Monday, 29 April 2024
ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล

‘สหรัฐอเมริกา’ ประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก  เผชิญสงครามความยากจน หลังคนไร้บ้านพุ่งสูงเข้าขั้นวิกฤต



ภาพอันน่าตกใจที่แสดงให้เห็นแถวรถยนต์ชนิดต่างๆ ที่จอดเรียงรายต่อกันยาวกว่าสองไมล์ (ราวสามกิโลเมตร) ซึ่งประกอบด้วยผู้คนที่อาศัยอยู่ในรถบ้าน (รถ RV) รถบรรทุก และรถพ่วง บนถนนทางหลวงหมายเลข 101 ในเขตเทศมณฑลมาริน (Marin) ทางตอนเหนือของนครซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยถูกขับไล่ออกจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เคยเป็นของพวกเขา ด้วยรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในเขตเทศมณฑลมาริน อยู่ที่ปีละ 131,000 ดอลลาร์ โดย 78% ของคนไร้บ้านเคยมีบ้านพักอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ ก่อนที่จะถูกบังคับให้ย้ายออกจากถิ่นที่อยู่ อันเนื่องมาจากถูกยึดทรัพย์จนต้องไปตั้งแคมป์ ดังที่เห็นตามภาพ


ภาพเหล่านี้ ถ่ายโดย DailyMail.com แสดงให้เห็นครอบครัวหลายครอบครัวที่อาศัยอยู่ในเต็นท์ และนำแผงพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เป็นกระแสไฟฟ้า ขณะที่ข้าวของของพวกเขาล้นทะลักออกมาจากยานพาหนะ ในขณะเดียวกัน มลรัฐแคลิฟอร์เนียต้องใช้เงินมากกว่า 3 ล้านดอลลาร์ เพื่อพยายามช่วยผู้ที่อาศัยอยู่ในยานพาหนะ และเพื่อใช้ในการหาบ้านพักอาศัย ชาวบ้านหลายร้อยคนในเทศมณฑลที่มั่งคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของนครซานฟรานซิสโก ถูกบีบให้ต้องใช้ชีวิตของพวกเขาในรถบ้าน และรถพ่วงบ้าน หลังจากถูกขับออกจากบ้านพักที่ตนอาศัยอยู่


ภาพถ่ายที่น่าตกใจแสดงให้เห็นแถวของรถบ้าน รถพ่วงบ้าน รถบรรทุก และยานพาหนะอื่นๆ ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามทางหลวงหมายเลข 101 ซึ่งตอนนี้ทอดยาวไปกว่าสองไมล์แล้ว จนกลายเป็นค่ายพักผู้ไร้บ้านใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เมืองต่างๆ ในเทศมณฑลมาริน ซึ่งบ้านโดยเฉลี่ยราคา 1.4 ล้านดอลลาร์ กำลังผลักดันให้เส้นทางเลียบทางหลวงยุติลง หลังจากจำนวนผู้อาศัยในรถยนต์เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการระบาดใหญ่


บางครอบครัวก็ใช้ธงเพื่อทำเครื่องหมายพื้นที่ถนนที่พวกเขาใช้เป็นบ้าน โดยมีหลายคนดึงผ้าใบมาคลุมรถเพื่อปกป้องทรัพย์สินของพวกเขา เจ้าหน้าที่กล่าวว่า มียานพาหนะอย่างน้อย 135 คัน บนถนนบินฟอร์ด (Binford) ชานเมืองโนวาโต เนื่องจากจำนวนยานพาหนะชนิดต่างๆ ที่ถูกใช้เป็นบ้านได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ


รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในเทศมณฑลมาริน อยู่ที่ 131,000 ดอลลาร์ ซึ่งทำให้ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า ไม่สามารถหันไปทางไหนได้ จนผู้อยู่อาศัยในบริเวณโดยรอบต้องรวมตัวกันเพื่อพยายามช่วยให้ยุติการตั้งชุมชนผู้ไร้บ้านด้วยการยื่นมือเข้าไปช่วยผู้คนในการค้นหาบริการต่าง ๆ ที่พวกเขาต้องการ ทุกเดือนพวกเขาจะได้รับของอุปโภคบริโภคฟรี ความช่วยเหลือในการจัดการกรณีที่อยู่อาศัย ความช่วยเหลือทางสังคม การแพทย์ และอื่นๆ โดยชุมชนคนไร้บ้านยังต้องดิ้นรนกับปัญหาสุขภาพ อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และสุขภาพจิต และซึ่งจะมีการผลักดันให้มีการขยายบริการหลังจากที่รัฐมอบเงินทุนให้แก่ เทศมณฑลโนวาโต (Novato), ซอซาลิโต (Sausalito) และ ซาน ราฟาเอล (San Rafael) และให้แก่ เทศมณฑลมาริน สำหรับพื้นที่ที่คนไร้บ้านอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ ถนนบินฟอร์ด


แต่ละเมืองและเทศมณฑลได้รับเงิน 500,000 ดอลลาร์ เพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน โดยมลรัฐจะมอบทรัพยากรมูลค่า 1 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือแต่ละพื้นที่ ผู้อยู่อาศัยที่มีรายได้น้อยในเขตเทศมณฑลมาริน บอกว่า “พวกเขาไม่มีที่ไป” เนื่องจากวิกฤตค่าครองชีพที่เกาะกุมพื้นที่นี้มาเป็นเวลานานแล้ว ‘Gary Naja-Riese’ ผู้อำนวยการสำนักงานดูแลคนไร้บ้านของเทศมณฑลมาริน กล่าวว่า “สิ่งสำคัญอันดับแรกและเร่งด่วนของพวกเขาคือ การจัดการกับผู้คนที่อาศัยอยู่บนถนนบินฟอร์ด”


จำนวนยานพาหนะยาวเกินสองไมล์และเกิดปัญหาสุขอนามัย และการแพร่ระบาดของโรค และชุมชนคนไร้บ้านดังกล่าวยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลายคนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้บนรถเพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าและปรุงอาหารในรถ RV ได้ เจ้าหน้าที่บางคนได้ผลักดันให้มีการห้ามจอดรถข้ามคืน ซึ่งไม่ได้ถูกนำมาใช้ เทศมณฑลมาริน กำลังวางแผนที่จะจ้างนักสังคมสงเคราะห์เต็มเวลาเพื่อดูแลคนไร้บ้านที่อยู่อาศัยในชุมชนดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาของพวกเขาโดยตรง เทศมณฑลมาริน ประเมินว่า มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 80 ครอบครัวอาศัยอยู่บนถนนบินฟอร์ดอย่างถาวร แต่ก็มีบางส่วนที่ทิ้งรถไว้ริมถนน และบางคนก็มีสุขภาพที่ดีพอที่จะทำงานเต็มเวลาได้ แม้ว่าจะไม่มีใครสามารถซื้อที่อยู่อาศัยในเทศมณฑลมาริน ด้วยค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูงขึ้น


เมืองอื่นๆ ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ออกกฎหมายบังคับใช้ห้ามรถบ้าน (รถ RV) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 แล้ว เนื่องจากมีผู้คนมากมายที่ได้รับผลกระทบเมื่อผู้อยู่อาศัยในรถบ้าน (รถ RV) ปฏิเสธที่จะย้าย เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่า เนื่องจากชุมชนคนไร้บ้านที่ถนนบินฟอร์ดได้รับความช่วยเหลือหลายทาง จึงมีชื่อเสียงในฐานะหนึ่งในพื้นที่สุดท้ายที่เหลือของคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในรถบ้าน ซึ่งจะไม่ถูกรบกวนจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเช่นพื้นที่อื่น ๆ ‘Zoe Neil’ ผู้อำนวยการสำนักงานถนนในเขตเมืองของเทศมณฑล Marin กล่าวว่า “ในอดีตการนอนหลับอย่างปลอดภัยในยานพาหนะหรือจุดตั้งแคมป์นอกบ้านของเทศมณฑลมารินเป็นเรื่องยาก บินฟอร์ดเป็นหนึ่งในสถานที่เดียวที่คนไร้บ้านสามารถนำรถไปจอดอยู่ได้ แม้ว่า ถนนสายดังกล่าวจะไม่ใช่ที่หลบภัยก็ตาม”


เทศมณฑลมาริน กำลังหาเงินทุนเพิ่มเติมอีก 1.5 ล้านดอลลาร์ จากรัฐบาลมลรัฐ ซึ่งจะช่วยให้สามารถจ้างเจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่เพิ่มได้อีก 2 คนที่จะทำงานเต็มเวลาแก้ปัญหาชุมชนคนไร้บ้านที่ถนนบินฟอร์ด โดยเฉลี่ยแล้วเทศมณฑลมาริน จะหาบ้านพักให้คนไร้บ้านซึ่งมีอยู่ทั่วเทศมณฑลมาริน ได้เฉลี่ยเดือนละสิบครอบครัว โดยส่วนใหญ่ผ่านโครงการหุ้นส่วนเจ้าของบ้านของสำนักงานการเคหะของเทศมณฑลมาริน โดยประมาณ 78% ของคนไร้บ้านในพื้นที่เคยมีที่พักอาศัยในเทศมณฑลมาริน ก่อนที่จะถูกไล่ออกจากที่อยู่อาศัยเดิม


สหรัฐอเมริกาเริ่มทำสงครามต่อสู้กับความยากจน (War against poverty) ในปี ค.ศ. 1964 และต้องยอมรับต่อความพ่ายแพ้ในการทำสงครามดังกล่าว เมื่อปี ค.ศ. 2014 หรือ 50 ปีต่อมา แม้ว่ารัฐบาลกลางจะมีเงินงบประมาณเพื่อแก้ไขได้ แต่กลับไม่ทำ และเอาเงินงบประมาณไปทุ่มกับงบกลาโหม และงานต่างประเทศจนหมด หากสหรัฐอเมริกาเลิกทำตัวเป็นตำรวจโลก ลดงบประมาณด้านการทหาร ย่อส่วนโครงการอวกาศลง สหรัฐฯ จะสามารถผันเอาเงินงบประมาณจำนวนมาก มาแก้ปัญหาความยากจนในประเทศ (Domestic poverty) ได้อย่างสบายๆ

เรื่องราวที่ ‘Ferrari’ ไม่เคยได้รับการบอกเล่า  ช่างซ่อมรถชาวเม็กซิกันช่วยชีวิตบริษัทได้อย่างไร?


