Wednesday, 19 March 2025
SDGS

‘กัลฟ์’ ผนึกกำลัง ‘ซันโกรว์’ จัดหาระบบกักเก็บพลังงาน ใช้ในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เดินเครื่อง ปี 67-73

(27 มี.ค. 67) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) จับมือ บริษัท ซันโกรว์ พาวเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (Sungrow) หนึ่งในผู้จัดหาอินเวอร์เตอร์และระบบกักเก็บพลังงานระดับโลก ลงนามในสัญญาจัดหา (Master Supply Agreement) ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage Systems) และระบบอินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์ (PV Inverter) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของกลุ่มบริษัทกัลฟ์และบริษัทในเครือ รวมกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 3,500 เมกะวัตต์ (MWp) โดยมีแผนทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2567-2573

สำหรับการลงนามสัญญาในครั้งนี้เป็นการลงนามระหว่างบริษัท กัลฟ์ เอ็นจิเนียริ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (บริษัทที่ GULF ถือหุ้นร้อยละ 100) และ Sungrow เพื่อจัดหาระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ และระบบอินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์ให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farms) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar Farms with Battery Energy Storage Systems) และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftops) ของกลุ่มบริษัทกัลฟ์และบริษัทในเครือ รวมกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 3,500 เมกะวัตต์ (MWp) 

โดยมีนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GULF และ นายเฉา เหรินเซียน ประธานกรรมการบริหาร Sungrow เป็นผู้ลงนาม พร้อมด้วย นางพรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ GULF และนายซู เยว่จื้อ ผู้จัดการทั่วไป ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Sungrow ร่วมเป็นสักขีพยาน

ความร่วมมือครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองบริษัท ในการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน รวมถึงสอดคล้องกับกลยุทธ์ของ GULF ในการคัดสรรพันธมิตรชั้นนำที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มั่นใจได้ถึงคุณภาพและประสิทธิภาพของระบบกักเก็บพลังงานและระบบอินเวอร์เตอร์ ซึ่ง Sungrow เป็นผู้นำในธุรกิจอินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ระดับสากลด้วยประสบการณ์กว่า 27 ปี ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่สูงที่สุด (Tier 1) 

อีกทั้งยังมีปริมาณการขายระบบอินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์เป็นอันดับ 1 ของโลก ขนาดการติดตั้งมากกว่า 405 กิกะวัตต์ ในกว่า 170 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อินเดีย และสเปน นอกจากนี้การจัดซื้ออุปกรณ์ในปริมาณมากยังเพิ่มประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ส่งผลให้ GULF บริหารจัดการต้นทุน และดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

‘กฟผ. - Metlink’ แลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนฯ ปักหมุด!! วิธี ‘ไครโอเจนิค’ เล็งต่อยอดใช้งานในโรงไฟฟ้าของ กฟผ.

เมื่อวันที่ (20 มี.ค.67) นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน เป็นผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามสัญญารักษาความลับ Confidentiality Agreement (CA) ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีไครโอเจนิค (Cryogenic Carbon Capture: CCC) กับนายประพันธ์ อัศวพลังพรหม กรรมการและประธานบริหาร ผู้แทนจาก บริษัท เมทลิงค์ อินโฟ จํากัด (Metlink Info Co.,Ltd) โดยมีนายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า กฟผ. และนายนิพนธ์ ลิ่มบุญสืบสาย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เมทลิงค์ อินโฟ จํากัด ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี

นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เป็นก้าวสำคัญในการขยายองค์ความรู้ด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กว้างขึ้น โดยการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีไครโอเจนิคหรือความเย็นยิ่งยวด Cryogenic Carbon Capture: CCC เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจ สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้ในอนาคต และเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ Triple S: Sink ของ กฟผ. ด้วยวิธี ‘การดักจับ ใช้ประโยชน์และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS)’ ซึ่งจะตอบโจทย์แผน EGAT Carbon Neutrality ที่มีเป้าหมายเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 

นายประพันธ์ อัศวพลังพรหม กรรมการและประธานบริหาร ตัวแทนจาก บริษัท Metlink เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้ กฟผ. สามารถบรรลุเป้าหมายของ CCUS ด้วยต้นทุนที่ต่ำ โดยการดักจับคาร์บอนด้วยวิธีความเย็นยิ่งยวด เป็นเทคโนโลยีทางเลือกในการดักจับคาร์บอน และกำลังได้รับการพัฒนาเพื่อใช้งานในโรงไฟฟ้า สามารถแข่งขันได้ในเชิงต้นทุน และคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากการดักจับมีความบริสุทธิ์เกือบ 100% จึงมีศักยภาพที่จะนำไปใช้งานได้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และทางการแพทย์ เป็นต้น

‘OR’ นำร่องใช้รถไฟฟ้าขนาดใหญ่ขนส่งเมล็ดกาแฟดิบ ระยะทางไกล ‘เชียงใหม่-อยุธยา’ รายแรกของไทย

(21 มี.ค. 67) นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) พร้อมด้วย ดร.อารยา คงสุนทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) (WICE) และ นายชูเดช คงสุนทร กรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจกลุ่มบริษัท WICE ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการทดลองการขนส่งเมล็ดกาแฟดิบ โดยยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ (EV Truck) หรือ Green Logistics for Café Amazon Project ระหว่าง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) โดยมี นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ OR และ นายธเนศ เมฆินทรางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ WICE ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องพลังไทย 2 ชั้น M อาคาร 2 อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่

นายดิษทัต เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับ WICE ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการร่วมกันศึกษาและสร้างต้นแบบ (Prototype) ‘กรีน โลจิสติกส์’ (Green Logistics) สำหรับทดลองระบบการขนส่งสินค้าระยะไกลด้วย EV Truck เป็นเจ้าแรกของประเทศไทย เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี และความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีให้แก่ OR ต่อไป 

โดย OR และ WICE จะร่วมกันออกแบบ EV Truck พร้อมทดลองการขนส่ง โดยกำหนดเส้นทางการขนส่ง ‘กรีน คอฟฟี่ บีน รูท’ (Green Coffee Bean Route) เพื่อขนส่งเมล็ดกาแฟดิบจากต้นทางที่โกดังเก็บเมล็ดกาแฟของ OR อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ มายังปลายทางที่โกดังเก็บเมล็ดกาแฟที่ศูนย์ธุรกิจไลฟ์สไตล์คาเฟ่อเมซอน (OASYS) อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยใช้เครือข่ายสถานีชาร์จ EV Station PluZ ของ OR ในเส้นทาง ‘Green Coffee Bean Route’ เป็นจุดพักเพื่อชาร์จไฟของรถขนส่ง เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกิจกรรมการขนส่งสินค้า ตลอดจนช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างต้นแบบของการนำห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจสู่ความเป็น Green ทั้งระบบนิเวศของ OR และการพัฒนา Ecosystem ของกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเมล็ดกาแฟแบบยั่งยืน โดยก่อนหน้านี้ OR ได้เปิดจุดรับซื้อและโรงแปรรูปกาแฟคาเฟ่ อเมซอน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดรับซื้อเมล็ดกาแฟกะลาอะราบิกาจากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อรับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรโดยตรงในราคาที่เป็นธรรม รวมถึงได้เปิดแผนการดำเนินโครงการอุทยาน คาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon Park) ที่จังหวัดลำปาง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจต้นน้ำของคาเฟ่อเมซอน และเป็นการสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ณ จังหวัดลำปาง เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

ดร.อารยา กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือ กับ OR ในครั้งนี้ จะส่งเสริมแนวทางการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ให้สอดคล้องกับนโยบายและวิสัยทัศน์ของ WICE พร้อมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของบริษัท ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ไปพร้อมกับการดูแลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน (Green Logistics) และช่วยสนับสนุนกลยุทธ์ด้าน ESG ของ OR ในการผลักดันการใช้รถไฟฟ้าในการเดินทางและขนส่งให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานอย่างไร้รอยต่อ และมุ่งเน้นให้การใช้ยานยนต์เชื้อเพลิงไฟฟ้า (EV) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกภาคส่วน ซึ่งการให้บริการด้านยานยนต์เชื้อเพลิงไฟฟ้า (EV) เป็นหนึ่งโครงการที่ WICE ได้ริเริ่มและผลักดันมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือกับพันธมิตรและคู่ค้า เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนและพัฒนาระบบขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ ไปสู่ระบบยานยนต์เชื้อเพลิงไฟฟ้า (EV) อย่างแท้จริง

“ความร่วมมือในครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับแนวทางการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนผ่าน OR SDG โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน ‘G’ หรือ ‘GREEN’ หรือการสร้างโอกาสเพื่อสังคมสะอาด โดยมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของ OR รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment) และบรรลุเป้าหมายของ OR 2030 Goals หรือเป้าหมายขององค์กรในการสร้างโอกาสเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกับสังคมชุมชน สิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับผลดำเนินการงานที่ดี” นายดิษทัต กล่าวเสริมในตอนท้าย

‘เชลล์’ ประกาศยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ปี 2024 ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้น้ำมันของเชลล์

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท เชลล์ จำกัด (มหาชน) (Shell) ได้เผยแพร่การอัปเดตข้อมูลการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ที่มีการเปิดตัวกลยุทธ์ Powering Progress ในปี ค.ศ. 2021 ในงาน Capital Markets Day ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2023 นั้น เชลล์ได้เน้นย้ำถึงแนวทางของกลยุทธ์นี้ที่จะนำมาใช้ในการสร้างมูลค่าที่มากขึ้นควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในงาน Capital Markets Day นั้น เชลล์มุ่งเน้นที่ ‘การสร้างมูลค่าที่มากขึ้น’ ส่วนในการอัปเดตการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานครั้งนี้ เชลล์มุ่งเน้นไปที่วิธีการที่กลยุทธ์เดียวกันนี้จะช่วย ‘ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก’

เป้าหมายของเราที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในค.ศ. 2050 ในการดําเนินงานและผลิตภัณฑ์พลังงานทั้งหมดนี้กำลังเปลี่ยนแปลงธุรกิจของเรา เราเชื่อว่าเป้าหมายนี้จะช่วยให้บรรลุความมุ่งมั่นที่ท้าทายของข้อตกลงปารีสในการจํากัดภาวะโลกร้อนให้ไม่เกิน 1.5°C เหนือระดับอุณหภูมิก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม กลยุทธ์ของเชลล์สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่โซลูชันพลังงานคาร์บอนต่ำอย่างสมดุลและมีแบบแผนเพื่อรักษา แหล่งพลังงานที่มั่นคงและมีระดับราคาที่จับต้องได้

มร.วาเอล ซาวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสูงสุดของบริษัท เชลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “พลังงานมีส่วนช่วยในการพัฒนาของมนุษย์อย่างมากมาย ช่วยให้ผู้คนทั่วโลกจำนวนมากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปัจจุบัน โลกต้องตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้องจัดการกับความท้าทายเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผมรู้สึกมีกำลังใจอย่างยิ่งที่ได้เห็นความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในหลายประเทศ และเทคโนโลยีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งตอกย้ำความเชื่อมั่นอันแน่วแน่ของผมในทิศทางของกลยุทธ์เรา” 

“เชลล์มีบทบาทสำคัญมากในการจัดหาพลังงานที่โลกต้องการในปัจจุบัน และในการช่วยสร้างระบบพลังงานคาร์บอนต่ำสำหรับอนาคต การมุ่งเน้นที่ประสิทธิภาพ วินัย และความเรียบง่ายในกระบวนการทำงานของเรา ช่วยผลักดันให้เกิดการตัดสินใจที่ชัดเจน ในจุดที่เราสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และสร้างมูลค่าสูงสุดให้กับนักลงทุนและลูกค้าของเชลล์ เราเชื่อว่า การมุ่งเน้นที่ประสิทธิภาพ วินัย และความเรียบง่ายนี้จะยิ่งทำให้เรามีโอกาสบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศมากขึ้น โดยการจัดหาพลังงานประเภทต่าง ๆ ที่โลกต้องการ เราเชื่อว่าเชลล์เป็นทั้งทางเลือกสำหรับการลงทุนและพันธมิตรที่เหมาะสมที่สุด ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานนี้” ซาวัน กล่าว

>>แผนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของเชลล์ครอบคลุมธุรกิจทั้งหมด ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญ

ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และเชลล์กำลังขยายธุรกิจ LNG ชั้นนำของโลกด้วยความเข้มข้นของคาร์บอนที่ต่ำลง นอกจากนี้ เชลล์ยังมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตน้ำมันและก๊าซ ในขณะที่ยังคงรักษาระดับการผลิตน้ำมันให้คงที่ และเพิ่มยอดขายพลังงานคาร์บอนต่ำ รวมถึงทยอยลดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมัน เช่น น้ำมันเบนซิน ดีเซล และน้ำมันเครื่องบิน ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ค้าพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก เชลล์สามารถเชื่อมโยงการจัดหาพลังงาน คาร์บอนต่ำเพื่อตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับที่เราเคยทำมาเป็นเวลานานกับธุรกิจน้ำมันและก๊าซ  
เป้าหมายด้านสภาพอากาศของเชลล์มีความคืบหน้าที่ดีมากดังนี้ 

• ในปี ค.ศ. 2023 เชลล์บรรลุความสำเร็จไปแล้วกว่า 60% จากเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการดำเนินงานลงครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030  เมื่อเทียบกับ ปี ค.ศ. 2016 ซึ่งถือว่าเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดโดยผู้ลงนามในกฎบัตรการลดปริมาณคาร์บอนของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ (Oil and Gas Decarbonization Charter) ที่ตกลงกันในเวทีการประชุมสมัชชาภาคีประเทศอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 (COP28)

• เชลล์ยังคงเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในการลดการปล่อยก๊าซมีเทน โดยเป็นหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ที่ตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซมีเทนเกือบเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยในปี ค.ศ. 2023 เชลล์บรรลุการปล่อยความเข้มข้นของก๊าซมีเทนที่ 0.05% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ 0.2% อย่างมีนัยสำคัญ 

นอกจากนี้ ในปี ค.ศ. 2023 เชลล์ยังได้ให้การสนับสนุนกองทุน World Bank’s Global Flaring and Methane Reduction ของธนาคารโลกเพื่อสนับสนุนการดำเนินการร่วมกันของทั้งอุตสาหกรรมเพื่อการลดการปล่อยก๊าซมีเทนและการเผาก๊าซธรรมชาติเพื่อลดแรงดันในกระบวนการผลิตในปี ค.ศ. 2023 เชลล์บรรลุเป้าหมายด้านความเข้มข้นของคาร์บอนสุทธิของผลิตภัณฑ์พลังงานที่จำหน่าย โดยลดลง 6.3% เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2016 ซึ่งเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันที่เชลล์บรรลุเป้าหมาย เชลล์กำลังเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยที่มีจุดแข็งที่สามารถแข่งขันได้ มองเห็นความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า และเข้าใจชัดเจนกับกฎระเบียบที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อผลักดันการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคขนส่ง เชลล์ตั้งเป้าความท้าทายใหม่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันโดยลูกค้าลง 15-20% ภายในปีค.ศ. 2030 เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2021 (ขอบเขตที่ 3, หมวดที่ 11)

การมุ่งเน้นไปยังจุดที่เชลล์สามารถสร้างมูลค่าได้สูงสุด นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ในธุรกิจไฟฟ้าแบบบูรณาการ เชลล์วางแผนที่จะสร้างธุรกิจไฟฟ้า รวมถึงพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย ยุโรป อินเดีย และสหรัฐอเมริกา และเชลล์ได้ถอนตัวการจัดหาพลังงานแก่ลูกค้ารายย่อยระดับครัวเรือนในยุโรป

เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในการจัดลำดับความสำคัญของมูลค่ามากกว่าปริมาณในธุรกิจไฟฟ้า เราจะให้ความสำคัญกับการเลือกตลาดและกลุ่มลูกค้า ซึ่งรวมถึงการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าภาคธุรกิจมากขึ้น และลดการขายให้กับลูกค้ารายย่อยลง การที่เราให้ความสำคัญกับมูลค่าเช่นนี้ เชลล์คาดว่าจะทำให้อัตราการเติบโตของยอดขายไฟฟ้าโดยรวมลดลงภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับเป้าหมายความเข้มข้นของการปล่อยคาร์บอนสุทธิของเชลล์  ปัจจุบันเชลล์มีเป้าหมายความเข้มข้นของคาร์บอนสุทธิจากผลิตภัณฑ์พลังงานที่จำหน่ายลง 15-20% ภายในปี ค.ศ. 2030 เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2016 และเทียบกับเป้าหมายเดิมที่ 20% 

ทั้งนี้ เชลล์จะยังคงรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับเป้าหมายและความมุ่งมั่นของเราอย่างโปร่งใสทุกปี

>>ขับเคลื่อนสู่อนาคตที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ระหว่างปี ค.ศ. 2023 ถึงปลายปี ค.ศ. 2025 เชลล์ได้ลงทุนจำนวน 10,000-15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในโซลูชันพลังงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งทำให้เชลล์กลายเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยในปี ค.ศ. 2023 เชลล์ลงทุน 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในโซลูชันพลังงานคาร์บอนต่ำ หรือคิดเป็นกว่า 23% ของการลงทุนทั้งหมด 

การลงทุนเหล่านี้ครอบคลุมถึงสถานีชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานหมุนเวียน ไฮโดรเจน การดักจับและกักเก็บคาร์บอน การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสำหรับเชลล์และลูกค้า เชลล์มุ่งมั่นที่จะช่วยปรับขนาดเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้กลายเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับลูกค้า และยังมุ่งเน้นการผลักดันนโยบายสำคัญ ในด้านต่าง ๆ ที่เชลล์เชื่อมั่นว่ามีความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เช่น นโยบายที่สนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ รวมถึงราคาคาร์บอน การจัดหาพลังงานที่มั่นคงตามความต้องการของโลก 
การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงความต้องการ และการเติบโตของโซลูชันพลังงานคาร์บอนต่ำ

*การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของลูกค้าจากการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันของเชลล์ (ขอบเขตที่ 3, หมวดที่ 11) อยู่ที่ 517 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ในปีค.ศ. 2023 ซึ่งลดลงจาก 569 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ในปี ค.ศ. 2022

'สว.วีระศักดิ์' ยัน!! ทุกระบบ 'เศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง' ทั่วโลกรอดยาก หากวันหนึ่ง 'ระบบนิเวศธรรมชาติของโลก' ทวงคืน ไม่เอื้อให้มนุษย์ได้อยู่ต่อ

(9 มี.ค.67) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ออกบทความในหัวข้อ ‘ระบบนิเวศในธรรมชาติของโลก กับเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ (ตอนที่ 2) มีเนื้อหา ระบุว่า...

Climate Change มีผลต่อชีววิทยาทางธรรมชาติอีกมาก อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสัตว์และพืชอีกมากมายหลายชนิด

แต่ผมขอแยกประเด็นนี้ออกไปก่อน เพราะซับซ้อนมากเกินกว่าจะอธิบายเพิ่มในพื้นที่จำกัดนี้

แต่ขอโฟกัสมาสู่การบันทึกว่าบัดนี้เราค้นพบว่าโลกที่ร้อนขึ้นนำเราไปสู่อะไรแล้วบ้าง

อย่างแรก การละลายของน้ำแข็งทั้งโลกเกิดขึ้นรวดเร็ว ดังนั้นน้ำจากที่สูงจะไหลลงไปรวมที่มหาสมุทร

ระดับน้ำทะเลจะท่วมชายฝั่งขึ้นมาเรื่อยๆ

และมนุษย์ฝังรากทางอารยธรรมอยู่ชายฝั่งเป็นส่วนมาก เมืองท่าค้าขาย เมืองเพื่อการผลิต เมืองการอยู่อาศัย เมืองเพื่อการท่องเที่ยว ล้วนมีระดับสูงจากทะเลปานกลางน้อยมากๆ

ส่วนเมืองเกษตรกรรมที่มักอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน มักอยู่ได้ด้วยลำน้ำจืดไหลผ่าน ซึ่งมีลำน้ำสาขาแผ่กระจาย จึงเป็นชลประทานธรรมชาติที่ทำให้มีนามีสวน

น้ำทะเลที่เพิ่ม อาจไม่ท่วมเหนือแผ่นดินลึกเข้าไปมากก็จริง แต่ก้นของแม่น้ำนั้นมักอยู่ในระดับสูงกว่าระดับทะเลปานกลางน้อยยิ่งกว่าเมืองชายฝั่งเสียอีก

แถมหลายสายจะต่ำกว่าทะเลปานกลางด้วย

ดังนั้น นิเวศน้ำจืดจำนวนมากจะถูกรุกล้ำด้วยน้ำเค็มเข้าลึกไปในแผ่นดิน เมืองไทยน้ำเค็มมีแนวโน้มจะบุกลึกใต้แม่น้ำไปถึงอ่างทอง นี่คือสิ่งที่อธิบดีกรมชลประทานเคยคาดการณ์ไว้

ยิ่งเมื่อมีภาวะภัยแล้ง หรือเมื่อน้ำแข็งยอดเขาละลายจนหมด ลำน้ำจืดจะไม่เหลือพลังดันน้ำเค็มอย่างที่เคยทำได้ตลอดปี ในหน้าแล้งเขื่อนและฝายจะกักเก็บน้ำไว้

น้ำจืดไหลลงร่องน้ำมาน้อยลง แปลว่าน้ำทะเลจะเอ่อเข้าลำน้ำในแผ่นดินไปทำลายนิเวศน้ำจืดของการเพาะปลูกจำนวนมากได้อย่างเงียบๆ

เพราะชาวบ้านสูบน้ำมาเข้าสวนเข้านาปกติไม่มีใครสำรวจหรือชิมว่าน้ำมันเค็มหรือยัง

จะรู้อีกทีก็ใบเหลืองเค็มจนเฉาแล้วทั้งสวน

ความมั่นคงทางอาหารจะถูกสั่นคลอนอย่างร้ายแรง

น้ำแข็งที่ว่าละลายนั้น ก็ให้ปรากฏการณ์ใหม่แก่มนุษย์อีก เพราะเมื่อน้ำแข็งหนาหลายกิโลเมตรของกรีนแลนด์และที่ขั้วโลกใต้ละลาย มันได้กลายเป็นทะเลสาบทีละหย่อมเรียงรายไปสุดลูกตา

ทะเลสาบเหล่านั้นค่อยๆ กัดกร่อนน้ำแข็งต่อเพื่อหย่อนให้น้ำเหลวๆ ใสๆ สามารถลงสู่ที่ต่ำตามแรงโน้มถ่วงได้

เกิดสภาพคล้ายสว่านหมุนเกลียวเจาะลงสู่เบื้องล่าง แล้วทำให้กลายเป็นโพรงรูพรุนคล้ายชีส เยอะไปหมด เมื่อน้ำไหลได้ มวลของมันจะส่งพลังการกระแทกเบียดกับผนังน้ำแข็งภายในโพรงราวน้ำตกกระแทกก้อนหิน ซึ่งย่อมเปราะบางกว่าหินมาก

การกร่อนของภูเขาน้ำแข็งจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นถ้ำน้ำลอดเต็มไปหมด

รูโพรงเหล่านี้ทำให้อากาศไหลเข้าไปด้านในและนำความอุ่นไปรบกวนน้ำแข็งในระดับโครงสร้างเพิ่มเข้าไปอีก

มนุษย์จึงตกใจว่าธารน้ำแข็งและแผ่นทวีปแอนตาร์กติกาและน้ำแข็งกรีนแลนด์กำลังแตกตัวออกตามที่ต่างๆ ในอัตราที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ไม่ใช่มันละลาย แต่เพราะโครงสร้างถูกลมอุ่นมุดเข้าไปเจาะภายในราวกับรังปลวกบุกกินไม้อย่างตะกละตะกลาม

ในขณะเดียวกัน น้ำแข็งที่ละลายที่เกาะกรีนแลนด์ ได้ปล่อยน้ำจืดมหาศาลลงทะเลแอตแลนติกตอนบน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของระบบเครื่องปรับอากาศของโลก ที่เคยเป็นจุดตั้งต้นของสายพานใต้ทะเลส่งความเยือกเย็นจากขั้วโลกให้ถูกน้ำทะเลพาไปไหลเวียนในทุกมหาสมุทรฟรีๆมานับล้านปี

ทำให้ตะกอนแร่ธาตุผงธุลีใต้ทะเลที่รับมาจากแม่น้ำบนฝั่งสามารถเดินทางไปไหลเวียนทั่วท้องมหาสมุทร เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่สารพัดชีวิตใต้ผืนมหาสมุทร

เมื่อการแปลงสภาพน้ำทะเลจากของเหลวไปเป็นน้ำแข็ง เกิดขึ้นมากที่สุดที่ข้างเกาะกรีนแลนด์ เพราะที่นี่ทะเลกว้างและลึกมาก

ต่างจากจุดเชื่อมของทะเลแปซิฟิกกับขั้วโลกเหนือที่ทั้งแคบและตื้น เฉลี่ยความลึกของแปซิฟิกตอนบนนั้น ตื้นกว่าอ่าวไทยเสียอีก เพราะที่นั่นลึกเพียง50 เมตร ในขณะที่อ่าวไทยลึกเฉลี่ย68เมตร

แต่ที่ข้างเกาะกรีนแลนด์นั้น ทะเลลึกหลายๆพันเมตร

ในการกลายสภาพจากน้ำไปสู่การเป็นน้ำแข็ง กฎทางธรรมชาติของฟิสิกส์จะทำให้โมเลกุลน้ำเท่านั้นที่กลายเป็นน้ำแข็ง

ดังนั้นน้ำแข็งธรรมชาติทั้งมวลจึงจืด เพราะที่ข้างเกาะกรีนแลนด์นั่นเองที่น้ำปริมาณมหาศาลกำลังกลายเป็นน้ำแข็ง ทั้งวันทั้งคืนมันจึงเกิดน้ำตกใต้ทะเลของผงตะกอนแร่ธาตุโดยเฉพาะเกลือที่ร่วงลงมา แล้วถูกแรงโน้มถ่วงโลกดึงมันจมลงสู่ก้นทะเลอันลึกล้ำ

แรงจมของเกลือปริมาณมหาศาลทุกวินาทีตลอดวันตลอดคืนนี้เองที่กลายเป็นแม่ปั้มธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่ดันส่งกระแสน้ำใต้สมุทรจากจุดนี้ให้ไหลดันตามกันไปจนเมื่อเเรงกดส่งตะกอนไปถึงก้นทะเลแล้วยังดันกันต่อไปจนเดินทางลงใต้ไปกระทบกับแผ่นดินของขั้วโลกใต้ ซึ่งก็เย็นจัดเช่นกัน แล้วจึงไหลเข้าสู่ก้นมหาสมุทรอินเดีย และแปซิฟิก นำพาความเย็นจากสองขั้วโลกเข้าสู่ใต้สมุทรทั้งหลาย

จากนั้นน้ำทะเลที่ไหลนี้จึงเริ่มมีน้ำหนักเบาขึ้น และค่อยๆสะสมการรับแดดในเขตศูนย์สูตรแล้วเดินทางต่อจนกลับมายังแอตแลนติกข้างเกาะกรีนแลนด์เหมือนเดิม

หนึ่งรอบวงจรนี้ ใช้เวลาราวพันปี

วงจรนี้เรียกว่า The Great Conveyor Belt ของโลกที่ส่งความเยือกเย็นจากสองขั้วโลกให้ไหลไปถึงใต้ชายฝั่งทะเลทั้งหลาย

ภูมิอากาศของโลกจึงถูกระบบนี้กำกับให้มาโดยตลอด

แต่เพราะน้ำจืดที่ละลายลงมาที่กรีนแลนด์ ทำให้ม่านความเค็มใต้ทะเลที่จุดเริ่มต้นการเดินทาง เจือจางลงมาก

ทำให้สารละลายขาดน้ำหนักเพียงพอที่จะจมลงในอัตราที่เคยเป็น 

แรงดันใต้มหาสมุทรให้เป็นกระแสธารของความเยือกเย็นจึงอ่อนลงเรื่อยๆ รายงานจากงานวิจัยชี้ว่าอ่อนลงกว่า 15% และยังคงอ่อนลงเรื่อยๆ

ระบบปรับอุณหภูมิของใต้สมุทรจึงกำลังค่อยๆ พังทลายลง และพลังการส่งสารอาหารให้เดินทางไปทั่วผืนสมุทรจึงกำลังหมดลงด้วย

อากาศเหนือชายฝั่งจึงต้องถูกกระทบ

หมู่ปลาและสัตว์ทะเลจะปั่นป่วนเพราะธาตุอาหารที่เคยไหลผ่านจางลงจนอาจหายไป

แล้วมนุษย์ซึ่งพึ่งพาทั้งเกษตรบนแผ่นดินและโปรตีนจากทะเลจะทำอย่างไร?

ทั้งหมดนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่มนุษย์ต้องคลี่คลายให้ได้ก่อนที่จะถึงวันที่หลายระบบจะล่มลงหรืออ่อนลงจนธรรมชาติเอื้อมส่งวงจรทางนิเวศกันไม่ถึง

ปี 2030 เป็นเสมือน Tipping Points ชุดแรกที่บอกเราได้ ว่าลูกบอลที่ชื่อนิเวศของโลกใบนี้จะตกบันไดที่น่าจะกู่ไม่กลับแล้ว

และถ้ายังปล่อยไปหรือเบรกไว้ไม่แรงพอ

ปี 2050 คือชุดบันไดยาวๆ ที่ลูกบอลแห่งระบบนิเวศนี้จะร่วงหล่นกลิ้งเป็นลูกขนุนตกเขา แม้มีเงินมีเศรษฐกิจชนิดไหน ณ ที่ใดของโลก ทุกระบบก็จะกระเด็นกระดอนจนพังพินาศทั้งหมด

There is no healthy business on a collapsing planet.

โลกใบนี้มีมานานก่อนมนุษย์คนแรกกลุ่มแรกจะปรากฏตัวขึ้น

และโลกใบนี้จะอยู่ได้สบายด้วย แม้ไม่มีมนุษย์อยู่อาศัยหลังจากนั้นแล้ว

แต่มนุษย์ต่างหากที่จะสาบสูญ ถ้าระบบธรรมชาติของโลกถูกรบกวนมากเกินไป

บทความนี้ถูกเขียนเรียบเรียงขึ้นเพื่อยืนยันว่า...

ทุกระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม และระบบการเมืองใดๆ ก็ไม่อาจอยู่ได้

ถ้าระบบนิเวศธรรมชาติของโลก เอาคืนหรือไม่เอื้อให้ระบบมนุษย์อยู่กันได้อีกต่อไป

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกความพยายามที่จะรื้อฟื้น คืนทุนให้ระบบธรรมชาติ ผ่านกลไกเศรษฐกิจสีเขียว การค้าสีเขียว การลงทุนสีเขียว และสังคมที่ระดมให้ทุกชีวิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมครับ

‘สว.วีระศักดิ์’ เตือนแรง!! ระบบนิเวศโลกหนีไม่พ้นการดิ่งเหว หากยังหลงคิดว่าวัฒนาการอันน้อยนิด จัดการกับธรรมชาติได้

(8 มี.ค.67) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้ออกบทความในหัวข้อ ‘ระบบนิเวศในธรรมชาติของโลก กับเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ (ตอนที่ 1) มีเนื้อหา ระบุว่า...

มนุษย์เรียนรู้เพิ่มทุกวันว่ากระบวนการธรรมชาติซับซ้อนมาก แต่มนุษย์มักถูกกิเลสพาให้หลงคิดไปว่ามีวิวัฒนาการที่ไม่เพียงไล่ทัน แต่ยังสามารถจัดการกับระบบของธรรมชาติได้

บัดนี้ แม้แต่ผู้นำประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดรวมตัวกัน ก็ยอมรับว่าวิวัฒนาการที่มนุษยชาติได้สั่งสมมาทั้งหมด ไม่พอที่จะรักษาให้พวกเขามั่นใจได้เลยว่า หลาน ๆ ของเขาจะมีเผ่าพันธุ์สืบต่อไปได้อีกกี่รุ่น

ผู้นำชาติต่าง ๆ ไม่อาจการันตีกับประชากรได้ ว่าหลาน ๆ ของประชากรของเขาจะได้มีชีวิตอย่างไม่แร้นแค้น

ที่จริง ผู้นำโลกเดินทางไปพบกันเรื่อง โลกร้อน ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ภาวะเรือนกระจก และสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ มาหลายสิบหนแล้ว

ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจนเข้าขั้นวิกฤตินี้ ยากจะมีคำปลอบขวัญที่ยืนยันได้ว่าจะควบคุมได้

ข้อเขียนนี้ ถูกผูกขึ้นด้วยเป้าประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ทำไม การแก้ปัญหาระดับวิกฤติการณ์ต่อมวลมนุษยชาติหนนี้ ต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างยิ่งใหญ่ของคนยุคเราขนาดไหน

เราทุกคนของยุคนี้ ไม่ว่าท่านจะเจนเนอเรชันอะไร โอกาสรอดจากการถูกประวัติศาสตร์จารึกว่า เราพากันขับรถพุ่งลงเหว ทั้งที่ยังเลี้ยวหลบหรือเบรกกันได้ทันยากเต็มที

จริงอยู่ ว่าเราไม่ใช่ชนรุ่นแรกที่พารถโดยสารวิ่งมาในเส้นทางนี้ แต่ในโศกนาฏกรรมทุกครั้ง ไม่ค่อยมีใครถามหรอกว่า มันเริ่มตอนใครควบคุมอยู่  แต่จะสนใจว่ามันจบตอนไหน และใครคือผู้ถือพวงมาลัยสุดท้ายก่อนตกเหวดับทั้งคัน

หรือจมลงทั้งลำ!!

แม้มีข่าวสารให้เราอ่านได้มากมายในอินเตอร์เน็ตว่า ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง มายังไง แต่ผมก็อยากพยายามสื่อสารกับผู้อ่านสักหน ว่ามันคืออะไร มายังไง และ เราต้องทำอะไร เพื่อชะลอหรือให้ดีกว่านั้น หยุดมันให้ได้

ขอเริ่มจากสภาพของโลกใบนี้ ก่อนที่จะเกิดปัญหาขนาดนี้นะครับ

ภาวะเรือนกระจกของโลก

เราเรียนมาตั้งแต่เด็กว่า โลกมีชั้นบรรยากาศห่อหุ้มอยู่หลายชั้น มองด้วยตาเปล่าก็ไม่เห็น แต่มันทำหน้าที่ของมันตามระบบที่ธรรมชาติจัดสรรมาให้อย่างซับซ้อนในการปกป้องสิ่งมีชีวิตบนโลก

ดวงอาทิตย์ส่งคลื่นความร้อนทะลุทุกชั้นบรรยากาศได้ และพื้นผิวโลกก็สะท้อนความร้อนออกไปบางส่วน กักเก็บความร้อนไว้บางส่วน ซึ่งเกิดจากการดูดซับความร้อนนั้นไว้โดยก๊าซเรือนกระจก ที่มีอยู่หลายชนิด อย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ก๊าซเรือนกระจกจึงทำหน้าที่ควบคุมความอบอุ่นของโลกอยู่ให้ในสภาวะที่สมดุล เกิดสภาพอากาศและฤดูกาลที่เหมาะสมสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต ซึ่งสัดส่วนของก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ในชั้นบรรยากาศที่ผ่านมาในอดีต มีค่อนข้างสม่ำเสมอ 

ดังนั้น ภาวะเรือนกระจกจึงมีข้อดีของมันมานับล้านปี

แต่บัดนี้ ประชากรมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศ ต้องการผลิตไฟฟ้า ต้องการขนส่ง ผลิตขยะและน้ำเสียออกมาในปริมาณมาก อย่างต่อเนื่อง ใช่ครับ เราจึงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกสู่ชั้นบรรยากาศมากจนเกินสมดุล ความร้อนที่ถูกกักเก็บไว้ในชั้นบรรยากาศจึงมากเกินกว่าที่ควร ผลก็จะเหมือนเรานั่งรถปิดกระจกดับแอร์ ต่อแม้จะเป็นกลางคืน เราก็จะรู้สึกอบอ้าว อึดอัด

และความอึดอัดนี้จะมีทั่วห้องโดยสารไม่ว่าจะนั่งอยู่เบาะหน้าหรือหลัง จะเอนตัวลงนอน หรือลุกขึ้นยงโย่ยงหยก ก็จะ อึดอัด อบอ้าว อยู่ดี

วันนี้ โลกมีประชากรถึง 8พันล้านคน ยังไม่นับปศุสัตว์ที่เราขุนเลี้ยงกันไว้บริโภคอีก จนเยอะกว่าสัตว์ป่าทุกชนิดรวมกัน แม้จะนับนกในธรรมชาติหมดทุกตัวด้วยก็ตาม

ภาวะของเรือนกระจกจึงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันรักษาสมดุล ไม่ให้มีก๊าซใดลอยขึ้นไปอยู่มากหรือน้อยจนเกินไป นี่จึงเป็นที่มาของชื่อองค์การมหาชนของไทย ที่เรียกชื่อว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

ภาวะโลกร้อน ช่วงแรกเราสังเกตได้จากการละลายของน้ำแข็งที่ยอดเขาและขั้วโลก ว่ามันละลายหนักกว่าเดิม และละลายนานกว่าฤดูที่มันเคยเป็น

แปลว่าโลกอุ่นขึ้น ศัพท์คำว่า Global warming จึงถูกใช้มาเรื่อย

แต่พอสังเกตนานเข้าก็พบพื้นที่ ๆ ไม่ได้อุ่นขึ้น แต่กลับเย็นหนาวจนหิมะตก ทั้งที่ ๆ นั่นไม่เคยเจอหิมะมาก่อน

ทีนี้ ผู้คนก็เริ่มเห็นภาพของ สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change

แต่น้อยคนจะตระหนักว่า เพดานฟ้าของขั้วโลกนั้น ต่ำกว่าเพดานฟ้าที่เขตอบอุ่น หรือพื้นที่สี่ฤดู

ส่วนเพดานฟ้าที่เขตศูนย์สูตรจะสูงกว่าที่อื่น ๆ ของโลก 

ดังนั้นในวันที่ขั้วโลกเหนือใต้อุ่นขึ้นแล้ว ถึง 5 องศาเซลเซียส คนในพื้นที่อื่นกลับไม่ค่อยรู้สึกตามไปด้วย

เพราะเพดานฟ้าของเขตตัวยังสูงมาก อะไร ๆ ยังเปลี่ยนแปลงไปน้อยเกินจะเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต

จากนั้น ก็มีภัยจากพายุรุนแรง แห้งแล้งยาวนาน น้ำท่วมหนัก และระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น กัดเซาะชายฝั่งรุนแรงขึ้น การเกษตรเสียหาย กระทบต่อรายได้ประชาชน เกิดโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ

แต่เราเรียกมันว่าภัยธรรมชาติเหมือนเดิม ไม่ทำให้เราเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อสิ่งนี้บ่อยขึ้นแต่อย่างไร

เราแก้ไขด้วยการพยายามพยากรณ์เตือนภัยล่วงหน้าให้ได้แม่นขึ้น จัดทีมกู้ภัยให้เร็วขึ้น

“เราถนัดจะแก้ที่ผล ไม่ใช่ที่เหตุ…”

ภายหลังมีคนลองขยับคำเรียกไปเป็น Climate Crisis หรือ วิกฤติสภาพภูมิอากาศ ที่จ๊าบหน่อยก็มีคำเรียกเพิ่มขึ้นว่า ภาวะโลกรวน ด้วยซ้ำ แล้วคำนั้นก็จางหายไป

จนกระทั่งกลางปี2023 เลขาธิการสหประชาชาติประกาศว่า ภาวะโลกร้อนได้ผ่านไปแล้ว บัดนี้เราได้มาพึงยุคภาวะโลกเดือด (Global Boiling) แล้ว

มีข่าวออกสื่อ แต่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงตอบสนองต่อคำนี้ที่ต่างไปจากคำเรียกสภาพการณ์ก่อนหน้านี้แต่อย่างไร

สปีดการแก้ไข ก็ดูจะเดิม ๆ

ส่วนมากเป็นการเอ่ยถึงปัญหา แล้วก็ทำแผนจุ๋ม ๆ จิ๋ม ๆ ซึ่งก็ไม่ได้จริงจังตั้งใจเปลี่ยนแปลงสักเท่าไหร่

ในทางวิทยาศาสตร์ ก๊าซเรือนกระจกมีหลายอย่างมาก แต่ผู้ร้ายที่สำคัญ ๆ ที่เราท่านพอจะมีส่วนร่วมในการลดมันลงได้ ได้แก่...

อันดับ 1 ไม่ใช่เพราะมันร้ายกาจพิเศษ แต่เพราะสะสมในชั้นบรรยากาศโลกเยอะมากที่สุด คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (จากการเผาไหม้ทุกชนิด) อันนี้เป็นก๊าซที่เราท่านรู้จักค่อนข้างดี

อันดับ 2 คือ ก๊าซมีเทน มีเทนเป็นส่วนประกอบหลักของก๊าซชีวภาพ ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน ของซากพืช ซากสัตว์ที่ทับถมมาเป็นเวลานาน การปศุสัตว์ ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระดับของก๊าซีเทนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องเช่น วัว ควาย ที่เป็นสัตว์กินหญ้า เกิดก๊าซมีเทน และปล่อยออกมาด้วยการเรอ ก๊าซมีเทนนี้ มีพลังในการเป็นผู้กักเก็บความร้อนในชั้นบรรยากาศที่ร้ายกาจสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่าตัว มันมีอายุอยู่ในชั้นบรรยากาศได้ราว 12 ปี

และบัดนี้ น้ำแข็งที่ทับบนแผ่นดินแคนาดาและไซบีเรีย รัสเซีย ซึ่งทับซากพืชซากสัตว์มาตั้งแต่หลายแสนหลายล้านปีเริ่มละลายออกมาอย่างน่าตกใจ ได้ปลดปล่อยทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทนจากใต้ดินชั้นน้ำแข็งที่เราเคยรู้จักในนามชั้นดิน Permafrost ขึ้นไปในชั้นบรรยากาศทุกฤดูร้อน

ก๊าซเรือนกระจก 2 รายการข้างต้น จึงเติมขึ้นสู่ท้องฟ้าอีกทาง

และเป็นที่ทราบว่า Permafrost นี้กักเก็บก๊าซทั้งสองนี้ไว้มากเสียยิ่งกว่าที่มี ๆ อยู่จนเป็นปัญหาในชั้นบรรยากาศอยู่แล้ว

แปลว่า ยิ่งเร่งและยิ่งเพิ่มก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปทำให้โลกร้อนมากขึ้นอีก

ส่วนอันดับ 3 ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ซึ่งมนุษย์มักใช้ในเวลาผ่าตัด เวลาทำฟัน เพื่อให้มีอาการชา จะได้ไม่รู้สึกเจ็บปวดชั่วคราว ไนตรัสออกไซด์นี้เกิดจากภาคเกษตรกรรมถึง 65% เพราะใช้ปุ๋ยไนโตรเจน ส่วนภาคอุตสาหกรรม ก็เป็นผู้ปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ราว 20% จากการผลิตพลาสติกบางกลุ่ม การผลิตเส้นไนลอน การผลิตกรดกำมะถัน การชุบโลหะ การทำวัตถุระเบิด และการผลิตไบโอดีเซล !!

ไนตรัสออกไซด์มีอายุในชั้นบรรยากาศได้ราวร้อยปี ดีที่ว่า ไนตรัสออกไซด์สะสมในชั้นบรรยากาศยังไม่มาก แต่ที่เราพึงต้องระวังเพราะมันสามารถส่งผลต่อภาวะโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มีปริมาณเดียวกันได้ถึง 265 เท่านี่แหละ

ไนตรัสออกไซด์จึงนับเป็นผู้ร้ายลำดับ 3 ที่เราต้องรู้ไว้ เพราะถ้ามันลอยไปสะสมในชั้นบรรยากาศมาก มันจะพาเราพังได้เร็วกว่าคาร์บอนไดออกไซด์มาก

ทีนี้เหลืออีกตัวการภาวะโลกร้อนจากภาคอุตสาหกรรมแท้ ๆ ได้แก่ พวกสาร CFC ซึ่งอยู่ในสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นมายาวนานจนเพิ่งถูกเลิกใช้ไปเมื่อไม่นานมานี้ ตามพิธีสารมอนทรีออล แต่สารประกอบหมวดนี้ของ CFC มีอายุยืนได้นับร้อยปีจนถึงสามพันปี !!

CFC ก่อให้เกิดรูโหว่ในชั้นโอโซนทำให้รังสียูวีของดวงอาทิตย์ทะลุลงมาก่อมะเร็งผิวหนัง

ดังนั้น เท่าที่ปล่อย ๆ ไปก็นับว่าเพียงพอจะไปทำลายความสมดุลมากพอควรแล้ว และมันจะยังคงทำลายต่อไปตราบที่มันยังไม่เสื่อมสลายไปเองตามอายุของมัน

มีคนเคยถามเหมือนกันว่า แล้วทำไมคาร์บอนมอนอกไซด์ ไม่ติดท็อป 5 ของผู้ร้ายในเรื่องภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทั้งที่ยานยนต์ทุกคัน ในเกือบร้อยปีที่ผ่านมาทั่วโลก ต่างก็ปลดปล่อยมาโดยตลอดมิใช่หรือ?

นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า แม้คาร์บอนมอนอกไซด์จะอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์มาก ๆ ตอนที่มันออกมาจากท่อไอเสีย แต่พอมันเจอชั้นบรรยากาศในธรรมชาติ ออกซิเจนจะค่อย ๆ เข้าไปผสมเอง และผลคือมันจะสลายเองในเวลาไม่กี่เดือน

มันจึงไม่ทันได้แสดงฤทธิ์มากนักต่อภาวะเรือนกระจกอย่างก๊าซอื่นที่มีช่วงชีวิตยาวนานมาก ๆ ที่ติดท็อป 4 ข้างต้นของข้อเขียนนี้

‘EA’ ติดอันดับความยั่งยืนระดับโลก The Sustainability Yearbook 2024

(23 ก.พ. 67) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ผู้นำธุรกิจพลังงานสะอาดระดับภูมิภาคอาเซียน ได้เปิดเผยว่า บริษัทได้รับคัดเลือกติดอันดับดัชนีความยั่งยืน ‘The Sustainability Yearbook 2024’ ในหมวดธุรกิจ Electric Utilities Industry รายงานองค์กรระดับโลก จัดโดย S&P Global สะท้อนการบริหารจัดการ ตามหลัก ESG สร้างคุณค่าระยะยาวและความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ พร้อมเดินหน้าพัฒนาธุรกิจสู่ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจเติบโต แข็งแกร่งและยั่งยืน โดยยึดถือความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และหลักบรรษัทภิบาล พร้อมมุ่งมั่นพัฒนา ‘Green Product’ ตั้งแต่กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน, ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน, ธุรกิจแบตเตอรี่ ลิเธียม ไอออน, ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และสถานีชาร์จ EA Anywhere มาอย่างต่อเนื่องกว่า 16 ปี  

ตลอดการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ ได้รับการยอมรับและถูกจัดอันดับ ในการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ล่าสุด S&P Global ผู้ให้บริการด้านข้อมูลการเงิน และการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ได้ประกาศการจัดอันดับความยั่งยืนของกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ โดยปรากฏในรายงาน The Sustainability Yearbook 2024 หมวดธุรกิจ Electric Utilities Industry เป็นเครื่องหมายการันตี อีกขั้นของความสำเร็จ และ ความโดดเด่นในการดำเนินธุรกิจ ตามมาตรฐาน ESG ภายใต้กลยุทธ์ ‘Energy Absolute Energy for The Future’ ที่พร้อมจะยกระดับนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้เป็นเลิศในทุกด้าน สู่ความเป็นผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด สร้างการเติบโตของธุรกิจแบบก้าวกระโดด ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม สร้างความสมดุล เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อองค์กร สังคม และประเทศชาติ

“กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด มีแนวทางการบริหารจัดการที่ชัดเจน มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีและโปร่งใส มีหลักบรรษัทภิบาล พร้อมที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจ ทำให้เกิดประโยชน์กับผู้ถือหุ้นและทุกภาคส่วนของสังคมอย่างยั่งยืน” นายอมรกล่าว

ความสำเร็จเกิดจากความทุ่มเทของพนักงาน ซึ่งเป็นที่ประจักษ์สร้างความเชื่อมั่นในสายตาผู้ลงทุน โดยลงทุนด้านการยกระดับอุตสาหกรรมการขนส่งสีเขียว ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสิ่งแวดล้อม ให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งมีเมืองภูเก็ตเป็นโมเดลเศรษฐกิจต้นแบบ ‘Green Island; Low Carbon City’ ซึ่งจะมีบทบาทในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ สนับสนุนขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน และเป็นจังหวัดต้นแบบที่จะขยายผลความสำเร็จนี้ไปสู่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย

นักวิจัยจุฬาฯ เจ๋ง!! ใช้เศษวุ้นมะพร้าวเหลือทิ้ง ผลิต 'เซลโลกัม' ช่วยลดการนำเข้าสารเติมแต่งต่อปีได้กว่าหมื่นล้านบาท

เมื่อวานนี้ (21 ก.พ.67) ‘เซลโลกัม’ ผลิตภัณฑ์ที่มาจากความร่วมมือระหว่างทีมนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับบริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ที่ดัดแปลงเศษวุ้นมะพร้าวเหลือทิ้งนับเป็นตัน ๆ ต่อวัน ให้กลายเป็นสารเติมแต่ง ประสิทธิภาพสูง นับเป็นโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ที่จะเพิ่มมูลค่าเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร เพื่อสังคม zero waste ลดการกำจัดขยะด้วยการเผา

โดยทีมนักวิจัยภายใต้การนำของ ศ.ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) และอาจารย์ประจำวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท ไบโอเน็กซ์ จำกัด (BioNext) สตาร์ตอัพภายใต้ชายคา CU Enterprise พร้อมทีมวิจัย ได้แก่ รศ.ดร.ศรุต อำมาตย์โยธิน คุณวรุณ วารัญญานนท์ คุณปิยะวัฒน์ สาธิตวงศ์กุล และ ดร.พงษ์พัฒน์ ศุขวัฒนะกุล

ทั้งนี้ โครงการวิจัยนี้เป็น 1 ใน 12 โครงการที่ได้ผ่านการคัดเลือกให้เข้ารอบสุดท้ายโครงการปั้นดาวของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป. อว.) เมื่อปี พ.ศ. 2563 ทำให้ได้รับทุนสนับสนุนการสร้างโรงงานนำร่อง (pilot plant) เพื่อนำเอาเศษวุ้นมะพร้าวมาผลิตเป็นสารเติมแต่งในอาหาร ยา และเครื่องสำอาง

>> Cello-gum คืออะไร

เซลโลกัม คือผลิตภัณฑ์นาโนเซลลูโลสจากเศษวุ้นมะพร้าว ที่ทำขึ้นมานี้มีความบริสุทธิ์สูง ปลอดภัย และมีตลาดรองรับ เซลโลกัมจึงเป็นตัวอย่างนวัตกรรมซึ่งมีศักยภาพมากในการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม สามารถนำไปใช้เป็นสารเติมแต่งในอาหาร ยา และเครื่องสำอาง เพื่อควบคุมความข้นหนืดและทำให้เกิดความคงตัวในอาหารเหลว หรือ food stabilizer

เช่น ในผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าวต้องเติม food stabilizer เพื่อรักษาความเป็นคอลลอยด์ ไม่ให้น้ำนมเกิดการแยกชั้น และช่วยเพิ่มเนื้อให้มีลักษณะเหมือนมีเนื้อข้าวอยู่ในผลิตภัณฑ์ เช่นเดียวกับน้ำผลไม้ ที่มักใช้สารเติมแต่งจากเซลลูโลสเป็นสารเพิ่มเนื้อ” ศ.ดร.หทัยกานต์อธิบาย

ศ.ดร.หทัยกานต์ เล่าว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้ในการนำเอาแบคทีเรียเซลลูโลส มาเข้าสู่กระบวนการทางเคมี โดยใช้โบโอเทคโนโลยีและผลิตเป็นสารเติมแต่ง ที่ผ่านมาทีมวิจัยมักใช้แบคทีเรียเซลลูโลสมาขึ้นรูปเป็นเมมเบรน เป็นฟิล์มถนอมอาหาร หรือฉลากต่าง ๆ

“บริษัท อำพลฟู้ดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ส่งออกวุ้นมะพร้าวในระดับโลก ทราบข่าวเกี่ยวกับงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ออกไป ก็เกิดแนวคิดและความร่วมมือที่จะใช้องค์ความรู้แบคทีเรียเซลลูโลส ในการทำสารเติมแต่งเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศษวุ้นมะพร้าวที่มีมูลค่าสูงได้

เพราะเศษวุ้นมะพร้าวที่เหลือจากการผลิตของบริษัทมีเป็นตัน ๆ ทุกวัน ปกติแล้วจะถูกกำจัดโดยการเผาทิ้ง ซึ่งหากนำมาทำเป็นสารเติมแต่งได้ ก็จะช่วยลดการนำเข้าสารเติมแต่งต่าง ๆ ที่ประเทศไทยต้องนำเข้าปีละกว่าหมื่นล้านบาท”

>> เซลโลกัม โดดเด่นเหนือคู่แข่งในตลาด

ศ.ดร.หทัยกานต์ อธิบายว่า วุ้นมะพร้าว หรือ Nata de Coco เป็นวัสดุธรรมชาติที่มีลักษณะโครงสร้างทางวิทยาศาสตร์เป็นแบคทีเรียเซลลูโลส (bacterial cellulose, BC) ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นหลายประการ เช่น มีคุณสมบัติเชิงกลที่ดี รูพรุนมาก ดูดซับน้ำได้มาก ขึ้นรูปได้ง่าย ย่อยสลายตามธรรมชาติได้ และไม่มีความเป็นพิษ

“เมื่อนำวุ้นมะพร้าวมาใช้เป็นวัสดุผสมหรือสารเติมแต่ง จึงช่วยให้สามารถเพิ่มคุณสมบัติอื่น ๆ เช่น ทำให้อะตอมหรือโมเลกุลของสารอื่น ๆ สามารถยึดเกาะได้ดี และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย แบคทีเรียที่ใช้ในการผลิตวุ้นมะพร้าวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อะซิโตแบคเตอร์ ไซลินัม (acetobacter xylinum) ซึ่งสามารถเลี้ยงในห้องแล็บได้ โดยเลี้ยงด้วยน้ำตาล และ carbon source

ที่เรียกว่า วุ้นมะพร้าว เพราะใช้น้ำมะพร้าวเป็นอาหารสำหรับแบคทีเรีย เมื่อแบคทีเรียได้รับอาหาร ก็จะขับถ่ายออกมาเป็นไฟเบอร์ ซึ่งไฟเบอร์ตัวนี้แหละที่เป็นเซลลูโลสอย่างดี และเมื่อเทียบกับสารเติมแต่งที่เราต้องนำเข้าจากต่างประเทศแล้ว เซลโลกัมมีความบริสุทธิ์กว่า มีประสิทธิภาพดีกว่า ประหยัดกว่าเพราะใช้ในปริมาณที่น้อยกว่า และมาจากธรรมชาติ (bio resource)”

นอกจากวุ้นมะพร้าวแล้ว ศ.ดร.หทัยกานต์กล่าวว่า เศษวัสดุทางการเกษตรอื่น ๆ ก็นำมาใช้ทำเซลโลกัมได้เช่นกัน แม้จะให้เซลลูโลสในปริมาณที่น้อยกว่า

“วุ้นมะพร้าวให้เซลลูโลสมากกว่าเมื่อเทียบกับเซลลูโลสที่สกัดจากไม้หรือพืชอื่น ๆ เช่น ชานอ้อย หรือมันสำปะหลัง ซึ่งจะได้เซลลูโลสแค่ประมาณ 30% เท่านั้น แต่ก็สามารถเอาชานอ้อย ข้าวโพด สับปะรด มาเข้ากระบวนการผลิตเป็นเซลโลกัมได้เหมือนกัน เพียงแต่อาจจะต้องมีการพลิกแพลงหรือเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย”

>> เส้นทางในอนาคตของ Cello-gum

นอกจากได้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายโครงการปั้นดาวของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป. อว.) ปี พ.ศ. 2563 โครงการวิจัยเซลโลกัมยังได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการ Angel Fund ประจำปี พ.ศ. 2566 ด้วย

จากความสำเร็จของ Pilot Plant ทีมวิจัยเห็นโอกาสที่จะขยายกำลังการผลิตในเชิงพาณิชย์ จึงได้ก่อตั้ง บริษัท ไบโอเน็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ spin-off มาจากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการบ่มเพาะของ CU Enterprise เพื่อทดลองพัฒนางานวิจัย และเสนอโครงการตามบริษัทใหญ่ ๆ ต่อไป

“เราอยากจะทำเป็นโมเดลเหมือนกันคือแทนที่แต่ละโรงงานหรือบริษัทต้องทิ้งหรือกำจัดของเสียทางการเกษตร เราอาจจะนำกลับมาเข้ากระบวนการเพื่อผลิตเป็นพรอดักต์อย่างเซลโลกัม หรืออื่น ๆ ก็จะก่อให้เกิด circular economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน และเป็น zero waste ด้วย” ศ.ดร.หทัยกานต์ กล่าว

ศ.ดร.หทัยกานต์กล่าวถึงปัจจัยสู่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือกำลังเสริม ได้แก่ ผู้ร่วมงานหรือทีมวิจัยที่ดี การส่งเสริมจากพาร์ตเนอร์หรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่เราทำงานด้วย เพื่อให้เกิด eco system ที่ดี ให้ธุรกิจอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน และก็ต้องไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค

ปัจจุบัน เซลโลกัม อยู่ในช่วงของการหาผู้ร่วมทุน และความช่วยเหลือในด้านวิศวกรรม ทั้งเรื่องของการออกแบบเครื่องจักรและโรงงานเพื่อพัฒนากำลังการผลิตในรูปแบบของอุตสาหกรรมเต็มตัวในอนาคต พร้อม ๆ กับการทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยนอกเหนือจากเซลโลกัมแล้ว ทีมวิจัยภายใต้การนำของ ศ.ดร.หทัยกานต์ยังมีแผนที่จะพัฒนาแบคทีเรียเซลลูโลสเพื่อใช้เป็น binder ในอุตสาหกรรมการตอกยาเม็ด สารเติมแต่งในอาหารเสริม และ hydrogel ในเครื่องสำอางด้วย

'สว.วีรศักดิ์' กระตุกมุมคิดด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านเวที 'Finance for Biodiversity' ชี้!! ไม่มีกิจกรรมใดของมนุษย์ที่ไปต่อได้ หากระบบนิเวศ 'ล่มสลาย-ขาดตอนลง'

เมื่อไม่นานมานี้ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษสรุป ก่อนพิธีปิดการเสวนา ในหัวข้อ 'Finance for Biodiversity: Towards a Nature-Positive Pathway' ณ อาคาร C-ASEAN ถนนพระราม 4 มีวิทยากรที่มีชื่อเสียงได้รับเชิญมาร่วมเวทีมากมาย ทั้งจากผู้เชี่ยวชาญในประเทศและต่างประเทศ

โดยเวทีนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กองทุน AFD แห่งรัฐบาลฝรั่งเศส สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุนของ IUCN UN ESCAP / ธนาคารแห่งประเทศไทย / กลต. / BOI / ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย / สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย / สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย / สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง / สำนักสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ / Global Compact Thailand / ธนาคารกรุงไทย / BEDO เป็นต้น 

