Saturday, 4 May 2024
รัสเซีย

'เลขาฯ ยูเอ็น' เตรียมคุย 'ปูติน-เซเลนสกี' เพื่อหาข้อยุติการสู้รบในยูเครน

อันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ มีกำหนดเข้าพบปะกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่มอสโก ก่อนมุ่งหน้าสู่ยูเครน เพื่อหารือกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ในสัปดาห์หน้า เพื่อหาข้อยุติในสงครามที่ยืดเยื้อมานานกว่าสามเดือน

เอเอฟพีรายงานความเคลื่อนไหวของสหประชาชาติในเหตุการณ์การสู้รบในยูเครน เมื่อวันเสาร์ที่ 23 เมษายน 2565 กล่าวว่า อันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ จะเดินทางไปยังกรุงมอสโกเพื่อเข้าพบประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย หลังจากนั้นจะไปเยือนยูเครนเพื่อพบกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ในสัปดาห์หน้า ตามแถลงการณ์ขององค์การสหประชาชาติ

'รมต.คลัง ออสเตรีย' รับไม่สามารถแบนนำเข้าก๊าซรัสเซีย หวั่น กระทบเศรษฐกิจ - ประชาชนเดือดร้อน

ออสเตรียไม่สามารถแบนนำเข้าก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย ส่วนหนึ่งในมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานมอสโก จากการเปิดเผยของ แมกนุส บรุนเนอร์ รัฐมนตรีคลัง เนื่องจากมันจะกระทบต่อเศรษฐกิจของพวกเขาเอง ที่ต้องพึ่งพิงพลังงานของมอสโกเป็นอย่างมาก

หลายประเทศในตะวันตก ในนั้นรวมถึงบรรดาสมาชิกอียู กำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางเล่นงานรัสเซีย ตอบโต้กรณีรุกรานยูเครน

บรุนเนอร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเมื่อวันศุกร์ (22 เม.ย.) ว่า ออสเตรียสนับสนุน "ทุกมาตรการคว่ำบาตร" ที่กำหนดเล่นงานมอสโก "แต่ไม่ขอห้ามนำเข้าก๊าซธรรมชาติ" จากรัสเซีย

'เซเลนสกี' ร้องขอประชุมยุติสงครามร่วมกับ 'ปูติน' ตำหนิ 'เลขาฯ ยูเอ็น' เหตุเดินทางไปรัสเซียก่อนยูเครน

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เมื่อวันเสาร์ (23 เม.ย.) เรียกร้องอีกครั้งขอประชุมร่วมกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ในความพยายามยุติสงคราม พร้อมกับตำหนิ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่เลือกเดินทางเยือนมอสโก แล้วถึงค่อยมุ่งหน้าสู่เคียฟ

"ผมคิดว่าใครก็ตามที่เริ่มสงครามนี้ จะสามารถยุติมันได้" เขากล่าวระหว่างแถลงข่าวที่สถานีรถไฟใต้ดินแห่งหนึ่ง ในย่านใจกลางกรุงเคียฟ "ผมไม่กลัวที่จะพบปะกับปูติน หากว่ามันจะนำมาซึ่งข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน"

เขากล่าวต่อว่า "ตั้งแต่แรกเริ่ม ผมยืนกรานมาตลอดก่อนการพูดคุยกับประธานาธิบดีรัสเซีย มันไม่ใช่ว่าผมต้องการพบปะกับเขา แต่ผมจำเป็นต้องพบปะกับเขา เพื่อหาทางออกของความขัดแย้งนี้ในหนทางด้านการทูต เราเชื่อมั่นในพันธมิตรของเรา แต่เราไม่เชื่อใจรัสเซีย"

เซเลนสกี เปิดเผยด้วยว่า แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนกรุงเคียฟในวันอาทิตย์ (24 เม.ย.) ซึ่งถือเป็นวันครบรอบ 3 เดือนแห่งการรุกรานยูเครนของรัสเซีย นอกจากนี้ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ จะเดินทางมาพร้อมกัน ซึ่งจะถือเป็นการเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของเจ้าหน้าที่รัฐบาลอเมริกา นับตั้งแต่การรุกรานเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์

เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นต่อคำกล่าวอ้างของเซเลนสกี

‘รมต.รัสเซีย’ เตือน!! ‘WW3 - นิวเคลียร์’ อาจเป็นจริง หาก ‘นาโต’ ยังเดินเกมสงครามตัวแทนต่อเนื่อง

รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเตือน ความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 (WW3) อาจ ‘เป็นจริง’ และมีความเสี่ยงสูงมากที่ความขัดแย้งจะบานปลายถึงขั้นใช้ ‘อาวุธนิวเคลียร์’ หลัง ‘นาโต’ กำลังทำสงครามตัวแทนกับรัสเซีย แต่ยังเชื่อมั่นว่า ความขัดแย้งจะจบลงด้วยการลงนามในข้อตกลงสันติภาพ

เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ Russian First Channel ของรัฐบาลรัสเซีย และสำนักข่าว Interfax ของรัสเซีย รวมทั้งสื่อหลายสำนักในรัสเซียเมื่อ 25 เม.ย. 65 โดยเตือนว่า หากพิจารณาจากสถานการณ์ในตอนนี้ อันตรายที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 อาจ ‘เป็นความจริง’ ได้ พร้อมเตือนด้วยว่า มีความเสี่ยงสูงมากที่ความขัดแย้งในยูเครน จะบานปลายและยกระดับขึ้นไปจนถึงขั้นการใช้อาวุธนิวเคลียร์ 

อย่างไรก็ตาม ลาฟรอฟยืนยันว่า จุดยืนของรัสเซีย คือ ต้องการหลีกเลี่ยงไม่ปล่อยให้เกิดความเสี่ยง อันจะทำให้ความขัดแย้งบานปลายไปได้ถึงขั้นนั้น แต่เขายอมรับว่า ขณะนี้ความเสี่ยงดังกล่าวกำลังเพิ่มและดูเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น จึงไม่ควรประเมินอันตรายเหล่านี้ ต่ำเกินไป อย่างไรเสีย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ลาฟรอฟ ก้ได้กล่าวว่า รัสเซียยังคงยึดมั่นในจุดยืนหลีกเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์ 

‘รัสเซีย’ งดป้อนก๊าซให้ ‘โปแลนด์-บัลแกเรีย’ ชี้ อยู่ในข่ายประเทศไม่เป็นมิตร ต้องจ่ายด้วย ‘รูเบิล’

เจ้าหน้าที่ในโปแลนด์และบัลแกเรียในวันอังคาร (26 เม.ย.) เปิดเผยว่า รัสเซียกำลังระงับการส่งก๊าซธรรมชาติมายังประเทศของพวกเขา หลังจากทั้ง 2 ประเทศปฏิเสธจ่ายค่าก๊าซของรัสเซียเป็นสกุลเงินรูเบิล

รัฐบาลของ 2 ชาติสมาชิกสภาพยุโรปและนาโต้ เปิดเผยว่า ก๊าซพรอม รัฐวิสาหกิจพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ได้แจ้งกับพวกเขาว่ากำลังระงับการป้อนก๊าซธรรมชาติในวันพุธ (27 เม.ย.)

การระงับป้อนก๊าซครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ประกาศเมื่อเดือนที่แล้ว ว่า บรรดาผู้ซื้อต่างชาติ "ประเทศไม่เป็นมิตร" จะต้องจ่ายค่าก๊าซแก่ก๊าซพรอมด้วยสกุลเงินรูเบิล แทนดอลลาร์หรือยูโร โดยจนถึงตอนนี้มีเพียงฮังการีชาติเดียวที่ยอมจ่ายเป็นสกุลเงินรูเบิล

ถ้าก๊าซพรอมระงับการป้อนก๊าซไปยังประเทศอื่นๆ มันอาจก่อความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจแก่ยุโรป ดันราคาก๊าซพุ่งสูง และเป็นไปได้ว่าอาจต้องใช้มาตรการปันส่วนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยอรมนี ที่อยู่ในภาวะอ่อนแออย่างมาก เนื่องจากพวกเขาพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นอย่างสูง แต่อีกด้านหนึ่ง การตัดการส่งมอบก๊าซใดๆ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซียเองเช่นกัน

โปแลนด์ คือผู้สนับสนุนตัวยงของยูเครน ประเทศเพื่อนบ้าน ระหว่างที่ต้องเผชิญการรุกรานของรัสเซีย พวกเขาเป็นจุดโอนถ่ายอาวุธที่สหรัฐฯ และประเทศตะวันตกอื่นๆ ส่งมอบให้แก่ยูเครน

