ไทยไร้ทางเลือก!! กรณีส่ง 40 อุยกูร์ กลับมาตุภูมิซินเจียง ชี้ ต้องไม่ลืม!!! เหตุระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณ 17 ส.ค. 58
ความขัดแย้งที่ซินเจียง หรือ ความขัดแย้งระหว่างชาวอุยกูร์ กับ รัฐบาลจีน (Xinjiang conflict หรือ Uyghur–Chinese conflict) เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเขตปกครองตนเองซินเจียงทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน มาจากชาวอุยกูร์ ชนกลุ่มน้อยเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในภูมิภาคที่ต้องการปกครองตนเอง ชาวอุยกูร์ (Uighurs Uygurs หรือ Uigurs) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เติร์กที่มีต้นกำเนิดจากและมีส่วนเกี่ยวข้องทางวัฒนธรรมกับภูมิภาคเอเชียกลางและเอเชียตะวันออก ชาวอุยกูร์ได้รับการยอมรับว่าเป็นชนพื้นเมือง ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยถือเป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในจำนวน 55 กลุ่มของจีน แต่ชาวอุยกูร์ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลจีนว่า เป็นชนกลุ่มน้อยในภูมิภาคของประเทศในกรณีของความหลากหลายทางวัฒนธรรมเท่านั้น
เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เป็นเขตปกครองตนเองของจีนทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เป็นเขตปกครองใหญ่ที่สุดของจีน เป็นเขตการปกครองชนชาติที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก กินพื้นที่กว่า 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร และเป็นเขตการปกครองที่มีประชากรมากที่สุดติดอันดับหนึ่งในสิบ ซินเจียงมีพรมแดนติดต่อกับ ประเทศรัสเซีย มองโกเลีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดีย นอกจากนี้ยังมีพรมแดนติดต่อกับทิเบต มีน้ำมันสำรองอุดมสมบูรณ์ และเป็นภูมิภาคที่ผลิตแก๊สธรรมชาติใหญ่ที่สุดของจีน มีประชากรราว 24,870,000 คน ประกอบด้วย ชาวอุยกูร์ 45.84% ชาวฮั่น 40.48% ชาวคาซัค 6.50% ชาวหุย 4.51% และชาติพันธุ์อื่น ๆ อีก 2.67% เมืองสำคัญคือ อุรุมชี มีประชากรมากกว่า 2.3 ล้านคนประมาณ 75% เป็นชาวฮั่น 12.8% เป็นชาวอุยกูร์และ 10% มาจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ
ชาวอุยกูร์ส่วนส่วนหนึ่งหลบหนีออกมาเคลื่อนไหวนอกสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยชาวอุยกูร์ส่วนใหญ่ที่หลบหนีออกมาจะมุ่งหน้าไปยังตุรกีด้วยมีความคล้ายทางชาติพันธุ์ ภาษา และศาสนา โดยสหรัฐฯทั้งรัฐบาลและรัฐสภาต่างก็มีบทบาทในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของชาวอุยกูร์ โดยในเดือนธันวาคม 2019 สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ มีมติ 407 ต่อ 1 เสียงในการผ่านร่างกฎหมายที่กำหนดให้รัฐบาลของทรัมป์ต้องประณามและดำเนินมาตรการตอบโต้การจีนที่ใช้มาตรการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ (กฎหมาย ‘อุยกูร์ 2019’) โดยต้องเรียกร้องให้จีนปิดค่ายกักกันขนาดใหญ่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ รวมทั้งคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ของจีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว โดยพุ่งเป้าไปที่ นายเฉิน ฉวนกั๋ว เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำซินเจียงผ่าน กฎหมายดังกล่าวประณามจีนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกรณีการปราบปรามชาวอุยกูร์ในซินเจียง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ และเชื่อว่ามีชาวอุยกูร์และชาวมุสลิมชนกลุ่มน้อยนับล้านคนถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายปรับเปลี่ยนทัศนคติ ต่อมา 23 พฤษภาคม 2020 กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐออกแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เรื่องการเพิ่มชื่อบริษัทและสถาบันของจีนรวม 33 แห่ง เข้าสู่บัญชีดำการเป็นหน่วยงานที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในจีน โดยเฉพาะชาวอุยกูร์ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ 9 แห่ง และอีก 24 แห่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับ "การผลิตอาวุธทำลายล้าง" และกิจกรรมทางทหาร
