้องดินแดนกัมพูชา โดยประชาชนที่มาเข้าร่วมชุมนุมพากันโบกธงชาติกัมพูชา พร้อมถือรูป 'สมเด็จฮุน เซน' และรูปนายกรัฐมนตรี 'ฮุน มาเนต' รวมพลังเต็มพื้นที่ชุมนุม ย้ำจุดยืนต่อต้านผู้รุกรานดินแดน

ด้าน สมเด็จฮุนเซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา โพสต์ภาพระบุข้อความว่า เป็นการมีส่วนร่วมของชาวกัมพูชา ในการสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา ย้ำจุดยืน กัมพูชาไม่ต้องการดินแดนของผู้อื่นแม้แต่ 1 มิลลิเมตร แต่จะปกป้องดินแดนกัมพูชาอย่างเด็ดขาด ไม่ให้ใครมาล่วงล้ำแม้เพียง 1 มิลลิเมตร เช่นกัน

ส่วนทางสำนักข่าวท้องถิ่นได้รายงานว่า นายฮุน มาณี ลูกชายของฮุนเซน จะเป็นผู้นำในการเดินขบวนในเช้าวันนี้ เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อกองทัพ และส่งเสริมความรักชาติ ในกรุงพนมเปญ

รัสเซีย ส่งคืนร่างทหารยูเครน 6,060 ราย สวนทางยูเครน ส่งคืนให้รัสเซียเพียงแค่ 78 ราย

(18 มิ.ย.68) สื่อต่างประเทศรายงานข่าวว่า ทางการยูเครนได้รับร่างของทหารที่เสียชีวิตในสงครามรัสเซีย-ยูเครน อีก 1,245 ร่าง เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2568 ซึ่งเป็นการส่งมอบร่างผู้เสียชีวิตรอบสุดท้ายตามที่ตกลงไว้ในการเจรจาที่อิสตันบูล ประเทศทูร์เคีย

ขณะที่ทางด้าน วลาดิมีร์ เมดินสกี ผู้ช่วยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้นำคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายรัสเซีย เผยว่า รัสเซียได้ส่งคืนร่างทหารยูเครน 6,060 นาย และยูเครนได้ส่งร่างทหารรัสเซียกลับคืนมา 78 ราย

เป็นที่น่าสังเกตว่า การแลกเปลี่ยนร่างทหารที่เสียชีวิตครั้งนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่สื่อตะวันตก และ ยูเครน อ้างว่าทหารรัสเซีย เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่ยูเครนไม่สามารถนำมาแลกกันในอัตราที่ใกล้เคียงกัน ทำได้เพียงการส่งคืน 78 ร่างเท่านั้น

‘อีลอน มัสก์’ เตือนสหรัฐฯ หนี้ท่วม!!..อาจล้มละลาย เพราะรายได้ภาษีหมดไปกับดอกเบี้ย ปีละ 1.2 ล้านล้าน

(17 มิ.ย. 68) อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีผู้เป็นซีอีโอของเทสลา (Tesla) เปิดเผยว่า สหรัฐฯ กำลังใกล้จะล้มละลายทางการเงิน หากภาษีที่จัดเก็บได้จากประชาชนทั้งหมดต้องนำไปจ่ายดอกเบี้ยหนี้เท่านั้น โดยสหรัฐฯ มีหนี้สาธารณะสูงถึงราว 36–37 ล้านล้านดอลลาร์ และต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 43.8 ล้านล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นเกือบหนึ่งในสี่ของรายได้ภาษีทั้งหมด 

มัสก์ชี้ว่า หากปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินต่อไปเช่นนี้ ภาระดอกเบี้ยจะกลืนกินงบประมาณของรัฐบาลจนไม่มีเงินเหลือไว้ใช้สำหรับสวัสดิการหรือการลงทุนด้านอื่น การจ่ายดอกเบี้ยในระดับนี้ได้กลายเป็น 'ต้นทุนอันดับสาม' ของรัฐบาล รองจากแพ็กเกจสวัสดิการและรายจ่ายทางทหาร 

นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญจาก Peterson Foundation ระบุว่า ความกดดันจากหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นและดอกเบี้ยที่เพิ่ม จะส่งผลลบต่อทั้งเสถียรภาพเศรษฐกิจ การลงทุนของภาคเอกชน และการเข้าไม่ถึงทุนของรัฐบาลกลาง รวมถึงอาจเข้าใกล้ช่วง 'วิกฤตสภาพคล่อง' หากนักลงทุนต่างชาติเริ่มลดความเชื่อมั่นจนความต้องการพันธบัตรลดลง 

ทั้งนี้ อีลอน มัสก์ สนับสนุนแนวคิดของวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนชื่อดัง ที่เคยเสนอให้มีกฎหมายควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยเฉพาะการห้ามไม่ให้สมาชิกรัฐสภาดำเนินนโยบายที่ทำให้เกิด การขาดดุลงบประมาณเกิน 3% ของ GDP ซึ่งเป็นระดับที่ถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ มัสก์เห็นว่าแนวทางนี้จะช่วยเพิ่มความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจในการใช้งบประมาณแผ่นดิน และเตือนว่าหากไม่มีการควบคุมการใช้จ่ายอย่างจริงจัง สหรัฐฯ กำลังเดินหน้าเข้าสู่ภาวะ 'ล้มละลายโดยสมบูรณ์' ซึ่งจะทำให้ไม่เหลือพื้นที่ทางการคลังหรือทรัพยากรใด ๆ ให้บริหารประเทศในอนาคตอีกต่อไป

ผู้นำ G7 หนุนอิสราเอล ย้ำมีสิทธิ์ตอบโต้อิหร่าน ด้าน ‘ทรัมป์’ ทิ้งประชุมด่วน!!...กลับมารับมือที่วอชิงตัน

(17 มิ.ย. 68) ผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้งเจ็ด (G7) ออกแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนสิทธิของอิสราเอลในการป้องกันตนเอง ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดที่ทวีขึ้นระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน

ในแถลงการณ์ระบุว่า “เรายืนยันว่าอิสราเอลมีสิทธิในการป้องกันตัว และเรายังคงยืนหยัดเคียงข้างความมั่นคงของอิสราเอล” พร้อมเรียกร้องให้การแก้ไขวิกฤตกับอิหร่านนำไปสู่การลดความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงการหยุดยิงในฉนวนกาซา

ผู้นำ G7 ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปกป้องพลเรือนจากผลกระทบของความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้น ขณะที่สถานการณ์ในตะวันออกกลางยังคงผันผวนและเปราะบางอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ ในวันเดียวกันโฆษกทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะออกจากการประชุม G7 ที่แคนาดาเร็วกว่ากำหนด และได้สั่งให้สภาความมั่นคงแห่งชาติเตรียมพร้อมหารือฉุกเฉินในห้องสถานการณ์ของทำเนียบขาว

คำสั่งเร่งด่วนของทรัมป์ยังรวมถึงการเรียกประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (NSC) เพื่อประเมินปฏิกิริยาตอบโต้ของสหรัฐฯ ต่อทั้งอิหร่านและอิสราเอล ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากฝ่ายการเมืองภายในประเทศให้วอชิงตันแสดงบทบาทนำในวิกฤตนี้

‘ทรัมป์’ เตือน ‘อิหร่าน’ ไม่มีวันชนะสงครามนี้ แนะเปิดเจรจาก่อนจะสายเกินไป

(17 มิ.ย. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์เตือนอิหร่านให้รีบเปิดการเจรจากับอิสราเอลโดยด่วน ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง “ผมคิดว่าอิหร่านจะไม่ชนะสงครามนี้ พวกเขาควรพูดคุยกัน และควรพูดคุยทันที ก่อนที่จะสายเกินไป” ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวก่อนเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G7 ที่ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา

คำเตือนของทรัมป์มีขึ้นหลังการโจมตีล่าสุดของอิหร่านด้วยขีปนาวุธใส่เมืองต่าง ๆ ของอิสราเอล ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 8 ราย ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตรวมจากฝั่งอิสราเอลอยู่ที่ 24 คน ขณะที่ทางการอิหร่านรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตมากถึง 224 ราย และบาดเจ็บกว่า 1,000 คน นับตั้งแต่อิสราเอลเริ่มการโจมตีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อกองทัพอิสราเอลประกาศว่าได้ “ควบคุมท้องฟ้าเหนือกรุงเตหะรานอย่างสมบูรณ์” พร้อมทั้งทำลายฐานยิงขีปนาวุธของอิหร่านได้แล้วประมาณหนึ่งในสาม ด้านอิหร่านตอบโต้โดยขู่ว่าจะเปิดฉาก “การยิงขีปนาวุธที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์” บนแผ่นดินอิสราเอล พร้อมกันนั้นยังมีรายงานว่าโรงพยาบาลพลเรือนในเมืองเคอร์มานชาห์ของอิหร่านถูกโจมตี จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

