Thursday, 3 April 2025
ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล

‘รัฐประหารในกาตาร์’ ปี 1996 ล้มเหลวไม่เป็นท่า เพียงเพราะทหารรับจ้างลืมแผนที่ - หาพระราชวังไม่เจอ

กาตาร์หรือรัฐกาตาร์ เป็นประเทศในเอเชียตะวันตก ตั้งอยู่ในคาบสมุทรกาตาร์บนชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรอาหรับ มีพรมแดนทางบกติดกับซาอุดีอาระเบียทางทิศใต้ และดินแดนส่วนที่เหลือล้อมรอบด้วยอ่าวเปอร์เซียและอ่าวบาห์เรน โดยมีอ่าวเปอร์เซียแบ่งกาตาร์ออกจากบาห์เรนที่อยู่ติดกัน เมืองหลวงคือกรุงโดฮาซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรกว่า 80% ของประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่ของกาตาร์เป็นที่ราบลุ่มทะเลทราย

กาตาร์ปกครองโดยราชวงศ์ Al Thani ในฐานะรัฐราชาธิปไตยด้วยการสืบทอดสายเลือดตั้งแต่ Mohammed bin Thani ได้ลงนามในข้อตกลงกับอังกฤษในปี 1868 หลังจากการปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน กาตาร์กลายเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ ในปี 1916 และได้รับเอกราชในปี 1971 Emir (เจ้าผู้ครองรัฐ) คนปัจจุบันคือ ชีค Tamim bin Hamad Al Thani ซึ่งดำรงตำแหน่งทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการเกือบทั้งหมด (ตั้งแต่ปี 2013) ด้วยระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของกาตาร์ โดยแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี สภาที่ปรึกษาที่ได้รับการเลือกตั้งบางส่วน และสามารถขัดขวางกฎหมายและมีอำนาจในการปลดรัฐมนตรี

ในช่วงต้นปี 2017 ประชากรของกาตาร์อยู่ที่ 2.6 ล้านคน แม้ว่าจะมีเพียง 313,000 คนเท่านั้นที่เป็นพลเมืองกาตาร์ โดย 2.3 ล้านคนเป็นชาวต่างชาติและแรงงานข้ามชาติ มีศาสนาอิสลามเป็นประจำชาติ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อหัวสูงเป็นอันดับสี่ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 42 ในดัชนีการพัฒนามนุษย์ซึ่งเป็น HDI ที่สูงเป็นอันดับสามของโลกอาหรับ เศรษฐกิจที่มั่งคั่งมาจากแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติและน้ำมันสำรองที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก กาตาร์เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวรายใหญ่ที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน

กาตาร์ในขณะที่ปกครองโดย ชีค Hamad bin Khalifa Al Thani ผู้ซึ่งเผชิญกับความพยายามก่อรัฐประหารที่แปลกประหลาดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่การโค่นล้มแบบทั่ว ๆ ไปที่มีทั้งการระเบิดและคำปราศรัยที่ดราม่า แต่เป็นเรื่องราวของการก่อรัฐประหารที่ล้มเหลว ซึ่งหน่วยข่าวกรองกาตาร์เรียกความพยายามก่อรัฐประหารในครั้งนั้นว่า "ปฏิบัติการอาบู อาลี (Abu Ali Operation)" ไม่ใช่เพราะการทรยศหรือขาดกำลังอาวุธ แต่เพราะทหารรับจ้างที่รับงานรัฐประหารมานั้นไม่สามารถหาที่ตั้งของพระราชวังเจอ ข้อมูลเรื่องราวสุดเหลือเชื่อของความพยายามก่อรัฐประหารในกาตาร์ในปี 1995 มีดังนี้

ในปี 1995 กาตาร์ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของชีค Khalifa bin Hamad Al Thani (1972-1995) ในขณะที่ทรงพักผ่อนในสวิตเซอร์แลนด์ โดยเวลาเดียวกัน ชีค Hamad bin Khalifa Al Thani พระโอรสของพระองค์ ทรงตัดสินใจว่าถึงเวลาเปลี่ยนแปลงแล้ว ด้วยการสนับสนุนจากสมาชิกพระองค์อื่น ๆ ในราชวงศ์ Al Thani ชีค Hamad จึงทรงทำรัฐประหารโดยไม่นองเลือด และทรงยึดบัลลังก์พระบิดาของพระองค์ในขณะที่ไม่อยู่ โดยไม่มีการต่อสู้ เป็นการยึดอำนาจรัฐที่ราบรื่น แต่ ชีค Khalifa พระบิดาทรงไม่ยอมปล่อยผ่านเรื่องนี้ หนึ่งปีต่อมา ชีค Khalifa พระบิดาทรงตัดสินใจทวงบัลลังก์คืน พระองค์ทรงวางแผนไว้ว่าจะทรงจ้างทหารรับจ้างเพื่อบุกพระราชวัง และยึดอำนาจกลับคืนมาด้วยแผนการที่ฟังดูง่าย แต่ไม่ใช่เลย เมื่อทหารรับจ้างของพระองค์กลับมีฝีมือลายมือเหมือนกับผู้ร้ายสองคนใน Home Alone มากกว่าพระเอกใน Mission Impossible 

ความพยายามในการทำรัฐประหารที่ล้มเหลวอยู่ภายใต้การนำของ Hamad bin Jassim bin Hamad Al Thani อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรอาหรับดั้งเดิมของกาตาร์หลายชาติได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และอียิปต์ โดย ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์ ให้การสนับสนุนด้านการข่าว และได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์จาก บาห์เรน และอียิปต์ สืบเนื่องจากสมาชิกระดับสูงหลายคนของราชวงศ์ Al Thani ซึ่งยังคงเป็นพันธมิตรกับชีค Khalifa อดีต Emir ที่ถูกรัฐประหารได้ร่วมกันก่อรัฐประหารเพื่อโค่นล้มชีค Hamad กาตาร์อ้างว่ารัฐประหารครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์และบาห์เรน บทความของ New York Times ในปี 1997 ระบุว่า นักการทูตตะวันตกที่ไม่ได้เปิดเผยชื่อหลายคนเชื่อว่า “รัฐประหารครั้งนี้สามารถวางแผนได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แล้วเท่านั้น”

ความพยายามก่อรัฐประหารที่กลายเป็นเรื่องตลกที่เกิดจากความผิดพลาด เกิดขึ้นในคืนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1996 ไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากชีค Hamad ครองอำนาจ แผนการเบื้องต้นของชีค Khalifa ดูเหมือนจะไร้ข้อผิดพลาด จนกระทั่งมันกลายเป็นจริงจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด

ขั้นตอนที่ 1 : การจ้างทหารรับจ้าง ชีค Khalifa ได้ทรงจ้างทหารรับจ้างหลายสัญชาติจำนวนหนึ่ง (ตอนแรกทรงตั้งพระทัยจะจ้างทหารรับจ้างชาวแอฟริกาใต้ ต่อมาเป็นชาวฝรั่งเศส แต่รัฐบาลฝรั่งเศสไม่ยินยอม) เพื่อดำเนินแผนการของพระองค์ พวกเขาไม่ใช่ทหารรับจ้างธรรมดาแต่กลับกลายเป็นนักรบที่ติดการใช้ชีวิตหรูอยู่สบาย เริ่มด้วยการพักในโรงแรมระดับห้าดาวเมื่อเดินทางมาถึงกรุงโดฮา ด้วยเพราะกลุ่มทหารรับจ้างเหล่านั้นคิดว่าทำไมถึงต้องใช้ชีวิตอย่างลำบากด้วยในเมื่อพวกเขากำลังจะโค่นล้มรัฐบาลอยู่แล้ว

ขั้นตอนที่ 2 : การบุกพระราชวัง ภารกิจแรกของทหารรับจ้างคือ การบุกพระราชวัง แต่ประเด็นสำคัญคือพวกเขาหาไม่พบพระราชวัง ชาวกาต้าร์บอกว่าเห็นพวกเขาเดินเตร่ไปทั่วกรุงโดฮาแล้วเที่ยวถามว่า "พระราชวังอยู่ที่ไหน" ราวกับการบุกประเทศหนึ่งด้วยหน่วยรบชั้นยอด แต่กลับลืมนำแผนที่มาด้วย

ขั้นตอนที่ 3 : หลังจากที่ได้ข้อสรุปในที่สุดว่า “พระราชวังตั้งอยู่ที่ไหน” กลุ่มทหารรับจ้างก็ต้องเผชิญกับปัญหาอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือพวกเขาไม่มีเรือที่จะข้ามแม่น้ำไปยังพระราชวัง เมื่อต้องเผชิญกับทางเลือกระหว่างการบุกพระราชวังด้วยการเดินเท้า หรือกลับไปพักผ่อนยังโรงแรมสุดหรู พวกเขาเลือกเอาอย่างหลัง และเพียงชั่วพริบตา ความพยายามก่อรัฐประหารก็จบลงด้วยกลุ่มทหารรับจ้างเดินกลับโรงแรมเพื่อพักผ่อนแทน ทำให้ในเวลาต่อมาทางการกาต้าร์ได้เริ่มปฏิบัติการต่อต้าน กวาดล้าง และปราบปรามการรัฐประหารดังกล่าวได้สำเร็จ

ในปี 2018 หนึ่งปีหลังจากวิกฤตการทูตกาตาร์เริ่มต้นขึ้น Al Jazeera ได้รายงานรายละเอียดใหม่ที่ชัดเจนในสารคดีเกี่ยวกับปฏิบัติการซึ่งกล่าวหาว่า ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน อียิปต์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) วางแผนโค่นล้มชีค Hamad สารคดีระบุถึงประเด็นสำคัญในปฏิบัติการคือการที่กลุ่มชายติดอาวุธจะกักบริเวณชีค Hamad ไว้ในพระราชวังซึ่งอยู่ติดกับถนน Al Rayyan เดิมทีมีกำหนดจะกักบริเวณในเวลา 05.00 น. ของวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1996 ซึ่งเป็นวันที่ 27 ของเทศกาลถือศีลอด ทำให้มีกำลังทหารของกองทัพกาต้าร์ที่เตรียมพร้อมอยู่เพียง 20% แต่ได้เปลี่ยนเป็นวันที่ 14 กุมภาพันธ์เพื่อลดโอกาสที่จะถูกค้นพบ ตามข้อมูลข่าวกรองของกาตาร์การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นคำสั่งของ Mohamed bin Zayed Al Nahyan (ประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คนปัจจุบัน) ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอกจากนี้ เอกสารข่าวกรองของกาตาร์ยังอ้างว่า หลังจากผู้วางแผนเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังทหารของกาตาร์อย่างเต็มรูปแบบแล้ว ผู้วางแผนจะส่งคนไปขอความช่วยเหลือจากกองกำลังติดอาวุธในซาอุดีอาระเบีย อย่างไรก็ตาม ในที่สุด การรัฐประหารก็ถูกค้นพบและขัดขวางได้ก่อนที่จะประสบความสำเร็จ 

ตามรายงานของ Al Jazeera ระบุว่า Paul Barril อดีตเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของฝรั่งเศสได้รับมอบหมายให้จัดหาอาวุธให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อดำเนินการก่อรัฐประหารในกาตาร์ ซึ่ง Anwar Gargash รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตอบโต้สารคดีดังกล่าว โดยระบุว่า Paul Barril เป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของชีค Khalifa ซึ่งเดินทางเยือนนครอาบูดาบี และไม่มีความสัมพันธ์กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกล่าวว่า สารคดีดังกล่าวเป็นความพยายามโกหกเพื่อพาดพิงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ว่าเกี่ยวข้องกับความพยายามในการก่อรัฐประหารในกาต้าร์ 1996

แม้ว่าความพยายามก่อรัฐประหารในปี 1995 จะเป็นเพียงบันทึกเล็ก ๆ ในประวัติศาสตร์ของกาตาร์ แต่ประเทศและราชวงศ์ที่ปกครองอยู่ก็มีความน่าสนใจในแบบของตัวเอง นี่คือข้อเท็จจริงที่น่าสนใจบางส่วน :
1. ราชวงศ์ Al Thani ปกครองกาตาร์มาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 พวกเขามีชื่อเสียงในเรื่องความรู้ด้านการทูตและความสามารถในการรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคที่มักเต็มไปด้วยความขัดแย้ง
2. ความมั่งคั่งของกาตาร์ กาตาร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เนื่องจากมีก๊าซธรรมชาติสำรองอยู่เป็นจำนวนมาก ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวของประเทศเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต่อหัวที่สูงที่สุดในระดับโลก และยังเป็นที่ตั้งของโรงแรมที่หรูหราที่สุด ห้างสรรพสินค้า และสถาปัตยกรรมล้ำสมัยอีกด้วย

3. เกาะเพิร์ล-กาตาร์ เป็นเกาะเทียมของกาตาร์ซึ่งมีรูปร่างเหมือนสร้อยไข่มุก เกาะแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของการใช้ชีวิตที่หรูหรา มีร้านบูติกระดับไฮเอนด์ ร้านอาหาร และท่าจอดเรือ
4. ฟุตบอลโลก 2022 กาตาร์สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 กลายเป็นประเทศตะวันออกกลางประเทศแรกที่ได้เป็นเจ้าภาพ แสดงให้เห็นถึงความสามารถของกาตาร์ในการจัดการแข่งขันระดับโลก แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายจากการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากชุมชนนานาชาติ

5. ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ข้อดีอย่างหนึ่งของการอาศัยอยู่ในกาตาร์คือไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ถูกต้องแล้ว ประชาชนสามารถเก็บรายได้ทั้งหมดไว้ได้ ซึ่งเป็นเพียงเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศนี้ดึงดูดชาวต่างชาติได้มาก

ความพยายามก่อรัฐประหารในกาตาร์เมื่อปี 1995 เป็นการเตือนใจว่าแม้แต่แผนการที่วางไว้อย่างดีที่สุดก็อาจผิดพลาดอย่างน่าขบขันได้ ไม่ว่าจะเป็นการลืมนำแผนที่มาด้วยหรือการจองโรงแรมระดับห้าดาวให้กับทหารรับจ้าง บางครั้งความจริงก็แปลกประหลาดกว่านิยาย กลายเป็นประวัติศาสตร์ของความพยายามในการก่อรัฐประหารที่ไร้เหตุผล ประหลาด และโง่เขลา อย่างแท้จริง และบางครั้งล้มเหลวเพราะการวางแผนที่ไม่ดี ในขณะที่บางครั้งล้มเหลวเพราะผู้นำลืมรายละเอียดพื้นฐาน เช่น แผนที่ GPS ฯลฯ ดังนั้น ครั้งต่อไปที่มีการวางแผนทำการรัฐประหาร โปรดจำไว้ว่า ต้องแผนที่หรือ GPS ติดตัวไปด้วยเสมอ ตรวจสอบข้อมูลให้ดี และหลีกเลี่ยงการพักในโรงแรมระดับห้าดาวก็ได้ และถ้าทุกอย่างล้มเหลว ให้จำคำพูดของชีค Khalifa ที่ว่า "บ้าเอ๊ย น่าจะจ้างพวก Wagner มากกว่า" 

หลังจากลี้ภัยในต่างประเทศอยู่หลายปี ในที่สุด Hamad bin Jassim bin Hamad Al Thani ลูกพี่ลูกน้องของชีค Hamad อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและหัวหน้าตำรวจ ผู้วางแผนในการทำรัฐประหารก็ถูกจับกุมในเดือนกรกฎาคม 1999 และถูกนำตัวขึ้นศาลในเดือนกุมภาพันธ์ 2000 โดย Hamad bin Jassim รวมถึงผู้ร่วมก่อการอีก 32 คน ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในข้อหาวางแผนรัฐประหาร มีผู้ต้องหาอีก 85 คนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร บางคนถูกพิจารณาคดีลับหลัง ซึ่งจำเลยทั้งหมดที่เข้าร่วมให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มทหารรับจ้างต่างชาติที่รับงานนี้มาหลังเหตุการณ์

ผลพวงจากความพยายามก่อรัฐประหารในกาตาร์ปี 1996 น่าสนใจไม่แพ้การก่อรัฐประหารเลยทีเดียว แม้ว่าการก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวโดยกลุ่มทหารรับจ้างจะถือเป็นหายนะที่น่าขบขัน แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของกาตาร์ไปมากนัก และกลับทำให้ตำแหน่งของชีค Hamad bin Khalifa Al Thani ในฐานะ Emir แห่งกาตาร์แข็งแกร่งขึ้น และปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศให้กลายเป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาคด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปนี้ :

1. การรวมอำนาจของชีค Hamad หลังจากความพยายามในการทำรัฐประหารโดยพระบิดาของพระองค์ล้มเหลว ชีค Hamad ได้ทรงกระชับอำนาจของพระองค์ให้มั่นคงขึ้น พระองค์ยังทรงปกครองกาตาร์โดยเน้นที่การปรับปรุงให้ทันสมัยและการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ การครองราชย์ของพระองค์ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตของกาตาร์ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญบนเวทีโลก ด้วยแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาลและนโยบายการทูตเชิงยุทธศาสตร์
2. การเปลี่ยนแปลงของกาตาร์ภายใต้การนำของชีค Hamad (1995–2013) ซึ่งมักถูกเรียกว่า “ยุคทองของกาตาร์” ต่อไปนี้คือการเปลี่ยนแปลงสำคัญบางส่วนที่พระองค์ทรงดำเนินการ :
- การกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ชีค Hamad ทรงลงทุนในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของกาตาร์อย่างมากมาย จนทำให้กาตาร์กลายเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก ความมั่งคั่งดังกล่าวทำให้กาตาร์สามารถระดมทุนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การปฏิรูปการศึกษา และโครงการทางสังคมได้

- สื่อและการศึกษา ชีค Hamad ทรงก่อตั้งสำนักข่าวนานาชาติ Al Jazeera ที่มีชื่อเสียง ในปี 1996 โดย Al Jazeera ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการกำหนดความคิดเห็นของสาธารณชนในโลกอาหรับและที่อื่น ๆ นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงลงทุนในด้านการศึกษาด้วยการก่อตั้งมหาวิทยาลัยระดับโลก เช่น Education City ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียง
- สิทธิสตรีและการปฏิรูปสังคม ภายใต้การนำของชีค Hamad กาตาร์ได้ก้าวหน้าอย่างมากในด้านสิทธิสตรี รวมถึงให้สิทธิสตรีในการลงคะแนนเสียงและลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 1999 นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสนับสนุนให้สตรีมีส่วนร่วมมากขึ้นในกำลังแรงงานและชีวิตสาธารณะอีกด้วย
- อิทธิพลระดับโลก ชีค Hamad ทรงวางตำแหน่งให้กาตาร์เป็นผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในภูมิภาคและเป็นศูนย์กลางการทูตระหว่างประเทศ ด้วยการเป็นเจ้าภาพการเจรจาสันติภาพ ลงทุนในกีฬาระดับโลก (เช่น ฟุตบอลโลก 2022) และกลายเป็นพันธมิตรสำคัญของมหาอำนาจตะวันตก

ชะตากรรมของชีค Khalifa bin Hamad Al Thani หลังจากความพยายามก่อรัฐประหารล้มเหลว พระองค์ยังทรงต้องลี้ภัยไปยังฝรั่งเศส นครอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อยู่หลายปี ในที่สุดก็สามารถเสด็จกลับมายังกาตาร์ในปี 2004 หลังจากทรงคืนดีกับพระโอรส โดยชีค Hamad ได้พระราชทานอภัยโทษอย่างเป็นทางการแก่พระองค์ และชีค Khalifa ทรงใช้ชีวิตในกาตาร์จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี 2016 การคืนดีครั้งนี้ช่วยรักษาเสถียรภาพภายในราชวงศ์ A Thani ซึ่งยังคงครองอำนาจอย่างมั่นคงจนกระทั่งทุกวันนี้

