‘ญี่ปุ่น’ แม้เจริญสุดขีด แต่ก็ประสบปัญหา ‘คนไร้บ้าน’ เรื้อรัง หลังพวกเขาพ่ายแพ้ต่อเศรษฐกิจแปรปรวน กลายเป็นคนว่างงาน
ปัญหาคนไร้บ้านนั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะบ้านเรา แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในแทบทุก ๆ ประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ ‘ญี่ปุ่น’ ซึ่งเป็นประเทศที่เจริญที่สุดในทวีปเอเชีย ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวญี่ปุ่นหลายคนกลายเป็นคนไร้บ้าน เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกทิ้งระเบิดและพ่ายแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ในช่วงทศวรรษ 1960 จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกกันว่า ‘ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น’ ทำให้จำนวนคนไร้บ้านลดลงอย่างรวดเร็ว แต่กลับมาเพิ่มจำนวนอย่างเห็นได้ชัดในสังคมญี่ปุ่นอีกครั้ง จากการล่มสลายของฟองสบู่ราคาทรัพย์สินของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1990 และส่งผลให้เกิด ‘ทศวรรษที่หายไป’ จากภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้อัตราการว่างงานสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะไร้ที่อยู่อาศัย จำนวนคนไร้บ้านสูงมากจนถึงจุดสูงสุด
ปัญหาคนไร้บ้านในญี่ปุ่นเป็นปัญหาทางสังคมที่มักเกิดขึ้นกับชายวัยกลางคนและผู้สูงอายุเป็นหลัก เชื่อกันว่า ในทศวรรษที่ 1990 อันเป็นผลมาจากการแตกของฟองสบู่ที่ทำให้ราคาสินทรัพย์ของญี่ปุ่นลดลงเป็นอันมากนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตาม ‘พระราชบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับการสนับสนุนการพึ่งตนเองของคนไร้บ้าน’ ให้นิยามของคำว่า ‘คนจรจัดหรือคนไร้บ้าน’ หมายถึง ‘ผู้ที่ใช้สวนสาธารณะในเมือง ริมฝั่งแม่น้ำ ถนน สถานีรถไฟ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย เพื่อใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขา’
ทั้งนี้ ลักษณะเฉพาะบางประการของคนไร้บ้านชาวญี่ปุ่นนั้น มีสาเหตุมาจากโครงสร้างทางสังคมของสังคมญี่ปุ่น ในอดีตซึ่งฝ่ายชายเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวแต่เพียงผู้เดียว บรรดาบริษัทญี่ปุ่นต่างเชื่อกันว่า ชายที่แต่งงานแล้วจะทำงานได้ดีกว่าชายโสดที่ยังไม่ได้แต่งงาน เพราะชายที่แต่งงานแล้วจะรู้สึกว่า มีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบต่อครอบครัวมากกว่า ดังนั้นไม่เพียงแต่ชายสูงอายุเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับภาวะสูงอายุและไม่สามารถหางานทำได้ แต่ชายโสดที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ก็มีปัญหาในการหางานเช่นกัน ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดจำนวนชายที่ยากจนโดยเฉลี่ย แต่กลับมีความแปรปรวนมากกว่า โดยมีทั้งจำนวนชายที่ร่ำรวยและยากจนเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้มีชายไร้บ้านจำนวนมากกว่าหญิงไร้บ้านในญี่ปุ่น นอกจากนี้แล้ว ครอบครัวญี่ปุ่นมักจะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกที่เป็นหญิงมากกว่าชาย
