Sunday, 27 April 2025
WORLD

BYD เตรียมส่งรถไฟฟ้ารุ่นใหม่สู้ศึกรถยนต์ขนาดเล็กในญี่ปุ่น ตั้งเป้าเปิดตัวภายในปี 2026 ราคาเริ่มต้น 2.5 ล้านเยน

(22 เม.ย. 68) BYD ยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์ไฟฟ้าของจีน เตรียมเดินหน้ารุกตลาดรถยนต์ขนาดเล็กในญี่ปุ่นภายในปี 2026 ด้วยรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะสำหรับตลาดท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัทจีนในการแข่งขันในตลาดที่มีข้อกำหนดเฉพาะทางสูง และถูกครอบครองโดยผู้ผลิตญี่ปุ่นมายาวนาน

รถยนต์ขนาดเล็กที่เรียกว่า 'เคคาร์' (Kei Car) หรือในภาษาญี่ปุ่นว่า 'Kei-jidosha' เป็นยานยนต์ประเภทที่เล็กที่สุดตามกฎหมายของญี่ปุ่น โดยมีข้อจำกัดด้านขนาด เช่น ความยาวไม่เกิน 3.4 เมตร และความกว้างไม่เกิน 1.48 เมตร 

ทั้งยังต้องเสียภาษีและค่าธรรมเนียมที่ต่ำ โดยรถกลุ่มนี้ครองส่วนแบ่งตลาดราว 40% ของอุตสาหกรรมรถยนต์ในญี่ปุ่น จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของผู้ผลิตที่ต้องการเจาะเข้าสู่ตลาดแดนอาทิตย์อุทัย

แหล่งข่าวระบุว่า BYD ได้ออกแบบรถยนต์ Kei Car ไฟฟ้ารุ่นใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว และมีแผนเปิดตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2026 โดยตั้งราคาขายไว้ราว 2.5 ล้านเยน (ราว 560,000 บาท) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มราคาต่ำของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในญี่ปุ่น

นี่จะเป็นครั้งแรกที่ BYD พัฒนารถยนต์สำหรับตลาดประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ ต่างจากก่อนหน้านี้ที่บริษัทเลือกนำรุ่นรถจากตลาดจีนมาจำหน่ายในต่างประเทศโดยตรง ความเคลื่อนไหวครั้งนี้จึงสะท้อนถึงความตั้งใจในการเจาะตลาดญี่ปุ่นอย่างจริงจัง

ปัจจุบัน BYD เข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2023 และมียอดขายสะสมเพียง 4,530 คัน (ณ เดือนมีนาคม 2025) จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างการยอมรับในตลาดที่มีการแข่งขันสูง และมีความต้องการเฉพาะทางอย่างมาก

ในตลาด Kei Car ไฟฟ้าของญี่ปุ่นปัจจุบัน มีคู่แข่งสำคัญอย่าง Nissan Sakura และ Mitsubishi ek X EV ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ได้รับความนิยมจากชาวญี่ปุ่นด้วยความคุ้นเคยกับแบรนด์และระบบบริการหลังการขายในประเทศ

ทั้งนี้ การเปิดตัวรถรุ่นใหม่โดย BYD จึงอาจเป็นบททดสอบสำคัญของบริษัทจีนในสนามที่เต็มไปด้วยอุปสรรค ทั้งด้านมาตรฐานรถยนต์ที่เข้มงวดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ภักดีต่อแบรนด์ท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวนี้ยังแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายระยะยาวของ BYD ในการขยายฐานการผลิตและยอดขายอย่างต่อเนื่องในระดับโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

โจมตีจีนคือธุรกิจ แต่ใส่ของจีน!! ชาวเน็ตเหน็บแรงโฆษกสหรัฐฯ ใส่เดรสราคาแพง 'Made in China'

(22 เม.ย. 68) ชาวเน็ตจีนบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่าง Sina Weibo และ Xiaohongshu ได้วิพากษ์วิจารณ์หลังมีการเปิดเผยภาพของโฆษกทำเนียบขาว แคโรไลน์ ลีวิตต์ (Karoline Leavitt) ขณะกำลังแถลงข่าวโดยเธอสวมชุดเดรสสีแดงขอบลูกไม้สีดำ ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า “ผลิตในประเทศจีน?”

ประเด็นนี้เริ่มเป็นที่สนใจเมื่อจาง จื้อเซิง กงสุลใหญ่ของจีนประจำเมืองเดนปาซาร์ ประเทศอินโดนีเซีย ทวีตข้อความตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับชุดดังกล่าว โดยระบุว่า “แม้จะกล่าวหาจีนว่าไม่ยุติธรรมด้านการค้า แต่คนในรัฐบาลกลับยังสวมใส่ผลิตภัณฑ์จากจีนเอง” ซึ่งข้อความนี้จุดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรวดเร็วบนโลกออนไลน์จีน

ขณะที่ ผู้ใช้โซเชียลจำนวนมากแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยชี้ว่า “เป็นเรื่องตลกร้าย” และสะท้อนถึง “ความหน้าไหว้หลังหลอก” ของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีนมาโดยตลอดในประเด็นสงครามการค้า

