Monday, 29 April 2024
ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล

‘ICAC’ สุดยอดหน่วยปราบปรามการทุจริตและคอร์รัปชัน ผู้ปัดกวาดเกาะฮ่องกง ลบภาพจำดินแดนแห่งการคดโกง

‘ICAC’ (The Independent Commission Against Corruption) ของฮ่องกง… สุดยอดต้นแบบแห่งการปราบปรามคอร์รัปชันทุจริตโกงกิน

การปราบปรามการทุจริตโกงกินของประเทศใด ๆ ก็ตาม ไม่มีวันที่จะสำเร็จหากหน่วยงานปราบปรามการทุจริตของประเทศนั้น ๆ ทำงานในเชิงรับ (Defensive) ตัวอย่างที่ดีที่สุดและพิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ถึงความสำเร็จในการปราบปรามการทุจริตเชิงรุก (Offensive) ก็คือหน่วยงานปราบปรามทุจริตของฮ่องกง อย่าง ‘ICAC’ ซึ่งทำงานเชิงรุกมาโดยตลอด นับแต่ตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นในเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) เลยขอนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงเรื่องราวของ ICAC ซึ่งยาว แต่มีประโยชน์มากครับ

การปราบปรามการทุจริตของฮ่องกงเป็นต้นแบบที่ดีที่สุด ในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันกรณีหนึ่งของโลก ด้วยเหตุที่ฮ่องกงในอดีตเผชิญกับปัญหาคอร์รัปชันอย่างรุนแรง ชนิดที่เรียกว่า แค่ย่างเท้าก้าวออกจากบ้านก็ต้องจ่าย สินบน ค่าน้ำร้อนน้ำชาให้กับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อยคนหนึ่ง (ฮ่องกงในอดีตอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ จนกระทั่งวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) ฮ่องกงจึงกลับคืนเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน และกลายเป็น ‘เขตปกครองพิเศษ’ ภายใต้หลักการ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ เป็นแห่งแรกของจีน)

ช่วงต้นทศวรรษที่ 70 รัฐบาลอังกฤษส่ง Sir. Murray MacLehose มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเกาะฮ่องกง (Governor of Hong Kong) ผลงานชิ้นสำคัญของ MacLehose คือ การตั้งหน่วยงานปราบปรามการทุจริต ขึ้นเมื่อ15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) หน่วยงานนี้มีชื่อว่า ‘Independent Commission Against Corruption’ หรือ ‘ICAC’ ความสำเร็จของฮ่องกงที่กลายเป็นศูนย์กลางด้านการเงินระหว่างประเทศ เป็นสวรรค์ของบรรดานักช้อปทั้งหลาย มีเศรษฐกิจเฟื่องฟูต่อเนื่องกันมาหลายสิบปี โดยในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 นั้นถือเป็นยุคที่บูมสุด ๆ ของเกาะแห่งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลงานของ ICAC

‘ICAC’ เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมา เพื่อปราบปรามและป้องกันการทุจริต โดยมีบทบาทอย่างสูงยิ่งในการปัดกวาด กำจัดการทุจริตโกงกินที่เกิดขึ้นบนเกาะแห่งนี้จนสะอาดสะอ้าน ทำให้ปัญหาคอร์รัปชันบรรเทาเบาบางลงไปอย่างน่าอัศจรรย์ จนเกาะสะอาดแห่งนี้คว้าตำแหน่งศูนย์กลางทางการเงินแห่งภูมิภาคมาครองได้ในที่สุด ซึ่งนับเนื่องมาถึงวันนี้เวลาก็ผ่านไปเกือบ 50 ปีแล้วที่องค์กรนี้มุ่งมั่นในการทำหน้าที่ตามภารกิจนี้มา

เดิมการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันในฮ่องกง เป็นเพียงแผนกหนึ่งของกรมตำรวจฮ่องกง แต่ทว่า ตำรวจฮ่องกงในช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970 ขึ้นชื่อในเรื่องการเรียกร้องสินบนมากที่สุด ชนิดชาวบ้านร้านตลาดต่างเอือมระอา ภาพลักษณ์ตำรวจฮ่องกงในยุคนั้นไม่ต่างอะไรกับ ‘โจรในเครื่องแบบ’ ที่รีดไถเก็บค่าคุ้มครองสุจริตชน หนำซ้ำยังอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มมาเฟีย โดยแลกกับผลประโยชน์จากการรับส่วย สภาพความเป็นอยู่เช่นนี้ ทำให้ชาวฮ่องกงมีต้นทุนในการดำรงชีวิตแพงขึ้น เพราะต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อแลกกับการใช้บริการภาครัฐ หรือไม่ก็แลกกับการที่ผู้รักษากฎหมายจะไม่มากลั่นแกล้ง หรือยัดเยียดข้อหาให้ ฮ่องกงกำลังตกอยู่ในสภาวะแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างฮวบฮาบของจำนวนประชากร และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ล้วนเป็นตัวเร่งเร้าจังหวะก้าวของการพัฒนา ทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจให้ร้อนแรงยิ่งขึ้นไปอีก

ภาครัฐเองในเวลานั้น ก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่ดูจะไม่มีวันอิ่มของจำนวนประชากร ที่นับวันจะขยายตัวยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ สถานการณ์เช่นนี้เอง ที่เป็นเสมือนผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ให้แก่เหล่าผู้คนประเภทไร้ศีลธรรมทั้งหลาย หลายคนได้หันไปใช้วิธีที่เรียกว่า ‘เข้าหลังบ้าน’ เพียงเพื่อยังชีพ และให้ได้มาซึ่งสิ่งพิเศษนอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐาน สิ่งที่เรียกว่า ‘เงินค่าน้ำร้อนน้ำชา’, ‘เงินสกปรก’, ‘เงินเก๋าเจี๊ยะ’ หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตามแต่ จึงไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่คนฮ่องกงคุ้นเคย แต่ต้องจำใจยอมรับมันว่าได้กลายเป็น ‘วิถีชีวิตอันไม่อาจปฏิเสธได้’ ไปเสียแล้ว

ในสมัยนั้น คอร์รัปชันได้ลุกลามไปทั่วในภาคเอกชนของฮ่องกงไม่ว่าจะเป็นพวกห้างร้านต่างๆ ก็ต้องจ่ายเงินให้พนักงานดับเพลิงเสียก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าคนพวกนี้จะโผล่หน้ามาตอนเกิดไฟไหม้จริงๆ หรือเวลายื่นคำร้องขอติดตั้งโทรศัพท์บ้านสักเครื่องก็ต้องจ่ายค่า ‘หยอดน้ำมัน’ เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ ‘โทรศัพท์’ มาใช้งาน พนักงานรถพยาบาลก็ไม่วายเรียกร้องเงินค่าน้ำร้อนน้ำชาก่อนจะออกไปรับผู้ป่วยมาโรงพยาบาล หรือแม้แต่นางพยาบาลเองยังเรียกร้องเงินค่า ‘ทิป’ ก่อนจะหยิบกระโถนฉี่ หรือเอาน้ำสักแก้วมาบริการผู้ป่วยที่นอนอยู่บนเตียงผู้ป่วย มันเป็นไปได้ถึงเพียงนี้คิดดูเถิด การหยิบยื่นเงิน ‘เก๋าเจี๊ยะ’ ให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ถูกคน ยังเป็นเรื่องจำเป็นในการติดต่อเพื่อเช่าแฟลตการเคหะ ฝากลูกเข้าโรงเรียน รวมทั้งเพื่อความคล่องตัวในการติดต่อราชการอีกสารพัดเรื่อง 

ปัญหาคอร์รัปชันได้กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมในฮ่องกงเรื่อยมา ทว่ารัฐบาลในสมัยนั้นดูเหมือนจะไร้น้ำยาที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้ ความอดทนของประชาชนต่อเรื่องนี้นับวันจะน้อยลงๆ ทุกที หลายคนจึงเริ่มออกมาแสดงความไม่พอใจโจมตีความไม่เอาไหนของรัฐฯ ในการจัดการกับปัญหานี้ ในช่วงต้นๆ ของทศวรรษที่ 1970 ปรากฏว่าผู้คนในสังคมได้รวมพลังกันแสดงความคิดเห็นต่อปัญหานี้กันอย่างแข็งขัน จนเกิดเป็นพลังทางสังคมที่รัฐฯ ไม่อาจทำเป็นหูทวนลมต่อไปได้ สาธารณชนได้ทำการกดดันฝ่ายบ้านเมืองชนิดกัดไม่ปล่อย เพื่อให้รัฐฯ ตัดสินใจใช้มาตรการอันเฉียบขาดในการสะสางปัญหาอันเรื้อรังนี้เสียที

‘Sir. Murray MacLehose’ ผู้ว่าการเกาะฮ่องกง ผู้ก่อตั้งหน่วย ICAC

‘Sir. Murray MacLehose’ ผู้ว่าการเกาะฮ่องกง (ข้าหลวงใหญ่ฮ่องกง) ในขณะนั้น (ดำรงตำแหน่ง 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) – 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982)) ได้ชี้แจงแสดงเหตุผลความจำเป็น ที่จะต้องจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาเพื่อต่อต้านการทุจริต ในสุนทรพจน์ของเขาที่แสดงต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายนิติบัญญัติในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) จนในที่สุดได้ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งองค์กรอิสระที่เรียกว่า ‘คณะกรรมการอิสระป้องกันและปราบปรามการทุจริต’ หรือ ‘Independent Commission Against Corruption’ (ICAC) ขึ้นมาเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974)

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่งของฮ่องกง คือ ภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งเมื่อก่อนไม่ค่อยสนใจ หรือตระหนักถึงอันตรายของปัญหาคอร์รัปชัน และมองว่าเรื่องการจ่ายใต้โต๊ะเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ได้มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติจนทำให้มีส่วนร่วมในการปราบคอร์รัปชัน ทั้งภายในองค์กรของตัวเอง และที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐมากขึ้น องค์กรธุรกิจภาคเอกชนที่ไปขอคำแนะนำเรื่องการปราบปรามคอร์รัปชันจาก ICAC มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี พ.ศ. 2537 ICAC เริ่มรณรงค์เรื่องจริยธรรมทางธุรกิจและต่อมาอีก 18 เดือนมีบริษัทและสมาคมการค้ากว่า 1,200 แห่ง ประกาศเรื่องประมวลจรรยาบรรณของบริษัท (Code of conduct)

ปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ฮ่องกงประสบความสำเร็จในการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน : 

ปัจจัยแรก การยอมรับสภาพปัญหาและความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของรัฐบาล ทำให้ความพยายามในการปราบปรามคอร์รัปชันได้ผลคือ เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงสุดตระหนักถึงความเลวร้ายของปัญหาคอร์รัปชัน และมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยเน้นว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่จะต้องใช้เวลาแก้ไขอย่างต่อเนื่องมากกว่ามาตรการระยะสั้น อย่างกรณีของฮ่องกง ข้าหลวงใหญ่เป็นผู้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการอิสระ เพื่อการปราบปรามคอร์รัปชัน (ICAC) โดยตรง และตั้งเป็นองค์กรอิสระจากการแทรกแซงการเมือง เพื่อทำให้ประชาชนเชื่อถือ รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการสร้างองค์กรนี้ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการคัดเลือกและตรวจสอบพนักงานอย่างมีคุณภาพ ให้เงินเดือนและสวัสดิการสูง เพื่อให้เป็นองค์กรที่อยู่ได้อย่างยาวนาน ต่างจากการรณรงค์การปราบปรามการคอร์รัปชันระยะสั้นในหลายประเทศ ซึ่งมักเป็นการหาเสียงทางการเมือง มากกว่าจะมีความจริงใจในการปราบปรามการคอร์รัปชัน และทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือและไม่ให้ความร่วมมือกับองค์กรที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา

ปัจจัยที่ 2 การมีองค์กรปราบปรามคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส คือ ICAC ของฮ่องกงจะมีการคัดเลือกเจ้าหน้าที่ที่มาทำงานอย่างเข้มงวดมาก ๆ คือจะต้องคัดเลือกคนที่เก่ง ทั้งมีคุณธรรมและความซื่อสัตย์สูง เจ้าหน้าที่ของ ICAC จะได้รับเงินเดือนและสวัสดิการสูง แต่ก็ต้องปฏิบัติตัวตามวินัย และมีการตรวจสอบภายในอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ถูกเย้ายวนใจให้เป็นผู้คอร์รัปชันเสียเอง ในบางประเทศที่เจ้าหน้าที่ด้านนี้มีอำนาจมากอาจเป็นดาบสองคม หากพวกเขาหลงทางใช้อำนาจไปในทางที่ผิดได้ จะทำให้การปราบปรามคอร์รัปชันไม่ได้ผล

