Saturday, 4 May 2024
รัสเซีย

'หมีขาว' ประกาศกร้าว!! ไม่ขอเข้าร่วม 'สภายุโรป' อีกต่อไป สุดทน!! 'กติกาพวกตน-เหยียบย่ำ กม.ระหว่างประเทศ'

11 มี.ค. 65 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย เปิดเผยว่ารัสเซียจะไม่เข้าร่วมสภายุโรป (CoE) อีกต่อไป

กระทรวงฯ กล่าวในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่าประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) และองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO) “กำลังใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดของตนในคณะรัฐมนตรีของสภาฯ เพื่อเดินหน้าการทำลายสภาฯ และพื้นที่ที่มีร่วมกันในด้านมนุษยธรรมและกฎหมาย” ในทวีปยุโรป

กระทรวงฯ ย้ำว่ารัสเซียจะไม่ทนต่อการกระทำของชาติตะวันตกในการใช้ “ระเบียบที่อิงกับกติกาของพวกตน” และการเหยียบย่ำกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมเสริมว่ารัสเซียจะไม่เข้าร่วมในการเปลี่ยนสภาฯ แห่งนี้ให้เป็น “เวทีอีกแห่งหนึ่งที่ชาติตะวันตกใช้เทศนาถึงความเหนือกว่าของตนหรือใช้อวดเบ่ง”

ยูเครนจัดฉาก!! 'รัสเซีย'​ ปฏิเสธบึ้มโรงพยาบาล โบ้ย!! ยูเครนจัดฉากเอง

หลังจากที่มีรายงานว่าโรงพยาบาลแม่และเด็กในเมืองมารีอูโปล ของยูเครน ถูกกองทัพรัสเซียโจมตีทางอากาศเมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมาก​ รวมทั้งผู้ป่วย, หญิงท้องแก่, แพทย์พยาบาล และเด็กต้องหนีเอาชีวิตรอด และมีผู้ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังด้วย

ขณะที่นานาชาติออกมาประณามการโจมตีครั้งนี้ว่าเป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม ด้วยการโจมตีที่โหดร้ายและไม่เลือกหน้า พร้อมเรียกร้องให้รัสเซียยุติการโจมตี

ล่าสุด (11 มี.ค. 65) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อิกอร์ โคนาเชนคอฟ โฆษกกระทรวงกลาโหมรัสเซียออกมาปฏิเสธการโจมตี โดยอ้างว่าเป็นการจัดฉากเพื่อปลุกปั่นยั่วยุของทางฝั่งยูเครนเอง

“กองทัพอากาศของรัสเซียไม่ได้ปฏิบัติการใดๆ เพื่อโจมตีเป้าหมายบนมารีอูโปล การโจมตีทางอากาศที่รัสเซียถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำนั้น เป็นการยั่วยุเพื่อรักษากระแสต่อต้านรัสเซียสำหรับผู้ชมชาวตะวันตก" โคนาเชนคอฟกล่าว

'รัสเซีย' ออกโรงขู่ ชาติตะวันตก ล็อกเป้าถล่มขบวนอาวุธที่จัดหาให้ยูเครน 

รัสเซียเปิดเผยว่าทหารของพวกเขาอาจล็อกเป้าถล่มเสบียงอาวุธของตะวันตกในยูเครน หลังสหรัฐฯ และอียูยังคงเดินหน้าจัดหาอาวุธแก่เคียฟ สำหรับใช้ต่อกรกับพวกเขา ชี้เป็นความเคลื่อนไหวที่อันตราย

"เราขอเตือนสหรัฐฯ ที่บงการคาดคั้นอาวุธจากหลายประเทศ มันไม่ใช่แค่เป็นความเคลื่อนไหวที่อันตราย แต่มันเป็นความเคลื่อนไหวที่จะเปลี่ยนขบวนขนอาวุธเหล่านี้เป็นเป้าหมายที่ชอบธรรม" เซอร์เก รยาบคอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐในวันเสาร์ (12 มี.ค.)