ชีค Tamim bin Hamad Al Thani ทรงรับช่วงจากพระบิดาต่อในปี 2013 โดยชีค Hamad ทรงสละราชบัลลังก์โดยสมัครใจเพื่อให้ชีค Tamim bin Hamad Al Thani พระโอรสของพระองค์ขึ้นเป็น Emir แทน การถ่ายโอนอำนาจอย่างสันตินี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในภูมิภาคนี้แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของผู้นำกาตาร์ ชีค Tamim ยังทรงดำเนินตามนโยบายของพระบิดา โดยเน้นที่การกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ การทูตระดับโลก และการเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับนานาชาติที่สำคัญ เช่น ฟุตบอลโลก 2022

มรดกจากการรัฐประหารปี 1995 และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง มักถูกมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ของกาตาร์ แม้ว่าความพยายามการทำรัฐประหารจะล้มเหลวอย่างน่าตลก แต่ก็ตอกย้ำถึงความอดทนของผู้นำของชีค Hamad วิสัยทัศน์และการปฏิรูปของพระองค์ทำให้กาตาร์เปลี่ยนจากรัฐอ่าวเปอร์เซียเล็ก ๆ มาเป็นประเทศที่มีอิทธิพลระดับโลก มีมาตรฐานการครองชีพสูง เศรษฐกิจแข็งแกร่ง และมีสถานะที่แข็งแกร่งในระดับนานาชาติ เรื่องราวนี้ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของความสามารถในการปรับตัวและความเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล แม้ว่าความพยายามก่อรัฐประหารจะเป็นความผิดพลาด แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาพิสูจน์ให้เห็นว่ากาตาร์มีความสามารถในการเอาชนะความท้าทายและเจริญรุ่งเรืองได้ แม้จะกาต้าร์จะต้องเผชิญกับความยากลำบากมาแล้วก็ตาม

เส้นขอบฟ้าที่ทันสมัยของกาตาร์ สัญลักษณ์ที่เห็นได้ชัดที่สุดอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงของกาตาร์คือเส้นขอบฟ้าอันล้ำยุคในกรุงโดฮา นครแห่งนี้เป็นที่ตั้งของสิ่งมหัศจรรย์ทางสถาปัตยกรรม เช่น Torch Doha พิพิธภัณฑ์ศิลปะอิสลาม และ Pearl-Qatar โดยสถานที่สำคัญเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความทะเยอทะยานและความมั่งคั่งของประเทศ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยของชีค Hamad bin Khalifa Al Thani

หมายเหตุ ชาวอาหรับไม่มีนามสกุล จึงใช้ชื่อของบิดาต่อท้าย เช่น Tamim bin Hamad bin Khalifa Al Thani หมายถึง Tamim บุตรชายของ Hamad ผู้ซึ่งเป็นบุตรชายของ Khalifa แห่งราชวงศ์ Al Thani

ไม่พลาด!!!
ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน ในวาระครบรอบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงครามอินโดจีน 30 เมษายน 2568

รู้จัก ‘กองทัพแดงญี่ปุ่น’ หนึ่งในกลุ่มก่อการร้ายสะท้านโลก จากจุดเริ่มต้นหวังโค่นล้มราชวงศ์ญี่ปุ่นสู่ปฏิบัติการป่วนโลกทุกรูปแบบ

ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านคงอยากจะไม่เชื่อว่า ชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันซึ่งผู้คนดูเหมือนว่า รักความสงบและไม่นิยมความรุนแรง แต่ครั้งหนึ่งเคยมีองค์กรก่อการร้ายในระดับสากลที่ชื่อว่า “กองทัพแดงญี่ปุ่น” (Japanese Red Army หรือ 日本赤軍 (Nihon Sekigun)) องค์กรก่อการร้ายแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1971 โดย Tsuyoshi Okudaira (ผู้นำระหว่าง 1971–พฤศจิกายน 1987) และ Fusako Shigenobu (ผู้นำระหว่าง พฤศจิกายน 1987–เมษายน 2001) “กองทัพแดงญี่ปุ่น” แยกตัวออกมาจาก “สันนิบาตคอมมิวนิสต์แห่งญี่ปุ่น” 

นอกจากนี้ “กองทัพแดงญี่ปุ่น” ยังเป็นที่รู้จักในนามว่า “กองพลต่อต้านจักรวรรดินิยมสากล (the Anti-Imperialist International Brigade : AIIB)” หรือ “กองพลสงครามศักดิ์สิทธิ์ (the Holy War Brigade)” หรือ “แนวร่วมต่อต้านสงครามประชาธิปไตย (the Anti-War Democratic Front)” ซึ่งมีเป้าหมายที่จะทำการโค่นล้มรัฐบาลญี่ปุ่นและโค่นล้มราชวงศ์ญี่ปุ่น รวมทั้งเริ่มการปฏิวัติโลก เครือข่ายของกลุ่มได้แพร่หลายอยู่ในหลายประเทศในเอเชีย เชื่อกันว่าฐานที่มั่นอยู่ในประเทศเลบานอนตั้งแต่ 1977 และมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์

หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Fusako Shigenobu หลังจากเรียนมัธยมปลายเธอเข้าทำงานให้กับบริษัท Kikkoman พร้อมทั้งเรียนหลักสูตรปริญญาตรีภาคค่ำที่มหาวิทยาลัยเมจิ จนสำเร็จการศึกษาศิลปะศาสตร์บัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองและประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเมจิ โดยขณะนั้นเองเธอได้เข้าร่วมขบวนการนักศึกษาที่ทำการประท้วงการขึ้นค่าเล่าเรียน และทำให้เธอได้เคลื่อนไหวในขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายทั่วไป (Zengakuren) ในทศวรรษ 1960 จนกระทั่งเธอได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำระดับสูงของ Zengakuren และร่วมก่อตั้งกองทัพแดงญี่ปุ่น ซึ่งมีรากฐานจากพรรคคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายใหม่ที่สนับสนุนการปฏิวัติผ่านการก่อการร้าย เธอและพรรคพวกได้จัดตั้งกลุ่มของตัวเองประกาศสงครามกับรัฐบาลญี่ปุ่นในเดือนกันยายน 1969 แต่ตำรวจญี่ปุ่นก็สามารถจับกุมสมาชิกหลายคนได้อย่างรวดเร็วรวมถึง Tsuyoshi Okudaira ผู้ก่อตั้งและผู้นำทางความคิด ซึ่งถูกจำคุกในปี 1970 สมาชิกส่วนที่เหลือได้รวมเข้ากับกลุ่มลัทธิเหมา (the Maoist Revolutionary Left Wing of the Japanese Communist Party) จัดตั้ง United Red Army (連合赤軍 (Rengō Sekigun)) ในเดือนกรกฎาคม 1971 กลุ่มนี้มีชื่อเสียงจากเหตุการณ์ Asama-Sanso ซึ่งเป็นการกวาดล้างจับกุมสมาชิกสิบสองคนในค่ายฝึกลับบนภูเขาฮารุนะ โดยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจญี่ปุ่นหลายร้อยนายทำการปิดล้อมนานถึงหนึ่งสัปดาห์

กุมภาพันธ์ 1917 Fusako Shigenobu และ Tsuyoshi Okudaira พร้อมสมาชิกติดตามประมาณ 40 คน ได้เดินทางออกจากญี่ปุ่นไปยังประเทศในตะวันออกกลาง ตั้งแต่ปี 1970 “กองทัพแดง” ได้ดำเนินการก่อการร้ายครั้งใหญ่หลายครั้ง รวมถึงการจี้เครื่องบินของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์หลายลำ การสังหารหมู่ที่สนามบิน Lod ในกรุงเทลอาวีฟ (1972) อิสราเอล ซึ่งทำให้ “กองทัพแดงญี่ปุ่น” กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มซ้ายติดอาวุธที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ตั้งแต่ปี 1971 กองทัพแดงญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแนวร่วมเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (The Popular Front for the Liberation of Palestine : PFLP) และ Wadie Haddad ในปี 1972 United Red Army ในญี่ปุ่นก็สลายตัว และกลุ่มของ Shigenobu จึงพึ่งพาอาศัย PFLP ในการจัดหาเงินทุน การฝึกอบรม และอาวุธยุทโธปกรณ์และการบุกยึดสถานทูตในประเทศต่าง ๆ ในปี 1971–72 องค์กรได้เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่การต่อสู้ภายในกลุ่มกันอย่างรุนแรงจนมีการสังหารชีวิตสมาชิก 14 คนโดยสมาชิกกองทัพแดงด้วยกัน การสังหารเหล่านี้สร้างความตกตะลึงให้กับประชาชนญี่ปุ่น และตามมาด้วยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุจำนวนมาก แม้ว่ากองทัพแดงจะยังมีขนาดเล็ก แต่กิจกรรมก่อการร้ายของกองทัพแดงยังคงดำเนินต่อไปจนถึงช่วงทศวรรษ 1990 ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 สมาชิกหลายคนถูกขับไล่ออกจากจอร์แดนและส่งตัวกลับญี่ปุ่นซึ่งทำให้พวกเขาถูกจับกุมและดำเนินคดี

ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ถึง 1980 กองทัพแดงญี่ปุ่นได้ปฏิบัติการโจมตีทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลกหลายครั้งได้แก่ :

1. เมื่อ 31 มีนาคม 1971: สมาชิกเก้าคน (รุ่นก่อนกองทัพแดงญี่ปุ่นซึ่งผู้นำเคยเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ก่อนที่พวกเขาจะถูกขับออกไป) ได้จี้เครื่องบิน Boeing 727 JAL 351 ซึ่งเป็นเที่ยวบินภายในประเทศญี่ปุ่น บรรทุกผู้โดยสาร 129 คนจากสนามบินนานาชาติโตเกียว ไปยังเกาหลีเหนือ

2. เมื่อ 30 พฤษภาคม 1972: การสังหารหมู่ที่สนามบิน Lod กรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล (ปัจจุบันคือสนามบินนานาชาติเบนกูเรียน) ด้วยปืนและระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิต 26 คน อีกประมาณ 80 คนได้รับบาดเจ็บ หนึ่งในสามของผู้ก่อการร้ายฆ่าตัวตายด้วยระเบิดมือ อีกคนถูกยิงระหว่างการต่อสู้ ผู้ที่รอดชีวิตเพียงคนเดียวคือ Kōzō Okamoto โดยเหยื่อหลายคนเป็นผู้แสวงบุญชาวคริสต์ 

3. กรกฎาคม 1973: สมาชิกกองทัพแดงญี่ปุ่นจี้เครื่องบิน JAL 404 เหนือเนเธอร์แลนด์ ผู้โดยสารและลูกเรือได้รับการปล่อยตัวในลิเบีย แล้วผู้จี้ก็ทำการระเบิดเครื่องบินทิ้ง

4. มกราคม 1974: เหตุการณ์ Laju กองทัพแดงญี่ปุ่นโจมตีโรงงานเชลล์ในสิงคโปร์ และจับตัวประกันห้าคน ในเวลาเดียวกัน PFLP ได้ยึดสถานทูตญี่ปุ่นในคูเวต ตัวประกันถูกแลกเปลี่ยนด้วยค่าไถ่ และสมาชิก PFLP เดินทางไปยังเยเมนใต้ได้อย่างปลอดภัย

5. เมื่อ 13 กันยายน 1974 : สถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ถูกบุกโจมตี เอกอัครราชทูตและคนอื่น ๆ อีกสิบคนถูกจับเป็นตัวประกัน และ Joke Remmerswaal ตำรวจหญิงดัตช์ถูกยิงที่ด้านหลังเจาะปอด หลังจากการเจรจาเป็นเวลานานตัวประกันได้รับการปลดปล่อยโดยแลกกับการปล่อยตัวสมาชิกกองทัพแดง (Yatsuka Furuya) ที่ถูกจำคุก เงินสด 300,000 ดอลลาร์ และเครื่องบินเดินทางไปยังเมืองเอเดนทางใต้ของเยเมน เป็นครั้งแรกซึ่งพวกเขาไม่ได้ตอบรับ จากนั้นไปยังซีเรีย แต่ซีเรียไม่ยอมรับการจับตัวประกันเพื่อเรียกค่าไถ่ และบังคับให้พวกเขาต้องคืนค่าไถ่

6. สิงหาคม 1975: กองทัพแดงญี่ปุ่นจับตัวประกันมากกว่า 50 คนที่อาคาร AIA ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานทูตหลายแห่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ตัวประกันรวมถึงกงสุลสหรัฐฯและอุปทูตสวีเดน โดยสมาชิก 5 คนที่ถูกคุมขังถูกปล่อยตัว และเดินทางไปลิเบีย

7. เมื่อ 11 สิงหาคม 1976: ในนครอิสตันบูล ตุรกี มีผู้เสียชีวิต 4 คนและบาดเจ็บ 20 คน โดย PFLP และสมาชิกกองทัพแดงญี่ปุ่นทำการโจมตีสนามบินอตาเติร์ก นครอิสตันบูล

8. กันยายน 1977: กองทัพแดงญี่ปุ่นจี้เครื่องบิน JAL 472 เหนืออินเดีย และบังคับให้ลงจอดที่กรุงธากา บังกลาเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นยอมปล่อยตัวสมาชิกกลุ่ม 6 คนที่ถูกคุมขัง และมีข่าวว่า ต้องจ่ายค่าไถ่อีก 6 ล้านดอลลาร์ด้วย

9. ธันวาคม 1977: ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกคนเดียวของกองทัพแดงญี่ปุ่นได้จี้เครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์ 653 ซึ่งมีเอกอัครราชทูตคิวบาประจำญี่ปุ่น Mario Garcia อยู่ด้วย แต่เครื่องบิน Boeing 737 ลำดังกล่าวตกทำให้คนบนเครื่องทั้งหมดเสียชีวิต

10. พฤศจิกายน 1986: Fusako Shigenobu ร่วมมือกับ New People’s Army ซึ่งเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์ลักพาตัว Nobuyuki Wakaouji ชาวญี่ปุ่น ผู้จัดการ Mitsui & Co. สาขามะนิลา ในกรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์

11. พฤษภาคม 1986: กองทัพแดงยิงปืนครกใส่สถานทูตญี่ปุ่นในแคนาดา และสหรัฐอเมริกา ในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย 

12. มิถุนายน 1987: เกิดการโจมตีด้วยปืนครกแบบเดียวกันกับสถานทูตอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในกรุงโรม อิตาลี 

13. เมษายน 1988: สมาชิกกองทัพแดงญี่ปุ่นวางระเบิดสโมสรสันทนาการทหารของสหรัฐฯ (USO) ในเมืองเนเปิลส์ อิตาลี มีผู้เสียชีวิต 5 ราย

14. ในเดือนเดียวกัน (เมษายน 1988) Yū Kikumura สมาชิกฝ่ายปฏิบัติการ กองทัพแดงญี่ปุ่นถูกจับพร้อมกับวัตถุระเบิดบนทางหลวง New Jersey Turnpike ซึ่งดูเหมือนจะตรงกับการวางระเบิด USO เขาถูกตัดสินว่า มีความผิดในข้อหาเหล่านี้ และถูกจำคุกในเรือนจำของสหรัฐอเมริกาจนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวในเดือนเมษายน 2007 เมื่อกลับมาถึงญี่ปุ่นเขาก็ถูกจับกุมทันทีในข้อหาใช้หนังสือเดินทางปลอม

Fusako Shigenobu มีบุตรสาวหนึ่งคน ซึ่งเกิดในปี 1973 ที่กรุงเบรุต เลบานอน ปัจจุบันเป็นนักข่าวชื่อว่า Mei Shigenobu เธอเคลื่อนไหวในตะวันออกกลางมากว่า 30 ปี การเคลื่อนไหวของเธอเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือเพื่อความเป็นปึกแผ่นของการปฏิวัติระหว่างประเทศ โดยมีแนวคิดว่า ขบวนการปฏิวัติควรร่วมมือกัน และนำไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยมระดับโลกในที่สุด จุดหมายปลายทางของเธอคือ เลบานอน และเป้าหมายของเธอคือ สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ เดิมเธอเข้าร่วมแนวร่วมเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PFLP) ในฐานะอาสาสมัคร แต่ในที่สุดกองทัพแดงญี่ปุ่นก็กลายเป็นกลุ่มอิสระ เธอกล่าวในหนังสือหลายเล่มของเธอว่า "เป้าหมายของภารกิจคือการรวมกลุ่มพันธมิตรในการปฏิวัติระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมของโลก" Shigenobu ถูกระบุว่า เป็นบุคคลที่ต้องการตัวโดย INTERPOL ในปี 1974 หลังจากการจับตัวประกันที่สถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเฮก ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเนเธอร์แลนด์เชื่อว่าเธอมีส่วนเกี่ยวข้อง

ตามเอกสารของ Shigenobu ที่ยึดได้เมื่อเธอถูกจับ และหนังสือพิมพ์รายงานข่าวเรื่องนี้ว่า เธอเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นอย่างผิดกฎหมายโดยใช้หนังสือเดินทางปลอม ซึ่งเธอได้มาโดยผิดกฎหมายด้วยการแอบอ้างตัวเองเป็นบุคคลอื่น Shigenobu เดินทางเข้าและออกจากสาธารณรัฐประชาชนจีนซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึง 16 ครั้งจากสนามบินนานาชาติคันไซตั้งแต่ธันวาคม 1997 ถึงกันยายน 2000 ตั้งแต่ปี 1990 เธอได้ก่อตั้ง "พรรคปฏิวัติประชาชน" เพื่อจุดประสงค์ที่จะ "การปฏิวัติด้วยกองกำลังติดอาวุธ" ในญี่ปุ่น โดยมีองค์กรบังหน้าคือ "ศตวรรษที่ 21 แห่งความหวัง" ซึ่งรับผิดชอบงานด้านกิจกรรมสาธารณะ ว่ากันว่าเธอใช้องค์กรนี้เป็นหลักในการวางแผนร่วมมือกับพรรคสังคมนิยมญี่ปุ่น หลังจากนั้นเธอก็ซ่อนตัวอยู่ในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งใน Nishinari Ward โอซาก้า อยู่ช่วงหนึ่ง ในปี 2000 สำนักงานรักษาความมั่นคงสาธารณะ ส่วนที่ 3 โอซาก้า ซึ่งกำลังทำการตรวจสอบผู้สนับสนุนกองทัพแดงญี่ปุ่น และได้เริ่มสอบสวนบุคคลที่ติดต่อกับผู้หญิงที่มีลักษณะคล้ายกับ Shigenobu โดยเธอมีปานบนใบหน้าแต่ซ่อนไว้ด้วยการแต่งหน้า อย่างไรก็ตามรอยนิ้วมือของเธอก็ถูกเก็บรวบรวมจากถ้วยกาแฟที่ผู้หญิงคล้ายกับ Shigenobu ใช้ อีกทั้งวิธีการสูบบุหรี่ของหญิงผู้ต้องสงสัยก็คล้ายกับ Shigenobu และเธอมักไปดื่มในสถานที่แห่งหนึ่งเป็นประจำ เมื่อสำนักงานรักษาความมั่นคงสาธารณะฯ พบว่า ลายนิ้วมือที่เก็บมาได้ตรงกับลายนิ้วมือของ Shigenobu เป็นเวลา 26 ปีหลังจากการจี้จับตัวประกันที่สถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเฮก ปี 1974 Shigenobu ก็ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2000 ในเมืองทาคาสึกิ นครโอซาก้า ซึ่งเธอซ่อนตัวอยู่ เธอถูกส่งตัวจากโอซาก้าไปยังกรมตำรวจนครบาลในกรุงโตเกียว และถูกควบคุมในห้องส่วนตัวของ "รถด่วนสีเขียว" Tokaido Shinkansen เพื่อป้องกันการหลบหนี ชาวญี่ปุ่นต่างตื่นตกใจเมื่อเห็นหญิงวัยกลางคนที่ถูกใส่กุญแจมือลงจากรถไฟที่มาถึงกรุงโตเกียว เมื่อ Shigenobu เห็นบรรดากล้องที่รอทำข่าวอยู่เธอก็ชูนิ้วโป้งขึ้น และตะโกนใส่ผู้สื่อข่าวว่า "ฉันจะสู้ต่อไป!"

เธอถูกตัดสินจำคุก 20 ปีเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2006 และได้รับคำพิพากษาขั้นสุดท้ายจากศาลสูงสุดของญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2010 ด้วยเงื่อนไขเดียวกัน การฟ้องร้องเธอในสามข้อหาคือ (1)การใช้หนังสือเดินทางปลอม (2)ช่วยเหลือสมาชิกกองทัพแดงคนอื่น ๆ ในการทำหนังสือเดินทางปลอม และ(3)พยายามฆ่าคนตายโดยมีการวางแผนและสั่งการ กักขังและจับตัวประกันในปี 1974 ที่สถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ Shigenobu สารภาพผิดในสองข้อหาแรก แต่ถูกตัดสินว่า ไม่มีความผิดในข้อหาที่เชื่อมโยงเธอกับการจับตัวประกันสถานทูตใน 1974 ในบรรดาพยานของเธอที่ปรากฏตัวในศาลสำหรับการสู้คดีคือ ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการจี้เครื่องบิน TWA Flight 840 ในปี 1969 และปัจจุบันเป็นสมาชิกของสภาแห่งชาติปาเลสไตน์ ในคำพิพากษาสุดท้ายของเธอ ผู้พิพากษาระบุว่า ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า เธอมีส่วนเกี่ยวข้องกับการยึดสถานทูตด้วยอาวุธ ซึ่งส่งผลให้ตำรวจสองนายได้รับบาดเจ็บ หรือข้อหาพยายามฆ่า แต่ตัดสินว่า เธอสมคบคิดกับสมาชิกกลุ่มของเธอเพื่อกักขังและจับตัวประกันในสถานทูต เธอถูกตัดสินลงโทษด้วยการจำคุกเป็นเวลา 20 ปี อย่างไรก็ตามเนื่องจากการรวมการคุมขังสามปีระหว่างการพิจารณาคดีเป็นเวลา 810 วันในเรือนจำ จึงเหลือเวลา 17 ปี 

ในเดือนเมษายน ปี 2001 Shigenobu ได้ออกแถลงการณ์จากที่คุมขัง โดยประกาศว่า กองทัพแดงญี่ปุ่นได้ยุติบทบาทลงแล้ว และการต่อสู้ต่อไปควรกระทำด้วยวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมาย Shigenobu ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2022 สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นได้แถลงต่อสาธารณะว่า มีกลุ่มสืบทอดเจตนารมย์ของกองทัพแดงญี่ปุ่นก่อตั้งขึ้นในปี 2001 ในชื่อว่า “ขบวนการเรนไต (ムーブメント連帯 (Mūbumento Rentai)) “กองทัพแดงญี่ปุ่น” เคยถูกระบุโดนรัฐบาลสหรัฐฯว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายในบัญชีกลุ่ม/องค์กรก่อการร้ายเมื่อ 8 ตุลาคม 1997 และถูกถอดจากรายชื่อเมื่อ 8 ตุลาคม 2001 โดยครั้งหนึ่งกองทัพแดงญี่ปุ่นถูกระบุว่า เป็นหนึ่งในกลุ่มก่อการร้ายนิยมคอมมิวนิสต์ติดอาวุธที่มีความศักยภาพในการก่อการร้ายสูงที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลกเลยทีเดียว

Good Samaritan law: กฎหมายคุ้มครองพลเมืองดี ข้อบัญญัติที่ช่วยปกป้องบุคคลผู้ไม่เพิกเฉยต่อเพื่อนมนุษย์

เรื่องของ 'การทำคุณบูชาโทษ' ทำให้เกิดความเข็ดขยาดในหมู่พลเมืองดีผู้ที่มีจิตใจอันเป็นกุศลที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะช่วยเหลือเหล่าบรรดาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อผู้มีความตั้งใจและเจตนาอันในการช่วยเหลือผู้คน แต่กลับกลายมาเป็นคนผิด หรือกระทั่งตกเป็นจำเลยจากการฟ้องร้องจากผู้ที่ได้ให้ความช่วยเหลือหรือครอบครัวของคนเหล่านั้น ซึ่งเรื่องราวลักษณะนี้เกิดขึ้นมากมายในหลายๆสังคมและประเทศ 

ดังนั้น ในหลาย ๆ ประเทศจึงมีการออกกฎหมายที่เรียกว่า 'Good Samaritan law' หรือ 'กฎหมายคุ้มครองพลเมืองดี' เพื่อเป็นการคุ้มครองป้องกันการกระทำด้วยเจตนาดีเพื่อช่วยเหลือผู้คนของพลเมืองดีผู้ที่มีจิตใจอันเป็นกุศลเหล่านั้น คำว่า “Samaritan” เป็นคำนามที่หมายถึง คนที่ทำความดี, คนที่ให้ช่วยเหลือแก่ผู้อื่น โดย “กฎหมายคุ้มครองพลเมืองดี” เป็นกฎหมายที่ให้การคุ้มครองทางกฎหมายแก่บุคคลที่ให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมแก่บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บ ป่วย อยู่ในอันตราย หรือไร้ความสามารถ การคุ้มครองพลเมืองดีเพื่อจุดมุ่งหมายในการลดความลังเลของผู้เห็นเหตุการณ์ที่จะให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากกลัวจะถูกฟ้องร้องหรือดำเนินคดีในข้อหาทำร้ายร่างกายโดยไม่ได้ตั้งใจหรือเสียชีวิตโดยผิดกฎหมาย 

กฎหมายดังกล่าวเป็นหลักการทางกฎหมายที่ป้องกันไม่ให้ผู้ช่วยเหลือที่ช่วยเหลือเหยื่อที่เดือดร้อนโดยสมัครใจถูกฟ้องร้องในข้อหากระทำผิด วัตถุประสงค์คือเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้คนลังเลที่จะช่วยเหลือคนแปลกหน้าที่ต้องการความช่วยเหลือ เนื่องจากกลัวผลที่ตามมาทางกฎหมาย หากพวกเขาปฏิบัติผิดพลาดบางประการ ในทางตรงกันข้าม กฎหมายหน้าที่ในการช่วยเหลือกำหนดให้ผู้คนในเหตุการณ์เหล่านั้นต้องให้ความช่วยเหลือ และถือว่าผู้ที่ไม่ให้ความช่วยเหลือต้องรับผิดชอบต่อผลจากการปฏิเสธหรือเพิกเฉยละเลย กฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีอาจมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละเขตอำนาจศาล เช่นเดียวกับปฏิสัมพันธ์กับหลักการทางกฎหมายอื่น ๆ เช่น ความยินยอม สิทธิของผู้ปกครอง และสิทธิในการปฏิเสธการรักษา กฎหมายดังกล่าวส่วนใหญ่ไม่ได้บังคับใช้กับพฤติกรรมการทำงานของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หรือผู้ที่มีอาชีพตอบสนองเหตุฉุกเฉินประจำ แต่กฎหมายบางประเทศได้ขยายการคุ้มครองไปยังนักกู้ภัยอาชีพเมื่อพวกเขาทำหน้าที่เป็นอาสาสมัคร

หลักการที่มีอยู่ในกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีมักใช้ในประเทศที่ระบบกฎหมายเป็นกฎหมายทั่วไปของอังกฤษ ในหลายประเทศที่ใช้กฎหมายแพ่งเป็นรากฐานของระบบกฎหมาย ผลทางกฎหมายแบบเดียวกันนี้มักจะเกิดขึ้นโดยใช้หลักการของหน้าที่ในการกู้ภัย กฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีมักจะแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค เนื่องจากแต่ละกฎหมายได้รับการร่างขึ้นโดยอิงตามการตีความของผู้ให้บริการที่ได้รับการคุ้มครองในแต่ละพื้นที่ รวมถึงขอบเขตการดูแลที่ครอบคลุม ดังปรากฏในประเทศต่าง ๆ ดังนี้

ออสเตรเลีย รัฐและเขตการปกครองของออสเตรเลียส่วนใหญ่มีกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยทั่วไปแล้ว กฎหมายเหล่านี้จะให้การคุ้มครองหากได้รับการดูแลด้วยความตั้งใจ และ "พลเมืองดี" จะไม่ได้รับผลกระทบจากยาหรือแอลกอฮอล์ มีความแตกต่างระหว่างรัฐ ตั้งแต่ไม่บังคับใช้หาก "พลเมืองดี" เป็นสาเหตุของปัญหา (นิวเซาท์เวลส์) ไปจนถึงบังคับใช้ในทุกสถานการณ์หากพยายามด้วยความตั้งใจ (วิกตอเรีย)

เบลเยียม กฎหมายการช่วยเหลือผู้ประสบภัยของเบลเยียมกำหนดให้บุคคลใดก็ตามที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ต้องมีหน้าที่ตามกฎหมายในการช่วยเหลือบุคคลที่ตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง โดยไม่ทำให้ตนเองหรือผู้อื่นตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง (มาตรา 422 ประมวลกฎหมายอาญา)

แคนาดา กฎหมายการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลของจังหวัด แต่ละจังหวัดมีกฎหมายของตนเอง เช่น กฎหมายการช่วยเหลือผู้ประสบภัยของออนแทรีโอ และบริติชโคลัมเบีย ตามลำดับ กฎหมายความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉินของอัลเบอร์ตา นอร์ทเวสต์เทร์ริทอรีส์ ยูคอน และนูนาวุต และกฎหมายบริการอาสาสมัครของโนวาสโกเชีย เฉพาะในควิเบก ซึ่งเป็นเขตอำนาจศาลแพ่งเท่านั้นที่บุคคลมีหน้าที่ทั่วไปในการตอบสนองตามรายละเอียดในกฎบัตรสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของควิเบก ตัวอย่างกฎหมายทั่วไปของแคนาดามีอยู่ในรัฐบัญญัติพลเมืองดีของออนแทรีโอ ปี 2001 มาตรา 2 
การคุ้มครองจากความรับผิด 2. (1) แม้จะมีกฎหมายทั่วไป แต่บุคคลที่ระบุไว้ในมาตรา (2) ซึ่งให้บริการตามที่อธิบายไว้ในมาตราดังกล่าวโดยสมัครใจและไม่มีการคาดหวังค่าตอบแทนหรือรางวัลตอบแทนที่สมเหตุสมผล จะไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อในการกระทำหรือการไม่กระทำในขณะให้บริการ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลนั้น 2001, c. 2, s. 2 (1).

จีน มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นในประเทศจีน เช่น เหตุการณ์ของเผิงหยูในปี 2006 ซึ่งพลเมืองดีที่ช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำร้ายเหยื่อเสียเอง ในปี 2011 เด็กหญิงวัยเตาะแตะชื่อหวางเย่เสียชีวิต เมื่อเธอถูกรถสองคันชน เหตุการณ์ทั้งหมดถูกบันทึกไว้ในวิดีโอ ซึ่งแสดงให้เห็นผู้คน 18 คนเห็นเด็กบาดเจ็บ แต่ปฏิเสธที่จะช่วยเหลือ ในการสำรวจเดือนพฤศจิกายน 2011 คนส่วนใหญ่ 71% คิดว่า คนที่เดินผ่านเด็กไปโดยไม่ช่วยเหลือด้วยเพราะต่างเกรงว่าตนเองจะเดือดร้อน หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว China Daily รายงานว่า "หน่วยงานและองค์กรของพรรคและรัฐบาลอย่างน้อย 10 แห่งในกวางตุ้ง รวมถึงคณะกรรมาธิการการเมืองและกฎหมายของมณฑล สหพันธ์สตรี สถาบันสังคมศาสตร์ และสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ ได้เริ่มหารือเกี่ยวกับการลงโทษผู้ที่ปฏิเสธที่จะช่วยเหลือผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างชัดเจน" เจ้าหน้าที่ของมณฑลกวางตุ้ง พร้อมด้วยทนายความและนักสังคมสงเคราะห์จำนวนมาก ได้จัดการประชุมเป็นเวลา 3 วันในนครกว่างโจว เมืองหลวงของมณฑล เพื่อหารือเกี่ยวกับคดีนี้ มีรายงานว่าสมาชิกรัฐสภาหลายคนของมณฑลได้ร่างกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดี ซึ่งจะ "ลงโทษผู้ที่ไม่ช่วยเหลือในสถานการณ์ประเภทนี้และต้องชดใช้ค่าเสียหายถ้ามีการฟ้องร้อง" ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและสาธารณชนได้ถกเถียงกันถึงแนวคิดนี้เพื่อเตรียมการสำหรับการอภิปรายและการผลักดันทางกฎหมาย ในวันที่ 1 สิงหาคม 2013 กฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีฉบับแรกของประเทศมีผลบังคับใช้ในนครเซินเจิ้น และต่อมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2017 กฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีแห่งชาติของจีนมีผลบังคับใช้ในมาตรา 184 ในหลักการทั่วไปของกฎหมายแพ่ง

ฟินแลนด์ รัฐบัญญัติการกู้ภัยของฟินแลนด์กำหนดหน้าที่ในการกู้ภัยอย่างชัดเจนว่าเป็น "หน้าที่ทั่วไปในการกระทำ" และ "มีส่วนร่วมในกิจกรรมการกู้ภัยตามความสามารถของ [บุคคล]" รัฐบัญญัติการกู้ภัยฟินแลนด์จึงรวมถึงหลักการของความสมส่วนซึ่งกำหนดให้ผู้เชี่ยวชาญต้องให้ความช่วยเหลือทันทีมากกว่าบุคคลทั่วไป ประมวลกฎหมายอาญาของฟินแลนด์ กำหนดว่า มาตรา 15 การละเลยการช่วยเหลือ (578/1995) บุคคลที่ทราบว่าผู้อื่นกำลังตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิตหรืออันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของตน และไม่ให้หรือจัดหาความช่วยเหลือดังกล่าวที่พิจารณาจากทางเลือกและลักษณะของสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างสมเหตุสมผล จะต้องถูกตัดสินจำคุกไม่เกินหกเดือนในข้อหาละเลยการช่วยเหลือ

ฝรั่งเศส กฎหมายกำหนดให้ทุกคนต้องช่วยเหลือบุคคลที่ตกอยู่ในอันตรายหรืออย่างน้อยที่สุดต้องขอความช่วยเหลือ ผู้ที่ช่วยเหลือจะไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหาย เว้นแต่ความเสียหายนั้นเกิดขึ้นโดยเจตนาหรือเกิดจากความผิดพลาด "ร้ายแรง" 

เยอรมนี การไม่ให้การปฐมพยาบาลแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจะถือเป็นความผิดตามมาตรา 323c ของประมวลกฎหมายอาญา อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือใด ๆ ที่ให้ไปนั้นไม่สามารถและจะไม่ถูกดำเนินคดี แม้ว่าจะทำให้สถานการณ์แย่ลงหรือไม่เป็นไปตามเกณฑ์การปฐมพยาบาลเฉพาะก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ประชาชนจึงได้รับการสนับสนุนให้ช่วยเหลือในทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ แม้ว่าความพยายามนั้นจะไม่ประสบผลสำเร็จก็ตาม นอกจากนี้ ผู้ที่ให้การปฐมพยาบาลยังได้รับความคุ้มครองจากประกันอุบัติเหตุตามกฎหมายของเยอรมนีในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บ สูญเสีย หรือเสียหาย

อินเดีย ในปี 2016 เกิดอุบัติเหตุทางถนนในอินเดียประมาณ 480,000 ครั้ง โดยมีผู้เสียชีวิต 150,000 คน กฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีให้การคุ้มครองทางกฎหมายแก่พลเมืองดีที่ช่วยเหลือเหยื่ออุบัติเหตุด้วยการดูแลทางการแพทย์ฉุกเฉินภายใน "ชั่วโมงทอง" ดังนั้น ประชาชนจึงได้รับการสนับสนุนให้ช่วยเหลือในทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ แม้ว่าความพยายามนั้นจะไม่ประสบผลสำเร็จก็ตาม

ไอร์แลนด์ รัฐบัญญัติกฎหมายแพ่ง (บทบัญญัติทั่วไป) ปี 2011 ได้ออกกฎหมายที่กล่าวถึงความรับผิดปกป้องพลเมืองดีหรืออาสาสมัครในสาธารณรัฐไอร์แลนด์โดยเฉพาะ โดยไม่กำหนดหน้าที่ในการแทรกแซง รัฐบัญญัตินี้กำหนดให้บุคคลหรือองค์กรอาสาสมัครไม่ต้องรับผิดต่อการกระทำใด ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะที่ให้ "ความช่วยเหลือ คำแนะนำ หรือการดูแล" แก่บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บ มีความเสี่ยงหรือเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย (หรือดูเหมือนว่าจะเป็นเช่นนั้น) โดยมีข้อยกเว้นสำหรับกรณีที่เกิด "การกระทำโดยไม่สุจริต" หรือ "ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง" ในนามของผู้ดูแล และเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยานยนต์โดยประมาทเลินเล่อ รัฐบัญญัตินี้กำหนดไว้เฉพาะกรณีที่พลเมืองดีหรืออาสาสมัครไม่มีหน้าที่ในการดูแล สภาการดูแลฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล (PHECC) กล่าวถึงส่วนพลเมืองดีของรัฐบัญญัติกฎหมายแพ่งปี 2011 โดยเฉพาะ และระบุว่า "การใช้ทักษะและยาที่จำกัดเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพที่ลงทะเบียนเท่านั้นจะอยู่ภายใต้รัฐบัญญัติ 'พลเมืองดี' รัฐบัญญัตินี้ถือว่าคุณไม่มีเจตนาที่จะประกอบวิชาชีพในช่วงเวลานี้ และคุณทำหน้าที่เป็นพลเมืองดี ช่วยเหลือจนกว่าหน่วยบริการฉุกเฉินจะมาถึงที่เกิดเหตุและคุณสามารถส่งมอบตัวได้"

อิสราเอล กฎหมายกำหนดให้ทุกคนต้องช่วยเหลือบุคคลที่ตกอยู่ในอันตรายหรืออย่างน้อยที่สุดคือ การร้องขอความช่วยเหลือ บุคคลที่ช่วยเหลือด้วยความจริงใจจะไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหาย ผู้ช่วยเหลือมีสิทธิได้รับค่าชดเชยสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพวกเขาในระหว่างการให้ความช่วยเหลือ

ญี่ปุ่น มีกฎหมายบางฉบับที่เทียบเท่ากับกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดี ตัวอย่างเช่น มาตรา 37 ของประมวลกฎหมายอาญาได้ระบุว่า “การกระทำที่บุคคลถูกบังคับให้กระทำเพื่อป้องกันอันตรายในปัจจุบันต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือทรัพย์สินของตนเองหรือบุคคลอื่นใด จะไม่ถูกลงโทษก็ต่อเมื่ออันตรายที่เกิดจากการกระทำดังกล่าวไม่เกินอันตรายที่จะหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม การกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายมากเกินไปอาจนำไปสู่การลดโทษหรืออาจช่วยให้ผู้กระทำผิดพ้นผิดเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์นั้น ๆ” และกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีอีกฉบับหนึ่งปรากฏในมาตรา 698 ของประมวลกฎหมายแพ่งของญี่ปุ่น โดยกฎหมายดังกล่าวให้การคุ้มครองผู้ช่วยจากความรับผิด ซึ่งระบุว่า “หากผู้จัดการมีส่วนร่วมในการแทรกแซงธุรกิจของผู้อื่นโดยเจตนาดีเพื่อให้ผู้ว่าจ้างหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อตัวผู้ว่าจ้าง ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ว่าจ้าง ผู้จัดการจะไม่ต้องรับผิดในการชดเชยความเสียหายที่เป็นผลจากการกระทำดังกล่าว เว้นแต่ผู้จัดการจะกระทำด้วยความไม่สุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” นอกจากนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพยังต้องปฏิบัติตามหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือตามกฎหมาย 

โรมาเนีย การปฏิรูปด้านสุขภาพที่ผ่านในปี 2006 ระบุว่าบุคคลที่หากไม่ได้รับการฝึกอบรมทางการแพทย์หรือให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยสมัครใจตามคำแนะนำของสำนักงานแพทย์หรือจากความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลของตนเอง การกระทำด้วยความเต็มใจเพื่อรักษาชีวิตหรือสุขภาพของบุคคลอื่นจะไม่ถือเป็นความรับผิดชอบภายใต้กฎหมายอาญาหรือกฎหมายแพ่ง

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในเดือนพฤศจิกายน 2020 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศอาหรับประเทศแรกที่ผ่านกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดี

สหราชอาณาจักร ในกฎหมายทั่วไปของอังกฤษและเวลส์ไม่มีความรับผิดทางอาญาสำหรับการไม่ดำเนินการในกรณีที่บุคคลอื่นตกอยู่ในอันตราย อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นสำหรับกฎนี้ ในกรณีที่ผู้เห็นเหตุการณ์ยอมรับความรับผิดชอบ สถานการณ์อันตรายเกิดขึ้นโดยพวกเขา หรือมีหน้าที่ตามสัญญาหรือกฎหมายที่จะต้องดำเนินการ ผู้เห็นเหตุการณ์จะต้องรับผิดทางอาญาสำหรับการไม่ดำเนินการ ศาลไม่เต็มใจที่จะลงโทษผู้ที่พยายามช่วยเหลือ ในอังกฤษและเวลส์ รัฐบัญญัติการกระทำทางสังคม ความรับผิดชอบ และความกล้าหาญ 2015 ช่วยปกป้อง "พลเมืองดี" เมื่อพิจารณาการเรียกร้องค่าเสียหายจากการละเลยหน้าที่ รัฐบัญญัตินี้เป็นหนึ่งในกฎหมายที่สั้นที่สุดในสหราชอาณาจักร โดยมีความยาวเพียง 300 คำเศษ ตั้งแต่ประกาศใช้เป็นกฎหมายจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยถูกใช้อ้างถึงในศาลเลย และถือว่าคลุมเครือ พรรคแรงงานวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านกฎหมายนี้ว่ามีค่าในแนวคิด แต่ขาดความพยายามอย่างจริงจัง

สหรัฐอเมริกา ทั้ง 50 รัฐและเขตโคลัมเบียมีกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีบางประเภท รายละเอียดของกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีแตกต่างกันไปตามเขตอำนาจศาล รวมถึงใครได้รับการคุ้มครองจากความรับผิดและภายใต้สถานการณ์ใด ตัวอย่างของกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ “รัฐบัญญัติความช่วยเหลือทางการแพทย์การบิน ปี 1998” ซึ่งให้ความคุ้มครองแก่ "พลเมืองดี" ขณะอยู่บนเครื่องบิน หรือ “รัฐบัญญัติการบริจาคอาหารพลเมืองดี ปี 1996” ซึ่งให้การคุ้มครองความรับผิดจำกัดแก่ผู้บริจาคอาหาร ส่วนประเทศที่ไม่มีกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีไห้แก่ ปากีสถาน แอฟริกาใต้ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์

ลักษณะทั่วไปของกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีมักมีการผสมผสานหรือการตีความลักษณะที่คล้ายคลึงกันที่แตกต่างกัน ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค กฎหมายคุ้มครองพลเมืองดีในมลรัฐมินนิโซตา เวอร์มอน และโรดไอแลนด์] กำหนดให้บุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุฉุกเฉินต้องให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ความช่วยเหลือนี้อาจทำได้โดยโทร 911 การละเมิดกฎหมายในการทำหน้าที่ในการช่วยเหลือถือเป็นความผิดทางอาญาลหุโทษในมลรัฐมินนิโซตา และอาจต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 100 ดอลลาร์ในมลรัฐเวอร์มอนต์ มลรัฐอื่น ๆ อย่างน้อยห้ารัฐรวมทั้งแคลิฟอร์เนียและเนวาดาได้พิจารณาอย่างจริงจังที่จะเพิ่มกฎหมายกำหนดหน้าที่ในการช่วยเหลือลงในกฎหมายคุ้มครองพลเมืองดี กฎหมายของมลรัฐนิวยอร์กให้สิทธิคุ้มครองแก่ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน นโยบายสาธารณะเบื้องหลังกฎหมายมีดังนี้ “การให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในกรณีฉุกเฉินถือเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพ ความปลอดภัย และสวัสดิการของประชาชน การดูแลทางการแพทย์ฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล การสื่อสารที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพระหว่างรถพยาบาลและโรงพยาบาล และการดูแลและการขนส่งผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพถือเป็นบริการสาธารณสุขที่จำเป็น”

สำหรับบ้านเราแล้วยังไม่มีกฎหมายในลักษณะเช่นนี้เลย แต่กลับมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่เพิกเฉยต่อการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา (ในส่วนของลหุโทษ) มาตรา 374 ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นแต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เป็นความโชคดีที่พี่น้องประชาชนคนไทยไม่เคยนิ่งดูดายต่อพี่น้องร่วมชาติที่ได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อน แม้จะไม่มีกฎหมายคุ้มครองในลักษณะเช่นนี้ก็ตาม หากแต่นักการเมืองไทยที่ทำหน้าที่ในรัฐสภาจะได้ตระหนักถึงเรื่องราวเช่นนี้ และมีการออกกฎหมายในลักษณะนี้จะเป็นการสร้างความมั่นใจแก่พี่น้องประชาชนคนไทยผู้ซึ่งทำหน้าที่พลเมืองดีให้เต็มที่โดยไม่ต้องห่วงถึงปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะตามได้

‘Overtourism’ นักท่องเที่ยวล้นเมืองส่อวิกฤต เหตุทำลายวิถีชีวิตคนท้องถิ่น - แย่งชิงทรัพยากร

(8 มี.ค. 68) แม้ว่า การท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และสนับสนุนความพยายามในการอนุรักษ์ที่ปกป้องสถานที่ที่น่าทึ่งที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม เมื่อการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวได้รับการจัดการที่ไม่ดี การเติบโตที่ไม่ได้รับการควบคุมอาจครอบงำจุดหมายปลายทาง และส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนในท้องถิ่น และประสบการณ์ของผู้เยี่ยมชม ปัญหานี้ซึ่งเรียกว่าการท่องเที่ยวมากเกินไป เป็นความท้าทายเร่งด่วนสำหรับจุดหมายปลายทางยอดนิยมหลายแห่งของโลก

ภาวะนักท่องเที่ยว (Over tourism) ล้นเมืองเกิดขึ้นเมื่อมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเกินไปหลั่งไหลไปยังเมืองจุดหมายปลายทาง จนเกินความสามารถในการจัดการอย่างยั่งยืนของเมืองซึ่งเป็นจุดหมายปลายทาง และนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบ เช่น นักท่องเที่ยวแออัด สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม โครงสร้างพื้นฐานตึงเครียด คุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยลดลง และทำให้ประสบการณ์ดี ๆ ของผู้มาเยือนลดลง แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินไปนั้นมีอยู่เท่าไร คำตอบนั้นไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากแต่ละสถานที่มีเกณฑ์ที่แตกต่างกัน ความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของจุดหมายปลายทางนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ  เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ความพร้อมของทรัพยากรธรรมชาติ ความสามารถในการฟื้นตัวของสิ่งแวดล้อม พื้นที่ทางกายภาพ และการรับรู้ของชุมชน จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อผลกระทบเชิงลบของการท่องเที่ยวมีมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งบ่งชี้ถึงความจำเป็นในการมีกลยุทธ์การจัดการที่ดีกว่า

การวางแผนเชิงกลยุทธ์และการจัดการเชิงรุกเป็นสิ่งจำเป็นในการป้องกันปริมาณนักท่องเที่ยวมากจนเกินไป จุดหมายปลายทางที่ยั่งยืนต้องสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการจัดการทรัพยากร การอนุรักษ์ ความเพลิดเพลินของนักท่องเที่ยว และความพึงพอใจของผู้อยู่อาศัย ผ่านการศึกษาขีดความสามารถในการ รองรับ และการสำรวจผู้อยู่อาศัยเราช่วยให้จุดหมายปลายทางต่างๆ ติดตามผลกระทบของการท่องเที่ยวและทำความเข้าใจถึงผลที่ตามมาของการเติบโต เพื่อแจ้งนโยบายและริเริ่มต่าง ๆ ปัญหานักท่องเที่ยวมากจนเกินไปได้รับความสนใจทั่วโลกในปี 2016 เมื่อ Skift เผยแพร่บทความเรื่อง “การสำรวจอันตรายที่กำลังจะมาถึงของการท่องเที่ยวมากเกินไป” ซึ่งกล่าวถึงอันตรายจากการท่องเที่ยวมากเกินไปในจุดหมายปลายทางยอดนิยม ในช่วงหลายปีต่อมา คำว่า "การท่องเที่ยวมากเกินไป" ปรากฏอยู่ในพาดหัวข่าวสื่อต่างๆ มากมายทั่วโลก เนื่องจากการท่องเที่ยวระหว่างประเทศเติบโตอย่างรวดเร็วและทวีคูณ โดยเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าระหว่างปี 2000 ถึง 2019  ความจำเป็นในการจัดการการเติบโตนี้อย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้นจึงไม่สามารถละเลยได้

ในขณะที่ดูเหมือนว่า ปริมาณนักท่องเที่ยวกำลังจะเกินการควบคุม อุตสาหกรรมนี้กลับต้องประสบกับภาวะตกต่ำที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอันเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมนี้เป็นโอกาสในการคิดทบทวนรูปแบบการท่องเที่ยวแบบดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อจำกัดในการเดินทางถูกยกเลิก ผู้คนต่างก็อยากออกไปข้างนอก และการท่องเที่ยวก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ภายในสิ้นปี 2024 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนจนเกินระดับก่อนเกิดโรคระบาด น่าเสียดายที่ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวมากจนเกินไปได้กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดการจำนวนผู้เยี่ยมชมและปกป้องความสมบูรณ์ของจุดหมายปลายทางยอดนิยม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาในจุดหมายปลายทางยอดนิยมเติบโตอย่างรวดเร็ว ประเทศต่าง ๆ เช่น ไทย เซเชลส์ และกรีก มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าในช่วงทศวรรษก่อนเกิด COVID-19 จุดหมายปลายทางยอดนิยมบางแห่ง เช่น สาธารณรัฐโดมินิกัน มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นแซงหน้าจำนวนนักท่องเที่ยวก่อนเกิด COVID-19 ไปแล้ว 

ผลกระทบเชิงลบจากปริมาณนักท่องเที่ยวมากจนเกินไป

- ความแออัดและความแออัดยัดเยียดอย่างรุนแรง จนส่งผลให้ประสบการณ์ที่ดีของนักท่องเที่ยวและผู้อยู่อาศัยลดน้อยลง ถนนหนทางอาจติดขัด นักท่องเที่ยวต้องยืนรอคิวยาวเพื่อเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะถ่ายภาพสถานที่ที่มีชื่อเสียงโดยไม่มีนักท่องเที่ยวเป็นฉากหลัง
- การชำรุดเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐานและสถานที่ทางธรรมชาติและวัฒนธรรมจึงชำรุดเสื่อมโทรมเร็วขึ้น การใช้ถนน เส้นทาง และสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะอย่างต่อเนื่องอาจทำให้สถานที่เสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วหากไม่ได้รับการบำรุงรักษาตามปกติ
- ความไม่พอใจของชุมชน แม้ว่าความแออัดและความเสียหายทางกายภาพอาจเป็นอาการที่เห็นได้ชัดที่สุดของการท่องเที่ยวมากเกินไป แต่ก็ไม่ใช่ผลกระทบเชิงลบเพียงอย่างเดียว การท่องเที่ยวมีศักยภาพอย่างมากในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นและขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่การเติบโตที่ไม่ได้รับการควบคุมอาจส่งผลในทางตรงกันข้าม การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวอาจทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ยากต่อการหาที่อยู่อาศัยราคาไม่แพง และทำให้ผู้อยู่อาศัยต้องอพยพ แม้จะมีรายได้จำนวนมากจากการท่องเที่ยว แต่คนในท้องถิ่นหลายคนรู้สึกว่าถูกละเลยจากเศรษฐกิจนักท่องเที่ยวที่กำลังเฟื่องฟู ทำให้ต้องทำงานที่มีค่าจ้างต่ำในขณะที่กำไรส่วนใหญ่เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนภายนอกและบริษัทขนาดใหญ่ ความแตกต่างนี้ก่อให้เกิดความขุ่นเคืองในหมู่ผู้อยู่อาศัย และเพิ่มความตึงเครียดทางสังคมเนื่องจากพวกเขารู้สึกว่าการท่องเที่ยวทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาแย่ลง พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงได้หากไม่เคารพประเพณีท้องถิ่น ทำลายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือรบกวนวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น 

- การแย่งชิงทรัพยากร เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ความต้องการน้ำ การจัดการขยะ และพลังงานอาจสูงเกินกว่าทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาขาดแคลน ราคาที่สูงขึ้น และความต้องการที่แข่งขันกันสูง ซึ่งทำให้ชุมชนท้องถิ่นไม่พอใจมากขึ้น 
- ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ เมื่อจุดหมายปลายทางได้รับความนิยมมากขึ้น ระบบนิเวศทางธรรมชาติก็ถูกปรับเปลี่ยนให้รองรับรีสอร์ท ท่าจอดเรือ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวอื่น ๆ การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวอาจทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของสัตว์ป่า เช่น ป่าชายเลนและ ชายหาดที่วางไข่ ของเต่าทะเลได้ หากไม่ได้รับการควบคุมอย่างเหมาะสม หากไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียและบำบัดน้ำที่เหมาะสม รวมถึงการผลิตพลังงานอย่างยั่งยืน การพัฒนาเหล่านี้อาจสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อดำเนินการแล้ว 

การขาดการวางแผนและกฎระเบียบที่เหมาะสมอาจทำให้จุดหมายปลายทางต่างๆ ต้อนรับนักท่องเที่ยวมากเกินกว่าที่จะรองรับได้ ส่งผลให้เกิดผลกระทบที่เป็นปัญหาดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เช่น ระบบการจัดการขยะที่ล้นเกิน ถนนที่ติดขัด และคนในท้องถิ่นไม่ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว เพื่อต่อสู้กับปัญหาการท่องเที่ยวล้นเกิน จุดหมายปลายทางต่างๆ จะต้องดำเนินการตามแผนการจัดการการท่องเที่ยวที่ครอบคลุมซึ่งสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ประสบการณ์ของผู้เยี่ยมชม และความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน จุดหมายปลายทางที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมหลายแห่งกำลังดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ เพื่อจัดการจำนวนนักท่องเที่ยวและบรรเทาผลกระทบจากภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง มาตรการที่ใช้ทั่วโลกเพื่อรับมือกับปัญหาการท่องเที่ยวมากเกินไป
การถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาการท่องเที่ยวมากเกินไปกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากนักท่องเที่ยวแห่ไปยังเมืองยอดนิยมเกินขีดความสามารถของตน

เมืองเวนิสของอิตาลี ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมเข้าชม 5 ยูโรสำหรับนักท่องเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2024 เป็นต้นไป แม้ว่าค่าธรรมเนียมจะเรียกเก็บเฉพาะ 29 วันที่มีนักท่องเที่ยวหนาแน่นที่สุดระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม 2024 แต่รัฐบาลอิตาลีอาจขึ้นค่าธรรมเนียมเป็น 10 ยูโร ในการควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้า กรุงอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ได้ประกาศเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2024 ว่ามีแผนจะเริ่มลดจำนวนเรือที่สามารถแวะจอดที่ท่าเรือหลักในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันการท่องเที่ยวจำนวนมากที่เกิดจากเรือสำราญ เทศบาลกรุงอัมสเตอร์ดัมได้ประกาศไปแล้วเมื่อเดือนเมษายนว่า ได้ตัดสินใจห้ามการก่อสร้างอาคารโรงแรมใหม่ในเมืองเพื่อจำกัดจำนวนการพักค้างคืนต่อปีให้อยู่ที่ 20 ล้านการเข้าพัก เมืองนี้รองรับการพักค้างคืน 20,665,000 ครั้งในปี 2023 ในทำนองเดียวกัน แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของสเปนอย่างนครบาร์เซโลนาได้ประกาศเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2024 ว่าตั้งใจจะห้ามการเช่าระยะสั้นสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งหมด เนื่องจากต้องการควบคุมต้นทุนที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูงขึ้น และมอบทางเลือกที่อยู่อาศัยราคาไม่แพงให้กับคนในท้องถิ่นอีกครั้ง นครบาร์เซโลนาวางแผนที่จะหยุดออกใบอนุญาตการเช่าระยะสั้นใหม่ โดยอพาร์ตเมนต์วันหยุดทั้งหมด 10,101 แห่งที่ลงทะเบียนกับเมืองในปัจจุบันจะถูกสั่งห้ามภายในเดือนพฤศจิกายน 2028 ปัจจุบัน อุทยานแห่งชาติในสหรัฐอเมริกากำหนดให้ผู้เยี่ยมชมต้องทำการจองเข้าชมล่วงหน้าเพื่อควบคุมจำนวนผู้เข้าชมในแต่ละวัน และป้องกันไม่ให้มีผู้คนหนาแน่นเกินไป ในกรณีส่วนใหญ่ จำเป็นต้องทำการจองเฉพาะในช่วงฤดูท่องเที่ยวสูงสุดเท่านั้น ในปี 2024 อุทยานแห่งชาติโยเซมิตีได้นำนโยบายการจองมาใช้อีกครั้ง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกยกเลิกเนื่องจากการคัดค้านจากธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ในพื้นที่

ในเอเชีย ประเทศไทยตัดสินใจถอนแผนที่ก่อให้เกิดข้อโต้แย้งอย่างมากในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยว 300 บาท (ประมาณ 8.2 ดอลลาร์สหรัฐ) จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศทางอากาศ โดยรัฐบาลไทยได้ชี้แจงในเบื้องต้นว่า จุดประสงค์ของค่าธรรมเนียมดังกล่าวก็เพื่อช่วยให้แน่ใจว่า จะทำให้ได้นักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากขึ้น โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวถูกยกเลิกไปหลังจากได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาปรับขึ้นภาษีนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศจาก 1,000 เยน (7 ดอลลาร์สหรัฐ) ในปัจจุบันเป็น 3,000 หรือ 5,000 เยน (20 ดอลลาร์สหรัฐ/35 ดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยวมากเกินไป อีกทั้งมีการพูดคุยหารือกันมากมายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่พักในแหล่งท่องเที่ยว และเทศบาลบางแห่งกำลังหารือถึงการนำระบบการคิดราคาแบบ 2 ระดับมาใช้ 

ซึ่งจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในอัตราที่สูงขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ ปราสาทฮิเมจิซึ่งเป็นมรดกโลกของยูเนสโกในเมืองฮิเมจิ จังหวัดเฮียวโงะ ได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นอย่างมาก เมื่อนายกเทศมนตรีเมืองฮิเมจิเสนอแผนนำระบบการคิดราคาแบบ 2 ระดับมาใช้สำหรับผู้เยี่ยมชมปราสาท ในระหว่างการประชุมนานาชาติที่จัดขึ้นในเมือง ภายใต้ระบบที่เสนอนี้ ค่าธรรมเนียมเข้าชมจะขึ้นจาก 1,000 เยน (ประมาณ 6 เหรียญสหรัฐ) เป็นประมาณ 30 เหรียญสหรัฐสำหรับผู้เยี่ยมชมจากนอกเมือง ในขณะที่พลเมืองฮิเมจิจะลดลงเล็กน้อยเป็น 5 เหรียญสหรัฐ แม้จะมีข้อโต้แย้ง แต่การเรียกเก็บเงินจากชาวต่างชาติมากกว่าผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่นนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกในส่วนอื่น ๆ ของโลก 

ตัวอย่างเช่น ที่ทัชมาฮาลของอินเดียและนครวัดของกัมพูชา นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องจ่ายค่าเข้าชมในราคาที่สูงขึ้นอยู่แล้ว ปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวมากจนเกินไปสามารถสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยได้เช่นกัน ซึ่งจะเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในระดับเดียวกับคนไทยเท่านั้นที่สามารถอดทนกับคำว่า ‘ไม่เป็นไร’ เช่นปัญหาที่ยากจนเกือบจะเกินแก้ไข ดังเช่นกรณี ‘ปาย’ ซึ่งรัฐบาลไทยโดยกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาต้องเริ่มศึกษาข้อเท็จจริงและสรุปเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการป้องกันซึ่งจะดีกว่าการรอเพื่อปล่อยให้สถานการณ์คลี่คลายไปเองเช่นทุกวันนี้

รู้จัก ‘Susi Pudjiastuti’ รัฐมนตรีหญิงแกร่งแห่งอินโดนีเซีย จากนักธุรกิจส่งออกอาหารทะเล สู่มือพิฆาตเรือประมง (ต่างชาติ)

ข่าวในรอบสัปดาห์นี้ที่น่าหงุดหงิดโมโหของประชาชนคนไทยเป็นที่สุดก็คือ ข่าวที่เรือประมงเวียดนามที่รุกล้ำมาลักลอบจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย แล้วบังอาจขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่ ซ้ำร้ายยังนำเรือพุ่งชนเรือหลวงเทพาเรือรบของกองทัพเรือไทยจนได้รับความเสียหายอีกด้วย ในขณะที่ไม่นานมานี้ ทหารเรือเมียนมาได้มีการใช้อาวุธกับเรือประมงไทยจนมีลูกเรือประมง 1 คนเสียชีวิต และถูกจับกุมอีก 4 คน ซึ่งยังไม่ได้รับการปล่อยตัวจนทุกวันนี้

เพราะความใจดีจนเกินไปของทางการไทยจนทำให้เรือประมงเวียดนาม ซึ่งหลายปีมานี้ย่ามใจลักลอบเข้ามาจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยอยู่เป็นประจำ และยังทำให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในท้องทะเลไทย โดยความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในท้องทะเลไทยเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ อาทิ การปิดอ่าวไม่จับปลาในฤดูวางไข่ การใช้อุปกรณ์จับปลาที่ไม่เป็นการทำลายระบบนิเวศ ฯลฯ ในอดีต เมื่อ 4-50 ปีก่อนนั้น เรือประมงไทยมักจะฝ่ายล้ำน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นเมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนามเป็นประจำจนเป็นข่าวปรากฏแทบทุกวัน แต่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นเรือประมงเวียดนามที่ลักลอบรุกล้ำเข้ามาจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย

เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ชวนให้นึกถึงเรื่องราวของ ‘Susi Pudjiastuti’ หรือ ที่ชาวอินโดนีเซีย เรียกเธอว่า ‘ซูซี่’ รัฐมนตรีหญิงซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงกิจการทางทะเลและประมงอินโดนีเซีย ผู้เป็นมือพิฆาตเรือประมง (ต่างชาติ) ประวัติของเธอผู้นี้ไม่ธรรมดาเลย เธอเกิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 1965 ที่เมือง Pangandaran จังหวัดชวาตะวันตกเป็นลูกสาวของฮัจจีอาหมัด คาร์ลัน และฮัจจาห์ซูวูห์ ลาสมินาห์ เธอเป็นชาวชวาแต่ครอบครัวของเธอเป็นผู้ตั้งถิ่นฐานในเมือง Pangandaran เป็นรุ่นที่ 5 ธุรกิจของครอบครัวของเธอส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์และการทำฟาร์มปศุสัตว์

หลังจากเรียนจบมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว Susi ได้ไปเรียนต่อมัธยมศึกษาตอนปลายที่ SMA Negeri 1 Yogyakarta แต่เรียนไม่จบเพราะถูกไล่ออกด้วยเธอได้ไปร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองสนับสนุนการงดออกเสียง (Vote No) เพื่อประท้วงการครอบงำของพรรคกอลการ์ที่ทำให้อินโดนีเซียมีรัฐบาลพรรคเดียว ซึ่งในขณะนั้นเป็นขบวนการที่ถูกห้ามภายใต้ระเบียบใหม่ของประธานาธิบดี Suharto เธอเป็นรัฐมนตรีอินโดนีเซียคนแรกที่ไม่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่หลังจากที่เธอได้เป็นรัฐมนตรีแล้ว เธอได้ลงทะเบียนเรียนหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย และสำเร็จการศึกษาอย่างเป็นทางการในปี 2018

ในปี 1983 Susi ได้เริ่มต้นอาชีพในฐานะผู้ประกอบการ โดยเริ่มต้นจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายอาหารทะเลที่ Fish Auction Facility (TPI) ในเมือง Pangandaran จากการเป็นตัวแทนจำหน่าย เธอได้พัฒนาเป็นโรงงานแปรรูปอาหารทะเลในปี 1996 โดยใช้ชื่อว่า PT ASI Pudjiastuti Marine Product ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกุ้งมังกรคุณภาพส่งออกที่บรรจุหีบห่อในชื่อ 'Susi Brand' PT ASI Pudjiastuti Marine Product ซึ่งขยายตัวเติบโตมากขึ้นและเริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและอเมริกาเหนือ

เมื่อความต้องการอาหารทะเลสดของ PT ASI Pudjiastuti Marine Product เพิ่มมากขึ้นทำให้การขนส่งทางอากาศด้วยความรวดเร็วกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับธุรกิจ ในปี 2004 Susi ได้ซื้อเครื่องบินแบบ Cessna 208 Caravan และก่อตั้ง PT ASI Pudjiastuti Aviation โดยได้รับสัญญาณเรียกขานเป็น ‘Susi Air’ และใช้ในการขนส่งอาหารทะเลสดทั่วอินโดนีเซียไปยังกรุงจาการ์ตา รวมถึงไปยังต่างประเทศเช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น

ในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2004 ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับอาเจะห์และชายฝั่งตะวันตกของสุมาตรา สายการบิน Susi Air ซึ่งในขณะนั้นมีเครื่องบิน Cessna Grand Caravan เพียง 2 ลำเท่านั้นเป็นหนึ่งในสายการบินแรกที่เข้าไปช่วยเหลือ และทำการแจกจ่ายอาหารและสิ่งของจำเป็นให้แก่ผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติในพื้นที่ห่างไกล ในช่วงเวลาดังกล่าวสายการบิน Susi Air มักได้รับการเช่าเหมาลำไปอาเจะห์โดย NGO เพื่อปฏิบัติภารกิจบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรม รายได้จากภารกิจของ NGO ในอาเจะห์ทำให้สายการบิน Susi Air สามารถจัดหาเครื่องบินลำใหม่ และขยายฝูงบินไปยังเส้นทางในปาปัวและกาลีมันตันได้ ปัจจุบันสายการบิน Susi Air เป็นผู้ใช้เครื่องบิน Cessna Grand Caravan รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

เธอได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการทางทะเลและประมงเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2014 โดยประธานาธิบดี Joko Widodo ในคณะรัฐมนตรีชุดปี 2014–2019 ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่ง Susi ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของ PT ASI Pudjiastuti Marine Product และ PT ASI Pudjiastuti Aviation เธอเข้ารับช่วงต่อในกระทรวงที่มีความเสี่ยงต่อการถูกยุบเลิก เพราะปัญหาเรือประมงต่างชาติรุกล้ำน่านน้ำอินโดนีเซียที่อยู่รอบเกาะ 17,500 เกาะเป็นประจำ ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียได้ประมาณการว่าการทำประมงผิดกฎหมายทำให้อินโดนีเซียสูญเสียรายได้กว่า 101 ล้านล้านรูเปียะห์ (7.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปี ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง Susi ได้สั่งให้เร่งกวาดล้างจับกุม ยึด และทำลายเรือประมงต่างชาติทิ้งไปหลายร้อยลำ จนทำให้เรือประมงต่างชาตินับหมื่นลำที่แสวงหาประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียต้องรีบออกจากน่านน้ำอินโดนีเซีย โดยในช่วงที่เธอดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2017 ปริมาณผลผลิตด้านการประมงของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า และในเดือนเมษายน 2018 เธอสั่งสกัดและยึดเรือประมงผิดกฎหมาย Andrey Dolgov ซึ่งเป็นเรือประมงระยะทำการไกล ในช่วงทศวรรษ 2000 และ 2010 เรือลำนี้ซึ่งมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการประมงผิดกฎหมายในวงกว้าง โดยเป็นหนึ่งในเรือที่ Interpol ต้องการมากที่สุด และในที่สุดเรือ Andrey Dolgov ก็ถูก กองทัพเรืออินโดนีเซียยึดและควบคุมในเดือนเมษายน 2018 และในปี 2019 รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งใจที่จะปรับปรุงเรือลำนี้ให้เป็นหนึ่งในเรือปฏิบัติการของกองเรือบังคับใช้กฎหมายด้านการประมงของอินโดนีเซีย

เมื่อ 16 กันยายน 2016 กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ได้มอบรางวัล Leaders for a Living Planet Award ให้กับ Susi เพื่อเป็นการยกย่องความพยายามของเธอในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการทางทะเลและการประมงจากการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคการประมงของอินโดนีเซีย และการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงการปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำอินโดนีเซียอย่างเข้มงวด จากการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Ecology & Evolution พบว่า นโยบายต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายที่เข้มงวดของ Susi ส่งผลให้ “ปริมาณการจับปลาโดยรวมลดลงอย่างน้อย 25% [อาจ] ทำให้ปริมาณการจับปลาอย่างถูกกฎหมายของชาวประมงอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นถึง 14% และมีกำไรเพิ่มขึ้น 12%” 

ฝากให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบภารกิจด้านนี้ทั้งกลาโหม ต่างประเทศ และเกษตรฯ ได้นำผลงานของ ‘Susi Pudjiastuti’ มาเป็นแนวทางในการทำงาน ทั้งนี้จะเป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นตั้งใจและฝีไม้ลายมือในการปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลของชาติอย่างเต็มที่เพื่อที่ประชาชนคนไทยจะได้เห็นผลงานด้วยความชื่นชมต่อไป

ไทยไร้ทางเลือก!! กรณีส่ง 40 อุยกูร์ กลับมาตุภูมิซินเจียง ชี้ ต้องไม่ลืม!!! เหตุระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณ 17 ส.ค. 58

ความขัดแย้งที่ซินเจียง หรือ ความขัดแย้งระหว่างชาวอุยกูร์ กับ รัฐบาลจีน (Xinjiang conflict หรือ Uyghur–Chinese conflict) เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเขตปกครองตนเองซินเจียงทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน มาจากชาวอุยกูร์ ชนกลุ่มน้อยเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในภูมิภาคที่ต้องการปกครองตนเอง ชาวอุยกูร์ (Uighurs Uygurs หรือ Uigurs) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เติร์กที่มีต้นกำเนิดจากและมีส่วนเกี่ยวข้องทางวัฒนธรรมกับภูมิภาคเอเชียกลางและเอเชียตะวันออก ชาวอุยกูร์ได้รับการยอมรับว่าเป็นชนพื้นเมือง ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยถือเป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในจำนวน 55 กลุ่มของจีน แต่ชาวอุยกูร์ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลจีนว่า เป็นชนกลุ่มน้อยในภูมิภาคของประเทศในกรณีของความหลากหลายทางวัฒนธรรมเท่านั้น 

เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เป็นเขตปกครองตนเองของจีนทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เป็นเขตปกครองใหญ่ที่สุดของจีน เป็นเขตการปกครองชนชาติที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก กินพื้นที่กว่า 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร และเป็นเขตการปกครองที่มีประชากรมากที่สุดติดอันดับหนึ่งในสิบ ซินเจียงมีพรมแดนติดต่อกับ ประเทศรัสเซีย มองโกเลีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดีย นอกจากนี้ยังมีพรมแดนติดต่อกับทิเบต มีน้ำมันสำรองอุดมสมบูรณ์ และเป็นภูมิภาคที่ผลิตแก๊สธรรมชาติใหญ่ที่สุดของจีน มีประชากรราว 24,870,000 คน ประกอบด้วย ชาวอุยกูร์ 45.84% ชาวฮั่น 40.48% ชาวคาซัค 6.50% ชาวหุย 4.51% และชาติพันธุ์อื่น ๆ อีก 2.67% เมืองสำคัญคือ อุรุมชี มีประชากรมากกว่า 2.3 ล้านคนประมาณ 75% เป็นชาวฮั่น 12.8% เป็นชาวอุยกูร์และ 10% มาจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ

ชาวอุยกูร์ส่วนส่วนหนึ่งหลบหนีออกมาเคลื่อนไหวนอกสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยชาวอุยกูร์ส่วนใหญ่ที่หลบหนีออกมาจะมุ่งหน้าไปยังตุรกีด้วยมีความคล้ายทางชาติพันธุ์ ภาษา และศาสนา โดยสหรัฐฯทั้งรัฐบาลและรัฐสภาต่างก็มีบทบาทในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของชาวอุยกูร์ โดยในเดือนธันวาคม 2019 สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ มีมติ 407 ต่อ 1 เสียงในการผ่านร่างกฎหมายที่กำหนดให้รัฐบาลของทรัมป์ต้องประณามและดำเนินมาตรการตอบโต้การจีนที่ใช้มาตรการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ (กฎหมาย ‘อุยกูร์ 2019’) โดยต้องเรียกร้องให้จีนปิดค่ายกักกันขนาดใหญ่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ รวมทั้งคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ของจีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว โดยพุ่งเป้าไปที่ นายเฉิน ฉวนกั๋ว เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำซินเจียงผ่าน กฎหมายดังกล่าวประณามจีนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกรณีการปราบปรามชาวอุยกูร์ในซินเจียง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ และเชื่อว่ามีชาวอุยกูร์และชาวมุสลิมชนกลุ่มน้อยนับล้านคนถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายปรับเปลี่ยนทัศนคติ ต่อมา 23 พฤษภาคม 2020 กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐออกแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เรื่องการเพิ่มชื่อบริษัทและสถาบันของจีนรวม 33 แห่ง เข้าสู่บัญชีดำการเป็นหน่วยงานที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในจีน โดยเฉพาะชาวอุยกูร์ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ 9 แห่ง และอีก 24 แห่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับ "การผลิตอาวุธทำลายล้าง" และกิจกรรมทางทหาร

ตั้งแต่มีนาคม พ.ศ.2557 มีชาวอุยกูร์ประมาณ 300 กว่าคนได้หลบหนีเข้ามาในบ้านเรา ซึ่งรัฐบาลจีนได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยส่งบุคคลเหล่านี้กลับไปยังประเทศจีน เนื่องจากอาจมีความเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายในประเทศจีน โดยรัฐบาลไทยได้ขอให้ฝ่ายจีนดำเนินการส่งหลักฐานการกระทำผิด และมีการพิสูจน์สัญชาติให้แก่ฝ่ายไทยพิจารณาก่อนที่จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไป รัฐบาลไทยได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมควบคู่กับหลักสิทธิมนุษยชนและพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย อีกทั้งรัฐบาลไทยได้พิจารณาอย่างรอบคอบจากหลักฐานของทุกฝ่าย สรุปว่า สามารถแยก'ชาวอุยกูร์'ดังกล่าว ได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกจำนวน 172 คน ซึ่งกลุ่มนี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการกระทำผิดกฎหมาย และบุคคลดังกล่าวได้แสดงความประสงค์ที่จะเดินทางไปตุรกีและรัฐบาลตุรกีพร้อมที่จะรับ 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยได้รับหลักฐานการกระทำผิดและการพิสูจน์สัญชาติ 'ชาวอุยกูร์' จำนวน 109 คนจากรัฐบาลจีน และยังมีอีกประมาณ 60 คนที่ยังอยู่ในความดูแลของไทย กระทรวงการต่างประเทศของไทย ระบุว่า จากข้อเท็จจริงข้างต้น รัฐบาลไทยจึงได้ดำเนินการต่อเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2558 และตัดสินใจส่งชาวอุยกูร์ จำนวน 172 คน ให้กับรัฐบาลตุรกี ซึ่งได้รับบุคคลเหล่านี้ไปตั้งถิ่นฐานในตุรกีเรียบร้อยแล้ว และในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2558 รัฐบาลไทยได้ตัดสินใจส่งชาวอุยกูร์จำนวน 109 คน ตามที่รัฐบาลจีนได้ส่งหลักฐานการกระทำผิดและได้รับการพิสูจน์สัญชาติให้กับฝ่ายไทยแล้ว โดยยังมีชาวอุยกูร์ ประมาณ 60 คน(ยอดในขณะนั้น) อยู่ในความดูแลของรัฐบาลไทยซึ่งยังไม่มีหลักฐานเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายรัฐบาลไทย โดยจะพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป 

จากเหตุระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 20 คน บาดเจ็บอีก 130 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวชาวอุยกูร์สองคนส่งฟ้องศาลคือ นายบิลาล โมฮำเหม็ด หรือ อาเด็ม คาราดัก เป็นจำเลยที่ 1 และนายเมียไรลี ยูซุฟู เป็นจำเลยที่ 2 ในข้อหาเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ และคนไทยอีกคนหนึ่งในคดีนี้คือ น.ส.วรรณา สวนสัน ถูกแยกฟ้องอีกต่างหาก โดยผู้ต้องหาทั้งหมดอยู่ระหว่างดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมของไทย ดังนั้นกรณีของชาวอุยกูร์ในประเทศไทยจึงต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นและเคร่งครัด ด้วยมีชาวอุยกูร์เคยก่อเหตุร้ายแรงในบ้านเรามาแล้ว ถือเป็นบทเรียนที่รัฐบาลต้องเตรียมการป้องกันและหาข่าวด้านความมั่นคงที่เกี่ยวเนื่องต่อไปอย่างต่อเนื่อง คนไทยเองต้องอย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม เพราะจะนำมาซึ่งความเสียหายร้ายแรง และหากเป็นเพราะเจตนาไม่ชอบหรือหวังผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องจะถูกดำเนินคดีด้วยแม้ไม่ใช่ตัวการก็ในฐานะผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 ของไทยด้วย 

ดังนั้นการส่งชาวอุยกูร์ที่ตกค้างอยู่กลับสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงชอบธรรมแล้ว ดังนั้น UNHCR และกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ โปรดอย่าได้ดัดจริตออกมาโวยวายในเรื่องนี้ เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่านมาทำไม UNHCR จึงไม่ประสานจัดการส่งคนเหล่านี้ไปประเทศที่สาม (แต่สามารถประสานให้ผู้ต้องหาในคดีความผิดตามมาตรา 112 หนีออกนอกประเทศไปเป็นผู้ลี้ภัยได้) เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ตอนนี้เองก็ใช้เครื่องบินลำเลียงทหารขนผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองออกนอกประเทศเป็นว่าเล่น จะกล่าวหาประณามใคร ควรทบทวนมองดูตัวเองให้ดีก่อน เพราะการกระทำกับคำพูดสุดที่ย้อนแย้งกันเสียเหลือเกิน

‘Sino-Indian War’ สงครามระหว่างจีนและอินเดีย ปัญหาข้อพิพาทพรมแดนที่ยืดเยื้อนานกว่า 6 ทศวรรษ

ปี 1962 เกิดความขัดแย้งด้วยอาวุธระหว่างจีนและอินเดียขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน เป็นการยกระดับข้อพิพาทกรณีพรมแดนระหว่างจีน-อินเดีย การสู้รบเกิดขึ้นตามแนวชายแดนของอินเดียกับจีนบริเวณชายแดนตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ทางตะวันออกของภูฏาน และในอักไซชินทางตะวันตกของเนปาล

การแบ่งแยกอินเดีย-ปากีสถาน (1947) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่สงครามเย็นได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั่วโลก ทำให้เกิดข้อพิพาทเรื่องพรมแดนในอนุทวีปอินเดีย เป็นจุดที่พรมแดนของ 3 ประเทศคือ อินเดีย ปากีสถาน และจีน มาบรรจบกัน หลังจากปราบปรามทิเบตในปี 1950 อินเดียได้ให้การสนับสนุนและที่พักพิงแก่ ‘ดาไลลามะ’ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต ซึ่งเป็นผู้นำการต่อต้านการยึดครองทิเบตของจีน จีนก็เริ่มมีข้อพิพาทเรื่องพรมแดนกับอินเดียในหลายจุด และกับอีกหลาย ๆ ประเทศในเทือกเขาหิมาลัยได้แก่ เนปาล ภูฏาน และรัฐสิกขิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘อักไซชิน’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคแคชเมียร์ บริเวณเหนือสุดของอนุทวีปอินเดียในเอเชียกลางใต้ ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของแคชเมียร์-อินเดีย เป็นพื้นที่ที่ถูกละเลยมานานของอนุทวีปอินเดียเนื่องจากความห่างไกลและโดดเดี่ยว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปเมื่อจีนพยายามเชื่อมต่อทิเบตกับซินเจียงด้วยสร้างเส้นทางลาดตระเวนทางหารผ่านภูมิภาคนี้ อินเดียคัดค้านการเข้ามาของจีนในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเขตการปกครองของจีนในแคชเมียร์ถูกอ้างสิทธิ์โดยอินเดียว่าเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ภูมิภาคลาดักห์’ ที่อยู่ภายใต้การบริหารของอินเดีย

หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ และเกิดการแบ่งแยกประเทศ ปากีสถานกลายเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรกของอินเดีย เนื่องจากกองทัพอินเดียมีการแบ่งแยกตามเชื้อชาติ และมีนโยบายไม่รับนายทหารที่มีเชื้อชาติเดียวกันในหน่วยทหารเดียวกัน ทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างนายทหารและทหารชั้นผู้น้อยขึ้นไปทั่ว โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างนายทหารกับทหารชั้นผู้น้อยนั้นต้องพัฒนาขึ้นด้วยเวลาเพื่อให้การเรียนรู้เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย การร่วมสู้รบด้วยกันโดยไม่มีสายสัมพันธ์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

สงครามเย็นที่เริ่มต้นด้วยการปิดล้อมเบอร์ลินทำให้พันธมิตรอังกฤษ-อเมริกันต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งน้ำมัน พันธมิตรหลายฝ่ายตั้งแต่ตุรกีไปจนถึงปากีสถานต่างก็พยายามปกป้องตนเองจากลัทธิคอมมิวนิสต์ และรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจของประเทศเหล่านั้นพยายามรักษาความเป็นเจ้าของแหล่งน้ำมันโดยตรง อินเดียตระหนักดีถึงธรรมชาติของการแสวงหาอาณานิคมยุคใหม่ของชาติตะวันตกเหล่านี้ และไม่ต้องการเสียอำนาจอธิปไตย จึงได้กำหนดนโยบายต่างประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ปากีสถานได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์รุ่นใหม่จากสหรัฐอเมริกา ในขณะที่อินเดียต้องทนใช้อาวุธยุทโธปกรณ์รุ่นเก่าตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ของชาติตะวันตก นั่นหมายความว่า อินเดียต้องลงทุนกำลังคนมากขึ้นเพื่อปกป้องแคชเมียร์และปัญจาบจากปากีสถาน

อินเดียต้องทำสงครามกับปากีสถานกรณีแคชเมียร์ในปี 1948 จึงไม่มีกำลังรบเหลือมากพอที่จะสู้รบกับจีน ซึ่งจนถึงปี 1950 อินเดียเองยังไม่มีแม้แต่การคาดคะเนภัยคุกคามจากจีน กองทัพอังกฤษเดิมประจำการบริเวนชายแดนจีน-ทิเบต แต่หลังจากอินเดียได้รับเอกราชภารกิจดังกล่าวก็ตกเป็นหน้าที่ของกองทัพอินเดีย อินเดียรู้ดีว่า ชายแดนอินเดีย-จีนนั้นยากที่จะป้องกันได้ เพราะการสร้างระบบส่งกำลังบำรุงและป้อมค่ายเป็นไปได้ยาก ‘เส้นแม็กมาฮอน’ เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างทิเบตและอัสสัมของอินเดีย (ในขณะที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ) ซึ่งการเจรจาระหว่างทิเบตและสหราชอาณาจักรเมื่อสิ้นสุดการประชุมชิมลา (ตุลาคม 1913–กรกฎาคม 1914) และตั้งชื่อตามเซอร์เฮนรี แม็กมาฮอน ผู้เจรจาคนสำคัญของอังกฤษ เส้นเขตแดนนี้ทอดยาวจากชายแดนด้านตะวันออกของภูฏานไปตามสันเขาหิมาลัยจนถึงโค้งแม่น้ำพรหมบุตร ซึ่งแม่น้ำสายนี้ไหลออกจากเส้นทางทิเบตสู่หุบเขาอัสสัม ผู้แทนของรัฐบาลสาธารณรัฐจีนได้เข้าร่วมการประชุมที่เมืองชิมลาด้วย แต่ปฏิเสธที่จะลงนามในข้อตกลงหลักเกี่ยวกับสถานะและเขตแดนของทิเบต ด้วยเหตุผลว่า ทิเบตอยู่ภายใต้การปกครองของจีนและไม่มีอำนาจที่จะทำสนธิสัญญา จีนยังคงยืนหยัดในจุดยืนนี้มาจนถึงปัจจุบัน และยังอ้างว่าดินแดนของจีนขยายลงไปทางใต้จนถึงเชิงเขาหิมาลัย 

หลังจากการปะทะระหว่างจีน-อินเดียบริเวณชายแดนหลายครั้งในช่วงปี 1959 ถึง 1962 ที่สุดกองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้ข้าม ‘เส้นแม็กมาฮอน’ เข้าโจมตีอินเดียในปี 1962 กองทัพอินเดียต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการเตรียมกำลังทหารให้พร้อมรบในสภาพออกซิเจนไม่เพียงพอ ในขณะนั้นกองทัพอินเดียเองก็ไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์เพียงพอที่จะต้านทานกองทัพจีน หลังจากจีนได้ทำการปราบปรามการลุกฮือของชาวทิเบตในเขตปกครองตนเองทิเบต กองทัพจีนได้ข้ามพรมแดนโจมตีอินเดียจนกลายเป็นกรณีพิพาทที่รุนแรง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 1962 ทำให้กองกำลังอินเดียพ่ายแพ้อย่างราบคาบ โดยมีทหารเสียชีวิตหรือถูกจับกุมกว่า 7,000 นาย และพื้นที่ลุ่มในรัฐอัสสัมก็เปิดโล่งให้ผู้รุกรานเข้ายึดครอง กองกำลังของจีนสามารถยึดครองดินแดนอินเดียทางใต้ของ ‘เส้นแม็กมาฮอน’ 

ปัจจัยสำคัญสองประการที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับกองทหารอินเดียในที่สุด ได้แก่ ท่าทีของอินเดียเกี่ยวกับพรมแดนที่เป็นข้อพิพาทและความพยายามของอินเดียในการบ่อนทำลายการยึดครองทิเบตของจีน ซึ่งจีนมองว่า "มีความจำเป็นต้องลงโทษและยุติความพยายามของอินเดียที่จะบ่อนทำลายการควบคุมทิเบตของจีน ซึ่งเป็นความพยายามของอินเดียที่จีนมองว่ามี วัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูสถานะเดิมก่อนปี 1949 ของทิเบต" อีกประการหนึ่งคือ "มีความจำเป็นต้องลงโทษและยุติการรุกรานของอินเดียต่อดินแดนของจีนตามแนวชายแดน" 

ผู้นำจีนเลือกช่วงที่ ‘วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา’ กำลังลุกลามในการโจมตีอินเดีย โดยคาดว่า วิกฤตการณ์ในคิวบาจะยืดเยื้อต่อไปอีก ซึ่งจะทำให้มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ หันเหความสนใจจากการแทรกแซงในอินเดียได้ แต่สหรัฐฯ สามารถแก้ปัญหาคิวบาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้วอชิงตันสามารถตอบสนองต่อคำร้องขอความช่วยเหลือจาก ‘ชวาหระลาล เนห์รู’ นายกรัฐมนตรีอินเดียได้ ขณะที่เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ กำลังเดินทาง จีนได้ประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน และหลังจากนั้นไม่นานจีนก็ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ยึดครองจากอินเดียได้ ปัจจุบัน จีนยังคงควบคุมพื้นที่ประมาณ 14,700 ตารางไมล์ (38,000 ตารางกิโลเมตร) ใน ‘อักไซชิน’ และพื้นที่ดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างสองประเทศอยู่จนทุกวันนี้

ภายหลังจาก ‘สงครามระหว่างจีนและอินเดีย’ ในปี 1962 แล้วมีกรณีพิพาทและการปะทะระหว่างกำลังทหารจีนและอินเดียต่อเนื่องเรื่อยมาอีกหลายครั้ง อาทิ
- ปี 1967 การรบที่ Nathu La และ Cho La เป็นการปะทะกันหลายครั้งระหว่างจีนและอินเดียบนพรมแดนของอาณาจักรสิกขิมในเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งในขณะนั้นเป็นรัฐในอารักขาของอินเดีย การปะทะ เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 11 กันยายน เมื่อกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเปิดฉากโจมตีฐานที่มั่นของอินเดียที่ Nathu La และกินเวลานานจนถึงวันที่ 15 กันยายน ต่อมาในเดือนตุลาคมมีการปะทะกันอีกครั้งเกิดขึ้นที่ Cho La และสิ้นสุดลงในวันเดียวกัน
- ปี 1975 วันที่ 20 ตุลาคม ทหารอินเดีย 4 นายถูกสังหารที่ตูลุงลาในรัฐอรุณาจัลประเทศ ตามแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของรัฐบาลอินเดีย กองลาดตระเวนของ Assam Rifles ซึ่งประกอบด้วยนายทหารชั้นประทวน (NCO) 1 นาย และพลทหารอีก 4 นาย ถูกซุ่มโจมตีโดยทหารจีนประมาณ 40 นาย ในพื้นที่ซึ่งอยู่ในอาณาเขตของอินเดีย และมีการลาดตระเวนเป็นประจำมาหลายปีโดยไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น สมาชิกหน่วยลาดตระเวน 4 นายได้รับการระบุในตอนแรกว่าสูญหาย ก่อนที่จะได้รับการยืนยันผ่านช่องทางการทูตว่า พวกเขาถูกทหารจีนสังหาร ศพของพวกเขาถูกส่งคืนในภายหลัง รัฐบาลอินเดียได้ประท้วงรัฐบาลจีนอย่างรุนแรง
- ปี 1987 การปะทะกันระหว่างจีนและอินเดียที่หุบเขา Sumdorong Chu ซึ่งอยู่ติดกับเขต Tawang รัฐอรุณาจัลประเทศ และเขต Cona ทิเบต การเผชิญหน้าทางทหารเริ่มต้นขึ้นเมื่อจีนเคลื่อนกำลังทหารจำนวนหนึ่งไปยัง Wangdung ซึ่งเป็นทุ่งหญ้าทางตอนใต้ของ Sumdorong Chu ซึ่งอินเดียอ้างว่าเป็นดินแดนของตน กำลังทหารอินเดียยืนหยัดต้านทานอยู่บนสันเขา Longro La ที่อยู่ใกล้เคียง และทั้งสองฝ่ายได้เคลื่อนกำลังทหารจำนวนมากไปยังชายแดน วิกฤตการณ์คลี่คลายลงหลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินเดียเยือนปักกิ่งในเดือนพฤษภาคม 1987 การเผชิญหน้าดังกล่าวก่อให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดความตึงเครียดมากขึ้น ในเวลาต่อมาอินเดียและจีนได้จัดทำข้อตกลงเพื่อจัดการกับความตึงเครียดที่ชายแดนในอนาคต
- ปี 2017 ความขัดแย้งทางทหารที่ Doklam ในเดือนมิถุนายนเกิดการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างอินเดียและจีนในดินแดนพิพาท Doklamใกล้กับช่องเขา Doka La วันที่ 16 มิถุนายน จีนได้นำอุปกรณ์สร้างถนนขนาดใหญ่มาที่ Doklam และเริ่มสร้างถนนในพื้นที่พิพาท โดยก่อนหน้านี้ จีนได้สร้างถนนลูกรังที่สิ้นสุดที่ Doka La ซึ่งเป็นที่ที่กองทหารอินเดียประจำการอยู่

- ปี 2020 เดือนมิถุนายน กำลังทหารอินเดียและจีนปะทะกันในหุบเขา Galwan ซึ่งรายงานว่าส่งผลให้ทหารทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บและเสียชีวิตฝ่ายละหลายสิบนาย (โดยตัวเลขจากข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ได้ใกล้เคียงและตรงกันเลย)
- ปี 2022 เดือนธันวาคม กองทัพอินเดียกล่าวว่าเกิดการปะทะกันระหว่างกำลังทหารอินเดียและจีนในเขตทาวังของรัฐอรุณาจัลประเทศ แต่การปะทะครั้งนี้ ทหารของทั้งสองฝ่ายเพียงแต่ได้รับบาดเจ็บ (อินเดีย 34 นาย และจีน 40 นาย) ไม่ปรากฏว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีผู้เสียชีวิต และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ยังไม่มีรายงานการปะทะกันระหว่างทหารจีนและทหารอินเดียอีก 

ความขัดแย้งระหว่างจีนและอินเดียยังคงยืดเยื้อและสงบจบลงไม่ได้โดยง่าย หากทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันในเรื่องความชัดเจนของเส้นเขตแดน อันเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งอินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ อันที่จริงแล้วหากสามารถเจรจาตกลงทำสนธิสัญญาเห็นชอบรับรองเส้นเขตแดนร่วมกันได้แล้ว ประเทศทั้งสองในปัจจุบันต่างก็มีศักยภาพในการจัดทำแนวรั้วกั้น และพัฒนาเส้นทางคมนาคมระหว่างกันได้ทั้งทางรถยนต์และรถไฟได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองทั้งหางการเมืองระหว่างประเทศและเศรษฐกิจ และนำความสงบสุขกลับคืนสู่อนุภูมิภาคนี้ต่อไป

เปิดเส้นทางมรณะ ‘Dunki Route’ ชาวอินเดียนับหมื่น แห่ลอบเข้าอเมริกา-ยุโรป เสี่ยงตายเพื่อฝัน

ตามข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ณ เดือนพฤษภาคม 2024 จำนวนชาวอินเดียโพ้นทะเลทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 35.42 ล้านคน คิดเป็น 2.53% ของจำนวนพลเมืองอินเดียทั้งประเทศราว 1,400ล้านคน โดย 10 ประเทศที่มีชาวอินเดียอาศัยอยู่มากที่สุดไล่เรียงจากมากไปหาน้อยได้แก่ สหรัฐฯ สหรัฐอาหรับฯ มาเลเซีย แคนาดา ซาอุดิอาระเบีย เมียนมา สหราชอาณาจักร แอฟริกาใต้ ศรีลังกา และคูเวต ซึ่งเป็นการนับรวมทั้งผู้ที่ยังคงถือสัญชาติอินเดียและผู้ที่มีเชื้อชาติอินเดียแต่ไม่ได้ถือสัญชาติอินเดียแล้ว

ตัวเลขดังกล่าว น่าจะไม่ได้นับรวมชาวอินเดียที่ลักลอบเข้าประเทศเหล่านี้อย่างผิดกฎหมายอีกจำนวนมาก ซึ่งชาวอินเดียเหล่านั้นได้ลักลอบเข้าประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศตะวันตกด้วยเส้นทางที่เรียกว่า 'Dunki route' แปลได้ว่า 'ทางลาเดิน' คำนี้มีที่มาจากสำนวนภาษาปัญจาบ 'Dunki' นอกจากแปลว่า 'ลา' แล้วยังแปลว่า “กระโดดจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง” เป็นชื่อเรียกเส้นทางที่ที่เด็ก ๆ หนุ่มสาว จากแคว้น Punjab, Haryana และ Gujarat เป็นเส้นทางผิดกฎหมายที่ผู้คนจำนวนมากใช้เพื่อข้ามพรมแดนออกจากอินเดียไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นเส้นทางที่อันตรายด้วยมีความเสี่ยงมากมาย เนื่องจากต้องอดอาหารหลายวัน เดินผ่านป่า ข้ามแม่น้ำและทะเล เพื่อหลีกเลี่ยงเจ้าหน้าที่ เส้นทางผิดกฎหมายเหล่านี้ แม้จะว่า มักจะมีภัยคุกคามและจุดจบที่ไม่พึงปรารถนา แต่ก็เป็นที่นิยมในหมู่เยาวชนที่ต้องการชีวิตที่ดีขึ้นและไล่ตามความฝันแบบอเมริกัน (American dream)

ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยสำนักงานศุลกากรและป้องกันชายแดนของสหรัฐฯ ผู้ย้ายถิ่นฐานจากอินเดียประมาณ 42,000 คนข้ามพรมแดนทางใต้โดยผิดกฎหมายระหว่างเดือนตุลาคม 2022 ถึงกันยายน 2023 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 เป็นต้นมาชาวอินเดียประมาณ 97,000 คนพยายามเข้าสู่สหรัฐอเมริกาอย่างผิดกฎหมายและถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ทั้ง ๆ ที่เส้นทางไปสู่ประเทศต่าง ๆ อย่างผิดกฎหมายนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่เพียงแต่ในแง่ของความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายทางการเงินด้วย การเดินทางด้วยลาไปยังสหรัฐอเมริกามีค่าใช้จ่ายระหว่าง 150,000-400,000 รูปี (58,500-156,000) และอาจสูงถึง 700,000 รูปี (273,000) และยิ่งใช้เงินมากเท่าไหร่การเดินทางก็ยิ่งสะดวกสบายมากขึ้นเท่านั้น โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 150,000 รูปีสำหรับโปรตุเกส 250,000 รูปีสำหรับเยอรมนี และ 450,000 รูปีสำหรับสหรัฐอเมริกา

ขั้นตอนแรกของ 'Dunki route' ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากอินเดียไปยังประเทศในละตินอเมริกา เช่น เอกวาดอร์ โบลิเวีย กายอานา บราซิล และเวเนซุเอลา เหตุผลที่เลือกประเทศในละตินอเมริกาเป็นเส้นทางผ่านก็คือการที่ชาวอินเดียจะเข้าประเทศเหล่านี้ได้ง่ายกว่า ประเทศเหล่านี้ไม่เพียงแต่ให้วีซ่าเมื่อเดินทางมาถึง (Visa on arrival) แก่ชาวอินเดียเท่านั้น แต่ผู้ที่ต้องใช้วีซ่าก่อนเดินทางมาถึงก็สามารถขอวีซ่าท่องเที่ยวในอินเดียได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ นายหน้าที่จัดการการอพยพที่ผิดกฎหมายยังอาศัยอยู่ในประเทศเหล่านี้ซึ่งมี 'ความเชื่อมโยง' กับการค้ามนุษย์ที่ผิดกฎหมาย

