Tuesday, 20 May 2025
รัสเซีย

‘อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์’ เผย!! ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ ที่ ‘รัสเซีย’ จะสร้างให้ ‘เมียนมา’ ชี้!! ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบ SMR เล็ก ทันสมัย ไม่กระจายกัมมันตรังสี มาที่ไทย

(8 มี.ค. 68) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า …

"โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่รัสเซียจะสร้างให้เมียนมา น่าจะเป็นแบบนี้ครับ"

ตอนนี้ กำลังเป็นข่าวฮอตเลย กับเรื่องที่ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ของประเทศเมียนมา และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้ลงนามร่วมกันที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งห่างจากชายแดนไทยที่จังหวัดกาญจนบุรีแค่ 132 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ แค่ 300 กิโลเมตร ทำเอาหลายต่อหลายคนกังวลว่า จะเกิดผลกระทบอะไรตามมาหรือเปล่าถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้น ?

ปัญหาคือตอนนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าว ว่าจะใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง มีเพียงแค่บอกว่า จะมีขนาดกำลังการผลิต 110 เมกะวัตต์ และใช้เทคโนโลยีของรัสเซียเอง ตามบันทึก MOU เพื่อพัฒนาการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้อย่างสันติ ที่ลงนามไปตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2565 แล้ว

ผมก็ได้สอบถามไปทางผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานนิวเคลียร์ ของจุฬาฯ คือ อาจารย์ดิว (ผศ. ดร. พงษ์แพทย์ เพ่งวาณิชย์) ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ .. 

อาจารย์ดิว ให้ความเห็นว่า แม้ตอนนี้จะยังไม่มีรายงานถึงชนิดของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เมียนมาจะใช้ แต่ก็น่าจะเป็นเครื่อง RITM-200N จำนวน 2 เครื่อง (เครื่องละ 55 เมกะวัตต์) ตามแบบที่รัสเซียไปเซ็นสัญญาสร้างให้กับประเทศอุซเบกิสถาน เมื่อปีที่แล้ว (มิถุนายน 2024) เพราะปรกติจะไม่ค่อยมีการออกแบบดีไซน์เครื่องกันใหม่บ่อยๆ อย่างมากก็เอาแบบเดิมนี้ไปปรับขยายกำลังการผลิต

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็น่าจะอยู่ในกลุ่มของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ชุดโมดุลาร์ ขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่า SMR (small modular reactor) คล้ายกับที่ผมเคยติดตามคณะทำงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ไปดูงานที่เกาะไหหลำ ประเทศจีนมาแล้ว และไทยเรากำลังสนใจอย่างยิ่งที่จะนำเอามาใช้ผลิตไฟฟ้าบ้าง

โรงงานไฟฟ้าที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบ SMR นี้ มีขนาดเล็กและทันสมัยมาก อุปกรณ์หลักทุกอย่างอยู่ในชุดโมดุลเดียวกัน และติดตั้งอยู่ภายใต้อาคารหลังเดียวได้ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่ได้สูงมากนัก (เช่น เหมาะกับการจ่ายไฟฟ้าในกับเมืองๆ เดียว หรือกับพวกศูนย์เดต้าเซนเตอร์ ของบริษัทเทค ) ทำให้สามารถควบคุมความปลอดภัยได้ง่ายและในวงแคบ แค่ระดับไม่เกิน 1 กิโลเมตรเท่านั้น .. จึงมั่นใจได้ว่า ไม่ได้จะเกิดอันตรายในวงกว้าง เหมือนอย่างโรงไฟฟ้าโบราณ แบบเชอร์โนบิล ที่จะแพร่กระจายกัมมันตรังสีมาถึงไทยเราได้

(แต่ๆๆ อันนี้เป็นเทคโนโลยีที่สร้างโดยรัสเซีย และให้เมียนมาดูแลต่อ ซึ่งก็ยังมีสงครามกลางเมืองกันอยู่ .. ถึงจะมีหน่วยงานสากล อย่าง IAEA มากำกับ ผมก็รับประกันความปลอดภัยไม่ได้เต็มปากเต็มคำนะครับ ฮะๆ)

เอาข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ RITM-200N ที่รัสเซียขายและติดตั้งให้กับอุซเบกิสถาน มาให้อ่านด้านล่างนี้ครับ

- ภายหลังจากที่มีการเยือนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซียไปยังอุซเบกิสถานแล้ว เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2024 หน่วยงานกลางว่าด้วยพลังงานปรมาณู (หรือ Rosatom) ของประเทศรัสเซีย ได้ลงนามสัญญาเพื่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (small modular reactor nuclear power plant หรือ SNPP) ที่ออกแบบโดยรัสเซีย ในประเทศอุซเบกิสถาน นับเป็นการส่งออกโรงไฟฟ้า SNPP ขั้นสูงเป็นครั้งแรกของโลก และจะลงมือสร้างโดยทันที โครงการนี้จะใช้เงินจากอุซเบกิสถาน โดยไม่กู้จากรัฐบาลรัสเซีย

- โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะสร้างขึ้นในอุซเบกิสถาน จะกลายเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าพื้นฐาน สำหรับระบบพลังงานของประเทศ โดยเครื่องปฏิกรณ์หน่วยแรก มีกำหนดจะเริ่มทำงานในปลายปี 2029 และเครื่องต่อไปจะค่อยๆ ถูกเปิดใช้งานทีละหน่วย ตามประมาณการความต้องการพลังงานของอุซเบกิสถาน ที่จะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ภายในปี 2050 โดยอุชเบกิสถานสนใจทั้งโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กนี้ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่

- โครงการนี้ จะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 330 เมกะวัตต์ ในภูมิภาค Jizzakh ของอุซเบกิสถาน และโรงไฟฟ้าจะใช้เครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ 6 เครื่อง แต่ละเครื่องมีกำลัง 55 เมกะวัตต์ (รวมเป็น 330 เมกะวัตต์) โดยมีบริษัท AtomStroyExport (ASE) ของรัสเซียเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างหลัก และให้บริษัทอื่นๆ ในประเทศเมียนมา เข้าร่วมโครงการก่อสร้างนิวเคลียร์อย่างกว้างขวางด้วย
(บริษัท AtomStroyExport เป็นบริษัทรับเหมาหลักของรัสเซีย ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ Rosatom มีประสบการณ์ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่งทั่วโลก เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Kudankulam ในอินเดีย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Bushehr ในอิหร่าน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Akkuyu ในตุรกี และมีบทบาทสำคัญในการสร้างโรงไฟฟ้า SNPP ในอุซเบกิสถาน ซึ่งเป็นโครงการส่งออก SNPP แห่งแรกของโลก )

- ได้มีการสำรวจทางวิศวกรรมบนบริเวณที่จะสร้าง เพื่อยืนยันความเหมาะสมสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่ง ASE กล่าวว่างานก่อสร้างบนสถานที่ จะเริ่มในเดือนกันยายน 2024 โดยเริ่มจากการสำรวจที่ดิน และการจัดตั้งค่ายก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน 

- สำหรับเครื่องปฏิกรณ์ตามข้อตกลง จะใช้เครื่องปฏิกรณ์ RITM-200 แบบระบายความร้อนด้วยน้ำ ซึ่งมีอายุการใช้งาน 60 ปี งานออกแบบเครื่องปฏิกรณ์เริ่มขึ้นในปี 2001 โดยบริษัทวิศวกรรมนิวเคลียร์ OKBM Afrikantov ในเครือของ Rosatom 

- ข้อดีสำคัญที่สุดของ RITM-200 คือ มีการติดตั้งหน่วยผลิตไอน้ำขนาดเล็ก รวมเอาไว้อยู่ในเครื่องปฏิกรณ์ (ไม่ได้แยกส่วน เหมือนพวกเครื่องปฏิกรณ์ขนาดใหญ่ ทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุอันตรายลง) มีแกนเครื่องปฏิกรณ์ที่มีพลังงานสูง และมีเครื่องกำเนิดไอน้ำ ที่มีพื้นผิวแลกเปลี่ยนความร้อน ขนาดกะทัดรัด นอกจากนี้ ระบบความปลอดภัยและควบคุมของเครื่องนั้น เป็นไปตามข้อกำหนดล่าสุด ด้านความปลอดภัยโดยธรรมชาติและการปกป้องสิ่งแวดล้อม และใช้งานง่าย

- ตั้งแต่ปี 2012 มีเครื่องปฏิกรณ์ RITM-200 จำนวน 10 เครื่อง ได้ถูกผลิตขึ้นสำหรับเรือตัดน้ำแข็งนิวเคลียร์อเนกประสงค์ ห้าลำของรัสเซีย ตาม Project 22220 โดยเครื่องปฏิกรณ์ 6 เครื่อง ได้ติดตั้งบนเรือตัดน้ำแข็ง Arktika, Sibir และ Ural ซึ่งใช้งานอยู่ ขณะที่มีการก่อสร้างอีก 2 ลำ คือเรือ Yakutia และ Chukotka ที่กำลังจะเสร็จสิ้น

- เครื่องปฏิกรณ์ RITM-200 ยังจะถูกติดตั้งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ลอยน้ำ เพื่อจ่ายพลังงานให้กับเหมือง Baimsky GOK ใน Chukotka อีกด้วย และมีการดัดแปลงการออกแบบของเครื่องปฏิกรณ์รุ่นนี้ เพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องปฏิกรณ์หน่วยที่ 1 ของโรงไฟฟ้า SNPP ของสาธารณรัฐ Yakutian หนึ่งในเขตปกครองของสหพันธรัฐรัสเซีย 

- โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ชนิด SNPP นั้นกำลังเป็นที่ต้องการ โดยมีหลายประเทศที่มีความสนใจในเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ ที่ออกแบบโดยรัสเซีย ซึ่งเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2024 รัฐบาลรัสเซียได้อนุมัติร่างข้อตกลงเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของความร่วมมือ ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กในเมียนมา ข้อตกลงดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะสร้าง SNPP ที่มีกำลังไฟฟ้าขั้นต่ำ 110 เมกะวัตต์ในประเทศนี้ และโรงไฟฟ้านี้จะติดตั้งเครื่องปฏิกรณ์แบบระบายความร้อนด้วยน้ำ ของรัสเซีย

- โรงไฟฟ้า SNPP ที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์ RITM-200 นั้น ไม่ใช่เทคโนโลยีเดียวที่ประเทศอื่นๆ สนใจ ปลายเดือนพฤษภาคม 2024 ที่ผ่านมา อเล็กซีย์ ลิคาเชฟ ได้จัดการประชุมตามปกติกับ อจิต คุมาร โมฮันตี้ ประธานคณะกรรมการพลังงานปรมาณูของอินเดียและเลขานุการของรัฐบาลอินเดีย กระทรวงพลังงานปรมาณู พวกเขาได้พบกันที่ Seversk ณ สถานที่ก่อสร้างโรงงานผลิตพลังงานสาธิตที่จะประกอบด้วยเครื่องปฏิกรณ์ BREST-300-OD แบบนิวตรอนเร็ว ระบายความร้อนด้วยตะกั่ว และหน่วยแปรรูปเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วและการผลิตเชื้อเพลิงใหม่/การผลิตเชื้อเพลิงใหม่ บนสถานที่ ซึ่งสร้างขึ้นภายใต้โครงการ Proryv (ภาษารัสเซีย แปลว่า 'การพัฒนา') ซึ่งตามการจำแนกประเภทของ IAEA เครื่อง BREST-OD-300 นี้ ถูกจัดประเภทเป็นเครื่องปฏิกรณ์กำลังต่ำ (สูงสุด 300 เมกะวัตต์)

รัสเซียไม่ใช่ศัตรูของประชาชนยุโรป ศัตรูตัวจริงของพวกคุณ(ประชาชนยุโรป) คือผู้นำของพวกคุณเองนั่นแหละ

(9 มี.ค. 68) อินฟลูทวีตในเอ็กซ์ ข่าวแถลงการณ์ของปูติน ต่อประเทศในยุโรป ที่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทอดทางทีวีช่องหนึ่งของโครเอเชีย

ปูตินแถลงต่อยุโรปว่า ”รัสเซียไม่เคยเป็น และจะไม่เป็นศัตรูของยุโรป“

“พวกเรา(รัสเซีย) ไม่ต้องการทรัพยากร หรือความมั่งคั่งจากยุโรป พวกเรามีทรัพยากรของตนเอง และมีความมั่งคั่งในระดับหนึ่ง ว่าไปแล้วรัสเซียเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลก ในเชิงความมั่งคั่งของทรัพยากรธรรมชาติ”

”พวกเราไม่ได้ต้องการดินแดนของพวกคุณ ดูจากแผนที่สิ! แผ่นดินรัสเซียนั้นกว้างใหญ่ขนาดไหน ขนาดของพื้นที่รัสเซียกว้างใหญ่เป็นเท่าตัวของทั้งยุโรปเสียอีก แล้วทำไมพวกคุณถึงคิดว่าพวกเราจะมายึดเอาแผ่นดินของคุณไป อีกอย่างพวกเราเอาไปทำประโยชน์อะไร”

“ทำไมพวกคุณถึงคิด(ไปเอง) ว่ารัสเซียเป็นศัตรูของยุโรป? พวกเราไปสร้างความเสียหายอะไรไว้ให้แก่พวกคุณ?”

“ใช่พวกเราไหม ที่เคยขายแก๊ส และวัตถุดิบเพื่อการผลิตในราคาที่ถูกกว่า ”มิตรประเทศ“ ที่กำลังขายให้พวกคุณอยู่ในปัจจุบัน? ”

“ใช่พวกเราไหม ในอดีตที่ยอมพลีชีพกว่า 20 ล้านคนในสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อช่วยพวกคุณจัดการกับนาซี?”

“ใช่พวกเราไหม ที่เป็นประเทศแรกที่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ แก้สถานการณ์โรคระบาด(โควิด19) ในยุโรป?“

”ใช่พวกเราไหม ที่ให้ความช่วยเหลือทุกครั้งที่เกิดภัยธรรมชาติกับประเทศในยุโรป?“

แน่นอนว่า “คำตอบ” ของทุกคำถามข้างต้นคือ“ใช่เป็นรัสเซีย”

“แล้วเช่นนั้น รัสเซียได้ไปทำอะไรไว้กับยุโรป จนพวกคุณถึงได้เกลียดชังเราได้ถึงปานนั้น?”

ปูตินปิดแถลงการณ์ว่า คนยุโรปน่าจะถึงเวลาถามตัวเองแล้วว่าใครกันแน่ ที่เป็นศัตรูของพวกเขา

”รัสเซียไม่ใช่ศัตรูของประชาชนยุโรป ศัตรูตัวจริงของพวกคุณ(ประชาชนยุโรป) คือผู้นำของพวกคุณเองนั่นแหละ!!

นักการเมือง ยุโรปตะวันออก ถกเถียง เรื่อง ‘ลุยก่อน’ เล่นงาน!! ‘รัสเซีย’

(9 มี.ค. 68) บรรดาชาติยุโรปตะวันออกกำลังพูดคุยกันอย่างจริงจังถึงความเป็นไปได้ในการโจมตีรัสเซียก่อนเสียเอง ทั้งที่รัสเซียกับสหรัฐฯ เพิ่งจะเริ่มต้นกระบวนการเจรจาสันติภาพกันไปหมาดๆ

Kuper ฟันธงว่าการที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงท่าทีอ่อนข้อให้รัสเซีย กำลังปลุกวิญญาณสงครามเย็นให้คืนชีพ พร้อมกับขีดเส้นแบ่งระหว่าง “ยุโรปตะวันออก” กับ “ยุโรปตะวันตก” ขึ้นมาใหม่ ฝั่งหนึ่งเห็นรัสเซียเป็นภัยคุกคามระดับชาติ อีกฝั่งกลับทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน

“พวกเรารู้ดี และนั่นแหละคือเหตุผลว่าทำไมบางประเทศของเราถึงเริ่มตั้งคำถามกันว่า ‘ทำไมเราต้องมานั่งรอให้รัสเซียซัดเราก่อน? ทำไมไม่ลุยก่อนเลย?’” นักการเมืองชื่อดังคนหนึ่งจากยุโรปตะวันออกแอบกระซิบกับนักข่าวแบบไม่เปิดเผยชื่อ ฟังดูแล้วชวนให้คิดว่าเรื่องนี้อาจไม่ได้เป็นแค่คำพูดลอยๆ

โปแลนด์-บอลติก: ถ้าปล่อยรัสเซียรอด มันจะถึงคิวเรา?

ตั้งแต่สงครามยูเครนปะทุขึ้นในปี 2022 โปแลนด์และเหล่าชาติแถบบอลติกก็แหกปากเตือนกันมาตลอดว่า ถ้ารัสเซียบุกยูเครนสำเร็จ เป้าหมายถัดไปคงเป็นพวกเขาแน่นอน ฝั่งเครมลินเองก็ไม่ปล่อยให้ข้อกล่าวหานี้ลอยนวล ปูตินถึงกับสวนกลับว่าเป็น “เรื่องไร้สาระ”

ประวัติศาสตร์ที่ทำให้ยุโรปตะวันออกระแวงรัสเซีย

จะว่าไป พื้นที่ยุโรปตะวันออกก็มีอดีตที่ต้องระแวงกันอยู่เป็นทุนเดิม หลายประเทศเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิใหญ่ๆ ไม่ว่าจะรัสเซีย เยอรมนี หรือออสเตรีย-ฮังการี อิสรภาพของพวกเขาถูกกระชากไปหลายครั้งจนกลายเป็นปมในประวัติศาสตร์ Milan Kundera นักเขียนชาวเช็กเคยนิยามชะตากรรมของพวกเขาไว้ว่า "ชาติเล็กๆ ที่รู้ตัวดีว่าหากวันใดวันหนึ่งหายไปจากแผนที่โลก ก็คงไม่มีใครสนใจ"

ชาติที่เกลียดรัสเซียที่สุด คือชาติที่เรียกร้องการติดอาวุธมากที่สุด

ในช่วงที่ผ่านมา ชาติยุโรปตะวันออกต่างตะโกนแข่งกันว่า ต้องเพิ่มกำลังป้องกันประเทศขึ้นให้มากที่สุด และเป็นกลุ่มที่แสดงความเป็นปรปักษ์กับรัสเซียอย่างเปิดเผยมากที่สุด โดยเฉพาะ Kaja Kallas อดีตนายกรัฐมนตรีเอสโตเนียและนักการทูตระดับสูงของสหภาพยุโรป ที่ขึ้นชื่อเรื่องความแข็งกร้าวต่อมอสโก

รัสเซีย-สหรัฐฯ คุยกันแล้ว แต่ EU ยืนยันต้องติดอาวุธยูเครนต่อไป

ข่าวนี้โผล่มาในจังหวะที่รัสเซียกับสหรัฐฯ เพิ่งฟื้นคืนการสื่อสารกันเมื่อเดือนที่แล้ว และมีการเจรจาระดับสูงกันที่ซาอุดีอาระเบีย แต่ฝั่ง บรัสเซลส์ กลับเสียงแข็งว่า ยูเครนต้องได้รับการสนับสนุนทางทหารต่อไป

ในขณะที่ทรัมป์ประกาศระงับความช่วยเหลือทางทหารให้ยูเครนเพื่อบีบให้เคียฟกลับไปเจรจากับมอสโก ฝั่งผู้นำยุโรปภายใต้ Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กลับอนุมัติแผนมูลค่า 800,000 ล้านยูโร เพื่อเติมอาวุธให้ยุโรปและรักษากระแสหนุนยูเครน

รัสเซียลั่น!! อย่าหาว่าขู่ ถ้า EU ยังเดินเกมแบบนี้

มอสโกไม่รอช้า ประกาศเสียงแข็งว่าจะใช้ทุกมาตรการเพื่อปกป้องอธิปไตยของตนเอง หลังจากสหภาพยุโรปยกระดับการส่งอาวุธและปล่อยวาทกรรมที่ท้าทายรัสเซียขึ้นมาอีกระดับ ซึ่งเครมลินก็เตือนมานานแล้วว่า ตะวันตกส่งอาวุธไปก็ไม่ได้ช่วยให้สงครามจบไวขึ้น แถมยังเพิ่มโอกาสที่นาโตจะต้องเผชิญหน้ากับรัสเซียโดยตรง

งานนี้จะลงเอยอย่างไร? 

ยุโรปตะวันออกจะเอาจริงกับแผน ‘ซัดก่อน’ หรือไม่? 

คงต้องจับตาดูให้ดี เพราะเดิมพันครั้งนี้อาจใหญ่กว่าที่หลายคนคิด!!

จีน-รัสเซีย-อิหร่าน ประกาศซ้อมรบทางทะเล ยกระดับความร่วมมือทางทหาร กระชับอำนาจในอ่าวเปอร์เซีย

(11 มี.ค. 68) สำนักข่าว Sputnik รายงานว่า กระทรวงกลาโหมจีนประกาศว่า จีน, รัสเซีย และอิหร่าน จะร่วมกันซ้อมรบทางทะเลบริเวณน่านน้ำใกล้ท่าเรือจาบาฮาร์ของอิหร่าน ในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้

แถลงการณ์จากกระทรวงกลาโหมจีนระบุว่า การซ้อมรบครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่ การเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล การต่อต้านภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์ และการประสานงานทางทหาร ระหว่างกองทัพเรือของทั้งสามประเทศ ซึ่งถือเป็นการขยายความร่วมมือทางทหารที่สำคัญ

การซ้อมรบระหว่าง จีน-รัสเซีย-อิหร่าน เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศที่มีความตึงเครียด โดยก่อนหน้านี้ รัสเซียเพิ่งเสร็จสิ้นการซ้อมรบครั้งใหญ่ "Ocean-2024" ในทะเลญี่ปุ่นร่วมกับจีน ขณะที่จีนและอิหร่านก็กำลังพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารอย่างต่อเนื่อง

นักวิเคราะห์มองว่าการซ้อมรบครั้งนี้ อาจเป็นการส่งสัญญาณถึงชาติตะวันตกว่า พันธมิตรฝั่งตะวันออกกำลังแข็งแกร่งขึ้น และพร้อมปกป้องผลประโยชน์ของตนในภูมิภาค โดยเฉพาะในบริเวณอ่าวเปอร์เซียและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจและการทหาร

ทั้งนี้ รายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบการซ้อมรบ รวมถึงจำนวนกองกำลังและยุทโธปกรณ์ที่เข้าร่วม ยังคงต้องรอติดตามจากแถลงการณ์เพิ่มเติมของทั้งสามประเทศ

‘เซเลนสกี’ เยือนซาอุฯ เข้าเฝ้าเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน หารือความร่วมมือทวิภาคีท่ามกลางสงครามยูเครน-รัสเซีย

(11 มี.ค. 68) สื่อซาอุดีอาระเบียรายงานว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ได้พบปะกับประธานาธิบดียูเครน โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ที่พระราชวังอัล-ซาลาม ในเมืองเจดดาห์ เมื่อช่วงค่ำวันจันทร์ (10 มี.ค.) โดยมีพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะหารือเกี่ยวกับประเด็นสำคัญระดับทวิภาคีและระดับนานาชาติ

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซีย ขณะที่ซาอุดีอาระเบียยังคงรักษาบทบาทเป็นมหาอำนาจในตะวันออกกลางที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจในระดับโลก

สำนักข่าวของทางการซาอุดีอาระเบียระบุว่า มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน และประธานาธิบดีเซเลนสกี ได้หารือถึงแนวทางการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และพลังงานระหว่างสองประเทศ รวมถึงการสนับสนุนยูเครนในด้านมนุษยธรรมและการฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของสงคราม

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมถึงความพยายามในการหาทางออกทางการทูตสำหรับความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่

แหล่งข่าวระบุว่า ซาอุดีอาระเบีย มีบทบาทสำคัญในเวทีโลกด้านพลังงาน และการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง โดยได้แสดงท่าทีสนับสนุนแนวทางสันติภาพ รวมถึงการแก้ไขปัญหาผ่านกระบวนการทางการทูตมาโดยตลอด

การพบปะครั้งนี้สะท้อนถึงความพยายามของทั้งสองประเทศในการกระชับความสัมพันธ์และร่วมมือกันในหลายมิติ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความมั่นคงของหลายประเทศ

รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ ชี้หากยูเครนต้องการสันติภาพกับมอสโก ต้องยอมสละดินแดนบางส่วนที่รัสเซียยึดครองมาตั้งแต่ปี 2014

(12 มี.ค. 68) สำนักข่าวนิวยอร์กโพสต์ รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ มาร์โก รูบิโอ (Marco Rubio) กล่าวถึง ยูเครนจำเป็นต้องยอมรับการสูญเสียดินแดนที่รัสเซียยึดครองตั้งแต่ปี 2014 เพื่อให้เกิดข้อตกลงสันติภาพกับมอสโก

รูบิโอระบุว่า การยอมรับความเป็นจริงทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการยุติสงครามที่ยืดเยื้อและลดความสูญเสียเพิ่มเติม เขาเน้นย้ำว่าการคาดหวังให้ยูเครนได้ดินแดนกลับคืน เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

“ผมคิดว่าทั้งสองฝ่ายต้องเข้าใจว่า ตอนนี้ไม่มีวิธีแก้ไขด้วยกำลังทหารสำหรับสถานการณ์” นายรูบิโอกล่าว “รัสเซียไม่สามารถยึดครองยูเครนได้ทั้งหมด และจะเป็นเรื่องยากมากสำหรับยูเครนที่จะผลักดันรัสเซียกลับไปเป็นเหมือนในปี 2014 ภายในระยะเวลาอันสมควร”

คำกล่าวของรูบิโอเกิดขึ้นก่อนการเจรจาสันติภาพที่กำลังจะมีขึ้นในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งสหรัฐฯ เป็นผู้ประสานงาน แต่ทว่า ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี จะไม่เข้าร่วมการเจรจาโดยตรง แต่จะส่งผู้แทนเข้าร่วมแทน

นอกจากนี้ รูบิโอยังระบุว่า สหรัฐฯ อาจพิจารณากลับมาให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนอีกครั้ง ขึ้นอยู่กับผลการเจรจาในครั้งนี้ แม้ว่าสหรัฐจะยุติการแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองบางส่วนกับยูเครนแล้ว รวมถึงภาพถ่ายดาวเทียม แต่รูบิโอกล่าวว่าวอชิงตันยังคงให้ข้อมูลแก่เคียฟอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้เคียฟสามารถป้องกันตนเองจากการโจมตีของรัสเซียต่อไปได้ เขายังกล่าวอีกว่าไม่มีภัยคุกคามในการยุติการเข้าถึงโครงข่ายดาวเทียม Starlink ของยูเครน ซึ่งเป็นบริการอินเทอร์เน็ตจาก SpaceX ของมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ (Elon Musk)

อย่างไรก็ตาม นักการทูตตะวันตกเตือนว่า ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ไม่มีแนวโน้มที่จะประนีประนอม และยืนยันที่จะรักษาดินแดนที่ยึดครองไว้ทั้งหมด

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงท่าทีของรูบิโอ ซึ่งเคยเป็นผู้วิจารณ์รัสเซียอย่างแข็งขัน แสดงถึงการปรับนโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ 

ยูเครนตอบรับข้อเสนอจากสหรัฐฯ ยอมหยุดยิง 30 วัน กลายเป็นก้าวแรกในการยุติสงครามกับรัสเซีย

(12 มี.ค. 68 ) สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ยูเครน ยอมรับข้อเสนอจากสหรัฐอเมริกาในการหยุดยิง เป็นระยะเวลา 30 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจาสันติภาพกับ รัสเซีย หลังจากมีการพูดคุยระหว่างรัฐบาลของทั้งสองฝ่าย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และพันธมิตรในยุโรป โดยข้อเสนอนี้ถูกมองว่าเป็นความพยายามในการบรรเทาความรุนแรงและสร้างพื้นที่สำหรับการเจรจาทางการเมืองที่ยั่งยืนในภูมิภาคที่เกิดความขัดแย้งมายาวนาน

ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครนได้ออกมาประกาศว่าฝ่ายรัฐบาลยินดีที่จะรับข้อเสนอดังกล่าวเพื่อเปิดโอกาสในการพิจารณาทางเลือกในการยุติสงคราม ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในยูเครน และช่วยลดการสูญเสียชีวิตของพลเรือนรวมถึงทหารของทั้งสองฝ่าย

แถลงการณ์จากทำเนียบขาว ระบุว่า สหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนการหยุดยิงนี้อย่างเต็มที่ และย้ำว่า การหยุดยิงเป็นขั้นตอนสำคัญในการลดความตึงเครียด และเปิดทางให้การเจรจาสันติภาพดำเนินต่อไปได้ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามข้อตกลงโดยไม่มีเงื่อนไข โดยขอให้ยึดความสำคัญของการยุติการใช้ความรุนแรง

“วันนี้เราได้เสนอข้อตกลงที่ยูเครนยอมรับแล้ว ซึ่งก็คือการหยุดยิงและจะเริ่มเจรจากันทันที” มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว “ตอนนี้เราจะนำข้อเสนอนี้ไปให้รัสเซีย และเราหวังว่าพวกเขาจะบอกว่าใช่ เพื่อสันติภาพ และตอนนี้ลูกบอลอยู่ในสนามของพวกเขาแล้ว” 

แม้ว่าการหยุดยิงจะมีระยะเวลาจำกัดเพียง 30 วัน แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างบรรยากาศของความไว้วางใจระหว่างทั้งสองฝ่าย ในขณะที่ฝ่ายรัสเซียยังคงเงียบต่อข้อเสนอและยังคงยืนยันจุดยืนที่เกี่ยวข้องกับการขยายอำนาจในภูมิภาค

นักวิเคราะห์ระบุว่า การหยุดยิงนี้จะเป็นเครื่องมือในการลดความรุนแรงและเป็นช่องทางให้ประเทศต่าง ๆ สามารถเข้ามามีบทบาทในการไกล่เกลี่ยเพื่อหาทางออกที่ยั่งยืนสำหรับสถานการณ์ที่ยืดเยื้อมานาน

สำหรับกระแสความคิดเห็นในยูเครน มีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้านการหยุดยิง โดยฝ่ายที่คัดค้านยืนยันว่าไม่สามารถยอมรับการหยุดยิงที่อาจทำให้ยูเครนเสียพื้นที่ที่ได้ต่อสู้มา แต่ฝ่ายที่สนับสนุนเห็นว่า การเจรจาสันติภาพมีความสำคัญต่อการยุติสงครามและการฟื้นฟูประเทศในระยะยาว

ทั้งนี้ สหรัฐฯ และพันธมิตรจะติดตามผลการหยุดยิงอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าทั้งสองฝ่ายจะปฏิบัติตามข้อกำหนดและสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการเจรจาสันติภาพในอนาคต

‘ปูติน’ ลงพื้นที่เยือนศูนย์บัญชาการทหารในเคิร์สก์ มุ่งเสริมความมั่นคงรับมือภัยคุกคามจากฝ่ายตรงข้าม

(13 มี.ค. 68) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียลงพื้นที่เยือน ศูนย์บัญชาการทหาร ที่ควบคุมการปฏิบัติการใน ภูมิภาคเคิร์สก์ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญที่มีความตึงเครียดทางทหารในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยการเยือนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค และสั่งการให้ดำเนินมาตรการที่เข้มงวดในการป้องกันไม่ให้เกิดภัยคุกคามจากกองกำลังฝ่ายตรงข้าม

ปูตินได้เสนอแนวทางการจัดตั้งเขตความมั่นคง ตามแนวชายแดนของรัสเซีย เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในการป้องกันประเทศและยับยั้งการบุกรุกจากฝ่ายตรงข้ามที่อาจเข้ามาก่อความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าว เขตความมั่นคงที่เสนอนี้จะมีการจัดตั้งการป้องกันทางทหารอย่างเข้มงวด และมีกองกำลังรัสเซียประจำการอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ปูตินได้สั่งการให้ขับไล่กองกำลังฝ่ายตรงข้าม ออกจากภูมิภาคเคิร์สก์ โดยระบุว่า รัสเซียจะไม่ยอมให้มีกองกำลังที่ไม่เป็นมิตรทำการแทรกแซงหรือขัดขวางการปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่สำคัญนี้ การขับไล่กองกำลังฝ่ายตรงข้ามถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเสริมสร้างความมั่นคงและปกป้องดินแดนของรัสเซียในช่วงเวลาที่มีความตึงเครียดทางการเมือง และทหารในภูมิภาคยูเครนรวมถึงเขตพื้นที่ใกล้เคียง

โดยในระหว่างการแถลงข่าว ปูตินได้เน้นย้ำว่า การปลดปล่อยภูมิภาคเคิร์สก์ จากการควบคุมของกองกำลังฝ่ายตรงข้ามจะเป็นก้าวสำคัญในการรักษาความมั่นคงและอำนาจการปกครองในภูมิภาค โดยเขาแสดงความเชื่อมั่นว่าการปฏิบัติการทางทหารที่รุนแรงและมีความมุ่งมั่นจะสามารถนำไปสู่ชัยชนะในที่สุด

ปูตินยังกล่าวเสริมว่า ทหารฝ่ายตรงข้ามที่ถูกจับกุมในเคิร์สก์ ควรได้รับการปฏิบัติเสมือนเป็น ผู้ก่อการร้าย ตามกฎหมายของรัสเซีย โดยอ้างว่าผู้ที่ต่อต้านการปกครองของรัสเซียในภูมิภาคนี้ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงและการปกครองของรัฐ จึงต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมายที่เคร่งครัด

การเยือนของปูตินในครั้งนี้สะท้อนถึงความตั้งใจของรัฐบาลรัสเซียในการรักษาอำนาจทางทหารในพื้นที่ยุทธศาสตร์ และสร้างการควบคุมที่เข้มงวดในภูมิภาคที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อรัสเซีย โดยเฉพาะเมื่อมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแทรกแซงจากต่างชาติในพื้นที่เหล่านี้

อนาคตของ ‘เซเลนสกี’ อยู่ในภาวะวิกฤต หลังสหรัฐฯ กังวลความสามารถในการรักษาความมั่นคงยูเครน

(14 มี.ค. 68) โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ในการดำรงตำแหน่งผู้นำของเขา โดยมีความกังวลเพิ่มขึ้นในวอชิงตันเกี่ยวกับความชอบธรรมของเขาในการเป็นผู้นำยูเครนในช่วงเวลาที่ประเทศเผชิญกับวิกฤตสงครามกับรัสเซีย

ตามรายงานจากหลายแหล่งข่าวในกรุงเคียฟและวอชิงตัน ระบุว่าในขณะนี้หลายฝ่ายในสหรัฐฯ เริ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของเซเลนสกี และความสามารถของเขาในการรักษาความมั่นคงของประเทศในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ ทั้งในด้านการทูตและความคืบหน้าในการเจรจาทางการทหาร

แหล่งข่าวในวอชิงตันกล่าวว่า มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการบริหารจัดการของเซเลนสกี โดยเฉพาะในการจัดการทรัพยากรทางทหารและการดำเนินนโยบายภายในที่อาจมีผลต่อความน่าเชื่อถือของเขาในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มพันธมิตรทางทหารของยูเครน

“เราอยู่ในการทำหน้าที่ท้ายๆ ของประธานาธิบดีเซเลนสกี” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเครนบอกกับไฟแนนเชียลไทม์ส

คำกล่าวนี้สะท้อนถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของโวโลดิมีร์ เซเลนสกี โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเครนอ้างว่า การบริหารงานของเขาในช่วงท้ายๆ ของวาระกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ทั้งในด้านการทูต การรักษาความมั่นคงของประเทศ และการจัดการวิกฤตสงครามที่ยืดเยื้อกับรัสเซีย 

ในขณะเดียวกัน เซเลนสกีก็ยังคงเดินหน้าพยายามรักษาความเป็นผู้นำของเขา โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ยูเครนจะต้องได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากรัสเซียอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับวาระการดำรงตำแหน่งของโวโลดิมีร์ เซเลนสกีในฐานะประธานาธิบดียูเครนจะหมดลงในปี 2024 โดยเขาได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีครั้งแรกในวันที่ 31 มีนาคม 2019 และได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 พฤษภาคม 2019

อิหร่าน-รัสเซีย-จีน หารือนิวเคลียร์ที่ปักกิ่ง เตรียมเดินเกมใหม่บนเวทีโลก ท้าทายแรงกดดันจากสหรัฐฯ

(14 มี.ค. 68) สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า นักการทูตระดับสูงจากอิหร่าน รัสเซีย และจีน ได้ประชุมหารือร่วมกันที่กรุงปักกิ่ง เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน การประชุมครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่อิหร่านปฏิเสธคำเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้อิหร่านกลับมาเจรจาเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์

นายคาเซม การีบาบาดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน และนายเซอร์เกย์ รยาบคอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ได้เข้าร่วมการประชุมสามฝ่ายนี้ โดยมีนายหม่า เจ้าโซ่ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน เป็นประธานการประชุม การหารือครั้งนี้ครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน, การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร และประเด็นอื่น ๆ ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน

“ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องควรมีพันธะในการขจัดสาเหตุหลักของสถานการณ์ปัจจุบัน และละทิ้งแรงกดดันในการคว่ำบาตรและการคุกคาม” หม่า จ้าวซู่ รองรัฐมนตรีต่างประเทศจีน กล่าว

การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) จัดการหารือแบบวงปิดเกี่ยวกับโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านที่นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา

เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ เปิดเผยว่าได้ส่งจดหมายถึงอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เพื่อเสนอการเจรจาเรื่องนิวเคลียร์ พร้อมระบุว่า “การจัดการกับอิหร่านมีเพียง 2 ทางเลือก คือ ใช้กำลังทหาร หรือทำข้อตกลงเท่านั้น”

ทว่าประธานาธิบดีมาซูด เปเซชเคียนแห่งอิหร่าน ยืนยันว่าจะไม่ยอมเจรจากับสหรัฐฯ ภายใต้การถูก “ข่มขู่” และไม่มีทางยอมทำตาม “คำสั่ง” ของสหรัฐฯ ที่บีบให้ต้องเจรจา

“มันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ที่พวกเขาจะมาบอกว่า เรากำลังออกคำสั่งให้คุณอย่าทำสิ่งนี้ อย่าทำสิ่งนั้น หรือเราควรทำสิ่งนี้ ผมจะไม่เจรจาใด ๆ กับคุณ เอาเลย ทำอะไรที่น่ารังเกียจตามที่คุณต้องการ” ประธานาธิบดีมาซูด กล่าว

ทั้งนี้ จีนและอิหร่านได้ร่วมกันเรียกร้องให้มีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน เพื่อเปิดทางให้ทุกฝ่ายกลับคืนสู่โต๊ะเจรจาเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์อีกครั้ง

การประชุมครั้งนี้สะท้อนถึงความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างอิหร่าน รัสเซีย และจีน ในการแก้ไขปัญหาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน และความพยายามในการหาทางออกที่สันติและยั่งยืนสำหรับประเด็นที่ซับซ้อนนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top