Saturday, 27 April 2024
คนตัวเล็ก

คุ้มค่าหรือ? ‘รัฐบาล’ ทุ่ม 5 แสนล้านดัน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ‘นโยบายประชานิยม’ จะพาเศรษฐกิจไทยฟื้นหรือดิ่งเหว

ต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ กับการแถลงข่าวเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 มีการ ‘ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ดิจิทัลวอลเล็ต) ครั้งที่ 3/2567’ ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานการประชุม

ประเด็นที่น่าสนใจคงไม่พ้น ‘แหล่งที่มาของงบประมาณ’ ในโครงการ โดยนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแหล่งเงินของโครงการฯ 500,000 ล้านบาท สามารถบริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณได้ทั้งหมด โดยจะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 ส่วน ได้แก่

1. เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณในปี 2568 เรียบร้อยแล้ว

2. การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษ ผ่านกลไกมาตรา 28 ของงบประมาณปี 2568

3. การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของรัฐบาล จำนวน 175,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณปี 2567 เพิ่งเริ่มใช้ จึงมีเวลาที่รัฐบาลจะพิจารณาว่ารายการใดที่จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงงบกลาง ก็อาจนำมาใช้เพิ่มเติมในส่วนนี้ถ้าวงเงินไม่เพียงพอ รวมวงเงินส่วนที่ 1-3 เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท

นโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย ที่นายกฯ เศรษฐา ได้เคยแถลงเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ยืนยันว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ทำได้แน่นอน และไม่มีการกู้เงินมาแจก ในวันนี้ได้เห็นแหล่งที่มาของการใช้เงินแล้ว คงพอรับรู้ได้ว่า เป็นการ ‘กู้เงิน’ หรือไม่ ?

การเดินหน้าโครงการนี้ จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยแค่ไหน ก็คงตัดสินกันในตอนนี้ไม่ได้ ถึงแม้นักวิชาการหลายท่าน รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เคยให้ความเห็นติติงกันมาพอควรมาแล้ว

ทีนี้ มาลองดูโครงการใหญ่ ๆ จาก 3 ประเทศ ในเอเชีย ที่ใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาท ในช่วงนี้ มีเป้าหมายใช้งบประมาณในด้านใดบ้าง

เริ่มจาก ‘เกาหลีใต้’ ทุ่ม 2.5 แสนล้านเกาะกระแส AI หวังสร้างตำนานบทใหม่ สู่การเป็นมหาอำนาจเซมิคอนดักเตอร์ ประธานาธิบดี ยุน ซุก ยอล ของเกาหลีใต้ เปิดเผยเมื่อวันที่ 9 เม.ย. ว่ารัฐบาลจะลงทุน 9.4 ล้านล้านวอน (2.5 แสนล้านบาท) ในด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ 1.4 ล้านล้านวอน (3.8 หมื่นล้านบาท) สำหรับส่งเสริมบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ด้าน AI ภายในปี 2027 เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำระดับโลกในด้านชิปเซมิคอนดักเตอร์ล้ำสมัย

โดยรัฐบาลเกาหลีใต้วางแผนที่จะขยายการวิจัยและพัฒนาชิป AI เช่น หน่วยประมวลผลประสาทเทียม (NPU) และชิปหน่วยความจำแบนด์วิธสูงรุ่นต่อไป นอกจากนี้ ยังจะส่งเสริมการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป (AGI) และเทคโนโลยีความปลอดภัยแห่งอนาคตที่เหนือกว่ารุ่นที่มีอยู่ และตั้งเป้าที่จะทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นหนึ่งในสามประเทศชั้นนำในด้านเทคโนโลยี AI รวมถึงชิป และครองส่วนแบ่งในตลาด system semiconductor ทั่วโลกให้ได้ 10% หรือมากกว่าภายในปี 2030

ถัดมา ‘เวียดนาม’ ทุ่มลงทุน 9.6 แสนล้าน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ฝั่ม มิญ จิ๊ญ นายกฯเวียดนาม เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 ก.พ. ว่า เวียดนามเตรียมจัดสรรเม็ดเงินลงทุนภาครัฐราว 657 ล้านล้านดอง (กว่า 9.6 แสนล้านบาท) ในปี 2567 โดยมุ่งเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมเป็นส่วนใหญ่ พร้อมเน้นย้ำว่า เมื่อโครงการด้านการคมนาคมเริ่มดำเนินการแล้ว จะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และยกระดับศักยภาพด้านการแข่งขันให้กับองค์กรต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม การบริการ และชุมชนเมือง

และอีก 1 ประเทศ ที่มีการลงทุนหลักแสนล้าน ‘มาเลเซีย’ ทุ่มเกือบ 3 แสนล้านขยายท่าเรือใหญ่สุดในประเทศ สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า เวสต์พอร์ทส์ โฮลดิงส์ ผู้ให้บริการท่าเรือรายใหญ่สุดของมาเลเซียกำลังมองหานักลงทุนจากภายนอกเพื่อระดมเงินลงทุนขยายท่าเรือ 8,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 299,539 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ศักยภาพของท่าเรือขยายเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

ท่าเรือแห่งนี้เป็นท่าเรือใหญ่อันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การขยับขยายท่าเรือจะเพิ่มศักยภาพเป็น 27 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต จากปัจจุบันอยู่ที่ 14 ล้าน ตลอดอายุสัมปทานซึ่งจะอยู่จนถึงปี 2082

การขยายท่าเรือเวสต์พอร์ทส์สะท้อนความพยายามในการขยายท่าเรือของประเทศเพื่อนบ้านตามแนวช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางเดินเรือที่พลุกพล่านที่สุดในโลก