ทั้งนี้ ชุดดังกล่าวจะมาจากแบรนด์ Self-Portrait ของอังกฤษ แต่ก็มีรายงานว่าผู้ออกแบบคือ ฮั่น จง (Han Chong) ดีไซเนอร์เชื้อสายจีนจากมาเลเซีย และที่สำคัญคือมีการผลิตในจีน ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ชาวเน็ตจีนมองว่าเป็น “ความย้อนแย้ง” ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มักวิจารณ์จีนเรื่องการค้า ขณะเดียวกันก็ยังใช้สินค้าจากจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยานอวกาศรัสเซีย ‘ซายุซ MS-26’ ลงจอดในคาซัคสถาน นำลูกเรือกลับสู่โลกตามกำหนด หลังทำภารกิจบน ISS กว่า 7 เดือน

(21 เม.ย. 68) ยานอวกาศ ซายุซ MS-26 ของรัสเซียประสบความสำเร็จในการพานักบินอวกาศ 3 นายเดินทางกลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย หลังจากปฏิบัติภารกิจในวงโคจรนอกโลกนานกว่า 7 เดือน บนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS)

ลูกเรือประกอบด้วยนักบินอวกาศชาวรัสเซีย อเล็กซีย์ ออฟชินิน และ อีวาน วากเนอร์ รวมถึงนักบินอวกาศชาวอเมริกันจากนาซา โดนัลด์ เพ็ตติต ซึ่งการเดินทางกลับของเขาในครั้งนี้ตรงกับวันคล้ายวันเกิดปีที่ 70 ของเจ้าตัวอีกด้วย

องค์การนาซาระบุผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย X (อดีต Twitter) ว่า “นักบินอวกาศโดนัลด์ เพ็ตติต กลับสู่โลกในวันเกิดของเขาเอง อายุครบ 70 ปี ในวันเดียวกับที่เขาใช้ร่มชูชีพเหินฟ้ากลับบ้าน”

สำหรับภารกิจครั้งนี้เน้นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในสภาวะไร้น้ำหนักและเทคโนโลยีสำหรับการอยู่อาศัยระยะยาวนอกโลก โดยทั้งสามคนได้รับการตรวจสุขภาพเบื้องต้นทันทีที่ลงจอด และอยู่ในสภาพร่างกายแข็งแรงดี

ด้านองค์การอวกาศรัสเซีย (Roscosmos) รายงานว่า ยานซายุซ MS-26 ได้แยกตัวออกจากสถานีอวกาศในช่วงเช้าของวันที่ 19 เมษายน 2568 ก่อนที่จะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก และลงจอดอย่างปลอดภัยในเขตคาซัคสถานตามกำหนดการในวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา พร้อมเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินที่เข้าดำเนินการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ

การเดินทางกลับสู่โลกในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการปิดฉากภารกิจสำคัญบนอวกาศ แต่ยังเป็นการตอกย้ำถึงความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แม้ในยามที่โลกเผชิญความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

ทั้งนี้ ภารกิจของ ซายุซ MS-26 เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของความสามารถทางด้านเทคโนโลยีอวกาศของรัสเซีย ซึ่งยังคงมีบทบาทสำคัญในโครงการสำรวจอวกาศระดับนานาชาติ

‘โป๊ปฟรานซิส’ ผู้นำแห่งศรัทธา สิ้นพระชนม์อย่างสงบ ขณะมีพระชนมายุ 88 พรรษา ท่ามกลางความโศกเศร้าของคริสตชน

(21 เม.ย. 68) สำนักวาติกันออกแถลงการณ์ในช่วงค่ำของวันจันทร์ (21 เม.ย.) ตามเวลาท้องถิ่นว่า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส หรือ โป๊ปฟรานซิส ประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิก ได้สิ้นพระชนม์ลงอย่างสงบ ขณะมีพระชนมายุ 88 พรรษา ท่ามกลางความโศกเศร้าของคริสตชนทั่วโลก

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ซึ่งมีพระนามเดิมว่า ฮอร์เก มาริโอ แบร์โกกลิโอ ประสูติเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2479 (ค.ศ. 1936) ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระสันตะปาปาลำดับที่ 266 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2556 (ค.ศ. 2013) ต่อจากสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ที่ทรงสละตำแหน่ง ทรงเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกจากทวีปอเมริกาใต้ และองค์แรกจากภายนอกยุโรปในรอบกว่า 1,200 ปี

ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีแห่งการทรงงาน โป๊ปฟรานซิสเป็นที่จดจำในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณที่เรียบง่าย อ่อนน้อม และมุ่งมั่นในการปฏิรูปคริสตจักร ทรงยึดหลักแห่งความเมตตา การให้อภัย และความเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของมนุษย์ทุกศาสนา

หนึ่งในสาส์นที่ทรงเน้นย้ำเสมอ คือ ความห่วงใยต่อคนยากไร้และผู้ถูกกดขี่ในสังคม พระองค์ทรงเดินทางเยือนประเทศต่างๆ กว่า 50 ประเทศ รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชีย เพื่อสร้างสะพานแห่งสันติภาพและความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม

ทางสำนักวาติกันจะมีการประกาศกำหนดการพระราชพิธีฝังพระศพอย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้ โดยมีผู้นำระดับโลกและผู้นับถือศาสนาคริสต์คาทอลิกทั่วโลกร่วมไว้อาลัย

“เราจำพระองค์ได้ในฐานะศิษยาภิบาลแห่งประชากรของพระเจ้า ผู้ทรงรักและฟังเสียงของผู้อ่อนแอที่สุดในหมู่เรา” คำแถลงจากวาติกันระบุ

ปักกิ่งลั่น…ขอไม่ทนกับการกลั่นแกล้งจากสหรัฐฯ ที่ใช้นโยบายเลือกข้างเป็นอาวุธ หวังตัดจีนพ้นเวทีเศรษฐกิจ

(21 เม.ย. 68) กระทรวงพาณิชย์ของจีนออกแถลงการณ์เตือนประเทศคู่ค้าไม่ให้ยอมรับแรงกดดันจากสหรัฐฯ ในการจำกัดความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน เพื่อแลกกับการยกเว้นภาษีศุลกากร โดยระบุว่าจีนจะดำเนินมาตรการตอบโต้หากผลประโยชน์ของตนถูกละเมิด 

โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีนกล่าวว่า จีน “คัดค้านอย่างหนักแน่น” ต่อแนวทางดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการบิดเบือนกลไกการค้าสากลและทำลายหลักการของการค้าเสรีอย่างร้ายแรง 

“การประนีประนอมไม่ได้นำมาซึ่งสันติภาพ และการประนีประนอมไม่ได้สร้างความเคารพ” โฆษกกล่าว พร้อมย้ำว่า “การแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวชั่วคราวโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น เพื่อแลกกับสิ่งที่เรียกว่าข้อยกเว้น เปรียบเสมือนการขอหนังเสือ สุดท้ายแล้วเสือจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ และจะส่งผลเสียต่อทั้งผู้อื่นและตัวเราเอง”

“จีนจะไม่ยอมรับข้อตกลงใดๆ ที่ไม่เคารพต่อผลประโยชน์ของจีน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเดินหน้าตามแนวทางนี้ จีนพร้อมจะใช้มาตรการตอบโต้อย่างเด็ดขาด”

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว Bloomberg และ Financial Times รายงานตรงกันว่า สหรัฐฯ กำลังพิจารณาใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเครื่องต่อรอง เพื่อชักจูงประเทศคู่ค้า เช่น เม็กซิโก เวียดนาม หรือชาติอาเซียน ให้ลดการนำเข้าเทคโนโลยีหรือสินค้าจากจีน รวมถึงจำกัดการลงทุนของบริษัทจีนในภาคส่วนยุทธศาสตร์

ท่าทีดังกล่าวของสหรัฐฯ ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจผ่านวิธีการ “แยกเศรษฐกิจ” (Decoupling) ซึ่งทำลายหลักความเป็นธรรมในการค้าระหว่างประเทศ และสร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลกในภาพรวม

สถานการณ์นี้ส่งผลให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากทั้งสองฝ่าย โดยจีนพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับภูมิภาคนี้ ขณะที่สหรัฐฯ พยายามจำกัดอิทธิพลของจีนในภูมิภาค 

ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยนักวิเคราะห์เตือนว่าความขัดแย้งที่ยืดเยื้ออาจชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก

สำหรับประเทศไทยและประเทศในอาเซียน การรักษาสมดุลระหว่างสองมหาอำนาจนี้เป็นสิ่งที่ท้าทาย โดยต้องพิจารณาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในระยะยาว

จีนยกเลิกดีล ‘โบอิ้ง’ 179 ลำ มูลค่า 6.5 แสนล้านดอลลาร์ พร้อมส่งคืนรัวๆ ยักษ์บินอเมริกันเครื่อง ‘737 MAX’

(21 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ออกคำสั่ง “ล้มโต๊ะ” ข้อตกลงซื้อเครื่องบินจากบริษัทโบอิ้ง (Boeing) ของสหรัฐฯ ที่มูลค่าพุ่งสูงถึง 6.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 24 ล้านล้านบาทไทย) โดยในวันนี้ มีรายงานว่า เครื่องบิน ‘โบอิ้ง 737 MAX’ อย่างน้อย 2 ลำ ได้ถูกส่งคืนให้แก่โบอิ้งอย่างเป็นทางการแล้ว

ดีลนี้ถือเป็นหนึ่งในคำสั่งซื้อขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การบินพาณิชย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือเชิงเศรษฐกิจระหว่างสองชาติมหาอำนาจ ทว่าการยกเลิกในครั้งนี้กำลังส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งอุตสาหกรรมการบินโลก

แหล่งข่าวจากรัฐบาลจีนระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 145% ส่งผลให้จีนตอบโต้ด้วยการเพิ่มภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ เป็น 125% ซึ่งรวมถึงเครื่องบินโบอิ้งด้วย

ล่าสุด แรงสะเทือนจากสถานการณ์ดังกล่าวยังลุกลามไปยังสายการบินอื่นๆ นอกเหนือจากจีน โดย ไมเคิล โอเลียรี (Michael O'Leary) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มของสายการบินต้นทุนต่ำชื่อดัง Ryanair กล่าวกับ Financial Times ว่า บริษัทของเขาอาจ เลื่อนการรับมอบเครื่องบินจาก Boeing หากราคายังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“เราอาจจะเลื่อนการรับมอบออกไป และหวังว่าสามัญสำนึกจะเข้ามาแทนที่” O'Leary ระบุ พร้อมชี้ว่า Ryanair มีกำหนดรับเครื่องบินอีก 25 ลำตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ แต่ยังไม่จำเป็นต้องใช้งานจนกว่าจะถึงเดือนมีนาคมหรือเมษายน 2026

การระงับการรับมอบเครื่องบินและการส่งคืนเครื่องบินที่ผลิตเสร็จแล้วกลับสู่สหรัฐฯ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อโบอิ้ง ซึ่งกำลังเผชิญกับความท้าทายทางการเงินและการแข่งขันจากผู้ผลิตเครื่องบินรายอื่น เช่น แอร์บัส (Airbus) และ โคแม็ค (COMAC) ของจีน

ขณะเดียวกัน จีนมีแนวโน้มจะหันไปหนุน COMAC (ผู้ผลิตเครื่องบินสัญชาติจีน) อย่างเต็มตัว โดยมีการคาดการณ์ว่า เครื่องบินรุ่น C919 จะเข้ามาทดแทนการนำเข้าเครื่องจากตะวันตกในอนาคตอันใกล้ 787
.
ด้าน Airbus คู่แข่งจากฝั่งยุโรปก็ไม่ได้รอดพ้นจากแรงกระแทกของห่วงโซ่อุปทานที่สั่นคลอน โดย กิลเลียม โฟรี (Guillaume Faury) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Airbus กล่าวกับผู้ถือหุ้นเมื่อวันอังคารว่า บริษัทกำลังเผชิญปัญหาในการรับชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์สัญชาติอเมริกันอย่าง Spirit AeroSystems ซึ่งกระทบโดยตรงต่อการผลิตเครื่องบินรุ่น A350 และ A220

“เรากำลังจับตาดูสถานการณ์ภาษีและความผันผวนทางการค้าอย่างใกล้ชิด” โฟรีระบุ

ทั้งนี้นักวิเคราะห์มองว่า การยกเลิกคำสั่งซื้อครั้งนี้ไม่เพียงส่งผลต่อยอดขายของโบอิ้ง แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงแรงกระเพื่อมในความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่นับวันยิ่งห่างไกลจากคำว่า “พันธมิตร” มากขึ้นทุกที

ยูเครนรับร่างทหารกลับคืน 909 ราย ต่อเดือน พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มสงครามรัสเซีย

(21 เม.ย. 68) ​ตามรายงานจากสื่อต่างประเทศหลายแห่ง ระบุว่าในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน 2568 ยูเครนได้รับร่างทหารของตนกลับคืนจากรัสเซียจำนวน 909 ร่างในแต่ละเดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการณ์

ขณะเดียวกัน จำนวนทหารรัสเซียที่เสียชีวิตที่ถูกส่งตัวไปยังสหพันธรัฐรัสเซียก็ลดลงด้วย จาก 49 นายในเดือนมกราคมเป็น 41 นาย ในเดือนเมษายน 

การแลกเปลี่ยนร่างทหารที่เสียชีวิตระหว่างสองประเทศนี้สะท้อนถึงสถานการณ์ในสนามรบที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในภูมิภาคคูร์สก์ ซึ่งกองทัพรัสเซียได้เริ่มปฏิบัติการเชิงรุกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568 

โดยสามารถตัดเส้นทางลำเลียงของยูเครนในเขตซูจานได้ และในวันที่ 8 มีนาคม ได้ใช้ยุทธวิธีเคลื่อนกำลังไปตามท่อส่งก๊าซ บุกเข้าตีแนวรับของยูเครนบางส่วนในรูปแบบกึ่งวงล้อม ทำให้ยูเครนต้องถอนกำลังออกจากฐานที่มั่นขนาดใหญ่หลายแห่งอย่างฉุกละหุก

คำให้การของทหารยูเครนที่ถูกจับเป็นเชลยระบุว่า การถอนกำลังเกิดขึ้นโดยไม่มีการวางแผนใดๆ ทหารหลายคนต้องทิ้งร่างเพื่อนร่วมรบเพื่อหนีเอาตัวรอด บางส่วนติดอยู่ในพื้นที่และถูกยิงเสียชีวิตหลังจากนั้น ในขณะที่โชคดีหน่อยก็ถูกจับเป็นเชลย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมยูเครนจึงได้รับร่างทหารกลับคืนเป็นจำนวนมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าการแลกเปลี่ยนร่างทหารที่เสียชีวิตนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ

สถิติเหล่านี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงจำนวนผู้เสียชีวิตในสงครามเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโมเมนตัมในสนามรบ ซึ่งฝ่ายที่รุกคืบหน้าจะมีโอกาสเก็บกู้ร่างทหารของฝ่ายตรงข้ามได้มากกว่า ในขณะที่ฝ่ายที่ล่าถอยอาจต้องทิ้งร่างทหารของตนไว้ในพื้นที่ที่ถูกยึดครอง

สถานการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงและความสูญเสียที่ยังคงดำเนินต่อไปในสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย แม้จะมีความพยายามในการเจรจาและหยุดยิงในบางช่วงเวลา แต่ความขัดแย้งยังคงยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนทั้งสองฝ่าย

