Saturday, 20 April 2024
LITE

14 มีนาคม พ.ศ. 2565 ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ ทรงแสดงปาฐกถาในการประชุมวิชาการฯ ด้านสิ่งแวดล้อม “การพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องใส่ใจระยะยาว เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน”

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 65 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา เสด็จออก ณ วังสระปทุม ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านสิ่งแวดล้อม ‘The 3rd International Conference on Environment, Livelihood, and Services 2022’ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์ ตามที่ได้พระราชทานพระราชานุมัติ ให้มูลนิธิชัยพัฒนา

โดยโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, หน่วยงานราชการ และภาคเอกชน จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 14 - 16 มีนาคม 2565 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการจัดการน้ำเสียด้วยวิธีทางธรรมชาติตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเปิดโอกาสให้นักวิจัยและนักศึกษา ได้แสดงผลงานวิจัย และสร้างเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม

ในการนี้ ทรงแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงของโลก และการช่วยเหลือให้ประชาชนพึ่งพาตนเอง ผ่านโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนา’ โดยทรงเน้นย้ำว่าถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ทั่วโลกหยุดชะงักลงชั่วคราว แต่ช่วยให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดน้อยลง การพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องให้ความใส่ใจระยะยาว เพื่อเป้าหมายที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้จากการที่ทรงก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา และโครงการด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่มูลนิธิฯ ดูแลอยู่ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ, โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ล้วนเป็นโครงการที่ดำเนินการในระดับท้องถิ่น แต่ส่งผลระดับนานาชาติ

ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มูลนิธิชัยพัฒนา ยังจัดตั้ง ‘กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด-19 (และโรคระบาดต่าง ๆ)’ ขึ้น เพื่อจัดซื้อและจัดหาอุปกรณ์รวมทั้งนวัตกรรมทางการแพทย์ ช่วยเหลือโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ รวม 122 แห่งใน 56 จังหวัด รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนปลูกพืชอาหารเพื่อการบริโภค นับว่าเป็นการพึ่งพาตนเองได้อีกทางหนึ่ง”

การประชุมครั้งนี้ มีหัวข้อสำคัญ ได้แก่ การปรับตัวและจัดเตรียมทรัพยากรธรรมชาติ, การเตรียมความพร้อมรับภัยธรรมชาติและมลภาวะแวดล้อม , เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม และด้านสังคม มีวิทยากรพิเศษ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง จากต่างประเทศ ร่วมบรรยาย อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

‘ม้า อรนภา’ ปลื้ม!! ‘ลิซ่า’ โผล่ทักทายหลังบังเอิญเจอในเกาหลี ชื่นชม!! เป็นเด็กน่ารัก ไม่แปลกใจที่โด่งดังระดับโลกขนาดนี้

(13 มี.ค. 67) ‘ม้า อรนภา กฤษฎี’ นักแสดงอาวุโส เผยแพร่รูปถ่ายคู่กับ ‘ลิซ่า ลลิษา มโนบาล’ หรือ ‘ลิซ่า BlackPink’ ผ่านทางเฟซบุ๊ก ‘Ornapa Krisadee’ ระบุว่า…

มาเกาหลีครั้งนี้ ดีใจมาก เดินดูเสื้ออยู่ในร้านแบรนด์หนึ่ง ใน section ที่เงียบสงบ ได้ยินเสียงผู้หญิง 2 คนคุยกันเป็นภาษาอังกฤษที่โซฟา แต่เราไม่ได้สนใจ นอกจากดูเสื้อไปเรื่อย ๆ พอเดินใกล้ 2 คนที่นั่งอยู่นั้น ก็มีเสียงผู้หญิงคนหนี่งเรียก “พี่ม้า” เราหันไปมองเสียงที่อยู่ใกล้มาก ๆ เห็นหญิงสาวใส่หน้ากากยืนอยู่ ดิฉันทำหน้างง ผู้หญิงคนนั้นพูดว่า “ลิซ่าค่ะ” ฉันก็ยังงงอยู่ลิซ่าไหน จึงบอกว่า ถอดหน้ากากสิ พอถอดมาคือ ลิซ่า จริง ๆ ด้วย”

นักแสดงอาวุโส ระบุเพิ่มเติมว่า “ดิฉันตกใจมาก และดีใจมาก ๆ ที่ได้เจอเธอ ดิฉันจึงพูดว่า ขอบคุณมากนะที่ทักพี่ (คนดังระดับโลกทักดิฉัน) ดิฉันขอกอดนาง และตามด้วยขอถ่ายรูปได้ไหม ต้องถามเพราะนางมากับผู้จัดการ นางบอกว่าได้ แต่ขอทาปากหน่อย เพราะพึ่งลงเครื่องมาจากปารีส ยังไม่ได้ล้างหน้าเลย แต่มาช้อปปิ้งได้อิอิ เพราะคืนนี้นางต้องไปงานของ Bvlgari จึงได้รูปนี้มา โดยการขออนุญาตเป็นที่เรียบร้อย เราคุยกันอยู่นานพอสมควร ด้วยความภาคภูมิใจที่เธอก้าวมาอยู่ถึงจุดนี้ได้ ปลื้มใจนางจริง ๆ นางบอกว่าจะไปเล่าให้แม่ฟังว่าเจอใคร และบอกว่าไม่คิดจะได้เจอพี่ม้า นางตื่นเต้นพอกับเรา ใช้เวลาเม้าส์นาน เราเลยบอกด้วยว่าบอกผู้จัดการเธอด้วยนะว่าพี่เป็นใคร จะได้ไม่หงุดหงิด แต่ผู้จัดการนางก็เป็นคนถ่ายรูปให้เรา ดีใจเป็นที่สุดที่ลิซ่าทักดิฉัน เด็กคนนี้น่ารักจริง ๆ ถึงไปได้ไกลขนาดนี้ ถึงยิ่งใหญ่ระดับโลกขนาดนี้”

13 มีนาคม พ.ศ. 2553 'ในหลวง ร.9' พระราชทานชื่อ ‘ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย’ เทิดพระเกียรติน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ ’สมเด็จย่า‘

ท่าอากาศยานเชียงรายเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2535 สังกัดกรมการบินพาณิชย์ (บพ.) กระทรวงคมนาคม ซึ่งใช้ชื่อว่า ‘สนามบินบ้านดู่’ ต่อมา บพ.ได้ถูกโอนมาขึ้นอยู่กับการบริหารของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2541 และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ได้แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน ตามแนวนโยบายของรัฐบาล ภายใต้ชื่อ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2545 ถึงปัจจุบัน

ต่อมา คณะกรรมการ ทอท. มีมติเห็นชอบให้เพิ่มชื่อท่าอากาศยานเชียงรายเป็น ‘ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย’ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดีที่มีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตามที่ได้มีการร้องขอจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในจังหวัดเชียงราย ดังนั้น ทอท. จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา

12 มีนาคม พ.ศ. 2558 ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ ทรงพระราชทานพระราโชวาทแก่บัณฑิต ม.พะเยา “การงานใดจะสำเร็จลุล่วงได้ ต่อเมื่อทุกคนรู้รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน”

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพะเยา ประจำปีการศึกษา 2556 ณ หอประชุมพญางำเมือง มหาวิทยาลัยพะเยา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา 

ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาทความว่า…

“การจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้มีความรู้ทางวิชาการขั้นสูง และสามารถใช้ความรู้นั้นประกอบอาชีพการงานสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ตน แก่ส่วนรวมได้ บัณฑิตในฐานะที่ได้สำเร็จการศึกษาในระดับสูง จึงต้องตั้งใจนำความรู้ที่เล่าเรียนมาไปใช้ประกอบกิจการงานให้บังเกิดผล แต่การที่จะทำงานให้บรรลุถึงความสำเร็จได้จริงนั้น สำคัญที่แต่ละคนจะต้องรู้หน้าที่ของตนและรับผิดชอบต่อหน้าที่นั้นอย่างจริงจังหนักแน่น กล่าวคือ ในการปฏิบัติกิจการงาน บัณฑิตจะต้องทำความเข้าใจให้ทราบชัดว่า ตนมีหน้าที่อะไรแล้วตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ทั้งปวงจนสำเร็จลุล่วงด้วยความเอาใจใส่ พร้อมทั้งพยายามปรับปรุงพัฒนางานในหน้าที่ให้ดีขึ้นเจริญขึ้นอยู่เสมอ เมื่อทุกคนรู้หน้าที่และรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน การงานทุกอย่างที่ทำก็จะสำเร็จผลอย่างมีประสิทธิภาพ และผลสำเร็จอันเกิดจากการปฏิบัติงานของแต่ละคนนั้น นอกจากจะอำนวยประโยชน์ให้แก่ตนเองแล้ว ยังประกอบเกื้อกูลกันเป็นความเจริญก้าวหน้าของส่วนรวมด้วย จึงขอให้บัณฑิตทุกคนรู้หน้าที่ของตนและรับผิดชอบต่อหน้าที่อย่างเคร่งครัดจะได้สามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ที่แท้จริงและยั่งยืนให้แก่ตนเองและส่วนรวมได้สืบไป”

