(16 ส.ค.67) จากช่องยูทูบ ‘ดร.อธิป อัศวานันท์’ ผู้บริหารของบริษัท ทรูคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) รองประธานกิจการไอซีทีหอการค้าไทย นักเขียนชื่อดัง และอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้โพสต์คลิปวิดีโอเล่าเรื่องราวภายใต้หัวข้อ ‘มหาวิทยาลัยดังสหรัฐแพ้คดี : ต้องหยุดกีดกันเด็กเอเชีย ยกเลิกการใช้เชื้อชาติ ศาลสูงสุดตัดสิน ฮาร์วาร์ด’ ต่อกรณีมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ใช้นโยบายหนึ่งที่เรียกว่า ‘Affirmative Action’ แต่สุดท้ายชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียกลับต้องเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า ‘Reverse Affirmative Action’ ซึ่งการเลือกปฏิบัติเชิงลบ หรือมาตรการลดโอกาสต่อพวกเขา โดยมีเนื้อหาดังนี้...
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2023 ศาลฎีกาของสหรัฐฯ (Supreme Court of the United States : SCOTUS) ได้มีคําตัดสินที่สะเทือนวงการ ‘การศึกษา’ โดยระบุว่าการใช้เชื้อชาติในการรับสมัครนักศึกษา เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ โดยคําตัดสินนี้เป็นผลมาจากการต่อสู้ทางกฎหมายที่ยาวนานถึงเกือบ 10 ปี ซึ่งเริ่มต้นในปี 2013 เมื่อมีการฟ้องร้อง ‘ฮาร์วาร์ด’ มหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐฯ ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า มีการเลือกปฏิบัติต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย
ก่อนอื่นเราต้องทําความเข้าใจว่า เด็กเอเชียที่พูดถึงในกรณีนี้คือใคร ซึ่งพวกเขาไม่ใช่นักศึกษาต่างชาติจากเอเชีย แต่เป็น ‘ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย’
ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีกฎหมายที่แตกต่างจากประเทศอื่นตรงที่ใช้หลัก ‘สิทธิของดินแดน’ หรือมีหมายความว่า เด็กที่เกิดในดินแดนของสหรัฐฯ จะได้รับสัญชาติอเมริกันโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าพ่อหรือแม่จะมีสถานะทางกฎหมายอย่างไร ซึ่งนี่ถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดที่ว่า ‘Birthright Citizenship’ ที่ถูกระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ประเทศไทยใช้หลักสิทธิของ ‘สายเลือด’ ซึ่งหมายความว่าลูกของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยจะได้สัญชาติไทยต่อเมื่อพ่อหรือแม่เป็นคนไทยเท่านั้น
สหรัฐอเมริกาถือเป็น ‘ประเทศแห่งผู้อพยพ’ ซึ่งเป็นแนวสําคัญในการสร้างชาติของอเมริกา โดยแนวคิดนี้สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์การก่อตั้งประเทศที่เกิดขึ้นจากการอพยพของผู้คนจากทั่วโลก และยังคงเป็นส่วนสําคัญของอัตลักษณ์ของชาติอเมริกันจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ทําให้ชาวอเมริกันมีหลากหลายเชื้อชาติ โดยในวันนี้มีชาวผิวขาว 62%, ชาว Hispanic 19%, ชาวผิวดํา 12%, ชาวเอเชีย 6% และชาวอินเดียนแดง 3%
ดังนั้น หากยึดตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ แล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นเชื้อชาติอะไร แต่ตราบเท่าที่คุณเป็นสัญชาติอเมริกัน คุณจะต้องมีสิทธิที่เท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะเป็นคนต่างด้าวหรือผู้อพยพก็ตามเพราะต้องอย่าลืมว่าอเมริกาเป็นประเทศของผู้อพยพ เชื้อชาติอเมริกันที่แท้จริงก็คือชาวอินเดียนแดงที่มีอยู่เพียง 3% ของประชากร แต่ผู้ที่อพยพมาในภายหลังซึ่งรวมไปถึงชาวผิวขาว, ชาว Hispanic, ชาวผิวดํา และชาวเอเชีย มีอยู่ถึง 97% ของประชากร ซึ่งจะแตกต่างกับประเทศส่วนใหญ่ ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทยของเรา ที่คนเชื้อชาติไทยคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ
นั่นหมายความว่า ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียก็คือลูก หรือหลาน หรือเหลน ของผู้ที่อพยพมาจากเอเชีย แต่ก็นับเป็นชาวอเมริกันอย่างเต็มภาคภูมิตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ และก็ไม่สามารถถูกมองได้ว่าเป็นคนต่างด้าวอีกต่อไป
