Monday, 29 April 2024
ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล

‘Akku Yadav’ ชายโฉดชั่วผู้ถูกสตรีนับร้อยรุมประชาทัณฑ์ จนเสียชีวิตคาศาล ผลจากความล้มเหลวของกฎหมาย สู่การแก้แค้นที่โหดที่สุดของอินเดีย


เรื่องราวนี้เกิดขึ้นใน ‘ประเทศอินเดีย’ เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ด้วยอินเดียเป็นประเทศที่มีปัญหาทางสังคมอันเนื่องมาจากวิถีชีวิตผู้คนในประเทศนี้ ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาฮินดู โดยจะยึดถือระบบวรรณะอย่างเคร่งครัด และจะไม่มีการข้ามวรรณะกันเด็ดขาด วรรณะทั้ง 4 นั้นได้แก่ พราหมณ์, กษัตริย์, แพศย์ และศูทร นอกจากนี้ ยังมีคนนอกวรรณะ ซึ่งถือว่าเป็นชนชั้นที่ต่ำที่สุดในสังคม นั่นคือ ‘จัณฑาล’

ระบบวรรณะในสังคมของอินเดียนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเหลื่อมล้ำของลำดับชนชั้น โดยส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับอาชีพ ซึ่งบางอาชีพจะถือว่าต่ำต้อยมาตั้งแต่ดั้งเดิม เช่น คนกวาดถนนหรือคนเก็บขยะ ซึ่งจะอยู่ในชนชั้นที่ต่ำที่สุดทางสังคม ตามคำสอนเก่าแก่ที่ตกทอดกันมาในอินเดีย ถ้าชาวฮินดูแต่งงานกับคนนอกวรรณะ หรือกินอาหารร่วมกับคนที่วรรณะต่างจากตัวเองจะถือว่าเป็นเรื่องที่บาป ดังนั้น คนอินเดียจึงปฏิบัติและยึดถือเรื่องของวรรณะอย่างเคร่งครัด


ในสลัม ‘Kasturba Nagar’ ซึ่งอยู่นอกเมืองนาคปุระ รัฐมหาราษฏระทางตอนกลางของประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นที่อยู่ของ ‘ครอบครัวชาวทลิต’ (Dalit) วรรณะที่ต่ำที่สุดในอินเดีย (ต่ำกว่าจัณฑาล) เป็นชนชั้นของอินเดียที่ถูกตีตราชนิดที่ว่า ‘ห้ามเข้าไปจับต้องยุ่งเกี่ยว’ (Untouchable) โดยชาวทลิตเป็นกลุ่มที่ถูกแยกออกจากวรรณะทั้ง 4 ในศาสนาฮินดู และถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของอวรรณะ หรือ ‘วรรณะที่ 5’ ที่เรียกว่า ‘ปัญจม’ (Panchama)

และในสลัมแห่งนี้ที่มีทรชนขาใหญ่ที่ชื่อ ‘Akku Yadav’ (Bharat Kalicharan) เป็นนักเลง ขโมย โจร นักลักพาตัว นักข่มขืนต่อเนื่อง นักกรรโชกทรัพย์ และเป็นฆาตกรต่อเนื่องอีกด้วย ซึ่งเคยทำร้ายและข่มขืนผู้หญิงมากกว่า 200 คนในสลัมดังกล่าว โดยผู้หญิงเหล่านี้ ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวชาวทลิต Dalit จึงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิกเฉยละเลย


ตัว Akku Yadav เองก็เกิดและเติบโตขึ้นมาในสลัม Kasturba Nagar แห่งนี้ เป็นลูกชายของคนส่งนม ซึ่งต่อมาเขาได้ก้าวไปสู่ภัยคุกคามในท้องถิ่น โดยเริ่มต้นจากการเป็นอันธพาลตัวเล็ก ๆ มาเป็นมาเฟีย จนในที่สุดก็ได้เป็น ‘ราชาแห่งสลัม’

Yadav ปกครองกลุ่มอาชญากรที่ควบคุมสลัม Kasturba Nagar ด้วยการ ปล้น ทรมาน และฆ่าผู้คนโดยไม่ต้องรับโทษ Yadav ก่ออาชญากรรมเป็นเวลาหลายปีด้วยการสร้างอาณาจักรธุรกิจมืดขนาดเล็ก เขาและสมาชิกแก๊งมักคุกคามและข่มขู่ผู้คนเพื่อกรรโชกทรัพย์ และการขู่กรรโชก รีดไถ รีดไถเงิน ทำร้าย และข่มขู่ผู้ที่ต่อต้านเขา จนกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของ Yadav และสมุน ซึ่งมักจะทำร้ายผู้คนหากพวกเขาไม่ได้จ่ายเงินให้แก่เขา

ในช่วงชีวิตของเขาในฐานะอาชญากร Yadav ได้สังหารบุคคลอย่างน้อย 3 คน ได้ทรมานและลักพาตัวผู้คน บุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้คน และข่มขืนหญิงสาวและเด็กผู้หญิงนับร้อยคน หรือหากพวกเขาทำให้ Yadav โกรธในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เขาก็จะขู่ว่า จะข่มขืนใครก็ตามที่ต่อต้านเขาเป็นพิเศษ

เป็นที่ทราบกันดีว่าเหยื่อข่มขืนของ Yadav จำนวนมากคือ ชาวทลิตซึ่งต้องเผชิญกับความยากลำบาก จากความอยุติธรรมสำหรับคดีล่วงละเมิดทางเพศ โดย Akku Yadav ได้ติดสินบนเพื่อจูงใจให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เพื่อให้มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านั้นจะปกป้องเขา Yadav ยังคงทำร้ายผู้หญิงต่อไปโดยไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากการกระทำที่ชั่วร้ายและป่าเถื่อนเลย แม้ว่าเหยื่อจะแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะถูกข่มขู่ และ Yadav ก็สามารถรอดพ้นจากการจับกุมได้เสมอ


‘Usha Narayane’ หญิงผู้กล้าหาญคนหนึ่ง รายงานพฤติการณ์และพฤติกรรมของ Yadav ต่อรองผู้บัญชาการตำรวจของเมืองนาคปุระ ด้วยหวังว่าจะได้รับความยุติธรรม แต่กลับมีข่าวที่ชี้ให้เห็นว่า Yadav อาจหลบหนีการลงโทษได้อีกครั้ง วันที่ 6 สิงหาคม 2004 ฝูงชนก็พากันไปที่บ้านของ Yadav แล้วเผาบ้านทิ้ง จนทำให้ Yadav ต้องรีบไปมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอความคุ้มครอง หลังจากที่ตำรวจจับกุม Yadav เพื่อปกป้องตัวเขาเอง ก็มีกำหนดการพิจารณาคดีของเขาในวันที่ 13 สิงหาคม 2004 ในศาลแขวง Nagpur ของอินเดีย ข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่วละแวกใกล้เคียง ว่าเขาจะได้รับการปล่อยตัว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงวางแผนที่จะควบคุมตัวเขาไว้ จนกว่าเหตุการณ์จะสงบลงแล้วจึงจะปล่อยตัวเขาไป


วันที่ 13 สิงหาคม 2004 เมื่อการพิจารณาคดีเกิดขึ้นในศาลแขวงนาคปุระหมายเลข 7 ในใจกลางเมืองนาคปุระ ห่างออกไปจากสลัม Kasturba Nagar หลายกิโลเมตร มีผู้หญิงหลายร้อยคนเดินขบวนจากสลัมไปยังศาลโดยถือมีดหันผักและพริกป่น เดินเข้าไปในห้องพิจารณาคดี และนั่งเก้าอี้แถวหน้า Yadav เดินเข้าสู่ศาลอย่างมั่นใจและไม่หวาดหวั่น

เวลาประมาณ 14.30-15.00 น. เมื่อ Yadav ปรากฏตัว เขาเห็นผู้หญิงคนหนึ่งที่เขาข่มขืน Yadav ก็แสดงท่าทีเยาะเย้ยเธอ แล้วเรียกเธอว่า ‘โสเภณี’ และบอกว่าเขาจะข่มขืนเธออีกครั้ง บรรดาเจ้าหน้าที่ตำรวจก็พากันหัวเราะ แต่ผู้หญิงคนนั้นก็เอารองเท้าของเธอตี Yadav เข้าที่ศีรษะ เธอบอก Yadav ว่าเธอจะฆ่าเขา หรือไม่เขาก็จะต้องฆ่าเธอ โดยพูดว่า “เราทั้งคู่ไม่สามารถอยู่บนโลกนี้ด้วยกันได้ ถ้าไม่เป็นฉัน ก็ต้องเป็นตัวแกเอง” และผลการพิจารณาคดีคือ ‘การยกฟ้อง Yadav’


จากนั้น Yadav ก็ถูกรุมประชาทัณฑ์ทันที่ โดยกลุ่มผู้หญิงหลายร้อยคนที่ปรากฏตัวขึ้นในห้องพิจารณาคดี เขาถูกแทงไม่ต่ำกว่า 70 ครั้ง พริกป่นและก้อนหินถูกปาใส่หน้า อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เฝ้าอยู่ก็ถูกปาพริกป่นใส่หน้าด้วย บรรดาเจ้าหน้าที่ตำรวจต่างพากันตกใจกลัวจึงรีบหนีไปจนหมดในทันที หนึ่งในเหยื่อของเขายังตัดอวัยวะเพศของเขาจนขาดด้วย

การรุมประชาทัณฑ์เกิดขึ้นบนพื้นหินอ่อนของห้องพิจารณาคดี ขณะที่เขาเริ่มถูกประชาทัณฑ์ Yadav ซึ่งถูกผงพริกปาใส่หน้าก็ตกใจกลัวมากและตะโกนขึ้นว่า “ยกโทษให้ฉันด้วย ฉันจะไม่ทำแบบนั้นอีก!!” พวกผู้หญิงส่งมีดต่อกันไปรอบ ๆ เพื่อผลัดกันแทงเขา ผู้หญิงแต่ละคนตกลงที่จะแทง Yadav อย่างน้อยคนละ 1 แผล เลือดของเขานองอยู่บนพื้นและกระเซ็นไปทั่วผนังห้องพิจารณาคดี ภายใน 15 นาที Yadav วัย 32 ปี ก็ถึงแก่ความตาย หลังการชันสูตรพลิกศพพบว่า กลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ยังคงทำร้ายศพของเขาต่อ


กลุ่มผู้หญิงเหล่านั้นอ้างว่า การฆาตกรรมนั้นไม่ได้วางแผนไว้ ผู้หญิงคนหนึ่งกล่าวว่า “เราไม่เคยมีการประชุมพูดคุยอย่างเป็นทางการใด ๆ แต่เป็นการบอกปากต่อปาก ว่าเราจะต้องจัดการร่วมกัน” และอวัยวะเพศของเขาก็ถูกตัดออก ผู้หญิงทุกคนอ้างว่าจะรับผิดชอบต่อการฆาตกรรมนี้ และถึงแม้บางคนจะถูกจับกุม แต่ในที่สุดพวกเขาก็พ้นผิด แม้ว่าผู้หญิงหลายร้อยคนจะมีส่วนร่วมในการรุมประชาทัณฑ์

