Tuesday, 22 April 2025
SDGS

‘FWD’ ปรับทิศธุรกิจ มุ่ง ESG ควบคู่การดำเนินกิจการ ชู!! ‘พัฒนาเด็ก-ชุมชน-สร้างงาน-ให้ทุนประกัน’ ไม่แผ่ว

(20 ต.ค. 66) นายเดวิด โครูนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เผยถึงวิสัยทัศน์ด้าน ESG ต่อจากนี้ของกลุ่ม FWD ประกันชีวิต โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่จะเกิดแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชน ผ่าน 6 ด้าน ได้แก่ Governance and risk management (การกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยง), Trust (การสร้างความเชื่อมั่น), Talent (ความสามารถ), Closing the protection gap (ปิดช่องว่างเรื่องหลักประกัน), Sustainable investment (การลงทุนที่ยั่งยืน) และ Climate change resilience (ความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)

“แม้ว่าเรามีงานที่ต้องทำในแต่ละด้านอีกมาก แต่เรามุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจว่าการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมากของเราจะประสบความสำเร็จและยั่งยืน ซึ่งกลยุทธ์ ESG ของเราสอดคล้องกับ Sustainable Development Goals : SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยครอบคลุมทั้ง 7 ประการที่เราสามารถช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ SDG 3 (สุขภาพที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดี), SDG 4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ), SDG 8 (การทำงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ), SDG 9 (อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน), SDG 10 (ความไม่เท่าเทียมกันที่ลดลง), SDG 11 (เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน) และ SDG 13 (การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ)”

นายเดวิด กล่าวอีกว่า “FWD ต้องการสร้างความเท่าเทียมกันสำหรับทุกคนในสังคม เพื่อให้ทุกคนใช้ชีวิตเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวล ด้วยการทำงานทางด้าน ESG ของเรา ยิ่งเฉพาะการควบคุมความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชนผ่านความรู้ความเข้าใจทางการเงิน พร้อมกับเสริมทักษะชีวิตระดับพื้นฐานผ่านโครงการระดับภูมิภาค JA SparktheDream ที่มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความรู้ให้กับเด็กนักเรียน 25,000 คน ในฮ่องกง, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ ภายในปี 2567”

สำหรับประเทศไทย FWD เพิ่งเปิดตัวโปรแกรม JA SparktheDream ด้วยความร่วมมือกับมูลนิธิ Junior Achievement Thailand เป้าหมายหลักคือ การให้ความรู้ทางการเงินแก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพื่อให้มีความรู้พอๆ กับนักเรียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 1,000 คน ในช่วงภาคเรียนแรกของปีการศึกษา 2566 

ทั้งนี้ จากวิสัยทัศน์ที่จะสร้างความเท่าเทียมกันให้กับสังคมในวงกว้าง รวมถึงการสร้างโมเดลต้นแบบในการพัฒนาชุมชน ทาง FWD ประกันชีวิต จึงมีกระบวนการคัดเลือกพื้นที่ พร้อมเตรียมแผนการพัฒนาชุมชน โดยลงพื้นที่สํารวจและทำงานร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) คัดเลือกชุมชนลาหู่ ในดอยปู่หมื่น จังหวัดเชียงใหม่ ให้เข้าร่วมโครงการพัฒนาชุมชน

โดยปี 2566 นับเป็นปีที่ 3 ที่ต่อยอด 3 โครงการหลักให้กับชุมชนลาหู่ ในดอยปู่หมื่น ได้แก่ โครงการธนาคารต้นกล้า ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการบริหารจัดการต้นกล้าชาและการทำงาน ร่วมกันในชุมชน, โครงการพัฒนาคุณภาพชา เพิ่มคุณภาพของผลผลิตตามหลักเกษตรอินทรีย์โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และโครงการเพิ่มมูลค่าชาอัสสัม สร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับชาอัสสัมให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สร้างรายได้ที่มั่นคงจากอาชีพหลักของชุมชน

นอกจากนั้น การทำงานครั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือจากศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดเชียงใหม่

ปัจจุบันมีชุมชนที่ให้การตอบรับเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการมากถึง 33 ครัวเรือน และมีผลผลิตใบชาในปริมาณที่เพิ่มมากกว่า 50% ถือเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาชุมชนอื่นเพิ่มเติม หวังสร้างความเท่าเทียมทางสังคม และความเป็นอยู่อย่างยั่งยืน

นายเดวิด กล่าวอีกด้วยว่า เพื่อให้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของ FWD ประกันชีวิต ในการลดความไม่เท่าเทียมกันและส่งเสริมโอกาสทางรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเด็กด้อยโอกาส บริษัทจึงร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ ‘Pimali Hospitality Training Center’ ศูนย์ฝึกวิชาชีพการโรงแรมและงานบริการให้เด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาส จังหวัดหนองคาย ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