‘Carrera Panamericana’ เป็นงานแข่งรถแรลลี่ของรถสต็อก รถทัวร์ริ่ง และรถสปอร์ต บนถนนโล่ง ๆ ในเม็กซิโก ซึ่งคล้ายกับการแข่งขันรถสนาม Mille Miglia และสนาม Targa Florio ในอิตาลี ซึ่ง ‘Carrera Panamericana’ ซึ่งได้จัดการแข่งขันติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 ถึง ค.ศ. 1954 เป็นแข่งขันรถแรลลี่ที่ได้รับการยกย่องและยอมรับอย่างกว้างขวางว่า เป็นการแข่งขันที่อันตรายที่สุดในโลก เป็นหนึ่งในการแข่งขันที่ทดสอบความอดทนทั้งของรถและตัวนักแข่งที่ท้าทายที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นสนามแข่งที่ทดสอบรถยนต์ที่ดีที่สุดด้วยนักแข่งที่มีประสบการณ์และกล้าหาญที่สุดในยุคนั้น


โดยบริษัท Ferrari ได้ส่ง Umberto Maglioli ลงแข่งด้วยรถ Ferrari 375 Plus ของเขา ในยุคนั้นแม้ว่า Ferrari จะเป็นรถที่มีชื่อเสียงในยุโรป แต่ก็ไม่ได้มีชื่อเสียงในทวีปอเมริกา โดยเฉพาะตลาดรถยนต์ในสหรัฐฯ และแบรนด์ Ferrari ในตอนนั้นยังห่างไกลจากการเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ Ferrari จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิสูจน์ให้คนอเมริกันเห็นว่า รถของพวกเขาเหนือกว่า รวดเร็วกว่า และเชื่อถือได้ การชนะการแข่งขัน Carrera Panamericana จะทำให้พวกเขาเป็นที่รู้จัก และสร้างยอดขายในสหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์ Ferrari รอดพ้นจากการล้มละลาย


Umberto Maglioli เข้าร่วมการแข่งขันด้วยรถ Ferrari 375 Plus ในขณะเขาเป็นผู้นำใน Stage ที่ 4 และอยู่ระหว่างจากแข่งขันใน Stage ที่ 5 อันเป็น Stage สุดท้ายของการแข่งขัน ไม่นานก่อนจะจบ Stage ที่ 4 รถ Ferrari 375 Plus ของเขาเริ่มเสีย ด้วยอาการน้ำมันรั่วผ่านรูในคาร์บูเรเตอร์ ท่ามกลางความห่างไกลและไม่มีชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับส่วนสำคัญของรถ ความหวังที่จะจบการแข่งขันแทบจะเป็นศูนย์

และเมื่อรถ Ferrari 375 Plus ของเขาจวนจะหยุดทำงาน Umberto Maglioli ก็ได้หยุดรถกลางถนนเมื่อเขาเห็นอู่ซ่อมรถยนต์เล็ก ๆ ชื่อว่า ‘El Milagro’ ซึ่งมี Renato Martinez เป็นเจ้าของและช่างเครื่องเพียงคนเดียวของอู่ ที่อยู่ในที่สถานที่ห่างไกลและกันดารแห่งนี้ หลังจากตรวจดูอาการขอรถ Ferrari 375 Plus แล้ว Martinez ช่างและเจ้าของอู่ก็ยืนยันกับ Maglioli ว่า อาการแท้จริงแล้วเกิดจากน้ำมันรั่วในห้องข้อเหวี่ยง และเขามีวิธีแก้ไขที่ ‘สร้างสรรค์’ เพื่อซ่อมแซมโดยใช้เวลาไม่นาน อย่างน้อยก็จะสามารถทำให้ Maglioli เสร็จสิ้นการแข่งขันของเขาได้

ว่าแล้ว Martinez ก็เอาถังน้ำและสบู่ก้อนใหญ่ออกมา ก่อนที่จะเริ่มทำงาน เขายังได้หยิบน้ำอัดลมสามขวดเล็กส่งให้ Maglioli แล้วพูดว่า “ในขณะที่คุณดื่มน้ำอัดลมนี้ ผมก็จะซ่อมรถของคุณ” แม้ Maglioli จะไม่เชื่อว่า Martinez ทำได้ แต่เขาก็ทำได้เพียงแค่ดื่มน้ำอัดลมและรอปาฏิหาริย์ ในขณะเดียวกัน Martinez ก็จัดการรื้อเครื่องยนต์ของรถ Ferrari 375 Plus แล้วใช้สบู่ค่อย ๆ ถูบริเวณที่ชำรุดเสียหายของเครื่องยนต์อย่างใจเย็น จากการถูเสียดสีสบู่ก็ค่อย ๆ ละลาย กลายเป็นแผ่นสบู่ที่สามารถปิดรูรั่ว โดยสบู่จะป้องกันน้ำมันรั่ว และเกาะติดกับโลหะในห้องข้อเหวี่ยง แล้วเมื่อแข็งตัวสบู่ก็จะแข็งเหมือนหิน

Maglioli รู้สึกประหลาดใจ และขอบคุณ Renato พร้อมทั้งดึงกล้อง Rolleiflex ขนาดเล็กออกมาจากรถ Ferrari ซึ่งเขาใช้จับภาพช่วงเวลาอันน่าอัศจรรย์นั้น เป็นภาพถ่าย ณ อู่ ‘El Milagro’ โดย Renato Martinez ซึ่งยืนถัดจากรถ Ferrari 375 Plus ซึ่งอยู่ระหว่างการซ่อมแซม และต่อมารูปนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในรูปอมตะของบริษัท Ferrari


Umberto Maglioli ขับรถ Ferrari 375 Plus ของเขา จบการแข่งขันใน Stage ที่ 5 เป็นที่ 1 และเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของบริษัท Ferrari ไปตลอดกาล หลังจากนั้นไม่นาน Renato Martinez ก็ได้รับรูปถ่ายที่ Maglioli ถ่ายในช่วงเวลานั้นทางไปรษณีย์ ภาพถ่ายได้รับมีข้อความว่า “ถึงเพื่อนของผม Renato M. จาก Umberto Maglioli” ภาพถ่ายนี้มาพร้อมกับจดหมายขอบคุณ Renato ซึ่งเขียนว่า “Renato, The Mexican Miracle ผู้ซึ่งได้ช่วยบริษัท Ferrari” เอาไว้ จดหมายนั้นลงนามโดย Enzo Ferrari

 

ย้อนรอย 48 ปี วิกฤตการณ์ Mayaguez (มายาเกซ/มายาเกวซ) อันเป็นปัจฉิมบทของฐานทัพของสหรัฐฯ ในไทย และปฐมบทแห่งความสัมพันธ์ไทย-จีน

บอง บอง เฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

เมื่อการเลือกตั้งในบ้านเราจบลง พรรคการเมืองที่มหาอำนาจชาติตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา วาดหวังที่จะให้เป็นรัฐบาลก็ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับหนึ่งและสอง ด้วยหมายมั่นปั้นมือว่าจะกลับมามีบทบาทและอิทธิพลในภูมิภาคนี้ หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการสนับสนุน บอง บอง เฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์ จนได้เป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และยินยอมเปิดรับการกลับเข้ามาฟิลิปปินส์ของสหรัฐฯ หลังจาก โรดรีโก โรอา ดูแตร์เต อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์แสดงบทบาทท่าที่แข็งกร้าวกับรัฐบาลสหรัฐฯ โดยตลอด 

สนามบินอู่ตะเภา

ด้วยจุดมุ่งหมายของสหรัฐฯ ที่จะกลับมามีบทบาทและอิทธิพลในภูมิภาคนี้คือ การใช้ประเทศในภูมิภาคนี้เป็นพันธมิตรในการปิดล้อมจีน และสิ่งที่สหรัฐฯ หมายมั่นปั้นมือที่สุดในไทยคือ การกลับเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาอันเป็นสนามบินที่สหรัฐฯ สร้างเอาไว้ในยุคสงครามเย็น โดยเป็นฐานทัพอากาศที่มีเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-52 ประจำการ และใช้เป็นฐานปฏิบัติการในการทิ้งระเบิดในเวียดนาม ลาว เพราะสนามบินอู่ตะเภามีความพร้อมในการรองรับกองกำลังทางอากาศของสหรัฐฯ และยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทหารที่ดีที่สุดในภูมิภาคนี้ที่ครอบคลุมทะเลจีนใต้ (มหาสมุทรแปซิฟิก) และทะเลอันดามัน (มหาสมุทรอินเดีย) ซึ่งจะทำให้ราชอาณาจักรไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคน กลับมาอยู่ในวงของความขัดแย้งของสหรัฐฯ และจีนโดยตรง เช่นที่เคยเกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น โดยเฉพาะสงครามอินโดจีนหรือสงครามเวียดนาม อีกครั้งหนึ่ง


สำหรับวิกฤตการณ์ Mayaguez (มายาเกซ/มายาเกวซ) อันเป็นจุดจบของฐานทัพของสหรัฐฯ ในไทย และจุดเริ่มต้นแห่งความสัมพันธ์ไทย-จีน เกิดขึ้นเมื่อบ่ายวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 ขณะที่เรือสินค้า SS Mayaguez บรรทุกอาหาร และเวชภัณฑ์เดินเรือในน่านน้ำสากลจากฮ่องกง ผ่านใกล้ชายฝั่งกัมพูชาเพื่อไปยังท่าเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ได้ถูกเรือติดอาวุธของรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตย (เขมรแดง) ยึดเรือ และจับลูกเรือ 39 คนเป็นตัวประกัน โดยอ้างเรือสินค้า SS Mayaguez ว่ารุกล้ำน่านน้ำกัมพูชา (ในเขตน่านน้ำซึ่งอยู่ห่างจากฝั่งของประเทศกัมพูชาประมาณ 60 ไมล์) รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทำการตอบโต้อย่างแข็งกร้าวและรวดเร็ว เพราะเห็นเป็นโอกาสอันดีที่ผู้นำสหรัฐฯ จะสามารถแสดงอำนาจและความเด็ดขาดให้ปรากฏแก่ชาวโลก เนื่องจากว่าเพียงแค่เดือนก่อนหน้านั้นทั้งกัมพูชาและเวียดนามใต้ได้พ่ายแพ้แก่กองกำลังคอมมิวนิสต์ ซึ่งสร้างความสั่นคลอนอย่างยิ่งแก่เกียรติภูมิและความภูมิใจแห่งชาติของชาวอเมริกัน


ปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ เพื่อชิงเรือ SS Mayaguez คืนเกิดขึ้นโดยนาวิกโยธินอเมริกันจากเกาะโอกินาวาและอ่าวซูบิก ที่ถูกส่งมายังฐานทัพอเมริกันที่อู่ตะเภาในวันที่ 13 พฤษภาคม ได้บุกจู่โจมชิงเรือ SS Mayaguez และลูกเรือคืนในเช้ามืดวันที่ 14 พฤษภาคม โดยมีเครื่องบินรบจากฐานทัพอเมริกันที่อุดรธานีและโคราชออกปฏิบัติการร่วมด้วย และประสบความสำเร็จในเวลาประมาณ 11.00 น. การใช้ดินแดนไทยเพื่อปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้ เกิดขึ้นโดยขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทย ซึ่งมิได้รับรู้ถึงปฏิบัติการครั้งนี้เลย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้แจ้งแก่อุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยในวันที่ 13 พฤษภาคม แล้วว่า ไทยไม่ยินยอมให้ใช้ดินแดนไทยในทางการทหารใด ๆ เพื่อตอบโต้กัมพูชา แม้ว่า ก่อนการดำเนินภารกิจนี้ สถานทูตสหรัฐฯ ได้แจ้งแผนการใช้กำลังต่อพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นผู้ที่สหรัฐฯ ติดต่อด้านการทหารเป็นประจำ พลเอกเกรียงศักดิ์ได้ให้อนุญาต โดยมิได้แจ้งแก่รัฐบาลไทย และรัฐบาลไทยซึ่งรับรู้สถานการณ์ภายหลังจากที่สหรัฐฯ ดำเนินภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว ก็ได้แถลงว่าการกระทำครั้งนี้เป็นการละเมิดอธิปไตยไทย และได้ยื่นบันทึกประท้วงต่ออุปทูตสหรัฐฯ พร้อมทั้งระบุให้ถอนนาวิกโยธินออกทั้งหมดภายใน 24 ชั่วโมง



อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ได้สร้างความสะเทือนกว้างไกล กลุ่มการเมืองต่าง ๆ ได้แสดงปฏิกิริยาประท้วงและประณามสหรัฐฯ อย่างรวดเร็วและอย่างสอดคล้องกัน ซึ่งขัดแย้งกับบริบทการเมืองไทยขณะนั้น ที่มีความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองอย่างรุนแรงในสังคม (ไม่ต่างไปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้) ดังที่บทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 ระบุว่า “ไม่มีครั้งใดในการเมืองไทยที่คนไทยทั้งชาติจะแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบต่อรัฐบาลสหรัฐฯรุนแรงเท่าครั้งนี้” การเคลื่อนไหวเริ่มขึ้นในวันที่ 15 พฤษภาคม โดยพรรคการเมืองฝ่ายค้านทุกพรรคได้เรียกร้องให้เปิดประชุมสภาวิสามัญ เพราะเห็นว่าเหตุการณ์เป็นภาวะคับขันและเกี่ยวข้องกับเอกราชและอธิปไตยของชาติ หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับของไทยได้เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนความสัมพันธ์ไทย – อเมริกัน เพื่อให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน แต่ปฏิกิริยาที่รุนแรงที่สุดมาจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งได้จัดการชุมนุมประท้วงสหรัฐฯ ที่สนามหลวงและมีผู้เข้าร่วมหลายพันคน ต่อมาในวันที่ 16 พฤษภาคม คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ส่งบันทึกประท้วงถึงรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ พร้อมทั้งเรียกตัวเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ กลับ พร้อมทั้งประกาศที่จะทบทวนสัญญาและข้อผูกพันระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่มีทั้งหมด ส่วนการชุมนุมที่นำโดยศูนย์นิสิตนักศึกษาฯ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ขีดเส้นตายให้รัฐบาลสหรัฐฯต้องขอโทษไทยภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากที่ไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ จากรัฐบาลสหรัฐฯ ในวันต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มายังหน้าสถานทูตสหรัฐฯ อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ได้เข้าร่วมด้วย เช่น นายธีรยุทธ บุญมี และ นายเสกสรร ประเสริฐกุล เป็นต้น

นพ.เหวง โตจิราการ หนึ่งแกนนำการประท้วงสหรัฐฯ ในขณะนั้น

ในวันที่สามของการชุมนุมประท้วงมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนถึงกว่าหนึ่งหมื่นคน สหภาพกรรมกร 61 แห่งได้ประกาศเข้าร่วมด้วย และขู่จะทำลายธุรกิจของบริษัทที่ชาวอเมริกันเป็นเจ้าของถ้าสหรัฐฯยังไม่ขอโทษไทย นอกจากนี้ ยังมีการชุมนุมของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ด้วย ผู้ชุมนุมที่หน้าสถานทูตสหรัฐฯได้เผาหุ่นประธานาธิบดีฟอร์ดและ ดร.เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีความผิดตามคำพิพากษาของ “ศาลประชาชน” คือ “เป็นฆาตกรเลือดเย็น ฆ่าประชาชนหลายหมื่นคนในอินโดจีนและหลอกลวงประชาชนไทย”


นายธีรยุทธ บุญมี ได้ประกาศด้วยว่าหากประธานาธิบดีฟอร์ดไม่ขอโทษประชาชนไทยเองภายใน 24 ชั่วโมง ก็จะเผาธงชาติอเมริกันซึ่ง “เป็นการทำลายสัญลักษณ์ของจักรวรรดินิยมอเมริกา” การชุมนุมได้เกิดความวุ่นวายขึ้นเมื่อผู้ชุมนุมกรูกันเข้าไปแกะตราสถานทูตฯซึ่งเป็นรูปนกอินทรีลงกระทืบและติดรูปอีแร้งแทน ป้ายชื่อสถานทูตถูกทับด้วยป้าย ‘ซ่องโจร’ และขณะที่เหตุการณ์กำลังชุลมุนนั้น ก็มีคนกลุ่มหนึ่งแต่งตัวเป็นชาวเวียดนามกระชากธงชาติอเมริกันลงมาปัสสาวะรดกลางที่ชุมนุม ซี่งในขณะเกิดเหตุการณ์ทั้งหมดนั้น กำลังตำรวจที่ดูแลบริเวณนั้นมิได้เข้าจัดการหรือขัดขวางใด ๆ

 



สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความวิตกกังวลแก่ผู้นำรัฐบาลมาก และต้องการยุติการชุมนุมโดยเร็วที่สุด ดังนั้น เมื่ออุปทูตสหรัฐฯ ขอพบเพื่อหารือสถานการณ์ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้ขอให้ส่งสารขอโทษไทย ในเช้าวันต่อมาอุปทูตสหรัฐฯ ได้ยื่นบันทึกของอุปทูตต่อพลตรีชาติชาย ซึ่งมีใจความบางตอนว่า “รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าใจถึงปัญหาที่ได้สร้างให้แก่รัฐบาลไทย…และขอย้ำว่า มีความเสียใจในเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ สหรัฐฯ ยังคงมีนโยบายที่จะเคารพต่ออธิปไตยและเอกราชของไทยเสมอ…และเหตุการณ์ทำนองนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก” พลตรีชาติชายกล่าวในเวลาต่อมาว่า พอใจต่อบันทึกนี้ และคำขอโทษจากประธานาธิบดีฟอร์ดก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป และได้ส่งสำเนาบันทึกแก่ผู้นำการชุมนุมที่หน้าสถานทูต กลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศว่า “รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ขอขมาแล้ว” และประกาศก่อนเลิกการชุมนุมว่าการต่อสู้ครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ส่วนจุดสุดท้ายคือการขับไล่ฐานทัพอเมริกันทั้งหมดออกไป



ปฏิกิริยารุนแรงของนักศึกษาและสาธารณชน ต่อเหตุการณ์มายาเกวซเกิดขึ้นในบริบทการเมืองไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ที่มีข้อเรียกร้องจากหลายกลุ่มให้รัฐบาลดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระจากสหรัฐฯ กลุ่มเหล่านี้ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ นักการเมืองพลเรือนและนักศึกษา มีทัศนะว่า นโยบายต่างประเทศที่ผูกพันกับสหรัฐฯ อย่างแน่นแฟ้นนั้นถูกกำหนดโดยผู้นำทหารซึ่งมีผลประโยชน์สอดคล้องกับสหรัฐฯ และเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์กับสหรัฐฯ มากกว่า โดยเฉพาะฐานทัพและทหารอเมริกันในประเทศไทยก็คือ สัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันที่ต้องให้หมดไปโดยเร็ว อีกทั้งทำให้ไทยสูญเสียอธิปไตยและไร้เกียรติภูมิประเทศ นักวิชาการ เช่น ดร.เขียน ธีระวิทย์ กล่าวใน พ.ศ. 2518 ว่า หากฐานทัพอเมริกันยังอยู่ต่อไป “จะสร้างความแตกแยกให้คนในชาติมากขึ้น อาจเกิดการตั้งขบวนการสังหารชาวอเมริกันและทหารอเมริกันในไทย เพราะคนไทยทุกวันนี้มีความเกลียดชังทหารอเมริกัน” ส่วนนักศึกษาฝ่ายซ้ายกลุ่มหนึ่งในเวลานั้นก็ได้ผลิตงานเขียนหรือกล่าวเสมอในที่สาธารณะว่า สหรัฐฯ เป็น ‘จักรวรรดินิยม’ ที่เอาเปรียบประเทศเล็กทั่วไปรวมทั้งไทยด้วย การชุมนุมของนักศึกษาครั้งนี้ดูเหมือนประสบความสำเร็จเพราะรัฐบาลได้ตอบโต้สหรัฐฯ อย่างแข็งกร้าว อย่างไรก็ตาม การตอบโต้ของรัฐบาลยังเป็นเพราะสาเหตุอื่นด้วย กล่าวคือ ผู้นำพลเรือนกลุ่มหนึ่งก็มีทัศนะว่าจะต้องปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ไทย – อเมริกันที่มีลักษณะ ‘ลูกพี่ – ลูกน้อง’ และเน้นด้านการทหารให้มีลักษณะที่สมดุลมากขึ้น เหตุการณ์ ‘เรือ SS Mayaguez’ จึงเป็นโอกาสที่จะแสดงความเป็นตัวของตัวเองแก่สหรัฐฯ และประเทศเพื่อนบ้านอินโดจีนที่รัฐบาลกำลังพยายามสร้างไมตรีด้วย นอกจากนี้ ก็เป็นโอกาสที่รัฐบาลจะมีบทบาทในเรื่องความมั่นคงที่ก่อนหน้านั้น ถือเป็นเรื่องของฝ่ายทหารที่รัฐบาลพลเรือนช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม แทบไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ



อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ก็ทำให้รัฐบาลไทยอยู่ในฐานะลำบากเพราะฝ่ายทหารยังคงมีอำนาจในการเมืองไทย และต้องการความช่วยเหลือด้านการทหารจากสหรัฐฯ ต่อไป ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยังคงเป็นมหาอำนาจที่ผู้นำไทยทุกกลุ่มให้ความสำคัญมากที่สุด และหากจำเป็นก็ยังคงหวังพึ่งพามากที่สุดด้วย ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงต้องยุติเหตุการณ์ทั้งหมดอย่างรวดเร็วโดยการยอมรับ ‘สารแสดงความเสียใจ’ จากอุปทูตอเมริกันประจำประเทศไทยที่มิใช่ ‘คำขอโทษ’ จากรัฐบาลอเมริกัน ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี จึงนำคณะเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นครั้งแรก โดยมีโอกาสพบกับผู้นำของจีน ทั้งประธานเหมา เจ๋อตง นายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล และ รองนายกรัฐมนตรี เติ้ง เสี่ยวผิง รวมทั้งได้มีพิธีลงนามสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันนับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน



ในปี พ.ศ. 2518-2519 คนรุ่นใหม่สมัยนั้นเป็นคนไล่ฐานทัพอเมริกันออกไป แต่พอ พ.ศ. 2566 คนรุ่นใหม่สมัยนี้กลับมาสนับสนุนพรรคการเมือง ที่มีแนวโน้มจะให้ฐานทัพอเมริกันกลับมาในประเทศไทยอีก

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล 
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ
 

ร่างมติวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่ 114 และร่างมติสภาผู้แทนสหรัฐฯ ที่ 369 จี้ รบ.ไทย ‘ปกป้อง-สนับสนุน’ ประชาธิปไตย เสรีภาพการชุมนุม-แสดงออก

ร่างมติวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่ 114 และ ร่างมติสภาผู้แทนสหรัฐฯ ที่ 369 เรียกร้องหรือแทรกแซง ให้รัฐบาลไทยปกป้อง-สนับสนุนประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน-เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ-เสรีภาพในการแสดงออก

 

Edward Markey วุฒิสมาชิกมลรัฐ Massachusetts พรรค Democratic 
ผู้ซึ่งเคลื่อนไหวเพื่อที่จะออกมติวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่ 114

จากเอกสารที่คนไทยกลุ่มหนึ่งได้กล่าวหาให้ร้ายประเทศไทย โดยส่งถึงรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา และวุฒิสมาชิก (Edward Markey วุฒิสมาชิกมลรัฐ Massachusetts พรรค Democratic) และส.ส. (Susan Wild ส.ส. มลรัฐ Pennsylvania พรรค Democratic) ของสหรัฐฯ ซึ่งได้มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องที่จะออกมติวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่ 114 และมติสภาผู้แทนสหรัฐฯ ที่ 369 อันมีเนื้อหาเป็นการกล่าวหาและมีลักษณะเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยนั้น 

Susan Wild ส.ส. มลรัฐ Pennsylvania พรรค Democratic
ผู้ซึ่งเคลื่อนไหวเพื่อที่จะออกมติสภาผู้แทนสหรัฐฯ ที่ 369

รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มอบให้เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ประสานกับทั้งสำนักงานของวุฒิสมาชิก Ed Markey และ ส.ส. Susan Wild โดยตรงแล้ว และอยู่ระหว่างชี้แจงประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไทยด้วยข้อเท็จจริง ร่างข้อมติทั้งสอง (วุฒิสภาที่ 114 และสภาผู้แทนที่ 369) ซึ่งมีถ้อยคำคล้ายคลึงกันมาก ยังคงเป็นเพียงร่างข้อมติที่รอการพิจารณาของคณะกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งขึ้นอยู่กับประธานของคณะกรรมาธิการฯ จะยกขึ้นพิจารณาหรือไม่ จึงยังไม่มีการเสนอไปที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนฯ แต่อย่างใด และวุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ ที่กระทรวงการต่างประเทศถือว่าเป็น “มิตรแท้ของไทย” ยังไม่มีผู้ใดร่วมอุปถัมภ์ (Sponsor) ร่างข้อมติแต่อย่างใด ทั้งนี้รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงการต่างประเทศกำลังมีหนังสือไปถึงวุฒิสมาชิก Markey โดยตรงแล้ว และความพยายามในการขับเคลื่อนเพื่อให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนสหรัฐฯเชื่อว่า มีการดำเนินการผ่าน Lobbyist อย่างแน่นอน

เนื้อหาเต็มของร่างมติวุฒิสภาที่ 114 ดังกล่าว มีใจความดังนี้ :
ร่างมติเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องและสนับสนุนประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม สิทธิในเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงออก และเพื่อวัตถุประสงค์อื่น

(ร่างมติวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่ 114) เร่งเร้าให้รัฐบาลไทยปกป้องและสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม สิทธิในเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงออก และเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ ในวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา นาย MARKEY (สำหรับตัวเขาเองและนาย DURBIN) ได้ยื่นมติดังต่อไปนี้ ซึ่งได้อ้างถึงคณะกรรมาธิการมติ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องและผดุงไว้ซึ่งประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม สิทธิในเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงออก และเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ โดยที่ราชอาณาจักรไทย (ครั้งหนึ่งรู้จักกันทั่วไปในชื่อ ‘ราชอาณาจักรสยาม’) และสหรัฐอเมริกาได้สถาปนาความสัมพันธ์กันครั้งแรกในปี พ.ศ. 2361 และได้ทำสนธิสัญญาทางไมตรีและการค้า ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2376 ซึ่งได้ลงนามอย่างเป็นทางการ ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ประเทศ; โดยที่ไทยเป็นพันธมิตรตามสนธิสัญญารายแรกของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ค่านิยมสากล และยังคงเป็นมิตรที่มั่นคงของสหรัฐอเมริกา 

ในขณะที่ผ่านสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทำ ณ กรุงมะนิลา เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2497 (หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ‘สนธิสัญญามะนิลา’) สหรัฐอเมริกาและไทยแสดงความปรารถนาร่วมกันที่จะ ''เสริมสร้างโครงสร้างแห่งสันติภาพและเสรีภาพและเพื่อ ยึดมั่นในหลักการของประชาธิปไตย เสรีภาพส่วนบุคคล และหลักนิติธรรม'' โดยที่ในปี พ.ศ. 2505 สหรัฐอเมริกาและไทยได้ลงนามในแถลงการณ์ Thanat-Rusk โดยสหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยหากต้องเผชิญกับการรุกรานจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยผ่านสนธิสัญญาไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำ ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 พร้อมกับความสัมพันธ์ทางการค้าที่หลากหลายและเพิ่มมากขึ้น 

สหรัฐอเมริกาและประเทศไทยได้พัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้น โดยที่สหรัฐอเมริการับรองประเทศไทยในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ประธานาธิบดี Joseph R. Biden และผู้นำอาเซียนได้ยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอาเซียนให้เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม เพื่อเปิดขอบเขตความร่วมมือใหม่ที่สำคัญต่อความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงในอนาคตของสหรัฐอเมริกาและประเทศสมาชิกอาเซียน โดยที่ไทยประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกในปี 2565 (1) เพื่อฟื้นฟูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ (2) เพื่อฟื้นฟูการเชื่อมต่อหลังจากการหยุดชะงักจากการระบาดของ COVID–19 และ (3) เพื่อบูรณาการวัตถุประสงค์ของการมีส่วนร่วมและความยั่งยืนควบคู่กับเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ไทยถูกกำหนดให้เป็นพันธมิตรหลักที่ไม่ใช่สมาชิก NATO ในปี พ.ศ. 2546 และเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนด้านความมั่นคงที่แข็งแกร่งที่สุดของสหรัฐฯ 

ความสัมพันธ์ดังกล่าวยืนยันอีกครั้งโดยแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมปี พ.ศ. 2563 สำหรับพันธมิตรด้านการทหารระหว่างสหรัฐฯ-ไทย ในขณะที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจัดการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกันหลายครั้ง รวมถึง Cobra Gold ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมทางทหารระดับนานาชาติประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่มีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในขณะที่รัฐบาลไทยยังคงเป็นพันธมิตรในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและผู้ลี้ภัย รวมถึงความพยายามในการบรรเทาทุกข์ข้ามชาติหลังจากเหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดียในปี พ.ศ. 2547 และแผ่นดินไหวในประเทศเนปาล พ.ศ. 2558 

โดยที่ประเทศไทยสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2475 และได้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว 19 ครั้ง รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ซึ่งกำหนดให้มีผู้แทนจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในสภาสองสภาและมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล โดยที่ในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 กองทัพไทยได้ก่อการรัฐประหารโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ประกาศกฎอัยการศึก และแทนที่รัฐบาลพลเรือนด้วยคณะทหาร ซึ่งเรียกว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่ง (ในคำนำนี้เรียกว่า ‘คสช.’) ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก

โดยที่ในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559 คสช. ได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ และในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 คสช. ได้จัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งมีข้อบกพร่องอย่างมาก คือ เจตนาทำให้เอกสารถูกต้องตามกฎหมาย ในขณะที่การลงประชามติในปี พ.ศ. 2559 ถูกทำลายโดยการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบอย่างกว้างขวาง ขณะที่ คสช. เมินเสียงเรียกร้องจำนวนมากจากสหประชาชาติและรัฐบาลต่างประเทศให้เคารพสิทธิของประชาชนในการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างเสรี และตัดทอนเสรีภาพอย่างรุนแรงในช่วงก่อนทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ดำเนินคดีกับนักข่าวและผู้วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ เซ็นเซอร์สื่อและป้องกันการชุมนุมในที่สาธารณะเกินห้าคน ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2017