Usha Narayane และคนอื่นๆ ถูกจับในข้อหาฆาตกรรม แต่ต่อมาได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากขาดหลักฐาน ผู้พิพากษา ‘Bhau Vahane’ ยอมรับสถานการณ์ที่ยากลำบากที่ผู้หญิงต้องเผชิญ และความล้มเหลวของตำรวจในการปกป้องพวกเธอ

การตายของ Akku Yadav กลายเป็นหนึ่งในเรื่องราวการแก้แค้นที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์อินเดีย และมีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ Netflix ในชื่อ ‘Murder In a court room’

‘เด็กหมาป่า’ เด็กกำพร้าเยอรมันที่ถูกลืม ผลพวงของสงครามโลกครั้งที่ 2 กับชะตากรรมอันโหดร้ายจากความหิว ความหนาว และการสูญเสียตัวตน

‘เด็กหมาป่า’ (Wolf children) เด็กกำพร้าเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

‘เด็กหมาป่า’ ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเด็กที่เคยอาศัยอยู่กับฝูงหมาป่าตามที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างในอินเดีย แต่เป็นเรื่องราวของเด็กกำพร้าเร่ร่อนชาวเยอรมันและชาวเยอรมันเชื้อสายลิทัวเนีย ซึ่งมีอยู่ใน ‘ปรัสเซียตะวันออก’ (‘ปรัสเซีย’ คือชื่อเดิมของ ‘เยอรมนี’ ซึ่งในอดีตมีพื้นที่กว้างขวางกว่าในปัจจุบัน) เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เด็กหมาป่าส่วนใหญ่เป็นเด็กกำพร้าที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังจากการอพยพของพลเมืองปรัสเซียตะวันออก เพื่อหลบหนีการบุกของ ‘กองทัพแดง’ (สหภาพโซเวียต) เมื่อต้นปี 1945 โดยหลายคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย จึงต้องไปอาศัยอยู่ในป่าของปรัสเซียตะวันออกหรือถูกรับเลี้ยงโดยครอบครัวชาวลิทัวเนีย

การรุกปรัสเซียตะวันออกของกองทัพแดงในช่วงปลายปี 1944 ถึงต้นปี 1945 ทำให้ประชาชนชาวเยอรมันทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กหลายล้านคนต้องอพยพหลบหนี แต่เมื่อผู้ใหญ่จำนวนมากเสียชีวิตหรือบาดเจ็บระหว่างการโจมตีด้วยระเบิด หรือความหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาวที่รุนแรงโดยไม่มีอาหารและที่พักพิง เด็กกำพร้าหลายพันคนจึงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และต้องหลบหนีเข้าไปในป่าโดยรอบ ถูกบังคับให้ดูแลตัวเองและต้องเผชิญกับการตอบโต้ที่รุนแรง หากถูกทหารโซเวียตจับได้ โดยเด็กโตมักพยายามรวบรวมพี่น้องไว้ด้วยกัน และเอาชีวิตรอดด้วยการค้นหาอาหารและที่พักพิง กลายเป็นความสำคัญอันดับหนึ่งของพวกเขา

เด็กหมาป่าจำนวนมากเดินทางไปหาอาหารในป่าของลิทัวเนียที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งต่อมาเด็กส่วนหนึ่งได้รับการรับเลี้ยงโดยเกษตรกรชาวลิทัวเนียในชนบท และเรียกพวกเด็กหมาป่าเหล่านี้ว่า ‘Vokietukai’ (เยอรมันตัวน้อย) และมักจะแบ่งปันอาหารและที่พักให้พวกเด็กหมาป่า

เด็กหมาป่าเหล่านี้ส่วนใหญ่เดินทางไปกลับมาหลายครั้ง เพื่อหาอาหารให้แม่หรือพี่น้องที่ป่วย โดยเดินทางไปตามรางรถไฟ บางครั้งก็นั่งบนรถหรือระหว่างตู้รถไฟ และกระโดดลงก่อนถึงสถานีที่ควบคุมโดยโซเวียต หลังทศวรรษ 1990 เด็ก ๆ ถูกเรียกว่าเป็น ‘เด็กหมาป่า’ เพราะพวกเขาใช้ชีวิตเหมือนหมาป่าที่เดินเตร่อยู่ในป่า

เกษตรกรชาวลิทัวเนียที่ขายผลิตภัณฑ์ของตนในเมืองเล็ก ๆ ของปรัสเซียตะวันออกในปี 1946 ได้พากันมองหาเด็กหมาป่าเพื่อให้มาช่วยพวกเขาในการทำงานประจำวัน และด้วยเหตุนี้ เด็กหมาป่าจำนวนมากจึงหลั่งไหลไปยังภูมิภาคบอลติกตะวันออกเป็นประจำ เพื่อรับอาหารแลกกับแรงงานหรือข้าวของต่าง ๆ ที่พวกเขาสามารถหามาได้ เกษตรกรชาวลิทัวเนียรับเลี้ยงเด็กที่อายุน้อยบางส่วน และเด็กหลายคนก็อยู่ในฟาร์มที่ลิทัวเนียเป็นการถาวร ตามการประมาณการคร่าว ๆ มีเด็กเยอรมันราว 45,000 คนอาศัยอยู่ในลิทัวเนียในปี 1948 แต่ไม่ปรากฏสถิติที่แน่นอน

ชาวลิทัวเนียที่ช่วยเหลือเด็ก ๆ ชาวเยอรมันต้องพยายามซ่อนเด็ก ๆ จากทางการโซเวียต เพราะการรับเลี้ยงเด็กเยอรมันนั้นเสี่ยงต่อการถูกลงโทษอย่างรุนแรง หากถูกตรวจพบ โดยพวกเขาได้ทำการเปลี่ยนชื่อของเด็กชาวเยอรมันจำนวนมาก และหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1990 พวกเขาจึงสามารถเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงได้ เด็กหมาป่ามากมายได้รับชื่อและนามสกุลใหม่และกลายเป็นชาวลิทัวเนียโดยไม่มีทางเลือก เนื่องจากถูกห้ามไม่ให้เลือกเป็นเยอรมัน ไม่มีรายงานเหตุการณ์ของเด็กหมาป่าในสื่อเลย และเหตุการณ์เหล่านี้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณชนเมื่อปี 1990 หลังจากการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก

คำแถลงอย่างเป็นทางการของรัฐบาลโซเวียตและโปแลนด์ในขณะนั้นคือ “ไม่มีชาวเยอรมันในพื้นที่เหล่านี้ และนี่เป็นตำแหน่งอย่างเป็นทางการของพวกเขาตั้งแต่ต้นตาม ‘ข้อตกลงพ็อทซ์ดัม’ (Potsdam Declaration) ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488”

ต่อมา ‘Ruth Kibelka’ เด็กหมาป่าคนหนึ่งได้ทำการค้นคว้าและตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับ ‘Wolfkinder’ ซึ่งมีบันทึกทางประวัติศาสตร์บางส่วนที่เด็กหมาป่าหลายคนจากปรัสเซียตะวันออกได้มอบให้ โดยบรรยายว่า ครอบครัวของพวกเขาถูกกดดันโดยกองกำลังโซเวียตที่กำลังรุกคืบในขณะที่พวกเขาพยายามหลบหนี พวกเขาถูกส่งกลับไปยังบ้านเกิดในปรัสเซียตะวันออก และพบว่าบ้านของพวกเขาถูกทำลายจนเสียหายหมด บางคนถูกไล่ออกจากบ้าน และบางคนก็เสียชีวิตจากความอดอยาก เจ็บป่วย และเป็นไข้ไทฟอยด์ เด็กกำพร้าต้องหาทางเอาชีวิตรอดจนกลายเป็นเด็กหมาป่า

เด็กหมาป่าหลายร้อยคนถูกค้นพบในลิทัวเนียหลังจากที่แยกตัวออกจากรัสเซีย ปัจจุบันมีเด็กหมาป่าเกือบ 100 คนที่ยังคงอาศัยอยู่ที่นั่น ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เหล่าเด็กหมาป่าได้ต่อสู้เพื่อสัญชาติเยอรมันของพวกเขา โดยพวกเขามีสมาคมของตัวเอง แต่สำนักงานบริหารกลางภายในกระทรวงมหาดไทยของเยอรมนี ยึดถือแนวคิดที่ว่า “บุคคลที่ออกจากดินแดน ‘Königsberg’ (ปรัสเซียตะวันออกเดิม ปัจจุบันคือ ‘Kaliningrád’ ของรัสเซีย) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ได้สละสัญชาติเยอรมันของตนแล้ว”

นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต บรรดาเด็กหมาป่าได้เดินทางไปค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนของพวกเขา เพื่อกลับคืนมาเป็นชาวเยอรมันอีกครั้ง สภากาชาดเยอรมันช่วยค้นหาและระบุสมาชิกในครอบครัวของเด็กหมาป่าที่ขาดการติดต่อระหว่างกัน นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ชะตากรรมของผู้สูญหายอีกประมาณ 200,000 คนได้รับการชี้แจงแล้ว แต่ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับชะตากรรมของชาวเยอรมันที่ถูกจับเข้าคุกและเสียชีวิตยังคงไม่ได้รับการเปิดเผย ปัจจุบันรัฐบาลเยอรมันได้ให้ความสนใจและให้ความสนับสนุนในการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของเด็กหมาป่ามากขึ้น เพื่อให้คนเหล่านี้ได้รับสัญชาติเยอรมันกลับคืน

เด็กกำพร้าชาวญี่ปุ่นที่ถูกทิ้งไว้ในจีน : หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เด็กกำพร้าชาวญี่ปุ่นในประเทศจีนส่วนใหญ่ถูกครอบครัวชาวญี่ปุ่นทิ้งไว้ หลังจากการส่งชาวญี่ปุ่นออกจากหูหลู่เต่า ตามตัวเลขของรัฐบาลจีนเด็กชาวญี่ปุ่นประมาณ 4,000 คนถูกทิ้งไว้ข้างหลังในจีน หลังสงคราม เด็กชาวญี่ปุ่น 90% ในมองโกเลียในและจีนตะวันออกเฉียงเหนือ (แมนจูกัวในขณะนั้น) ถูกรับเลี้ยงโดยครอบครัวชาวจีนในชนบท

ในปี 1980 เด็กกำพร้าเริ่มเดินทางกลับไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพวกเขา แต่กลับต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติ เนื่องจากพวกเขาขาดทักษะภาษาญี่ปุ่น และประสบปัญหาในการหางานที่มั่นคงทำ

ณ เดือนสิงหาคม 2004 มีเด็กกำพร้าญี่ปุ่นที่เติบโตในจีนจำนวน 2,476 คน ได้ตั้งถิ่นฐานในญี่ปุ่น ตามตัวเลขของกระทรวงแรงงานของญี่ปุ่น พวกเขาได้รับเงินรายเดือนจำนวน 20,000-30,000 เยนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ในปี 2003 มีเด็กกำพร้า 612 คนยื่นฟ้องรัฐบาลญี่ปุ่น โดยอ้างว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต้องรับผิดชอบต่อการที่พวกเขาถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โจทก์แต่ละคนขอเงินจำนวน 33 ล้านเยน

นอกจากเด็กกำพร้าแล้ว ยังมีผู้หญิงชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งก็ถูกทิ้งไว้ในจีนอีกด้วย ผู้หญิงญี่ปุ่นเหล่านี้ส่วนใหญ่ต่อมาได้แต่งงานกับชายชาวจีน และกลายเป็นที่รู้จักในนาม ‘ภรรยาที่ตกค้างในสงคราม’ เนื่องจากพวกเขามีลูกกับผู้ชายชาวจีน ผู้หญิงเหล่านี้จึงไม่ได้รับอนุญาตให้พาครอบครัวชาวจีนของพวกเธอ กลับมาอาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่นเหมือนผู้ชายญี่ปุ่นที่สามารถพาภรรยาต่างชาติกลับญี่ปุ่นพร้อมกับพวกเขาได้ ทำให้ส่วนใหญ่ยังคงต้องตกค้างอยู่ในจีน เนื่องจากญี่ปุ่นมีกฎหมายที่อนุญาตให้เฉพาะเด็กที่มีพ่อเป็นชาวญี่ปุ่นเท่านั้นที่จะสามารถขอสมัครเพื่อเป็นพลเมืองของญี่ปุ่นได้

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

เปิดข้อหักล้างคำโกหกของ ‘สื่อหลักตะวันตก’ เกี่ยวกับ ‘ซินเจียง’  ผ่านภาพความขัดแย้งระหว่าง ‘ปาเลสไตน์-อิสราเอล’ ปมฉนวนกาซา

ความจริงของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์มากกว่า 15,000 คน ซึ่งเสียชีวิตในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ผู้เสียชีวิตได้รับการบันทึกและรับรองเป็นรายบุคคล และจำนวนผู้เสียชีวิตดังกล่าว มีเด็กมากกว่า 6,000 คน โดยตัวเลขนี้ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากสหประชาชาติ นี่คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พลเรือนอย่างเปิดเผยต่อ ‘ระเบียบระหว่างประเทศที่อิงกฎเกณฑ์’


ภาพซ้ายกาซาก่อนถูกอิสราเอลถล่ม จนมีสภาพตามภาพขวา
(ภาพเหล่านี้มาจากสำนักข่าวรอยเตอร์และบีบีซี)


กาซาถูกอิสราเอลถล่มจนมีสภาพเช่นดังภาพ


ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์กาซาถูกอิสราเอลถล่มจนมีสภาพเช่นดังภาพ


ส่วนภาพนี่คือ ‘นครอุรุมชี’ ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้


นี่คือ ‘เมืองคอร์ลา’ ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้


ส่วนนี่คือ ‘เมืองอักซู’ เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้

โดยเมืองคอร์ลาและเมืองอักซู มีประชากรเพียง 500,000 คนเท่านั้น ปัจจุบัน ‘ชาวอุยกูร์’ มากกว่า 1 ล้านคน จากจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน อาศัยอยู่นอกเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ และสามารถพบได้ในทุกจังหวัดของจีนรวมทั้งฮ่องกงด้วย และถ้าไปถามพวกเขาเรื่อง ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในซินเจียง’ แล้วพวกเขาจะถามกลับมาว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อะไรกัน? ไม่เห็นรู้เรื่องเลย”

Bill Chen, Moderate Singaporean

โลกใบนี้มี 2 ด้านเสมอ สื่อตะวันตกย่อมเสนอแต่มุมที่โลกตะวันตกอยากให้เห็น ในขณะที่อีกด้านหนึ่งนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามภาพ และแทบจะไม่มีการเผยแพร่โดยสื่อตะวันตกเลย

‘Hsiao Bi-khim’ ว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งรอง ปธน.ไต้หวัน ปี 2024 สตรีผู้มีความตั้งมั่นอันแน่วแน่ในการนำพา ‘ไต้หวัน’ สู่ความรุ่งเรือง

‘Hsiao Bi-khim’ สตรีลูกครึ่งจีน (ไต้หวัน)-อเมริกัน 
ว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีไต้หวัน ปี 2024

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ‘Hsiao Bi-khim’ หัวหน้าสำนักงานผู้แทนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป (ในช่วงสามปีที่ผ่านมา) ได้ทำหน้าที่เสมือนเป็นเอกอัครรัฐทูตไต้หวันประจำสหรัฐฯ โดยพฤตินัย (เนื่องจากสรัฐฯ รับรองสถานภาพของสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน) ได้รับการเสนอชื่ออย่างเป็นทางการ ให้เป็นผู้สมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดีของ ‘พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า’ (DPP) ของ ‘Lai Ching-te’ ผู้สมัครในตำแหน่งประธานาธิบดีของการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน ปี 2024

Hsiao เกิดที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น มีบิดาเป็นชาวไต้หวัน คือ ‘Hsiao Tsing-fen’ อดีตประธานวิทยาลัยศาสนศาสตร์และเซมินารีไถหนาน และมารดาเป็นชาวอเมริกัน คือ ‘Peggy Cooley’ ครอบครัวของเธอนับถือศาสนาคริสต์ นิกายเพรสไบทีเรียน เธอเติบโตในเมืองไถหนาน ประเทศไต้หวัน โดยสามารถใช้ภาษาจีนกลาง ฮกเกี้ยน และภาษาอังกฤษ จากนั้น เธอได้ย้ายไปสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น และสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมมอนต์แคลร์ ในเมืองมอนต์แคลร์ มลรัฐนิวเจอร์ซีย์

Hsiao สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเอเชียตะวันออกศึกษาจากวิทยาลัย Oberlin และปริญญาโท สาขารัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในสหรัฐอเมริกา

Hsiao เริ่มร่วมงานกับสำนักงานตัวแทนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ในสหรัฐอเมริกา โดยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกิจกรรม เมื่อเดินทางกลับไต้หวัน Hsiao ก็กลายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของพรรค และเป็นตัวแทนของพรรคในการประชุมระหว่างประเทศต่าง ๆ มานานกว่าทศวรรษ

หลังจากที่ ‘Chen Shui-bian’ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีนในปี 2000 Hsiao รับหน้าที่เป็นล่ามและที่ปรึกษาของเขามาเกือบสองปี โดยสถานะสองสัญชาติของเธอทั้งสหรัฐฯ และสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในขณะที่เธอดำรงตำแหน่งในรัฐบาลกลายเป็นประเด็นทางการเมือง จึงทำให้เธอสละสัญชาติสหรัฐฯ ของเธอ ตามที่กฎหมายการจ้างงานข้ารัฐการพลเรือนของไต้หวันกำหนดไว้ในปี 2000

ในเดือนมกราคม ปี 2000 Hsiao ได้ประกาศความตั้งใจที่จะลงสมัครรับตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติไต้หวัน (สภาหยวน) ในนามตัวแทนของพรรค DPP ในฐานะสมาชิกเสริมที่เป็นตัวแทนของเขตเลือกตั้งในต่างประเทศ โดยอ้างถึงประสบการณ์ของเธอในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ต่อมาเธอได้รับเลือกในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติในเดือนธันวาคม ปี 2004 Hsiao ได้รับเลือกเข้าสู่สภานิติบัญญัติไต้หวันอีกครั้ง ครั้งนี้เธอเป็นตัวแทนของเขตเลือกตั้งของไทเป ครอบคลุมเขตทางตอนเหนือของ Xinyi, Songshan, Nangang, Neihu, Shilin และ Beitou ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติ เธอดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศ คณะกรรมาธิการโครงการต่าง ๆ และคณะกรรมาธิการวินัยของรัฐสภา

Hsiao ทำงานในประเด็นต่าง ๆ ในสภานิติบัญญัติไต้หวัน โดยเฉพาะสิทธิสตรี สิทธิของชาวต่างชาติในไต้หวัน และสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ Hsiao สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายสัญชาติ เพื่อให้บุคคลที่เกิดมาจากบิดามารดาที่มีสัญชาติไต้หวันอย่างน้อยหนึ่งคน สามารถมีสัญชาติไต้หวันได้โดยไม่คำนึงถึงอายุ และยังได้เสนอและสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายคนเข้าเมือง เพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติและต่อต้านความรุนแรงในครอบครัว นอกจากนี้ เธอยังเป็นผู้สนับสนุนสิทธิสัตว์ โดยเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ และยังผลักดันให้มีการผ่านพระราชบัญญัติป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในเดือนมกราคม ปี 2005 อีกด้วย

ในเดือนพฤษภาคม ปี 2005 Hsiao เป็นตัวแทนของพรรค DPP ในการประชุมประจำปีของ ‘Liberal International’ ในกรุงโซเฟีย ประเทศบัลแกเรีย ซึ่งในระหว่างนั้นเธอได้รับเลือกเป็นรองประธานของ Liberal International ด้วย Hsiao ได้กล่าวว่า เธอและตัวแทนของพรรค DPP คนอื่น ๆ ถูกติดตามตลอดการเยือนบัลแกเรีย โดยบุคคลสองคนที่สถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนในกรุงโซเฟียส่งมา

ในเดือนเดียวกันนั้นเอง Hsiao ยังได้เริ่มรณรงค์เพื่อสนับสนุนให้แฟนเบสบอลชาวไต้หวัน เขียนอีเมลถึงทีม ‘New York Yankees’ เพื่อขอให้เก็บผู้เล่นชาวไต้หวัน ‘Chien-Ming Wang’ ไว้ในทีม

Hsiao เป็นหนึ่งในผู้ร่างกฎของพรรค DPP และตกเป็นเป้าหมายของผู้สนับสนุนพรรคบางคน ซึ่งระบุว่า “มีความภักดีไม่เพียงพอ” โดยมีรายการวิทยุที่สนับสนุนเอกราช พากย์เสียงเธอว่า ‘ไชนีสคิม’ ในเดือนมีนาคม ปี 2007 โดยกล่าวหาว่าเธอมีความใกล้ชิดกับอดีตฝ่ายปฏิรูปของพรรค DPP บางคน หลังจากได้รับการปกป้องโดยสมาชิกของพรรค DPP คนอื่น ๆ แต่ Hsiao ไม่ได้รับการเสนอชื่อให้ลงสมัครรับการเลือกตั้งใหม่โดยพรรค DPP ในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติไต้หวัน ในเดือนมกราคม ปี 2008 ด้วยสาเหตุมาจากความขัดแย้งครั้งนั้น

Hsiao ออกจากสภานิติบัญญัติหยวน หลังจากวาระของเธอหมดลงในวันที่ 31 มกราคม 2008 เธอทำหน้าที่เป็นโฆษกของการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2008 ซึ่งเป็นปีที่พรรค DPP ไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้ง เธอยังเป็นรองประธานมูลนิธิแลกเปลี่ยน ‘ทิเบต-ไต้หวัน’ เป็นสมาชิกของคณะกรรมการมูลนิธิไต้หวันเพื่อประชาธิปไตย และเป็นสมาชิกของคณะกรรมการบริหารของสภาเสรีนิยมและเดโมแครตแห่งเอเชีย และสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมสตรีกีฬาแห่งไต้หวัน ตั้งแต่ปี 2010

Hsiao ใช้เวลาหนึ่งทศวรรษในการเป็นตัวแทนของพรรค DPP ในเทศมณฑลฮัวเหลียน ซึ่งเป็นภูมิภาคอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนพรรคก๊กมินตั๋งอย่างเข้มแข็ง ในปีเดียวกันนั้น เธอพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อมด้วยคะแนนเสียงที่น้อยกว่าไม่มาก แต่ก็ยังถือว่าได้ทำลาย ‘คะแนนเสียงเหล็ก’ ของพรรคก๊กมินตั๋ง จากนั้นเธอก็ตั้งสำนักงานในฮัวเหลียน และเดินทางไปมาระหว่างไทเปและฮัวเหลียนทุกสัปดาห์

Hsiao กลับมาสู่สภานิติบัญญัติไต้หวันในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2012 โดยได้รับเลือกผ่านการเป็นตัวแทนตามสัดส่วนของบัญชีรายชื่อพรรค ในปี 2016 Hsiao สืบทอดตำแหน่งต่อจาก ‘Wang Ting-son’ ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติของเทศมณฑลฮัวเหลียน ในปี 2018 มีการจัดให้รณรงค์เพื่อต่อต้าน Hsiao เนื่องจากเธอได้รับการสนับสนุนอย่างมาก ในการทำให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมาย

Hsiao ไม่ยอมแพ้ต่อความกดดัน และยังคงหาเสียงในฮัวเหลียนต่อ ในเดือนสิงหาคม 2019 เธอได้รับการเสนอชื่อจากพรรค DPP เพื่อลงสมัครรับตำแหน่ง สส.ต่อไปในเทศมณฑลฮัวเหลียน เธอเสียที่นั่งให้กับ ‘Fu Kun-chi’ ในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติปี 2020

Hsiao ออกจากสภานิติบัญญัติไต้หวันเมื่อหมดวาระในปี 2020 และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของสภาความมั่นคงแห่งชาติในเดือนมีนาคม 2020 ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันนั้นเอง Hsiao ได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของไต้หวัน (หัวหน้าสำนักงานผู้แทนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป) ประจำสหรัฐอเมริกา โดยเธอรับช่วงต่อจาก ‘Stanley Kao’ และเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับบทบาทนี้

โดย Hsiao สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2020 Hsiao ได้รับเชิญอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ‘Joe Biden’ ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2021 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ตัวแทนของไต้หวันประจำสหรัฐฯ ได้เข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการนับตั้งแต่สหรัฐฯ ยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันเมื่อปี 1979 เธอยืนอยู่หน้ารัฐสภาสหรัฐฯ (The US Capitol) ในพิธีสาบานตน และกล่าวว่า “ประชาธิปไตยเป็นภาษากลางของเรา และเสรีภาพคือเป้าหมายร่วมกันของเรา”

ในเดือนพฤศจิกายน 2000 เดอะเจอร์นัลลิสต์ ซึ่งเป็นนิตยสารแท็บลอยด์ท้องถิ่นได้เสนอข่าวซึ่งอ้างอย่างผิด ๆ ว่า ได้ข่าวจากรองประธานาธิบดี ‘Annette Lu’ ว่า Hsiao มีความสัมพันธ์กับประธานาธิบดี ‘Chen Shui-bian’ ซึ่งไม่มีหลักฐานสนับสนุนการกล่าวอ้างที่เป็นเท็จนี้ และรองประธานาธิบดี Annette Lu ได้ ฟ้องนิตยสารดังกล่าวในข้อหาหมิ่นประมาทในศาลแพ่ง จนในที่สุด นิตยสารก็ได้รับคำสั่งให้ขอโทษและแก้ไขประเด็นดังกล่าว โดยยอมรับว่าเป็นการสร้างเรื่องราวขึ้น

ในระหว่างอาชีพทางการเมืองของเธอ Hsiao และเพื่อนสมาชิกสภานิติบัญญัติ ‘Cheng Li-chun’ และ ‘Chiu Yi-ying’ ได้รับฉายาว่า ‘S.H.E ของ DPP’ Hsiao เป็นผู้สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิ LGBT ในไต้หวันมายาวนาน Hsiao เป็นคนรักแมว โดยเธอกล่าวในเดือนกรกฎาคม 2020 ว่า เธอวางแผนจะพาแมวทั้ง 4 ตัว ติดตามไปด้วยเมื่อเธอย้ายไปที่สหรัฐอเมริกา ในฐานะหัวหน้าสำนักงานผู้แทนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปของไต้หวันประจำประเทศนี้ ในฐานะทูตของไต้หวัน เธอกล่าวว่า เธอจะต่อสู้กับการทูตที่ถูกกล่าวหาว่าก้าวร้าวแบบ ‘นักรบหมาป่า’ ของจีน โดยใช้การทูตแบบ ‘นักรบแมว’ (cat warrior) ที่เป็นแบรนด์ของเธอเอง

ในวันที่ 17 สิงหาคม 2022 หลังจากการเยือนไต้หวันของ ‘Nancy Pelosi’ ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ระหว่างวันที่ 2–3 สิงหาคม จีนได้ขึ้นบัญชีดำเจ้าหน้าที่ไต้หวัน 7 คน รวมทั้ง Hsiao เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า ‘สนับสนุนเอกราชของไต้หวัน’ โดยบัญชีดำสั่งห้ามไม่ให้พวกเขาเข้าไปในจีนแผ่นดินใหญ่ และเขตบริหารพิเศษของฮ่องกง รวมถึงมาเก๊า และจำกัดไม่ให้ทำงานกับเจ้าหน้าที่จีนอีกด้วย หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ของรัฐบาลจีน โกลบอลไทมส์ ตราหน้า Hsiao และเจ้าหน้าที่ทั้ง 6 คนว่าเป็น ‘คนหัวแข็งที่แบ่งแยกดินแดน’

ในเดือนเมษายน 2022 Hsiao ถูกจีนคว่ำบาตรเป็นครั้งที่สอง ภายหลังการประชุมระหว่างประธานาธิบดี ‘Tsai Ing-wen’ แห่งไต้หวัน และ ‘Kevin McCarthy’ ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา ในสหรัฐอเมริกา มาตรการคว่ำบาตรชุดที่สองยังรวมถึงการป้องกันไม่ให้นักลงทุน และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ถูกคว่ำบาตร ความร่วมมือกับองค์กรและบุคคลในจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย

และวันที่ 20 พฤศจิกายน 2023 พรรค DPP ได้เสนอชื่อเธอให้เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน ปี 2024 โดยเธอได้ประกาศว่า “ฉัน Hsiao Bi-khim กลับมาแล้ว ฉันจะแบกรับความรับผิดชอบอันแน่วแน่ในการสนับสนุนไต้หวัน” หลังจากเดินทางกลับจากกรุงวอชิงตันไม่ถึงหนึ่งวัน ในงานแถลงข่าวที่จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ (20 พ.ย.) ที่ผ่านมา เพื่อเปิดตัวผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวัน ที่สำนักงานใหญ่หาเสียงของ Lai Ching-te ในกรุงไทเป

ด้วยบทบาทหน้าที่ของ Hsiao Bi-khim ที่ผ่านมา เชื่อว่า เธอสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวันอย่างแน่นอน และมีความเป็นไปได้สูงที่เธอน่าจะเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรค DPP ต่อจาก Lai Ching-te ด้วย ซึ่งท้ายที่สุดจะสร้างความขุ่นเคืองใจอย่างมากมายแก่รัฐบาลปักกิ่ง

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

'ปธน.อิหร่าน' เผยความจริง!! รัฐเถื่อนไซออนิสต์ เปิดหน้าชัด จัดการ 'เข่นฆ่า-เหยียด' ชาวปาเลสไตน์ ภายใต้แรงหนุนสหรัฐฯ

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 66 ซัยยิดอิบรอฮีม ราอีซี ประธานาธิบดีแห่งอิหร่าน กล่าวเนื่องในวันสากลว่าด้วยความเป็นปึกแผ่นสากลแห่งชาวปาเลสไตน์ ระบุว่า…

ด้วยพระนามของพระเจ้าผู้ทรงกรุณาปรานีเสมอ

วันที่ 29 พฤศจิกายนตรงกับวันสากลว่าด้วยความเป็นปึกแผ่นสากลแห่งชาวปาเลสไตน์ข้าพเจ้าในฐานะเป็นตัวแทนของชาวอิหร่านและรัฐบาลของประเทศนี้ ขอประกาศแสดงจุดยืนอันแน่วแน่ของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านที่มีต่อประชาชนปาเลสไตน์ในการบรรลุอุดมการณ์ที่แท้จริงของพวกเขามาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 29 พฤศจิกายนเป็นวันแห่งการรำลึกถึงการยึดครองแผ่นดินปาเลสไตน์โดยระบอบอิสราเอลกว่า 70
ปีซึ่งถือเป็นความเจ็บปวดความทุกข์ทรมานของชาวปาเลสไตน์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการกดขี่ข่มเหงและการไร้ซึ่งความยุติธรรมต่อสิทธิอันชอบธรรมของประชาชาติที่ถูกกดขี่

ปีนี้เราขอระลึกวันนี้ท่ามกลางสถานการณ์ในอาชญากรรมที่โหดร้ายของระบอบรัฐเถื่อนไซออนิสต์ที่เหยียดเชื้อชาติต่อชาวปาเลสไตน์และผู้อาศัยอยู่ในฉนวนกาซา ทำให้ชาวโลกทั้งหลายต่างตื่นตระหนกเป็นอย่างมากและยังจะเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่เต็มไปด้วยการกดขี่และความเกลียดชังต่อระบอบรัฐเถื่อนนี้

การสังหารพลเรือนทั้งการโจมตีโรงพยาบาลและโรงเรียนโบสถ์ชาวคริสต์ การปิดกั้นน้ำอาหารน้ำมันและยารักษาโรคต่อประชาชนในฉนวนกาซา การอพยพและการลี้ภัยหลายแสนคน การสังหารผู้สื่อข่าวและการโจมตีอาคารของหน่วยงานระหว่างประเทศ ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนอยู่ในสายตาของประชาคมโลกขณะที่รัฐบาลชาติตะวันตกอ้างถึงสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสหรัฐฯและเหล่าพันธมิตรผู้สนับสนุนรัฐเถื่อนที่ยึดครองในการก่ออาชญากรรมเหล่านี้

