(19 ส.ค. 67) นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า อุตสาหกรรมแอนิเมชันของญี่ปุ่นกำลังเปิดรับศักยภาพของ Generative AI หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Gen AI เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ เพื่อหยุดยั้งปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก แม้จะมีข้อกังวลเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้สร้างสรรค์อยู่มากก็ตาม
โดยเมื่อปีที่ผ่านมา เคแอนด์เคดีไซน์ (K&K Design) เผยว่าใช้ Gen AI ในขั้นตอนการทำงานลงสีและวาดภาพพื้นหลัง ซึ่งสามารถลดเวลาวาดภาพพื้นหลังจากหนึ่งสัปดาห์ลงมาเหลือแค่ห้านาทีได้
ฮิโรชิ คาวาคามิ (Hiroshi Kawakami) ผู้อำนวยการบริษัทเคแอนด์เคดีไซน์ กล่าวว่า จำเป็นต้องทำงานโดยใช้ Gen AI เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมการทำงานขณะที่ต้องรักษาคุณภาพของการผลิตไว้ด้วย
การเติบโตของสตรีมมิ่งอนิเมะผ่านอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน ได้เรียกร้องให้การผลิตมีคุณภาพและความเร็วในมาตรฐานที่สูงมาก และการขาดแคลนแรงงานเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้ต้องใช้ Gen AI
ตามข้อมูลจากสมาคมแอนิเมชันญี่ปุ่น (Association of Japanese Animations - AJA) รายงานว่า อุตสาหกรรมอนิเมะญี่ปุ่น มีมูลค่าตลาดทั่วโลกอยู่ที่ 2.9 ล้านล้านเยนในปี 2022 (ราว 6.78 แสนล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อนหน้า
ถึงแม้อย่างนั้น การขยายตัวของตลาดถูกรั้งไว้ ส่วนหนึ่งเนื่องด้วยค่าจ้างที่ต่ำและชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน
ในแบบสำรวจแรงงานอุตสาหกรรมแอนิเมชันโดยสมาคมอนิเมะและภาพยนต์ญี่ปุ่น (Nippon Anime & Film Cultural Association) พบว่า 38% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีรายได้ต่อเดือนจากงานที่เกี่ยวกับอนิเมะต่ำกว่า 200,000 เยน (ราว 47,000 บาท) ชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 219 ชั่วโมง ซึ่งมากกว่าเวลาทำงานปกติถึง 1.3 เท่า
การมอบหมายงานบางส่วนให้กับ AI อาจช่วยให้มนุษย์สามารถจดจ่ออยู่กับการวางแผนและการออกแบบตัวละครได้ ซึ่งผลิตภาพที่สูงขึ้นอาจนำไปสู่การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น ขณะที่การเพิ่มความหลากหลายของงานอาจช่วยเสริมการส่งออกไปยังต่างประเทศ
ทั้งนี้ AI ยังช่วยในเรื่องการแปลภาษา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการทำการค้ากับต่างประเทศ ออเร้นจ์ (Orange) สตาร์ตอัป AI ได้พัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งช่วยเพิ่มความเร็วในการแปลมังงะมากถึง 10 เท่า และได้รับเงินร่วมลงทุนจากกองทุนซึ่งร่วมกับบรรษัทการลงทุนแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Investment Corporation)
ผู้บริหารกองทุนกล่าวเกี่ยวกับการลงทุนในออเร้นจ์ว่า เป็นโครงการที่จะเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น
คาดว่าในญี่ปุ่นมีงานมังงะประมาณ 700,000 ชิ้นงาน แต่กลับมีเพียง 14,000 ชิ้นงานเท่านั้นที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ ออเร้นจ์ยังพิจารณาถึงการขยายบริการไปยังประเทศที่พูดภาษาสเปนและอินเดีย ที่ซึ่งมีผู้อ่านจำนวนมาก
บริษัทผู้ผลิตเว็บตูนเอ็นดอลฟิน (En-dolphin) กำลังพัฒนา Gen AI ที่สามารถสร้างภาพประกอบโดยเรียนรู้จากผลงานของศิลปินมังงะในอดีต ด้วยการมอบสคริปต์หรือภาพร่างคร่าว ๆ ระบบสามารถสร้างผลงานที่มีรูปแบบและองค์ประกอบเหมือนกับผลงานของศิลปินต้นฉบับได้
รัฐบาลยังได้ส่งเสริมให้มีการใช้ AI ในอุตสาหกรรมคอนเทนต์อีกด้วย โดยในเดือนกรกฎาคม กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry) เผยแพร่แนวทางการปรับใช้ AI ให้กับบริษัทเกมและแอนิเมชัน
แนวทางดังกล่าวระบุว่า Gen AI สามารถส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตเนื้อหาได้หลายแง่มุม ซึ่งในอนาคต รัฐบาลจะพิจารณามอบเงินอุดหนุนและการช่วยเหลืออื่น ๆ แก่บริษัทที่ใช้ AI โดยหวังว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยแก้ปัญหาแรงงานในภาคอุตสาหกรรมได้
แต่การพัฒนา AI อย่างรวดเร็วก็มีความเสี่ยงเช่นกัน มีความกังวลว่าผลงานของญี่ปุ่นจะถูกนำไปรวมเข้ากับโมเดล AI ในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งอาจนำไปสู่การเลียนแบบ
อย่างไรก็ตาม ก็มีกลุ่มนักวาดภาพประกอบชาวญี่ปุ่นมากกว่า 10,000 รายชื่อ ได้ออกมาเรียกร้องให้มีข้อกฎหมายปกป้องผู้สร้างสรรค์ผลงานในปีที่ผ่านมา