Saturday, 15 March 2025
คนตัวเล็ก

การเมืองรุกคืบ!! เข้าแทรกแซง ‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’ หลายฝ่ายหวั่น เศรษฐกิจพัง กลับสู่ฝันร้าย ‘ยุคต้มยำกุ้ง’

(13 ต.ค. 67) หลัง นายปรเมธี วิมลศิริ อดีตประธานบอร์ดแบงก์ชาติ หมดวาระเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2567 เป็นจุดเริ่มต้นในการสรรหา ‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’ คนใหม่ แทนที่ ซึ่งได้มีการเริ่มขั้นตอนการดำเนินงานมากว่า 3 เดือน

กระทรวงการคลังได้มีการแต่งตั้งกรรมการสรรหาฯ นำโดย นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน โดยกรรมการมีการนัดประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง ล่าสุดมีการประชุมไปเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2567 ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปในการคัดเลือกผู้เป็นประธาน และกรรมการในบอร์ดแบงก์ชาติ

ข้อกำหนดในเรื่องของการเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเข้ามารับตำแหน่งประธาน และกรรมการในบอร์ด ธปท.จะกำหนดให้เสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสม จาก 2 หน่วยงาน โดย ธปท.จะเสนอชื่อได้ 2 เท่าของกรรมการที่หมดวาระ และกระทรวงการคลังเสนอชื่อได้ 1 เท่า

สำหรับการสรรหาในครั้งนี้มีการเสนอชื่อประธานและกรรมการจาก ธปท. 6 รายชื่อ ประกอบไปด้วยประธาน 2 รายชื่อ และกรรมการ 4 รายชื่อ ส่วนกระทรวงการคลัง สามารถเสนอชื่อได้ 1 เท่าของผู้ที่หมดวาะระ

กระทรวงการคลังได้เสนอรายชื่อครบโควตา ส่วน ธปท.เสนอกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพียง 2 คน จากโควตาที่เสนอได้ 4 คน

ที่ผ่านมารัฐบาลได้แสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ประเด็นหลัก ทั้งในเรื่องการไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย และการคัดค้านนโยบายการแจกเงิน 1 หมื่นบาท 

“มีการคาดหมายว่ารัฐบาลจะส่งคนของตนเข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งวัตถุประสงค์ก็คงไม่พ้นที่จะใช้ ธปท.เป็นเครื่องมือในการสนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหากภาพนี้เกิดขึ้น หายนะของเศรษฐกิจไทยก็จะตามมาอย่างแน่นอน เหมือนที่เราเห็นในต่างประเทศที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงในธนาคารกลาง” นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาเสนอความคิดเห็นไว้

ระเบียบข้อบังคับในการสรรหาประธานกรรมการ หรือกรรมการ ของธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีเจตนารมณ์ ป้องกันความเสี่ยงของการที่กรรมการสรรหาจะถูกแทรกแซงจากทางการเมือง กำหนดคุณสมบัติ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ‘เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะพ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี’ เพื่อจะได้สรรหากรรมการที่ปลอดภัยจากการถูกแทรกแซง

สำหรับรายชื่อที่มีการเสนอให้เป็นประธานคณะกรรมการ ธปท.คนใหม่ จำนวน 3 รายชื่อ ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง เสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ส่วนอีก 2 ชื่อที่เสนอจาก ธปท.มี 2 คน ได้แก่ นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และนายสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการอิสระ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ซึ่งเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2567 หลังการประชุมคณะกรรมการสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย นางวิเรขา สันตะพันธุ์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ฝ่ายเลขานุการฯ มีความจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนสำหรับการพิจารณาของที่ประชุม ฝ่ายเลขานุการฯ จึงขอขยายระยะเวลาเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกมีความรอบคอบที่สุด และจะรวบรวมกลับมานำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยเร็ว แต่ยังไม่กำหนดวันที่ชัดเจน 

โดยมีรายงานในการประชุม มีมติเคาะเลือก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ท่ามกลางเสียงคัดค้าน ถึงการนำบุคคลที่เกี่ยวโยงการเมือง เข้ามาแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติ จากการสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

แม้คณะกรรมการสรรหาฯ ยังไม่ประกาศผลการคัดเลือกอย่างเป็นทางการ แต่การออกมาแสดงพลังคัดค้าน อาจตอกย้ำถึง ความเห็นขัดแย้งเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้ได้รับการคัดเลือก

เมื่อหลายฝ่ายพยายามส่งเสียง แสดงการคัดค้าน ที่การเมืองจะเข้ามาแทรกแซงองค์กรของรัฐ ที่ทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศ ฝั่งการเมืองจะยอมถอยหรือไม่..? และหากเข้ามากำกับ ควบคุมดูแลการทำหน้าที่ ของ ธปท. ได้สำเร็จ ภาพวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี 40 ของไทย กลับเริ่มลอยเข้ามาในหัว ขอให้เป็นเพียงแค่ฝันร้าย ละกัน 

โจทย์หนักรัฐบาล!! สินเชื่อบ้านไม่ขยับ แต่วิกฤตแรงงานขยับเอาๆ ฟากโรงพยาบาลเอกชนขาดทุน แห่ขอถอนตัวประกันสังคม

>> สินเชื่อบ้านโตต่ำที่สุดในรอบ 23 ปี จากปัญหารายได้และภาระหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง!!

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ยอดคงค้างสินเชื่อบ้านที่ปล่อยโดยธนาคารพาณิชย์จะขยายตัวไม่เกิน 1.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตรายปีของสินเชื่อบ้านระบบธนาคารที่ต่ำที่สุดในรอบ 23 ปี เนื่องจากปัญหาด้านรายได้และภาระหนี้สินสูง ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการก่อหนี้ก้อนใหญ่ของครัวเรือน โดยเฉพาะตลาดใหม่อย่างเช่นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มจากหนี้ก้อนเล็ก ๆ และหนี้รถ จนทำให้โอกาสการก่อหนี้บ้านลดลง

การชะลอลงของยอดคงค้างสินเชื่อบ้านดังกล่าว เป็นผลจากฝั่งธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ซึ่งครองส่วนแบ่งประมาณ 55-56% ของตลาดสินเชื่อบ้านทั้งหมด โดยตลอด 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา สินเชื่อบ้านระบบธนาคารพาณิชย์เติบโต 0.8% ในไตรมาส 2 ปี 2567 ชะลอลงจาก 1% ในไตรมาส 1 ปี 2567

>> คุณภาพหนี้อาจเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้น 

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า สัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) สินเชื่อบ้านของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 3.90% ของสินเชื่อรวม เทียบกับ 3.71% ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 ซึ่งรวมถึง NPLs ในบ้านระดับราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ที่เริ่มขยับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 รวมไปถึงหนี้ในกลุ่มบ้านระดับราคา 10-50 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

>> รพ.เอกชน จ่อออกจากประกันสังคม หลังโดนตัดงบลง 40% ทำให้ขาดทุน

สมาคมโรงพยาบาลเอกชนแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอาจทำให้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งต้องถอนตัวจากการเป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) หลังจากที่ถูกปรับลดงบค่ารักษาในกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงลงถึง 40% โดยลดลงจาก 12,000 บาทต่อหน่วย Adjusted RW เหลือเพียง 7,200 บาทต่อหน่วย 

นอกจากนี้ ยังไม่ได้มีการปรับค่าตอบแทนมาเป็นเวลากว่า 5 ปี ทำให้มีผลกระทบโดยตรงต่อโรงพยาบาลเอกชน และผู้ประกันตน ทำให้โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับประกันสังคมต้องเผชิญกับภาระขาดทุน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้จ่ายไปล่วงหน้าแล้ว รวมถึงภาษีที่ต้องจ่ายตามประมาณการรายได้ ทำให้การปรับลดงบประมาณนี้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสถานะการเงินของโรงพยาบาล

แม้ในปี 2565 สำนักงานประกันสังคมจะปรับเพิ่มค่าหัวเหมาจ่ายจาก 1,640 บาท เป็น 1,808 บาท แต่สำหรับกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงและโรคเรื้อรังกลับไม่มีการปรับเพิ่มค่าตอบแทนมาเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งส่งผลให้จำนวนโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมกับระบบประกันสังคมลดลงอย่างต่อเนื่อง 

ล่าสุดมีโรงพยาบาลเอกชนอีก 3 แห่ง ได้แก่ รพ.ยันฮี, รพ.เกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ และรพ.ศรีระยอง เตรียมออกจากระบบประกันสังคม มีผลตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคมนี้

กลุ่มแรงงาน ที่ยังต้องการที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ก็คงต้องรอโอกาสต่อไป การเข้ารับการรักษาพยาบาล โดยใช้สิทธิจากกองทุนประกันสังคม คงต้องคิดหนักมากขึ้น จากสถานพยาบาลที่ลดน้อยลง ย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้บริการ ขออย่าให้ถึงกับมีเหตุที่ โรงพยาบาลรัฐ แบกรับการขาดทุนไม่ไหว จนต้องถอนตัวจากประกันสังคม เลย ...

จับภาวะเศรษฐกิจไทย ในจังหวะ 'ต้นทุนแพง แข่งขันลำบาก' โจทย์ใหญ่สุดหินของรัฐบาล ส่วนฝ่ายค้านก็ค้านแต่เรื่องผิดๆ ถูกๆ

ข่าวปิดกิจการ ของห้างสรรพสินค้า ‘ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี’ พร้อมการยุติการจ่ายกระแสไฟฟ้า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 กระทบต่อผู้ประกอบการร้านค้า ที่เช่าพื้นที่ขาย บนอาคาร 12 ชั้น ทั้งหมด ร้านอาหารที่ใช้ตู้แช่เย็น เพื่อเก็บวัตถุดิบ หากไม่สามารถขาย หรือขนย้ายได้ทัน ก็คงเสียหายไปอีกไม่น้อย

ธุรกิจเอสเอ็มอีไทย 8 เดือนแรกปีนี้ 'ปิดกิจการ' 10,000 ราย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า ข้อมูลการปิดกิจการของธุรกิจ SMEs ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 มีอยู่ประมาณ 10,000 ราย (อ้างอิงข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) โดยภาคอีสานและภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่มีความเปราะบางสูงสุด สะท้อนจากสัดส่วนธุรกิจที่ปิดกิจการเทียบกับธุรกิจที่มีอยู่

ไม่ใช่แค่ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจที่กระทบต่อเอสเอ็มอีไทย แต่พบว่ายังมีความท้าทายจากปัจจัยภายในที่เผชิญ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจที่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็เผชิญร่วมกัน โดย 95% ของกลุ่มตัวอย่างพบว่า 3 เรื่องที่มีความกังวลและกดดันศักยภาพในการทำธุรกิจมากที่สุดคือ 

1.ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการดำเนินงาน ต้นทุนวัตถุดิบที่สูง 

2.พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป 

3.กลยุทธ์การผลิตและการตลาดที่ล้าสมัย ทำให้เอสเอ็มอีไทยอาจมีแนวโน้มฟื้นช้ากว่าคาด

ทั้งนี้มองในระยะข้างหน้าปัญหาเหล่านี้อาจจะมีความรุนแรง แก้ไขและควบคุมได้ยาก พบ 4 ประเด็นจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามาซ้ำเติมปัญหาเหล่านี้คือ 

1.ต้นทุนพลังงานที่น่าจะผันผวน 

2.ต้นทุนค่าแรงที่กำลังจะปรับสูงขึ้น 

3.สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ 

และ 4.ปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขยายเข้าไปในท้องถิ่นต่าง ๆ ทำให้เอสเอ็มอีแข่งขันได้ยากขึ้น รวมถึงยังเน้นแข่งขันด้านราคา ที่ทำให้สภาพคล่องของธุรกิจด้อยลงอย่างต่อเนื่อง

ต้นทุนเป็นปัญหาหลัก ที่ส่งผลให้ SMEs ปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาล เตรียมประกาศปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ !! ซึ่งก็ต้องรอดูว่า มาตรการที่จะมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ต้องแบกรับต้นทุนค่าแรงงาน ที่สูงขึ้น จะออกมาในรูปแบบใด หากมาตรการไม่สามารถช่วยเหลือได้ จำนวนตัวเลขการปิดกิจการ ก็คงเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวหน้า และแรงงาน ก็คงตกงานกันอีกเป็นจำนวนมาก

ฝ่ายค้าน ที่จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมการบริหารของรัฐบาลให้เป็นไปโดยชอบตามทำนองคลองธรรม จากการอภิปรายล่าสุด ก็ยังไม่พบว่า มีข้อแนะนำในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จากแกนนำฝ่ายค้าน อ่านตัวเลขงบประมาณ ยังผิด ๆ ถูก ๆ มีแต่ข่าวคราว การหาเสียงเลือกตั้งซ่อม เลือกตั้งท้องถิ่น ผลักดันสุราเสรี จัดสัมมนาเรื่อง Sex Tourism และเพศพาณิชย์ ที่ยังมองไม่เห็นว่า จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจได้อย่างไร เมื่อเทียบกับโครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการแลนด์บริจด์ 

ม.หอการค้าไทย เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนสิงหาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 57.7 เป็น 56.5 เป็นการปรับตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือนนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 

เดือนมีนาคม 2567 'ดนันท์ สุภัทรพันธุ์' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เคยกล่าวถึงกรณีการแข่งขันอันดุเดือดท่ามกลางสมรภูมิขนส่งไว้ว่า 'ไปรษณีย์ไทย' กำลังเจอปัญหาการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเพราะโดนกีดกันจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากร้านค้าและลูกค้าไม่สามารถเลือกขนส่งเองได้ เขาเสนอว่า ต้องมี 'Regulator' หรือหน่วยงานที่เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลเป็นผู้กำหนดกติกาการแข่งขัน เพื่อความเป็นธรรมและชัดเจนมากขึ้น 

เท่านั้นยังไม่พอ เพราะตอนนี้ต้องเจอศึกหนักจาก ‘Temu’ ที่มีความยากกว่าหลายเท่า เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่มีสำนักงานในไทย แม้แต่กรมสรรพากรก็ตรวจสอบไม่ได้ ทำให้ต้นทุนของ Temu ต่ำกว่าเดิม จากที่ส่วนแบ่งในตลาดถูก 'Shopee' และ 'Lazada' ปันส่วนไป 

ถ้าคนขายตาย ผู้ประกอบการตาย ขนส่งก็ไม่รอด ‘GDP’ ไหลออกนอกประเทศ แล้วรัฐบาลจะหารายได้จากแหล่งใด มากระตุ้นเศรษฐกิจ สุดท้าย ผู้ประกอบการ ธุรกิจ SMEs ในประเทศต้องปิดตัวลง ถ้ายังไม่แก้ สุดท้ายก็ตายกันหมด

เคราะห์ซ้ำ น้ำซัด!! 'เศรษฐกิจไทย' กำลังปรับตัวดี แต่เจอน้ำท่วมสกัด โจทย์สุดหินต้อนรับ 'นายกฯ หญิง' ที่ต้องพา ศก.-คนไทย รอดไปพร้อมๆ กัน

(8 ก.ย. 67) "ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหมวดอาหารสด และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน โดยหมวดอาหารสดเพิ่มขึ้นจากผลของฐานต่ำในปีก่อนและจากราคาผลไม้ที่เพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ลดลง...

"ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากหมวดอาหารสำเร็จรูป สำหรับอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานลดลงจากผลของฐานราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่สูงในปีก่อน...

"ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นสะท้อนจากการจ้างงานในระบบประกันสังคมทั้งในภาคการผลิตและบริการ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับเพิ่มขึ้น...

"สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจากดุลการค้า ตามมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน..."

นี่คือแถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงิน เดือนกรกฎาคม 2567 จากธนาคารแห่งประเทศไทย เหมือนมีข่าวดีเล็ก ๆ จากการจ้างงานที่มีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังคงมีแรงงานที่แจ้งขอรับสิทธิว่างงานเพิ่มขึ้นอยู่บ้าง ซึ่งเศรษฐกิจไทยโดยรวมปรับดีขึ้นหลังชะลอลงในเดือนก่อน

แต่เหมือน ‘เคราะห์ซ้ำ น้ำซัด’ ปลายเดือนสิงหาคม กับข่าวน้ำท่วมใหญ่ ไล่จากภาคเหนือ ตั้งแต่ จังหวัดเชียงราย พะเยา ลงมาเรื่อย สถานการณ์ปัจจุบันฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง จังหวัดอ่างทอง อยุธยา แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มสูงขึ้น เขตปริมณฑล นนทบุรี แถบ บางบาล-ตลาดขวัญ ต้องเฝ้าระวัง 

ข้ามไปทาง พัทยา ก็เจอพายุฝนถล่มหนัก น้ำท่วมในบางพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ไม่น้อยหน้า แถบร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ เจอพายุฝนกระหน่ำ ลำน้ำชี น้ำขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ก็ต้องคอยเฝ้าระวัง

เหมือนพายุฝนเตรียมต้อนรับ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ของนายกรัฐมนตรีหญิง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หลังปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 พร้อมงานใหญ่ ที่ต้องช่วยผู้ประสบอุทกภัย โดยอย่างยิ่งในพื้นที่ฐานเสียงหลัก ถึงแม้หลายฝ่ายจะคาดการณ์ว่า น้ำคงไม่ท่วมหนักเหมือนช่วงปี 2554 แต่ในสถานการณ์ตอนนี้ ที่สภาพเศรษฐกิจไทย 'ยังคงย่ำแย่' เจอน้ำท่วมในหลายจังหวัด การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ คงเป็นงานหินพอสมควร

มาตรการสินเชื่อโครงการ Financing the Transition มุ่งหน้าสู่การปรับตัวอย่างยั่งยืนของภาคธุรกิจ (Soft Loan) ที่ออกมาช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เหมือนจะยังไม่ตอบโจทย์ ตรงประเด็นเท่าใดนัก เพราะจำกัดประเภทของธุรกิจที่สามารถเข้าถึงสินเชื่อนี้ ที่ต้องการให้ภาคธุรกิจเอกชน ปรับตัวเป็นธุรกิจสีเขียว เพื่อความยั่งยืน แต่ตอนนี้ SME หลาย ๆ ราย คงขอเอาตัวรอดให้ได้ก่อน

ตอนนี้ คงต้องเอาใจช่วยไปก่อน เพราะเศรษฐกิจไทย กำลังโดนโจมตีหลายด้าน ภาวะการอุปโภคบริโภคของประชาชนยังไม่ฟื้นตัว ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ที่จะเข้ามาโกยรายได้จากคนไทย และไปกระทบต่อกับธุรกิจคนไทยด้วยกัน พร้อมผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยน้ำท่วม เอาใจช่วยคนไทย เป็นกำลังใจให้ผู้ประสบภัย ทั้งน้ำท่วม และเศรษฐกิจ...

4 โจทย์ใหญ่เศรษฐกิจไทย ที่ตกถึงมือ 'นายกฯ หญิงคนใหม่' 'โรงงานปิด-อสังหาฯ ชะลอตัว-ทุนจีนบุกหนัก-เงินหมื่นรอทบทวน'

เมื่อวันที่ (14 ส.ค.67) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะสิ้นสุดลง รวมไปถึงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ที่นายกฯแต่งตั้ง ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วยทั้งหมด    

คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยไม่เรียกว่ารักษาการ ยังคงสามารถบริหารราชการได้หมดทุกเรื่อง ทุกประการ จนกว่าจะแต่งตั้งใหม่

แต่...โครงการใหญ่ ยังไงก็คงต้องรอ มติ ครม. ชุดใหม่ โดยเฉพาะ 'โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท' ซึ่ง นายวิษณุ เครืองาม อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงในวันที่ 15 สิงหาคม 2567 

การเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ อาจสะดุดเล็กน้อย ซึ่งการแต่งตั้ง ครม.ชุดใหม่ ก็น่าจะยังคงรูปเดิม เกือบทุกกระทรวง เพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรค ต่อความร่วมมือของพรรคร่วมรัฐบาล

18 สิงหาคม 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย 38 ปี (เกิด 21 สิงหาคม 2529) แถลงข่าวภายหลังรับสนองพระราชโองการฯ เล็งกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยผลักดันโครงการซอฟต์พาวเวอร์ แต่โครงการสำคัญ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' จะไปหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้ง...ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความกังวลในการเดินหน้าโครงการนี้

ภาคอสังหาริมทรัพย์ ปีนี้ 'หนัก' ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ (REIC) ปรับลดคาดการณ์ปี 2567 โอนติดลบ 4.4% หวังมีปัจจัยบวกฉุดภาพทั้งปี ติดลบน้อยลง ระบุภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ครึ่งแรกของปี 67 ชะลอตัวแรงกว่าช่วงโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนพื้นที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างไตรมาส 2/67 มีจำนวนลดลง 19% ต่ำสุดในรอบ 26 ไตรมาส

การปิดกิจการของโรงงาน และผู้ประกอบการ SMEs ที่ปิดตัวมากขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา กับข่าวเปิดตัวผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน จากธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ทั้ง 8 แห่ง ที่ร่วมกันสนับสนุนการปรับตัวของธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในงาน 'Financing the Transition: การเงินเพื่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ' หวังว่า ผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่ปิดกิจการ จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้

อีกด้านประเด็นสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ การอุปโภคบริโภคของประชาชน ท่ามกลางทะเลเดือดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ที่กลายเป็นแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ที่จะเข้ามาโกยรายได้จากคนไทย และจะไปกระทบต่อกับธุรกิจคนไทยด้วยกัน ที่ไม่สามารถขายสินค้าแข่งได้...จะล้มไปอีกเท่าไหร่ ถ้ายังไม่อุดช่องว่างที่เราจะเสียเปรียบในการนำรายได้เข้าประเทศ

ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เดินเครื่องไม่ได้เต็มสูบ และต้องรอดูกันต่อว่า หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จะถูกปรับเปลี่ยนอีกหรือไม่ กับความหวังจะให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ 4 ลูก คงลุ้นยิ่งกว่าลุ้นรางวัลที่ 1 สักงวดในปี 2567 นี้

อ้างอิง: ธนาคารแห่งประเทศไทย (https://www.facebook.com/share/p/g7A1x6aLiwUi2MfQ/)

THAI PUBLICA (https://thaipublica.org/2024/08/cabinet-holds-special-meeting-to-appoint-bhumtham-to-act-as-prime-minister/)

น่าคิด!! 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ใช้จ่ายได้จริงเดือนสุดท้าย ปี 67 เป็น 'พายุหมุนเคลื่อน ศก.' หรือแค่ 'ต่อลมหายใจรัฐบาล'

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นวันที่รัฐบาลเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนสิทธิโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน หรือแอปฯ 'ทางรัฐ' และปิดการลงทะเบียนในวันที่ 15 กันยายน 2567 โดยไม่มีการจำกัดจำนวนประชาชนที่จะเข้าร่วมใช้สิทธิฯ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศเมื่อครั้งแถลงข่าวใหญ่ 'ดิจิทัลวอลเล็ต โครงการเพื่อประชาชน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ววันนี้' เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมาว่า การเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะช่วยทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ 4 ลูก คือ 

1.ระหว่างร้านค้าขนาดเล็กกับประชาชน 
2.ร้านค้าเล็กกับร้านค้าใหญ่ 
3.ร้านค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าขนาดใหญ่ 
และ 4.เกิดการซื้อขายโปร่งใสกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยประชาชน 

สถานการณ์ของประเทศไทย ในขณะนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว และถดถอย GDP โตต่ำกว่า 2.0 % สาเหตุสำคัญคือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานน้อยมาก ด้วยความล่าช้าในการจัดตั้งงบประมาณ เพราะต้องรอการจัดสรรเม็ดเงินไปยังโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หน่วยงานต่าง ๆ จึงแทบจะไม่มีการเบิกจ่ายงบประมาณ กอปรกับการส่งออก ที่ยังคงติดลบ และขาดดุล การค้า ด้วยการส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลง จำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนมิถุนายน เริ่มลดลงจากเดือนที่ผ่านมา การบริโภคภาคเอกชนก็ติดลบจากเดือนก่อน 

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาในช่วงต้นปี ทั้งมาตรการ Easy e-Receipt แพ็คเกจกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ มาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวเมืองรอง มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน แทบจะขยับได้เพียงเล็กน้อย ด้วยประชาชนเองก็ต้องควบคุมการใช้จ่ายโรงงานต่างๆ ปิดลงเป็นจำนวนมาก การเข้าถึงสินเชื่อแทบจะเป็นไปได้ยาก ดูได้จากอัตราการปฏิเสธสินเชื่อทั้งบ้าน รถ ที่สูง การจำหน่ายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ลดลงทุกเดือน

การลดราคาของรถยนต์ไฟฟ้า เหมือนจะเป็นข่าวดีที่มีสินค้าลดราคา เพื่อเพิ่มกำลังซื้อ แต่กลับส่งผลบางด้านต่อการแข่งขัน โรงงานผลิตรถยนต์สันดาป ประกาศปิดโรงงาน ไปหลายแบรนด์ ปั๊มแก๊ส ทยอยปิดตัว ด้วยราคา NGV-LPG ที่ปรับราคาแพงขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศผ่อนปรนขยายระยะเวลาการชำระหนี้บัตรเครดิต ขั้นต่ำ 8% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2568 จากเดิมที่จะขยับเป็น 10% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 ถึงแม้จะกำหนดเงื่อนไขลูกหนี้ที่ชำระหนี้ขั้นต่ำได้มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 8 จะได้รับเครดิตเงินคืนทุก 3 เดือน แต่จะมีลูกหนี้มากน้อยแค่ไหน ที่จะชำระได้มากขึ้น ในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ 

ความหวังสุดท้ายของรัฐบาล จึงแทบจะฝากไว้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่หากสามารถโอนเม็ดเงินให้ประชาชนใช้จ่ายได้จริง ก็ไม่น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ได้ เพราะกำหนดการเริ่มใช้จ่าย ก็เป็นเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีแล้ว 

จะสร้างพายุหมุนเศรษฐกิจ 4 ลูก เพื่อขยับจีดีพีประเทศให้ขยายตัวไปข้างหน้า? หรือเพียงแค่ต่อลมหายใจให้รัฐบาล ได้อยู่ต่อไปอีกระยะ ความหวังเฮือกสุดท้าย ของทั้งรัฐบาล และ ประชาชนคนไทย... 

'โรงงานปิดตัว-คนตกงานเพิ่ม-ราคาอาหารพุ่ง' ต่างชาติกังวล แล้วคนไทยรู้สึกบ้างหรือยัง?

จากข่าว ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ศรีนครินทร์ ของกลุ่มเซ็นทรัล รีเทล ซึ่งตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพฯ ได้เตรียมปิดให้บริการถาวร โดยเปิดให้บริการวันสุดท้ายในวันที่ 20 ส.ค. 2567 หลังเปิดให้บริการพร้อมกับศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ มานานถึง 30 ปี ยักษ์ใหญ่ห้างสรรพสินค้า ปิดสาขา ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ บริหารต้นทุนดำเนินการ ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา

แต่...ข่าวการปิดโรงงาน เดือนละ 113 โรงงาน ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ย่อมไม่ใช่การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์

ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 88.5 ปรับตัวลดลงจาก 90.3 ในเดือนเมษายน 2567 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่า ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดขายโดยรวม ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ 

ทั้งนี้ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังเปราะบาง เนื่องจากเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนรวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การบริโภคสินค้าชะลอลง

ขณะที่ 5 เดือนแรกปีนี้ พบว่าปิดโรงงานไปแล้ว 561 โรงงาน หรือเฉลี่ย 113 โรงงานต่อเดือน แย่ลงกว่าปีที่ผ่านมา ตกงานแล้ว 15,342 คน

ซึ่งยอดคนตกงาน น่าจะเพิ่มขึ้นสูงมากกว่านี้ ข่าวจากย่านนิคมอุตสาหกรรม โรงงานที่ยังพอประคองตัวดำเนินธุรกิจได้ เริ่มทยอยปลดคนงาน เพื่อลดค่าใช้จ่าย หลายโรงงานแล้ว 

คนตกงาน ค่าครองชีพก็ยังสูง ร้านค้าเตรียมปรับขึ้นราคาอาหาร หลังราคาก๊าซหุงต้ม ขยับขึ้น 15-20 บาท ต่อถัง ทั้งที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ประกาศตรึงราคาก๊าซ สิ้นสุด มิถุนายน 2567 หรือ สิ้นเดือนนี้ ยังไม่สิ้นสุดมาตรการตรึงราคา ก็เริ่ม ‘เอาไม่อยู่’

ข่าวอภิปราย พรบ.งบประมาณ ปี 2568 ในสภา ยังไม่มีอะไรที่น่าสนใจมากนัก ยังไงงบประมาณปี 2568 ก็ต้องคลอด เพราะนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ยังรออยู่ 

แต่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติให้สัมภาษณ์สื่อนอก 'บลูมเบิร์ก เทเลวิชัน' (Bloomberg Television) ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของรัฐบาลที่จะให้ปรับกรอบเงินเฟ้อและลดดอกเบี้ย ชี้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจ รวมทั้ง ยังคงให้ข้อคิดเห็นท้วงติง เงินดิจิทัลวอลเล็ต ควรแจกเฉพาะกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 

ปิดท้ายด้วยข่าวตลาดหุ้นไทย สัปดาห์นี้ ปรับตัวมาแตะที่ 1,306.41 จุด มูลค่าซื้อขาย 56,556.18 ล้านบาท เด้งขึ้นมา +8.12 หลังช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ต่ำกว่า 1,300 จุด ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นไทย ที่ต่ำสุดในรอบ 4 ปี 

หุ้นไทย 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา มาร์เก็ตแคปลด 4.5 ล้านล้านบาท ต่างชาติเทขาย 2.97 แสนล้านบาท ตลาดหุ้นไทยถูกต่างชาติขายต่อเนื่องเกือบ 3 แสนล้านบาท กดดัน MARKET CAP ตลาดหุ้นไทยลดลงจาก 20.57 ล้านล้านบาท เหลือ 16.06 ล้านล้านบาท ลดลงไปกว่า 4.5 ล้านล้านบาท ในช่วงเวลาสั้น ๆ และ SET INDEX ยังปรับตัวลดลงไปแล้วกว่า -22.1%

ต่างชาติกังวลกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย การเมืองในไทย แล้วประชาชนคนไทย เริ่มกังวลกันบ้าง หรือยัง...

ส่อง 'เศรษฐกิจไทย' ในวันที่ขยายตัวช้า-ความเชื่อถือ (ข้าวไทย) ตกต่ำ วาทกรรม 'คนไทยจะมีกินมีใช้' จะเป็นจริงได้ใต้ทีม ศก.ยุคนี้จริงหรือ?

คลังฯ ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 โดยประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียง 2.4% ต่ำลงจากประมาณการเดิม 2.8% ณ เดือนมกราคม 2567  

ภาพรวมการบริหารเศรษฐกิจ ของรัฐบาล หากประเมินคงต้องบอกว่า 'ไม่ผ่าน' ทั้งที่ช่วงปลายปี 2566 ต่างคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทย ในปี 2567 จะขยายตัวสูงถึง 3.2% หลังภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ที่ทุบเศรษฐกิจทั้งโลก รวมทั้งประเทศไทย ยาวถึงเกือบ 3 ปี ดังนั้น เศรษฐกิจปี 2567 น่าจะต้องดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่า ตัวเลขประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจ ปรับลด ต่ำลงเรื่อย ๆ 

ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ นำโดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง น่าจะสร้างความหวัง ให้กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ท่ามกลางราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ปรับขึ้นสูง เช่น พริกขี้หนูสวน ที่ราคาทะลุ กิโลกรัม ละ 800 บาท แพงสุดในประวัติศาสตร์...

ตามด้วยข่าวร้อน การแถลงข่าวของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมเปิดประมูล ข้าวโครงการรับจำนำ ที่เก็บมา 10 ปี พร้อมนำออกมาจำหน่าย 

ภาพแรก คือ การส่งออกไปยังทวีปแอฟริกา สื่อของประเทศไนจีเรียออกข่าว กังวลการสั่งซื้อข้าวจากไทยทันที กลายเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือต่อคุณภาพข้าวไทยที่จะส่งออก ถึงแม้ต่อมา จะมีการส่งพิสูจน์ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รับรองคุณภาพข้าว ก็ตาม 

บางสื่อได้พยายามเสนอข่าว นำข้าว 10 ปี ไปหุงรับประทาน แต่หากถามผู้บริโภคทั่วไป ใครอยากกินข้าวค้าง 10 ปี บ้าง ? เอกชนบางราย จึงออกมาประกาศ ว่าจะไม่เข้าร่วมประมูลซื้อข้าว 10 ปี เมื่อฝ่ายค้านไม่ทำงาน ก็คงต้องพึ่งพ่อค้า มาทำหน้าที่แทน 

และแน่นอนว่า ราคาข้าวที่กำลังปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ต้นปี เกษตรกรเริ่มยิ้มได้ กลับมาโดนข่าวนี้ ทุบราคาข้าว การส่งออกข้าว ก็คงโดนกระทบตามไปด้วย ต้องไม่ลืมว่า ปัจจุบันเราไม่ได้เป็นอันดับ 1 ในการส่งออกข้าวแล้ว แทนที่จะเร่งชูคุณภาพข้าว ยกระดับราคาข้าว กระตุ้นการส่งออก เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ สรุปว่า จะนำข้าว 10 ปี จำนวน 1.5 หมื่นตัน ในโครงการจำนำข้าวออกมา ‘ขาย’ งานนี้เพื่อใคร? 

การบริโภคภาครัฐ มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์เดิม การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวลดลงจากประมาณการเดิมตามการส่งออกที่ฟื้นช้าลง รวมถึงภาคการผลิตที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาสินค้าคงคลังสะสมสูง มูลค่าการส่งออกสินค้า การส่งออกไทยยังมีแนวโน้มขยายตัว 3.1% ปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่ 3.7%     

แรงส่งด้านอุปสงค์ส่วนใหญ่ที่ลดลงทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัญหาด้านอุปทานที่อ่อนแอ ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยหดตัวลงมาก 

อินฟลูเอนเซอร์สำนักต่าง ๆ ที่ทำ Content ในช่วง 2-3 ปีก่อน ว่า ‘ประชาชนจะอดตายกันแล้ว’ ปัจจุบันยังติดตามข่าวสารบ้านเมือง เหมือนเดิมไหม ? ‘ประชาชน จะมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีกิน มีใช้’ วลี ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง คงจะติดตราตรึง ไปอีกนาน

จับกระแส!! เดินเครื่องเศรษฐกิจไทย มองยังไงก็ไม่เห็นความชัดเจน หลังผู้ประกอบการแห่ 'ปิดกิจการ-เลิกจ้าง' โครงการใหญ่ก็ค้างเงียบ

ปรากฏการณ์การปรับ ครม. ของรัฐบาล นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เพื่อเดินเครื่องเศรษฐกิจประเทศไทย แต่งตั้ง ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ นำโดย รองนายกฯ นายพิชัย ชุณหวชิร ควบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมแต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยเพิ่มอีก 1 ตำแหน่ง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล จาก เลขานุการ รมว.คลัง ขยับมาเป็น รมช.คลัง ทำให้กระทรวงการคลัง มีรัฐมนตรี 4 คน เต็มอัตราศึก พร้อมรบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ  
แต่จากนั้นเพียงไม่กี่วัน หลังจากแบ่งงานภายในกระทรวง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง สะท้อนความไม่พอใจต่อ รมว.คลังใหม่ป้ายแดง ส่งผลกระทบต่อรัฐบาล หลังจาก นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพิ่งยื่นใบลาออกเพียงสัปดาห์เดียว สะท้อนถึงการจัดวางทีมรัฐมนตรีของ นายกฯ เศรษฐา ที่เริ่มเห็นความขัดแย้ง รอยร้าว ของรัฐบาล เพิ่มมากขึ้น

เศรษฐกิจไทย ที่รัฐบาลหวังจะกระตุ้น จาก โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ดิจิทัลวอลเล็ต) ก็ยังไม่อาจคาดหวังได้เต็มร้อย ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ก็แทบจะปรับตัวยกแผง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ปรับตัวสูงขึ้น กองทุนน้ำมันเริ่มแบกไม่ไหว 

การประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ พร้อมข่าวการทยอยปิดกิจการของผู้ประกอบการ ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา นำโดยกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม...

- 27 พฤศจิกายน 2566 บริษัท คิตากาว่า (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศปิดกิจการแบบถาวร
- 30 พฤศจิกายน 2566 บริษัท ทีเอ็มที โมลด์ เทคโนโลยี จำกัด ประกาศปิดกิจการ

- 28 ธันวาคม 2566 บริษัท โรงงานผลิตเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด ประกาศเลิกจ้างพนักงาน
- 27 เมษายน 2567 วอยซ์ ทีวี (Voice TV) ประกาศยุติการออกอากาศ ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป 

- 29 เมษายน 2567 บริษัทขายรถมือสอง สัญชาติอินเดีย CARs24 ประกาศปิดกิจการ 
- 30 เมษายน 2567 'อร่อยดี' แบรนด์ร้านอาหารไทยจานด่วน ในเครือ CRG โพสต์แจ้งปิดทุกสาขา 

- และ 1 พฤษภาคม 2567 ต้อนรับวันแรงงาน บริษัท วี.เอ็ม.ซี. เซฟตี้กลาส (ประเทศไทย) จำกัด โรงงานย่านเทพารักษ์ ก็ปิดกิจการจากการขาดสภาพคล่อง

หากดูข้อมูลจาก กรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่า ไตรมาสแรกปี 2567 มีโรงงานปิดกิจการพุ่งสูงถึง 367 แห่ง ส่งผลให้สูญเสียเงินลงทุนรวมกว่า 9,417.27 ล้านบาท และพนักงานถูกเลิกจ้างมากถึง 10,066 คน ...!!!

ข่าวคราวการเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติ เข้ามาลงทุนในประเทศ ก็เริ่มมีสัญญาณไม่ดี โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ อภิมหาโปรเจ็กต์ 1 ล้านล้านบาท เส้นทางชุมพร-ระนอง ข่าวคราวของโครงการเงียบหายไปพักใหญ่แล้ว ... ความเคลื่อนไหวล่าสุดของโครงการนี้คือ การจัดโรดโชว์ ที่ประเทศจีน Thailand Landbridge Roadshow เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่กรุงปักกิ่งโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นับจากโรดโชว์ครั้งแรกเมื่อปลายปีที่แล้ว จนถึงครั้งล่าสุดโครงการแลนด์บริดจ์ ‘มีแต่ผู้สนใจ’ แต่ยังไม่มีข่าวเลยว่า จะมีใครแสดงความต้องการที่จะ ‘เข้ามาลงทุน’ อย่างจริงจัง แม้แต่รายเดียว 

นายกฯ เดินสายบินพบผู้นำต่างประเทศ ทำสถิติ ใน 6 เดือน กว่า 16 ประเทศ และเตรียมเดินทางไปเยือนประเทศฝรั่งเศส และอิตาลี ในช่วงระหว่างวันที่ 15-21 พฤษภาคม 2567 นี้ จากนั้นในวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2567 นายกฯ และคณะ จะเดินทางไปญี่ปุ่น ภาพการเจรจาการค้าของนายกฯ ที่ได้ฉายาจากสื่อ ว่า ‘เซลล์แมน’ ผลงานการดึงดูดนักลงทุน ก็ยังไม่มากเท่าที่ควร

ลุ้นกันต่อ ... ลุ้นว่า ประชาชน จะช่วยกันประครองสภาพการเงินของตนเอง ให้ผ่านพ้นปีนี้ไปให้ได้ ลุ้นว่า ผู้ประกอบการ SME รายเล็ก ๆ ที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้ยังคงมีเม็ดเงินจ้างแรงงาน ต่อไปได้ ... ลุ้นจริง ๆ   

‘สินค้าแพง - เศรษฐกิจไม่ขยับ’ ภาระหนักอึ้ง ‘ครม. เศรษฐา 2’

เรื่องวุ่น ๆ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ดิจิทัลวอลเล็ต) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังเคลียร์ไม่จบ ปัญหาเศรษฐกิจ ยังถาโถมมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องราคาสินค้า อุปโภคบริโภค ที่แทบจะปรับตัวยกแผง

ราคาผักสด ปรับราคาสูงขึ้นหลังสงกรานต์ รายงานข่าวจาก สวท.สงขลา แจ้งว่า ที่ตลาดทรัพย์สินพลาซ่า เขตเทศบาลนครสงขลา ผักหลายชนิดปรับราคา เช่น ถั่วฝักยาว จากกิโลกรัมละ 50 บาท เป็น 100 บาท ผักกาดหอม จากกิโลกรัมละ 60 บาท เป็น 100 บาท ผักชี จากกิโลกรัมละ 200 บาท เป็น 250 บาท ต้นหอม จากกิโลกรัมละ 90 บาท เป็น 120 บาท ผักบุ้งจีน จากกิโลกรัมละ 30 บาท เป็น 50 บาท มะนาว จากกิโลกรัมละ 120 บาท เป็น 150 บาท มะระ จากกิโลกรัมละ 40 บาท เป็น 60 บาท และ แตงกวา จากกิโลกรัมละ 25 บาท เป็น 40 บาท

เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ประกาศปรับราคาไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ขึ้นราคาอีกแผงละ 6 บาท หรือฟองละ 20 สตางค์ ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2567 เป็นต้นไป ส่งให้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม อยู่ที่ฟองละ 3.60 บาท  

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รายงานข้อมูลราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม ปรับราคาขึ้นอีกกิโลกรัมละ 4 บาท ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งที่ 3 ในเดือนเมษายน จากก่อนหน้านี้ได้ปรับขึ้นไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งละ 4 บาท ในวันที่ 17 มีนาคม 2567 และวันที่ 8 เมษายน 2567 รวมทั้งสิ้นเป็นการปรับขึ้น 12 บาทต่อกิโลกรัม 

ซึ่งก่อนหน้านี้ ช่วงต้นปี ราคาขายปลีกเนื้อไก่ ก็มีการปรับขึ้นราคา ขาไก่ตัดเล็บ จากราคา กิโลกรัมละ 80 บาท ขึ้นมาเป็น กิโลกรัม ละ 110 บาท ปีกเต็ม จากราคากิโลกรัมละ 90 บาท ขึ้นเป็น กิโลกรัมละ 100 บาท ปีกปลาย จากราคา กิโลกรัมละ 90 บาท ขึ้นเป็น กิโลกรัมละ 125 บาท

กระทรวงพาณิชย์ ผู้มีหน้าที่หลักในการดูแล และควบคุมสินค้า ได้กำหนดนโยบายสำคัญ ‘ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส เน้นการรดน้ำที่ราก ดูแลคนตัวเล็ก’ ยังไม่ค่อยมีข่าวคราวในโครงการช่วยเหลือคนตัวเล็กมาก เท่าใดนัก นอกจากข่าวการลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีอย่างต่อเนื่อง

ในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา ของยุครัฐบาลก่อนหน้า  เรามักได้เห็น ได้ยิน ข้อความตามสื่อต่าง ๆ ว่า คนไทยจะอดตายกันหมดแล้ว” หรือ “ราคาสินค้าแพง รายได้น้อย ต้องการให้มีรัฐบาลใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย” 

ปัจจุบัน ในขณะที่ราคาสินค้าปรับขึ้นราคาสูงกว่าที่ผ่านมา เสียงก่นด่าเหล่านี้ กลับไม่ดังเหมือนแต่ก่อน 

พร้อมทั้งข่าว การแจ้งยุติกิจการ ของ วอยซ์ ทีวี (Voice TV) เลิกจ้างพนักงานกว่า 100 ชีวิต ที่เป็นอีกหนึ่งสัญญาณบ่งชี้ทิศทางเศรษฐกิจ ในปี 2567 โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท และการปรับ ครม.เศรษฐา 2 จะเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้หรือไม่...รอติดตามกันต่อไป 

เรื่อง: The PALM


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top