อีกด้านหนึ่ง องค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) แสดงความกังวลถึงการปนเปื้อนทางรังสีและสารเคมีจากการโจมตีของอิสราเอลที่โรงงานเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมที่เมืองนาทานซ์ แม้ระดับรังสีภายนอกยังปกติ แต่ระบบจ่ายไฟหลักและเครื่องสำรองถูกทำลาย ทำให้การตรวจสอบและประเมินผลกระทบทำได้อย่างจำกัด

ขณะที่ภาพรวมในสนามรบจะตึงเครียดอย่างหนัก แต่เบื้องหลังมีรายงานว่าอิหร่านเริ่มส่งสัญญาณความต้องการเจรจา โดยผ่านตัวกลางจากชาติอาหรับ ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันโลกลดลงทันทีมากกว่า 2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แสดงให้เห็นถึงความหวังเล็ก ๆ ในการคลี่คลายความขัดแย้ง หากคู่กรณียอมกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาอย่างจริงจังตามคำแนะนำของทรัมป์ก่อนที่จะสายเกินไป

ยูเครนเริ่มขายทรัพยากรชาติภายในประเทศ เปิดทางสหรัฐฯ ถือสิทธิ์ พัฒนาแหล่งแร่ Dobra

(17 มิ.ย. 68) รัฐบาลยูเครนเริ่มเดินหน้าเปิดประมูลพัฒนาแหล่งแร่ลิเทียม Dobra หนึ่งในแหล่งทรัพยากรยุทธศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ตั้งอยู่ในเขตโนโวยูเครนกา (Novo Ukrainskii) ภูมิภาคคิรอโวห์ราด (Kirovohrad) ห่างจากกรุงเคียฟราว 300 กิโลเมตร การดำเนินการครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ลงนามกับสหรัฐฯ เมื่อ 12 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนระหว่างสงคราม

ภายใต้ข้อตกลงนี้ รายได้จากการขุดแร่จะถูกแบ่งเท่า ๆ กันระหว่างรัฐบาลยูเครนและกองทุนร่วมทุนที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุน โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจยูเครนหลังสงคราม พร้อมกับลดการพึ่งพาจีนในแร่ลิเทียมและแร่กลุ่มวิกฤตในตลาดโลก

ผู้ประมูลที่น่าจับตาได้แก่บริษัท TechMet ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ถือหุ้นบางส่วน และ โรนัลด์ ลอเดอร์ (Ronald S. Lauder) มหาเศรษฐีนักลงทุนชื่อดังผู้ใกล้ชิดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งคู่เตรียมยื่นข้อเสนอในรูปแบบสัญญาแบ่งผลผลิตระยะยาว ซึ่งจะมอบสิทธิ์การพัฒนาและปันผลให้แก่ทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่าการเร่งเปิดทรัพยากรธรรมชาติอาจเสี่ยงต่อปัญหาความโปร่งใส ความไม่แน่นอนทางกฎหมาย และต้องอาศัยเวลาอีกหลายปีกว่าจะสามารถเริ่มการผลิตได้จริง เนื่องจากยูเครนยังต้องอัปเดตข้อมูลทางธรณีวิทยาและซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายจากสงคราม

อิหร่านเตือนด่วน! สั่งอพยพประชาชน จ่อถล่มเป้าหมายในดินแดนที่อิสราเอลยึดครอง

หน่วยพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (IRGC) ออกแถลงการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันจันทร์ (17 มิ.ย.) ประกาศเตรียมเปิดฉากโจมตีทางอากาศ 'อย่างแม่นยำ' ต่อเป้าหมายในดินแดนที่ถูกอิสราเอลยึดครอง พร้อมเตือนให้ประชาชนอพยพออกจากเมืองต่าง ๆ ทันที

คำเตือนระบุว่า “สิ่งอำนวยความสะดวก เมือง หรือศูนย์กลางใด ๆ ในดินแดนยึดครองจะถือเป็นเป้าหมายทางทหารที่ชอบธรรม” พร้อมระบุว่าเหตุโจมตีจะเริ่มขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า

ในรายงานเพิ่มเติม มีการเปิดเผยว่าหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของอิหร่านคือเมืองไฮฟา (Haifa) ซึ่งมีถังเก็บแอมโมเนียมไนเตรทขนาดใหญ่ตั้งอยู่ หากถูกโจมตี อาจเกิดแรงระเบิดรุนแรงเทียบเท่ากับระเบิด TNT จำนวนกว่า 3,500 ลูก

วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ โทษ ‘เนทันยาฮู’ จุดชนวนสงครามอิหร่าน เตือนวอชิงตันอย่าตกหลุมพรางอิสราเอล

(17 มิ.ย. 68) เบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ ออกมาแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา ระบุว่านายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู เป็นผู้เริ่มต้นความขัดแย้งกับอิหร่านในครั้งนี้ พร้อมเตือนว่าสหรัฐฯ ไม่ควรถูกลากเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งทางการทหารและทางการเงิน

แซนเดอร์สโพสต์บนแพลตฟอร์ม X ว่า “เนทันยาฮูเป็นคนเปิดฉากสงครามนี้ด้วยการโจมตีอิหร่าน” พร้อมระบุว่าเนทันยาฮูมีส่วนในการลอบสังหารอาลี ชามคานี หัวหน้าคณะเจรจานิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งเป็นการจงใจบ่อนทำลายการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน

เขายังกล่าวเสริมว่า “สหรัฐฯ ต้องไม่ถูกลากเข้าไปในสงครามที่ผิดกฎหมายของเนทันยาฮูอีก ไม่ว่าจะเป็นในเชิงทหารหรือการสนับสนุนทางการเงิน” โดยแซนเดอร์สเป็นหนึ่งในนักการเมืองสหรัฐฯ ที่วิจารณ์นโยบายทางทหารของเนทันยาฮูในฉนวนกาซาอย่างสม่ำเสมอ

ขณะที่ สถานการณ์ความตึงเครียดเริ่มปะทุขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังอิสราเอลเปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศและโดรนถล่มหลายพื้นที่ทั่วอิหร่าน รวมถึงเป้าหมายด้านการทหารและนิวเคลียร์ ส่งผลให้อิหร่านตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธกลับอย่างหนักหน่วง

ทางการอิสราเอลระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 24 ราย และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคนจากการโจมตีของอิหร่าน ขณะที่ฝ่ายอิหร่านเผยว่าการถล่มของอิสราเอลทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 224 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 1,000 คน

คนจีนตั้งคำถามถึงคุณค่า ท่ามกลางการแข่งขันดุเดือด สาขามนุษยศาสตร์ ยังจำเป็นไหมในศตวรรษ AI??

(17 มิ.ย. 68) ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ในสังคมจีนเกิดกระแสถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนถึง “จุดจบของสายมนุษยศาสตร์” หลายเสียงในโลกออนไลน์ตั้งคำถามว่า วิชาด้านภาษา วรรณกรรม หรือประวัติศาสตร์ ยังมีความหมายอยู่หรือไม่ บ้างมองว่าไร้ประโยชน์ ขณะที่บางคนถึงขั้นแนะให้เลิกเรียนไปเลย โดยกระแสนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2010 แต่ร้อนแรงยิ่งขึ้นในยุคที่การแข่งขันทางการศึกษาดุเดือด

ตัวอย่างเช่น นักศึกษาที่เคยใฝ่ฝันจะทำงานในบริษัทโฆษณาระดับโลก แต่พอฝึกงานกลับพบว่าการแข่งขันสูงเกินคาด ต้องมีทั้งวุฒิปริญญาโทและรางวัลติดเรซูเม่ ด้านผู้เรียนการเงินรายหนึ่งก็เผยว่า แม้เรียนสายวิทย์ แต่สุดท้ายก็ต้องแย่งงานคอนเทนต์กับเด็กเอกภาษาอยู่ดี สะท้อนปัญหาว่าแม้แต่สายวิชาชีพก็ไม่ได้การันตีตำแหน่งงานอีกต่อไป