ปัจจัยที่ 3 การมียุทธศาสตร์ระยะยาวที่มีการวางแผนที่ดี คือ มียุทธศาสตร์ในการจัดปราบคอร์รัปชันระยะยาวที่มีการวางแผนอย่างรอบคอบ สงครามปราบคอร์รัปชันไม่อาจเอาชนะได้ด้วยการจับกุม ลงโทษผู้ทำคอร์รัปชันและปรับปรุงกลไกการทำงานของราชการ สิ่งที่จำเป็น คือ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชนขั้นพื้นฐานด้วย ยุทธศาสตร์ในการปราบปรามคอร์รัปชันของฮ่องกง คือ การทำสงครามด้านคอร์รัปชัน 3 ทางพร้อมกันแบบบูรณาการ คือ การสอบสวน การป้องกัน และการให้การศึกษาแก่ประชาชน ทางแรก มีหน่วยปฏิบัติการที่ทำงานสอบสวนข้อเท็จจริงตามที่ได้รับรายงานหรือมีการร้องเรียนเข้ามา ทางที่ 2 มีหน่วยป้องกันคอร์รัปชัน ซึ่งทำหน้าที่ในการป้องกัน เพื่อลดโอกาสในการคอร์รัปชัน ทั้งในภาครัฐและเอกชน ทางที่ 3 มีหน่วยประชาสัมพันธ์ชุมชนทำงานด้านให้การศึกษา ให้ประชาชนตระหนักถึงความเลวร้ายของคอร์รัปชัน และแสวงหาการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากพลเมืองด้วย ‘หน่วยประชาสัมพันธ์ชุมชน’ (Community Relations Department) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ราว 200 คน ตั้งขึ้นมาด้วยความตระหนักว่า ต้องเปลี่ยนทัศนคติประชาชนเรื่องการคอร์รัปชันให้ได้เท่านั้น จึงจะสามารถปราบคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่โตลึกซึ้งได้อย่างแท้จริง งานที่หน่วยนี้ทำ คือ พยายามอธิบายกฎหมายการต่อต้านสินบนให้ประชาชนได้ตระหนักรู้ ให้การศึกษาเด็กนักเรียนที่โรงเรียน และกระตุ้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการปราบปรามคอร์รัปชัน ด้วยการรายงานข่าวหรือข้อสงสัยเรื่องการคอร์รัปชันให้องค์กร ICAC ทราบ

การที่จะทำเช่นนี้ได้เจ้าหน้าที่จะต้องมียุทธวิธีเฉพาะและทำงานใกล้ชิดกับคนกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน จนกระทั่งประชาชนไว้วางใจว่า ICAC เป็นองค์กรที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ประชาชนจึงจะเป็นกำลังที่สำคัญในการยกระดับทางศีลธรรม และปฏิรูประบบการบริหารจัดการองค์กรภาคเอกชนที่จะช่วยป้องกันการคอร์รัปชัน ความสำเร็จด้านหนึ่งขององค์กร ICAC คือ การที่องค์กรทำให้สาธารณชนเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่า การติดสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐนั้น เป็นการส่งเสริมการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพิ่มค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้น ทำให้ธุรกิจมีกำไรลดลง และเป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี

การทำงานในด้านการสอบสวนและลงโทษผู้ทำผิดได้ ก็จะมีส่วนช่วยให้ประชาชนเชื่อถือองค์กร ICAC และช่วยรายงานข้อมูลมาให้องค์กร ICAC มากขึ้น รวมทั้งร่วมมือในการป้องกันคอร์รัปชันมากขึ้น แม้ 3 หน่วยนี่จะทำงานคนละด้าน แต่ก็มีความร่วมมือและส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพราะการทำงานประสบความสำเร็จของแต่ละหน่วยนั้น จะช่วยให้หน่วยอื่น ๆ ทำงานได้สำเร็จมากขึ้น

ปัจจัยที่ 4 การใส่ใจต่อรายงานข้อร้องเรียนเรื่องคอร์รัปชันทุกฉบับ ปัจจัยที่จะทำให้ประชาชนไว้วางใจ และร่วมมือในการรายงานร้องเรียนเรื่องคอร์รัปชันมาที่ ICAC ก็คือ ICAC จะรับและติดตามสอบสวนรายงานที่ประชาชนร้องเรียนมาทุกเรื่อง แม้เป็นเรื่องเล็กน้อยและจะตอบให้ประชาชนทราบด้วยว่า เรื่องที่ร้องเรียนมานั้นสอบสวนไปถึงไหน ผลเป็นอย่างไร เพื่อที่ประชาชนจะได้ไว้วางใจว่า เรื่องที่พวกเขาร้องเรียนไปไม่ได้หายเข้ากลีบเมฆ และประชาชนจะได้ช่วยเป็นหูเป็นตาคอยรายงานให้ ICAC อีกในครั้งต่อไป แม้บางเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนมาเป็นเรื่องปัญหาของหน่วยงานรัฐมากกว่าจะเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน แต่ ICAC ก็ไม่โยนทิ้งตะกร้า แต่จะส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงต่อไป เพื่อให้ประชาชนไว้วางใจว่า ICAC เป็นองค์กรที่พึ่งที่หวังได้

ปัจจัยที่ 5 การรักษาความลับของผู้ร้องเรียน ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ คือ ICAC รักษาความลับของผู้ร้องเรียนอย่างเข้มงวด เพราะการร้องเรียนนั้นมีความเสี่ยงอยู่ คนที่จะร้องเรียนต้องมีความกล้าและความมั่นใจว่า ICAC ต้องปกปิดชื่อผู้ร้องเรียน โดยไม่ทำให้พวกเขาได้รับอันตรายภายหลัง การบันทึกข้อมูลของผู้ร้องเรียนในคอมพิวเตอร์และระบบไฟล์ จะมีการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลอย่างดี จะมีเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงที่จำเป็นต้องรู้เท่านั้น จึงจะเข้าถึงข้อมูลได้ เจ้าหน้าที่คนอื่นไม่เกี่ยวข้องจะเข้าถึงข้อมูลไม่ได้ ข้อมูลที่ใช้ไปและหมดความจำเป็นแล้วจะถูกทำลาย กฎหมายของฮ่องกงยังให้ ICAC มีสิทธิไม่เปิดเผยแหล่งที่มาของข้อมูลของตนได้ด้วย

ปัจจัยที่ 6 การมีปัจจัยแวดล้อมโดยรวมที่เอื้อให้ ICAC ทำงานประสบความสำเร็จ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำงานร่วมกันอย่างเอื้ออำนวยต่อการปราบปรามคอร์รัปชัน ข้าหลวงใหญ่ฮ่องกงเป็นผู้แต่งตั้งเลขาธิการและรองเลขาธิการสำนักงาน ICAC เลขาธิการ ICAC เป็นผู้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ ICAC คนอื่น ๆ และรายงานตรงต่อข้าหลวงใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้หน่วยงานอื่นหรือนักการเมืองข้าราชการคนอื่น ๆ เข้าไปแทรกแซง ICAC เลขาธิการ ICAC เป็นผู้เจรจาต่อรองกับรัฐบาลและรัฐสภาในเรื่องงบประมาณประจำปี เจ้าหน้าที่ของ ICAC ต้องทำตามระเบียบเงื่อนไขการจ้างงานของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่การปฏิบัติงานของ ICAC เป็นอิสระโดยสิ้นเชิง

เพื่อป้องกันไม่ให้ ICAC ใช้อำนาจไปในทางที่ผิด จะมีระบบการตรวจสอบ ICAC ที่เข้มงวด งานของ ICAC จะถูกชี้นำโดยคณะกรรมการที่ปรึกษา 4 คณะ สมาชิกของคณะกรรมการที่ปรึกษามาจากตัวแทนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม โดยมีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้แต่งตั้ง และยังมีคณะกรรมการคณะที่ 5 ประกอบไปด้วยตัวแทนจากฝ่ายบริหารของรัฐสภามีหน้าที่พิจารณาเรื่องที่ประชาชนร้องเรียน ICAC ผู้ที่เป็นประธานกรรมการทั้ง 5 ชุด ไม่ใช่เลขาธิการ ICAC แต่เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษา ทั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการที่ปรึกษาเป็นอิสระอย่างแท้จริง

ปัจจัยที่เอื้ออำนวยอย่างสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การที่ระบบกฎหมายของฮ่องกงสนับสนุนให้ ICAC ทำงานปราบคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ICAC มีอำนาจที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ต้องสงสัยว่าจะคอร์รัปชันโยกย้ายถ่ายเททรัพย์สินได้ สามารถร้องขอต่อศาลสั่งห้ามผู้ต้องสงสัยเดินทางออกนอกประเทศได้ สามารถเข้าไปตรวจสอบบัญชีและตู้นิรภัยของผู้ต้องสงสัยได้ เรียกร้องให้ผู้ต้องสงสัยต้องแสดงสถานการณ์ทางการเงินโดยละเอียด รวมทั้งเข้าไปตรวจค้นที่บ้านพักของผู้ต้องสงสัย ถ้าการสอบสวนโยงใยไปถึงบุคคลอื่น ICAC ก็สามารถตามไปตรวจสอบคนคน นั้น เพื่อที่จะโยงในเรื่องการคอร์รัปชันทั้งหมดได้

อาวุธที่สำคัญข้อหนึ่งที่ระบบกฎหมายฮ่องกงยื่นให้ ICAC คือ การที่ ICAC สามารถตั้งข้อหาต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีทรัพย์สินมากและไม่อาจอธิบายได้ หรือใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือยเกินกว่ารายได้ประจำจากเงินเดือน ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้นไม่สามารถอธิบายต่อศาลได้ว่า ทรัพย์สินเหล่านั้นมาอย่างไร เขาจะถูกถือว่าคอร์รัปชัน กฎหมายนี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐของฮ่องกงต้องทำงานอย่างซื่อสัตย์เพิ่มขึ้น (B.E.D.DE Speville The Experience Of Hong Kong, China in Combating Corruption 5 Daniel Kaufmann. FINANCE AND DEVELOPMENT, September 2005, V.42 NO. 3.)

การคอร์รัปชันในระบบราชการของฮ่องกงเมื่อ 30 ปีที่แล้วถูกขจัดไป แต่ปัญหาใหม่คือ การคอร์รัปชันในภาคเอกชนที่สลับซับซ้อน ซึ่งต้องการการติดตามแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้น ต้องการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น การที่ฮ่องกงกลับคืนจากการอยู่ใต้ปกครองของอังกฤษมาเป็นเขตปกครองพิเศษ (Special Administrative Region – Sar) ของจีนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ก็ทำให้โฉมหน้าการเมืองเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง

แม้ระบบกฎหมายฮ่องกงจะรองรับการดำรงอยู่ของ ICAC ในฐานะองค์กรอิสระต่อไป แต่ก็ขึ้นอยู่กับการเมืองภายในประเทศจีนอยู่มาก โดยทั่วไปแล้วการปราบปรามคอร์รัปชันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาฮ่องกงให้มั่นคงและเจริญรุ่งเรืองต่อไป รวมทั้งการร่วมมือกับหน่วยงานทำนองเดียวกันในกวางตุ้ง และมณฑลอื่น ๆ ของจีน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจีนเอง การปราบคอร์รัปชันในหมู่นักการเมืองและข้าราชการคงดำเนินต่อไป ยกเว้นจะมีการคอร์รัปชันในระดับข้าราชการที่สูงมาก ๆ แต่ประสบการณ์ของฮ่องกงก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอื่นให้ศึกษาได้ว่า แม้แต่ประเทศที่เคยมีวัฒนธรรมการจ่ายสินบนใต้โต๊ะที่เรียกว่า ‘ค่าน้ำร้อนน้ำชา’ อย่างถือเป็นเรื่องปกติ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงเลิกวัฒนธรรมแบบนี้ได้ ถ้ามีการรณรงค์อย่างจริงจัง (ขอบคุณที่มา นโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ : การทับซ้อนของผลประโยชน์ทางธุรกิจ (Conflict of Interest) อาจารย์วิทยากร เชียงกูล)

ทุกวันนี้หน่วยงานต่อต้านและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของบ้านเรามีทั้ง (1) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กองบัญชาการสอบสวนกลส่วนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (2) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ (3) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งยังคงทำงานเชิงรับ และทำงานไม่ได้เหมือนและไม่ได้เท่ากับ ICAC ของฮ่องกง เช่นนี้แล้วต่อให้เราท่านตายแล้วเกิดใหม่อีก 7 ชาติ สถานการณ์ทุจริตโกงกินในบ้านเราก็จะยังคงเป็นเหมือนเช่นเดิมอยู่ต่อไป

ชมคลิป ดร.โญ มีเรื่องเล่า เรื่อง ICAC  ออกอากาศทาง ททบ5 เมื่อ 18 เมษายน 2562 https://youtu.be/51-6j8wRBVk

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

‘โจรสลัดแห่งน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ กลุ่มคนใจโฉด ที่อดีตเคย ‘ปล้น-ฆ่า’ ผู้อพยพและชาวประมงอย่างเลือดเย็น


โจรสลัดแห่งน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

‘โจรสลัด’ (Pirate, Buccaneer, Frigate) ตามนิยามของวิกิพีเดียสารานุกรมออนไลน์คือ ‘บุคคลที่ปล้นหรือโจรกรรมในทะเล หรือแม้กระทั่งตามชายฝั่งหรือท่าเรือต่าง ๆ ในบางโอกาส’ โจรสลัดในอดีตที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น มีผ้าคาดหัว ใช้ดาบใบกว้าง หรือปืนพก และเรือโจรสลัดที่มีขนาดใหญ่ แต่โจรสลัดในปัจจุบันนิยมใช้เรือเร็ว และใช้ปืนพก ปืนกล กระทั่งจรวดต่อสู้รถถังแทนดาบ โดยมีเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นเรือบรรทุกสินค้า

Cellattes (ชาวบ้านที่อยู่อาศัยตามเกาะแก่งในช่องแคบมะละกา)

‘โจรสลัด’ เป็นคำในภาษาไทยที่ใช้มานานนับแต่สมัยอยุธยา มีปรากฏในเอกสารเก่า เป็นคำที่มาจากภาษามลายู คือ ‘Salat’ (โจรปล้นเรือ) หรือ ‘Selat’ (ช่องแคบ) ในเอกสารต่างประเทศ กล่าวถึงการที่พ่อค้าต่างชาตินิยมเข้ามาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาด้วย เพราะทะเลอ่าวไทยไม่มีโจรสลัด คำว่า ‘สลัด’ หรือ ‘โจรสลัด’ ใช้เรียกเฉพาะโจรที่ทำการปล้นเรือกลางทะเล และยกพลไปปล้นบนบกตามหัวเมืองชายทะเลทางภาคใต้ของไทยเท่านั้น โดยโจรสลัดเหล่านี้มีรกรากถิ่นฐานบริเวณดินแดนทั้ง 2 ฟากฝั่งของช่องแคบมะละกา จึงเรียกโจรเหล่านี้ว่า ‘สลัด’ หมายถึงโจรที่มาจากช่องแคบ เนื่องด้วยชาวอังกฤษในสมัยก่อน เรียกชาวบ้านที่อยู่อาศัยตามเกาะแก่งในช่องแคบมะละกาว่า ‘Cellattes’ โดยชาวบ้านพวกนี้จะทำการปล้นเรือต่างๆ ที่แล่นผ่านมาในอาณาเขตของตน


เรื่องราวเกี่ยวกับโจรสลัด สามารถย้อนหลังไปได้ถึงราว 1,400 ปีก่อนคริสต์ศักราช เมื่อบริเวณทะเลอีเจียน และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีชนพื้นเมือง 2 พวก คือ ‘อิลลีเรียน’ และ ‘ไทร์เรเนียน’ ทำการปล้นสะดมเรือสินค้าของชาวฟีนีเชียนเป็นประจำ และจับเอาเด็กทั้งชายและหญิงไปขายเป็นทาสอีกด้วย โจรสลัดที่มีความโด่งดังอีกคนหนึ่งคือ ‘คาริโก้ แจ็ค’ (Calico Jack หรือ Jack Rackham) เป็นโจรสลัดชาวอังกฤษ มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 18 ฉายามาจากเสื้อผ้าที่เขาสวมใส่อยู่ เป็นโจรสลัดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกคนหนึ่ง มีผู้ช่วยเป็น 2 โจรสลัดหญิง ‘แอน บอนนี่’ (Anne Bonny), ‘แมรี่ รีช’ (Mary Read) ต้นตำรับธงโจรสลัด รูปหัวกะโหลกและดาบ 2 เล่ม ทำให้เป็นโจรสลัดที่ได้รับการจดจำมากที่สุดในบรรดาโจรสลัดมากมาย


โจรสลัดในปัจจุบันยังคงมีปรากฏอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นบริเวณชายฝั่งและทะเลในอเมริกาใต้ รวมถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ก็ยังคงมีโจรสลัดทำการปล้นเรือที่แล่นผ่านไปมาอยู่ โดยเฉพาะแถบชายฝั่งของสหรัฐอเมริกา และชายฝั่งของทะเลแคริบเบียน แต่จำนวนลดน้อยลงไปมาก ด้วยมาตรการป้องกันจากกองกำลังรัฐบาลชาติต่างๆ ยุคต่อๆ มายังคงมีโจรสลัดทำการปล้นอยู่เรื่อยมา ‘อ่าวเอเดน’ ประเทศโซมาเลีย เป็นน่านน้ำที่โจรสลัดยังคงปฏิบัติการปล้นจี้เรือที่แล่นผ่านไปมาอย่างอุกอาจที่สุด และขึ้นชื่อที่สุดในยุคปัจจุบันอีกด้วย ประมาณการว่า ค่าเสียหายที่เกิดจากการปล้นของโจรสลัดทั่วโลกในปัจจุบันอยู่ที่ปีละหลายแสนล้านบาท โดยโจรสลัดสมัยใหม่ใช้เรือยนต์ขนาดเล็กติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ ที่ทันสมัย มีทั้งโทรศัพท์ดาวเทียม, จีพีเอส, ระบบเรดาห์และโซนาร์


น่านน้ำในทวีปเอเชีย ก็หนีไม่พ้นจากเป้าหมายในปฏิบัติการปล้นของโจรสลัดเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย จุดที่อยู่ระหว่างช่องแคบมะละกาและประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีเรือพาณิชย์แล่นผ่านกว่า 50,000 ลำต่อปี โดยโจรสลัดที่ทำการปล้นในแถบนี้ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ปฏิบัติการปล้นจะใช้เรือเล็กเร็วเทียบขนานเรือใหญ่ แล้วปีนขึ้นเรืออย่างรวดเร็วและเงียบเชียบด้วยความชำนาญ จนบางครั้งลูกเรือใหญ่ไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ ในขณะที่บางคนจะบริกรรมคาถา ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยในการกำบังกายได้ด้วย และสามารถควบคุมลูกเรือทั้งหมดให้อยู่ในจุดเดียวกัน ขณะที่บุคคลสำคัญ เช่น กัปตัน หรือต้นหน จะถูกกักตัวไว้เพื่อเรียกค่าไถ่ ในบางครั้งอาจจะแค่ปล้นทรัพย์อย่างเดียว ส่วนตัวบุคคล หากไม่มีความจำเป็นหรือหมดประโยชน์แล้ว อาจมีการสังหารทิ้งศพลงทะเล


สำหรับโจรสลัดในน่านน้ำอาเซียน ในยุคปัจจุบัน น่าจะเริ่มจากรัฐบาลที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนที่พ่ายแพ้แก่กองกำลังของคอมมิวนิสต์ ทั้งในลาว กัมพูชา และเวียดนาม ในช่วง ปี พ.ศ. 2518-2526 อันทำให้ชาวเวียดนามใต้จำนวนมาก หลั่งไหลหลบหนีออกจากประเทศ ด้วยเกรงภัยจากคอมมิวนิสต์ทั้งเวียดกง และเวียดนามเหนือ โดยชาวเวียดนามใต้ที่อพยพหนีภัยสงครามออกมา ส่วนใหญ่หลบหนีทางเรือมุ่งสู่ประเทศไทย และมาเลเซีย บางส่วนก็ไปยังฮ่องกงและฟิลิปปินส์ ผู้อพยพเหล่านี้ต่างนำทรัพย์สินมีค่าที่มีอยู่ติดตัวออกมา เช่น เครื่องประดับ และทองคำ และส่วนหนึ่งตกเป็นเหยื่อการปล้นของโจรสลัดในอ่าวไทย ซึ่งมีทั้งการปล้นเอาทรัพย์สิน ข่มขืน และฆ่า ตลอดจนนำหญิงสาวที่เหยื่อข่มขืนไปขายต่อให้กับซ่องโสเภณี และความจริงที่มิอาจปฏิเสธได้ก็คือ โจรสลัดเหล่านั้น ส่วนหนึ่งคือ ชาวประมงไทยที่เปลี่ยนสภาพเป็นโจรสลัดด้วยความละโมบโลภมากนั้นเอง มีการศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาโจรสลัดของประเทศไทยของรัฐบาลไทยในขณะนั้น ซึ่งไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ด้วยนโยบายของประเทศไทยที่มักแก้ไขที่ปลายเหตุเป็นส่วนใหญ่ คือ มุ่งเน้นการปราบปรามด้วยกำลังทหารเรือและตำรวจน้ำ แทนที่จะแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ คือ การสกัดกั้นการอพยพของประชาชนชาวเวียดนามทางทะเลอ่าวไทย การปล้นเรืออพยพของโจรสลัดในอ่าวไทยลดจำนวนลง ด้วยการอพยพของผู้อพยพเวียดนามลดลงเรื่อย ๆ จนไม่มีปรากฏอีก กระทั่งหมดลงในราวปี พ.ศ. 2530 โจรสลัดเหล่านั้นจึงเปลี่ยนมาปล้นเรือประมงแทน มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ยังไม่อาจยืนยันได้ ด้วยความที่มีข่าวเล่าลือกันว่า กองทัพเรือได้จัดทหารเรือพร้อมอาวุธ ลงประจำในเรือประมงแทรกซึมอยู่ในหมู่เรือประมง และได้ทำการกวาดล้างจับกุมโจรสลัดเหล่านี้ได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โจรสลัดหมดไปจากอ่าวไทย


ทุกวันนี้ทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางการเดินเรือขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ขณะเดียวกันภูมิประเทศที่เป็นเกาะเล็กเกาะน้อย ยังเปิดโอกาสให้กลุ่มโจรสลัดสามารถใช้เป็นที่กบดานได้ง่าย นอกจากนี้ พื้นที่บริเวณช่องแคบมะละกาก็ยังเป็นเส้นทางการเดินเรือขนส่งสินค้ากว่า 1 ใน 4 ของโลก มีเรือขนส่งน้ำมันกว่าครึ่งหนึ่งของโลกเดินทางผ่านเส้นทางนี้ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงกลายเป็นศูนย์กลางของการปล้นสะดมเรือสินค้า และเรือประมงของโลกโจรสลัดในน่านน้ำอาเซียน


สำหรับสถานการณ์การกระทำอันเป็นโจรสลัด บริเวณน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ห้วงปี พ.ศ. 2565-2566 ในภาพรวมมีจำนวนเหตุการณ์สูงขึ้นกว่าในปี พ.ศ. 2564 แต่ก็ยังต่ำกว่าในปี พ.ศ. 2563 โดยสันนิษฐานว่าเหตุการณ์ที่เพิ่มขึ้น อาจมาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ลดความรุนแรงลง ซึ่งนำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์/จำกัดการเคลื่อนไหว ของเรือในน่านน้ำแต่ละประเทศ และน่านน้ำในภูมิภาค ทำให้โจรสลัดมีโอกาสกระทำความผิดได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังจากการคลายข้อจำกัดของ COVID-19 ดังกล่าว โดยเหตุการณ์การกระทำอันเป็นโจรสลัด และปล้นเรือด้วยอาวุธในทะเล ในน่านน้ำอาเซียนส่วนใหญ่ มักเกิดขึ้นในช่องแคบสิงคโปร์ ตามมาด้วยน่านน้ำในประเทศเมียนมา และ จุดจอดเรือ Belawan บระเทศอินโดนีเซีย (บริเวณใกล้เคียงกับช่องแคบมะละกา) ซึ่งเรือบรรทุกสินค้าเทกอง (Bulk Carrier) เป็นประเภทเรือที่มีการถูกปล้น/ลักลอบขึ้นเรือมากที่สุดในน่านน้ำอาเซียน ตามมาด้วยเรือบรรทุกน้ำมัน และเรือลากจูง เนื่องจากเรือเหล่านี้มีระวางขับน้ำที่ต่ำกว่า และต้องใช้ความเร็วที่ช้าเมื่อผ่านพื้นที่เดินเรือที่จำกัดและตื้น (ช่องแคบต่างๆ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบรรทุกสินค้ามาเต็มพิกัด


วิธีการปล้นเรือ/ลักลอบขึ้นเรือ จะเป็นในลักษณะการฉวยโอกาส โดยผู้กระทำผิดจะมุ่งเป้าไปที่เรือเคลื่อนที่ช้าและมีตัวเรือเหนือแนวน้ำต่ำ (Free Board) ซึ่งง่ายต่อการปีนขึ้นเรือ โดยขณะกระทำความผิดอาจมีอาวุธหรือไม่มีก็ได้ ส่วนใหญ่ผู้กระทำผิดมักหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับคนบนเรือและจะหลบหนีเมื่อถูกพบเห็น ในหลายกรณีมีรายงานว่า เรือที่ประสบเหตุไม่มีอะไรถูกขโมย แต่หากถูกขโมยก็จะเป็นสิ่งของประเภทเครื่องมือต่างๆ บนเรือ เศษเหล็ก หรืออะไหล่ หรือสินค้าหลักที่บรรทุกมาบนเรือ ซึ่งบางเหตุการณ์เมื่อพิจารณาจากสถานที่เกิดเหตุ และวิธีที่ใช้ปฏิบัติการ มีความเป็นไปได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิดกลุ่มเดียวกัน ที่มุ่งเป้าไปที่เรือหลายลำในคืนเดียวกัน


ปัจจุบันปัญหา ‘โจรสลัดในน่านน้ำอาเซียน’ ทำให้ค่าใช้จ่ายของบริษัทหรือเจ้าของเรือ จากความไม่ปลอดภัยของโจรสลัดที่ทำการปล้น หรือเรียกค่าคุ้มครองกับเรือขนส่งสินค้าที่แล่นผ่านไปมาในบริเวณเส้นทางช่องแคบมะละกา ที่มีการปล้นเรือสินค้าเป็นประจำเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุที่การเดินเรือในเส้นทางดังกล่าว ต้องแล่นผ่านช่องแคบที่มีเกาะแก่งอยู่มากมายหลายแห่ง ทำให้ง่ายต่อการหลบหนีและหลบซ่อนของเหล่าโจรสลัดที่ใช้เรือยนต์ขนาดเล็ก และทำให้กองกำลังของรัฐบาลต่างๆ ไม่สามารถปฏิบัติการกวาดล้างจับกุมได้โดยง่าย มูลค่าความเสียหายจาก โจรสลัดในน่านน้ำอาเซียนประเมินว่าสร้างความเสียหายแก่บริษัทเดินเรือและประมงเฉลี่ยโดยรวมในแต่ละปีนับหมื่นล้านบาท


แม้ชาติอาเซียนมีความกระตือรือร้นในการจัดการปัญหาดังกล่าว อาทิ ฟิลิปปินส์ ได้ร่วมกับสหรัฐฯ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการคนประจำเรือเพื่อการต่อต้านโจรสลัด (Seafarers’ Training-Counter Piracy Workshop-EAST-CP) เพื่อให้คนประจำเรือที่เข้าร่วมการฝึก พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หากถูกบุกโจมตีหรือจับกุมโดยโจรสลัด ขณะที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้ริเริ่มโครงการลาดตระเวนทางอากาศบริเวณช่องแคบมะละกา เรียกว่า ‘Eyes in the Sky’ เพื่อร่วมมือกันป้องกันภัยคุกคามทางทะเลในช่องแคบมะละกาและพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีหน่วยงานความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ :


‘องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ’ (International Maritime Organization : IMO) เป็นองค์การชำนาญพิเศษแห่งสหประชาชาติ (UN specialized agency) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นองค์กรกลางในการกำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติเพื่อ ความปลอดภัยในการเดินเรือและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศสมาชิก ปัจจุบันมีสมาชิกจานวน 174 ประเทศ และสมาชิกสมทบ โดยหน้าที่และความรับผิดชอบหลักประกอบด้วย ความปลอดภัยในการขนส่งทางทะเล, การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม, การรักษาความปลอดภัยทางทะเล : เกี่ยวข้องกับการเพิ่มความปลอดภัยทางทะเล โดยพัฒนามาตรการในการป้องกันการกระทำอันเป็นโจรสลัด การปล้นเรือด้วยอาวุธ และภัยคุกคามด้านความปลอดภัยอื่นๆ รวมทั้งมาตรการในการรักษาความปลอดภัยท่าเรือระหว่างประเทศ (International Ship and Port Facility Security Code (ISPS Code)), การสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ, การดำเนินการด้านกฎหมาย, ความร่วมมือทางเทคนิคและการสร้างขีดความสามารถ และการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง


‘International Maritime Bureau’ (IMB) เป็นหน่วยงานเฉพาะของ สภาหอการค้านานาชาติ (International Chamber Of Commerce (ICC)) IMB เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2524 เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการต่อสู้กับอาชญากรรมทางทะเลทุกประเภท ตามมติ A 504 (XII) (5) และ (9) ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่รับรองเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาล ผลประโยชน์และองค์กรทั้งหมด ร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันกับ IMB โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาและพัฒนาการดำเนินการร่วมกันในการต่อต้านการฉ้อโกงทางทะเล ทั้งนี้ IMB มี MOU กับองค์การศุลกากรโลก (WCO) และมีสถานะผู้สังเกตการณ์ในองค์การตำรวจสากล (Interpol (ICPO))


‘Regional Cooperation Agreement on Combating Piracy and Armed Robbery against ships in Asia’ (ReCAAP) ก่อตั้งขึ้นจากการที่ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 มีเหตุการณ์การกระทำอันเป็นโจรสลัด และการปล้นเรือด้วยอาวุธในทะเลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยธุรกิจการเดินเรือระหว่างประเทศ และห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทำให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาครู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดการกับภัยคุกคามทางทะเลรูปแบบใหม่ลักษณะดังกล่าว จึงได้รวมตัวกันจัดการประชุมระดับภูมิภาค ว่าด้วยการต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัด และการปล้นเรือด้วยอาวุธต่อเรือในภูมิภาคเอเชีย ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2543 เรียกว่า ‘การประชุม Asia Challenge 2000’ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และได้มีการรับรองในที่ประชุม เรียกร้องให้รัฐบาล หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และอุตสาหกรรมการเดินเรือ ให้มีการร่วมมือกันในความพยายามในการต่อสู้กับกระทำอันเป็นโจรสลัด และการปล้นเรือด้วยอาวุธในทะเลที่มีความรุนแรงให้ห้วงเวลาดังกล่าว


ประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศต่างๆ นอกภูมิภาคอีก 6 ประเทศ ร่วมกับหน่วยงานด้านการขนส่งทางทะเลในภูมิภาค ได้ร่วมลงนามในความตกลงความร่วมมือระดับภูมิภาค ว่าด้วยการต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัด และการโจรกรรมด้วยอาวุธต่อเรือในเอเชีย (ReCAAP) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 นับเป็นข้อตกลงฉบับแรกและฉบับเดียวที่เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลในระดับภูมิภาค ในระยะเริ่มต้นโดยมีประเทศในเอเชีย 14 ประเทศเป็นภาคีคู่สัญญา ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ReCAAP ได้ก่อตั้งขึ้นในสิงคโปร์ และเปิดตัวเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปัจจุบัน ReCAAP จำนวน 21 รัฐ (14 ประเทศในเอเชีย, 5 ประเทศในยุโรป, ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา) ได้เข้าเป็นภาคีคู่สัญญากับ ReCAAP ทั้งนี้ มาเลเซียปฏิเสธการลงนาม เพราะมองว่ารูปแบบการทำงานของ ReCAPP ซึ่งมีสำนักงานกลางอยู่ที่สิงคโปร์ จะทับซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของศูนย์รายงานโจรสลัดของ IMB ที่ตั้งอยู่ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ความขัดแย้งดังกล่าวส่งผลสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขาดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการวิเคราะห์วิจัยในพื้นที่เฝ้าระวัง ทำให้รายงานของหน่วยงานทั้ง 2 สถาบันบางส่วนขัดแย้งกันอย่างน่าประหลาดใจ ขณะที่อินโดนีเซียก็ไม่ยินยอมให้สัตยาบันในข้อตกลง ReCAPP ด้วยเห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวอาจละเมิดอธิปไตยของอินโดนีเซีย และมองว่าปัญหาโจรสลัดเป็นปัญหาความมั่นคงภายในของอินโดนีเซียเอง สามารถแก้ไขได้ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และเสริมความเข้มแข็งให้กับกองทัพเรือในการลาดตระเวน และจัดการกับกลุ่มโจรสลัดที่แฝงตัวอยู่ตามหมู่เกาะต่างๆ


‘Information Fusion Centre’ (IFC) เป็นความร่วมมือระดับภูมิภาค ในการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความมั่นคงทางทะเลระหว่างสมาชิก เช่น กองทัพเรือ หน่วยยามฝั่ง และหน่วยงานทางทะเลจากประเทศต่างๆ ในพื้นที่สนใจ (AOI) ในมหาสมุทรอินเดียตะวันออก และภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552 โดยเป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสารทางทะเลระดับภูมิภาค มีความมุ่งหมายเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ทางทะเล และให้การแจ้งเตือนล่วงหน้า และข้อมูลที่หน่วยงานความมั่นคงทางทะเลและอุตสาหกรรมเดินเรือ และที่เกี่ยวข้องทางทะเลสามารถน้ำไปใช้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตนเองได้ เพื่อเตรียมการรับมืออย่างทันการ ปัจจุบัน IFC มีสมาชิก 25 ประเทศ (Australia, Brunei, Cambodia, Canada, China, Chile, France, Germany, Greece, India, Indonesia, Italy, Japan, Korea, Malaysia, Myanmar, New Zealand, Pakistan, Peru, Philippines, South Africa, Thailand, United Kingdom, United States and Vietnam)


ข้อจำกัดของความร่วมมือด้านความมั่นคงของอาเซียนในการแก้ไขปัญหา จึงเป็นอุปสรรคที่น่ากังวล และทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาโจรสลัดให้สัมฤทธิ์ผลได้อย่างสมบูรณ์ หากแต่ละประเทศยังคงไม่แก้ไขกฎหมายทางทะเลที่มีความหละหลวม ทั้งยังมีปัญหาขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมไปถึงปัญหาเรื่องการประสานงานระหว่างประเทศอย่างไม่จริงจังในการต่อต้านโจรสลัด เนื่องจากหลายประเทศมักมีข้อพิพาทด้านอธิปไตยเหนือดินแดนทางทะเลระหว่างกัน จนเป็นเหตุให้แต่ละประเทศเกรงว่า การยอมลงนามในข้อตกลงทางทะเลระหว่างประเทศใดๆ อาจกลายเป็นการยอมรับสิทธิอันชอบธรรมทางกฎหมายเหนือดินแดนทางทะเลของชาติอื่นอย่างไม่ตั้งใจ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการหวงแหนอธิปไตยของชาติอาเซียน จนกลายเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในภาพรวมของการเป็นประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียน แต่ข่าวดีในปัจจุบันนี้ก็คือ ตัวเลขจำนวนการกระทำอันเป็นโจรสลัดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มลดลง ทำให้ทุกวันนี้ปัญหาโจรสลัดในน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงพอบรรเทาเบาบางลงได้บ้าง

ชมคลิป ดร.โญมีเรื่องเล่า ‘โจรสลัด’ https://youtu.be/hbQ-bjDoZqc

‘The Five Eyes’ ปฏิบัติการล้วงความลับระดับโลก สอดส่องคนดังทุกวงการไม่ให้เล็ดรอดสายตา

FVEY (The Five Eyes) : ชุมชนข่าวกรองเนตรทั้ง 5

ท่านผู้อ่านที่ติดตามบทความของผมมาโดยตลอด บางท่านหรือหลายท่านก็อาจจะรู้จักหรือได้ยินเรื่องราวของ ‘The Five Eyes (FVEY)’ ซึ่งเป็นชุมชนข่าวกรองของ 5 ชาติ ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ประเทศเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นภาคีของข้อตกลงพหุภาคี สหราชอาณาจักร – สหรัฐอเมริกา (UKUSA Agreement) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาอันเป็นข้อตกลงพหุภาคีตั้งต้นสำหรับความร่วมมือด้านข่าวกรองสัญญาณระหว่าง 5 ประเทศดังกล่าว พันธมิตรของปฏิบัติการข่าวกรองเป็นที่รู้จักกันในนามของ ‘The Five Eyes’ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า ‘FVEY’ โดยแต่ละประเทศจะถูกเรียกด้วยชื่อย่อว่า AUS, CAN, NZL, GBR และ USA

ปี ค.ศ.1941 ‘The Atlantic Charter’ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาลับได้รับการต่ออายุโดยผ่านข้อตกลง ‘BRUSA’ ปี ค.ศ.1943 ก่อนที่จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ.1946 โดยเริ่มจากสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ในเวลาต่อมามีการขยายครอบคลุมถึง แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และประเทศอื่นๆ ในฐานะ ‘บุคคลที่สามหรือผู้สังเกตการณ์’ เช่น เยอรมนีตะวันตก ฟิลิปปินส์ ประเทศกลุ่มนอร์ดิกหลายประเทศ เข้าร่วมชุมชน ‘UKUSA’ ในฐานะภาคี แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกสำหรับการแบ่งปันข่าวกรองโดยอัตโนมัติที่มีอยู่ตั้งแต่การก่อตั้งในปี ค.ศ.1946 พันธมิตรเกิดขึ้นในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ 5 ประเทศ ประกอบด้วยหน่วยงานด้านความมั่นคงของชาติเหล่านั้นได้แก่ National Security Agency (NSA) ของสหรัฐฯ, (GCHQ) ของสหราชอาณาจักร, (ASD) ของออสเตรเลีย, (CSEC) ของแคนาดา และ (GCSB) ของนิวซีแลนด์ ซึ่งประกอบด้วยข้อตกลงทวิภาคีเกี่ยวกับการเฝ้าระวังและการแบ่งปันข่าวกรอง แม้ว่าข้อตกลงเหล่านี้มักเรียกกันทั่วไปว่า “เป็นข้อตกลง United Kingdom-United States Communication Intelligence Act (UKUSA)” เป็นองค์กรพหุภาคีในความร่วมมือร่วมกันในการแลกเปลี่ยนข่าวกรองทางทหารและข่าวกรองโดยเจ้าหน้าที่ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เอกสารของ FVEY แสดงให้เห็นว่า มีการจงใจในการสอดแนมพลเมืองของกันและกัน และแบ่งปันข้อมูลที่เก็บรวบรวมซึ่งกันและกัน เพื่อหลีกเลี่ยงกฎระเบียบภายในของแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งมีความเข้มงวดต่อการเฝ้าระวังและการสอดแนมพลเมืองของตนเอง

ย้อนกลับไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีการออกกฎบัตรแอตแลนติก โดยสัมพันธมิตรในการกำหนดเป้าหมายของพวกเขาสำหรับโลกหลังสงครามครั้งที่ 2 ในช่วงสงครามเย็น ระบบการเฝ้าระวัง ‘ECHELON’ เป็นโครงการเฝ้าระวังเครือข่ายการรวบรวมและวิเคราะห์สัญญาณ (SIGINT) ซึ่งได้รับการพัฒนาโดย FVEY ในตอนแรกเพื่อตรวจสอบการสื่อสารของอดีตสหภาพโซเวียต และกลุ่มประเทศบริวารในยุโรปตะวันออก ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ตัวตนของ ECHELON ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน ทำให้เกิดการอภิปรายครั้งใหญ่ในรัฐสภายุโรปและรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกา และ FVEY ได้ขยายขีดความสามารถในการสอดแนมเฝ้าระวังในช่วง ‘สงครามกับความหวาดกลัว’ โดยเน้นที่การตรวจสอบเวิลด์ไวด์เว็บ (www.) เป็นอย่างมาก ‘Edward Snowden’ ผู้สร้าง wikileaks อดีตผู้รับจ้างของ NSA อธิบายว่า Five Eyes เป็น ‘องค์กรข่าวกรองระดับชาติ ที่ไม่ตอบโจทย์ของกฎหมายที่เป็นที่รู้จักในประเทศของตน’ เอกสารที่รั่วไหลโดย Snowden ในปี ค.ศ. 2013 เปิดเผยว่า “FVEY กำลังสอดแนมพลเมืองของกันและกัน และแบ่งปันข้อมูลที่รวบรวมซึ่งกันและกัน เพื่อหลีกเลี่ยงกฎระเบียบภายในประเทศที่เข้มงวดในการสอดส่องตรวจสอบพลเมือง” แม้จะมีการโต้เถียงกันอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับวิธีการของ FVEY แต่ความสัมพันธ์ของ FVEY ยังคงเป็นพันธมิตรชุมชนข่าวกรองที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในประวัติศาสตร์

เนื่องจากหน่วยข่าวกรองประมวลผลข้อมูลที่ถูกรวบรวมจากหลายแหล่งข้อมูล ดังนั้น ข่าวกรองที่ใช้ร่วมกันจึงไม่จำกัดเฉพาะสัญญาณข่าวกรอง (Signal Intelligence (SIGINT) คือ การใช้อุปกรณ์ดักรับดักฟังการสื่อสาร การตัดการสื่อสาร การแปลงข่าวสารให้มีข้อความที่เปลี่ยนไป) และเกี่ยวข้องกับข่าวกรองด้านการป้องกัน เช่นเดียวกับหน่วยข่าวกรองที่ปฏิบัติการด้วยเจ้าหน้าที่ (Human Intelligence (HUMINT)) คือ การส่งบุคคลลงพื้นที่เข้าไปหาข่าว เมื่อได้ข้อมูลดิบมา จะมีกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวกรองที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น) และหน่วยข่าวกรองปฏิบัติการในเชิงพื้นที่ (ข่าวกรองในรูปแบบข่าวกรองภูมิสารสนเทศ (Geospatial Intelligence (GEOINT))

ในขณะที่ความสามารถในการเฝ้าระวังสอดแนมของ FVEY เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ระบบเฝ้าระวังทั่วโลกจึงได้รับการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อดักจับการสื่อสารของประชากรทั้งหมดที่ข้ามพรมแดนของแต่ละประเทศ บรรดาบุคคลต่อไปนี้เป็นเป้าหมายส่วนหนึ่งของ FVEY โดยเป็นบุคคลสาธารณะในสาขาต่าง ๆ เพื่อให้มีข้อมูลของบุคคลที่อยู่ในรายชื่อจึงต้องมีเอกสารหรือหลักฐานที่มีข้อมูลครบถ้วนตามแหล่งที่มา ซึ่งเชื่อถือได้ เช่น เอกสาร FVEY ที่รั่วไหล หรือไม่ถูกจัดประเภท หรือบัญชีผู้แจ้งเบาะแส ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นเป้าหมายโดยเจตนาในการสอดแนมเฝ้าระวัง

ยอดดาราตลกชาวอังกฤษอย่าง ‘Charlie Chaplin’ เองก็เคยถูกสอดแนมเฝ้าระวังโดย ‘MI5’ และ ‘FBI’ เขาเป็นทั้งนักแสดงตลก ผู้สร้างภาพยนตร์ และนักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคเงียบ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า มีความเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์ เขาจึงถูกเจ้าหน้าที่ MI5 ที่ทำหน้าที่ภายใต้การดูแลของ FBI ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการเพื่อเนรเทศเขาออกจากสหรัฐอเมริกา

‘Diana, Princess of Wales’ เจ้าหญิงแห่งเวลส์ สัญชาติอังกฤษ ผู้นำในการรณรงค์ต่อต้านการใช้กับระเบิดระหว่างประเทศ ถูกสอดแนมเฝ้าระวังโดย ‘GCHQ’ และ ‘NSA’ ซึ่งเก็บไฟล์ข้อมูลลับสุดยอดไว้มากกว่า 1,000 หน้า อีกทั้ง NSA ไม่ได้เผยแพร่ไฟล์ข้อมูลลับของ Princess Diana ด้วยเหตุผลจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ

‘Kim Dotcom’ สัญชาติฟินแลนด์และเยอรมัน ถูกสอดแนมเฝ้าระวังโดย ‘FBI’ และ ‘GCSB’ นักธุรกิจผู้ประกอบการธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต และเป็นนักแฮ็กข้อมูล ชื่อสกุลเดิมของเขาคือ Kim Schmitz เขาเป็นผู้ก่อตั้งบริการเว็บโฮสต์ ‘Megaupload’ โดย Dotcom ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในนิวซีแลนด์ โดยนายกรัฐมนตรี ‘John Key’ ต้องออกมาขอโทษในภายหลัง สำหรับการสอดแนมเฝ้าระวังที่ผิดกฎหมายของ GCSB

‘Jane Fonda’ สัญชาติอเมริกัน นักแสดง นักเขียน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และอดีตนางแบบแฟชัน เป็นผู้รับรางวัลออสการ์สองรางวัล รางวัลเอ็มมี และลูกโลกทองคำสามรางวัล ถูกสอดแนมเฝ้าระวังโดย GCHQ และ NSA เนื่องจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการสื่อสารของเธอ รวมถึง ‘Tom Hayden’ สามีของเธอจึงถูกขัดขวางโดย GCHQ และต่อมาภารกิจดังกล่าวถูกส่งมอบให้กับ NSA เพื่อปฏิบัติการต่อ

‘Ali Khamenei’ นักบวชชีอะห์และอดีตประธานาธิบดีแห่งอิหร่าน ปัจจุบันเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศอิหร่าน ในระหว่างการเยือนประเทศเคอร์ดิสถานในปี ค.ศ. 2009 เขาและผู้ติดตามถูกกำหนดเป็นเป้าหมายที่ถูกสอดแนมเฝ้าระวัง ภายใต้ภารกิจจารกรรมด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ไฮเทค ในการวิเคราะห์และประมวลผลภาพถ่ายดาวเทียม เป็นปฏิบัติการร่วมกันโดย GCHQ และ NSA

‘John Lennon’ นักดนตรี นักแต่งเพลง และนักร้องนำวง ‘The Beatles’ สัญชาติอังกฤษ ผู้ซึ่งมีส่วนร่วมในการต่อต้านสงครามผ่านบทเพลงที่มีลักษณะเป็นสัญลักษณ์หลายเพลง เช่น Give Peace a Chance และ Happy Xmas (War Is Over) ในปี ค.ศ.1971 เขาย้ายไปนิวยอร์กซิตีและร่วมกับ นักเคลื่อนไหวในสหรัฐอเมริกา เพื่อประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนาม อีก 12 เดือนต่อมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เริ่มปฏิบัติการสอดแนมเฝ้าระวังอย่างกว้างขวาง เพื่อตรวจสอบกิจกรรมของเขา เพื่อส่งตัวเขากลับอังกฤษ การดำเนินการดำเนินการโดย FBI ด้วยความช่วยเหลือของ MI5

‘Nelson Mandela’ นักเคลื่อนไหว ทนายความ และผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้ ตั้งแต่ ปี ค.ศ.1994 ถึงปี ค.ศ.1999 Nelson Mandela ถูกนักวิจารณ์ประณามว่าเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ และอยู่ภายใต้การสอดแนมเฝ้าระวังของ MI6 ใน ค.ศ. 1962 Mandela ถูกจับกุมหลังจากปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกล่าวหาในเรื่องกิจกรรมการก่อการร้ายของเขา ที่ถูกรวบรวมโดย ‘CIA’ และส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

‘Angela Merkel’ นักการเมือง อดีตนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ปี ค.ศ.2005-2021 ถูกดังฟังการสื่อสารทางโทรศัพท์โดย ‘Special Collection Service’ (SCS หน่วยตรวจสอบเฝ้าฟัง F6 ของ NSA และ CIA) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสอดแนมเฝ้าระวัง ‘STATEROOM’ ของ FVEY

‘Ehud Olmert’ นักการเมือง นักกฎหมาย และอดีตนายกเทศมนตรีของนครเยรูซาเล็ม และเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 12 ของอิสราเอล เขาพร้อมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ‘Ehud Barak’ ถูกระบุว่า อยู่ในรายชื่อเป้าหมายการสอดแนมเฝ้าระวังของ GCHQ และ NSA ด้วย

‘Strom Thurmond’ ผู้สมัครเข้าการรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรค Dixiecrat ในปี ค.ศ.1948 เขาเป็นวุฒิสมาชิกของรัฐเซาท์แคโรไลนาในวุฒิสภาแห่งสหรัฐอเมริกา และได้รับการยอมรับในปี ค.ศ.2003 ว่าเป็นวุฒิสมาชิกที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ในปี ค.ศ.1988 ‘Margaret Newsham’ ซึ่งเป็นพนักงานของ Lockheed เปิดเผยในการสอบสวนเป็นการลับของรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า “โทรศัพท์ของ Thurmond ถูกดักฟังโดย FVEY ผ่านระบบเฝ้าระวัง ECHELON”

‘Susilo Bambang Yudhoyono’ อดีตหัวหน้าผู้สังเกตการณ์ทางทหาร ของกองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติในบอสเนีย และอดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และภรรยาของเขาเคยถูกสอดแนมเฝ้าระวังโดย ASD ซึ่งปฏิบัติการร่วมกับ NSA

ปัจจุบันข้อตกลงการแบ่งปันข่าวกรอง ซึ่งได้ขยายไปมากกว่า FVEY เพื่อร่วมงานกับหน่วยข่าวกรองของประเทศอื่น ๆ ได้แก่ : 
9 Eyes : นอกเหนือจาก FVEY เพิ่มเติมด้วย เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และนอร์เวย์
14 Eyes : นอกเหนือจาก the 9 Eyes เพิ่มเติมด้วย เยอรมนี เบลเยียม อิตาลี สเปน และสวีเดน

แม้จะมีข่าวว่า ญี่ปุ่นจะเป็นผู้สมัครรายล่าสุดเพื่อเข้าเป็นสมาชิกใน FVEY ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านการแบ่งปันข่าวกรองซึ่งประกอบไปด้วยประเทศที่เป็นรัฐ Anglosphere (English Native speaker) ทั้ง 5 ประเทศ แต่ ‘Tsuruoka Michito’ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศเชื่อว่า โตเกียวควรดำเนินความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมากกว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิกโดยคำนึงถึง FVEY ถึงแม้ว่า ญี่ปุ่นจะมีความร่วมมือในฐานะพันธมิตรภายนอก แต่ญี่ปุ่นเองก็ต้องการพัฒนางานของหน่วยข่าวกรองครั้งใหญ่ด้วยเช่นกัน และสิ่งซึ่งเราคนไทยต้องพึงระลึกเสมอคือ แม้ว่าไทยเราจะเป็นมิตรกับทุกประเทศสมาชิกของ FVEY ก็ตาม แต่ FVEY ก็พร้อมเสมอที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติของประเทศ FVEY นั้น ๆ โดยไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ใด ๆ ทั้งสิ้น

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

‘ETIAS’ กระบวนการยื่นขอวีซ่าเข้ายุโรป ที่นักเดินทางสหรัฐฯ ต้องรู้ ก่อนเดินทางเข้าประเทศสมาชิกยุโรป 30 ประเทศ เตรียมเริ่มปีหน้า

ปีหน้า (ค.ศ. 2024) ผู้ถือหนังสือเดินทางสหรัฐฯ
จะต้องยื่นขอวีซ่าเพื่อเดินทางเข้าประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 30 ประเทศ

ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป ผู้ถือหนังสือเดินทางสหรัฐฯ ซึ่งประสงค์ที่จะเดินทางไปยังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป จะต้องยื่นขออนุญาตผ่าน ‘ระบบข้อมูลและการอนุญาตการเดินทางของยุโรป’ (the European Travel Information and Authorization System : ETIAS) และต้องได้รับการอนุมัติล่วงหน้าก่อนเดินทาง

ในขณะที่ปัจจุบัน บุคคลที่ถือสัญชาติสหรัฐฯ ยังสามารถเดินทางเข้าสหภาพยุโรปส่วนใหญ่ได้ โดยไม่ต้องขอวีซ่าจากประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ความสะดวกนี้กำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ เช่นเดียวกับกระบวนการระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการอนุญาตการเดินทาง (The U.S. Electronic System for Travel Authorization : ESTA) ของสหรัฐฯ ซึ่ง ETIAS มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเข้าประเทศ ที่จะช่วยให้นักเดินทางชาวอเมริกันได้รับความสะดวกในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบัน นักเดินทางชาวอเมริกันสามารถเข้าถึงจุดหมายปลายทางทั่วโลก 185 แห่ง โดยไม่ต้องใช้วีซ่า อ้างอิงจาก Henley Passport Index ด้วยในขณะที่ปัจจุบันนี้หนังสือเดินทางของสหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับต้น ๆ ของหนังสือเดินทางที่ได้รับการยกเว้นวีซ่า แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อสหภาพยุโรปเพิ่มข้อกำหนดด้านเอกสารใหม่สำหรับชาวอเมริกัน

แบบฟอร์มใบสมัครซึ่งจะมีอยู่บนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ ETIAS เช่นเดียวกับแอปพลิเคชันบนมือถือ มีค่าธรรมเนียม 7 ยูโรหรือ 7.79 ดอลลาร์สหรัฐฯ การสื่อสารทั้งหมดทำได้ทางอีเมล เมื่อได้รับการอนุมัติให้เดินทางแล้ว การอนุญาตดังกล่าวจะให้สิทธิ์แก่นักท่องเที่ยวที่จะพำนักในประเทศในยุโรป ที่ต้องใช้ ETIAS เป็นเวลาสูงสุด 90 วัน ภายในระยะเวลา 180 วัน วันใดก็ได้ และผู้เดินทางจะต้องมี ETIAS ที่ถูกต้องในครอบครองตลอดการเข้าพัก

ETIAS เป็นการอนุญาตการเดินทางทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่เชื่อมโยงกับหนังสือเดินทางของผู้เดินทาง ซึ่งอนุญาตให้เข้าประเทศในยุโรประยะสั้นได้สูงสุดนาน 90 วัน ภายในระยะเวลา 180 วัน อย่างไรก็ตาม ETIAS ไม่สามารถรับประกันการเข้าประเทศในยุโรปของนักเดินทางผู้ที่ได้ลงทะเบียนในระบบ ETIAS โดยอัตโนมัติ เพราะเมื่อมาถึงเมืองแรกในยุโรปเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของประเทศนั้น ๆ จะมีการตรวจสอบว่า ผู้ได้รับอนุญาตให้เดินทาง มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขการเข้าประเทศหรือไม่

หากต้องการสมัคร ETIAS สามารถกรอกแบบฟอร์มการสมัครบนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ ETIAS หรือสามารถใช้แอปพลิเคชันผ่านโทรศัพท์มือถือได้ โดยมีค่าใช้จ่ายในการสมัครอยู่ที่ $7.79 แต่ผู้เดินทางบางรายอาจได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมนี้ (ต้องอ่านข้อกำหนดการสมัคร และข้อยกเว้นการชำระเงินก่อนดำเนินการ)

ใบสมัคร ETIAS ส่วนใหญ่จะดำเนินการภายในไม่กี่นาที อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีแอปพลิเคชันอาจใช้เวลานานกว่านั้น หากเป็นเช่นนั้น ผู้ยื่นจะได้รับคำอนุมัติภายใน 4 วัน ในกรณีพิเศษ และระยะเวลานี้อาจขยายได้ถึง 14 วัน ในกรณีที่ต้องการข้อมูลหรือเอกสารเพิ่มเติม หรืออาจนานถึง 30 วัน หากจำเป็นต้องมีการสัมภาษณ์ เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากในนาทีสุดท้าย จึงควรสมัครล่วงหน้าก่อนการเดินทางตามแผน

เมื่อส่งใบสมัครแล้ว จะได้รับการยืนยันทางอีเมลพร้อมหมายเลขใบสมัคร ETIAS ที่ไม่ซ้ำกัน ให้เก็บหมายเลขนี้ไว้ใช้อ้างอิงในขณะเดินทางในยุโรป หลังจากดำเนินการแล้ว จะได้รับอีเมลแจ้งผลอีกครั้ง ผู้เดินทางต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าข้อมูลทั้งหมด เช่น ชื่อและหมายเลขหนังสือเดินทางของผู้ยื่นมีความถูกต้องบน ETIAS เนื่องจากข้อผิดพลาดใด ๆ อาจทำให้ผู้ยื่นไม่สามารถเข้าประเทศยุโรปได้ และหากใบสมัครถูกปฏิเสธ อีเมลจะระบุเหตุผลในการตัดสินใจ พร้อมกับข้อมูลเกี่ยวกับวิธีอุทธรณ์

ใบอนุญาตเดินทาง ETIAS มีอายุไม่เกิน 3 ปี หรือจนกว่าหนังสือเดินทางของผู้ยื่นจะหมดอายุ แล้วแต่ว่าจะถึงอย่างใดก่อน โปรดจำไว้ว่า ผู้เดินทางต้องมี ETIAS ที่ถูกต้องตลอดการเข้าพักในโรงแรม ซื้อตั๋วเดินทางในยุโรป และการอนุญาตให้ออกและกลับเข้ามาใหม่ได้ ตราบเท่าที่ผู้เดินทางปฏิบัติตามข้อจำกัดการเข้าพัก 90 วัน ภายในระยะเวลา 180 วัน

ETIAS ของผู้เดินทางจะเชื่อมโยงทางอิเล็กทรอนิกส์กับเอกสารการเดินทางของผู้เดินทาง ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เอกสารเดียวกันกับที่ผู้เดินทางใช้ในใบสมัคร ETIAS เมื่อเดินทาง การไม่ปฏิบัติตามอาจทำให้ผู้เดินทางไม่สามารถขึ้นเครื่องบิน รถประจำทาง เรือ หรือเข้าประเทศในยุโรปใด ๆ ที่ต้องใช้ ETIAS ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ผู้เดินทางต้องรับทราบว่า การมี ETIAS ไม่ได้เป็นการรับประกันสิทธิ์ในการเข้าประเทศยุโรปของผู้นั้นได้โดยอัตโนมัติ ด้วยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะทำการตรวจสอบว่า ผู้เดินทางตรงตามเงื่อนไขการเข้าประเทศ และผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์จะถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ นั่นหมายถึงการถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทางโดยทันที

‘ระบบเกียรติยศ’ ระบบแห่งความซื่อสัตย์และศักดิ์ศรี เพื่อปลูกฝังการไว้วางใจซึ่งกันและกันแก่สังคม

ระบบเกียรติยศ (Honor system)
ระบบแห่งความซื่อสัตย์และศักดิ์ศรี อันแสดงถึงตัวตนและคุณค่าของบุคคล

‘ระบบเกียรติยศ’ หรือระบบของความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เป็นระบบแห่งความซื่อสัตย์ อันเป็นวิธีดำเนินการต่าง ๆ ของความพยายามบนพื้นฐานของความไว้วางใจ เกียรติ และความซื่อสัตย์

ระบบเกียรติยศยังเป็นระบบที่ให้อิสระจากการตรวจสอบ เฝ้าดู หรือจับตามองตามจารีตประเพณีด้วยความเข้าใจที่ว่า ผู้ที่ได้รับการปฏิบัติจากระบบนี้จะถูกผูกมัดด้วยเกียรติของตน ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ และจะไม่ใช้ความเชื่อใจที่มีไปในทิศทางที่ผิด

Thomas Jefferson
ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐอเมริกา ถือเป็นหนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ

ระบบเกียรติยศถูกนำมากล่าวถึงเป็นครั้งแรกในอเมริกาโดย ‘Thomas Jefferson’ ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐอเมริกา ณ ‘College of William and Mary’ ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าของ Jefferson เอง

ในบางมหาวิทยาลัย ระบบเกียรติยศนิยมใช้ในการจัดการสอบโดยไม่มีผู้ควบคุม โดยทั่วไปแล้วนักเรียนจะถูกขอให้ลงนามในคำชี้แจงรหัสเกียรติยศที่ระบุว่า จะไม่โกงหรือใช้ทรัพยากรที่ไม่ได้รับอนุญาตในการทำข้อสอบ

นักศึกษาปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัย Vanderbilt ปฏิญาณต่อรหัสเกียรติยศ

ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัย Vanderbilt นักศึกษาที่ทำการสอบจะต้องลงนามและรวมคำปฏิญาณดังต่อไปนี้

“เพื่อเป็นเกียรติแก่ข้าพเจ้าในฐานะนักศึกษา ข้าพเจ้าไม่ได้ให้ หรือรับความช่วยเหลือในการสอบนี้”

นักศึกษาคนใดก็ตามที่ถูกจับได้ว่า ละเมิดรหัสเกียรติยศจะถูกส่งต่อไปยังสภาเกียรติยศ ซึ่งจะสอบสวนและกำหนดการลงโทษที่เหมาะสม ซึ่งมีตั้งแต่การไม่ผ่านหลักสูตรไปจนถึงการไล่ออกจากมหาวิทยาลัย

ป้ายจารึกแสดงถึงระบบเกียรติยศ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเวอร์จิเนีย

‘มหาวิทยาลัยแห่งเวอร์จิเนีย’ นักศึกษาที่กำลังสอบจะต้องลงนามในคำปฏิญาณ ว่าจะไม่ให้หรือรับความช่วยเหลือ และมีบทลงโทษสำหรับการฝ่าฝืนรหัสเกียรติยศ คือ การไล่ออกจากมหาวิทยาลัย

‘มหาวิทยาลัย Texas A&M’ ยังมีระบบเกียรติยศ ซึ่งระบุว่า “Aggies (นักศึกษาของ ม.Texas A&M) จะไม่โกหก โกง หรือขโมย หรือยอมจำนนต่อผู้ที่ทำเช่นนั้น” ซึ่งแสดงไว้ที่จุดเริ่มต้นของการสอบทั้งหมด นักศึกษาคนใดที่ไม่ปฏิบัติตามรหัสจะถูกส่งต่อไปยังสภาเกียรติยศ เพื่อให้พวกเขาสามารถกำหนดความรุนแรงตามแต่ละกรณี และวิธีที่นักศึกษาควรถูกลงโทษหรือหากจำเป็นก็ให้ไล่ออก

นักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งนอร์ธแคโรไลนา วิทยาเขต Chapel Hill ยังคงรักษาระบบเกียรติยศ โดยนักศึกษาจะต้องรักษาความซื่อตรงของมหาวิทยาลัย โดยให้คำมั่นว่าจะไม่โกง ขโมย หรือโกหก แตกต่างจากมหาวิทยาลัยแห่งเวอร์จิเนีย ระบบการให้เกียรติที่วิทยาเขต Chapel Hill อนุญาตให้มีการลงโทษที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ภาคทัณฑ์ไปจนถึงการไล่ออก รหัสเกียรติยศแบบลงโทษเดียวมีอยู่ที่สถาบันการทหารเวอร์จิเนีย (VMI) ซึ่งพิธี ‘ตีกลองออก’ ยังคงดำเนินต่อไปเมื่อนักเรียนนายร้อยถูกไล่ออก

ระบบเกียรติยศถูกนำมาใช้ในธุรกิจเช่นกัน เครือซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่ง อนุญาตให้ลูกค้าสแกนของชำของตนเองด้วยเครื่องอ่านบาร์โค้ดแบบพกพา ขณะวางสินค้าในรถเข็นของตนเอง ในขณะที่ระบบช่วยให้ลูกค้าสามารถใส่ของชำในถุงได้โดยไม่ต้องจ่ายเงิน และลูกค้าสามารถสุ่มตรวจสอบได้ ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่เข้าร่วมได้รายงานว่า ระบบทดลองนี้ไม่ได้เพิ่มจำนวนการขโมยของในร้าน

ในบางประเทศ เกษตรกรทิ้งถุงผลิตผลข้างถนนนอกบ้าน โดยติดราคาไว้ให้ผู้สัญจรไปมาได้ซื้อด้วยการจ่ายเงิน โดยวางเงินสดไว้ในภาชนะ ในไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร เรียกสิ่งนี้ว่า ‘ระบบกล่องแห่งความซื่อสัตย์’ (The honesty box system) ในประเทศอื่น ๆ ร้านค้าไร้แคชเชียร์ขนาดเล็กเปิดดำเนินการอยู่ ซึ่งลูกค้าสามารถเข้าไปได้ รับสิ่งที่ต้องการ และชำระเงินในจุดชำระเงินไร้คน

ในระบบสาธารณสุข ช่วงการระบาดของ ‘COVID-19’ เนื่องจากผู้คนจำนวนมากที่ได้รับวัคซีนแล้ว ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคได้ออกคำแนะนำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว ไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยอีกต่อไป หลายแห่งใช้ระบบเกียรติเพื่อเชื่อว่า ผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนยังคงสวมหน้ากากอนามัย

 

