Tuesday, 14 May 2024
ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล

เปิดเรื่องราว ‘Vlora’ เรือมนุษย์ที่บรรทุกผู้อพยพมากสุดในโลก หลังชาวแอลเบเนียทำการบุกจี้ยึดเรือ เพื่ออพยพหลบหนีออกประเทศ

เมื่อถึงวันที่ 30 เมษายน ผู้เขียนมักจะนึกย้อนไปถึงปี 1975 ด้วยวันนี้เป็นวันจบสิ้นลงของประเทศสาธารณรัฐเวียตนาม หรือ เวียตนามใต้ (The Republic of Vietnam) คำว่า “เวียตนาม” ในยุคสมัยที่ยังมีเวียตนามใต้ คนไทยใช้ ‘ต’ สะกด แต่ปัจจุบัน ใช้ ‘ด’ สะกด (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน) การสิ้นสุดของสาธารณรัฐเวียตนามทำให้ชาวอดีตเวียตนามใต้พากันอพยพหลบหนีออกนอกประเทศ และวิธีการที่ใช้ในการหลบหนีมากที่สุดคือทางเรือ อันเป็นที่มาของ ‘เรือมนุษย์เวียดนาม’  (Vietnamese Boat People) ทั้งนี้ สามารถตามอ่านได้ที่ https://thestatestimes.com/post/2021050108

(การรื้อทำลายอนุสาวรีย์ Lenin ที่แอลเบเนียในปี 1991)

การสิ้นสุดลงของประเทศสหภาพโซเวียต ผู้นำค่ายคอมมิวนิสต์ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ส่งผลให้ลัทธิคอมมิวนิสต์ในแอลเบเนียล่มสลาย และลุกลามไปจนถึงเศรษฐกิจของประเทศกลายเป็นความถดถอยจนครั้งใหญ่ เกิดการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ท่ามกลางความไม่สงบทางการเมืองและสังคมที่กระจายไปทั่วประเทศกระตุ้นให้ชาวแอลเบเนียจำนวนมากพยายามออกจากประเทศ โดยก่อนหน้านี้ชาวแอลเบเนียจำนวนมากหนีไปทางตอนใต้เพื่อไปกรีซ ในขณะที่ชาวสลาฟชาติพันธุ์บางกลุ่มพยายามข้ามไปยังเพื่อนบ้านทางตอนเหนือของยูโกสลาเวีย ในกรุงติรานา สถานทูตต่างประเทศถูกชาวแอลเบเนียจำนวนมากพยายามบุกเข้าไป ภายหลังจากมีข่าวลือแพร่สะพัดเกี่ยวกับการให้วีซ่าชาวแอลเบเนียกว่า 3,000 คน สามารถเข้าไปในบริเวณสถานทูตเยอรมันได้ ในขณะที่บางคนเข้าไปในบริเวณสถานทูตเชโกสโลวาเกียได้สำเร็จ ในที่สุดชาวแอลเบเนียในสถานทูตเยอรมันก็ได้รับอนุญาตให้อพยพไปยังเยอรมนีผ่านทางอิตาลีได้

เส้นทางเรือที่ผู้อพยพชาวแอลเบเนียใช้ข้ามช่องแคบโอตรันโตไปยังอิตาลี

ในขณะที่ผู้อพยพชาวแอลเบเนียจำนวนมากตัดสินใจเลือกอิตาลีเป็นจุดหมายปลายทาง ด้วยความอิตาลีอยู่ห่างออกไปไม่ถึงร้อยไมล์ โดยข้ามช่องแคบโอตรันโต จากโฆษณาทางโทรทัศน์ที่การแสดงความมั่งคั่งเกินจริงในอิตาลีที่ชาวแอลเบเนียได้ชมเป็นแรงบันดาลใจอันหนึ่งให้กับตัวเลือกนี้ในช่วงต้นปี 1991 มีความพยายามในการข้ามช่องแคบโอตรันโตหลายครั้ง โดยผู้ลี้ภัยชาวแอลเบเนียหลายร้อยหรือหลายพันคนได้จี้บังคับเรือต่าง ๆ ตั้งแต่เรือบรรทุกสินค้าของโรมาเนียไปจนถึงเรือลากจูงของกองทัพเรือแอลเบเนีย หน่วยรักษาความปลอดภัยประจำท่าเรือเมือง Durrës ที่ถูกบุกรุกทำได้แค่ยืนดูเฉย ๆ ไม่สามารถช่วยอะไรได้ ครั้งหนึ่งมีการข้ามช่องแคบของผู้อพยพชาวแอลเบเนียประมาณ 20,000 คนเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 1991 โดยขึ้นฝั่งที่เมืองบรินดิซีด้วยเรือขนาดเล็กหลายลำ เมืองนี้มีประชากรเพียง 80,000 คน จึงประสบปัญหาในการรับมือกับการไหลบ่าเข้ามาของผู้อพยพดังกล่าว แต่ผู้อพยพก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีโดยชาวเมืองต่างก็เอื้อเฟื้อให้อาหารและที่พัก 

(ผู้อพยพชาวแอลเบเนีย 15,000-20,000 คนบนเรือสินค้า Vlora)

เหตุการณ์จี้ยึดเรือสินค้า Vlora เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 1991 โดย Vlora เป็นเรือบรรทุกสินค้าที่ต่อขึ้นในปี 1960 ที่เมือง Ancona อิตาลี ซึ่งได้แล่นในทะเลภายใต้ธงแอลเบเนียจนถึงปี 1996 โดยบริษัทร่วมขนส่งซิโน-แอลเบเนียของรัฐบาล เรือสินค้า Vlora เดินทางกลับมาจากคิวบาพร้อมกับน้ำตาลจำนวนมาก และได้จอดเทียบท่าที่เมือง Durrës เพื่อขนถ่ายสินค้าและเข้ารับการซ่อมแซมเพราะเครื่องยนต์หลักชำรุดใช้งานไม่ได้ ขณะเดียวกัน มีผู้อพยพชาวแอลเบเนียจากทั่วประเทศจำนวนมากมารวมตัวกันที่ท่าเรือด้วยความหวังว่าจะได้ขึ้นเรือลำใดก็ได้และแล่นไปยังอิตาลี โดยไม่มีใครหยุดยั้งพวกเขาได้ โดยมีผู้อพยพจำนวนระหว่าง 15,000 - 20,000 คนได้บุกขึ้นเรือสินค้า Vlora ในวันที่ 7 สิงหาคม 1991 พวกเขากระโดดลงทะเลแล้วปีนขึ้นไปตามเชือก และอยู่กันจนเต็มพื้นที่แทบทุกตารางนิ้วของเรือ (บางส่วนต้องห้อยตัวกับบันไดและราวกั้นตลอดการเดินทาง) Halim Milaqi กัปตันของเรือสินค้า Vlora ถูกจี้บังคับจากกลุ่มคนติดอาวุธจึงต้องตัดสินใจนำเรือที่มีผู้อพยพนับหมื่นคนข้ามช่องแคบโอตรันโตไปยังอิตาลี ด้วยเกรงว่าจะเหตุการณ์จะเลวร้ายไปกว่านี้หากปล่อยให้มือสมัครเล่นมาทำหน้าที่ควบคุมเรือ

ผู้อพยพชาวแอลเบเนีย 15,000-20,000 คนบนเรือสินค้า Vlora

เรือสินค้า Vlora แล่นโดยใช้เพียงเครื่องยนต์สำรองและไม่มีเรดาร์ เนื่องจากมีผู้อพยพอยู่เต็มไปหมดจนเรดาร์ไม่สามารถทำงานได้ และสูญเสียระบบทำความเย็นไปหลังจากที่ผู้อพยพตัดเปิดท่อทำความเย็นออกเพื่อเอาน้ำมาดื่ม จากนั้นกัปตันจึงต้องใช้น้ำทะเลเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เครื่องยนต์ร้อนจัด โชคดีที่พวกเขาได้ประโยชน์จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยจนสามารถเดินทางมาถึงชายฝั่งอิตาลีในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 8 สิงหาคม เมื่อเข้าใกล้ท่าเรือของเมืองบรินดิซีในเวลาประมาณ 04.00 น. กัปตันได้รับคำแนะนำไม่ให้เทียบท่าในเมืองโดยรองหัวหน้าตำรวจของเมือง เพราะเมืองนี้ยังคงมีผู้อพยพชาวแอลเบเนียหลายพันคนที่เดินทางมาถึงในเดือนมีนาคมหรือระหว่างนั้นติดค้างอยู่ และไม่มีความสามารถที่จะรองรับผู้อพยพได้มากกว่านี้แล้ว

กัปตัน Milaqi จึงเปลี่ยนเส้นทางไปที่เมืองบารีซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 55 ไมล์ แต่เรือสินค้า Vlora ที่แทบจะหมดสภาพแล้วต้องใช้เวลาเดินทางถึงเจ็ดชั่วโมง ในช่วงเวลานั้นทางการอิตาลีแทบไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อเตรียมพร้อมรองรับสำหรับการมาถึงของผู้อพยพจำนวนมหาศาลครั้งนี้ ทั้งนายกเทศมนตรีและหัวหน้าตำรวจต่างเดินทางไปเที่ยวพักผ่อน ส่วนสำนักงานนายกเทศมนตรีจะได้รับแจ้งข่าวเมื่อเรือเข้าเทียบท่าแล้วเท่านั้น มีความพยายามที่จะปิดล้อมทางเข้าท่าเรือโดยใช้เรือเล็กและเรือรบของกองทัพเรืออิตาลีเพื่อพยายามบังคับกัปตัน Milaqi ให้หันหัวเรือกลับไปยังแอลเบเนีย แต่ด้วยสภาพที่ย่ำแย่ลงบนเรือหลังจากที่ผู้อพยพใช้เวลา 36 ชั่วโมงโดยไม่มีอาหารหรือน้ำท่ามกลางความร้อนอบอ้าว กัปตัน Milaqi จึงปฏิเสธที่จะหันเรือกลับ เขานำเรือสินค้า Vlora เข้าไปในท่าเรือโดยแจ้งว่า เรือสินค้า Vlora เสียหายและไม่สามารถหันเรือกลับด้วยกลไกได้ ท่าเรือเมืองบารีเป็นท่าเรือที่อยู่ห่างจากใจกลางเมืองมากที่สุด ซึ่งโดยปกติแล้วจะสงวนไว้สำหรับการขนถ่ายถ่านหิน พอถึงท่าเรือมีผู้อพยพจำนวนมากกระโดดลงน้ำว่ายเข้าฝั่งหรือปีนเชือกขณะจอดเรือ โดยมีหลายคนหายตัวไปในตัวเมือง

นโยบายที่เข้มงวดของรัฐบาลอิตาลี โดย Vincenzo Scotti รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คือการหยุดยั้งเรือผู้ลี้ภัยไม่ให้ขึ้นฝั่งอิตาลี มิฉะนั้นก็ส่งผู้อพยพออกไปทันที ด้วยเหตุนี้ผู้อพยพจากเรือ Vlora จึงไม่ได้ลงจากเรือ ด้วยคำสั่งจากรัฐบาลอิตาลีคือกักผู้อพยพไว้ที่ท่าเรือ โดยไม่ต้องช่วยอะไรเลย และส่งกลับไปยังแอลเบเนียโดยเร็วที่สุด เมื่อแผนดังกล่าวไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็มีมาตรการอื่น ๆ เกิดขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจ ผู้อพยพที่เจ็บป่วยบางส่วนถูกนำตัวโดยรถพยาบาลไปโรงพยาบาล เช่นเดียวกับสตรีตั้งครรภ์หนักจำนวนหนึ่ง ผู้อพยพถูกส่งตัวไปยัง Stadio della Vittoria ซึ่งเป็นสนามกีฬาที่ไม่ใช้งาน ซึ่งพวกเขาจะกักตัวไว้จนกว่าจะถูกเนรเทศ เมื่อบรรดาผู้อพยพชาวแอลเบเนียเข้าใจว่าในที่สุดพวกเขาก็ถูกส่งกลับ ผู้อพยพบางกลุ่มจึงพยายามบังคับพวกเขาผ่านวงล้อมของตำรวจที่อยู่รอบสนามกีฬา เนื่องจากมีหลายคนพยายามหลบหนี เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจหยุดนำผู้อพยพมาที่สนามกีฬาและปิดประตูและขังพวกเขาไว้ข้างใน สถานการณ์ลุกลามจนควบคุมไม่ได้ เจ้าหน้าที่สนามก็ถูกจับเป็นตัวประกัน บุคลากรที่ดูแลการจัดการการปันส่วนอาหารถูกทำร้าย จากนั้นตำรวจจึงอพยพออกจากสนาม กลายเป็นพื้นที่ไร้กฎหมายที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มที่มีความรุนแรงที่สุด (บางคนมีอาวุธปืน) เจ้าหน้าที่โยนอาหารและน้ำข้ามกำแพงโดยใช้รถดับเพลิง ซึ่งหมายความว่ากลุ่มอันธพาลได้เก็บอาหารและน้ำส่วนใหญ่ไว้แล้ว

ความตึงเครียดยิ่งปะทุขึ้นเกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจและชาวแอลเบเนียที่พยายามฝ่าวงล้อม ตำรวจได้เปิดฉากยิงทำให้ผู้อพยพชาวแอลเบเนียบางคนได้รับการรักษาจากบาดแผลกระสุนปืน ตามที่ตำรวจระบุ หลังจากการผ่อนปรนช่วงสั้น ๆ เกมแมวจับหนูระหว่าผู้อพยพชาวแอลเบเนียที่พยายามหลบหนีกับตำรวจก็เริ่มต้นอีกครั้งในวันต่อมา ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 200 ราย รวมถึงตำรวจประมาณ 20 นาย ขณะที่ผู้อพยพหลายร้อยคนสามารถหลบหนีออกมาได้ โดยบางส่วนซ่อนตัวอยู่ในศาลานิทรรศการฟิเอรา เดล เลบานเต มีผู้ลี้ภัยราว 2,000 คนถูกตำรวจล้อมอยู่ด้านนอกสนามกีฬา พวกเขาค่อย ๆ ขนย้ายผู้หลบหนีไปยังท่าเรือ แม้ว่าบางครั้งพวกเขาจะต่อต้านอย่างรุนแรงก็ตาม ในที่สุดทางการอิตาลีก็สามารถจัดการตอบสนองต่อวิกฤติผู้อพยพได้ในที่สุด พวกเขาใช้เรือเฟอร์รี่เอกชนส่งผู้อพยพกลับไปยังแอลเบเนีย ซึ่งเรือรบอิตาลีสองลำได้ช่วยสนับสนุนด้วย บรรดาผู้อพยพที่ใช้ความรุนแรงบางส่วนถูกนำตัวไปยังสนามบินและถูกส่งกลับไปยังแอลเบเนียด้วยเครื่องบินลำเลียง C-130 ของกองทัพอากาศอิตาลี (ประมาณ 60 คน โดยมีตำรวจจำนวนหนึ่งควบคุม) ในช่วงบ่ายของวันที่ 9 มีผู้ถูกส่งตัวกลับประเทศประมาณ 3,000 คน บางส่วนจากไปด้วยความสมัครใจเนื่องจากการต้อนรับที่ไม่เป็นมิตรและสภาพที่ย่ำแย่ทำให้พวกเขาเลิกสนใจกับการที่จะใช้ชีวิตในอิตาลี เพื่อไม่ให้มีการต่อต้านขัดขืนผู้อพยพส่วนใหญ่จึงถูกหลอกว่าเรือและเครื่องบินจะพาพวกเขาไปยังเมืองอื่นๆ ของอิตาลี 

(‘Sono persone’ ประติมากรรมอนุสรณ์ของเหตุการณ์ดังกล่าว)

จากนั้นผู้อพยพถูกส่งกลับแอลเบเนียอย่างรวดเร็วด้วยเรือเฟอร์รี่อีกสองลำ Espresso Grecia และ Malta สองวันต่อมาในวันที่ 11 ยังคงเหลือชาวแอลเบเนียประมาณ 3,000 คนอยู่ในสนามกีฬาของเมืองบารี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่ปฏิเสธที่จะเชื่อเจ้าหน้าที่อิตาลี Vincenzo Parisi หัวหน้าตำรวจจึงโน้มน้าวให้กลับไปพร้อมกับเสนอเสื้อผ้าชุดใหม่และเงินคนละ 50,000 ลีร์ (ในขณะนั้นถือว่าเป็นเงินจำนวนมากในแอลเบเนีย) หลังจากผ่านไปสามวันผู้อพยพที่เหลือก็ได้รับแจ้งว่า พวกเขาได้รับสิทธิ์ให้อยู่ในอิตาลีได้ อย่างไรก็ตาม ทันทีที่พวกเขาออกจากสนามกีฬาก็ถูกนำขึ้นรถบัสและพาไปยังสนามบิน จากนั้นจึงถูกส่งขึ้นเครื่องบินบินตรงไปยังกรุงติรานา เรื่องนี้ทำให้สื่อมวลชนพาดหัวข่าวว่า ‘การบุกรุกของผู้อพยพชาวแอลเบเนีย’ ได้ยุติลงแล้วในวันที่ 16 สิงหาคม ท่ามกลางความสนใจของสื่อที่เน้นย้ำถึงสถานการณ์เลวร้ายในแอลเบเนีย ทางการแอลเบเนียซึ่งได้รับแรงกดดันจากรัฐบาลอิตาลีให้จัดการควบคุมท่าเรือของตนให้อยู่ภายใต้กองทัพ และระงับการเดินทางของรถไฟโดยสารทั้งหมดเพื่อสกัดกั้นการหลั่งไหลของผู้อพยพ ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลอิตาลีเสนอที่จะช่วยเหลือแอลเบเนียทางการเงินเป็นเงิน 9 ล้านเหรียญสหรัฐในด้านอาหาร หากแอลเบเนียช่วยควบคุมและรับผู้อพยพที่ออกจากอิตาลีกลับ แม้ว่าการอพยพโดยไม่มีเอกสารจากแอลเบเนียจะดำเนินต่อไปหลังจากนั้น แต่ก็ลดขนาดลงและส่วนใหญ่จัดตั้งโดยแก๊งอาชญากร พวกเขาใช้เรือยนต์เร็วเพื่อข้ามช่องแคบในเวลากลางคืนและปล่อยให้ผู้โดยสารที่จ่ายเงินแล้วว่ายน้ำเข้าฝั่ง

(เรือสินค้า Vlora)

ตามบันทึกของกัปตัน Milaqi เรือสินค้า Vlora จอดอยู่ในท่าเรือของเมืองบารีเป็นเวลา 45 วัน ก่อนที่ลูกเรือและตัวเขาเองจะสามารถนำเรือกลับไปยังแอลเบเนียได้ (เป็นไปได้ว่าอาจถูกลากจูงเนื่องจากเรือได้รับความเสียหายอย่างหนัก) เรือสินค้า Vlora ยังคงถูกใช้งานเป็นเรือบรรทุกสินค้าต่อจนถึงเดือนธันวาคม 1994 และเลิกใช้งานในปี 1995 ถูกยกเลิกการจดทะเบียนในปี 1996 และถูกทิ้งเพื่อแยกชิ้นส่วนในวันที่ 17 สิงหาคมของปีเดียวกันที่ท่าเรือ Aliağa ของตุรกี เรือสินค้า Vlora ถือเป็นเรือมนุษย์ที่บรรทุกผู้อพยพมากที่สุดในโลก (ซึ่งตัวเลขผู้อพยพอยู่ระหว่าง 15,000-20,000 คน) 

ย้อนอดีต!! ‘ไข้หวัดใหญ่สเปน’ โรคระบาดที่ร้ายแรงสุดในประวัติศาสตร์ หลังมีผู้ติดเชื้อ 500 ล้านคนทั่วโลก และคร่าชีวิตไปกว่าหลายสิบล้านคน

จากการระบาดของไวรัส COVID-19 ไปทั่วโลก รวมถึงบ้านเราด้วย ซึ่งเป็นโรคระบาดที่ถือว่าหนักหนาสาหัสชนิดที่คนในยุคสมัยนี้ไม่เคยเจอะเคยเจอมาก่อน แต่ในอดีตเมื่อกว่าร้อยปีก่อนก็ได้มีการระบาดอย่างหนักของไข้หวัดใหญ่สเปน (The Spanish flu) ซึ่งเป็นหนึ่งในการระบาดของโรคที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ โดยไข้หวัดใหญ่สเปนถูกพบครั้งแรกในยุโรป สหรัฐอเมริกา และบางส่วนของทวีปเอเชีย ก่อนที่จะแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว อีกทั้งในขณะนั้นยังไม่มียาหรือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์นี้ ประชาชนจึงได้รับคำสั่งให้สวมหน้ากาก รวมทั้งโรงเรียน โรงละคร และธุรกิจต่าง ๆ ก็ถูกปิดตาย และศพผู้เสียชีวิตถูกกองไว้ในห้องเก็บศพชั่วคราว ก่อนที่ไวรัสจะยุติระบาดไปทั่วโลก

สำหรับ ‘ไข้หวัดใหญ่สเปน’ เป็นการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในปี 1918 ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์เอ H1N1 เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 1918 ถึงเดือนเมษายน 1920 ทำให้มีผู้ติดเชื้อ 500 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลกในขณะนั้น ซึ่งเกิดขึ้นถึง 4 ระลอกต่อเนื่องกัน โดยตัวเลขของผู้เสียชีวิตคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 20-50 ล้านคน (แต่การประมาณการจะเริ่มตั้งแต่ 17 ล้านคน ไปจนถึงสูงถึง 100 ล้านคน) ซึ่งมากกว่าทหารและพลเรือนทั้งหมดที่เสียชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 รวมกันเสียอีก

การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปนเกิดขึ้นในเกือบทุกพื้นที่ของโลก โดยอันดับแรกจะเกิดตามท่าเรือ จากนั้นก็จะแพร่กระจายจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองตามเส้นทางคมนาคมหลัก อย่างในอินเดีย คาดว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12.5 ล้านคน ในระหว่างการแพร่ระบาด และโรคนี้ก็ได้แพร่กระจายไปถึงหมู่เกาะห่างไกลในแปซิฟิกใต้ รวมถึงนิวซีแลนด์และซามัว ทั้งนี้ ในสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตประมาณ 550,000 - 675,000 คน ซึ่งการเสียชีวิตส่วนใหญ่ในทั่วโลกเกิดขึ้นในช่วงระลอกที่ 2 และ 3 มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปนเกิดขึ้นอีกในปี 1920 แต่ความรุนแรงลดลง

อย่างไรก็ตาม…แล้วไข้หวัดใหญ่สเปนเกิดจากอะไร? ซึ่งการระบาดเริ่มขึ้นในปี 1918 ในช่วงเดือนสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งปัจจุบันนักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ความขัดแย้งอาจมีส่วนทำให้ไวรัส H1N1 แพร่กระจาย ในแนวรบด้านตะวันตกทหารที่ทำการรบนั้นอยู่ในสภาพคับแคบสกปรกและอับชื้นจนทหารเริ่มป่วย อันเป็นผลโดยตรงจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากการขาดสารอาหาร ความเจ็บป่วยของพวกเขา ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ‘la grippe’ ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อ และแพร่กระจายไปตามลำดับภายในเวลาประมาณ 3 วัน หลังจากที่ป่วยทหารหลายคนจะเริ่มรู้สึกดีขึ้น แต่ก็่ใช่ว่าจะเป็นในทหารทั้งหมด ในช่วงฤดูร้อนปี 1918 เมื่อทหารเริ่มลากลับบ้าน พวกเขาได้นำไวรัสที่ตรวจไม่พบซึ่งทำให้พวกเขาป่วยไปด้วย ไวรัสจึงแพร่กระจายไปทั่วเมืองและหมู่บ้านในประเทศบ้านเกิดของทหาร ผู้ติดเชื้อจำนวนมากทั้งทหารและพลเรือนไม่สามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว 

ต่อมาในปี 2014 มีทฤษฎีใหม่ (ยังเป็นข้อสันนิษฐาน) เกี่ยวกับ ‘ต้นกำเนิด’ ของไวรัส ชี้ให้เห็นว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน โดย National Geographic รายงานว่า บันทึกที่ยังไม่ได้ค้นพบก่อนหน้านี้ได้เชื่อมโยงไข้หวัดกับการขนส่งแรงงานกรรมกรจีน ผ่านแคนาดาในปี 1917 และ 1918 คนงานส่วนใหญ่เป็นคนงานในฟาร์มจากพื้นที่ห่างไกลในเขตชนบทของจีนตามหนังสือ ‘The Last Plague’ ของ Mark Humphries (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยโตรอนโต 2013) พวกเขาต้องอยู่กันอย่างแออัดในตู้คอนเทนเนอร์รถไฟที่ปิดสนิทเพื่อขนส่งข้ามประเทศเป็นเวลา 6 วัน ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังฝรั่งเศส ซึ่งที่นั่นพวกเขาต้องขุดสนามเพลาะ วางรางรถไฟ สร้างถนน และซ่อมแซมรถถังที่เสียหาย โดยรวมแล้วมีการระดมคนงานมากกว่า 90,000 คน ไปยังแนวรบด้านตะวันตก โดย Mark Humphries อธิบายว่าส่วนหนึ่งในจำนวนคนงานชาวจีน 25,000 คน ในปี 1918 ประมาณ 3,000 คนต้องยุติการเดินทางในเขตกักกันทางการแพทย์ของแคนาดา ในขณะนั้นเนื่องจากการเหยียดผิว ความเจ็บป่วยของพวกเขาถูกระบุโดยตำหนิว่าเป็น ‘โรคขี้เกียจของจีน’ และแพทย์ชาวแคนาดาก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาการของคนงาน เมื่อถึงเวลาที่คนงานมาถึงทางตอนเหนือของฝรั่งเศสในช่วงต้นปี 1918 หลายคนเริ่มป่วยและอีกหลายร้อยคนกำลังจะตายในไม่ช้า 