อาจารย์มหาวิทยาลัยจีนวิเคราะห์ว่า ปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่ตัวสาขา แต่เกิดจากการขยายตัวของการศึกษาที่ทำให้จำนวนผู้เรียนล้นตลาด ขณะที่ผู้มีความสามารถโดดเด่นยังมีไม่มากพอ อีกทั้งทัศนคติของสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้คนไม่อยากเรียนตามความชอบ แต่เลือกเรียนตามความ “คุ้มค่า” ทางเศรษฐกิจแทน

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ความรู้ด้านมนุษยศาสตร์ยังจำเป็นต่อการพัฒนาความคิดและความเข้าใจต่อโลก เพียงแต่นักศึกษายุคใหม่ต้องปรับตัวให้มากขึ้น เช่น เสริมทักษะการวิเคราะห์ เขียนโปรแกรม หรือทำงานข้ามสาขา เพื่อเพิ่มโอกาสในตลาดงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สุดท้ายแล้ว คำถามที่แท้จริงอาจไม่ใช่ “มนุษยศาสตร์ยังมีอนาคตหรือไม่” แต่คือ “เรากำลังเรียนเพื่ออะไร?” หากคำตอบคือความรักในภาษา ประวัติศาสตร์ หรือวรรณกรรม ก็อย่าให้เสียงของโลกภายนอกกลบเสียงของหัวใจ เพราะคุณค่าที่แท้จริงของความรู้ อาจไม่ได้วัดจากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว

กระทรวงต่างประเทศ อิหร่าน ออกแถลงการณ์ ชี้ ตอบโต้อิสราเอลชอบธรรมหลังถูกโจมตีก่อน

(16 มิ.ย. 68) กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ได้ออกแถลงการณ์ล่าสุดว่า ในเช้าตรู่ของวันที่ 13 มิถุนายน 2568 อิสราเอลได้เปิดฉากการโจมตีด้วยอาวุธขนานใหญ่ โดยไม่มีการยั่วยุจากอิหร่าน อันเป็นการกระทำที่ก้าวร้าวอย่างร้ายแรงในทุกความหมายของการกระทำดังกล่าว ด้วยการโจมตีทางอากาศ ขีปนาวุธ และโดรนที่ปฏิบัติการประสานงานกัน

อิสราเอลได้กำหนดเป้าหมายไปที่ย่านที่อยู่อาศัย โครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน หน่วยงานสาธารณะ
และโรงงานนิวเคลียร์ที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) การกระทำเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงและชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และกฎบัตรสหประชาชาติ ในกรณีที่เลวร้ายเป็นพิเศษ การโจมตีของอิสราเอลต่ออาคารที่อยู่อาศัยส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิต 60 ราย รวมถึงเด็กและผู้หญิง 35 ราย จากปฏิบัติการทางทหารระลอกรั้งใหม่ อิสราเอลเริ่มกำหนดเป้าหมายไปที่โครงสร้างพื้นฐานและสถานที่อุตสาหกรรมด้วยข้ออ้างหลักสำหรับการโจมตีคือโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ตามที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ได้รับการยืนยันครั้งแล้วครั้งเล่าว่า การติดตั้งนิวเคลียร์ของอิหร่านถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านสันติภาพเท่านั้น และยังคงอยู่ภายใต้ระบอบการตรวจสอบที่ครอบคลุมและรุนแรงที่สุดที่ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของนานาชาติ

การที่อิสราเอลกำหนดเป้าหมายไปยังโรงงานนิวเคลียร์พลเรือนที่ได้รับการคุ้มครองเหล่านี้ถือเป็นการกระทำที่ก้าวร้าวโดยเจตนาและการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและกรอบกฎหมายที่ควบคุมความปลอดภัยและความมั่นคงทางนิวเคลียร์อย่างโจ่งแจ้ง ตามที่ผู้อำนวยการใหญ่ของ IAEA นายราฟาเอล กรอสซี ได้ยืนยันอีกครั้งในระหว่างการประชุมฉุกเฉินของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อเร็ว ๆ นี้ มติการประชุมสมัชชาใหญ่ IAEA GC(XXIX)/RES/444 และ GC(XXXIV)/RES/533 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การโจมตีด้วยอาวุธใด ๆ ต่อโรงงานนิวเคลียร์ที่มุ่งเน้นเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสันติภาพถือเป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ ธรรมนูญของ IAEA และหลักการพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ มติเหล่านี้เน้นย้ำถึงความเสี่ยงร้ายแรงที่การโจมตีดังกล่าวจะก่อให้เกิดต่อความปลอดภัยและความมั่นคงทางนิวเคลียร์ และเน้นย้ำถึงผลกระทบที่บ่อนทำลายอย่างลึกซึ้งต่อสันติภาพในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ลักษณะของการโจมตีไม่ทิ้งช่องว่างสำหรับความคลุมเครือ: ถือเป็นการกระทำที่ก้าวร้าวที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศโดยตรง ทำให้ขอบเขตทางกฎหมายได้ถูกละเลยมองข้ามไปอย่างชัดเจน

อิสราเอลมีประวัติการใช้กำลังโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อรัฐอธิปไตยมายาวนานซึ่งมีเอกสารหลักฐานยืนยัน มีการกำหนดเป้าหมายต่อประชากรพลเรือน โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และสถานที่ที่ได้รับการคุ้มครองซ้ำแล้วซ้ำเล่า สะท้อนให้เห็นถึงการดูหมิ่นหลักการที่ระบุไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติอย่างเป็นระบบ การโจมตีครั้งล่าสุดนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ที่แยกตัวออกมา แต่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่สอดคล้องกันที่ใช้อาวุธบังคับและท้าทายระเบียบกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเปิดเผย หลักนิติธรรมไม่ได้ถูกละเลย แต่กำลังถูกรื้อถอน โดยเจตนาในบริบทที่กว้างขวางมากขึ้นของพฤติกรรมของระบอบอิสราเอลต้องได้รับการยอมรับ

ปัจจุบันอิสราเอลอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีต่อหน้าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในข้อหาที่ถูกกล่าวหาว่าก่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกาซา และผู้นำระดับสูงของอิสราเอล รวมถึงนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู
เผชิญข้อกล่าวหาที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ รวมถึงการกำหนดเป้าหมายพลเรือนโดยเจตนา การใช้อดอาหารเป็นวิธีการทำสงคราม และการกำหนดบทลงโทษรวมโดยเป็นระบบ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เหตุการณ์ที่แยกตัวออกมา แต่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่คงอยู่ของการปราบปรามทางทหาร การไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย และการไม่คำนึงถึงหลักการสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมนุษยธรรม

ในขณะที่ความน่าเชื่อถือของระบบกฎหมายระหว่างประเทศอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างเข้มข้น การประยุกต์ใช้หลักการทางกฎหมายแบบเลือกปฏิบัติและการอาศัยความเหมาะสมทางการเมืองคุกคามที่จะเข้าแทนที่ค่านิยมพื้นฐานของความสอดคล้อง ความรับผิดชอบ และหลักนิติธรรม ในการตอบโต้การรุกรานที่ผิดกฎหมายและปราศจากการยั่วยุโดยอิสราเอล สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านได้ใช้สิทธิในการป้องกันตนเองโดยชอบด้วยกฎหมายตามที่ระบุไว้ในมาตรา 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติ สิทธิขั้นพื้นฐานนี้อนุญาตให้รัฐสามารถปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนเมื่อถูกโจมตีด้วยอาวุธ

การตอบโต้ของอิหร่านยึดมั่นอย่างเคร่งครัดต่อหลักการและขอบเขตที่กำหนดโดยกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้มั่นใจว่าการกระทำของตนมีความสมเหตุสมผล จำเป็น และเหมาะสมภายใต้สถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตอบโต้ของอิหร่านได้รับการปรับเทียบอย่างรอบคอบให้ได้สัดส่วนกับภัยคุกคามและการโจมตีทางทหารของอิสราเอล การตอบโต้กำหนดเป้าหมายเฉพาะวัตถุประสงค์ทางทหารที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น รวมถึงศูนย์บัญชาการและควบคุม การติดตั้งทางทหารเชิงกลยุทธ์ และโครงสร้างพื้นฐานในการปฏิบัติการที่เชื่อมโยงโดยตรงกับการโจมตีที่ผิดกฎหมาย ตลอดเวลา

อิหร่านยังคงปฏิบัติตามกฎของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด โดยให้ความสำคัญกับการลดความเสียหายที่เกิดจากการโจมตีให้เหลือน้อยที่สุด ความล้มเหลวของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการตอบโต้อย่างเด็ดขาดต่อการกระทำที่ก้าวร้าวนี้ แสดงถึงการละทิ้งความรับผิดชอบพื้นฐานในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ในอดีต คณะมนตรีได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วและเป็นเอกฉันท์ หลังจากการโจมตีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์โอซิรักของอิรักในปี 1981 คณะมนตรีได้ออกมติ 487 ประณามการโจมตีและยืนยันความศักดิ์สิทธิ์ของโรงงานนิวเคลียร์เพื่อสันติภาพ แบบอย่างนั้นยังคงชัดเจน กฎหมายยังคงชัดเจน ทว่าวันนี้ คณะมนตรีกลับเป็นอัมพาต การหารือถูกบีบคั้นด้วยแรงกดดันทางการเมืองและเกราะป้องกันที่กลุ่มรัฐทรงอำนาจจำนวนน้อยยื่นให้การไม่ดำเนินการนี้จะคุกคามและกัดกร่อนรากฐานของระบบพหุภาคี

อิหร่านเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศประณามการกระทำที่ก้าวร้าวนี้ และยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นต่อกฎบัตรสหประชาชาติ และหลักการพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ อธิปไตยไม่ใช่เรื่องที่ต่อรองได้ โรงงานนิวเคลียร์ภายใต้การคุ้มครองของ IAEA ไม่ควรถูกกำหนดเป้าหมาย การใช้กำลังทางอาวุธต้องไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาแทนที่การทูต อิสราเอลไม่สามารถได้รับอนุญาตให้เขียนกฎการปฏิบัติระหว่างประเทศใหม่ผ่านการละเมิดซ้ำ ๆ และการยั่วยุที่มีการวางแผนไว้แล้ว เส้นทางสู่สันติภาพเริ่มต้นด้วยความรับผิดชอบ และระบบกฎหมายระหว่างประเทศต้องรวบรวมเจตจำนงเพื่อธำรงเรื่องนี้เอาไว้

จีนประณามอิสราเอลละเมิดอธิปไตยอิหร่า เสนอตัวไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง สร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง

(16 มิ.ย. 68) รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ แถลงเมื่อวันเสาร์ (15 มิ.ย.) ว่าจีน “ประณามอย่างชัดเจน” ต่อการโจมตีของอิสราเอล ซึ่งละเมิดอธิปไตย ความมั่นคง และบูรณภาพแห่งดินแดนของอิหร่าน พร้อมแสดงการสนับสนุนอิหร่านในการปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตน

หวัง อี้ โทรศัพท์หารัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งอิหร่านและอิสราเอล โดยระบุว่าจีนยินดีช่วยในการคลี่คลายสถานการณ์ พร้อมเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายใช้การเจรจาแก้ไขความขัดแย้ง

ขณะที่สหรัฐฯ ยืนอยู่ฝั่งเดียวกับอิสราเอล จีนกลับเลือกประณามการใช้กำลังและเรียกร้องให้ประเทศที่มีอิทธิพลต่ออิสราเอลช่วยฟื้นฟูสันติภาพ สะท้อนภาพการขยับบทบาทของจีนในภูมิภาคและเวทีโลก

สำหรับ จีนถือเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจและการทูตที่สำคัญของอิหร่านในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยทั้งสองประเทศมีความร่วมมือด้านพลังงาน การทหาร และการต่อต้านมาตรการคว่ำบาตรจากตะวันตกอย่างชัดเจน

อิหร่านเผย ‘ยุทธวิธีใหม่’ สะเทือนโดมเหล็กอิสราเอล ทำระบบป้องกันยิวยิงกันเอง จนเจาะ ‘เทลอาวีฟ-ไฮฟา’ กระจุย

(16 มิ.ย. 68) กองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน (IRGC) เปิดเผยว่าการโจมตีด้วยขีปนาวุธเมื่อช่วงก่อนรุ่งสางของวันที่ 16 มิถุนายน ซึ่งพุ่งเป้าใส่เมืองเทลอาวีฟและไฮฟา ใช้ “ยุทธวิธีใหม่” ที่ทำให้ระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอล เช่น Iron Dome และ David’s Sling ยิงเป้าหมายผิดพลาด โดยจรวดของอิสราเอลบางลูกกลับยิงใส่ระบบของตนเองหรือพลาดทิศทาง จนนำไปสู่ความเสียหายครั้งใหญ่ในเขตเมือง

กองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่านระบุว่าวิธีการใหม่นี้ทำให้สามารถทะลวงแนวป้องกันหลายชั้นของอิสราเอล และสร้างความเสียหายแก่เป้าหมายได้จริง โดยเฉพาะเขตที่พักอาศัยใกล้สถานทูตสหรัฐฯ ในเทลอาวีฟที่พังยับเยิน ขณะที่ในไฮฟาเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงไฟฟ้า และมีประชาชนบาดเจ็บกว่า 30 ราย

การโจมตีครั้งนี้ถือเป็นการตอบโต้ต่อการโจมตีเชิงป้องกันของอิสราเอลเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ซึ่งมุ่งเป้าไปยังโครงการนิวเคลียร์และฐานทัพของอิหร่าน ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตในอิหร่านเพิ่มขึ้นกว่า 224 ราย ส่วนในอิสราเอลมีผู้เสียชีวิตรวมอย่างน้อย 18 ราย และบาดเจ็บกว่า 100 คน

แม้อิสราเอลยังไม่แถลงตอบโต้เกี่ยวกับความล้มเหลวของระบบป้องกันภัยทางอากาศ แต่รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอลประกาศว่าจะทำให้อิหร่าน “ต้องชดใช้” อย่างสาสม ด้านผู้นำโลกที่ร่วมประชุม G7 แสดงความกังวลว่าวิกฤตนี้อาจลุกลามไปสู่ความขัดแย้งระดับภูมิภาค และต่างเรียกร้องให้เปิดทางเจรจาโดยเร็วที่สุด

ธงชาติกลางภาพพังพินาศ สะดุดตาเกินบังเอิญ ตั้งข้อสังเกต ‘อิสราเอล’ สร้างภาพเป็นฝ่ายถูกกระทำ

(16 มิ.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก Anucha Somnas ตั้งข้อสังเกตถึงภาพข่าวความเสียหายจากการโจมตีที่เกิดขึ้นในอิสราเอลว่า แทบทุกภาพล้วนมีธงชาติอิสราเอลหรือสัญลักษณ์ประจำชาติ ปรากฏอยู่ในเฟรมอย่างชัดเจน สร้างคำถามถึงความตั้งใจหรือเบื้องหลังของการเผยแพร่ภาพเหล่านี้ต่อสังคมโลก โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลเนทันยาฮูกำลังเผชิญแรงกดดันด้านสิทธิมนุษยชนจากกรณีถล่มฉนวนกาซา

ผู้โพสต์วิเคราะห์ว่า ความเสียหายที่เกิดจากจรวดซึ่งตกลงกลางเมือง อาจไม่ใช่ความบังเอิญ แต่คือการจัดฉากเพื่อสร้างภาพจำ สื่อสารกับนานาชาติว่าอิสราเอลเป็นฝ่ายถูกกระทำ พร้อมใช้ภาพเหล่านี้เป็น “แฟ้มสะสมผลงาน” หรือเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ เบี่ยงเบนประเด็นเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ ที่ยังดำเนินต่อไป

นอกจากนี้ยังชี้ว่า นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ยังคงยึดแนวทางเดิมในการใช้พลเรือนของตนเองเป็นเครื่องมือทางยุทธศาสตร์ ไม่ต่างจากกรณีตัวประกันชาวอิสราเอลในฉนวนกาซา ที่ไม่เคยได้รับความสำคัญเท่ากับเป้าหมายทางทหาร รัฐบาลเลือกเดินหน้าถล่มทุกพื้นที่ของกาซา โดยไม่สนใจว่าตัวประกันจะเสียชีวิตจากการโจมตีของตนเองหรือไม่

ข้อสังเกตเหล่านี้สะท้อนคำถามถึง เจตนาของรัฐบาลอิสราเอลในการจัดการสงคราม และความโปร่งใสของการสื่อสารข้อมูลกับสาธารณะ ทั้งยังสะท้อนว่าความสูญเสียอาจไม่ใช่เพียงผลข้างเคียงของสงคราม หากแต่เป็นกลไกที่รัฐเลือกใช้ เพื่อเป้าหมายทางการเมืองในระดับที่ลึกซึ้งกว่านั้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top