ตั้งแต่มีนาคม พ.ศ.2557 มีชาวอุยกูร์ประมาณ 300 กว่าคนได้หลบหนีเข้ามาในบ้านเรา ซึ่งรัฐบาลจีนได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยส่งบุคคลเหล่านี้กลับไปยังประเทศจีน เนื่องจากอาจมีความเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายในประเทศจีน โดยรัฐบาลไทยได้ขอให้ฝ่ายจีนดำเนินการส่งหลักฐานการกระทำผิด และมีการพิสูจน์สัญชาติให้แก่ฝ่ายไทยพิจารณาก่อนที่จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไป รัฐบาลไทยได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมควบคู่กับหลักสิทธิมนุษยชนและพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย อีกทั้งรัฐบาลไทยได้พิจารณาอย่างรอบคอบจากหลักฐานของทุกฝ่าย สรุปว่า สามารถแยก'ชาวอุยกูร์'ดังกล่าว ได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกจำนวน 172 คน ซึ่งกลุ่มนี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการกระทำผิดกฎหมาย และบุคคลดังกล่าวได้แสดงความประสงค์ที่จะเดินทางไปตุรกีและรัฐบาลตุรกีพร้อมที่จะรับ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยได้รับหลักฐานการกระทำผิดและการพิสูจน์สัญชาติ 'ชาวอุยกูร์' จำนวน 109 คนจากรัฐบาลจีน และยังมีอีกประมาณ 60 คนที่ยังอยู่ในความดูแลของไทย กระทรวงการต่างประเทศของไทย ระบุว่า จากข้อเท็จจริงข้างต้น รัฐบาลไทยจึงได้ดำเนินการต่อเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2558 และตัดสินใจส่งชาวอุยกูร์ จำนวน 172 คน ให้กับรัฐบาลตุรกี ซึ่งได้รับบุคคลเหล่านี้ไปตั้งถิ่นฐานในตุรกีเรียบร้อยแล้ว และในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2558 รัฐบาลไทยได้ตัดสินใจส่งชาวอุยกูร์จำนวน 109 คน ตามที่รัฐบาลจีนได้ส่งหลักฐานการกระทำผิดและได้รับการพิสูจน์สัญชาติให้กับฝ่ายไทยแล้ว โดยยังมีชาวอุยกูร์ ประมาณ 60 คน(ยอดในขณะนั้น) อยู่ในความดูแลของรัฐบาลไทยซึ่งยังไม่มีหลักฐานเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายรัฐบาลไทย โดยจะพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป
จากเหตุระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 20 คน บาดเจ็บอีก 130 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวชาวอุยกูร์สองคนส่งฟ้องศาลคือ นายบิลาล โมฮำเหม็ด หรือ อาเด็ม คาราดัก เป็นจำเลยที่ 1 และนายเมียไรลี ยูซุฟู เป็นจำเลยที่ 2 ในข้อหาเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ และคนไทยอีกคนหนึ่งในคดีนี้คือ น.ส.วรรณา สวนสัน ถูกแยกฟ้องอีกต่างหาก โดยผู้ต้องหาทั้งหมดอยู่ระหว่างดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมของไทย ดังนั้นกรณีของชาวอุยกูร์ในประเทศไทยจึงต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นและเคร่งครัด ด้วยมีชาวอุยกูร์เคยก่อเหตุร้ายแรงในบ้านเรามาแล้ว ถือเป็นบทเรียนที่รัฐบาลต้องเตรียมการป้องกันและหาข่าวด้านความมั่นคงที่เกี่ยวเนื่องต่อไปอย่างต่อเนื่อง คนไทยเองต้องอย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม เพราะจะนำมาซึ่งความเสียหายร้ายแรง และหากเป็นเพราะเจตนาไม่ชอบหรือหวังผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องจะถูกดำเนินคดีด้วยแม้ไม่ใช่ตัวการก็ในฐานะผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 ของไทยด้วย
ดังนั้นการส่งชาวอุยกูร์ที่ตกค้างอยู่กลับสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงชอบธรรมแล้ว ดังนั้น UNHCR และกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ โปรดอย่าได้ดัดจริตออกมาโวยวายในเรื่องนี้ เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่านมาทำไม UNHCR จึงไม่ประสานจัดการส่งคนเหล่านี้ไปประเทศที่สาม (แต่สามารถประสานให้ผู้ต้องหาในคดีความผิดตามมาตรา 112 หนีออกนอกประเทศไปเป็นผู้ลี้ภัยได้) เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ตอนนี้เองก็ใช้เครื่องบินลำเลียงทหารขนผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองออกนอกประเทศเป็นว่าเล่น จะกล่าวหาประณามใคร ควรทบทวนมองดูตัวเองให้ดีก่อน เพราะการกระทำกับคำพูดสุดที่ย้อนแย้งกันเสียเหลือเกิน
เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล