Friday, 9 May 2025
LITE

‘ลิซ่า’ เตรียมสร้างประวัติศาสตร์ อีกครั้ง หลังมีคิวขึ้นโชว์บนเวทีประกาศรางวัลออสการ์ 2025

‘ลิซ่า’ จะได้ขึ้นแสดงบนเวทีออสการ์ที่จะมีการถ่ายทอดสดช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 3 มี.ค. 68 นี้ สามารถรับชมได้ทาง ดิสนีย์พลัส ฮอตสตาร์ ทั้งช่วงพรมแดง และประกาศรางวัล

(25 ก.พ. 68) ดิ อะคาเดมี่ อวอร์ดส ผู้จัดงานประกาศรางวัลออสการ์ เวทีมอบรางวัลด้านภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ประกาศว่า ‘ลิซ่า’ ลลิษา มโนบาล, Doja Cat และ RAYE ที่ร้องเพลง Born Again ร่วมกัน จะได้ขึ้นแสดงในงานประกาศรางวัลออสการ์ 2025 ที่จะมีขึ้นในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 3 มีนาคม 2568 ตามเวลาประเทศไทย

Born Again เป็นเพลงประกอบซีรีส์ The White Lotus ซีซัน 3 ที่ลิซ่านำแสดง โดยเธอได้ร่วมร้องเพลงนี้กับ Doja Cat และ RAYE นักร้องสาวชาวอังกฤษซึ่งเป็นผู้แต่งและโปรดิวซ์เพลงนี้

อย่างไรก็ตาม การขึ้นแสดงครั้งนี้ได้รับเสียงวิจารณ์ตามมา เนื่องจากในปีนี้ไม่มีศิลปินเจ้าของผลงานเพลงที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้ขึ้นเวทีแสดงแม้แต่รายเดียว

ขณะที่นักร้องเพลง Born Again ทั้ง 3 คน ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับเวทีออสการ์เลยเพราะเป็นเพลงประกอบซีรีส์

นอกจากลิซ่าแล้ว ผู้ที่มีรายชื่อขึ้นแสดงบนเวทีออสการ์ในปีนี้ยังประกอบด้วย Queen Latifah ที่เคยได้เข้าชิงรางวัลในปีก่อน แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ ในปีนี้ รวมถึง ซินเธีย เอริโว และอาริอานา กรานเด้ ผู้มีรายการเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาเกี่ยวกับการแสดงจากภาพยนตร์เรื่อง Wicked โดยทั้งคู่จะมาร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งไม่ได้เข้าชิงในสาขาเพลงแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ต้องรอติดตามชมกันว่าโชว์ของ 'ลิซ่า' บนเวทีออสการ์จะออกมาในรูปแบบใด โดยเบื้องต้น เดอะ ฮอลลีวู้ด รีพอร์ตเตอร์ สื่อบันเทิงชั้นนำ รายงานว่าการแสดงในปีนี้จะมีขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชุมชนผู้สร้างหนัง และตำนานในวงการภาพยนตร์ และนอกจากศิลปินที่กล่าวถึงแล้วยังมีคณะนักร้องประสานเสียง Los Angeles Master Chorale มาร่วมแสดงด้วย

รับชมถ่ายทอดสดทาง ดิสนีย์พลัส - ทรูวิชั่นส์

สำหรับประเทศไทย สามารถรับชมการถ่ายทอดสดงานประกาศรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 97 ทั้งช่วงเดินพรมแดง และพิธีมอบรางวัล ในเช้าวันจันทร์ที่ 3 มีนาคม  2568 เวลา 06:30 น. ตามเวลาประเทศไทย ได้บนแอปพลิเคชัน Disney+ Hotstar และทางช่อง True Film 1 (222) และแอปทรูวิชั่นส์ นาว แพ็กเกจ NOW PRIME

ส่วนผู้ที่พลาดการรับชมสด สามารถดูการถ่ายทอดสดแบบย่อ 90 นาที ได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจบงาน และสามารถรับชมได้ตลอด 24 วันบน Disney+ Hotstar โดยงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งนี้ได้ Conan O'Brien ผู้จัดรายการ และนักเขียนรางวัล Emmy® มารับหน้าที่พิธีกรเป็นครั้งแรก

25 กุมภาพันธ์ 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 นับเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นอย่างสมพระเกียรติ พระราชพิธีนี้ถือเป็นโบราณราชประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์และแสดงถึงพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์ กระบวนการในพระราชพิธีได้รับอิทธิพลจากคติความเชื่อทางศาสนาฮินดูและพุทธศาสนา ซึ่งมีรากฐานมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม พ.ศ. 2468 โดยมีลำดับพระราชพิธีดังนี้ การเตรียมพระราชพิธี, พระราชพิธีเบื้องต้น, พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, พระราชพิธีเบื้องปลาย และ การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร

สำหรับกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระมหามณเฑียร เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 

ช่วงเช้า (09.15 น.)พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์เต็มยศทหารเรือ ทรงสายสะพานนพรัตนราชวราภรณ์ เสด็จฯ ออกจากพระที่นั่งบรมพิมานโดยกระบวนราบ ประทับพระราชยานกง เสด็จไปยังหมู่พระมหามณเฑียร เพื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พิธีสรงพระมุรธาภิเษก (09.53 น.)ทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์เป็นพระภูษาเศวตพัสตร์และทรงสะพักขาวขลิบทองคำ ประทับบนตั่งไม้อุทุมพรหุ้มผ้าขาวในมณฑปพระกระยาสนาน พระราชครูวามเทพมุนีและพราหมณ์พิธีกราบบังคมทูลเชิญเสด็จสรงน้ำพระมุรธาภิเษก ซึ่งเป็นพิธีกรรมสำคัญที่แสดงถึงการเปลี่ยนพระราชสถานะเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์

จากนั้นเสด็จขึ้นประทับ ณ พระที่นั่งอัฐทิศภายใต้พระบวรเศวตฉัตร ทรงเครื่องบรมราชภูษิตาภรณ์สีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีพิชัยสงครามประจำวันพฤหัสบดี ทรงรับน้ำอภิเษกจากราชบัณฑิตและพราหมณ์ทั้งแปดทิศ ต่อด้วยการเสด็จประทับบนพระที่นั่งภัทรบิฐภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เพื่อทรงรับพระสุพรรณบัฏ เครื่องขัตติยราชวราภรณ์ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องขัตติยราชูปโภค รวมทั้งพระแสงอัษฎาวุธจำนวน 19 รายการ

เมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ ซึ่งเป็นคำปฏิญาณของพระมหากษัตริย์ในการครองแผ่นดิน ความว่า

“ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เปนที่พึ่ง จัดการปกครองรักษาป้องกัน อันเปนธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบาย เทอญฯ”

ในวันเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเป็นพระบรมราชินี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พร้อมกับการเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งเป็นพระราชพิธีครั้งแรกในรัชกาล

อีกหนึ่งความสำคัญคือ การบันทึกภาพยนตร์ "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว" เป็นภาพยนตร์ข่าวที่ผลิตโดยกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ซึ่งจัดทำขึ้นโดยได้รับพระบรมราชานุญาตเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจเก็บไว้เป็นที่ระลึก ภาพยนตร์ชุดนี้บันทึกเหตุการณ์สำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปลายปี พ.ศ. 2468 ถือเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกภาพยนตร์ในพระราชพิธีสำคัญที่จัดขึ้นตามโบราณราชประเพณีของไทย

24 กุมภาพันธ์ของทุกปี วันศิลปินแห่งชาติ รำลึกถึงพระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 2 และยกย่องศิลปินผู้สร้างสรรค์มรดกศิลปะไทย

วันศิลปินแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยพระปรีชาสามารถในหลายด้านของศิลปกรรม อาทิ กวีนิพนธ์ ดนตรี และประติมากรรม

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีผลงานที่ยิ่งใหญ่ในหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกับช่างประติมากรรมสมัยนั้นในการแกะสลักบานประตูไม้พระวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งเป็นงานประติมากรรมที่ถือเป็นผลงานชั้นเยี่ยม ปัจจุบันบานประตูนี้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมที่มีคุณค่ามากมาย เช่น "อิเหนา" ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดของกลอนบทละครรำจากวรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ 6 และยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกอีกถึง 5 เรื่อง ได้แก่ ไกรทอง พระไชยเชษฐ์ คาวี สังข์ทอง และมณีพิชัย

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในสาขาวรรณกรรม เพื่อแสดงถึงความสำคัญในวงการศิลปะและวรรณกรรมโลก

ด้วยพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ จึงมีการจัดตั้งวันศิลปินแห่งชาติขึ้นเพื่อเชิดชูและยกย่องศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานที่ยิ่งใหญ่ โดยในปี พ.ศ. 2527 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งในขณะนั้นสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำ "โครงการศิลปินแห่งชาติ" เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมศิลปินผู้มีผลงานดีเด่นในทุกสาขาของศิลปะ

โครงการนี้มีจุดประสงค์ในการส่งเสริมและยกย่องศิลปินที่ช่วยรักษาและสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของชาติจากอดีตสู่ปัจจุบัน โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาและคัดเลือกศิลปินที่มีผลงานทรงคุณค่า ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการในปี พ.ศ. 2527 จนถึงปัจจุบัน ได้มีศิลปินหลายท่านที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติในสาขาต่างๆ

การยกย่องศิลปินแห่งชาติไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมคุณค่าของศิลปะในปัจจุบัน แต่ยังช่วยถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้คงอยู่และเจริญรุ่งเรืองต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ยังมีการจัดงานนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติและศิลปะพื้นบ้านทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีศิลปินแห่งชาติสังกัดอยู่ เพื่อสร้างความตระหนักและยกย่องผลงานศิลปะที่มีคุณค่าของไทย

ประวัติ ‘กิมย้ง’ ผู้เขียน ‘มังกรหยก’ ผู้สร้างจักรวาลแห่งยุทธภพ และจอมยุทธ์ผู้กล้า สะท้อน!! ‘ภาพสังคม-ประวัติศาสตร์จีน-ปรัชญาเต๋า-ขงจื้อ’ ด้วยการต่อสู้ที่เข้มข้น

(23 ก.พ. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘All around China’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

ประวัติคุณกิมย้ง ผู้เขียนมังกรหยก 

1. ภูมิหลังครอบครัว ความชอบ และการศึกษา 

สารภาพว่าไม่ใช่แฟนตัวยงของคุณกิมย้งครับ แต่เห็นมังกรหยกกลับมาบูมอีก แล้วก็ดูเป็นวรรณกรรมอมตะที่ไม่หายไปตามเวลาเลย ผมอยากรู้จนต้องมาหาประวัติคนเขียนแล้วก็ต้องบอกว่า Wow จริงๆ ต่อไปคงต้องลองอ่านจริงๆ จังๆ ละครับ (ถ้ามีเวลา) คุณกิมย้ง 金庸 จีนกลาง - จินยง) มีชื่อจริงว่า ฉา เหลียงยง (查良镛) เกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1924 ที่เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ครอบครัวเป็นตระกูลที่มีการศึกษาอย่างดี และคุณกิมย้งก็รักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะวรรณกรรมจีนคลาสสิก เช่น สามก๊ก และ ซ้องกั่ง ในปี ค.ศ. 1944 ได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัย Chongqing Central Political School (重庆中央政治学校外交系) แต่ไม่ชอบรูปแบบการสอนเลยย้ายไปศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยตงอู่ ( 东吴大学Dongwu University)

2. การทำงาน
หลังจากสำเร็จการศึกษา ก็ทำงานให้กับ หนังสือพิมพ์ต้า กงเป่า (大公报) ในเซี่ยงไฮ้ และต่อมาย้ายไปฮ่องกง ปี ค.ศ. 1959 คุณกิมย้งก่อตั้ง หนังสือพิมพ์หมิงเป้า (明报) ซึ่งกลายเป็นสื่อที่มีอิทธิพลสูงมากในฮ่องกงเวลานั้น

3. ผลงานวรรณกรรมและนวนิยายกำลังภายใน
คุณกิมย้งเริ่มเขียนนวนิยายกำลังภายในในปี ค.ศ. 1955 และสร้างจักรวาลแห่ง "ยุทธภพ" ขึ้นมา โดยแต่งนิยายทั้งหมด 15 เรื่อง ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการวรรณกรรมจีน

ผลงานเด่นมีดังนี้ครับ:
• "ไตรภาคมังกรหยก" (The Condor Trilogy):
•《射雕英雄传》(มังกรหยก เล่ม 1, The Legend of the Condor Heroes, 1957-1959)
•《神雕侠侣》(มังกรหยก เล่ม 2, The Return of the Condor Heroes, 1959-1961)
•《倚天屠龙记》(ดาบมังกรหยก, The Heaven Sword and Dragon Saber, 1961-1963)
• 《天龙八部》(แปดเทพอสูรมังกรฟ้า, Demi-Gods and Semi-Devils, 1963-1966)
• 《笑傲江湖》(กระบี่เย้ยยุทธจักร, The Smiling, Proud Wanderer, 1967-1969)
• 《鹿鼎记》(อุ้ยเสี่ยวป้อ, The Deer and the Cauldron, 1969-1972)

นิยายจะเต็มไปด้วยฉากต่อสู้ที่เข้มข้น ปรัชญาเต๋า พุทธ และขงจื๊อ รวมถึงสะท้อนสภาพสังคมและประวัติศาสตร์จีน 

4. อิทธิพลและการดัดแปลงเป็นสื่ออื่น
นวนิยายของคุณกิมย้งถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์หลายครั้ง รวมถึงเกม การ์ตูน เช่น มังกรหยก และ แปดเทพอสูรมังกรฟ้า ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงทั่วเอเชีย และยังได้รับการแปลเป็นหลายภาษา เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และเกาหลี

5. บทบาทด้านวิชาการและวัฒนธรรม
คุณกิมย้งได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย Cambridge โดยงานวิจัยของเขาเกี่ยวกับ "อิทธิพลของปรัชญาขงจื๊อต่อการเมืองจีน" และเคยเป็นศาสตราจารย์รับเชิญที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง

6. บั้นปลายชีวิตและการจากไป
วันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 2018 กิมย้งถึงแก่กรรมในฮ่องกง ขณะมีอายุ 94 ปี

*นอกจากนี้หลังจากที่คุณกิมย้งประสบความสำเร็จในในงานเขียน ก็ได้ไปศึกษาต่อปริญญาเอกที่ Cambridge University โดยใช้เวลาทั้งหมด 13 ปี (1992-2005) แต่ผมเดาว่าน่าจะเรียนไปทำงานไปเพราะป.เอกที่อังกฤษแทบไม่ต้องเจออาจารย์เลยครับผม ชัวร์ 

หัวข้องานวิจัยคือ 《试论中国历史上的儒家思想与法律制度》("An Examination of the Relationship Between Confucianism and the Rule of Law in Chinese History")ซึ่งน่าสนใจมากๆเพราะเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของลักทธิขงจื้อกับระบบกฏหมายในประวัติศาสตร์จีน 

สื่อมวลชนอาวุโส วิเคราะห์ ‘มังกรหยก’ หลังจากได้ชม ชี้!! นี่คือ ‘สีจิ้นผิง’ ในยุคปัจจุบัน ดำเนิน!! นโยบายการทูต สร้างมิตรภาพเชิงบวกกับนานาชาติ ‘ไม่รุกราน-ไม่รังแกใคร’

(23 ก.พ. 68) นายเถกิง สมทรัพย์ อดีตนายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับ ‘มังกรหยก’ โดยมีใจความว่า ...

ผมเขียนบทความนี้ในฐานะคนดูหนังที่ไม่มีข้อมูลเชิงลึกในการสร้างหนัง แต่มีโอกาสไปจีนบ่อยๆ และอ่านโน่นนี่นั่นเอามาปะติดปะต่อกัน หลังจากที่ชม มังกรหยก เวอร์ชั่น ล่าสุดของ ฉีเคอะและเซียวจ้าน ดังนี้

1 . มังกรหยก ภาคนี้ คือหนังสงครามที่มี บรรดายอดฝีมือห้ำหั่นกันราวกับ Superhero เทคนิคอลังการ สนุกสนานตลอดเรื่อง

2 ฉีเคอะ จับเอา ก๊วยเจ๋งกับอึ้งย้ง โยนเข้าไปในสงครามระหว่างมองโกล กับ ชาวกิม และชาวฮั่นในสมัยราชวงศ์ซ่ง ตัดตัวละครอื่นๆออกไปเกือบหมด เน้นสงครามของเจงกิสข่านที่จะบุกจีน

3 มังกรหยก ภาคนี้จึงเป็นหนังสงครามที่ไม่ขาดอรรถรสหนังกำลังภายในของชาวยุทธภพ ความสนุกสุดมันจึงบังเกิดทั้งฉากสงครามและฉากดวลของยอดยุทธภพ

4 ก๊วยเจ๋ง กับ อึ้งย้ง แสดงบทบาทของการเป็น ผู้รักชาติเต็มที่ ตามเนื้อเรื่องในมังกรหยก ที่ทั้งคู่ต่อต้านการรุกรานของมองโกล

5 หนังนำเรื่องพิชัยสงครามของ งักฮุย วีรบุรุษผู้ซื่อสัตย์จงรักภักดีแห่งราชวงศ์ซ่ง มาเน้นในเนื้อหาเป็นพิเศษ

6 ผมขยายความเรื่อง “งักฮุย ” นิดนึง คือ งักฮุยได้รับการเคารพนับถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ในยุคก่อน “กวนอู” เขาได้รับอิทธิพลจากแม่ที่สั่งสอนให้เขาจงรักภักดีต่อแผ่นดินและต่อต้านศัตรูจากชนเผ่านอกกำแพงใหญ่

7 งักฮุย เห็นการล่มสลายของราชวงศ์ซ่งเหนือ เมื่อโตขึ้นเขาเข้ารับราชการทหารในราชวงศ์ซ่งใต้ โดยก่อนที่งักฮุยจะออกจากบ้านไปรับใช้ชาติ มารดาได้สลักอักษรจีน 4 ตัวไว้ที่กลางแผ่นหลังของบุตรชาย ความว่า 精忠報國 จิงจงเป้ากว๋อ (ซื่อตรง ภักดี ตอบแทน ชาติ)

8 ผมดูหนังแล้ว คิดเล่นๆว่า “งักฮุย” คือ บุคคลที่กิมย้งใช้เป็นแคแรคเตอร์ “ก๊วยเจ๋ง” ทั้งเกิดในสมัยซ่ง มีแม่เป็นผู้คุ้มครองผลักดันให้รักชาติ จน ก๊วยเจ๋ง ยืดหยัดต่อต้านเจงกิสข่านด้วยจิตวิญญาณผู้รักชาติ

9 งักฮุย เป็นวีรบุรุษผู้ซื่อสัตย์ของชาวจีนมาหลายร้อยปี จนกระทั่ง “ราชวงศ์ชิงของแมนจู” เข้ายึดจีนปกครองชาวฮั่น ราชวงศ์ชิง จึงส่งเสริม “กวนอู” ขึ้นมาเป็นสัญญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ จงรักภักดี จนคนทั่วไปนับถือ กวนอูมากกว่า “งักฮุย” เพราะ “งักฮุย ต่อต้าน ชนกลุ่มน้อยที่มารุกรานชาวฮั่น” แต่ กวนอู ไม่มีการต่อต้านชนเผ่าอื่น ( กวนอู เป็นนับถือมานานแล้ว ดังจะเห็นว่าในสมัยราชวงศ์หมิง สร้างศาลเจ้ากวนอูไว้บนกำแพงด่านเจี่ยยู่กวน สุดเส้นทางสายไหม เมื่อแมนจูมาปกครอง แมนจูกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตชาวฮั่น รับวิถีชาวฮั่นมาใช้บริหารบ้านเมือง รวมทั้งส่งเสริมการนับถือเทพเจ้ากวนอูมากขึ้น)

10 แต่ “มังกรหยก 2025” สร้างบทสรุปความสามัคคี แม้เริ่มต้น มองโกลจะมีท่าทีรุกไล่ทำสงครามกับจีน สุดท้ายก็ยอมล่าถอยในยุคเจงกิสข่าน ก่อนจะมาอีกครั้งในยุคหลังจนยึดจีนได้และก่อตั้งราชวงศ์หยวน 

11 “ก๊วยเจ๋ง” จะมีบทพูด เน้นว่า วีรบุรุษที่แท้จริง ไม่ใช่คนที่ไปรุกรานแผ่นดินอื่น ทำร้ายฆ่าฟันคนอื่น แต่วีรบุรุษแท้จริง ต้องบำรุงแผ่นดิน บำรุงสุขให้ประชาชน …

12. ถ้าเราไปจีนทุกวันนี้เราจะเห็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีของชนเผ่า 56 เผ่าในประเทศจีน อยู่ทั่วทุกแห่งหน…มองโกล ในมังกรหยก เวอร์ชั่นยุค สีจิ้นผิง จึงเป็นชนเผ่าแห่งมิตรภาพ

13 “สีจิ้นผิง” จะมีสุนทรพจน์สำคัญอยู่ประเด็นหนึ่งคือ เขายึดหลักการสร้างมิตรภาพเชิงบวกกับนานาชาติ ไม่รุกราน ไม่รังแก ใคร บางสุนทรพจน์เขาจะยกเรื่อง “แม่ทัพเรือเจิ้งเหอ” ที่นำกองทัพเรือไปสร้างไมตรีกับทุกประเทศทั่วน่านน้ำในยุคจักรพรรดิราชวงศ์หมิง โดยยึดหลัก ไปอย่างมีไมตรี ไม่รุกรานยึดครองใคร

14 สาระสำคัญหนึ่งในมังกรหยก คือ นโยบายการทูตของจีนปัจจุบัน 

15 ผมสงสัยอยู่ประเด็นเดียวคือ อาวเอี้ยงฮง พิษประจิม…ถ้าเอาการเมืองระหว่างประเทศมาตีความ…อาวเอี้ยงฮง จะหมายถึงใคร

16 แล้ว อาวเอี้ยงฮง ทำศึกกับ เจงกีสข่าน วินาศสันตะโร…จนต้องจบสิ้นในสมรภูมิด้วยน้ำมือมองโกล…..หนังจะต้องการสื่ออะไร

17 หรือจะบอกว่า ใครอย่ามาครอบงำแผ่นดินมองโกลเพื่อสร้างให้มองโกลต้องมาขัดแย้งกับเพื่อนบ้านอย่างจีน (เหมือนยูเครนกับรัสเซีย)

18….ผมก็เขียนไปเรื่อยเปื่อยตีความไปตามความคิดข้อมูลที่เคยได้ยินได้อ่านมา…ถูกผิดอย่างไรช่วยแนะนำด้วยครับ

มังกรหยก สนุกเสมอ อมตะตลอดกาล

ใครจะเน้นวิเคราะห์ความรักหนุ่มสาวสามเส้า ก็ได้

ใครจะเน้นวิเคราะห์เนื้อหาที่ดัดแปลงใหม่ก็ได้

ไปชมเถอะครับ…คุ้มค่าทุกนาที

ฉีเคอะ นายแน่มาก

เซียวจ้าน …นายเป็น ก๊วยเจ๋ง ที่เจ๋งจริงๆ

23 กุมภาพันธ์ 2436 ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนา โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ต้นแบบหลักสูตร-วิธีการสอนที่เผยแพร่ทั่วไทย

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ก่อตั้ง 'วิทยาลัย' ภายในวัดบวรนิเวศ โดยให้ชื่อว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์และสามเณร แยกออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ใช้สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับพระปริยัติธรรม และส่วนที่เป็นโรงเรียน ซึ่งภายหลังกลายเป็นต้นแบบของ 'โรงเรียนวัดบวรนิเวศ'

ในช่วงแรก โรงเรียนนี้ได้รับการดูแลโดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรณาณวโรรส และต่อมามีการขยายการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชประสงค์ให้การศึกษากระจายไปทั่วประเทศ จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำหลักสูตรและวิธีการสอนที่ใช้ในโรงเรียนวัดบวรนิเวศไปใช้ในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โรงเรียนวัดบวรนิเวศกลายเป็นสถาบันที่เป็นต้นแบบในการใช้หลักสูตรการศึกษาทั่วประเทศ

เมื่อเข้าสู่รัชสมัยของรัชกาลที่ 6 โรงเรียนวัดบวรนิเวศยังคงเป็นสถานที่สำคัญในการเสริมสร้างความรู้ โดยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ สร้างอาคาร 'มนุษยนาควิทยาทาน' ซึ่งนอกจากจะเป็นการรำลึกถึงพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรณาณวโรรส ยังเป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอนของนักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศและโรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศอีกด้วย

จนถึงปัจจุบัน โรงเรียนวัดบวรนิเวศได้ดำเนินการเรียนการสอนมาเป็นเวลาเกือบ 132 ปี และยังคงมีบทบาทสำคัญในการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศไทย

‘ฉีเคอะ’ สร้าง ‘ก๊วยเจ๋ง’ ที่มิเคยต้องการเป็นวีรบุรุษ โดยจงใจไม่เอ่ยถึง ‘เอี้ยคัง’ สร้างฉากอลังการ!! ระเบิดสงคราม การรบยิ่งใหญ่ เพิ่มบทให้ ‘องค์หญิงวาเจน’

(22 ก.พ. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Syamrath Suthanukul’ โดย ‘หยามกลางแปลง’ ได้โพสต์เรื่องราว เกี่ยวกับ ‘มังกรหยก’ เวอร์ชัน ‘ฉีเคอะ’ โดยมีใจความว่า …

มังกรหยก : จอมยุทธ์ผู้ยิ่งใหญ่

(1)
ก๊วยเจ๋งมิเคยต้องการเป็นวีรบุรุษ

ด้วยเกิดมาเป็นเจ้าทึ่มสมองช้า เป็นชาวฮั่นเกิดในแผ่นดินซ่งเมื่อปีเจ๋งคังอันอัปยศที่สองฮ่องเต้ซ่งถูกชาวกิมจับไป

หลีเพ้งผู้มารดาพาหนีตายจากการที่สามีคือก๊วยเซ่าเทียนถูกทหารกิมสังหาร ออกนอกด่านมาพึ่งพิงเจ็งกิสข่าน-มหาข่านแห่งมองโกล ราชันย์แห่งท้องทุ่งหญ้า เติบโตมาเป็นศิษย์อาจารย์เจอเป เป็นอันต๊ะ-พี่น้องร่วมสาบานกับเซลุยบุตรเจ็งกิสข่าน และหมั้นหมายกับวาเจน องค์หญิงบุตรีเจ็งกิสข่านทั้งที่ตัวเองมิได้มีความรัก

เจ็ดประหลาดกังหนำคืออาจารย์ของก๊วยเจ๋ง วันที่ก๊วยเจ๋งเข้าสู่ยุทธจักรจงหยวน อาจารย์เตือนมิให้คบกับอึ้งย้ง ธิดามารบูรพาอึ้งเอี๊ยะซือ โดยหารู้ไม่ว่าก๊วยเจ๋งได้รู้จักอึ้งย้งแล้ว 

เป็นเจ๋งกอกอ-พี่เจ๋ง กับ ย้งยี้-น้องย้ง จากวันนั้นจนวันสุดท้าย

วาสนาของก๋วยเจ๋งได้พบยาจกอุดร-อั้งชิกกง หัวหน้าพรรคกระยาจก ได้รับถ่ายทอดสิบแปดฝ่ามือพิชิตมังกร ได้พบราชันย์ทักษิณ-อิดเต็งไต้ซือ ได้ฝึกวิชาจากคัมภีร์เก้าอิม

ความเข้าใจผิดที่เกาะดอกท้อ ทำให้ก๊วยเจ๋งคิดว่ามารบูรพาเป็นผู้สังหารอาจารย์ของตน จนโกรธแค้นตัดความสัมพันธ์กับอึ้งย้ง จากที่สาบานว่าชาตินี้จะไม่แยกจาก กลายเป็นชาตินี้มิต้องพบพาน

ทั้งที่ในใจทั้งสองยังโหยหากันตลอดเวลา

เวลานั้น ยังมีพิษประจิม อาวเอี๊ยงฮง พร้อมสมุนเยี่ยงเล้งตี่เซี่ยงหยิน เนี่ยจื้ออง โฮ้วท้งไฮ้ ซาทงเทียน และ แพ้เลี่ยงโฮ้ว ไล่ล่าอึ้งย้งเพื่อหวังคัมภีร์เก้าอิม ฉีเคอะ เริ่มต้นหนังมังกรหยก จอมยุทธ์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ตรงนี้

(2)
มังกรหยกเวอร์ชั่นนี้ เน้นช่วงสุดท้ายของนิยายของกิมย้ง เล่าเหตุการณ์ในอดีตด้วยฉากแฟลชแบ็ค

ฉีเคอะ ทำมังกรหยกเวอร์ชั่นนี้เป็นหนังสงคราม ฉากรบใหญ่โตอลังการ ฉากบู๊ประลองยุทธระดับระเบิดภูเขาเผากระท่อม 

และตามนิสัยฉีเคอะ บิดเรื่อง เพิ่มบท ลดบทแบบไม่สนใจต้นฉบับ แต่ไม่ถึงขนาดบิดเบือนเพศสมัยสร้างเดชคัมภีร์เทวดา คนไม่เคยอ่าน ไม่เคยดูมังกรหยกมาก่อนเลย อาจงงกับฉากแฟลชแบ็ค แต่ก็ดูให้สนุกได้แบบไม่ต้องคิดอะไรมาก

บทที่ดีที่สุดของหนัง กลับเป็นบทองค์หญิงวาเจน

เขียนบทเพิ่ม บุคลิกชัดเจน กล้ารัก กล้าแค้น กล้าให้อภัย โดดเด่นเกินบทอึ้งย้งเสียอีก

แต่แฟนพันธุ์แท้มังกรหยก ถึงฉากอลังการแค่ไหน บทแต่งเพิ่มดีแค่ไหน ก็ยังหงุดหงิด ตัวละครเอกหายไปชนิดไม่มีการเอ่ยถึง ยิ่งหนังเริ่มต้นจากบทท้ายๆของหนังสือ ทำให้ไม่เห็นการพัฒนาของตัวละคร โดยเฉพาะสองตัวเอกและแกนหลักที่ว่า ทำไมก๊วยเจ๋งอึ้งย้งถึงรักกันขนาดนี้ และที่หนักหนาสาหัสที่สุดคือมังกรหยกฉบับนี้ จงใจไม่มีเอี้ยคัง 

ทำให้ความเป็นลูกจีนรักชาติของก๊วยเจ๋ง ชาวฮั่นแผ่นดินซ่งที่เติบโตในทุ่งหญ้ามองโกลแต่ใจยังเป็นชาวฮั่น ยอมสละทุกอย่างเพื่อชาวฮั่น ขาดน้ำหนักไปอย่างมาก เพราะขาด เอี้ยคัง ชาวฮั่นที่คิดว่าตัวเองเป็นองค์ชายชาวกิม เสวยสุขมาตลอด ถึงแม้ทราบชาติกำเนิดตัวเองก็ยังขอเป็นชาวกิมมิต้องการเป็นชาวฮั่น บีบจนพ่อแม่ตัวเองฆ่าตัวตาย

ก๊วยเจ๋งที่ไม่มีเอี้ยคัง อย่างไรก็มิอาจเป็นก๊วยเจ๋งโดยสมบูรณ์

(3)
ก๊วยเจ๋งมิเคยต้องการเป็นวีรบุรุษ

และฉีเคอะก็ไม่สามารถปั้นเซียวจ้านให้เป็นวีรบุรุษที่แท้อย่างก๊วยเจ๋งในนิยายได้ ถึงแม้จะแสดงดีขนาดไหน เพราะบทมันไม่ได้ 

จวงต๋าเฟย เล่นดีแค่ไหนก็ไม่ใช่อึ้งย้งที่เราคุ้นเคยเลยแม้แต่น้อย—-อึ้งย้งที่ไม่ขี้งอน ไม่เอาแต่ใจตัวเอง ย่อมมิใช่อึ้งย้งตัวจริง

ฉีเคอะ เก็บแก่นของเรื่องที่ท่านกิมย้งบรรจงแต่งไว้มาไม่หมด ได้มาแค่เปลือก

หนังให้ความบันเทิงตลอด 145 นาที ช่วงต้น ช่วงท้าย สนุก ช่วงกลาง มีหลับ

เสียดายที่มันไม่ใช่ 'มังกรหยก' ที่ผมรู้จักและรักมาตั้งแต่ได้อ่านครั้งแรก

#หยามกลางแปลง

22 กุมภาพันธ์ 2516 'ดำ-กาญจนา' คู่รักที่ถูกกีดกัน สร้างตำนานรักสะพานสารสิน

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2516 คู่รักหนุ่มสาวที่ถูกกีดกันจากครอบครัว ตัดสินใจจบชีวิตพร้อมกันโดยใช้ผ้าขาวม้ามัดร่างติดกันแล้วกระโดดลงจากสะพานสารสิน กลายเป็นตำนานรักสะเทือนใจที่ถูกเล่าขานจนถึงปัจจุบัน

เรื่องราวเกิดขึ้นในคืนวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2516 เมื่อพ่อค้าขายไข่เต่าบริเวณสะพานสารสิน แจ้งตำรวจว่าพบชายหญิงคู่หนึ่งกอดกันแน่นก่อนกระโดดลงทะเลที่มีกระแสน้ำเชี่ยวกราก แม้เจ้าหน้าที่จะเร่งค้นหา แต่ก็ไร้วี่แววของร่างทั้งสอง จนกระทั่งเช้าวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ศพของพวกเขาถูกพบลอยอยู่ห่างจากสะพานราว 3 กิโลเมตร โดยยังมีผ้าขาวม้าผูกตัวติดกันแน่น

ฝ่ายชายคือนายดำ แซ่ลิ้ม อายุ 23 ปี บุตรบุญธรรมของครอบครัวชาวจีนเชื้อสายภูเก็ต ประกอบอาชีพขับรถสองแถวและรับจ้างกรีดยาง ส่วนฝ่ายหญิงคือ นางสาวกาญจนา แซ่หงอ อายุ 19 ปี นักศึกษาปีที่ 2 วิทยาลัยครูภูเก็ต ทั้งคู่พบกันเมื่อดำขับรถรับส่งกาญจนาเป็นประจำ และความสัมพันธ์ก็ค่อยๆ พัฒนาเป็นความรัก

ทว่า ครอบครัวของกาญจนาไม่เห็นด้วย เพราะต้องการให้ลูกสาวแต่งงานกับคนมีฐานะที่เหมาะสมกว่า เมื่อทราบว่าทั้งคู่ได้เสียกัน พ่อแม่ของเธอจึงกีดกันขั้นเด็ดขาด บังคับให้เลิกเรียนและห้ามพบกับดำอีก ด้านพ่อแม่ของดำเองก็ไม่ยอมรับกาญจนาเช่นกัน ทำให้ทั้งคู่ถูกต่อต้านจากทุกฝ่าย

คืนก่อนเกิดเหตุ ดำพากาญจนาหนีออกจากบ้านไปอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของตน แต่กลับถูกปฏิเสธ ทำให้ทั้งสองหมดสิ้นหนทาง ตำรวจพบจดหมายลาตายที่ดำเขียนไว้ ระบุว่าพวกเขารักกันมาก แต่เมื่อถูกกีดกันจนไร้ทางออก จึงขอตายไปด้วยกัน

ในคืนสุดท้าย ดำขับรถสองแถวพากาญจนาไปที่สะพานสารสิน เขาถามคนขับรถบรรทุกน้ำมันที่จอดอยู่บริเวณนั้นว่า หากกระโดดลงไปในช่วงน้ำเชี่ยวจะเป็นอย่างไร คำตอบที่ได้รับคือ "ตายแน่" จากนั้นทั้งคู่ก็เดินไปที่ราวสะพาน มัดตัวเข้าด้วยกันด้วยผ้าขาวม้า ก่อนกระโจนลงสู่กระแสน้ำ ท่ามกลางเสียงร้องห้ามของคนขับรถบรรทุก แต่ก็ไม่ทันเสียแล้ว

ศพของทั้งสองถูกนำมาทำพิธีร่วมกันที่วัดท่าฉัตรชัย เรื่องราวของพวกเขากลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักที่ถูกขัดขวาง และเป็นอุทาหรณ์ว่าหากครอบครัวยอมรับความรักของลูกตั้งแต่แรก โศกนาฏกรรมนี้อาจไม่เกิดขึ้น

ต่อมาตำนานรักสะพานสารสินถูกถ่ายทอดในรูปแบบต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ สะพานรักสารสิน (2529) โดยเปี๊ยกโปสเตอร์ ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 100 ภาพยนตร์ไทยที่ควรชม และละครโทรทัศน์ในปี 2541

21 กุมภาพันธ์ 2455 รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศใช้ พุทธศักราช (พ.ศ.) เป็นศักราชประจำชาติ แทน รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงมีพระราชดำริให้ใช้ "พุทธศักราช" (พ.ศ.) เป็นศักราชประจำชาติไทยแทน "รัตนโกสินทร์ศก" (ร.ศ.) โดยมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ยึดมั่นในพุทธศาสนาและต้องการให้สอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้านที่นับถือพุทธศาสนาเช่นกัน ดังนั้น เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 (รัตนโกสินทร์ศก 131) พระองค์จึงทรงประกาศให้ใช้พุทธศักราชในราชการทั่วไป โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 เป็นวันที่เริ่มใช้พุทธศักราชอย่างเป็นทางการ

ก่อนที่จะมีการใช้พุทธศักราช ประเทศไทยเคยใช้ "มหาศักราช" (ม.ศ.) และ "จุลศักราช" (จ.ศ.) โดยศักราชทั้งสองนี้ถูกใช้ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรัตนโกสินทร์ศกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งเริ่มนับจากปีที่กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงใน พ.ศ. 2325 หรือรัตนโกสินทร์ศก 1 (ร.ศ. 1)

สำหรับการนับพุทธศักราช ประเทศไทย, กัมพูชา, และสปป.ลาวเริ่มนับตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานครบ 1 ปี ในขณะที่ศรีลังกาและเมียนมาเริ่มนับพุทธศักราชตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานเมื่อ 544 ปีก่อนคริสตศักราช จึงทำให้พุทธศักราชของศรีลังกาและเมียนมาเร็วกว่าของไทย 1 ปี

20 กุมภาพันธ์ 2535 การก่อตั้งฟุตบอลพรีเมียร์ลีก แทนลีกดิวิชั่น 1 อังกฤษ

พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ แทนที่ฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 ซึ่งเคยเป็นลีกสูงสุดของอังกฤษมาตั้งแต่ปี 1888 การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของสโมสรในฟุตบอลลีกเฟิสต์ดิวิชันที่ต้องการแยกตัวจากอิงกลิชฟุตบอลลีก (EFL) เพื่อจัดตั้งลีกใหม่ที่มีรูปแบบการแข่งขันและรายได้ที่เป็นอิสระมากขึ้น

พรีเมียร์ลีกก่อตั้งขึ้นในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 โดยมีแนวคิดเกิดขึ้นหลังจบฤดูกาล 1990–91 สโมสรในลีกดิวิชัน 1 จำนวน 18 สโมสร และสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) สนับสนุนแนวทางการจัดตั้งลีกใหม่ผ่านแผน “Blueprint for the Future of Football”

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1991 เมื่อสโมสรสมาชิกลงนามในข้อตกลงผู้ก่อตั้ง และต่อมาได้แจ้งลาออกจากฟุตบอลลีกเป็นกลุ่ม ก่อนส่งหนังสือลาออกจาก FA ซึ่งทำหน้าที่บริหารลีก

วัตถุประสงค์หลักของพรีเมียร์ลีกคือ การเพิ่มรายได้ของสโมสรใหญ่และป้องกันไม่ให้รายได้กระจายไปยังลีกล่าง โดยเฉพาะจากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ในยุคนั้น ไอทีวีถือสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลลีกด้วยข้อตกลงมูลค่า 44 ล้านปอนด์ ตลอด 4 ปี (1988–1992)

พรีเมียร์ลีกมีโครงสร้างบริหารที่แตกต่างจากฟุตบอลลีกทั่วไป โดยมี ริก แพร์รี ดำรงตำแหน่งซีอีโอคนแรก และ เซอร์ จอห์น ควินตัน เป็นประธาน สโมสรสมาชิกมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเท่ากัน โดยมติสำคัญต้องได้รับการอนุมัติจากเสียงข้างมาก 2 ใน 3

พรีเมียร์ลีกเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1992 พรีเมียร์ลีกเป็นลีกฟุตบอลระดับสูงสุดของอังกฤษ มี 20 สโมสรเข้าร่วมแข่งขัน โดยใช้ระบบเลื่อนชั้นและตกชั้นร่วมกับ EFL แชมเปียนชิป ฤดูกาลแข่งขันเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงพฤษภาคม แต่ละทีมลงเล่น 38 นัดจากการพบกันแบบเหย้าและเยือน โดยการแข่งขันส่วนใหญ่มักจัดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรีเมียร์ลีกเติบโตอย่างรวดเร็วคือข้อตกลงลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล สกาย สปอร์ตส์และบีที สปอร์ต ได้รับสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันในประเทศ โดยมีการเจรจาข้อตกลงใหม่ที่คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าเป็น 6.7 พันล้านปอนด์สำหรับฤดูกาล 2025–2029 นอกจากนี้ ลีกยังสร้างรายได้จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในต่างประเทศมากถึง 7.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2022–2025

พรีเมียร์ลีกถือเป็นลีกฟุตบอลที่ได้รับความนิยมสูงสุดในโลก มีการถ่ายทอดสดไปยัง 212 ดินแดนทั่วโลก มีผู้ชมโทรทัศน์มากถึง 4.7 พันล้านคน และมีจำนวนผู้ชมในสนามเฉลี่ย 38,375 คนต่อแมตช์ในฤดูกาล 2023–24

ในแง่ของความสำเร็จระดับยุโรป พรีเมียร์ลีกเป็นลีกที่มีสโมสรคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก / ยูโรเปียนคัพ มากเป็นอันดับสอง รองจากลาลีกาสเปน โดยมี 6 สโมสรจากอังกฤษคว้าถ้วยยุโรปทั้งหมด 15 ใบ

นับตั้งแต่ก่อตั้ง มี 51 สโมสรที่เคยเข้าร่วมแข่งขันพรีเมียร์ลีก โดย 7 สโมสรที่เคยคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกมากที่สุด ได้แก่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (13 สมัย), แมนเชสเตอร์ ซิตี (8 สมัย), เชลซี (5 สมัย) ,อาร์เซนอล (3 สมัย), แบล็กเบิร์น โรเวอส์ (1 สมัย), เลสเตอร์ ซิตี (1 สมัย), ลิเวอร์พูล (1 สมัย)

โดยแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรที่คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกมากที่สุด ขณะที่แมนเชสเตอร์ ซิตี ถือครองสถิติแชมป์ติดต่อกันยาวนานที่สุดถึง 4 ฤดูกาล

19 กุมภาพันธ์ 2453 สนามโอลด์แทรฟฟอร์ดเปิดใช้งานครั้งแรก ลิเวอร์พูลเฉือนชนะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด 4-3

โอลด์แทรฟฟอร์ด (Old Trafford) คือสนามฟุตบอลที่ตั้งอยู่ในเขตโอลด์แทรฟฟอร์ด (Greater Manchester) ประเทศอังกฤษ และเป็นสนามเหย้าของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในพรีเมียร์ลีก โดยมีความจุ 74,310 ที่นั่ง เป็นสนามที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาสโมสรฟุตบอลในสหราชอาณาจักร และใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของอังกฤษ รองจากสนามเวมบลีย์ และเป็นอันดับที่ 12 ของยุโรป โอลด์แทรฟฟอร์ดตั้งอยู่ห่างจากโอลด์แทรฟฟอร์ดคริกเกตกราวนด์ประมาณ 800 เมตร (0.5 ไมล์)

สนามแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่า 'The Theatre of Dreams' (โรงละครแห่งความฝัน) โดยบ็อบบี ชาร์ตัน ตำนานนักฟุตบอลของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ตั้งแต่ปี 1910 แม้ว่าช่วงระหว่างปี 1941 ถึง 1949 สโมสรจะต้องย้ายไปใช้สนามเมนโรด เนื่องจากสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดได้รับความเสียหายจากระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หลังจากการซ่อมแซมและการขยายสนามหลายครั้งในช่วงปี 1990 และ 2000 รวมถึงการเพิ่มชั้นที่ 2 ให้กับอัฒจันทร์ทั้ง 3 ด้าน สนามจึงสามารถรองรับผู้ชมได้เกือบ 80,000 คน สถิติผู้ชมสูงสุดของสนามคือ 76,962 คน ที่เข้าชมการแข่งขันเอฟเอคัพรอบรองชนะเลิศระหว่างวูล์ฟแฮมป์ตันวันเดอเรอส์กับกริมสบีทาวน์ในปี 1939

โอลด์แทรฟฟอร์ดยังเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับนานาชาติมาหลายครั้ง รวมถึงฟุตบอลโลก 1966, ยูโร 1996, โอลิมปิกฤดูร้อน 2012 และแชมเปียนส์ลีก 2003 รวมถึงการแข่งขันรักบี้ลีกระดับสูง เช่น ซูเปอร์ลีก แกรนด์ไฟนอล และรอบชิงชนะเลิศรักบี้ลีกชิงแชมป์โลกในปี 2000, 2013 และ 2022

สนามโอลด์แทรฟฟอร์ดมีประวัติศาสตร์ยาวนานที่เริ่มต้นก่อนปี 1902 เมื่อแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดยังใช้ชื่อว่า 'นิวตันฮีต' และเล่นในสนามที่มีสภาพไม่ดี จนกระทั่งในปี 1909 จอห์น เฮนรี เดวีส์ ประธานสโมสรคนใหม่ ได้บริจาคเงินสร้างสนามแห่งใหม่ที่โอลด์แทรฟฟอร์ด โดยออกแบบโดยอาร์ชิบัลด์ ลิทช์ สถาปนิกชาวสก็อต ที่มีชื่อเสียงในการออกแบบสนามฟุตบอลหลายแห่ง

การก่อสร้างสนามใช้เวลาจนเสร็จในปี 1909 และมีความจุเริ่มต้นที่ประมาณ 80,000 คน สนามแห่งนี้เปิดใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1910 โดยแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเปิดบ้านพบกับลิเวอร์พูล ซึ่งลิเวอร์พูลเอาชนะไป 4-3 แม้สนามนี้จะได้รับความเสียหายจากการโจมตีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็ได้รับการซ่อมแซมและขยายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นหนึ่งในสนามฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน

18 กุมภาพันธ์ 2543 ยืนยันพบเหตุหายนะโคบอลต์-60 หลังซาเล้งเก็บไปขายร้านรับซื้อของเก่า

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปัจจุบันคือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ) ได้รับรายงานเกี่ยวกับอุบัติเหตุรังสีโคบอลต์-60 ที่เกิดขึ้นเมื่อเครื่องฉายรังสีเก่าของโรงพยาบาลรามาธิบดีถูกนำไปทิ้งโดยไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง จนกลายเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 รายและผู้ป่วยอีกหลายคนจากการสัมผัสรังสีอันตรายนี้

ย้อนกลับไปในช่วงปลายเดือนมกราคม 2543 เมื่อเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ที่หมดอายุของโรงพยาบาลรามาธิบดีถูกทิ้งไว้ที่โกดังของบริษัท กมลสุโกศล อิเล็คทริค จำกัด ก่อนจะถูกนำไปเก็บที่ลานจอดรถเก่าของบริษัทในซอยอ่อนนุช กรุงเทพฯ โดยไม่มีการจัดเก็บอย่างปลอดภัย กระทั่งวันที่ 24 มกราคม 2543 เมื่อชาย 4 คนลักลอบขนย้ายเครื่องฉายรังสีไปขายต่อให้กับร้านรับซื้อของเก่า โดยร้านดังกล่าวคือของ จิตรเสน จันทร์สาขา หรือที่เรียกกันว่า “ซาเล้งเก็บของเก่า”

จิตรเสนได้ซื้อเครื่องฉายรังสีและเศษเหล็กจากผู้ขายในราคา 8,000 บาท ก่อนที่จะรู้สึกถึงอันตรายเมื่อมือเริ่มแสบคันและพบอาการป่วยที่เกิดขึ้นในภายหลัง ต่อมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เขาได้นำเครื่องฉายรังสีไปขายที่ร้านรับซื้อของเก่าในสมุทรปราการ ซึ่งได้ถูกแยกชิ้นส่วนจนพบว่ามีแท่งโลหะที่แผ่รังสีโคบอลต์-60 อยู่

เมื่อผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องฉายรังสีสัมผัสกับรังสีเริ่มแสดงอาการป่วย เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มือบวมพอง และอาการแผลเน่า ทางแพทย์จึงเริ่มสรุปว่าอาจเกิดจากการสัมผัสกับรังสีอันตราย และได้แจ้งเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องให้ทำการตรวจสอบ

เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติและเจ้าหน้าที่จากสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและพบจุดต้นกำเนิดรังสีในเวลา 4.00 น. ของวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ซึ่งได้ทำการเก็บรักษาแท่งโลหะที่ปล่อยรังสีโคบอลต์-60 ไปยังที่ปลอดภัยภายใต้การกำบังรังสี

ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวงกว้าง โดยมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากรังสีจำนวนมากถึง 948 คนที่ต้องเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลหลายแห่ง รวมทั้งมีหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องตัดสินใจทำแท้งเนื่องจากกังวลเกี่ยวกับอันตรายที่อาจจะมีต่อทารกในครรภ์

เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดจากการสัมผัสกับรังสีโคบอลต์-60 ซึ่งรายแรกคือ นิพนธ์ ลูกจ้างที่ตัดแยกเครื่องฉายรังสี และต่อมาในวันที่ 18 มีนาคม สุดใจ ลูกจ้างอีกคน และวันที่ 24 มีนาคม สามีของเจ้าของร้านรับซื้อของเก่าก็เสียชีวิตตามมา ขณะที่จิตรเสน แม้จะรอดชีวิต แต่ก็ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลและมีอาการสาหัสจนต้องตัดนิ้วมือทิ้ง

เหตุการณ์นี้ถือเป็นอุบัติเหตุทางรังสีครั้งแรกในประเทศไทย และยังคงเป็นบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับการจัดการสารกัมมันตรังสีในประเทศ

17 กุมภาพันธ์ 2438 วันประสูติ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ผู้บุกเบิกเผยแผ่พระพุทธศาสนาและนักเขียนผู้ทรงคุณค่าของไทย

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ประสูติเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2438 ที่วังสามยอด เชิงสะพานดำรงสถิตย์ เป็นพระธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหม่อมเฉื่อย ดิศกุล (สกุลเดิม ยมาภัย) ทรงศึกษาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศสกับครูสตรีชาวต่างชาติ รวมถึงทรงศึกษาความรู้จากพระบิดา และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี

หม่อมเจ้าพูนพิศมัยทรงมีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยและพระพุทธศาสนา ทรงนิพนธ์ผลงานหลายเรื่อง เช่น 'ศาสนคุณ' ซึ่งได้รับรางวัลชั้นที่ 1 ในการประกวดพระราชพิธีวิสาขบูชา พ.ศ. 2472 ผลงานอื่น ๆ เช่น "ชีวิตและงานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ" และ 'ประเพณีไทย' รวมถึงสารคดีหลายเรื่อง ทรงมีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศและต่างประเทศ

หนึ่งในผลงานที่สำคัญของหม่อมเจ้าพูนพิศมัยคือการร่วมก่อตั้งองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) และดำรงตำแหน่งประธานตั้งแต่ พ.ศ. 2507 จนถึง พ.ศ. 2527 นอกจากนี้ยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางปรัชญาจากมหาวิทยาลัยดงกุก ประเทศเกาหลี ในปี พ.ศ. 2510 และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2522

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2533 สิริอายุ 95 ปี

✨ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล

✨ประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568

รางวัลที่ 1 รางวัลละ 6,000,000 บาท
847377

รางวัลเลขหน้า 3 ตัว รางวัลละ 4,000 บาท
268  613

รางวัลเลขท้าย 3 ตัว รางวัลละ 4,000 บาท
652  001

รางวัลเลขท้าย 2 ตัว รางวัลละ 2,000 บาท
50

รางวัลข้างเคียงรางวัลที่ 1 จำนวน 2 รางวัล รางวัลละ 100,000 บาท
847376  847378

ตรวจผลสลากกินแบ่งรัฐบาล รางวัลที่ 2 จำนวน 5 รางวัล รางวัลละ 200,000 บาท
464953  822419  572417  403022  234582

ตรวจผลสลากกินแบ่งรัฐบาล รางวัลที่ 3 จำนวน 10 รางวัล รางวัลละ 80,000 บาท
497867  405988  424303  645024  273711  
467127  126320  907658  657401  642152  

ตรวจผลสลากกินแบ่งรัฐบาล รางวัลที่ 4 จำนวน 50 รางวัล รางวัลละ 40,000 บาท
139733  706119  785084  077913  376516  
724366  575954  173448  742179  293096  
940805  325152  870601  735617  731665  
073045  021660  403627  638899  037244  
099058  560894  322129  855651  404509  
179357  696028  467561  824459  366488  
344581  913399  085810  228271  164088  
642332  151964  100287  797797  248640  
231605  439018  803962  478552  094541  
168378  192006  573676  256518  100051  

16 กุมภาพันธ์ 2175 วันพระราชสมภพสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ขับเคลื่อนอยุธยาสู่ยุครุ่งเรือง

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2199 ขณะมีพระชนมายุ 25 พรรษา

ในรัชสมัยของพระองค์ กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ พระองค์โปรดให้ปรับปรุงกรมพระคลังสินค้าและสร้างเรือกำปั่นหลวงเพื่อค้าขายกับต่างชาติ ส่งผลให้กรุงศรีอยุธยากลายเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญแห่งเอเชีย

นอกจากนี้ พระองค์ยังมีบทบาทโดดเด่นด้านการต่างประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2224 ทรงส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส แม้คณะแรกจะสูญหาย แต่พระองค์ส่งทูตอีกครั้งในปี พ.ศ. 2226 ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทูตระหว่างอยุธยาและฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม เมื่อเชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ ทูลเชิญให้ทรงเข้ารีต พระองค์ทรงปฏิเสธอย่างชาญฉลาด พร้อมยืนยันเสรีภาพทางศาสนาแก่ประชาชน

ด้านศิลปวัฒนธรรม สมเด็จพระนารายณ์ทรงส่งเสริมวรรณคดี ทำให้ยุคของพระองค์เป็น 
'ยุคทองแห่งวรรณคดีอยุธยา' ทรงมีพระราชนิพนธ์โคลงและคำฉันท์หลายเรื่อง เช่น ทศรถสอนพระราม, พาลีสอนน้อง, และ สมุทรโฆษคำฉันท์

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นกษัตริย์ผู้ทรงปรีชาสามารถและมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทรงวางรากฐานให้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ การทูต และวัฒนธรรม จนได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top