‘ผบ.กองทัพรัสเซีย’ รายงาน!! ถึงความคืบหน้าการยึดคืน ‘แคว้นคุสค์’ จากยูเครน ‘ปูติน’ ประกาศ!! 19 – 21 เม.ย. เป็นช่วงพักรบ ไม่มีการเข้าโจมตี และอาจมีขยายเวลา

(20 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Ethan Hunts’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

พล.อ เกราซิมอฟ ผบ.กองทัพรัสเซีย รายงานความคืบหน้าการยึดคืนแคว้นคุสค์ จากยูเครน มีความคืบหน้า 99.5% ปธน.ปูตินแสดงความยินดีต่อความสำเร็จของกองทัพ และอวยพรกองทัพเนื่องในโอกาสเทศกาลอิสเตอร์

ปธน.ปูติน ประกาศให้ตั้งแต่ 18:00 เวลามอสโคว์ของวันที่ 19 เมษายน จนถึงเที่ยงคืนของวันที่ 21 เมษายน เป็นช่วงเวลาพักรบ รัสเซียจะไม่โจมตีเข้าไปในยูเครน และจะดูพฤติกรรมของยูเครนเพื่อพิจารณาขยายเวลาพักรบ

เยือน!! ดินแดนอารยธรรม ‘ลุ่มน้ำสินธุ’ ที่มีประชากร 250 ล้านคน สนทนา!! กับ ‘ประธานาธิบดี’ พร้อมอาหารมื้อค่ำ เรื่องการพาณิชย์

(19 เม.ย. 68) นายจิรวัฒน์ เดชาเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านการขาย การตลาดและการจัดการค้าปลีกค้าส่งในภูมิภาคอาเซียน โพสต์เฟซบุ๊ก โดยมีใจความว่า …

อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุที่ปากีสถาน

ปากี ...ไม่มีอะไรครับ เพียงแต่ …

มีคน 250 ล้าน  เบอร์ 6 ของโลก 

No 4  เรื่องการปลูกมะม่วง อ้อย และฝรั่ง  ผลไม้ที่นี่จึงส่งออกไปหลายประเทศ  ชอบใจอ้อยควั่น  บรรจุขายในกล่องกระดาษ  บ้านเราไม่มีตัวนี้

No 5 การทำcotton หรือฝ้าย งานผ้าจึงดีมาก textileเช่นผ้าปูเตียงดีมาก ขึ้นชื่อระดับโลก  นอนแล้วเด้งดึ๋ง

No 6 ในการผลิตหอม ใบยาสูบ เรื่องหอมนี่ชอบมากเป็นพิเศษ มาคุยกันได้ 

No7 ในเรื่องถั่วลูกไก่ chickpea คนไทยไม่ค่อยคุ้นเคย แต่ระดับโลก  ทานกันมาก ที่พม่ายังมีทำบรรจุกระป๋องขายเลย

No 8 ข้าวสาลี ออกนอกเมือง ปลูกกันเป็นทุ่งกว้าง

No 9 ในการปลูกข้าว ข้าวที่นี่มีเม็ดยาว ข้าวเราเม็ดสั้น ของเขาเป็นข้าวที่ไม่มียาง หุงแล้วเมล็ดข้าวไม่ติดกัน

No 13 เรื่องการปลูกมันฝรั่ง...ที่นี่ Pepsi ขายดี Lays ก็ขายดีไปด้วย  ระลึกความหลังกันหน่อย

มาเที่ยวนี้มีโอกาสพบ ฯพณฯ หลายท่าน และเมื่อวาน ทางรัฐบาลก็ทำการจัดเลี้ยงอาหารเย็น ก่อนงานพิธีก็จะมีการสวดให้พรตามวิถีมุสลิมก่อน  ถ่ายภาพมาไม่ได้เพราะเขาเข้มงวดเรื่องโทรศัพท์ เนื่องจากท่านประธานาธิบดีมาร่วมในงานนี้ด้วยตนเอง

ไปรอบนี้โชคดี มีคุณFaisal ตัวแทนการค้าการพาณิชย์ของกระทรวงพาณิชย์ไทยเราคอยดูแล  ไทยเราโชคดีที่ค้นพบคุณFaisal อดีตวิศวกรที่จบจาก MIT  มาช่วยก่อนVietnam เชิญไป

ผมยังได้พบ Dr.Suraimi จากสิงคโปร์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากสิงคโปร์  เราได้นัดหมายกันต่อในกรุงเทพ เพื่อเตรียมงานร่วมกันต่อในการนำสินค้าไทยไปเปิดตลาดเอเชียกลาง และ ตะวันออกกลางด้วยกัน

เมื่อวานไปเยือน Carrefour นึกถึงเมื่อครั้งมี Carrefourในไทย  เสียดาย!! ไม่เจอสินค้าไทยเลยทั้งที่โอกาสมากโข

รอห้างไทยสีเขียวมาเปิดอยู่นะครับ 

วันนี้จะลงใต้ไปที่การาจี เมืองเศรษฐกิจ ติดทะเล กันต่อไป …

‘อันวาร์’ โพสต์ภาพคุย ‘ทักษิณ’ ที่กรุงเทพฯ ถกแนวทางสร้างสันติภาพเมียนมา ย้ำอาเซียนต้องเดินหน้าต่อ

ดาโต๊ะ เสรี อันวาร์ อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานหมุนเวียนของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เผยผ่านเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา เขาได้เดินทางมายังกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เพื่อหารืออย่างไม่เป็นทางการกับกลุ่มที่ปรึกษาของประธานอาเซียน ซึ่งรวมถึงการพบปะกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย

ในโพสต์ดังกล่าว อันวาร์ได้เผยแพร่ภาพขณะหารือกับ ดร.ทักษิณ พร้อมระบุว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค โดยเฉพาะวิกฤตในประเทศเมียนมา ซึ่งยังคงเป็นประเด็นเร่งด่วนด้านมนุษยธรรมและสันติภาพ

“การอภิปรายเหล่านี้เปิดโอกาสให้เราหารือถึงหนทางสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในเมียนมา รวมถึงการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างมีประสิทธิภาพแก่พลเมืองของตน” นายกรัฐมนตรีมาเลเซียระบุ

นอกจากนี้ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 18 เมษายน อันวาร์ยังได้ประชุมทางไกลเป็นเวลา 40 นาที กับอูมาน วิน ไข ตาน ตัวแทนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมา (NUG) เพื่อหารือถึงความต้องการด้านมนุษยธรรมที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศ ซึ่งกำลังเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมืองและการทหารอย่างต่อเนื่อง

นายอันวาร์กล่าวว่า การเจรจากับทั้ง NUG และสภาบริหารแห่งชาติเมียนมา (SAC) ได้รับการตอบรับโดยไม่มีการคัดค้าน ถือเป็นพัฒนาการเชิงบวกในความพยายามสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างทุกฝ่าย

“ความพยายามในการสร้างความเชื่อมั่นยังคงเป็นหัวใจสำคัญ กระบวนการนี้ต้องดำเนินต่อไปภายใต้กรอบของอาเซียน เราจะเจรจาต่อรองกับทุกฝ่ายเพื่อสันติภาพ ความปรองดอง และความเป็นอยู่ที่ดีของชาวเมียนมา” อันวาร์ระบุ

ทั้งนี้ การพบปะกับ ดร.ทักษิณ ถือเป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญของผู้นำมาเลเซีย ในการใช้บทบาทผู้นำอาเซียนเพื่อผลักดันทางออกจากวิกฤตเมียนมา โดยมีแนวโน้มว่าการเจรจาเชิงสร้างสรรค์ในลักษณะนี้จะเดินหน้าต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของวาระประธานอาเซียนปี 2568

‘อินโดนีเซีย’ ขยับหมากใหม่จับมือ ‘รัสเซีย’ เป็นพันธมิตรการค้า หวังเปิดทางลงทุนเพิ่มแรงขับเศรษฐกิจ-ลดผลกระทบมาตรการภาษีสหรัฐฯ

(18 เม.ย. 68) จากรายงานของสำนักข่าวซินหัว เมื่อวันพุธที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา อนินทยา บักรี ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย (KADIN) เปิดเผยกับสื่อท้องถิ่นว่า อินโดนีเซียกำลังเบนเป้าหมายทางเศรษฐกิจไปยังรัสเซีย ซึ่งมีศักยภาพในการเป็นตลาดใหม่ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ท่ามกลางความท้าทายจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ

บักรีระบุว่า การสร้างความร่วมมือทางการค้ากับรัสเซียจะเปิดประตูสู่โอกาสการลงทุนที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากรัสเซียเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษในอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันกำลังเปิดรับการลงทุนจากนานาประเทศ

“อินโดนีเซียจะยังคงเดินหน้าค้นหาแนวทางและตลาดใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนซึ่งกันและกันกับพันธมิตรทั่วโลก” บักรีกล่าว

ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีการนำเข้าสินค้าจากรัสเซียในหลายหมวดหมู่ อาทิ น้ำมันปาล์ม เครื่องจักร ยางพารา รองเท้า กาแฟ และชา ในขณะที่รัสเซียนำเข้าปุ๋ยและอาหารทะเลหลากหลายชนิดจากอินโดนีเซีย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 เมษายน อินโดนีเซียและรัสเซียได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านการค้า เศรษฐกิจ และการลงทุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์รัฐบาลอินโดนีเซียในการขยายตลาดการค้า และยกระดับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับประเทศคู่ค้า รวมถึงรัสเซียด้วย

การเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนถึงทิศทางใหม่ของอินโดนีเซียในการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ และลดการพึ่งพาตลาดเดิม ท่ามกลางความผันผวนของภูมิรัฐศาสตร์โลก

‘สหรัฐฯ’ ประกาศคว่ำบาตรน้ำมัน ‘อิหร่าน’ มุ่งเป้าสกัดโรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีน

(17 เม.ย. 68) รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ โดยมุ่งเป้าไปที่การส่งออกน้ำมันของอิหร่าน ซึ่งคราวนี้รวมถึงการคว่ำบาตรโรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีน หรือที่รู้จักกันในชื่อ "Teapot Refinery" เป็นครั้งแรก

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า โรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กแห่งหนึ่งของจีนได้ซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตร และนับเป็นโรงกลั่นน้ำมันจีนแห่งที่สองที่ถูกดำเนินมาตรการลงโทษจากฝั่งสหรัฐฯ