“เรามอบความคุ้มครองการประกันสุขภาพที่สำคัญให้กับนักเรียน และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน นอกจากนี้ เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 10 ปีของ FWD ประกันชีวิต เราจึงมอบทุนการศึกษา 10 ทุน ให้กับเด็กๆ ในความดูแลของมูลนิธินี้ เพราะเล็งเห็นว่าศูนย์แห่งนี้มีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กด้อยโอกาสจากทั่วประเทศด้วยทักษะที่จำเป็นใน 3 ส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมการบริการ ได้แก่ แผนกห้องพัก (การดูแลทำความสะอาด), แผนกบริการส่วนหน้า และแผนกครัว โดยโปรแกรมการฝึกอบรมที่ครอบคลุมมีระยะเวลาตั้งแต่ 6 ถึง 12 เดือน เพื่อช่วยให้เด็กๆ ได้ประสบการณ์การเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติจริงในสถานที่จริง การเตรียมความพร้อมนี้ทำให้พวกเขามีความรู้ และความสามารถที่จำเป็นในการเปลี่ยนผ่านสู่การทำงานอย่างราบรื่น”

สำหรับกลุ่มบริษัทเอฟดับบลิวดี (FWD Group) ดำเนินธุรกิจประกันชีวิตในภูมิภาคเอเชียที่มีลูกค้ามากกว่า 11 ล้านคนใน 10 ประเทศทั่วภูมิภาค รวมถึงประเทศไทยในชื่อบริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) โดยก่อตั้งในไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2556 จนถึงขณะนี้ ครบรอบ 10 ปี มีเป้าหมายต่อจากนี้ที่จะมุ่งเน้นการทำธุรกิจเพื่อหวังผลกำไร ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ ESG และการดูแลพนักงานอย่างต่อเนื่อง

‘อนุทิน’ ชู!! ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ สู่เมืองคาร์บอนต่ำ ปั้นอุตฯ ไร้มลพิษ ปูทางเมือง ศก.เทียบชั้น ‘บุรีรัมย์’

‘มท.1’ ประชุมหารือร่วมสมาคมอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทย-ผู้ว่าฯ สระบุรี ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการจังหวัดต้นแบบ ‘PPP - สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ’ ย้ำ!! สิ่งแวดล้อมเป็นวาระสำคัญระดับชาติ พร้อมสนับสนุนสระบุรีเป็นจังหวัดอุตสาหกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

(19 ต.ค. 66) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการประชุมเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย ที่ทุกคนให้ความสำคัญ ผ่านการขับเคลื่อนโครงการจังหวัดต้นแบบ ‘PPP - สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ’ 

นายอนุทิน เผยว่า “ทุกฝ่ายต่างรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมพบปะหารือร่วมกันกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทย ในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมตามที่ได้ประกาศในเวทีสหประชาชาติ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ในปัจจุบันนับว่าเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนให้ความสำคัญ และตระหนัก พร้อมจะสนับสนุนอย่างเต็มที่” 

นายอนุทิน กล่าวอีกด้วยว่า การขับเคลื่อนโครงการจังหวัดต้นแบบ ‘PPP - สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ’ จะทำให้จังหวัดสระบุรี มีการพัฒนา และยกระดับก้าวไปสู่จังหวัดเศรษฐกิจอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ในลักษณะเดียวกับจังหวัดบุรีรัมย์ ที่จากเคยเป็นเมืองที่ไม่มีอะไร (Hopeless) จนกลายมาเป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจ และเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศไทย และภูมิภาคแห่งนี้

“การเริ่มโครงการจังหวัดต้นแบบที่จังหวัดสระบุรี สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะต้องร่วมทำด้วยกัน ไม่ใช่การทำเพียงเจ้าใดเจ้าหนึ่ง เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดมาจากอุตสาหกรรมในภาพรวม จึงเป็นสิ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้ โดยต้องหาแนวทางอำนวยความสะดวกต่างๆ และลดความซ้ำซ้อนอุปสรรค (Red tape) ให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ตลอดจนต้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจให้ชาวบ้าน ให้ทุกคนในพื้นที่รับรู้รับทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากพัฒนาเมืองให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นบ้านเมืองที่เป็น Smart City ด้วยแนวคิด ‘ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที’” รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย กล่าว

ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวเน้นย้ำว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยมีนโยบายสำคัญคือ การจัดการขยะที่ยั่งยืน การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดการสิ่งปฏิกูลในแม่น้ำลำคลอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐของทุกจังหวัดนำปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ (Hydraulic Cement) ตามมาตรฐาน และคุณลักษณะ ใช้ในโครงสร้างอาคาร ที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

โดยการดำเนินการขับเคลื่อนในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมในจังหวัดนำร่องนั้น ทุกจังหวัดสามารถดำเนินการได้ทันทีตามกรอบแนวทางของแต่ละจังหวัดที่ได้กำหนดไว้แล้ว เพียงแต่อาจมีชื่อโครงการไม่เหมือนกัน เพราะในความเป็นจริงทุกจังหวัดต่างให้ความสำคัญ และขับเคลื่อนภารกิจโดยมีเป้าประสงค์เดียวกันคือ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใต้แนวทางการเป็นหมู่บ้านยั่งยืน และจังหวัด/อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ร่วมกับทุกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ 

ดังนั้น เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การติดตามความคืบหน้าการดำเนินการ รวมถึงการร่วมส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ (Hydraulic Cement) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ควบคู่กับการเก็บข้อมูล เพื่อเปรียบเทียบคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิต รวมถึงการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว นอกจากนี้การมีระบบบำบัดน้ำเสียในอาคารบ้านเรือนที่สร้างใหม่ทุกหลังเป็นส่วนสำคัญเช่นกัน เพื่อช่วยลดโลกร้อน ตลอดจนถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ Eco Tour เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top