Tuesday, 20 May 2025
รัสเซีย

‘CIA’ ใช้!! ‘ยูเครน’ เป็นฐานข่าวกรอง เปลี่ยนเกมยุทธศาสตร์ NATO ในยุโรป

(19 ม.ค. 68) จากรายงานของ Sputnik International (18 ม.ค. 2025) ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เริ่มต้นจาก "ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร" เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2022 ได้เน้นถึงบทบาทสำคัญของ NATO และสหรัฐฯ ในการสร้างเครือข่ายข่าวกรองและขยายอำนาจทางทหารในยุโรป

การเริ่มต้นปฏิบัติการในยูเครน

รัสเซียอ้างว่าการปฏิบัติการในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อปลดปล่อยภูมิภาคดอนบาส หลังประชาชนในพื้นที่โดเนตสค์และลูกันสค์เผชิญการโจมตีจากกองกำลังของยูเครนอย่างต่อเนื่อง โดยความขัดแย้งนี้มีรากฐานมาจากเหตุการณ์รัฐประหาร Euromaidan ในปี 2014 ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลยูเครนมีแนวโน้มสนับสนุนตะวันตกอย่างชัดเจน

ความร่วมมือระหว่าง CIA และยูเครน

หลังรัฐประหารในปี 2014 หน่วยข่าวกรองของยูเครนกลายเป็นพันธมิตรสำคัญของ CIA รายงานเผยว่ามีการส่งมอบเอกสารลับของรัสเซียให้กับ CIA อย่างต่อเนื่อง รวมถึงข้อมูลอาวุธลับ เทคโนโลยีสงครามอิเล็กทรอนิกส์ และแผนการตัดสินใจทางการทหาร

CIA ได้สร้างฐานปฏิบัติการลับ 12 แห่งใกล้ชายแดนรัสเซีย และจัดตั้งโครงการฝึกอบรมหน่วยพิเศษยูเครนในชื่อ ‘Operation Goldfish’ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติการต่อต้านรัสเซีย

อดีตเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เปิดเผยว่าข้อมูลเหล่านี้มีมูลค่าสูงถึง "หลายร้อยล้านดอลลาร์" โดยมีความสำคัญต่อการพัฒนายุทธวิธีของ NATO

การติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ B61-12 ในยุโรป

สหรัฐฯ ได้เริ่มติดตั้งระเบิดนิวเคลียร์รุ่น B61-12 ซึ่งเป็นรุ่นปรับปรุงล่าสุดในฐานทัพยุโรป โดยได้รับการอนุมัติให้ใช้งานภายใต้โครงการ "การแบ่งปันนิวเคลียร์" ของ NATO ระเบิดรุ่นนี้สามารถปรับพิสัยการทำลายล้างได้ตั้งแต่ 0.3-50 กิโลตัน

Jill Hruby หัวหน้าหน่วยงานความมั่นคงนิวเคลียร์แห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่าการติดตั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณไปยังรัสเซียว่า NATO พร้อมรับมือทุกภัยคุกคาม

ความคิดเห็นนักวิเคราะห์

Michael Maloof อดีตนักวิเคราะห์กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ วิจารณ์ว่า NATO กำลังเปลี่ยนจากพันธมิตรป้องกันตัวเป็นองค์กรเชิงรุก และการติดตั้งอาวุธนี้ทำให้ยุโรปมีความเสี่ยงต่อความขัดแย้งทางนิวเคลียร์มากขึ้น

Maloof ระบุว่าการเคลื่อนไหวของ NATO อาจกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งที่ยากต่อการควบคุม โดยยุโรปอาจกลายเป็นเป้าหมายสำคัญหากความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและตะวันตกเพิ่มสูงขึ้น

บทสรุป

รายงานจาก Sputnik International ชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเป็นมากกว่าการต่อสู้ในพื้นที่ แต่ยังเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ระดับโลกของ NATO และสหรัฐฯ ที่อาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงในระยะยาว

แฉบริษัทอาวุธมะกัน โกยเงินสงครามยูเครน หุ้นโตพุ่ง-ออเดอร์อื้อ ไม่สนวิกฤตขัดแย้งโลก

(28 ม.ค.68) ท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่เห็นปลายทางของจุดจบ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมทางทหารหลายแห่งของสหรัฐฯ กลายเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาลจากความขัดแย้งของสองชาติ โดยผู้เชี่ยวชาญหลายรายให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว  Sputnik ว่า บรรดาบริษัทผู้ผลิตอาวุธในสหรัฐฯ ได้ทำกำไรมหาศาลจากการจัดหาอาวุธสำหรับสงครามในยูเครน ซึ่งผลักดันโลกให้เข้าใกล้จุดวิกฤติของสงครามเต็มรูปแบบ

รายงานระบุว่า บรรดาผู้ผลิตอาวุธจากสหรัฐฯ ได้รับผลประโยชน์จากการขายอาวุธให้แก่รัฐบาลต่างชาติ ส่งผลให้ยอดขายอาวุธของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 29% ในปี 2024 หรือคิดเป็นมูลค่าที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 318.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ   

ส่งผลให้ช่วงที่ผ่านมาหุ้นของบริษัทผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ของสหรัฐ อาทิ Lockheed Martin, General Dynamics และ Northrop Grumman ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางหุ้นสายเทคโนโลยีบริษัทอื่นๆที่มักผันผวน แต่หุ้นของอุตสาหกรรมอาวุธในสหรัฐฯ ต่างเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยหุ้นของ Lockheed Martin เติบโต 38.49% ในปีที่ผ่านมา แตะจุดสูงสุดที่ 611.74 ดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนตุลาคม ขณะที่หุ้นของ General Dynamics เพิ่มขึ้น 27.81% แตะระดับสูงสุดที่ 313.39 ดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนพฤศจิกายน 2024  ส่วนหุ้นของ Northrop Grumman มีการเติบโต 25.5% ในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี 2024  

ตามการวิเคราะห์ของ Sputnik ที่อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงการคลังยูเครนและมหาวิทยาลัย Kiel พบว่าในช่วงสามปีที่ผ่านมา NATO ได้สนับสนุนงบประมาณแก่รัฐบาลยูเครนถึง 191.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐฯ เป็นผู้บริจาคความช่วยเหลือทางทหารรายใหญ่ที่สุด มูลค่ารวม 68.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่าประเทศที่เป็นผู้ซื้ออาวุธรายใหญ่จากสหรัฐฯ ได้แก่ ตุรกี สั่งซื้อ เครื่องบิน F-16 และการปรับปรุงระบบ มูลค่า 23 พันล้านดอลลาร์ อิสราเอล สั่งซื้อเครื่องบินรบ F-15 มูลค่า 18.8 พันล้านดอลลาร์  ญี่ปุ่น สั่งซื้อ เครื่องบิน KC-46A มูลค่า 4.1 พันล้านดอลลาร์ และขีปนาวุธ Tomahawk มูลค่า 2.4 พันล้านดอลลาร์  เยอรมนี สั่งซื้อขีปนาวุธ Patriot มูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์  อินเดีย สั่งซื้อโดรน MQ-9B มูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์ เกาหลีใต้ สั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์ AH-64E Apache มูลค่า 3.5 พันล้านดอลลาร์ โรมาเนีย สั่งซื้อรถถัง M1A2 Abrams มูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์)

ดร.เคน แฮมมอนด์ นักเขียนและศาสตราจารย์ กล่าวกับ Sputnik ว่า การแสวงหากำไรจากสงครามโดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติอย่างร้ายแรง โดยยูเครนถูกส่งอาวุธจากตะวันตกอย่างไม่หยุดยั้ง  

อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือทางทหารจำนวนมหาศาลที่ตะวันตกส่งให้ยูเครนส่วนใหญ่กลับไร้ผลในสนามรบ อีกทั้งยังเป็นเป้าหมายโจมตีที่ชอบธรรมของรัสเซีย และยังมีส่วนหนึ่งที่หลุดไปอยู่ในมือของพ่อค้าอาวุธผิดกฎหมายในตลาดมืด

คนยูเครนเกินครึ่งเบื่อสงคราม หนุนถกรัสเซีย ปูตินเปิดช่องสันติภาพ แต่ไม่ขอคุยกับเซเลนสกี

(29 ม.ค. 68) ผลสำรวจล่าสุดเผย ชาวยูเครนครึ่งหนึ่งสนับสนุนแนวทางการเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย ท่ามกลางแรงกดดันจากนานาชาติให้ยุติสงครามที่ดำเนินมากว่า 3 ปี

ผลสำรวจของ Socis สำนักโพลของยูเครนที่เมื่อไม่นานมานี้  แสดงให้เห็นว่าประชากรยูเครน 50.6% สนับสนุนแนวทางการเจรจาสันติภาพ โดยมีตัวกลางจากนานาชาติเข้ามามีบทบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 36.1% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 สะท้อนถึงความรู้สึกที่เปลี่ยนไปของชาวยูเครน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยืดเยื้อและรุนแรงขึ้นในสมรภูมิรบ

ในขณะเดียวกัน อัตราการสนับสนุนให้เดินหน้าต่อสู้เพื่อทวงคืนชายแดนสู่แนวเดิมในปี 1991 ลดลงจาก 33.5% ในช่วงต้นปี 2024 เหลือเพียง 14.7% ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ขณะที่แนวคิดการตรึงสมรภูมิไว้ในแนวปัจจุบันก็ได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นจาก 8.2% เป็น 19.5%

ด้านประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย แสดงท่าทีว่าพร้อมพิจารณาการเจรจาสันติภาพ แต่ปฏิเสธการพูดคุยโดยตรงกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ซึ่งเขามองว่าเป็นผู้นำที่ "ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" เนื่องจากหมดวาระไปแล้วในช่วงกฎอัยการศึก อย่างไรก็ตาม ปูตินเปิดทางให้มีการเจรจาผ่านตัวแทนจากทั้งสองฝ่าย

เซเลนสกี ตอบโต้ท่าทีของปูติน โดยระบุว่ารัสเซียพยายามยื้อเวลาและกลัวการเจรจาจริงจัง เขาย้ำว่าแนวทางเดียวที่ยอมรับได้คือสันติภาพที่รักษาอธิปไตยของยูเครน พร้อมเรียกร้องให้พันธมิตรตะวันตกเดินหน้าสนับสนุนเคียฟต่อไป

ด้านสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเพิ่มแรงกดดันต่อทั้งสองฝ่ายให้บรรลุข้อตกลงโดยเร็ว ทรัมป์เตือนว่าหากรัสเซียไม่ยอมรับการเจรจา อาจเผชิญมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม นอกจากนี้ เขายังแต่งตั้งคีธ เคลลอกก์ ทูตพิเศษด้านยูเครนคนใหม่ พร้อมกำหนดระยะเวลา 100 วันให้ดำเนินการหาข้อตกลงสันติภาพให้ได้

มอสโกยังคงยืนยันจุดยืนว่าการเจรจาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อยูเครนละทิ้งความต้องการเข้าร่วมนาโต รวมถึงยอมรับสถานะใหม่ของดินแดนที่ถูกรัสเซียผนวกไปก่อนหน้านี้ ขณะที่เคียฟยืนกรานว่าการเจรจาต้องนำไปสู่การฟื้นฟูอธิปไตยเหนือดินแดนทั้งหมด รวมถึงไครเมียที่ถูกยึดไปตั้งแต่ปี 2014

แม้ว่าทั้งสองฝ่ายยังคงมีจุดยืนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่แรงกดดันจากประชาคมโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ อาจทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ทั้งสองประเทศจะต้องหันหน้าสู่โต๊ะเจรจาในอนาคตอันใกล้

ทหาร 1 แสนนายหนีทัพ รัสเซียเผยสูญเสียหนัก เซเลนสกีไม่มีทางเลือก แก้กม.ดึงเด็ก 18 ปีสู้ศึกแทน

(30 ม.ค.68) กระทรวงกลาโหมรัสเซียเปิดเผยข้อมูลเมื่อวันพฤหัสบดีว่า มีทหารยูเครนราว 100,000 นาย ละทิ้งหน้าที่จากหน่วยของตนเองและหลบหนีไป โดยกรณีการหนีทัพดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในเวลานี้

รายงานระบุว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา กองทัพยูเครนสูญเสียกำลังพลโดยเฉลี่ยประมาณ 50,000 คนต่อเดือน

"จากข้อมูลทางการ ทหารยูเครนประมาณ 100,000 คน ได้ละทิ้งหน่วยทหารของตนโดยพลการและหลบหนีไป" กระทรวงฯ กล่าวในแถลงการณ์ นอกจากนี้ ยังเสริมว่า อัตราการระดมพลในยูเครนไม่สามารถชดเชยการสูญเสียได้ ส่งผลให้จำนวนกำลังพลของยูเครนลดลงอย่างต่อเนื่อง

กลาโหมรัสเซียยังเผยอีกว่า ด้วยสภาพดังกล่าวทำให้รัฐบาลเคียฟมีทางเลือกไม่มาก โดยอาจใช้วิธีการแก้ไขกฎหมายลดอายุเกณฑ์การระดมพลจาก 25 ปีเหลือ 18 ปี ซึ่งเป็นเพียงวิธีเดียวที่ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี จะสามารถทำได้เพื่อยืดเวลาการรบในแนวหน้าโดยเฉพาะที่ภูมิภาคดอนบาสออกไปอีกไม่กี่เดือน แต่นั่นก็ทำให้ยูเครนถูกบรรดาชาติตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์

ทรัมป์ฟาดหนัก! ขู่ BRICS เจอภาษี 100% แน่ หากกล้าแทนที่ดอลลาร์สหรัฐฯ

(31 ม.ค.68) อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกคำเตือนผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social ถึงกลุ่มประเทศ BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) โดยขู่ว่าจะขึ้นภาษี 100% หากกลุ่มประเทศเหล่านี้พยายามแทนที่ดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยสกุลเงินใหม่หรือสนับสนุนสกุลเงินอื่นในการค้าระหว่างประเทศ

ทรัมป์ระบุว่า “แนวคิดที่ว่ากลุ่ม BRICS จะหันหลังให้กับดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่เรายืนดูอยู่นั้นต้องจบลงแล้ว” พร้อมย้ำว่าสหรัฐฯ จะเรียกร้องให้ประเทศเหล่านี้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่สร้างสกุลเงินใหม่ของ BRICS หรือสนับสนุนสกุลเงินอื่นเพื่อแทนที่ดอลลาร์สหรัฐฯ 

“หากพวกเขาไม่ปฏิบัติตาม พวกเขาจะต้องเผชิญกับภาษี 100% และควรเตรียมตัวโบกมืออำลาการค้ากับเศรษฐกิจอันยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ” ทรัมป์กล่าว พร้อมเสริมว่า “พวกเขาสามารถไปหาประเทศอื่นที่ยอมจำนนได้ แต่ไม่มีทางที่ BRICS จะเข้ามาแทนที่ดอลลาร์สหรัฐฯ ในการค้าระหว่างประเทศหรือที่ใดก็ตาม”

คำเตือนของทรัมป์เกิดขึ้นในบริบทที่กลุ่ม BRICS ได้แสดงความสนใจในการลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐฯ และมีการหารือเกี่ยวกับการสร้างระบบการชำระเงินหรือสกุลเงินใหม่เพื่อลดอิทธิพลของสหรัฐฯ ในระบบการเงินโลก อย่างไรก็ตาม การขู่ว่าจะขึ้นภาษี 100% ของทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และกลุ่ม BRICS ในอนาคต

USAID หนุนทุนวิจัยอาวุธชีวภาพ มอบเงิน 307,000 ดอลลาร์ ให้โครงการในยูเครน

(4 ก.พ. 68) หลังจากมีกระแสข่าวที่ว่าอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีและคณะทำงานกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล  DOGEมีแผนสั่งยุบองค์กรที่ให้การช่วยเหลือระดับโลกของรัฐบาลสหรัฐภายใต้ชื่อ USAID นั้น เว็บไซต์ข่าวสปุตนิก รายงานว่า พลโท อิการ์ คิริลอฟ หัวหน้ากองกำลังป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพของกองทัพรัสเซีย ผู้ล่วงลับจากเหตุระเบิดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เคยออกมาแฉถึงเบื้องหลังของ USAID ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องให้การสนับสนุนวิจัยอาวุธชีวภาพในยูเครน

ก่อนหน้านี้ อีลอน มัสก์ ได้เรียก USAID ว่าเป็น องค์กรอาชญากร และกล่าวว่า ถึงเวลาที่ต้องจบแล้ว พร้อมกล่าวหาว่าภาษีของสหรัฐฯ ถูกโอนผ่านองค์กรนี้เพื่อใช้ในการวิจัยอาวุธชีวภาพ ซึ่งสะท้อนถึงคำกล่าวอ้างของพลโท อิกอร์ คิริลอฟ อดีตหัวหน้ากองกำลังป้องกันเคมี ชีวภาพ และนิวเคลียร์ของรัสเซีย โดยเอกสารที่ได้รับจากการปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียระบุว่า

Metabiota บริษัทผู้รับเหมาในสังกัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้รับสัญญาสำหรับการ 'วิจัยและพัฒนาในวิทยาศาสตร์ทางกายภาพ วิศวกรรมศาสตร์ และชีววิทยา' และ 'ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความร่วมมือ' โดยในเดือนกันยายน 2014 Metabiota ได้รับเงิน 307,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับ "โครงการวิจัยในยูเครน" และในปีงบประมาณ 2014 Metabiota ได้รับการประมูลจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และหน่วยงานย่อยอย่าง Defense Threat Reduction Agency (DTRA)

การสืบสวนของกระทรวงกลาโหมรัสเซียในปี 2022 เปิดเผยว่า DTRA เป็นหน่วยงานหลักของสหรัฐฯ ในการสร้างห้องแล็บชีวภาพในยูเครน โดย Metabiota ยังอยู่ในรายชื่อบริษัทที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

นอกจากนั้นนายพลคิริลอฟ เคยระบุในรายงานอีกว่า ตั้งงแต่ปี 2019 USAID และผู้รับเหมาหลักคือ Labyrinth Ukraine ได้มีส่วนร่วมในโครงการชีววิทยาของกองทัพสหรัฐฯ โดย Labyrinth Ukraine เป็นสาขาหนึ่งของ Labyrinth Global Health ซึ่งผู้ก่อตั้งของ Labyrinth Global Health เคยทำงานกับ Metabiota ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหลักของกองทัพสหรัฐฯ ในด้านอาวุธชีวภาพ

Labyrinth Ukraine มีส่วนร่วมในโครงการ UP-9 และ UP-10 ของสหรัฐฯ ซึ่งศึกษาการระบาดของไข้สุกรแอฟริกันในยูเครนและยุโรปตะวันออก

ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022, มีการกล่าวหาว่าเชื้อโรคของโรคระบาด เช่น โรคกาฬโรค, โรคแอนแทรกซ์, โรคทูลาเรเมีย, โรคอหิวาต์ และโรคติดต่อร้ายแรงอื่นๆ ถูกทำลายเพื่อปกปิดการละเมิดอนุสัญญาอาวุธชีวภาพและพิษ (BTWC) โดยสหรัฐฯ และยูเครน

จดหมายจากหัวหน้ากองระบาดวิทยาของยูเครนถึง Labyrinth Ukraine ได้ยืนยันถึงความร่วมมือกับ USAID ในการฉีดวัคซีนให้กับทหารและการเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับสหรัฐฯ

นอกจากนี้ยังมีโครงการวิจัยอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้แผนลดภัยคุกคามชีวภาพของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ อาทิ การวิจันเชื้อไวรัสโคโรนาและฝีดาษลิง  นอกจากนี้ยังพบหลักฐานว่าในปี 2009 โครงการ PREDICT ของ USAID  เคยนำเชื้อไวรัสโคโรนาชนิดใหม่มาวิจัย แต่หน่วยวิจัยดังกล่าวถูกปิดลงกะทันหันในปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด ซึ่งกลายเป็นจุดสังเกตที่นายพลรัฐบาลตั้งข้อสงสัย

โสมใต้เผยคิมสั่งถอนทหารพ้นแนวหน้ายูเครน หลังสูญเสียหนัก ดับ-เจ็บนับพัน

(5 ก.พ. 68) หน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ทหารเกาหลีเหนือได้ถอนตัวออกจากแนวหน้าการสู้รบในภูมิภาคเคิร์สก์ของรัสเซียเรียบร้อยแล้ว หลังจากปฏิบัติภารกิจสนับสนุนกองทัพรัสเซียเพื่อสู้ศึกยูเครนมาหลายเดือน

สำนักข่าวกรองแห่งชาติเกาหลีใต้ (NIS) รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่ากองกำลังเกาหลีเหนือยังคงมีบทบาทในพื้นที่สู้รบทางตะวันตกของรัสเซีย หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อาจนำไปสู่การถอนกำลังคือการสูญเสียทหารจำนวนมากจากการปะทะกับยูเครน

ก่อนหน้านี้ ในช่วงต้นเดือนมกราคม NIS ได้แจ้งต่อรัฐสภาเกาหลีใต้ว่า มีรายงานการเสียชีวิตของทหารเกาหลีเหนือประมาณ 300 นาย และบาดเจ็บอีกกว่า 2,700 นายจากการสู้รบในภูมิภาคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับชะตากรรมของทหารที่ได้รับบาดเจ็บว่าพวกเขาได้รับการรักษาหรือถูกส่งตัวไปยังพื้นที่ปลอดภัยอื่น

หน่วยข่าวกรองของเกาหลีใต้กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงของการถอนกำลังครั้งนี้ โดยข้อมูลล่าสุดสอดคล้องกับรายงานจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองทัพยูเครน ซึ่งระบุว่า ไม่พบความเคลื่อนไหวทางทหารของกองทัพเกาหลีเหนือในภูมิภาคเคิร์สก์ตลอดช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวด้านความมั่นคงจากชาติตะวันตกเปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 3 เดือนของการเข้าร่วมปฏิบัติการรบในรัสเซีย เกาหลีเหนือสูญเสียทหารไปแล้วราว 4,000 นาย จากกำลังพลที่ถูกส่งไปทั้งหมดประมาณ 11,000 นาย ซึ่งการสูญเสียนี้รวมถึงทหารที่เสียชีวิต บาดเจ็บ สูญหาย และถูกจับเป็นเชลยศึก โดยมีการประเมินว่า ทหารที่เสียชีวิตมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 นายจนถึงกลางเดือนมกราคม

ในอีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครนให้สัมภาษณ์กับสื่ออังกฤษ โดยกล่าวว่าหากยูเครนไม่สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ได้ ประเทศพันธมิตรตะวันตกควรจัดหาแนวทางรับประกันความมั่นคงของยูเครนในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ ระบบขีปนาวุธ งบประมาณด้านการทหาร หรือแม้แต่การส่งกำลังทหารเข้ามาช่วยดูแลพื้นที่

นอกจากนี้ ผู้นำยูเครนยังยืนยันว่าพร้อมเปิดการเจรจากับรัสเซีย หากการพูดคุยสามารถนำไปสู่การยุติสงครามและลดการสูญเสียชีวิตของประชาชน

ยูเครนยอมรับแพ้รัสเซียแน่ หากสหรัฐระงับความช่วยเหลือ

(7 ก.พ.68) โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ยอมรับว่าสถานการณ์ของประเทศอาจย่ำแย่ลงอย่างมาก หากสหรัฐฯ ยุติการให้ความช่วยเหลือทางทหารและการเงิน

คำกล่าวของเซเลนสกีมีขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับท่าทีของสหรัฐฯ ต่อยูเครน หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีคำสั่งระงับโครงการสนับสนุนเงินทุนสำหรับต่างประเทศเกือบทั้งหมด

สำนักข่าว RT ของรัสเซียรายงานว่า สหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนหลักของยูเครนตั้งแต่เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยเมื่อเดือนที่แล้ว ทรัมป์ระบุว่าสหรัฐฯ ได้ใช้เงินไปแล้วกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ในการสนับสนุนยูเครน อย่างไรก็ตาม เซเลนสกีโต้แย้งว่าตัวเลขที่แท้จริงอยู่ที่ประมาณ 76,000 ล้านดอลลาร์

ระหว่างการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ เซเลนสกียืนยันว่าความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในขณะนี้ยังคงดำเนินต่อไปและยังไม่ถูกระงับ อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้กล่าวถึงแนวโน้มของมาตรการช่วยเหลือในอนาคต

“ผมไม่อยากคิดเลยว่าหากเราไม่ได้รับการสนับสนุนต่อไป สถานการณ์จะเป็นอย่างไร” เซเลนสกีกล่าว “แน่นอนว่าสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการป้องกันประเทศของเราอย่างรุนแรง และผมไม่มั่นใจว่าเราจะสามารถรับมือได้หรือไม่”

จี้ยูเครนชดใช้เงินช่วยเหลือ USAID แลกทรัพยากรแร่หายาก-น้ำมัน

(10 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ มีแผนหารืออย่างเป็นทางการกับผู้นำยูเครนเกี่ยวกับแนวทางในการชำระคืนความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ ได้ให้ผ่านโครงการ USAID ซึ่งรวมถึงการให้สหรัฐสามารถเข้าถึงทรัพยากรแร่หายาก น้ำมัน และก๊าซของยูเครน เป็นการชดใช้ความช่วยเหลือที่เคยให้ไป ไมค์ วอลซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เผย

วอลซ์ ระบุว่า "ประธานาธิบดีทรัมป์พร้อมจะนำทุกประเด็นมาพูดคุยในสัปดาห์นี้ รวมถึงอนาคตของ USAID ที่มอบให้ยูเครน เราต้องได้รับการชดเชยค่าใช้จ่ายเหล่านั้น ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกับยูเครนในแง่ของทรัพยากรแร่หายาก น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และการซื้อพลังงานจากสหรัฐฯ" วอลซ์กล่าวกับ NBC News พร้อมย้ำว่าการเจรจาเหล่านี้จะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์นี้

วอลซ์ยังเสริมว่า ทรัมป์มีเป้าหมายที่จะยุติความขัดแย้งในยูเครน แต่คาดหวังให้ยุโรปรับผิดชอบด้านหลักประกันความมั่นคง

"หลักการสำคัญคือ ยุโรปต้องเป็นเจ้าภาพในการจัดการความขัดแย้งนี้ต่อไป ประธานาธิบดีทรัมป์จะเป็นผู้ยุติความขัดแย้ง แต่ในแง่ของหลักประกันด้านความมั่นคง ยุโรปต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง" วอลซ์กล่าว

ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้จะมีการเจรจาในยุโรปโดยมีตัวแทนสหรัฐฯ เข้าร่วม ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีกลาโหม รองประธานาธิบดี และทูตพิเศษ โดยจะหารือถึงรายละเอียดของข้อตกลงที่อาจเกิดขึ้น

สำหรับจุดยืนของรัสเซียต่อการยุติความขัดแย้งนั้น หากย้อนไปในเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้เสนอแนวทางสันติภาพ โดยระบุว่ารัสเซียพร้อมที่จะหยุดยิงและเจรจาทันทีหากยูเครนดำเนินการตามเงื่อนไขต่อไปนี้

ยูเครนต้องประกาศยกเลิกการเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO อย่างเป็นทางการ, กองทัพยูเครนต้องถอนกำลังออกจากพื้นที่ที่รัสเซียผนวกเข้าใหม่, รัฐบาลเคียฟต้องดำเนินมาตรการปลดอาวุธทางทหารและขจัดลัทธินาซี, ยูเครนต้องประกาศสถานะเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ นอกจากนี้ ปูตินยังกล่าวถึงการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพ

รัสเซียได้ย้ำหลายครั้งว่ายูเครนเองเป็นฝ่ายห้ามการเจรจามาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 อีกทั้งสถานะความชอบธรรมของประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในมอสโก

ทรัมป์ยกหูคุยปูติน เล็งหารือด่วนสหรัฐฯ-รัสเซีย เผยคุยตรงไปตรงมาหวังหยุดสงครามยูเครน

(13 ก.พ.68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เปิดเผยผ่านแพลตฟอร์มทรูธ โซเชียล (Truth Social) ว่าเขาและวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ตกลงกันในการสนทนาทางโทรศัพท์ที่จะเริ่มการเจรจาโดยตรงระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย เพื่อหาทางยุติสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตจำนวนมาก

ทรัมป์กล่าวว่า การสนทนาของเขากับปูตินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและใช้เวลานาน โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าการยุติความขัดแย้งนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อหยุดการสูญเสียชีวิตของประชาชนหลายล้านคนที่เกิดจากสงครามนี้

ทั้งนี้ ทรัมป์และปูตินได้ตกลงที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด รวมถึงการเยือนประเทศของกันและกัน และยังเห็นพ้องให้คณะผู้แทนจากทั้งสองฝ่ายเริ่มการเจรจาทันที โดยเริ่มจากการติดต่อกับโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เพื่อแจ้งความคืบหน้าของการสนทนา

ทรัมป์ยังได้มอบหมายให้มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ, จอห์น แรตคลิฟฟ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง (CIA), ไมเคิล วอลซ์ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ และสตีฟ วิตคอฟฟ์ ทูตพิเศษประจำตะวันออกกลาง เป็นผู้นำทีมเจรจาของสหรัฐฯ

ทรัมป์ได้แสดงความมั่นใจว่า การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียจะสามารถประสบความสำเร็จและนำไปสู่การยุติสงครามได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top