Monday, 19 May 2025
รัสเซีย

‘สีจิ้นผิง-ปูติน’ ลงนามแถลงการณ์ร่วม ยกระดับพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ ประกาศต้านนโยบาย ‘ปิดกั้นสองชั้น’ ของสหรัฐฯ ที่บ่อนทำลายเสถียรภาพโลก

(9 พ.ค. 68) จีนและรัสเซียประกาศยกระดับการประสานงานและความร่วมมือ เพื่อตอบโต้นโยบาย 'ปิดกั้นสองชั้น' (Double Containment) ที่สหรัฐฯ กำลังดำเนินการอย่างเข้มข้น โดยชี้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความพยายามของวอชิงตันในการจำกัดอิทธิพลของทั้งจีนและรัสเซียในเวทีระหว่างประเทศ พร้อมแสดงจุดยืนคัดค้านการยุยงให้ประเทศอื่นมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย

สำหรับการ 'ปิดกั้นสองชั้น' หมายถึงแนวนโยบายที่สหรัฐฯ และพันธมิตรใช้ควบคุมจีนและรัสเซียไปพร้อมกัน ผ่านมาตรการทางการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และการทูต เช่น การคว่ำบาตร, การจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยี, การขยายอิทธิพลนาโต้ในเอเชีย-แปซิฟิก และการสนับสนุนกลุ่มประเทศให้แยกตัวจากจีน-รัสเซีย ทั้งสองประเทศมองว่านี่คือความพยายาม 'ตีวงล้อม' ที่บ่อนทำลายเสถียรภาพโลก

ทั้งนี้ แถลงการณ์ร่วมที่ลงนามโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และวลาดิเมียร์ ปูติน ระบุว่า จีนและรัสเซียจะร่วมกันต่อต้านการติดตั้งระบบอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การขยายนาโต้ไปทางตะวันออก และการสร้าง 'วงขนาดเล็ก' เพื่อจำกัดอิทธิพลของชาติอื่น พร้อมยืนยันว่า ความร่วมมือของทั้งสองประเทศเป็นปัจจัยสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพในระดับโลก

‘จีน-รัสเซีย’ จับมือหนุนสหประชาชาติ (UN) เป็นแกนกลางกำกับ AI หวังต้านอิทธิพลบางประเทศ…ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือแบ่งขั้วอำนาจโลก

(9 พ.ค. 68) จีนและรัสเซียร่วมแสดงจุดยืนสนับสนุนให้องค์การสหประชาชาติ (UN) รับบทบาทหลักในการกำกับดูแลเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยเน้นว่ากระบวนการดังกล่าวต้องดำเนินไปอย่างเคารพอธิปไตยของแต่ละประเทศ ยึดถือกฎหมายภายใน และยืนอยู่บนพื้นฐานของกฎบัตรสหประชาชาติ เพื่อส่งเสริมการใช้ AI อย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมในระดับสากล

สองชาติมหาอำนาจระบุว่า AI ควรเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ไม่ใช่อาวุธเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศใด พร้อมคัดค้านการผูกขาดความรู้ การจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยี หรือการสร้าง 'กำแพงเทคโนโลยี' ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในเวทีโลก และทำลายโอกาสของประเทศกำลังพัฒนา

จีนและรัสเซียยังคัดค้านการทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือแนวทางที่นำไปสู่การตัดขาดห่วงโซ่อุปทานระดับโลก พร้อมประกาศสนับสนุนซึ่งกันและกันในการจัดการประชุมสำคัญด้าน AI เช่น การประชุม AI โลก ปี 2025 และเวทีระดับสูงว่าด้วยการกำกับดูแล AI เพื่อส่งเสริมการสร้างมาตรฐานที่ทุกประเทศมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

รัสเซียยังชื่นชมจีนที่ผลักดันมติ “ส่งเสริมความร่วมมือด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถ AI” ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์จากสมัชชาใหญ่ UN และพร้อมเปิดรับข้อเสนอของจีนเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการ AI เพื่อทุกคน โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือผ่านเวทีระหว่างประเทศ อาทิ กลุ่ม BRICS และพันธมิตรความร่วมมือ AI พหุภาคี เพื่อผลักดันวิสัยทัศน์ AI ที่ยั่งยืน ยุติธรรม และเป็นสากล

80 ปี วันแห่งชัยชนะ!! ‘ปูติน’ ซูฮก..บทบาทนานาชาติในโอกาสรำลึกชัยชนะเหนือนาซี ชวนชาวรัสเซียยึด ‘ทหารผ่านศึก’ เป็นแรงบันดาลใจ