ทั้งนี้ สำหรับที่มาของชื่อ ‘ไข้หวัดใหญ่สเปน’ ซึ่งถูกเรียกชื่อผิด ๆ โดยสเปนเป็นประเทศเป็นกลางในสงครามโลกครั้งที่ 1 และไม่เหมือนกับเพื่อนบ้านในยุโรป แต่ก็ไม่ได้กำหนดให้มีการเซ็นเซอร์ตรวจสอบสื่อในช่วงสงคราม โดยในฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา หนังสือพิมพ์ไม่ได้รับอนุญาตให้รายงานสิ่งใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อการทำสงคราม รวมถึงข่าวว่า ไวรัสที่ทำให้คนป่วยหนักกำลังระบาดไปทั่วกองทหาร เนื่องจากนักข่าวชาวสเปนเป็นเพียงคนเดียวที่รายงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 1918 การระบาดจึงกลายเป็นที่รู้จักในชื่อของ ‘ไข้หวัดใหญ่สเปน’ (The Spanish flu)

>> สำหรับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนในยุคนั้น มี 4 ระลอก ดังนี้… 

- การระบาดระลอกที่ 1 ของการระบาดใหญ่เกิดขึ้นในปี 1918 ในฤดูใบไม้ผลิและโดยทั่วไปยังระบาดไม่รุนแรง ผู้ป่วยที่มีอาการเช่น ไข้หวัดทั่วไป คือ หนาวสั่น มีไข้ และอ่อนเพลีย มักจะหายเป็นปกติหลังจากผ่านไปไม่กี่วัน และจำนวนผู้เสียชีวิตที่รายงานอยู่ในระดับต่ำ และค่อนข้างไม่รุนแรง กินเวลาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 1918 โดยอัตราการเสียชีวิตไม่ได้สูงกว่าปกติ ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีรายงานการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับไข้หวัดใหญ่ถึง 75,000 ราย ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 1918 เทียบกับการเสียชีวิตประมาณ 63,000 ราย ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 1915 และในกรุงมาดริด ประเทศสเปน มีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่น้อยกว่า 1,000 คน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 1918 ไม่มีรายงานการกักกันในช่วงไตรมาสแรกของปี 1918 อย่างไรก็ตาม คลื่นลูกแรกทำให้การปฏิบัติการทางทหารของสงครามโลกครั้งที่ 1 หยุดชะงักอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีทหารฝรั่งเศส 3 ใน 4 กองกำลังอังกฤษครึ่งหนึ่งและทหารเยอรมันกว่า 900,000 คนป่วย 

- การระบาดระลอกที่ 2 ของโรคไข้หวัดใหญ่สเปนได้ปรากฏขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงของปีเดียวกันนั้น เหยื่อเสียชีวิตภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วันหลังจากเกิดอาการ ผิวหนังของผู้ติดเชื้อเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน และปอดเต็มไปด้วยของเหลวที่ทำให้หายใจไม่ออก เริ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือนสิงหาคม 1918 อาจแพร่กระจายไปยังเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา และเมืองฟรีทาวน์ ประเทศเซียร์ราลีโอนโดยทางเรือ ซึ่งน่าจะมาถึงพร้อมกับกองทหารอเมริกันจากท่าของกองทัพเรือที่เมืองบอสตัน และค่ายเดเวนส์ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นป้อมเดเวนส์) ห่างจากเมืองบอสตันไปทางตะวันตกประมาณ 30 ไมล์ สถานที่ทางทหารอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ต่างได้รับผลกระทบในไม่ช้า ขณะที่กองกำลังทหารสหรัฐฯ ถูกส่งไปยุโรป ทำให้เกิดการแพร่กระจายไปทั่วทั้งทวีปอเมริกาเหนือในอีก 2 เดือนต่อมา จากนั้นไปยังอเมริกากลาง และอเมริกาใต้รวมถึงบราซิลและแคริบเบียน ในเดือนกรกฎาคม 1918 จักรวรรดิออตโตมันพบผู้ป่วยรายแรกในทหารบางนายจากเมืองฟรีทาวน์ การระบาดของโรคยังคงแพร่กระจายไปทั่วแอฟริกาตะวันตกตามชายฝั่งแม่น้ำและทางรถไฟในอาณานิคม และโดยรถไฟไปยังชุมชนห่างไกลมากขึ้น ในขณะที่แอฟริกาใต้ได้พบการระบาดในเดือนกันยายนจากเรือที่แรงงานพื้นเมืองของแอฟริกาใต้กลับมาจากฝรั่งเศส จากนั้นแพร่กระจายไปทั่วแอฟริกาตอนใต้และเลยจาก Zambezi ไปถึงเอธิโอเปียในเดือนพฤศจิกายน เมื่อวันที่ 15 กันยายน นครนิวยอร์กพบผู้เสียชีวิตครั้งแรกจากโรคไข้หวัดใหญ่สเปน ขบวน Philadelphia Liberty Loans Parade ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองฟิลาเดลเฟีย มลรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อวันที่ 28 กันยายน 1918 เพื่อส่งเสริมพันธบัตรรัฐบาลสนับสนุนการทำสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 12,000 คน หลังจากการระบาดครั้งใหญ่ของโรคที่แพร่กระจายไปในหมู่ผู้คนที่เข้าร่วมขบวนพาเหรด เพียงปีเดียวคือปี 1918 ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของชาวอเมริกันถึงกับลดลงไปหลายสิบปี

- การระบาดระลอกที่ 3 เกิดขึ้นในฤดูหนาว (เดือนมกราคม พ.ศ. 2462) ถัดมาและเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิไวรัสก็เริ่มระบาด ไข้หวัดใหญ่สเปนก็ระบาดถึงออสเตรเลีย ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปราว 12,000 คน หลังจากการยกเลิกการกักกันทางทะเล จากนั้นก็แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอยู่ตลอดฤดูใบไม้ผลิและจนถึงเดือนมิถุนายน 1919 ส่วนใหญ่ส่งผลกระทบต่อสเปน เซอร์เบีย เม็กซิโก และสหราชอาณาจักร ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายแสนคน แม้จะรุนแรงน้อยกว่าระลอกที่ 2 แต่ก็ยังร้ายแรงกว่าระลอกแรก และในสหรัฐอเมริกามีการระบาดในบางเมือง อย่างเช่น ลอสแองเจลิส นิวยอร์กซิตี้ เมมฟิส แนชวิลล์ ซานฟรานซิสโก และเซนต์หลุยส์ ซึ่งอัตราการเสียชีวิตโดยรวมของชาวอเมริกันอยู่ในระดับหมื่นคนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 1919 ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตอยู่ในกลุ่มคนอายุ 20 - 40 ปี ซึ่งเป็นรูปแบบอายุการตายที่ผิดปกติของไข้หวัดใหญ่

- การระบาดระลอกที่ 4 เกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิปี 1920 นิวยอร์กซิตี้ สวิตเซอร์แลนด์ สแกนดิเนเวีย และหมู่เกาะในอเมริกาใต้ เมืองนิวยอร์กเพียงแห่งเดียวมีรายงานผู้เสียชีวิต 6,374 คน ระหว่างเดือนธันวาคม 1919 ถึงเดือนเมษายน 1920 ซึ่งเป็นจำนวนเกือบสองเท่าของระลอกแรกในฤดูใบไม้ผลิปี 1918 เมืองอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกา รวมทั้ง ดีทรอยต์ มิลวอกี แคนซัสซิตี มินนีแอโพลิส และเซนต์หลุยส์ มีการระบาดอย่างหนัก โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าทั้งหมดของปี 1918 เปรูประสบพบเจอในช่วงต้นปี 1920 และญี่ปุ่นในช่วงปลายปี 1919 ถึง 1920 โดยกรณีสุดท้ายในเดือนมีนาคม ในยุโรปห้าประเทศ (สเปน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์) มีการบันทึกจุดสูงสุดอยู่ในช่วงปลายเดือนมกราคม - เมษายน 1920

ด้วยในยุคนั้นเมื่อกว่าร้อยปีก่อน วิทยาการทางการแพทย์ยังไม่เจริญเท่าปัจจุบัน จำนวนผู้เสียชีวิตจึงถึงสูงมาก ด้วยจำนวนประชากรในโลกขณะนั้นไม่ถึงสองพันล้านคน แต่หลักการป้องกันยังคงแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนเช่น การสวมหน้ากาก การเว้นระยะห่าง การรักษาความสะอาด ฯลฯ จากบทเรียนหลักในอดีต ‘มาตรการใด ๆ’ ก่อนที่จะเกิดการระบาดซึ่งถูกอธิบายว่า "เกินจริง แต่ในภายหลังมักจะกลายเป็นว่า ไม่เพียงพอ" ศาสตราจารย์ Jaume Claret Miranda ภาควิชา Arts and Humanities มหาวิทยาลัย Oberta de Catalunya กล่าว

ในขณะนี้วัคซีน mRNA ที่ใช้ฉีดป้องกันไวรัส COVID-19  กำลังเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างมากในวงกว้างว่า การรับวัคซีน mRNA นั้นมีความคุ้มหรือไม่? ด้วยเพราะปรากฏว่า มีผู้ที่รับวัคซีน mRNA จำนวนหนึ่งมีปัญหาด้านสุขภาพ มีความผิดปกติในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย อาทิ หลังจากที่รับวัคซีน mRNA แล้ว โดยอาการจากผลข้างเคียงที่พบจากผู้ที่ได้รับวัคซีน mRNA ได้แก่ การเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) หรือ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) ซึ่งพบเจอบ่อยมาก มีการค้นพบครั้งแรกในประเทศอิสราเอล เพราะเป็นประเทศที่ประชาชนได้รับวัคซีน mRNA ค่อนข้างมาก ดังนั้นหากพบว่า มีอาการผิดปกติในร่างกายหลังจากรับวัคซีน mRNA ควรไปพบแพทย์ หรือดื่มน้ำรางจืด (จากการต้มใบรางจืด) ด้วยน้ำรางจืดมีฤทธิ์ในการขับพิษและของเสียออกจาร่างกาย ควรดื่มตอนเช้าก่อนรับประทานอาหารและยาต่อเนื่องกันสัก 2 - 4 สัปดาห์ จะสามารถช่วยขับพิษที่ทำให้ร่างกายมีความผิดปกติและช่วยลดอาการผิดปกติในร่างกายได้ในระดับหนึ่ง

‘Operation Alpha’ ปฏิบัติการลับที่ดำเนินการโดย ‘อินโดนีเซีย’ เพียงหวังซื้อเครื่องบินรบ A-4 Skyhawk ของอิสราเอล


ย้อนกลับไปในทศวรรษ 1980 ช่วงยุคสงครามเย็นที่มีความขัดแย้งระหว่างสองค่ายขั้ว นั่นก็คือ ค่ายประชาธิปไตย+เผด็จการ ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ผู้นำค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ อินโดนีเซียแม้จะเป็นประเทศหมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในขณะนั้นต้องเผชิญภัยคุกคามทั้งภายในโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ในติมอร์ตะวันออกและภายนอกประเทศที่มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความขาดแคลนเครื่องบินรบสมัยใหม่ตอนนั้นกองทัพอากาศอินโดนีเซียมีเพียงแต่เครื่องบินรบที่ล้าสมัยของสหรัฐฯ เช่น F-86 Saber และ T-33 T-Bird ที่เก่ามากแล้วและมีค่าใช้จ่ายมหาศาลในการปรนนิบัติบำรุงอันเนื่องจากอายุใช้งานที่ยาวนานและอะไหล่ซึ่งขาดแคลนเพราะสหรัฐฯ เลิกผลิตแล้ว รวมทั้งเครื่องบินรบไอพ่นที่จัดหามาจากสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษ 1960 เช่น เครื่องบินรบแบบ MiG, Il-28 และ Tu-16 ซึ่งต้องจอดอยู่กับพื้นเนื่องจากขาดการสนับสนุนด้านเทคนิคหลังจากประสบปัญหาความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ G30S* ตอนนั้นเองสหรัฐฯ ยินดีที่จะขายเครื่องบินไอพ่น F-5 E/F Tiger2 จำนวน 16 ลำให้กับกองทัพอากาศอินโดนีเซีย แต่เครื่องบินจำนวนนี้อินโดนีเซียเห็นว่ายังคงมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการรับมือกับภัยคุกคามของประเทศได้

*G30S : เหตุการณ์ความพยายามในการทำรัฐประหารโดยสมาชิกของกองทัพอินโดนีเซียและพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย และมีการสังหารหมู่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา


(เครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawk ของอิสราเอล)

หน่วยข่าวกรองของอินโดนีเซียได้รับข้อมูลว่า อิสราเอลยินดีที่จะขายเครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawk ที่ผ่านการใช้งานแล้วจำนวน 32 ลำให้กับอินโดนีเซีย แต่ข้อตกลงนี้มีปัญหาหลายประการ เริ่มตั้งแต่อินโดนีเซียและอิสราเอลไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารจากอิสราเอลยังเสี่ยงต่อการถูกประท้วงอย่างรุนแรงจากประชาชนชาวอินโดนีเซียซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นมุสลิม อย่างไรก็ตามกองทัพแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (ABRI) ได้ตัดสินใจที่จะดำเนินการต่อไปด้วยแผนการ ‘Operation Alpha’ โดยมี 2 ระยะคือ Operation Alpha I ในปี 1980 และ Operation Alpha II ในปี 1982 ทำให้อินโดนีเซียได้รับเครื่องบินโจมตี Douglas A-4 Skyhawk จำนวน 30 ลำ (14 ลำจากปฏิบัติการ Alpha I และ 16 ลำระหว่างปฏิบัติการ Alpha II) จากกองทัพอากาศอิสราเอล

(พล.อ.อ. Djoko Poerwoko หนึ่งนักบิน A-4 ที่ได้รับการฝึกจากอิสราเอล)

สำหรับปฏิบัติการ Alpha ดังกล่าวนอกจากเครื่องบิน 30 ลำแล้ว ยังรวมไปถึงการฝึกนักบินชาวอินโดนีเซีย โดยครูการบินชาวอิสราเอล และมีการแปลงโฉมเครื่องบินระหว่างการขนส่งจากอิสราเอลไปยังอินโดนีเซีย โดย พล.อ.อ. Djoko Poerwoko อดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศอินโดนีเซียหนึ่งในนักบิน A-4 ที่ได้รับการฝึกจากอิสราเอลเล่าว่า ปฏิบัติการ Alpha เป็นปฏิบัติการลับที่ใหญ่ที่สุดที่ดำเนินการโดยกองทัพแห่งชาติอินโดนีเซีย (Angkatan Bersenjata Republik Indonesia : ABRI) ก่อนที่จะส่งนักบินไปฝึกที่อิสราเอล รัฐบาลอินโดนีเซียได้ส่งช่างเทคนิคของกองทัพอากาศจำนวนหนึ่งซึ่งแบ่งออกเป็น 7 กลุ่มไปฝึกในอิสราเอลเป็นเวลา 20 เดือน ในปี 1979 หลังจากช่างเทคนิคกลุ่มสุดท้ายเสร็จสิ้นภารกิจในการฝึกอบรมแล้ว นักบินอินโดนีเซีย 10 นายได้รับแจ้งว่าจะถูกส่งไปฝึกอบรมที่สหรัฐอเมริกา แต่กลับถูกส่งให้เดินทางไปยังอิสราเอลในเดือนกันยายน 1980 โดยพวกเขาออกเดินทางด้วยเที่ยวบิน Garuda ไปยังสิงคโปร์ หลังจากเครื่องลงจอดในสิงคโปร์ เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของ ABRI หลายนายก็ได้มาพบกับพวกเขาระหว่างรับประทานอาหารเย็น เจ้าหน้าที่ได้ขอเก็บหนังสือเดินทางและแทนที่ด้วยหนังสือเดินทางพิเศษ ‘Travel Document in Lieu of a Passport (SPLP)’


(พลตรี Leonardus Benyamin Moerdani) 

ตอนนั้นเองพลตรี Leonardus Benyamin Moerdani ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองของ ABRI (ต่อมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพอินโดนีเซียและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอินโดนีเซีย) ก็มาพบนักบินทั้งสิบและได้บรรยายสรุปว่า “ภารกิจนี้เป็นภารกิจลับ หากพวกคุณรู้สึกไม่มั่นใจก็อนุญาตให้ถอนตัวกลับบ้านไปได้ เพราะหากภารกิจนี้ล้มเหลว ประเทศจะไม่ยอมรับว่าพวกคุณเป็นพลเมืองอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม เราจะพยายามดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อนำพวกคุณกลับบ้าน ภารกิจนี้จะถือว่าสำเร็จหาก A-4 Skyhawk (ชื่อรหัส 'Merpati') ไปถึงอินโดนีเซียแล้ว” ซึ่งนักบินทั้ง 10 นายจึงทราบว่า ภารกิจของพวกเขาจะเกิดขึ้นในอิสราเอล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการซื้อเครื่องบินรบจากอิสราเอล และในคืนเดียวกันนั้นนักบินทั้ง 10 คนได้ใช้ตัวตนใหม่ โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นพลเมืองของอินโดนีเซีย จากนั้นพวกเขาก็บินไปที่แฟรงก์เฟิร์ต และเดินทางต่อไปสนามบินเบนกูเรียนในกรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล และเมื่อมาถึงอิสราเอล พวกเขาถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำสนามบินพาตัวออกไปที่ชั้นใต้ดินอย่างรวดเร็ว ซึ่งพวกเขาได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของ ABRI


(นักบินอินโดนีเซียทั้งสิบนาย)

ทั้งนี้ นักบินทั้ง 10 ได้รับการบรรยายสรุปสั้น ๆ เกี่ยวกับเรื่องทั่วไปที่ต้องพิจารณาขณะอยู่ในอิสราเอล พวกเขาได้รับการสอนให้จำประโยคภาษาฮีบรูที่จำเป็นสองสามประโยค หลังจากการบรรยายสรุปพวกเขาก็เดินทางต่อทางบกไปทางใต้เลียบทะเลเดดซีไปยังฐานทัพอากาศ Etzion ซึ่งพวกเขาเรียกว่า ‘Arizona’ เนื่องจากการฝึกอย่างเป็นทางการนั้นนักบินเหล่านี้จะต้องถูกส่งไปฝึกในมลรัฐ Arizona ณ ฐานทัพอากาศ Etzion พวกเขาได้ฝึกบินกับเครื่องบิน A-4 Skyhawks ด้วยเทคนิคและยุทธวิธีมากมาย หรือแม้แต่การฝึกบินเจาะทะลุผ่านชายแดนซีเรีย ซึ่งการฝึกบินสิ้นสุดลงในเวลาประมาณ 4 เดือน ในวันที่ 20 พฤษภาคม 1980 นักบินทั้ง 10 คนสำเร็จการศึกษาและได้รับประกาศนียบัตรนักบินรบ A-4 ของอิสราเอล อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของ ABRI ที่ตามมาด้วยได้รวบรวมและเผาทำลายประกาศนียบัตรเหล่านั้นต่อหน้านักบิน เพื่อให้ไม่มีหลักฐานของความร่วมมือทางทหารระหว่างอินโดนีเซียและอิสราเอลปรากฎ


(ฐานบินนาวิกโยธินยูมาในมลรัฐแอริโซนา)

เพื่อให้เรื่องราวบังหน้าครบถ้วนอย่างสมบูรณ์ นักบินทั้ง 10 นายจึงถูกพาตัวไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อสร้างหลักฐาน เช่น รูปถ่าย ฯลฯ พวกเขามาถึงนิวยอร์กและเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่าง ๆ เช่น น้ำตกไนแอการา พวกเขาได้รับคำสั่งให้ถ่ายรูปหน้าสถานที่สำคัญของสหรัฐฯ ให้มากที่สุด จากนิวยอร์กพวกเขาถูกนำตัวไปที่ฐานบินนาวิกโยธิน Yuma ในมลรัฐแอริโซนา พวกเขาใช้เวลา 3 วันในฐานบินนาวิกโยธิน Yuma และได้รับการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องบินโจมตีแบบ A-4 ของหน่วยบัญชการนาวิกโยธินสหรัฐฯ (USMC) และถ่ายรูปเพิ่มเติม นอกจากนี้พวกเขายังได้รับประกาศนียบัตรนักบินรบ A-4 ของ USMC และได้ถ่ายภาพการรับประกาศนียบัตรอีกด้วย ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองของ ABRI ได้ย้ำเตือนนักบินว่า แท้จริงแล้วพวกเขาได้รับการฝึกฝนในสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่อิสราเอล หลังจากนั้นพวกเขาก็บินไปสิงคโปร์แล้วกลับอินโดนีเซีย


(A-4 Skyhawk ถูกห่อด้วยพลาสติกและติดป้ายกำกับว่า 'F-5')

ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 1980 เครื่องบินลำเลียงแบบ C-5 Galaxy ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ลงจอดในฐานทัพอากาศ Iswahjudi พร้อมด้วยเครื่องบินขับไล่แบบ F-5E/F Tiger II และในวันรุ่งขึ้น A-4 Skyhawks ชุดแรกของอิสราเอล ซึ่งประกอบด้วยเครื่องบินที่นั่งเดี่ยว 2 ลำ (หมายเลข TT-0401 และ TT-0414) และเครื่องบิน 2 ที่นั่ง 2 ลำ (หมายเลข TL-0415 และ TL-0416) ก็เดินทางมาถึงท่าเรือ Tanjung Priok ซึ่งเครื่องบินไอพ่นดังกล่าวถูกห่อหุ้มที่ฐานทัพอากาศ Etzion และขนส่งทางเรือโดยตรงจากอิสราเอล A-4 ถูกห่อด้วยพลาสติกและติดป้ายกำกับว่า 'F-5' เพื่อให้ดูเหมือนเป็นการจัดส่งจากสหรัฐฯ อีกรายการหนึ่ง หลังจากแกะออกจากห่อแล้วเครื่องบินทั้งหมดก็ได้รับการตรวจสอบและประกอบด้วยความช่วยเหลือจากช่างเทคนิคชาวอิสราเอล จากนั้นจึงบินไปยังฐานทัพอากาศฮาซานุดดินในมากัสซาร์ เพื่อเข้าประจำการในฝูงบินที่ 11 


(A-4 Skyhawk ฝูงบินที่ 11 ฐานทัพอากาศฮาซานุดดิน)

อย่างไรก็ตาม A-4 Skyhawks ยังคงมาถึงอินโดนีเซียเป็นระยะ ๆ โดยรวมแล้ว อินโดนีเซียได้รับเครื่องบิน A-4 Skyhawks 14 ลำ (+1 ลำเพื่อทดแทนที่ตก) จากอิสราเอลในปี 1980 และ A-4 จำนวน 16 ลำในปี 1982 รวมทั้งหมด 30 ลำ โดยส่วนใหญ่เป็นแบบ A-4E และส่วนที่เหลือเป็นรุ่นฝึก TA-4H และ TA-4J ซึ่งในปี 1997-1998 อินโดนีเซียได้ซื้อ TA-4J (2 ที่นั่ง) 2 เครื่องจากสหรัฐอเมริกา และได้รับการปรับปรุงในนิวซีแลนด์ ในปี 1981 อิสราเอลได้ส่ง A-4E 2 ลำ (ลำหนึ่งคือ TT-0417) เพื่อทดแทน A-4 ที่ตกในระหว่างการรับประกัน เครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawks ของอินโดนีเซียได้ร่วมปฏิบัติการทางทหารหลายครั้งได้แก่ ปฏิบัติการโลตัส (1980-1999) ในติมอร์ตะวันออก ปฏิบัติการออสการ์ (1991-1992) ในสุลาเวสี และปฏิบัติการเรนคอง เตร์บัง (1991-1995) ในอาเจะห์ เครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawks ของกองทัพอากาศอินโดนีเซียทั้งหมดถูกปลดระวางในปี 2005 และถูกนำไปตั้งแสดงอยู่ในฐานทัพอากาศและสถานที่ต่าง ๆ ทั่วอินโดนีเซีย

‘Lauren Singer’ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ใช้ชีวิตแบบ ’ไม่ผลิตขยะ‘ มาแล้วกว่าสิบปี

ปัญหาขยะเป็นปัญหาโลกแตก ซึ่งแก้ได้ยากมาก ๆ แต่มีหญิงสาวชาว New York ผู้หนึ่งซึ่งใช้ชีวิตปลอดขยะ (Zero waste) มาแล้วกว่าสิบปี ทั้ง ๆ ที่เธออาศัยอยู่ในมหานครใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก

ทั้งนี้ ‘Zero Waste’ หรือ ‘แนวคิดขยะเป็นศูนย์’ เป็นแนวทางในการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งจะช่วยทำให้ขยะที่ต้องถูกนำไปกำจัดลดเหลือน้อยที่สุด หรือเป็นศูนย์ ด้วยส่วนหนึ่งของปัญหาขยะเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่บริโภคสินค้าแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติก หลอดพลาสติก โฟม ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม เมื่อขยะคือภาระของทุกคน จึงเป็นที่มาของการใช้ชีวิตแบบ ‘Zero Waste’ ซึ่งคือการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจะไม่สร้างขยะใหม่ ๆ โดยพยายามไม่ให้มีอะไรหลงเหลือจนเป็นขยะได้ โดยยึดหลักง่าย ๆ อย่าง 1A3R ซึ่งประกอบด้วย

1A : Avoid การหลีกเลี่ยงใช้สิ่งที่ก่อให้เกิดขยะเพิ่ม เช่น พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
R1 : Reduce การใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดขยะให้น้อยลง เช่น การใช้ถุงผ้าไปช็อปปิ้งแทนการรับถุงพลาสติกจากร้านค้า
R2 : Reuse การนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น กล่องพัสดุที่ได้รับมา นำไปใส่ของส่งของต่อให้ผู้อื่น
R3 : Recycle การหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น การ Recycle พลาสติก ให้ออกมาเป็นวัสดุตั้งต้นในการสร้างผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

(Lauren Singer ในร้าน Package Free ของเธอ)

อย่างไรก็ตาม Lauren Nicole Singer เกิดที่นคร New York มลรัฐ New York เมื่อ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1991 ปัจจุบันอายุ 33 ปี เรียนจบปริญญาตรี ด้านสิ่งแวดล้อมและรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย New York เมื่อปี ค.ศ. 2013 และจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Columbia จากนั้นได้ทำงานเป็นนักวิเคราะห์ด้านความยั่งยืนของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของนคร New York ก่อนที่จะออกมาก่อตั้งธุรกิจสีเขียว The Simply Co. และ Package Free เธอเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการอิสระ และบล็อกเกอร์ในการเคลื่อนไหวเพื่อไร้ขยะ โดยเธอเริ่มใช้ชีวิตแบบไร้ขยะมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 ซึ่งเธอเป็นที่รู้จักจากการรวบรวมขยะทั้งหมดจากเว็บบล็อกที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 โดยเธอบดขยะในโถบดขนาด 16 ออนซ์ และบล็อกของเธอก็คือ ‘Trash is for Tossers’ (ขยะเป็นของไร้ค่า) ซึ่งให้คำแนะนำแก่ผู้อ่านในการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนโดยปลอดขยะ พร้อมกับบันทึกวิถีชีวิตที่ปราศจากขยะ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อเลิกการฝังกลบขยะ และลดละเลิกผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม

(น้ำยาซักผ้าออร์แกนิกและปลอดสารพิษ The Simply Co.)

Lauren Nicole Singer ได้ออกจากงานประจำในปี ค.ศ. 2014 และเปิดตัว The Simply Co. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล เช่น น้ำยาซักผ้าปลอดสารพิษออกสู่ตลาด น้ำยาซักผ้าออร์แกนิกของเธอได้รับการสนับสนุนจาก Kickstarter และจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ของ Kickstarter และที่ร้านค้าส่งทั่วสหรัฐอเมริกา เริ่มผลิตผลิตภัณฑ์พร้อม ๆ กัน The Simply Co. ในปี ค.ศ. 2017 เธอเปิด Package Free เป็นร้านแบบป๊อปอัพในเมือง Williamsburg และนับตั้งแต่เปิดตัว Package Free สามารถลดขยะจากการฝังกลบได้หลายร้อยล้านชิ้น ในปี ค.ศ. 2023 นอกจากนี้ เธอยังได้ร่วมก่อตั้ง Overall Capital โดยเธอบอกว่า Rachel Carson และ Bea Johnson ในฐานะนักเขียนและนักเคลื่อนไหวเป็น 2 แรงบันดาลใจให้สนใจเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และเธอยังได้รับการเสนอชื่อให้เป็น ‘สตรีที่น่าจับตามอง’ ของ Business Insider และ ‘หนึ่งในห้าสิบสตรีเปลี่ยนโลก’ ของ InStyle และ ‘ผู้เปลี่ยนแปลง ปี 2020’ ของ  Well + Good 

อย่างไรก็ตาม เรา ๆ ท่าน ๆ อาจจะคิดเองว่า แค่เปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองง่าย ๆ อย่างการเริ่มต้นจากการใช้กล่องข้าว ขวดน้ำ ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ หรือแม้แต่ร้านค้าทางเลือกอย่าง Refill Station ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบของการไม่ง้อบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยทุกคนนำภาชนะไม่ว่าจะเป็นขวดแก้วหรือขวดโหล มาเติมผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเองนำกลับไปใช้ที่บ้าน และการคัดแยกขยะจะช่วยอะไรได้มากมาย แต่ความจริงแล้วการแยกขยะก่อนทิ้งมีประโยชน์อย่างมาก ทั้งเป็นการประหยัดงบประมาณของประเทศ ขยะอันตรายจะได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธีเพื่อลดปัญหาหรือมลพิษต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา ฉะนั้นหากทุกครอบครัวเริ่มต้นที่การคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องนำไปกำจัดให้มีปริมาณน้อยลง และเป็นการลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย

เปิดเรื่องราว ‘Liu Mingqun’ พนง.ทำความสะอาดในกรุงปักกิ่ง สู่การเป็น ‘สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติ’ สมัยที่ 14

เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประชาธิปไตยของจีน ควรจะต้องตั้งคำถามด้วยว่า คนอย่าง Liu Mingqun ผู้เป็นเพียงพนักงานรักษาความสะอาดธรรมดา ๆ คนหนึ่งจะสามารถมีสิทธิมีเสียงกลายเป็นนักการเมืองได้ทำงานในรัฐสภาตามระบอบประชาธิปไตยของโลกตะวันตกหรือไม่???

สภาประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress: NPC) เป็นสภานิติบัญญัติของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำหน้าที่เป็นรัฐสภา (State) ด้วยรัฐธรรมนูญของจีนกำหนดให้สภาประชาชนแห่งชาติเป็นองค์กรอำนาจรัฐสูงสุด มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ, ควบคุมดูแลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ, ตราและแก้กฎหมาย, เลือกตั้ง ถอดถอนและโยกย้ายประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี มนตรีแห่งรัฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง และตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ, ตรวจสอบและอนุมัติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และรายงานการปฏิบัติงาน, ตรวจสอบและอนุมัติงบประมาณแผ่นดินและรายงานการปฏิบัติงาน, ตัดสินใจเรื่องเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ ฯลฯ โดยการผ่านมติในเรื่องต่าง ๆ ต้องได้รับเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกทั้งหมด

สำหรับสภาประชาชนแห่งชาติเป็นรัฐสภาที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดในโลก โดยสมัยที่ 14 ซึ่งเป็นสมัยปัจจุบันมีสมาชิก 2,977 ที่นั่ง เป็นสตรี 790 ที่นั่ง (มากที่สุดตั้งแต่มีสภาฯ) ตัวแทนชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ 442 ที่นั่ง (รวมถึงฮ่องกง 36 ที่นั่ง มาเก๊า 12 ที่นั่ง และไต้หวัน 6 ที่นั่ง) สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติมาจากการคัดเลือก ดำรงตำแหน่งวาระละห้าปี การจัดประชุมใหญ่ประจำปีจะจัดขึ้นทุกฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งจะดำเนินต่อเนื่อง 10 ถึง 14 วัน ณ อาคารมหาศาลาประชาชน ซึ่งตั้งอยู่ทิศตะวันตกของจัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง

Liu Mingqun เป็นสมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติสมัยปัจจุบันคือสมัยที่ 14 เธอเป็นเพียงเจ้าหน้าที่สุขาภิบาล ทำหน้าที่พนักงานทำความสะอาด ประจำสถานีจัดเก็บขยะเขต Shijingshan ในกรุงปักกิ่ง สถานีจัดเก็บขยะนี้มีหน้าที่รวบรวมและแปรรูปขยะจากครัวเรือนในพื้นที่บริการกว่า 

10,000 ครัวเรือน โดยมีกำลังการจัดเก็บขยะมากกว่า 15 ตันต่อวัน เธอมักจะไปทำงานล่วงหน้าหนึ่งชั่วโมงเสมอเพื่อทำความสะอาดสถานีขยะและฆ่าเชื้อรถบรรทุกขยะ ต้องขอบคุณความพยายามอย่างต่อเนื่องของ Liu Mingqun จนทำให้สถานีจัดเก็บขยะแห่งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘สถานีจัดเก็บขยะที่สะอาดที่สุดในกรุงปักกิ่ง’ จากเพื่อนร่วมงานของเธอและชาวบ้านผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง

หลังจากได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติแล้ว Liu Mingqun ก็ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เพื่อเก็บเกี่ยวรวบรวมความรู้ใหม่ ๆ มากขึ้นเพื่อทำหน้าที่ของเธอได้ดียิ่งขึ้น เธอมักจะไปค้นคว้า พูดคุยสื่อสารกับแรงงานจากชนบทเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขา และพูดคุยกับคนในชุมชนเกี่ยวกับแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่อยู่อาศัยเก่า เธอได้นำญัตติ ‘การแยกขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น’ แนะเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อการจำแนกประเภทขยะมานำเสนอในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติสมัยปัจจุบันคือสมัยที่ 14 ครั้งที่ 2 โดยเธอหวังที่จะปรับปรุงความแม่นยำของการจำแนกประเภทขยะในครัวเรือนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโรงงานรีไซเคิล 

(Liu Mingqun ขณะสำรวจตัวเองหน้ากระจกในสถานีจัดเก็บขยะของเขต Shijingshan ในกรุงปักกิ่ง เมืองเอกของจีน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2024)

(Liu Mingqun พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในระหว่างการประชุมกลุ่มของคณะผู้แทนปักกิ่งในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) สมัยที่ 14 ครั้งที่ 2 ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2024)

(Liu Mingqun (ที่ 2 จากขวา) ระหว่างการประชุมกลุ่มคณะผู้แทนปักกิ่งในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) สมัยที่ 14 ครั้งที่ 2 ณ กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2024)

(Liu Mingqun เข้าร่วมการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) สมัยที่ 14 ครั้งที่ 2 ณ มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2024)

(Liu Mingqun ที่สำนักงานของสถานีจัดเก็บขยะในเขต Shijingshan กรุงปักกิ่ง เมืองเอกของจีน เเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2024 (Xinhua/Chen Zhonghao)

เรื่องราวของนักการเมืองเยี่ยงนี้ แบบนี้ เช่นนี้ ยากที่จะเกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยอย่างแน่นอน ด้วยเพราะการเข้าสู่วงการเมืองในระบอบประชาธิปไตยด้วยการเลือกตั้งคือการใช้จ่ายทรัพย์สินเงินทองจำนวนมหาศาล การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเป็นการเลือกตั้งตามคุณภาพของเงินที่ใช้ในการหาเสียง หรือซื้อเสียง แม้แต่พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งมากที่สุดในบ้านเราก็ใช้ทรัพยากรมหาศาลในการชวนเชื่อและสร้างกระแส ดังนั้น การเมืองในระบอบประชาธิปไตยนักการเมืองที่มีคุณภาพแต่ไม่มีเงินหรือไม่มีผู้สนับสนุนจึงยากที่จะได้เข้าไปทำหน้าที่ตามความรู้ความสามารถอย่างถูกต้องเหมาะสม ปัจจุบันทุกวันนี้เราจึงพบเห็นแต่เรื่องราวข่าวคาวฉาวโฉ้ของนักการเมืองในระบบเลือกตั้งซึ่งมีอยู่ทั่วไป ฉะนั้นเมื่อผู้เลือกตั้งและผู้รับเลือกตั้งต่างก็ไม่ซื่อสัตย์และไร้คุณภาพ การเมืองก็จะไม่ซื่อสัตย์และไร้คุณภาพ แล้วก็จะทำให้ชาติบ้านเมืองไม่ซื่อสัตย์และไร้คุณภาพตามไปด้วย…เป็นวัฏจักรเช่นนี้ตลอดไป

ความผิดพลาดครั้งใหญ่ของ ‘อิสราเอล’ หลังลาก ‘อิหร่าน’ เข้ามาอยู่ในวงสงคราม


ถ้อยแถลงประณามการโจมตีอันโหดร้ายของอิสราเอลต่อสถานเอกอัครรัฐทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ณ กรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย ของกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน

กลายเป็นประเด็นลุกลามขึ้นมาในโลกทันที หลังจากกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ได้ประณามการโจมตีด้วยขีปนาวุธของ ‘รัฐบาลอิสราเอล’ อย่างผิดกฎหมายที่อาคารส่วนกงสุลของสถานทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านในกรุงดามัสกัส ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงที่สุด ในตอนเย็นของวันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2024

นั่นก็เพราะการโจมตีแบบกำหนดเป้าหมายในสถานที่ทางการทูตแห่งนี้ ซึ่งมีที่ปรึกษาทางทหารด้านต่อต้านการก่อการร้ายของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านหลายคนพักอาศัยอยู่ โดยทุกคนนั้นยังได้รับความคุ้มครองทางการทูต ภายหลังกำลังเข้าร่วมพิธีละศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์อยู่ในอาคารดังกล่าว

ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การโจมตีที่น่ารังเกียจและน่าอับอายนี้ จะเป็นการละเมิดเอกสิทธิและความคุ้มกันของเจ้าหน้าที่ทางการทูตและสถานที่ โดยเฉพาะสถานทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านในกรุงดามัสกัส และละเมิดกฎระเบียบระหว่างประเทศอย่างชัดเจน รวมถึงอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961 อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม ค.ศ. 1973 การลงโทษอาชญากรรมที่กระทำต่อบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองระหว่างประเทศ รวมถึงตัวแทนทางการทูต และกฎบัตรสหประชาชาติ 

ฉะนั้น รัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศทั้งหลาย จึงสมควรต้องออกแสดงความไม่พอใจและประณามการกระทำอันชั่วร้ายที่เป็นการรุกรานและการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศครั้งนี้ โดยคาดหวังว่าสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและเลขาธิการสหประชาชาติ ที่น่าจะต้องรีบออกมาตอบสนองอย่างรวดเร็วกับการกระทำของอิสราเอล ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์การโจมตีของอิสราเอลในครั้งนี้ กำลังสะท้อนให้เห็นถึงความสิ้นหวัง ทำอะไรไม่ถูก และความงุนงงทางยุทธศาสตร์ของอิสราเอล อันเป็นผลจากความล้มเหลวทางการทหาร การเมือง และศีลธรรมในฉนวนกาซา หลังจากหกเดือนของสงครามอาชญากรรมอันโหดร้าย ล้วนล้มเหลวในการบรรลุชัยชนะใดๆ ต่อขบวนการต่อต้าน ตลอดจนประเทศปาเลสไตน์ที่อดทนและยืดหยุ่น

