Tuesday, 14 May 2024
ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล

‘อินเดีย’ ยืนหนึ่ง!! ประเทศให้บริการ “Outsourcing Call Centers” ดีที่สุดในโลก!! 

ศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์และการแชตกลายเป็นเรื่องจำเป็นของบริษัทธุรกิจชั้นนำของโลก หมายเลขติดต่อโทรแบบลูกค้าไม่เสียเงิน (Call free) และการตอบ Chat สำหรับลูกค้ากลายเป็นเรื่องของการแข่งขันที่สำคัญและจำเป็นในโลกธุรกิจปัจจุบัน

บ้านเราก็เช่นเดียวกัน โชคดีที่ทุกจังหวัดของบ้านเราอยู่ในเขตเวลา (Time zone) เดียวกัน แต่ในประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นทวีปเหมือนสหรัฐฯ ทำให้มีเขตเวลา (Time zone) ต่างกันถึง 3 เขต เวลาเริ่มธุรกิจจึงแตกต่างกัน กอปรกับค่าแรงในสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง ทั้งมีสหภาพแรงงานต่าง ๆ ที่แข็งแกร่ง จึงทำให้เกิดบริษัทในอินเดียที่ให้บริการ Outsourcing Call Centers สำหรับลูกค้าของบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก ด้วยเบอร์โทรหรือ Chat ของบริษัทต่าง ๆ ที่บริษัท Outsourcing ในอินเดียรับงาน จะถูกโอนการติดต่อมายังพนักงานของบริษัท Outsourcing ในอินเดียโดยอัตโนมัติ

บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกมักเลือกใช้บริการ Outsourcing Call Centers ในอินเดียมากกว่า เมื่อเทียบกับการจ้างบริษัท Outsourcing Call Centers ใน จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย อินเดียเป็นสถานที่ Outsourcing Call Centers เป็นเลิศมาโดยตลอด เนื่องจากศูนย์บริการในอินเดียมีข้อได้เปรียบมากมายที่ประเทศอื่นไม่มี ทุกวันนี้การใช้บริการศูนย์บริการ Outsourcing Call Centers ในอินเดียได้กลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับบริษัทระดับโลกหลายแห่ง องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งก็กำลังจัดตั้งศูนย์บริการทางโทรศัพท์ในอินเดีย เนื่องจากอินเดียมีพนักงานที่มีคุณภาพจำนวนมาก และยังสามารถให้บริการ Outsourcing Call Centers ที่คุ้มค่าใช้จ่ายได้อีก ด้วยเหตุผลทางธุรกิจดังต่อไปนี้

>> ทำไมต้องใช้บริษัทในอินเดียเป็น Outsourcing Call Centers? ด้วยพนักงานชาวอินเดียจำนวนมาก และมีการศึกษา มีความชำนาญ และสันทัดในการใช้ภาษาอังกฤษ ศูนย์บริการ Outsourcing Call Centers ในอินเดียมีผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการรับรองความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี มีความรู้ด้าน IT ได้รับการฝึกอบรม มีทักษะและประสบการณ์มากที่สุด อินเดียมีประชากรที่พูดภาษาอังกฤษมากที่สุดรองจากสหรัฐอเมริกา ตลาดแรงงานที่มีขนาดใหญ่และพื้นฐานการศึกษาที่ดีของอินเดียเป็นหนึ่งในข้อได้เปรียบหลักเหนือประเทศอื่น ๆ อินเดียจะมีจำนวนแรงงานที่มีการศึกษาดี ซึ่งมีจำนวนที่มากตลอดไป เนื่องจากอินเดียมีผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีอุตสาหกรรมด้านการฝึกอบรมที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากด้วย

>> พนักงานจำนวนมากของอินเดียเต็มใจที่จะทำงานในราคาที่ถูกกว่า ในการดำเนินงานของศูนย์บริการ Outsourcing Call Centers โดยทั่วไปค่าจ้างแรงงานคิดเป็น 55 ถึง 60% ของต้นทุนทั้งหมด สำหรับอินเดียแล้วมีต้นทุนค่าแรงงานต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ

>> มีบริการ Outsourcing Call Centers เฉพาะทาง บริษัทฯ ที่ให้บริการลักษณะนี้ ในอินเดียมีประสบการณ์ในการให้บริการ Outsourcing Call Centers เช่น บริการ Call Centers เรียกเข้า บริการการตลาดทางโทรศัพท์ บริการสนับสนุนด้านเทคนิค บริการกู้คืนข้อมูลหลังภัยพิบัติ บริการสนับสนุน E-mail และบริการสนับสนุนการ Chat เป็นต้น

วีรกรรม!! เรือ PT-109 ของเรือโท ‘John F. Kennedy’ ประธานาธิบดีคนที่ 35 แห่งสหรัฐฯ

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จำนวน 46 คน จนถึงประธานาธิบดี “Joe Biden” ผ่านการเป็นทหารถึง 33 คน เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 12 คน และ 8 คนร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 สังกัดกองทัพเรือ 6 นาย (John F. Kennedy, Lyndon B. Johnson, Richard Nixon, Gerald Ford, Jimmy Carter และ George H. W. Bush) และกองทัพบก 2 นาย (Dwight D. Eisenhower และ Ronald Reagan)

เรือโท “Kennedy”

ประธานาธิบดี “Kennedy” ไม่สามารถผ่านการฝึกในโรงเรียนนายทหารของกองทัพบก ด้วยปัญหาด้านสุขภาพ (จากอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง) วันที่ 24 กันยายน 1941 ด้วยความช่วยเหลือของนาวาเอก Allan Goodrich Kirk ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรอง กองทัพเรือ (the Office of Naval Intelligence : ONI) และผู้ซึ่งเป็นทูตทหารเรือในขณะที่ “Joseph Kennedy” บิดาของประธานาธิบดี “Kennedy” เป็นเอกอัครรัฐทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหราชอาณาจักร โดยแพทย์เอกชนได้รับรองสุขภาพของประธานาธิบดี “Kennedy” ว่า มีสุขภาพปกติดี จนสามารถเข้าร่วมกองกำลังสำรอง สังกัดกองทัพเรือ โดยได้รับการบรรจุเป็นเรือตรีเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 1941

Inga Arvad นักข่าวสาวชาวเดนมาร์ก ผู้ที่เป็นข่าวกับประธานาธิบดี “Kennedy”

งานในกองทัพเรือของประธานาธิบดี “Kennedy” เริ่มต้นขึ้นในเดือนตุลาคมปี 1941 เป็นเรือตรีทำงานนั่งโต๊ะในสำนักงานข่าวกรอง กองทัพเรือ ฐานทัพเรือ Pearl Harbor และต่อมาถูกย้ายไปยัง South Carolina เดือนมกราคม 1943 เพราะข่าวความสัมพันธ์กับนักข่าวสาวชาวเดนมาร์ก Inga Arvad ในวันที่ 27 กรกฎาคม 1942 เรือตรี “Kennedy” เข้ารับการฝึกที่โรงเรียนนายทหารกำลังสำรอง กองทัพเรือ ในนครชิคาโก

หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกในวันที่ 27 กันยายน เรือตรี “Kennedy” เข้ารับการฝึกต่อที่ศูนย์ฝึกกองเรือยนต์ตอร์ปิโด (PT) ในเมือง Melville มลรัฐ Rhode Island ซึ่งเขาได้รับการเลื่อนยศให้เป็นเรือโท หลังจากเมื่อเดือนกันยายน 1942 “Joseph Kennedy” ผู้เป็นบิดาได้พบกับ (อย่างไม่เปิดเผย) นาวาตรี “John Bulkeley” (อดีตผบ.หมู่เรือยนต์ตอร์ปิโดที่ 3 ผู้พาพลเอก Douglas MacArthur และครอบครัวออกจากเกาะ Corregidor ไปยังมินดาเนา) ผบ.กองเรือยนต์ตอร์ปิโด ที่โรงแรมพลาซ่า นครนิวยอร์ก เพื่อขอให้ช่วยเรือโท “Kennedy” ได้เป็นผบ.เรือ PT  

เรือ PT  

อย่างไรก็ตามนาวาโท “Bulkeley” กล่าวว่า จะไม่เสนอเรือโท “Kennedy” ให้ได้เข้ารับการฝึกกับเรือ PT หากไม่มั่นใจว่า เรือโท “Kennedy” มีคุณสมบัติที่จะเป็นผบ. PT ในการสัมภาษณ์เรือโท “Kennedy” นาวาตรี “Bulkeley” รู้สึกประทับใจใน รูปร่าง หน้าตา ทักษะการสื่อสาร ผลการเรียนที่ Harvard และรางวัลที่ได้รับจากการแข่งขันเรือเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่สมาชิกทีมเรือใบของ Harvard การอ้างเกินจริงของนาวาตรี “Bulkeley” เกี่ยวกับศักยภาพของเรือ PT ในการสู้รบกับเรือขนาดใหญ่ ทำให้เขาสามารถรับสมัครผู้มีความสามารถระดับสูง และสามารถยกระดับพันธบัตรสงคราม และสร้างความมั่นใจในหมู่ผู้บัญชาการกองเรือที่ยังเห็นด้วยกับการใช้เรือ PT สู้รบกับเรือรบที่มีขนาดใหญ่กว่า 

แต่ในหมู่นายทหารจำนวนมากของกองทัพเรือต่างก็รู้ความจริงที่นาวาตรี “Bulkeley” อ้างว่า เรือ PT สามารถจมเรือลาดตระเวน เรือลำเลียงพล และยิงเครื่องบินรบของญี่ปุ่นตกในฟิลิปปินส์นั้นไม่เป็นความจริง เมื่อเรือโท “Kennedy” จบการฝึกกับเรือ PT ในมลรัฐ Rhode Island วันที่ 2 ธันวาคม ด้วยคะแนนที่สูงมาก และถูกขอร้องเป็นครูฝึกเป็นเวลาช่วงสั้น ๆ จากนั้นเขาได้รับคำสั่งให้ฝึกหมู่เรือตอร์ปิโดที่ 4 เพื่อบังคับการเรือ PT-101 ขนาด 78 ฟุต

มกราคม 1943 เรือ PT-101 พร้อมกับเรือ PT อีก 4 ลำ ได้รับคำสั่งให้ไปสังกัดหมู่เรือยนต์ตอร์ปิโดที่ 14 (RON 14) ซึ่งได้รับมอบหมายให้ลาดตระเวนในคลองปานามา เรือ PT-101 แยกตัวออกจาก RON 14 ในเดือนกุมภาพันธ์ 1943 ในขณะที่หมู่เรือยนต์ตอร์ปิโดที่ 14 กำลังประจำอยู่เมือง Jacksonville มลรัฐ Florida เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการย้ายไปยังเขตคลองปานามา ด้วยความตั้งใจของเขาเอง เรือโท “Kennedy” จึงติดต่อขอให้เพื่อน ครอบครัว และเพื่อนสนิทของ “David I. Walsh” วุฒิสมาชิกแห่งมลรัฐ Massachusetts ประธานคณะกรรมการกิจการทหารเรือ ช่วยจัดการเปลี่ยนคำสั่งการมอบภารกิจให้เขาจากไปปานามา เป็นส่งเขาไปประจำเรือ PT ในหมู่เกาะโซโลมอนแทน และคำขอ "เปลี่ยนคำสั่งมอบหมาย" ถูกส่งไปยังหมู่เรือในแปซิฟิกใต้ การกระทำของเรือโท “Kennedy” ขัดกับความปรารถนาของบิดาที่ต้องการให้เขาประจำการในที่ปลอดภัย แต่แสดงให้เห็นถึงความเป็นตัวของตัวเองของเรือโท “Kennedy” และความกล้าหาญอันเยี่ยมยอดของเขา