การลงทุนเพื่อให้เกิดการจ้างงาน ดึงต่างชาติมาลงทุน เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของ 3 ประเทศข้างต้น เปรียบเทียบกับงบประมาณที่รัฐบาลไทย จะทุ่ม 500,000 ล้านบาท ตามนโยบายประชานิยมที่เคยหาเสียงไว้ คุ้มค่าหรือไม่? บางทีอาจเป็นคำถามที่ไม่ต้องการผลลัพธ์เพื่อตอบคำถามนี้ 

เรื่อง: The PALM

'6 เดือนรัฐบาล' กระตุ้นเศรษฐกิจไม่เป็นตามหวัง ซ้ำ!! 'เงินดิจิทัลวอลเล็ต' ยังกระทบงบประมาณ 67

'เศรษฐกิจไทย' ยังคงทรงตัว และไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่จะส่งผลดี กระตุ้นให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้เพิ่มขึ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์ สต็อกบ้าน คอนโด เหลือขายเป็นจำนวนมาก โครงการเปิดขายใหม่ ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพิ่มขึ้น 10.80% แต่หน่วยขายได้ กลับลดลง -14.50% เตรียมเข็นมาตรการลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ จาก 2% เหลือ 1% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จาก 1% เหลือ 0.01% โดยขยายสำหรับที่อยู่อาศัยที่มีราคาซื้อขายเกิน 3 ล้านบาท โดยให้สิทธิเฉพาะ 3 ล้านบาทแรก เท่านั้น

ด้านพลังงาน มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม จะสิ้นสุด 31 มีนาคม 2567 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) คาดการว่า กองทุนน้ำมันฯ จะติดลบในระดับ 100,000 ล้านบาท จึงอาจไม่สามารถขยายเวลาในการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ได้ 

หากจำเป็นต้องตรึงราคาดีเซลต่อ ต้องอาศัยกลไกจากกระทรวงการคลัง โดยการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล มาช่วยตรึงราคาควบคู่กับกลไกกองทุนน้ำมัน 

ส่วนค่าไฟฟ้า มาตรการจะสิ้นสุด 30 เมษายน 2567 ซึ่ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประชุมเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 มีแนวโน้มจะสามารถตรึงฐานค่าไฟได้ต่อ ถึงเดือนสิงหาคม 2567 

ด้านการท่องเที่ยว คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เห็นชอบการเปิดให้การส่งเสริมการลงทุนใน 'กิจการจัดงานมหกรรมดนตรี กีฬา และเทศกาลนานาชาติ' ที่มีการลงทุนเกิน 100 ล้านบาทในไทย สามารถยื่นขอบีโอไอได้ ได้รับสิทธิ์เว้นอากรขาเข้า อุปกรณ์-เครื่องจักร พร้อมช่วยอำนวยความสะดวกวีซ่า ใบอนุญาตทำงาน เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางในการจัดงานระดับโลก (World Class Events) และเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub) 

มาตรการที่มีในปัจจุบัน ยังคงไม่ทำให้คะแนนนิยมทั้งของรัฐบาล และตัวนายกรัฐมนตรีกระเตื้องขึ้น กับการที่บริหารประเทศมากว่า 6 เดือน ซึ่งจำเป็นต้องเข็นมาตรการเงินดิจิตอลวอลเล็ต เพื่อช่วยให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น 

โดยวันที่ 10 เม.ย. 67 จะมีการประชุมคณะกรรมการโครงการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยวาระสำคัญคือการเคาะแหล่งที่มาของเงินในโครงการนี้ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 2 - 3 ทางเลือกระหว่างการใช้เงินกู้ และงบประมาณรายจ่ายประจำปี หลังจากที่ได้ข้อสรุปเรื่องแหล่งเงิน และไทม์ไลน์ในโครงการนี้แล้ว โครงการจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการยืนยันว่าโครงการนี้รัฐบาลจะเดินหน้าตามขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อให้สามารถแจกเงินได้ทันภายในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนเทศกาลปีใหม่ 2568

ภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยที่ยังคงไม่กระเตื้อง อีกสาเหตุหนึ่ง คือ การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า แต่เมื่อการหาแหล่งเงินทุนในโครงการแจกเงินดิจิตอลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงที่สำคัญของพรรคเพื่อไทย ที่เข้ามาเป็นรัฐบาล อาจจะต้องไปใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีร่วมด้วย นั่นหมายความว่า งบประมาณประจำปี ที่คาดการณ์ว่าจะมีการเบิกจ่ายตามกรอบงบประมาณ ของหน่วยงานต่าง ๆ ต้องถูกตัดไปใส่ในโครงการดิจิตอลวอลเล็ต เท่ากับว่า เม็ดเงินที่จะออกมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นไม่มากตามที่คาดการณ์ เพราะส่วนหนึ่งใช้จากงบประมาณรายจ่ายประจำ ที่จะต้องมีการเบิกจ่ายอยู่แล้ว 

หากเป็นเช่นนี้ ก็คงต้องคิดเผื่อด้วยว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี ของแต่ละหน่วยงาน อาจจะต้องมีการเบิกจ่ายล่าช้าออกไปอีก เพราะทุกหน่วยงานต้องรอจัดสรรการใช้จ่ายในแต่ละโครงการอีกครั้ง ว่าโครงการใด ต้องชะลอเพื่อกันเงินไว้สำหรับโครงการดิจิตอลวอลเล็ต โครงการใดที่จะสามารถเบิกจ่ายได้จริง ส่งผลการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า ยิ่งต้องล่าช้าออกไปอีก 

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาในช่วงนี้ แทบจะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจในประเทศเท่าใดนัก และกับการที่อาจต้องคาดการณ์ว่า การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 จะล่าช้าออกไปอีก ... ความกดดันที่ก่อตัวเพิ่มขึ้น กำลังถาโถมต่อรัฐบาล และทีมเศรษฐกิจ

ตอนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 สถานการณ์หนักพอควรแล้ว สถานการณ์ตอนนี้ ก็คงไม่ต่างกัน นโยบายที่ออกมาเพียงเพื่อหาเสียงเพื่อให้ได้เข้าไปนั่งในสภา ถึงเวลาที่ต้องทบทวนกฎกติกา หรือยัง ?

เมื่อรัฐเล็งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในวันที่เอกชนกำลังรัน ‘เศรษฐกิจไทย’ สะท้อน!! ภาพนโยบายครั้งใหญ่ กระตุ้น ศก.ไทยได้จริงหรือ?

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แถลงข่าวรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจและการเงินเดือนมกราคม 2567 โดยเศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน แต่โดยรวมการขยายตัวยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นหลังจากที่หดตัวในเดือนก่อน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง แต่หลายอุตสาหกรรมยังถูกกดดันจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า สินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยเชิงโครงสร้าง

ด้านการลงทุนภาคเอกชนทยอยปรับดีขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาคบริการยังขยายตัวได้ตามรายรับในภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลาง

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากทุกหมวดหลัก โดยเฉพาะหมวดอาหารสดจากราคาผักและผลไม้ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น หมวดพลังงานลดลงจากผลของฐานสูงปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสำเร็จรูปจากผลของฐานสูงในปีก่อน 

ด้านตลาดแรงงานปรับแย่ลง การจ้างงานในภาคการผลิตโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกยังคงลดลง และเริ่มเห็นการลดลงของการจ้างงานในภาคบริการบางสาขา 

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลตามดุลการค้าเป็นสำคัญ แม้ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนกลับมาเกินดุล

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ หากพิจารณาภาพรวมแล้ว สภาพเศรษฐกิจไทย ยังถือว่าอยู่ในระดับทรงตัว ส่วนใหญ่ที่ขยายตัวได้เล็กน้อย เกิดจากภาคเอกชน ที่มีการลงทุนสอดรับกับภาคการท่องเที่ยว ที่ประเทศไทย ยังถือว่าเป็นจุดหมายปลายทางของชาวต่างชาติ ที่ต้องการเข้ามาพักผ่อน โดยมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวระยะยาวเพิ่มขึ้น

แต่ในส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันกับปีก่อน จากทั้งรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่ยังหดตัวสูงตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า และจากรายจ่ายประจำที่หดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษาที่ต่ำกว่าปีก่อนสำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว ตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมและพลังงาน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สภาพเศรษฐกิจไทย ยังคงต้องพึ่งภาคเอกชนเป็นหลัก เนื่องจากมาตรการภาครัฐเอง ยังคงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มที่ ไม่ว่าจะข่าวคราวโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 10,000 บาท ที่มีการแถลงข่าวจาก ฝั่งรัฐบาล ถึงการ 'เลื่อน' จากที่จะเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ จะดำเนินการในเดือนเมษายน และ เลื่อนอีกครั้งว่าน่าดำเนินการในเดือนพฤษภาคม รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ แทบจะไม่มี 

อาจจะเห็นภาพในการช่วยเหลือประชาชนที่ค่อนข้างชัดเจนเพียงบางกระทรวง ในส่วนมาตรการลดค่าใช้จ่าย โดยควบคุมราคาพลังงาน, ทั้งไฟฟ้า, น้ำมัน, ลดค่าครองชีพ ให้มีเงินเหลือเพื่อส่งเสริมการอุปโภค บริโภค ของประชาชนส่งผลให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 

เมื่อกำลังสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย เกิดจากภาคเอกชนเป็นหลัก กลับมีข่าวการเตรียมปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ออกมา ว่ารัฐบาลจะประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งแน่นอนว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำ ย่อมจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของกลุ่มแรงงานได้มากขึ้น แต่ก็ต้องพิจารณาให้รอบด้าน ว่าพื้นที่ใดสามารถดำเนินการได้ พื้นที่ใดที่น่าจะได้รับผลกระทบ เพราะกลไกสำคัญคือ ผู้ประกอบการ SME ขนาดเล็ก ที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวหลังเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งใช้แรงงานคนเป็นหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ ก็จะมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ประกอบกับต้นทุนทางการเงินในด้านดอกเบี้ยของผู้ประกอบการก็ยังคงอยู่ในระดับสูง 

ถ้าไม่เป็นเพราะเหตุ ‘การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่ส่อเค้าว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ จึงต้องนำนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้มาลดกระแส แรงกระเพื่อมจากประชาชนต่อรัฐบาล ก็คงดี และหวังว่าคงเกิดจากคณะกรรมการค่าจ้าง ได้พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ จากเหตุที่เศรษฐกิจประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวได้จริง ๆ 

ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ สวยหรู!! แรงกระเพื่อมสั่น ‘รัฐบาล’ สะเทือน ‘ผู้ว่าธปท.’

ต้อนรับปีมังกร 9 ธนาคารพาณิชย์ประกาศผลประกอบการออกมา มีกำไรมากกว่า 2.26 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 2566 

9 ธนาคารพาณิชย์ มีผลประกอบการดีทุกธนาคาร ไล่จาก ‘SCB’ ทำกำไรได้สูงสุด รองลงมา เป็น ‘KBANK’ และอันดับที่ 3 ‘BBL’ และ มีถึง 3 ธนาคาร ที่สามารถทำกำไรได้สูงสุดในรอบ 10 ปี นำโดย BBL, KTB และ TTB ซึ่งหากดูกำไรสุทธิโดยรวมทั้ง 9 ธนาคาร สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 226,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.44% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 192,578 ล้านบาท 

รวมทั้งธนาคารขนาดกลาง ‘TISCO’ ปีนี้มีกำไรขึ้นมาอยู่ที่ 7,302 ล้านบาท เป็นผลงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน

กำไรกลุ่ม ‘ธนาคาร’ เลยกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอย่างมาก หลังมีการหยิบยกประเด็น ‘กำไร’ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือ ‘NIM’ ว่า สูงเกินไปหรือไม่? โดยที่ประชาชนเป็นเสมือนผู้รับ ‘ภาระดอกเบี้ย’ ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์บางธนาคารสามารถทำกำไรสุทธิได้เติบโตสูงสุดในปีนี้ 

หากมาดูถึงปัจจัยที่ทำให้หลายธนาคารมีกำไรสุทธิสูงสุด ส่วนหนึ่งย่อมมาจาก ‘รายได้ดอกเบี้ย’ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดอกเบี้ยนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในปัจจุบันที่ 2.50% ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลประกอบการปีนี้อย่างมาก

ในปี 2566 มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จำนวน 5 ครั้ง จากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทั้งหมด 6 ครั้ง เพิ่มจาก 1.25% ในปี 2565 มาอยู่ที่ 2.50% หรือปรับสูงขึ้นเท่าตัว

อีกด้านของงบการเงิน ในการ ‘ตั้งสำรองหนี้เสีย’ สำหรับธนาคารทั้ง 9 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยธนาคารที่มีการตั้งสำรองสูงที่สุด คือ KBANK ตั้งสำรองสูงถึง 5.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่ KTB ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นถึง 52% หรือ 3.7 หมื่นล้านบาทหากเทียบกับปีก่อนหน้า, BAY ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 33.64%, TTB เพิ่มขึ้น 21% ส่งผลให้สำรองโดยรวมทั้ง 9 แบงก์ เพิ่มมาอยู่ที่ 229,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.03% จากปีก่อน ที่สำรองอยู่ที่ 193,104 ล้านบาท 

ในส่วน ‘หนี้เสีย’ หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ ‘NPL’ พบว่า โดยรวมปรับลดลง มาอยู่ที่ 498,720 ล้านบาท ลดลง 0.13% จาก 499,358 ล้านบาท แต่บางธนาคาร หนี้เสียยังปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับคุณภาพหนี้ที่อาจตกชั้นในระยะข้างหน้า เช่น SCB หนี้เสียเพิ่มขึ้นที่ 1.58%, KBANK 1.84%, BAY เพิ่มขึ้น 14.2%, TISCO เพิ่มขึ้น 14.2%, LHFG เพิ่มขึ้น 20% และ CIMBT เพิ่มขึ้นเกือบ 6%

ประเด็นดังกล่าวเริ่มกลายเป็นแรงกระเพื่อมต่อรัฐบาล เพราะในมุมมองของประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ รู้สึกถึงความเดือดร้อนจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง โดยช่วงค่ำวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทวีตข้อความว่า…

“จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SMEs อีกด้วย

ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจจะต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชน ไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อนะครับ”

และวันที่ 8 มกราคม 2567 นายกฯ เศรษฐา ก็ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ออกมาติงเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจว่า “ความจริงแล้วเราพูดคุยกันตลอดอยู่แล้วในเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย ตนมีจุดยืนชัดเจนว่า ‘ผมไม่เห็นด้วย’ แต่ท่าน (แบงก์ชาติ) ก็มีอำนาจในการขึ้น”

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ปัจจุบันเงินเฟ้อต่ำมาก ดังนั้น อาจจะต้องฝากให้พิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ย และระบุว่าหลังจากนี้จะมีการพูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 มกราคม 2567 ถึงกรณีที่เอกชนเริ่มเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ที่ครบกำหนด ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างไรหรือไม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 10 มกราคม 2567 ได้มีการพูดคุยกับ รมช.คลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในเวลา 13.30 น. โดยมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญและนำข้อมูลมาหยิบยกกัน

และคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องว่า แรงกระเพื่อมนี้ จะส่งผลอย่างไรกับความสัมพันธ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย กับรัฐบาลที่นำโดย นายกฯ เศรษฐา ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทย ในภาวะที่โครงการ Digital Wallet ที่ก็ยังคงไม่สามารถหาจุดลงตัวในการดำเนินการได้

เรื่อง : The PALM

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ‘ภาคเหนือ-ใต้’ ลดลง สะท้อน ‘นโยบายประชานิยม’ ใช้ไม่ได้ผลเสมอไป

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พฤศจิกายน 2566 ในภาพรวมนั้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เท่ากับ 55.0 ปรับลดจาก 55.8 ในเดือนตุลาคม 2566

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายภาค เปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 พบว่า

- กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 55.9 มาอยู่ที่ระดับ 57.4

- ภาคกลาง ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 55.3 มาอยู่ที่ระดับ 55.7

- ภาคเหนือ ดัชนีปรับตัวลดลงจากระดับ 57.3 มาอยู่ที่ระดับ 53.4

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 56.3 มาอยู่ที่ระดับ 57.0

- ภาคใต้ ดัชนีปรับตัวลดลงจากระดับ 53.1 มาอยู่ที่ระดับ 51.8

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่สำคัญที่สุด คือ ‘เศรษฐกิจไทย’ คิดเป็นร้อยละ 44.12 รองลงมา คือ ‘มาตรการภาครัฐ’ คิดเป็นร้อยละ 14.93 ลำดับ 3 เป็น ‘ราคาสินค้าเกษตร’ คิดเป็นร้อยละ 11.48 

ถึงแม้ว่า หากเทียบกับดัชนีความเชื่อมั่น ในปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 43.0 และ ปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 46.2 จะพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ส่วนหนึ่ง เกิดจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) และ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และ เศรษฐกิจไทย เป็นอย่างมาก ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ต่ำกว่าระดับ 50.0 หมายถึง ผู้บริโภคมีความไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ (อยู่ในช่วงไม่เชื่อมั่น) 