ย้อนกลับไป อิสราเอล ล้มเหลวในการยุติความกล้าหาญของชาวปาเลสไตน์ และเริ่มหันไปใช้กลยุทธ์ที่น่าอับอาย อย่างการสังหารหมู่ สตรี เด็ก และพลเรือนชาวปาเลสไตน์ ที่ถูกปลิดชีพไปแล้วหลายหมื่นคน ภายใต้ความล้มเหลวในการพยายามขยายขอบเขตสงครามที่อันตรายและไม่ฉลาด จนเริ่มกลายเป็นการทำลายสันติภาพในภูมิภาค โดยมีประเทศอื่นร่วมเป็นเหยื่อ 

อย่างไรก็ตาม สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน คงไม่เหมือนปาเลสไตน์ และมีความเป็นไปได้ที่ต่อจากนี้จะทำให้ผู้รุกราน (อิสราเอล) กลายเป็นเป็ดง่อยและต้องเสียใจกับอาชญากรรมครั้งล่าสุดอย่างถึงที่สุด เพื่อตอบโต้อาชญากรรมที่ชั่วร้ายนี้

นั่นก็เพราะการกระทำของผู้นำแห่งอิสราเอลในครั้งนี้ กำลังกระตุกปฏิบัติการพายุอัลอักซอ และความแน่วแน่อย่างกล้าหาญของประเทศปาเลสไตน์ที่ถูกกดขี่แต่ทรงอำนาจในฉนวนกาซาในช่วงหกปีที่ผ่านมา ภายใต้แรงหนุนแห่งสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ที่อาจทำให้ปาเลสไตน์ไม่มีวันถอยแม้แต่ก้าวเดียวต่อจากนี้...ซวยแล้ว!!

‘Operation Wedding’ ภารกิจหนีตายของชาวรัสเซียเชื้อสายยิว ลงทุนเหมาเที่ยวบิน เพื่อจี้เครื่องบินหนีออกจาก ‘สหภาพโซเวียต’

หลังจากสงครามหกวัน ปี 1967 ‘สหภาพโซเวียต’ ได้ยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับ ‘อิสราเอล’ เกิดผลกระทบต่อการยื่นขอวีซ่าของคนรัสเซียเชื้อสายยิว ที่ส่วนใหญ่ได้ทำการยื่นขอทั้งครอบครัวเพื่อเดินทางออกจากสหภาพโซเวียต ผลที่เกิดขึ้นคือการขอวีซ่าของพวกเขา ‘ถูกระงับ’ หรือ ‘ถูกปฏิเสธ’

หนึ่งในเงื่อนไขของผู้ขอวีซ่าเดินทางออกจากสหภาพโซเวียตคือ ‘การลาออกจากงาน’ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงอย่างมาก เพราะเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยสังคม ซึ่งมีความผิดทางอาญา

การยื่นขอวีซ่าเพื่อออกจากสหภาพโซเวียต มีผลสำเร็จกับแค่บางคน ในขณะที่อีกหลายคนถูกปฏิเสธ ซึ่งมีผลทันทีและมีผลในระยะยาว คำร้องขอวีซ่าของพวกเขาจะถูกเพิกเฉยไปอีกหลายปี

ในหน่วย OVIR (Office of Visas and Registration) ซึ่งเป็นแผนกหนึ่งใน MVD (กระทรวงกิจการภายในของสหภาพโซเวียต) ที่รับผิดชอบในการออกวีซ่า ได้ให้เหตุผลที่สำหรับคำปฏิเสธว่า “บุคคลเหล่านี้ได้รับการเข้าถึงข้อมูลที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหภาพโซเวียตในบางช่วงเวลา จึงไม่สามารถอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศได้”


ทำให้คนเหล่านี้ถูกเรียกว่า ‘Refusenik’ แปลว่า ‘ผู้ถูกปฏิเสธ’ ส่วนใหญ่หมายถึงชาวรัสเซียเชื้อสายยิว ซึ่งถูกปฏิเสธการขออพยพย้ายถิ่นจากสหภาพโซเวียตไปยังประเทศอิสราเอล ด้วยเหตุนี้ ทำให้ ‘Operation Wedding’ ถือกำเนิดขึ้นมา

‘Operation Wedding’ เป็นปฏิบัติการจี้เครื่องบินโดยกลุ่มหนุ่มสาวชาวโซเวียตเชื้อสายยิว ผู้ซึ่งถูกปฏิเสธการขอวีซ่าออกสหภาพโซเวียต เพื่ออพยพไปอยู่ยังอิสราเอล พวกเขาจึงคิดวางแผนที่จะ ‘จี้’ เครื่องบินเพื่อหลบหนีจากสหภาพโซเวียต 

แน่นอนว่า แรกเริ่มของความคิดทุกอย่างดูง่ายและเป็นไปได้ทั้งหมด พวกเขาวางแผนใช้วิธีปลอมตัวเป็นครอบครัวเพื่อเดินทางไปงานแต่งงานของญาติในต่างเมืองด้วยสายการบินท้องถิ่น 

โดยสมาชิกในกลุ่มจะซื้อตั๋วทุกใบบนเครื่องบินโดยสารขนาดเล็ก 12 ที่นั่ง (Antonov An-2) ทำให้ในเที่ยวบินดังกล่าวไม่มีผู้โดยสารอื่นเลย จึงไม่มี ‘ผู้บริสุทธิ์’ ที่ไม่เกี่ยวข้องจะได้รับอันตราย 

นอกจากนี้พวกเขาจะบังคับให้นักบินและเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องลงจากเครื่องบิน แล้วให้ ‘Mark Dymshits’ ผู้เป็นอดีตนักบินทหาร และเป็นนักบินของกลุ่มเข้าควบคุมเครื่องบิน และบินขึ้นสู่ท้องฟ้าเหนือพรมแดนโซเวียตไปยังสวีเดน แล้วมุ่งหน้าไปยังอิสราเอล


ปฏิบัติการนี้ เกิดขึ้นในวันที่ 15 มิถุนายน 1970 หลังจากมาถึงสนามบิน Smolnoye (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นสนามบิน Rzhevka) ใกล้นครเลนินกราด กลุ่ม ‘แขกงานแต่งงาน’ ยังไม่ทันที่จะขึ้นเครื่องบินเลย ทั้งหมดก็ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ของ MVD 

พวกเขาทั้งหมดถูกตั้งข้อหากบฏ มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ภายใต้มาตรา 64 ของประมวลกฎหมายอาญาของ RSFSR 

โดย ‘Mark Dymshits’ และ ‘Eduard Kuznetsov’ ถูกตัดสินให้ต้องรับโทษประหารชีวิต แต่หลังจากการประท้วงจากนานาประเทศ จึงถูกตัดสินจำคุก 15 ปีแทน 

-Yosef Mendelevitch และ Yuri Fedorov ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี
-Aleksey Murzhenko ถูกตัดสินจำคุก 14 ปี
-Sylva Zalmanson (ภรรยาของ Kuznetsov และเป็นสตรีผู้เดียวที่ถูกพิจารณาคดี) ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี 
-Arie (Leib) Knokh ถูกตัดสินจำคุก 13 ปี 
-Anatoli Altmann ถูกตัดสินจำคุก 12 ปี 
-Boris Penson และ Wolf Zalmanson (พี่ชายของ Sylva และ Israel) ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี
-Israel Zalmanson ถูกตัดสินจำคุก 8 ปี
-Mendel Bodnya ถูกตัดสินจำคุก 4 ปี 

ในขณะที่สื่อโซเวียตพาดหัวว่า ‘อาชญากรได้รับการลงโทษ’ แต่ก็มีผู้คนมากมายในฟากฝั่งของโลกตะวันตกเรียกร้องให้ ‘ปล่อยตัวคนเหล่านี้!’ 

ภายหลังเมื่อม่านเหล็กแห่งอิสรภาพเปิดออก ชาวโซเวียตกว่า 300,000 คน ก็สามารถอพยพออกนอกประเทศได้ ส่งผลให้สมาชิกกลุ่มนี้มีสถานะเป็นผู้จ่ายค่าอิสรภาพให้กับชาวโซเวียตทุกคนที่ได้รับอนุญาตให้อพยพ


การอพยพชาวยิวจากสหภาพโซเวียตก่อนและหลังการพิจารณาคดี Operation Wedding (the First Leningrad Trial) ครั้งแรก ตามด้วยการปราบปรามชาวยิว และมีการเคลื่อนไหวที่ไม่เห็นด้วยทั่วสหภาพโซเวียต นักเคลื่อนไหวถูกจับกุม ศูนย์ชั่วคราวเพื่อศึกษาภาษาฮีบรูและโตราห์ถูกปิด 

ในขณะเดียวกันการประณามจากนานาประเทศทำให้ทางการโซเวียตต้องเพิ่มโควตาการย้ายถิ่นฐานอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 1960 ถึง 1970 มีชาวยิวในโซเวียตเพียง 3-4,000 คนเท่านั้นที่สามารถอพยพออกจากสหภาพโซเวียตได้ แต่หลังจากการพิจารณาคดีในช่วงระหว่างปี 1971 ถึง 1980 มีผู้ได้รับวีซ่าถึง 347,100 คน เพื่ออพยพออกจากสหภาพโซเวียต และ 245,951 คนเป็นชาวรัสเซียเชื้อสายยิว


ในเดือนสิงหาคม 1974 Sylva Zalmanson ได้รับการปล่อยตัว โดยเป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนนักโทษอิสราเอลกับสายลับของสหภาพโซเวียต หรือ ‘Yuri Linov’ ในเบอร์ลิน 

หลังจากนั้นเธอก็อพยพไปยังอิสราเอล เดือนกันยายนในปีต่อ ๆ มาเธอได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวสามี Edward Kuznetsov และผู้ถูกปฏิเสธคนอื่น ๆ จนในที่สุดวันที่ 27 เมษายน 1979 Kuznetsov ก็ได้รับการปล่อยตัว และอพยพไปอยู่กับภรรยาของเขาที่อิสราเอล 

ทางด้าน Mark Dymshits ก็ได้รับการปล่อยตัวในเวลาเดียวกันพร้อมกับผู้ถูกปฏิเสธที่มีชื่อเสียงของสหภาพโซเวียตอีกสามคน ได้แก่ Aleksandr Ginzburg, Valentin Moroz และ Georgy Vins 

การปล่อยตัวผู้ถูกปฏิเสธทั้งห้าเกิดขึ้นหลังจากการเจรจาอันยาวนาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนนักโทษกับสหภาพโซเวียต โดยสาลับโซเวียตสองคน Rudolf Chernyaev และ Valdik Enger ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 50 ปีในสหรัฐฯ 

หลังจากอพยพไปอิสราเอล Kuznetsov ได้เป็นหัวหน้าแผนกข่าวของ ‘Radio Liberty’ (1983-1990) และเป็นหัวหน้าบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ภาษารัสเซียที่ใหญ่ที่สุดในอิสราเอล Вести (1990-1999) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษารัสเซียที่ได้รับความนิยมสูงสุดนอกประเทศโซเวียตรัสเซีย


‘คณะกรรมการปลดปล่อยสามชาวเลนินกราด’ นำโดย Tilman Bishop วุฒิสมาชิกแห่งมลรัฐโคโลราโด ได้จัดการรณรงค์ทางการทูต เพื่อให้มีการปล่อยตัวนักโทษที่เหลือ 

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1981 Mendelevitch ก็ได้รับการปล่อยตัวและอพยพไปอยู่กับครอบครัวในอิสราเอล เขาเรียกร้องให้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อปลดปล่อยสมาชิกอีกสองคนของกลุ่ม ได้แก่ Fedorov และ Murzhenko ผู้ซึ่งไม่ใช่ชาวยิว เหยื่อของการเลือกปฏิบัติจากสหภาพโซเวียต และได้เรียกร้องให้มีการประท้วงต่อไป

วันที่ 15 มิถุนายน 1984 Aleksei Murzhenko ก็ได้รับการปล่อยตัวเพียงเพื่อจะถูกจับอีกครั้งด้วยข้อหา ‘ละเมิดทัณฑ์บน’ ต่อในเดือนมิถุนายน 1985 หลังจากติดคุกมา 15 ปี Yuri Fedorov ก็ได้รับการปล่อยตัวภายใต้ข้อกำหนดในการตั้งถิ่นฐาน แต่เขายังคงถูกปฏิเสธการให้วีซ่าไปจนถึงปี 1988 

และเมื่อเขาเดินทางไปอเมริกาในปี 1998 เขาได้ก่อตั้ง The Gratitude Fund เพื่อระลึกถึงผู้ต่อต้านสหภาพโซเวียต ที่ทำ ‘สงครามต่อต้านอำนาจของโซเวียตและยอมสละเสรีภาพส่วนบุคคลและชีวิตเพื่อประชาธิปไตย’