ต่อจากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงหล่อพระเกศพระพุทธรูปนาคปรก ส.ธ. ประจำมหาวิทยาลัยพะเยา ณ มหาวิทยาลัยพะเยา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา

11 มีนาคม พ.ศ. 2453 รำลึกวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร’ ผู้ริเริ่มการประดิษฐ์ ‘ปรุงยาไทย’ ผสมกับ ‘ยาต่างประเทศ’ คนแรก

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2398 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2411 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล รับหน้าที่เป็นนายด่าน ทำการก่อสร้างหอพระคันธารราฐ ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งก่อสร้างค้างมาตั้งแต่รัชกาลก่อน

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสังเกตเห็นว่าพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นี้ มีพระอัธยาศัยนิยมศึกษาตัวบทกฎหมายและอรรถคดี จึงโปรดฯ ให้ไปศึกษากฎหมายและการพิจารณาความกับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ ซึ่งทรงบัญชาการศาลรับสั่ง อยู่ในขณะนั้น ในปี พ.ศ. 2417 โปรดให้ตั้งองคมนตรีสภา (เดิมคือ ปรีวีเคาน์ซิล) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล เป็นองคมนตรีในครั้งนั้นด้วย และแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี พิจารณาความรับสั่งบางเรื่อง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ตั้งศาลฎีกา ขึ้นในปี พ.ศ. 2419 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล ทรงเป็นอธิบดีศาลฎีกา พระองค์แรก และทรงได้รับการสถาปนาพระเกียรติยศขึ้นเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร และเป็นอธิบดีศาลแพ่งกลาง และศาลแพ่งเกษม อีก 2 ศาล ในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ. 2427 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงขึ้นไปรักษาเมืองเชียงใหม่พระองค์ได้ทรงจัดการศาลต่างประเทศ และจัดการระเบียบการปกครองภาคเหนือใหม่ ต่อมาเมื่อเสด็จกลับกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2428 และในวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2429 ทรงได้รับสถาปนาเลื่อนเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงศักดินา 15,000

ในปี พ.ศ. 2434 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงเป็นข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาว เสด็จขึ้นไปว่าราชการอยู่ที่หัวเมืองลาวกาว ประจำอยู่ที่เมืองจำปาศักดิ์ ทรงปรับปรุงการปกครองหัวเมืองทางภาคอีสาน ซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงหัวเมืองชั้นนอก ประมาณ 20 หัวเมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร ยังมิได้รวมเป็นมณฑล ในการเสด็จออกตรวจราชการตามท้องที่ต่าง ๆ ทำให้พระองค์ทรงมีความรู้เกี่ยวกับชายแดนลาว และเขมร เป็นอย่างดี

เมื่อเสด็จกลับกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นผู้พิพากษาฝ่ายไทยร่วมกันพิจารณาคดีความร่วมกับฝรั่งเศส ในกรณีพระยอดเมืองขวาง ต่อมาในปี พ.ศ. 2437 ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม พระองค์ที่สอง สืบต่อจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตน์วิศิษฎ์ ซึ่งถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเสด็จไปราชการ ณ ประเทศยุโรป และได้เป็นรัฐมนตรีด้วย

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงมีความรู้ด้านการแพทย์ ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่คิดประดิษฐ์ปรุงยาไทยผสมกับยาต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีพระอัจฉริยภาพในด้านการพระนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองมากมายหลายเรื่อง เช่น ท้ายกาสีหา นางปทุมสังกา พระองค์ยังได้ร่วมกับพระเจ้าพี่ยาเธอ และพระเจ้าน้องยาเธอจัดตั้งหอสมุดวชิรญาณขึ้นในปี พ.ศ. 2423 เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงศึกษาภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองจนกระทั่งอ่านสามารถ fiction และ novel ภาษาอังกฤษได้คล่อง ทรงนิพนธ์เรื่องสนุกนึก ซึ่งเป็นเรื่องสั้นเรื่องแรก ที่เรียกว่าเป็นบันเทิงคดี ตามแบบอย่างนิยายฝรั่งถือเป็นนิยายเรื่องแรกของไทย

ในปี พ.ศ. 2439 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้ถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เพราะประชวรพระวัณโรคภายใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้แพทย์หลวงไปประกอบถวายพระโอสถ แต่พระอาการยังทรงกับทรุดจนสิ้นพระชนม์เมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม  พ.ศ. 2453 เวลา 04.00 น. เศษ สิริพระชันษาได้ 54 ปี 133 วัน ถึงเวลา 2 ทุ่ม สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ มาพระราชทานน้ำสรงพระศพ เจ้าพนักงานเชิญพระศพลงพระลอง ประดิษฐานเหนือแว่นฟ้า 2 ชั้น พระสงฆ์มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นประธานสวดสดับปกรณ์ เจ้าพนักงานประกอบพระโกศมณฑปเป็นเกียรติยศ

10 มีนาคม พ.ศ. 2539 น้อมรำลึกวันคล้ายวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ‘สมเด็จย่า’ ผู้ทรงก่อตั้ง ‘มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง’ เพื่อช่วยให้ชาวไทยภูเขาได้อยู่ดีกินดี

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชสมภพ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 มีพระนามเดิมว่า สังวาลย์ ตะละภัฏ ทรงเป็นพระชายาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเป็นพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

ตลอดพระชนชีพ สมเด็จย่า ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนชาวไทยอย่างมากมาย อาทิ ทรงให้การอุปถัมป์ราษฎรชาวไทยภูเขาที่อาศัยในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้มีอาชีพ ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จนเป็นที่มาของ ‘มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง’ นอกจากนี้ยังทรงเป็นแบบอย่างของความพอเพียง ทรงสอนพระโอรสและพระธิดา ให้รู้จัก ‘การให้’ มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ โดยสมเด็จย่าจะทรงตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่า ‘กระป๋องคนจน’ หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูก ‘เก็บภาษี’ หยอดใส่กระปุกนี้ 10% และทุกสิ้นเดือน สมเด็จย่าจะเรียกประชุมเพื่อตรัสว่า จะนำเงินในกระป๋องไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระประชวร โดยมีพระอาการทางพระหทัยกำเริบ และทรงเหนื่อยอ่อน โดยเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2538 จนกระทั่งในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ทรงมีพระอาการทรุดลง เนื่องด้วยมีพระอาการแทรกซ้อนทางพระยกนะ (ตับ) และพระวักกะ (ไต) ไม่ทำงาน พระหทัย (หัวใจ) ทำงานไม่ปกติ ความดันพระโลหิตต่ำทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในพระโลหิต

คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาความผิดปกติของระบบต่าง ๆ แต่พระอาการคงอยู่ในภาวะวิกฤต จนเมื่อเวลา 21.17 น. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุ 94 พรรษา ต่อมาจึงมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2539 ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง

‘ฟลุค-นาตาลี’ ฉลองวิวาห์อย่างยิ่งใหญ่ หลังเลื่อนมานานเพราะโควิด ทำให้ ‘น้องนาตาชา’ ลูกสาวสุดที่รัก ได้มาร่วมงานแต่งงานของพ่อแม่ด้วย

(9 มี.ค.67) หลังจากที่คู่รักคู่หวาน ‘ฟลุค’ เกริกพล มัสยวาณิช และ ‘นาตาลี เจียรวนนท์’ เข้าพิธีหมั้นและมงคลสมรสแบบประเพณีไทยเมื่อต้นปี 2563 แต่ต้องเลื่อนงานพิธีฉลองมงคลสมรสออกไปนานถึง 4 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด

ล่าสุดมีข่าวดีรับปีมังกร เมื่อ ‘ฟลุค’ และ ‘นาตาลี’ ถือฤกษ์ดีจูงมือกันเข้าสู่พิธีฉลองมงคลสมรสในวันนี้ที่ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ ท่ามกลางบรรยากาศของความรักแสนอบอุ่นสไตล์สวนอังกฤษ ซึ่งเต็มไปด้วยดอกไม้โทนสีชมพูสีโปรดของเจ้าสาว

ทั้งนี้ก่อนที่งานฉลองในช่วงเย็นจะเริ่มขึ้น เจ้าบ่าวและเจ้าสาว ได้เปิดใจให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงความรู้สึกหลังรอคอยมานานถึง 4 ปี โดย ‘ฟลุค’ กล่าวก่อนว่า “นานมากจริงๆ กว่าจะถึงวันนี้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีเพราะว่าได้มีน้องนาตาชามาด้วย”

ด้าน ‘นาตาลี’ เสริมว่า “จริงๆ งานนี้ต้องเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์โลกที่มีโรคระบาดโควิดทำให้เราต้องเลื่อนมา ในที่สุดก็มาเป็นวันนี้

แต่ว่าเราจัดงานแต่งตอนเช้าไปแล้วเหลือแค่งานฉลองที่จะมีขึ้นในวันนี้ แล้วก็ต้องขอบคุณพี่ฟลุคด้วยที่ให้สิทธิ์เรา 100% เราก็จัดการเต็มที่อยากให้งานออกมาดีที่สุด”

ในส่วนของชุดเจ้าสาว เจ้าบ่าวสุดหล่อเผยว่า “ที่โหดสุดคือชุดเจ้าสาว หลายคนจะคิดว่าจัดงานแพง แพงครับ แต่ชุดเจ้าสาวไม่ได้แพ้งาน ตอนแรกมันมีการตัดสินใจว่าจะจัดหรือไม่จัดดี

แต่ได้คำนวณแล้วว่าสิ่งที่เราจ่ายไปแล้วมันเยอะกว่า ฉะนั้นก็จัดเถอะ ไม่อย่างนั้นชุดเจ้าสาวที่ซื้อไว้ตั้งแต่ 4 ปีที่แล้วจะใส่ไปไหนได้ ซึ่งงานวันนี้ในส่วนของน้องลีจะมีทั้งหมด 3 ชุด ชุดแถลงข่าว ชุดพิธี และชุดอาฟเตอร์ปาร์ตี้ เรื่องราคาขอไม่บอกแล้วกัน แต่เอาเป็นว่าไม่ได้ถึง 8 หลักขนาดนั้น”

สำหรับงานฉลองมงคลสมรสที่มาลงตัวในวันนี้ ‘นาตาลี’ บอกว่า “เพิ่งตัดสินใจกันได้ว่าจะจัดงานเป็นวันนี้เมื่อปลายเดือนมกราคม เท่ากับว่าเหลือเวลาอีกแค่เดือนเดียว ตอนนั้นก็คิดว่าทัน

แต่กลายเป็นว่าทุกอย่างมันกระชั้นไปหมด ยังขาดอะไรอีกเยอะมาก รวมถึงมีหลายอย่างที่ต้องเปลี่ยนใหม่ อย่างชุดของนาตาชากับชุดพี่ฟลุคก็เพิ่งเสร็จเมื่อคืน ว่ากันตามตรงงานเราเพิ่งจะเสร็จเมื่อเช้ามั้ง(หัวเราะ)”

“แต่สิ่งที่พิเศษที่สุดของงานในวันนี้ก็คือมีน้องนาตาชามาร่วมงานด้วย อันนี้เรารู้สึกว่าเป็นความโชคดี ถึงแม้เราจะต้องเลื่อนงานฉลองจากตอนนั้นก็ตาม แต่ก็ต้องรอดูในช่วงเย็นของวันนี้ว่าเขาจะทำตามที่คิดหรือเปล่า

เพราะเขาเป็นคนที่แล้วแต่อารมณ์มาก จริงๆ การแต่งงานที่มีลูกสาวมาร่วมงานด้วย พูดแล้วมันก็ปลื้มนิดหนึ่ง การได้มองไปแล้วเห็นว่าเขามาอยู่ตรงนี้ด้วย

กลายเป็นความรู้สึกว่าในความโชคร้ายของตอนนั้นที่ถูกเลื่อนงาน ซึ่งเราก็ร้องไห้เยอะมากแล้ว มันช่างเป็นเรื่องโชคดีจังเลยที่เขาได้มาร่วมโมเมนต์และมีภาพที่น่ารักเป็นความทรงจำทั้งชีวิต

ซึ่งหลายคนก็จะถามว่าผ่านมา 4 ปีแล้ว ยังจัดงานแต่งอีกเหรอไม่เหนื่อยเหรอ ถ้าในส่วนตัวเราไม่เคยคิดจะล้มเลิก สถานการณ์วิกฤตต่างๆ เราควบคุมไม่ได้ แต่เราจะไม่ปล่อยให้วิกฤตมาทำลายความตั้งใจของเราได้ ยังไงก็จะจัดแต่ว่ารอเวลาที่เหมาะสม” เจ้าสาวกล่าวทั้งน้ำตาแห่งความตื้นตัน

เมื่อถามถึงแพลนมีลูกคนที่สอง นาตาลี กล่าวว่า “เรื่องนี้กำลังถกกันอยู่เลยว่าเอายังไงดี ตอนแรกเราอยากมี 2 คน ผู้หญิงหนึ่งคน ผู้ชายหนึ่งคน แต่พอมีนาตาชามาปุ๊บซึ่งเป็นผู้หญิงแล้วเขาน่ารักมากจริงๆ

เราฟินมากจนรู้สึกว่าหรือไม่ต้องมีอีกคนแล้ว เพราะเขาเติมเต็มจนเราอยากทุ่มเวลาให้อย่างเต็มที่ แต่สักพักพอผ่านเวลามาก็รู้สึกว่าหรือจะมีน้องให้เขาดี แล้วถ้ามีจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ซึ่งก็ยังเคาะไม่ได้”

ในส่วนของคำมั่นสัญญา ‘นาตาลี’ เผยว่า “ตั้งแต่คบกันมาเราไม่มานั่งมีคำมั่นสัญญาอะไร ส่วนใหญ่จะใช้เป็นการกระทำมากกว่า แต่ถ้าถามว่า 4 ปีที่แล้วกับตอนนี้เปลี่ยนไปมั้ย บอกเลยเปลี่ยนไปมากเพราะมันเป็นคำว่าครอบครัวแล้ว เมื่อก่อนเราเป็นคู่รัก ช่วงหลังพอมีลูกมันก็กลายเป็นครอบครัวเต็มๆ”

ต่อข้อถามว่า 14 ปีที่ครองรักกันมา ถือเป็นการพิสูจน์ทุกคำสบประมาทไหม ‘ฟลุค’ บอกว่า “มันก็อาจจะเป็นอย่างนั้น แต่ผมรู้สึกว่าเราเข้ากันได้ตั้งแต่ต้นแล้ว

เราเป็นคนที่คล้ายกันในหลายๆ เรื่อง จนถึงวันนี้ก็ต้องขอบคุณทุกคนที่ติดตามเราและให้กำลังใจมาตลอด ซึ่งเดี๋ยวนี้มีแฟนๆ ของน้องนาตาชาและอชิเยอะมาก เราก็ดีใจที่ทุกคนเอ็นดูลูกของเรา”

“สำหรับพี่ฟลุคก็ขอบคุณที่ตามใจตลอด ไม่ว่าเราจะทำอะไรที่ผ่านมาทั้งหมดพี่ฟลุคก็จะไม่ใช่คนที่พูดจาหวานๆ ไม่ใช่คนโรแมนติก แต่เขาค่อนข้างมีการกระทำที่ให้เรารู้ว่าเขารักเรานะ ที่สำคัญคือเขาเคารพความคิดเรา ที่ผ่านมาตลอดทั้ง 14 ปีส่วนใหญ่เขาก็จะเป็นแบบนี้” ‘นาตาลี’ กล่าวทิ้งท้ายขอบคุณสามีทั้งน้ำตา

เปิดประวัติ ‘โรตารี่’ อายุยาวนานกว่า 100 ปี ความภาคภูมิใจของมาสด้า โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์เฉพาะ ‘เครื่องยนต์ลูกสูบสามเหลี่ยม’ แรงไม่ซ้ำใคร

(9 มี.ค.67) วันเสาร์สุดสัปดาห์แบบนี้ THE STATES TIMES จะขอพาทุกท่าน ย้อนเวลา ไปหาเครื่องยนต์ที่ถือได้ว่า เป็นตำนานที่สร้างชื่อเสียงให้กับ ‘มาสด้า’ นั่นก็คือ ‘เครื่องโรตารี่’

ต้นกำเนิดของเครื่องยนต์โรตารี่ เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อปี 1919 เมื่อ มร. เฟลิกซ์ แวนเคิ้ล (Mr. Felix Wankel) มีความคิดริเริ่มที่จะสร้างเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบใหม่ที่ไม่ซ้ำแบบเครื่องยนต์ลูกสูบทั่วๆไป โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจาก 'เครื่องจักรเทอร์ไบน์' จนกระทั่งออกมาเป็นรูปร่างคล้ายเครื่องยนต์ 4 จังหวะ จุดระเบิดด้วยการหมุนรอบตัวเอง และได้ทำการทดลองมาอย่างต่อเนื่องจนสามารถออกแบบเป็น 'ลูกสูบสามเหลี่ยม' ขึ้นมา และเมื่อ มร. เฟลิกซ์ แวนเคิ้ล ได้เข้าทำงานในสถาบัน TES (Technical Institute of Engineering Study) จึงได้พัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานในรถเพื่อการพาณิชย์ โดยนำโปรเจกต์นี้ไปเสนอต่อบริษัท NSU Motorenwerke AG ซึ่งเป็นบริษัทผลิตมอเตอร์ไซค์ และได้พัฒนาเครื่องยนต์โรตารี่ควบคู่กันไป ทำให้ 'เครื่องยนต์โรตารี่' เครื่องแรกถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1957 โดยใช้ชื่อว่า DKM 54 ในรถมอเตอร์ไซค์ รุ่น 50 ซี.ซี. สามารถทำความเร็วได้ถึง 192.5 กม./ชม. ที่สำคัญสามารถคว้าชัยชนะในรายการ 'World Grand Prix Championship' ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาให้กับผู้คนทั่วโลกเป็นอย่างมาก

ในปี 1961 Mr.Tsuneji Matsuda ประธาน บริษัท Toyo Kogyu (โตโย โคเกียว) ผู้ผลิตรถยนต์จากแดนอาทิตย์อุทัยภายใต้ชื่อ 'มาสด้า' ได้ทำการซื้อลิขสิทธิ์มาพัฒนาใหม่ จนกระทั่งในเดือนเมษายน ปี 1963 Mr. Keichi Yamamoto ก็ได้ทำการพัฒนาขึ้นมาสำเร็จ แต่ยังพบข้อบกพร่องบางอย่างเกี่ยวกับ Apex Seal และ Oil Seal ซึ่งเสียหายง่าย จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท Nippon Piston Ring & Oil Seal Co. เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้สำเร็จ

ต่อมาในปี 1967 #มาสด้าก็ได้สร้างความฮือฮาขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัวรถคันแรก ที่ใช้ #เครื่องยนต์โรตารี่ ด้วย 'รุ่น Cosmo Sport 110S' ซึ่งเป็นรถยนต์มาสด้ารุ่นแรก ที่ใช้เครื่องยนต์โรตารี่หลังจากนั้นจึงได้เริ่มผลิตและจำหน่ายรถยนต์เครื่องยนต์โรตารี่ ตามออกมาอีกหลายรุ่น อาทิ แฟมิเลีย โรตารี่คูเป้ (R100 ในต่างประเทศ) ซาวันน่า(RX-3) #RX-7 และรุ่นยูโนส คอสโมมาสด้าถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกและรายเดียว ที่ประสบความสำเร็จในการใช้เครื่องยนต์โรตารี่ ในเชิงพาณิชย์จนถึงปัจจุบันโดยเริ่มมาจากการใช้เครื่องยนต์โรตารี่ในรถยนต์รุ่น Cosmo Sport 110S และทำให้ต่อมารถยนต์มาสด้าหลายรุ่น ก็ได้นำเอาเครื่องยนต์โรตารี่มาใช้

นับจากรถยนต์มาสด้า ที่ใช้เครื่อง โรตารี่ ปรากฏโฉมออกสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาร่วม 50 ปี ของเครื่องยนต์นี้ที่ถูกผลิตและจำหน่ายไปทั่วโลกมากกว่า 2 ล้านคัน ซึ่งในระหว่างนั้นทาง มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่นมีโอกาสผลิตรุ่นพิเศษ เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี จึงได้เปิดตัวมาสด้า #RX-8รุ่นพิเศษ ในตลาดญี่ปุ่น โดยรุ่นพิเศษนี้ได้รับการพัฒนามาจากรุ่น RX-8 Type S(เกียร์ธรรมดา 6 สปีด) และ Type E(เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด) ถึงแม้ว่าเครื่องยนต์โรตารี่ จะได้หยุดการผลิตไปในบางช่วงเวลาเนื่องจากความเข้มงวดในบางตลาด แต่มาสด้าก็ไม่เคยที่จะหยุดพัฒนาและวิจัย

จนกระทั่งวันนี้ตำนานที่ถูกเล่าขานมาอย่างยาวนาน ได้ถือกำเนิดขึ้นมาอีกครั้ง นั่นคือ เครื่องยนต์โรตารี่ เจเนอเรชั่นใหม่ ที่มีชื่อเรียกว่า SKYACTIV-R หรือ เครื่องยนต์โรตารี่ที่แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของมาสด้า ในการกล้าที่จะก้าวสู่ความท้าทายใหม่ๆ และกล้าที่จะต่างด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด โดยได้พัฒนาขึ้นเป็นรถสปอร์ตต้นแบบ มาสด้าRX-Vision ที่ใช้เครื่องยนต์โรตารี่ เจเนอเรชั่นใหม่ สกายแอคทีฟ-อาร์ เป็นขุมพลังในการขับเคลื่อน ซึ่ง มาสด้า มอเตอร์คอร์ปอเรชั่น ได้เผยโฉมเป็นครั้งแรกในงาน โตเกียว มอเตอร์ โชว์ เพื่อสะท้อนถึงวิสัยทัศน์แห่งอนาคต ด้วยการเป็นรถสปอร์ตวางหน้า และขับเคลื่อนล้อหลังที่มาพร้อมรูปลักษณ์หรูหรางดงามตามแบบฉบับ โคโดะ ดีไซน์ อันเลื่องชื่อของมาสด้า

นี่คือเรื่องราวความเป็นมาบางส่วนเกี่ยวกับเครื่องยนต์โรตารี่ อันเป็นต้นกำเนิดของรถสปอร์ตมาสด้าหลากหลายรุ่น และส่งผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

‘ฮูพ BNK48’ โดนจวกแรง เต้นในรพ. แฟนคลับงง ผิดตรงไหน เพราะเต้นในห้องพิเศษ

(9 มี.ค.67) ปาฏลี ประเสริฐธีระชัย หรือ ‘ฮูพ สมาชิกรุ่นที่ 3 ของ BNK48’ กลายเป็นดราม่า หลังเจ้าตัวโพสต์คลิปวิดีโอเต้นเพลงใหม่ของหนุ่มธามไทขณะรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง

คลิปวิดีโอของ ฮูพ กลายเป็นไวรัล มียอดเข้าชมนับล้านครั้ง เพราะความมีเสน่ห์เฉพาะตัวและความสวยเป๊ะแม้จะอยู่โรงพยาบาล

แต่ไม่วายกลับมีดราม่าจนได้ เมื่อชาวเน็ตส่วนหนึ่งมองว่า พฤติกรรมนี้อาจเป็นอันตรายเพราะ ฮูพ เต้นขณะที่ยังคงใส่สายน้ำเกลือ จะทำให้เลือดย้อนขึ้นรึเปล่า บางคนก็ตั้งคำถามว่าไม่รบกวนคนไข้คนอื่นเหรอ หรือ ทำไมเด็กรุ่นใหม่ต้องทำคอนเทนต์ตลอดเวลา

เป็นการจุดชนวนให้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่มองว่าก็ไม่เห็นเป็นปัญหาอะไรออกมาตอบโต้ บอกว่า ไม่รบกวนใครหรอก จากคลิปวิดีโอก็เห็นว่าอยู่ห้องพิเศษ ส่วนเรื่องอันตรายก็ไม่ต้องห่วงเพราะเขาใส่เครื่อง Infusion pump เรียบร้อย ที่เขาออกมาเต้นอาจจะเพราะว่าใกล้หายดีแล้วก็ได้

อย่างไรก็ตาม หากอยู่ในการดูแลของแพทย์ แล้วไม่รบกวนคนอื่น การเต้นในห้องพักก็อาจจะไม่ใช่เรื่องร้ายแรงขนาดที่จะต้องดราม่ากันใหญ่โต

‘สวนสมดุล’ พื้นที่เชื่อมคนเมืองกับธรรมชาติเข้าด้วยกัน

ต้องยอมรับว่าวันนี้สังคมโลกในปัจจุบัน เริ่มตระหนักและพูดถึงเรื่องการให้ความสำคัญกับการต่อสู้/ฝ่าฟันปัญหาโลกร้อนและภาวะเรือนกระจกกันตั้งแต่ระดับโลก, ประเทศ มาสู่ชุมชน ภายใต้บริบทแห่งการสร้างสังคมสีเขียว ปลอดมลพิษ และลดการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิล เพื่อทะนุถนอมดูแลโลกใบนี้ให้อยู่กับมนุษยชาติต่อไปอีกนานแสนนานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การฟูมฟักสังคมสีเขียว ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในยุคนี้ ยุคที่ทุกอย่างอิงแนบไปกับภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการผลิต และเผาผลาญทรัพยากรมหาศาล เพื่อได้มาซึ่งผลลัพธ์แห่งการแข่งขัน รวมทั้งผู้คนที่ขาดความเข้าอกเข้าใจในธรรมชาติ จนหลงลืมว่าชีวิตควรแนบชิดกับธรรมชาติในบางจังหวะ ที่หากทำได้มากเท่าไร ก็อาจจะเป็นแรงเหวี่ยงสำคัญในการปลุกจิตสำนึกแห่งความรักในโลกได้อย่างจริงจังขึ้น