เรือ USS Rochambeau

เรือโท “Kennedy” ถูกย้ายเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 1943 ในฐานะนายทหารสังกัดหมู่เรือยนต์ตอร์ปิโดที่ 2 ซึ่งอยู่ที่เกาะ Tulagi ในหมู่เกาะโซโลมอน ระหว่างเดินทางในมหาสมุทรแปซิฟิกบน เรือลำเลียง USS Rochambeau ก็เจอการโจมตีทางอากาศอย่างรุนแรง กระทั่งผบ.เรือ USS Rochambeau และเรือโท “Kennedy” ต้องช่วยส่งกระสุนปืนให้กับปืนใหญ่ประจำเรือ อันเป็นประสบการณ์การรบครั้งแรกของเขา ถึงเกาะ Tulagi ในวันที่ 14 เมษายน และบังคับการเรือ PT-109 เมื่อ 23 เมษายน จำเป็นต้องมีการซ่อมบำรุงเรืออย่างหนัก และเรือโท “Kennedy” สั่งการให้ลูกเรือซ่อมเรือให้ใช้การได้ 30 พฤษภาคม หมู่เรือ PT รวมทั้งเรือ PT-109 ได้รับคำสั่งให้ไปยังหมู่เกาะ Russel เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการบุกเขต New Georgia-Rendova

หลังจากเข้ายึดเกาะ Rendova แล้ว หมู่เรือ PT ก็ถูกย้ายให้ขึ้นไปทางเหนือ ไปประจำยังสถานีเรือ Rendova ในวันที่ 16 มิถุนายน สถานีเรือ Rendova ที่จัดตั้งขึ้นเต็มไปด้วยโรคภัยที่ไม่พึงประสงค์ เช่น มาลาเรีย, โรคไข้เลือดออก, โรคบิด และโรคเท้าช้าง ทหารเรือประจำการอยู่ที่นั่นยังบ่นในเรื่อง แมลงสาบ, หนู, โรคเกี่ยวกับเท้า, เชื้อราในหู และการขาดสารอาหารที่ไม่รุนแรงจากการทานอาหารซ้ำซากจำเจ และอาหารกระป๋องจากบันทึกกองทัพเรือของเรือโท “Kennedy” หลังจากกลับไปยังสหรัฐฯ เรือโท “Kennedy” ได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคมาลาเรีย, ลำไส้ใหญ่, และอาการปวดหลังเรื้อรังทั้งหมดที่เกิดระหว่างประสบการณ์รบของเขา หรือกำเริบในระหว่างประจำการอยู่ที่สถานีเรือ Rendova

จากสถานีเรือ Rendova อยู่ทางตอนเหนือสุดของเกาะ Rendova บนพื้นที่เล็ก ๆ ที่รู้จักกันในชื่อ Lumbari เรือ PT ปฏิบัติการอย่างกล้าหาญ และเสี่ยงอันตรายทุกค่ำคืน ทั้งการรบกวนการแล่นไปมาของเรือรบญี่ปุ่นขนาดใหญ่ส่งกำลังบำรุงให้แก่ญี่ปุ่นในเขต New Georgia-Rendova และลาดตระเวนในช่องแคบ Ferguson และ Blackett เพื่อตรวจการณ์ และแจ้งเตือนเมื่อเรือรบ Tokyo Express (ฉายาของเรือส่งกำลังบำรุงญี่ปุ่นที่ฝ่ายสัมพันธมิตรตั้ง) ของญี่ปุ่น ที่เข้ามาในช่องแคบ เพื่อส่งกำลังบำรุงกองทัพญี่ปุ่นในเขต New Georgia-Rendova

1 สิงหาคม เครื่องบินทิ้งระเบิดญี่ปุ่น 18 ลำ ได้เข้าโจมตีสถานีเรือ Rendova ทำลายเรือ PT-117 และ PT-164 จนจมลง ตอร์ปิโดสองลูกยิงออกเองจากเรือ PT-164 และวิ่งไปรอบ ๆ อ่าวจนกระทั่งพุ่งขึ้นฝั่งบนชายหาดโดยไม่ระเบิดแต่อย่างใด

ลูกเรือของเรือ PT-109

ลูกเรือในภารกิจสุดท้ายของเรือ PT-109 ได้แก่ ผบ.เรือ เรือโท “John F. Kennedy”, ต้นเรือ เรือตรี “Leonard J. Thom”, ต้นหน เรือตรี George H. R. "Barney" Ross, พลปืน พลฯ ระดับสอง Raymond Albert, พลปืน พลฯ ระดับสาม Charles A. "Bucky" Harris, ผู้ช่วยช่างเครื่อง พลฯ ระดับสอง William Johnston, พลปืน พลฯ ระดับสอง ผู้ช่วยพลตอร์ปิโด “Andrew Jackson Kirksey” (เสียชีวิตระหว่างชน), พลวิทยุ พลฯ ระดับสอง John E. Maguire, ผู้ช่วยช่างเครื่อง พลฯ ระดับสอง Harold William Marney (เสียชีวิตระหว่างชน), ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่พลาธิการ/จุมโพ่ พลฯ ระดับสาม Edman Edgar Mauer, ช่างเครื่อง พลฯ ระดับหนึ่ง Patrick H. "Pappy" McMahon, ผู้ช่วยพลตอร์ปิโด พลฯ ระดับสอง Ray L. Starkey และ ผู้ช่วยช่างเครื่อง พลฯ ระดับหนึ่ง Gerard E. Zinser, (ผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายของเรือ PT-109 เสียชีวิตเมื่อปี 2001)

ปลายเดือนกรกฎาคม 1943 รายงานข่าวกรองได้รับและถอดรหัสโดยเจ้าหน้าที่ทหารเรือที่สถานีเรือ Rendova ของเกาะ Tulagi ได้ความว่า เรือรบญี่ปุ่น 5 ลำมีแผนจะปฏิบัติการในคืนวันที่ 1-2 สิงหาคม โดยเรือพิฆาตญี่ปุ่นจะแล่นจากเกาะ Bougainville ของโซโลมอนผ่านช่องแคบ Blackett เพื่อนำส่งเสบียงและทหารไปที่กองทหารญี่ปุ่นในพื้นที่เพาะปลูก Vila บนปลายส่วนใต้ของเกาะ เกาะ Kolombangara การถอดรหัสที่ซับซ้อนของกองทัพเรือญี่ปุ่นช่วยให้สัมพันธมิตรได้รับชัยชนะในการรบที่ Midway เมื่อ 10 เดือนก่อน และเทคโนโลยีเดียวกันนี้ถูกใช้เพื่อถอดรหัส และรายงานเรื่องเรือพิฆาตญี่ปุ่นที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 1-2 สิงหาคม แม้จะสูญเสียเรือ 2 ลำและลูกเรือ 2 นายจากการโจมตีทางอากาศของญี่ปุ่น แต่ผบ.เรือ PT-109 และเรือลำอื่น ๆ อีก 14 ลำ ได้หารือกับนาวาโท Thomas G. Warfield เกี่ยวกับรายละเอียดของภารกิจ Ferguson Passage การรบที่เกิดขึ้นจะเป็นการรบด้วยเรือ PT ครั้งใหญ่ที่สุดในสงคราม และผลลัพธ์จะทำให้การใช้ PT ไม่เหมาะกับการรบกับเรือพิฆาตญี่ปุ่นในอนาคต

ความล้มเหลวในการยิงตอร์ปิโดจากเรือ PT วันที่ 1 สิงหาคม เรือ PT 15 ลำ ออกจากสถานีเรือ Rendova เวลาประมาณ 18.30 น. ตามคำสั่งที่เคร่งครัดของนาวาโท Thomas Warfield แบ่งเรือ PT เป็น 4 ชุด ชุดละ 4 ลำ ชุด "B" ประกอบด้วยเรือ PT-109, PT-162, PT-159 และ PT-157 ถูกส่งไปประจำด้านตะวันตกเฉียงเหนือของสถานี ระยะทางเกือบครึ่งทางไปชายฝั่งตะวันตกของเกาะ Kolombongara และประมาณ 6 ไมล์ (9.7 กม.) ทางทิศตะวันตก เรือส่วนใหญ่มาถึงสถานีในเวลา 20.30 น. เรือ PT 15 ลำ แต่ละลำติดท่อตอร์ปิโด 4 ท่อ ตอร์ปิโดแบบ Mark 8 รวม 60 ลูก ราวครึ่งหนึ่งถูกยิงใส่เรือพิฆาตญี่ปุ่นซึ่งมีเครื่องบินทะเลคุ้มกัน รายงานอย่างเป็นทางการของกองทัพเรือระบุถึงการระเบิดของตอร์ปิโด 5-6 ลูกเมื่อกระทบเป้าคือเรือพิฆาต แต่ในความเป็นจริงไม่มีตอร์ปิโดทำงานเลย ตอร์ปิโด 24 ลูกถูกยิงจากเรือ PT 8 ลำ ไม่มีลูกไหนเลยที่ระเบิดเมื่อกระทบเรือพิฆาต แม้ว่าเรือ PT แต่ละลำจะได้รับมอบหมายให้ประจำตำแหน่งที่น่าจะสกัดเรือพิฆาตได้ แต่หลายลำไม่มีเรดาร์แล่นไปในหมอกและความมืดอย่างไร้จุดหมาย โดยไม่สามารถระบุตำแหน่งเรือรบข้าศึกได้เลย

เรือเอก Brantingham ผบ.เรือ PT-159 หัวหน้าชุด "B" และแล่นอยู่ใกล้เรือ PT-109 เห็นเรดาร์ระบุว่า เรือพิฆาตญี่ปุ่นมุ่งไปทางใต้ เมื่อมาถึงที่จุดดังกล่าวได้ยิงตอร์ปิโดในระยะราวหนึ่งไมล์ ในขณะที่อยู่ในตำแหน่งนำ แต่ไม่ได้วิทยุแจ้งเรือ PT-109 ที่แล่นตาม ปล่อยให้เรือ PT-109 แล่นต่อในความมืด ซ้ำตอร์ปิโดที่ยิงจากเรือ PT-109 ของเรือเอก Brantingham ทุกลูกพลาดเป้า และตัวท่อตอร์ปิโดเกิดไฟไหม้ขนาดเล็ก ซึ่งเรือโท Liebenow ในชุดเดียวกันต้องนำเรือ PT-157 สลับตำแหน่งด้านหน้าบังแสงไฟไหม้ของเรือ PT-159 เรือ PT-157 ยิงตอร์ปิโดอีกสองลูกซึ่งก็พลาดเป้าหมายเช่นกัน จากนั้นเรือทั้งสองก็ปล่อยควันจากเครื่องกำเนิดควันและแล่นแบบซิกแซ็กเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับจากเรือพิฆาต เมื่อพบการปรากฏของเรือพิฆาตญี่ปุ่น และสัญญาณวิทยุจากเรือ PT-109 หรือเรือลำอื่นในชุดปฏิบัติการก็มุ่งหน้าไปทางตะวันตกไปยังเกาะกิโซและห่างออกไปจากทั้งเรือพิฆาตญี่ปุ่นและเรือ PT-109 ของเรือโท “Kennedy”

ตอร์ปิโดแบบ Mark 8 ส่วนมากระเบิดก่อนกระทบเป้า หรือวิ่งในระดับความลึกที่ไม่ถูกต้อง อัตราที่ตอร์ปิโด Mark 8 จะสามารถระเบิดทำลายเรือพิฆาตน้อยกว่า 50% เนื่องจากการปรับเทียบที่ผิดพลาดของชนวนกระทบของตอร์ปิโดแบบ Mark 8 ซึ่งเป็นปัญหาที่กองทัพเรือสหรัฐฯ ไม่รู้ และไม่ได้รับการแก้ไขจนกระทั่งสงครามจบ เรือ PT อื่น ๆ อีก 2-3 ลำ รวมถึงหัวหน้าชุด "A" ทางใต้ของเรือ PT-109 ได้ตรวจพบเรือพิฆาตที่อยู่ทางใต้ใกล้กับ เกาะ Kolombangara แต่เรือทุกลำที่เหลือได้รับวิทยุจากนาวาโท Warfield ให้กลับเมื่อยิงตอร์ปิโดแล้ว แต่เรือทั้งสี่ลำที่ที่มีเรดาร์ยิงตอร์ปิโดก่อน และได้รับคำสั่งให้กลับฐาน แนวคิดของนาวาโท Warfield ในการออกคำสั่งไปยังเรือ PT ท่ามกลางความมืดทางวิทยุจากสถานีเรือ ซึ่งออกไป 40 ไมล์โดยที่ไม่เห็นการรบนั้นไม่มีประสิทธิภาพเลย เรดาร์ของเรือทั้ง 4 ลำเก่า และบางครั้งก็ทำงานผิดพลาด เมื่อเรือ 4 ลำซึ่งมีเรดาร์ออกจากพื้นที่การรบ เรือที่เหลือรวมถึงเรือ PT-109 ก็ถูกลิดรอนความสามารถในการระบุตำแหน่ง หรือการเคลื่อนที่ของเรือพิฆาตญี่ปุ่นที่กำลังแล่นมา และไม่ได้รับแจ้งเตือนว่าเรือลำอื่นได้ตรวจพบหรือปะทะกับศัตรูแล้ว 

ในช่วงดึกเรือ PT-109 และเรือ PT ที่แล่นตามมาพร้อมกันอีก 2 ลำ กลายเป็นชุดสุดท้ายที่เห็นเรือพิฆาตญี่ปุ่นแล่นกลับมาที่เส้นทางเหนือมุ่งไป Rabaul, New Britain, New Guinea หลังจากเสร็จสิ้นการส่งเสบียงและกำลังทหารเมื่อเวลา 01.45 น. ทางส่วนปลายของ เกาะ Kolombangara บันทึกเหตุการณ์อย่างเป็นทางการของกองทัพเรือระบุว่า การสื่อสารทางวิทยุนั้นยังเป็นปกติ แต่ผู้บังคับการเรือ PT ได้รับการบอกให้รักษาความเงียบทางวิทยุจนกระทั่งได้รับแจ้งจากการพบเห็นข้าศึก ทำให้ผู้บังคับการหลายคนปิดวิทยุหรือไม่ติดตามการสื่อสารทางวิทยุอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเรือโท “Kennedy” ด้วย

เวลา 14.00 น. ของวันที่ 2 สิงหาคม 1943 เมื่อใกล้จะสิ้นสุดภารกิจ เรือ PT-109, PT-162, และ PT-169 ได้รับคำสั่งให้ลาดตระเวนในพื้นที่ต่อไปตามคำสั่งก่อนหน้านี้ ซึ่งได้รับคำสั่งทางวิทยุจากนาวาโท Warfield คืนนั้นมีเมฆมาก และไร้แสงจันทร์และอยู่ท่ามกลางหมอก เรือ PT-109 ทำงานด้วยเครื่องยนต์เดียวเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับ การเห็นแสงฟลูออเรสเซนซ์โดยเครื่องบินญี่ปุ่น เมื่อลูกเรือตระหนักว่าพวกเขาอยู่ในเส้นทางของเรือพิฆาตญี่ปุ่น Amagiri ซึ่งมุ่งหน้าไปทางเหนือยัง Rabaul จากพื้นที่เพาะปลูก Vila, เกาะ Kolombangara เพื่อส่งเสบียงและทหาร 902 นาย

บันทึกเหตุการณ์ไม่สามารถสรุปได้ว่า สาเหตุของการชนกันคือ การเดินเครื่องยนต์รอบต่ำของเรือ PT-109 เรือโท “Kennedy”  เชื่อว่าการยิงที่เขาได้ยินมาจากกองทหารบนฝั่ง เกาะ Kolombangara ไม่ใช่เรือพิฆาต และหลีกเลี่ยงการตรวจจับโดยการเดินเครื่องยนต์รอบต่ำ และลดความเสี่ยงต่อการตรวจพบ

ภาพวาดขณะเรือพิฆาต Amagiri ชนเรือ PT-109

เรือโท “Kennedy” บอกว่า เขาพยายามที่จะเลี้ยวเรือ PT-109 เพื่อยิงตอร์ปิโด และให้เรือตรี Ross ยิงปืนต่อสู้รถถังขนาด 37 มม. ที่พึ่งติดตั้งใหม่ไปยังเรือพิฆาต Amagiri ที่กำลังแล่นจะมาถึง เรือตรี Ross ถือกระสุน แต่ยังไม่ทันได้บรรจุกระสุน เรือโท “Kennedy” หวังว่า อาจสกัดเรือ Amagiri ที่แล่นด้วยความเร็วค่อนข้างสูงระหว่าง 23 ถึง 40 Knott (43-74 กม. / ชม. หรือ 26-46 ไมล์ต่อชั่วโมง) เพื่อกลับไปยังท่าเรือ ด้วยเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นแล้วเครื่องบินลาดตระเวนของสัมพันธมิตรอาจจะตรวจพบได้

เรือโท “Kennedy” และลูกเรือมีเวลาน้อยกว่าสิบวินาทีที่จะเร่งเครื่องยนต์เพื่อหลบหลีกเรือพิฆาตที่กำลังจะมาถึงแล่นโดยพรางไฟ เมื่อเรือ PT แล่นมาถึงก็ถูกชนจนแตกเป็น 2 ส่วน ที่พิกัดจุดระหว่างเกาะ เกาะ Kolombangara และเกาะ Ghizo ใกล้ 8 ° 3′S 156 ° 56'E ถ้อยแถลงที่ขัดแย้งกันเกิดขึ้นว่า เรือพิฆาตเห็นและตั้งใจชนเรือ PT-​​109 หรือไม่ ผู้เขียนส่วนใหญ่เขียนว่า ผบ.เรือ Amagiri ตั้งใจแล่นชนกับเรือพิฆาต Amagiri ซึ่งผบ.เรือพิฆาต Amagiri นาวาตรี Kohei Hanami ยอมรับเองในภายหลัง และระบุด้วยว่า เห็นเรือ PT-109 กำลังแล่นพุ่งมายังเรือพิฆาต Amagiri 

เรือ PT-109 ถูกชนเป็นสองส่วน เวลาประมาณ 02.27 น. ลูกไฟจากการระเบิดของเชื้อเพลิงพุ่งสูงกว่า 100 ฟุต พื้นที่การชน และทะเลรอบ ๆ ซากเรือลุกเป็นไฟ พลทหาร Kirksey และ Marney เสียชีวิตทันที และสมาชิกอีกสองคนของเรือถูกไฟคลอกและได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อพวกเขาตกลงไปในทะเลเพลิงที่ล้อมรอบเรือ สำหรับการชนที่รุนแรง การระเบิด และไฟไหม้ การสูญเสียของลูกเรือเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเรือ PT อื่น ๆ ที่ถูกยิงด้วยปืนแล้ว นับว่า เรือ PT-109 สูญเสียกำลังพลน้อยกว่า 

ยอดนักบริจาคแห่งโลกมุสลิม ‘มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุด’ ในซาอุดีอาระเบีย!! (Sheikh Sulaiman bin Abdulaziz Al Rajhi)

เคยเขียนถึงคุณลุง Chuck Feeney (ชัก ฟีนีย์) ชายชราที่มัธยัสถ์และสุดแสนที่จะธรรมดา แต่สิ่งที่เขาลงมือทำกลายเป็นแบบอย่างให้อภิมหาเศรษฐีของโลกอย่าง Warren Buffett และ Bill Gates ยอมรับ ยกย่อง ชื่นชม นับถือ และนำมาเป็นแบบอย่าง คุณลุง Chuck เป็นชาวคริสต์ครับ วันนี้เขียนถึงมหาเศรษฐี นักบริจาคชาวมุสลิมบ้างครับ

คุณปู่ Sheikh Sulaiman bin Abdulaziz Al Rajhi มาจากครอบครัวยากจนชนิดที่ครอบครัวไม่มีเงินแม้แต่เหรียญเดียว แต่ปัจจุบันกลายเป็น 1 ใน 20 ผู้บริจาคเงินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก (ชาวซาอุดีอาระเบียไม่มีนามสกุล แต่จะใช้ชื่อของบิดาเป็นนามสกุล bin แปลว่า “บุตรของ” ดังนั้น Sulaiman bin Abdulaziz จึงหมายถึง  Sulaiman ผู้เป็นบุตรของ Abdulaziz

คุณปู่ Sheikh Sulaiman เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2463 ที่ Al Bukairiyah ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัด Al Qassim ในซาอุดีอาระเบีย ย้ายไปกรุงริยาดตั้งแต่ยังเป็นเด็กกับพ่อ และเติบโตขึ้นมาในทะเลทราย Najd ที่ซึ่งเขาและคุณปู่ Saleh น้องชายเริ่มต้นธุรกิจด้วยการรับแลกเปลี่ยนเงินสำหรับผู้แสวงบุญที่นำคาราวานอูฐข้ามทะเลทรายไปยังเมืองต่าง ๆ ของนครมักกะห์ และนครเมดินาเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ ในช่วงกลางทศวรรษ 1950 เขาย้ายไปอยู่ยังนครเจดดาห์ ซึ่งเขาเริ่มธุรกิจของตัวเองในการแลกเปลี่ยนเงินตรากับผู้แสวงบุญ เขาได้พบกับความสำเร็จอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในธุรกิจของเขา ความมั่งคั่งและการลงทุนของเขาเติบโตขึ้นและขยายตัวอย่างมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

ปัจจุบันเขาเป็นผู้ถือหุ้นหลักและเป็นประธานธนาคาร Al-Rajhi บริษัทยักษ์ใหญ่ในซาอุดีอาระเบีย และเป็นธนาคารอิสลามที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ เขาเป็นเจ้าของบริษัทขนาดใหญ่ที่ลงทุนในการเกษตร การผลิตสัตว์ อุตสาหกรรม และการก่อสร้าง วันนี้ความมั่งคั่งของเขาอยู่ที่ประมาณ 7.7 พันล้านดอลลาร์ (ข่าวบางกระแสประมาณการว่า 8.8 พันล้านดอลลาร์) ทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 120 คนแรกจากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes

คุณปู่ Sheikh Sulaiman เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดใน Al Rajhi Bank ของครอบครัว ซึ่งรายงานการดำเนินงานที่ทำกำไรได้มากที่สุดอย่างต่อเนื่องในกลุ่มธนาคารของซาอุดีอาระเบีย ผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารกับน้องชายชื่อ คุณปู่ Saleh ปัจจุบันเขาเป็นประธานของธุรกิจที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศว่า เป็นสถาบันทางการเงินที่น่าเชื่อถือที่สุดของตลาดหลักทรัพย์ของซาอุดีอาระเบีย (Tadawul)

การเติบโตและการขยายตัวของธุรกิจของพี่น้อง Al Rajhi มาจากการหลั่งไหลของแรงงานข้ามชาติไปยังซาอุดีอาระเบียในช่วงทศวรรษที่ 1970 ในยุคที่น้ำมันเฟื่องฟู Al Rajhi Bank ช่วยให้พวกเขาส่งรายได้กลับบ้านไปยังสถานที่ต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย และปากีสถาน ในปี พ.ศ. 2526 (ค.ศ. 1983) สองพี่น้องได้รับอนุญาตให้เปิดธนาคารอิสลามแห่งแรกของซาอุดีอาระเบีย โดยจะปฏิบัติตามหลักศาสนา เช่น การห้ามรับและจ่ายดอกเบี้ย

ครอบครัว Al Rajhi ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Al Rajhi Bank แม้ว่า คุณปู่ Sheikh Sulaiman และพี่น้องจะได้กระจายการลงทุนของครอบครัวไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ อาทิ ยิปซั่ม เกษตรกรรม เหล็กกล้า และภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ระดับการศึกษาที่สูงสุดของเขาคือระดับประถมศึกษา ยังคงอาศัยอยู่ในซาอุดีอาระเบียและมีลูก ๆ ถึง 23 คน

สวนปาล์มแห่งหนึ่งในเมือง Al Qassim ซาอุดีอาระเบีย มีต้นปาล์มมากกว่า 200,000 ต้น พร้อมอินทผลัม 45 สายพันธุ์ ผลผลิตปีละ 10,000 ตัน รายได้จากสวนนี้นำไปใช้งานการกุศล สวนแห่งนี้ได้รับการบันทึกใน Guinness Book of World Records ว่าเป็นสวนอินทผลัมที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เป็นของชายที่ร่ำรวยที่สุดของซาอุดีอาระเบีย ที่ชื่อว่า "Sheikh Sulaiman bin Abdulaziz Al Rajhi" ผู้ซึ่งนิตยสาร Forbes ได้ยกย่องให้เป็นหนึ่งใน 20 ผู้บริจาคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก

ความยากจนของครอบครัวของ คุณปู่ Sheikh Sulaiman มากจนครั้งหนึ่งที่โรงเรียนจัดทัศนศึกษาและเก็บเงินนักเรียนคนละหนึ่งเหรียญ แต่พ่อแม่ของเขาไม่มีเงินเลยแม้แต่เหรียญเดียว เขาร้องไห้หนักมาก เมื่อคุณครูชาวปาเลสไตน์รู้ข่าวจึงให้เงินเขา 1 เหรียญ เขาวิ่งด้วยความดีใจไปจ่ายเงินให้ผู้รับผิดชอบงานทัศนศึกษาดังกล่าว

เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อเขาสำเร็จการศึกษา และเริ่มทำงาน โดยเปิดธนาคารด้วยห้องเล็ก ๆ ในนครเจดดาห์ เขาเริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้วยความทุ่มเทและทำงานหนัก อัลลอฮ์ทรงอวยพรการงานของเขา ในช่วงเวลาสั้น ๆ เครือข่ายธนาคารที่เรียกว่า 'Al-Rajhi' ได้แพร่ขยายไปทั่วประเทศซาอุดีอาระเบีย

แล้ววันหนึ่ง คุณปู่ Sheikh Sulaiman ได้ไปหาคุณครูชาวปาเลสไตน์ของเขา ครูของเขาเกษียณแล้ว และยังคงอยู่ในสภาพที่อัตคัดขัดสนเป็นอย่างมาก คุณปู่ Sheikh Sulaiman ได้เชิญคุณครูของเขาเข้าไปในรถ บอกคุณครูของเขาว่า "ผมเป็นหนี้คุณครู" คุณครูได้ตอบว่า "ใครเป็นหนี้คนยากจนได้บ้าง” คุณปู่ Sheikh Sulaiman บอกกับคุณครูของเขาว่า “เมื่อหลายปีก่อนครูได้ให้เงินผม 1 เหรียญ” คุณครูยิ้มและกล่าวต่อไปว่า "เธอมาที่นี่เพื่อคืนเงิน 1 เหรียญให้ครูหรือ?"

คุณปู่ Sheikh Sulaiman ได้ขับรถพาคุณครูไปจอดหน้าบ้านหรูหลังหนึ่ง แล้วบอกกับคุณครูว่า บ้านและรถเป็นของคุณครูแล้ว โดย คุณปู่ Sheikh Sulaiman จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด คุณครูชาวปาเลสไตน์ได้ยิน ก็น้ำตาซึม และตอบว่า บ้านสุดอลังการ รถยนต์ราคาแพงคันนี้ มันมากเกินไป คุณปู่ Sheikh Sulaiman กล่าวตอบว่า ความสุขของผมในวันนั้นมากกว่าความสุขของคุณครูในวันนี้เสียอีก คุณครูเป็นคนมีเมตตากรุณา อัลลอฮ์ไม่ทรงทำให้ความดีงามเหล่านั้นของคุณครูต้องสูญเปล่า

‘Marine One’ เฮลิคอปเตอร์ประจำตำแหน่ง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นอกจากมีเครื่องบิน  Air Force One เป็นเครื่องบินประจำตำแหน่งแล้ว ยังมี “Marine One” เป็นเฮลิคอปเตอร์ประจำตำแหน่งสำหรับการเดินทางระยะสั้น ๆ อีกด้วย วันนี้จึงขอนำมาเล่าให้อ่านกันครับ

เฮลิคอปเตอร์ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แบบแรก Bell UH-13J Sioux

การใช้เฮลิคอปเตอร์ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2500 เมื่อประธานาธิบดี “ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์” เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์แบบ Bell UH-13J Sioux โดยประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ต้องการวิธีที่รวดเร็วในการไปบ้านพักฤดูร้อนในมลรัฐเพนซิลเวเนีย การใช้เครื่องบิน Air Force One คงเป็นไปไม่ได้ในระยะทางสั้น ๆ เช่นนี้ และไม่มีสนามบินใกล้บ้านของประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ที่ต้องมีรันเวย์ปูพื้นเพื่อรองรับการขึ้น-ลงของเครื่องบินปีกตรึง (Fix wing) 

ดังนั้นประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรูปแบบการเดินทางแบบอื่น ๆ และเฮลิคอปเตอร์แบบ Sikorsky UH-34 (Sea Horse : ม้าน้ำ) ก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เฮลิคอปเตอร์ประจำตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯเป็นแบบแรก โดยกองบินของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินจนกระทั่งปัจจุบัน เฮลิคอปเตอร์แบบแรกขาดสิ่งอำนวยความสะดวกสมัยใหม่สำหรับการเดินทาง เช่น เครื่องปรับอากาศ และห้องสุขา

HH-34 เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกสหรัฐฯ ที่ใช้งานโดยประธานาธิบดีฯ มีนามเรียกขานว่า Army One

ไม่นานหลังจากใช้งานเฮลิคอปเตอร์ประจำตำแหน่งประธานาธิบดี คณะทำงานของประธานาธิบดีฯ ได้ขอให้หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินทำการสำรวจตรวจสอบ เพื่อใช้สนามหญ้าด้านทิศใต้ของทำเนียบขาวในการลงจอดของเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งพบว่า มีพื้นที่ว่างเพียงพอ และมีการออกระเบียบการขึ้น-ลง จนถึงปี พ.ศ. 2519 หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินได้ร่วมรับผิดชอบในการเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ของประธานาธิบดีฯ ร่วมกับกองทัพบกสหรัฐฯ เฮลิคอปเตอร์ฯของกองทัพบกใช้สัญญาณเรียกขาน Army One ขณะที่ประธานาธิบดีอยู่บนเครื่อง

เฮลิคอปเตอร์แบบ VH-3D เข้าประจำการในปี พ.ศ. 2521 (ลำบน)
และเฮลิคอปเตอร์แบบ VH-60N เข้าประจำการในปี พ.ศ. 2530 (ลำล่าง)

เฮลิคอปเตอร์แบบ VH-3D เข้าประจำการในปี พ.ศ. 2521 และเฮลิคอปเตอร์แบบ VH-60N เข้าประจำการในปี พ.ศ. 2530 และประจำการคู่กับเฮลิคอปเตอร์แบบ VH-3D หลังจากใช้งานเฮลิคอปเตอร์ทั้งสองรุ่นแล้ว ได้มีการปรับปรุงเพื่อใช้ประโยชน์จากการพัฒนาทางเทคโนโลยีและเพื่อตอบสนองความต้องการภารกิจใหม่ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2544 ได้มีการเพิ่มน้ำหนักในเฮลิคอปเตอร์มากด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ จนทำให้ความสามารถในการปฏิบัติภารกิจลดลง และมีการปรับปรุงใหม่ ๆ เพิ่มเติมอีกเล็กน้อย

พันตรี Sarah Deal Burrow นักบินหญิงคนแรกที่ทำการบินกับขึ้นบิน Marine One

ปี พ.ศ. 2552 มีเฮลิคอปเตอร์แบบ VH-3D 11 ลำและเฮลิคอปเตอร์แบบ VH-60N อีก 8 ลำ ในฝูงบินเฮลิคอปเตอร์นาวิกโยธินที่ 1 (Marine Helicopter Squadron One (HMX-1)) สำหรับประธานาธิบดีและบุคคลสำคัญอื่น ๆ วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 Marine One ได้ทำการบินด้วยลูกเรือหญิงล้วนเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเที่ยวบินสุดท้ายของพันตรี Sarah Deal Burrow นักบินหญิงคนแรกที่ทำการบินกับขึ้นบิน Marine One

จนถึงปี พ.ศ. 2552 Marine One ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุหรือถูกโจมตี อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2549 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้ขึ้น Marine One พร้อมกับเลขาฯ ด้านสื่อมวลชน แต่เฮลิคอปเตอร์ "เกิดขัดข้อง" ดังนั้นประธานาธิบดีจึงต้องเดินทางออกจากทำเนียบขาวด้วยขบวนรถแทน

เหตุการณ์โจมตีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2545 (เหตุการณ์ 911) ทำให้ฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ Marine One จำเป็นต้อง Up grade ระบบการสื่อสาร การขนส่ง และระบบรักษาความปลอดภัยอย่างมีนัยสำคัญ แต่ข้อจำกัดด้านน้ำหนักทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2545 กระทรวงกลาโหมได้เริ่มโครงการ VXX ซึ่งมอบหมายให้กองทัพเรือกำหนดแบบเฮลิคอปเตอร์ประจำตำแหน่งประธานาธิบดีใหม่ภายในปี พ.ศ. 2554 ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ทำเนียบขาวขอให้กระทรวงกลาโหมเร่งพัฒนาเฮลิคอปเตอร์ Marine One รุ่นใหม่ กระทรวงกลาโหมแถลงว่า เฮลิคอปเตอร์ Marine One รุ่นใหม่จะพร้อมใช้งานภายในสิ้นปี พ.ศ. 2551 และขอให้บริษัทที่ชนะการเสนอราคาโครงการนี้เริ่มพัฒนาและผลิตไปพร้อมกัน

‘สตรี’ กับบทบาท!! ‘สร้างสันติภาพ’ และ ‘ความมั่นคง’

"สตรีเป็นผู้แบกฟ้าอยู่ครึ่งหนึ่ง" ประธานเหมา เจ๋อ ตุง ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้กล่าวไว้


ภารกิจการรักษาสันติภาพ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสะท้อนถึงจำนวนประชากรที่กองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติต้อง ควบคุม ดูแล และบุคลากรสตรีกลายเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งในครอบครัวของกองกำลังรักษาสันติภาพฯ มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย บุคลากรสตรีถูกนำไปปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ ทั้งที่เป็น ตำรวจ ทหาร และพลเรือน และได้สร้างผลงานเชิงบวกต่อสภาพแวดล้อมในการรักษาสันติภาพ ตลอดจนการสนับสนุนบทบาทของสตรีในการสร้างสันติภาพและปกป้องสิทธิสตรี ภารกิจการรักษาสันติภาพในทุก ๆ ด้าน เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพสตรีได้พิสูจน์แล้วว่า พวกเธอสามารถทำหน้าที่เดียวกัน ได้มาตรฐานเดียวกัน และอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ยากลำบากเช่นเดียวกับบุรุษ ทั้งมีความจำเป็นมากมายในการปฏิบัติงานที่ต้องสรรหาเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพสตรีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในปี พ.ศ. 2536 จำนวนสตรีคิดเป็นเพียง 1% ของบุคลากรในภารกิจการรักษาสันติภาพ ในปี พ.ศ. 2563 จากเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพประมาณ 95,000 นาย มีสตรีคิดเป็น 4.8% ของกองกำลังทหารรักษาสันติภาพฯ และ 10.9% ของหน่วยตำรวจรักษาสันติภาพฯ ที่จัดตั้งขึ้น และ 34% ของเจ้าหน้าที่อำนวยความยุติธรรม และงานรัฐทัณฑ์ที่รัฐบาลนานาชาติจัดหามาปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ แม้ว่าสหประชาชาติจะสนับสนุนและสนับสนุนการนำสตรีเข้าปฏิบัติงานในภารกิจการรักษาสันติภาพ แต่ความรับผิดชอบในการส่งสตรีเข้าเป็นตำรวจและทหารนั้นเป็นของรัฐสมาชิก กองตำรวจแห่งสหประชาชาติเปิดตัว 'ความพยายามระดับโลก' เพื่อรับสมัครเจ้าหน้าที่ตำรวจสตรีเข้าเป็นตำรวจแห่งสหประชาชาติชาติ และปฏิบัติหน้าที่ตำรวจของสหประชาชาติทั่วโลก เป้าหมายคือ ปี พ.ศ. 2571 สำหรับสตรีที่ในหน่วยทหารคือ 15% และ 25% สำหรับผู้สังเกตการณ์ทางทหารและเจ้าหน้าที่ทั่วไป และเป้าหมายปี  พ.ศ. 2571 สำหรับสตรีในหน่วยตำรวจในภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติที่ตั้งไว้คือ 20% 

ความสำคัญของการมีเจ้าหน้าที่สตรีในกองกำลังรักษาสันติภาพ จำนวนมากขึ้นของเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจสตรีในการรักษาสันติภาพหมายถึง การรักษาสันติภาพนั้นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพสตรีช่วยในการปรับปรุงประสิทธิภาพการรักษาสันติภาพโดยภาพรวม สามารถเข้าถึงชุมชนได้มากขึ้น ช่วยในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองพลเรือน และสนับสนุนให้สตรีกลายเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการสันติภาพและการเมือง

การดำเนินงานและประสิทธิภาพที่ดีขึ้น 
>> ความหลากหลายที่มากขึ้นและชุดทักษะที่กว้างขึ้นหมายถึง การตัดสินใจ การวางแผนและผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ซึ่งนำไปสู่ประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติงานที่ดีขึ้น
>> การเข้าถึงที่ดีขึ้น : เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพสตรีสามารถเข้าถึงประชาชนได้ดีขึ้น ซึ่งรวมถึงสตรีและเด็ก ตัวอย่างเช่น โดยการสัมภาษณ์และสนับสนุนผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงและความรุนแรงต่อเด็กตามเพศ ดังนั้นจึงต้องมีข้อมูลสำคัญที่อาจเข้าถึงได้ยาก 

สะท้อนถึงชุมชนที่กองกำลังรักษาสันติภาพฯ ให้บริการ  
>> ความหลากหลายในหน่วยรักษาสันติภาพของสหประชาชาติเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมกับสมาชิกทุกคนในชุมชนที่กำลังปกป้องอยู่

การสร้างความไว้วางใจและความมั่นใจ 
>> เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพสตรี เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นให้กับชุมชนท้องถิ่น และช่วยปรับปรุงการเข้าถึงและการสนับสนุนสำหรับสตรีในท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น โดยการปฏิสัมพันธ์กับสตรีในสังคมที่สตรีไม่ได้รับอนุญาตให้พูดกับบุรุษนอกครอบครัว

การช่วยป้องกันและลดความขัดแย้งและการเผชิญหน้า 
>> ความหลากหลายในการรักษาสันติภาพ ช่วยจัดการกับผลกระทบเชิงลบที่ไม่สมส่วนซึ่งความขัดแย้งมีต่อการดำรงชีวิตของสตรี และนำมุมมองและแนวทางแก้ไขใหม่ ๆ มาสู่การเจรจาพูดคุยและตกลง โดยการตอบสนองความต้องการของสตรีในบริบทที่มีความขัดแย้งและภายหลังความขัดแย้งอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงอดีตทหารสตรีและทหารเด็กในระหว่างการปลดประจำการ และการกลับคืนสู่ชีวิตพลเรือน

การสร้างแรงบันดาลใจและการสร้างแบบอย่าง 
>> เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพสตรีทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และแบบอย่างที่ทรงพลังสำหรับสตรีและเด็กสตรีในสภาพแวดล้อมภายหลังความขัดแย้งในชุมชน เป็นตัวอย่างให้พวกเขาเข้าใจในสิทธิของตนเอง และสามารถประกอบอาชีพที่ต่างไปจากวิถีดั้งเดิม

เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพสตรีในการรับมือ COVID-19 เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่ง นั่นคือ การระบาดใหญ่ของ COVID-19 เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพต้องช่วยเหลือรัฐบาลและชุมชนท้องถิ่นในการต่อสู้กับการแพร่ระบาด และยังคงต้องปรับกิจกรรมของตนเพื่อดำรงการปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้รับมาต่อไป ซึ่งรวมถึงการปกป้องชุมชนต่าง ๆ ที่เปราะบางด้วย เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพสตรีอยู่ในแนวหน้าของการต่อสู้ครั้งนี้ และเป็นส่วนสำคัญของการรับมือ COVID-19 เช่นเดียวกับการปฏิบัติตามคำสั่งตามภารกิจ ภายใต้ข้อจำกัดในปัจจุบัน และในขณะที่ใช้มาตรการป้องกันก่อนทั้งหมด

ความคิดริเริ่มที่สำคัญในปฏิบัติการสันติภาพ ขณะนี้ประเทศสมาชิกได้รับการร้องขอให้เสนอชื่อสตรีอย่างน้อย 20% สำหรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและ 30% สำหรับเจ้าหน้าที่อำนวยความยุติธรรมและงานรัฐทัณฑ์ที่รัฐบาลต่าง ๆ จัดหา บุคลากรสตรีที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการจัดลำดับความสำคัญสำหรับตำแหน่งทหารของเจ้าหน้าที่แต่ละคน ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ และภารกิจภาคสนาม ตลอดจนเจ้าหน้าที่อำนวยความยุติธรรมและงานรัฐทัณฑ์ที่รัฐบาลต่าง ๆ จัดหา

หน่วยงานจัดลำดับความสำคัญของสตรี ตำรวจที่จัดตั้งขึ้นซึ่งรวมถึงกองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติ กำลังแนะนำหน่วยรบที่ประกอบด้วยสตรีอย่างน้อย 50% เจ้าหน้าที่อำนวยความยุติธรรมและงานรัฐทัณฑ์สนับสนุนชุดของการฝึกอบรมก่อนการปรับใช้สำหรับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์สตรีโดยเฉพาะ สำนักงานตำรวจแห่งสหประชาชาติกำลังดำเนินการเกี่ยวกับข้อตกลงทางเพศโดยสมัครใจตามที่เลขาธิการฯ เสนอเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในสำนักงานตำรวจแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีบทบัญญัติสำหรับข้อผูกพันโดยรัฐสมาชิก PCCs เพื่อเริ่มดำเนินการเกี่ยวกับโครงสร้างที่จำเป็นมาก (นโยบายและกฎหมาย) การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรับรองการรับสมัครสตรีที่เพิ่มขึ้นในสถาบันตำรวจของรัฐเจ้าภาพ มีความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำที่เข้มแข็งในการแต่งตั้งสตรีให้ดำรงตำแหน่งผู้นำระดับสูง

กองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติได้ส่งสตรีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ ในการมีบทบาททางทหารที่อาวุโสที่สุดในปฏิบัติการเพื่อสันติภาพของสหประชาชาติ โดยมีผู้บัญชาการกองกำลังเป็นสตรีหนึ่งนาง และรองผู้บังคับบัญชากองกำลังสตรีสองนาง ซึ่งกำลังประจำการอยู่ในสนาม

ร.ต.อ.หญิง อุภิญญา บุญเรืองนาม รอง สว.ประจำกองการต่างประเทศ ร่วมปฏิบัติภารกิจกับ UNPOL ในซูดานใต้

“มะห์ซูหรี่” (Mahsuri) ตำนาน!! ‘คำสาปแห่งลังกาวี’ 

ผู้อ่านจาก Facebook ดร.โญ มีเรื่องเล่า ‘คุณแจ็คกี้ มวยไทย’ เขียน In Box มาว่า “อยากให้อาจารย์เล่าเรื่องเกี่ยวกับสงครามประวัติศาสตร์หน่อยครับ ถึงตำนานแต่ละที่ของประวัติศาสตร์ เช่น คำสาปของเกาะลังกาวี ครับ” ซึ่งผมก็จัดให้เลย และขอมาเล่าเรื่องราวนี้ผ่าน THE STATES TIMES ก่อนนะครับ…

ลังกาวี (Langkawi) หรือ "ลังกาวี อัญมณีแห่งเกอดะฮ์ (Kedah หรือไทรบุรีของราชอาณาจักรสยาม/ไทยในอดีต)" (Langkawi Permata Kedah) เป็นเกาะในทะเลอันดามัน ใกล้ฝั่งทะเลตะวันตกเฉียงเหนือของมาเลเซียตะวันตก ขึ้นกับรัฐเกอดะฮ์ ประเทศมาเลเซีย

ลังกาวี ตั้งอยู่ห่างจากเกาะตะรุเตา จังหวัดสตูลของประเทศไทยเพียง 4 กิโลเมตร อยู่ห่างจากเมืองกัวลาปะลิสประมาณ 30 กิโลเมตร และเมืองกัวลาเกอดะฮ์ 51 กิโลเมตร ประกอบด้วยกลุ่มเกาะเขตร้อนจำนวน 99 เกาะ และเป็นที่รู้จักของชาวไทยและมาเลเซียจากตำนานของ มะห์ซูหรี่ สตรีผู้ถูกประหารด้วยความอยุติธรรม โดยนางได้สาปแช่งเกาะลังกาวีไว้ก่อนสิ้นใจ และรัฐบาลมาเลเซียต้องนำทายาทรุ่นที่ 7 ของเธอมาถอนคำสาป

"ลังกาวี อัญมณีแห่งเกอดะฮ์ (Kedah หรือไทรบุรีของราชอาณาจักรสยาม/ไทยในอดีต)" (Langkawi Permata Kedah)

ชื่อของเกาะลังกาวี โดย "ลัง" ย่อมาจากคำว่า "ฮลัง" (Helang) ที่แปลว่า "นกอินทรีสีน้ำตาลแดง" ส่วนนาม "ลังกาวี อัญมณีแห่งเกอดะฮ์" นั้นได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านอับดุล ฮาลิม อันเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกส่วนพระองค์ โดยตั้งนามเพื่อสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวว่า ลังกาวีเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ Kedah

กล่าวว่าคำว่า 'ลังกาวี' มีความเกี่ยวข้องกับอาณาจักรลังกาสุกะ 'Langgasu' ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่รัฐ Kedah ในปัจจุบัน ซึ่งเอกสารทางประวัติศาสตร์มีน้อยมาก อย่างไรก็ตามย้อนหลังไปถึง 500 ปีก่อนคริสตกาล ตามบันทึกของราชวงศ์เหลียง อาณาจักรนี้ก่อตั้งขึ้นในศตวรรษแรกเมื่อกษัตริย์ฮินดู บากัตตา ถวายส่วยจักรพรรดิจีนในสมัยนั้น ชื่อของกษัตริย์ปรากฏขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในตำนานและเทพนิยายมาเลย์ 'ลังกาวี' จึงหมายถึงอาณาจักรของ 'Langgasu' ที่จัดตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 1

มีการอ้างอิงชื่อเกาะอื่นในหนังสือ The Legends of Langkawi โดย Tun Mohamed Zahir บอกว่า 'ลังกาวี' เป็นการรวมกันของคำภาษาสันสกฤตสองคำคือลังกา (ความงาม) และวี (นับไม่ถ้วน) ตามหนังสือลังกาวี หมายถึงสถานที่แห่งความงามอันยิ่งใหญ่ ข้อมูลอ้างอิงอีกฉบับหนึ่งระบุว่า ลังกาวีหมายถึงเกาะนกอินทรี ตามนั้น คำว่าลังกาวีเป็นการรวมกันของคำสองคำคือ ‘ลัง’ และ ‘กาวี’ โดยที่ 'ลัง' มากจากคำว่า 'Helang' ในภาษามาเลย์ ซึ่งแปลว่านกอินทรี ส่วน ‘กาวี’ ก็มาจาก 'Kawi' ภาษามาเลย์เช่นกัน แปลว่า หินอ่อน เนื่องจากมีการพบทั้งนกอินทรีและหินอ่อนมากมายในลังกาวี สถานที่แห่งนี้จึงอาจได้รับการตั้งชื่อตามข้อเท็จจริง โดยจัตุรัสนกอินทรีที่เกาะนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงชื่อเกาะตามความหมายนัยนี้

แสตมป์สามอัฐ และสี่อัฐประทับตรา Kedah แสดงให้เห็นว่า Kedah (ไทรบุรี) เคยเป็นของสยาม

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมือง สรุปได้ว่า สุลต่าน Kedah เคยปกครองเกาะนี้ ต่อมา Kedah (ไทรบุรี) ถูกสยามยึด ลังกาวีก็ตกไปอยู่ในมือของสยามผู้ปกครอง และด้วยข้อตกลงตามสนธิสัญญาแองโกล-สยาม พ.ศ. 2452 สยามได้โอนอำนาจการปกครองไปให้แก่อังกฤษ ซึ่งยึดครองรัฐนี้เอาไว้จนมาเลเซียได้รับอิสรภาพ ไม่รวมระยะเวลาสั้น ๆ ของการปกครองไทยภายใต้การยึดครองมลายูของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อิทธิพลของไทยยังสามารถเห็นได้ในวัฒนธรรมและอาหารของลังกาวี อันที่จริงแล้ว คนมาเลย์เชื้อสายไทยจำนวนมากบนเกาะนี้ก็เข้าใจภาษาไทยเช่นกัน