ที่ผ่านมา โรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีนมักไม่ถูกรวมอยู่ในรายชื่อเป้าหมายของการคว่ำบาตร เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับระบบการเงินของสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย ต่างจากบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของรัฐบาลจีนที่ได้หยุดซื้อน้ำมันจากอิหร่านไปก่อนหน้านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ

ที่ผ่านมา โรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีนมักไม่ถูกรวมอยู่ในรายชื่อเป้าหมายของการคว่ำบาตร เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับระบบการเงินของสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย ต่างจากบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของรัฐบาลจีนที่ได้หยุดซื้อน้ำมันจากอิหร่านไปก่อนหน้านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้คว่ำบาตร บริษัทและเรือบรรทุกน้ำมันหลายแห่ง ที่มีบทบาทในการขนส่งน้ำมันของอิหร่านไปยังจีน ผ่านเครือข่ายลับที่เรียกว่า “กองเรือเงา (Shadow Fleet)” ซึ่งถูกใช้ในการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและเลี่ยงมาตรการจากนานาชาติ

จีนในฐานะ ผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของอิหร่าน ยังคงมีบทบาทสำคัญในตลาดพลังงานโลก โดยเฉพาะโรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กที่ยังคงเป็นลูกค้าหลักของอิหร่านผ่านระบบการค้าทางเลือกที่ใช้ เงินหยวน แทนดอลลาร์สหรัฐ และอาศัยเครือข่ายตัวกลางเพื่อลดการตรวจสอบจากสหรัฐฯ

สำหรับมาตรการล่าสุดนี้สะท้อนถึงความพยายามของรัฐบาลวอชิงตันในการปิดช่องโหว่ทางเศรษฐกิจของอิหร่าน และกดดันจีนให้ร่วมมือในประเด็นการบังคับใช้คว่ำบาตรระดับโลก

สหรัฐฯ ขีดเส้นตาย ‘ม.ฮาร์วาร์ด’ 30 เม.ย. นี้ หากไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลวีซ่า เสี่ยงถูกตัดสิทธิ์รับนักศึกษาต่างชาติ และระงับเงินหนุน 2.7 ล้านดอลลาร์

(17 เม.ย. 68) คริสตี โนเอม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่า มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอาจถูกตัดสิทธิ์ในการรับนักศึกษาต่างชาติ หากไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลกลางเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูลผู้ถือวีซ่าบางราย ซึ่งทางการอ้างว่าเกี่ยวข้องกับ “กิจกรรมที่ผิดกฎหมายและรุนแรง”

โนเอมเปิดเผยว่าเธอได้ส่งจดหมายถึงมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยกำหนดให้ตอบกลับและยืนยันการให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนภายในวันที่ 30 เมษายนนี้ มิเช่นนั้น ฮาร์วาร์ดจะเสี่ยงต่อการสูญเสีย “สิทธิพิเศษในการรับนักศึกษาต่างชาติ” ซึ่งถือเป็นมาตรการกดดันที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

พร้อมกันนี้ กระทรวงฯ ยังได้ระงับเงินอุดหนุน 2 รายการที่จัดสรรให้กับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 99.9 ล้านบาท)

“บางทีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดควรสูญเสียสถานะยกเว้นภาษีและถูกเรียกเก็บภาษีในฐานะหน่วยงานทางการเมือง หากยังคงสนับสนุนหรือส่งเสริมความผิดปกติทางการเมือง อุดมการณ์ และการก่อการร้าย จำไว้ว่าสถานะยกเว้นภาษีขึ้นอยู่กับการกระทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ!” ทรัมป์โพสต์บน Truth Social เมื่อวันอังคาร

ทางด้านโฆษกของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดระบุว่า ทางมหาวิทยาลัยได้รับจดหมายจากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิแล้ว และยืนยันจุดยืนว่า ฮาร์วาร์ดจะไม่ยอมลดทอนความเป็นอิสระ หรือสละสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แม้จะเผชิญแรงกดดันทางการเมืองก็ตาม โดยจะยังคงปฏิบัติตามกฎหมายของสหรัฐฯ อย่างเคร่งครัด

ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ออกแถลงการณ์ว่ามหาวิทยาลัยกำลังพยายามรับมือกับกระแสต่อต้านชาวยิว รวมถึงแนวคิดอคติในรูปแบบอื่น ๆ ภายในรั้วมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับเสรีภาพทางวิชาการและสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ

ทั้งนี้ รัฐบาลทรัมป์เคยประกาศแนวทางเข้มงวดต่อมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เปิดพื้นที่ให้กับการชุมนุมประท้วง โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่แสดงจุดยืนสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอิสราเอล โดยมองว่าการประท้วงบางส่วนมีลักษณะต่อต้านชาวยิวและสนับสนุนกลุ่มฮามาส ซึ่งสหรัฐฯ ระบุว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย

ขณะที่นักเคลื่อนไหวและกลุ่มผู้ชุมนุมแย้งว่า รัฐบาลกำลังพยายามผูกโยงการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนของชาวปาเลสไตน์เข้ากับความรุนแรงหรือแนวคิดสุดโต่ง เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการควบคุมการแสดงออกทางการเมืองในสถาบันการศึกษา