อีก 45 ปีต่อมาในปี 2016 Anat Zalmanson-Kuznetsov ผู้สร้างภาพยนตร์ ซึ่งเป็นบุตรสาวของ Eduard Kuznetsov และ Sylva Zalmanson ได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง ‘Operation Wedding’ สารคดีเกี่ยวกับการหักหลังที่กำกับโดยเธอเอง เพื่อเปิดเผยถึงเรื่องราวของพ่อแม่ของเธอซึ่งเป็นตัวเอกในกลุ่ม ‘วีรบุรุษ’ ของโลกตะวันตก แต่เป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ ในสายตาของสหภาพโซเวียต 

จึงนับเรื่องตลกมาก ๆ ที่การจี้เครื่องบินโดยสารในสหภาพโซเวียตกลับกลายเป็นเรื่องที่ถูกต้องในมุมมองภายใต้การโฆษณาชวนเชื่อของ ‘สื่อตะวันตก’ ทั้ง ๆ ที่การจี้เครื่องบินโดยสารในประเทศตะวันตกก็ถือเป็นการก่ออาชญากรรมร้ายแรง ทั้ง ๆ ที่ได้มีชาวรัสเซียเป็นจำนวนมากที่อพยพหลบหนีออกจากสหภาพโซเวียตด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่การจี้เครื่องบินโดยสารและไม่ได้ใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด 

โลกตะวันตกโดยสื่อตะวันตกจึงทำตัวเป็นผู้ตัดสินถูกผิดด้วยบรรทัดฐานที่บิดเบี้ยวและเป็นเช่นนี้มาโดยตลอดจนกระทั่งทุกวันนี้ 

👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล 
 

เปิดเรื่องราว ‘Genepil’ ราชินีองค์สุดท้ายแห่งดินแดนมองโกเลีย สู่แรงบันดาลใจชุดเจ้าหญิง ‘Padmé’ ในภาพยนตร์ Star Wars


อดีตราชอาณาจักรมองโกเลีย ปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ส่วนได้แก่ สาธารณรัฐมองโกเลีย ซึ่งได้รับเอกราชจากสาธารณรัฐจีนในปี 1911 และเขตปกครองตนเองมองโกเลียในภายใต้สาธารณรัฐประชาชนจีน โดย Genepil (เกอเนอพิล) เป็นพระชายาองค์ที่ 2 ของ Bogd Khanate (Bogd Khan : ผู้ปกครองผู้ศักดิ์สิทธิ์) กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรมองโกเลีย (มองโกลข่านองค์สุดท้าย) ระหว่างปี 1911 ถึง 1924 

ในปี 1921 มองโกเลียเกิดการปฏิวัติของตนเองซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิวัติรัสเซีย ทำให้ Bogd Khanate ถูกกักบริเวณในวัง ในเวลาต่อมาได้รับอิสรภาพและกลับคืนสู่สถานะเดิม แต่ก็เป็นผู้ปกครองเพียงแต่ในนามเท่านั้น 

สำหรับ Genepil เป็นบุตรสาวของตระกูลขุนนาง เธอเกิดในปี 1905 ที่เมือง Tseyenpil ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของมองโกเลียไม่ไกลจาก Baldan Bereeven อารามที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในมองโกเลีย 


หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระราชินี Dondogdulam ในปี 1923 Genepil ได้รับเลือกให้เป็นพระมเหสีจากกลุ่มสตรีชาวมองโกเลียที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 20 ปี ซึ่งได้รับการเลือกโดยคณะองคมนตรีของกษัตริย์ Bogd Khanate แม้ว่าขณะนั้น Genepil ได้สมรสกับชายชาวมองโกเลียชื่อ Luvsandamba อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นอุปสรรค เนื่องจากเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าการเป็นพระชายาของกษัตริย์ Bogd Khanate นั้นเป็นไปในนามเท่านั้น และการอภิเษกสมรสก็จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เมื่อถูกนำตัวไปที่พระราชวัง Genepil ได้รับการบอกเล่าถึงชะตากรรมของเธอเมื่อเธอมาถึงพร้อมกับคำรับรองขององคมนตรีว่า ในไม่ช้าเธอจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้เนื่องจาก Bogd Khanate เองทรงมีสุขภาพไม่ดี


แต่ Genepil ได้รับการสถาปนาเป็นพระราชินีได้ไม่ครบปี กษัตริย์ Bogd Khanate ก็สิ้นพระชนม์ในวันที่ 20 พฤษภาคม 1924 ซึ่งเป็นช่วงที่ระบอบกษัตริย์ของมองโกเลียถูกยกเลิก เปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐประชาชนมองโกเลีย (ระหว่างปี 1924 ถึง 1992) อันเนื่องจากการเข้ามาแทรกแซงของสหภาพโซเวียต หลังจากออกจากราชสำนักมองโกเลีย อดีตราชินี Genepil ต้องกลับไปอยู่ครอบครัวของพระนาง 


ต่อมารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนมองโกเลียในในช่วงทศวรรษที่ 1930 ภายใต้จอมพล Khorloogiin Choibalsan ผู้นำมองโกเลียและจอมพลแห่งกองทัพประชาชนมองโกเลีย ผู้ได้รับฉายาว่า 'Stalin' แห่งมองโกเลีย' ได้ดำเนินการปราบปรามกวาดล้างบรรดาผู้เห็นต่างลัทธิคอมมิวนิสต์ตามระบบสตาลินเพื่อกำจัดวัฒนธรรมมองโกเลียและส่วนที่เหลือของระบอบการปกครองเก่า 

ปฏิบัติการอันโหดร้ายนี้ส่งผลให้บรรดาหมอผีและลามะในมองโกเลียถูกกวาดล้างไปจนเกือบหมด ประมาณการว่ามี ‘ศัตรูของการปฏิวัติ’ ระหว่าง 20,000 ถึง 35,000 รายถูกประหารชีวิตในช่วงเวลานี้ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 3 ถึง 5 ของประชากรทั้งหมดของมองโกเลียในขณะนั้น 

และในปี 1937 รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนมองโกเลียได้ตั้งข้อกล่าวหาว่า อดีตราชินี Genepil และพรรคพวกได้ทำการรวบรวมอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อก่อการจลาจลโดยได้รับความช่วยเหลือจากจักรววรดิญี่ปุ่น ต่อมาเธอถูกจับกุมและประหารชีวิตในปี 1938 ในขณะที่เธอถูกประหารชีวิตนั้น เธอกำลังตั้งครรภ์อยู่


ทั้งนี้ เครื่องแต่งกายของ Genepil ถูกมองว่าเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบชุดของเจ้าหญิง Padmé Amidala Naberrie ในภาพยนตร์ Star Wars (Star Wars : The Phantom Menace) จากภาพลักษณ์ของสตรีชาวมองโกเลียในปี 1921 ซึ่งน่าจะเป็นอดีตราชินี Genepil นั่นเอง 

ซึ่งในภาพยนตร์ Star Wars เจ้าหญิง Padmé Amidala ผู้เป็นราชินีแห่ง Naboo และวุฒิสมาชิกแห่งวุฒิสภา Galactic ด้วย เธอได้แต่งงานกับ Anakin Skywalker (Darth Vader) ผู้เป็นบิดาของ Luke Skywalker ดังนั้นเธอจึงเป็นมารดาของ Luke พระเอกของภาพยนตร์ Star Wars เธอเสียชีวิตในขณะที่ให้กำเนิดลูกแฝด Luke Skywalker และ Leia Organa เธอเป็นแรงกระตุ้นให้ Anakin Skywalker เข้าไปสู่ด้านมืดของพลัง และในที่สุดกลายเป็น Darth Vader ไป

ทั้งนี้ เจ้าหญิง Padmé Amidala Naberrie ซึ่งรับบทโดย Natalie Portman สวมชุดสีแดงสดสะดุดตาที่มีแขนเสื้อกว้างและเครื่องประดับศีรษะที่แวววาวซึ่งชวนให้นึกถึงเขาวัว ชุดนี้เป็นหนึ่งในชุดยอดนิยมของผู้ที่ชื่นชอบแต่ง Cosplay ภาพยนตร์ Star Wars มาก และนักออกแบบเครื่องแต่งกายในภาพยนตร์ Star Wars ก็ยอมรับว่า พวกเขาได้เห็นเสื้อผ้าแบบดั้งเดิมของทิเบตและมองโกเลีย จึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบชุดของ เจ้าหญิง Padmé Amidala Naberrie ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกสุนทรีย์ที่ให้ความรู้สึกแบบเอเชีย


แม้ว่า มองโกเลียจึงได้รับเอกราชจากจีนในปี 1911 ได้สำเร็จ แต่ก็ถูกแบ่ง 2 ส่วน ด้วยอิทธิพลของสหภาพโซเวียต ซึ่งส่งกองทหารเข้ามายังมองโกเลียตั้งรัฐบาลใหม่แล้วบังคับให้ชาวมองโกเลียเลิกใช้อักษรมองโกเลีย โดยเปลี่ยนไปใช้อักษรสลาโวนิกที่ใกล้เคียงกับภาษารัสเซียมากกว่าแทน 

แต่เขตปกครองตนเองมองโกเลียในภายใต้สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งไม่ได้ถูกยึดครองโดยสหภาพโซเวียตยังคงใช้ภาษามองโกเลียต่อมาจนถึงทุกวันนี้ 

นอกจากนี้ ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาสคริปต์ภาษามองโกเลียดิจิทัลโดยมหาวิทยาลัยจีนจนสามารถพิมพ์ภาษามองโกเลียในเว็บไซต์ต่าง ๆ  ได้แล้ว ขณะที่ตอนนี้ชาวมองโกเลียในของสาธารณรัฐประชาชนจีนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และ GDP เฉลี่ยต่อคนมากกว่าสาธารณรัฐมองโกเลียถึง 2 เท่า 

ไม่นานมานี้สาธารณรัฐมองโกลประกาศว่า จะเลิกใช้ภาษาสลาโวนิก และกลับมาเรียนรู้และใช้สคริปต์ภาษามองโกเลียที่ใช้ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของจีน 

สถานการณ์ที่คล้ายกันนี้เกิดขึ้นในทิเบตและซินเจียงเช่นกัน อักษรทิเบตและอักษรอุยกูร์ทั้งหมดถูกแปลงเป็นดิจิทัลโดยมหาวิทยาลัยจีน สามารถพิมพ์บนอินเทอร์เน็ตได้ และเป็นข้อพิสูจน์ว่า การที่โลกตะวันตกมักจะเอ่ยอ้างว่า รัฐบาลจีนได้ทำลายล้างวัฒนธรรมของชาวมองโกล ชาวทิเบต และชาวซินเจียง จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล 
 

‘Volkswagen’ พ่าย 'BYD' รถยนต์ขายดีในจีน แต่ยังครองแชมป์ 'แบรนด์รถยนต์ต่างชาติ’ ยอดนิยม

แม้ว่าปี 2023 ที่ผ่านมาจะเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่ Volkswagen ไม่ใช่แบรนด์รถยนต์ที่มียอดขายสูงสุดในจีนแล้วก็ตาม และยังต้องสูญเสียตำแหน่งนี้ให้กับ BYD แบรนด์รถยนต์ของจีนเอง แต่ Volkswagen ก็ยังคงเป็นแบรนด์รถยนต์ต่างชาติอันดับหนึ่งของจีน โดยยอดขายทิ้งห่าง Toyota แบรนด์รถยนต์ต่างชาติอันดับสองถึงกว่า 500,000 คัน และหากรวมเอายอดขายของ Audi แบรนด์รถยนต์ต่างชาติในเครือของ Volkswagen แล้วยอดขายของสองแบรนด์รถยนต์จะพุ่งขึ้นเฉียดสามล้านคัน ยังไม่รวมแบรนด์รถยนต์อื่น ๆ ภายใต้ Volkswagen Group China อันได้แก่ Škoda , Bentley และ Lamborghini ซึ่งจะทำให้ยอดขายโดยรวมมากกว่าสามล้านคันเลยทีเดียว

28 มีนาคม 1937 'Gesellschaft zur Vorbereitung des Deutschen Volkswagens GmbH' ก่อตั้งขึ้นในประเทศเยอรมนี ต่อมาในวันที่ 16 กันยายน 1938 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น 'Volkswagenwerk GmbH' ปัจจุบัน Volkswagen เป็นบริษัทรถยนต์นานาชาติรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งผลิตและจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลก บริษัทเยอรมันแห่งนี้เป็นเจ้าของรถยนต์แบรนด์ดังระดับโลกหลายยี่ห้อ เช่น Audi, Skoda, Lamborghini, Bentley, Porsche, Bugatti, Seat และ Scania