มะห์ซูหรี่จึงบอกให้ฆ่าเธอด้วยกริชอาคมของครอบครัว

ตำนานคำสาปแห่งลังกาวี ตามตำนานเล่าว่า มะห์ซูหรี่ (Mahsuri) เป็นธิดาคนที่สามของสามีภรรยาชาวไทยเชื้อสายมลายูที่อพยพมาจากภูเก็ต (Negeri Pulau Bukit) ในสมัยของสุลต่านอับดุลลาห์ มูการ์รัม ชาห์ที่ 2 ผู้ปกครองรัฐ Kedah ระหว่างปี พ.ศ. 2305 ถึง 2343 (ค.ศ. 1762 ถึง 1800) มะห์ซูหรี่เป็นหนึ่งในหญิงที่สวยที่สุดในลังกาวี และได้แต่งงานกับรองสุลต่านที่ชื่อว่า วันดารุส (Wan Darus) น้องชายของ Dato Pekerma Jaya น้องชายของสุลต่านผู้ปกครองเกาะลังกาวี แต่ในเวลาอันไม่นานชีวิตอันสวยงามของพวกเขาก็ต้องจบลง ด้วยวันดารุสต้องออกไปรบกับสยาม ระหว่างที่สามีไม่อยู่ มะห์ซูหรี่บังเอิญได้รู้จักกับเดรามัน (Deraman) ชายหนุ่มคนหนึ่ง ทำให้แม่สามี (บ้างก็ว่า พี่สะใภ้ของสามี ภรรยาของหัวหน้าหมู่บ้าน) ของเธออิจฉาความงามที่เลื่องลือของมะห์ซูหรี่ จึงถือโอกาสที่จะกำจัดเธอ ด้วยการปล่อยข่าวลือว่า มะห์ซูหรี่ไม่ซื่อสัตย์ นอกใจต่อวันดารุส สามีของเธอ โดยมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับเดรามัน

ด้วยเหตุนี้ ข่าวลือจึงแพร่กระจายไปทั่วทั้งหมู่บ้าน เรื่องนี้ทำให้เธอถูกชาวบ้านทั้งหมดกล่าวหาว่า ลักลอบมีประเวณีกับชายอื่น และถูกตัดสินประหาร มะห์ซูหรี่ปฏิเสธอย่างแข็งขัน แต่ไม่มีใครยอมเชื่อเธอเลย ดังนั้นมะห์ซูหรี่จึงถูกจับมัดไว้กับต้นไม้ (หรือเสา) มะห์ซูหรี่ได้อธิษฐานว่า “หากนางไม่มีความผิด ขอให้โลหิตที่หลั่งออกมาเป็นสีขาวและไม่หลั่งลงพื้นดิน เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของนาง” และ “สำหรับความอยุติธรรมนี้ จะไม่เกิดสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองบนเกาะแห่งนี้ นานถึงเจ็ดชั่วอายุคน” แต่เมื่อเพชฌฆาตลงคมกริชประหาร คมของกริชนั้นกลับไม่ระคายผิวนางเลย หลังจากที่ความพยายามในสังหารเธอทุกครั้งประสบความล้มเหลว เมื่อเป็นเช่นนี้นางจึงบอกกับเพชฌฆาตให้ไปนำกริชอาคมพิเศษของต้นตระกูลจากบ้านของนางมา และเมื่อเพชฌฆาตใช้คมกริชอาคมพิเศษจรดลงไปบนคอของนาง โลหิตสีขาวก็พวยพุ่งขึ้นข้างบนราวกับเป็นร่มโดยไม่ตกลงบนพื้นดินเลย เมื่อเธอถูกแทง เลือดสีขาวก็ไหลออกมาจากบาดแผลของเธอ และฝูงนกก็บินเข้ามาปกคลุมเธอทั้งตัว อันแสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ของเธอ ด้านพี่ชายของมะห์ซูหรี่ เกรงว่าหลานชายวัย 5 เดือน ทายาทคนเดียวของมะห์ซูหรี่ จะมีภัย จึงนำลงเรือล่องมายังเกาะภูเก็ต และเริ่มตั้งรกรากที่นี่ โดยบุตรของนางเติบโตขึ้นในนามว่า “โต๊ะวัน”

หลุมศพ (กุโบร์) ของมะห์ซูหรี่บนเกาะลังกาวี

ปาดังมาตสิรัต (ซึ่งหมายถึง ‘ทุ่งข้าวไหม้’)

ชาวบ้านจำนวนมากในลังกาวีเชื่อว่า ตำนานดังกล่าวเป็นเรื่องจริง โดยอ้างถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และโศกนาฏกรรมในช่วงหลายทศวรรษหลังการเสียชีวิตของมะห์ซูหรี่ กองทัพสยามสามารถพิชิตรัฐ Kedah และบุกยึดลังกาวีเอาไว้ได้ โดยชาวบ้านจุดไฟเผาไร่นาพืชผลเพื่อหยุดยั้งการบุกของกองทัพสยาม หรือแทนที่จะปล่อยให้ตกไปอยู่ในเงื้อมมือของกองทัพสยาม จนถึงทุกวันนี้ตามตำนานเล่าว่า หลังจากฝนตกชุก จะเห็นร่องรอยของข้าวไหม้ที่ปาดังมาตสิรัต (ซึ่งหมายถึง 'ทุ่งข้าวไหม้') ที่อยู่ใกล้เคียง แต่ที่สุดแล้วลังกาวีก็ตกเป็นอาณานิคมของสยาม และอังกฤษในเวลาต่อมา 

น.ส.ศิรินทรา ยายี (Wan Aishah)

มหากาพย์ ‘สงครามกลางเมือง’ (Civil War)

ระยะนี้มีผู้คนที่สังคมให้ค่าว่าเป็นผู้มีการศึกษา แต่พฤติการณ์ พฤติกรรม มีการศึกษาแต่กลับไม่มีปัญญา หยิบยกเอาเรื่องสงครามกลางเมืองมาเป็นประเด็นให้เกิดความขัดแย้งในสังคมให้กลายเป็นความรุนแรงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คนพวกนี้ไม่ได้น่ากลัวอะไรเลย เพียงแต่เป็นเหมือนกับพวก เห็บ หมัด ยุง ที่น่ารำคาญ พยายาม กัด ไต่ ตอม สังคมโดยไม่รู้จักลดเลิก ไม่ได้นึกถึงความเป็นจริง ได้แต่เพ้อเจ้อไปวัน ๆ ซ้ำร้ายที่ยังมีคนที่ขาดความรู้ อ่อนด้อยประสบการณ์จำนวนไม่มากนักที่หลงเชื่อ และส่วนหนึ่งกลายเป็นเหยื่อทั้งต้องติดคุก บาดเจ็บ และร้ายแรงที่สุด คือ เสียชีวิต โดยที่พวกที่ปลุกปั่น ยุยง และญาติพี่น้อง ลูกหลาน และพวกพ้องที่ใกล้ชิดไม่เป็นอะไรกันเลย 

สงครามกลางเมือง เป็นสงครามภายในระหว่างกลุ่มคนในสังคม ในชาติเดียวกัน ด้วยประสงค์ในการแย่งชิงอำนาจการปกครอง หรือดินแดน สงครามกลางเมืองอาจถือเป็นการปฏิวัติ (Revolution) รูปแบบหนึ่ง เมื่อสิ้นสุดสงครามกลางเมืองนั้น ๆ แล้วมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่เกิดขึ้น ซึ่งองค์การกาชาดสากลให้ความหมายตามมาตรา 9 แห่งสนธิสัญญาเจนีวาไว้ดังนี้ “สงครามกลางเมืองเป็นความขัดแย้งรุนแรงจนถึงมีการใช้อาวุธต่อกันทั้งสองฝ่ายหรือมากกว่านั้น และอาจมีความรุนแรงเหมือนสงครามระหว่างรัฐ แต่เกิดขึ้นภายในประเทศนั้นประเทศเดียว” นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์บางกลุ่มยังได้นับรวมเอาการจลาจล/การก่อการร้าย/การก่อความไม่สงบ เป็นสงครามกลางเมืองด้วย หากมีการสู้รบระหว่างกองกำลังติดอาวุธเต็มรูปแบบ ความแตกต่างระหว่าง "สงครามกลางเมือง" "การปฏิวัติ" และ "การจลาจล" ในปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจน ขึ้นอยู่กับบริบท (Context) ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้

การสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยการใช้ความรุนแรงไม่ได้มีผลดีอะไรกับสังคมและชาติบ้านเมืองเลย ไม่ว่าผลสุดท้ายจะออกมาเป็นเช่นไร แต่ความบอบช้ำเสียหายเกิดขึ้นกับผู้คนในสังคม ในชาติบ้านเมืองโดยรวมเสมอ และต้องใช้เวลาและทรัพยากรมากมายในการฟื้นฟูเยียวยา ส่วนที่แก้ไขเยียวยายากมากที่สุดคือ บาดแผล หรือความบอบช้ำทางจิตใจ อันเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ผู้แพ้ ผู้ชนะ หรือผู้ที่เป็นกลาง แม้กระทั่งผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องยุ่งเกี่ยวอะไรด้วยเลย

สงครามกลางเมืองอังกฤษ (Cromwell war) ค.ศ. 1642-1651

ตามประวัติศาสตร์สากลสงครามกลางเมืองที่ถูกบันทึกไว้ มักจะเป็นสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสังคม ซึ่งเกิดขึ้นแล้วหลายพันครั้งในเกือบทุก ๆ ชาติ ตั้งแต่ 475 ปีก่อนคริสต์ศักราช เช่น สงครามรวมชาติจีน หรือสงครามนครคาร์เธจ หรือสงครามแห่งรัฐอิสลาม ค.ศ. 656 - 661 หรือสงครามเมืองอังกฤษหลายครั้งคือ The Anarchy ค.ศ. 1135 - 1153 (ยุคไร้สันติสุข) สงครามกุหลาบ (Wars of Roses) ราว ค.ศ. 1455 - 1485 (ระหว่างเจ้านครแห่งแคว้นแลงคาสเตอร์กับเจ้านครแห่งแคว้นยอร์ก) และสงครามกลางเมือง (Cromwell war) ค.ศ. 1642 - 1651 (ระหว่างกษัตริย์กับรัฐสภา) สงครามกลางเมืองอังกฤษมีสาเหตุจากการชิงอำนาจปกครองประเทศ หรือการปกป้องสิทธิของกษัตริย์ หรือการป้องสิทธิของประชาชน เช่น ในสงครามขุนนางครั้งที่ 1 ค.ศ. 1215 - 1217 ระหว่างขุนนางกับพระเจ้าจอห์น ขุนนางสามารถทำให้พระเจ้าจอห์น ทรงลงพระนามในมหาบัตรใหญ่หรือ Magna Carta อันเป็นต้นกำเนิดรัฐธรรมนูญของอังกฤษ และสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา

สำหรับสหรัฐฯ สงครามกลางเมืองสหรัฐฯ เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1861 - 1865 เมื่อมลรัฐทางใต้ 11 รัฐ เห็นว่า การรณรงค์เลิกทาสของประธานาธิบดี อับราฮิม ลินคอล์นนั้น ขัดต่อผลประโยชน์ทางมลรัฐทางใต้ ซึ่งต้องพึ่งแรงงานทาสผิวสีในการเก็บฝ้าย และทำกสิกรรม จึงประกาศแยกตัวออกจากสหรัฐฯ สถาปนาเป็นสหพันธรัฐแห่งอเมริกา โดยมีประธานาธิบดี เจฟเฟอร์สัน เดวิส เป็นผู้นำ และเกิดการรบขึ้นเพื่อแย่งความชอบธรรมแห่งรัฐ เพราะการแยกตัวจากสหรัฐฯ เป็นการผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ระยะเวลาในการทำสงคราม 4 ปี ทำให้มีผู้ได้รับเคราะห์กรรมจากสงครามกว่า 1,030,000 คน ทหารเสียชีวิตราว 750,000 คน ค่าใช้จ่ายในการทำสงครามของทั้งสองฝ่ายราว 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (สามารถติดตามอ่านได้ในคอลัมน์ 12 สงครามที่ ‘แพงที่สุด’ ในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา >> https://thestatestimes.com/post/2021082805