เขาบอกว่ามอสโกขอเตือน "ถึงผลสนองของการขนย้ายอันเลินเล่อไปยังยูเครน ไม่ว่าจะเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบประทับบ่า ระบบขีปนาวุธต่อต้านรถถังและอื่นๆ"

รยาบคอฟกล่าวต่อว่าวอชิงตันไม่ใส่ใจอย่างจริงจังกับคำเตือนของมอสโก พร้อมเผยว่ารัสเซียและสหรัฐฯ ไม่ได้เตรียมจัดการเจรจาใดๆ ในประเด็นยูเครน

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ส่งทหารรัสเซียเข้าไปยังยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โดยอ้างว่ามีเป้าหมายทำให้ประเทศแห่งนี้ไม่เป็นนาซี

มอสโกถูกนานาชาติกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเป็นชุดๆ นับตั้งแต่เปิดฉากรุกราน ในขณะที่ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี เรียกร้องซ้ำๆ ให้มหาอำนาจตะวันตกส่งมอบความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเติมแก่ประเทศของเขา และเตือนว่าทหารรัสเซียจะไม่หยุดที่พรมแดนยูเครน หากมอสโกสามารถยึดครองประเทศของเขาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

แม้สหรัฐฯ และนาโต้ปฏิเสธเสียงเรียกร้องของเซเลนสกีซ้ำๆ ในการบังคับใช้เขตห้ามบินเหนือยูเครน แต่พวกเขาได้จัดหาและส่งมอบอาวุธแก่ยูเครนในระดับที่รวดเร็วอย่างมาก ในนั้นรวมถึงยุทโธปกรณ์ที่อ่อนไหวสูงอย่างเช่นขีปนาวุธยิงจากบ่าหรือที่เรียกว่าระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบประทับบ่า ซึ่งมีแสนยานุภาพสอยอากาศยานได้

'นันทิวัฒน์' ชี้ ยูเครนเคว้ง ไร้การเหลียวแลจากมหามิตร ชมเปาะ ไทยวางตัวดี ไม่ถลำลึกเชื่อผู้นำอย่างไบเดน

13 มี.ค. 65 - นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart โดยมีรายละเอียดดังนี้

ไม่จบง่ายๆ

การสู้รบในยูเครนทำท่าไม่จบง่ายๆ การเจรจาผ่านไปสามครั้งไม่มีอะไรคืบหน้า ไม่สามารถหาข้อยุติเรื่องใดๆได้เลย แน่นอนรัสเซียไม่ยอมลดเงื่อนไขในข้อเรียกร้อง และจะไม่ยอมหยุดยิง แต่ฝ่ายยูเครนซึ่งประเทศยับเยิน ประชาชนเดือดร้อนกลับไม่ลดราวาศอก มหามิตรใหญ่ก็ไม่มีใครช่วย ปล่อยเกาะยูเครนให้เสี่ยงภัยเอาเอง

'กอบศักดิ์' วิเคราะห์ สหรัฐฯ ใช้ 'นิวเคลียร์เศรษฐกิจ' ต้อนรัสเซียให้จนมุม หวังตัดกำลังพัฒนากองทัพ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า...

"นิวเคลียร์เศรษฐกิจ" 

อาวุธใหม่ที่พัฒนาขึ้น ระหว่างการทำสงครามกับรัสเซีย
ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สิ่งที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในสงครามเศรษฐกิจกับรัสเซีย คือ การนำ "ระบบการค้าและระบบเงินของฝั่งโลกตะวันตก" มาใช้เป็นเครื่องมือในการทำสงครามเศรษฐกิจ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ในอดีต เวลาเกิดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ใดๆ ก็จะมีการนำนโยบาย Sanctions มาใช้ เพื่อลงโทษประเทศที่ก่อปัญหา 
แต่สิ่งที่แตกต่างรอบนี้ ก็คือ ระดับความเข้มข้นของนโยบาย ทั้งจาก จำนวน กลุ่มประเทศที่เข้าร่วม และความรุนแรง

ในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ รัสเซียได้กลายเป็นประเทศที่ถูก Sanction เยอะที่สุดของโลก ด้วยมาตรการกว่า 3,000 อย่าง!!!! จากประเทศหลักๆ มากกว่า 40 ประเทศ
หลายมาตรการ ต้องบอกว่า เป็นมาตรการไม่ปกติ 

เช่น ยึดเงินสำรองระหว่างประเทศ สั่งไม่ให้ทำธุรกรรมการเงินด้วย ไม่ให้ระดมทุน ไม่ให้ใช้ระบบการชำระเงิน ยึดสินทรัพย์ ไม่ซื้อสินค้า เร่ง Exit ออกจากธุรกิจและการลงทุนต่างๆ  รวมไปถึง ห้ามใช้เทคโนโลยีทางการทหารและดิจิทัล ที่สหรัฐและโลกตะวันตกพัฒนา

ทั้งหมดนี้ เป็นการนำ "ระบบการค้าและระบบการเงินของโลกตะวันตก" มาเป็นเครื่องมือในการทำสงครามเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ 

ทั้งนี้ เพราะตลาดการค้าของโลกตะวันตกมีขนาดประมาณ 70% ของเศรษฐกิจโลก และเป็นระบบหลักที่ควบคุมการไหลเวียนของการเงินโลกมากกว่า 90% 

(1) ในเชิงการค้า ถ้ารัสเซียถูกตัดออกจากระบบดังกล่าว ก็จะเท่ากับว่า "ถูกปล่อยเกาะ" ให้รัสเซียต้องสู้ด้วยตัวเอง ผลิตสินค้า พัฒนาสินค้าต่างๆ โดยอาศัยรัสเซียและเพื่อนของรัสเซียเท่านั้น ไม่มีคนช่วยผลิต ไม่มีตลาดขนาดใหญ่มารองรับ
กลไกการแบ่งงานกันทำ กลไกการเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่เคยเป็นหัวใจหลักที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพให้กับระบบการผลิตของรัสเซีย จะถูกทำลายลงไปในพริบตา 

หากจะเปรียบเทียบง่ายๆ ให้เห็นภาพ ถ้าเราเคยเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว เอารายได้ไปซื้อของอื่นๆ มาใช้ มีความสุขในการใช้ชีวิต แต่วันหนึ่ง ทุกคนไม่ยอมมายุ่งกับเรา ต้องทำก๋วยเตี๋ยวกินเอง และผลิตทุกอย่างใช้เอง ตั้งแต่สบู่ ยาสีฟัน ขนม อาหารต่างๆ ... ประสิทธิภาพของการทำงานจะลดลงแค่ไหน และชีวิตจะลำบากขึ้นแค่ไหน 

(2) ในเชิงการเงิน การถูกขับให้ออกจากระบบการเงินโลก ไม่ให้ใช้ระบบ SWIFT ไม่ให้ชำระเงินผ่านระบบธนาคารของสหรัฐและพันธมิตร การไม่ให้ระดมเงิน รวมไปถึงการ Freeze สินทรัพย์ทุกอย่าง เป็นการตัดเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจรัสเซียออกไป 
ทั้งหมดเพื่อให้เกิด Financial System Meltdown ในรัสเซีย

ไม่น่าแปลกใจ ผลที่ตามมา ค่าเงินรัสเซียอ่อนลงไปครึ่ง จาก 70 เป็น 130 รูเบิล/ดอลลาร์ คนรัสเซียที่เคยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของตน เงินหายไปอย่างน้อย 70-80% (จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถเปิดตลาดหลักทรัพย์ได้) ธนาคารพาณิชย์ถูกแห่ถอนเงิน บริษัทหลายแห่งกำลังจะมีปัญหา

นอกจากนี้ สินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับรัสเซียที่ซื้อขายในตลาดต่างประเทศ (ETF ต่างๆ) ถูกระงับการซื้อขาย พันธบัตรรัสเซียถูก Downgrade จนเป็น Non-investment grade หรือ Junk Bonds และต่อไปคงไม่ผิดการชำระหนี้ได้

ล่าสุด การไล่ล่าทางการเงิน กำลังจะไปถึงการประกาศห้ามไม่ให้ค้าขายทองคำกับรัสเซีย ที่รัสเซียได้สะสมเอาไว้มากกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงที่ผ่านมา 

(3) สุดท้าย สหรัฐและ NATO มุ่งจะตัดรัสเซียออกจาก "ระบบนวัตกรรมโลก" 
เรื่องนี้ แม้ดูว่าไม่น่ามีผลมากในระยะสั้น แต่ในระยะยาวเท่ากับว่า กีดกันให้รัสเซียต้องไปคิดค้นทุกอย่างเอง ไม่ให้ใช้เทคโนโลยีที่โลกตะวันตกร่วมกันพัฒนา
โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ การทหาร การบิน การเดินเรือ และดิจิทัล 

ในประเด็นนี้ การพัฒนานวัตกรรมมีต้นทุนสูงมาก การช่วยกันพัฒนาคนละส่วน จะช่วยให้ทุกคนก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว 
การที่รัสเซียต้องอยู่ในห้อง Lab คนเดียว คิดอยู่คนเดียวจะทำให้ การคิดค้นสิ่งต่างๆ ของรัสเซียช้าลงมาก และจะส่งผลต่อระดับอานุภาพของยุทโธปกรณ์ที่รัสเซียคิดค้น และต่อการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจของรัสเซียด้วย

ทั้งหมดนี้ เรียกได้ว่า จะรุกฆาต เอากันให้จนมุม 
หลายคนถามว่า ทำไปทำไม เป้าหมายจริงๆ คืออะไร
คำตอบ "บั่นทอนเศรษฐกิจของรัสเซีย" 
ที่ทำเช่นนี้ก็เพราะ "ความเข้มแข็งของประเทศในเชิงเศรษฐกิจ คือพื้นฐานสำคัญของความเข้มแข็งเชิงการทหาร"

ถ้าเศรษฐกิจของรัสเซียอ่อนแอ สุดท้ายรัสเซียก็จะไม่มีเงินมาพัฒนากองทัพ ไม่สามารถแข่งขันทันกับสหรัฐและพันธมิตร NATO ได้
คิดว่า สหรัฐและ NATO คงมีภาพ GDP ของรัสเซียหลังการผนวกไครเมีย อยู่ในใจ
ก่อนเหตุการณ์ดังกล่าว รัสเซียมีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ แต่หลังจากนั้น 5 ปีให้หลัง ขนาดเศรษฐกิจรัสเซียลดลงมาเหลือเพียง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ ลดลงมา 1/4 

อัตราการเจริญเติบโตที่เคยสูงถึง 7-8% ลดลงมาเหลือแค่ 2-3% ผิดจากปกติของประเทศเกิดใหม่
ทั้งหมดทำให้ รัสเซียที่เป็นมหาอำนาจทางการทหาร กลายเป็นประเทศเล็กๆ เชิงเศรษฐกิจ ที่มีขนาดเพียง 1/10 ของสหรัฐ หรือเท่ากับรัฐ Texas เท่านั้น

สหรัฐฯ ดักคอจีน หลังมีข่าว ‘รัสเซีย’ ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ ด้านอาวุธและการเงินจากปักกิ่ง

ข่าววงในนี้มาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ซึ่งได้ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว New York Times ว่า รัสเซียได้ติดต่อขอความช่วยเหลือด้านอาวุธจากจีน โดยให้ส่งไปสมทบในการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน ที่กำลังคุกรุ่น รุนแรงอยู่ในตอนนี้ แต่ทั้งนี้แหล่งข่าวไม่ได้ระบุว่าอาวุธชนิดไหนที่ทางรัสเซียต้องการจากจีน

และนอกเหนือจากอาวุธแล้ว ทางรัฐบาลมอสโก ยังขอให้รัฐบาลปักกิ่งช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ และการเงิน เพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบหนักจากการร่วมกันคว่ำบาตรรัสเซียโดยสหรัฐอเมริกา และชาติตะวันตก

ซึ่งตอนนี้มีข่าวว่าธนาคารหลายแห่งในรัสเซีย ได้ผูกระบบการทำธุรกรรมร่วมกับธนาคารในจีนผ่านบัตรเดบิต หรือระบบ UnionPay ที่ควบคุมโดยรัฐบาลจีน ที่จะช่วยให้การทำธุรกรรมระหว่างประเทศของรัสเซียง่ายขึ้น หลังจากที่บริษัท Visa และ MasterCard ระงับการทำกิจการในรัสเซีย

แต่ทว่า หลิว เผิงหยู โฆษกประจำสถานทูตจีนในสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาปฏิเสธว่า ไม่เคยได้ยินเรื่องพวกนี้มาก่อนเลย

เซเลนสกี รับ ‘ยูเครน’ ไม่ควรเข้านาโต ชี้ เวลา 20 วัน ทำให้รู้ใครคือ ‘เพื่อนแท้’

ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ออกมายอมรับว่า ประเทศยูเครนไม่น่าจะสามารถเข้าร่วมกับองค์กรสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ได้

ระหว่างประชุมผ่านระบบวิดีโอกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของยูเครน เซเลนสกีกล่าวว่า “ยูเครนไม่ใช่สมาชิกนาโต เราเข้าใจดี เรารู้ว่าแค่ไหนคือควรจะพอได้แล้ว”

“เราได้ยินมาหลายปีแล้วว่าประตูเปิด แต่เราก็ได้ยินมาเช่นกันว่าเราไม่สามารถเข้าร่วมได้ มันเป็นความจริงและเราต้องยอมรับ” เซเลนสกีกล่าว และว่า “ผมดีใจที่คนของเราเริ่มเข้าใจเรื่องนี้ และพึ่งพาตนเอง รวมถึงพันธมิตรของเราที่ช่วยเหลือเรา”

ก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้เรียกร้องให้มีการห้ามยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต โดยยืนยันว่านี่คือ “หลักประกันความมั่นคง” ที่รัสเซียต้องการ

เซเลนสกียังได้ปราศรัยกับสมาชิกรัฐสภาแคนาดา และพูดให้คิดว่าพวกเขาจะทำอย่างไรหากอยู่ในสถานการณ์เดียวกับยูเครน

“คุณลองนึกภาพว่าคุณกำลังเรียกมิตรประเทศ และบอกพวกเขาว่า ‘ได้โปรดปิดน่านฟ้า และหยุดระเบิด’ พวกเขาตอบคุณว่าพวกเขามีความกังวลอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับสถานการณ์ เราพูดคุยกับพันธมิตรของเรา แต่พวกเขาบอกว่า ‘ขอให้รอต่อไปอีกหน่อย’ ” เซเลนสกีกล่าว

ส่งซิกเจรจาสงบศึก! ‘ปูติน’ เปิดทางนัด ‘เซเลนสกี’ เจรจาสงบศึก ยื่นคำขาด ‘ห้ามร่วมนาโต-ลดกำลังทหาร-คุ้มครองภาษา-สลายเผด็จการ’!

“ปูติน” ส่งซิกนัด “เซเลนสกี” ตั้งโต๊ะถกเงื่อนไขยุติสงคราม ยื่นคำขาดห้ามร่วมนาโต จี้ลดกำลังทหาร-คุ้มครองภาษารัสเซีย-สลายคราบเผด็จการ แย้มอธิปไตย 3 ดินแดนเจ้าปัญหาต้องจับเข่าคุยกันอีกที กองทัพรัสเซียยังถล่มไม่ยั้งกดปุ่มยิงขีปนาวุธไม่ต่ำกว่า 3 ลูกใส่สนามบินลวิฟ ตอกย้ำโจมตีเป้าหมายกระบวนการป้อนอาวุธหนุนยูเครน 

กลาโหมอังกฤษฉายซ้ำทหารยูเครนตอบโต้ได้ชะงัด บลัฟทัพหมีขาวย่ำอยู่กับที่ ขณะที่อุปทูตยูเครนแถลงขอบคุณรัฐบาลไทยชูสันติภาพ ร่วมยูเอ็นโหวตประณามฝ่ายรุกราน ส่งเงินบริจาค 7 ล้านบาทจากคนไทยช่วยชาวยูเครน โต้ไม่มีทหารปะปนหลบหลังพลเรือน