รัฐบาลโปแลนด์ยืนยันเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ ว่ากำลังส่งมอบรถถังแก่กองทัพยูเครน และในวันอังคาร (26 เม.ย.) ได้แถลงมาตรการคว่ำบาตรเล็งเป้าเล่นงานเหล่าบุคคลอิทธิพลทางธุรกิจและทางการเมือง รวมถึงบริษัทต่างๆ ของรัสเซีย 50 รายชื่อ ในนั้นรวมถึงก๊าซพรอม

ส่วนบัลแกเรีย ครั้งหนึ่งเคยเป็นพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของมอสโก ได้ตัดความสัมพันธ์เก่าแก่หลายๆ ด้านกับรัสเซีย หลังจากรัฐบาลเสรีนิยมชุดใหม่เข้ารับตำแหน่งเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว และหลังจากกองทัพปูตินรุกรานยูเครน พวกเขาสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรกำหนดเล่นงานรัสเซีย และมอบความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนแก่ยูเครน

บัลแกเรีย ลังเลมอบความช่วยเหลือด้านการทหารแก่ยูเครน แต่นายกรัฐมนตรีคิริล เพทคอฟ และสมาชิกในรัฐบาลผสมของเขา เตรียมเดินทางไปเยือนเคียฟในวันพุธ (27 เม.ย.) เพื่อพูดคุยหารือกับบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเครน เกี่ยวกับความช่วยเหลือเพิ่มเติมที่จะมอบแก่ประเทศแห่งนี้

PGNiG รัฐวิสาหกิจก๊าซธรรมชาติของโปแลนด์ เผยได้รับแจ้งจากก๊าซพรอม ว่า ทางก๊าซพรอมจะหยุดส่งมอบก๊าซผ่านท่อลำเลียงยามาน-ยุโรป ในตอนเช้าวันพุธ (27 เม.ย.) และต่อมา กระทรวงพลังงานบัลแกเรียระบุได้รับแจ้งว่ารัสเซียจะหยุดจ่ายก๊าซแก่บัลแกเรียผ่านท่อลำเลียงเติร์กสตรีมในวันพุธ (27 เม.ย.) เช่นกัน

ยุโรปนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในปริมาณมหาศาล เพื่อสร้างความอบอุ่นแก่บ้านเรือน ก่อกำเนิดไฟฟ้าและเป็นเชื้อเพลิงภาคอุตสาหกรรม และการนำเข้ายังมีอยู่อย่างต่อเนื่องแม้เกิดสงครามในยูเครน

ที่ผ่านมา ราว 60% ของปริมาณการนำเข้าเป็นการชำระเงินในรูปแบบของยูโร ส่วนที่เหลือจ่ายด้วยสกุลเงินดอลลาร์ และความต้องการของปูติน ดูเหมือนเป็นความตั้งใจช่วยเสริมความเข้มแข็งแก่สกุลเงินรัสเซีย ท่ามกลางมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกที่กำหนดเล่นงานมอสโก ต่อกรณีรุกรานยูเครน

พวกผู้นำอียูบอกว่า จะไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับให้ชำระเงินเป็นสกุลรูเบิล โดยอ้างว่ามันละเมิดเงื่อนไขในสัญญาและมาตรการคว่ำบาตรของพวกเขาที่กำหนดเล่นงานรัสเซีย

ท่อลำเลียงยามาน ลำเลียงก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังโปแลนด์และเยอรมนี ผ่านเบลารุส ทั้งนี้ โปแลนด์นำเข้าก๊าซจากรัสเซียราว 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในแต่ละปี คิดเป็นสัดส่วนราว 45% ของอุปสงค์ทั้งหมดของประเทศ

'รัสเซีย' กร้าว!! เตรียมผูกค่าเงินรูเบิลเข้ากับทองคำ ลั่น ไม่ขอผูกติดอยู่ใต้อำนาจของดอลลาร์อีกต่อไป

รัสเซียได้มีการประกาศครั้งใหญ่อย่างเป็นทางการแล้ว โดยเตรียมนำค่าเงินรูเบิลเข้าสู่ Gold Standard อีกครั้ง ซึ่งการประกาศเช่นนี้หมายความว่าในอนาคตจะมีการผูกค่าเงินรูเบิลเข้ากับทองคำอย่างแน่นอน

สำนักข่าว RT เปิดเผยว่าผู้เชี่ยวชาญของรัสเซียกำลังเร่งพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อสร้างระบบการเงินและการคลังแบบ Two-loop โดยที่ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเชิงลึกออกมาว่า Two-loop นี้จะออกมาในรูปแบบไหนบ้าง 

ในเบื้องต้นมีการกล่าวกันว่าโครงการนี้เกี่ยวข้องกับการจัดหาสกุลเงินของรัสเซียเพื่อแลกเปลี่ยนกับทองคำที่มีอยู่ในตลาดโลก ซึ่งจะเป็นการเชื่อมระหว่าง

1.) การค้าสินค้าต่างๆ ด้วยสกุลเงินรูเบิล
2.) การแลกเปลี่ยนรูเบิลกับทองคำในตลาด

ทั้งหมดนี้จะทำให้ในระยะยาวสกุลเงินรูเบิลของรัสเซียสามารถสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงไปพร้อมๆ กับราคาทองคำในตลาดโลกนั่นเอง โดยรัสเซียเน้นย้ำไว้อย่างชัดเจนว่าการทำเช่นนี้ จะทำให้สกุลเงินรูเบิล "ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของดอลลาร์อีกต่อไป" และยังสามารถเป็น Real Value (มูลค่าที่แท้จริง) ไปพร้อมๆ กับการรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน

'ยุโรป' แห่เปิดบัญชีธนาคารรัสเซีย จ่ายค่าก๊าซ ด้วย 'รูเบิล' ให้หมีขาว

สหพันธรัฐรัสเซีย ถือเป็นมหาอำนาจพลังงานก๊าซที่ยุโรปต้องใช้ราวปีละ 150 พันล้านลูกบาศก์เมตร โดยขายให้ในราคาแสนจะถูกเหมือนได้เปล่าราว 0.25 ดอลลาห์/ลูกบาศก์เมตร (250 ดอลลาห์/พันลูกบาศก์เมตร) มีท่อบริการส่งให้ถึงประตูบ้านแต่ละชาติ เปิดวาล์วใช้ได้เลยไม่ต้องมีการแปรรูปใดๆ 

แต่มาวันนี้ สหรัฐฯ กลับบอกว่ายุโรปซื้อก๊าซถูกไป จงมาซื้อก๊าซเหลว LNG ของตนดีกว่า โดยขายให้ในราคาราว 1.1 ดอลลาห์/ลูกบาศก์เมตร (1,100 ดอลลาห์/พันลูกบาศก์เมตร) แพงกว่ารัสเซีย 4.4 เท่า และซ้ำร้ายก๊าซยี่ปั๊วสหรัฐฯ จะต้องแปรสภาพจากสถานะก๊าซ เป็นของเหลว LNG ก่อนขนส่งมาทางเรือ พ่วงค่าผ่านคลองสุเอซ อียิปต์ เที่ยวละ 1 ล้านดอลลาห์ และประเทศปลายทางต้องมีการสร้างสถานที่จัดเก็บขนาดยักษ์แปรรูปคืนสภาพจากสถานะของเหลวกลับไปเป็นก๊าซดังเดิมอีกขั้นตอนหนึ่ง จึงโดนบวกราคา 2-3 เด้ง!!

แถมตามสัญญาจะต้องใช้เวลานานถึง 7 ปี ถึงปี 2029 ยี่ปั๊วสหรัฐฯ จึงจะส่งให้ยุโรปได้แค่ 50 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่วนอีก 100 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ก็ต้องซื้อจากรัสเซียอยู่ดี 

เมื่อนำก๊าซจากสหรัฐฯ มาผลิตไฟฟ้า จึงส่งผลให้ค่าไฟฟ้าครัวเรือนครอบครัว 3-4 คน ที่ใช้อย่างประหยัดสุด กระโดดจั๊มพ์แพงขึ้นมหาโหดไปปีละราว 30,000 ดอลลาร์ (กว่า 1 ล้านบาท) รวมถึงกระทบชิ่งไปยังอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยยุโรปที่เกือบ 10% ซึ่งบางประเทศเกินกว่านี้ไปเยอะแล้วด้วย 

แต่นั่นก็ไม่ใช่ความเห็นใจที่พี่หมีต้องสน เพราะเกมสงครามพ่วงสงครามพลังงาน คือ แต้มต่อที่ทำมาเพื่อให้คนที่ไม่ง้อต้องถูกเชือดโชว์!!

อย่างล่าสุดโปแลนด์ และ บัลกาเรีย ที่ค้างชำระค่าก๊าซรัสเซียเป็นเงินรูเบิล ก็ถูกบริษัท Gazprom รัสเซีย "เชือดไก่ให้ลิงดู" ไม่ต่อสัญญาขาย พร้อมระงับการจ่ายก๊าซจากท่อยามาลในทันที จนสร้างความตระหนกให้ชาติยุโรปอย่างมาก เพราะส่วนใหญ่เกินครึ่งกลัวกันหัวหดว่ารัสเซียจะเชือดนิ่มๆ แบบ 2 ชาตินั้นบ้าง จึงแห่กันไปเปิดบัญชีกับ Gazprombank ของรัสเซียร่วม 10 ประเทศ เพื่อเตรียมคุกเข่าศิโรราบจ่ายค่าก๊าซเป็นรูเบิล และมีอีก 4 ประเทศ เอาตัวรอดหนีตายจ่ายค่าก๊าซเป็นรูเบิลไปก่อนแล้ว เหลืออีก 13 ประเทศใน EU ยังเขิน เก้ๆ กังๆ 

UK ผุด 'นาโตโลก' สร้างหลักประกันความปลอดภัย เหล่าชาติประชาธิปไตย ให้ปกป้องตนเองได้

“ระเบียบโลกที่สร้างขึ้นมาหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็น ไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป ดังนั้นตะวันตกจึงต้องการ ‘นาโตโลก’ เพื่อเสาะหาภูมิรัฐศาสตร์ใหม่” คำแถลงด้านนโยบายต่างประเทศครั้งสำคัญของ ‘ลิซ ทรัสส์’ รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักรเมื่อวันพุธ (27 เม.ย.) ที่หวังเร่งเร้าให้ชาติพันธมิตร ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา ส่งมอบอาวุธหนัก, รถถัง และเครื่องบินรบให้ยูเครนเพิ่มเติม และเตือนว่าอาจต้องปฏิบัติกับจีนแบบเดียวกับรัสเซีย หากว่าปักกิ่งไม่ยอมเล่นตามกฎ

“วิสัยทัศน์ของฉันคือโลกใบหนึ่งๆ ที่ประเทศเสรีทั้งหลายมีความแน่วแน่และมีอำนาจ โลกที่เสรีภาพและประชาธิปไตยถูกเสริมความเข้มแข็งผ่านเครือข่ายความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและความมั่นคง” ทรัสส์ กล่าวในลอนดอน

ทรัสส์ ให้คำจำกัดความความตกลงนี้ว่า ‘เครือข่ายแห่งเสรีภาพ’ พร้อมอ้างว่า “มันมีความจำเป็น เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทั้งหลายที่จัดตั้งขึ้นหลังปี 1945 อาทิ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินั้น ปัจจุบันเริ่มคดงอและบิดเบี้ยวไปแล้ว” เธอกล่าว

เธอกล่าวต่อว่า “ตะวันตกและพันธมิตรจำเป็นต้องร่วมกัน จัดหาอาวุธหนัก รถถังและเครื่องบิน มอบแด่ยูเครน ขุดคุ้ยคลังสำรองของเรา ยกระดับกำลังผลิต เพราะว่าเป้าหมาย คือ ผลักดันรัสเซียออกจากทุกตารางนิ้วของยูเครน และสร้างประเทศแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ตามกรอบของแผนมาร์แชล (แผนงานฟื้นฟูยุโรป)”

นอกเหนือจากนั้น ทรัสส์ ได้กล่าวต่อว่า ‘นาโต’ ต้องหาทางรับประกันว่าบรรดาชาติบอลข่าน และประเทศต่างๆ อย่าง มอลโดวา และ จอร์เจีย จะมีความยืดหยุ่นและมีศักยภาพธำรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยและเสรีภาพ และยึดมั่นนโยบายเปิดกว้าง

ขณะเดียวกัน ทรัสส์ ยังแสดงออกถึงความทะเยอทะยานไกลออกนอกยุโรป อีกว่า “ในโลกสมัยใหม่ เราต้องการ ‘นาโตโลก’ และเราจำเป็นต้องรับประกันว่าบรรดาประชาธิปไตยทั้งหลาย อย่างเช่นไต้หวัน จะสามารถป้องกันตนเองได้”

รัฐมนตรีต่างประเทศรายนี้ ยังได้ระบุถึงความพยายามคว่ำบาตรรัสเซียหนักหน่วงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนของสหราชอาณาจักร โดยบอกว่า “มันคือการตัดขาดไม่ให้รัสเซียเข้าถึงทางเศรษฐกิจอีกต่อไป มันจำเป็นต้องมีสิ่งตอบแทน และประเทศต่างๆ ที่ปรารถนาได้รับสิ่งตอบแทน พวกเขาจำเป็นต้องเล่นตามกฎ และในนั้นรวมถึงจีน”

'จีน' เมินประณามคว่ำบาตร หันจับมือการค้า 'รัสเซีย' ตั้งเป้าเงินสะพัด 200,000 ล้านดอลฯ ในปี 2024

รัสเซียเมื่อวันเสาร์ (30 เม.ย.) คาดว่าการไหลเวียนของสินค้ากับจีนจะเติบโตขึ้น และการค้ากับปักกิ่งจะแตะระดับ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2024 ในขณะที่มอสโกกำลังถูกตะวันตกโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น

จีนปฏิเสธประณามปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน และวิพากษ์วิจารณ์มาตรการคว่ำบาตรหนักหน่วงอย่างไม่เคยมีมาก่อนของตะวันตกที่กำหนดเล่นงานมอสโก สองประเทศยกระดับความสัมพันธ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในนั้นรวมถึงคำแถลง "ความเป็นหุ้นส่วนแบบไร้ขีดจำกัด" ในเดือนกุมภาพันธ์

"เรามุ่งเน้นไปที่การบรรลุเป้าหมาย ตามที่ทางประมุขแห่งรัฐตั้งเป้าไว้ว่าจะนำพาการค้าทวิภาคีสะพัดสู่ 200,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2024" จอร์จี ซิโนเวียฟ เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านกิจการเอเชียของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอินเตอร์แฟ็กซ์ "ยิ่งไปกว่านั้น เราคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่เราจะบรรลุตัวเลขแห่งความทะเยอทะยานนี้เร็วกว่าแผนที่วางเอาไว้"

'สหรัฐฯ' วางแผนใช้วีซ่าดึงดูด 'หัวกะทิรัสเซีย' เชื่อ!! หากสำเร็จจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

เอเจนซีส์ - รัฐบาลสหรัฐฯ วางแผนที่จะใช้วีซ่าเข้าอเมริกาเพื่อดึงดูดบรรดานักวิทยาศาสตร์รัสเซียเชี่ยวชาญสาขาอวกาศและสาขาไอที คณิตศาสตร์ เซมิคอนดักเตอร์เข้ามาทำงานในสหรัฐฯ ท่ามกลางสงครามยูเครนที่เห็นคนรุ่นใหม่รัสเซียอพยพออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก

บลูมเบิร์ก สื่อสหรัฐฯ รายงานเมื่อวานนี้ (30 เม.ย.) ว่า สหรัฐฯ กำลังวางแผนต้องการได้ผู้เชี่ยวชาญพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ อวกาศ และทางไอทีจากรัสเซียเข้ามาทำงานในสหรัฐฯ มากขึ้น โดยทำให้ข้อกำหนดวีซ่าเข้าสหรัฐฯ สำหรับคนเหล่านี้ง่ายขึ้น

อ้างอิงบลูมเบิร์กที่ได้ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลสหรัฐฯ โจ ไบเดน เปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐฯ วางแผนต้องการปล้นมันสมองของประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ในสาขาวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ ทั้งอวกาศ เซมิคอนดักเตอร์ คณิตศาสตร์ และไอที โดยต้องการได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการไหลออกของพลเมืองรัสเซียที่มีการศึกษาท่ามกลางเศรษฐกิจรัสเซียเกิดปัญหาจากการถูกโลกตะวันตก รวมสหรัฐฯ คว่ำบาตรเนื่องมาจากสงครามยูเครน

ไบเดนต้องการใช้วีซ่าสหรัฐฯ เป็นตัวดึงดูดความสนใจคนเหล่านี้ด้วยการกำหนดให้เงื่อนไขการออกวีซ่าเข้าประเทศของคนกลุ่มนี้มีความยากลำบากลดลง สำหรับพลเมืองรัสเซียที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อวกาศความมั่นคงทางไซเบอร์ คณิตศาสตร์ เซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ หรือ AI

แผนการให้วีซ่าแก่กลุ่มสมองไหลรัสเซียจะมีระยะเวลา 4 ปี โดยทีมยุทธศาสตร์ไบเดนเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะได้รับอานิสงส์จากแผนนี้ในระยะยาว

ด้านนักเศรษฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย นิโคไล รุสซานอฟ (Nikolai Roussanov) แสดงความเห็นว่า “ในระยะยาวแล้วภาวะสมองไหลอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับรัสเซียเมื่อพิจารณาจากทางด้านเศรษฐกิจในอนาคต”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top