นอกจากสงครามกลางเมืองในอังกฤษและสหรัฐฯ ที่ได้กล่าวมาแล้วยังมีสงครามกลางเมืองครั้งสำคัญที่ถูกบันทึกไว้อีก ดังนี้

>> สงครามโบะชิง (3 มกราคม 1868 - 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1869) นักวิชาการบางส่วนเรียกว่า “การปฏิวัติญี่ปุ่น” เป็นสงครามกลางเมืองในประเทศญี่ปุ่นที่รบกัน ระหว่างกำลังของรัฐบาลเอโดะซึ่งปกครองและผู้ที่มุ่งถวายอำนาจการเมืองคืนแก่ราชสำนักจักรพรรดิ ผลคือ ฝ่ายจักรพรรดิชนะ ทำให้รัฐบาลของโชกุนสิ้นสุดยุติบทบาทลง และจักรพรรดิกลับได้ปกครองญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง (จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร) ทหารทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตราว 8,500 นาย

‘ยัน ชิชกา และ บาทหลวงฮุสไซต์’ ยืนมองกรุงปรากหลังยุทธการที่เนินวิตคอฟในสงครามฮุสไซต์

>> สงครามฮุสไซต์ (Hussite wars) (ราว ค.ศ. 1419 - 1437) หรือ สงครามโบฮีเมีย หรือ การปฏิวัติฮุสไซต์ เป็นการสู้รบระหว่างฝ่ายฮุสไซต์ที่นับถือคำสอนของยัน ฮุสกับฝ่ายโรมันคาทอลิก นำโดยจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงการสู้รบกันเองในหมู่นักรบฮุสไซต์ สงครามนี้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ความแตกแยกหลายเหตุการณ์ระหว่างผู้นับถือคำสอนของฮุสกับผู้ปกครองที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิก เช่น การเผาทั้งเป็นฮุส, เหตุบัญชรฆาตในกรุงปราก และการสวรรคตของพระเจ้าเวนเซลแห่งชาวโรมัน ในปี ค.ศ. 1424 ผลของสงคราม ฝ่ายฮุสไซต์ชนะ ทำให้ (1) ศาสนจักรฮุสไซต์เป็นอิสระจากพระสันตะปาปา (ต่อมาภายหลังฝ่ายฮุสไซต์สายกลางได้ร่วมมือกับฝ่ายโรมันคาทอลิก รบกับฝ่ายฮุสไซต์หัวรุนแรง ทำให้ฝ่ายฮุสไซต์หัวรุนแรงพ่ายแพ้และต้องหลบซ่อน) (2) ฝ่ายโรมันคาทอลิกยอมรับฝ่ายฮุสไซต์สายกลาง (3) จักรพรรดิซีกิสมุนด์แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งโบฮีเมีย และ (4) มีการลงนามในสัญญาบาเซิลเพื่อยุติสงคราม ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิต

‘ค้อน - เคียว’ (Hammer & Sickle) สัญลักษณ์ของ ‘ลัทธิคอมมิวนิสต์’ ไม่ใช่ประชาธิปไตย!!

ได้เห็นกลุ่มเคลื่อนไหวที่อ้างว่าเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย ทั้ง ๆ ที่บ้านเมืองก็มีอยู่ในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข มีการเลือกตั้งตัวแทนจนครบทุกระดับแล้ว จึงน่าสงสัยว่า บ้านนี้เมืองนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยตรงไหน ซ้ำร้ายกลุ่มเคลื่อนไหวที่อ้างว่าเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย ยังกับเอาสัญลักษณ์ “ค้อนและเคียว” (Hammer & Sickle) อันเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่เป็นเผด็จการสังคมนิยมมาใช้เสียอีก ดังนั้นจึงมั่นใจว่า กลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวคงแยกไม่ออกระหว่างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยกับแบบคอมมิวนิสต์เป็นแน่เชียว

ก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องราวของสัญลักษณ์ “ค้อนและเคียว” ขออธิบายเรื่องความต่างของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยกับแบบคอมมิวนิสต์ให้ทราบพอสังเขป โดยระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอธิบายง่าย ๆ คือ ระบอบการปกครองที่ประกอบด้วยอำนาจที่ใช้ในการดูแลจัดการกิจการของบ้านเมืองสามส่วนได้แก่ (1) บริหาร (2) นิติบัญญัติ และ (3) ตุลาการ

สำหรับระบอบประชาธิปไตยในบ้านเรา คือ มีการเลือกตั้งในส่วนของ (2) นิติบัญญัติเพื่อทำหน้าที่ออกกฎหมาย และเลือก (1) บริหารเพื่อบริหารจัดการบ้านเมือง ทั้งสองส่วนต่างมีอำนาจในการตรวจสอบและคานอำนาจหน้าที่กัน จากการที่ (2) นิติบัญญัติสามารถตรวจสอบด้วยการอภิปรายและลงมติ (1) บริหารในสภาได้ และ (1) บริหารก็สามารถใช้อำนาจในการยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง (2) นิติบัญญัติขึ้นมาใหม่ได้ ส่วน (3) ตุลาการทำหน้าที่พิจารณาตัดสินคดีความต่าง ๆ ตามกฎหมายที่ออกโดย (2) นิติบัญญัติ โดย (1) บริหาร มีหน้าดูแล และบังคับใช้กฎหมาย ส่งตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดย (3) ตุลาการเป็นผู้พิจารณาตัดสินตามกฎหมาย และหาก (1) บริหาร และ (2) นิติบัญญัติ กระทำความผิด ก็จะเข้าสู่ กระบวนการยุติธรรมโดย (3) ตุลาการ เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป

แต่กับระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ อำนาจที่ใช้ในการดูแลจัดการกิจการของบ้านเมืองสามส่วน ได้แก่ (1) บริหาร (2) นิติบัญญัติ และ (3) ตุลาการ ล้วนแล้วแต่มาจากพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งสมาชิกของพรรคฯ มาจากการคัดสรร ไม่ใช่การเลือกตั้ง ตามแต่คณะกรรมการของพรรคฯ ในระดับต่าง ๆ จะเห็นชอบ โดย (1) บริหารจะมาจากคณะกรรมการกลางของพรรคที่เรียกว่า โปลิตบูโร (Politburo) หมายถึง คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ (เช่น อดีตสหภาพโซเวียต โปลิตบูโรจะประกอบด้วยเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (The General Secretary of the Communist Party of the Soviet Union) และบุคคลสำคัญรองลงมา เช่น ประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี) อำนาจที่ใช้ในการดูแลจัดการกิจการของบ้านเมืองสามส่วน ได้แก่ (1) บริหาร (2) นิติบัญญัติ และ (3) ตุลาการ ล้วนแล้วแต่มาจากพรรคคอมมิวนิสต์ โดยที่ประชาชนไม่มีสิทธิ ไม่มีส่วนอะไรเลยในอำนาจดังกล่าว

สำหรับสัญลักษณ์ “ค้อนและเคียว” เป็นสัญลักษณ์หลักอย่างหนึ่งของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งมักใช้เพื่อเป็นเครื่องหมายของลัทธิคอมมิวนิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์ หรือรัฐคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ทั่วโลก โดยปกติแล้วมักทำเป็นรูปค้อนและเคียวไขว้กัน เครื่องหมายทั้งสองอย่างนี้ คือ สัญลักษณ์บุคคลในชนชั้นกรรมาชีพและชนชั้นชาวนา (เกษตรกร) การนำสัญลักษณ์ทั้งสองอย่างมารวมกัน จึงหมายถึงเอกภาพของแรงงานในภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม อันถือเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคมในระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ สัญลักษณ์ “ค้อนและเคียว” เป็นที่รู้จักกันดีจากการที่นำสัญลักษณ์ “ค้อนและเคียว” ไปใช้ในธงชาติสหภาพโซเวียต ควบคู่ไปกับรูปดาวแดง และยังถูกนำไปใช้ในธงและตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ อีกจำนวนมาก โดย สัญลักษณ์ “ค้อนและเคียว” เป็นสัญลักษณ์ที่มี Unicode : "☭"

Vladimir Lenin

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ซึ่งรัสเซียถอนตัวออกในปี พ.ศ. 2460 (ค.ศ. 1917)) และระหว่างสงครามกลางเมืองรัสเซีย (สงครามปฏิวัติบอลเชวิก) สัญลักษณ์ “ค้อนและเคียว” ถูกใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้นในฐานะสัญลักษณ์ของแรงงานในสหภาพโซเวียต และเพื่อความสามัคคีของชนชั้นกรรมาชีพระหว่างประเทศ ในปี ค.ศ. 1917 Vladimir Lenin และ Anatoly Lunacharsky ได้จัดการแข่งขันเพื่อสร้างสัญลักษณ์ของสหภาพโซเวียต การออกแบบที่ชนะคือค้อนและเคียวบนยอดลูกโลกในแสงแดด ล้อมรอบด้วยเมล็ดธัญพืชและภายใต้ดาวห้าแฉก พร้อมคำจารึกว่า "ชนชั้นกรรมาชีพของโลก สามัคคี!" ในหกภาษา (รัสเซีย ยูเครน เบลารุส จอร์เจีย อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจัน) เดิมมีดาบเป็นจุดเด่นด้วย แต่ถูก Lenin คัดค้านอย่างรุนแรง ด้วยไม่ชอบในความหมายแฝงที่มีนัยรุนแรง นักออกแบบที่ชนะคือ Yevgeny Ivanovich Kamzolkin 

ค้อนและเคียวบนยอดลูกโลกในแสงแดด ล้อมรอบด้วยเม็ดธัญพืชและภายใต้ดาวห้าแฉก พร้อมคำจารึกว่า "ชนชั้นกรรมาชีพของโลก สามัคคี!" ในหกภาษา (รัสเซีย ยูเครน เบลารุส จอร์เจีย อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจัน)

‘Exercise Malabar’ ปฏิบัติการซ้อมรบ กระตุกหนวดมังกร!!

Exercise Malabar 2021 ระยะที่สองพึ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีการซ้อมรบร่วมของกองทัพเรือสี่ชาติ อันประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 13-15 ตุลาคม สำหรับระยะแรก คือ 25-29 สิงหาคม พ.ศ. 2564 Exercise Malabar 2021 เป็นครั้งที่ 25 นับแต่ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2535 เป็นการซ้อมรบร่วมทางทะเลของชาติพันธมิตรที่ล้วนแล้วแต่มีความเป็นปฏิปักษ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน

Exercise Malabar เป็นการซ้อมรบทางทะเลของกองทัพเรือ สหรัฐอเมริกา อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ในฐานะหุ้นส่วนถาวรด้านความมั่นคง Exercise Malabar ประจำแต่ละปี ประกอบด้วยการฝึกซ้อมปฏิบัติการทางทหารที่หลากหลาย ตั้งแต่การฝึกซ้อมปฏิบัติการรบจากเรือบรรทุกเครื่องบิน ไปจนถึงปฏิบัติการป้องกันการปิดกั้นทางทะเล สงครามต่อต้านเรือดำน้ำ ปฏิบัติการกู้ภัยใต้น้ำ ปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก ปฏิบัติการต่อต้าน - ปราบปรามโจรสลัด การฝึกลงจอดเฮลิคอปเตอร์บนเรือรบ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการฝึกทำในทะเลฟิลิปปินส์ นอกชายฝั่งของญี่ปุ่น อ่าวเปอร์เซีย ในอ่าวเบงกอล และทะเลอาหรับ

Exercise Malabar เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) ตามแนวชายฝั่ง Malabar ของอินเดีย ในตอนนั้นยังเป็นการฝึกซ้อมทวิภาคีระหว่างอินเดียกับสหรัฐอเมริกา ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 มี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และออสเตรเลีย เข้ามาร่วม ญี่ปุ่นกลายเป็นหุ้นส่วนถาวรของการฝึกนี้ในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ออสเตรเลียกลับเข้าร่วมการฝึกอีกครั้งในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) โดยจุดมุ่งหมายในการซ้อมรบจะรวมถึงการทำงานร่วมกันที่มากขึ้นระหว่างกองทัพเรือของชาติซึ่งเป็นหุ้นส่วนของ Exercise Malabar

