การอพยพพี่น้องคนไทยจากซูดาน ยามศึกเรารบ...ยามสงบเราช่วยเหลือประชาชน ตอบคำถาม..ทหารมีไว้ทำไม!

เหตุการณ์ความไม่สงบในซูดาน จากปากของนักเรียนไทยซึ่งเพิ่งลงเครื่องบินลำเลียง C-130 ของกองทัพอากาศที่ปัตตานี ว่าสถานการณ์ที่ซูดาน เลวร้าย ชนิดที่โรงพยาบาลไม่พอรองรับผู้บาดเจ็บ และมีผู้เสียชีวิตตามท้องถนนให้เห็นโดยทั่วไป


สำหรับคนไทยในซูดานมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศไปรับจากที่พักขึ้นรถบัสเพื่อไปลงเรือเดินทางไปยังเมืองเจดดาห์ ซาอุดิอาระเบีย เพื่อขึ้นเครื่องบินที่รัฐบาลไทยส่งมารับรอบแรก 73 คน ต้องเดินทางและรอ 2 วัน จึงได้ขึ้นเครื่องบินของกองทัพอากาศไทยกลับบ้าน


เรื่องที่เหนือความคาดหมายคือ บรรดาประเทศใหญ่ ๆ ที่มีสถานทูตตั้งอยู่ในซูดานในเบื้องต้นได้ทำการอพยพเฉพาะเจ้าหน้าที่สถานทูตและครอบครัวออกมาหมด ก่อนประกาศปิดสถานทูต แต่ยังไม่ได้อพยพพลเมืองของตัวเองออกมา เพียงแต่บอกว่า ให้ระวังตัว และอย่าออกมานอกบ้าน (สหรัฐฯเริ่มทำการอพยพพลเมืองที่อยู่ในซูดานเมื่อวันศุกร์ที่ 28 เมษายน) แต่ไทยซึ่งไม่มีสถานทูตตั้งอยู่ในซูดาน ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการอพยพคนไทยออกจากซูดาน ตอนนี้คนไทยอพยพออกจากกรุงคาร์ทูมซึ่งเป็นจุดที่มีการสู้รบรุนแรงที่สุดออกมาได้ คนไทยและนักศึกษาไทยทุกคนช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ พยายามหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อันนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภารกิจประสบผลสำเร็จ จึงต้องขอแสดงความชื่นชมเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศและพี่น้องคนไทยเหล่านั้นด้วย


วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม, พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ พลอากาศเอก อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เดินทางมายังท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง เพื่อต้อนรับคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบในสาธารณรัฐซูดาน ที่เดินทางกลับมายังประเทศไทยด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศ เป็นชุดแรก จำนวน 78 คน แบ่งออกเป็นผู้ชาย 38 คน และผู้หญิง 40 คน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ


เมื่อเดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง แล้ว คนไทยทั้ง 78 คน ได้รับบริการตรวจสุขภาพ โดยกรมควบคุมโรค และกรมสุขภาพจิต, การอำนวยความสะดวกด้านการตรวจเอกสารการเดินทาง โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, การตรวจสอบสิทธิ์และให้คำแนะนำด้านต่าง ๆ โดยกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมดแล้ว กลุ่มแรกจำนวน 5 คน จะเข้าพักในที่พักที่กระทรวงการต่างประเทศจัดหาให้ส่วนอีก 73 คน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ จะอยู่ภายใต้การดูแลของ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ซึ่งจัดที่พักรับรองไว้ให้ 1 คืน จากนั้นช่วงเช้าของวันที่ 28 เมษายน 2566 กองทัพอากาศจะจัดเครื่องบิน C-130 ไปส่งที่สนามบินบ่อทอง จังหวัดปัตตานี ต่อไป

สำหรับแผนการช่วยเหลือในห้วงต่อไป ขณะนี้ได้รับรายงานว่า มีคนไทยรอเดินทางกลับด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศอีก 132 คน แบ่งออกเป็น ชุดแรกจำนวน 66 คน ขณะนี้เดินทางด้วยเครื่องบิน C-130 ของกองทัพอากาศซาอุดีอาระเบียจากสาธารณรัฐซูดาน มาถึงเมืองเจดดาห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียแล้ว และได้พบกับ นายดามพ์ บุญธร เอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด และ นาวาอากาศเอก อนุรักษ์ รมณารักษ์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายอำนวยการภารกิจรับคนไทยกลับจากพื้นที่ขัดแย้งในสาธารณรัฐซูดาน (ในส่วนของกองทัพอากาศ) ที่ยังคงเตรียมความพร้อมและประสานงานอยู่ที่เมืองเจดดาห์ ส่วนชุดที่ 2 จำนวน 66 คน จะเดินทางข้ามจาก Port of Sudan ไปยังเมืองเจดดาห์โดยทางเรือ และอาจมีผู้เดินทางมาสมทบเพิ่มเติม ทั้งนี้กองทัพอากาศจะประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือคนไทยกลับมาได้ทั้งหมด โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เครื่องบิน Airbus A340-500 กลับไปรับคนไทยเป็นเที่ยวบินที่สอง และยังมีเครื่องบิน C-130 อีก 2 เครื่องซึ่งเตรียมความพร้อมอยู่ที่ท่าอากาศยานนานาชาติ คิง อับดุลลาซิซ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย สำหรับกำหนดการและรายละเอียดอื่น ๆ กองทัพอากาศจะแจ้งให้ทราบต่อไป

วันศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2566 กองทัพอากาศ ส่งนักศึกษาไทยจำนวน 62 คน (จากผู้เดินทางชุดแรกจำนวน 78 คน) เดินทางต่อด้วยเครื่องบิน C-130 ของกองทัพอากาศ เพื่อกลับภูมิลำเนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง ทั้งนี้ หลังจากเครื่องบิน Airbus A340-500 ของกองทัพอากาศ บินไปรับคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในสาธารณรัฐซูดานจำนวน 78 คน จากท่าอากาศยานนานาชาติ คิง อับดุลาซิซ เมืองเจดดาห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย กลับมายังประเทศไทยเรียบร้อยแล้วเมื่อคืนวันที่ 27 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา โดยมีนายกรัฐมนตรี และผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น


โดยผู้เดินทางส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาไทยในสาธารณรัฐซูดานที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) เป็นผู้ดูแลอำนวยความสะดวกเรื่องที่พักชั่วคราวและการส่งกลับภูมิลำเนา ในส่วนของกองทัพอากาศ ได้สนับสนุนภารกิจดังกล่าวของ ศอ.บต. โดยจัดเครื่องบิน C-130 ทำการบินจากกองบิน 6 ดอนเมือง ไปยัง สนามบินบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อส่งนักศึกษาจำนวน 62 คน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของ ศอ.บต. การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ ศอ.บต.จะเป็นผู้ดูแลการเดินทางกลับบ้านของน้อง ๆ นักศึกษาต่อไป

ทั้งนี้ความสำเร็จในการประสานงานจนทำให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงด้วยดี ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยเพราะความสัมพันธ์ที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสร้างเอาไว้กับประเทศตะวันออกกลาง โดยเฉพาะ ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับปกติมายาวนานกว่าสามสิบปีแล้ว ทำให้เครื่องบินของกองทัพอากาศไทยได้รับอนุญาตในลำดับต้นจนสามารถบินไปรับคนไทยที่หนีภัยจากซูดานที่ซาอุดิอาระเบียได้สำเร็จอย่างรวดเร็ว

วิกฤตการณ์ต่างประเทศที่ต้องอพยพคนไทยเกิดขึ้นหลายครั้ง (ยังไม่รวมสถานการณ์การคุกคามตามแนวชายแดนอีกหลายกรณี) หน่วยงานที่มีบทบาทเสี่ยงภัยเสี่ยงชีวิตตัวเองมากๆ คือทหารไทยจากทุกเหล่าทัพโดยเฉพาะกองทัพอากาศไทย เป็นผู้ปิดทองเกือบหลังพระเสมอ จึงเป็นคำตอบของคำถามว่า ทำไมจึงต้องมีทหาร ทำไมยังต้องมีงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพ คนไทยผู้มีสติและปัญญาต้องไม่มองอะไรเพียงมุมเดียวด้านเดียว และเป็นอีกหนึ่งของผลงานของกระทรวงการต่างประเทศและกองทัพไทย ในการดูแลชีวิตและสวัสดิภาพของคนไทยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ใดบนโลกใบนี้