เส้นทางอื่น ๆ ในบางกรณี นายหน้าจะจัดเตรียมวีซ่าตรงไปจากดูไบยังเม็กซิโก แต่การเข้าเมืองโดยตรงในเม็กซิโกถือเป็นอันตราย เนื่องจากมีโอกาสที่จะถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ดังนั้น นายหน้าส่วนใหญ่จึงส่งลูกค้าไปยังประเทศในละตินอเมริกาแล้วจึงพาพวกเขาไปที่โคลอมเบีย หลังจากมาถึงโคลอมเบีย ผู้อพยพจะเดินทางเข้าสู่ปานามา ซึ่งเส้นทางต้องข้ามช่องเขาดาริเอน ซึ่งเป็นป่าอันตรายระหว่างสองประเทศ ความเสี่ยง ได้แก่ ขาดน้ำสะอาด สัตว์ป่า และกลุ่มอาชญากร ซึ่งอาจนำไปสู่การปล้นและกระทั่งข่มขืน ในหนึ่งในกรณีที่ถูกรายงานระบุว่า ชาวอินเดียกลุ่มหนึ่งจาก Haryana ถูกขโมยเงิน โทรศัพท์ และแม้กระทั่งเสื้อผ้าและรองเท้า ขณะข้ามป่า พวกเขาต้องเดินเท้าเปล่าท่ามกลางความหนาวเย็นและหิมะ ใช้เวลาเดินทางแปดถึงสิบวัน และหากเกิดเหตุการณ์เลวร้ายขึ้นหรือผู้อพยพเสียชีวิต ก็ไม่มีทางที่จะส่งศพกลับบ้านได้

มีเส้นทางอื่นที่ปลอดภัยกว่าจากโคลอมเบีย ซึ่งผู้อพยพจะหลีกเลี่ยงป่าอันตรายในปานามา เส้นทางเริ่มต้นจากซานอันเดรส ซึ่งเรือประมงที่มีผู้อพยพผิดกฎหมายจะมุ่งหน้าไปยังฟิชเชอร์แมนส์เคย์ ซึ่งอยู่ห่างจากซานอันเดรสประมาณ 150 กิโลเมตร จากนั้นจึงเปลี่ยนเรืออีกลำเพื่อมุ่งหน้าต่อไปยังเม็กซิโก จากปานามา ผู้อพยพจะมุ่งหน้าไปยังเม็กซิโกเพื่อเข้าสู่ชายแดนสหรัฐฯ และกัวเตมาลาเป็นศูนย์กลางการประสานงานที่สำคัญในเส้นทางนี้ เม็กซิโกเป็นเส้นทางที่สำคัญในการเดินทาง เนื่องจากต้องหลบซ่อนจากหน่วยงานพิทักษ์ชายแดน พรมแดนสหรัฐฯ และเม็กซิโกที่ยาว 3,140 กิโลเมตรที่กั้นระหว่างสหรัฐฯ และเม็กซิโกออกจากกันมีรั้วกั้น ซึ่งผู้อพยพจะต้องกระโดดข้ามไป และผู้อพยพอื่น ๆ อีกจำนวนมากต้องข้ามแม่น้ำริโอแกรนด์ที่อันตราย อย่างไรก็ตาม ผู้อพยพจำนวนมากถูกจับกุมหลังจากข้ามแม่น้ำริโอแกรนด์ แทนที่จะข้ามรั้วหรือเข้ามาทางทะเล

เส้นทางผ่านยุโรป ผู้อพยพจำนวนมากยังเลือกยุโรปแทนที่จะผ่านประเทศในละตินอเมริกา ถึงแม้ว่าการเดินทางผ่านยุโรปไปยังเม็กซิโกจะง่ายกว่า แต่เส้นทางนี้อยู่ภายใต้การควบคุมโดยทางการของประเทศต่าง ๆ อย่างเข้มงวด เริ่มจากการบินจากนิวเดลีไปยังฮังการี ซึ่งพวกเขาจะถูกกักขังในห้องเล็ก ๆ เป็นเวลา 10 วัน และได้รับอาหารเพียงขนมปังและน้ำเล็กน้อยพอประทังชีวิต จากฮังการี พวกเขาบินไปฝรั่งเศส จากนั้นไปเม็กซิโกซิตี้ ซึ่งเขาถูกขังไว้ในห้องเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ หลังจากบินอีกเที่ยวและนั่งรถบัสเป็นเวลานาน และถูกพาขึ้นรถกระบะพาพวกเขาไปใกล้ชายแดนสหรัฐฯ และข้ามไปยังมลรัฐแคลิฟอร์เนียในที่สุด หากถูกจับกุมจะถูกนำตัวไปที่ศูนย์ซึ่งจะพบกับผู้ลักลอบเข้าเมืองมากมายหลายชาติที่เคยเดินทางในลักษณะเดียวกัน ผู้อพยพลักลอบเข้าเมืองชาวอินเดียส่วนใหญ่ประมาณ 80% เป็นหนุ่มสาวที่โสด และเข้ามาทางชายแดนเม็กซิโกใกล้รัฐแอริโซนาหลังจากขึ้นเครื่องบินที่ผ่านประเทศที่ไม่ต้องขอวีซ่าสำหรับพลเมืองอินเดีย รายงานในปี 2022 ของสถาบันนโยบายการย้ายถิ่นฐานของสหรัฐฯ (MPI) ได้ระบุว่า “การข่มเหงทางศาสนาและการเมืองต่อผู้ที่ไม่ใช่ชาวฮินดูที่เพิ่มมากขึ้นในอินเดีย” และ “การขาดการบังคับใช้กฎหมายในประเทศ โอกาสทางเศรษฐกิจ" ยังผลักดันชาวอินเดียเดินทางไปสู่ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย แม้ว่าจะมีอุปสรรคมากมายและเส้นทางที่อันตราย แต่การใช้ 'Dunki route' ถือเป็นวิธีการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายที่นิยมมากที่สุดของผู้ลักลอบเข้าเมืองหนุ่มสาวชาวอินเดีย

‘สารตะกั่ว’ คร่าชีวิตมนุษย์มหาศาลมากกว่าสงครามโลกทั้ง 2 ครั้งรวมกัน

30 ปีก่อน น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในยานพาหนะไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เรือยนต์ และเครื่องบิน ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในล้วนแล้วแต่มีส่วนผสมของ ‘สารตะกั่ว’ ซึ่งเป็นสารเคมีประเภทโลหะหนักที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องของการคร่าชีวิตมนุษย์ที่เกิดขึ้นด้วยความไม่รู้จนกลายเป็นความสมัครใจของประชาชนพลโลกทั้งหลาย การที่รถยนต์ซึ่งใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในซึ่งทำงานด้วยการระเบิดหรือเผาไหม้ส่วนผสมของเชื้อเพลิง โดยทั่วไปคือน้ำมันเชื้อเพลิงกับอากาศที่เกิดขึ้นภายในเครื่องยนต์ แล้วเกิด Oxidizing กระทั่งมีการขยายตัวจนแตกตัวภายในห้องเผาไหม้ ทำให้แรงระเบิดจากการเผาไหม้จะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงาน ซึ่งเครื่องยนต์เผาไหม้ภายในได้พลังงานจากการระเบิดดังกล่าวมาใช้ขับเคลื่อนตัวรถยนต์ แต่ในช่วงทศวรรษที่ 1920 เมื่ออุตสาหกรรมรถยนต์เฟื่องฟู รถยนต์กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งอนาคตแห่งความก้าวหน้าและความเป็นอิสระ แต่เครื่องยนต์ในยุคนั้นกลับมีปัญหาอย่างหนึ่งเกิดขึ้น นั่นก็คือเครื่องยนต์มักจะเดินสะดุดจนมีอาการน็อคบ่อย ๆ เมื่อเกิดปัญหานี้ขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงทำให้เครื่องยนต์สึกหร่อเร็วขึ้น ประหยัดน้ำมันน้อยลง และทำให้ผู้ขับขี่รู้สึกรำคาญ

ในปี 1921 Thomas Midgley Jr. นักเคมีของบริษัท General Motors ค้นพบว่า การเติม ‘สารตะกั่ว’ (Tetraethyl Lead) ลงในน้ำมันเบนซินสามารถช่วยในเรื่องของการลดการสึกหรอ โดยเฉพาะบริเวณบ่าวาล์ว ช่วยเพิ่มออกเทน และที่สำคัญคือ เป็น 'สารป้องกันการน็อค' ช่วยลดปัญหาการชิงจุดระเบิดหรือ Knocking GM ทำให้แก้ไขปัญหาเครื่องยนต์น็อคได้ ช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานราบรื่นขึ้น ประหยัดน้ำมันมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพของรถยนต์โดยเฉพาะสมรรถนะของเครื่องยนต์ ความก้าวหน้าครั้งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นการปฏิวัติวงการรถยนต์ในขณะนั้นเลยทีเดียว แต่สารตะกั่วกลับกลายเป็นมลพิษโดยเฉพาะกับเด็ก ๆ การใช้สารตะกั่วในน้ำมันเบนซินทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์เป็นอย่างมาก ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 เริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์จากน้ำมันเบนซินผสม ‘สารตะกั่ว’ เนื่องจากไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงความเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ความกังวลเหล่านี้จึงลดลงไปอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งในปี 1969 มีการศึกษาทางคลินิกครั้งแรกซึ่งแสดงให้เห็นว่า สารตะกั่วมีผลกระทบทางลบต่อมนุษย์อย่างมาก จากนั้น หลักฐานที่เกี่ยวกับขอบเขตของการได้รับพิษจาก ‘สารตะกั่ว’ และความเชื่อมโยงกับประสิทธิภาพทางปัญญาที่ไม่ดีในเด็กก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาพิษจากสารตะกั่วในเด็กได้สรุปไว้ว่า “แนวคิดในการเติมสารตะกั่วลงในน้ำมันเบนซินใช้เวลาเพียง 2 ปี แต่ต้องใช้เวลาถึง 60 ปีในการเลิกเติมสารตะกั่วในน้ำมันเบนซิน” 

เพื่อตอบสนองต่อปัญหานี้ ในช่วงทศวรรษปี 1970 หลายประเทศจึงเริ่มเลิกใช้น้ำมันเบนซินผสมตะกั่ว ตัวอย่างเช่น สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกแนวปฏิบัติเพื่อลดปริมาณตะกั่วในปี 1983 แต่กว่าที่ญี่ปุ่นจะได้เป็นประเทศแรกที่ห้ามใช้สารตะกั่วทั้งหมดก็ต้องรอจนถึงปี 1986 ซึ่งเป็นเวลาหกทศวรรษหลังจากที่ได้มีการเติมสารตะกั่วในน้ำมันเบนซิน และในปี 2021 สามทศวรรษครึ่งต่อมา แอลจีเรียได้กลายเป็นประเทศสุดท้ายที่ห้ามใช้สารตะกั่วในน้ำมันเบนซิน ดังนั้น ปัจจุบันทุกประเทศบนโลกใบนี้ได้เลิกใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วหมดแล้ว ตลอดระยะเวลาการใช้น้ำมันเบนซินที่เติม ‘สารตะกั่ว’ แต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เลือกที่จะเพิกเฉยทั้ง ๆ ที่สารตะกั่วเป็นสารพิษต่อระบบประสาทตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา การใช้น้ำมันเบนซินผสมสารตะกั่วอย่างแพร่หลายส่งผลให้มีการปล่อยไอตะกั่วจำนวนมหาศาลสู่ชั้นบรรยากาศ เด็ก ๆ เป็นกลุ่มที่เปราะบางเป็นพิเศษ โดยเด็ก ๆ หลายล้านคนต้องทนทุกข์ทรมานจากความบกพร่องทางสติปัญญา ความล่าช้าในการพัฒนา และปัญหาด้านพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัส ‘สารตะกั่ว’ คนหลายชั่วอายุคนได้สูดดมควันพิษจากสารตะกั่วเข้าไปโดยไม่รู้ตัว

ปัญหาการตกค้างของมลพิษจากสารตะกั่วเป็นปัญหาที่สะสมเรื้อรังยาวนาน ตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักรได้เลิกการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ที่เติม ‘สารตะกั่ว’ อันเป็นแหล่งที่มาหลักของสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมช่วงศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่ปี 1999 แล้ว แต่การค้นพบในบทความวิจัย ‘Strong evidence for the continued contribution of lead deposited during the 20th century to the atmospheric environment in London of today‘ พบว่า แม้ผ่านมาแล้วเกินกว่า 20 ปี ยังคงมีอนุภาคของสารตะกั่วในอดีตหลงเหลืออยู่ในอากาศของมหานครลอนดอนจนถึงปัจจุบัน สำหรับประเทศไทยได้ยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซินชนิดที่มีสารตะกั่วทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 1996 (พ.ศ. 2539) เป็นต้นมา 

แม้ว่าจะมีการยกเลิกการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ที่เติมสารตะกั่วแล้วก็ตาม แต่ยังโลกก็ยังคงเผชิญพิษภัยจาก ‘สารตะกั่ว’ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ทุกปี จะมีผู้เสียชีวิตจากพิษของ ‘สารตะกั่ว’ ประมาณ 1 ล้านคน และล้มป่วยอีกหลายล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก การสัมผัสกับตะกั่วแม้ในระดับต่ำจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตลอดชีวิต รวมทั้งโรคโลหิตจาง ความดันโลหิตสูง พิษต่อภูมิคุ้มกัน และความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ผลกระทบต่อระบบประสาทและพฤติกรรมจากตะกั่วอาจไม่สามารถกลับคืนสู่สภาวะปกติได้ องค์การอนามัยโลกได้แนะนำว่า ควรระบุแหล่งที่มาของการสัมผัสตะกั่ว และดำเนินการเพื่อลดและยุติการสัมผัสสำหรับบุคคลที่มีระดับตะกั่วในเลือดมากกว่า 5ug/dl ไม่มีระดับการสัมผัสสารตะกั่วที่ปลอดภัยจึงเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพของเด็ก องค์การยูนิเซฟประมาณการว่า เด็ก 1 ใน 3 คน หรือประมาณ 800 ล้านคนทั่วโลก มีระดับสารตะกั่วในเลือดอยู่ที่ 5 µg/dl ขึ้นไป และจำเป็นต้องดำเนินการทั่วโลกทันทีเพื่อแก้ไขปัญหานี้ 

สารตะกั่วเป็นพิษต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายหลายระบบ รวมถึงระบบประสาทส่วนกลางและสมอง ระบบสืบพันธุ์ ไต ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบเลือด และระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ประมาณการว่า ความพิการทางสติปัญญาที่ไม่ทราบสาเหตุร้อยละ 30 โรคหัวใจและหลอดเลือดร้อยละ 4.6 และโรคไตเรื้อรังร้อยละ 3 เกิดจากการรับสารตะกั่วเข้าไปในร่างกาย โดยมีแหล่งรับสารตะกั่วจำนวนมากในสถานประกอบการอุตสาหกรรม เช่น การทำเหมืองและการหลอมโลหะ การรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์และแบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด ระบบประปา และกระสุนปืน และในสถานที่ที่อาจทำให้เด็กและวัยรุ่นได้รับสารตะกั่วได้โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ การสัมผัสสารตะกั่วยังสามารถเกิดขึ้นได้ในสถานที่ที่ไม่ใช่อุตสาหกรรม เช่น สีตะกั่วที่พบได้ใน บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล และสนามเด็กเล่น เด็ก ๆ อาจกลืนเอาเศษและฝุ่นจากของเล่นหรือพื้นผิวที่เคลือบตะกั่ว หรือสัมผัสสารตะกั่วผ่านเซรามิกเคลือบตะกั่ว ยาแผนโบราณและเครื่องสำอางบางชนิด แหล่งการสัมผัสสารตะกั่วที่สำคัญ ได้แก่ การปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมจากการรีไซเคิลแบตเตอรี่ตะกั่ว-กรดและจากการทำเหมืองและหลอมตะกั่วที่ควบคุมได้ไม่ดี การใช้สารรักษาแบบดั้งเดิมที่มี ‘สารตะกั่ว’ เคลือบเซรามิกที่มีสารตะกั่วที่ใช้ในภาชนะบรรจุอาหาร ท่อน้ำที่มีสารตะกั่วและส่วนประกอบอื่น ๆ ที่มีสารตะกั่วในระบบจ่ายน้ำ และสีที่มี ‘สารตะกั่ว’ องค์การอนามัยโลกได้ระบุว่า สารตะกั่วเป็นสารเคมี 1 ใน 10 ชนิดที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพสาธารณะ ซึ่งประเทศสมาชิกจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อปกป้องสุขภาพของคนงาน เด็ก และสตรีวัยเจริญพันธุ์ และได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ห้ามใช้สีที่มี ‘สารตะกั่ว’ ให้มีการระบุและกำจัดแหล่งที่มาของสารตะกั่วทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารตะกั่วในทางที่ผิด และป้องกันการรับพิษจาก ‘สารตะกั่ว’ 

สำหรับประเทศไทย มีการดำเนินงานการเฝ้าระวังสารตะกั่วอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเด็ก ๆ ในพื้นที่เสี่ยง เช่น พื้นที่ภาคกลางดำเนินงานในกลุ่มเด็กพื้นที่คลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี กลุ่มอาชีพหล่อพระพุทธรูป จังหวัดสมุทรสาคร พื้นที่จังหวัดระยอง ดำเนินงานในศูนย์เด็กเล็ก พื้นที่ภาคเหนือ การปนเปื้อนตะกั่วจากหม้อแบตเตอรี่ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในกลุ่มประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทำรางน้ำฝน หรือพื้นที่ภาคใต้ในกลุ่มเด็กเล็กที่ผู้ปกครองประกอบอาชีพมาดอวน เป็นต้น โดยมีการเก็บตะกั่วบนพื้นผิวในบ้าน เจาะเลือดเด็กเพื่อเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งลักษณะการดำเนินงานเป็นการดำเนินงานเชิงรุก ซึ่งสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และหน่วยบริการสุขภาพภายใต้กระทรวงสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ได้เข้าไปดำเนินการ ทำให้พบว่า มีเด็กในวัย 0-5 ปีราว 29% สัมผัสปัจจัยเสี่ยง ‘สารตะกั่ว’ โดยส่วนใหญ่การสัมผัสจากแหล่งภายนอกบ้าน

ปัจจัยหลักในการรับสัมผัสสารตะกั่วของเด็ก ๆ ในสิ่งแวดล้อมเกิดจากการที่นำอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับตะกั่วเข้ามาใกล้ตัวเด็ก ๆ การที่ทำงานของผู้ใกล้ชิดเด็ก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตะกั่วโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการรับสัมผัสตะกั่ว เช่น การไม่เปลี่ยนชุดทำงาน อาบน้ำเมื่อเลิกงาน การเก็บสิ่งของที่ปนเปื้อนตะกั่วในที่พักอาศัย และอีกปัจจัยสำคัญ คือ พฤติกรรมของเด็กที่เสี่ยงต่อการรับสัมผัสตะกั่ว เช่น การชอบดูดนิ้ว จับสิ่งของเข้าปาก ไม่ล้างมือ ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวทำให้ตะกั่วเข้าสู่ร่างกายได้โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ดังนั้นจึงต้องมีการให้ความรู้ในการป้องกันและลดการรับสัมผัสตะกั่วเข้าสู่ร่างกายสำหรับประชาชนทั่วไป ผู้ปกครอง ครู/ครูพี่เลี้ยง และการจัดอบรมหลักสูตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และการลดการรับสัมผัสตะกั่วของเด็ก ๆ ในสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กเล็ก เน้นการทำงานเชิงรุกเพื่อจัดการไม่ให้ตะกั่วที่อยู่รอบตัวเข้าสู่ร่างกายของเด็ก ๆ ได้อีกต่อไป

ครบรอบ 57 ปี ปฏิบัติการ ‘Blue House raid’ ภารกิจลับเกาหลีเหนือส่งทีมลอบสังหารผู้นำเกาหลีใต้

เหตุการณ์ประกาศกฎอัยการศึก (Martial law) ของ Yoon Suk Yeol ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ได้สร้างความตกตะลึงให้กับชาวเกาหลีใต้ ทำให้นึกถึงอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญของสองเกาหลี นั่นก็คือ ‘Blue House raid’ (หรือที่เรียกในเกาหลีใต้ว่า เหตุการณ์วันที่ 21 มกราคม) เป็นปฏิบัติการบุกทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ (Blue House) โดยหน่วยคอมมานโดของเกาหลีเหนือเพื่อสังหาร Park Chung-hee ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนั้น ณ ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ หรือ Blue House ในวันที่ 21 มกราคม 1968 ผลก็คือ หน่วยกล้าตายของกองทัพประชาชนเกาหลี (The Korean People's Army : KPA) ทั้ง 31 นาย ถูกสังหาร จับกุม หรือหลบหนี และตัวประธานาธิบดี Park Chung-hee เองไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด

พลตรี Park Chung-hee (บิดาของ Park Geun-hye ประธานาธิบดีคนที่ 11 ของเกาหลีใต้) ได้ยึดอำนาจรัฐของเกาหลีใต้ด้วยการรัฐประหารเมื่อปี 1961 และปกครองในฐานะเผด็จการทหารจนถึงการเลือกตั้งและเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 3 ของเกาหลีใต้ในปี 1963 Blue House raid เกิดขึ้นในบริบทของความขัดแย้งในเขต DMZ (เขตปลอดทหาร) ของสองเกาหลี (ระหว่าง ปี 1966–69) หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีและการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติเกาหลีใต้ในปี 1967 ผู้นำเกาหลีเหนือได้สรุปว่า การต่อต้านภายในประเทศของ Park Chung-hee ไม่ได้ถือเป็นการท้าทายต่อการปกครองของเขาอีกต่อไป ในวันที่ 28 มิถุนายน - 3 กรกฎาคม 1967 คณะกรรมการกลางแห่งพรรคแรงงานแห่งเกาหลีได้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ Kim Il-sung ผู้นำเกาหลีเหนือในขณะนั้นจึงแจ้งให้คณะทำงาน "เตรียมให้การสนับสนุนและความช่วยเหลือในการต่อสู้ของพี่น้องชาวเกาหลีใต้ของเรา" ภายในเดือนกรกฎาคมนั้นเอง หน่วยปฏิบัติการพิเศษคือ หน่วย 124 ซึ่งพึ่งจัดตั้งขึ้นได้ไม่นานของกองทัพประชาชนเกาหลี (KPA) ก็ได้รับมอบหมายให้ทำการลอบสังหาร Park Chung-hee ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้

การตัดสินใจครั้งนี้อาจเป็นผลจากข้อเท็จจริงที่ว่าในปี 1967 กำลังทหารของสหรัฐฯเข้าสู่สงครามเวียดนาม ภายใต้สถานการณ์ที่กองทัพสหรัฐฯต้องทุ่มเทกับสงครามในเวียดนามใต้ จึงน่าจะไม่สามารถใช้มาตรการตอบโต้เกาหลีเหนือได้โดยสะดวก ในปี 1965-68 ความสัมพันธ์เกาหลีเหนือ - เวียดนามเหนือใกล้ชิดมาก และเกาหลีเหนือยังให้ความช่วยเหลือทางทหารและเศรษฐกิจแก่เวียดนามเหนืออีกด้วย การโฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือพยายามที่จะแสดงให้เห็นถึงการจู่โจมของหน่วยกล้าตายในฐานะขบวนการกองโจรต่อต้านของเกาหลีใต้ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกองกำลังเวียดกงในเวียดนามใต้

เกาหลีเหนือเตรียมการด้วยการจัดชายหนุ่ม 31 คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ KPA ให้สังกัดในหน่วย 124 ซึ่งเป็นหน่วยคอมมานโดปฏิบัติการพิเศษ และได้รับการฝึกฝนเป็นเวลาแรมปี และใช้เวลา 15 วันสุดท้ายในการฝึกซ้อมปฏิบัติการตามวัตถุประสงค์ด้วยการจำลอง Blue House เพื่อการฝึกแบบเต็มรูปแบบ ชายที่ได้รับการคัดเลือกมาเป็นพิเศษเหล่านี้ได้รับการฝึกฝนในการแทรกซึมและเทคนิคการขุดเจาะ อาวุธศึกษา การเดินเรือ การปฏิบัติการทางอากาศ การแทรกซึมแบบสะเทินน้ำสะเทินบก การต่อสู้ด้วยมือเปล่า (โดยเน้นการต่อสู้ด้วยมีด) และการปกปิดซ่อนพราง Kim Shin-jo หนึ่งในสองสมาชิกของหน่วย 124 ผู้รอดชีวิตกล่าวว่า "มันทำให้เราไม่กลัว เพราะไม่มีใครคิดจะมองหาศพเราในสุสาน" การฝึกของพวกเขาหนัก เข้มงวด และมักจะอยู่ในสภาพที่โหดร้าย เช่น การวิ่งด้วยความเร็ว 13 กม. / ชม. (8 ไมล์ต่อชั่วโมง) พร้อมกับสัมภาระหนัก 30 กก. (66 ปอนด์) บนพื้นที่ที่ขรุขระ ซึ่งบางครั้งการฝึกดังกล่าวทำให้เกิดการบาดเจ็บตามเท้าและนิ้วเท้า

ปฏิบัติการโจมตี เริ่มขึ้นด้วยการแทรกซึม วันที่ 16 มกราคม 1968 หน่วย 124 ได้ออกจากค่ายทหารที่ตั้งของหน่วย 124 ที่เมือง Yonsan ต่อมาวันที่ 17 มกราคม 1968 เวลา 23.00 น. พวกเขาลักลอบเข้าไปในเขตปลอดทหารโดยตัดผ่านรั้วลวดหนามของกองพลทหารราบที่ 2 กองทัพบกสหรัฐฯ พอถึงเวลาตี 2 ของวันรุ่งขึ้นพวกเขาจึงได้ตั้งแคมป์ที่ Morae-dong และ Seokpo-ri ในวันที่ 19 มกราคมเวลา 5.00 น. หลังจากข้ามแม่น้ำ Imjin แล้วก็ตั้งแคมป์พักบนภูเขา Simbong เวลา 14.00 น. มีพี่น้อง Woo สี่คนจาก Beopwon-ri พากันมาตัดฟืนและเดินเข้ามาในที่ตั้งของหน่วย 124 หลังจากการถกเถียงกันอย่างดุเดือดว่าจะฆ่าพี่น้องสี่คนหรือไม่ ที่สุดจึงตกลงใจที่จะทำการอบรมปลูกฝังลัทธิคอมมิวนิสต์ให้แก้พี่น้องสี่คนนี้ และปล่อยตัวทั้งสี่ไปพร้อมคำเตือนอย่างหนักแน่นว่า ห้ามแจ้งตำรวจ อย่างไรก็ตามพี่น้องสี่คนเมื่อถูกปล่อยตัวก็ได้แจ้งการปรากฏตัวของหน่วย 124 ทันทีที่สถานีตำรวจ Changhyeon ในเมือง Beopwon-ri หลังจากหน่วย 124 ได้รื้อที่พักและเพิ่มความเร็วฝีเท้าเป็นมากกว่า 10 กม. / ชม. โดยแบกยุทโธปกรณ์คนละ 30 กก. ข้ามภูเขา Nogo และมาถึงภูเขา Bibong ในวันที่ 20 มกราคม เวลา 07.00 น. ทหาร 3 กองพันจากกองพลทหารราบที่ 25 ของเกาหลีใต้เริ่มค้นหาผู้แทรกซึมบนภูเขา Nogo แต่หน่วย 124 ได้ออกจากพื้นที่ไปแล้ว เมื่อหน่วย 124 เข้าสู่กรุงโซลในคืนวันที่ 20 มกราคมจึงได้แบ่งเป็นหน่วยย่อยเล็ก ๆ ชุดละ 2 - 3 นาย และมารวมกลุ่มกันใหม่ที่วัด Seungga-sa ที่ซึ่งพวกเขาได้เตรียมการขั้นสุดท้ายสำหรับการโจมตี

ในขณะเดียวกันกองบัญชาการสูงสุดของเกาหลีใต้ได้เพิ่มกำลังทหารจากกองทหารพลราบที่ 30 และกองพลทหารพลร่มในการค้นหา และตำรวจเกาหลีใต้ก็เริ่มค้นหาตามเขต Hongje-dong, เขต Jeongreung และภูเขา Bukak ด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งได้นำมาใช้ทั่วกรุงโซล หัวหน้าหน่วย 124 จึงตระหนักว่า แผนเดิมของพวกเขามีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จน้อยมาก จึงได้มีการปรับแผนใหม่ ด้วยการเปลี่ยนมาสวมเครื่องแบบกองทัพบกเกาหลีใต้ (ROKA) ของกองพลทหารราบที่ 26 พร้อมด้วยเครื่องอิสริยาภรณ์ประจำหน่วยซึ่งพวกเขานำมาด้วยอย่างถูกต้อง พวกเขาจัดกำลังและเตรียมที่จะเดินขบวนในช่วงสุดท้ายไปยัง Blue House โดยสวมรอยเป็นทหารเกาหลีใต้ที่กลับมาจากการลาดตระเวนต่อต้านการแทรกซึม เมื่อหน่วย 124 เดินเท้าไปตามถนน Segeomjeong ใกล้กับเขต Jahamun มุ่งหน้าไปยัง Blue House ระหว่างทางได้ผ่านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และที่ตั้งทางทหารของ ROKA หลายหน่วย

เวลา 22.00 น. ของวันที่ 21 มกราคม 1968 หน่วย 124 ได้เข้าใกล้จุดตรวจ Segeomjeong – Jahamun ห่างจาก Blue House เพียงไม่ถึง 100 เมตร ก็ถูกสารวัตร Jongro Choi Gyushik หัวหน้าตำรวจซึ่งเดินเข้ามายังจุดที่หน่วย 124 กำลังเดินเท้าอยู่ และเริ่มตั้งคำถามกับพวกเขา คำตอบของสมาชิกหน่วย 124 ทำให้สารวัตร Choi Gyushik สงสัยจึงชักปืนพกออกมา แต่ถูกสมาชิกของหน่วย 124 ยิงก่อน จากนั้นก็เริ่มทำการยิงและขว้างระเบิดใส่จุดตรวจ หลังจากยิงต่อสู้กันหลายนาที หน่วย 124 ก็ได้สลายตัวแยกย้ายกันไป โดยบางส่วนมุ่งหน้าไปที่ภูเขา Inwang ภูเขา Bibong และ ภูเขา Uijeongbu สารวัตร Choi Gyushik และ Jung Jong-su รองสารวัตรเสียชีวิตระหว่างการยิงปะทะ สมาชิกหน่วย 124 นายหนึ่งถูกจับแต่พยายามฆ่าตัวตาย กว่าจะผ่านคืนนี้ไปมีชาวเกาหลีใต้ 92 คนต้องกลายเป็นผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุปะทะ ในจำนวนนี้มีพลเรือนราว 24 คนที่ติดอยู่บนรถบัสท่ามกลางห่ากระสุน วันที่ 22 มกราคม 1968 ทหารจากกองพลที่ 6 กองทัพบกเกาหลีใต้ได้เริ่มปฏิบัติการกวาดล้างครั้งใหญ่เพื่อจับกุม/สังหารสมาชิกของหน่วย 124 โดยทหารจากกรมทหารที่ 92 กองพลทหารราบที่ 30 จับกุม Kim Shin-jo ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในบ้านของชาวบ้านใกล้ภูเขา Inwang ทหารจากกองพันที่ 30 กองบัญชาการป้องกันเมืองหลวงได้สังหารหน่วยคอมมานโดอีก 4 นายในเขต Buam-dong และบนภูเขา Bukak

วันที่ 23 มกราคม 1968 ทหารจากกองพันทหารช่างสังกัดกองพลทหารราบที่ 26 ได้สังหารคอมมานโด 124 นายหนึ่งบนภูเขา Dobong และวันที่ 24 มกราคม 1968 ทหารจากกองพลทหารราบที่ 26 และทหารกองพลที่ 1 ได้สังหารหน่วยคอมมานโด 124 อีก 12 นายใกล้เมือง Seongu-ri วันที่ 25 มกราคมหน่วยคอมมานโด 3 นายถูกสังหารใกล้เมือง Songchu วันที่ 29 มกราคม หน่วยคอมมานโดอีก 6 นายถูกสังหารใกล้ภูเขา Papyeong ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในระหว่างการพยายามลอบสังหารครั้งนี้ประกอบด้วย ฝ่ายเกาหลีใต้มีผู้เสียชีวิต 26 คน และบาดเจ็บ 66 คน (พลเรือน 24 คน) ทหารอเมริกัน 4 นายถูกสังหารจากความพยายามที่จะสกัดกั้นผู้แทรกซึมที่พยายามหลบหนีด้วยการข้ามเขตปลอดทหาร สมาชิก 31 นายของหน่วย 124 ถูกสังหารไป 29 นาย Kim Shin-jo ถูกจับ ส่วนอีกคน Pak Jae-gyong สามารถหลบหนีกลับเกาหลีเหนือได้ ศพของสมาชิกหน่วย 124 ที่เสียชีวิตถูกฝังในสุสานทหารเกาหลีเหนือและจีนในเกาหลีใต้

วันที่ 22 มกราคม 1968 กองบัญชาการสหประชาชาติ (UNC) ประจำเกาหลีใต้ ได้ขอให้มีการประชุมคณะกรรมาธิการสงบศึกทางทหาร (MAC) เพื่อหารือเกี่ยวกับการโจมตีครั้งนี้ UNC ขอให้มีการประชุมในวันที่ 23 มกราคม แต่เกาหลีเหนือขอให้เลื่อนออกไปอีกหนึ่งวัน และในวันเดียวกันนั้นเอง เกาหลีเหนือก็ได้ยึดเรือ USS Pueblo (AGER-2) ของกองทัพเรือสหรัฐฯเอาไว้ ดังนั้นการประชุม MAC ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มกราคมจึงไม่เพียงเป็นการพูดคุยหารือกับเรื่องของการโจมตี Blue House เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการจับกุมเรือ USS Pueblo โดยเกาหลีเหนืออีกด้วย การยึดเรือ USS Pueblo ทำให้สหรัฐฯและนานาชาติต้องหันความสนใจจาก Blue House raid ไปในระดับหนึ่ง อีกทั้ง Blue House raid เกิดขึ้นในวันเดียวกันกับที่การรบที่ Khe Sanh เริ่มต้นขึ้นในเวียดนามใต้ และวันที่ 31 มกราคมเกิดการโจมตีที่เรียกว่า ‘การรุกใหญ่ตรุษญวน (Tet Offensive)’ ซึ่งเกิดขึ้นทั่วเวียดนามใต้ ทำให้การสนับสนุนของสหรัฐฯเกาหลีใต้ในการตอบโต้เกาหลีเหนือจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ในกรุงไซ่ง่อนกองกำลังเวียดกงได้พยายามลอบสังหาร NguyễnVệnThiệu ประธานาธิบดีเวียดนามใต้ที่ Independence Palace (ทำเนียบประธานาธิบดีเวียดนามใต้) แต่ถูกตีโต้กลับอย่างรวดเร็ว 

ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางคนเห็นว่า ความคล้ายคลึงกันของการโจมตีทั้งสองจุด โดยหน่วยคอมมานโดในจำนวนใกล้เคียงกัน (31 นายในกรุงโซลและ 34 นายในกรุงไซง่อนตามลำดับ) ได้อนุมานว่า ผู้นำเกาหลีเหนือมีความเข้าใจในการปฏิบัติการทางทหารของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ดังนั้นจึงอาจมีความเกี่ยวข้องและต้องการใช้ประโยชน์จากผลการรบในสงครามเวียดนามด้วย ประธานาธิบดี Johnson มองว่าการยึด USS Pueblo และกำหนดเวลาของ ‘การรุกใหญ่ตรุษญวน’ น่าจะมีการประสานงานกันเพื่อเบี่ยงเบนทรัพยากรของสหรัฐฯไปจากเวียดนามใต้ และเป็นการบีบบังคับให้เกาหลีใต้ถอนทหารบกสองกองพลและทหารนาวิกโยธินอีกหนึ่งกรมออกจากเวียดนามใต้ นายพล Charles H. Bonesteel III ผบ. กองกำลังสหรัฐฯประจำเกาหลีใต้ในขณะนั้น กลับเห็นต่างจากประธานาธิบดี Johnson ด้วยว่า เขามองไม่เห็นความเกี่ยวข้องดังกล่าว เขามองว่า Blue House raid ได้รับการวางแผนไว้ในระดับลับสูงสุดในเกาหลีเหนือ ในขณะที่การยึด USS Pueblo ดูเหมือนเป็นเรื่องบังเอิญ ด้วยเพราะเป็นจังหวะที่เกาหลีเหนือได้โอกาสจึงฉวยเอาไว้ได้พอดี

เพื่อตอบโต้ปฏิบัติการ Blue House raid รัฐบาลเกาหลีใต้ได้จัดตั้งหน่วย 684 โดยใช้กำลังจากบรรดานักโทษฉกรรจ์ เพื่อที่จะลอบสังหาร Kim Il-sung ผู้นำเกาหลีเหนือ โดยแลกกับอิสรภาพ อย่างไรก็ตามหลังจากการปรับปรุงความสัมพันธ์ภายในของสองเกาหลี ซึ่งเริ่มหันมาพูดคุยกันด้วยสันติวิธีมากขึ้น ภารกิจการลอบสังหารของหน่วยนี้ก็ถูกยกเลิก และในปี 1971 และพยายามกำจัดหน่วยนี้ทิ้ง เพื่อให้ภารกิจเป็นความลับ จึงทำให้สมาชิกของหน่วย 684 ส่วนใหญ่ถูกสังหาร ในเดือนพฤษภาคม ปี 1972 Kim Il-sung ผู้นำเกาหลีเหนือได้แสดงความเสียใจต่อ Lee Hu-rak หัวหน้าสำนักงานข่าวกรองกลางเกาหลี (KCIA) ระหว่างการประชุมร่วมกันในกรุงเปียงยาง โดยอ้างว่า “Blue House raid เป็นปฏิบัติการที่ถูกวางแผนโดยฝ่ายซ้ายสุดโต่งและไม่ได้สะท้อนถึงเจตนาของเขาหรือของพรรคเลย” หลังจากประธานาธิบดี Park Chung-hee รอดชีวิตจากความพยายามลอบสังหารอื่น ๆ อีกหลายครั้ง และ Yuk Young-soo ภรรยาผู้เป็นมารดาของ Park Geun-hye ประธานาธิบดีคนที่ 11 ของเกาหลีใต้ก็เสียชีวิตจากความพยายามในการลอบสังหารเขาเมื่อ 15 สิงหาคม 1974 ในที่สุดประธานาธิบดี Park Chung-hee ก็ถูก Kim Jae-gyu ผู้อำนวยการ KCIA ยิงเสียชีวิตในปี 1979 ด้วยสาเหตุที่ยังไม่ชัดเจนจนทุกวันนี้ว่า นี่เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นเองหรือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามทำรัฐประหารโดยหน่วยข่าวกรองหรือไม่

Kim Shin-jo หนึ่งในสองผู้รอดชีวิตสมาชิกของหน่วย 124 ซึ่งเป็นสมาชิกคนเดียวของหน่วยฯที่ถูกทางการเกาหลีใต้จับไว้ได้ ถูกทางการเกาหลีใต้สอบปากคำเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัว และหลังจากที่เขาได้กลายเป็นพลเมืองของเกาหลีใต้ในปี 1970 พ่อแม่ของเขาก็ถูกประหารชีวิต และทางการเกาหลีเหนือได้ทำการกวาดล้างจับกุมญาติพี่น้องของเขาทั้งหมด ต่อมา Kim Shin-jo ได้กลายเป็นศิษยาภิบาลของโบสถ์ Sungrak Sambong ในจังหวัด Gyeonggi-do เขาแต่งงาน มีบุตรสองคน และยังคงใช้ชีวิตอย่างสงบอยู่ในเกาหลีใต้จนทุกวันนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top