การชวนมนุษย์ให้ค่อยๆ หลุดเข้ามาสู่โลกที่เป็นมิตร โลกที่เต็มไปด้วยกลิ่นแห่งอายแห่งชีวิตที่คลอเคล้าบนวิถีธรรมชาติ จึงเป็นบทบาทของผู้ที่พร้อมจะสละตนมาเนรมิตบางสิ่งด้วยความตั้งใจ แม้จะเป็นเพียงจุดเล็กๆ ของสังคม

ด้วยเหตุนี้ THE STATES TIMES จึงอยากพาผู้คนที่ยังขาดจังหวะชีวิตกับวิถีธรรมชาติ มาเริ่มต้นจากการสูดอากาศที่ ‘สวนสมดุล’ หรือ ‘Somdul Agroforestry Home’ อีกหนึ่งสถานที่ตอบโจทย์ผู้คนที่อยากซึมซับในวิถีแห่งธรรมชาติใกล้กรุง เพื่อปรับความสมดุลให้ชีวิต ผ่านกิจกรรมอันหลากหลาย ภายใต้จุดเด่นแห่งการพัฒนาเกษตรกรรมเชิง ‘วนเกษตร’ ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เรียกว่า ‘ความสุขอย่างยั่งยืน’

'เอี่ยม' อติคุณ ทองแตง หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ‘Somdul Agroforestry Home’ ได้อธิบายคุณค่าแห่ง 'สวนสมดุล' ไว้อย่างน่าสนใจกับยูทูบช่อง ‘Health Addict’ โดยระบุว่า…

‘Somdul Agroforestry Home’ หรือแปลเป็นภาษาไทยก็คือ ‘วนเกษตร’ เป็นการทําเกษตรที่พึ่งพาอาศัยรวมอยู่กับป่า จุดเริ่มต้นของที่นี่ (สวนสมดุล) เริ่มมาจากกลุ่มคนที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมาทั้งหมดเป็นกลุ่มนักอนุรักษ์ มีความรักในธรรมชาติเป็นพื้นฐาน และก็เริ่มมองหาธุรกิจ ที่สามารถจะอยู่ร่วมกับป่า ใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งเขียว ๆ รอบ ๆ ตัวเรา

“บทสรุปที่เลือกปักหมุดใน 'วนเกษตร' เพราะผมอยากทําให้คนอื่นเห็นว่า ใครๆ ก็สามารถทําได้เหมือนกัน และเราสามารถนำผลผลิตเชิงวนเกษตรมาใช้ในเชิงธุรกิจได้” คุณเอี่ยมเกริ่น

คุณเอี่ยม อธิบายนิยามคำว่า ‘สมดุล’ เพิ่มด้วยว่า “ที่มาของคําว่าสมดุล มาจากการสร้างความสมดุลระหว่างวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ กับ คนที่ใช้ชีวิตในเมือง ที่ยังเดินห้าง กินอาหารทั่วไป ซึ่งผมเชื่อว่าสองฝั่งนี้ ใช่ว่าจะไปด้วยกันไม่ได้ มันสามารถมาบรรจบกัน และสร้างความสมดุลได้ คนเมืองก็สามารถสร้างสีเขียว ๆ สามารถปลูกต้นไม้ สามารถดูแลระบบนิเวศรอบ ๆ เมืองได้เหมือนกัน...

“ยิ่งไปกว่านั้น เราอยากจะสร้างโลกสำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งยังเลือกใช้ชีวิตอยู่ในเมือง เกิดแรงบันดาลใจ และทําให้เห็นว่าการเลือกใช้ชีวิตแบบนี้ ไม่จําเป็นต้องหนีห่างไปจากธรรมชาติ หรือออกไปจากระบบนิเวศสีเขียว เพราะที่สุดแล้ว มันพึ่งพากันได้”

เมื่อข้ามผ่านคอนเซปต์แห่ง 'สวนสมดุล' ก็ได้เวลาที่คุณเอี่ยม จะอธิบายพื้นที่และหน้าที่ต่าง ๆ ในสวนแห่งนี้ โดยเขาเล่าไอเดียที่สอดแทรกในทุกๆ ส่วนของสวนสมดุลไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...

“ที่นี่จะใช้ส่วนที่เป็นคาเฟ่ ร้านอาหาร เป็นจุดสื่อสาร เพราะเป็นจุดที่จับต้องได้ง่าย ทุกคนที่มาก็ต้องกิน ต้องดื่ม และเราก็จะพูดเกี่ยวกับเรื่องวัตถุดิบจากธรรมชาติ วัตถุดิบออร์แกนิก หรือวัตถุดิบปลอดสารที่เรา (สวนสมดุล) ได้มาจากสิ่งที่เราปลูกเอง โดยข้างนอกรอบ ๆ จะใช้เป็นโชว์รูม ปลูกไม้ใหญ่ ๆ และต้นไม้เล็ก ๆ ร่วมกันกับการทําสวนเกษตรอินทรี...

นอกจากนี้ ก็จะมีเวิร์กช็อปเกี่ยวกับเรื่องกาแฟ คุณภาพดี, การศึกษาธรรมชาติระบบนิเวศ, พาเด็กดูนก, เก็บไข่ไก่ ได้ไปสัมผัสกับไก่ที่หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่เคยสัมผัส...

"สำหรับไก่ที่เลี้ยงจะเป็นไก่ไข่ และใช้สำหรับในโซนคาเฟ่ทั้งหมด สิ่งที่สําคัญที่สุดของการเลี้ยงไก่คืออาหาร เราจะใช้เป็นอาหารไก่อินทรีย์ที่ทํามาจากพวกพืชอินทรีย์ทั้งหมด มีข้าวโพดอินทรีย์ ใบข้าว" 

นอกจากในโซนคาเฟ่ สวนปลูกพืช และฟาร์มไก่ไข่แล้ว คุณเอี่ยม ยังได้พูดถึงการเลี้ยงผึ้งชันโรง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของที่นี่ด้วย 

"สำหรับเจ้าผึ้งชันโรง เป็นเหมือนเครื่องตรวจวัดสารเคมี เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีความไวต่อสารเคมีมาก หากในพื้นที่รอบ ๆ มีระดับความรุนแรงของสารเคมีมากเกินไป รังผึ้งชันโรงก็จะร่อแร่ และอาจจะตายยกรังได้ ฉะนั้นหากมีรังผึ้งชันโรงที่สมบูรณ์ แข็งแรง ก็หมายความว่า พื้นที่รอบ ๆ ปลอดภัยจากสารเคมีนั่นเอง...

"โดยการเลี้ยงผึ้งชันโรงนั้น ต้องเลี้ยงแบบกระจายตัว ต้องวางห่าง ๆ กันเพื่อให้ได้ผลผลิตที่หลากหลาย อาจจะได้ผลผลิตมากถึง 2-4 เท่าเลย เนื่องจากชันโรงเป็นแมลงตัวเล็ก สามารถตอมดอกไม้เล็ก ๆ หรือสมุนไพร เป็นตัวช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีววิทยา และเมื่อได้ศึกษาลงรายละเอียดแล้ว ก็พบว่าผึ้งชันโรงไม่ได้ดุร้ายอย่างที่หลายคนเข้าใจ พวกมันน่ารัก และไม่ได้จ้องจะทำร้ายด้วย เท่านั้นยังไม่พอ ผึ้งชันโรงยังมีประโยชน์มาก ๆ และหากสูญพันธุ์ไป โลกก็จะขาดนักผสมพันธุ์เกสร จะขาดอาหาร และสุดท้ายมนุษย์ก็จะสูญพันธุ์ตามไปในที่สุด"

เมื่อถามถึงเรื่องผลตอบแทนจากการทำสวนสมดุล? คุณเอี่ยม กล่าวว่า “การที่ทําธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมในยุคนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เนื่องจากคนที่เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม อาจจะยังมีไม่มากพอ ส่งผลให้รายได้ที่จะวนกลับมาเลี้ยงชีพก็ยังไม่ได้เยอะมาก เรียกว่าต้องทนลําบากในช่วงแรกพอสมควร เพื่อหวังผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

คุณเอี่ยม กล่าวเสริมว่า “แต่ในขณะเดียวกันผมรู้สึกว่าผม ‘จําเป็น’ ต้องทํา เพื่อที่อย่างน้อยเราจะได้เป็นต้นแบบ และทําให้คนอื่นเห็นว่าสามารถทําได้จริง ๆ และหากเราสำเร็จและมีเครือข่ายอื่น ๆ ที่ทําไปด้วยกันกับเรา คนที่จะทําตามหลัง ก็จะไม่ยากลำบากอย่างที่เราเป็นแล้ว”

ในช่วงท้าย คุณเอี่ยมได้ตอกย้ำเรื่องความสมดุลไว้อีกว่า “หัวใจหลักของความสมดุลที่ดีในการใช้ชีวิต อยู่ที่ระบบนิเวศ ถ้าเกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์หรือสามารถดูแลตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งมนุษย์ เราก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากระบบนิเวศนั้น ๆ ได้ความร่มเย็นกลับมา ได้อากาศที่ดีกลับมา เป็นผลพลอยได้ที่ทุกคนมักจะลืม เพราะมัวแต่โฟกัสที่ผลกําไรของมันว่าจะเป็นยังไง ให้ผลผลิตแบบไหน ซึ่งผมมองว่าเรื่องระบบนิเวศ เป็นเรื่องผลกระทบในระยะยาว ไม่ได้เห็นชัดเจนรวดเร็ว อาจจะไม่ใช่เพื่อรุ่นเรา แต่เพื่อรุ่นลูกหรือหลานของเราในอนาคต"

***FYI
‘สวนสมดุล’ Somdul Agroforestry Home
ตั้งอยู่ในตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
ไม่ไกลจากตลาดน้ำอัมพวา จากวัดบางพลับ มาอีกประมาณ 500 เมตร
เปิด วันจันทร์-อังคาร 09.00-17.00 น. วันพุธ-อาทิตย์ 09.00-18.00 น. (ปิดวันพฤหัสบดี)
สอบถาม โทร. 098-362-9894 หรือ facebook.com/somdulhome 

9 มีนาคม พ.ศ. 2563 ‘ในหลวง ร.10’ เสด็จฯ เปิดโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ‘สืบสาน-รักษา-ต่อยอด’ พระราชปณิธาน ‘ในหลวง ร.9 - สมเด็จพระพันปีหลวง’

9 มีนาคม พ.ศ. 2563 เวลา 19.43 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ทรงเป็นประธานเปิดการประชุมโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ อาคารบกหน่วยราชการในพระองค์ 904 (อาคาร 2) โดยมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานโครงการ พร้อมด้วยกรรมการโครงการ และกรรมการชุมชนจากพื้นที่โครงการในตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรีเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ

โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทอดพระเนตรนิทรรศการผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านสาธารณสุข ด้านเส้นทางการคมนาคม ด้านสาธารณูปโภค ด้านอาชีพ ต่างๆ

จากนั้นได้พระราชทานพันธุ์ไม้ 2 พันธุ์ คือ มะม่วงมหาชนกและต้นรวงผึ้งให้กับนางกะมุ้ย นายวราวุฒิ เกสรพฤกษาทิพย์ กรรมการชุมชนไล่โว่ นายสุวิทย์เคียว เซ้ง และนางหน่อพิใจ กรรมการชุมชน สาละวะตามลำดับหลังจากนั้นเสด็จฯ ไปทรงเปิดการประชุมโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี

การนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในฐานะองค์ประธานกรรมการกราบบังคมทูลพระกรุณารายงานความคืบหน้าในการดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี จากนั้นทอดพระเนตรวีดิทัศน์สรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา แล้วทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุมรวมทั้งพระราชทานพระบรมราโชบายแก่คณะกรรมการโครงการ

โครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ (หมู่บ้านสาละวะ และหมู่บ้านไล่โว่) จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชปณิธานสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ทั้งนี้ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เรื่องการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตชายแดนที่ความเจริญยังเข้าไปไม่ถึง ทำให้ประชาชนมีความยากลำบากในการดำรงชีวิต รวมทั้งทรงเห็นว่าพื้นที่ในโครงการเป็นชุมชนอยู่ติดชายแดนอันถือว่ามีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นพื้นที่แหล่งมรดกโลกของประเทศไทยที่ควรได้รับการพัฒนาและอนุรักษ์อย่างยั่งยืน เพื่อให้คนอยู่กับป่าอย่างสมดุลและรักษาต้นน้ำเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

ดังนั้น ในการนี้จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินงานตาม โครงการเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562 โดยกรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานกรรมการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการ

โดยนับจากวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในฐานะองค์ประธานกรรมการ ได้รับพระราชทานพระบรมราโชบายจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแนวทางในการทำงานกับประชาชนที่อยู่ห่างไกล โดยเฉพาะอยู่ติดชายแดนและพื้นที่เป็นมรดกโลกที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นหัวใจหลักของความเป็นมรดกโลกโดยให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย และปัญหาเรื่องเส้นทางสัญจรเข้าออกชุมชนที่ทรงทราบว่ามีความยากลำบากในการเดินทางและเรื่องสุขภาพที่สัมพันธ์กับเรื่องเส้นทางสัญจรเป็นลำดับต้นในการดำเนินงาน

ดังนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ จึงน้อมนำแนวทางตามพระบรมราโชบายข้างต้นมาทรงงานพัฒนาชุมชนบ้านไล่โว่และบ้านสาละวะร่วมกับคณะกรรมการโครงการฯ และต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุมชนสาละวะจานวนราย 8 และชุมชนไล่โว่ 6 รายทั้งนี้เพื่อให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานรวมทั้งนำเสนอข้อมูล ปัญหา ความต้องการในเรื่องต่างๆ ได้แก่เรื่องเส้นทางสัญจรด้านสุขภาพอนามัยของคนในชุมชนและเมื่อดำเนินงานไประยะหนึ่งจึงพบว่า นอกจากเรื่องเส้นทางสัญจรแล้วชุมชนต้องได้รับการพัฒนาในเรื่อง การบริหารจัดการน้า เรื่องสาธารณูปโภค และเกษตรกรรม

ที่ผ่านมาคณะกรรมการได้มีการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลจริง 3 ครั้ง รวมทั้งมีการนำคณะกรรมการชุมชน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปศึกษาดูงานพื้นที่ทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในจังหวัดตาก และจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้น ได้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการในพื้นที่ และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง จึงได้ข้อสรุปในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านสาธารณสุขที่ได้มีการอบรมประชาชนให้เป็นอาสาสมัครสาธารณสุข มีการสร้างโรงเรือนอนามัยใน 2 ชุมชน ด้านเส้นทางการคมนาคมที่มีการแก้ปัญหาน้ำหลากบนเส้นทางสัญจรด้วยการสร้างรางระบายน้ำ ปรับผิวทางสัญจร และสร้างทางข้ามบริเวณเส้นทางตัดทางน้ำ ด้านสาธารณูปโภคที่ปรับปรุงระบบโซลาร์เซลล์ และจัดทำระบบ Hydropower เนื่องด้วยใน 2 ชุมชน มีปริมาณน้ำมาก จึงนำน้ำมาใช้เป็นไฟฟ้าพลังงานน้ำได้เป็นอย่างดี ด้านอาชีพและเกษตรกรรม และด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เน้นเรื่องป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และการเกษตรทฤษฎีใหม่

ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเน้นย้ำว่า ทรงน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการสร้างความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา มาเป็นแนวทางการทรงงานในโครงการฯ รวมทั้งพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในเรื่องการสืบสาน รักษา ต่อยอด ในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งมีการประสานความร่วมมือร่วมใจของส่วนราชการ กรรมการชุมชน และประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งให้ความสำคัญต่อกฎหมาย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่มรดกโลก อีกทั้งยังทรงเน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน และการสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชนให้คงอยู่

‘พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ’ เสด็จฯ ประทานรางวัล ‘สตรีทำงานดีเด่น’ เชิดชู 'พลังหญิงไทย' แรงขับเคลื่อนสำคัญแห่งยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปประทานโล่รางวัลสตรีทำงานดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2561 เนื่องในงานวันสตรีสากล ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด พลังแรงงานสตรีไทย ก้าวไกลสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ณ ห้องมิราเคิล แกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน และผู้บริหารกระทรวง เฝ้ารับเสด็จ

การนี้ เมื่อเสด็จถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เข้าเฝ้าถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุน ‘กองทุนยาพระวรราชาทินัดดามาตุสำหรับผู้ติดเชื้อเอดส์ สภากาชาดไทย’ จากนั้นนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าเฝ้าถวายสูจิบัตรและหนังสือที่ระลึก จากนั้น พล.ต.อ.อดุลย์ กราบทูลรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กราบทูลเบิกสตรีทำงานดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2561 เข้ารับประทานโล่รางวัลสตรีทำงานดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2561 