ดร.อธิป กล่าวต่ออีกว่า เช่นนั้นแล้ว ‘Affirmative Action’ ในการรับนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยคืออะไร? คําตอบก็คือนโยบายการเพิ่มโอกาสให้กับเชื้อชาติที่เสียเปรียบในการเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อที่จะช่วยให้ชาติเหล่านั้นสามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้ง่ายขึ้น
สำหรับ Affirmative Action เริ่มต้นในทศวรรษ 1960 ในช่วงของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดจากการเลือกปฏิบัติในอดีต ซึ่งนโยบายนี้ไม่ได้จํากัดอยู่แค่การศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจ้างงานและการทําสัญญากับภาครัฐอีกด้วย อีกทั้งในบริบทของการศึกษา Affirmative Action ยังมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความหลากหลายในมหาวิทยาลัย และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับกลุ่มที่เคยถูกกีดกันในอดีต และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ที่หลากหลายในชั้นเรียน
ทั้งนี้ เชื้อชาติที่เสียเปรียบเหล่านั้นก็คือชนกลุ่มน้อยทั้งหมด โดยยกเว้นคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ซึ่งได้แก่ชาว Hispanic, ชาวผิวดํา และชาวอินเดียนแดง เนื่องจากชนกลุ่มนี้มีความเสียเปรียบทั้งในเรื่องของผลการเรียนและฐานะของครอบครัวเมื่อเทียบกับชาวผิวขาว ซึ่ง Affirmative Action นี้ไม่ได้ช่วยชาวผิวขาว เพราะชาวผิวขาวถือเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่ทุกเผ่าพันธุ์จะถูกเปรียบเทียบด้วย แต่ในทางกลับกัน Affirmative Action กลับทําร้ายชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย เพราะทําให้เข้ามหาวิทยาลัยได้ยากขึ้น เพราะถือว่าเป็นชนกลุ่มที่ได้เปรียบทั้งในเรื่องของผลการเรียนและฐานะของครอบครัวเมื่อเทียบกับชาวผิวขาว
สรุปก็คือ Affirmative Action ทําให้ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียเข้ามหาวิทยาลัยได้ยากกว่าชาวผิวขาว แต่ก็ช่วยให้ชาว Hispanic, ชาวผิวดํา และชาวอินเดียนแดง เข้ามหาวิทยาลัยได้ง่ายกว่าชาวผิวขาว
ดร.อธิป เสริมอีกว่า ในทางปฏิบัติการใช้ Affirmative Action ในการรับนักศึกษา มักจะถูกทําในรูปแบบของการพิจารณาแบบองค์รวม ซึ่งพิจารณาปัจจัยหลากหลายนอกเหนือจากคะแนนและเกรดเฉลี่ย อย่างเช่นประสบการณ์ชีวิต ความสามารถพิเศษ และภูมิหลังทางวัฒนธรรม โดยเชื้อชาติอาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ถูกนํามาพิจารณา ซึ่งก็คือชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียจะต้องมีคะแนนสอบและประวัติที่สูงกว่าทุกเผ่าพันธุ์ ซึ่งรวมถึงชาวผิวขาวด้วย หากจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ในระดับเดียวกัน
หากอธิบายในอีกแง่มุมหนึ่งก็เปรียบได้ว่า แต่ละมหาวิทยาลัยมีโควตาสําหรับชาวอเมริกันในแต่ละเผ่าพันธุ์ ก็คือมีโควตาสําหรับชาวผิวขาว, ชาว Hispanic, ชาวผิวดํา, ชาวเอเชีย และชาวอินเดียแดง ซึ่งก็คือ ‘ชาวผิวขาว’ แข่งกับ ‘ชาวผิวขาว’ / ‘ชาว Hispanic’ แข่งกับ ‘ชาว Hispanic’ เป็นต้น ซึ่งมาตรฐานของแต่ละเผ่าพันธุ์ก็จะไม่เท่ากัน และชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียก็จะแข่งขันกันเองในลีกที่คะแนนสูงกว่าและยากกว่าทุกเผ่าพันธุ์
ดังนั้น Affirmative Action จึงเป็นนโยบายที่มีทั้งผู้ที่สนับสนุนและผู้ที่คัดค้าน โดยผู้ที่สนับสนุนต่างมองว่านโยบายนี้จะช่วยแก้ไขความไม่เท่าเทียมทางสังคมที่สะสมมานาน และก็เป็นการส่งเสริมความหลากหลายในมหาวิทยาลัย ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของทุกคน และยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนจากเผ่าพันธุ์ที่ขาดแคลนได้เข้าถึงการศึกษาระดับสูง แต่ผู้ที่คัดค้านก็ต่างมองว่า เป็นการเลือกปฏิบัติต่อบางกลุ่ม โดยเฉพาะชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย และก็ไม่ได้พิจารณาความสามารถของบุคคลอย่างแท้จริง และยังทําให้เกิดการตั้งคำถามต่อความสามารถของผู้ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้
อย่างไรก็ตาม ถึงจะมี Affirmative Action หรือนโยบายการเพิ่มโอกาสให้กับเชื้อชาติที่เสียเปรียบ ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียก็ยังจะมีจํานวนที่สูงมากในหลายมหาวิทยาลัยชั้นนํา ทั้ง ๆ ที่มีจํานวนอยู่เพียงแค่ 6% ของประชากรเท่านั้น
ทั้งนี้ ดร.อธิป ได้กลับมาพูดต่อถึงเคสที่ฟ้องร้องมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่สู้กันอยู่ 10 ปี จนกระทั่งศาลสูงสุดได้ตัดสินว่า การใช้เชื้อชาติในการรับนักศึกษาเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ โดยคดีนี้เริ่มต้นเมื่อองค์กร Students for Fair Admissions หรือ SFFA ได้ฟ้องฮาร์วาร์ดในปี 2014 โดยกล่าวหาว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อผู้สมัครชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย
โดย SFFA อ้างว่า ฮาร์วาร์ดใช้ระบบโควตาแอบแฝงที่จํากัดจํานวนนักศึกษาเชื้อสายเอเชีย ที่มีการนําเสนอหลักฐานที่สําคัญในคดี ซึ่งเป็นข้อมูลการรับสมัครตั้งแต่ปี 2014 - 2019 และข้อมูลรวมตั้งแต่ปี 2000 - 2019 ที่อ้างว่า ผู้สมัครเชื้อสายเอเชียได้คะแนนต่ำกว่ากลุ่มอื่น ๆ ในด้านคุณลักษณะส่วนบุคคลเชิงบวก และการวิเคราะห์ทางสถิติโดยนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยหนึ่งก็ได้พบว่า ผู้สมัครเชื้อสายเอเชียก็ได้รับการลงโทษทางสถิติในคะแนนส่วนบุคคลและคะแนนโดยรวม นอกจากนี้ ก็มีการอ้างถึงรายงานภายในของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ได้ค้นพบการลงโทษทางสถิติต่อผู้สมัครเชื้อสายเอเซียจากการตรวจสอบภายใน ในปี 2013
อย่างไรก็ตาม ฮาร์วาร์ดก็ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดและอ้างว่าการพิจารณาเชื้อชาติเป็นเพียง 1 ในหลายปัจจัยเพื่อสร้างความหลากหลาย และถึงแม้ว่าฮาร์วาร์ดจะชนะในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกากลับตัดสินในวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2023 ด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 2 ว่า การใช้เชื้อชาติในการรับนักศึกษาเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ
แน่นอนว่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนคําตัดสินของศาลสูงสุดและฝ่ายที่ไม่สนับสนุน โดยฝ่ายที่สนับสนุนมองว่าเป็นการยุติการเลือกปฏิบัติ และในขณะที่ฝ่ายคัดค้านกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อความหลากหลาย และโอกาสทางการศึกษาของกลุ่มที่เคยเสียเปรียบในอดีต
สุดท้าย ดร.อธิป ได้เน้นย้ำเพิ่มเติมว่า “Affirmative Action มีผลโดยตรงกับชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย และยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ชาวเอเชียที่มาจากเอเชียอย่างพวกเราจะได้รับผลกระทบโดยตรงจาก Affirmative Action ในรูปแบบที่เหมือนหรือแตกต่างอย่างไร และผลของการตัดสินนี้จะเกิดเป็นผลบวกหรือลบอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ มหาวิทยาลัยทั้งสหรัฐฯ จะต้องทบทวนและปรับเปลี่ยนนโยบายการรับนักศึกษาทั้งหมด ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสัดส่วนของการรับนักศึกษา ต่างชาติด้วย ซึ่งเรื่องนี้นักศึกษาต่างชาติก็ควรติดตามการเปลี่ยนแปลงและนโยบายของแต่ละมหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิด”
“ยิ่งไปกว่านั้น อรื่องนี้เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เพราะฉะนั้นพวกเราจึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในปีต่อ ๆ ไป และท้ายที่สุดการยกเลิกกับ Affirmative Action อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกา ที่เราก็คงจะต้องติดตามดูว่าสหรัฐอเมริกาจะสามารถรักษาสมดุลระหว่าง ‘ความเป็นธรรม’ และ ‘ความหลากหลาย’ ในระบบการศึกษาได้อย่างไรในอนาคต”