ทั้งนี้ เวที Finance for Biodiversity นับเป็นเวทีที่วงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและวงการการเงินการคลังทั้งในและระหว่างประเทศได้มาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวคิดกัน เพื่อระดมพลังเตรียมตัวสำหรับประกอบท่าทีไทยในการเข้าร่วมประชุมอนุสัญญาคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ COP 16 ที่จะมีขึ้นในปีนี้ที่ประเทศ โคลัมเบีย

สาระสำคัญหนึ่งจาก นายวีระศักดิ์ ในเวทีนี้ ระบุว่า ความจำเป็นที่ภาคส่วนอื่น นอกเหนือจากวงการอนุรักษ์ โดยเฉพาะภาคการเงินและธุรกิจควรจะเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อน เพื่อการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้ให้ได้ เพราะไม่มีกิจกรรมใดของมนุษย์ที่สามารถดำเนินต่อได้ ถ้าวงจรของระบบนิเวศจะล่มสลายหรือขาดตอนลง

"เราอาจใช้ดาวเทียมตรวจจับอุณหภูมิ ตรวจจับการรั่วไหลของก๊าซเรือนกระจก ไฟป่า หรือการใช้ผิวดิน สำรวจทรัพยากรใต้ดินได้ แต่ดาวเทียมไม่อาจตรวจจับการขาดตอนลงของระบบนิเวศ การพึ่งพากันของเผ่าพันธุ์พืช หรือเผ่าพันธุ์สัตว์ใดๆ ได้ ดังนั้นเราจึงไม่อาจรู้เลยว่า Tipping Points ของปัญหาการสูญเสียเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในธรรมชาติจะอยู่ที่จุดไหน...

"หากผึ้งหายไปหมด สัตว์และมนุษย์แทบจะสูญพันธุ์ตามไปในเวลาไม่ถึง 6 ปี เพราะทุกชีวิตบนแผ่นดินทุกทวีปอาศัยแกล่งอาหารจากพืชมาเป็นจุดเริ่มทั้งสิ้น..

"ถ้าวาฬในมหาสมุทรสูญพันธุ์ไปจากที่เหลือล้านตัวสุดท้าย แพลงตอนพืชที่ได้ปุ๋ยจากมูลวาฬอันอุดมด้วยแร่ธาตุที่แพลงตอนต้องใช้ประกอบการสังเคราะห์แสง แปลงคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาเป็นออกซิเจนกว่า 65% บนโลกใบนี้ก็จะหายไป แล้วสัตว์และมนุษย์จะหายใจได้อย่างไร" นายวีระศักดิ์ กล่าว

ปิดท้ายด้วยคำกล่าวที่เรียกเสียงปรบมืออย่างยาวนานก่อนจบการปาฐกถาว่า...

"...How do you put a price on saving the earth 
We are putting trillions of dollars to rescue our economies 
Our countries 
Our communities 

But healthy proporous communities also depend on a healthy planet 
The food we eat
The water we drink
The air we breathe 

They all depend on 
Nature 

So how do we ensure the investments we make now
Are good for the future 

If we dug into the numbers creatively and bravely,
We can have great thriving economies and a thriving planet 
But we need some changes 
We will have to stop investing in ways that degrade the planet 
Get creative with new investments 
from both the public and private sectors 
And we have to spend the money we have more efficiently 
Putting our money to work for People and Nature 
We can’t return to business as usual 

It’s time to do better 
It’s time to be better 
It’s time for nature  

And the time is Now…"

‘EA’ ร่วมมือ ‘สภาอุตฯ จ.ภูเก็ต’ ลงนามความร่วมมือ สร้างต้นแบบเมืองท่องเที่ยวรักษ์โลกระดับเวิลด์คลาส

เมื่อไม่นานมานี้ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เซ็นเอ็มโอยูสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ร่วมสนับสนุนสร้างเมืองสีเขียวคาร์บอนต่ำ ซีอีโอ ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ ประกาศเดินหน้าร่วมมือทุกภาคส่วน ผลักดันภูเก็ตเป็นต้นแบบเมืองท่องเที่ยวรักษ์โลกระดับเวิลด์คลาส พร้อมนำ Green Business Platform ที่ใช้ไปประยุกต์ในจังหวัดอื่น หวังดันไทยเป็นประเทศอันดับต้นของโลกที่เข้าสู่ Carbon Neutral เร็วกว่ากำหนด

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัท EA ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ในความร่วมมือ ‘สนับสนุนเมืองภูเก็ตเป็น Green Island : Low Carbon City เพื่อส่งเสริมการขยายการเติบโตเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจในภูเก็ต’ เพื่อให้เมืองภูเก็ตเป็นเกาะสีเขียว เป็นเมืองคาร์บอนต่ำ มีสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดในทุกมิติ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก

โดยกลุ่ม EA มีความตั้งใจที่จะช่วยประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และเล็งเห็นว่าภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีความเหมาะสมที่จะส่งเสริมเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นจุดหมายท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ดังนั้น ภูเก็ตจึงเป็นจังหวัดแรกและเป็นจังหวัดต้นแบบที่ EA จะสนับสนุนส่งเสริม Carbon Neutral อย่างครบวงจร   

สำหรับแนวทางสนับสนุนเมืองภูเก็ตเป็น Green Island; Low Carbon City นั้น กลุ่ม EA พร้อมร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต สนับสนุนและลงทุน Green Logistics และ Green Electricity ในเกาะภูเก็ต ประกอบด้วย 

1. ส่งเสริมสนามบินนานาชาติภูเก็ตลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยใช้ Green Electricity ผลิตไฟฟ้าจากไฮบริดโซล่าร์และแบตเตอรี่, เปลี่ยนรถใช้ในสนามบินเป็นอีวี และ ติดตั้งชาร์จเจอร์ในสนามบิน ส่งเสริมการใช้อีวีสาธารณะในสนามบิน โดยร่วมกับ บมจ.ท่าอากาศยานไทย จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ภายใต้ชื่อ บริษัท ท่าอากาศยาน พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด

2. ส่งเสริมการขายการใช้รถอีวีเพื่อการพาณิชย์และสาธารณะในภูเก็ตร่วมกับบริษัทเอกชนท้องถิ่น ผ่านบริษัท Nex Point PCL 

3. การติดตั้งสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า EA Anywhere ทั้งระบบ AC และ DC ตามจุดคมนาคมสำคัญของภูเก็ต

4. ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำโดยใช้ E-Ferry ร่วมกับภาคเอกชนท้องถิ่น การขนส่งและท่องเที่ยวระหว่างเกาะ

5. ร่วมลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขยะประสิทธิภาพสูง กำลังการผลิต 9.9 MW ในโครงการกำจัดขยะมูลฝอยด้วยระบบเตาเผาขนาดไม่น้อยกว่า 500 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลนครภูเก็ต 

6. การปรึกษาและลงทุนใน Smart City, เมืองใหม่, หรือ กลุ่มมิกซ์ยูสที่อยู่อาศัยใหญ่ ส่งเสริม Green Logistics และ Green Electricity

โดยกลุ่ม EA สามารถเริ่มโครงการ Carbon Neutral หลายโครงการพร้อมกันภายในปีนี้ เนื่องจากภาครัฐและเอกชนของจังหวัดภูเก็ตให้การสนับสนุนการส่งเสริมการปฏิบัติการจริง เพื่อผลักดันให้เมืองภูเก็ต มีสิ่งแวดล้อมที่ดี นำไปสู่จุดหมายการท่องเที่ยวสีเขียว Green Traveling in Green Island. และกลุ่ม EA คาดหวังว่าจะสามารถนำ Green Business Platform ที่ดำเนินในภูเก็ต ไปประยุกต์ใช้จังหวัดอื่นๆ ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับต้นของโลกที่เข้าสู่ Carbon Neutral ได้เร็วกว่ากำหนด

“กลุ่ม EA สนับสนุนเมืองภูเก็ตเป็น Green Island; Low Carbon City เพื่อส่งเสริมการขยายการเติบโตที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจในภูเก็ตในระดับ World Class เราพร้อมร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต สนับสนุนและลงทุน Green Logistics และ Green Electricity ทุกมิติในเกาะภูเก็ต และ กลุ่ม EA คาดหวังว่าจะสามารถนำ Green Business Platform ที่ดำเนินการในภูเก็ต ไปประยุกต์ใช้กับจังหวัดอื่นๆ เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับต้นในโลกที่เข้าสู่ Carbon Neutral ได้เร็วกว่ากำหนด” นายสมโภชน์ กล่าวในที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top