คนตกงานในสิงคโปร์เตรียมเฮ เมื่อ 'ลอเรนซ์ หว่อง' นายกรัฐมนตรีประกาศอัดฉีดงบประมาณก้อนใหม่ ลงในโครงการ SkillsFuture Jobseeker Support เตรียมแจกเงินช่วยเหลือแรงงานที่ว่างงานในประเทศ หลังจากที่เคยคัดค้านว่าเป็นนโยบายประชานิยมที่ส่งเสริมให้คนหวังพึ่งแต่สวัสดิการรัฐจนขาดแรงจูงใจในการหางานทำ
SkillsFuture Jobseeker เป็นโครงการภาครัฐที่สนับสนุนผู้หางาน ด้วยการจัดฝึกอบรม เพิ่มทักษะแรงงาน พร้อมบริการให้คำปรึกษาด้านอาชีพ และจัดหางานให้ ซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือ ช่วยให้แรงงานยกระดับทักษะด้านอาชีพของตัวเอง เพื่อหางานให้ได้เร็วที่สุด
แต่เมื่อวันอาทิตย์ (18 ส.ค.67) ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ลอเรนซ์ หว่อง ได้ประกาศระหว่างการปราศรัยเนื่องในวันชาติ รัฐบาลสิงคโปร์จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งสำคัญในการช่วยเหลือผู้ที่กำลังว่างงานในสิงคโปร์ด้วย
โดยโครงการ SkillsFuture ใหม่นี้ รัฐจะให้เงินช่วยเหลือแก่คนงานรายได้น้อย - ปานกลาง ที่ตกงานเป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในค่าครองชีพ ซึ่งเป็นเงินสูงถึง 6,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 1.57 แสนบาท) เป็นระยะเวลาสูงสุดที่ 6 เดือน
ตัวเลขเงินจำนวนนี้ นักเศรษฐศาสตร์และนักสังคมวิทยามองว่า 'เหมาะสม' สำหรับแรงงานที่มีเหตุต้องว่างงานโดยไม่สมัครใจ และไม่เกินพอดี จนอาจเกิดปัญหาการหวังพึ่งพาสวัสดิการรัฐในระยะยาว หากอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม
ส่วนเงื่อนไข ก็คือ ผู้ว่างงานต้องลงทะเบียนเข้าโครงการพัฒนาแรงงาน SkillsFuture Jobseeker ตามมาตรฐานของกรมส่งเสริมแรงงานของสิงคโปร์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ย้ำว่า การเข้าฝึกอบรมในโครงการนี้ถือเป็นการลงทุนที่จำเป็นสำหรับแรงงาน เพื่อโอกาสในการได้งานที่ดีกว่าในอนาคต ซึ่งบุคคลที่ผ่านเกณฑ์ประเมินรายเดือน จึงจะมีสิทธิ์รับเงินชดเชยรายได้ 6,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ในระยะเวลา 6 เดือน
สำหรับการรับเงินช่วยเหลือของแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งต้องปฏิบัติตามขั้นตอนภายใต้เงื่อนไขที่รัดกุมนั้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านแรงงานครั้งสำคัญของประเทศสิงคโปร์ ที่ไม่เคยมีสวัสดิการสำหรับคนว่างงานมาก่อน เพราะเห็นว่าโครงการดังกล่าวจะส่งเสริมให้ประชาชนขาดความกระตือรือร้น แล้วเลือกที่จะรับสวัสดิการมากกว่าการทำงาน
ทั้งนี้การปฏิเสธแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการสำหรับแรงงาน มีมาตั้งแต่สมัยที่สิงคโปร์แยกตัวจากมาเลเซียในปี 1965 และจัดตั้งรัฐบาลปกครองตนเองภายใต้การนำของ ลี กวนยู ซึ่งประกาศอย่างชัดเจนว่า เขาละทิ้งแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ เพราะรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายตามแนวคิดดังกล่าวจะบั่นทอนความสามารถในการพึ่งพาตัวเองของประชาชน และความมุ่งมั่นในการสร้างตัวเพื่อความสำเร็จในชีวิต
ดังนั้น ผู้นำที่สืบทอดตำแหน่งต่อจากนายลี กวนยู ตั้งแต่ โก๊ะ จ๊กตง และ ลี เซียนลุง ก็ไม่เคยผลักดันนโยบายด้านสวัสดิการช่วยเหลือผู้ว่างงานเช่นกัน
ทว่า ลอเรนซ์ หว่อง กลับมีความเห็นว่า อาจถึงเวลาแล้วที่สิงคโปร์ต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อช่วยเหลือแรงงาน ในยุคสมัยที่มีความท้าทายทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงยืนยันว่า การรับสวัสดิการรัฐอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ส่งผลดีเชิงบวกต่อแรงจูงใจในการแสวงหางานของแรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์ระวังมาโดยตลอด
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ จึงมองหาทางเลือกอื่น โดยใช้แบบแผน 'Workfare' แทนที่จะใช้คำว่า 'Welfare' ซึ่งหมายถึงสวัสดิการที่รัฐต้องเป็นผู้รับประกันการว่างงาน ที่นำไปสู่ความคาดหวังในการพึ่งพาแต่สวัสดิการรัฐ ซึ่งหมายถึงการใช้ภาษีจากการทำงานของประชาชนคนอื่น
Workfare เป็นแนวทางที่รัฐบาลสิงคโปร์นำมาใช้เป็นครั้งแรกในปี 2005 โดยแรกเริ่มเดิมที เป็นโครงการที่สนับสนุนกองทุนแก่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรัฐจะเติมเงินให้กับกองทุนบำเหน็จบำนาญ แต่มีเงื่อนไขว่าผู้มีรายได้น้อยจะต้องมีงานทำ
แต่สำหรับโครงการล่าสุดนี้ รัฐบาลสิงคโปร์จะพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ว่างงาน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ว่างงานต้องเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรมพัฒนาอาชีพ ต้องผ่านคะแนนประเมิน และ ต้องเข้าโปรแกรมจัดหางาน เพื่อกลับสู่ตลาดแรงงานต่อไป
ลอเรนซ์ หว่อง กล่าวว่า โครงการนี้มีไว้เพื่อสนับสนุนแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพที่จำเป็นระหว่างเข้าโครงการ แต่คนงานก็ต้องมีส่วนร่วม ด้วยการแสดงรับผิดชอบต่ออนาคตของตนเอง และพยายามดึงตัวเองขึ้นมาให้ได้
ก็ถือเป็นโครงการแจกเงินอย่างมีวิสัยทัศน์ ตามสไตล์สิงคโปร์จริง ๆ ที่ยึดว่า 'เกิดเป็นคน ต้องทำงาน' และสวัสดิการรัฐมีไว้สำหรับผู้ที่เสียภาษีเท่านั้น
เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์