สถานการณ์ดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของนโยบายภายใต้การนำของทรัมป์ ที่กำลังเดินหน้ากดดันมหาวิทยาลัยชั้นนำ โดยเฉพาะผู้ที่มีจุดยืนและท่าทีไม่สอดคล้องกับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ในบริบทของตะวันออกกลาง

‘นิกิตา ครีลอฟ’ นักสู้ UFC ขอเปลี่ยนสัญชาติ จาก ‘ยูเครน’ เป็น ‘รัสเซีย’ จุดชนวนดราม่าระอุโลก MMA

(17 เม.ย. 68) นิกิตา ครีลอฟ (Nikita Krylov) นักสู้ MMA ชื่อดังชาวยูเครน ประกาศยินดีเปลี่ยนสัญชาติเป็นรัสเซีย พร้อมระบุว่าเขา “ภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนของรัสเซีย” ขึ้นชกในรายการ UFC 314 ซึ่งคำดังกล่าวกลายเป็นที่จุดชนวนความไม่พอใจและความโกรธเกรี้ยวในหมู่ชาวยูเครน และแฟนกีฬาทั่วโลกที่ติดตามความขัดแย้งระหว่างสองประเทศอย่างใกล้ชิด

ครีลอฟ ซึ่งมีพื้นเพจากเมืองคราสนีย์ลุค ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน และมีครอบครัวเชื้อสายรัสเซีย เคยใช้ชีวิตอยู่ในกรุงมอสโกมานาน เขาเคยต่อสู้ภายใต้ธงชาติรัสเซียมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่การประกาศอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ถือเป็นการยืนยันจุดยืนอย่างชัดเจน ในขณะที่รัสเซียและยูเครนยังคงอยู่ในภาวะสงคราม

“เราคุยเรื่องนี้กับ UFC แม้กระทั่งสองงานก่อนที่ได้ถามเกี่ยวกับการเลือกเมืองคิสโลวอดสค์ รัสเซียเป็นสถานที่สำหรับการต่อสู้ของผม” ครีลอฟกล่าว “ผมอาศัยอยู่ที่นั่น 2-3 ปีแล้ว และคิดว่าตอนนี้ผมได้รับเกียรติในการเป็นตัวแทนของพวกเขา”

บนโซเชียลมีเดียของยูเครน การตัดสินใจของครีลอฟถูกมองว่าเป็น “การทรยศ” อย่างรุนแรง หลายคนโจมตีว่าเขาหันหลังให้กับชาติบ้านเกิดในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตการณ์อย่างหนักจากการรุกรานของรัสเซีย บางคนถึงกับเรียกร้องให้ UFC พิจารณาถอดเขาออกจากการแข่งขัน

ครีลอฟมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับภูมิภาคดอนบาส ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยในอดีตเขาเคยแสดงออกถึงการสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในลูฮันสค์ และกล่าวว่าเขายินดีรับหนังสือเดินทางของสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสค์ หากได้รับการรับรองในระดับสากล

สำหรับ ลูฮันสค์ (Luhansk) เป็นเมืองหลักในแคว้นลูฮันสค์ ทางตะวันออกของประเทศยูเครน ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนรัสเซีย และถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมของภูมิภาค ดอนบาส (Donbas) ซึ่งรวมถึงแคว้นลูฮันสค์และโดเนตสค์

หลังเหตุการณ์การปฏิวัติยูเครนปี 2014 (Euromaidan) และการผนวกไครเมียโดยรัสเซีย กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซียในลูฮันสค์และโดเนตสค์ ได้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลยูเครน ทำให้พวกเขาประกาศจัดตั้ง “สาธารณรัฐประชาชนลูฮันสค์” (Luhansk People's Republic – LPR) และแยกตัวจากยูเครน ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ทั้งนี้ นิกิตา ครีลอฟ เป็นนักสู้ MMA วัย 33 ปี เจ้าของฉายา "The Miner" มีสถิติการชกอาชีพที่น่าประทับใจ โดยมีชัยชนะ 30 ครั้ง (ชนะน็อก 12 ครั้ง, ชนะซับมิชชัน 16 ครั้ง) และแพ้ 10 ครั้ง 

เขาเคยสร้างชื่อจากการเอาชนะนักสู้ชื่อดังอย่าง อเล็กซานเดอร์ กุสตาฟส์สัน และ ไรอัน สแปน ด้วยการน็อกเอาต์และซับมิชชันในยกแรก อย่างไรก็ตาม ในไฟต์ล่าสุดที่ UFC 314 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2025 ที่ไมอามี ครีลอฟพ่ายแพ้ให้กับ โดมินิค เรเยส (Dominick Reyes) ด้วยการน็อกเอาต์ในยกแรก หลังจากถูกหมัดซ้ายตรงของเรเยสส่งลงไปนอนบนพื้นเวที

อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ยังไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการจาก UFC หรือองค์กร MMA อื่นๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนสัญชาติของ นิกิตา ครีลอฟ จากยูเครนเป็นรัสเซีย เนื่องจากเหตุการณ์นี้ไม่ใช่แค่เรื่องของ “สัญชาติในพาสปอร์ต” แต่เป็นบทสะท้อนความซับซ้อนของกีฬาในโลกที่การเมืองและอุดมการณ์ไม่อาจแยกจากกันได้อีกต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top