ในจีน Volkswagen ดำเนินการภายใต้บริษัท Volkswagen Group China โดยตลาดรถยนต์จีนเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของ Volkswagen โดยคิดเป็นประมาณ 50% ของยอดขายทั่วโลกของ Volkswagen การดำเนินงานของ Volkswagen ในประเทศจีน ได้แก่ การผลิต การขาย และการบริการรถยนต์ทั้งคัน ชิ้นส่วนและส่วนประกอบ เครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง และ จำหน่ายและบริการรถยนต์นำเข้า ยานพาหนะที่ผลิตในประเทศและนำเข้าของบริษัทจำหน่ายภายใต้ชื่อแบรนด์ต่าง ๆ ในประเทศจีน โดย Volkswagen Group China เป็นบริษัทร่วมทุนระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุด เก่าแก่ที่สุด และประสบความสำเร็จมากที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน บริษัทเริ่มเข้ามาบุกเบิกในจีนตั้งแต่ช่วงต้นปี 1978 และเป็นผู้นำในตลาดยานยนต์ของจีนมายาวนานหลายทศวรรษ จีนเป็นตลาดเดียวที่ใหญ่ที่สุดสำหรับ Volkswagen 

การเข้าสู่ประเทศจีนของ Volkswagen เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 1985 เมื่อก่อตั้ง Shanghai Volkswagen โรงงานแห่งแรกในเซี่ยงไฮ้ เป็นบริษัทร่วมทุน โดยจีนและเยอรมนีต่างถือครองเงินลงทุนเริ่มแรกฝ่ายละครึ่ง ปัจจุบันเป็นฐานการผลิตรถยนต์สมัยใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ภายใต้แบรนด์หลักสองแบรนด์ Volkswagen และ Skoda ครอบคลุม ตลาด A0, A, B และ SUV แม้จะประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากบริษัทผลิตรถยนต์ต่างประเทศรายอื่น อาทิ Santana Motor บริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติสเปน และแน่นอนในปัจจุบันยังต้องเผชิญกับคู่แข่งซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ท้องถิ่น เช่น BYD (ซึ่งสามารถแซงหน้า Volkswagen ได้แล้ว) Geely หรือ Changan ฯลฯ

แม้ว่าตลาดรถยนต์ของจีนอยู่ในช่วงการเติบโตที่ลดลง สืบเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวลง และกำลังเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19 อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตที่สูงของตลาดรถ SUV (Sport Utility Vehicle) ได้ดึงดูดความสนใจจากผู้ผลิตรถยนต์หลายราย ตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2017 ยอดขายรถ SUV เติบโตอย่างรวดเร็วในจีน โดยมีอัตราการเติบโตสูงถึง 27% ส่วนแบ่งของ SUV ในตลาดจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยอดขายรถยนต์ SUV รุ่น Teramont และ Phideon ของ Volkswagen สะท้อนถึงแนวโน้มสำคัญในตลาดรถยนต์จีน Teramont ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับรถยนต์ SUV ปัจจุบันรถยนต์จดทะเบียนใหม่ในจีนประมาณ 40% เป็นรถยนต์ SUV และตัวเลขดังกล่าวก็กำลังเพิ่มขึ้น เฉพาะแบรนด์ Volkswagen เพียงแบรนด์เดียวก็มีรถยนต์ SUV มากกว่า 10 รุ่นในตลาด SUV ภายในสิ้นปี 2020 ในปี 2018 มีการเปิดตัวรถยนต์รุ่น Tharu, Tayron, Touareg และ T-Roc ในปี 2564 Volkswagen ได้ลงทุนมากกว่า 4.4 พันล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มรถ SUV ให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์นี้

ปัจจุบันจีนมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำเทรนด์ของโลกและเป็นตลาดด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็นร้อยละ 60 ของความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าและปลั๊กอินไฮบริดทั่วโลกในปี 2018 และมียอดขายรถยนต์โดยสารระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าประมาณหนึ่งล้านคันในจีน โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 50% ในปี 2019 รัฐบาลจีนให้ความสนใจอย่างมากต่อรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ในปี 2020 ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยของยานพาหนะอยู่ที่ 5 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร เพื่อพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น รัฐบาลจีนจึงกำหนดโควตารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้บริษัทผู้ผลิตในจีนที่ขายรถยนต์มากกว่า 30,000 คันในจีนต้องผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 10% 

Volkswagen กับตลาดรถยนต์สีเขียวของจีน โดย Volkswagen Anhui (ชื่อเดิม JAC-Volkswagen) เป็นการร่วมทุนที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 ระหว่าง JAC Motors กับ Volkswagen ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเมืองเหอเฟย มณฑลอานฮุย โดยเริ่มแรกเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้ แบรนด์ SEAT และต่อมาคือแบรนด์ Sehol ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Volkswagen Anhui หลังจากที่ Volkswagen เข้าถือหุ้นใหญ่ (75%) ในบริษัทในปี 2020 พร้อมกับถือหุ้น 50% ใน JAG (บริษัทแม่ของ JAC) ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของในข้อตกลงมูลค่าหนึ่งพันล้านยูโร บริษัทจะมุ่งเน้นไปที่รถยนต์ไฟฟ้า โดยมีศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา e-Mobility ที่จะให้บริการแก่ Volkswagen Group ทั้งหมดในประเทศจีน Volkswagen กำลังสร้างโรงงานแห่งใหม่สำหรับ รถยนต์ไฟฟ้า แพลตฟอร์ม MEB ของ Volkswagenโดยมีกำลังการผลิต 350,000 คันต่อปีภายใต้บริษัท ควบคู่ไปกับโรงงานระบบแบตเตอรี่ภายใต้บริษัท VW Anhui Components ที่ถือหุ้นทั้งหมด 

ในเดือนพฤษภาคม ปี 2023 Volkswagen ได้ประกาศการลงทุนเพิ่มอีก 23.1 พันล้านหยวน (3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ใน Volkswagen Anhui ซึ่งประกอบด้วย 14.1 พันล้านหยวนสำหรับศูนย์วิจัยและพัฒนา และเกือบ 9.1 พันล้านหยวนในระยะแรกของฐานการผลิตในเหอเฟย ทั้งนี้ในเดือนเมษายน ปี 2023 Volkswagen ได้ประกาศการลงทุนมูลค่า 1 พันล้านยูโร (1.1 พันล้านดอลลาร์) ในศูนย์กลางแห่งใหม่ของจีนที่เรียกว่า 100% TechCo เพื่อการพัฒนา นวัตกรรม และการจัดหารถยนต์ไฟฟ้าที่เชื่อมต่ออย่างเต็มรูปแบบ โรงงานดังกล่าวจะตั้งอยู่ในเมืองเหอเฟย ใกล้กับ Volkswagen Anhui ด้วยจำนวนพนักงาน 2,000 คน โดย Volkswagen มีแผนที่จะผสานการวิจัยและพัฒนายานยนต์และส่วนประกอบเข้ากับการจัดซื้อ ซึ่งจะทำให้วงจรการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่สั้นลงประมาณ 30% คาดว่าจะ "มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโมเดลแบรนด์ Volkswagen ในอนาคตที่จะเปิดตัวในปี 2567

หลายสิบปีมาแล้วที่ Volkswagen เป็นรถ Taxi ยอดนิยมในจีน

กลับมาดูบ้านเราแม้จะเป็นฐานการผลิตของรถยนต์มากมายหลายแบรนด์ทั้งค่ายตะวันตกและตะวันออก ทั้งมีโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศรองรับเป็นจำนวนมาก และแนวโน้มรถยนต์ของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงจากพลังงานสันปดาบมาเป็นพลังไฟฟ้าแล้ว แต่จนทุกวันนี้บ้านเราก็ยังไม่มีวี่แววที่จะได้เห็นแบรนด์รถยนต์แห่งชาติเลย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าที่สุดแล้วจะมีนักลงทุนชาวไทยได้คิดที่จะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์แบรนด์ไทยให้ได้ใช้กันในอนาคต
 

‘กองทัพสหรัฐฯ’ เตรียมย้ายกำลัง ‘นาวิกโยธิน’ กว่า 4,000 นาย หลังตั้งฐานทัพบน ‘เกาะโอกินาวา’ ไปยัง ‘เกาะกวม’ ภายในปี 2024

สำนักข่าว KYODO รายงานว่า จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ ซึ่งกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่าการย้ายกำลังนาวิกโยธินที่ประจำการในฐานทัพบนเกาะโอกินาวากว่า 4,000 นาย ไปยังเกาะกวมสามารถเริ่มได้ในปี 2024 ตามที่วางแผนไว้ โดยระบุถึงความคืบหน้าที่สำคัญในการก่อสร้างฐานทัพดังกล่าวในดินแดนแปซิฟิกของสหรัฐฯ เพื่อรองรับทหารนาวิกโยธินดังกล่าว หลังจากการชะลอตัวของโครงการก่อสร้างฐานทัพบนเกาะกวน อันเนื่องจากข้อจำกัดจากการระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างแรงงานจากประเทศต่าง ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา พล.ร.ต. Benjamin Nicholson ผู้บัญชาการร่วมภูมิภาค Marianas กล่าวว่าการก่อสร้างฐาน ‘เต็มรูปแบบอีกครั้ง’

พล.ร.ต. Benjamin Nicholson ผู้บัญชาการกองกำลังร่วมภูมิภาค Marianas ของกองทัพสหรัฐฯ ขณะให้สัมภาษณ์ที่เกาะกวมเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2022

การก่อสร้างค่าย Blaz ได้รับงบประมาณร่วมจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นภายใต้แผนการจัดกำลังพลปี 2006 ซึ่งส่วนหนึ่งพยายามลดกำลังทหารสหรัฐฯ ในฐานทัพบนเกาะโอกินาวา จังหวัดทางตอนใต้ของญี่ปุ่นอันเป็นที่ตั้งของกองกำลังทหารสหรัฐฯ จำนวนมากที่สุดในญี่ปุ่น ในปี 2012 ทั้งสองประเทศกล่าวว่ากำลังนาวิกโยธินประมาณ 9,000 นาย จากทั้งหมดประมาณ 19,000 นาย ฐานทัพบนเกาะโอกินาวาจะถูกย้ายออกจากญี่ปุ่นไปยังเกาะกวมและมลรัฐฮาวาย

พลจัตวา Vicente ‘Ben’ Blaz

ทั้งนี้ พ.อ. Christopher Bopp ผู้บัญชาการฐานนาวิกโยธินบนเกาะกวม กล่าวว่า สิ่งอำนวยความสะดวกแรก ๆ ที่จะแล้วเสร็จ ได้แก่ ฐานทัพ ค่ายทหาร และห้องครัว หลังจากนั้นก็จะเริ่มการโยกย้ายบุคลากรมาจากฐานทัพบนเกาะโอกินาวา เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้พูดคุยในขณะที่สำนักข่าว Kyodo และสำนักข่าวอื่น ๆ มีโอกาสได้เห็นโครงการเหล่านี้โดยตรง ซึ่งดำเนินการไปได้ครึ่งทางแล้ว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สื่อญี่ปุ่นได้รับอนุญาตให้เข้าไปในฐานทัพบนเกาะกวมนับตั้งแต่กองกำลังนาวิกโยธินเปิดใช้งานฐานทัพบางส่วนในเดือนตุลาคม 2020 โดยเรียกฐานทัพดังกล่าวว่า ‘ค่าย Blaz’ ได้มีพิธีซึ่งตั้งชื่อค่ายอย่างเป็นทางการ มีการเชิญตัวแทนของกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น ได้มีขึ้นในเดือนมกราคมที่ผ่านมาตามชื่อของ พลจัตวา Vicente ‘Ben’ Blaz ชาวเกาะกวมผู้ซึ่งเคยเป็นสส.ของดินแดนในสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกาด้วย

พ.อ. Christopher Bopp ผู้บัญชาการค่าย Blaz กำลังแก้ไขป้ายต้อนรับ
หลังจากไต้ฝุ่น Mawar ถล่มเกาะกวมในเดือนพฤษภาคม 2023

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้จัดสรรงบประมาณ 8.7 พันล้านดอลลาร์สำหรับการก่อสร้าง โดยญี่ปุ่นให้การสนับสนุนมากถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์สำหรับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีดับเพลิง และสถานบำบัดภายในฐานทัพดังกล่าว ชาวเกาะกวมบางส่วนได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับกองกำลังนาวิกโยธินขนาดใหญ่ โดยอ้างถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมบนเกาะแห่งนี้ แต่กองทัพสหรัฐฯ ยืนยันว่ามีการสื่อสารอย่างต่อเนื่องกับผู้ว่าการเกาะกวมและตัวแทนชุมชน 

พล.ร.ต. Nicholson กล่าวว่า นาวิกโยธินที่ย้ายเข้ามาใหม่อาจพบว่า วัฒนธรรม ภาษา และสกุลเงินของกวมมีความใกล้เคียงสหรัฐฯ บ้านเกิดมากกว่าในญี่ปุ่น และจะเป็นการง่ายกว่าสำหรับทหารเหล่านั้นในการติดต่อกับผู้คนในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาเดินทางออกจากฐานทัพในช่วงวันหยุด คาดว่า กำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ ชุดแรกจะย้ายจากญี่ปุ่นไปยังฐานทัพนาวิกโยธินที่เพิ่งเปิดใช้งานใหม่บนเกาะกวมในช่วงปลายปี 2024 นี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top