Tuesday, 20 May 2025
รัสเซีย

3 วันแห่งสันติภาพ หรือ 3 วันแห่งกลยุทธ์ ปูติน ประกาศหยุดยิงชั่วคราวในสมรภูมิยูเครน วิเคราะห์!! วัตถุประสงค์การหยุดยิงของรัสเซียในช่วง ‘วันแห่งชัยชนะ’ ปี ค.ศ. 2025

เมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 2025 ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินประกาศหยุดยิงชั่วคราวในสมรภูมิยูเครนระหว่างวันที่ 8 ถึง 11 พฤษภาคม เพื่อรำลึกถึงวาระครบรอบ 80 ปีแห่งชัยชนะของสหภาพโซเวียตเหนือเยอรมนีนาซีในสงครามโลกครั้งที่สอง การหยุดยิงดังกล่าวมีนัยทางการเมืองที่สำคัญและชวนให้ตั้งคำถามว่า “นี่คือสัญญาณแห่งสันติภาพที่แท้จริง หรือเป็นเพียงช่วงเวลาพักรบเพื่อวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์?” แม้จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการจากรัสเซียว่าเป็น “การเคารพต่อประวัติศาสตร์และความเสียสละของผู้คน” ฝ่ายยูเครนกลับแสดงความระแวง โดยมองว่าหยุดยิงดังกล่าวอาจถูกใช้เป็นกลยุทธ์ในการจัดทัพใหม่ หยั่งเชิง หรือแม้แต่ขยายอิทธิพลในเชิงสัญลักษณ์ต่อสายตานานาชาติ การหยุดยิงที่กินระยะเวลาเพียงสามวันจึงไม่ใช่เพียงการ “ลดเสียงปืน” ชั่วคราว หากแต่เป็นจุดตัดของประวัติศาสตร์ การเมือง และยุทธศาสตร์—ที่ซึ่งอดีตถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือปั้นแต่งปัจจุบัน เพื่อเป้าหมายแห่งอนาคตที่อาจไม่จำเป็นต้องหมายถึงสันติภาพ บทความนี้จะวิเคราะห์การหยุดยิงดังกล่าวผ่านมุมมองของภูมิรัฐศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์ (historical geopolitics) และ การเมืองของความทรงจำ (politics of memory) โดยพิจารณาความหมายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่อย่าง “Victory Day” และพฤติกรรมของรัฐที่มีผลต่อทั้งสนามรบและสนามการทูตในระดับโลก

“Victory Day” หรือ День Победы ในวันที่ 9 พฤษภาคม ไม่ได้เป็นเพียงวันหยุดราชการหรือการรำลึกถึงการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเท่านั้น หากแต่เป็นหนึ่งใน “เสาหลัก” ของการประกอบสร้างอัตลักษณ์ชาติรัสเซียยุคใหม่ โดยเฉพาะในยุคของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินที่ใช้วันแห่งชัยชนะนี้เป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์เพื่อย้ำภาพของรัสเซียในฐานะ “ผู้ปลดปล่อยยุโรปจากลัทธินาซี” และ “มหาอำนาจผู้เสียสละ”ในเวทีภายในประเทศ Victory Day กลายเป็นพิธีกรรมทางการเมืองที่ช่วยหล่อเลี้ยงความชอบธรรมของรัฐ ผ่านการจัดสวนสนามทางทหาร การเดินพาเหรด "ผู้ไม่ตาย" «Бессмертный полк» และสื่อสารถึงความต่อเนื่องของความยิ่งใหญ่จากอดีตสู่ปัจจุบัน ประชาชนได้รับการปลูกฝังให้ตระหนักถึงบทบาทของรัสเซียในประวัติศาสตร์โลก พร้อมกับเสริมสร้างความภูมิใจในชาติและ “ความรักต่อมาตุภูมิ” «патриотизм»  ซึ่งถูกยกขึ้นมาเป็นคุณค่าสูงสุดของพลเมืองรัสเซีย ในเวทีระหว่างประเทศ Victory Day ถูกใช้เป็น “ทุนทางสัญลักษณ์” ในการส่งสารทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในบริบทของสงครามยูเครนการอ้างถึงชัยชนะเหนือฟาสซิสม์มักถูกใช้ในการเปรียบเทียบยูเครนหรือชาติตะวันตกว่าเป็น “ภัยคุกคามทางอุดมการณ์แบบเดียวกับในอดีต” สิ่งนี้ทำให้การเมืองของความทรงจำ (memory politics) กลายเป็นกลไกสำคัญที่รัสเซียใช้ในการสร้างกรอบการรับรู้ใหม่ ซึ่งผู้ฟังไม่ใช่เพียงประชาชนของตน แต่รวมถึงประชาคมระหว่างประเทศที่กำลังมองดูรัสเซียอย่างใกล้ชิด

นักวิชาการรัสเซียจำนวนมากให้ความสนใจต่อบทบาทของ Victory Day ในฐานะ "เครื่องจักรแห่งความทรงจำของชาติ" ที่รัฐใช้เพื่อควบคุมการตีความอดีต ตัวอย่างเช่น นิโคไล มิทโรฟานอฟ (Nikolai Mitrofanov) นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรัฐมอสโกชี้ว่า "ชัยชนะในสงครามมหาบูรพาคือปัจจัยหลักที่หล่อหลอมภาพลักษณ์ความเป็นมหาอำนาจของรัสเซียหลังยุคโซเวียต" โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญความท้าทายจากภายนอกขณะเดียวกัน นักรัฐศาสตร์สายภูมิรัฐศาสตร์อย่าง อันเดรย์ ซูซดาลเซฟ «Андрей Иванович Суздальцев» มองว่า Victory Day ไม่ได้เป็นเพียง “ความทรงจำร่วมของประชาชน” แต่เป็น “เครื่องมือของรัฐในการจัดเรียงลำดับศัตรู-มิตรใหม่” โดยเฉพาะในยุคสงครามยูเครน ที่ความทรงจำเกี่ยวกับชัยชนะถูกนำมาใช้เพื่อเปรียบเทียบยูเครนกับลัทธินาซีในอดีต นักคิดชาตินิยมคนสำคัญอย่างอเล็กซานเดอร์ 

ดูกิน (Alexander Dugin) ยังกล่าวไว้อย่างตรงไปตรงมาว่า "Victory Day เป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทางการเมืองที่เชื่อมรัสเซียเข้ากับโชคชะตาอันยิ่งใหญ่ของยุโรปและโลก" สำหรับดูกินการหยุดยิงในช่วงดังกล่าวจึงเป็น “พิธีกรรมของรัฐ” «государственный ритуал»  มากกว่าจะเป็นการเปิดทางสู่การเจรจาทางสันติ ด้วยเหตุนี้ บริบทของ Victory Day ในสายตานักวิชาการรัสเซียจึงมีความลึกและซับซ้อนมากกว่าการเฉลิมฉลองทั่วไป เพราะมันคือการแสดงออกของ “รัฐในฐานะผู้ควบคุมอดีต” (state as memory manager) และใช้สัญลักษณ์แห่งชัยชนะมาเป็นเครื่องมือกำหนดยุทธศาสตร์ในปัจจุบัน ดังนั้นการประกาศหยุดยิงในช่วง Victory Day ปี ค.ศ. 2025 จึงไม่อาจแยกขาดจากบริบทนี้ เพราะมันคือการใช้สัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์เพื่อห่อหุ้มพฤติกรรมทางยุทธศาสตร์ สันติภาพที่ถูกนำเสนอในครั้งนี้จึงมีความเป็น “พิธีกรรม” มากพอ ๆ กับความเป็น “นโยบาย”

แม้การประกาศหยุดยิงของรัสเซียในช่วงวันแห่งชัยชนะหรือ Victory Day ปี ค.ศ. 2025 จะถูกเสนอในนามของ “สันติภาพ” และ “เกียรติยศแห่งความทรงจำ” ฝ่ายยูเครนกลับปฏิเสธที่จะตอบรับหรือประกาศหยุดยิงตอบโดยอ้างเหตุผลหลักสองประการคือ 1) ความไม่ไว้วางใจในเจตนารมณ์ของรัสเซีย และ 2) ความกลัวต่อการใช้ช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์ สำหรับยูเครน Victory Day ไม่ใช่สัญลักษณ์ของการปลดปล่อยหากแต่เป็นร่องรอยของอิทธิพลโซเวียตที่ยังหลงเหลืออยู่ในโครงสร้างอำนาจปัจจุบันของรัสเซีย ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีได้ปรับเปลี่ยนวันที่ระลึกชัยชนะให้ตรงกับวันที่ 8 พฤษภาคมตามแบบสากลและยกเลิกการจัดขบวนพาเหรดทางทหารเพื่อ “ตัดขาดจากวาทกรรมชัยชนะของมอสโก” จึงไม่น่าแปลกใจที่การหยุดยิงโดยใช้ Victory Day เป็นกรอบความชอบธรรมจะถูกมองว่าเป็นการ “ครอบงำเชิงสัญลักษณ์” มากกว่าจะเป็นการแสดงความจริงใจทางการทูต ในทางยุทธศาสตร์ยูเครนมีประสบการณ์ตรงจากช่วงปี ค.ศ. 2022–2023 ที่การหยุดยิงเฉพาะกิจในบางพื้นที่กลับกลายเป็นโอกาสให้กองทัพรัสเซียจัดแนวรบใหม่หรือเสริมกำลังอย่างเงียบ ๆ ตัวอย่างเช่นในช่วง “หยุดยิงคริสต์มาส” เดือนมกราคม ค.ศ. 2023 ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่ารัสเซียใช้ช่วงเวลาดังกล่าวในการเคลื่อนพลและเสริมเสบียงจึงเป็นเหตุให้รัฐบาลยูเครนในปี ค.ศ. 2025 ปฏิเสธที่จะ “ลดการระวังภัย” แม้ในช่วงเวลาที่ถูกนำเสนอว่าเป็น “โอกาสทองแห่งการรำลึกและคืนดี”นอกจากนี้ ยูเครนยังมองว่า รัสเซียกำลังใช้การหยุดยิงเป็นเครื่องมือในการ “ตีกรอบทางจริยธรรม” (moral framing) โดยวาดภาพฝ่ายตรงข้ามว่า “ปฏิเสธสันติภาพ” หากไม่ตอบรับข้อเสนอของรัสเซีย สิ่งนี้อาจสร้างความกดดันต่อยูเครนในสายตาประชาคมระหว่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่เริ่มลังเลต่อความยืดเยื้อของสงครามในบริบทเช่นนี้ความไม่ไว้วางใจจึงไม่ใช่เพียงปฏิกิริยาเชิงอารมณ์แต่คือกลยุทธ์ในการปกป้องอธิปไตยและการเล่าเรื่อง (narrative) ของตนเอง ซึ่งยูเครนพยายามอย่างหนักที่จะควบคุมในเวทีระหว่างประเทศ

การประกาศหยุดยิงในช่วง Victory Day ของรัสเซียไม่เพียงแค่มีผลต่อฝ่ายสงครามในสนามรบหากแต่ยังส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อยุทธศาสตร์ทางการทูตและภาพลักษณ์ของรัสเซียในระดับโลก การหยุดยิงในช่วงเวลาดังกล่าวทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการควบคุมการรับรู้ของประชาคมระหว่างประเทศโดยเฉพาะในแง่การสร้างภาพลักษณ์ของรัสเซียในฐานะรัฐที่มีความรับผิดชอบและเคารพต่อ “สันติภาพ” ที่ถูกเน้นย้ำในวาระครบรอบการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง การหยุดยิงในวันดังกล่าวสามารถมองได้ว่าเป็นความพยายามของรัสเซียในการส่งสัญญาณถึงสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกว่ารัสเซียเปิดทางให้การเจรจาทางการทูตแม้ในขณะที่ความขัดแย้งในยูเครนยังดำเนินต่อไป สัญญาณนี้อาจมีจุดประสงค์ในการบีบให้ฝ่ายตะวันตกแสดงท่าทีเกี่ยวกับการหาทางออกสงครามหรือแม้แต่เสนอทางเลือกในการเจรจาที่เป็นมิตรกับผลประโยชน์ของรัสเซีย ซึ่งในทางการทูตถือเป็นการ "เคลื่อนไหวเชิงภาพลักษณ์" ที่มีเป้าหมายในการสร้างความเชื่อมั่นและขยายการยอมรับจากประเทศต่างๆ ในขณะเดียวกัน การประกาศหยุดยิงยังเป็นเครื่องมือในการสร้างแรงกดดันทางสัญลักษณ์ต่อประเทศที่ยังคงให้การสนับสนุนยูเครน โดยเฉพาะประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้าใกล้ชิดกับรัสเซีย เช่น จีน อินเดีย และบางประเทศในอาเซียน การแสดงออกเช่นนี้ทำให้ความสัมพันธ์ทางการทูตของรัสเซียกับประเทศเหล่านี้ดูดีขึ้นในสายตาของสาธารณชน โดยการส่งสัญญาณว่า "รัสเซียพร้อมที่จะยุติสงคราม หากฝ่ายอื่นยินดีที่จะหารือ"

เมื่อเปรียบเทียบกับกลยุทธ์ในอดีตการหยุดยิงในช่วง Victory Day ยังสะท้อนให้เห็นถึงการใช้กลยุทธ์ทางการทูตในลักษณะคล้ายคลึงกับที่รัสเซียใช้ในช่วงสงครามเย็น ในช่วงเวลานั้นสหภาพโซเวียตใช้การหยุดยิงหรือข้อตกลงทางการทูตในช่วงเวลาสำคัญเพื่อทำลายความเป็นเอกภาพของฝ่ายตะวันตกและสร้างแรงกดดันให้เกิดความลังเลในการสนับสนุนประเทศที่เป็นคู่ขัดแย้ง ในกรณีนี้รัสเซียอาจพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ทำให้ชาติตะวันตกและยูเครนต้องตัดสินใจเลือกว่าจะทำตามข้อเรียกร้องของรัสเซียหรือไม่โดยเฉพาะในช่วงที่ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น นอกจากนี้การหยุดยิงครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้รัสเซียแสดงบทบาทในฐานะ “ผู้เสนอทางออก” ต่อความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย ซึ่งในทางการทูตถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่รัสเซียสามารถชูขึ้นมา เป็นรัฐที่ไม่เพียงแค่เป็นผู้โจมตีหากแต่เป็น “ตัวกลาง” ที่ช่วยลดความรุนแรงในระดับสากล แม้ในความเป็นจริงการหยุดยิงนี้ยังไม่สามารถสะท้อนถึงความตั้งใจในการยุติความขัดแย้งอย่างถาวร ในแง่การเมืองภายในรัสเซียอาจมองว่าการประกาศหยุดยิงนี้จะช่วยเพิ่มความชอบธรรมในสายตาของประชาชนและชดเชยความสูญเสียในระยะยาวของสงครามขณะที่ยังคงรักษาสถานะของตนในฐานะมหาอำนาจที่มีบทบาทในเวทีโลก

คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นจากการประกาศหยุดยิงในช่วง Victory Day ของรัสเซียคือ “มันจะนำไปสู่การเจรจาสันติภาพที่แท้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงกลยุทธ์ทางการทูตที่ใช้สร้างภาพลวงตา?” ในขณะที่รัสเซียเสนอการหยุดยิงเพื่อรำลึกถึงชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายยูเครนและหลายประเทศในประชาคมระหว่างประเทศต่างตั้งคำถามถึงความจริงใจและวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของรัสเซีย การหยุดยิงในช่วงนี้ถูกมองว่าเป็นโอกาสในการปูทางสู่การเจรจาสันติภาพ หากฝ่ายต่างๆ พร้อมที่จะกลับมาร่วมโต๊ะเจรจา หลังจากการต่อสู้ที่ยืดเยื้อมาเกือบสองปี อย่างไรก็ตามความเป็นไปได้ของการเจรจาที่ยั่งยืนนั้นยังคงอยู่ในความสงสัย รัสเซียเองไม่ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนในการลดความเข้มข้นของการปฏิบัติการทางทหารหรือให้สัญญาที่เป็นรูปธรรมในการยุติสงคราม

แม้การหยุดยิงจะถูกนำเสนอว่าเป็น “จุดเริ่มต้น” สำหรับการเจรจาแต่หลายฝ่ายมองว่ามันเป็นเพียงแค่กลยุทธ์ที่รัสเซียใช้ในการสร้างกรอบการเจรจาที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศตนเอง และอาจถูกใช้เพื่อเพิ่มแรงกดดันให้ฝ่ายยูเครนยอมรับเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมในอนาคต ยูเครนและพันธมิตรตะวันตกยืนยันว่าพวกเขาจะไม่ยอมรับการเจรจาที่ไม่คำนึงถึงอธิปไตยและดินแดนของยูเครนโดยเฉพาะเมื่อรัสเซียยังคงยืนยันในข้อเสนอที่เป็นการละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศและหลักการสากลในการรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค ยิ่งไปกว่านั้น ความไม่มั่นใจในความจริงใจของรัสเซียในการหยุดยิงครั้งนี้สะท้อนจากการกระทำในอดีตเมื่อครั้งที่รัสเซียเคยละเมิดข้อตกลงทางการทูตหลายครั้งในช่วงสงคราม การหยุดยิงในกรอบเวลานี้อาจถูกมองว่าเป็นเพียงการใช้ช่วงเวลาที่มีความสำคัญทางสัญลักษณ์เพื่อเจรจาในเงื่อนไขที่รัสเซียจะได้ประโยชน์มากขึ้นในระยะยาว มากกว่าการจริงจังในการหาทางออกที่แท้จริง ข้อเสนอการหยุดยิงในช่วงวัน Victory Day ยังสร้างความสงสัยในหลายประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของรัสเซียในสงครามยูเครน อย่างไรก็ตามยังมีมุมมองบางประการที่เชื่อว่าการประกาศหยุดยิงในช่วงวันสำคัญเช่นนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปิดการเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครนโดยเฉพาะหากมีการสร้างความเชื่อมั่นจากทั้งสองฝ่ายว่าการเจรจาจะไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือในการสร้างภาพลวงตา หากแต่เป็นการจริงจังที่จะยุติสงคราม สุดท้ายนี้ การหยุดยิงในช่วงวัน Victory Day จึงเป็นการทดสอบที่สำคัญสำหรับประชาคมระหว่างประเทศและทั้งสองฝ่ายในสงครามหากการหยุดยิงนี้นำไปสู่การเจรจาที่แท้จริงก็จะถือเป็นสัญญาณของความพร้อมในการยุติสงคราม แต่หากเป็นเพียงกลยุทธ์ในการสร้างความสงบเพื่อเตรียมการรุกทหารใหม่ก็จะยิ่งเพิ่มความไม่มั่นใจและการต่อต้านจากทั้งยูเครนและพันธมิตรของพวกเขา

บทสรุป การประกาศหยุดยิงของรัสเซียในช่วงวันครบรอบ 80 ปีแห่งชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งกำหนดระหว่างวันที่ 8–11 พฤษภาคม ค.ศ. 2025 เป็นการแสดงออกที่มีความหมายทางการทูตและการเมืองอย่างลึกซึ้ง สำหรับรัสเซียการหยุดยิงนี้ไม่ได้เพียงแค่เป็นการรำลึกถึงความสำเร็จทางทหารในอดีตแต่ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ในฐานะประเทศที่เปิดช่องทางสู่สันติภาพแม้ในขณะที่สงครามในยูเครนยังคงดำเนินอยู่อย่างไรก็ตามการหยุดยิงนี้ได้รับการตอบสนองที่แตกต่างกันจากฝ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะจากยูเครนและพันธมิตรตะวันตกซึ่งมองว่าเป็นการใช้ช่วงเวลาสัญลักษณ์เพื่อบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์มากกว่าจะเป็นการยุติสงครามที่แท้จริง ยูเครนไม่เชื่อมั่นในความจริงใจของรัสเซียและมีความกังวลว่ารัสเซียอาจใช้การหยุดยิงนี้เพื่อเสริมกำลังและจัดการแนวรบใหม่ในขณะเดียวกัน แม้บางฝ่ายจะมองว่าการหยุดยิงในช่วงนี้อาจเป็นการเปิดโอกาสให้เริ่มต้นการเจรจาสันติภาพแต่ยังคงมีคำถามถึงความจริงใจของรัสเซียและความพร้อมในการยุติสงครามอย่างถาวร ในขณะที่ยูเครนยืนยันถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษาอธิปไตยและความสมบูรณ์ของดินแดนท้ายที่สุดการหยุดยิงนี้อาจเป็นเพียงภาพลวงตาที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงกดดันต่อฝ่ายยูเครนและพันธมิตรของพวกเขาหรืออาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของการเจรจาสันติภาพขึ้นอยู่กับการตอบสนองและท่าทีของทั้งสองฝ่ายในอนาคต การจับตาและวิเคราะห์การดำเนินการในช่วงเวลาเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางของสงครามและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอนาคต

‘ยูเครน’ ปฏิเสธ!! ข้อเสนอหยุดยิง 3 วันของ ‘รัสเซีย’ ‘เซเลนสกี’ ชี้!! มันคือ การแสดงละคร หลอกผู้นำโลก

(4 พ.ค. 68) ยูเครนปฏิเสธข้อเสนอหยุดยิง 3 วันของรัสเซีย

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เสนอหยุดยิงฝ่ายเดียว (unilateral ceasefire) ระหว่างวันที่ 8–10 พฤษภาคม เพื่อเหตุผลด้านมนุษยธรรมในช่วงวันแห่งชัยชนะ (Victory Day) ยูเครนปฏิเสธ โดยเรียกร้องให้มีการหยุดยิงอย่างไม่มีเงื่อนไขนาน 30 วันแทน

เซเลนสกีวิจารณ์ข้อเสนอของปูตินว่าเป็น “ละคร” เขากล่าวว่าแผนหยุดยิง 2–3 วัน "ไม่จริงจัง" และดูเหมือน "การแสดงละคร" มากกว่า และเตือนเรื่องความปลอดภัยของผู้นำโลกที่จะเดินทางไปมอสโก โดยกล่าวว่า ยูเครนไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของผู้นำต่างประเทศที่จะเข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 9 พฤษภาคม ที่จัตุรัสเครมลิน

มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวหาว่า การปฏิเสธของยูเครนเผยให้เห็น "แก่นแท้นาซีใหม่" และเรียกเซเลนสกีว่าเป็น “ผู้ก่อการร้ายในระดับสากล” เซเลนสกีข่มขู่นักการเมือง ผู้นำ และทหารผ่านศึกที่จะเข้าร่วมงานในรัสเซีย
ผู้นำที่คาดว่าจะเข้าร่วม 

สี จิ้นผิง (ประธานาธิบดีจีน) โรเบิร์ต ฟิโก (นายกรัฐมนตรีสโลวาเกีย) อเล็กซานดาร์ วูชิช (ประธานาธิบดีเซอร์เบีย) มาห์มูด อับบาส (ประธานาธิบดีปาเลสไตน์) ลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา (ประธานาธิบดีบราซิล) ผู้นำจากประเทศ กลุ่มประเทศเอเชียกลาง คาซัคสถาน, อุซเบกิสถาน, ทาจิกิสถาน, คีร์กีซสถาน และเติร์กเมนิสถาน

‘สี จิ้นผิง-ปูติน’ เตรียมร่วมหารือเชิงยุทธศาสตร์กลางพิธีรำลึกสงครามโลก ท่ามกลางคำขู่ของ ‘เซเลนสกี’ ลั่นชาติตะวันตก…คิดให้ดีก่อนร่วมงานที่รัสเซีย

(6 พ.ค. 68) สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ทำเนียบเครมลินประกาศผ่านแอปพลิเคชันเทเลแกรมว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เตรียมหารือกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ถึงการกระชับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศ พร้อมลงนามในเอกสารสำคัญหลายฉบับในช่วงงานรำลึกวันแห่งชัยชนะของรัสเซีย

สำหรับเนื้อหาการหารือจะครอบคลุมทั้งความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์และสถานการณ์ระหว่างประเทศ โดยคาดว่าจะมีผู้นำจากหลายประเทศ เช่น บราซิล เซอร์เบีย และสโลวาเกีย เดินทางไปร่วมงานรำลึก ซึ่งตรงกับวันที่ 9 พฤษภาคม รำลึกการที่สหภาพโซเวียตสามารถขับไล่นาซีกลับไปเบอร์ลินได้ในสงครามโลกครั้งที่ 2

ด้านประธานาธิบดีปูตินเสนอหยุดยิงกับยูเครนเป็นเวลา 3 วันในช่วงวันดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ปฏิเสธแนวคิดนี้ พร้อมยืนยันว่า “การหยุดยิงที่ไม่มีเงื่อนไข” ควรมีระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน เพื่อให้มีผลอย่างแท้จริง โดยระบุว่า “ในเวลาเพียง 3 วัน 5 วัน หรือ 7 วัน มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้มันมีความหมายอะไรขึ้นมา”

เซเลนสกียังเตือนผู้นำต่างชาติที่วางแผนเดินทางไปรัสเซียในช่วงวันงานว่า “สำหรับทุกประเทศที่วางแผนจะเดินทางไปรัสเซียในวันที่ 9 พฤษภาคม เราไม่สามารถรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในดินแดนของรัสเซียได้” โดยเป็นถ้อยแถลงระหว่างการแถลงข่าวตามรายงานของอินเตอร์แฟกซ์-ยูเครน

‘อังกฤษ’ อัปเดตแผนลับฉุกเฉินรับมือภัยคุกคาม ‘รัสเซีย’ เตรียมพร้อมทั้งอพยพราชวงศ์-ต้านขีปนาวุธ-การโจมตีทางไซเบอร์

(6 พ.ค. 68) สหราชอาณาจักรกำลังทบทวนและปรับปรุงแผนการป้องกันประเทศฉบับลับที่ไม่ได้อัปเดตมาตั้งแต่ปี 2005 ท่ามกลางความกังวลต่อความเป็นไปได้ของการโจมตีจากรัสเซีย โดยเฉพาะในรูปแบบของขีปนาวุธ นิวเคลียร์ และไซเบอร์ ตามรายงานของ The Telegraph

เอกสารแผนลับดังกล่าวระบุขั้นตอนฉุกเฉิน เช่น การอพยพรัฐบาลและราชวงศ์ไปยังหลุมหลบภัย การประสานการออกอากาศฉุกเฉิน และการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างระบบขนส่งและการสื่อสาร เพื่อให้ประเทศสามารถดำเนินงานได้ต่อเนื่องในภาวะวิกฤต

รายงานยังเปิดเผยว่า รัฐบาลได้จัดทำสถานการณ์จำลองการโจมตีแบบผสมผสาน ทั้งขีปนาวุธและไซเบอร์ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงอาจส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจรุนแรง รัฐมนตรีหลายรายแสดงความกังวลถึงความพร้อมของประเทศในการรับมือสงครามสมัยใหม่

ในอีกด้าน สหราชอาณาจักรยังตรวจพบเซ็นเซอร์สอดแนมของรัสเซียในน่านน้ำใกล้ชายฝั่ง ซึ่งอาจถูกใช้เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของอังกฤษ เหตุการณ์นี้ตอกย้ำถึงภัยคุกคามเชิงยุทธศาสตร์ที่กำลังทวีความรุนแรงในภูมิภาค

แผนการทั้งหมดอยู่ภายใต้ความลับอย่างเข้มงวด และไม่น่าจะมีการเปิดเผยต่อสาธารณะในอนาคตอันใกล้ ขณะที่การสอดแนมและความเคลื่อนไหวทางทหารของรัสเซียยังคงเป็นประเด็นเฝ้าระวังหลักของรัฐบาลอังกฤษต่อไป

ทั่วโลกจับตา ‘วันแห่งชัยชนะ’ ที่เครมลิน เมื่อผู้นำโลกหลายประเทศตอบรับเข้าร่วมตามคำเชิญของ ‘วลาดิเมียร์ ปูติน’

(7 พ.ค. 68) ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง มีกำหนดเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 7–10 พฤษภาคมนี้ เพื่อเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี “วันแห่งชัยชนะเหนือนาซีเยอรมัน" โดยระหว่างการเยือน ผู้นำจีนจะพบหารือกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เพื่อกระชับความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและรัสเซีย รวมถึงลงนามในข้อตกลงทวิภาคีหลายฉบับ ท่ามกลางบรรยากาศความตึงเครียดระดับโลกที่ยังคงดำเนินอยู่

งานเฉลิมฉลองครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงชัยชนะของกองทัพโซเวียตเหนือกองกำลังนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรัสเซียให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยสหภาพโซเวียตในขณะนั้นสูญเสียประชาชนกว่า 27 ล้านคน ซึ่งนอกจาก สี จิ้นผิง แล้วสำนักข่าว Sputnik ยังรายงานว่าผู้นำโลกหลายประเทศจะร่วมงาน รวมถึงผู้นำจากบราซิล เซอร์เบีย และสโลวาเกีย เพื่อแสดงจุดยืนทางการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์นี้

‘สี จิ้นผิง’ ชี้ ‘ไต้หวัน’ เป็นส่วนหนึ่งของผลแห่งชัยชนะสงครามโลก ย้ำไม่มีใครหยุดการรวมชาติได้ พร้อมขอบคุณรัสเซียที่หนุนหลัง

(7 พ.ค. 68) สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เผยแพร่บทความลงนามผ่านหนังสือพิมพ์ “กาเซตต์” ของรัสเซีย ก่อนเดินทางเยือนมอสโกเพื่อเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 80 ปี “ชัยชนะแห่งมหาสงครามผู้รักชาติ” โดยระบุว่า การรวมชาติของจีน โดยเฉพาะการฟื้นฟูไต้หวัน คือกระแสธารทางประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจหยุดยั้งได้

สีจิ้นผิงชี้ว่า ปี 2025 จะตรงกับวาระ 80 ปีแห่งการฟื้นฟูไต้หวัน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของผลลัพธ์จากชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอ้างถึงเอกสารระหว่างประเทศสำคัญอย่างปฏิญญาไคโรและแถลงการณ์พอตส์ดัมที่ยืนยันอธิปไตยเหนือไต้หวันของจีน ซึ่งได้รับการรับรองโดยมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หมายเลข 2758

เขาระบุว่า ไม่ว่าสถานการณ์ภายในไต้หวันจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร หรือมีแรงกดดันจากกองกำลังภายนอกเพียงใด ก็ไม่อาจขัดขวางเป้าหมายสูงสุดของจีนในการรวมชาติได้ พร้อมเน้นว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และกฎหมายเป็นสิ่งที่ “ไม่อาจโต้แย้งได้”

ผู้นำจีนยังกล่าวชื่นชมรัสเซียที่ยืนหยัดสนับสนุนหลักการจีนเดียวและการต่อต้านการแบ่งแยกไต้หวัน โดยมอสโกยืนยันว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากจีน และสนับสนุนทุกมาตรการของรัฐบาลจีนในการบรรลุการรวมชาติ ซึ่งจีนให้ความสำคัญและขอบคุณต่อจุดยืนที่ชัดเจนของรัสเซีย

การแถลงของผู้นำจีนในครั้งนี้ตอกย้ำจุดยืนอันแข็งกร้าวของปักกิ่งต่อไต้หวัน และสะท้อนการประสานสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับรัสเซียในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นที่ถือเป็นผลประโยชน์หลักร่วมกันของทั้งสองประเทศ

‘แคนาดา’ เดินหน้าริบเครื่องบิน ‘Antonov An-124’ ของรัสเซีย และเตรียมส่งมอบให้ ‘ยูเครน’ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูหลังสงคราม

(8 พ.ค. 68) รัฐบาลแคนาดาได้ดำเนินการทางกฎหมายเพื่อทำการยึดเครื่องบินขนส่งสินค้า Antonov An-124 ของรัสเซียซึ่งติดอยู่ที่สนามบินนานาชาติโตรอนโตเพียร์สัน (YYZ) มาครอบครอง 

เครื่องบินซึ่งให้บริการโดยสายการบิน Volga-Dnepr ติดอยู่ที่แคนาดาเพียงไม่กี่วันหลังจากรัสเซียเปิดฉากการรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 โดยขณะนั้นกำลังขนส่งชุดตรวจ COVID-19 จากจีนมายังแคนาดา

โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศของแคนาดากล่าวกับสำนักข่าวท้องถิ่น INsauga ว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2025 อัยการสูงสุดของแคนาดาได้เริ่มกระบวนการทางกฎหมายเพื่อริบทรัพย์สินต่อศาลสูงของออนแทรีโอ พร้อมย้ำว่า “บุคคลหรือองค์กรที่อ้างว่ามีสิทธิในทรัพย์สินที่ถูกยึด สามารถยื่นหลักฐานและเข้าร่วมในกระบวนการพิจารณาทางกฎหมายได้”

เครื่องบินดังกล่าวจดทะเบียนในรหัส RA-82078 เป็น Antonov An-124-100 Ruslan หนึ่งในเครื่องบินขนส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ใหญ่เท่าตึก 7 ชั้น) มีขีดความสามารถในการบรรทุกได้ถึง 150 ตัน และถือเป็นทรัพย์สินเชิงยุทธศาสตร์ทั้งในด้านพาณิชย์และการทหาร มีมูลค่าประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นของ Volga-Dnepr Airlines ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Volga-Dnepr Group ที่มีฐานอยู่ในรัสเซีย

ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2023 แคนาดาได้สั่งยึดเครื่องบินดังกล่าวอย่างเป็นทางการ และต่อมาในปี 2025 โดยมีเป้าหมายในการป้องกันไม่ให้สินทรัพย์เหล่านี้กลับคืนสู่การควบคุมของรัสเซีย พร้อมทั้งประกาศแผนส่งมอบเครื่องบินให้กับรัฐบาลยูเครน เพื่อใช้ในการฟื้นฟูหลังสงครามและชดเชยเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม สายการบิน Volga-Dnepr Airlines ที่ตั้งอยู่ในเมืองอุลยานอฟสค์ ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องบินดังกล่าวได้ยื่นฟ้องคัดค้านในศาล โดยอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ พร้อมได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงต่างประเทศรัสเซียที่ประณามการยึดเครื่องบินว่าเป็น 'การโจรกรรม'

‘สี จิ้นผิง’ ถึงมอสโกร่วมเฉลิมฉลอง ‘วันแห่งชัยชนะ’ ครบรอบ 80 ปี ย้ำสัมพันธ์ ‘จีน-รัสเซีย’ คือแบบอย่างเพื่อนบ้านในศตวรรษใหม่

(8 พ.ค. 68) ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงแห่งจีน เดินทางเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 พฤษภาคม เพื่อเข้าร่วมพิธีครบรอบ 80 ปี 'วันแห่งชัยชนะ' ของรัสเซีย โดยออกแถลงการณ์ย้ำว่าจีนและรัสเซียได้ค้นพบแนวทางที่ถูกต้องในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใหญ่ที่เป็นเพื่อนบ้าน ผ่านมิตรภาพถาวรและความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ลึกซึ้ง

ผู้นำจีนระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและรัสเซียเป็นแบบอย่างของความร่วมมือที่เติบโตอย่างมั่นคงและเป็นอิสระ ซึ่งไม่เพียงนำประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ แต่ยังส่งเสริมเสถียรภาพระดับโลกและระเบียบโลกแบบพหุขั้วที่เท่าเทียม ขณะเดียวกัน ยังเป็นโอกาสรำลึกถึงชัยชนะสงครามต่อต้านฟาสซิสต์และการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติในปี 1945

จีนและรัสเซียยืนยันจะร่วมกันปกป้องหลักการระหว่างประเทศที่มีสหประชาชาติเป็นศูนย์กลาง ต่อต้านการเมืองเชิงอำนาจ และส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลโลกที่ยุติธรรม โดยสีจิ้นผิงเตรียมหารือเชิงลึกกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เกี่ยวกับความร่วมมือในประเด็นทวิภาคีและระหว่างประเทศที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจร่วมกัน

การเยือนครั้งนี้ถือเป็นการเข้าร่วมพิธีวันแห่งชัยชนะของรัสเซียในรอบทศวรรษของผู้นำจีน โดยมีพิธีต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ท่าอากาศยานวนูโคโวในกรุงมอสโก พร้อมการคุ้มกันทางอากาศโดยกองทัพรัสเซีย แสดงถึงระดับความสัมพันธ์ทางการทูตที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ

จีน เมียนมา เวียดนาม ลาว และมองโกเลีย จากฝั่งเอเชีย เตรียมเข้าร่วมขบวนพาเหรดใหญ่ ‘วันแห่งชัยชนะ’ ของรัสเซีย

รัสเซียเตรียมจัดงานเฉลิมฉลอง 'วันแห่งชัยชนะ' (Victory Day) อย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ ณ กรุงมอสโก โดยมีผู้นำจากหลายทวีปตอบรับเข้าร่วมอย่างคึกคัก รวมถึงประเทศในเอเชียที่เข้าร่วมอย่างโดดเด่น ได้แก่ จีน เวียดนาม เมียนมา มองโกเลีย และลาว สะท้อนทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างมอสโกและภูมิภาคเอเชียที่ใกล้ชิดขึ้นท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ผันผวน

รายชื่อผู้นำจากเอเชียที่เข้าร่วมมีทั้งระดับประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรค โดย ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีนถือเป็นหนึ่งในแขกสำคัญ เช่นเดียวกับ โต เลิม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม, มิน ออง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา, อุคนากีน คูเรลซูค ประธานาธิบดีมองโกเลีย และ ทองลุน สีสุลิด ผู้นำลาว การเข้าร่วมของผู้นำเหล่านี้มีนัยสำคัญเชิงสัญลักษณ์และการทูต ท่ามกลางแรงกดดันจากตะวันตก

ไม่เพียงแค่ในเอเชีย ผู้นำจากประเทศในละตินอเมริกา แอฟริกา ตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันออก เช่น เซอร์เบีย อาร์เมเนีย และเบลารุส ต่างทยอยเข้าร่วมพาเหรดครั้งนี้ รวมถึงประเทศมหาอำนาจจากโลกใต้ เช่น บราซิล และแอฟริกาใต้ ขณะที่อินเดีย แม้ไม่ได้ส่งผู้นำสูงสุด แต่ก็มีตัวแทนระดับสูงเข้าร่วม 

ทั้งนี้ งานวันแห่งชัยชนะถือเป็นเวทีสำคัญที่รัสเซียใช้สื่อสารพลังและพันธมิตรต่อสายตาชาวโลก และปีนี้ยิ่งมีความหมายเป็นพิเศษในยุคที่สงครามยูเครนยังดำเนินอยู่ การรวมตัวของผู้นำโลกตะวันออกและใต้จึงไม่เพียงแค่ 'รำลึกอดีต' แต่ยังสะท้อน 'พันธมิตรโลกใหม่' ที่กำลังก่อตัวอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

นายกฯ สโลวาเกีย ฝ่ากระแสต้านจาก EU…ยอมบินอ้อมน่านฟ้าบอลติก มุ่งหน้าร่วมขบวนพาเหรด ‘วันแห่งชัยชนะ’ ของรัสเซียในกรุงมอสโก

(9 พ.ค. 68) โรเบิร์ต ฟิโก นายกรัฐมนตรีสโลวาเกีย ออกเดินทางจากบราติสลาวาเมื่อวันพฤหัสบดี โดยใช้เส้นทางอ้อมผ่านฮังการี โรมาเนีย ทะเลดำ และจอร์เจีย เพื่อเดินทางไปร่วมขบวนพาเหรดวันแห่งชัยชนะของรัสเซียในกรุงมอสโก หลังจากลิทัวเนียและประเทศบอลติกอื่นๆ ปฏิเสธไม่ให้น่านฟ้าแก่เที่ยวบินของเขา

ฟิโกถือเป็นผู้นำสหภาพยุโรปเพียงไม่กี่คนที่มีกำหนดเข้าร่วมพิธี 'วันแห่งชัยชนะ' วันที่ 9 พฤษภาคม ที่จัดขึ้นโดยมีประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เป็นเจ้าภาพ พร้อมด้วยผู้นำจากนานาชาติรวมกว่า 24 คน รวมถึงประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ขณะเดียวกันลิทัวเนียยืนยันปิดน่านฟ้าสำหรับเที่ยวบินที่นำตัวโรเบิร์ต ฟิโกและผู้นำเซอร์เบียไปยังรัสเซีย

อย่างที่ทราบกันดีว่า ประเทศในแถบบอลติกแสดงจุดยืนแข็งกร้าวต่อรัสเซีย โดยลัตเวียและเอสโตเนียต่างไม่อนุญาตให้เที่ยวบินดังกล่าวผ่านอาณาเขตของตน ฟิโกระบุทางเฟซบุ๊กว่าการปฏิเสธนี้ “ทำให้ตารางงานของเราซับซ้อนยิ่งขึ้น” นอกจากนี้เส้นทางที่ผ่านยูเครนและเบลารุสก็ยังคงถูกหลีกเลี่ยง เนื่องจากยังมีภัยจากสงคราม

ทั้งนี้ ฟิโกยังมีกำหนดเข้าร่วมประชุมทวิภาคีและพิธีวางพวงหรีดในมอสโก การตัดสินใจเดินทางไปยังรัสเซียในครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการท้าทายต่อแนวทางของสหภาพยุโรป ซึ่งอดีตนายกฯ เอสโตเนีย คาจา คัลลาส เพิ่งเรียกร้องให้บรรดาผู้นำหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองของรัสเซีย โดยนักวิจารณ์ชี้ว่าฟิโกกำลังพาสโลวาเกียเข้าใกล้มอสโกมากเกินไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top