อดีตนักวิเคราะห์จับตาประชุมริยาดจุดชนวนยุโรประส่ำ สหรัฐฯ ถอย เปิดทางดีลรัสเซียยุติสงครามยูเครน

(19 ก.พ.68) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งฝ่ายรัสเซียและสหรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างหารือพบปะกันที่กรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดิอาระเบีย เพื่อหาแนวทางยุติความขัดแย้งในยูเครน ซึ่งกำลังใกล้จะครบรอบ 3 ปี ที่ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างเปิดฉากสงครามกัน ซึ่งประเด็นดังกล่าว ทางสำนักข่าว Sputnik ได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์นี้   

โดยนาย ไมเคิล มาโลฟ อดีตนักวิเคราะห์นโยบายความมั่นคงระดับสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เผยกับสื่อรัสเซียว่า ที่ผ่านมาแนวทางที่ยุโรปและยูเครนต้องการ ซึ่งก็คือการเอาชนะรัสเซียในสนามรบเพื่อยุติสงครามตัวแทนครั้งนี้ แต่แนวทางดังกล่าวได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล และพวกเขาก็ไม่สามารถปกป้องตนเองได้ นั่นทำให้มองได้ว่าหลังจากที่สหรัฐเปลี่ยนรัฐบาลสู่ยุคประธานาธิบดีทรัมป์ พร้อมกับมีการประชุมที่ริยาดอาจเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในภูมิรัฐศาสตร์โลก  

"ผมมองว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของ NATO" มาโลฟกล่าว "ในที่สุด เราอาจได้เห็นยุโรปเปลี่ยนไปใช้ระบบพันธมิตรด้านกลาโหมระดับภูมิภาคแทนที่จะคงโครงสร้างองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่มีสมาชิก 32 ประเทศ ซึ่งแทบจะไม่สามารถตัดสินใจเป็นเอกฉันท์ในเรื่องใด ๆ ได้เลย"

มาโลฟวิเคราะห์ว่าการประชุมที่ริยาดสะท้อนให้เห็นการยอมรับความจริงของสหรัฐฯ ในหลายประเด็น ได้แก่  

1.  ไม่ใช่ยุโรปหรือรัฐบาลเซเลนสกี ที่จะมีหน้าที่เป็นตัวแสดงหลักที่มีบทบาทสำคัญต่อการยุติสงครามในยูเครน แต่คือรัสเซียและสหรัฐฯ จะเป็นผู้ชี้ชะตาในเรื่องนี้

2. วอชิงตันกำลังหันกลับมาใช้แนวคิดเรื่อง 'ขอบเขตอิทธิพล' แทนที่จะเดินหน้าสร้างระเบียบโลกแบบขั้วเดียวต่อไป  

3. สหรัฐฯ ไม่ต้องการเป็นผู้สนับสนุนสงครามของยุโรปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หันมาให้ความสำคัญกับซีกโลกตะวันตกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรีนแลนด์ ปานามา หรือแคนาดา แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่ยุโรป  

"ทรัมป์ต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่แตกร้าวกับมอสโก และมองว่ารัสเซียเป็นคู่เจรจาที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ฝ่ายที่สหรัฐฯ จะพูดจาสั่งสอนเครมลินเหมือนที่รัฐบาลไบเดนทำ" นักวิเคราะห์กล่าว  

นอกจากนี้ ทรัมป์ในฐานะนักธุรกิจ ยังตระหนักว่าสหรัฐฯ ไม่สามารถทำสงครามทั่วโลกได้ และควรใช้แนวทางแข่งขันทางเศรษฐกิจและความร่วมมือมากกว่าการเผชิญหน้า  

สำหรับยุโรป มาโลฟมองว่ายุโรปกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการตัดสินใจของตนเอง "พวกเขาทำลายเศรษฐกิจตัวเองโดยการตัดขาดพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม คุณภาพชีวิต และขีดความสามารถในการผลิตของตัวเอง ประชาชนในประเทศเหล่านี้เริ่มตั้งคำถามแล้วว่าผู้นำของพวกเขากำลังทำอะไรอยู่"

มาโลฟสรุปว่า ขณะที่ชนชั้นนำของยุโรปยังคงเดินหน้าในแนวทางที่เป็นผลเสียต่อประชาชน เสียงสะท้อนจากสังคมอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ยุโรปต้องทบทวนแนวทางของตนเองใหม่