ผ่านไป 23 วันกับสงครามยูเครน-รัสเซีย ในภูมิภาคยุโรปตะวันออก ที่ยังดูไร้ทางออก หลังขั้วการเมืองทั้งสองฝ่ายมีจุดยืนแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ส่งสัญญาณเป็นครั้งแรก พร้อมที่จะคุยกับนายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ขณะที่อุปทูตยูเครนประจำประเทศไทยขอบคุณรัฐบาลไทยที่ลงมติสนับสนุนยุติสงคราม รวมถึงชาวไทยที่บริจาคเงินช่วยเหลือยูเครน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ว่าสถานการณ์การสู้รบในยูเครนยังคงดำเนินไปอย่างดุเดือด กองทัพรัสเซียปฏิบัติการใช้ขีปนาวุธอย่างน้อย 3 ลูก ยิงโจมตีสนามบินนานาชาติเมืองลวิฟ ทางภาคตะวันตกของยูเครน สนามบินอยู่ห่างจากใจกลางเมืองไปเพียง 6 กิโลเมตร เบื้องต้นพบว่า ขีปนาวุธยิงทำลายโรงซ่อมบำรุงเครื่องบิน แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ 

โดยก่อนหน้านี้ กองทัพรัสเซียเคยใช้ขีปนาวุธยิงถล่มศูนย์ฝึกทหาร ในพื้นที่เมืองลวิฟเช่นกัน พร้อมให้เหตุผลว่าเป็นการโจมตีใส่ทหารอาสาต่างชาติ อีกทั้งรัฐบาลรัสเซียยังเคยประกาศเตือนว่ากระบวนการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ช่วยเหลือยูเครนอาจตกเป็นเป้าหมายทางทหาร

ขณะที่กระทรวงกลาโหมอังกฤษ รายงานข้อมูลข่าวกรองว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมากองทัพรัสเซียปฏิบัติการรุกคืบได้เพียงเล็กน้อยหน่วยรบยูเครนในพื้นที่กรุงเคียฟ และเมืองมิโคลาเยฟ ทางภาคใต้ ยังคงสร้างความหงุดหงิดแก่กองทัพรัสเซีย ส่วนเมืองหลักๆของยูเครนอย่างคาร์คีฟ เชอร์นิกอฟ ซูมี และเมืองท่ามาริอูโปล ตกอยู่ในวงล้อมและถูกยิงถล่ม-ทิ้งระเบิดอย่างหนัก

ด้านบรรยากาศการเจรจาหาทางออกนั้น นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย หารือทางโทรศัพท์กับนายโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวหาว่ารัฐบาลยูเครนพยายามทุกวิถีทางที่จะถ่วงเวลาการเจรจา ทั้งยื่นข้อเสนอที่ไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง แต่รัสเซียก็พร้อมที่จะหาทางออก

ก่อนหน้านี้ นายปูตินยังโทรศัพท์หารือกับนายเรเซป ทายยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกีด้วยเช่นกัน โดยนายอิบราฮิม คาลิน ที่ปรึกษาประธานาธิบดีตุรกี ที่นั่งฟังการสนทนาครั้งนี้ได้เปิดเผยกับสำนักข่าวบีบีซีอังกฤษว่า ประธานาธิบดีรัสเซียย้ำกับประธานาธิบดีตุรกีถึงเงื่อนไขการยุติสงคราม คือยูเครนต้องให้หลักประกันว่าจะไม่เข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) หรือนาโต ทั้งนายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ต้องยอมรับว่าจะไม่พาประเทศเข้านาโต พร้อมต้องการให้กองทัพยูเครนลดกำลังทหาร คุ้มครองการใช้ภาษารัสเซียภายในยูเครน และสลายความเป็นเผด็จการ

ส่วนในประเด็นอธิปไตยที่รัสเซียต้องการให้ยูเครนยอมรับสถานะคาบสมุทรไครเมีย และ 2 จังหวัดตะวันออกของยูเครนนั้น นายปูตินกล่าวว่า เรื่องนี้จำเป็นต้องพบปะเป็นการส่วนตัวกับนายเซเลนสกี ผู้นำยูเครน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่นายปูตินกล่าวถึงการหารือกับนายเซเลนสกี ขณะที่นายดมิโตร คูเลบา รมว.ต่างประเทศยูเครน หารือกับนายเมฟลุต คาวูโซกลู รมว.ต่างประเทศตุรกีที่เมืองลวิฟ ทางตะวันตกของยูเครนว่า ตุรกีควรเป็นหนึ่งในประเทศที่มอบหลักประกันทางความมั่นคงให้ยูเครน พร้อมเผยว่าตุรกีอยู่ระหว่างประสานงาน จัดการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีปูตินและประธานาธิบดีเซเลนสกี แต่มิได้ระบุว่าจะเจรจากันที่ใด ในรูปแบบใด

'นายกฯ' ให้ ก.ท่องเที่ยว ดูแลความปลอดภัย-ช่วยเหลือ นทท.รัสเซียและยูเครนในไทยอย่างใกล้ชิด สุดความสามารถ

เมื่อวันที่ 19 มี.ค.นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ติดตามการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวรัสเซียและยูเครนในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศอย่างใกล้ชิด ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประเมินว่ามีนักท่องเที่ยวที่ตกค้างในไทยประมาณ 8,000 คน เป็นชาวรัสเซียประมาณ 7,000 คน และยูเครนประมาณ 1,000 คน โดยส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดภูเก็ตและสุราษฎร์ธานี โดยได้ให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ อาทิ จัดหาระบบชำระเงินทางเลือกอื่นรองรับ จัดหาที่พักระหว่างนักท่องเที่ยวหาเที่ยวบินกลับประเทศ และจัดหาล่ามประจำโทรศัพท์สายด่วน 

นายธนกร กล่าวว่า การขอความช่วยเหลือส่วนมากเป็นการขอขยายเวลาพำนักในประเทศ ซึ่งทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ประสานความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยอย่างใกล้ชิด สำหรับการให้ความช่วยเหลือกรณีเที่ยวบินถูกยกเลิก นักท่องเที่ยวสามารถเปลี่ยนไปใช้สายการบินประเทศที่สาม อาทิ สายการบิน Qatar Airways และ Turkish Airlines ในการเดินทางได้ นอกจากนี้ หากจำเป็น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬายังพร้อมสนับสนุนการจัดหาที่พัก อาหาร และความช่วยเหลืออื่น ๆ ให้แก่นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียและยูเครน

นายธนกร กล่าวว่า สำหรับผลกระทบเรื่องการชำระเงิน กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวที่ประสบปัญหาทราบว่าสามารถโอนเงินผ่านเครือข่ายอื่นนอกจาก Swift ได้ เช่น TransferWise, Western Union และ MoneyGram เป็นต้น ซึ่งมีการให้บริการผ่านทั้งธนาคารพาณิชย์ (ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย และออมสิน) และช่องทางที่ไม่ใช่ธนาคาร (สวัสดีช้อป เซ็นทรัล และไปรษณีย์ไทย) 

นายธนกร กล่าวว่า หน่วยงานของไทยได้ประสานผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ 1) ธนาคารพาณิชย์ โดยขอให้ช่วยดูแลนักท่องเที่ยวที่เข้ามาติดต่อ 2) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยขอให้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลไปยังเครือข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยว 3) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภูเก็ตและสมาคมโรงแรมภาคใต้ เพื่อให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวโดยตรง

ดักคอไว้ก่อน! ‘ไบเดน’ ปราม ‘จีน’ ห้ามหนุน ‘รัสเซียรบยูเครน' ด้านผู้นำจีน ‘ไม่รับปาก’ พร้อมซ้ำ ‘สหรัฐฯ’ ต้นตอวิกฤต!

วันนี้ (19 มี.ค. 65) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน หารือกันผ่านวิดีโอนาน 110 นาที ซึ่งเป็นการสนทนากันครั้งแรก ตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อปลายเดือนที่แล้ว

โฆษกทำเนียบขาว เปิดเผยว่า ไบเดนใช้โอกาสนี้ แจ้งให้ผู้นำจีน ทราบถึงผลกระทบที่จะตามมาหากเลือกจะช่วยรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือทางการทหาร หรือทางเศรษฐกิจ ถือเป็นการปราม ดักคอ เพราะก่อนหน้านี้ Financial Times และ New York Times รายงานว่า รัสเซียได้ร้องขอความช่วยเหลือในด้านการทหารและทางเศรษฐกิจจากจีน สร้างความไม่พอใจให้สหรัฐฯ อย่างมาก แม้ว่ารัสเซียกับจีนจะปฏิเสธ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top