(1) ยึดอำนาจโดยกองทัพไทยทำให้พลเรือนไม่สามารถควบคุมทางการเมือง
(2) บังคับเรียกร้องให้รัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาชุดต่อมาปฏิบัติตาม ‘แผนปฏิรูป 20 ปี’ ที่ออกโดยรัฐบาลทหาร
(3) มีบทบัญญัติที่ทำให้สภาผู้แทนราษฎร 500 คนอ่อนแอ และมีการสงวนที่นั่งวุฒิสมาชิก 250 ที่นั่งในวุฒิสภาสำหรับสมาชิกวุฒิสภาที่ คสช.แต่งตั้ง และหัวหน้า คสช. รวมทั้งผู้นำสูงสุดของทหารและตำรวจ และ
(4) ให้อำนาจเกินขอบเขตแก่สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับเลือกโดยรัฐบาลทหารที่ไม่ได้รับเลือกในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไป; 

โดยที่ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 ประเทศไทยจัดการเลือกตั้งโดย 
(1) กลุ่มตรวจสอบอิสระหลายกลุ่มที่อ้างว่ามีปัญหาทั้งกระบวนการและระบบ ประกาศว่า การเลือกตั้งไม่เสรีและยุติธรรมอย่างเต็มที่ และเอียงข้างอย่างหนักเพื่อเข้าข้างรัฐบาลทหาร และ
(2) ส่งผลให้พรรคการเมืองของ คสช. ซึ่งนำโดยประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่และแต่งตั้งประยุทธ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีก ขณะที่ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 พรรคอนาคตใหม่ฝ่ายค้านถูกยุบและถูกสั่งห้ามตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ สืบเนื่องจากกระบวนการทางกฎหมายที่มีข้อบกพร่องจากการตั้งข้อหาเท็จ ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไม่ได้ฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้อยู่ในตำแหน่ง 8 ปี ทั้งที่ยังคงอยู่ในอำนาจตั้งแต่การรัฐประหารในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557

ในขณะที่รัฐบาลไทยยังไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวนการโจมตีอย่างรุนแรงต่อนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยบางคน การลักพาตัวและสูญหาย และการสังหารผู้เห็นต่างทางการเมืองของไทยทั่วเอเชีย โดยที่ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 รัฐบาลไทยได้ชะลอการออกกฎหมายต่อต้านการทรมานที่สำคัญอีกครั้ง ซึ่งแม้ว่าจะมีข้อบกพร่อง แต่จะช่วยให้ทั้งความชัดเจนเกี่ยวกับความผิดทางอาญาของการทรมานและการป้องกันการทรมาน 

ขณะที่ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ผู้ประท้วงหลายหมื่นคนทั่วประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาและเยาวชนเป็นหลัก ได้เรียกร้องอย่างสันติให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ และเคารพสิทธิมนุษยชน ในขณะที่รัฐบาลไทยตอบโต้การประท้วงอย่างสันติเหล่านี้ด้วยมาตรการปราบปราม ซึ่งรวมถึงกลยุทธ์การข่มขู่ การใช้กำลังมากเกินไประหว่างการประท้วง การสอดแนม การคุกคาม การจับกุม การใช้ความรุนแรง และการจำคุก โดยที่ระหว่างปี พ.ศ. 2563 ถึง พ.ศ. 2566 หน่วยงานของรัฐบาลไทยได้ยื่นฟ้องคดีอาญาต่อกลุ่มนักเคลื่อนไหวกว่า 1,800 คนเข้าร่วมเดินขบวนและแสดงความคิดเห็น โดยมีเด็กกว่า 280 คน โดย 41 คนเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 

ในขณะที่รายงานที่เผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 โดยองค์กรพัฒนาเอกชนพบว่า ทางการไทยใช้สปายแวร์ Pegasus กับนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอย่างน้อย 30 คนและบุคคลที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และต่อต้านนักวิชาการและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยอย่างเปิดเผย และในขณะที่รัฐบาลไทยยังคงพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งหากมีการประกาศใช้ (1) จะเป็นกฎหมายที่เข้มงวดที่สุดกฎหมายหนึ่งต่อองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในเอเชีย และ (2) จะมีผลที่ไม่อาจย้อนกลับได้ต่อภาคประชาสังคมในประเทศไทยและทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยทั่วไป 

ดังนั้น บัดนี้ จึงมีมติว่าวุฒิสภา (1) ยืนยันความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่าง 2 สหรัฐอเมริกาและไทย ความสัมพันธ์บนพื้นฐานของค่านิยมประชาธิปไตยและผลประโยชน์เชิงกลยุทธ์ร่วมกัน 

(2) เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับประชาชนชาวไทย ในการแสวงหารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย การปฏิรูปการเมือง สันติภาพในระยะยาว และความเคารพ ต่อจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

(3) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยสนับสนุน 10 ประการและสนับสนุนประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน กฎ ของกฎหมายและสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ 1 เสรีภาพในการแสดงออกและความเป็นส่วนตัว

(4) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยสร้าง 3 เงื่อนไขสำหรับการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและยุติธรรมในวันที่ 4 พฤษภาคม 2566 รวมถึง
(A) เปิดโอกาสให้พรรคฝ่ายค้านและผู้นำทางการเมือง สามารถดำเนินกิจกรรมได้โดยปราศจาก การแทรกแซงที่ไม่เหมาะสมจากรัฐ เจ้าหน้าที่
(B) ทำให้สื่อ นักข่าว และสมาชิกภาคประชาสังคมสามารถใช้เสรีภาพในการกดขี่ ชุมนุมโดยสงบ และการสมาคมได้ โดยปราศจากผลกระทบและความกลัวต่อการดำเนินคดี
(C) ทำให้มั่นใจว่าการนับคะแนนเสียงเป็นยุติธรรมและโปร่งใส

(5) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการอย่างเข้มงวด ปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและงดเว้นจากการก่อกวน ข่มขู่หรือประหัตประหารผู้ที่มีส่วนร่วมในความสงบ การประท้วงเต็มรูปแบบและกิจกรรมของพลเมืองในวงกว้างมากขึ้น โดยการดูแลสิทธิและความเป็นอยู่ของเด็กและนักเรียนโดยเฉพาะ

(6) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงผลกำไรและการปฏิรูป กฎหมายและข้อบังคับอื่น ๆ ที่บ่อนทำลายการแสดงออกอย่างเสรีและการเข้าถึงข้อมูล

(7) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยลงทุน ระงับและยุติการโจมตีด้วยสปายแวร์ที่มุ่งเป้าไปที่นักวิชาการ 4 คน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และหลักของกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยต่าง ๆ

(8) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกใหม่และยุติการประกาศใช้กฎหมายและกฤษฎีกาที่ใช้ในการเซ็นเซอร์เนื้อหาและคำพูดออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือกตั้ง รวมถึงประเทศไทย
(A) ในต่างประเทศ และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่คลุมเครือ
(B) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
(C) กฎหมายยุยงปลุกปั่นในวงกว้าง

(9) สื่อสารไปยังรัฐบาลไทยว่ามีการละเมิดสิทธิอย่างต่อเนื่องต่อ ประชาชนชาวไทยที่จะอยู่อย่างสันติและเป็นประชาธิปไตย กำหนดอนาคตของพวกเขา ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้ที่สหรัฐฯ จะยอมรับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์

(10) กล่าวอย่างชัดเจนว่า การแทรกแซงทางทหารหรือราชวงศ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมก่อน ระหว่าง หรือหลังการเลือกตั้งทั่วไปจะ
(A) บั่นทอนความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทยเป็นอย่างมากและ
(B) เป็นอันตรายต่อความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและความมั่นคงต่อประเทศไทยและการดำเนินการร่วมกันในระดับภูมิภาคและเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.markey.senate.gov/imo/media/doc/thailand_resolution_-_032023pdf.pdf

เหตุเกิดที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฏร์ เมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

กี่ครั้งกี่หนแล้วที่ม็อบสามนิ้วแสดงอำนาจบาตรใหญ่ ข่มขู่คุกคามเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยอ้างสิทธิเสรีภาพอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย กระทำการต่างๆ ด้วยความรุนแรง ซ้ำอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า การกระทำลักษณะนี้ในสหรัฐฯ จะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการอย่างเด็ดขาด ด้วยมาตรการที่รุนแรงที่สุด

เหตุเกิดที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฏร์ เมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

เหตุเกิดที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฏร์ เมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

เหตุเกิดที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฏร์ เมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

อันที่จริงแล้ว เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนปานปลายเป็นความรุนแรงนั้น ล้วนแล้วแต่เกิดจากการกระทำของผู้ชุมนุมซึ่งอ้างสิทธิเสรีภาพ (อย่างไม่มีขอบเขต) ทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ต่างไปจากเหตุจลาจลจนกลายเป็นความรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นภายในรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อ 6 มกราคม ค.ศ. 2021 ทำให้มีผู้เสียชีวิตขณะเกิดเหตุ 5 ราย โดย 1 รายถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำรัฐสภาสหรัฐฯ ยิง 1 รายจากการใช้ยาเกินขนาด 3 รายจากสาเหตุธรรมชาติ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำรัฐสภา 4 รายเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายภายในเจ็ดเดือนหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว (ซึ่งเหตุการณ์วันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 2021 นี้ ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่ได้ใช้คำว่า ‘ประท้วง(Protest)’ แต่กลับใช้คำว่าเป็นเหตุการณ์ ‘โจมตี(Attack)’) ซึ่ง ส.ส.และ สว.ของรัฐสภาไทยก็ไม่เคยออกมติแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด เพราะมีมารยาทด้วยเห็นว่าเป็นกิจการภายในของสหรัฐฯ เอง เช่นนี้แล้วจะไม่เรียกว่า ร่างมติทั้งสองร่างดังกล่าว เป็นการกล่าวหาและมีลักษณะเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย ได้อย่างไร!!!

เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำรัฐสภาสหรัฐฯ ใช้อาวุธปืนสงครามจี้คุมตัวผู้ก่อเหตุประท้วงในรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อ 6 มกราคม ค.ศ. 2021

เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล 
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ

‘วีรชน...คนธรรมดา’ ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องการช่วยชีวิตเด็กชายชาวอุยกูร์ สะท้อนความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน

สารพัดข่าวและเรื่องราวที่สื่อตะวันตกสาดสีใส่ไข่รัฐบาลจีน กรณีการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย ‘ชาวอุยกูร์’ อย่างโหดร้ายและไร้มนุษยธรรม ย้อนแย้งอย่างสิ้นเชิงกับเหตุการณ์จากภาพยนตร์เรื่องนี้ 

วีรชน...คนธรรมดา! (Ordinary Hero) ซึ่งสร้างจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 เมษายน ค.ศ. 2021 ด้วยมีผู้คนมากมายที่ต้องทำงานแข่งขันกับเวลาเพื่อช่วยชีวิตเด็กชายชาวอุยกูร์วัย 7 ขวบจากเมือง Hotan เขตปกครองตนเอง Xinjian ซึ่งประสบอุบัติเหตุถูกรถไถตัดแขนขวาขาด

ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากเรื่องจริงของทีมแพทย์ ลูกเรือ ผู้โดยสาร ตำรวจ และผู้คนอื่น ๆ อีกมากมายจากทุกสาขาอาชีพในเขตปกครองตนเอง Xinjian ซึ่งต่างได้ร่วมมือร่วมใจกันเพื่อที่จะพาเด็กชายชาวอุยกูร์วัย 7 ขวบจากเมือง Hotan เดินทาง 1,400 กิโลเมตรมายังโรงพยาบาลที่ทันสมัยและมีความพร้อมในนคร Urumqi เพื่อที่จะรับการผ่าตัดต่อแขนที่ขาดให้ทันภายในเวลา 8 ชั่วโมงนับจากเวลาที่เกิดอุบัติเหตุ

ทั้งนี้ Hotan เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางทางตะวันตกเฉียงใต้ของเขตปกครองตนเอง Xinjian ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 2021 ณ หมู่บ้าน Kumairik เกิดอุบัติเหตุกับ Merdan เด็กชายชาวอุยกูร์วัย 7 ขวบถูกเครื่องมือเก็บเกี่ยวของรถไถตัดแขนขวาตรงไหล่จนขาด หลังจากเกิดเหตุทันทีที่ตั้งสติได้ Abdul ผู้เป็นพี่ชายรีบขับรถพา Merdan น้องชายกับแม่เข้าเมืองเพื่อไปโรงพยาบาลทันที

เมื่อมาถึงตัวเมืองรถของ Abdul ก็เจอเข้ากับตลาดนัดซึ่งมีฝูงชนมากมาย เขาบีบแตรเพื่อขอทางจนพ่อค้าผู้หนึ่งซึ่งกำลังเข็นรถเข็นขายของอยู่ไม่พอใจ จึงเดินมาที่รถแต่เมื่อมองเข้าไปในรถก็เห็น Merdan ซึ่งเลือดโชกอยู่บนตักแม่ เขารีบหันกลับไปยังรถเข็นหยิบโทรโข่งขึ้นมาประกาศขอทางให้รถของ Abdul จนสามารถแล่นผ่านไปได้ 

เมื่อรถของ Abdul สามารถผ่านย่านชุมชนที่แสนจะแออัดและจอแจไปได้แล้ว Abdul ก็รีบขับต่อไปยังโรงพยาบาล โดยพยายามฝ่าไฟแดงจนถูก Ainur ตำรวจจราจรหญิงสกัดไว้ เมื่อเธอเข้ามาถึงรถแล้วเห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เธอจึงรีบวิทยุแจ้งศูนย์ควบคุมจราจรทันที ศูนย์ฯ ได้ประสานให้รถพยาบาลออกมารับ Merdan ทันที จากนั้นตำรวจจราจรหญิง Ainur รีบขี่มอเตอร์ไซต์เปิดไฟฉุกเฉินพารถของ Abdul ไปจนพบกับรถพยาบาล ด้วยความช่วยเหลือของศูนย์ฯ และได้ย้าย Merdan ไปยังรถพยาบาลแล้วเดินทางต่อจนถึงโรงพยาบาลประจำจังหวัด Hotan

ภาพจากเหตุการณ์จริง

ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด Hotan นายแพทย์ Akbar ศัลยแพทย์กระดูกและข้ออาวุโสได้ทำการตรวจและทำความสะอาดบาดแผล หลังจากตรวจดูแขนแล้ว เขาแนะนำว่าเนื่องจากอาการบาดเจ็บของ Merdan รุนแรงมาก จึงต้องผ่าตัดนำแขนที่ขาดต่อกลับเข้าไปใหม่เพื่อให้เส้นประสาทและชิ้นส่วนกระดูกเรียงตัวกันอย่างเหมาะสม มิฉะนั้น Merdan จะพิการไปตลอดชีวิต 

นายแพทย์ Akbar ได้แจ้งพี่ชายกับแม่ของ Merdan ว่า โรงพยาบาลประจำจังหวัด Hotan ไม่มีศักยภาพพอที่จะทำการผ่าตัดเพื่อต่อแขนของ Merdan ได้ วิธีเดียวที่จะรักษาแขนของ Merdan คือ การพาเขาไปรับการผ่าตัดต่อแขนยังโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยแพทย์แห่ง Xinjian ที่นคร Urumqi ซึ่งอยู่ห่างออกไป 1,400 กิโลเมตร ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ พร้อมกว่ามาก เนื่องจากอุบัติเหตุเกิดขึ้นประมาณ 19.30 น. ดังนั้นต้องต่อผ่าตัดต่อหลอดเลือดใหม่ให้ทันภายในเวลา 03.30 น. 

ภาพจากเหตุการณ์จริง

เมื่องได้ยินอย่างนั้น พี่ชายและแม่ของ Merdan ก็พยายามทำทุกวิธีทางเพื่อให้มาถึงสนามบินให้ทันเที่ยวบิน CZ6820 ของสายการบิน China Southern Airlines เที่ยวบินสุดท้ายจากจังหวัด Hotan ไปยังนคร Urumqi ในคืนวันนั้น

เมื่อ Merdan และ Abdul พี่ชายไปถึงสนามบิน เมื่อกัปตัน Xie Huiyang และลูกเรือ ซึ่งมี Zhou Yan หัวหน้าพนักงานต้อนรับของเที่ยวบิน CZ6820 รวมทั้งสำนักงานประจำสนามบิน Hotan ของ China Southern Airlines และหอบังคับการบิน Hotan เมื่อทราบเรื่องของ Merdan ต่างก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ โดยรายงานสถานการณ์นี้ต่อหน่วยงานระดับสูงอย่างรวดเร็ว หลังจากการประสานงานอย่างเร่งด่วนจากฝ่ายต่าง ๆ และความยินยอมของผู้โดยสาร 101 คน China Southern Airlines จึงอนุญาตให้กัปตัน นำเครื่องกลับหลุมจอดและเปิดประตูรับ Merdan ทั้ง ๆ ที่เครื่องบินอยู่บนรันเวย์แล้ว เพื่อให้ทันช่วงเวลาทอง 8 ชั่วโมงในการรักษา 

ทางสนามบิน Hotan ได้เปิดทางเดินสีเขียว และใช้เปลขนาดเล็กเพื่อส่ง Merdan ไปยังเครื่องบิน เนื่องจากมีที่นั่งเต็มแต่ก็มีครอบครัวที่มีสมาชิกสามคนยอมสละที่นั่งให้ ในที่สุดเที่ยวบิน CZ6820 ก็ออกเดินทางจากสนามบิน Hotan ในเวลา 00:09 น. 

การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไทย ในสหรัฐอเมริกา มีผู้ใช้สิทธิเกือบ 4 พันคน ทั้งแบบเข้าคูหาและทางไปรษณีย์

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน

ในการเลือกตั้งทั่วไปของไทย พ.ศ. 2566 การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไทยในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ถือว่าเป็นหน่วยเลือกตั้งที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่ง ด้วยเป็นประเทศที่มีประชาชนชาวไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

ขั้นตอนการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ปี พ.ศ. 2566 ในสหรัฐอเมริกา มีดังนี้

1) ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งแบบคูหา (เฉพาะผู้ที่เลือกใช้สิทธิกับสถานเอกอัครราชทูตฯ เท่านั้น) ท่านที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งแบบคูหา สามารถมาลงคะแนนเลือกตั้งที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน (ที่อยู่ 1024 Wisconsin Avenue N.W. Washington D.C. 20007) ระหว่างวันที่ 28 - 30 เมษายน 2566 เวลา 9.00 - 17.00 น. 

(ในภาพ นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน กำลังใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ หน่วยเลือกตั้งประจำที่เลือกตั้ง สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน)

การอพยพพี่น้องคนไทยจากซูดาน ยามศึกเรารบ...ยามสงบเราช่วยเหลือประชาชน ตอบคำถาม..ทหารมีไว้ทำไม!

เหตุการณ์ความไม่สงบในซูดาน จากปากของนักเรียนไทยซึ่งเพิ่งลงเครื่องบินลำเลียง C-130 ของกองทัพอากาศที่ปัตตานี ว่าสถานการณ์ที่ซูดาน เลวร้าย ชนิดที่โรงพยาบาลไม่พอรองรับผู้บาดเจ็บ และมีผู้เสียชีวิตตามท้องถนนให้เห็นโดยทั่วไป


สำหรับคนไทยในซูดานมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศไปรับจากที่พักขึ้นรถบัสเพื่อไปลงเรือเดินทางไปยังเมืองเจดดาห์ ซาอุดิอาระเบีย เพื่อขึ้นเครื่องบินที่รัฐบาลไทยส่งมารับรอบแรก 73 คน ต้องเดินทางและรอ 2 วัน จึงได้ขึ้นเครื่องบินของกองทัพอากาศไทยกลับบ้าน


เรื่องที่เหนือความคาดหมายคือ บรรดาประเทศใหญ่ ๆ ที่มีสถานทูตตั้งอยู่ในซูดานในเบื้องต้นได้ทำการอพยพเฉพาะเจ้าหน้าที่สถานทูตและครอบครัวออกมาหมด ก่อนประกาศปิดสถานทูต แต่ยังไม่ได้อพยพพลเมืองของตัวเองออกมา เพียงแต่บอกว่า ให้ระวังตัว และอย่าออกมานอกบ้าน (สหรัฐฯเริ่มทำการอพยพพลเมืองที่อยู่ในซูดานเมื่อวันศุกร์ที่ 28 เมษายน) แต่ไทยซึ่งไม่มีสถานทูตตั้งอยู่ในซูดาน ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการอพยพคนไทยออกจากซูดาน ตอนนี้คนไทยอพยพออกจากกรุงคาร์ทูมซึ่งเป็นจุดที่มีการสู้รบรุนแรงที่สุดออกมาได้ คนไทยและนักศึกษาไทยทุกคนช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ พยายามหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อันนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภารกิจประสบผลสำเร็จ จึงต้องขอแสดงความชื่นชมเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศและพี่น้องคนไทยเหล่านั้นด้วย


วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม, พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ พลอากาศเอก อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เดินทางมายังท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง เพื่อต้อนรับคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบในสาธารณรัฐซูดาน ที่เดินทางกลับมายังประเทศไทยด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศ เป็นชุดแรก จำนวน 78 คน แบ่งออกเป็นผู้ชาย 38 คน และผู้หญิง 40 คน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ


เมื่อเดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง แล้ว คนไทยทั้ง 78 คน ได้รับบริการตรวจสุขภาพ โดยกรมควบคุมโรค และกรมสุขภาพจิต, การอำนวยความสะดวกด้านการตรวจเอกสารการเดินทาง โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, การตรวจสอบสิทธิ์และให้คำแนะนำด้านต่าง ๆ โดยกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น

ย้อนประวัติโหด 2 คู่หูนักปล้น ในเขต North Hollywood สู่การยิงปะทะกับตำรวจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ

สวัสดีนักอ่านทุกท่านครับ วันนี้ผมหยิบยกเรื่องราวการยิงปะทะกันระหว่างคนร้ายและตำรวจสหรัฐฯ มาเล่าสู่กันฟังครับ หลายๆ ท่านคงคุ้นชินกับเรื่องการพกพาปืนของชาวสหรัฐฯ กันมาพอสมควร เนื่องด้วยมักจะมีข่าวออกมาบ่อยๆ ว่าเกิดเหตุกราดยิงระทึกขวัญตามสถานที่ต่างๆ สุดท้ายมักจบลงด้วยคราบน้ำตาของผู้สูญเสีย ทว่า ปัญหากราดยิงของสหรัฐฯ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขจนเป็นที่น่าพอใจของคนในประเทศ

เรื่องที่ผมยกมาเล่านี้ ต้องกล่าวย้อนกลับไปเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1997 เกิดเหตุการปล้นในนครลอสแองเจลลิส และต่อมาก็กลายเป็นการยิงปะทะกันต่อสู้กันอย่างดุเดือดระหว่างตำรวจกับผู้ร้าย และถือเป็นการยิงปะทะที่ดุเดือดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของกรมตำรวจแห่งนครลอสแองเจลลิส (LAPD)

เหตุการณ์ครั้งนั้น ทั้งสองฝ่ายสาดกระสุนใส่กันเกือบสองพันนัด โดยฝ่ายตำรวจยิงไปราว 650 นัด และคนร้ายยิงอีกราว 1,100 นัด มีผู้เสียชีวิต 2 คน เป็นคนร้ายทั้งคู่ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 20 คน

นับเป็นเหตุการณ์อีกครั้งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจการยิงที่ด้อยกว่าคนร้าย

คนร้ายทั้งสองคือ Larry Eugene Phillips Jr. และ Ștefan Emilian ‘Emil’ Mătăsăreanu (เกิดที่ประเทศโรมาเนีย) พบกันครั้งแรกที่โรงยิม Gold เมืองเวนิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ในปี ค.ศ. 1989 พวกเขามีความสนใจร่วมกันในเรื่องการยกน้ำหนัก การเพาะกาย และอาวุธปืน

แต่ก่อนรู้จักกัน ‘Phillips’ เป็นผู้ที่พฤติกรรมเป็นคนร้ายเกี่ยวข้องกับการต้มตุ๋นด้านอสังหาริมทรัพย์ และการโจรกรรมในร้านค้า ส่วน Emil เป็นวิศวกรไฟฟ้าและทำธุรกิจซ่อมคอมพิวเตอร์ที่ค่อนข้างจะไม่ประสบความสำเร็จ

20 กรกฎาคม ค.ศ. 1993 Phillips และ Emil ได้ปล้นรถหุ้มเกราะซึ่งจอดอยู่นอกธนาคาร First Bank ในเมือง Littleton มลรัฐโคโลราโด

วันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1993 ทั้งสองถูกจับที่เมือง Glendale ทางตะวันออกเฉียงเหนือของนครลอสแองเจลิสในข้อหาขับรถเร็วเกินกำหนด จากการค้นรถ หลังจากที่ Phillips ยอมจำนนพร้อมอาวุธปืนที่พกติดตัว ตำรวจพบปืน AK-47 กึ่งอัตโนมัติ 2 กระบอก, ปืนพก 2 กระบอก, กระสุนปืนขนาด 7.62 × 39 มม. มากกว่า 1,600 นัด, กระสุนขนาด 9 × 19 มม. และ .45 ACP อีก 1,200 นัด, วิทยุรับฟังความถี่ตำรวจ, ระเบิดควัน, อุปกรณ์ประกอบระเบิด, เสื้อเกราะ, และป้ายทะเบียนของรัฐแคลิฟอร์เนีย 3 แผ่นที่เลขแตกต่างกัน

ในขั้นต้นทั้งสองถูกข้อหาสมรู้ร่วมคิดที่จะก่อการปล้น ทั้งสองติดคุก 100 วัน และถูกคุมประพฤติ 3 ปี หลังจากได้รับการปล่อยตัวทั้งสองได้รับคืนทรัพย์สินส่วนใหญ่ ยกเว้นอาวุธปืนและวัตถุระเบิด

14 มิถุนายน ค.ศ. 1995 ทั้งคู่ได้ปล้นรถหุ้มเกราะของบริษัท Brinks ในเมือง Winnetka มลรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยได้สังหาร Herman Cook พนักงานรักษาความปลอดภัย และพนักงานรักษาความปลอดภัยอีกคนถูกยิงบาดเจ็บสาหัส

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1996 ได้ปล้นธนาคารแห่งอเมริกา 2 สาขาในพื้นที่ San Fernando Valley ในนครลอสแองเจลิสได้เงินไปประมาณ 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Phillips และ Emil ถูกขนานนามว่าเป็น ‘จอมโจรอุบัติการณ์สูง (High Incident Bandits)’ โดยเจ้าหน้าที่สอบสวน จากอาวุธที่ใช้ในการปล้น 3 ครั้งก่อนที่จะเกิดเหตุการยิงกันที่เขต North Hollywood

วันเกิดเหตุ Phillips และ Emil ขับรถ Chevrolet Celebrity สีขาว ปี ค.ศ.1987 มาถึงธนาคารแห่งอเมริกาสาขาแยกถนน Laurel Canyon และถนน Archwood ในเขต North Hollywood ราว 09.17 น. และได้ตั้งนาฬิกาปลุกไว้แปดนาที เป็นการประมาณเวลาที่ตำรวจจะมาถึงหลังจากที่ได้รับแจ้งเหตุ

ในช่วงเวลานี้ Phillips ใช้วิทยุรับฟังความถี่ตำรวจ เพื่อตรวจสอบการเคลื่อนไหวของตำรวจก่อนการปล้น ขณะที่ทั้งสองกำลังเดินไปยังธนาคารก็ถูกพบโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ LAPD 2 นาย Loren Farrell และ Martin Perello ที่กำลังขับรถสายตรวจเพื่อตรวจตราตามถนน Laurel Canyon เจ้าหน้าที่ Perello แจ้งวิทยุขอความช่วยเหลือ ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุ 211 ที่ธนาคารแห่งอเมริกา ‘211’ คือรหัสแจ้งว่ามีการปล้น

ขณะที่ Phillips และ Emil เข้าไปในธนาคาร พวกเขาอาวุธประกอบด้วย ปืนไรเฟิล Norinco Type 56 S-1 Phillips และ Emil สั่งให้ลูกค้าออกจากโถงที่มี ATM ใกล้กับทางเข้าธนาคารและนอนลงกับพื้น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของธนาคารเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว และเห็นโจร 2 คนพร้อมอาวุธหนัก จึงวิทยุเพื่อนร่วมงานซึ่งอยู่ที่ลานจอดรถให้เรียกตำรวจ แต่ไม่มีการตอบรับ

Phillips ตะโกนว่า "ชูมือขึ้น! ก่อนที่จะเปิดฉากยิงเพดานเพื่อข่มขู่พนักงานธนาคารและลูกค้าประมาณ 30 คน เพื่อไม่ให้ขัดขืน Phillips ยิงเพื่อเปิดประตูกันกระสุน (ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันกระสุนความเร็วต่ำเท่านั้น) และสามารถเข้าถึงเคาเตอร์และตู้นิรภัย ได้บังคับให้ John Villigrana ผู้ช่วยผู้จัดการ เปิดตู้นิรภัย Villigrana จึงจำเป็นต้องเปิดและเริ่มนำเงินใส่ถุงเงิน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลารับมอบของธนาคารห้องนิรภัยจึงมีเงินน้อยกว่า 750,000 ดอลลาร์ตามที่ Phillips และ Emil คาดเอาไว้ ทำให้ Phillips โกรธจนเกิดการโต้เถียงกับ Villigrana และเรียกให้ Villigrana หาเงินให้มากขึ้น และแสดงความหงุดหงิดที่ชัดเจนด้วยการยิงปืนเข้าไปในตู้เซฟของธนาคารถึง 75 นัด ทำลายเงินที่เหลืออยู่ 

Phillips พยายามที่จะเปิดตู้ ATM ของธนาคาร แต่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายผู้จัดการสาขาไม่สามารถเข้าถึงเงิน ATM ได้อีก

ก่อนจะหนี Phillips และ Emil ได้ขังตัวประกันในห้องนิรภัยของธนาคาร ท้ายที่สุดทั้งสองก็เหลือเงินสด 303,305 ดอลลาร์ ซึ่งมีสีระเบิดสามซองซึ่งต่อมาก็เกิดระเบิดทำให้เกิดตำหนิบนเงินที่พึ่งปล้นมาทั้งหมด

ด้านนอกเมื่อเจ้าหน้าที่ชุดแรกได้ยินเสียงปืนจากธนาคาร และวิทยุเรียกกำลังเสริม ก่อนที่จะหลบเข้าหลังรถสายตรวจเล็งปืนไปยังประตูธนาคาร ในขณะที่โจรยังคงอยู่ข้างใน ตำรวจสายตรวจและสายสืบมาถึง และเข้าประจำตำแหน่งกำบังที่เหมาะสมทั้งสี่มุมรอบ ๆ ธนาคารอย่างมีประสิทธิภาพ

เวลาประมาณ 9:24 น. Phillips เดินออกทางประตูทางเหนือ และพบกับตำรวจห่างราว 200 ฟุต (60 ม.) จึงเปิดฉากยิงเป็นเวลาหลายนาที ทำให้ตำรวจบาดเจ็บ 7 นาย และพลเรือนอีก 3 คน

นอกจากนี้ Phillips ยังยิงเข้าใส่เฮลิคอปเตอร์ตำรวจซึ่งบินตรวจการณ์ด้านบน จนต้องบินห่างออกมาในระยะปลอดภัย Phillips ถอยกลับเข้ามาข้างในสักพัก ก่อนโผล่ออกทางประตูด้านเหนือ ขณะที่ Emil เดินออกจากประตูทางทิศใต้

Phillips และ Emil เริ่มยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ โดยยิงไปยังรถสายตรวจที่จอดอยู่ตามถนน Laurel Canyon หน้าธนาคาร เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอาวุธปืนมาตรฐาน ได้แก่ ปืนพกแบบ Beretta 92F/FS ขนาด 9 มม. ปืนพกลูกโม่ S&W Model 15 ขนาด .38 และปืนลูกซอง Ithaca แบบโยนลำ (Pump action) Model 37 ขนาด 12 ทันทีที่เจ้าหน้าที่ยิงตอบโต้กระสุนของเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเจาะผ่านชุดเกราะที่ Phillips และ Emil สวมใส่ได้ ด้วยปืนพกของเจ้าหน้าที่ LAPD ส่วนใหญ่ไม่มีอานุภาพเพียงพอ และในระยะไกลมีความแม่นยำต่ำ มีเสียงตำรวจ LAPD เตือนเจ้าหน้าที่คนอื่นว่า "อย่าหยุดยานพาหนะหลบหนี เพราะพวกเขามีอาวุธปืนอัตโนมัติ ไม่มีอะไรที่จะสามารถหยุดยั้งพวกเขาได้" 

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังถูกตรึงไว้ด้วยห่ากระสุนจาก Phillips และ Emil ทำให้ยากต่อการพยายามยิงตรงศีรษะ (ซึ่งไม่มีเกราะป้องกัน) เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายจึงได้ไปขอยืมปืน AR-15 จำนวน 5 กระบอกจากร้านขายปืนใกล้เคียงเพื่อนำมาใช้ยิงต่อสู้กับ Phillips และ Emil

มีสองตำแหน่งที่อยู่ติดกับลานจอดรถด้านทิศเหนือที่เหมาะจะกำบังเจ้าหน้าที่ และสามารถยิง Phillips ด้วยปืนพก ขณะที่ Phillips กำลังยิง และหลบใกล้กับรถ 4 คันที่จอดอยู่ติดกับกำแพงด้านเหนือของธนาคาร และสถานที่แห่งหนึ่งที่ เจ้าหน้าที่ Zielenski กองตำรวจจราจร Valley ใช้เป็นที่กำบังคือ ร้านอาหาร Del Taco สาขา West wall ห่างจาก Phillips ราว 351 ฟุต เจ้าหน้าที่ Zielenski ยิง Phillips ไป 86 นัด และอาจยิงถูกอย่างน้อยหนึ่งนัด ตำแหน่งอื่นที่เป็นประโยชน์เจ้าหน้าที่ LAPD คือสนามหลังบ้านเลขที่ 6641 ถนน Agnes ผนังบล็อกช่วยกำบังเจ้าหน้าที่ที่ทำการยิงต่อสู้ และอาจยิงถูก Phillips ด้วยกระสุน 9 มม. จากปืนพกของนักสืบ Bancroft ซึ่งยิงไป 17 นัด และนักสืบ Harley ยิงไปอีกราว 15 ถึง 24 นัด ถูก Phillips ในระยะประมาณ 55 ฟุต

หลังจากที่ Emil เคลื่อนรถ Chevrolet Celebrity ออกจากพื้นที่จอดรถคนพิการในลานจอดรถทางตอนเหนือ Phillips อาจถูกยิงที่มือซ้าย (อ้างอิงจากภาพข่าวเฮลิคอปเตอร์ที่แสดงให้เห็นว่า เขามีอาการบาดเจ็บ) ในเวลาเดียวกันกระสุนปืนจากเจ้าหน้าที่ LAPD ยิงถูกปืน H&K 91 ที่ Phillips ใช้ยิงจนขัดข้องและใช้งานไม่ได้ เจ้าหน้าที่ LAPD ยิง Phillips บาดเจ็บจากสองจุดกำบังและป้องกันไม่ให้ Phillips สามารถหลบหนีได้ง่าย ๆ

อีกหนึ่งข่าวดีของไทยในเวทีโลก! ไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Bank/IMF ปี 2026

 

อีกหนึ่งข่าวดีของไทยในเวทีโลก!
ไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Bank/IMF ปี ค.ศ. ๒๐๒๖

ผู้แทนของไทยประจำ IMF ได้แจ้งแก่เอกอัครราชทูตไทยประสหรัฐฯ ว่า ตามที่กลุ่ม Executive Board ได้เสนอต่อ Board of Governors ให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี สภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2569 ระหว่าง 16-18 ตุลาคม พ.ศ.2569 ซึ่งไทยได้เสนอตัว โดยไทยสามารถเอาชนะกาตาร์ในการลงคะแนนรอบสุดท้ายได้ ซึ่งก่อนนี้มีประเทศเข้าสมัครเพื่อรับการคัดเลือกทั้งหมด 5 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กรีซ ไทย และกาตาร์ โดยหลังจากนี้ Board of Governors จะพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนที่จะประกาศผลดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ในช่วงการประชุม Spring Meeting เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

การประชุมดังกล่าว จะจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผู้เข้าร่วมจากทั่วโลก ทั้งผู้เข้าร่วมการประชุม และการประชุมอื่น ๆ คู่ขนานในช่วงเดียวกันรวมประมาณ 14,000 คน โดยผู้แทนกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีคุณ Wempi Saputra มาจากอินโดนีเซียและคุณ Rosemary Lim จากสิงคโปร์ ได้ทำงานประสานกับผู้แทนไทยและประเทศต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ในการสนับสนุนให้ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Bank/IMF ปี 2026 โดยร่วมกับสำนักงานที่ปรึกษาการคลังและสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และจัดให้ นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และ เจ้าหน้าที่ทีมเศรษฐกิจได้ร่วมทำงานในการขอรับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกทั้ง WB/IMF โดยเฉพาะ Board of Governors โดยจัดงานเลี้ยงรับรองได้จัดให้เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน กล่าวสุนทรพจน์แนะนำความพร้อมของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ เช่น ประสบการณ์ที่ไทยเคยจัดการประชุม IMF/WB มาแล้ว การเป็นเจ้าภาพการประชุมระหว่างประเทศทุกระดับ ล่าสุดไทยยังเป็นประธานอาเซียนที่มีการผลักดันการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี RCEP ขยะทะเลและทะเลจีนใต้ รวมทั้งเป็นเจ้าภาพเอเปคเมื่อปีที่แล้ว ที่ผลักดันวางกรอบเวลาการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเปค หรือ ‘FTAAP’ ความเชื่อมโยงในทุกมิติเพื่อเตรียมความพร้อมหลังโควิด และปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วย BCG นำเรื่องความยั่งยืนเข้าไปใส่ในวาระของเอเปคอย่างเต็มที่เป็นครั้งแรก

หาก ‘กกต’ จับมือ ‘iLaw’ ตั้งทีมสังเกตการณ์เลือกตั้ง 66 ทั้งที่รับเงินจากต่างชาติ หวังร้ายต่อประชาธิปไตยไทย

จากเมื่อวันที่ 23 เม.ย. พ.ศ. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้เข้าพบกับ ร.ต.อ.มนูญ วิเชียรนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย 3 ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง มอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานกับ iLaw เกี่ยวกับการแจ้งเหตุการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งในการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ เพื่อสัมภาษณ์และจัดทำคลิปเผยแพร่เกี่ยวกับการแจ้งเหตุ แจ้งข้อมูล เบาะแสการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เงินรางวัล และการคุ้มครองพยาน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กับ iLaw เพื่อให้การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

การที่กกต.ร่วมมือกับ iLaw ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การจัดทำคลิปแจ้งเหตุ-เบาะแสทำผิดเลือกตั้งนั้น อาจจะด้วยเป็นเจตนาดีของกกต.เอง แต่กกต.ก็ควรจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบถึงหน่วยงานหรือองค์กรที่จะทำกิจกรรมร่วมกันด้วย เพราะภารกิจหลักที่สำคัญยิ่งของ กกต. คือ จัดการเลือกตั้งตามหลัก “สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย”

โดยตัวเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งเอง น่าจะทราบดีว่า iLaw เป็นกลุ่มองค์กรเอกชนที่รับเงินสนับสนุนจาก NED ของสหรัฐฯ (หรือเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็น CIA ภาคประชาชน) เพื่อมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศ ซึ่ง iLaw ก็ยอมรับเองว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึง พ.ศ. 2565 iLaw ได้รับการสนับสนุนงบประมาณหลักสำหรับการดำเนินงาน จากองค์กรต่าง ๆ ดังนี้

1. Open Society Foundation (OSF)

2. National Endowment for Democracy (NED)

3. Fund for Global Human Rights (FGHR)

4. American Jewish World Service (AJWS)

ที่มา : https://www.ilaw.or.th/about

ทั้ง ๆ ที่มีหน่วยงานทั้งเอกชนและรัฐของไทยเองตั้งมากมายออกมาช่วยกันตรวจสอบเลือกตั้งให้สุจริต แต่กกต.กลับไปร่วมมือกับองค์กร NGO ที่รับเงินต่างประเทศ ซึ่งกกต.อาจจะเข้าข่ายทำผิดกฎหมายเสียเอง

โปรดอ่านข้อมูลเพิ่มเติมจาก “ความจริงที่คนไทยต้องทำใจ!! หาก 'สหรัฐฯ' และ 'โซรอส' ยังไม่หยุด ความพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งของไทยจะไม่สูญสิ้น” https://thestatestimes.com/post/2023042648


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top