Tuesday, 20 May 2025
รัสเซีย

สื่อนอกตีข่าว ยูเครนเปลี่ยนแผนกะทันหันโดยไม่แจ้งพันธมิตร ทำให้การโจมตีโต้กลับรัสเซีย ในปี 2023 พังตั้งแต่ต้นเกม

(31 มี.ค. 68) สำนักข่าว The New York Times (NYT) รายงานว่า รัฐบาลยูเครนและพันธมิตรตะวันตกเคยคาดหวังว่าการโต้กลับครั้งใหญ่ในปี 2023 จะเป็นจุดจบของสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย ไม่ว่าจะนำไปสู่ชัยชนะอย่างเด็ดขาดของเคียฟ หรืออย่างน้อยก็ผลักดันให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ต้องยอมเปิดโต๊ะเจรจาสันติภาพ

แผนการและความคาดหวัง ในช่วงต้นปี 2023 ยูเครนได้เตรียมปฏิบัติการโต้กลับครั้งสำคัญโดยได้รับการสนับสนุนจากอาวุธยุทโธปกรณ์และข้อมูลข่าวกรองจากประเทศพันธมิตรตะวันตก

โดยมีเป้าหมายคือการโจมตี “เมลิโตโปล” ทางตอนใต้เพื่อพยายามตัดเส้นทางไปยังแหลมไครเมีย แต่ในนาทีสุดท้าย ผู้นำยูเครนกลับเปลี่ยนแผนโดยพลการและเลือกเปิดการบุกพร้อมกันถึง 3 แนวรบ โดยไม่ได้แจ้งให้พันธมิตรรับทราบ 

ผลที่ตามมาคือ กำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากที่ถูกฝึกมาเพื่อใช้ในแนวรบทางใต้กลับถูกส่งไปที่เมืองบัคมุตแทนซึ่งทำให้การโต้กลับหลักล้มเหลวตั้งแต่ช่วงแรก 

เมื่อผลลัพธ์ที่ไม่เป็นไปตามคาด และสถานการณ์กลับไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ กองกำลังยูเครนต้องเผชิญกับแนวป้องกันที่แข็งแกร่งของรัสเซีย รวมถึงกับระเบิดจำนวนมหาศาล โดรนโจมตี และกำลังเสริมของมอสโกที่สามารถต้านทานการบุกของยูเครนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่ากองทัพยูเครนจะสามารถรุกคืบบางพื้นที่ได้ แต่ก็ต้องเผชิญกับความสูญเสียอย่างหนักและไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่วางไว้

เจ้าหน้าที่ยูเครนคนหนึ่งกล่าวกับ The New York Times ว่า การเห็นการตัดสินใจที่จะโจมตีบัคมุตนั้น “เหมือนกับการดูการล่มสลายของการโจมตีเมลิโตโปลก่อนที่จะเริ่มการโจมตีเสียอีก” และเจ้าหน้าที่อเมริกันอาวุโสคนหนึ่งกล่าวว่า สหรัฐฯ “ควรจะถอยห่าง” จากการให้คำแนะนำแก่ยูเครนหลังจากการเปลี่ยนแผน

นอกจากนี้ การขาดแคลนกำลังพลและอาวุธสำคัญ เช่น ระบบป้องกันภัยทางอากาศและกระสุนปืนใหญ่ ทำให้ยูเครนไม่สามารถเดินหน้าการรุกได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน รัสเซียก็สามารถปรับตัวและเสริมกำลังแนวรบของตนได้อย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบและทิศทางของสงคราม ความล้มเหลวของการโต้กลับในปี 2023 ทำให้สงครามยืดเยื้อออกไปโดยไม่มีสัญญาณของการเจรจาสันติภาพที่ชัดเจน ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไปในปี 2024 โดยทั้งสองฝ่ายยังคงพยายามรักษาพื้นที่และเพิ่มอำนาจต่อรองของตนในการเจรจาในอนาคต

รายงานของ NYT สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่ยูเครนต้องเผชิญ และชี้ให้เห็นว่าปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความช่วยเหลือจากตะวันตก สถานการณ์ในรัสเซีย และความแข็งแกร่งของกองทัพยูเครนเอง จะเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดทิศทางของสงครามในระยะต่อไป

‘หวัง อี้’ ประกาศกลางมอสโก ย้ำสัมพันธ์จีน-รัสเซีย คือมิตรแท้ตลอดกาล ไม่มีวันเป็นศัตรู

(1 เม.ย. 68) หวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว RIA ของรัสเซีย ระหว่างการเดินทางเยือนกรุงมอสโก โดยเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างจีนและรัสเซีย พร้อมกล่าวว่า “จีนและรัสเซียเป็นมิตรแท้ตลอดกาล ไม่มีวันเป็นศัตรู”

หวัง อี้ ระบุว่า ความร่วมมือระหว่างสองประเทศตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน ความไว้วางใจ และความเคารพซึ่งกันและกัน โดยจีนให้ความสำคัญกับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับรัสเซีย และเชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์นี้จะช่วยส่งเสริมเสถียรภาพในระดับโลก

การเยือนรัสเซียของหวัง อี้ ครั้งนี้ เป็นเวลา 3 วัน เพื่อหารือความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ โดยการเดินทางครั้งนี้ถูกบดบังด้วยความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเจรจาเพื่อบรรลุการหยุดยิงในยูเครน และการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำรัสเซียและยูเครน รวมถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ 

จีนและรัสเซียประกาศความร่วมมือทางยุทธศาสตร์แบบไม่มีข้อจำกัดเพียงไม่กี่วันก่อนที่ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน จะส่งทหารหลายหมื่นนายเข้าไปในยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022

เป็นที่ทราบกันว่าประธานาธิบดีจีน สีจิ้นผิง ได้พบกับปูตินมากกว่า 40 ครั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และทั้งสองผู้นำก็ตกลงที่จะกระชับความสัมพันธ์และร่วมมือกันในประเด็นต่างๆ เช่น ไต้หวัน ยูเครน และคู่แข่งร่วมกันอย่างสหรัฐอเมริกา

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เคียร์มลินกล่าวว่ารัสเซียและสหรัฐฯ กำลังหารือกันเกี่ยวกับแนวคิดสำหรับการยุติสันติภาพในยูเครน และเกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคี และนับตั้งแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม เขาก็ได้เปลี่ยนท่าทีของสหรัฐฯ ให้มีท่าทีปรองดองกับรัสเซียมากขึ้น 

“นี่เป็นผลดีต่อการรักษาสมดุลของอำนาจระหว่างมหาอำนาจ และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความหวังในสถานการณ์ระหว่างประเทศที่น่าผิดหวัง” หวัง อี้ กล่าว

นอกจากนี้ หวัง อี้ ได้ปฏิเสธสมมุติฐานที่ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังพยายามสนับสนุนรัสเซีย เพื่อให้ฝ่ายหลังวางตัวอยู่ในฝ่ายตรงข้ามกับจีน โดยระบุว่าแนวคิดดังกล่าวเป็น “อาการกำเริบของโรคอยากเผชิญหน้าที่ล้าสมัยและเป็นความคิดแบบปิดกั้น”

รัสเซียไม่อยู่ในรายชื่อขึ้นภาษีของทรัมป์ สื่อมอสโกเผย เพราะถูกคว่ำบาตรอยู่แล้ว

(4 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยรายชื่อประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายในการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ภายใต้แผนการใหม่เพื่อ 'ปกป้องเศรษฐกิจอเมริกัน' โดยระบุว่า มาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และส่งเสริมภาคการผลิตภายในประเทศให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับนักวิเคราะห์และผู้นำหลายชาติในโลกตะวันตก คือ “รัสเซียไม่ได้อยู่ในรายชื่อประเทศเป้าหมาย” รวมถึงคิวบา เบลารุส และเกาหลีเหนือ ก็ไม่ได้รวมอยู่ในมาตรการดังกล่าวด้วยท่ามกลางความคาดหวังของหลายฝ่ายที่ต้องการเห็นสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการกดดันเพิ่มเติมต่อมอสโก ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดที่ยังคงดำเนินต่อไปในหลายประเด็น

เมื่อวันพฤหัสบดี สื่อรัสเซียยังโต้แย้งว่าประเทศของพวกเขาไม่อยู่ในรายชื่อภาษีศุลกากรครอบคลุมเนื่องจากมีการคว่ำบาตรที่มีอยู่แล้ว 

“รัสเซียไม่ได้ถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรใดๆ แต่ไม่ใช่เพราะได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ เพียงแต่เป็นเพราะชาติตะวันตกได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรประเทศของเราแล้ว” สถานีโทรทัศน์ Rossiya 24 ของรัฐบาลกล่าว

ขณะเดียวกันยูเครนกำลังเผชิญกับภาษีนำเข้า 10 เปอร์เซ็นต์จากสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยูเลีย สวีรีเดนโก รองนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ กล่าวว่าภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่

ในปี 2024 ยูเครนส่งออกสินค้ามูลค่า 874 ล้านดอลลาร์ (ราว 31,901 ล้านบาท) ไปยังสหรัฐฯ และนำเข้า 3.4 พันล้านดอลลาร์จากสหรัฐฯ ตามที่รองนายกรัฐมนตรีกล่าว “ยูเครนมีสิ่งดีๆ มากมายที่จะมอบให้กับสหรัฐฯ ในฐานะพันธมิตรและหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้” เธอกล่าวเสริม “ภาษีศุลกากรที่เป็นธรรมจะส่งผลดีต่อทั้งสองประเทศ”

บรรดาชาติพันธมิตรในยุโรปแสดงความผิดหวังต่อท่าทีดังกล่าว โดยมองว่า เป็นสัญญาณที่สหรัฐฯ อาจลังเลในการใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจเป็นมาตรการตอบโต้รัสเซีย ในขณะที่ชาติเหล่านั้นต่างกำลังแบกรับภาระจากการคว่ำบาตรที่ได้ประกาศใช้ไปก่อนหน้า

นักวิเคราะห์บางรายตั้งข้อสังเกตว่า การที่รัสเซียไม่ถูกรวมอยู่ในรายชื่อ อาจสะท้อนถึงเจตนาทางการเมืองบางประการของทำเนียบขาว หรืออาจเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ยังคงโยงใยกันอยู่ในระดับลึก

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ สื่อหลายสำนักรายงานว่ามีแรงกดดันเพิ่มขึ้นต่อฝ่ายบริหารของทรัมป์ให้ทบทวนจุดยืน พร้อมเรียกร้องให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่มีต่อรัสเซียในระยะยาว

แผนขึ้นภาษีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการอนุมัติในสภาคองเกรส โดยคาดว่าจะมีการถกเถียงกันอย่างเข้มข้นในประเด็น “สองมาตรฐาน” ที่หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามต่อการดำเนินนโยบายในครั้งนี้

รัสเซียบอกชัด ‘ไม่เคยขอ’ สหรัฐยกเลิกคว่ำบาตร โชว์ GDP พุ่งสวนทางยุโรป

(4 เม.ย. 68) คิริลล์ ดมิทรีเยฟ ผู้อำนวยการกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของรัสเซีย (Russian National Wealth Fund) ออกมาให้สัมภาษณ์กับ ฟิล แมททิงลีย์ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ CNN เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยกล่าวถึงท่าทีของรัสเซียในการประชุมหารือร่วมกับตัวแทนจากสหรัฐอเมริกา พร้อมยืนยันหนักแน่นว่า รัสเซียไม่เคยร้องขอให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร

“เราไม่ได้ต้องการการผ่อนปรนจากสหรัฐฯ เพราะประชาชนชาวรัสเซียส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่า มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกเป็นปัจจัยเร่งให้ประเทศของเราปรับตัว และหันกลับมาพึ่งพาตนเองอย่างจริงจังมากขึ้น” ผู้อำนวยการฯ กล่าว

เขายังเสริมว่า ผลลัพธ์ของการปรับตัวดังกล่าวสามารถเห็นได้ชัดจากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา โดย จีดีพีของรัสเซียเติบโตสูงถึง 4% ในขณะที่ ยุโรปเติบโตเพียง 1% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจรัสเซียสามารถยืนหยัดและพัฒนาได้แม้อยู่ภายใต้แรงกดดันระหว่างประเทศ

แหล่งข่าวจากฝั่งรัสเซียยังเปิดเผยว่า ในการหารือกับคณะตัวแทนสหรัฐฯ ฝ่ายรัสเซียให้ความสำคัญกับประเด็นความร่วมมือในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น เสถียรภาพพลังงาน ความมั่นคงทางอาหาร และการพัฒนานวัตกรรมในอนาคต มากกว่าจะโฟกัสที่ประเด็นคว่ำบาตร

การให้สัมภาษณ์ครั้งนี้มีขึ้นในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตกยังคงตึงเครียด ขณะที่หลายฝ่ายกำลังจับตาดูว่ามาตรการคว่ำบาตรชุดต่อไปจากฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ จะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกอย่างไร

แม้จะยังไม่มีท่าทีผ่อนคลายจากทั้งสองฝ่าย แต่สัญญาณจากฝั่งรัสเซียครั้งนี้นับเป็นการส่งสารที่ชัดเจนว่า “การพึ่งพาตนเอง” อาจกลายเป็นหัวใจหลักของนโยบายเศรษฐกิจในยุคหลังการเผชิญหน้ากับโลกตะวันตก

‘โอเดสซา’ เป้าหมายสำคัญ!! ทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลต่อพลังอำนาจ คุมเมืองนี้ได้!! หมายถึง การปิดล้อมยูเครน จากทะเลโดยสมบูรณ์

(7 เม.ย. 68) เมืองโอเดสซา (Odesa) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของยูเครนริมฝั่งทะเลดำ เป็นหนึ่งในเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน เนื่องจากบทบาททั้งทางเศรษฐกิจ การทหาร และประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า หากโอเดสซาถูกยึดครองโดยรัสเซีย ความมั่นคงของยูเครนและโครงสร้างพลังงาน-การค้าของยุโรปจะถูกเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง

เราสามารถเห็นตลอดสงครามที่ผ่านมาโอเดสซาเป็นเป้าหมายสำคัญของการการโจมตีของฝั่งรัสเซียมาโดยตลอด เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่าโอเดสซามีความสำคัญ 5 ด้านด้วยกัน

1) โอเดสซาเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลและการค้าโลก
โอเดสซา (Odessa หรือ Odesa) ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลดำในตอนใต้ของยูเครน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก ทำเลของโอเดสซาเอื้อให้เมืองนี้ทำหน้าที่เป็น “ประตู” สำคัญของยูเครนในการเชื่อมต่อกับภูมิภาคอื่นๆ ได้แก่ ยุโรปตอนใต้ (ผ่านช่องแคบบอสฟอรัส) ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (ผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) รวมถึงเครือรัฐเอกราช (CIS) และตลาดยูเรเซียน ในแง่นี้ โอเดสซาทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ และ จุดผ่านส่งออกสินค้าเกษตร พลังงาน และสินค้าอุตสาหกรรมของยูเครน โดยเฉพาะธัญพืช เช่น ข้าวโพดและข้าวสาลี ซึ่งยูเครนถือเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก

ท่าเรือโอเดสซา (Odesa Port) เป็นหนึ่งในท่าเรือเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดของทะเลดำ โดยมีโครงสร้างพื้นฐานครบครันทั้งสำหรับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ สินค้าเหลว สินค้าเทกอง และเรือโดยสารรองรับการขนส่งมากกว่า 40 ล้านตันต่อปี เป็นศูนย์กลางของเครือข่ายรางและถนนที่เชื่อมต่อกับยุโรปตะวันออก มีเขตปลอดภาษีและเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ เมื่อเทียบกับท่าเรืออื่น ๆ เช่น มิโคลาอีฟ(Mykolaiv) หรือ โครโนมอรสก์ Chornomorsk โอเดสซามีบทบาทสำคัญกว่าทั้งในแง่ของขนาด ความสามารถในการรองรับเรือขนาดใหญ่และการเป็นศูนย์ควบคุมด้านการค้า

โอเดสซาจึงเป็นท่าเรือใหญ่ที่สุดของยูเครนและมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ เป็นท่าเรือส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด และน้ำมันพืช ไปยังตลาดโลก โดยเฉพาะในแอฟริกาและตะวันออกกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีบทบาทสำคัญใน "ข้อตกลงธัญพืช" (Black Sea Grain Initiative) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างยูเครน–ตุรกี–สหประชาชาติ–รัสเซีย เพื่อให้การส่งออกผ่านทะเลดำดำเนินต่อไปได้แม้ในช่วงสงคราม หากโอเดสซาถูกปิดล้อมหรือยึดโดยรัสเซียจะทำให้ระบบส่งออกของยูเครนล่มสลาย และตลาดอาหารโลกเกิดความปั่นป่วน แสดงให้เห็นว่าโอเดสซาไม่ได้มีความสำคัญเพียงสำหรับยูเครนหรือรัสเซียเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อ เสถียรภาพทางอาหารของโลกโดยตรงอีกด้วย

2) โอเดสซาเป็นจุดเชื่อมสำคัญของ NATO และตะวันตก
โอเดสซาอยู่ใกล้พรมแดนมอลโดวาและอยู่ไม่ไกลจากกลุ่มประเทศ NATO ในยุโรปตะวันออก เช่น โรมาเนียและบัลแกเรีย ดังนั้นโอเดสซาจึงมีบทบาทเป็นแนวหน้าในการต้านการขยายอิทธิพลของรัสเซียทางทะเล การควบคุมโอเดสซาจะทำให้รัสเซียสามารถคุกคามน่านน้ำของ NATO ได้มากขึ้น และอาจกลายเป็นจุดตัดเส้นทางการขนส่งยุทโธปกรณ์และความช่วยเหลือจากตะวันตกผ่านทะเลดำ

3) การเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ "Land Bridge" สู่ทรานส์นิสเตรีย
ทรานส์นีสเตรีย (หรือ “ПМР” – Приднестровская Молдавская Республика) เป็นดินแดนที่ประกาศเอกราชจากมอลโดวาในช่วงหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย และยังคงมีทหารรัสเซียประจำการอยู่ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 โดยไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ทรานส์นิสเตรียมีประชากรเชื้อสายรัสเซียและยูเครนจำนวนมาก มีรัฐบาลเฉพาะกิจและนโยบายที่ใกล้ชิดกับเครมลิน มีกองกำลังรัสเซียจำนวน1,500 นายประจำการในนาม “กองกำลังรักษาสันติภาพ” ดังนั้น ทรานส์นีสเตรียจึงเป็น “ด่านหน้าของรัสเซีย” ในยุโรปตะวันออก และอาจกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับการขยายอิทธิพลไปยังมอลโดวาและคาบสมุทรบอลข่าน

ในบริบทของสงครามรัสเซีย–ยูเครน แนวคิด “Land Bridge” หมายถึงการสร้างแนวต่อเนื่องของพื้นที่ควบคุมทางบกของรัสเซียจากดอนบาส ผ่านแคว้นเคอร์ซอน–ซาปอริซเซีย–ไครเมีย และลงมาทางโอเดสซา จนไปถึง ทรานส์นีสเตรีย (Transnistria) — ดินแดนที่รัสเซียให้การสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการในมอลโดวาตะวันออก หากรัสเซียสามารถควบคุมดินแดนนี้ได้ทั้งหมด จะทำให้เกิด “โค้งอิทธิพล” เชิงพื้นที่ที่เชื่อมรัสเซียกับดินแดนมอลโดวาตะวันออกโดยไม่ขาดตอน สามารถเสริมเส้นทางส่งกำลังทหาร/ข่าวกรอง/ทรัพยากร ระหว่างรัสเซีย–ไครเมีย–ทรานส์นีสเตรีย โดยไม่พึ่งทางอากาศหรือทะเลที่เสี่ยงต่อการถูกโจมตี ซึ่งถือเป็นชัยชนะเชิงภูมิรัฐศาสตร์สำคัญ สามารถเชื่อมอิทธิพลทางทหารจากทะเลดำเข้าสู่ยุโรปตะวันออกตอนล่างและปิดกั้นทางออกทะเลของยูเครนอย่างสมบูรณ์ นี่จึงเป็นหนึ่งใน “Grand Strategy” ของรัสเซีย ที่ไม่ได้หยุดแค่ดอนบาสหรือไครเมีย แต่ครอบคลุมถึงการสร้าง “แนวต่อเนื่องแห่งอิทธิพล” บนแผ่นดินยุโรปตะวันออก

ซึ่งเห็นได้ชัดจากคำกล่าวของ พลโทรุสตัม มินเนคาเยฟ (Rustam Minnekayev) รองผู้บัญชาการกองทัพภาคกลางของรัสเซีย ที่กล่าวต่อสาธารณะในปี 2022 ว่า “เป้าหมายประการหนึ่งของปฏิบัติการทางทหารพิเศษคือการสร้างการควบคุมอย่างเต็มรูปแบบเหนือพื้นที่ทางใต้ของยูเครน ซึ่งจะช่วยให้มีทางออกอื่นสำหรับทรานส์นีสเตรีย” แสดงให้เห็นว่า "Land Bridge" ไม่ใช่แนวคิดสมมุติ แต่เป็น เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่อยู่ในการพิจารณาของกองทัพรัสเซีย

4) ความหมายเชิงประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์
โอเดสซาเป็นเมืองที่มีความสำคัญในสมัยจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียต มีประชากรรัสเซียจำนวนมากในอดีต แม้ว่ายูเครนจะเป็นรัฐอธิปไตยตั้งแต่ปี 1991 แต่โอเดสซายังคงมีประชากรจำนวนมากที่ใช้ภาษารัสเซียเป็นหลัก และมีประวัติของการสนับสนุนแนวคิดนิยมรัสเซียในบางช่วงเวลา หลังการปฏิวัติยูโรไมดานในปี 2014 และการผนวกไครเมียโดยรัสเซีย มีความตึงเครียดในโอเดสซาระหว่างกลุ่มสนับสนุนยูเครนกับกลุ่มนิยมรัสเซีย เช่นเหตุการณ์ไฟไหม้อาคารสหภาพแรงงานในเดือนพฤษภาคม 2014 ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 40 ราย เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่รัสเซียใช้เพื่อชี้ถึงการ “ปราบปรามชาวรัสเซีย” ในยูเครน

นอกจากนี้เป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม การค้า และการทหารที่เคยเป็นของจักรวรรดิรัสเซียตั้งแต่ศตวรรษที่ 18  โอเดสซาก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1794 โดยคำสั่งของจักรพรรดินีแคเธอรีนมหาราชา หลังจากรัสเซียได้ดินแดนจากอาณาจักรออตโตมันผ่านสงคราม ในช่วงศตวรรษที่ 19 เมืองนี้กลายเป็นท่าเรือสำคัญและเมืองพหุวัฒนธรรมภายใต้จักรวรรดิรัสเซีย มีบทบาทโดดเด่นในระบบเศรษฐกิจของจักรวรรดิและในเวลาต่อมาของสหภาพโซเวียต โดยมีประชากรพูดภาษารัสเซียจำนวนมาก สถาปัตยกรรม วรรณกรรม และชีวิตทางวัฒนธรรมของโอเดสซาสะท้อนอัตลักษณ์รัสเซียอย่างลึกซึ้ง โอเดสซายังเป็นบ้านของนักเขียนชื่อดัง เช่น อิสฮัก บาเบล (Isaac Babel) ซึ่งสะท้อนภาพเมืองในฐานะศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของรัสเซียทางตอนใต้

ดังนั้นโอเดสซาจึงเป็นเป้าหมายสำคัญใน “นโยบายรวมชาติชาวรัสเซีย” (русский мир) หรือ “Russian World” ของเครมลินซึ่งเป็นแนวคิดเชิงภูมิรัฐศาสตร์-วัฒนธรรมที่กลายมาเป็นรากฐานสำคัญของนโยบายต่างประเทศของรัสเซียภายใต้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2000 เป็นต้นมา แนวคิดนี้เสนอว่ารัสเซียมีหน้าที่และสิทธิในการปกป้อง “โลกของชาวรัสเซีย” ซึ่งหมายถึงประชาชนเชื้อสายรัสเซีย ชาวสลาฟอีสเทิร์น-ออร์โธดอกซ์ และผู้ใช้ภาษารัสเซียในประเทศอื่น ๆ ของอดีตสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะในยูเครน เบลารุส คาซัคสถาน และประเทศในคอเคซัสและบอลติก ภายใต้นโยบาย (русский мир) โอเดสซาไม่ได้ถูกมองเพียงในมิติภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นการ “กู้คืน” เมืองประวัติศาสตร์ที่ถูก “แยก” ออกจากโลกของรัสเซียโดยความผิดพลาดของประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในมุมมองของผู้นำรัสเซียซึ่งเชื่อว่าการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเป็น “โศกนาฏกรรม” ทางภูมิรัฐศาสตร์ ในปี 2021 ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินได้เขียนบทความชื่อว่า “On the Historical Unity of Russians and Ukrainians” ซึ่งกล่าวถึงยูเครนว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “โลกเดียวกัน” กับรัสเซีย เมืองอย่างโอเดสซาจึงถูกตีความว่าเป็น “เมืองรัสเซียโดยธรรมชาติ” ที่ควรกลับคืนสู่โลกของรัสเซีย

5) สถานการณ์ทางทหารและการโจมตี
ตั้งแต่เริ่มสงครามในปี 2022 โอเดสซาเป็นเป้าหมายของขีปนาวุธจากรัสเซียซ้ำแล้วซ้ำเล่า โครงสร้างพื้นฐานพลังงานและท่าเรือถูกโจมตีหลายครั้งมีความพยายามในการใช้โดรนโจมตีท่าเรือและโกดังธัญพืชอย่างต่อเนื่องเป็นจุดที่ยูเครนพยายามตั้งระบบป้องกันทางอากาศอย่างเข้มข้น 

โดยเหตุการณ์การโจมตีที่สำคัญมีดังนี้

6 มีนาคม 2024: ขีปนาวุธของรัสเซียระเบิดใกล้กับสถานที่ที่ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี และนายกรัฐมนตรีกรีซ คีเรียกอส มิตโซตากิส กำลังประชุมกันในโอเดสซา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน

17 พฤศจิกายน 2024: รัสเซียเปิดฉากการโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2024 โดยยิงขีปนาวุธประมาณ 120 ลูกและโดรน 90 ลำ ไปยังเมืองต่าง ๆ ทั่วยูเครน รวมถึงโอเดสซา การโจมตีครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คนในโอเดสซา และตัดการจ่ายน้ำและไฟฟ้าในเมือง 

18 พฤศจิกายน 2024: ขีปนาวุธของรัสเซียโจมตีโอเดสซา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 คน และบาดเจ็บ 44 คน โดยผู้เสียชีวิตรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ 7 นาย เจ้าหน้าที่การแพทย์ 1 คน และพลเรือน 2 คน 

31 มกราคม 2025: รัสเซียยิงขีปนาวุธใส่ศูนย์กลางประวัติศาสตร์ของโอเดสซา ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกของยูเนสโก ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 7 คน และสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่ออาคารประวัติศาสตร์ 

11 มีนาคม 2025: การโจมตีด้วยขีปนาวุธของรัสเซียทำให้เรือบรรทุกสินค้าธัญพืชในท่าเรือโอเดสซาได้รับความเสียหาย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน 

21 มีนาคม 2025: รัสเซียเปิดฉากการโจมตีด้วยโดรนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งต่อโอเดสซา ทำให้เกิดไฟไหม้ขนาดใหญ่และมีผู้บาดเจ็บ 3 คน
การโจมตีต่อเมืองนี้สะท้อนถึงความพยายามของรัสเซียในการควบคุมเส้นทางการค้าและตัดยูเครนออกจากการเข้าถึงทางทะเล

สรุป โอเดสซาไม่ได้เป็นเพียงเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของยูเครนเท่านั้น แต่คือ "จุดยุทธศาสตร์" ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อโครงสร้างพลังอำนาจในทะเลดำและยูเรเซีย เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อทั้ง การทหาร เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง ในสงครามรัสเซีย–ยูเครน การควบคุมเมืองนี้จะทำให้รัสเซียได้เปรียบเชิงโครงสร้างทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ การยึดครองโอเดสซาอาจหมายถึงการปิดล้อมยูเครนจากทะเลโดยสมบูรณ์ และการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสมดุลอำนาจระหว่างรัสเซียกับตะวันตก ขณะที่สำหรับยูเครน การรักษาโอเดสซาไว้ได้ คือการคงไว้ซึ่งเส้นทางสู่ทะเลดำและความอยู่รอดในระดับชาติ

ประชากรรัสเซียในภาวะวิกฤต หลังอัตราการเกิดลดลงต่อเนื่อง ท่ามกลางความท้าทายในบริบทเศรษฐกิจ สงคราม และภูมิรัฐศาสตร์

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารัสเซียกำลังเผชิญกับวิกฤตประชากรที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ซึ่งเป็นวิกฤติประชากรที่ลึกซึ้งและต่อเนื่อง หลายฝ่ายมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติในระยะยาว อัตราการเกิดที่ลดลง สัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และอัตราการอพยพของแรงงานฝีมือสูงล้วนบ่งชี้ถึงปัญหาที่ฝังรากลึกและยังหาทางแก้ไม่ได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี ค.ศ. 2023 ที่อัตราการเกิดลดลงถึงระดับต่ำสุดในรอบ 200 ปี ปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงสะท้อนถึงปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศ แต่ยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามในยูเครน และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมรัสเซีย 

โดยในปี ค.ศ. 2023 มีเด็กเกิดใหม่ในรัสเซียเพียงประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำที่สุดนับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีเด็กเกิดเพียง 616,200 คน เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี ค.ศ. 2022 ที่มีมากกว่า 635,000 คน หรือมากกว่านั้นในช่วงก่อนโควิด สื่ออิสระและนักวิชาการบางส่วนได้ชี้ว่า จำนวนการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนี้เป็นผลมาจาก 1) สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน 2) ความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต 3) ความไม่มั่นคงทางสังคมและการเมืองจากสงครามในยูเครน 4) ค่านิยมใหม่ที่ไม่เน้นการสร้างครอบครัวในคนรุ่นใหม่  

ถึงแม้จะผ่านพ้นช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ไปแล้ว แต่จำนวนผู้เสียชีวิตในรัสเซียยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้สงครามในยูเครนยังได้คร่าชีวิตประชาชนและทหารรัสเซียจำนวนมาก (ตัวเลขไม่เป็นทางการระบุหลักแสนราย) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อโครงสร้างประชากรโดยเฉพาะในกลุ่มชายหนุ่มวัยแรงงาน นอกจากนี้หลังการประกาศระดมพลบางส่วนในเดือนกันยายน ค.ศ. 2022 (partial mobilization) มีชายชาวรัสเซียหลายแสนคนอพยพออกนอกประเทศ โดยเฉพาะผู้มีการศึกษาและทักษะสูง เช่น โปรแกรมเมอร์ วิศวกร นักวิจัย ฯลฯ ทำให้รัสเซียสูญเสียทรัพยากรมนุษย์สำคัญ ซึ่งอาจกระทบต่ออัตราการเกิดในระยะยาว นักประชากรศาสตร์ชี้ว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง รัสเซียอาจเห็นจำนวนประชากรลดลงจากราว 143 ล้านคนในปัจจุบัน เหลือเพียง 130 ล้านคนในปี ค.ศ. 2050 หรืออาจต่ำกว่านั้นในสถานการณ์เลวร้าย สถาบันเพื่อการวิเคราะห์และคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์ «ИСАП» ของรัสเซียรายงานว่า รัสเซียกำลังเข้าสู่ “ยุคประชากรหดตัว” «эпоха демографического сжатия» ซึ่งเป็นผลจากทั้งการเกิดที่น้อยเกินไป การเสียชีวิตที่มาก และการย้ายถิ่นออก 

แม้รัฐบาลรัสเซียจะพยายามส่งเสริมการเกิดอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการสวัสดิการต่าง ๆ เช่น เงินอุดหนุน “ทุนมารดา” «материнский капитал» แต่แนวโน้มอัตราการเกิดกลับยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างในมิติ เศรษฐกิจ และ สังคม ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 

1) ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงขึ้น เงินเฟ้อ ค่าอาหารและที่อยู่อาศัยพุ่งสูง โดยเฉพาะหลังจากรัสเซียเผชิญกับการคว่ำบาตรระหว่างประเทศจากกรณีสงครามในยูเครนรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไม่เพียงพอในการดูแลลูกมากกว่าหนึ่งคนโดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่อย่างมอสโกหรือเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจครอบครัวต้องเผชิญกับภาระที่หนักกว่าภูมิภาคอื่น ๆ หลายเท่า ค่าเช่าหรือค่าผ่อนชำระอพาร์ตเมนต์มีราคาเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศถึง 2–3 เท่า ค่าเลี้ยงดูเด็กในศูนย์รับเลี้ยงหรือโรงเรียนอนุบาลเอกชนสูงจนครอบครัวรายได้ปานกลางเข้าไม่ถึง ค่าจ้างพี่เลี้ยงเด็กในมอสโกเฉลี่ยอยู่ที่ 60,000–80,000 รูเบิล/เดือน (ราว 700–900 ดอลลาร์) ซึ่งเทียบเท่าหรือสูงกว่าค่าแรงเฉลี่ยในหลายภูมิภาคของประเทศ รายงานจาก Институт демографии НИУ ВШЭ ระบุว่า “ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเลี้ยงดูเด็กหนึ่งคนในมอสโกตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 18 ปีสูงกว่า 11 ล้านรูเบิล (ประมาณ 125,000 ดอลลาร์)” ซึ่งเป็นอัตราที่ “ไม่สอดคล้องกับรายได้ของชนชั้นกลางทั่วไป”นักประชากรศาสตร์อย่างเอเลนา ซาคาโรวา «Елена Захарова»  จาก Russian Academy of Sciences ชี้ว่า“ในระบบเศรษฐกิจที่เสี่ยงและมีต้นทุนการดำรงชีวิตสูงเช่นนี้ ครอบครัวจำนวนมากไม่สามารถ ‘แบกรับ’ ค่าใช้จ่ายของเด็กแม้แต่หนึ่งคนได้” จากข้อมูลของธนาคารกลางรัสเซีย «Банк России» ปี ค.ศ. 2023 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 7.4% แต่ในหมวดสินค้าเด็กเพิ่มขึ้นมากกว่า 10–15% ในบางเขตเมืองราคานม ผ้าอ้อม ของใช้เด็ก และบริการทางการแพทย์พุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและสาธารณสุขที่เพิ่มสูงส่งผลให้ครอบครัวรุ่นใหม่ลังเลในการมีลูกหรือมีลูกเพิ่ม รายงานของ РАНХиГС (Russian Presidential Academy of National Economy and Public Administration) ชี้ว่า “ระดับรายได้ต่ำและความรู้สึกถึงความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่เลื่อนการแต่งงานและการมีบุตร” ปัจจัยข้างต้นนำไปสู่การเลื่อนหรือยกเลิกแผนการมีบุตร โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นกลางที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง การลดขนาดครอบครัวลงเหลือลูกคนเดียว หรือไม่แต่งงานเลย และภาวะ “urban childfree” ที่กำลังขยายตัวในหมู่คนหนุ่มสาวในเขตเมืองที่เลือกเส้นทางการงาน ความมั่นคง และเสรีภาพ มากกว่าการมีบุตร 

2) การเปลี่ยนแปลงของค่านิยมและโครงสร้างครอบครัว การแต่งงานล่าช้าและการเลือกที่จะอยู่คนเดียว (Singlehood) กลายเป็นเรื่องปกติในหมู่คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะในเขตเมือง การให้ความสำคัญกับอาชีพและความมั่นคงส่วนบุคคลมากกว่าการมีครอบครัวและลูกหลาน รวมถึงอัตราการหย่าร้างสูงโดยรัสเซียมีอัตราการหย่าร้างสูงติดอันดับต้น ๆ ของโลก ส่งผลต่อทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่มองว่าครอบครัวไม่มั่นคง อเล็กซานเดอร์ ซินเนลนิโคฟ «Александр Синельников» นักสังคมวิทยาชาวรัสเซียชี้ว่า“ความคิดเรื่องครอบครัวในรัสเซียเปลี่ยนจาก ‘การมีลูกเพื่ออนาคตชาติ’ เป็น ‘จะมีลูกเมื่อรู้สึกว่าตัวเองมั่นคงเพียงพอ’ ซึ่งในเงื่อนไขปัจจุบัน แทบไม่มีใครรู้สึกเช่นนั้น” 

3) การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับครอบครัว พบว่าในรัสเซียสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาลไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในเขตเมืองชั้นนอกและในภูมิภาคห่างไกล ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นมีน้อยทำให้พ่อแม่โดยเฉพาะผู้หญิงทำงานลำบากเมื่อมีลูก การสนับสนุนทางรัฐจำกัด แม้จะมีนโยบายให้ “ทุนมารดา” «Материнский капитал» ที่ให้เงินสนับสนุนแก่ครอบครัวที่มีลูกคนที่สองหรือสาม และถูกขยายเพิ่มเติมในยุคของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แต่ผลลัพธ์ยังไม่ยั่งยืนแต่ระบบสนับสนุนอื่น ๆ เช่น ค่าดูแลเด็กหรือการลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรยังไม่เพียงพอในทางปฏิบัติ รวมถึงมีการเสนอสิทธิพิเศษด้านที่อยู่อาศัย เงินสนับสนุนการศึกษา และลดภาษีสำหรับครอบครัวที่มีลูกหลายคนซึ่งถึงแม้จะมีนโยบายเหล่านี้ แต่ปัญหาในระดับโครงสร้างยังไม่สามารถแก้ได้ เช่น ความไม่มั่นคง การอพยพแรงงาน และการขาดความเชื่อมั่นในอนาคต 

สงครามในยูเครนกับวิกฤติประชากรของรัสเซีย สงครามในยูเครนมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อประชากรทั้งในยูเครนและรัสเซียรวมถึงในระดับภูมิภาคและโลก มันส่งผลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงประชากรและอัตราการเกิดในรัสเซียและยูเครนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในแง่ของการย้ายถิ่นฐาน การสูญเสียชีวิต และการแยกครอบครัว โดยมีผลดังนี้ 

1) ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สงครามทำให้ประเทศสูญเสียการผลิตในระยะยาวส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ในรัสเซีย เช่น มอสโก เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สงครามทำให้ราคาสินค้าพื้นฐานเพิ่มขึ้น และรัสเซียต้องเผชิญกับการคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตกส่งผลให้มีปัญหาภายในเรื่องห่วงโซ่อุปทานของสินค้าและบริการ ประชาชนได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนสินค้าและบริการบางประการ 

2) ผลกระทบต่อประชากรในด้านการย้ายถิ่นฐาน หลังจากการประกาศสงครามและมาตรการคว่ำบาตรหลายครั้ง ทำให้จำนวนประชากรรัสเซียเริ่มลดลง เนื่องจากการย้ายถิ่นฐานของผู้เชี่ยวชาญทางการงานและเยาวชนที่มองหาความมั่นคงทางการเงินและอาชีพในประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจที่ดีกว่า 

3) ผลกระทบทางสังคม สงครามในยูเครนทำให้มีการสูญเสียชีวิตของพลเรือนและทหารจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้มีการสูญเสียครอบครัวและมีผลกระทบทางอารมณ์ต่อผู้ที่รอดชีวิต หลายครอบครัวต้องแยกจากกันเนื่องจากสงคราม ทำให้เกิดการสูญเสียในหลายมิติ ทั้งด้านอารมณ์และการทำงาน การขาดแคลนทรัพยากรสำหรับครอบครัวที่ยังคงอยู่ในเขตสงคราม เด็กจำนวนมากต้องเผชิญกับความทรงจำที่รุนแรงจากสงคราม รวมถึงการสูญเสียทั้งครอบครัวและทรัพย์สิน ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาทางจิตใจในระยะยาว 

4) การลดลงของอัตราการเกิดในยูเครนและรัสเซีย การที่ประชากรจำนวนมากในทั้งสองประเทศต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ การสูญเสียชีวิต และการย้ายถิ่นฐานส่งผลต่อการตัดสินใจที่จะมีบุตรในอนาคต อัตราการเกิดลดลงในทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ของรัสเซีย ในแง่สังคมและเศรษฐกิจการมีบุตรในประเทศที่ประสบปัญหาทางการเงินและสงครามกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น การมีบุตรไม่ได้ถูกมองว่าเป็นทางเลือกหลักสำหรับเยาวชนในประเทศเหล่านี้ 

5) ผลกระทบทางการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ สงครามนี้ได้ผลักดันให้ประชาชนในทั้งสองประเทศมีอัตลักษณ์และความภักดีทางการเมืองที่แตกต่างกัน โดยมีบางกลุ่มที่สนับสนุนการบูรณภาพของอาณาเขตในขณะที่บางกลุ่มเรียกร้องให้เกิดความเป็นอิสระ ก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองในรัสเซียและยูเครนและการแทรกแซงจากต่างประเทศและการปฏิรูปโครงสร้าง โดยประเทศตะวันตกได้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนยูเครนทั้งทางการเงินและทางการทหาร ซึ่งมีผลกระทบต่ออำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซีย 

6) ความขัดแย้งในเชิงอารยธรรม สงครามทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างอารยธรรมตะวันตกและอารยธรรมรัสเซีย-ยูเครน การสนับสนุนจากโลกตะวันตกให้แก่ยูเครนทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่าง "อารยธรรมตะวันตก" และ "อารยธรรมรัสเซีย" ซึ่งส่งผลกระทบต่อการตีความอัตลักษณ์ของทั้งสองชาติ 

แนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลรัสเซีย 
รัฐบาลรัสเซียพยายามรับมือกับวิกฤตประชากร โดยเฉพาะอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ได้นำไปสู่การกำหนดนโยบายส่งเสริมครอบครัวในหลากหลายมิติ โดยหนึ่งในนโยบายหลักที่มีบทบาทชัดเจนที่สุดคือ นโยบาย "Mother Capital" «Материнский капитал» "Mother Capital"ถูกนำมาใช้ในปี ค.ศ. 2007 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อัตราการเกิดของรัสเซียตกต่ำหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ภายใต้การนำของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ครอบครัวมีลูกคนที่สองและสาม  หลักการคือ ครอบครัวที่มีลูกคนที่สองขึ้นไปจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐซึ่งสามารถนำไปใช้ในวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น ซื้อที่อยู่อาศัย ชำระค่าเล่าเรียนของบุตร นำไปสะสมในกองทุนบำนาญของมารดา ในปี ค.ศ. 2020 ได้มีการขยายสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เริ่มให้สิทธิตั้งแต่ลูกคนแรก เพิ่มจำนวนเงินสนับสนุน และเพิ่มทางเลือกในการใช้เงินทุน เช่น การสร้างบ้านในเขตชนบท อย่างไรก็ตามนโยบายนี้มีข้อจำกัด แม้ช่วงแรกมีผลกระตุ้นอัตราการเกิดในระดับหนึ่ง (ช่วงปี 2007–2015) แต่ไม่สามารถรักษาผลลัพธ์ระยะยาวได้ การมีบุตรยังคงถูกมองว่าเป็นภาระทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่ค่าครองชีพสูง นักวิชาการบางรายชี้ว่า นโยบายนี้มีลักษณะ "เงินจูงใจชั่วคราว" ที่ไม่สามารถแก้ไขโครงสร้างทางสังคมที่ลึกซึ้งได้ เช่น ความไม่มั่นคงในการจ้างงาน หรือปัญหาที่อยู่อาศัยในระยะยาว นอกจากนี้รัฐบาลยังมีมาตรการจูงใจเพิ่มเติมด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา และภาษี เช่นโครงการจำนองพิเศษสำหรับครอบครัวที่มีลูก «семейная ипотека» อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดเพียง 5% การสนับสนุนให้ครอบครัวสามารถกู้เงินเพื่อซื้อหรือสร้างบ้านโดยมีรัฐช่วยประกัน บางส่วนของ Mother Capital สามารถนำไปใช้เพื่อชำระค่าเล่าเรียนในระดับก่อนและหลังมหาวิทยาลัย สนับสนุนการศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยมีทุนการศึกษาสำหรับครอบครัวที่มีบุตรหลายคนลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลธรรมดาสำหรับครอบครัวที่มีลูกหลายคน บางภูมิภาคมีการมอบ สถานะ “ครอบครัวใหญ่” «многодетная семья» ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษในเรื่อง ค่าขนส่ง อาหารกลางวันในโรงเรียน รวมถึงการเข้าสถานพยาบาลหรือศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน  

สรุป วิกฤตประชากรของรัสเซียเป็น “สัญญาณอันตราย” ต่อเสถียรภาพของรัฐ การพัฒนาเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ในระยะยาว การลดลงของประชากรกำลังท้าทายอุดมการณ์ “รัสเซียที่เข้มแข็ง” ที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินพยายามสร้างขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตลอดสองทศวรรษ  

ซึ่งวิกฤตประชากรในรัสเซียไม่สามารถอธิบายได้เพียงจากปัจจัยเชิงประชากรศาสตร์เท่านั้น หากแต่เป็นผลพวงจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจ โครงสร้างสังคม และค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างลึกซึ้ง ความไม่มั่นคงในชีวิตประจำวัน ค่าครองชีพที่พุ่งสูง และการขาดระบบสนับสนุนจากรัฐล้วนหล่อหลอมให้คนรุ่นใหม่ลังเลที่จะสร้างครอบครัว หลายฝ่ายมองว่าการแก้ไขวิกฤตประชากรของรัสเซียไม่สามารถพึ่งนโยบายการเงินเพียงอย่างเดียวได้ แต่ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบสวัสดิการและโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย

‘นิกิตา ครีลอฟ’ นักสู้ UFC ขอเปลี่ยนสัญชาติ จาก ‘ยูเครน’ เป็น ‘รัสเซีย’ จุดชนวนดราม่าระอุโลก MMA

(17 เม.ย. 68) นิกิตา ครีลอฟ (Nikita Krylov) นักสู้ MMA ชื่อดังชาวยูเครน ประกาศยินดีเปลี่ยนสัญชาติเป็นรัสเซีย พร้อมระบุว่าเขา “ภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนของรัสเซีย” ขึ้นชกในรายการ UFC 314 ซึ่งคำดังกล่าวกลายเป็นที่จุดชนวนความไม่พอใจและความโกรธเกรี้ยวในหมู่ชาวยูเครน และแฟนกีฬาทั่วโลกที่ติดตามความขัดแย้งระหว่างสองประเทศอย่างใกล้ชิด

ครีลอฟ ซึ่งมีพื้นเพจากเมืองคราสนีย์ลุค ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน และมีครอบครัวเชื้อสายรัสเซีย เคยใช้ชีวิตอยู่ในกรุงมอสโกมานาน เขาเคยต่อสู้ภายใต้ธงชาติรัสเซียมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่การประกาศอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ถือเป็นการยืนยันจุดยืนอย่างชัดเจน ในขณะที่รัสเซียและยูเครนยังคงอยู่ในภาวะสงคราม

“เราคุยเรื่องนี้กับ UFC แม้กระทั่งสองงานก่อนที่ได้ถามเกี่ยวกับการเลือกเมืองคิสโลวอดสค์ รัสเซียเป็นสถานที่สำหรับการต่อสู้ของผม” ครีลอฟกล่าว “ผมอาศัยอยู่ที่นั่น 2-3 ปีแล้ว และคิดว่าตอนนี้ผมได้รับเกียรติในการเป็นตัวแทนของพวกเขา”

บนโซเชียลมีเดียของยูเครน การตัดสินใจของครีลอฟถูกมองว่าเป็น “การทรยศ” อย่างรุนแรง หลายคนโจมตีว่าเขาหันหลังให้กับชาติบ้านเกิดในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตการณ์อย่างหนักจากการรุกรานของรัสเซีย บางคนถึงกับเรียกร้องให้ UFC พิจารณาถอดเขาออกจากการแข่งขัน

ครีลอฟมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับภูมิภาคดอนบาส ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยในอดีตเขาเคยแสดงออกถึงการสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในลูฮันสค์ และกล่าวว่าเขายินดีรับหนังสือเดินทางของสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสค์ หากได้รับการรับรองในระดับสากล

สำหรับ ลูฮันสค์ (Luhansk) เป็นเมืองหลักในแคว้นลูฮันสค์ ทางตะวันออกของประเทศยูเครน ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนรัสเซีย และถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมของภูมิภาค ดอนบาส (Donbas) ซึ่งรวมถึงแคว้นลูฮันสค์และโดเนตสค์

หลังเหตุการณ์การปฏิวัติยูเครนปี 2014 (Euromaidan) และการผนวกไครเมียโดยรัสเซีย กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซียในลูฮันสค์และโดเนตสค์ ได้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลยูเครน ทำให้พวกเขาประกาศจัดตั้ง “สาธารณรัฐประชาชนลูฮันสค์” (Luhansk People's Republic – LPR) และแยกตัวจากยูเครน ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ทั้งนี้ นิกิตา ครีลอฟ เป็นนักสู้ MMA วัย 33 ปี เจ้าของฉายา "The Miner" มีสถิติการชกอาชีพที่น่าประทับใจ โดยมีชัยชนะ 30 ครั้ง (ชนะน็อก 12 ครั้ง, ชนะซับมิชชัน 16 ครั้ง) และแพ้ 10 ครั้ง 

เขาเคยสร้างชื่อจากการเอาชนะนักสู้ชื่อดังอย่าง อเล็กซานเดอร์ กุสตาฟส์สัน และ ไรอัน สแปน ด้วยการน็อกเอาต์และซับมิชชันในยกแรก อย่างไรก็ตาม ในไฟต์ล่าสุดที่ UFC 314 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2025 ที่ไมอามี ครีลอฟพ่ายแพ้ให้กับ โดมินิค เรเยส (Dominick Reyes) ด้วยการน็อกเอาต์ในยกแรก หลังจากถูกหมัดซ้ายตรงของเรเยสส่งลงไปนอนบนพื้นเวที

อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ยังไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการจาก UFC หรือองค์กร MMA อื่นๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนสัญชาติของ นิกิตา ครีลอฟ จากยูเครนเป็นรัสเซีย เนื่องจากเหตุการณ์นี้ไม่ใช่แค่เรื่องของ “สัญชาติในพาสปอร์ต” แต่เป็นบทสะท้อนความซับซ้อนของกีฬาในโลกที่การเมืองและอุดมการณ์ไม่อาจแยกจากกันได้อีกต่อไป

‘อินโดนีเซีย’ ขยับหมากใหม่จับมือ ‘รัสเซีย’ เป็นพันธมิตรการค้า หวังเปิดทางลงทุนเพิ่มแรงขับเศรษฐกิจ-ลดผลกระทบมาตรการภาษีสหรัฐฯ

(18 เม.ย. 68) จากรายงานของสำนักข่าวซินหัว เมื่อวันพุธที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา อนินทยา บักรี ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย (KADIN) เปิดเผยกับสื่อท้องถิ่นว่า อินโดนีเซียกำลังเบนเป้าหมายทางเศรษฐกิจไปยังรัสเซีย ซึ่งมีศักยภาพในการเป็นตลาดใหม่ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ท่ามกลางความท้าทายจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ

บักรีระบุว่า การสร้างความร่วมมือทางการค้ากับรัสเซียจะเปิดประตูสู่โอกาสการลงทุนที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากรัสเซียเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษในอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันกำลังเปิดรับการลงทุนจากนานาประเทศ

“อินโดนีเซียจะยังคงเดินหน้าค้นหาแนวทางและตลาดใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนซึ่งกันและกันกับพันธมิตรทั่วโลก” บักรีกล่าว

ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีการนำเข้าสินค้าจากรัสเซียในหลายหมวดหมู่ อาทิ น้ำมันปาล์ม เครื่องจักร ยางพารา รองเท้า กาแฟ และชา ในขณะที่รัสเซียนำเข้าปุ๋ยและอาหารทะเลหลากหลายชนิดจากอินโดนีเซีย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 เมษายน อินโดนีเซียและรัสเซียได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านการค้า เศรษฐกิจ และการลงทุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์รัฐบาลอินโดนีเซียในการขยายตลาดการค้า และยกระดับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับประเทศคู่ค้า รวมถึงรัสเซียด้วย

การเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนถึงทิศทางใหม่ของอินโดนีเซียในการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ และลดการพึ่งพาตลาดเดิม ท่ามกลางความผันผวนของภูมิรัฐศาสตร์โลก

‘ผบ.กองทัพรัสเซีย’ รายงาน!! ถึงความคืบหน้าการยึดคืน ‘แคว้นคุสค์’ จากยูเครน ‘ปูติน’ ประกาศ!! 19 – 21 เม.ย. เป็นช่วงพักรบ ไม่มีการเข้าโจมตี และอาจมีขยายเวลา

(20 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Ethan Hunts’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

พล.อ เกราซิมอฟ ผบ.กองทัพรัสเซีย รายงานความคืบหน้าการยึดคืนแคว้นคุสค์ จากยูเครน มีความคืบหน้า 99.5% ปธน.ปูตินแสดงความยินดีต่อความสำเร็จของกองทัพ และอวยพรกองทัพเนื่องในโอกาสเทศกาลอิสเตอร์

ปธน.ปูติน ประกาศให้ตั้งแต่ 18:00 เวลามอสโคว์ของวันที่ 19 เมษายน จนถึงเที่ยงคืนของวันที่ 21 เมษายน เป็นช่วงเวลาพักรบ รัสเซียจะไม่โจมตีเข้าไปในยูเครน และจะดูพฤติกรรมของยูเครนเพื่อพิจารณาขยายเวลาพักรบ

ยูเครนรับร่างทหารกลับคืน 909 ราย ต่อเดือน พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มสงครามรัสเซีย

(21 เม.ย. 68) ​ตามรายงานจากสื่อต่างประเทศหลายแห่ง ระบุว่าในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน 2568 ยูเครนได้รับร่างทหารของตนกลับคืนจากรัสเซียจำนวน 909 ร่างในแต่ละเดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการณ์

ขณะเดียวกัน จำนวนทหารรัสเซียที่เสียชีวิตที่ถูกส่งตัวไปยังสหพันธรัฐรัสเซียก็ลดลงด้วย จาก 49 นายในเดือนมกราคมเป็น 41 นาย ในเดือนเมษายน 

การแลกเปลี่ยนร่างทหารที่เสียชีวิตระหว่างสองประเทศนี้สะท้อนถึงสถานการณ์ในสนามรบที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในภูมิภาคคูร์สก์ ซึ่งกองทัพรัสเซียได้เริ่มปฏิบัติการเชิงรุกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568 

โดยสามารถตัดเส้นทางลำเลียงของยูเครนในเขตซูจานได้ และในวันที่ 8 มีนาคม ได้ใช้ยุทธวิธีเคลื่อนกำลังไปตามท่อส่งก๊าซ บุกเข้าตีแนวรับของยูเครนบางส่วนในรูปแบบกึ่งวงล้อม ทำให้ยูเครนต้องถอนกำลังออกจากฐานที่มั่นขนาดใหญ่หลายแห่งอย่างฉุกละหุก

คำให้การของทหารยูเครนที่ถูกจับเป็นเชลยระบุว่า การถอนกำลังเกิดขึ้นโดยไม่มีการวางแผนใดๆ ทหารหลายคนต้องทิ้งร่างเพื่อนร่วมรบเพื่อหนีเอาตัวรอด บางส่วนติดอยู่ในพื้นที่และถูกยิงเสียชีวิตหลังจากนั้น ในขณะที่โชคดีหน่อยก็ถูกจับเป็นเชลย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมยูเครนจึงได้รับร่างทหารกลับคืนเป็นจำนวนมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าการแลกเปลี่ยนร่างทหารที่เสียชีวิตนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ

สถิติเหล่านี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงจำนวนผู้เสียชีวิตในสงครามเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโมเมนตัมในสนามรบ ซึ่งฝ่ายที่รุกคืบหน้าจะมีโอกาสเก็บกู้ร่างทหารของฝ่ายตรงข้ามได้มากกว่า ในขณะที่ฝ่ายที่ล่าถอยอาจต้องทิ้งร่างทหารของตนไว้ในพื้นที่ที่ถูกยึดครอง

สถานการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงและความสูญเสียที่ยังคงดำเนินต่อไปในสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย แม้จะมีความพยายามในการเจรจาและหยุดยิงในบางช่วงเวลา แต่ความขัดแย้งยังคงยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนทั้งสองฝ่าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top