ในปี 1997 เทศบาลกรุงโตเกียวยอมรับการมีอยู่ของตัวแทนกลุ่มคนไร้บ้าน และเริ่มรับฟังปัญหาของพวกเขา ในปี 1998 ทางการระบุว่า มีคนไร้บ้านในกรุงโตเกียวเพียงแห่งเดียวประมาณ 3,700 คน แต่กลุ่มที่ช่วยเหลือคนไร้บ้านประเมินไว้ว่า มีคนไร้บ้านราว 5,000 คน ในกรุงโตเกียว และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ในญี่ปุ่นมีการจ้างงานนอกเวลาและการจ้างงานชั่วคราวเพิ่มขึ้น ซึ่งมีกว่า 20 ล้านตำแหน่งงาน ค่าจ้างนอกเวลาและการจ้างงานชั่วคราวมักจะเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในปี 1986 และ 1999 โดยการเช่าที่พักในญี่ปุ่นมักจะต้องวางเงินมัดจำและค่าเช่าล่วงหน้า 3 เดือน แฟลตแบบหนึ่งห้องนอนในกรุงโตเกียว ค่าเช่ารายเดือนมากกว่า 50,000 เยน (ราว 11,488 บาท) ทำให้ผู้ที่ไม่มีงานประจำเข้าถึงได้ยากมากขึ้น ปัญหาคนไร้บ้านจึงเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ตามข้อมูลของกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นระบุว่า มีคนไร้บ้านในญี่ปุ่นไม่ถึง 1 หมื่นคน โดยจำนวนคนไร้บ้านมากที่สุดอยู่ในเขตมหานครโตเกียว ราว 2,700 คน รองลงเป็นอันดับสองคือ นครโอซาก้า ราว 2,500 คน และอันดับสามคือจังหวัดคานากาว่า ราว 1,814 คน ในเดือนสิงหาคม 2002 ได้มีการประกาศใช้ ‘พระราชบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับการสนับสนุนการพึ่งตนเองของคนไร้บ้าน’ คนไร้บ้านในญี่ปุ่นจึงเริ่มได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากทางการ รวมทั้งมีการสำรวจคนไร้บ้านทั่วประเทศ โดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2004 และมีการสำรวจอีกครั้งในเดือนเมษายน 2007 ทำให้ชาวญี่ปุ่นที่ไม่มีรายได้ เงินออม หรือทรัพย์สินเพียงพอต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐานสามารถรับความคุ้มครองเพื่อการดำรงชีพได้ หญิงที่หลบหนีจากความรุนแรงในครอบครัวหรือจากอดีตคู่รักที่ต้องการเริ่มต้นความสัมพันธ์ในอดีตอีกครั้งสามารถรับการสนับสนุนจากสถาบันดูแลสตรี ศูนย์หลบภัย และสถานสงเคราะห์ได้ ในกรณีของผู้เยาว์ มีการจัดรูปแบบความช่วยเหลือ เช่น สถาบันสวัสดิภาพเด็ก
โดยที่ญี่ปุ่นยังคงประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอยอย่างต่อเนื่อง ในปี 2011 เป็นต้นมา จึงมีการเปิดกิจการร้านไซเบอร์คาเฟ่ (หรือโรงแรมแคปซูล) โดยคนไร้บ้านสามารถเข้าพักได้ ไซเบอร์คาเฟ่ ให้บริการห้องพักซึ่งมีพื้นที่ส่วนตัวเล็ก ๆ และห้องอาบน้ำ พร้อม โทรทัศน์ น้ำอัดลม และอินเทอร์เน็ต ในราคา 1,500 ถึง 2,000 เยน (ราว 344 ถึง 460 บาท) ต่อคืน ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา มีการประเมินกันว่า ในกรุวโตเกียวเพียงเมืองเดียวมีชาวญี่ปุ่นอย่างน้อย 15,000 คน อาศัยอยู่ในร้านไซเบอร์คาเฟ่ ซึ่งมากกว่าจำนวนคนไร้บ้านอย่างเป็นทางการถึง 5 เท่า แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นจะมีอัตราการไร้ที่อยู่อย่างเป็นทางการต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ แต่สัดส่วนของคนญี่ปุ่นที่ยากจนในญี่ปุ่นนั้นกลับสูงกว่าในสหรัฐฯ แม้ว่าบางคนจะกลายเป็นคนไร้บ้าน แต่หลายคนในจำนวนนี้รเลือกอาศัยอยู่ในไซเบอร์คาเฟ่ อันเนื่องมาจากแรงกดดันทางสังคม พวกเขาชอบที่จะรักษาเรื่องราวส่วนตัวของตนไว้เป็นความลับ และสิ่งที่น่าเศร้าที่สุดคือทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นและประชาชนชาวญี่ปุ่นทั่วไปต่างก็ต้องการให้เรื่องราวเหล่านี้เป็นไปเช่นนั้นด้วย
👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล