Tuesday, 18 March 2025
SDGS

‘รมว.ปุ้ย’ รับมอบอุปกรณ์ซ่อมบ้านจาก SCG มูลค่า 1 ลบ. เร่งนำส่ง ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 3 จังหวัดภาคใต้

(2 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท เอสซีจี (SCG) นำโดยนายวิโรจน์ รัตนชัยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจ เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจ เอสซีจี ดิสทริบิวชั่น และนายสุรชัย นิ่มละออ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรันโซลูชั่น และคณะ ได้มอบวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน ผ่าน ‘โครงการอุตสาหกรรมรวมใจช่วยพี่น้องชาวไทย’ ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำไปช่วยเหลือ เยียวยา ลดภาระ และแสดงความห่วงใย พร้อมส่งกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยใน 3 จังหวัดภาคใต้คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ให้ก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้อย่างเร็วที่สุด 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน ผ่านโครงการ ‘อุตสาหกรรมรวมใจช่วยพี่น้องชาวไทย’ มาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดทุกภูมิภาคจัดหามาตรการความช่วยเหลือให้อย่างรวดเร็ว พร้อมส่งมอบ ‘ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน’ ซึ่งเป็นถุงยังชีพที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ร่วมมือร่วมใจกันจัดทำขึ้น เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยในการก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบาก 

“ในครั้งนี้ได้รับความร่วมมืออันดีจากเอสซีจี ในการร่วมส่งมอบอุปกรณ์ก่อสร้างสำหรับซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย อาทิ ปูน กระเบื้อง ซึ่งเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประสบภัย การสนับสนุนครั้งนี้เป็นการเยียวยาความเดือดร้อนอย่างตรงจุด และเป็นประโยชน์แก่ผู้รับมอบอย่างยิ่ง ต้องขอขอบคุณทางเอสซีจีและภาคเอกชนต่าง ๆ ที่ให้ความร่วมมือและร่วมส่งกำลังใจประชาชนเป็นอย่างดีเสมอ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม จะนำส่งสิ่งของให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบต่อไป” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวด้วยว่า สำหรับวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านที่เอสซีจีร่วมบริจาค มีดังนี้ ปูนซีเมนต์ ตราเสือ 4,000 ถุง ปูนซีเมนต์ ปอร์ตแลนด์ 1,000 ถุง กระเบื้องปูพื้น 5,500 แผ่น โดยมูลค่ารวมของวัสดุอุปกรณ์ที่ทางเอสซีจี นำมามอบให้ในครั้งนี้ มูลค่ารวมทั้งสิ้นจำนวน 1 ล้านบาท โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งดำเนินการนำวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านดังกล่าว ไปมอบให้กับผู้ประสบภัยอุทกภัยในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส โดยเร็วที่สุด

'รมว.ปุ้ย' เปิดงาน Thailand Green and Smart Mining Forum 2024 'เหมืองแร่ไทยใต้หลักธรรมาภิบาลและมาตรการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม'

(2 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะรองประธานกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ เป็นประธานเปิดกิจกรรม 'Thailand Green and Smart Mining Forum 2024' ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นสักขีพยานในการประกาศเจตนารมณ์ของผู้ประกอบการเหมืองแร่ ที่จะดำเนินกิจการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีธรรมาภิบาล ให้สาธารณชนได้รับทราบโดยทั่วกัน

รมว.พิมพ์ภัทรา เผยว่า กิจกรรม 'Thailand Green and Smart Mining Forum 2024' เป็นกิจกรรมสำคัญของคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติที่จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาคเอกชนและภาคประชาชน เพื่อให้การประกอบกิจการเหมืองแร่เป็น 'เหมืองแร่ของประชาชน' ลดความขัดแย้งในการพัฒนาแร่ เกื้อกูลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสถานประกอบการและชุมชน 

โดยกิจกรรมวันนี้ ได้นำมาตรการทางสังคมเชิงสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่และมาตรการทางกฎหมาย อาทิ เวทีให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ได้ร่วมแสดงความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบและหลักธรรมาภิบาลเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, การมอบรางวัล Thailand Green and Smart Mining Awards ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ประกอบการที่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการร่วมกันประกาศและลงนามในเจตนารมณ์การเป็นเหมืองแร่ที่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการเหมืองแร่

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ ได้แก่ การเกษตร เทคโนโลยีชั้นสูง และพลังงานหมุนเวียน การผลักดันให้สถานประกอบการเหมืองแร่มีการดำเนินการที่เป็นมาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการทำเหมืองสมัยใหม่มาใช้ในการทำเหมือง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และเป็นไปตามกรอบแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 โดยกิจกรรมที่จัดในวันนี้เป็นการจัดกิจกรรมแบบ Net Zero คือ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ด้วย

ด้าน นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวถึงรายละเอียดของกิจกรรม 'Thailand Green and Smart Mining Forum 2024' ประกอบไปด้วย...

• การปาฐกถาหัวข้อ 'การบริหารจัดการแร่อย่างยั่งยืนภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2' โดย นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

• การมอบรางวัลผู้ชนะการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์กิจกรรม Thailand Green and Smart Mining และรางวัล “Thailand Green & Smart Mining Awards 2023” ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ประกอบการที่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 6 รางวัล ได้แก่...

1. ประเภทกิจการเหมืองแร่ จำนวน 5 รางวัล ได้แก่...
(1) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด
(2) บริษัท ปูนซีเมนต์เอเชีย จำกัด (มหาชน)
(3) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด
(4) บริษัท ตรัง ยูซี จำกัด
(5) บริษัท ศิลาสานนท์ จำกัด

2. ประเภทกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับแร่ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่...
(1) บริษัท ตรัง ยูซี จำกัด

• พิธีการประกาศเจตนารมณ์และลงนามการเป็นเหมืองแร่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของกิจการเหมืองแร่ไทย ครั้งที่ 3 ของผู้ประกอบการเหมืองแร่ จำนวน 10 ราย

• การจัดนิทรรศการของผู้ประกอบการเหมืองแร่ที่ได้รับรางวัล และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวม 7 ราย

• การนำเสนอแนวทางการประกอบกิจการของผู้ที่ได้รับรางวัล Thailand Green & Smart Mining Awards 2023 

นอกจากนี้ ยังมีการบรรยาย เรื่อง 'Net zero emissions' จากผู้แทนองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และการเสวนา เรื่อง 'การประกอบกิจการเหมืองแร่ไทย มุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ' โดย ผู้ประกอบการเหมืองแร่อีกด้วย

‘BIG-BGC’ ผนึกกำลัง ดันนวัตกรรม Climate Technology ลดคาร์บอนในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ ‘แก้ว-พลาสติก’

(1 ก.พ. 67) นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือบีไอจี (BIG) เปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC เพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมจาก Climate Technology ในการตรวจสอบและช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วและพลาสติกของบีจีซี โดยจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน และตอบรับเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ของบีจีซีในปี 2593

“การดำเนินดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญของทั้งสองบริษัทที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ซึ่งบริษัทฯ ถือเป็นพันธกิจสำคัญในการดำเนินธุรกิจและสานพลังขับเคลื่อนนวัตกรรมที่จะเกิดมูลค่า (Value)”

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า บริษัทตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน จึงมีการพัฒนา Carbon Accounting Platform เพื่อมอนิเตอร์การใช้และลดการปลดปล่อยคาร์บอนฯ ในกระบวนการผลิตเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น สามารถนำไปวางแผนการลดการปลดปล่อยคาร์บอนฯ จากกระบวนการผลิตโดยอาศัยความชำนาญของบีไอจีมาช่วยสนับสนุนพันธมิตรทางธุรกิจ

นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGC กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นการต่อยอดการใช้ Carbon Accounting Platform ไปสู่อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์ครบวงจร และร่วมผลักดันในพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

นอกจากนี้ ยังร่วมมือกันศึกษาการนำเชื้อเพลิงไฮโดรเจนซึ่งเป็นหนึ่งใน Climate Technology มาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในเตาหลอมแก้วเป็นครั้งแรก ซึ่งจะช่วยให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงนำเชื้อเพลิงไฮโดรเจนมาประยุกต์ใช้กับรถโฟล์คลิฟท์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนและนำมาทดลองใช้ในโรงงาน โดยตั้งเป้าในการร่วมขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่บีไอจีและบีจีซีต่างให้ความสำคัญร่วมกัน และมีส่วนช่วยตอบเป้าหมายในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของทั้งสองบริษัท อีกทั้งช่วยยกระดับและแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่ายในการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนที่สามารถนำไปใช้จริงโดยภาคอุตสาหกรรม

'กนอ.' พิสูจน์ชัด 'นโยบายธงขาวดาวเขียว' เป็นไปตามเป้า หลังคว้ารัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมฯ ปี 66 

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คว้ารางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 ตอกย้ำความสำเร็จในการยกระดับให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

(1 ก.พ.67) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. คว้ารางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ภายใต้แนวคิด 'รัฐวิสาหกิจสร้างสรรค์พลังไทยสู่สากล ENHANCING THAINESS TOWARDS GLOBAL OPPORTUNITIES' โดยมีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล 

โดยรางวัลที่ได้รับครั้งนี้ เป็นเครื่องสะท้อนความสำเร็จและความมุ่งมั่นของ กนอ. ในการให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยภายในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้ภาคประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำกับดูแลการประกอบกิจการและการบริหารจัดการโรงงานบนพื้นฐานของความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ผ่านการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจประเมินโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีชุมชนโดยรอบนิคมฯ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการดังกล่าวด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนที่อยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม 

รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 ที่ กนอ. ได้รับเป็นผลมาจากการดำเนินโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม (ธงขาวดาวเขียว หรือ Green Star Award) มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2550 โดยเริ่มที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ก่อนที่จะขยายการดำเนินโครงการไปยังนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ และดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องทุกปีจนถึงปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมยกระดับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยอย่างมีมาตรฐาน โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมทั้งมอบใบประกาศเกียรติคุณและมอบธงที่มีสัญลักษณ์ดาวสีเขียวให้แก่โรงงานที่มีผลการประเมินการบริหารจัดการและการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมตามหลักธรรมาภิบาลอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม นอกจากนี้ โรงงานที่รักษามาตรฐานการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยมต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปี ยังได้รับมอบประกาศเกียรติคุณและมอบธงธรรมาภิบาลยอดเยี่ยม (Gold Star Award) ด้วย

"ผมรู้สึกภาคภูมิใจแทนพนักงาน กนอ. ทุกคน เพราะรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เราได้รับในวันนี้ สะท้อนให้เห็นว่า โครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่ กนอ. มุ่งมั่นดำเนินงาน เพื่อการอยู่ร่วมกันกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะชุมชนรอบนิคมฯ ด้วยความจริงใจมาอย่างต่อเนื่องถึง 17 ปี เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมของประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ สคร. และเชื่อมั่นว่าชาว กนอ. จะดำรงไว้ซึ่งความเป็นผู้นำในมาตรฐานเพื่อความยั่งยืนต่อไป" นายวีริศ กล่าวปิดท้าย

‘ล็อกซเล่ย์’ ผนึก ‘AEL’ เปลี่ยน ‘เศษอาหาร’ เป็นพลังงาน หวังลดการสูญเสียทรัพยากร - ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

(31 ม.ค.67) นายพิเศษ ดิศวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดูแลฝ่ายธุรกิจสิ่งแวดล้อม บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) และ มร.จู๊ด เชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท AEL (International Holdings) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านนวัตกรรมเปลี่ยนเศษอาหารเป็นพลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และกากอาหารสัตว์ เพื่อขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างยั่งยืน

โดยมี นายภัทร พจน์พานิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจเน็ตเวิร์คโซลูชั่นส์ บมจ.ล็อกซเล่ย์ และ มร.สตีฟ ชวง ประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง (FHKI) ให้เกียรติเป็นสักขีพยานภายในงาน ‘Thai-Hong Kong Business Forum’ จัดโดยสมาพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง (FHKI) และสมาคมการค้าไทย-ฮ่องกง (THKTA) ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท

นายพิเศษ เผยว่า บริษัทมองว่าขยะอาหาร (Food Waste) จากแหล่งต่างๆ อาทิ ฟู้ดคอร์ท ศูนย์อาหาร ร้านอาหารขนาดใหญ่ มีจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน หากถูกนำไปกำจัดอย่างไม่เหมาะสม ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และเพื่อไม่ให้ขยะอาหารถูกทิ้งอย่างสูญเปล่า จึงนำมาสู่การผนึกความร่วมมือระหว่าง ล็อกซเล่ย์ และ AEL ในการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมเปลี่ยนเศษอาหารเป็นพลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และกากอาหารสัตว์ เพื่อช่วยลดการสูญเสียทรัพยากร ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และชุมชนอย่างยั่งยืน

‘ซีพีเอฟ’ รับบท ‘ตลาดรับซื้อ’ หนุน 5,500 เกษตรกรรายย่อย ป้องกันตลาดผันผวน ตัดวงจรเสี่ยงด้านราคาให้แก่เกษตรกร

(31 ม.ค. 67) นายสมพร เจิมพงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ได้มุ่งยกระดับการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศมากกว่า 5,500 ราย ในรูปแบบ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการเลี้ยงสัตว์ที่ดี ภายใต้การบริหารจัดการด้านการเลี้ยงสัตว์ที่มีมาตรฐาน ด้วยการนำขีดความสามารถของบริษัทฯ มาถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการเลี้ยงแก่เกษตรกร ที่สำคัญเกษตรกรต้องมีตลาดรองรับผลผลิต บริษัทฯ จึงทำหน้าที่เป็นตลาดรับซื้อผลผลิตคืนจากเกษตรกร เพื่อให้มีอาชีพที่ไร้ความเสี่ยงด้านราคาและการตลาด และมีหลักประกันรายได้ที่มั่นคง โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาที่ราคาสุกรผันผวนมาก จากการเข้ามาของขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรเถื่อน หากแต่เกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงสุกรกับซีพีเอฟ ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีการทำสัญญาตกลงราคากันไว้ล่วงหน้า และบริษัทฯ รับซื้อผลผลิตของเกษตรกรไว้ทั้งหมด

“นอกจากการส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยได้รับทั้งความรู้ด้านการเลี้ยงสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้เกษตรกรสามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ เกษตรกรไม่ได้รับความเสี่ยงตลาดผันผวน โดยสินค้าที่ซีพีเอฟผลิตส่งจำหน่ายในตลาดและห้างโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ ก็มาจากเกษตรกรรายย่อยที่บริษัทฯ รับความเสี่ยงโดยตรง และยังมีเกษตรกรรายกลางอีกร่วม 500 ราย ที่ซีพีเอฟ เข้าไปช่วยสนับสนุนองค์ความรู้ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในอาหาร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในห่วงโซ่คุณค่าเติบโตไปด้วยกัน” นายสมพร กล่าว

ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ปี 2518 ที่ซีพีเอฟนำระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมแบบครบวงจร เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แบบพันธสัญญาแก่เกษตรกรรายย่อย ภายใต้หลักคิด ‘เกษตรกรคือคู่ชีวิต’ ร่วมสนับสนุนความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยของไทย มีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน พึ่งพาตนเองอย่างเข้มแข็ง มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับชุมชนและประเทศ ควบคู่กับการผลิตเนื้อสัตว์ที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันผลิตและส่งมอบสินค้าอาหารคุณภาพมาตรฐานสูง สร้างความมั่นคงด้านอาหารให้คนไทย 

เอกชนญี่ปุ่น สนลงทุน BCG ใน ‘อีอีซี’ หนุนพัฒนา ‘เมืองน่าอยู่-พลังงานสะอาด’

(31 ม.ค. 67) ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยว่า ได้นำคณะจากอีอีซี เยือนเมืองนาโกย่า และเมืองโอชาก้า ประเทศญี่ปุ่น ช่วงปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ ดร.สุวิทย์ ธนณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร. นลินี กาญจนามัย รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อชักจูงภาคเอกชนชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ร่วมลงทุนโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG ด้านการพัฒนาพลังงานสะอาด โดยเฉพาะไฮโดรเจนที่เป็นพลังงานใหม่แห่งอนาคตภาคขนส่ง ซึ่งจะเป็นการลงทุนสำคัญเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขับเคลื่อนให้พื้นที่อีอีซี และประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ได้พบกับ Mr. Yasuhiko Yamazaki, Executive Vice President และผู้บริหารระดับสูงจาก บริษัท DENSO Corporation ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระดับโลก และได้พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดต่อเนื่อง โดยหารือถึงโอกาสการขยายลงทุนจากบริษัทฯ ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีไฮโดรเจนเพื่อรองรับการใช้พลังงานสะอาด และอีอีซี ได้นำเสนอถึงความก้าวหน้าของอีอีซี สิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องเพื่อจูงใจการลงทุนดังกล่าวมายังประเทศไทย รวมทั้งเข้าพบผู้บริหาร บริษัท Toyota Motor Corporation เพื่อศึกษาแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รูปแบบแบตเตอรี่ ไฮบริด และไฮโดรเจน ณ พิพิธภัณฑ์ Toyota Kaikan Museum พร้อมเยี่ยมชมสถานีเติมไฮโดรเจน ที่ Toyota Eco ful Town ซึ่งเป็นเมืองต้นแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่นำไฮโดรเจนมาใช้เป็นรูปธรรม พร้อมทั้งได้หารือถึงแนวทางการขยายผลนำไฮโดรเจนมาใช้ประโยชน์ภาคขนส่งในพื้นที่อีอีซี 

นอกจากนี้ ยังได้พบกับ Mr. Yoshihiro Miwa กงศุลใหญ่กิตติมศักดิ์ เมืองนาโกย่า และผู้บริหารระดับสูงบริษัท Kowa ซึ่งสนใจจะลงทุนผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น โดยได้หารือถึงการขยายลงทุนเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเพื่อผลิตไฮโดรเจน ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้การลงทุน BCG รวมทั้งคณะฯ ได้เข้าพบ Mr. Hideyuki Yokoyama นายกเทศมนตรีนครโอซากา โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม สร้างความร่วมมือระหว่างเมือง (City-to-City) รวมทั้งได้จัดงานสัมมนาเชิงธุรกิจ ร่วมกับเทศบาลนครโอซากา และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมโอซากา (OCCI) เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับความก้าวหน้าของการพัฒนาโครงการอีอีซี ตลอดจนสิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG ให้แก่กลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่น รวมทั้งคณะฯ ยังได้เข้าหารือกับ Mr. Junichi Ohmori, Executive Officer และคณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Daikin Industries ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศอันดับ 1 ของโลก เพื่อประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าของโครงการ สิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้อง พร้อมหารือถึงโอกาสการขยายการลงทุนของบริษัทฯ มายังพื้นที่อีอีซีต่อไป

ดร.จุฬา กล่าวเพิ่มเติมว่า การเยือนประเทศญี่ปุ่น ครั้งนี้ อีอีซี ยังได้ร่วมกับธนาคาร Mizuho Bank จัดงานประชุมสัมมนารับฟังความเห็นของนักลงทุน (Market Sounding) สำหรับโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ณ อาคาร Mizuho Bank Marunouchi Head Office กรุงโตเกียว โดยเป็นการพบปะนักลงทุนต่างประเทศเป็นครั้งแรก หลังจากโครงการฯ ได้รับความเห็นชอบการจัดตั้งเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงเป้าหมายการเป็นเมืองธุรกิจคู่กรุงเทพฯ (EEC Capital City) และเมืองน่าอยู่ระดับสากล รวมถึงการให้ข้อมูลกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในพื้นที่โครงการฯ โดยมีกลุ่มหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนของประเทศญี่ปุ่น ทั้งกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ระบบสาธารณูปโภค ธุรกิจการเงิน และเทคโนโลยี ให้ความสนใจ อาทิ Ministry of Land, Infrastructure, Transportation and Tourism (MLIT), Urban Renaissance Agency (UR), บริษัท Tokyo Electric Power Company (TEPCO) ผู้ให้บริการพลังงานไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น, Tokyo Corporation และบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้าร่วม รวมทั้งสิ้น 39 หน่วยงาน 

สำหรับ ภาพรวมการลงทุนของนักลงทุนประเทศญี่ปุ่น ในช่วงปี 2561 – พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจในการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สูงสุดเป็นอันดับที่ 1 โดยมีมูลค่าที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มูลค่า 183,702 ล้านบาท 

ทั้งนี้ อีอีซี ได้กำหนดเป้าหมายในระยะเวลา 3 ปี (ปี 2567 - 2569) ให้เกิดมูลค่าการลงทุนจริง ในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประมาณ 4 แสนล้านบาท 

'รมว.ปุ้ย' สั่งการ 'ดีพร้อม' เดินหน้าผนึกกำลัง 'โตโยต้า' ดึงระบบ 'ไคเซ็น' ช่วย 'ต่อยอด-เสริมแกร่ง' ธุรกิจชุมชน

(30 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ 'ดีพร้อม' เดินหน้าผนึกกำลังความร่วมมือ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ต่อยอดการพัฒนาและยกระดับการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ธุรกิจชุมชนครอบคลุมทุกมิติในรูปแบบ Big Brother 'พี่ช่วยน้อง' ผ่านโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ พร้อมดึงระบบการผลิตแบบโตโยต้าและโตโยต้าคาราคุริไคเซ็นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของธุรกิจชุมชน หวังลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างรายได้ให้ธุรกิจชุมชนอย่างยั่งยืน และต่อยอดธุรกิจชุมชนสู่เกษตรอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คาดว่าสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท

รมว.พิมพ์ภัทรา เผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน เพราะหากฐานรากแข็งแกร่งก็จะสามารถผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ประกอบกับปัจจุบันโลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมก็เปลี่ยน มีกติกาใหม่ที่เข้ามาบังคับ กีดกัน ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญสำหรับยุคอุตสาหกรรมในตอนนี้ และส่วนที่ควรให้ความสำคัญ คือ...

เศรษฐกิจฐานราก หรือ ชุมชน โดยเทรนด์การอุปโภคบริโภคของคนเปลี่ยน การปรับตัวให้อยู่รอดในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ (S-Curve) เข้ามาช่วยพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจชุมชนให้สามารถเติบโตและมีขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและยกระดับอาชีพชุมชนสู่การผลิตที่มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น อันจะทำให้ชุมชนเปลี่ยนไปสู่ภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งในอนาคต 

โดย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากมาโดยตลอด จึงสั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เดินหน้าผนึกกำลังความร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง

ด้าน นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ดีพร้อม และบริษัท โตโยต้าฯ ในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบาย RESHAPE THE FUTURE: โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการสามารถปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงมีศักยภาพในการแสวงหาโอกาสและผลประโยชน์จากความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ด้วยการมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการขยายเครือข่ายความร่วมมือ หรือ DIPROM Connection ด้วยการบูรณาการกับองค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ 

นอกจากนี้ ยังสร้างเครือข่ายในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ผ่านการเชื่อมโยงกับ Big Brother ตลอดจนการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรม อันจะเป็นการเพิ่มการเข้าถึงโอกาสของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยผ่านโครงการ/กิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมพัฒนาสถานประกอบการด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติ ผ่านกลไกความร่วมมือต่าง ๆ การพัฒนาและส่งเสริมให้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต้นทุนต่ำ หรือ Low Cost Technology ในสถานประกอบการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและลดต้นทุนด้านต่างๆ 

รวมถึงการถ่ายทอดความรู้เชิงขั้นตอนให้กับผู้ประกอบการชุมชนผ่านกิจกรรมโตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการชุมชน อาทิ ทักษะการบริหารจัดการ การตลาด การเงิน การบัญชี การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ระบบโลจิสติกส์ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การผลิตผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน ตลอดจนส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเข้าถึงองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตต่างๆ ที่จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดปัญหาการผลิตต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ด้าน นายนันทวัฒน์ ศรีวรัตน์อัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จํากัด กล่าวว่า บริษัท โตโยต้าฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ขยายผลต่อยอดความร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยทางโตโยต้าเองได้ดำเนินโครงการ 'โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์' มากว่า 10 ปีแล้ว และได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือธุรกิจชุมชนในลักษณะของการเป็น 'พี่เลี้ยงทางธุรกิจ' ด้วยการร่วมศึกษาถึงปัญหาต่างๆ พร้อมนำองค์ความรู้และปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของโตโยต้า ได้แก่ วิถีโตโยต้า ระบบการผลิตแบบโตโยต้า และหลักการ ไคเซ็น (Kaizen) เข้าไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของธุรกิจชุมชนต่างๆ สามารถลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างผลกำไรจนเป็นผลสำเร็จทั้งสิ้น 32 ธุรกิจทั่วประเทศ พร้อมทั้งได้มีการเปิด 'ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์' 6 แห่งครอบคลุมพื้นที่ครบทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 

นอกจากนี้ โตโยต้าฯ ยังได้มีการขยายผลเพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจ โดยมีความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนใน 'โครงการ Big Brother พี่ช่วยน้อง' ซึ่งความร่วมมือกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือในรูปแบบการดำเนินงานผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมในจังหวัดกรุงเทพฯ, นครราชสีมา, ชลบุรี รวมถึงโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง 

โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการต่อยอดการยกระดับในการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อช่วยปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจชุมชนไทยให้ครอบคลุมในทุกมิติของการดำเนินงานอย่างครบวงจรควบคู่ไปกับการส่งเสริมแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนผ่านองค์ความรู้ด้านการผลิตที่เป็นจุดเด่นของโตโยต้า อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาศักยภาพการขับเคลื่อนธุรกิจของตนเองได้อย่างครบวงจร เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของภาครัฐสู่อุตสาหกรรม 4.0 และช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในกลไกสำคัญการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและสร้างเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจของประเทศต่อไป

"การลงนามความร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้าฯ ในครั้งนี้ ดีพร้อมเชื่อมั่นว่า ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนจะสามารถนำองค์ความรู้ ทักษะการประกอบการในทุกๆ มิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่ได้รับไปประยุกต์ปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจในแต่ละพื้นที่ของชุมชน โดยการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม เช่น ระบบลำเลียงกล้วย เครื่องทุ่นแรงลากอวน และเครื่องจักรในการเพิ่มมูลค่ามูลวัว เป็นต้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ด้วยการดึงอัตลักษณ์ชุมชนผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ บริการ และเชื่อมโยงไปสู่เชิงพาณิชย์ อันจะเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดและขยายไปสู่ตลาดสากล รวมถึงการพัฒนาและยกระดับธุรกิจชุมชนให้เชื่อมโยงไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในรูปแบบการท่องเที่ยวแบบชุมชน ส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้ให้ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตได้อย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,000 ล้านบาท" นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย

‘CPF’ ชูนวัตกรรม ‘โปรไบโอติกส์’ ในอาหารสัตว์ ส่งมอบ ‘หมู-ไก่-เป็ด-กุ้ง’ คุณภาพสู่ผู้บริโภค

เมื่อวานนี้ (29 ม.ค. 67) กระบวนการเลี้ยงที่ใช้นวัตกรรมโปรไบโอติกส์ (Probiotics) ผสมในอาหารสัตว์ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์เนื้อหมู ไก่ เป็ด กุ้ง ตอบโจทย์ดีต่อสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ล่าสุด พัฒนานวัตกรรมอาหารสำหรับจุลินทรีย์ในไบโอแก๊ส เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าในฟาร์มสุกร ช่วยบำบัดน้ำเสีย ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ดร.ไพรัตน์ ศรีชนะ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักวิชาการอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ใส่ใจและให้ความสำคัญกับกระบวนการเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตอาหารสัตว์ที่เรามุ่งมั่นวิจัยและพัฒนา นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ ภายใต้หลักคิดอาหารที่ส่งเสริมให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรงตามธรรมชาติ ส่งผลให้เนื้อสัตว์มีคุณภาพดี พร้อมส่งมอบสู่ผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามหลักสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ตอบโจทย์การผลิตอาหารปลอดภัยและยั่งยืน

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับหลักโภชนาการแม่นยำ ด้วยการพัฒนาสูตรอาหารสัตว์ที่ตรงกับความต้องการของสัตว์ในแต่ละช่วงวัย ควบคู่กับกระบวนการเลี้ยงตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) เลี้ยงในโรงเรือนระบบปิดที่มีการป้องกันโรค ทำให้สัตว์มีความเป็นอยู่สุขสบายในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จึงทำให้สัตว์ไม่ป่วยและไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ส่งผลทำให้ได้เนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพดี ปลอดสารตกค้าง ลดการปลดปล่อยสารอาหารส่วนเกินสู่สิ่งแวดล้อม อาทิ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส เป็นต้น

นอกจากนั้น ซีพีเอฟ ได้คิดค้น วิจัยและพัฒนานวัตกรรมโปรไบโอติกส์ ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ชนิดดีที่ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์ ทำให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง สามารถต่อต้านเชื้อก่อโรคได้ดี โดยคัดเลือกจากฐานข้อมูลจุลินทรีย์ในห้องปฏิบัติการ จนได้โปรไบโอติกส์ที่ดีที่สุดเพียง 10 สายพันธุ์ ผสมในอาหารสัตว์ ทั้งหมู ไก่ เป็ด ได้เป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้ แบรนด์ CP อาทิ ผลิตภัณฑ์เนื้อหมู ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ ผลิตภัณฑ์เนื้อเป็ด และผลิตภัณฑ์กุ้ง CP Pacific ซึ่งผลิตภัณฑ์กุ้งมาจากกระบวนการเพาะเลี้ยงตามหลัก 3 สะอาด คือ ลูกกุ้งสะอาด น้ำสะอาด บ่อสะอาด ใส่ใจทุกขั้นตอน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กลุ่มผลิตภัณฑ์รักษ์โลก เน้นการเลี้ยงด้วยอาหารนวัตกรรมจากธรรมชาติ 100 % อาทิ หมูชีวา (Cheeva Pork) จากแบรนด์ U FARM เนื้อหมูที่อุดมด้วย โอเมก้า 3 มาจากการเลี้ยงสุกรด้วย Super Food เช่น Flax Seed น้ำมันปลา สาหร่ายทะเลลึก ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล ปลอดสาร  ปลอดภัย ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยง ได้รับการรับรองมาตรฐานโดย NSF สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต ช่วยลดไนโตรเจนในมูลสุกร 20-30 % ผลิตภัณฑ์ไก่เบญจา (Benja Chicken) มาจากการเลี้ยงไก่ด้วย ข้าวกล้อง Flax Seed ทำให้เนื้อไก่มีโอเมก้า 3 กลิ่นหอม เนื้อนุ่มและฉ่ำได้รับการรับรองมาตรฐานโดย NSF เช่นกัน  ผลิตภัณฑ์เป็ดจักรพรรดิ (Chakkraphat Duck) แบรนด์ U FARM มาจากเป็ดที่ถูกคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดี เลี้ยงด้วยอาหารจากธัญพืชที่อุดมด้วยโอเมก้า 3 ทำให้เป็ดเนื้อนุ่มฉ่ำกว่าเนื้อเป็ดทั่วไป  

นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังให้ความสำคัญสูงสุดในการส่งมอบเนื้อสัตว์คุณภาพ เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคแล้ว บริษัทฯ ยังตระหนักถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมโดยได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ในบ่อไบโอแก๊ส ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย เพิ่มผลผลิตแก๊สมีเทนเพิ่มความเข้มข้นแก๊สมีเทนสำหรับใช้ในการปั่นไฟฟ้า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และทำให้คุณภาพน้ำเสียจากการบำบัดดีขึ้น โดยในปี 2566 นำไปใช้ในฟาร์มสุกรแล้วรวม 70 แห่ง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปั่นไฟ ลดค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้าในฟาร์ม และในอนาคตวางแผนวิจัยและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อนำไปใช้ในฟาร์มของซีพีเอฟและฟาร์มภายนอก

‘มล.ชโยทิต’ ชี้!! ก.พ.67 ‘อัตราภาษีสีเขียว’ ใกล้คลอด เสริมนิเวศการลงทุนไทยยั่งยืน ที่ตอบโจทย์ทุนยุโรป

(29 ม.ค.67) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เป็นอีกกำลังหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยข้อมูลสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า การลงทุนโดยตรงสุทธิจากสหภาพยุโรป (EU) ในไทยในปี 2565 มีมูลค่า 49,220.33 ล้านบาท และประเทศที่ลงทุนเป็นอันดับ 2 จาก EU คือ เยอรมนี มูลค่า 15,530.07 ล้านบาท

