Tuesday, 20 May 2025
รัสเซีย

จีนจี้ทรัมป์ลดงบกลาโหม ตามนโยบาย America First ก่อนจะมาบีบจีน-รัสเซีย ให้ลดงบประมาณทางทหาร

(14 ก.พ.68) กระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวว่า สหรัฐฯ ควรยึดหลัก 'อเมริกาเป็นอันดับแรก' และควรเป็นผู้นำในการลดการใช้จ่ายด้านการทหาร โดยตั้งตนเป็นตัวอย่างในการลดงบประมาณทางทหาร

ก่อนหน้านี้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าเขาวางแผนจะพบกับผู้นำของจีนและรัสเซียเพื่อหารือเกี่ยวกับการลดความตึงเครียดทางการทหาร โดยเฉพาะในเรื่องของอาวุธนิวเคลียร์

เรื่องดังกล่าวส่งผลให้กัว เจียคุน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวกับผู้สื่อข่าว ว่า "เนื่องจากสหรัฐฯ ยึดหลัก 'อเมริกาเป็นอันดับแรก' ควรตั้งตนเป็นตัวอย่างและเริ่มลดการใช้จ่ายด้านการทหารก่อน"

เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศของจีน "โปร่งใส เปิดเผย มีเหตุผล และพอเหมาะ" โดยเมื่อเทียบกับมหาอำนาจทางทหารเช่นสหรัฐฯ การใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศของจีน 'ค่อนข้างต่ำ' ไม่ว่าจะเป็นเปอร์เซ็นต์ของ GDP ส่วนแบ่งของงบประมาณรัฐบาล หรือการใช้จ่ายด้านการทหารต่อหัว

แม้ว่าจีนจะมีนโยบายทางทหารที่เน้นการป้องกัน และไม่เข้าร่วมในความขัดแย้งใดๆ แต่ก็ยังคงเพิ่มงบประมาณการป้องกันประเทศทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2023 การใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศเพิ่มขึ้น 7.2% โดยมีมูลค่ารวม 220 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2024 ก็เพิ่มขึ้นอีก 7.2% ทำให้มูลค่ารวมอยู่ที่ 231.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ งบประมาณการป้องกันประเทศที่เสนอสำหรับปี 2025 จะถูกเปิดเผยในวันที่ 5 มีนาคม เมื่อเปิดการประชุมสภานิติบัญญัติประจำปี

อดีตนักวิเคราะห์จับตาประชุมริยาดจุดชนวนยุโรประส่ำ สหรัฐฯ ถอย เปิดทางดีลรัสเซียยุติสงครามยูเครน

(19 ก.พ.68) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งฝ่ายรัสเซียและสหรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างหารือพบปะกันที่กรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดิอาระเบีย เพื่อหาแนวทางยุติความขัดแย้งในยูเครน ซึ่งกำลังใกล้จะครบรอบ 3 ปี ที่ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างเปิดฉากสงครามกัน ซึ่งประเด็นดังกล่าว ทางสำนักข่าว Sputnik ได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์นี้   

โดยนาย ไมเคิล มาโลฟ อดีตนักวิเคราะห์นโยบายความมั่นคงระดับสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เผยกับสื่อรัสเซียว่า ที่ผ่านมาแนวทางที่ยุโรปและยูเครนต้องการ ซึ่งก็คือการเอาชนะรัสเซียในสนามรบเพื่อยุติสงครามตัวแทนครั้งนี้ แต่แนวทางดังกล่าวได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล และพวกเขาก็ไม่สามารถปกป้องตนเองได้ นั่นทำให้มองได้ว่าหลังจากที่สหรัฐเปลี่ยนรัฐบาลสู่ยุคประธานาธิบดีทรัมป์ พร้อมกับมีการประชุมที่ริยาดอาจเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในภูมิรัฐศาสตร์โลก  

"ผมมองว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของ NATO" มาโลฟกล่าว "ในที่สุด เราอาจได้เห็นยุโรปเปลี่ยนไปใช้ระบบพันธมิตรด้านกลาโหมระดับภูมิภาคแทนที่จะคงโครงสร้างองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่มีสมาชิก 32 ประเทศ ซึ่งแทบจะไม่สามารถตัดสินใจเป็นเอกฉันท์ในเรื่องใด ๆ ได้เลย"

มาโลฟวิเคราะห์ว่าการประชุมที่ริยาดสะท้อนให้เห็นการยอมรับความจริงของสหรัฐฯ ในหลายประเด็น ได้แก่  

1.  ไม่ใช่ยุโรปหรือรัฐบาลเซเลนสกี ที่จะมีหน้าที่เป็นตัวแสดงหลักที่มีบทบาทสำคัญต่อการยุติสงครามในยูเครน แต่คือรัสเซียและสหรัฐฯ จะเป็นผู้ชี้ชะตาในเรื่องนี้

2. วอชิงตันกำลังหันกลับมาใช้แนวคิดเรื่อง 'ขอบเขตอิทธิพล' แทนที่จะเดินหน้าสร้างระเบียบโลกแบบขั้วเดียวต่อไป  

3. สหรัฐฯ ไม่ต้องการเป็นผู้สนับสนุนสงครามของยุโรปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หันมาให้ความสำคัญกับซีกโลกตะวันตกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรีนแลนด์ ปานามา หรือแคนาดา แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่ยุโรป  

"ทรัมป์ต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่แตกร้าวกับมอสโก และมองว่ารัสเซียเป็นคู่เจรจาที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ฝ่ายที่สหรัฐฯ จะพูดจาสั่งสอนเครมลินเหมือนที่รัฐบาลไบเดนทำ" นักวิเคราะห์กล่าว  

นอกจากนี้ ทรัมป์ในฐานะนักธุรกิจ ยังตระหนักว่าสหรัฐฯ ไม่สามารถทำสงครามทั่วโลกได้ และควรใช้แนวทางแข่งขันทางเศรษฐกิจและความร่วมมือมากกว่าการเผชิญหน้า  

สำหรับยุโรป มาโลฟมองว่ายุโรปกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการตัดสินใจของตนเอง "พวกเขาทำลายเศรษฐกิจตัวเองโดยการตัดขาดพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม คุณภาพชีวิต และขีดความสามารถในการผลิตของตัวเอง ประชาชนในประเทศเหล่านี้เริ่มตั้งคำถามแล้วว่าผู้นำของพวกเขากำลังทำอะไรอยู่"

มาโลฟสรุปว่า ขณะที่ชนชั้นนำของยุโรปยังคงเดินหน้าในแนวทางที่เป็นผลเสียต่อประชาชน เสียงสะท้อนจากสังคมอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ยุโรปต้องทบทวนแนวทางของตนเองใหม่

เซเลนสกีตกบัลลังก์ลูกรักสหรัฐฯ หมดสิทธิ์อ้อนวอชิงตัน หลังพ้นยุคไบเดน

(21 ก.พ.68) เพียงหนึ่งเดือนหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับสู่ทำเนียบขาว ท่าทีของเขาที่มีต่อโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กลับแตกต่างจากอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน อย่างสิ้นเชิง

หากย้อนไปในยุคของโจ ไบเดน เขามักหยอดคำหวานซึ่งกันและกันหลายครั้ง โดยเมื่อปลายปี 2022 ไบเดนเคยกล่าวกับเซเลนสกีว่า "เป็นเกียรติที่ได้ยืนเคียงข้างคุณ" พร้อมยกย่องเขาว่าเป็น 'บุคคลแห่งปี'

ขณะที่ในปี 2023 ไบเดนกล่าวสุนทรพจน์ที่กรุงวอร์ซออย่างดุดันราวกับฉากในภาพยนตร์ฮอลลีวูด โดยกล่าวว่าเซเลนสกีเป็น "บุรุษผู้มีความกล้าหาญที่ถูกหล่อหลอมจากไฟและเหล็กกล้า" และเป็นผู้นำของ "รัฐบาลที่ได้รับเลือกตามระบอบประชาธิปไตยและเป็นตัวแทนของประชาชนยูเครน"

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของไบเดนต่างยกย่องเซเลนสกีอย่างต่อเนื่อง อาทิ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ที่ยกให้เซเลนสกีเป็นผู้นำที่มี "ความกล้าหาญและความสำเร็จอย่างไม่ธรรมดา" ขณะที่ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหม กล่าวในปี 2023 ว่า "การต่อสู้เพื่ออิสรภาพของยูเครนเป็นหนึ่งในภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคของเรา"

นอกจากคำชมแล้ว รัฐบาลไบเดนยังให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนยูเครนอย่างไม่ลดละ โดยในเดือนมิถุนายน 2024 ไบเดนกล่าวว่า "เราจะยืนเคียงข้างยูเครนจนกว่าพวกเขาจะได้รับชัยชนะ"

ถึงขนาดที่บลิงเคนเคยไปเยือนสถานีรถไฟใต้ดินในเคียฟเมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 และเล่นเพลง Rockin' in the Free World ของนีล ยัง พร้อมประกาศว่า "เราจะอยู่เคียงข้างคุณ และจะยืนหยัดจนกว่ายูเครนจะมีความมั่นคงและอธิปไตยที่ได้รับการรับรอง"

ตรงข้ามกับแนวทางของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเขามักโพสต์ลง Truth Social กล่าวหาว่าเซเลนสกีติดอยู่ใน 'วงจรข้อมูลเท็จ' ของรัสเซีย "ลองคิดดูให้ดี นักแสดงตลกที่พอไปวัดไปวาได้อย่างเซเลนสกี สามารถโน้มน้าวให้สหรัฐใช้เงินกว่า 350,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าสู่สงครามที่ไม่มีวันชนะ สงครามที่ไม่ควรเกิดขึ้นแต่แรก" 

"แถมเซเลนสกียังยอมรับเองว่า เงินครึ่งหนึ่งที่เราส่งไปให้ ‘หายไป’ เขาปฏิเสธที่จะจัดการเลือกตั้ง คะแนนนิยมในยูเครนต่ำเตี้ย และสิ่งเดียวที่เขาทำได้ดีคือหลอกใช้ไบเดนได้อย่างแยบยล" ทรัมป์ระบุ 

"เผด็จการที่ไม่มีการเลือกตั้ง เซเลนสกีควรรีบจัดการตัวเองก่อนที่เขาจะไม่มีประเทศเหลือให้ปกครองอีกต่อไป" ทรัมป์เตือน

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยประชดประชันเซเลนสกีในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2024 ว่า "เป็นนักขายที่เก่งที่สุดในบรรดานักการเมือง" แต่ครั้งนี้ภายหลังทรัมป์กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ อีกสมัย เขากล่าวหาเซเลนสกีอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นนักต้มตุ๋นและจอมเผด็จการ

ทรัมป์ยังส่งสัญญาณถึงแนวทางใหม่ของรัฐบาลสหรัฐที่มีต่อยูเครน โดยเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เขายืนยันว่าเซเลนสกีจะไม่ได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างสหรัฐและรัสเซียที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย และกล่าวว่า "ผมไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องจริงจัง" ที่ยูเครนจะเข้าร่วม NATO ซึ่งเป็นจุดยืนที่รัสเซียถือเป็นเส้นตายมาโดยตลอด

ก่อนหน้านั้นเพียงสองวัน ทรัมป์ได้เสนอข้อตกลงให้ยูเครน โดยระบุว่าสหรัฐอาจให้ความช่วยเหลือหากยูเครนมอบทรัพยากรแร่หายากมูลค่า 500,000 ล้านดอลลาร์เป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งแน่นอนว่าเซเลนสกีปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว

จากที่เคยได้รับการเชิดชูในยุคไบเดน เซเลนสกีกลับต้องเผชิญกับแรงกดดันจากผู้นำสหรัฐคนใหม่ที่มองว่าเขาเป็นภาระและอุปสรรคของนโยบายใหม่ของอเมริกา ขณะที่ความช่วยเหลือจากวอชิงตันก็เริ่มไม่แน่นอนเช่นกัน

ในช่วงเวลาที่ยูเครนกำลังต้องการความช่วยเหลือจากพันธมิตรอย่างยิ่ง คำถามสำคัญคือ เซเลนสกีจะสามารถรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐได้หรือไม่ ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

‘อ.เจษฎา’ ฟาดใส่!! ‘ทรัมป์’ คนโง่เท่านั้น ที่บอกว่า ‘ยูเครน’ เริ่มสงครามก่อน ชี้!! ‘รัสเซีย’ บุกรุกรานเข้ายึด ‘ไครเมีย’ ของยูเครน ตั้งแต่ปี 2014 แล้ว

(22 ก.พ. 68) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า …

เห็นด้วยตามนั้นครับ ‘คนโง่เท่านั้น ที่บอกว่า ยูเครนเริ่มสงครามก่อน’

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ รัสเซียบุกรุกรานเข้ายึดไครเมียของยูเครนได้สำเร็จไปรอบนึงแล้ว ตั้งแต่ปี 2014 .. และปี 2022 นี้ ก็ยกกำลังเข้ามาบุกรุกราน จนจะถึงเมือง เคียฟ อยู่แล้ว ด้วยความตั้งใจที่จะยึดประเทศให้ได้ใน 3 วัน (แต่ 3 ปีแล้ว ก็ยังคืบหน้าไปได้ไม่เยอะ)

ส่วนที่บางคนอ้างถึงสนธิสัญญามินซ์ อ้างว่ายูเครนทำผิดที่คิดจะเข้าเนโต้ .. จริงๆในสนธิสัญญา ไม่ได้มีเขียนระบุ เรื่องที่บอกว่าเนโต้จะไม่ขยายพื้นที่ ไม่มีเขียนระบุว่ายูเครนห้ามเข้า nato 

และที่ผ่านมาก็มีหลายชาติที่เคยเป็นสมาชิกสหภาพโซเวียต และมีพรมแดนติดกับประเทศรัสเซีย ก็เข้าร่วมเนโต้ไปตั้งนานแล้ว แต่ไม่ถูกรุกราน ไม่ถูกหาเรื่องจากรัสเซีย 

คนที่ฉีกสัญญาจริง ๆ คือรัสเซียต่างหาก ที่ละเมิดสนธิสัญญาบูดาเปสต์ ให้ยูเครนยอมมอบอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดที่มีให้กับรัสเซีย เพื่อแลกกับสันติภาพ และการันตีว่าจะไม่บุกรุกราน แต่ปูตินก็ฉีกสัญญานั้น

สุดท้ายคือ เลิกโทษคนยูเครนหรือประธานาธิบดียูเครน ที่พยายามต่อสู้รักษาเอกราชของประเทศตน ได้แล้ว อันนั้นมันคือการ blame victim การไปโทษเหยื่อ ที่ขัดขืนคนร้ายขัดขืนฆาตกร จนถูกทำร้ายหรือเสียชีวิต 

สงครามเลวร้ายนี้หยุดได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่ปูตินยอมถอนทัพกลับไปประเทศตัวเอง ซึ่งนานาชาติต้องร่วมกันผลักดันให้เห็นว่าเขาคิดผิดที่ก่อสงครามนี้

‘บอริส จอห์นสัน’ เผย!! ยุโรปใช้ยูเครน เป็นตัวแทน ทำสงครามกับรัสเซีย ชี้!! สนับสนุนน้อยไปหน่อย จึงรบได้ไม่เต็มที่ คล้าย!! คนถูกมัดมือข้างหนึ่ง

(24 ก.พ. 68) เพจ ‘Ethan Hunts’ ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า ...

โบโจ้ เอเคเอ บอริส จอห์นสัน อดีตนายกอังกฤษ ให้สัมภาษณ์และสารภาพออกสื่อ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยุโรปใช้ยูเครน เป็นตัวแทนทำสงครามกับรัสเซีย โดยมียุโรป ในนามเนโต้หนุนหลัง

เขาเผยว่า สงครามตัวแทนนี้ ยุโรปในฐานะผู้ยุยงส่งเสริม ให้การสนับสนุนยูเครนน้อยจนเกินไป ยูเครนจึงอยู่ในสภาพคล้าย คนถูกมัดมือข้างหนึ่ง จึงรบได้ไม่เต็มที่

สหรัฐ-ยูเครน ปิดดีลแร่หายาก ทรัมป์ปลดล็อกส่งอาวุธ แต่ไร้หลักประกันความมั่นคง เปิดช่องรัสเซียเดินเกมรุก

(26 ก.พ. 68) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐและยูเครนได้อนุมัติร่างข้อตกลงแร่ ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของยูเครนเพื่อกระตุ้นการลงทุนและการฟื้นฟูประเทศ อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ระบุการรับประกันความปลอดภัยจากสหรัฐแก่ยูเครนโดยตรง ซึ่งเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดข้อกังวลในแวดวงการเมืองระหว่างประเทศ

ร่างข้อตกลงฉบับนี้กำหนดให้มีการจัดตั้ง "กองทุนการลงทุนเพื่อการฟื้นฟู" (Reconstruction Investment Fund) เพื่อรวบรวมรายได้จากแหล่งแร่ธาตุ ไฮโดรคาร์บอน และทรัพยากรอื่น ๆ ของยูเครน โดยยูเครนจะต้องสมทบเงิน 50% ของรายได้สุทธิจากทรัพยากรธรรมชาติเข้ากองทุนจนกว่าจะถึง 500,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 16.8 ล้านล้านบาท) ขณะที่สหรัฐจะให้การสนับสนุนทางการเงินระยะยาวเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของยูเครน

แม้ว่าข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและยูเครน แต่ประเด็นเรื่องความมั่นคงยังคงเป็นข้อถกเถียงสำคัญ แหล่งข่าวระบุว่าร่างข้อตกลงไม่ได้ให้การรับประกันด้านความปลอดภัยจากสหรัฐแก่ยูเครนอย่างชัดเจน หรือให้คำมั่นเกี่ยวกับการส่งอาวุธเพิ่มเติม โดยระบุเพียงว่าสหรัฐต้องการให้ยูเครนเป็น "อิสระ มีอำนาจอธิปไตย และปลอดภัย"

อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นผู้ผลักดันข้อตกลงนี้ กล่าวว่า หากสามารถบรรลุข้อตกลงยุติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ อาจจำเป็นต้องมีกองกำลังรักษาสันติภาพเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตาม รัสเซียแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นกองกำลังจากองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้)

การหารือเกี่ยวกับข้อตกลงเกิดขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างทรัมป์และประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน โดยทรัมป์เคยกล่าวหาเซเลนสกีว่าเป็น "เผด็จการ" ขณะที่ผู้นำยูเครนตอบโต้โดยระบุว่า ทรัมป์ได้รับข้อมูลผิด ๆ จากรัฐบาลรัสเซีย

ก่อนหน้านี้ เซเลนสกีปฏิเสธที่จะลงนามข้อตกลง เนื่องจากเห็นว่าสหรัฐเรียกร้องผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของยูเครนมากเกินไปเมื่อเทียบกับความช่วยเหลือที่มอบให้ โดยสหรัฐได้ให้เงินช่วยเหลือยูเครนแล้วกว่า 350,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 11.8 ล้านล้านบาท) รวมถึงอาวุธและอุปกรณ์ทางทหาร

นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงมองว่า แรงผลักดันของทรัมป์ในการเร่งยุติสงครามและท่าทีที่ประนีประนอมกับรัสเซีย อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของยูเครนและยุโรป รวมถึงเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์

สก็อตต์ แอนเดอร์สัน นักวิจัยจากสถาบันบรูคกิ้งส์ ให้ความเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวอาจถูกมองว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากยูเครน แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทรัมป์และสมาชิกสภาคองเกรสของพรรครีพับลิกัน เนื่องจากช่วยให้สหรัฐมีบทบาทสำคัญในสถานการณ์นี้

สงครามยูเครน กับทางเลือกสุดท้ายของ เซเลนสกี้ จำ!! ต้องคืนสู่โต๊ะเจรจากับ ‘วลาดีมีร์ ปูติน’

(2 มี.ค. 68) สถานการณ์สงครามยูเครนในปัจจุบันกำลังเดินไปสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้ง เมื่อความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี้ อาจต้องกลับไปเจรจากับรัสเซียเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ภายใต้เงื่อนไขที่แทบจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบทั้งหมด ไม่ใช่เพราะเซเลนสกี้เต็มใจ แต่เพราะสถานการณ์บีบให้ยูเครนแทบไม่เหลือทางเลือกอื่นอีกแล้ว

1. อเมริกาถอนตัว – ยูเครนเหลือเพียงตัวเอง
หนึ่งในปัจจัยที่ผลักยูเครนเข้าสู่สถานการณ์นี้คือสหรัฐฯ กำลังแสดงท่าทีลดการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายใน เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2024 ที่อาจนำโดนัลด์ ทรัมป์กลับคืนสู่ตำแหน่ง ซึ่งเขาเคยประกาศชัดว่าต้องการยุติสงครามโดยเร็ว หรือแม้แต่ฝ่ายเดโมแครตเองก็เริ่มมีความลังเลเรื่องการสนับสนุนทางการเงินและอาวุธแก่ยูเครน เมื่อเห็นว่าสงครามกำลังยืดเยื้อโดยไม่มีวี่แววของชัยชนะ นอกจากนี้ สหรัฐฯ กำลังเผชิญภาระทางทหารและเศรษฐกิจที่หนักขึ้นจากการสนับสนุนอิสราเอลในสงครามกับฮามาส การขยายบทบาทในเอเชียเพื่อสกัดกั้นจีน และการเตรียมรับมือความขัดแย้งในภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งหมดนี้ทำให้ความสำคัญของยูเครนในสายตาของวอชิงตันลดลงไป เมื่อสหรัฐฯ ไม่สามารถให้การสนับสนุนได้เต็มที่ ยูเครนจึงต้องเผชิญชะตากรรมของตัวเอง ท่ามกลางกองกำลังรัสเซียที่ยังคงรุกคืบอย่างต่อเนื่อง

2. อธิปไตยที่ต้องแลกด้วยดินแดน?
สงครามที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2022 ทำให้ยูเครนต้องเผชิญความสูญเสียอย่างหนัก ทั้งกำลังพลกว่า 500,000 นาย ที่เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ ดินแดนสำคัญทางยุทธศาสตร์ เช่น โดเนตสก์ ลูฮันสก์ ซาโปริชเชีย และเคอร์ซอน ที่ถูกรัสเซียผนวกอย่างเป็นทางการ การเจรจากลับไปสู่โต๊ะของปูตินในเวลานี้ย่อมหมายความว่ายูเครนอาจต้อง สูญเสียดินแดนบางส่วนเป็นเงื่อนไขของสันติภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไครเมีย ซึ่งรัสเซียครอบครองมาตั้งแต่ปี 2014 และปัจจุบันมีฐานทัพเรือที่สำคัญในเซวาสโตโพล นอกจากนี้ แม้ยูเครนจะรักษาอธิปไตยได้ในทางเทคนิค แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศอาจกลายเป็น รัฐกันชน (Buffer State) ที่ต้องดำรงอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซียโดยปริยาย หรืออาจถูกบีบให้มีสถานะคล้ายฟินแลนด์ในช่วงสงครามเย็น (Finlandization) ที่แม้จะเป็นเอกราช แต่ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่างประเทศที่เอื้อต่อมอสโก

3. บทเรียนจากการเลือกตั้งผู้นำที่มองข้ามประโยชน์ชาติ
หนึ่งในข้อวิพากษ์สำคัญคือการตัดสินใจของยูเครนที่เลือกผู้นำซึ่ง มองข้ามความเป็นจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ และพยายามเดินหน้าชนรัสเซียอย่างไม่ไตร่ตรองถึงผลที่ตามมา เซเลนสกี้ในฐานะอดีตนักแสดงที่ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐ อาจไม่เข้าใจความซับซ้อนของเกมการเมืองระหว่างประเทศเท่าที่ควร และเลือกเดิมพันอนาคตของประเทศไว้กับการสนับสนุนของตะวันตกเพียงอย่างเดียว โดยลืมไปว่าการเจรจากับรัสเซียอาจเป็นหนทางที่หลีกเลี่ยงความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศได้ตั้งแต่แรก

4. การเดินหมากครั้งสุดท้ายของยูเครน
แม้ว่ายูเครนจะพยายามต่อต้านต่อไป แต่ สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ กำลังพลที่ลดลง และการขาดการสนับสนุนจากตะวันตกกำลังบีบให้ยูเครนต้องคิดใหม่ หากยูเครนยังคงเลือกแนวทางแข็งกร้าว อาจเสี่ยงต่อการล่มสลายของรัฐคล้ายกับอัฟกานิสถานหลังสหรัฐฯ ถอนตัว หรืออาจถูกบังคับให้ยอมรับข้อตกลงที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมหาศาล ในท้ายที่สุด เซเลนสกี้อาจไม่มีทางเลือกนอกจากกลับไปเจรจากับปูติน แต่ คำถามที่แท้จริงคือ ยูเครนจะยังเหลืออะไรอยู่บ้างให้ต่อรอง?

รัสเซียบอกลาฤดูหนาว จัดงาน ‘เทศกาลแพนเค้ก’ พร้อมเดินหน้าเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ อย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 1-2 มีนาคม 2025 ที่ผ่านมา ชาวรัสเซียในเมืองเซนต์ปีเตอส์เบิร์กและมอสโก ได้ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลมาสเลนนิตซา (Maslenitsa) หรือเทศกาลแพนเค้ก เพื่อบอกลาฤดูหนาวที่หนาวเย็นและต้อนรับการกลับมาของฤดูใบไม้ผลิที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา 

สำหรับเทศกาลดังกล่าวจัดขึ้นทุกปีในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงต้นเดือนมีนาคม และเป็นวันหยุดตามประเพณีของประเทศรัสเซีย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเพณีสำคัญ มีรากฐานจากความเชื่อดั้งเดิมในศาสนาคริสต์ออร์โธด็อกซ์ 

โดยภายในงานจะมีการแสดงศิลปะพื้นบ้าน การละเล่นประเพณี รวมกิจกรรมสนุกสนานมากมาย เช่น การแข่งขันเกมพื้นบ้าน การแสดงของศิลปินในชุดพื้นเมือง และบางพื้นที่มีการจุดไฟกองไฟขนาดใหญ่ พร้อมด้วยการรับประทานแพนเค้ก (Blini) อาหารที่เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ สื่อถึงความอบอุ่นและการเริ่มต้นใหม่

ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ mushroomtravel ระบุว่า ฤดูใบไม้ผลิของรัสเซียจะเริ่มตั้งแต่เดือน มีนาคม – พฤษภาคม โดยในช่วงนี้อากาศจะเย็นสบาย ไม่หนาวจัดเหมือนในฤดูหนาวที่เพิ่งผ่านมา อุณหภูมิประมาณ 5 – 15 องศาเซลเซียส 

ตรงกันข้ามกับฤดูหนาว (ธันวาคม-กุมภาพันธ์) อุณหภูมิประมาณ -10 องศาในเดือนธันวาคม อีกทั้งมีหิมะตกหนักในช่วงกลางเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนเดือนที่หนาวที่สุดคือเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ย -15 ถึง -30 องศาเซลเซียส 

จับตาชาติตะวันตกปักธงเอเชียกลาง หวังลดบทบาทมอสโก ฮุบพลังงานเป็นของตัวเอง

(5 มี.ค. 68) สำนักข่าว Sputnik รายงานว่า ภูมิภาคเอเชียกลางเอเชียกลาง กลายเป็นหัวข้อการประชุมใน “วัลได ดิสคัสชั่น คลับ” (Valdai discussion club) ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญและบุคคลทางการเมืองมากกว่า 50 คนจากอินเดีย อิหร่าน คาซัคสถาน จีน คีร์กีซสถาน มองโกเลีย ปากีสถาน รัสเซีย ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน เข้าร่วม

อเล็กซานเดอร์ สเติร์นนิค (Alexander Sternik) ผู้อำนวยการแผนกที่สามของกลุ่มประเทศ CIS ของกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย กล่าวในงานประชุมว่า “กลุ่มยูโร-แอตแลนติกได้เชื่อมโยงเอเชียกลางเข้ากับยุโรปตะวันตก ผ่านทางคอเคซัสใต้ เพื่อลดความสนใจของภูมิภาคเหล่านี้ในการร่วมมือกับรัสเซีย”

“สเตอนิกเน้นย้ำว่าชาติตะวันตกมีความสนใจในการเข้าถึงแหล่งพลังงาน และศักยภาพในการขนส่งของประเทศต่างๆ ในเอเชียกลาง รวมถึงความใกล้ชิดกับอัฟกานิสถาน อิหร่าน รวมถึงจีน” 

ฟีโอดอร์ ลูเกียอานอฟ (Fyodor Lukyanov) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยที่วัลได ดิสคัสชั่น คลับ มีความคิดเห็นสนับสนุนความคิดของสเติร์นนิค โดยเขาระบุว่า “นักลงทุนจากภายนอก ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเอเชียกลาง จะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะฉีกส่วนต่างๆ ของภูมิภาคออกไป และใช้ประโยชน์จากส่วนเหล่านี้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง” 

เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา!! ‘ทรัมป์’ ขู่จะแซงชั่น ‘ปูติน’ ‘สีจิ้นผิง’ แอบอมยิ้ม!!

(8 มี.ค. 68) รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 'Aksornsri Phanishsarn' โดยมีใจความว่า ...

#จักรพรรดิทรัมป์ ชอบข่มขู่คนอื่น !! 7 มีนา 2025 โพสต์ขู่ #ปูติน อีกแล้ววววว #จอมยุทธ์ไร้กระบวนท่า แบบทรัมป์ชอบกลับลำ/เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแบบนี้ #สีจิ้นผิง แอบอมยิ้ม  

สงสัยทีมงานจักรพรรดิทรัมป์ไม่เคยโชว์ข้อมูลให้แก ลุงทรัมป์แกเลยไม่รู้ว่า การ sanction แบบนี้มันไม่กระทบรัสเซียจ้า

รัสเซียโดนแซงชั่นชุดใหญ่จากพวกฝรั่งรุมถล่มรัสเซีย แต่ตัวเลขเศรษฐกิจ GPD รัสเซียยังโตต่อเนื่อง ปี 2023-2024 แถมโตกว่า ฝรั่งยุโรปหลายประเทศ

รัสเซียมีจีนสุดซี้หนุนอยู่ค่า ทุบยังไงก็ไม่พัง

ฝรั่งยุโรปหลายประเทศซิค่ะ ไปแซงชั่นรัสเซีย แต่เศรษฐกิจตัวเองน่วมเองจ้า (ตย เศรษฐกิจเยอรมันย่ำแย่มากค่า)


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top