รัฐเถื่อนไซออนิสต์ได้รุดหน้าประวัติศาสตร์ในอาชญากรทั้งหลายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยการสังหารมนุษย์ผู้บริสุทธิ์กว่า 14,000 คนซึ่งกว่า 5,000 คนนั้นเป็นเด็กรวมอยู่ด้วย ท่ามกลางการสังหารเหล่านี้มีเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติมากกว่าหนึ่งร้อยคนและการสังหารผู้สื่อข่าวกว่าห้าสิบคน ทั้งหมดเหล่านี้แสดงให้ถึงรากเหง้าอันชั่วร้ายของรัฐเถื่อน ซึ่งไม่เคยยึดมั่นในกฎหมายระหว่างประเทศแม้แต่ข้อเดียวก็ตามและยังก่อการรุกรานอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างโหดร้ายท่ามกลางสายตาของชาวโลกทั้งหลาย

สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านขอเน้นย้ำให้เห็นว่าประชาชาติปาเลสไตน์มีสิทธิอันชอบธรรมในการต่อสู้กับเหล่าผู้ยึดครอง และขอประณามอาชญากรรมของรัฐเถื่อนที่สังหารเด็กที่มีต่อประชาชาติที่มีอำนาจและถูกกดขี่ และขอเรียกร้องสมาชิกขององค์การสหประชาชาติและอิสรชนทั้งหมดทั่วโลกให้แสดงปฏิกิริยาเพื่อยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการยึดครอง รวมทั้งการมอบสิทธิอันชอบธรรมให้ประชาชนปาเลสไตน์เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของพวกเขาเอง จงรู้ไว้ว่าการกดขี่จะต้องถูกทำลาย และในที่สุดชัยชนะจะเป็นของชาวปาเลสไตน์

สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านขอเน้นย้ำถึงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของรัฐอิสลามในอุดมการณ์ของประชาชนปาเลสไตน์ในทุกด้าน และการแสดงให้เห็นถึงการยืนหยัดต่อสู้เป็นสิทธิอันชอบธรรมและการเรียกร้องให้เยาวชนชาวปาเลสไตน์ลุกขึ้นเผชิญหน้ากับอาชญากรรมและการยึดครองของรัฐเถื่อนไซออนิสต์ และเรียกร้องให้ประชาคมโลกเผชิญหน้าอย่างเปิดเผยกับการกระทำของรัฐเถื่อนอาชญากรรายนี้ผู้ปฏิเสธกฎหมายระหว่างประเทศและมติต่าง ๆ ของนานาชาติ

สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านเชื่อว่าวิธีการเดียวในการแก้ไขปัญหาปาเลสไตน์คือการยุติการยึดครองแผ่นดินของชาวปาเลสไตน์ และการกลับคืนสู่มาตภูมิของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ และการมอบสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตให้พวกเขา

ด้วยเหตุนี้ข้อเสนอโครงการของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านบนพื้นฐานของการกลับสู่มาตภูมิของผู้ลี้ภัยและการลงประชามติระหว่างประชากรหลักรวมทั้ง ชาวมุสลิม ชาวคริสเตียน และชาวยิว ด้วยหลักการประชาธิปไตยและสิทธิระหว่างประเทศ โดยการรับรองขององค์การสหประชาชาติอย่างเป็นทางการและแทนที่โครงการเดิมตามความเหมาะสม

โครงการนี้จะทำให้กรณีปาเลสไตน์ได้รับการแก้ไขตามมุมมองทางกฎหมายและบนพื้นฐานของการมอบสิทธิในการกำหนดชะตากรรมและการกลับคืนสู่มาตภูมิ โดยทำให้ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์สามารถกลับสู่มาตภูมิของพวกเขา

ท้ายที่สุดนี้ ข้าพเจ้าขอยกย่องต่อความกล้าหาญของขบวนการยืนหยัดต่อสู้ในการปกป้องประชาชนอย่างหาญกล้าและบรรดาเยาวชนที่สร้างความภาคภูมิใจให้ปาเลสไตน์ในการเผชิญหน้ากับการรุกรานของรัฐเถื่อนไซออนิสต์ และขอวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าโปรดช่วยเหลือพวกเขา และทรงทำให้พวกเขาได้รับการปลดปล่อยจากการกดขี่ของรัฐเถื่อนผู้ยึดครองด้วยเถิด

ซัยยิดอิบรอฮีมราอีซี
ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน

เรื่องที่ไม่อยากให้เกิด!! ‘อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์’ ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย จากอุบัติเหตุรถชน ทำคู่กรณีหญิง ‘พิการอย่างถาวร’

หลายคนคงรู้จัก ‘Arnold Schwarzenegger’ นักแสดงชื่อดังก้องโลกจากผลงาน Terminator หรือคนเหล็ก ซึ่ง ‘Arnold Schwarzenegger’ ถูกฟ้องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อเดือนมกราคม 2022 และมีรายงานว่าเขาทำให้ผู้หญิงคนหนึ่ง ‘พิการอย่างถาวร’ 

ในเอกสารของศาลระบุว่า Cheryl Augustine อ้างว่า เธอกำลังขับรถใกล้สี่แยก Sunset Boulevard และ Allenford Avenue ในนครลอสแองเจลิส ตอนที่เธอถูกรถของ Schwarzenegger ชน 
 

คดีดังกล่าวถูกฟ้องในศาลของนครลอสแองเจลีส Arnold Schwarzenegger ถูกตัดสินว่าขับรถ 'โดยประมาทและประมาทเลินเล่อ' ส่งผลให้ Cheryl Augustine ได้รับบาดเจ็บ มีอาการช็อกและบาดเจ็บต่อระบบประสาท และอาการบาดเจ็บของเธอ ส่งผลให้เธอมีอาการทุพพลภาพถาวรโดยสิ้นเชิง
 

รายละเอียดของคดีความยังอ้างอีกว่า หญิงสาวรายนี้ไม่สามารถทำงานได้นับตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ และได้รับความเสียหายต่อทรัพย์สินที่ต้องรับ

ผิดชอบเอง รถยนต์ของเธอเสียหาย รวมทั้งเหตุอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ค่ากระเป๋าที่ไม่ได้ระบุจำนวนเงิน และตอนนี้เธอกำลังเรียกร้องค่าเสียหายจากพระเอกคนเหล็ก เพื่อชดเชยค่ารักษาพยาบาลและความเสียหายต่อทรัพย์สินของเธอ 

อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุที่เป็นสาเหตุของการฟ้องร้องนี้ เกิดขึ้นเกือบสองปีที่แล้ว หรือเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2022 ตอนที่ Schwarzenegger กำลังขับรถ Yukon SUV บนถนนห่างจากบ้านของเขาประมาณครึ่งไมล์ 

จากรายงานข่าวระบุว่ารถ SUV ของ Schwarzenegger ชนกับรถ Prius สีแดง เมื่อเวลาประมาณ 16.35 น. ของบ่ายวันนั้น แหล่งข่าวบอกว่า Schwarzenegger ได้เลี้ยวซ้ายก่อนที่ลูกศรเลี้ยวซ้ายที่ไฟจราจรจะเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีเขียว แต่ไม่มีการจับกุม และตำรวจไม่เชื่อว่ามีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือยาเสพติดเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง 
.
นอกจากนี้ ภาพจากที่เกิดเหตุแสดงให้เห็นรถยนต์ขนาดใหญ่คันหนึ่งอยู่บนฝากระโปรงหน้ารถ Prius ที่พังยับเยิน พยานยังอ้างอีกว่า พวกเขาเห็นผู้หญิงคนหนึ่งมีเลือดไหลออกมาจากศีรษะก่อนที่เธอจะถูกพาไปโรงพยาบาล 
 

คดีความลักษณะนี้เป็นที่ชื่นชอบของทนายความในสหรัฐฯ เพราะคดีไม่ได้ยากหรือซับซ้อนมากนัก และสามารถฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยได้เป็นจำนวนสูงมาก ๆ โดยเฉพาะเมื่อคู่กรณีอ้างว่า ได้รับอุบัติเหตุจนมีอาการทุพพลภาพถาวรโดยสิ้นเชิง 

แต่ทาง Schwarzenegger น่าจะทำประกันรถยนต์ของเขาเอาไว้ และทนายของบริษัทประกันต้องต่อสู้รักษาผลประโยชน์ของบริษัทประกันอย่างสุดฤทธิ์เช่นกัน 
 

‘เฉกอะหมัด กุมมี’ ข้าราชการชาวอิหร่าน ผู้มีบทบาทสำคัญในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา

พิธีรำลึกถึง ‘ท่านเฉกอะหมัด กุมมี’ ชาวอิหร่าน ซึ่งมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ถูกจัดขึ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี ฯพณฯ ไซยิดเรซา โนบัคติ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำราชอาณาจักรไทยเข้าร่วมงานด้วย

ผู้เข้าร่วมพิธีรำลึกดังกล่าวประกอบไปด้วย ชาวไทยผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากท่านเฉกอะหมัด, ตัวแทนจากญามิอะตุ้ลมุศฏอฟา และที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรมของสถานเอกอัครราชทูตอิหร่าน-กรุงเทพฯ เข้าร่วม โดยเริ่มต้นพิธีด้วยการอัญเชิญโองการจากคัมภีร์อัลกุรอ่านและมีการพวงหรีดที่สถานที่ฝังศพของท่านเฉกอะหมัด

ในปี 1605 ท่านเฉกอะหมัด เดินทางยังกรุงศรีอยุธยา หลังจากนั้นท่านก็เป็นหนึ่งในข้าราชการระดับสูงในราชสำนักแห่งกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากความสามารถในการบริหารจัดการและไหวพริบของท่าน และได้เข้ารับราชการที่กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของพระมหากษัตริย์ถึง 6 พระองค์ นับตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเนื่องจากท่านได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างมาก จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ระดับสูงที่สำคัญ รวมทั้งตำแหน่งที่ปรึกษาส่วนพระองค์อีกด้วย

ท่านเฉกอะหมัด ได้รับพระราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี (ชัยคุลอิสลาม) คนแรกแห่งกรุงศรีอยุธยา จึงถือเป็นท่านแรกของราชอาณาจักรไทย โดยมีหน้าที่ในการเป็นผู้นำชาวมุสลิมและดูแลกิจการของชาวมุสลิมทั้งปวงในราชอาณาจักร

ในสมัยของท่านเฉกอะหมัด เหล่าข้าราชบริพารและขนบธรรมเนียมของพวกเขาได้รับอิทธิพลจากชาวอิหร่าน พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาก็ทรงรับเอาวัฒนธรรมอิหร่านในเรื่องการแต่งกาย, การรับประทานอาหาร และรูปแบบสถาปัตยกรรม และบรรดาชาวอิหร่านมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวอยู่เป็นประจำ

ท่านเฉกอะหมัด สมรสกับสตรีคนหนึ่งจากราชวงศ์ และผลของการแต่งงานครั้งนี้ ท่านจึงมีทายาท คือ บุตรชาย 2 คนและบุตรสาว 1 คน ซึ่งในปัจจุบันลูกหลานของท่านนั้นยังคงเป็นตระกูลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในประเทศไทย เช่น ตระกูลอะห์หมัดจุฬา และบุนนาค เป็นต้น

ท่านเฉกอะหมัด ถึงแก่อนิจกรรมในปี 1631 สิริรวมอายุ 88 ปี และหลุมฝังศพของท่านตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมอิสลาม-อิหร่าน ตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

จะมีการสร้างภาพยนตร์สารคดีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวของบุรุษชาวอิหร่านผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ เมื่อกว่าสี่ร้อยปีที่แล้วท่านได้เดินทางเข้าสู่ราชอาณาจักรไทย และมีบทบาทสำคัญในราชสำนักของไทย นับเป็นสิ่งสำคัญในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่มีร่วมกันของอิหร่านและไทย และยิ่งทำให้ผู้คนของทั้งสองประเทศใกล้ชิดกันและรู้จักกันมากขึ้น

‘อิหร่าน’ ผลิตยารักษา ‘โรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน’ สำเร็จ ขึ้นแท่น ‘ผู้ผลิตรายที่ 2 ของโลก’ รองจากสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันนี้ ‘อิหร่าน’ สามารถผลิตยา ‘Alteplase (Altelyse)’ ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลันได้สำเร็จ โดยกลายเป็นผู้ผลิตรายที่ 2 ต่อจากสหรัฐอเมริกา

ไม่นานมานี้มีพิธีเปิดตัวสายการผลิตยาที่สามารถสลายลิ่มเลือด ช่วยฟื้นฟูการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง และป้องกันภาวะแทรกซ้อนและความพิการในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยบริษัท Arena Life Science ของอิหร่าน

นอกจากนี้ Alteplase ยังใช้สำหรับการรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจวายเฉียบพลันและหลอดเลือดอุดตันที่ปอดขนาดใหญ่ที่การไหลเวียนโลหิตมีความไม่แน่นอนอีกด้วย โดยการผลิตยาชนิดนี้ทำให้สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านสามารถประหยัดเงินได้เฉลี่ย 10 ล้านเหรียญต่อปี

Rouhollah Dehghani รองประธานาธิบดีอิหร่านด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และองค์ความรู้ ซึ่งเข้าร่วมในพิธีดังกล่าวด้วย กล่าวว่า อิหร่านต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายในการนำเข้า Alteplase  “ด้วยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญและช่างเทคนิคของบริษัทที่เน้นการค้นคว้าวิจัยสร้างองค์ความรู้ ยาที่สำคัญและสำคัญมาก ๆ ซึ่งการผลิตถูกผูกขาดโดยบริษัทอเมริกัน สามารถผลิตขึ้นภายในประเทศเพื่อก้าวผ่านมาตรการคว่ำบาตร” 

เขากล่าวสรุปว่า “ปัจจุบัน อิหร่านเป็นที่รู้จักในฐานะประเทศที่สองที่สามารถผลิตยา Alteplase (Altelyse)”

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อิหร่านมีความก้าวหน้าอย่างมากในทางการแพทย์ โดยสินค้าด้านเภสัชกรรมของอิหร่านส่วนใหญ่ใช้ประเทศและการส่งออกไปยังหลายประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

เปิดความจริง!! กองกำลังอิสราเอลในฉนวนกาซา ส่วนหนึ่งเป็นทหารรับจ้าง ‘มิใช่’ แรงงานไทยผันตัว

ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ปรากฏมีภาพที่ระบุว่า เป็นชายไทยในชุดเครื่องแบบทหารสังกัด IDF (Israel Defense Forces) หรือกองกำลังป้องกันอิสราเอล โดยมีข่าวประกอบว่าเป็นแรงงานไทยซึ่งสมัครเป็นทหารรับจ้าง (Mercenaries) ให้กับอิสราเอล

ต่อมาในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 กระทรวงต่างประเทศของไทยได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธข่าวเรื่องแรงงานไทยสมัครเป็นทหารรับจ้างให้กับอิสราเอลดังนี้ 

“กรณีที่มีกระแสข่าวในโลกโซเชียลว่ามีแรงงานไทยไปเป็นทหารให้แก่ฝ่ายอิสราเอลในช่วงสถานการณ์อิสราเอล-กาซา นั้น ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ว่า มีคนไทยที่เป็นลูกครึ่งไทย-อิสราเอลไปเป็นทหารกองหนุนให้อิสราเอลจริง แต่ไม่ใช่พี่น้องแรงงานไทยแต่อย่างใด

ทั้งนี้ นอกเหนือจากแรงงานไทยในภาคเกษตรกรรมในอิสราเอลแล้ว ยังมีหญิงไทยจำนวนหนึ่ง (ประมาณ 400 - 500 คน) ที่แต่งงานกับคนอิสราเอล และมีบุตรซึ่งถือ 2 สัญชาติ คือทั้งสัญชาติไทยและอิสราเอล ซึ่งตามกฎหมายอิสราเอล บุคคลสัญชาติอิสราเอลทุกคน (ทั้งหญิงและชาย) จะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารเมื่ออายุครบ 18 ปี 

โดยผู้ชายมีระยะเวลารับราชการทหาร 32 เดือน และผู้หญิงมีระยะเวลารับราชการทหาร 24 เดือน และเมื่อเสร็จสิ้นระยะเวลาเกณฑ์ทหารดังกล่าวแล้ว ทุกคนจะถูกบรรจุเข้าเป็นทหารกองหนุน ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ทหารหากถูกเรียกจากกองทัพอิสราเอล

ทั้งนี้ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 66 กองทัพอิสราเอลได้เรียกทหารกองหนุนจำนวนกว่า 350,000 คน หรือประมาณร้อยละ 4 ของประชากรอิสราเอลทั้งหมด เข้าปฏิบัติหน้าที่ ถือได้ว่าเป็นการเรียกทหารกองหนุนครั้งใหญ่ที่สุดของอิสราเอล จึงย่อมมีลูกครึ่งไทย-อิสราเอลที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ทหารกองหนุนตามกฎหมายอิสราเอล มิใช่แรงงานไทยที่แฝงตัวไปเป็นทหารรับจ้างให้แก่อิสราเอลตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด 

ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศ จึงขอความร่วมมืออย่าเผยแพร่ข่าวปลอมหรือข่าวที่อาจทำให้สร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณชนทั้งไทยและต่างประเทศ” 

หมวก Kippah 

จากภาพดังกล่าวจะเห็นว่า ชายหนุ่มในภาพหน้าตาคล้ายชาวเอเชีย และหลายคนสวมใส่หมวก Kippah อันเป็นหมวกผ้าใบเล็ก ๆ ซึ่งสวมใส่เฉพาะชายที่นับถือศาสนา Judaism เท่านั้น ดังนั้นบรรดาชายในภาพจึงน่าจะเป็นลูกครึ่งเอเชีย-อิสราเอล หรืออาจจะเป็นลูกติดของหญิงเอเชียที่แต่งงานกับชายอิสราเอล ต่อมาได้รับสัญชาติอิสราเอล และต้องทำหน้าที่ของพลเมืองอิสราเอลตามกฎหมาย 

ชาวจีนเชื้อสายยิว (Kaifeng Jews) ในเมืองไคเฟิง มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน

นอกจากนั้นแล้วในอิสราเอลยังมีชาวจีนเชื้อสายยิว (Kaifeng Jews) อยู่อีกจำนวนหนึ่งด้วย โดยไปจากชุมชนเล็ก ๆ ที่มีผู้สืบเชื้อสายมาจากชาวจีนเชื้อสายยิว ในช่วงศตวรรษแรกของการตั้งถิ่นฐานอาจมีสมาชิกประมาณ 2,500 คน แม้ว่าพวกเขาจะแยกตัวออกจากชาวยิวพลัดถิ่นส่วนที่เหลือ แต่บรรพบุรุษของพวกเขาก็ยังคงปฏิบัติตามประเพณีและขนบธรรมเนียมของชาวยิวมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ วิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนชาวจีนเชื้อสายยิวค่อย ๆ เสื่อมสลายหายไป เนื่องจากการหลอมรวมและการแต่งงานระหว่างชาวยิวเชื้อสายจีนใกับชาวจีนฮั่นและชาวจีนฮุย 

จนกระทั่งเมื่อถึงศตวรรษที่ 19 ความเป็นยิวก็แทบจะหมดไป นอกเหนือจากการเก็บรักษาความทรงจำเกี่ยวกับอดีตความเป็นชาวจีนเชื้อสายยิวในตระกูลของตน ปัจจุบันน่าจะเหลือสมาชิกในจีนอยู่ราว 600-1,000 คน และอพยพไปอยู่อิสราเอลไม่กี่สิบคน

มีข่าวจาก www.middleeastmonitor.com ระบุว่า IDF ได้ใช้ทหารรับจ้างต่างชาติเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติการในฉนวนกาซาที่ถูกปิดล้อม ตามรายงานจาก El Mundo สื่อใหญ่ของสเปน

ภาพถ่ายไม่ระบุวันที่นี้ของ Pedro Diaz Flores ทหารรับจ้างชาวสเปนซึ่งเข้าร่วมกองกำลังอิสราเอล เคียงข้างเพื่อนร่วมงานที่จุดตรวจตามแนวรั้วที่กั้นดินแดนที่ถูกยึดครองกับฉนวนกาซา

ในบรรดาทหารรับจ้างต่างชาตินั้น มีทหารรับจ้างชาวสเปนที่เคยต่อสู้เคียงข้างนีโอนาซีชาวยูเครนหลังจากการรุกรานของรัสเซียเมื่อปีที่แล้ว Pedro Diaz Flores ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกสันนิษฐานว่าเสียชีวิตแล้ว แต่เขายังมีชีวิตสบายดี

ตามรายงานของสื่อที่ทำการสัมภาษณ์เขา “ผมมาเพื่อเงิน พวกเขาจ่ายดีมาก มีอุปกรณ์ดี และงานก็ใช้ได้ เงินก็ดีด้วย 3,900 ยูโร (4,187 ดอลลาร์) ต่อสัปดาห์ นอกเหนือจากภารกิจเสริม” Flores กล่าวถึงแรงจูงใจในการเข้าร่วมกองกำลัง IDF

อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่า เขาสู้รบในที่ราบสูงโกลันที่ถูกยึดครอง “เราให้การสนับสนุนด้านความปลอดภัยแก่ขบวนรถติดอาวุธหรือกองกำลังของกองทัพอิสราเอลที่อยู่ในฉนวนกาซาเท่านั้น เราไม่ได้ต่อสู้กับกลุ่มฮามาสโดยตรง และไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการจู่โจม”

“เรามีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของจุดตรวจและการควบคุมการเข้าถึงบริเวณชายแดนฉนวนกาซาและจอร์แดน มี PMC [Private Mercenaries Companies : บริษัททหารรับจ้างเอกชน] จำนวนมาก ที่นี่และพวกเขาแบ่งปันงานกัน ปกติแล้วพวกเขาจะทำหน้าที่คอยคุ้มกันอาคารผู้โดยสารชายแดนระหว่าง Eliat และ Aqaba” เขากล่าวเสริม ตั้งแต่เดือนที่แล้ว มีการคาดการณ์ว่า ทหารรับจ้างที่ประจำการอยู่ในยูเครนจะเริ่มหันเหความสนใจไปช่วยเหลือและเข้าร่วมกองทัพอิสราเอล ในขณะที่จุดสนใจของชาติตะวันตกก็เปลี่ยนไปยืนหยัดเคียงข้างอิสราเอลในขณะที่ IDF กำลังก่ออาชญากรรมสงครามและการสังหารหมู่พลเรือนชาวปาเลสไตน์

นอกจากนี้แล้วในสหราชอาณาจักร ศูนย์ยุติธรรมระหว่างประเทศสำหรับชาวปาเลสไตน์ (ICJP) ได้ส่งจดหมายถึงสำนักงานต่างประเทศ เครือจักรภพ และการพัฒนา (FCDO) เพื่อขอคำชี้แจงเร่งด่วนเกี่ยวกับจุดยืนของรัฐบาลสหราชอาณาจักรต่อชาวอังกฤษที่จะสู้รบในอิสราเอลและฉนวนกาซา ตามรายงานของ  ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม พลเมืองอังกฤษหลายร้อยหรือหลายพันคนได้ออกจากสหราชอาณาจักรเพื่อร่วมสู้รบกับกองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) ในฉนวนกาซา “ชาวอังกฤษจำนวนมากเหล่านี้อาจสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอยู่แล้ว และอาจต้องเผชิญกับการดำเนินคดีในอนาคต หากเรื่องเหล่านี้ได้รับการพิจารณาคดี” จดหมายระบุ 

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลอิสราเอลเรียกทหารกองหนุน 360,000 นายจากทั่วโลกเพื่อเข้าร่วมสงครามในฉนวนกาซา “ในสหราชอาณาจักร สื่อต่าง ๆ เต็มไปด้วยเรื่องราวของชาวอังกฤษเชื้อสายอิสราเอลที่ออกเดินทางเพื่อเข้าร่วม IDF บางคนอาจอยู่ที่นั่นผ่านโครงการ Mahal ซึ่งเป็นโครงการอาสาสมัครที่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่ใช่ชาวอิสราเอลเข้ารับราชการใน IDF ในการต่อสู้เต็มรูปแบบและมีบทบาทสนับสนุนสำหรับ นานถึง 18 เดือน” ICJP ได้ขอให้ “รัฐบาลสหราชอาณาจักรชี้แจงจุดยืนของตนในเรื่องความถูกต้องตามกฎหมายของพลเมืองอังกฤษที่จะสู้รบในอิสราเอลหรือฉนวนกาซา โดยสังเกตถึงความแตกต่างกับนโยบายของตนต่อยูเครน รัฐบาลได้ชี้แจงชัดเจนว่าพลเมืองอังกฤษไม่ควรเดินทางไปต่อสู้ในยูเครน และผู้ที่ทำเช่นนั้นอาจมีความผิดทางอาญา”

น่าจะพออนุมานได้ว่าไม่มีแรงงานไทยในกองกำลัง IDF แม้แรงงานส่วนหนึ่งอาจจะเคยรับราชทหารในกองทัพไทย แต่ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ มากมาย อาทิ ประสบการณ์การรบ วิธีปฏิบัติ ที่สำคัญที่สุดคือ ภาษา ฯลฯ อีกทั้งรัฐบาลไทยยึดมั่นในการดำรงนโยบายเป็นกลางต่อเหตุการณ์นี้ และยังคงมีการอพยพแรงงานที่สมัครใจกลับอยู่ตลอดเวลา การเข้าร่วมกองกำลัง IDF ของแรงงานไทยจึงน่าจะเป็นเพียงข่าวลือตามที่กระทรวงต่างประเทศของไทยได้แถลงนั่นเอง

‘Desmond Doss’ พลทหารแห่งกองทัพบกสหรัฐฯ ผู้ปฏิเสธการจับปืน สู่...วีรบุรุษผู้สร้างปาฏิหาริย์ ณ สมรภูมิ Okinawa ในสงครามโลกครั้งที่ 2

สิบโท ‘Desmond Doss’ วีรบุรุษ… ผู้ปฏิเสธการจับปืนแห่งสมรภูมิ Okinawa

เมื่อ 2 อาทิตย์ก่อนได้เล่าถึงความเหี้ยมโหดของทหารของกองทัพบกอเมริกันในสงครามเวียดนาม อาทิตย์นี้ขอเล่าถึงวีรบุรุษสงครามทหารบกอเมริกันเช่นเดียวกัน ความแตกต่างระหว่างสองเรื่องนี้คือ ทหารนายนี้เป็นผู้ได้รับเหรียญกล้าหาญสูงสุดของรัฐสภาอเมริกัน โดยไม่ได้จับปืนหรือยิงปืนเลยแม้แต่นัดเดียว ด้วยเขาเป็นคริสต์ศาสนิกชนผู้ที่มีศรัทธาอย่างมากมาย และปฏิเสธการจับปืนโดยเด็ดขาด
วันที่ 1 เมษายน 1942 ‘Desmond Doss’ เข้าร่วมกองทัพสหรัฐฯ เขาไม่รู้เลยว่าในเวลาอีก 3 ปีครึ่งต่อมา เขาจะได้มี โอกาสมายืนอยู่บนสนามหญ้าของทำเนียบขาว และรับรางวัลสูงสุดของประเทศสำหรับความกล้าหาญ

เหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ (สำหรับทหารบก)

จากจำนวนชายชาวอเมริกันในเครื่องแบบ 16 ล้านคน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเพียง 431 คนเท่านั้น ที่ได้รับเหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ (Congressional medal of merit) หนึ่งในนั้นถูกวางไว้บนคอของชายหนุ่มผู้มีศรัทธามั่นในคริสต์ศาสนานิกาย ‘Seventh-day Adventist’ โดยในระหว่างการสู้รบเขาไม่ได้สังหารทหารฝ่ายศัตรูเลยแม้แต่คนเดียว เนื่องด้วยอันที่จริงแล้วเขาปฏิเสธที่จะจับปืน อาวุธเพียงอย่างเดียวของเขาคือ ‘พระคัมภีร์และความศรัทธาอย่างยิ่งในพระเจ้า’

ประธานาธิบดี ‘Harry S. Truman’ จับมือสิบโท Desmond Thomas Doss อย่างอบอุ่น แล้วชูมือนั้นตลอดเวลาที่มีการอ่านออกเสียงคำพูดของเขาให้ผู้คนที่มารวมตัวกันนอกทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 1945 “ผมภูมิใจในตัวคุณ” ประธานาธิบดี Truman กล่าว “คุณสมควรได้รับสิ่งนี้จริง ๆ ผมถือว่านี่เป็นเกียรติมากกว่าการเป็นประธานาธิบดีด้วยซ้ำ”

ประธานาธิบดี ‘Harry S. Truman’ มอบเหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ
ให้กับสิบโท ‘Desmond Thomas Doss’

การเดินทางที่ทำให้หนุ่ม Desmond มาจนถึงจุดสูงนี้ถือเป็นการเดินทางที่ท้าทายอย่างยิ่ง เมื่อฐานทัพสหรัฐฯ ที่อ่าว Pearl ถูกโจมตี เขากำลังทำงานอยู่ที่อู่ต่อเรือของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่เมือง Newport News ซึ่งสามารถเลื่อนการเกณฑ์ทหารของเขาออกไปได้ แต่เขาต้องการเป็นทหารเพื่อประเทศชาติของเขา โดยเต็มใจเสี่ยงชีวิตในแนวหน้า

แต่เมื่อเขาเข้าร่วมกองทัพ Desmond ถูกสันนิษฐานด้วยการจัดประเภทว่า ‘เป็นผู้ต่อต้านที่รู้สติ’ ซึ่งไม่ต้องการที่จะจับต้องอาวุธปืน เขาอยากเป็นทหารเสนารักษ์ โชคดีที่เขาได้รับมอบหมายให้ทำงานในกองร้อยทหารราบ การที่เขาปฏิเสธที่จะจับปืนทำให้เกิดปัญหามากมายกับบรรดาเพื่อนทหารของเขา เหล่าเพื่อนทหารมองเขาอย่างหมางเมิน และเรียกเขาว่า ‘เป็นบุคคลที่ไม่เหมาะที่จะเป็นทหาร’

ทหารนายหนึ่งในค่ายถึงกับออกปากเตือนเขาว่า “Doss ทันทีที่เราเข้าสู่การสู้รบ ฉันจะทำให้มั่นใจว่า แกจะไม่กลับมามีชีวิตอีก” เพราะแม้แต่ผู้บังคับบัญชาของเขาเองก็ยังต้องการกำจัดชายหนุ่มชาว Virginia ร่างผอมที่พูดจาด้วยท่าทางที่อ่อนโยน พวกเขามองว่า Doss เป็นภาระ ไม่มีใครเชื่อว่า ‘ทหารที่ไม่ยอมจับอาวุธ’ จะเหมาะต่อการเป็นทหาร พวกเขาพยายามข่มขู่ ดุด่า ทั้งยังมอบหมายหน้าที่ที่ยากเป็นพิเศษให้เขา และประกาศว่าเขามีสภาพจิตใจไม่เหมาะกับการเป็นทหารในกองทัพ

จากนั้นพวกเขาก็พยายามนำ Doss ขึ้นศาลทหาร เพราะปฏิเสธคำสั่งโดยตรงที่ให้ถือปืน แต่พวกเขาหาทางกำจัด Doss ออกไปไม่ได้ และ Doss เองก็ปฏิเสธที่จะลาออกจากกองทัพเอง เขาเชื่อว่าหน้าที่ของเขาคือ การเชื่อฟังพระเจ้าและรับใช้ประเทศชาติของเขา แต่ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนนั้น และความเชื่อมั่นอันแน่วแน่ของเขานั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ภาพวาดของ ‘Cain’ ที่ถือท่อนไม้ยืนอยู่เหนือร่างของ ‘Abel’ น้องชายของเขาที่เสียชีวิตไปแล้ว

Desmond ได้รับการเลี้ยงดูมาด้วยความเชื่ออย่างแรงกล้าในพระคัมภีร์ เมื่อพูดถึงบัญญัติสิบประการ Desmond ได้นำมาประยุกต์ใช้เป็นการส่วนตัว

ในช่วงวัยเด็ก พ่อของเขาซื้อภาพใส่กรอบขนาดใหญ่จากการประมูล เป็นภาพบัญญัติสิบประการพร้อมภาพประกอบสีสันสดใส ถัดจากคำว่า “เจ้าอย่าฆ่า” เป็นภาพวาดของ Cain ถือท่อนไม้ยืนอยู่เหนือร่างของ Abel น้องชายของเขาที่เสียชีวิตไปแล้ว Desmond ตัวน้อยจะมองดูภาพนั้นแล้วถามว่า “ทำไม Cain ถึงฆ่า Abel ทำไมพี่ชายถึงทำแบบนั้นได้” พระเจ้าตรัสในใจของ Desmond ตอบว่า “ถ้าเธอรักเขา เธอจะไม่ฆ่าเขา” ด้วยภาพนั้นเองที่ฝังแน่นอยู่ในใจของเขา เขาตัดสินใจว่าตลอดชีวิตนี้เขาจะไม่มีวันฆ่าใคร

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อทางศาสนาของเขารวมถึงการเข้าร่วมโบสถ์ทุกสัปดาห์ ทำให้บรรดาผู้บังคับบัญชาของเขาต่างก็รู้สึกไม่พอใจมาก เขาขอบัตรผ่านทุกสัปดาห์เพื่อจะได้ไปโบสถ์ทุกวันเสาร์ นั่นหมายถึงว่าเขามีวันหยุดสัปดาห์ละสองครั้ง เพื่อนทหารของเขาเห็นว่าเขาอ่านพระคัมภีร์อย่างเคร่งครัด ซึ่งไม่สอดคล้องกับทหารนายอื่น ๆ โดยสิ้นเชิง บรรดาเพื่อนทหารจึงรังเกียจเขา รังแกเขา เรียกเขาด้วยชื่อที่ดูถูก กระทั่งสาปแช่งเขาต่าง ๆ นานา โดยที่ผู้บังคับบัญชาของ Desmond ก็ทำให้ชีวิตของเขาต้องลำบากเช่นกัน

ทว่าสิ่งต่าง ๆ เริ่มพลิกผันเมื่อมีผู้ค้นพบว่า เสนารักษ์ผู้เงียบขรึมคนนี้มีวิธีรักษาแผลพุพองบนเท้าที่บอบช้ำและเหนื่อยล้าจากการเดินขบวน และหากมีใครเป็นลมเพราะลมแดด เสนารักษ์คนนี้ก็อยู่เคียงข้างเขาและเสนอเสบียงอาหารของตัวเองให้ด้วย Desmond ไม่เคยมีความแค้น ปฏิบัติต่อเพื่อนทหารด้วยความกรุณาและความสุภาพอ่อนโยน

‘เนินสูง Maeda’ ซึ่งเป็นเนินหินสูงตระหง่าน (Hacksaw Ridge)

Desmond ทำหน้าที่ในสมรภูมิบนเกาะ Guam, Leyte และ Okinawa ในการปฏิบัติการทางทหารแต่ละครั้ง เขาได้แสดงความทุ่มเทเป็นพิเศษต่อเพื่อนทหารของเขา ในขณะที่คนอื่นกำลังพยายามเข่นฆ่าเอาชีวิต เขาก็ยุ่งอยู่กับการช่วยชีวิต เมื่อมีเสียงร้องเรียกหา “เสนารักษ์” ดังขึ้นในสนามรบ เขาไม่เคยคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองเลย เขาวิ่งเข้าสู่การสู้รบอันดุเดือดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อรักษาเพื่อนทหารที่บาดเจ็บ และพากลับสู่ที่ปลอดภัย

ทั้งหมดนี้ ในขณะที่กระสุนของศัตรูพุ่งผ่านมาและกระสุนปืนครกก็ระเบิดรอบตัวเขา หลายครั้งขณะรักษาทหารที่ได้รับบาดเจ็บ Desmond ต้องอยู่ใกล้กับแนวข้าศึกมากจนเขาได้ยินเสียงพูดคุยของทหารญี่ปุ่น ในเดือนพฤษภาคม 1945 ขณะที่กองทัพเยอรมันยอมจำนนในอีกซีกโลกหนึ่ง กองทัพญี่ปุ่นก็ปกป้องพื้นที่ของตนอย่างดุเดือดจนทหารคนสุดท้าย ซึ่งเกาะ Okinawa ที่มีเนินสูงข่ม Maeda เป็นแนวป้องกันเพียงแห่งเดียวที่เหลืออยู่ต่อการบุกของฝ่ายสัมพันธมิตรในบ้านเกิดของพวกเขา ทหารในกองพลของ Desmond ถูกสั่งซ้ำแล้วซ้ำอีกให้พยายามยึดเนินสูงข่ม Maeda ให้ได้

เนินดังกล่าวเป็นเนินหินสูงตระหง่าน (Hacksaw Ridge) ที่กองทหารอเมริกันต้องเผชิญ หลังจากที่กองกำลังอเมริกันยึดยอดหน้าผาได้แล้ว ทหารอเมริกันก็ต้องตกตะลึง เมื่อกองกำลังญี่ปุ่นโผล่จากที่ซ่อนออกมาโจมตีตอบโต้อย่างดุเดือด ทหารอเมริกันถูกสั่งให้ถอยทันที ทหารทั้งหมดรีบเร่งปีนกลับลงมาตามหน้าผาสูงชัน ยกเว้นหนึ่งนาย คือ Desmond ทหารอเมริกันจำนวนน้อยกว่า 1 ใน 3 ของทั้งหมดกลับลงมาได้ ส่วนที่เหลือนอนบาดเจ็บ กระจัดกระจายไปทั่วดินแดนของศัตรูโดยถูกทิ้งและปล่อยให้ตาย แต่ Desmond เป็นทหารเพียงนายเดียวที่ฝ่าฝืนคำสั่งและพุ่งกลับเข้าไปในสนามรบ เพื่อช่วยชีวิตเพื่อนทหารของเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนที่พวกเขาเหล่านั้นจะล้มลงหรือเสียชีวิต ด้วยความมุ่งมั่นอันแรงกล้าและความกล้าหาญอันแน่วแน่ของเขา ส่งผลให้มีผู้รอดชีวิตอย่างน้อย 75 นาย ในวันนั้นเป็นวันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 1945 ซึ่งวันเสาร์ถือเป็น ‘วันสะบาโต’ (Sabbath Day) หรือ ‘วันพระ’ ตามคริสตจักรนิกาย Seventh-day Adventist

‘Hacksaw Ridge’ ภาพยนตร์ซึ่งสร้างจากเรื่องของสิบโท Desmond Thomas Doss

ในที่สุด ทหารอเมริกันก็เข้ายึด Hacksaw Ridge จนได้ Okinawa ถูกทหารอเมริกันค่อย ๆ ยึดรุกคืบได้ทีละเล็กทีละน้อยด้วยการสู้รบที่นองเลือด หลายวันต่อมาระหว่างการโจมตีในตอนกลางคืน Desmond ได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อระเบิดมือญี่ปุ่นตกลงมาใกล้เท้าของเขา ขณะกำลังหลบซ่อนตัวอยู่ในหลุมกระสุนปืนใหญ่พร้อมกับเพื่อนทหารราบอีก 2 นาย แรงระเบิดทำให้เขากระเด็น สะเก็ดระเบิดฉีกเข้าที่ขาขึ้นไปจนถึงสะโพก Desmond พยายามรักษาบาดแผลของตัวเองอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะพยายามเข้าให้ถึงที่ปลอดภัย แต่เขาก็ถูกกระสุนปืนจากสไนเปอร์ทหารญี่ปุ่นยิงจนแขนของเขาหักอีก การกระทำที่กล้าหาญของเขาในฐานะเสนารักษ์

แม้การสู้รบจะเสร็จสิ้นแล้ว แต่มิใช่สำหรับ Desmond เขายืนกรานให้หามพาทหารที่บาดเจ็บคนอื่น ๆ ไปก่อน ก่อนที่จะช่วยเหลือเขา แม้จะมีอาการบาดเจ็บ ทนทุกข์ทรมานด้วยความเจ็บปวดและการเสียเลือด แต่เขาก็ยังคงให้ความสำคัญกับทหารนายอื่น ๆ ก่อนความปลอดภัยของตนเอง เขาพร้อมเลือกที่จะตายเพื่อให้เพื่อนทหารอีกคนมีชีวิตรอดอยู่ต่อไปได้

‘Desmond Doss’ สนทนากับประธานาธิบดี ‘President John F. Kennedy’
ในโอกาส 100 ปี ของเหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ

นอกเหนือจากเหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯแล้ว Desmond Doss ยังได้รับเหรียญ ‘Bronze Star’ สำหรับความกล้าหาญด้วย Oak Leaf cluster 1 ใบ (แสดงว่าได้รับเหรียญ Bronze Star 2 เหรียญ) เหรียญ ‘Purple Hearts’ ที่มีกลุ่ม Oak Leaf cluster 2 ใบ (แสดงว่าได้รับเหรียญ Purple Hearts 3 เหรียญ) เหรียญ ‘Asiatic-Pacific Campaign’ พร้อมเหรียญ ‘Beachhead arrowhead’ (แสดงว่าได้ทำหน้าที่ในการรบ 4 ครั้ง รวมถึงการยกพลขึ้นบกภายใต้การสู้รบ) เหรียญความประพฤติดี, เหรียญ ‘American Defense Campaign’ และที่ไม่ธรรมดาคือ เหรียญซึ่งประธานาธิบดีเป็นผู้มอบให้กับกองพันที่ 1, กรมทหารราบที่ 30, กองทหารราบที่ 77 จากการยึดและรักษาเนินสูง Maeda เอาไว้ได้ ‘เหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ’ สร้างขึ้นในช่วงสงครามกลางเมืองภายใต้ประธานาธิบดี ‘Abraham Lincoln’ ในปี 1862 ในวันครบรอบ 100 ปี ในปี 1962 ผู้รับรางวัลคนอื่น ๆ ได้เลือกให้ Desmond Doss เป็นตัวแทนในพิธีที่ทำเนียบขาว ซึ่งเขามีโอกาสได้สนทนากับประธานาธิบดี ‘President John F. Kennedy’ ด้วย

ก่อนที่จะถูกปลดประจำจากกองทัพบกสหรัฐฯ ในปี 1946 Desmond เป็นวัณโรค เขาต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในโรงพยาบาลนานถึง 6 ปีหลังจากนั้น เนื่องจากเมื่อช่วงสงคราม ในค่ำคืนที่หนาวเย็น ตัวเขาเปียกปอนจนทำให้นอนไม่หลับ เขาตัวสั่นในโพรงจิ้งจอกที่เต็มไปด้วยโคลนบนเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งนั่นส่งผลเสียต่อสุขภาพเขา เมื่ออาการป่วยรุนแรงขึ้น ปอดซ้ายของ Desmond ต้องได้รับการผ่าตัดออกพร้อมกับกระดูกซี่โครงอีก 5 ซี่ เขารอดชีวิตมาได้ด้วยปอดข้างเดียวตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ จนกระทั่งปอดของเขาล้มเหลวเมื่ออายุได้ 87 ปี

สิบโท ‘Desmond Thomas Doss’ เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2006 หลังจากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการหายใจติดขัด ร่างของเขาถูกฝังอยู่ในสุสานแห่งชาติ เมือง Chattanooga มลรัฐ Tennessee


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top