Friday, 26 April 2024
LITE

15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2508 ‘แคนาดา’ ประกาศใช้ ‘ธงเมเปิลสีแดง’ เป็นธงชาติอย่างเป็นทางการ

แคนาดา มีประวัติศาสตร์หลังการมาถึงของชาวตะวันตกยาวนานราว 400 ปี เบื้องแรกในฐานะดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส ก่อนตกมาอยู่ในความครอบครองของอังกฤษในเวลาถัดมา

การใช้ธงชาติของรัฐก่อนที่จะมาเป็นแคนาดาในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยโดยมีสัญลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นรัฐภายใต้อิทธิพลของเจ้าอาณานิคมอยู่เสมอ

เมื่อเข้าถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นสถานการณ์ที่ช่วยส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ และความเป็นชาติของแคนาดา การสนับสนุนอังกฤษในสงครามยังมีส่วนที่นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมือง เมื่อประชาชนจำนวนมากพากันต่อต้านการเกณฑ์ทหาร โดยเฉพาะกลุ่มชาวแคนาดาในควิเบกที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส

หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 1 แคนาดาเดินหน้าสู่ความเป็นรัฐเอกเทศมากขึ้น และพยายามหาธงชาติใหม่เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ใหม่ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 แต่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ จนกระทั่งปีพ.ศ. 2507 ที่รัฐสภาได้ประกาศคัดเลือกธงชาติขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2507 รัฐสภาได้มีมติเลือกธงชาติพื้นแดงขาว ที่มีใบเมเปิลสีแดง ปลายใบ 11 แฉก อยู่ตรงกลาง ให้เป็นธงชาติของแคนาดา โดยสีแดงบนธงซ้ายและขวา หมายถึง มหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนสีขาว หมายถึง ผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่และหิมะ ใบเมเปิลคือสัญลักษณ์ของแคนาดา ซึ่งใช้เป็นตราแผ่นดินมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19

ทั้งนี้ พิธีสถาปนาธงชาติแคนาดาอย่างเป็นทางการมีขึ้นในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2508 ณ รัฐสภาแคนาดา

‘บอสชาตรีแห่ง ONE’ มุ่งปั้น ‘มวยไทย’ ให้ก้องโลก สำนึกคุณ-สานต่อเจตนารมณ์ ‘ครูยอดธง เสนานันท์’

(14 ก.พ.67) ภาพนายใหญ่ขององค์กรศิลปะการต่อสู้ระดับโลก วัน แชมเปียนชิพ ‘ชาตรี ศิษย์ยอดธง’ หรือที่นักมวยไทยเรียกติดปากว่า ‘บอสชาตรี’ สวมชุดครูมวยไทยร่วมงาน ‘มหัศจรรย์ วันมวยไทย ดังไกลสู่ชาวโลก’ ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันมวยไทย 6 ก.พ.ที่ผ่านมา ในฐานะตัวแทนครูมวยไทยผู้ทรงคุณวุฒิและปูชนียบุคคลแห่งวงการมวยไทย เป็นภาพที่มีมนต์ขลังสมกับความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีการในวันนั้น

หลังจบงาน ‘ชาตรี’ ได้เขียนโพสต์ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งว่า “ผมประหลาดใจที่ท่านนายกฯ มอบรางวัลพิเศษแก่ผมในฐานะผู้มีคุณูปการต่อกีฬามวยไทย และรัฐบาลไทยให้เกียรติผมเป็น 1 ใน 20 ครูมวยผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของวงการมวยไทย ความจริงคือผมเพียงสานต่อสิ่งที่คนรุ่นก่อนปูทางไว้ ผมเป็นหนี้บุญคุณ ครูยอดธง เสนานันท์ และเพื่อนสมัยเด็กในค่ายศิษย์ยอดธงสำหรับความสำเร็จของผม”

ชื่อของ ‘ครูยอดธง เสนานันท์’ มักถูกเอ่ยถึงบ่อยครั้งโดย ‘ชาตรี’ ผู้ฝากตัวเป็นศิษย์ตั้งแต่สมัยเริ่มหัดเรียนวิชามวยไทยใหม่ ๆ ‘ครูยอดธง’ จึงถือเป็นครูมวยไทยคนแรกของ ‘ชาตรี’ และท่านยังเป็นปูชนียบุคคลแห่งวงการมวยไทยผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาแด่นักมวยระดับแชมป์โลกมากมาย ทั้งได้สร้างคุณงามความดีอันเป็นที่ประจักษ์กลายเป็นที่รักและเคารพไปทั่วสารทิศ

จากศิษย์ก้นกุฎิของ ‘ครูยอดธง’ หลายปีผ่านไป ‘ชาตรี’ ได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประกอบกับคุณธรรมที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมา ก่อตั้งยิมศิลปะการต่อสู้ Evolve MMA ที่สิงคโปร์ ซึ่งเปรียบเสมือนสาขาหนึ่งของค่ายมวยศิษย์ยอดธง ครั้งนั้น ‘ครูยอดธง’ ได้กล่าวถึงความสำเร็จของลูกศิษย์ด้วยความชื่นชมยินดี 

“(ครูมวย) เขาบอกว่าเขามีความภูมิใจได้มาอยู่ศิษย์ยอดธงที่สิงคโปร์​ ยิ่งมาเห็นครูเขาก็ดีใจ ครูก็บอกต้องรวมถึง ‘ชาตรี’ ด้วย คือไม่เอาเปรียบนักมวย ครูคิดว่าทั่วโลกไม่มีใครเขาจ้างแบบนี้หรอก ครูก็ฝากขอบคุณ ‘ชาตรี’ ที่เป็นลูกศิษย์ครูคนหนึ่ง แล้วมาสร้างชื่อเสียงศิษย์ยอดธงให้ทั่วโลกได้รู้ได้เรียน และเงินรางวัลมากที่สุดในโลก”

“หลาย ๆ คนเขาก็อยากมาอยู่ ‘ศิษย์ยอดธง’ ทั้งนั้น เอ่ยชื่อมาก็รู้จัก เขาก็อยากมาอยู่ เพราะ ‘ศิษย์ยอดธง’ สิงคโปร์ ทาง​ ‘ชาตรี’ ไม่เคยเอาเปรียบลูกน้อง มีแต่ให้กับให้ ถ้าอยู่ในระเบียบของ ‘ชาตรี’” 

นอกจากเป็นผู้ก่อตั้ง Evolve MMA ซึ่งปัจจุบันได้รับการยกย่องว่าเป็นสถานที่ฝึกสอนศิลปะการต่อสู้ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแล้ว ‘ชาตรี ศิษย์ยอดธง’ ยังได้ก่อตั้ง ‘วัน แชมเปียนชิพ’ องค์กรศิลปะการต่อสู้ระดับโลก รวมถึง ‘วัน ลุมพินี’ ซึ่งเป็นรายการศิลปะการต่อสู้ที่นักมวยไทยใฝ่ฝันอยากร่วมแข่งขันมากที่สุด ด้วยค่าตัวที่จ่ายสูงสุดในประเทศไทย รวมถึงโบนัส และโอกาสที่จะยกระดับอาชีพไปสู่การเป็นซูเปอร์สตาร์ระดับโลก 

ทั้งหมดนี้เป็นหนึ่งในจุดประสงค์ของ ‘ชาตรี’ ที่ตั้งใจจะสานต่อเจตนารมณ์ของ ‘ครูยอดธง’ ผู้ล่วงลับ เพื่อที่จะสืบทอด ส่งเสริม และสานต่อให้กีฬาประจำชาติมวยไทย และนักกีฬาไทยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติสืบไป

14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ‘วันแห่งความรัก’ หรือ ‘วันวาเลนไทน์’ Valentine's Day วันระลึกถึง ‘นักบุญวาเลนไทน์’ ผู้อุทิศตนเพื่อความรัก

‘วันวาเลนไทน์’ หรือในภาษาอังกฤษ คือ ‘Valentine's Day’ หรือ ‘วันแห่งความรัก’ นั่นเอง และคงเป็นวันที่ใครหลาย ๆ คนรอคอย... โดยเฉพาะหนุ่มสาวที่ตื่นขึ้นมา พร้อมรอยยิ้ม เพื่อเตรียมของขวัญวาเลนไทน์ คำหวาน และข้อความพิเศษ ๆ มอบให้กับคนรักของตัวเอง

สำหรับประวัติหลาย ๆ คนคงสงสัยว่า วันวาเลนไทน์ (Valentine's Day) คืออะไรและเกิดขึ้นเพราะอะไร โดยเหตุเพราะวันที่ 14 กุมภาพันธ์นั้นเป็นวันเสียชีวิตของนักบุญวาเลนไทน์ หรือเซนต์วาเลนไทน์ นักบุญแห่งความรักนั่นเอง โดยนักบุญวาเลนไทน์ เป็นผู้ริเริ่มการจัดงานแต่งงานในยุคที่ไม่นิยมให้แต่งงานกัน เหตุเพราะในช่วงนั้น โรม ต้องประสบกับสงคราม จักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง ต้องการเกณฑ์คนไปรบ แต่มีบุคคลจำนวนมากที่มีครอบครัว มีภรรยา มีคนรัก ต่างไม่อยากจะทิ้งครอบครัวไป ทำให้ จักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง ตัดสินใจให้ยกเลิกการแต่งงานและการหมั้นทั้งหมดของชาวโรมันในยุคนั้นไปหมด อย่างสิ้นเชิง

แต่นักบุญวาเลนไทน์กลับสวนกระแสของจักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง ชักชวนคู่รักมาแต่งงานหลายต่อหลายคู่ จนโดนจับตัวไปขังเอาไว้ และในคุกที่คุมขังนักบุญวาเลนไทน์นั้น เขาได้พบรักกับสาวตาบอดนางหนึ่ง เมื่อโดนจับได้ นักบุญวาเลนไทน์จึงถูกนำตัวไปประหารในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันดังกล่าวจึงกลายมาเป็น วันวาเลนไทน์ วันที่ผู้คนจะรำลึกถึงนักบุญผู้อุทิศตนให้ความรักนั่นเอง

ทั้งนี้ สัญลักษณ์วันวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก คือ เทพเจ้าคิวปิด ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความรักดั้งเดิมของชาวโรมัน ร่างกายเป็นเด็กทารกติดปีก กำลังโก่งคันศรทองเล็งไปยังหัวใจของผู้คน ตามตำนานของกรีกและโรมันพูดถึงคิวปิดว่า เป็นบุตรของมาร์ (เทพเจ้าของสงคราม) และ วีนัส (เทพเจ้าแห่งความรักและความงาม)  

ตำนานความรักของ เทพเจ้าคิวปิด นั้น ในอดีตเทพเจ้าวีนัสอิจฉา ‘ไซกี’ ธิดาวัยกำลังแรกรุ่นของกษัตริย์องค์หนึ่ง ที่สำคัญคือไซกีสวยกว่าเทพเจ้าวีนัสมาก นางเลยส่งเทพเจ้าคิวปิดไปหาไซกี เพื่อบันดาลให้ไซกีมีความรักกับบุรุษเพศ แต่เทพเจ้าคิวปิดกลับหลงรักไซกีและพามาที่วัง และลอบมาหาในเวลากลางคืนเพื่อไม่ให้ไซกีรู้ว่าตนเองเป็นใคร แต่มีคนยุให้ไซกีแอบดูตอนเทพเจ้าคิวปิดนอนหลับ แต่ด้วยความตื่นเต้นของไซกีที่เห็นเทพเจ้าคิวปิดเป็นหนุ่มรูปงาม เลยเผลอทำน้ำมันตะเกียงหกใส่เทพเจ้าคิวปิด เมื่อเทพเจ้าคิวปิดรู้สึกตัวตื่นขึ้นก็โกรธมากที่นางขัดคำสั่ง จึงทิ้งนางไป

เมื่อโดนทิ้ง ไซกีก็ออกตามหาเทพเจ้าคิวปิด ซึ่งตลอดเวลาไซกีถูกเทพเจ้าวีนัสกลั่นแกล้งต่าง ๆ นานา จนเทพเจ้าคิวปิดเห็นใจต้องเข้ามาช่วย เทพเจ้าจูปิเตอร์เห็นใจ จึงช่วยให้ทั้งสองได้ครองรักกัน

‘ลิซ่า’ คอนเฟิร์ม!! เตรียมปรากฏตัวใน ‘The White Lotus’ ซีรีส์ชื่อดังของ HBO จ่อบินลัดฟ้ามาถ่ายทำที่เมืองไทย

(13 ก.พ.67) หลังจากปล่อยให้แฟนชาวไทยรอลุ้นอยู่นาน ในที่สุดก็มีการคอนเฟิร์มเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าซีรีส์ตลกร้าย เสียดสีประเด็นสังคมอย่าง The White Lotus ซีรีส์จาก HBO จะมาถ่ายทำที่ประเทศไทย

ล่าสุดวันนี้ก็เซอร์ไพรส์คอซีรีส์และแฟน K-pop อีกครั้ง เพราะมีการยืนยันผ่านทางค่าย LLOUD เผยว่า ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล จะร่วมแสดงในซีรีส์ The White Lotus ในซีซั่น 3 ด้วย

นับเป็นครั้งแรกที่ได้เห็น สาวลิซ่า โลดแล่นในวงการซีรีส์ ท่ามกลางแฟน ๆ ที่ตั้งตารอชมบทบาทใหม่ในอุตสาหกรรมบันเทิงของเธอ

สำหรับซีรีส์ The White Lotus เป็นออริจินัลซีรีส์ของ HBO ฝีมือการเขียนบทและกำกับโดย Mike White ซึ่งกวาดรางวัลมากมาย เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คนที่เข้าพักในโรงแรมหรู ก่อนจะเจอเหตุการณ์สุดอลเวงที่คาดไม่ถึง

ตัวซีรีส์เต็มเปี่ยมไปด้วยการจิกกัด เสียดสีประเด็นในสังคม ผ่านตัวละครที่มีความหลากหลาย ทั้ง เพศ เชื้อชาติ ชนชั้น และความเชื่อ

โดยในซีซั่น 3 นี้ มีการเปิดเผยรายชื่อนักแสดง มีนักแสดงไทยมาโชว์ฝีมือ ได้แก่ ‘ดอม เหตระกูล’ ‘เมธี ทับทิมทอง’ มีกำหนดเริ่มถ่ายทำในเดือนกุมภาพันธ์ที่กรุงเทพฯ, ภูเก็ต และเกาะสมุย

13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ‘วันรักนกเงือก’ สัตว์ป่าโบราณ สัญลักษณ์แห่งรักแท้ 1 ในสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ เพราะความเชื่อของมนุษย์

13 กุมภาพันธ์ ‘วันรักนกเงือก’ สัตว์ที่ถูกคุกคามเพราะความเชื่อจนใกล้สูญพันธุ์ นำหัวและโหนกมาทำของขลังและเครื่องประดับ

‘นกเงือก’ เป็นสัตว์โบราณสืบสายพันธุ์มานานราว 60 ล้านปี หลายคนอาจรู้จักมันในฉายา ‘สัญลักษณ์แห่งรักแท้’ เพราะนกเงือกเป็นสัตว์ผัวเดียวเมียเดียวไปตลอดชีวิต หากตัวผู้ที่ออกไปหาอาหารตาย ตัวเมียและลูกน้อยที่รออยู่ในรังก็จะไม่ออกไปไหนและรอจนตัวตายเช่นกัน

นอกจากเรื่องราวความรักที่มีต่อสายพันธุ์เดียวกันแล้ว นกเงือกยังส่งต่อความรักให้แก่สิ่งมีชีวิตอื่นในผืนป่าและมนุษย์ด้วย

โดยการดำรงอยู่ของพวกมันจะช่วยขยายพันธุ์พืชได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถกินผลไม้ได้กว่า 300 ชนิด โดยเฉพาะผลไม้ที่มีขนาดผลใหญ่กว่า 1.5 เซนติเมตร ที่นกขนาดเล็กไม่สามารถช่วยกระจายเมล็ดได้ แล้วปลูกเมล็ดด้วยการขับถ่ายและขย้อนออกทางปาก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง

นอกจากนี้นกเงือกยังเป็นผู้ล่าสำคัญของระบบนิเวศป่า จึงช่วยควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก อย่างแมลงและหนูได้ด้วย ด้วยเหตุนี้นกเงือกจึงมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่า

สำหรับในประเทศไทยมีนกเงือกทั้งหมด 13 ชนิด แต่น่าเสียดาย ที่ ‘นักปลูกป่ามือฉมัง’ อย่างนกเงือก กำลังถูกคุกคามจากมนุษย์ที่ไล่ล่าหมายหัวพวกมันเพียงเพราะความเชื่อและค่านิยมในการนำหัวและโหนกของนกเงือกมาทำของขลังและเครื่องประดับ ทำให้หลายชนิดอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์

หากนกเงือกมีจำนวนลดลงหรือสูญพันธุ์ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ อาจสูญพันธุ์ตามไปด้วย ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2547 มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งดำเนินการศึกษาวิจัยนกเงือกมานานกว่า 20 ปี จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น ‘วันรักนกเงือก’ เพื่อให้สังคมและประชาชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือกที่ใกล้สูญพันธุ์อยู่ทุกขณะ

ในวันสำคัญนี้จึงถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องช่วยกันปกป้องรักแท้นี้ไว้ ก่อนที่ความรักอันยาวนานของนกเงือกจะจบลงที่ยุคของเรา…

ประมวลภาพ 'เอ็ด ชีแรน' แบบนี้สิถึงไทยจริง ได้เยือนทั้งเจ๊ไฝ แถมสักยันต์ 8 ทิศกับ อ.เหน่ง

เรียกได้ว่าซอฟต์พาวเวอร์เมืองไทยที่ดังไกลทั่วโลกตอนนี้ นอกจาก ‘ไข่เจียวปูเจ๊ไฝ’ แล้ว ก็ยังมี ‘การสักยันต์’ ที่กลายเป็นที่ยอมรับของเหล่าดาราฮอลลีวูด 

ล่าสุด ‘เอ็ด ชีแรน’ ศิลปินดังที่บินมาเปิดคอนเสิร์ตที่เมืองไทยก็จัดเต็มทั้งสองอย่าง โดยก่อนแสดงคอนเสิร์ตก็ไปชิมไข่เจียวปูเจ๊ไฝ และพอจบคอนเสิร์ตก็ตามมาด้วยการเดินทางไปสักยันต์กับ อ.เหน่ง อ่อนนุช 

ซึ่งยันต์ที่นักร้องดังเลือกสักคือ ‘ยันต์ 8 ทิศ’ โดยจัดวางตำแหน่งไว้ที่ต้นขาด้านซ้าย ซึ่งเป็นรอยสักแรกที่อยู่บริเวณขาของเจ้าตัว ที่ให้ทั้งเมตตา ปกปักรักษา และป้องกันภัย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ครั้งแรกของเจ้าตัวกับการลงเข็มสัก เพราะดูจากแขนทั้งสองข้างแล้วก็ผ่านการลงเข็มมาไม่น้อย โดยส่วนมากเป็นลายที่เจ้าตัวชื่นชอบ ส่วนการลงเข็มที่เป็นยันต์และเกี่ยวโยงกับความเชื่อ นับว่าเป็นครั้งแรกของเจ้าตัวเลยทีเดียว

12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 วันเกิด ‘อับราฮัม ลินคอล์น’ มหาบุรุษแห่งดินแดนเสรีภาพ ผู้นำประเทศผ่านพ้น ‘สงครามกลางเมือง-การเลิกทาส’

12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 วันเกิด ‘อับราฮัม ลินคอล์น’ อดีตประธานาธิบดีและมหาบุรุษที่ชาวอเมริกันยกย่องนับถือ

‘อับราฮัม ลินคอล์น’ (Abraham Lincoln) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา และรัฐบุรุษชาวอเมริกัน ซึ่งเขาเกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 ผลงานที่ทำให้เขาเป็นที่จดจำคือ การนำพาประเทศผ่านพ้น ‘สงครามกลางเมือง’ ระหว่างปี 2404-2408 ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญ ทางทหารและศีลธรรมครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ ทำให้สามารถรักษาความเป็นสหภาพของสหรัฐอเมริกาเอาไว้ได้ นอกจากนี้ เขายังเป็นต้นแบบใน ‘การเลิกทาส’ นำไปสู่การสร้างความมั่นคงแข็งแกร่งให้กับรัฐบาลกลาง ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจและการเงินให้ทันสมัย

‘อับราฮัม ลินคอล์น’ (Abraham Lincoln) ถูกลอบสังหารด้วยการยิงเข้าที่ศีรษะ โดย ‘จอห์น วิลค์ส บูธ’ ขณะกำลังชมการแสดงที่โรงละครฟอร์ด (Ford's Theatre) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2408

‘Miami Hotel’ โรงแรมสุดวินเทจกลางกรุง อายุเกือบ 60 ปี หมุดหมายถ่ายทำซีรีส์ดัง ‘The Serpent’ จาก Netflix

เมื่อปลายปี 2022 (พ.ศ. 2565) ศาลสูงเนปาลได้ประกาศปล่อยตัว ‘ชาร์ลส์ โสภราช’ ฆาตกรต่อเนื่อง 30 ศพ เจ้าของฉายา ‘นักล่าอสรพิษ’ และ ‘นักฆ่าบิกินี’ ผู้ถูกคุมขังเกือบ 20 ปี ออกจากเรือนจำเนปาลด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ

การประกาศปล่อยตัวครั้งนี้ทำให้ผู้คนนึกย้อนถึงวีรกรรมสุดเหี้ยมโหดของชายที่ชื่อ ‘ชาร์ลส์ โสภราช’ ที่ครั้งหนึ่งเคยเข้ามาในประเทศไทย และก่อเหตุฆาตกรรม มีเหยื่อเคราะห์ร้ายกว่า 14 ราย เท่านั้นยังไม่พอยังได้ลงมือฆาตกรรมเหยื่อในประเทศอื่น ๆ เช่น เนปาล อินเดีย มาเลเซีย ฝรั่งเศส อัฟกานิสถาน ตุรกี และกรีซ คาดว่ามีเหยื่อทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 30 ราย

เรื่องราวของ ‘ชาร์ลส์ โสภราช’ ถูกนำมาทำละคร นวนิยายหลายครั้ง ในปี 2563 ก็ได้ถูกหยิบยกมาทำเป็นซีรีส์ในชื่อ ‘The Serpent’ หรือ ‘นักฆ่าอสรพิษ’ ออกฉายทาง Netflix มีจำนวน 8 ตอน โดยสถานที่ถ่ายทำซีรีส์เรื่องนี้ส่วนใหญ่อยู่ใน ‘ประเทศไทย’

วีรกรรมของ ‘ชาร์ลส์ โสภราช’ ในประเทศไทยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970 ทำให้กองถ่าย The Serpent ต้องคัดเลือกโลเคชันถ่ายทำอย่างพิถีพิถัน เพื่อภาพที่ฉายออกมาจะได้ทำหน้าที่พาผู้ชมย้อนเวลาได้อย่างสมบูรณ์แบบ

หนึ่งในโลเคชันสวย ๆ ในซีรีส์ The Serpent ก็คือโรงแรม ‘Miami Hotel’ โรงแรมยุค Mid Century Vintage ตั้งอยู่ซอยสุขุมวิท 13 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ ซึ่งมีหลายฉากหลายซีนที่ถ่ายทำกันที่โรงแรมแห่งนี้ ซึ่งต้องขอบอกเลยว่า แต่ละฉากที่ออกมา สวยงาม และสมจริงสุด ๆ ส่วนจะมีฉากไหนบ้าง ต้องตามไปดูใน Netflix กันนะ

ภาพระหว่างถ่ายทำซีรีส์ในปี 2563

สำหรับ ‘Miami Hotel’ ก่อตั้งโดยคุณบัญชา และคุณมาลี แซ่ตั้ง (ตัณศิริชัยยา) เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508) ส่วนเหตุผลที่ใช้ชื่อว่า ‘Miami Hotel’ ก็เพราะในช่วงนั้นมีชาวต่างชาติเริ่มเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น รวมทั้งทหารอเมริกันที่เดินทางมาพักผ่อนที่ไทยก่อนจะไปปฏิบัติภารกิจในสงครามเวียดนาม (ยุคสงครามเวียดนาม) เจ้าของกิจการโรงแรมในสมัยนั้นจึงนิยมหยิบชื่อเมืองต่าง ๆ ในสหรัฐฯ มาตั้งเป็นชื่อโรงแรม จุดประสงค์ก็เพื่อต้องการต้อนรับลูกค้าต่างชาติ และก็ง่ายต่อการจดจำด้วย

แต่เหตุผลไม่ได้มีเพียงเท่านี้ อีกสาเหตุก็คือ ในปีที่เปิดดำเนินกิจการโรงแรม ได้มีการจัดประกวดนางงามจักรวาลที่หาดไมอามี่ สหรัฐฯ และในปีนั้นนางงามตัวแทนประเทศไทยคือ ‘อภัสรา หงสกุล’ ซึ่งสามารถคว้ามงกุฎนางงามจักรวาลคนแรกของประเทศไทยด้วย ทำให้ชื่อเสียงประเทศไทย และไมอามี่ กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ โลโก้ของโรงแรมยังได้แรงบันดาลใจมาจากมงกุฎนางงามจักรวาลอีกด้วย

แม้ว่า ‘Miami Hotel’ จะเปิดให้บริการมายาวนาน ผ่านยุคสมัยและกาลเวลามาเกือบ 60 ปี แต่ในปัจจุบันก็ยังคงดำเนินกิจการ ต้อนรับลูกค้าอยู่ แต่การตกแต่งภาย วัสดุ สี และบรรยากาศยังใกล้เคียงกับโรงแรมเมื่อแรกสร้าง มีการบำรุงรักษา และต่อเติมอาคาร ให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของอาคารสาธารณะ แต่ก็ไม่ได้ลดทอนคุณค่าทางสถาปัตยกรรม 

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ ‘Miami Hotel’ ได้รับเลือกเป็น 1 ในงานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน จาก สมาคมสถาปนิกสยาม ปี 2563 ด้วย

สำหรับใครที่อยากไปตามรอยซีรีส์ The Serpent หรือกำลังมองหาโรงแรมเก๋ๆ พักผ่อนช่วงวันหยุด ก็สามารถโทรสอบถาม-จองห้องได้ที่เบอร์ 02 253 5611 หรือติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/thaimiamihotel

การได้เห็นสถานที่ในประเทศไทย กลายเป็นหมุดหมายถ่ายทำภาพยนตร์หรือซีรีส์ต่างชาติ ก็รู้สึกภูมิใจไม่น้อย หนึ่งสิ่งที่ชัดเจนคือดีใจที่ประเทศไทยในมุมต่าง ๆ ได้เผยโฉมสู่สายตาชาวโลก แม้จะถูกดัดแปลง ตกแต่ง เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทถ่ายทำก็ตาม แต่เชื่อหาก เมื่อชาวต่างชาติ หรือแม้แต่คนไทยด้วยกันเห็น ก็คงต้องกลับมาเยือนกันสักครั้งเป็นแน่

11 กุมภาพันธ์ ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันเสื้อยืดขาว’ รำลึกการประท้วงจ้างงานไม่เป็นธรรม

รู้หรือไม่ เสื้อยืดขาวมีประวัติความเป็นมาสำคัญอย่างไร…ทุกวันที่ 11 กุมภาพันธ์ จะถือเป็นวันเสื้อยืดขาว (White T-Shirt Day) เพื่อรำลึกถึงจุดสิ้นสุดของการประท้วงของพนักงานของบริษัทเจอเนอรัลมอเตอร์ส (General Motors) เพื่อเรียกร้องสวัสดิการและสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2480 ด้วยวิธีนั่งลงและหยุดทำงานใดๆ โดยสิ้นเชิงภายในบริเวณโรงงาน โดยคนรุ่นหลังสามารถรำลึกถึงวีรกรรมที่ส่งผลดีด้านสวัสดิภาพแรงงานนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาได้ด้วยการสวมเสื้อยืดสีขาวในวันนี้

10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ครบรอบ 70 ปี วันคล้ายวันสถาปนา ‘กองอาสารักษาดินแดน’

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันอาสารักษาดินแดน’

ทั้งนี้ ‘กองอาสารักษาดินแดน’ มีฐานะเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 นับเป็นเวลายาวนานถึง 70 ปี มาแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีกำลังสำรองในการช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติ ทั้งในยามปกติ และในยามสงคราม โดยการรับสมัครจากราษฎรชายหญิงที่สมัครใจอาสาเข้ามาเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ภายใต้สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยแบ่งส่วนราชการกองอาสารักษาดินแดนออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. ส่วนกลาง มีกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (บก.อส.) รับผิดชอบการบริหารงานในส่วนกลาง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บัญชาการ

2. ส่วนภูมิภาค มีกองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด (บก.อส.จ.) รับผิดชอบการบริหารงานในส่วนภูมิภาค โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด และกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ (กองร้อย อส.อ.) โดยนายอำเภอเป็นผู้บังคับกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ เป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชา  

โดยมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 ดังนี้

1.) บรรเทาภัยที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทําของข้าศึก
2.) ทําหน้าที่ตํารวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ
3.) รักษาสถานที่สําคัญและการคมนาคม
4.) ป้องกันจารกรรม สดับตรับฟังและรายงานข่าว
5.) ทําการช่วยให้ความสะดวกแก่ฝ่ายทหารตามที่ทหารต้องการ และตัดทอนกําลังข้าศึก
6.) เป็นกําลังสํารองส่วนหนึ่งที่พร้อมจะเพิ่มเติมและสนับสนุนกําลังทหารได้เมื่อจําเป็น

นอกจากการทำหน้าที่ของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) ตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 แล้ว ยังมีหน้าที่ภารกิจตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย โดยทำหน้าที่ร่วมกับฝ่ายปกครองในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้ประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย จวบจนวันนี้ 10 กุมภาพันธ์ 2567 นับเป็นเวลา 70 ปี ของเหล่าสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนกับการทำหน้าที่ด้วยปณิธานที่แน่วแน่ “ปวงข้าฯ อส. ขอตั้งสัจจา จะปกป้องพารา จนสิ้นใจ” ถือเป็นการทำงานของผู้ปิดทองหลังพระอย่างแท้จริง

‘สมุทรสาคร’ เกาะกระแส!! เปิดตัว ‘กางเกงปูก้ามดาบ’ โชว์อัตลักษณ์ศิลปะ วิถีชีวิต ระบบนิเวศของจังหวัด

(9 ก.พ.67) เปิดตัว 'กางเกงลายปูก้ามดาบ' ผลักดันให้เป็นลวดลายประจำ จ.สมุทรสาคร โดยลวดลายต่าง ๆ บนกางเกงจะมีเรื่องเล่าอันแสดงถึงอัตลักษณ์ทางศิลปะ วิถีชีวิตและระบบนิเวศของสมุทรสาคร ซึ่งประกอบด้วย

>> ลายป่าชายเลน

เป็นลวดลายของต้นโกงกาง สัญลักษณ์แห่งพืชพันธ์ุป่าชายเลน บนเส้นโค้งลงล่างเป็นตัวแทนของพื้นที่น้ำท่วมถึงอย่างชายเลน และหยดน้ำที่แสดงถึงความชุ่มชื่น ประกอบกันเป็นป่าชายเลน แหล่งอาหารสำคัญของท้องสมุทร

>> ลายคลื่นน้ำ 3 ระลอก

เป็นลวดลายของคลื่นน้ำผสานเข้ากับลายเส้นตัดแหลมคล้ายลายกนก จำนวน 3 ระลอก ตลอดแนวชายฝั่ง แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเล ความท้าทายของคลื่นลมที่มีต่อวิถีชีวิตการประมงอันนำมาซึ่งอาหารทะเล และความเป็นพื้นที่ติดทะเล ซึ่งติดกับทะเลตลอดแนวชายฝั่งจากตะวันตกสุดของจังหวัด จนถึงตะวันออกสุดของจังหวัด

เป็นลวดลายแสดงถึงความสำคัญของปูก้ามดาบในระบบนิเวศป่าชายเลน โดยปูก้ามดาบนอกจากจะเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนเช่นเดียวกับปลาตีนแล้ว ยังมีหน้าที่เสริมในการเป็น ‘เทศบาล’, ‘ผู้เฝ้ายาม’ และ ‘ผู้ผลิตอาหาร’ แห่งป่าชายเลนด้วย โดยปูก้ามดาบจะกินซากพืช ซากสัตว์เป็นอาหาร และผ่านกระบวนการย่อยสลาย ขับถ่ายออกมาเป็นมูล ซึ่งเปี่ยมด้วยคุณค่าทางสารอาหารสำหรับสัตว์ทะเลขนาดเล็กๆ และเมื่อถูกน้ำทะเลชะล้างก็จะสลายตัวเป็นอาหารให้แก่เหล่าแพลงตอน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของห่วงโซ่อาหารอีกด้วย อีกทั้งปูก้ามดาบยังเป็นสัตว์ที่มีสัญชาตญาณพิเศษ แสดงพฤติกรรมปิดปากหลุม กลายเป็นการเตือนภัยก่อนน้ำขึ้นด้วย

>> ลายคลื่นน้ำ 3 เส้น

เป็นลวดลายของคลื่นน้ำ จำนวน 3 เส้น แสดงถึงพื้นที่และสมญานาม ‘เมือง 3 น้ำ’ ประกอบด้วย น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ซึ่งเป็นพื้นฐานของการทำเกษตรและประมงอันหลากหลายในพื้นที่
ลายปูก้ามดาบใหญ่

>> ลายปูก้ามดาบใหญ่

เห็นเด่นชัด ซึ่งเป็นทำท่าทางคล้ายการแสดงความรักแบบเกาหลี เป็นตัวแทนของการรณรงค์ให้พวกเราช่วยกันบำรุงรักษาและดูแลระบบนิเวศป่าชายเลนให้คงอยู่กับพวกเราตลอดไป

‘บอสณวัฒน์’ ประกาศขึ้นค่าตัว ‘อิงฟ้า’ 1 มี.ค.นี้ หลังเปิดตัวเล่นซีรีส์ กระแสตอบรับล้นหลาม

หลังจากที่ อิงฟ้า วราหะ ได้ร่วมเงินเปิดตัวซีรีส์เรื่องใหม่ของ OneD Original 2024 ในเรื่อง ‘บางกอกคณิกา’ ซึ่ง อิงฟ้า วราหะ ได้รับบทเป็น ‘กุหลาบ’ โสเภณีสาวสวยในสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกได้ว่ากระแสการเปิดตัวปังมากและมีเสียงชื่นชมในโลกโซเชียลกันอย่างมากมาย มีแฟนคลับที่ไปซัปพอร์ตอย่างล้นหลาม

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (8 ม.ค. 67) ณวัฒน์ อิสรไกรศีล บอสใหญ่แห่งมิสแกรนด์ไทยแลนด์ ก็ได้ประกาศขอปรับค่าตัว อิงฟ้าวราหะ โดยระบุว่า “ปังมาก MGI ขอปรับขึ้นค่าตัว อิงฟ้า สำหรับงานอีเวนต์และพรีเซนเตอร์ของอิงฟ้า เริ่มตั้งแต่ 1 มีนาคมนี้เป็นต้นไปครับ ใครได้เรตปัจจุบันต้องคอนเฟิร์มภายในสิ้นเดือนนี้ครับ ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ”

9 กุมภาพันธ์ ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันพิซซ่า’  อาหารอิตาลีที่โดนใจคนทั่วโลก

รู้หรือไม่ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ของทุกปี ถือเป็นวันพิซซ่า (Pizza) วันแห่งการร่วมเฉลิมฉลองพิซซ่า อาหารอิตาลีชื่อดังที่คนทั่วโลกต่างหลงใหล ซึ่งมีลักษณะเป็นแป้งแผ่นกลมแบนราดด้วยซอสมะเขือเทศ แล้วทำให้สุกโดยการอบในเตาอบ

พิซซ่า (Pizza) เป็นอาหารอิตาลีและอาหารจานด่วนประเภทหนึ่งที่ชาวอิตาลีเป็นผู้คิดค้น มีลักษณะเป็นแป้งแผ่นกลมแบนราดด้วยซอสมะเขือเทศ แล้วทำให้สุกโดยการอบในเตาอบ โดยในประเทศอิตาลีจะมีการเสิร์ฟพิซซ่าในโอกาสที่เป็นทางการ เช่น การทานในภัตตาคาร ซึ่งจะเสิร์ฟโดยไม่หั่นและจะรับประทานโดยใช้มีดและส้อม ในขณะที่ชาวอิตาเลียนโดยทั่วไป เมื่อรับประทานพิซซ่าในโอกาสที่ไม่เป็นทางการ เช่น ทานกันเองที่บ้าน พิซซ่าจะถูกหั่นให้เป็นชิ้นพอดีคำและนิยมทานโดยใช้มือ

จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ พบว่า พิซซ่า ได้รับการบันทึกครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 10 ในบันทึกเอกสารภาษาละติน ณ เมืองกาเอตา (Gaeta) ทางตอนใต้ของอิตาลีในแคว้นลัตซีโอ บนพรมแดนติดกับกัมปาเนีย โดยพิซซ่าสมัยใหม่ได้ถูกคิดค้นขึ้นในเนเปิลส์ และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา

พิซซ่าได้กลายเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมที่สุดในโลกและเป็นรายการอาหารจานด่วนที่หาทานได้ทั่วไปในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือ โดยหาทานได้ง่ายทั้งในร้านที่ขายพิซซ่าโดยเฉพาะ (Pizzerias), ในภัตตาคารอาหารตะวันตกทั่วไป และในรูปแบบของการจัดส่ง (Delivery) ซึ่งหลายบริษัทได้มีการจำหน่ายพิซซ่าในรูปแบบแช่แข็ง เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการนำเข้าไมโครเวฟพร้อมทานได้ทันที

ทั้งนี้ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Associazione Verace Pizza Napoletana (True Neapolitan Pizza Association) ซึ่งได้ก่อตั้งในปี ค.ศ.1984 ได้จดทะเบียนกับสหภาพยุโรปเพื่อรับรองให้พิซซ่าเป็นอาหารที่มีความพิเศษและสะท้อนถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมของผู้ผลิต และในปี ค.ศ.2017 ศิลปะการทำพิซซ่าได้ถูกรวมให้อยู่ในรายการมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก

8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ครบรอบ 4 ปี ‘จ่าคลั่ง’ ก่อเหตุกราดยิงที่โคราช หนึ่งในโศกนาฏกรรม ครั้งเลวร้ายที่สุดของไทย

เรียกว่ายังคงจำฝังใจคนไทย สำหรับเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2563 เป็นเหตุกราดยิงในจังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 กรณีจ่าสิบเอก จักรพันธ์ ถมมา ใช้ปืนยิงผู้บังคับบัญชาและญาติถึงแก่ความตาย แล้วหลบหนีเข้ามาในตัวเมือง กราดยิงผู้คนตามรายทาง ก่อนเข้าไปซ่อนตัวหลบอยู่ในห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช จับบุคคลในห้างเป็นตัวประกัน

สำหรับเหตุการณ์ในวันนั้นเริ่มขึ้น เวลาประมาณ 15.30 น. 8 กุมภาพันธ์ 2563 จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ใช้ปืนยิงผู้บังคับบัญชา คือ พันเอก อนันต์ฐโรจน์ กระแสร์ อายุ 48 ปี ผู้บังคับกองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 และนางอนงค์ มิตรจันทร์ อายุ 65 ปี แม่ยายของพันเอก อนันต์ฐโรจน์ ถึงแก่ความตายที่บ้านพักในตำบลหนองจะบก อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ขณะที่นายหน้าวิ่งหนีไป จึงถูกไล่ยิงเข้าข้างหลังแต่ไม่เสียชีวิต

จากนั้น จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ไปชิงอาวุธสงครามออกมาจากคลังอาวุธกองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ตำบลไชยมงคล โดยยิงทหารเวรกองรักษาการณ์ และทหารดูแลคลังอาวุธ มีพลทหารบาดเจ็บ 1 นาย เสียชีวิตอีก 1 นาย ต่อมา จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ขับรถฮัมวีหลบหนีออกไปทางด้านหลังค่าย มุ่งไปทางวัดป่าศรัทธารวม ตำบลหัวทะเล เพราะทราบว่าภรรยาของผู้บังคับบัญชาออกไปทำบุญที่วัดป่าศรัทธารวม ได้กราดยิงผู้คนตามรายทางถึงแก่ความตายรวม 9 คน คนร้ายกราดยิงกระสุนนับร้อยนัด โดยยิงคนในรถเสียชีวิตและบาดเจ็บ และยังยิงเด็กนักเรียนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ แถมเดินไปยิงซ้ำอีก จากนั้นมีตำรวจมา 2 นาย ไม่ทันลงจากรถก็ถูกยิงจนพรุนเสียชีวิต แต่ปรากฏว่าได้ทราบว่าภรรยาของผู้บังคับบัญชาไปกินข้าวที่เทอร์มินอล 21 โคราช

จ่าสิบเอก จักรพันธ์ จึงได้ขับรถเข้าไปในตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา มุ่งไปที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ซึ่งอยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา โดยกราดยิงผู้คนตามรายทาง และจับผู้คนในห้างเป็นตัวประกัน ทั้งยิงถังแก๊ส ทำให้เกิดระเบิดและเพลิงลุกไหม้ในห้าง

จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ยังถ่ายทอดสดตนเองขณะก่อเหตุลงเฟซบุ๊กของตัวเองอีกด้วย จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมในเช้าวันถัดมา สรุปมีผู้เสียชีวิต 31 คน บาดเจ็บ 58 คน ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัส 32 คน เหตุการณ์กราดยิงครั้งนี้ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย…

7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2483 ‘พินอคคิโอ’ ภาพยนตร์แอนิเมชันรางวัลออสการ์ ออกสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก

พินอคคิโอ (Pinocchio) เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดยาวเรื่องที่สองของวอลท์ ดิสนีย์ โดยได้ออกฉายครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2483 โดยฝีมือการกำกับโดย Ben Sharpsteen

ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องพินอคคิโอ เป็นเรื่องราวการผจญภัยของหุ่นไม้ที่มีชีวิต กับพ่อผู้ยากจนของเขา เจปเปตโต ซึ่งเป็นช่างไม้ โดนลักษณะเด่นของหุ่นไม้มีชีวิตพินอคคิโอ มีที่รู้จักกันดี คือ เมื่อใดที่พูดโกหก จมูกของเขาจะยาวขึ้น

โดยเนื้อเรื่องแต่เดิมนั้น กอลโลดี นักประพันธ์ชาวอิตาเลียนนั้นไม่ได้ตั้งใจที่จะเขียนเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องสำหรับเด็กตั้งแต่แรก เพราะในเนื้อเรื่องดั้งเดิม พินนอคคิโอ ปิดฉากลงด้วยการถูกแขวนคอตาย เนื่องจากทำความผิดนับครั้งไม่ถ้วน

อย่างไรก็ตาม ก็ได้มีการแก้ไขในฉบับถัดมา ซึ่งตอนจบนั้น ได้แก้ให้หุ่นกระบอกนั้นกลายเป็นเด็กที่มีชีวิตจริงๆ ซึ่งก็เป็นตอนจบที่เรารู้จักกันดี

โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังได้รางวัลชนะเลิศรางวัลออสการ์ ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์พินอคคิโอ เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันในตำนาน ที่อยู่ในความทรงจำวัยเด็กและได้กลายเป็นภาพยนตร์ในดวงใจของใครหลายๆ คนมาจนถึงทุกวันนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top