ซึ่งในปี 2566 ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม อยู่เกินระดับ 50.0 ในทุกเดือน สะท้อนให้เห็นถึง สถานการณ์ปัจจุบัน หลังผ่านเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ปรับตัวดีขึ้นมาก รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น สิ่งหนึ่งที่ต้องชื่นชมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือ มาตรการของรัฐ ที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงภาวะวิกฤต ของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา 

แต่หากพิจารณาเฉพาะข้อมูลส่วนนี้ จะพบประเด็นที่น่าสนใจ ว่า พื้นที่ ภาคเหนือ และ ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลง โดยเฉพาะภาคเหนือ มีอัตราการลดลง มากที่สุด อยู่ที่ 3.9 และ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่น ของพื้นที่ภาคเหนือ ลำดับที่ 2 อยู่ที่ ‘มาตรการภาครัฐ’ สัญญาณเล็กๆ นี้ ที่รัฐบาลชุดปัจจุบัน อาจต้องให้ความสนใจพอสมควร เพราะสิ่งที่ต้องไม่ลืม ในทางการเมือง พื้นที่นี้ เดิม เป็นพื้นที่ฐานเสียงหลักของรัฐบาลปัจจุบัน และการเลือกตั้งที่ผ่านมา หลายพื้นที่ ได้เสียฐานคะแนนเสียงให้กับคู่แข่ง มากพอสมควร

ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ มีดัชนีความเชื่อมั่นลดต่ำลง และ ปัจจัยสำคัญ คือ มาตรการภาครัฐ ที่จะใช้เพื่อการประชานิยม เพิ่มคะแนนเสียง และมาตรการสำคัญที่กำลังถูกจับตา คือ นโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท หรือโครงการ Digital wallet ที่อาจจะยังมองไม่เห็นทางออกในการดำเนินการโครงการนี้ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไข ลดกลุ่มเป้าหมายที่จะแจกเงินดิจิทัล ลงอย่างต่อเนื่อง

สุดท้าย พื้นที่สำคัญนี้ ของรัฐบาล จะรักษาไว้ได้ หรือ เสียคะแนนเพิ่ม ดัชนี้ผู้บริโภค อาจเป็นคำตอบได้เป็นอย่างดี

นโยบายพัฒนาคุณภาพข้าว หรือแค่แจกเพื่อรักษาฐานเสียง

หลังมีข่าวจากการประชุมของ คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุม ซึ่งในที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ในโครงการชดเชยดอกเบี้ยผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 780 ล้านบาท เฉพาะผู้ประกอบการโรงสีชดเชยดอกเบี้ย 4% เป้าหมาย 4 ล้านตัน ระยะเวลาการรับซื้อ ตั้งแต่ ครม.อนุมัติ - 30 มีนาคม 2567 ส่วนภาคใต้ วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2567 กรอบระยะเวลาโครงการ ครม.อนุมัติ ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2568

นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้สอบถามถึงความคืบหน้าในการจ่าย 'เงินช่วยเหลือชาวนา' ตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 เกษตรกรเป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน ช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ โดยผู้แทน ธ.ก.ส. แจ้งว่า จะมีการโอนเงินตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. 2566 โดยจะจ่าย 5 วันต่อเนื่องพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันแรกจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกดปุ่มโอนจ่ายเงินคิกออฟที่ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับ โครงการ 'เงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท' ใช้วงเงินงบประมาณจ่ายขาดทั้งสิ้น 56,321.07 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณจ่ายขาดให้เกษตรกร โดยใช้แหล่งเงินทุน ธ.ก.ส. วงเงิน 54,336.14 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายดำเนินการ ธ.ก.ส. วงเงิน 1,984.93 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปในช่วง 8 ปีก่อนหน้านี้ (ปี 2557-2565) หรือในช่วงรัฐบาล คสช. และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ รวมถึงปีที่ 1 ของรัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ พบว่า ครม.อนุมัติมาตรการช่วยเหลือชาวนา โดยมีวิธีการ ‘แจกเงิน' 9 ปีการผลิต รวมงบประมาณที่ใช้มากถึง 485,497 ล้านบาท ได้แก่...

>> รัฐบาล คสช. (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ)

- ปีการผลิต 2557/58 ครม.อนุมัติโครงการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้ชาวนา 3.63 ล้านครัวเรือน งบจ่ายขาด 39,506 ล้านบาท

- ปีการผลิต 2559/60 ครม.อนุมัติโครงการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ช่วยเหลือชาวนา 3.7 ล้านราย งบจ่ายขาด 37,860.25 ล้านบาท

- และมาตรการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 ให้แก่ผู้ปลูกข้าวเปลือกหอมมะลิ และผู้ปลูกข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 1 งบจ่ายขาด 32,541.58 ล้านบาท

- ปีการผลิต 2560/61 ครม. อนุมัติโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 37,898.11 ล้านบาท

- ปีการผลิต 2561/62 ครม. อนุมัติโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี งบจ่ายขาด 62,791.35 ล้านบาท (อนุมัติ กรอบวงเงินงบประมาณ 2 ครั้ง)

>> รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

- ปีการผลิต 2562/63 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตฯ ไร่ละ 500 บาท งบจ่ายขาด 28,054.83 ล้านบาท และโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวฯ ไร่ละ 500 บาท งบจ่ายขาด 26,458.89 ล้านบาท หรือใช้งบจ่ายขาดรวม 54,553.72 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์รวม 4.57 ล้านครัวเรือน

- ปีการผลิต 2563/64 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 56,093.63 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.56 ล้านครัวเรือน

- ปีการผลิต 2564/65 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 55,567.36 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.69 ล้านครัวเรือน

- ปีการผลิต 2565/66 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 55,364.75 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.68 ล้านครัวเรือน

>> รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

- ปีการผลิต 2566/67 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 56,321.07 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.68 ล้านครัวเรือน

งบประมาณที่ใช้ไปมากกว่า 485,497 ล้านบาท ในรอบ 9 ปี ไม่ได้ทำให้คุณภาพข้าวของไทย มีคุณภาพมากขึ้น ไม่ได้สร้างให้เกิด Productivity ในการพัฒนาคุณภาพการผลิต จึงเป็นคำถามที่ว่า สิ่งที่ทุกรัฐบาลทำอยู่ เพียงเพื่อเป็นการรักษาฐานเสียง เพราะไม่ได้จูงใจให้เกษตรกรมีการพัฒนาคุณภาพข้าว ตามชื่อของโครงการ 'พัฒนาคุณภาพผลผลิต' ได้อย่างแท้จริง

เมื่อเทียบกับ ประเทศเวียดนาม ที่มีการยกระดับการปลูกข้าวให้มีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งในแง่ปริมาณผลผลิตต่อไร่ โดยการจัดสรรงบประมาณภาครัฐลงไปในส่วนการวิจัย การพัฒนาสายพันธุ์ ที่เห็นได้ชัดในปี 2565 การวิจัยพันธุ์ข้าวหอมพื้นนุ่มสายพันธุ์ ST25 ในพื้นที่เพาะปลูกบริเวณดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงของเวียดนาม ซึ่งเป็นข้าวสายพันธุ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในจีน และให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงถึง 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ (ข้าวเปลือก 1,600 กิโลกรัมต่อไร่) ซึ่งมากกว่าผลผลิตต่อไร่ของข้าวหอมมะลิของไทย 

นอกจากนี้ ยังมีการอนุมัติแผนงาน การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมข้าวของเวียดนาม ระหว่างปี พ.ศ. 2568 - 2573 วางนโยบายที่มุ่งเน้นการส่งออกข้าวที่มีมูลค่าสูงทดแทนการส่งออกที่เน้นปริมาณเป็นหลัก

ถึงเวลาหรือยัง ที่จะต้องกลับมาทบทวนนโยบายการ ‘แจกเงิน’ กับโครงการในลักษณะนี้ ว่าหากจะต้องแจกต่อควรมีเงื่อนไขอย่างไร ในการที่จะควบคุมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพข้าว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างแท้จริง

เรื่อง: The PALM

'ลดราคาน้ำมัน' นโยบายจากรัฐช่วยลดภาระประชาชน 3 เดือน ช่วงแรก 'น้ำมันหมด' จุดเสียงก่นด่า แต่เป็นการกรุยทางปรับลดระยะยาว

ขณะนี้นโยบาย ‘ลดภาระค่าใช้จ่ายราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมัน’ กำลังดำเนินไป และมีการปรับลดราคาน้ำมันลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ กลุ่มน้ำมันเบนซิน ที่มีการปรับลดราคาลงในคราวเดียว 2.50 บาท ต่อ ลิตร เมื่อวันที่ 6 พ.ย.66 ที่ผ่านมา โดยเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 1 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 ลดลง 2.50 บาทต่อลิตร ส่วน E85 และ E20 ลดลง 0.80 บาทต่อลิตร ซึ่งมีผลในวันที่ 7 พ.ย. 66 เวลา 05.00 น. เป็นต้นไป

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น พบว่า ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 66 เป็นต้นมา สถานีบริการน้ำมัน หลายแห่ง ขึ้นป้าย ‘น้ำมันหมด’ โดยเฉพาะ กลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ส่งผลกระทบต่อการเดินทางสัญจรของประชาชน จนมีกระแสข่าวว่า สถานีบริการน้ำมันกักตุนน้ำมันไม่ยอมนำออกมาจำหน่าย

ซึ่งหากติดตามข้อมูลจากแหล่งข่าวต่าง ๆ รวมทั้งสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ผ่านมา ย่อมเข้าใจได้ว่า หลัง มติ ครม. ที่ให้ปรับลดราคาน้ำมัน ผ่านกลไกภาษีสรรพสามิต และบริหารจากกองทุนน้ำมันฯ โดยปรับลดราคาน้ำมันสูงสุด 2.50 บาท ต่อลิตร นาน 3 เดือน มีผล 7 พ.ย. 66 สถานีบริการน้ำมันต่าง ๆ ย่อมต้องบริหารสต๊อกน้ำมัน เพื่อให้ขาดทุนน้อยที่สุด เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้ชดเชยส่วนต่างที่ปรับลงอย่างรุนแรงให้ ส่งผลให้แทบไม่มีสถานีบริการน้ำมันใด สั่งน้ำมันมาจำหน่ายในช่วงก่อนปรับลดราคา

และในวันที่ 9 พ.ย. 66 ก็มีการปรับลดราคาน้ำมันลงอีก 60 สตางค์ต่อลิตร หากสถานีบริการใด ที่ยังสต๊อกน้ำมันที่ซื้อก่อนวันที่ 6 พ.ย. 66 เท่ากับว่า ราคาลงไป 2.50+0.6 = 3.10 บาท ต่อลิตร นั่นหมายความว่า หากลองคำนวณว่า ยังมีน้ำมันคงเหลือ 10,000 ลิตร ปั๊มก็จะขาดทุนทันที 31,000 บาท ปรากฏการณ์น้ำมันหมด จึงเกิดขึ้นแทบทุกพื้นที่

การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนตามต่างจังหวัด ที่ใช้รถจักรยานยนต์ในการเดินทางเป็นจำนวนมาก ย่อมได้รับเสียงชื่นชมนโยบายนี้ ถึงแม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 3 เดือน แต่ย่อมเริ่มเห็นทิศทางในการปรับกลไกราคาน้ำมัน ให้สอดคล้องตามต้นทุน และสามารถพยุงช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน ให้เหมาะสม

'น้ำมันหมด' ปรากฏการณ์สั้น ๆ ที่อาจได้รับเสียงก่นด่า จากผู้ที่เข้าเติมน้ำมันตามสถานีบริการ ในช่วงเวลานี้ ที่จะทำให้ประชาชนเริ่มยิ้มได้ กับ สถานการณ์ราคาน้ำมัน ที่มีแนวโน้มลดลงในระยะยาว

เรื่อง: The PALM

5 นโยบายเร่งด่วนรัฐ เรื่องไหนกระตุ้น ศก. เรื่องไหนกระตุ้นความกังวล ‘แก้รธน.-ส่งเสริมท่องเที่ยว-แก้หนี้-ลดราคาพลังงาน-แจกเงินดิจิทัล’

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา สรุป 5 ประเด็นสำคัญ ที่ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วน

1.เติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

2.แก้ปัญหาหนี้สิน เช่น พักหนี้เกษตรกร ช่วยประคองหนี้สิน ลดต้นทุนทางการเงิน

3.ลดภาระค่าใช้จ่ายราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมัน

4.สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ตั้งเป้าอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนขอ-เก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า ปรับปรุงระบบคมนาคม

5.หารือแนวทางนำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ให้คนไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และไม่แก้ในหมวดพระมหากษัตริย์

จากวันที่แถลงนโยบาย มาจนถึงปัจจุบัน  นโยบายที่เห็นเป็นรูปธรรม ลำดับแรก คงเป็น นโยบายที่ 3 คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจ ซึ่งมีการปรับลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เริ่มจากน้ำมันดีเซล ให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร และ ลดน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาทต่อลิตร จากโครงสร้างราคาเดิม เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่ง ครม. ก็ได้ให้ไฟเขียวในการประชุมไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา รวมทั้งปรับลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาท/หน่วย มีผลตั้งแต่รอบบิลเดือนกันยายน 2566 จนถึงรอบบิลเดือนธันวาคม 2566

นอกจากนี้ รัฐบาลจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยวางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิต และการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง และสำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ภายใต้กลไกตลาด เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงานที่จะขับเคลื่อนประเทศต่อไป

นโยบายเร่งด่วนถัดมา ที่เริ่มดำเนินการ คือ นโยบายที่ 2 การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน รัฐบาลจะลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุม ถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ได้มีโอกาสในการฟื้นตัวและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง ซึ่งในส่วนการพักชำระหนี้เกษตรกร ระยะเวลา 3 ปี เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ เมื่อ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่าน BAAC Mobile ของ ธ.ก.ส. มากกว่า 2.5 แสนราย

นโยบายอีกด้านที่ลงมือดำเนินการแล้ว คือ นโยบายที่ 4 ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น และสร้างงานให้กับประชาชน ซึ่งภาคเอกชน ร่วมกันขานรับ ทั้งมาตรการการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า และมาตรการยกเลิกการออกวีซ่าประเทศเป้าหมายชั่วคราว ซึ่งคาดการณ์ว่าจะกระตุ้นยอดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าพื้นที่ท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 30-40% โดยเริ่มใช้นโยบายวีซ่าฟรีกับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ตั้งแต่ 25 ก.ย. 2566-29 ก.พ. 2567 รวมระยะเวลา 5 เดือน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จากนโยบาย ทั้ง 3 ที่ 'ลด แลก แถม' ในแพ็กเก็จต่างๆ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หลัง Covid-19 ให้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง กระทบฐานะทางการคลังของประเทศไม่มากนัก และส่งเสริมให้ภาครัฐ สามารถจัดเก็บภาษีกลับคืนได้พอสมควร 

แต่ที่ประเด็นใหญ่ ที่ยังหาช่องทางดำเนินการไม่ได้ คงไม่พ้น นโยบาย 'แจก' เงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่นักเศรษฐศาสตร์ของไทยเกือบ 100 คน ลงชื่อคัดค้านไม่เห็นด้วยในการดำเนินการ เนื่องจากจะกระทบกับเสถียรภาพทางด้านการคลังเป็นอย่างมาก โดยมี 2 อดีต ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมคัดค้านในนโยบาย ที่จะ 'ได้ไม่คุ้มเสีย' ฟากรัฐบาลก็ยังไม่มีทีท่าจะยกเลิก โดยพยายามหาแนวทางในการดำเนินการ และจุดสำคัญ คือ จะจัดหาเงินงบประมาณ 560,000 ล้านบาท มาจากที่ไหน อย่างไร เพื่อมาแจกให้กับประชาชน

สำหรับอีก 1 นโยบายเร่งด่วนที่แถลงต่อรัฐสภา คือ การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แน่นอนว่า ประเด็นนี้ ไม่ช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเพียงการแก้ไข ที่จะเปิดช่อง กำหนดกติกาให้นักการเมืองในฝ่ายตน ได้เปรียบในการแข่งขันลงเลือกตั้ง เพื่อถืออำนาจรัฐในมือมากกว่า 

สุดท้าย นโยบายเร่งด่วน ที่รัฐบาลปัจจุบันแถลง ฐานะทางการเงินของประเทศไทย จากที่เคยมีทุนสำรองระหว่างประเทศรวม (Gross Reserves) อยู่ที่ 2.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทที่ 8.17 ล้านล้านบาท ณ เดือนตุลาคม 2564 สูงเป็นลำดับที่ 12 ของโลก หลังจากนี้ไป จะเป็นอย่างไร คงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

‘พักชำระหนี้เกษตรกร’ นโยบายฮิตใช้โกยคะแนน ชนวนเหตุทำลาย ‘วินัยทางการเงิน’ ของลูกหนี้

หลัง ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้เกษตรกรรายย่อย ตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 1 ย่อมมีเสียงทั้งการสนับสนุน และคัดค้าน ในนโยบายดังกล่าว ว่าจะเป็น ‘การช่วยเหลือ’ อย่างแท้จริง หรือเป็น ‘การซ้ำเติม’ เกษตรกรมากกว่าเดิมกันแน่

มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร ภายใต้หลักการ ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ กำหนดให้มีการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรระยะเวลา 3 ปี โดยมีรายละเอียดมาตรการ ดังนี้

1. มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล โดยเกษตรกรลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. จำนวน 2.698 ล้านคน ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 ก.ย.2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติและ/หรือเป็นหนี้ค้างชำระ (หนี้ 0-3 เดือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs) ได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ระยะแรกดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2567

เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ถึงวันที่ 31 ม.ค.2567 สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส.แล้ว

2. การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวภายใต้หลักการ ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระหนี้สินเกษตรกรอย่างบูรณาการ ธ.ก.ส. ร่วมกับส่วนงานราชการและหน่วยงานภายนอกดำเนินการอบรมเกษตรกรคู่ขนานไปกับมาตรการพักชำระหนี้ที่ได้เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรในการนำเงินไปลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพ โดยการอบรมอาชีพเกษตรกรจะช่วยฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต พร้อมทั้งเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมวินัยการเงินซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว

นอกจากนี้ เพื่อให้การกำหนดมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs เป็นไปอย่างบูรณาการและให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เป็นประธาน โดยคณะทำงานมีอำนาจและหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดมาตรการในการพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขสถานการณ์หนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ‘นโยบายพักชำระหนี้’ จะมีประกาศเป็นนโยบายจากพรรคการเมืองหลาย ๆ พรรค เพื่อที่จะหาเสียงจากกลุ่มเกษตรกร ลูกหนี้รายย่อย ซึ่งนักวิชาการหลาย ๆ ท่าน ก็ได้ให้ความเห็นคล้ายกันว่า นโยบายนี้ จะทำลายวินัยทางการเงินของลูกหนี้ ในวันข้างหน้า และมันก็ค่อย ๆ ปรากฏให้เห็นเป็นระยะ ๆ มาตลอด

การพักชำระหนี้ ถ้าในแง่เพื่อการส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจ การนำเงินที่จะต้องมาชำระหนี้ มาใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ ลงทุนในกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ ย่อมจะเป็นประโยชน์ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

โครงการพักชำระหนี้ ‘ไม่ได้ห้ามส่งหนี้’ !! หากลูกหนี้ ที่เข้าร่วมโครงการนี้ สามารถที่จะบริการจัดการการเงินอย่างมีวินัยได้ ย่อมจะส่งผลดี และเกิดประโยชน์กับตัวลูกหนี้ได้ ดอกเบี้ยไม่เดิน จัดสรรเงินที่ไม่ต้องส่งชำระหนี้ มาลงทุนให้เกิดรายได้ แล้วแบ่งชำระหนี้บางส่วน จัดสรรใช้จ่าย อย่างเข้มงวด 3 ปี ย่อมบรรเทาภาระ แต่...จากอดีตที่ผ่านมา หากไม่มีอคติ ย่อมมองเห็นได้ว่า ปัจจุบัน มันเริ่มกลายเป็นการเสพติดพักหนี้ ที่ลูกหนี้ เฝ้ารอคอย ในทุกการเลือกตั้ง

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคบริการ ในพื้นที่อีสานพุ่ง อานิสงส์จากรัฐ-เอกชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อเนื่อง

จากบทความก่อนหน้านี้ ที่กล่าวถึง ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง ได้ให้ความเห็นไว้ว่า "ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม 2566 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากเกิดจากปัจจัยสนับสนุนในภาคบริการเป็นสำคัญ” 

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคเกษตร อยู่ที่ระดับ 76.4 
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 75.9 
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 83.5 
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการจ้างงาน อยู่ที่ระดับ 74.5
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการลงทุน อยู่ที่ระดับ 74.8

แน่นอนว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในภาคบริการ เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในหลายจังหวัดของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ธุรกิจหลักที่จะได้รับอานิสงจากความเชื่อมั่นนี้ คงไม่พ้นกลุ่มธุรกิจโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ที่เริ่มฟื้นตัวหลังสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) ซึ่งจากข้อมูลกองสถิติเศรษฐกิจ (สศ.) มีจำนวนของสถานประกอบการที่พักแรม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 4,977 แห่ง น่าจะช่วยให้การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจของธุรกิจภาคบริการ ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

รวมถึงการได้รัฐบาลใหม่ มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง ของกระทรวงต่าง ๆ พร้อมประกาศนโยบายสำคัญ ‘พักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี’ ย่อมส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ การอุปโภค บริโภค การจับจ่ายใช้สอย ที่จะถูกกระตุ้นมากยิ่งขึ้น และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พื้นที่ที่ได้รับอานิสงจากโครงการนี้ค่อนข้างมาก ย่อมเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร เป็นจำนวนมาก
แต่ก็ยังมีความกังวล ต่อการเกิดหนี้สาธารณะ ที่อาจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีการอนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 เฉพาะในส่วนที่ ครม. ได้มีมติอนุมัติแล้ว ประกอบด้วย 

แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 194,434.53 ล้านบาท 
แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,621,135.22 ล้านบาท
แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 390,538.63 ล้านบาท

ซึ่งแน่นอนว่า การดำเนินโครงการ พักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี ย่อมจะต้องตั้งงบประมาณ เพื่อชดเชยดอกเบี้ยให้กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เจ้าภาพหลักของโครงการ

บทความหน้า กับมุมมองเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่ามีธุรกิจอะไรที่น่าสนใจ ประเด็นสำคัญจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ จะส่งผลอย่างไร กับ พื้นที่นี้ รอติดตามมุมมอง จาก ‘The PALM - คนตัวเล็ก’ กันนะครับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top