Tuesday, 20 May 2025
รัสเซีย

ยานอวกาศรัสเซีย ‘ซายุซ MS-26’ ลงจอดในคาซัคสถาน นำลูกเรือกลับสู่โลกตามกำหนด หลังทำภารกิจบน ISS กว่า 7 เดือน

(21 เม.ย. 68) ยานอวกาศ ซายุซ MS-26 ของรัสเซียประสบความสำเร็จในการพานักบินอวกาศ 3 นายเดินทางกลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย หลังจากปฏิบัติภารกิจในวงโคจรนอกโลกนานกว่า 7 เดือน บนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS)

ลูกเรือประกอบด้วยนักบินอวกาศชาวรัสเซีย อเล็กซีย์ ออฟชินิน และ อีวาน วากเนอร์ รวมถึงนักบินอวกาศชาวอเมริกันจากนาซา โดนัลด์ เพ็ตติต ซึ่งการเดินทางกลับของเขาในครั้งนี้ตรงกับวันคล้ายวันเกิดปีที่ 70 ของเจ้าตัวอีกด้วย

องค์การนาซาระบุผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย X (อดีต Twitter) ว่า “นักบินอวกาศโดนัลด์ เพ็ตติต กลับสู่โลกในวันเกิดของเขาเอง อายุครบ 70 ปี ในวันเดียวกับที่เขาใช้ร่มชูชีพเหินฟ้ากลับบ้าน”

สำหรับภารกิจครั้งนี้เน้นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในสภาวะไร้น้ำหนักและเทคโนโลยีสำหรับการอยู่อาศัยระยะยาวนอกโลก โดยทั้งสามคนได้รับการตรวจสุขภาพเบื้องต้นทันทีที่ลงจอด และอยู่ในสภาพร่างกายแข็งแรงดี

ด้านองค์การอวกาศรัสเซีย (Roscosmos) รายงานว่า ยานซายุซ MS-26 ได้แยกตัวออกจากสถานีอวกาศในช่วงเช้าของวันที่ 19 เมษายน 2568 ก่อนที่จะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก และลงจอดอย่างปลอดภัยในเขตคาซัคสถานตามกำหนดการในวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา พร้อมเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินที่เข้าดำเนินการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ

การเดินทางกลับสู่โลกในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการปิดฉากภารกิจสำคัญบนอวกาศ แต่ยังเป็นการตอกย้ำถึงความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แม้ในยามที่โลกเผชิญความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

ทั้งนี้ ภารกิจของ ซายุซ MS-26 เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของความสามารถทางด้านเทคโนโลยีอวกาศของรัสเซีย ซึ่งยังคงมีบทบาทสำคัญในโครงการสำรวจอวกาศระดับนานาชาติ

นักเทนนิสยูเครน ฟ้อง WTA และประธานสมาคม ‘สตีฟ ไซมอน’ ฐานก่อให้เกิดความเครียดทางอารมณ์ ปมปล่อยนักกีฬาสนับสนุนสงครามร่วมแข่ง

(22 เม.ย. 68) เลเชีย ซูเรนโก้ (Lesia Tsurenko) นักเทนนิสหญิงชาวยูเครนวัย 35 ปี ได้ยื่นฟ้อง สมาคมเทนนิสหญิงโลก (WTA) และ ประธานสมาคม สตีฟ ไซมอน (Steve Simon) โดยกล่าวหาว่า ละเมิดสัญญา ประมาทเลินเล่อ และก่อให้เกิดความเครียดทางอารมณ์ จากการที่ WTA อนุญาตให้นักกีฬาจากรัสเซียและเบลารุสที่แสดงการสนับสนุนสงครามในยูเครนสามารถลงแข่งขันในรายการระดับนานาชาติได้

โดยกรณีนี้เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศความตึงเครียดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังดำเนินอยู่ และลุกลามเข้าสู่วงการกีฬา โดยเฉพาะในระดับนานาชาติที่องค์กรต่างๆ ถูกตั้งคำถามเรื่องจุดยืนต่อผู้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง

ซูเรนโก้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 239 ของโลก ระบุว่า การต้องเผชิญหน้ากับนักกีฬาจากประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรุกรานบ้านเกิดของเธอ ส่งผลรุนแรงต่อสุขภาพจิตและฟอร์มการเล่น โดยเธอเคยถอนตัวจากการแข่งขันเนื่องจากอาการตื่นตระหนก และมักจะ “ตกรอบแล้วตกรอบอีก” เพราะความกดดันทางอารมณ์ที่ต้องแบกรับ

ซูเรนโกเปิดเผยว่าในปี 2023 ลินด์เซย์ แบรนดอน ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองความปลอดภัยของ WTA ได้แจ้งกับเธอว่า สตีฟ ไซมอน จะถูกสอบสวนในข้อหาละเมิดจรรยาบรรณขององค์กร อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน WTA ได้แจ้งผลสอบสวนว่า ไซมอนไม่ได้ละเมิดจรรยาบรรณขององค์กรหรือข้อกำหนดใดๆ ในคู่มือพนักงาน และเมื่อซูเรนโกพยายามยื่นอุทธรณ์ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

“ซีอีโอขององค์กรได้กระทำการล่วงละเมิดทางศีลธรรมต่อฉัน นำไปสู่อาการตื่นตระหนก และฉันไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้” ซูเรนโกโพสต์ข้อความแสดงความรู้สึกผ่านโซเชียลมีเดีย 

ด้าน WTA ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ข้อกล่าวหาโดยยืนยันจุดยืนอย่างชัดเจนต่อสงคราม ระบุว่า 

“ยืนกรานและชัดเจนในการประณามสงครามของรัสเซียต่อยูเครน และการกระทำของรัฐบาลรัสเซียต่อประชาชนชาวยูเครน”

“WTA ได้ดำเนินการหลายขั้นตอนเพื่อช่วยเหลือสมาชิกผู้เล่นชาวยูเครนของเรา ซึ่งเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ในฐานะนักกีฬาอาชีพ”

“องค์กรยึดหลักการของความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติ โดยการแข่งขัน WTA เปิดให้นักเทนนิสหญิงทุกคนที่ผ่านเข้ารอบตามผลงานสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ นักกีฬาแต่ละคนไม่ควรถูกลงโทษจากการกระทำของรัฐบาล”

นอกจากนี้ ยังมีเสียงวิจารณ์จากนักกีฬายูเครนต่อการมีส่วนร่วมของนักเทนนิสชื่อดัง เช่น อารีน่า ซาบาเลนก้า (Aryna Sabalenka) มือหนึ่งของโลกจากเบลารุส และ เมียร์ร่า อันเดรเยว่า (Mirra Andreeva) ดาวรุ่งจากรัสเซียที่ไต่ขึ้นสู่อันดับ 7 ของโลก ซึ่งยังคงได้รับสิทธิ์แข่งขันภายใต้ธงกลางในรายการ WTA

ซูเรนโก้ย้ำว่า การดำเนินการทางกฎหมายครั้งนี้ไม่ใช่การโจมตีบุคคลใดโดยเฉพาะ แต่เป็นความพยายามที่จะ เรียกร้องความยุติธรรมและจุดยืนทางจริยธรรมของวงการกีฬา โดยเชื่อว่า “กีฬาไม่ควรเงียบเฉยต่อความรุนแรงและการรุกรานทางการเมือง”

สหรัฐฯ เตรียมเสนอรับรอง ‘ไครเมีย’ เป็นของ ‘รัสเซีย’ หวังปูทางสันติภาพยูเครน-รัสเซีย แต่ ‘EU’ คัดค้านเสียงแข็ง

(23 เม.ย. 68) วอชิงตันโพสต์รายงานว่า สหรัฐฯ เตรียมเสนอรับรองไครเมียเป็นของรัสเซียอย่างเป็นทางการ ในการหารือที่กรุงลอนดอนวันพุธนี้ โดยข้อเสนอนี้ถูกส่งต่อไปยังพันธมิตรตะวันตก เพื่อใช้เป็นฐานในการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กรุงปารีสในวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน 2568

ข้อเสนอมีเป้าหมายเพื่อยุติการสู้รบ ด้วยการแลกเปลี่ยนระหว่างการหยุดยิงถาวรกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวระบุว่า แผนดังกล่าวจะทำให้การสู้รบตามแนวหน้าหยุดชะงักลง โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของยูเครนที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย จะยังคงอยู่ในการควบคุมของรัสเซียต่อไป

นอกจากนี้ ความต้องการของยูเครนที่จะเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ก็ไม่รวมอยู่ในแผนนี้ ซึ่งอาจกลายเป็นจุดขัดแย้งสำคัญในเวทีการเจรจา

ขณะเดียวกัน คายา คัลลาส หัวหน้าฝ่ายการทูตของสหภาพยุโรป (EU) ยืนยันหนักแน่นว่ายุโรปจะไม่ยอมรับสถานะของไครเมียในฐานะดินแดนของรัสเซีย พร้อมวิจารณ์ว่าสหรัฐฯ ยังไม่ได้ใช้มาตรการกดดันรัสเซียอย่างเต็มที่ และระบุว่ารัฐบาลรัสเซียกำลัง “เล่นเกมกับการสงบศึกในช่วงอีสเตอร์” โดยไร้ความจริงใจในการแสวงหาสันติภาพ

คัลลาสยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ยูเครนและชาติพันธมิตรในยุโรปต่างคาดหวังให้วอชิงตันแสดงจุดยืนที่เด็ดขาดและเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นในการเผชิญหน้ากับรัสเซีย

‘จีน’ ผนึกกำลัง ‘รัสเซีย’ สร้างบ้านหลังแรกของมนุษย์บนดวงจันทร์ ตั้งเป้าฐานถาวรพร้อมแหล่งพลังงานนิวเคลียร์ภายในปี 2035

(25 เม.ย. 68) จีนและรัสเซียเดินหน้าขยายความร่วมมือด้านอวกาศอย่างต่อเนื่อง โดยลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อพัฒนาสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (ILRS) ร่วมกันตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021 และกำหนดเริ่มภารกิจสำรวจดวงจันทร์ภายในปี 2026 ทั้งสองประเทศยืนยันเป้าหมายจะสร้างฐานทัพที่มนุษย์สามารถอาศัยอยู่ได้อย่างถาวรภายในทศวรรษหน้า

หนึ่งในเป้าหมายหลักคือการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์บนดวงจันทร์ เพื่อรองรับการใช้พลังงานในช่วงกลางคืนอันยาวนานของดวงจันทร์ที่ไร้แสงอาทิตย์ โดย เป่ย เจ้าอวี่ (Pei Zhaoyu) หัวหน้าวิศวกรของภารกิจฉางเอ๋อ-8 (Chang’e-8) เผยว่าโรงไฟฟ้าจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของ ILRS ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 24 เมษายน ซึ่งเป็นวันอวกาศของจีน ตัวแทนของจีนและรัสเซียได้พบปะเพื่อย้ำจุดยืนร่วมด้านความร่วมมืออวกาศ โดยรัสเซียได้นำเสนอแผนการสำรวจทรัพยากรแร่ธาตุและน้ำบนดวงจันทร์ พร้อมทั้งแนวคิดใช้วัสดุจากดวงจันทร์เป็นเชื้อเพลิงในอนาคต ขณะที่จีนตั้งเป้าส่งมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ภายในปี 2030

ระหว่างปี 2033-2035 จีนและรัสเซียมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ร่วมบนดวงจันทร์ ขณะนี้มี 17 ประเทศเข้าร่วมโครงการ ILRS และจีนตั้งเป้าขยายพันธมิตรเพิ่มเป็น 50 ประเทศ โดยเน้นกลุ่ม BRICS และประเทศกำลังพัฒนา

โครงการ ILRS ได้รับการแบ่งเป็น 3 ระยะ เริ่มจากการสำรวจและระบุตำแหน่งฐาน ทดสอบเทคโนโลยี ต่อด้วยการสร้างระบบสื่อสารและการขนส่ง ก่อนเข้าสู่ระยะสุดท้ายคือการขยายสถานีวิจัยและส่งมนุษย์ขึ้นสำรวจดวงจันทร์ โดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ระบุว่า โครงการนี้ “น่าสนใจและมีแนวโน้มดีมาก” ในระหว่างการเยือนจีนปี 2024

วัยรุ่นรัสเซีย สนใจเรียนรู้!! ‘ภาษา - วัฒนธรรม’ ของประเทศจีน เป็นอย่างมาก ‘โฆษก ก.ต่างประเทศรัสเซีย’ เผย!! พร้อมสนับสนุน เพื่อเสริมสร้างมิตรภาพ

(26 เม.ย. 68) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวเนื่องในวันภาษาจีนแห่งสหประชาชาติ (UN) ว่าชาวรัสเซียยังคงสนใจเรียนรู้วัฒนธรรมจีน วรรณคดีจีน และภาษาจีนกันอย่างมาก ขณะเดียวกันคนหนุ่มสาวในจีนสนใจเรียนภาษารัสเซียเพิ่มขึ้นด้วย

ซาคาโรวากล่าวว่าการเรียนภาษาเป็นหัวข้อพิเศษในความร่วมมือทางมนุษยศาสตร์รัสเซีย-จีน ขณะความต้องการผู้ใช้ทั้งภาษารัสเซียและภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่วเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการพัฒนาที่รวดเร็วของด้านต่างๆ ในความสัมพันธ์รัสเซีย-จีน โดยทั้งสองประเทศสนับสนุนความร่วมมือด้านการศึกษาภาษาอย่างแข็งขัน โดยความร่วมมือดังกล่าวเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสัมพันธ์ทวิภาคี และมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในการเสริมสร้างความไว้วางใจและมิตรภาพ

ทั้งนี้ ซาคาโรวายังเน้นย้ำความพยายามของรัสเซียและจีนในการสร้างสภาพแวดล้อมอันเกื้อหนุนการขยับขยายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย การเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ การบ่มเพาะผู้มีความรู้ความสามารถ และการแบ่งปันประสบการณ์

รัสเซียยึดคืนพื้นที่คุสค์ ที่ถูกยูเครนรุกรานได้ 100% หลังถูกยึดครองนานกว่า 8 เดือน

(27 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Ethan Hunts’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

รัสเซียยึดคืนพื้นที่คุสค์ ที่ถูกยูเครนรุกรานได้ 100% หลังถูกยึดครองนานกว่า 8 เดือน พลเอกเจราซิมอฟ ผู้บัญชาการกองทัพรัสเซียรายงานปูติน เมืองโกนัล เป็นเมืองสุดท้ายที่กองกำลังยูเครนถอยมาปักหลัก ก่อนจะถูกกองทัพรัสเซียเข้ายึดคืน โดยยูเครนสูญเสียทหารในปฏิบัติการยึดคุสค์ มากกว่า 76,000 นาย

‘คิม จองอึน’ ยอมรับส่งทหารไปช่วย ‘รัสเซีย’ ในสงครามกับยูเครน มอสโกซูฮกพันธมิตรเกาหลีเหนือ ช่วยปลดปล่อยแคว้นเคิร์สก์

(28 เม.ย. 68) รัฐบาลเกาหลีเหนือยอมรับอย่างเป็นทางการครั้งแรกว่า ได้ส่งทหารไปร่วมสงครามกับยูเครนภายใต้คำสั่งของผู้นำ “คิม จองอึน” โดยมีส่วนสำคัญในการปลดปล่อยดินแดนที่ถูกยูเครนยึดไป เช่น ภูมิภาคเคิร์สก์ของรัสเซีย ซึ่งแสดงให้เห็นถึง “มิตรภาพอันแน่นแฟ้น” ระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซีย

สำนักข่าวกลางเกาหลี (KCNA) รายงานว่า การเข้าร่วมของทหารเกาหลีเหนือในสงครามครั้งนี้สอดคล้องกับสนธิสัญญาพันธมิตรที่ผู้นำคิมได้ลงนามกับปูตินเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเกาหลีเหนือเห็นว่าดินแดนของรัสเซียเป็นเสมือนประเทศของตน และยืนยันความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างทั้งสองชาติ

มาเรีย ชาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า การส่งทหารจากเกาหลีเหนือแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันในระดับสูง และการช่วยเหลือมอสโกในการปลดปล่อยแคว้นเคิร์สก์จากการรุกรานของยูเครน ซึ่งถือเป็นการยืนยันถึงมิตรภาพระหว่างทั้งสองประเทศ โดยเกาหลีเหนือได้ส่งทหารประมาณ 14,000 นาย รวมถึงกำลังเสริม 3,000 นาย

ทั้งนี้ การยอมรับอย่างเป็นทางการของเกาหลีเหนือเกิดขึ้นหลังจากรัสเซียยืนยันเมื่อวันที่ 26 เม.ย. ว่าทหารเกาหลีเหนือต่อสู้เคียงข้างรัสเซียในภูมิภาคเคิร์สก์ ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งสองประเทศไม่เคยยืนยันหรือปฏิเสธการส่งทหารเข้าร่วมการรบในยูเครน

‘รองนายกฯ ลาว’ ลุยเจรจา Rosatom สร้างโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ พร้อมพัฒนาความร่วมมือการศึกษา-อวกาศ-เศรษฐกิจกับรัสเซีย

(28 เม.ย. 68) นายสะเหลิมไซ กมมะสิด (Saleumxay Kommasith) รองนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เดินทางเยือนรัสเซียเพื่อสานสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติร่วมกับ Rosatom บริษัทพลังงานปรมาณูของรัสเซีย ในระหว่างการเยือนระหว่างวันที่ 21-23 เมษายน ที่ผ่านมา 

นอกจากการหารือด้านพลังงานแล้ว นายสะเหลิมไซยังได้พบกับ ดิมิตรี บาคานอฟ (Dmitry Bakanov) ผู้อำนวยการ Roscosmos และหารือถึงการส่งนักศึกษาลาวไปเรียนต่อในสาขาวิชาอวกาศที่รัสเซีย นอกจากนี้ยังมีการพบปะกับ อานาโตลี ทอร์คูนอฟ (Anatoly Torkunov) อธิการบดี MGIMO และ เซียร์เกย์ ลัฟรอฟ (Sergey Lavrov) รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างสองประเทศ

ในการเยือนครั้งนี้ นายสะเหลิมไซยังได้พบกับ อเล็กเซย์ โอเวอร์ชุค (Alexey Overchuk) รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย ซึ่งมีการหารือถึงการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน โดยเน้นที่การเพิ่มความร่วมมือในสาขาพลังงานสะอาด การท่องเที่ยว และการขนส่ง รวมถึงพัฒนาการเชื่อมโยงด้านต่างๆ ระหว่างสองประเทศที่ยังไม่ได้สูงพอ

ในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ นายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศลาว จะเดินทางไปรัสเซียเพื่อเข้าร่วมในพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี Victory Day ซึ่งรัสเซียจะจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงชัยชนะในสงครามป้องกันปิตุภูมิ หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพรัสเซียสามารถพิชิตกองทัพนาซีเยอรมันได้

นอกจากนี้ กองทัพสหพันธรัฐรัสเซียยังได้เชิญกองทัพประชาชนลาวส่งทหารเข้าร่วมเดินสวนสนามในพิธีดังกล่าว โดยกองทัพประชาชนลาวได้ส่งทหารจำนวน 60 นาย ไปยังกรุงมอสโก โดยเครื่องบินของกองทัพอากาศลาว เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพทั้งสองประเทศ

‘ทรัมป์’ เผย ‘เซเลนสกี’ พร้อมยกไครเมียให้รัสเซีย แลกข้อตกลงสันติภาพ ขณะที่ ‘ปูติน’ เสนอหยุดยิงเชิงสัญลักษณ์ แต่ฝ่ายยูเครนยังไม่วางใจ

(29 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ระบุว่า ตนเชื่อว่าประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน พร้อมที่จะยกดินแดนไครเมียให้รัสเซีย เพื่อแลกกับข้อตกลงสันติภาพ แม้เซเลนสกีจะเคยปฏิเสธเรื่องนี้อย่างหนักแน่นมาก่อนหน้านี้ก็ตาม พร้อมกันนี้ ทรัมป์ยังส่งสารถึงประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เรียกร้องให้ยุติการโจมตีและเร่งลงนามข้อตกลงสันติภาพภายใน 2 สัปดาห์

ล่าสุด วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศเตรียมหยุดยิงยูเครนเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่เช้าวันที่ 8 พฤษภาคมถึงวันที่ 11 พฤษภาคม เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันชัยชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียระบุว่าการหยุดยิงครั้งนี้มีเหตุผลด้านมนุษยธรรม และแสดงความหวังว่าฝั่งยูเครนจะตอบสนองด้วยการหยุดยิงเช่นกัน พร้อมเรียกร้องให้มีการหยุดยิงเต็มรูปแบบอย่างน้อย 30 วัน เพื่อปูทางสู่การเจรจาทางการทูต

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายยูเครนออกมาโต้ตอบทันที โดยระบุว่าไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องรอจนถึงวันที่ 8 พฤษภาคมในการหยุดยิง โดยชี้ว่าควรหยุดการสู้รบทันทีเพื่อเห็นแก่ชีวิตของประชาชน ไม่ใช่เพื่อขบวนพาเหรดเฉลิมฉลอง พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัสเซียแสดงความจริงใจมากกว่าการหยุดยิงชั่วคราว

ทั้งนี้ การแสดงความเห็นของทรัมป์มีขึ้นหลังจากที่เขาเดินทางกลับจากพิธีพระศพของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ที่นครรัฐวาติกัน ซึ่งเขาได้พบกับเซเลนสกีในช่วงเวลาสั้น ๆ ทั้งนี้ ทรัมป์เคยย้ำว่าข้อตกลงสันติภาพกำลังคืบหน้า และตำหนิรัสเซียที่โจมตีเขตพลเรือนโดยไร้เหตุผล

ถอดรหัส 'การส่งออกก๊าซระหว่างรัสเซียและอิหร่าน' การสร้างพันธมิตรทางพลังงานและผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์

ในระยะหลังความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและอิหร่านในด้านพลังงานมีการพัฒนาและขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในแง่ของการค้าพลังงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์โลก การตกลงของรัสเซียที่จะเริ่มการส่งก๊าซไปยังอิหร่านในปีนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสใหม่ในความร่วมมือทางพลังงานระหว่างสองประเทศนี้ ข้อตกลงดังกล่าวไม่เพียงแต่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างรัสเซียและอิหร่าน แต่ยังส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อทิศทางการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางและมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงสมดุลอำนาจในระดับโลกได้

อิหร่านเป็นหนึ่งในประเทศที่มีทรัพยากรพลังงานสำคัญ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติในขณะที่รัสเซียก็เป็นผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ของโลก การที่ทั้งสองประเทศสามารถทำข้อตกลงในเรื่องการส่งก๊าซจะทำให้ทั้งสองฝ่ายมีอำนาจในการควบคุมตลาดพลังงานในภูมิภาคและสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับทั้งสองประเทศ ขณะเดียวกันการร่วมมือด้านพลังงานนี้ยังช่วยเสริมสร้างบทบาทของทั้งสองประเทศในฐานะ "ผู้เล่นสำคัญ" ในการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีความขัดแย้งและการแทรกแซงจากประเทศภายนอกรวมถึงสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตก

จากมุมมองของรัสเซียการส่งก๊าซไปยังอิหร่านไม่เพียงแต่เป็นการเสริมสร้างพันธมิตรทางพลังงานที่สามารถช่วยให้รัสเซียมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวแต่ยังเป็นการแสดงออกถึงอิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ซึ่งการมีอำนาจในตลาดพลังงานเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ ขณะเดียวกันอิหร่านก็จะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มการจัดหาก๊าซในตลาดภายในประเทศและเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้ากับหนึ่งในประเทศที่มีอิทธิพลที่สุดในโลก อย่างไรก็ตามข้อตกลงนี้ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อเศรษฐกิจและการเมืองภายในสองประเทศเท่านั้นแต่ยังสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในระบบภูมิรัฐศาสตร์โลกโดยเฉพาะในแง่ของการยกระดับความตึงเครียดกับชาติตะวันตกและการสร้างแนวทางใหม่ในการคัดค้านการแทรกแซงจากมหาอำนาจต่างๆ การขยายตัวของความสัมพันธ์พลังงานระหว่างรัสเซียและอิหร่านจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่เพียงแต่ในแง่ของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแต่ยังมีผลต่อการปรับเปลี่ยนทิศทาง ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ในด้านเศรษฐกิจรัสเซียได้เผชิญกับผลกระทบจากการคว่ำบาตรที่เข้มข้นจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในด้านการส่งออกพลังงาน ทำให้ต้องหาตลาดใหม่เพื่อทดแทนการสูญเสียตลาดยุโรปที่มีมูลค่าสูง ขณะเดียวกันการขยายตลาดไปยังเอเชียกลางและตะวันออกกลางช่วยให้รัสเซียสามารถรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดพลังงานโลก อิหร่านเองก็มีสถานการณ์คล้ายกัน เนื่องจากการคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรทำให้การส่งออกก๊าซและน้ำมันของประเทศถูกจำกัด การมีพันธมิตรในรัสเซียจึงเป็นโอกาสที่อิหร่านสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการคว่ำบาตรและเพิ่มการเข้าถึงตลาดพลังงานใหม่ๆ ทั้งในแง่ของการส่งออกและการบริโภคในประเทศ การตกลงเพื่อส่งก๊าซระหว่างทั้งสองประเทศจึงมีความสำคัญในฐานะการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานและเศรษฐกิจของทั้งรัสเซียและอิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่การกดดันทางเศรษฐกิจจากประเทศตะวันตกยังคงมีอยู่

ผลประโยชน์ที่ทั้งสองชาติจะได้รับจากการส่งออกก๊าซ
รัสเซีย: การส่งก๊าซไปยังอิหร่านถือเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญในการขยายตลาดไปยังภูมิภาคที่มีความต้องการพลังงานสูงในช่วงนี้ การมีตลาดพลังงานใหม่ในอิหร่านและพื้นที่ตะวันออกกลางจะทำให้รัสเซียสามารถกระจายการพึ่งพาตลาดยุโรปได้มากขึ้น นอกจากนี้การเป็นผู้ส่งออกก๊าซหลักไปยังอิหร่านจะช่วยเพิ่มบทบาทของรัสเซียในฐานะผู้นำทางพลังงานของโลกในระดับภูมิภาคและทั่วโลก

อิหร่าน: สำหรับอิหร่านการรับก๊าซจากรัสเซียจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในด้านพลังงานภายในประเทศ ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาการผลิตพลังงานภายในที่ลดลงจากการคว่ำบาตรต่างๆ การมีรัสเซียเป็นพันธมิตรทางพลังงานจะช่วยให้การจัดหาก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูกและสะดวกสบายยิ่งขึ้นซึ่งจะมีผลดีต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพลังงานภายในประเทศและยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในทางภูมิรัฐศาสตร์ความร่วมมือทางพลังงานนี้ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างรัสเซียและอิหร่าน โดยทำให้ทั้งสองประเทศสามารถรับมือกับการแทรกแซงจากต่างชาติได้ดีขึ้นทั้งในระดับเศรษฐกิจและการเมือง ส่งผลให้พวกเขามีอิทธิพลมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ

การตอบสนองของโลกตะวันตกต่อการขยายอิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาค
ข้อตกลงระหว่างรัสเซียและอิหร่านในเรื่องการส่งออกก๊าซธรรมชาติได้สร้างความวิตกกังวลในหมู่ประเทศตะวันตกที่อาจมองว่าการร่วมมือทางพลังงานระหว่างสองประเทศนี้อาจเสริมสร้างอิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในบริบทที่รัสเซียและอิหร่านมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในหลาย ๆ ด้าน เช่น ความมั่นคงทางทหารและภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสองประเทศต่างมีความมุ่งมั่นที่จะท้าทายอิทธิพลของสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกในตะวันออกกลางและพื้นที่อื่น ๆ การที่รัสเซียสามารถส่งออกก๊าซให้กับอิหร่านได้มากขึ้น น่าจะเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างกัน ซึ่งสามารถมีผลต่ออำนาจการต่อรองในหลาย ๆ สนาม

การขยายความสัมพันธ์ทางพลังงานระหว่างรัสเซียและอิหร่านคงจะไม่ได้ผ่านไปอย่างราบรื่น เนื่องจากโลกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ และประเทศในยุโรปมีท่าทีต่อต้านการพัฒนาเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการส่งออกพลังงานในปริมาณมาก สิ่งนี้สามารถเสริมสร้างสถานะของอิหร่านในฐานะผู้ผลิตพลังงานสำคัญในภูมิภาคและลดผลกระทบของการคว่ำบาตรที่สหรัฐฯ และ EU ได้ใช้กับอิหร่านมาก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรในยุโรปอาจตอบสนองด้วยการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น เช่น การจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีพลังงาน หรือการห้ามการลงทุนในโครงสร้างพลังงานของอิหร่าน นอกจากนี้อาจมีการใช้มาตรการทางการทูตเพื่อกดดันรัสเซียและอิหร่านให้ลดความร่วมมือในภาคพลังงานรวมถึงการขยายการคว่ำบาตรจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติหรือ G7 เพื่อลดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ

การร่วมมือระหว่างรัสเซียและอิหร่านในด้านพลังงานสร้างความท้าทายทางการทูตที่ซับซ้อนสำหรับโลกตะวันตก โดยเฉพาะในกรณีที่สหรัฐฯ และพันธมิตรไม่สามารถหาทางออกที่สามารถหยุดยั้งการเติบโตของความสัมพันธ์นี้ได้ ความพยายามที่จะจำกัดการเข้าถึงทรัพยากรพลังงานและการส่งออกของอิหร่านอาจทำให้เกิดปัญหาทางการทูตในด้านต่าง ๆ อาทิเช่น การขยายบทบาทของรัสเซียในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง เช่น ในซีเรีย หรือลงลึกไปในการช่วยเหลือด้านพลังงานที่อาจสนับสนุนโครงการทางทหารของอิหร่านที่มีความเสี่ยงสูง

ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสองขั้วอำนาจนี้ สหรัฐฯ และพันธมิตรอาจมีการปรับกลยุทธ์ทางการทูตเพื่อเผชิญหน้ากับการพัฒนาความสัมพันธ์ทางพลังงานของรัสเซียและอิหร่าน โดยการเจรจากับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเพื่อเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หรือการสนับสนุนการดำเนินการทางการทูตที่มีลักษณะเชิงรุกมากขึ้น การขยายมาตรการคว่ำบาตรและเพิ่มแรงกดดันต่อทั้งรัสเซียและอิหร่านอาจกลายเป็นเครื่องมือหลักในการปกป้องผลประโยชน์ของโลกตะวันตกและสกัดกั้นการเติบโตของอิทธิพลรัสเซียในตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่น ๆ การพัฒนาความสัมพันธ์ทางพลังงานนี้ยังอาจเป็นการทดสอบการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงประเทศในเอเชียกลางที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างสมดุลทางภูมิรัฐศาสตร์ในบริเวณนี้ ท่ามกลางความกังวลที่มีต่อการขยายอิทธิพลของรัสเซียและอิหร่านในเชิงพลังงานและการเมือง

ผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง
การตกลงระหว่างรัสเซียและอิหร่านในการส่งออกก๊าซธรรมชาติอาจเสริมสร้างอำนาจของรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับประเทศในภูมิภาคมีความเข้มแข็งขึ้น รัสเซียได้เข้ามามีบทบาทในหลายพื้นที่สำคัญของตะวันออกกลาง อาทิเช่น ซีเรีย โดยที่การสนับสนุนของรัสเซียต่อรัฐบาลของบาชาร์ อัล-อัสซาดยังคงมีบทบาทสำคัญในการคงอำนาจของรัฐบาลในดามัสกัสและการป้องกันไม่ให้กลุ่มอำนาจตะวันตกขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้การที่รัสเซียสามารถส่งออกก๊าซไปยังอิหร่านได้มากขึ้นยิ่งทำให้รัสเซียกลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักทางเศรษฐกิจในภูมิภาคซึ่งสามารถขยายอิทธิพลในระดับภูมิรัฐศาสตร์โดยการใช้พลังงานเป็นเครื่องมือในการต่อรองและการสร้างพันธมิตรกับประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง การมีส่วนร่วมของรัสเซียในการดำเนินการทางพลังงานของอิหร่านและการส่งออกก๊าซยังช่วยเสริมความสามารถของรัสเซียในการเข้าถึงตลาดพลังงานที่สำคัญของโลกซึ่งจะทำให้รัสเซียสามารถใช้พลังงานเป็นเครื่องมือในการปรับกลยุทธ์ทางการทูตและภูมิรัฐศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในขณะที่การขยายความร่วมมือทางพลังงานกับรัสเซียจะมีผลกระทบสำคัญต่อทิศทางการดำเนินนโยบายพลังงานของอิหร่านโดยเฉพาะในด้านการส่งออกก๊าซและน้ำมันที่สำคัญ อิหร่านที่เคยต้องพึ่งพาความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคและตะวันตกในการค้าขายพลังงานอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพึ่งพารัสเซียมากขึ้นในการพัฒนาและส่งออกก๊าซธรรมชาติ การร่วมมือในโครงการพลังงานกับรัสเซียจะช่วยให้การส่งออกพลังงานของอิหร่านเติบโตขึ้นขณะเดียวกันก็ช่วยลดผลกระทบจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่โลกตะวันตกได้ใช้กับอิหร่านก่อนหน้านี้ นอกจากนี้อิหร่านยังสามารถใช้ความสัมพันธ์ทางพลังงานกับรัสเซียเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในประเทศซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน เช่น การขุดเจาะและขนส่งก๊าซรวมถึงการสร้างงานในภาคพลังงานภายในประเทศโดยเฉพาะในช่วงที่อิหร่านมีความพยายามในการหลีกเลี่ยงการพึ่งพิงจากประเทศตะวันตก

การขยายความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและอิหร่านในด้านพลังงานไม่เพียงแต่จะมีผลกระทบต่อรัสเซียและอิหร่านเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบต่อลักษณะของความสัมพันธ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางในหลาย ๆ ด้าน ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ หรือชาติในยุโรปอาจรู้สึกกังวลเกี่ยวกับการขยายอำนาจของรัสเซียและอิหร่าน การเพิ่มขึ้นของอิทธิพลรัสเซียในภูมิภาคอาจทำให้ประเทศเหล่านี้มองว่าการร่วมมือระหว่างรัสเซียและอิหร่านเป็นการท้าทายอำนาจของตะวันตกในตะวันออกกลาง สำหรับประเทศที่เคยพึ่งพาพลังงานจากอิหร่านหรือรัสเซีย เช่น ประเทศในแถบอ่าวเปอร์เซีย ประเทศเหล่านี้อาจต้องปรับตัวในด้านการพัฒนาพลังงานและการตลาดใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงการขยายตัวของความสัมพันธ์ทางพลังงานระหว่างรัสเซียและอิหร่านที่อาจทำให้การแข่งขันในตลาดพลังงานเพิ่มสูงขึ้น การเพิ่มความร่วมมือในด้านพลังงานระหว่างสองประเทศนี้ยังอาจทำให้ความตึงเครียดในภูมิภาคที่มีอยู่แล้วระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น ซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน ทวีความรุนแรงขึ้นและอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางการลงทุนในโครงสร้างพลังงานของประเทศต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง

บทสรุป ข้อตกลงการส่งก๊าซระหว่างรัสเซียและอิหร่านในปีนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่มีผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะในด้านพลังงานและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การร่วมมือในครั้งนี้ไม่เพียงแค่เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศแต่ยังเพิ่มความแข็งแกร่งในการเจรจาทางการทูตของทั้งรัสเซียและอิหร่านในเวทีโลก นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างอำนาจของรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกกลางและสามารถปรับสมดุลพลังงานในตลาดโลกได้ การส่งออกก๊าซไปยังอิหร่านไม่เพียงแค่ช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานของทั้งสองประเทศ แต่ยังเสริมสร้างอำนาจและอิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีการแข่งขันสูง ข้อตกลงนี้ยังสามารถเป็นเครื่องมือในการลดผลกระทบจากการคว่ำบาตรของตะวันตกและช่วยให้รัสเซียและอิหร่านมีความสามารถในการต่อรองทางเศรษฐกิจและการทูต ในอนาคต ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและอิหร่านคาดว่าจะยังคงแข็งแกร่งขึ้นโดยเฉพาะในด้านพลังงานและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การส่งออกก๊าซจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างอิทธิพลของทั้งสองประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันก็จะส่งผลให้เกิดการปรับตัวของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเพื่อรักษาความสมดุลและผลประโยชน์ทางพลังงานของตนเอง ความร่วมมือนี้อาจมีผลต่อทิศทางภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคในระยะยาวและกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดอนาคตของการเมืองโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top