ทั้งนี้ ศักยภาพการลงทุนจากเยอรมนี ยังสามารถขยายความสัมพันธ์ทางการค้าให้มากขึ้นไปอีก แต่ในอนาคตเงื่อนไขทางการค้าของนักลงทุนจากยุโรปไม่ใช่แค่ ‘กำไร-ขาดทุน’ แต่คือโจทย์ด้านความยั่งยืน

ฉะนั้นในโอกาสที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือเต็มคณะ ร่วมกับ นายฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นาย Michael Kellner รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) และคณะผู้แทนภาคเอกชนเยอรมนีเมื่อเร็วๆ นี้ จึงมีสาระสำคัญในประเด็นดังกล่าวอยู่อย่างชัดเจน

โดย มล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ได้เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ผลการหารือเป็นไปได้ด้วยดี สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันดีและใกล้ชิดระหว่างภาคธุรกิจไทยเยอรมนี ที่ได้เน้นย้ำถึงกระบวนทัศน์ทางเศรษฐกิจใหม่ของไทยในประเด็นต่างๆ ได้แก่... 

1. การทำให้ประเทศไทยเป็นทางเลือกสำคัญในการลงทุนในฐานะแหล่งผลิตและภาคอุตสาหกรรมที่มีพลังงานสะอาด

2. การนำเสนอด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไทยมีฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ซึ่งเชื่อมั่นว่าการมีส่วนร่วมของบริษัทรถยนต์เยอรมนี จะสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ภาคการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้ในประเทศไทย

3. การพัฒนาดิจิทัล ไทยมีเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค มีการปรับปรุง พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่รองรับทั้งการใช้งานส่วนบุคคลและการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม

4. การส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ซึ่งหารือร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะบริษัทด้านการผลิตไมโครชิปและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตสำหรับอุตสาหกรรม EV

5. การสนับสนุนความยั่งยืน ไทยมีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยภายในเดือน ก.พ. 2567 นี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการสร้างอัตราภาษีสีเขียว (Green Tariff) แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมให้การดูแล ติดตามทุกบริษัทที่ลงทุนในไทย รวมไปถึงการสร้างพลังงานหมุนเวียน เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์จากเขื่อนกักเก็บน้ำ 7 แห่งในไทย ซึ่งทางบริษัทเยอรมันหลายแห่ง ให้ความสนใจด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเห็นพ้องที่จะส่วนร่วมในแง่ของการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนในไทยต่อไป

6. ด้านการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เน้นย้ำการเจรจาร่วมกับสหภาพยุโรป ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับพลังงานสีเขียว เพื่อการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ลดคาร์บอนอื่นๆ โดยข้อหารือทั้งหมดจะมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสองประเทศ

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ EU และของฝ่ายไทยครั้งที่ 15 (15th Senior Officials' Meeting) เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของประเทศ สมาชิก EU เห็นควรให้ EU เริ่มต้นการเจรจา FTA กับประเทศไทยอีกครั้ง พร้อมทั้งแสดงเจตจำนงยกระดับความร่วมมือทวิภาคี กับฝ่ายไทย ในการนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ EU จะนำประเด็นเรื่องการปล่อยคาร์บอนมาเป็นเงื่อนไข อย่างหนึ่งในการเจรจาด้วย

ด้านประธานาธิบดีเยอรมนี กล่าวว่า เชื่อมั่นในการร่วมกันพัฒนาอนาคตที่สดใสร่วมกัน รวมถึงชื่นชมการมีเสถียรภาพทางการเมืองของไทย ซึ่งสะท้อนว่า ไทยพร้อมเปิดกว้างสำหรับการทำธุรกิจ โดยเยอรมนีพร้อมที่จะยกระดับทางการค้าการลงทุนร่วมกัน

ขณะที่นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวว่า รัฐบาลจะส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมมี Roadmap ที่ชัดเจนมากที่สุดในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

สำหรับผู้แทนเอกชนเยอรมนีมาจาก 12 บริษัท ใน 5 สาขา ได้แก่ 1.สาขานิทรรศการงานแสดงสินค้านานาชาติ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ 3.พลังงานหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม 4.บริการ ดิจิทัลและการศึกษา และ 5.วัสดุก่อสร้าง การก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน

ในเดือน มี.ค. นี้ นายกรัฐมนตรีไทยมีกำหนดเดินทางเยือนเยอรมนี ซึ่งเป็นช่วงที่นิเวศด้านความยั่งยืนของไทยโดยเฉพาะด้านภาษีสีเขียวน่าจะแล้วเสร็จ ก็น่าจะเป็นอีกผลงานอวดโลกได้ว่า ไทยพร้อมตอบโจทย์เงื่อนไขการลงทุนที่มีความยั่งยืนเป็นหลักการสำคัญ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top