หลังจากนั้นทรงเสด็จออกจากห้องมิราเคิล แกรนด์ บอลรูม เพื่อทอดพระเนตรประวัติสตรีทำงานดีเด่นฯ และนิทรรศการ และเสด็จไปฉายพระรูปร่วมกับคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน สตรีทำงานดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2561 คณะกรรมการจัดงานวันสตรีสากล ประจำปี พ.ศ.2561 และคณะอนุกรรมการสรรหาและคัดเลือกสตรีทำงานดีเด่น และเสด็จกลับในเวลาต่อมา

สำหรับปีดังกล่าว มีเหล่าคนดังที่ได้รับรางวัลสตรีทำงานดีเด่นประจำปี 2561 อาทิ นางสาริณี อังศุสิงห์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด, นางทิพพาภรณ์ อริยวรารมย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดีที บริษัท ดีทีจีโอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประจำสำนักงาน เจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดใหญ้ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน), นางจรรยา สว่างจิตร ประธานเจ้าที่บริหาร บริษัท พี.โอเวอร์ซีส์สตีล จำกัด (มหาชน), นางสาวณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชียแปซิฟิกกลาส จำกัด (บริษัทในเครือ บมจ.คาราบาวกรุ๊ป) และ นางสาวศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

7 มีนาคม พ.ศ. 2494 รำลึกวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร’ อธิบดีกรมสาธารณสุขคนแรก ผู้แยกหน้าที่ 'แพทย์-เภสัชกร' ตามแบบแผนที่ถูกหลัก

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสองค์ที่ 52 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง สนิทวงศ์ (ธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์) โดยประสูติในพระบรมมหาราชวังเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 12 ปีระกา ตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 หลังให้ประสูติกาลพระราชโอรสได้ 12 วัน เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่องก็ถึงแก่อนิจกรรม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอุ้มพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ มาพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ด้วยพระองค์เองพร้อมกับตรัสว่า “ให้มาเป็นลูกแม่กลาง” สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวีทรงรับพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ไว้อุปการะพร้อมทั้งพระเชษฐภคินี คือ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท โดยทรงเลี้ยงดูพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ซึ่งทรงมีพระชนมายุใกล้เคียงกับเจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดชเหมือนกับพระราชโอรสที่ประทานกำเนิดด้วยพระองค์เอง

เสด็จในกรมฯ ทรงเข้ารับการศึกษาเบื้องต้น ณ โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง และยังทรงได้รับการอบรมอย่างใกล้ชิดในเรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี และความรู้ทั่วไปจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ นอกจากนั้น ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง

พ.ศ. 2442 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จออกเดินทางไปยุโรปเพื่อรับการศึกษาที่ประเทศเยอรมัน เสด็จในกรมฯ เข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยม เมืองฮัลเบอร์สตัด และทรงเข้าศึกษา ณ มหาวิทยาลัยเมืองไฮเดิลแบร์ก ทรงสนพระทัยที่จะศึกษาวิชาแพทย์มานานแล้ว แต่สมเด็จพระบรมชนกนาถรับสั่งว่า พระพลานามัยไม่สมบูรณ์ วิชาทหารและวิชาแพทย์ไม่เหมาะสม จึงทรงแนะนำให้ศึกษาวิชากฎหมายแทน ซึ่งจะน่ากลับมาช่วยบ้านเมืองได้มากมาย

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่ ‘กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร’ ทรงรับราชการเป็น ‘ผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง’ กระทรวงธรรมการ และรับหน้าที่เป็น ‘ผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัย’

พ.ศ. 2458 ทรงปรับปรุงหลักสูตรการเรียนวิชาพยาบาลผดุงครรภ์ ให้ได้มาตรฐาน ซึ่งในสมัยนั้นยังนิยมใช้การแพทย์แผนโบราณ คลอดบุตรโดยหมอตำแยกันอยู่ ทรงส่งเสริมให้ข้าราชบริพารในสมเด็จพระศรี สวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เข้าเรียนต่อหลักสูตรของศิริราชพยาบาล สนับสนุนให้ศึกษาวิชาแพทย์และพยาบาลแผนปัจจุบันให้มากขึ้น ทรงปลูกฝังความนิยมในการเรียนแพทย์ให้เป็นที่แพร่หลาย จัดการศึกษาในโรงเรียนแพทย์ให้มีมาตรฐาน นอกจากนี้พระองค์ท่านยังเป็นผู้โน้มน้าวสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช ให้ทรงสนพระทัยวิชาการแพทย์

พ. ศ. 2460 ทรงได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยในกระทรวงธรรมการ เสด็จในกรมฯ ได้ทรงเพิ่มคณะใหม่ๆ ในมหาวิทยาลัย ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ และให้โรงเรียนราชแพทยาลัยเป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาแพทย์เพิ่มระยะเวลาการศึกษาเป็น 6 ปี

พ.ศ. 2460 ทรงจัดตั้งกองนักเรียนแพทย์เสือป่า และทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมนักเรียนแพทย์เสือป่าหลวง

พ.ศ. 2461 ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอธิบดีกรมสาธารณสุขคนแรก สมัยนั้นคำว่า ‘สาธารณสุข’ ยังเป็นคำใหม่ซึ่งคนไทยไม่เข้าใจ จึงทรงวางรากฐาน ประสัมพันธ์และวางแผนจัดทำโครงการ แบ่งงานสาธารณสุขในพระราชอาณาเขตเป็นสาธารณสุขจังหวัดในปัจจุบัน แม้กระนั้นพระองค์ก็ยังทรงห่วงใยเรื่องหลักสูตรแพทย์ปรุงยา โดยทรงรับสั่งกับรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขไว้ว่า

“เรื่องการเภสัชกรรมนั้นมีความสำคัญมาก สมควรที่ต้องมีกฎหมายบังคับคุ้มครองขึ้น จัดให้มีการแบ่งแยกหน้าที่ของแพทย์และเภสัชกรตามแบบแผนที่ถูกต้อง ตลอดจนถึงการควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานของยาตามแบบยุโรป เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน”

ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสาธารณสุขทรงริเริ่มงานการศึกษาและฝึกอบรม นอกจากนี้ อีกหนึ่งผลงานสำคัญที่คนโดยมากไม่ใคร่รู้ ซึ่งก็คือการที่พระองค์ทรงจัดให้มี ‘กองกำกับโรคระบาด’ ขึ้น ทำให้มีการกักกันผู้เป็นโรคและผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคเมื่อเดินทางเข้ามาในสยาม ซึ่งรู้จักกันในสมัยนี้ว่า State quarantine

อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่ประเทศได้มีการจัดวัคซีนหมู่ ป้องกันโรคระบาด ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับยุคนั้น ทรงให้มีการประชาสัมพันธ์ให้มีการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ อีกทั้งได้ทรงออกมาตรการใหม่ขึ้นมาปราบปราม โรคร้ายต่าง ๆ ที่เคยมีและพบมากในประเทศ เช่น ไข้มาลาเรีย โรคเรื้อน และอหิวาตกโรค จึงได้ถูกควบคุมและเริ่มลดลงไปตามลําดับ ซึ่งในกาลต่อมาหน่วยงานเหล่านี้ได้วิวัฒนาการ มาเป็น กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน ภายใต้กรมควบคุมโรค จนพัฒนามาเป็นสถาบันวัคซีนแห่งชาติในปัจจุบัน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการควบคุมโรคระบาดด้วยความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ การกักกันผู้ป่วย หรือผู้ต้องสงสัยว่ามีเชื้อโรค (Maritime quarantine) รวมไปถึงการริเริ่มฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันและปราบปรามโรคระบาด ในสยามประเทศ ล้วนเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในยุคนี้ ทรงรับใช้ชาติโดยการดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสาธารณสุขอยู่ถึง 7 ปีเต็ม จนพระองค์ทรงลาออกจากราชการเมื่อต้นปี 2468

หลังจากเกษียณจากราชการแล้ว ก็ทรงดำเนินชีวิตส่วนพระองค์อย่างเรียบง่าย ทรงงานศิลปะ ออกแบบ ตกแต่งภายในจากผลงานศิลปะและโบราณวัตถุที่ทรงสะสมทั้งจากต่างประเทศและภายในประ เทศ อันเป็นที่ชื่นชมกันว่าทรงมี ‘ตาดี’ ในเรื่องงานศิลปะ ที่ทรงสืบทอดมาจาก สมเด็จพระราชบิดา ทรงงานอดิเรกถ่ายภาพและถ่ายภาพยนตร์โดยทรงเป็นกรรมการผู้ร่วมก่อตั้ง ‘สมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยาม’ นอกจากนี้ ยังทรงเป็นผู้พัฒนาและบุกเบิกการพัฒนาที่ดินรุ่นแรกๆ ของสยามอีกด้วย

ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร สิ้นพระชนม์อย่างกระทันหัน ณ วังถนนวิทยุ เมื่อเวลาประมาณ 1 นาฬิกาของวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2494 ด้วยพระโรคหืดและโรคพระหทัยวาย เป็นราชโอรสองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระชนม์ยืนที่สุดด้วยพระชนมายุ 65 ปี 4 เดือน

‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ อัญเชิญพระราชดำรัส ‘ในหลวง ร.9’ "ปลูกป่าในใจคน" หวังคนไทยให้ความสำคัญในแหล่ง 'ดิน-น้ำ-ป่า' สืบต่อไป

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2560 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานและเปิดการสัมมนา ‘รักษ์ป่าน่าน’ ครั้งที่ 3 ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต.ผาสิงห์ อ.เมือง จ.น่าน โดยโครงการ ‘รักษ์ป่าน่าน’ มีสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้อำนวยการโครงการ ร่วมกับกองทัพบก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมีธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้สนับสนุนและประสานงานโครงการ โดยได้นำเสนอผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งนำเสนอแนวคิด แนวทางปฏิบัติ พร้อมทั้งหาทางฟื้นฟู จัดการให้ประชาชนชาวน่านได้ประกอบอาชีพและอยู่กินกับป่าได้โดยไม่ทำลายป่า ตลอดจนปลูกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนได้รักษาธรรมชาติป่าไม้

ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายเรื่อง ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ไทย’ โดยมีความตอนหนึ่งว่า...

"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จไปตามที่ต่างๆ ของประเทศโดยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาต่างๆ ตามไปด้วย ทั้งกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตร ชลประทาน ที่ดิน และกรมแผนที่ทหาร เพราะความผาสุกของราษฎรจะทำโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ได้ เช่นเดียวกับป่าไม้ที่จะเจริญได้ต้องมีน้ำ มีความชุมชื้น มีดินดี มีปุ๋ย

"สมัยก่อนการทำมาหากินในป่าไม่ค่อยมีปัญหา ปัญหามาเกิดเมื่อออกลูกออกหลาน เกิดการย้ายถิ่นฐาน และโอกาสที่จะทำลายป่าไม้ก็มีมากขึ้น ในยุคต่อมามีการสัมปทานป่าไม้ มีการตัดไม้แต่ก็ปลูกทดแทน ดังนั้น 30 ปีมานี้ ป่าที่เห็นบางแห่งก็ไม่ใช่ป่าตามธรรมชาติ"

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตรัสว่า มีโอกาสฟังเรื่องราวเมื่อต้นรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากถ้อยคำบอกเล่าโดยนายแก้วขวัญ วัชรโรทัย อดีตเลขาธิการ สำนักพระราชวัง เรื่องจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ต้นยางนาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จยังจ.ประจวบคีรีขันธ์โดยรถไฟ ระหว่างทางผ่าน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรีซึ่งมีต้นยางจำนวนมาก จึงมีพระกระแสรับสั่งให้นำต้นยางมาไว้ในป่าสาธิตภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ซึ่งเป็นต้นกำเนิดการอนุรักษ์พันธุ์พืชหายากที่อาจถูกทำลายในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีศูนย์ศึกษาการพัฒนา 6 แห่ง ที่เกิดจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กระจายอยู่ตามภาคต่าง ๆ ดังนี้ 1.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา 2. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี 3. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี 4. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร 5. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ 6. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้เวลาศึกษาแต่ละโครงการอย่างจริงจัง เข้าถึงปัญหาของราษฎร เช่น ทรงประทับอยู่ จ.นราธิวาสและทรงขับรถไปทรงงานด้วยพระองค์เอง เป็นการปูพรมเรื่องการรักษาป่าและดินในทุกหมู่บ้าน ทรงให้ความสำคัญกับการปลูกป่าในใจคน คือต้องสอนตั้งแต่เด็กในเรื่องการอนุรักษ์ป่า สอนว่าป่าไม้มีประโยชน์อย่างไร เมื่อเขาเข้าใจชาวบ้านก็จะช่วยกันดูแลป่าไม้"

โดยสรุปคือ ทรงเน้นย้ำถึงความสำคัญของแหล่งดินแหล่งน้ำ พัฒนาคนในประเทศให้สุขภาพดี มีการศึกษา ประชาชนก็มีกำลังเพื่อพัฒนาประเทศชาติสืบไป

5 มีนาคม พ.ศ. 2562 ‘พระองค์ภาฯ’ เสด็จฯ เปิดศูนย์การเรียนรู้ ศก.พอเพียง 'เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ' พร้อมทรงแนะนำผู้ต้องขังให้ 'มีสติในการใช้ชีวิต - รู้จักวางแผน' เมื่อพ้นโทษ

วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2562 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จทรงเป็นประธานการเปิด ศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวเชิงเกษตรในการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในเรือนจำ ณ บริเวณเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ อำเภอเมือง จ.ตราด โดยมี นายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม, ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม , พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และข้าราชการ เฝ้ารับเสด็จ

พระองค์ทรงเสด็จไปยังพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกราบ และเสด็จไปยังพลับพลาพิธี จากนั้น นายพงศธร กราบทูลรายงานความเป็นมา ต่อจากนั้นทอดพระเนตร วีดิทัศน์ ศูนย์การเรียนรู้เขาระกำ ประทานของที่ระลึกให้กับผู้สนับสนุนโครงการ และคนต้นแบบโครงการกำลังใจฯ แล้วเสด็จออกไปยังบริเวณศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวเชิงเกษตรในการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในเรือนจำ ทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้ายศูนย์การเรียนรู้ฯ และป้ายร้านกาแฟ Inspire by Princess จากนั้นเสด็จไปทรงปลูกต้นรวงผึ้ง และเสด็จไปทรงตัดริบบิ้นเปิดอาคารนิทรรศการเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทอดพระเนตรภายในอาคารนิทรรศการฯ

ต่อจากนั้น เสด็จเข้าร่วมกิจกรรมพี่สอนน้องในการอบรมผู้ต้องขังรุ่นที่ 9 ที่เป็นกิจกรรมให้ความรู้ รวมถึงแรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ ให้สู้กับความกลัวในโลกภายนอก โดยทรงร่วมกิจกรรมกับผู้เข้าอบรมอย่างทรงไม่ถือพระองค์ และประทานโอวาทให้ผู้เข้ารับการอบรมผู้ต้องขังรุ่นที่ 9 ตอนหนึ่งว่า

“ความรู้ที่เราได้ ไม่มีอะไรไม่เป็นประโยชน์ ทุกอย่างเป็นประโยชน์หมด ไม่ว่าจะไปทำอะไรในอนาคต แต่ก็ขอให้ตรึกตรอง คิด วางแผนให้ดี ในสิ่งที่จะทำต่อไป และทุกสิ่งจะประสบความสำเร็จ และก็ต้องมีความอดทน”

“เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้ห้ามรวย แต่คือให้มีการวางแผน ให้มั่นคง ร่ำรวย ไม่ได้หมายความว่าต้องไปเลี้ยงแพะ เลี้ยงกบ เลี้ยงวัว แต่คือแนวคิดเรื่องการวางแผน การตัดสินใจ การมีสติในการใช้ชีวิต”

จากนั้นเสด็จไปยังบ้านการฝึกวิชาชีพวากาชิ และรุกขกร และการสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ และเสด็จไปทอดพระเนตร ร้านกาแฟ Inspire by Princess ทอดพระเนตรการสาธิตชงกาแฟ ทอดพระเนตรการทำอาหารประเภทสเต๊ก ทอดพระเนตรสะพานกำลังใจ และทรงถ่ายรูปกับรูปปั้นสุนัขหลังอาน แล้วเสด็จกลับในเวลาต่อมา

สำหรับ เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ มีพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ มีการจัดการน้ำตามศาสตร์พระราชา ทำให้มีน้ำใช้ตลอดปี มีพื้นที่ปลูกป่า สวนผลไม้ เลี้ยงสัตว์ อาทิ แพะ เป็ด ไก่ ปลาดุก แหล่งท่องเที่ยว และ ที่ทำการเรือนจำ เกิดขึ้นจากพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ให้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในเรือนจำ เพื่อการเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้ต้องขังให้ใช้ชีวิตแบบพอเพียงเมื่อพ้นโทษ ทั้งยังทรงมีพระเมตตา ประทานเงินทุนส่วนพระองค์เพื่อดำเนินโครงการนำร่อง โดยพบว่า ผู้ต้องขังที่ออกไป กระทำผิดซ้ำเพียงร้อยละ 5


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top