ห้วงการฝึกของ Exercise Malabar มีตั้งแต่ 1 ถึง 11 วัน ในภาคทะเล ความซับซ้อนของแบบฝึกหัดในการซ้อมรบเพิ่มขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา แบบฝึกหัดมีทั้งบนบก ในทะเล และบนอากาศ การซ้อมรบประกอบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน (USS Nimitz, Kitty Hawk, Ronald Reagan, George Washington, John S. McCain, INS Vikramaditya, Viraat), เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ (JS Kaga, Izumo, Ise, Hyūga), เรือรบ, เรือดำน้ำ (ดีเซลไฟฟ้าและนิวเคลียร์) เรือพิฆาต เรือขีปนาวุธนำวิถี เรือลาดตระเวน เรือสะเทินน้ำสะเทินบก และเรือสนับสนุนการรบ เช่น เรือบรรทุกน้ำมัน เรือยามชายฝั่ง เครื่องบินที่ร่วม ได้แก่ เครื่องบินปราบเรือดำน้ำ เครื่องบินลำเลียง เครื่องบินรบแบบต่าง ๆ อาทิ P3C Orion, Poseidon P8I, Tupolev Tu-142, Kawasaki P-1, ShinMaywa US-2, F/A 18 Super Hornets, Jaguars, Sea Harrier และเฮลิคอปเตอร์แบบ Sea King ตลอดจนกองกำลังพิเศษของชาติต่าง ๆ ที่เป็นหุ้นส่วนก็เข้าร่วมใน Exercise Malabar ด้วย

Exercise Malabar ครั้งแรกระหว่างอินเดียและสหรัฐอเมริกาจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เป็นการซ้อมรบตามแนวชายฝั่ง Malabar ของอินเดีย นครโคชิน อันเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการนาวิกโยธินเขตใต้ของอินเดีย ในระดับพื้นฐานด้วยเรือรบสี่ลำ มีการซ้อมรบอีกสองครั้งก่อนปี พ.ศ. 25441 (ค.ศ. 1998) และฝ่ายอเมริกันก็ระงับการฝึกหลังจากที่อินเดียได้ทำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์

Exercise Malabar 1992 การฝึกครั้งแรก โดยกองทัพเรือ 2 ชาติ คือ  อินเดีย สหรัฐอเมริกา บริเวณชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย เรือรบอินเดียที่เข้าร่วมได้แก่ INS Gomati, INS Ranjit ฝ่ายเรือรบอเมริกันที่เข้าร่วม ได้แก่ USS Vandegrift, USS David R. Ray เป็นการซ้อมรบขั้นพื้นฐาน การฝึกซ้อมการค้นหาและกู้ภัย Exercise Malabar 1995 การฝึกครั้งที่สอง ระหว่างอินเดียและสหรัฐอเมริกา พื้นที่การฝึกบริเวณอ่าวเปอร์เซีย การฝึกครั้งที่ 3 Exercise Malabar 1996 ระหว่างอินเดียและสหรัฐอเมริกา พื้นที่การฝึกบริเวณชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย และระงับไปอันเนื่องมาจากรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่พอใจต่อการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของอินเดีย

ยุทธการกวาดให้เรียบ!! ‘Operation All Clear’ ปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดของ ‘กองทัพภูฏาน’

เรื่องราวที่ดูน่าเหลือเชื่อที่ประเทศเล็ก ๆ ที่ดูสงบสุขอย่าง “ภูฏาน” ซึ่งมีกองทัพขนาดเล็ก มีกำลังพลจำนวนไม่ถึงหนึ่งหมื่นนาย ได้เปิดยุทธการทางทหารที่ต้องใช้กำลังพลเกือบหมดทั้งกองทัพในการปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอินเดียซึ่งมีที่มั่นในดินแดนภูฏาน

สมเด็จพระราชาธิบดี Jigme Khesar Namgyel Wangchuck กับนายทหารระดับสูงของกองทัพภูฏาน

Operation All Clear เป็นปฏิบัติการทางทหารที่ดำเนินการโดยกองกำลังของกองทัพภูฏาน เพื่อต่อสู้กับกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนอัสสัมของอินเดียในภาคใต้ของภูฏาน ระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ถึง 3 มกราคม พ.ศ. 2547 ถือเป็นปฏิบัติการทางทหารครั้งแรก ครั้งเดียว และเป็นครั้งใหญ่ที่สุดที่กองทัพภูฏานยุคใหม่ได้ปฏิบัติการ!! 

ด้วยในปี พ.ศ. 2533 กองทัพอินเดียได้เปิดยุทธการ Rhino และ Bajrang เพื่อปราบปรามกลุ่มแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธอัสสัมกลุ่มต่าง ๆ เมื่อเผชิญกับการกวาดล้างอย่างต่อเนื่อง กลุ่มติดอาวุธอัสสัมหลายกลุ่มก็ได้ย้ายที่มั่นไปเข้ายังดินแดนของภูฏาน

ชาว Lhotshampa ในค่ายผู้อพยพ

ในปี พ.ศ. 2533 กลุ่ม United Liberation Front of Assam (ULFA) และ National Democratic Front of Bodoland (NDFB) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธอัสสัมถูกกล่าวหาว่ามีส่วนช่วยเหลือรัฐบาลภูฏานในการขับไล่ชาว Lhotshampa ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งในภูฏาน 

ปัจจุบันเฉพาะมลรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกามีผู้อพยพชาว Lhotshampa ราว 20,000 คน

ชาว Lhotshampa เป็นชาวภูฏานเชื้อสายเนปาล มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของภูฏาน จึงถูกเรียกขานกันว่า ‘ชาวใต้’ ในปี พ.ศ. 2550 ชาว Lhotshampas ซึ่งผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ได้รับการย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และประเทศในยุโรปอื่น ๆ ปี พ.ศ. 2564 ปรากฏว่า จำนวนชาว Lhotshampa ในเนปาลนั้นต่ำกว่าในสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ที่ได้ตั้งถิ่นฐานใหม่อย่างมีนัยสำคัญ ชาว Lhotshampa เริ่มตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของภูฏานในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ถูกต่อต้านและผลักดันออกจากดินแดนภูฏาน จนปัจจุบันเฉพาะมลรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา มีผู้อพยพชาว Lhotshampa มากกว่า 20,000 คน

ในปี พ.ศ. 2539 รัฐบาลภูฏานตระหนักถึงค่ายที่มั่นจำนวนมากบริเวณชายแดนทางใต้ที่ติดกับอินเดีย ค่ายเหล่านี้จัดตั้งขึ้นโดยขบวนการแบ่งแยกดินแดนอัสสัม 4 กลุ่ม ได้แก่ ULFA (United Liberation Front of Asom), NDFB (National Democratic Front of Boroland), BLTF (Bodo Liberation Tigers Force) และ KLO (Kamtapur Liberation Organisation) และยังมีค่ายกบฏแบ่งแยกดินแดนของสภาสังคมนิยมแห่งชาตินาคาแลนด์ (NSCN) และกองกำลังพยัคฆ์ตริปุระทั้งหมด (ATTF) ค่ายต่าง ๆ ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกอบรมนักรบ และจัดเก็บอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ในขณะที่ป่าทึบในภูมิภาคนี้ทำให้กลุ่มติดอาวุธสามารถลักลอบเข้าสู่ดินแดนของอินเดียเพื่อปฏิบัติการทางทหารได้อย่างง่ายดาย

สมาชิกของกลุ่มกบฏ NDFB

อินเดียจึงได้ใช้ความพยายามกดดันทางการทูตต่อภูฏาน โดยให้การสนับสนุนในการกำจัดองค์กรกบฏกลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นภัยต่ออินเดียให้ออกจากดินแดนของภูฏาน รัฐบาลภูฏานจึงได้เริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ โดยเปิดการเจรจากับกลุ่มติดอาวุธในปี พ.ศ. 2541 มีการเจรจากับกลุ่มกบฏ ULFA 5 ครั้ง กับกลุ่มกบฏ NDFB อีก 3 ครั้ง แต่กลุ่มกบฏ  KLO เพิกเฉยต่อคำเชิญทั้งหมดที่ส่งมาจากรัฐบาลภูฏาน ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2544 กลุ่มกบฏ ULFA ตกลงที่จะปิดค่ายสี่แห่ง อย่างไรก็ตามรัฐบาลภูฏานก็ตระหนักดีว่า ค่ายทั้ง 4 นั้ที่ถูกปิดนั้นพึ่งถูกโยกย้ายถ่ายเทคนและอาวุธยุทโธปกรณ์ออกไป

สมาชิกของกลุ่มกบฏ KLO ในปัจจุบัน (ต้นปี พ.ศ. 2564)

นอกจากนี้กลุ่มกบฏ KLO ยังถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเหมาของเนปาลกับกองกำลังพยัคฆ์ภูฏาน ซึ่งเป็นองค์กรติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลภูฏาน สิ่งนี้ช่วยเสริมเหตุผลให้กับรัฐบาลภูฏานในการเริ่มปฏิบัติการทางทหาร

วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 สมาชิกรัฐสภาภูฏานได้เสนอให้เพิ่มจำนวนกองทหารอาสาสมัครของกองทัพภูฏาน โดยแนะนำการฝึกทหารอาสาสมัครแบบสวิสสำหรับพลเมืองทุกคนที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 50 ปี แต่ถูก ‘จิ๊กมี ทินลีย์’ รัฐมนตรีต่างประเทศ และนาย ‘พลโท บาตู เชอริง’ ผู้บัญชาการกองทัพปฏิเสธ 

วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2546 กลุ่มติดอาวุธมากกว่า 15 คน ได้เข้าโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏ ULFA ในเมืองคินโซ ส่งผลให้สมาชิกของกลุ่มกบฏ ULFA เสียชีวิต 2 คน ผู้โจมตีหลบหนีไปหลังจากที่กองกำลังของกลุ่มกบฏ ULFA ยิงตอบโต้กลับ วันรุ่งขึ้นกลุ่มติดอาวุธราว 10 ถึง 12 คน โจมตีสมาชิกของกลุ่มกบฏ ULFA ที่อาศัยอยู่ในบ้านร้างในเมืองบาบัง กลุ่มติดอาวุธ 4 คน และนักรบของกลุ่มกบฏ ULFA หนึ่งนายเสียชีวิตระหว่างการปะทะ โฆษกหญิงของกลุ่มกบฏ ULFA กล่าวว่า การโจมตีมาจากทหารรับจ้างและนักรบของกลุ่ม SULFA ที่ได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลอินเดีย เจ้าหน้าที่อินเดียอ้างว่าการปะทะดังกล่าวเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มกบฏด้วยกันเอง

ปฏิบัติการทางทหารใน ภูฏาน อินเดีย และเมียนมาร์ ในห้วงเวลาดังกล่าว

ในช่วงปี พ.ศ. 2546 ภูฏานได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้นมาใหม่ วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2546 กองทหารอาสาสมัครภูฏานประกอบด้วยอาสาสมัคร 634 นาย ถูกส่งไปประจำการยังภาคใต้ของประเทศ หลังจากผ่านการฝึกฝนอบรมเป็นระยะเวลา 2 เดือน กองทหารอาสาสมัครของภูฏานมีบทบาทสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารในช่วงความขัดแย้งในปี 2546 นั่นเอง หลังจากการเจรจาล้มเหลวไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่สำคัญใด ๆ วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 การแทรกแซงทางทหารได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา และวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2546 รัฐบาลภูฏานได้ยื่นคำขาดแก่กลุ่มกบฏออกจากดินแดนภูฏานภายในเวลาสองวัน วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2546 หลังจากคำขาดสิ้นสุดลง จึงเกิด Operation All Clear ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางทหารครั้งแรกของกองทัพภูฏานยุคใหม่

วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ตามคำให้การของผู้บัญชาการของกลุ่มกบฏ ULFA นายทหารระดับสูงแห่งกองทัพภูฏานได้ไปเยือนค่ายที่มั่นของกลุ่มกบฏ ULFA โดยอ้างว่า กษัตริย์ของภูฏานกำลังวางแผนที่จะเสด็จเยือนอย่างเป็นมิตรในวันรุ่งขึ้น แต่ปฏิบัติการที่ตามมาก็สร้างความประหลาดใจให้กับกลุ่มติดอาวุธโดยสิ้นเชิง

สมาชิกของกลุ่มกบฏ ULFA
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top