(9 พ.ค. 68) ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปีแห่งชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ณ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย โดยย้ำถึงความสามัคคีของชาวรัสเซียที่ยึดมั่นในเกียรติและความเสียสละของคนรุ่นก่อน ซึ่งสามารถเอาชนะนาซีและนำอิสรภาพมาสู่มวลมนุษยชาติ พร้อมยกให้ 'วันแห่งชัยชนะ' เป็นวันหยุดที่สำคัญที่สุดของประเทศ

ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า รัสเซียจะยังคงเป็น 'กำแพงที่ไม่สามารถทำลายได้' ต่อลัทธิฟาสซิสต์ และยืนหยัดต่อสู้กับความโหดร้ายทุกรูปแบบ พร้อมสนับสนุนและภาคภูมิใจในผู้เข้าร่วมหน่วย 'ปฏิบัติการพิเศษ' ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณแห่งการเสียสละเพื่อบ้านเกิดเมืองนอน

ทั้งนี้ ปูตินเน้นว่าชัยชนะเหนือลัทธิฟาสซิสต์เป็นผลจากความร่วมมือของนานาชาติ และรัสเซียซาบซึ้งในบทบาทของพันธมิตรอย่างยิ่ง เขาเรียกร้องให้ชาวรัสเซียยึดถือทหารผ่านศึกเป็นแบบอย่างแห่งความกล้าหาญ และความมุ่งมั่นในการปกป้องชาติอย่างไม่มีวันยอมแพ้

ปูติน-สี จิ้นผิง ร่วมสวนสนาม ประกบอดีตทหารผ่านศึกสงครามโลก วัย 99 และ 101 ปี

(10 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Ethan Hunts’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

ผู้อาวุโส 2 ท่านที่นั่งชมสวนสนาม ประกบผู้นำจีน และรัสเซีย คือ แขกพิเศษของ ปธน.ปูติน นั่งติดกับ ปธน.จีน คืออิวาน มาตินุชกิน วัย 101 ปี อดีตทหารโซเวียตในสมรภูมิยูเครน เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง

ที่นั่งติดกับ ปธน.รัสเซีย คือนายเยฟเกนี่ ซนาเมนสกี้ วัย 99 ปี จากเบลารุสที่บุกเบอร์ลิน ในปี 1945

‘รัสเซีย’ อาวุธยุทโธปกรณ์หมด พ่ายศึก!! ‘ยูเครน’ คำพยากรณ์ที่ไม่อาจเป็นจริงของ ‘นายพลเสื้อส้ม’

เมื่อวานนี้ (9 พ.ค. 68) สหพันธรัฐรัสเซียได้จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี วันแห่งชัยชนะเหนือนาซีเยอรมนีอย่างยิ่งใหญ่ ในคืนวันที่ 8 พฤษภาคม 1945 (เป็นเวลาหลังเที่ยงคืน จึงเป็นวันที่ 9 พฤษภาคม ตามเวลามอสโก) รัฐบาลโซเวียตได้ประกาศชัยชนะในเช้าวันที่ 9 พฤษภาคม 1945 หลังพิธีลงนามในการตกลงยอมจำนนของนาซีเยอรมนีต่อสหภาพโซเวียตในกรุงเบอร์ลินแล้ว รัฐบาลโซเวียตและรัสเซียในปัจจุบันได้จัดให้มีการจัดการสวนสนามทางทหารอย่างยิ่งใหญ่ ณ จัตุรัสแดงกลางเมืองในกรุงมอสโก เพื่อเป็นการแสดงแสนยานุภาพของกองทัพแดง และรำลึกถึงเหล่าทหารผ่านศึกของกองทัพแดงในสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย ซึ่งทำให้พลเมืองของสหภาพโซเวียตทั้งทหารและพลเรือนเสียชีวิตไปราว 20ล้านคน แม้ว่าสหภาพโซเวียตจะล่มสลายไปแล้วก็ตาม แต่สหพันธรัฐรัสเซียก็ยังคงยึดถือประเพณีปฏิบัติในการเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะเหนือนาซีเยอรมนีตามเดิมเป็นประจำทุกปีจวบจนทุกวันนี้

นับตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการพิเศษทางทหารของกองทัพรัสเซียต่อยูเครน หรือ 'สงครามรัสเซีย-ยูเครน' เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 หรือ 3 ปีมากแล้ว บรรดากองเชียร์ยูเครนหรือ 'ติ่งยูเครน' ต่างก็ปรามาสว่ากองทัพรัสเซียจะพบกับความพ่ายแพ้ในเวลาอันไม่ช้าอย่างแน่นอน ทั้งนี้เป็นเพราะกองทัพยูเครนได้รับการสนับสนุนทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ งบประมาณ และกำลังพล (ทหารรับจ้าง) จากชาติสมาชิก NATO ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่การสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมหาศาลแก่กองทัพยูเครนทำให้คลังอาวุธยุทโธปกรณ์สำรองของบรรดาประเทศยุโรปแทบหมดเกลี้ยงเลยทีเดียว ในขณะที่ 'ติ่งยูเครน' ทั้งไทยและเทศจำนวนมากต่างโพสต์บนโซเชียลด้วยความมั่นใจว่า “อาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียกำลังจะหมดลงในเวลาไม่นาน แล้วในที่สุดกองทัพรัสเซียจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้” หนึ่งในนั้นได้แก่ นายพลเสื้อส้มนายหนึ่งซึ่งได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้มาตลอด 3 ปี จนถึงวันนี้ที่ Volodymyr Zelenskyy ผู้นำยูเครนกำลังถูกประธานาธิบดี Trump กดดันให้เจรจาสงบศึกกับรัสเซียแล้ว

สหพันธรัฐรัสเซียเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในระดับ First Tier อันหมายถึงประเทศที่มีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่สมบูรณ์แบบและครบวงจร สามารถพัฒนาองค์ความรู้ต่อยอดได้ถึงระดับสูงสุดมายาวนานนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน เช่นเดียวกับ สหรัฐอเมริกา จีน และกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของสหพันธรัฐรัสเซียเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์และเป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานรายใหญ่ของประเทศใน โดยมีพนักงานในอุตสาหกรรมนี้ราว 3.8 ล้านคนทั่วประเทศ และคิดเป็น 20% ของงานการผลิตทั้งหมดในสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งในปี 2023 มีค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศทั้งหมดสูงถึง 7.5% ของ GDP 

ในปี 2014–18 รัสเซียครอง 21% ของยอดขายอาวุธทั่วโลก โดยตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือ 11% ในปี 2019–23 (ตามสถิติของ SIPRI) ในปี 2023 รัสเซียเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่เป็นอันดับสามเป็นครั้งแรก รองจากฝรั่งเศส การส่งออกอาวุธของรัสเซียลดลง 53% ระหว่างปี 2014–18 และ 2019–23 จำนวนประเทศที่ซื้ออาวุธหลักจากรัสเซียลดลงจาก 31 ประเทศในปี 2019 ในปี 2023 ลดลงเหลือ 12 ประเทศ ในปี 2019–23 อาวุธยุทโธปกรณ์ส่งออกของรัสเซียราว 68% จากทั้งหมดถูกส่งไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและโอเชียเนีย อินเดียเป็นผู้ซื้อราว 34% และจีนเป็นผู้ซื้อราว 21% 

การคว่ำบาตรระหว่างประเทศหลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี 2022 ไม่ได้ส่งผลในการต่อต้านการผลิตอาวุธของรัสเซีย การผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการผลิตขีปนาวุธในปัจจุบันมากกว่าระดับก่อนสงคราม ปัจจุบัน รัสเซียผลิตกระสุนมากกว่าประเทศสมาชิก NATO ทั้งหมดรวมกัน ซึ่งคาดว่ามากกว่าชาติตะวันตกถึง 7 เท่า รัสเซียเพิ่มการผลิตรถถังในแต่ละปีมากขึ้นเป็นสองเท่าและผลิตปืนใหญ่และจรวดเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าจากจำนวนก่อนสงคราม ต้นทุนการผลิตของรัสเซียต่ำกว่าของประเทศคู่แข่งอย่างมาก โดยมีต้นทุนในการผลิตกระสุนปืนใหญ่ต่ำกว่ากระสุนปืนใหญ่ของนาโต้ประมาณ 10 เท่า ในปี 2024 รัสเซียผลิตกระสุนปืนใหญ่ได้ประมาณปีละ 3 ล้านนัด ซึ่งมากเป็นเกือบสามเท่าของปริมาณที่ผลิตได้จากสหรัฐอเมริกาและยุโรป ตั้งแต่ปี 2023 อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของรัสเซียยังผลิตยานเกราะและโดรนเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก ซึ่ง Alexander Mikheev CEO ของ Rosoboronexport รัฐวิสาหกิจส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์เพียงรายเดียวของสหพันธรัฐรัสเซียได้กล่าวว่า “นอกจากรัสเซียจะจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ แล้ว ยังให้การสนับสนุนประเทศคู่ค้าให้มีขีดความสามารถในการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เองอีกด้วย”

การผลิตอาวุธที่ขยายตัวของรัสเซียมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ โดยมีการอุดหนุนจากรัฐบาลต่อผู้ผลิตอาวุธที่ไม่ทำกำไรอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศตะวันตกที่เป็นทุนนิยมซึ่งมีผู้ผลิตอาวุธที่มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มผลกำไรของผู้ถือหุ้นให้สูงสุด วันที่ 23 พฤศจิกายน 2024 Boris Pistorius รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของเยอรมนี กล่าวว่าขณะนี้รัสเซียได้เปลี่ยนมาใช้ 'เศรษฐกิจสงคราม' อย่างเต็มรูปแบบแล้ว และสามารถผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์และกระสุนได้เท่ากับที่สหภาพยุโรปผลิตได้ในหนึ่งปีภายในเวลาเพียงสามเดือน ในเดือนมกราคม 2025 Mark Rutte เลขาธิการองค์การ NATO ได้ประเมินเช่นเดียวกัน วันที่ 3 เมษายน 2025 พลเอก Christopher Cavoli ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ประจำยุโรปและผู้บัญชาการสูงสุดกองกำลังพันธมิตรในยุโรปได้กล่าวต่อคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภาสหรัฐฯ ว่า รัสเซียสามารถทดแทนการสูญเสียอุปกรณ์และอาวุธจำนวนมากในสนามรบด้วย 'อัตราที่ไม่เคยมีมาก่อน' อันเนื่องมาจากการขยายขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสงคราม ดังนั้น ความเป็นจริงที่ปรากฏจึงสร้างความผิดหวังให้กับ 'ติ่งยูเครน' เป็นอันมาก รวมทั้งการพยากรณ์ที่ไม่อาจเป็นจริงของนายพลเสื้อส้มที่ว่า “อาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียกำลังจะหมด แล้วกองทัพรัสเซียจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้” นั้น จึงไม่มีโอกาสที่จะเป็นไปได้เลย

‘คิม จองอึน’ ลั่น!! ‘โสมแดง’ ช่วยรัสเซีย รบยูเครน ชอบธรรมแล้ว ชี้!! เป็นการใช้สิทธิอธิปไตยช่วย ‘ประเทศพี่น้อง’ ของเกาหลีเหนือ

(10 พ.ค. 68) นายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ได้กล่าวว่า การที่เกาหลีเหนือเข้ามามีส่วนร่วมกับกองทัพรัสเซียในการทำสงครามกับยูเครนนั้นเป็นสิ่งที่ชอบธรรมแล้ว เพราะเป็นการใช้สิทธิอธิปไตยในการปกป้อง ‘ประเทศพี่น้อง’ ของเกาหลีเหนือ

ผู้นำคิมได้กล่าวไว้ว่า การที่เกาหลีเหนือมีส่วนร่วมในความขัดแย้งดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว และอยู่ภายใต้สิทธิอธิปไตยของเกาหลีเหนือ ทหารกล้าของเกาหลีเหนือทุกนายที่เข้าร่วมในปฏิบัติการในแคว้นคูร์สก์ของรัสเซียถือเป็นฮีโร่และเป็นตัวแทนสูงสุดของชาติเรา

ผู้นำคิมกล่าวอีกว่า ทางการเกาหลีเหนือไม่ลังเลที่จะใช้กองทัพ หากสหรัฐยังคงมีการยั่วยุทางทหารต่อรัสเซีย ทั้งนี้ เกาหลีเหนือเพิ่งออกมายอมรับในช่วงปลายเดือนเมษายน ว่าได้ส่งทหารมากกว่า 10,000 นาย และอาวุธไปยังรัสเซียเพื่อช่วยเหลือการทำสงครามกับยูเครน ท่ามกลางการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซีย ภายใต้สนธิสัญญาความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมที่ผู้นำคิมและประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้ลงนามไปเมื่อปี 2024

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย นางมาเรีย ซัคคาโรว่า แถลงเซเลนสกี้ พูดถึงเงื่อนไขการหยุดยิง 30 วัน โดยต้องเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม จึงจะคุยเรื่องการเจรจาสันติภาพ ว่ามันเข้าใจไขว้เขว

(12 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Ethan Hunts’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย นางมาเรีย ซัคคาโรว่า แถลงเซเลนสกี้ พูดถึงเงื่อนไขการหยุดยิง 30 วัน โดยต้องเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม จึงจะคุยเรื่องการเจรจาสันติภาพ ว่ามันเข้าใจไขว้เขว

เธอแถลงว่า ปธน.ปูติน ประกาศออกสาธารณะอย่างชัดเจน เรื่องนัดให้มาเจรจาสันติภาพวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ที่อิสตันบูล เพื่อถกรากเหง้าของความขัดแย้ง จนเป็นสงครามในปัจจุบันเสียก่อน ค่อยพูดถึงการตกลงหยุดยิง

ด้านเซเลนสกี้ทวีตในเอ็กซ์ ว่าจะไปรอคุยกับปูตินที่ตุรเกีย แต่ทางการตุรเกียแถลงว่ายังไม่ได้รับการติดต่อใดๆจากยูเครนเลย (สรุปมันยังใช้ลีลานักแสดงตลก แต่มุกไม่เวิร์ค)

บทวิเคราะห์พิธีสวนสนาม Victory Parade 2025 กับพลวัตด้านอาวุธของ ‘รัสเซีย’ สะท้อน!! การเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ ในการต่อสู้ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

(12 พ.ค. 68) พิธีสวนสนาม Victory Parade 2025 ที่จัดขึ้นในกรุงมอสโกเป็นเวทีที่สะท้อนภาพลักษณ์ทางการทูตและการทหารของรัสเซียหลังจากที่เผชิญกับสงครามยูเครนมาเกือบสองปี อาวุธและขีปนาวุธในขบวนของปีนี้มีจำนวนที่น้อยลงกว่าเดิม ทำให้หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามว่า “รัสเซียอาวุธหมดแล้วหรือ?” ท่าทีนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางทหารของรัสเซียแต่ยังสะท้อนยุทธศาสตร์การรับรู้ (perception management) ที่เครมลินอาจตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความกดดันจากภายนอกและภายในประเทศ

หนึ่งในสัญญาณที่เห็นได้ชัดในพิธีสวนสนาม Victory Parade 2025 คือการลดลงของการปรากฏตัวของอาวุธหนักที่เคยมีความโดดเด่นในขบวนสวนสนามปีที่ผ่านๆมา จากที่เคยเต็มไปด้วยรถถัง T-90, T-14 Armata, และขีปนาวุธ Iskander ปีนี้กลับถูกแทนที่ด้วยการเลือกไม่แสดงอาวุธหนักอย่างชัดเจน ซึ่งไม่เพียงแต่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ แต่ยังทำให้เกิดคำถามถึงสภาพจริงของอำนาจทางทหารของรัสเซียในปัจจุบัน ทรัพยากรทหารที่จำกัดได้กลายมาเป็นปัญหาหลักที่รัสเซียต้องเผชิญ สงครามในยูเครนทำให้การใช้กำลังรบที่มีอยู่ต้องถูกนำไปใช้ในแนวหน้าอย่างต่อเนื่องและไม่มีหยุดพักทำให้การนำอาวุธหนักที่อาจมีความสำคัญสูงออกมาจัดแสดงในพิธีสวนสนามไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมในช่วงเวลานี้
ในขณะเดียวกันแนวทางการสงวนพลัง (Resource Allocation) ก็เริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน รัสเซียไม่สามารถเสี่ยงส่งทรัพยากรทางทหารที่มีจำกัดออกมาให้เห็นเพียงเพื่อโชว์ในพิธีการ เมื่อการใช้ทรัพยากรเหล่านั้นในยุทธศาสตร์ “การยืดเยื้อ” และการต่อสู้ระยะยาวต้องได้รับการจัดลำดับความสำคัญใหม่ การแสดงอาวุธหนักที่น้อยลงในปีนี้จึงไม่ใช่แค่การขาดแคลนอาวุธ แต่สะท้อนถึงความตั้งใจที่จะแสดงให้เห็นถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่าและการวางแผนระยะยาวที่จะไม่สูญเสียทรัพยากรไปอย่างเปล่าประโยชน์

ดังนั้นการที่รัสเซียเลือกที่จะไม่แสดงขีปนาวุธรุ่นใหม่หรืออาวุธหนักในพิธีสวนสนาม Victory Parade 2025 จึงเป็นกลยุทธ์เชิงยุทธศาสตร์ที่ซับซ้อนที่รัสเซียเลือกใช้เพื่อควบคุมการรับรู้ (perception management) ทั้งในและนอกประเทศ รัสเซียเลือกใช้วิธีนี้เป็นเครื่องมือทางการทูตและการทหารที่มีความลึกซึ้งมากกว่าที่ตาเปล่าจะมองเห็นซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการส่งสัญญาณไปยังฝ่ายตะวันตกว่ารัสเซียไม่จำเป็นต้องโอ้อวดหรือแสดงออกทางทหารในขณะที่ยังคงมีความสามารถในการต่อสู้ โดยสามารถวิเคราะห์กลยุทธ์ดังกล่าวของรัสเซียได้ดังนี้

1) การจัดการภาพลักษณ์ระหว่างประเทศ 
การที่รัสเซียเลือกที่จะไม่แสดงอาวุธหนักใน Victory Parade 2025 เป็นการจัดการภาพลักษณ์ระหว่างประเทศที่แยบยล ในสถานการณ์ที่ถูกคว่ำบาตรหนักและเผชิญกับสงครามยืดเยื้อรัสเซียต้องการส่งสัญญาณว่าสามารถดำเนินสงครามได้โดยไม่ต้องโอ้อวดพลังทหาร การไม่แสดงขีปนาวุธหรือรถถังที่มีชื่อเสียงสะท้อนถึงการควบคุมการรับรู้ของคู่แข่งโดยเฉพาะประเทศตะวันตก ซึ่งทำให้พวกเขาต้องระมัดระวังเกี่ยวกับศักยภาพทางทหารที่ซ่อนเร้นของรัสเซีย การไม่แสดงพลังทหารยังเป็นการส่งสัญญาณไม่ต้องการยั่วยุซึ่งเป็นการเพิ่มความตึงเครียดในสงคราม และยังสะท้อนถึงการรักษาความสงบภายในประเทศโดยไม่ทำให้ประชาชนวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สงคราม ขณะเดียวกันรัสเซียยังสามารถสร้างภาพลักษณ์ของความสงบและความมั่นคงซึ่งช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือในการควบคุมสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การไม่แสดงอาวุธหนักในพิธีสวนสนามยังอาจสะท้อนถึงการส่งสัญญาณความพร้อมในการเจรจาโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามเข้าใจว่าการแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจายังคงเป็นทางเลือกที่เปิดกว้างซึ่งช่วยลดความตึงเครียดและเพิ่มโอกาสในการหาทางออกทางการทูต

2) สัญญาณเชิงยุทธศาสตร์ต่อฝ่ายตะวันตก 
ในด้านการทูตการเลือกที่จะ “เงียบ” ในการแสดงพลังทหา อาจเป็นกลยุทธ์การส่งสัญญาณไปยังฝ่ายตะวันตกและพันธมิตรว่า รัสเซีย ไม่จำเป็นต้องแสดงขีดความสามารถทหารในที่สาธารณะ เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกถึงความ “เบาบาง” หรือ “สงบ” ในสถานการณ์แม้ว่าภายในจริงๆ แล้วอาจมีการเตรียมพร้อมในรูปแบบอื่นๆ อย่างลับๆ หรือไม่แสดงออกให้เห็นโดยตรง

3) การสะท้อนอำนาจที่ไม่จำเป็นต้องถูกแสดงออก
รัสเซียอาจต้องการส่งข้อความไปยังประเทศที่ไม่เป็นมิตรว่า “เราไม่จำเป็นต้องแสดงอาวุธเพื่อแสดงพลัง” หรือแม้กระทั่งการใช้ "ความเงียบ" ในการแสดงให้เห็นว่า “เรายังคงมีกลยุทธ์และความสามารถที่แฝงตัวอยู่” การเลือกที่จะไม่แสดงออกอาจเป็นการทำให้โลกเห็นว่ารัสเซียไม่ต้องการการยั่วยุหรือไม่ต้องการให้ทุกฝ่ายเห็นความสามารถที่แท้จริงของตนในสนามรบ

4) การสร้างอารมณ์ในประเทศ
ในมุมมองภายในประเทศการที่รัสเซียไม่แสดงอาวุธหนักในพิธีสวนสนามอาจเป็นการส่งสัญญาณให้ประชาชนรับรู้ถึงความมั่นคงว่ารัสเซียไม่จำเป็นต้องแสดงอาวุธหนักเพื่อพิสูจน์ความแข็งแกร่งและการสงวนพลังนั้นเป็นการเตรียมพร้อมในระยะยาว แม้ในเวลาที่มีการท้าทายจากต่างประเทศการแสดงความมั่นใจโดยไม่ต้องแสดงพลังทหารสามารถทำให้ประชาชนรู้สึกถึงการควบคุมสถานการณ์และไม่จำเป็นต้องเกิดความวิตกกังวล

5) ความหมายของการสงวนพลังในระยะยาว
การเลือกที่จะ “เงียบ” และไม่แสดงอาวุธหนักในพิธีสวนสนามนั้นอาจสะท้อนถึงความคิดที่ว่ารัสเซียกำลังมองไปข้างหน้าในสงครามระยะยาวที่ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ความเข้มแข็งเพียงแค่ในวันนั้น ๆ แต่ต้องมีการจัดการทรัพยากรอย่างมีกลยุทธ์ เพื่อให้สามารถดำเนินการต่อไปในสนามรบในอีกหลายปีข้างหน้า ดังนั้น การแสดง “ความเงียบ” จึงเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการใช้พลังอย่างมีกลยุทธ์ในอนาคต

นักวิชาการรัสเซียมองว่าการไม่แสดงอาวุธหนักในพิธีสวนสนามเป็นการดำเนินกลยุทธ์ที่เชื่อมโยงกับการรักษาภาพลักษณ์ทางการทูตและการทหารในระดับโลก แม้รัสเซียจะเผชิญกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการทูตแต่การจัดแสดงอาวุธในระดับใหญ่จะไม่สอดคล้องกับเป้าหมายในยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงภายในและการคงสถานะของประเทศในเวทีการทูต เช่นเดียวกับการหลีกเลี่ยงการยั่วยุฝ่ายตะวันตก ในทัศนะของ ดร. เซอร์เกย์ คารากานอฟ (Sergey Karaganov) นักวิชาการด้านการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัสเซียมองว่าการที่รัสเซียไม่แสดงอาวุธหนักเป็นการบ่งบอกถึงความสามารถในการควบคุมสถานการณ์และไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามมองเห็นจุดอ่อนในพลังทหารของรัสเซีย ในขณะที่อเล็กซานเดอร์ ดูกิน (Alexander Dugin) ได้อธิบายถึงการใช้ความสงบในพิธีสวนสนามเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่รัสเซียสามารถควบคุมสถานการณ์และดำเนินการสงครามได้ในลักษณะที่ไม่ต้องแสดงพลังทหารอย่างโจ่งแจ้ง การที่รัสเซียไม่แสดงขีปนาวุธหรือรถถังที่มีชื่อเสียงในพิธีสวนสนามเป็นการส่งสัญญาณให้ฝ่ายตะวันตกว่า รัสเซียไม่ต้องการเปิดเผยความสามารถทางทหารทั้งหมด การเลือกใช้การสงวนพลัง (power preservation) ถือเป็นกลยุทธ์ที่รัสเซียใช้เพื่อไม่ให้คู่แข่งสามารถคาดเดาทิศทางของรัสเซียได้

สื่อมวลชนฝั่งรัสเซียเช่น RT และ Sputnik News ได้เสนอบทวิเคราะห์ที่สนับสนุนการตัดสินใจไม่แสดงอาวุธหนักใน Victory Parade 2025 โดยให้เหตุผลว่าการแสดงออกเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางการทูตที่มุ่งเน้นการลดความตึงเครียดระหว่างประเทศ และส่งสัญญาณว่าแม้รัสเซียจะเผชิญกับสงครามในยูเครน แต่รัสเซียยังคงมีอำนาจทางทหารที่ไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างโจ่งแจ้ง การเลือกที่จะสงวนอาวุธหนักทำให้รัสเซียสามารถรักษาภาพลักษณ์ของความสงบและความมั่นคงได้ในขณะที่ยังคงรักษาความแข็งแกร่งในด้านการทหาร ในขณะที่ Izvestia ได้รายงานเกี่ยวกับการที่รัสเซียยังคงสามารถผลิตอาวุธและใช้เทคโนโลยีทหารที่ทันสมัย เช่น โดรน และ สงครามไซเบอร์ โดยไม่ต้องแสดงอาวุธหนักในการแสดงในที่สาธารณะ ซึ่งสะท้อนถึงการใช้ "สงครามรูปแบบใหม่" ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการแสดงพลังทหารในสนามรบแบบเดิม ๆ การแสดงในพิธีสวนสนามเป็นเพียงแค่การแสดงออกทางการเมืองที่ไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับความสามารถจริงในสนามรบ

อย่างไรก็ตามมุมมองจากฝั่งตะวันตกมองว่ารัสเซียอาจกำลังเผชิญกับการขาดแคลนอาวุธระยะยาว เช่น ขีปนาวุธที่มีระยะยิงไกลและเครื่องบินทิ้งระเบิดที่สามารถเข้าถึงเป้าหมายในระยะไกลได้ องค์กรInternational Institute for Strategic Studies (IISS) หรือ The Economist ได้ชี้ว่า รัสเซียประสบปัญหาในการผลิตกระสุนและอาวุธบางประเภทที่ใช้ในการสงคราม เช่น กระสุนหนักสำหรับปืนใหญ่และอาวุธปล่อยที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัย ซึ่งมีผลมาจากการคว่ำบาตรจากตะวันตกและการขาดแคลนเทคโนโลยีที่ทันสมัย รัสเซียต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากพันธมิตรเช่น จีนและอิหร่านเพื่อเติมเต็มช่องว่างในส่วนนี้ อย่างไรก็ตามปัญหานี้ยังคงเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการดำเนินสงครามอย่างยั่งยืน นักวิชาการบางคนมองว่าการที่รัสเซียไม่มีอาวุธเหล่านี้ในมือเทียบเท่ากับในอดีตอาจเป็นสัญญาณของการที่ประเทศกำลังสูญเสียความสามารถในการขยายสงครามไปยังพื้นที่อื่น ๆ และมุ่งเน้นการต่อสู้ภายในยูเครนเท่านั้น นักวิเคราะห์จากฝ่ายตะวันตกยังชี้ว่าการคว่ำบาตรจากตะวันตกได้จำกัดการเข้าถึงชิ้นส่วนและวัสดุที่จำเป็นในการผลิตอาวุธขั้นสูงอาทิ ชิปเซ็ต เทคโนโลยีการผลิตมิสไซล์หรืออุปกรณ์การผลิตที่ล้ำสมัยซึ่งจำกัดความสามารถของรัสเซียในการผลิตอาวุธที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

บทสรุป การเลือกที่จะไม่แสดงอาวุธหนักใน Victory Parade 2025 ไม่เพียงแค่เป็นกลยุทธ์ทางการทูตเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของรัสเซียในเวทีโลก แต่ยังเป็นการสะท้อนถึงการควบคุมการรับรู้ของฝ่ายตรงข้าม การไม่ยั่วยุ และการสร้างความมั่นคงภายในประเทศ โดยทั้งนักวิชาการและสื่อรัสเซียมองว่า การแสดงพลังทหารในที่สาธารณะอาจไม่จำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบันที่การจัดการกับวิกฤติโดยไม่แสดงพลังทางทหารให้เห็นนั้นเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม

ทูตสหรัฐฯ ยืนยัน การเจรจาสันติภาพ ‘ยูเครน-รัสเซีย’ ต้องได้รับ ‘ไฟเขียว’ จากปูติน ระบุหากไม่มีความคืบหน้า สหรัฐฯ พร้อมถอนตัว จากความพยายามไกล่เกลี่ย

(13 พ.ค. 68) สตีฟ วิตคอฟฟ์ (Steve Witkoff) ทูตพิเศษของสหรัฐฯ ระบุว่า ความเห็นชอบจากประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน เป็นเงื่อนไขสำคัญของการบรรลุข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยย้ำชัดว่า “จะไม่มีข้อตกลงใดเกิดขึ้น หากไม่มีลายเซ็นของปูติน”

ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อ Breitbart เมื่อวันอังคาร วิตคอฟฟ์กล่าวว่าเขาได้พูดคุยกับทั้งประธานาธิบดีปูติน ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากทั้งสองฝ่าย พร้อมชี้ว่า “เขาเป็นผู้นำของสหพันธรัฐรัสเซีย การไม่พูดคุยกับปูตินจึงเป็นตรรกะที่ไม่เข้าใจ เราต้องเปิดโต๊ะเจรจากับทุกฝ่าย”

วิตคอฟฟ์ยังเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ ได้กำหนดเส้นตายที่ชัดเจน หากไม่มีความคืบหน้าที่แท้จริงในการเจรจา สหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากกระบวนการทั้งหมด โดยเน้นว่าหน้าที่หลักของสหรัฐฯ คือการผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายมาเจรจา และแสดงให้เห็นว่าทางเลือกอื่นจะเลวร้ายกว่าการประนีประนอม

ทั้งนี้ การออกมาแสดงจุดยืนครั้งนี้สะท้อนถึงท่าทีจริงจังของฝ่ายสหรัฐฯ ต่อการหาทางยุติสงครามยูเครน ซึ่งยังคงยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี โดยความร่วมมือหรือการยอมรับจากรัสเซียถือเป็นปัจจัยชี้ขาดในกระบวนการสันติภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

‘ICAO’ ตัดสินให้รัสเซียต้องชดใช้กรณี ‘MH17’ หลังกลุ่มกบฏฝักใฝ่ปูตินยิงตก เสียชีวิตยกลำ

(14 พ.ค. 68) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ตัดสินให้รัฐบาลรัสเซียต้องรับผิดชอบและชดใช้กรณีเที่ยวบิน MH17 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ถูกยิงตกในยูเครนเมื่อปี 2557 โดยกบฏฝักใฝ่รัสเซีย เป็นเหตุให้ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตทั้งหมด 298 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเนเธอร์แลนด์

ICAO ระบุว่ารัสเซียล้มเหลวในการปกป้องเที่ยวบินพลเรือนตามกฎหมายการบินระหว่างประเทศ และละเมิดข้อห้ามใช้อาวุธกับเครื่องบินพลเรือน โดยผู้เสียชีวิตประกอบด้วยชาวดัตช์ 196 ราย ออสเตรเลีย 38 ราย สหราชอาณาจักร 10 ราย รวมถึงจากมาเลเซียและเบลเยียม

ทั้งนี้ รัฐบาลรัสเซียยังคงปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ขณะที่ศาลเนเธอร์แลนด์เคยพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตผู้ต้องหา 3 รายในคดีนี้ ซึ่งรวมถึงชาวรัสเซีย 2 คน และชาวยูเครนฝักใฝ่รัสเซีย 1 คน แต่ยังไม่มีการส่งตัวมาดำเนินคดีจริงแต่อย่างใด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top