มีข้อวิจารณ์เกี่ยวกับระบบเกียรติยศว่า ในการตัดสินใจจะปฏิบัติตามระบบเกียรติยศหรือไม่นั้น อาจเป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคนคนนั้นเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเหนือกว่าผลประโยชน์ของสถาบันที่พวกเขารับผิดชอบ สิ่งนี้สามารถนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบในอนาคตต่อผลประโยชน์ส่วนตนของพวกเขา บ้างก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการเกียรติยศว่า เป็นการส่งเสริมความเกียจคร้านและพฤติกรรมที่ไม่ดี บ้างก็เห็นว่า มันเป็นเรื่องความของขัดแย้งและเห็นต่างที่จะขอให้ผู้คนเชื่อฟังกฎหมาย หากกฎหมายไม่มีความชัดเจน

บ้านเรามีการนำระบบเกียรติยศมาใช้มากมายหลายมิติ อาทิ ระหว่างการระบาดของ COVID-19 มีการตั้ง ‘ตู้ปันสุข’ แจกจ่ายสิ่งของในหลาย ๆ สถานที่ ซึ่งมีทั้งคนที่ปฏิบัติตามระบบเกียรติยศ โดยหยิบเอาสิ่งของในตู้ไปใช้ตามความจำเป็น แต่หลาย ๆ คนก็กวาดข้าวของทีเดียวจนหมดตู้ เหตุการณ์แบบนี้ก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ

ในการสมัครงาน การสมัครเข้าสู่ตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งทางอาชีพ การศึกษา การเมือง หรือทางสังคม ฯลฯ ของบ้านเรานั้น ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครเอาไว้อย่างชัดเจน แต่บ่อยครั้งที่การรับสมัครได้ยินยอมให้มีการสมัครโดยไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครอย่างละเอียดก่อน ด้วยความเชื่อใจและให้เกียรติ เพราะเชื่อว่า ผู้สมัครนั้นเป็นผู้ที่มีเกียรติ ศักดิ์ศรี และความซื่อสัตย์ เป็นไปตามระบบเกียรติยศ แต่ปรากฏว่ายังมีคนหลาย ๆ คนที่ไม่ปฏิบัติตาม เมื่อถูกตรวจสอบหรือความจริงปรากฏจนกลายเป็นข่าว กลับไม่ยอมรับความผิด อ้างเหตุผลข้าง ๆ คู ๆ เพียงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ระบบเกียรติยศจึงใช้ได้เฉพาะสังคมที่ผู้คนเป็นคนดี มีคุณธรรม และมีศีลธรรมเท่านั้น

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

‘Adolf Eichmann’ นาซีตัวเป้งแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้หนุนการสังหารหมู่ ‘Holocaust’ กับปฏิบัติการล่าตัวข้ามโลก

‘Operation Eichmann’ ปฏิบัติการล่านาซีข้ามโลก

หนึ่งในเรื่องราวที่สุดโหดและสุดสยอง ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองก็คือ ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในยุโรป’ โดยกองกำลังของพลพรรค Nazi ภายใต้การนำของ ‘Adolf Hitler’ ผู้ที่เป็นผู้นำของเยอรมนีในขณะนั้นด้วย ทั้งยังเป็นผู้ก่อสงครามในยุโรปด้วยการรุกรานประเทศต่าง ๆ จนกลายเป็นมหาสงครามโลกครั้งที่สองในที่สุด

‘Holocaust’ เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในยุโรป ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งคร่าชีวิตชาวยิวในยุโรปไปมากกว่า 6 ล้านคน และ ‘Adolf Eichmann’ ก็เป็นหนึ่งในตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการสังหารหมู่ในครั้งนั้นด้วย Eichmann ชาวเยอรมันเชื้อสายออสเตรีย เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรค Nazi และสมาชิกของกองกำลังติดอาวุธของพรรค Nazi คือ ‘Schutzstaffe’ (SS) โดยได้เข้าร่วมในปี ค.ศ.1932 ขณะที่อยู่ในออสเตรีย และเมื่อเขากลับมาเยอรมนีในปี ค.ศ.1933 เขาก็ได้เข้าร่วมกับ ‘Sicherheitsdienst’ (SD) อันเป็นหน่วยข่าวกรองของ SS เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าแผนกที่รับผิดชอบกิจการเกี่ยวกับชาวยิวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการย้ายถิ่นฐาน ซึ่งพรรค Nazi ใช้ความรุนแรงและใช้แรงกดดันทางเศรษฐกิจกับชาวยิวในเขตยึดครอง หลังจากการปะทุของสงครามโลกครั้งที่สอง ในเดือนกันยายน ค.ศ.1939 Eichmann และเจ้าหน้าที่ของเขาได้จัดให้ชาวยิวไปรวมกันอยู่ในสลัมตามเมืองใหญ่ ๆ ด้วยความคาดหวังว่า พวกเขาจะส่งชาวยิวทั้งหมดไปทางยุโรปตะวันออก หรือออกไปจากประเทศ

อาคารเลขที่ 56–58 Großen Wannsee ซึ่งเป็นสถานที่จัด Wannsee Conference
ปัจจุบันเป็นอนุสรณ์สถานและพิพิธภัณฑ์

20 มกราคม ค.ศ.1942 Eichmann ได้ประชุมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรค Nazi และ SS ใน Wannsee Conference ใกล้กรุงเบอร์ลิน เพื่อจุดประสงค์ในการวางแผน ‘ทางออกสุดท้ายสำหรับคำถามของชาวยิว’ (The Final Solution to the Jewish Question) โดย Hermann Göring แกนนำสำคัญของพรรค Nazi กล่าวว่า พรรค Nazi ตัดสินใจที่จะกำจัดประชากรชาวยิวทั้งหมดในยุโรป Eichmann ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ประสานงานในการระบุตัวตน การรวบรวม และการขนส่งชาวยิวหลายล้านคนจากพื้นที่ถูกยึดครองในยุโรปไปยังค่ายมรณะต่าง ๆ ของพรรค Nazi ซึ่งชาวยิวถูกสังหารด้วยการรมแก๊ส ยิงทิ้ง ให้อดอาหาร หรือให้ทำงานจนตาย เขาทำหน้าที่นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวยิวประมาณ 3 ถึง 4 ล้านคนเสียชีวิตในค่ายกักกัน และอีกราว 2 ล้านคนถูกประหารชีวิตในที่ต่าง ๆ รวมชาวยิวที่เสียชีวิตทั้งหมดอยู่ที่ราว ๆ 6 ล้านคน

สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายอักษะ ซึ่งมีเยอรมนีเป็นแกนนำหลัก Eichmann ถูกกองทหารสหรัฐฯ จับตัว แต่เขาใช้เอกสารปลอมแปลงที่ระบุว่า เขาคือ ‘Otto Eckmann’ เขาหนีออกจากค่ายคุมขังในปี ค.ศ.1946 ก่อนที่จะต้องขึ้นศาลอาชญากรรมสงครามระหว่างประเทศที่ Nuremberg มีการสันนิษฐานเขาเดินทางจากยุโรปไปตะวันออกกลาง และในปี ค.ศ.1950 ก็มาถึงอาร์เจนตินา (โดยมีข่าวว่า เขาหายตัวไปและถูกสันนิษฐานว่าเสียชีวิตแล้ว) ซึ่งตอนนั้นระบบการตรวจคนเข้าเมืองยังคงหละหลวม และกลายเป็นที่หลบภัยสำหรับอาชญากรสงคราม Nazi จำนวนมาก เขาใช้หนังสือเดินทางกาชาดในชื่อว่า ‘Ricardo Klement’*

*Nansen passports : หนังสือเดินทาง Nansen หนังสือเดินทางสำหรับผู้อพยพลี้ภัย และคนไร้สัญชาติแบบแรกของโลก https://thestatestimes.com/post/2021042408

ในปี ค.ศ.1957 ‘Simon Wiesenthal’ ผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งอุทิศตนเพื่อตามหา Eichmann และนาซีคนอื่น ๆ Wiesenthal ทราบจากจดหมายฉบับหนึ่งที่ระบุว่า ในปี ค.ศ.1953 มีผู้พบเห็น Eichmann ในกรุงบัวโนสไอเรส เมืองหวงของปะเทศอาร์เจนตินา เขาจึงได้ส่งต่อข้อมูลนั้นไปยังสถานกงสุลอิสราเอล ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียในปี ค.ศ.1954 เมื่อพ่อของ Eichmann เสียชีวิตในปี ค.ศ.1960 และ Wiesenthal ได้ให้นักสืบเอกชนแอบถ่ายรูปสมาชิกในครอบครัว กล่าวกันว่า Otto น้องชายของ Eichmann มีความคล้ายคลึงกับ Eichmann เป็นอย่างมาก เพราะไม่มีรูปถ่ายขณะนั้นของ Eichmann เลย เขาได้มอบภาพถ่ายเหล่านั้นให้กับเจ้าหน้าที่ของ Mossad ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์

‘บิชอป Alois Hudal’ บาทหลวงชาวออสเตรีย 
ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือด้านเอกสารต่าง ๆ แก่ Otto Adolf Eichmann

เจ้าหน้าที่จาก Mossad และ Shin Bet หน่วยข่าวกรองของอิสราเอลถูกส่งไปยังอาร์เจนตินา และในที่สุดต้นปี ค.ศ.1960 พวกเขาก็หา Eichmann เจอ โดยเขาอาศัยอยู่ในเขต San Fernando ของกรุงบัวโนสไอเรส ภายใต้ชื่อ ‘Ricardo Klement’ ซึ่งเขาได้รับความช่วยเหลือด้านเอกสารต่าง ๆ ผ่านองค์กรการกุศลในอิตาลีที่ดูแลโดย ‘บิชอป Alois Hudal’ บาทหลวงชาวออสเตรีย และเป็นผู้ที่ให้ความเห็นอกเห็นใจต่อพลพรรค Nazi เอกสารเหล่านี้ทำให้เขาได้รับหนังสือเดินทางเพื่อมนุษยธรรมของคณะกรรมการกาชาดสากล และใบอนุญาตเข้าเมืองที่เหลืออยู่ในปี ค.ศ.1950 ช่วยให้สามารถอพยพไปยังอาร์เจนตินาได้ เขาเดินทางข้ามทวีปยุโรปโดยพำนักอยู่ในอารามหลายแห่งที่ได้ถูกจัดเป็นบ้านปลอดภัย (Safe houses) เขาออกเดินทางจากเมืองเจนัวโดยเรือ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ.1950 และมาถึงกรุงบัวโนสไอเรสในวันที่ 14 กรกฎาคมในปีเดียวกัน เริ่มต้น Eichmann อาศัยอยู่ในจังหวัดทูคูมัน ซึ่งเขาได้ทำงานให้กับผู้รับเหมาของรัฐบาลอาร์เจนตินา เขาได้อพยพครอบครัวมาอาร์เจนตินาในปี ค.ศ.1952 แล้วพวกเขาก็ย้ายไปยังกรุงบัวโนสไอเรส เขาทำงานหลายอย่างซึ่งค่าตอบแทนต่ำ จนกระทั่งได้งานทำที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ และเขาได้ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าแผนก ครอบครัว Eichmann สร้างบ้านที่ 14 Garibaldi Street (ปัจจุบันคือ 6061 Garibaldi Street) และย้ายเข้าไปในช่วงปี ค.ศ.1960

‘Ben-Gurion’ นายกรัฐมนตรีอิสราเอล 
ผู้สั่งให้จัดการลักพาตัว Adolf Eichmann

หลังจากมีเจ้าหน้าที่ของอิสราเอลมีการยืนยันตัวตนว่า Ricardo Klement คือ Adolf Eichmann ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1960 ขณะที่อาร์เจนตินากำลังฉลองครบรอบ 150 ปี ของการปฏิวัติต่อต้านสเปน และนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจำนวนมากเดินทางมายังอาร์เจนตินา เพื่อร่วมงานเฉลิมฉลอง อิสราเอลจึงได้ใช้โอกาสนี้ในการลักลอบส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาในประเทศอาร์เจนตินาเพิ่มมากขึ้น ด้วยอิสราเอลรู้ว่าอาร์เจนตินามีประวัติการปฏิเสธการส่งผู้ร้ายข้ามแดน และน่าจะไม่ยอมจะไม่ส่งตัว Eichmann ให้เป็นผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อให้อิสราเอลดำเนินคดีได้ ‘Ben-Gurion’ นายกรัฐมนตรีอิสราเอลจึงตัดสินใจสั่งให้ ‘Isser Harel’ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง Mossad จัดการลักพาตัว Eichmann เพื่อพาตัวเขามายังอิสราเอล แม้จะผิดกฎหมายของอาร์เจนตินาก็ตาม

เครื่องบินโดยสารแบบ Bristol Britannia ของสายการบิน El Al
แบบเดียวกับที่พา Eichmann ออกจากอาร์เจนตินา

ในวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ.1960 เจ้าหน้าที่ของ Mossad และ Shin Bet เข้าประจำจุดที่ถนน Garibaldi ในเมือง San Fernando หลังจากเฝ้าสังเกตกิจวัตรของเขาเป็นเวลาหลายวัน โดยสังเกตว่า เขากลับจากที่ทำงานโดยรถประจำทางทุกเย็นในเวลาเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของอิสราเอลวางแผนที่จะจับเขา ตอนที่เขากำลังเดินอยู่ข้างทุ่งโล่งจากป้ายรถเมล์ไปที่บ้านของเขา แผนเกือบถูกยกเลิกในวันที่กำหนดเมื่อ Eichmann ไม่ได้อยู่บนรถบัสที่เขามักจะกลับบ้าน แต่เขาลงจากรถบัสอีกคันในครึ่งชั่วโมงต่อมา เจ้าหน้าที่ของอิสราเอลปล้ำ Eichmann ลงกับพื้น และย้ายเขาไปยังรถ แล้วพาตัว Eichmann ไปยังบ้านปลอดภัยแห่งหนึ่งที่เตรียมขึ้นโดยทีมเจ้าหน้าที่ของอิสราเอล Eichmann ถูกคุมขังอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 9 วัน ในช่วงเวลานั้น ตัวตนของเขาได้รับการตรวจสอบและยืนยันซ้ำอีกครั้ง ใกล้เที่ยงคืนของวันที่ 20 พฤษภาคม Eichmann ถูกนพ.Yonah Elian วิสัญญีแพทย์ชาวอิสราเอลที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมภารกิจฉีดยาสลบ โดย Eichmann ถูกจับปลอมตัวให้เป็นพนักงานสายการบิน El Al ของอิสราเอลซึ่งถูกจัดฉากว่า ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่ศีรษะ พาตัวออกจากกรุงบัวโนสไอเรสด้วยเครื่องบินโดยสารแบบ Bristol Britannia ของสายการบิน El Al แล้ว 3 วันต่อมา นายกรัฐมนตรี Ben-Gurion ประกาศว่า “Eichmann อยู่ในการควบคุมตัวของรัฐบาลอิสราเอลแล้ว”

Adolf Eichmann ระหว่างการพิจารณาคดี

อาร์เจนตินาเรียกร้องให้อิสราเอลส่ง Eichmann กลับ แต่อิสราเอลแย้งว่า สถานะของเขาอยู่ในฐานะอาชญากรสงครามระหว่างประเทศ อิสราเอลจึงมีสิทธิที่จะดำเนินการพิจารณาคดี วันที่ 11 เมษายน ค.ศ.1961 การพิจารณาคดีของ Eichmann ได้เริ่มขึ้นในกรุงเยรูซาเล็ม เป็นการทดลองออกอากาศการพิจารณาคดีทางโทรทัศน์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ Eichmann เผชิญกับ 15 ข้อหา รวมถึงอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมต่อชาวยิว และอาชญากรรมสงคราม เขาอ้างว่า เขาแค่ทำตามคำสั่ง ในวันที่ 15 ธันวาคม ผู้พิพากษาอิสราเอลตัดสินว่า เขามีความผิดในข้อหาทั้งหมด และลงโทษให้ประหารชีวิตเขา ในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.1962 เขาถูกแขวนคอที่เรือนจำในเมืองรัมลา ไม่ไกลจากกรุงเทลอาวีฟ การประหารชีวิตของเขามีเจ้าหน้าที่กลุ่มเล็ก ๆ เป็นสักขีพยาน ประกอบด้วย นักข่าว 4 คน และ ‘William Lovell Hull’ บาทหลวงชาวแคนาดา ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาทางจิตวิญญาณของ Eichmann ขณะอยู่ในเรือนจำ และคำพูดสุดท้ายของเขา คือ

“ขอให้เยอรมนีจงเจริญ ขอให้อาร์เจนตินาจงเจริญ ขอให้ออสเตรียจงเจริญ นี่คือ 3 ประเทศที่ผมผูกพันด้วยมากที่สุด และผมจะไม่ลืม ผมขอลาภรรยา ครอบครัว และเพื่อนของผม ผมพร้อมแล้ว เราจะได้พบกันอีกในเร็ว ๆ นี้ เช่นเดียวกับชะตากรรมของมนุษย์ทุกคน ผมจะตายกับศรัทธาในพระเจ้า”

Adolf Eichmann ขณะอยู่ในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดี

ร่างของเขาถูกเผาในเวลาต่อมา และเถ้าถ่านของเขาถูกโปรยลงทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนอกน่านน้ำอิสราเอล โดยเรือลาดตระเวนของกองทัพเรืออิสราเอล

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

‘Texas Rangers’ หน่วยบังคับใช้กฎหมายแห่งมลรัฐเท็กซัส ก่อตั้งมาแล้วกว่า 200 ปี เพื่อธำรงความสงบของบ้านเมือง

200 ปีแห่งการก่อตั้ง Texas Rangers 
เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของมลรัฐเท็กซัส

ด้วยระบบตำรวจของบ้านเราเป็นระบบที่เรียกว่า ‘ตำรวจแห่งชาติ’ (National police) เช่นเดียวกับฝรั่งเศส แคนาดา ญี่ปุ่น และอีกหลาย ๆ ประเทศ เราคนไทยจึงไม่ค่อยรู้จักระบบตำรวจที่แตกต่างออกไป ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งผมเคยเขียนไว้ใน The States Times เมื่อ 2 ปีมาแล้ว ในบความ “ไขบทบาท ‘ตำรวจมะกัน’ ผู้บังคับใช้กฎหมาย – กระบวนการยุติธรรมแห่งสหรัฐอเมริกา” https://thestatestimes.com/post/2021091807

โดยที่ตำรวจไทยทุกนายเป็นตำรวจแห่งชาติ เพราะรูปแบบการปกครองของบ้านเราเป็นแบบรัฐเดี่ยว ดังนั้น ตำรวจไทยทุกนายตั้งแต่ชั้นยศพลตำรวจไปจนถึงชั้นยศพลตำรวจเอก จึงสามารถจับกุมผู้ที่กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีหมายจับได้ตั้งแต่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เหนือสุดของประเทศไปจนถึงอำเภอสุไหงโกลกจังหวัดนราธิวาสใต้สุดของประเทศ สำหรับระบบตำรวจสหรัฐฯ มีความแตกต่างกันด้วยระบอบการเมืองการปกครอง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า สหรัฐอเมริกาเป็นสหพันธรัฐ ซึ่งประกอบด้วย 50 รัฐ ทำให้มีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายราว 18,000 หน่วย โดยราว 15,000 หน่วย อยู่ภายใต้รัฐบาลมลรัฐและองค์กรปกครองระดับท้องถิ่น มีเจ้าหน้าที่กว่า 500,000 นาย

‘Texas Ranger Division’ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘Texas Rangers’ และยังเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘Los Diablos Tejanos’ (ภาษาสเปน : the Texan Devils) เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายสืบสอบสวนที่มีเขตอำนาจศาลทั่วทั้งมลรัฐเท็กซัส มีกองบัญชาการตั้งอยู่ในนครออสติน เมืองหลวงของมลรัฐเท็กซัส นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้น ‘Texas Rangers’ ได้สืบสวนคดีอาชญากรรม ตั้งแต่การฆาตกรรมไปจนถึงการทุจริตทางการเมือง ทำหน้าที่ควบคุมการจลาจล และเป็นนักสืบ ทีมอารักขาผู้ว่าการมลรัฐเท็กซัส ติดตามผู้หลบหนีคดี ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยตามสถานที่สำคัญของมลรัฐเท็กซัส

‘Stephen F. Austin’ ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น ‘บิดาแห่งมลรัฐเท็กซัส’

‘Texas Rangers’ ถูกก่อตั้งโดย ‘Stephen F. Austin’ (ผู้ได้ชื่อว่าเป็น ‘บิดาแห่งมลรัฐเท็กซัส’) ใน ปี ค.ศ. 1823 หลังจากผ่านไปหนึ่งทศวรรษ ในวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1835 ‘Daniel Parker’ ได้เสนอมติต่อสภาถาวร เพื่อจัดตั้งกองทหารพรานเพื่อปกป้องชาวเม็กซิกัน ต่อมาหน่วยนี้ถูกยุบโดยหน่วยงานของรัฐบาลกลางหลังสงครามกลางเมืองในช่วงยุคฟื้นฟู แต่ได้รับการปฏิรูปอย่างรวดเร็วเมื่อมีการคืนสถานะของรัฐบาลแต่ละมลรัฐในประเทศ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1935 จนปัจจุบันองค์กรนี้เป็นแผนกหนึ่งของสำนักงานความปลอดภัยสาธารณะแห่งมลรัฐเท็กซัส (Texas Department of Public Safety (TxDPS))

Texas Rangers ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ 234 นาย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ระดับสัญญาบัตร 166 นาย และเจ้าหน้าที่สนับสนุน 68 นาย รวมถึงเจ้าหน้าที่ธุรการศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงชายแดน ศูนย์ปฏิบัติการ และหน่วยข่าวกรองร่วม และทีมอาวุธและยุทธวิธีพิเศษ (SWAT/SRT) โดย Texas Rangers มีหน่วยปฏิบัติการพิเศษเพื่อทำหน้าที่ ทีมอาวุธและยุทธวิธีพิเศษ (SWAT) และทีมตอบโต้พิเศษเฉพาะพื้นที่ (SRT's) ทีมลาดตระเวน หน่วยเจรจากรณีวิกฤต และทีมเก็บกู้วัตถุระเบิด ปัจจุบันหน่วย Texas Rangers มีการประสานงานด้านความมั่นคงชายแดนผ่านศูนย์ปฏิบัติการข่าวกรองและศูนย์ความร่วมมือ (JOICs) จำนวน 6 แห่งตามแนวชายแดนเท็กซัส - เม็กซิโก และพื้นที่ชายฝั่งของรัฐฯ

Texas Rangers รับผิดชอบในการสืบสวนอาชญากรรมดังต่อไปนี้ : (1.) การสืบสวนอาชญากรรมที่สำคัญของมลรัฐ (2.) การสืบสวนอาชญากรรมในมลรัฐที่ยังไม่สามารถปิดคดีได้ (3.) การสืบสวนอาชญากรรมต่อเนื่องในการกระทำที่เป็นการทุจริตต่อสาธารณะในมลรัฐ (4.) การตรวจสอบความสมบูรณ์ของการดำเนินคดีที่เป็นสาธารณะของมลรัฐ (5.) การดำเนินงานด้านความปลอดภัยภายในมลรัฐ และ (6.) การดำเนินงานด้านการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ว่าการมลรัฐเท็กซัส

เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อการบังคับใช้กฎหมาย Texas Rangers ได้จัดตั้ง หน่วยต่อต้านการทุจริตสาธารณะ และโครงการสืบสวนอาชญากรรมที่ยังไม่สามารถปิดคดี โดยในปี ค.ศ. 2019 Texas Rangers ได้มีการสอบสวนคดีทั้งหมด 2,235 คดี ซึ่งส่งผลให้มีการจับกุมผู้กระทำความผิด 993 คดี รับสารภาพ 562 คดี คดีอาชญากรรมต่าง ๆ มีการตัดสินลงโทษกว่า 537 คดี ซึ่งส่งผลให้มีการตัดสินประหารชีวิต 3 คดี จำคุกตลอดชีวิต 76 คดี และคดีต่าง ๆ ถูกตัดสินจำคุกทั้งหมดรวม 8,531 ปี ในระหว่างการสืบสวนคดีโดยหน่วย Texas Ranger มีการใช้กระบวนสอบสวนด้วยการสะกดจิต 9 ครั้ง

‘ประธานาธิบดี William Howard Taft’ และ ‘Porfirio Díaz ประธานาธิบดีแห่งเม็กซิโก’ ในปี ค.ศ. 1909

เหล่าสมาชิกของ Texas Rangers มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดหลายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มลรัฐเท็กซัส เช่น การหยุดยั้งการลอบสังหารประธานาธิบดี William Howard Taft และ Porfirio Díaz ประธานาธิบดีแห่งเม็กซิโก ใน El Paso และในคดีอาญาที่มีชื่อเสียงที่สุดบางคดีในประวัติศาสตร์ เช่น John Wesley Hardin มือปืนชื่อดัง Sam Bass จอมโจรนักปล้นธนาคาร Bonnie และ Clyde ขุนโจรคู่สามี-ภรรยา

‘Chuck Norris’ ในบท ‘Cordell Walker’
สมาชิก Texas Rangers ในภาพยนตร์โทรทัศน์ Walker

มีหนังสือมากมายหลายเล่มที่เขียนเล่าเกี่ยวกับ Texas Rangers ตั้งแต่ผลงานสารคดีที่ได้รับการค้นคว้ามาอย่างดีไปจนถึงนวนิยายและเรื่องแต่งอื่น ๆ ทำให้ Texas Rangers มีส่วนร่วมสำคัญในตำนานของ Wild West, The Lone Ranger อาจเป็นตัวอย่างซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดของตัวละครจาก Texas Rangers โดยใช้นามแฝงของผู้แต่งจากประสบการณ์ที่เคยเป็นสมาชิกของ Texas Rangers ตัวอย่างที่รู้จักกันดีอื่น ๆ ได้แก่ Tales of the Texas Rangers และอีกหลายบทบาทใน Texas Rangers รวมถึงพระเอกนักบู๊ Chuck Norris ที่แสดงเป็น Cordell Walker ในภาพยนตร์โทรทัศน์ชุด Walker, Texas Ranger และทีมเมเจอร์ลีกเบสบอล (MLB) ของมลรัฐเท็กซัสได้รับการตั้งชื่อตาม Texas Rangers ด้วย นอกจากนั้นแล้ว Texas Rangers ยังมีความสำคัญทางวัฒนธรรมในมลรัฐ Texas โดยมีพิพิธภัณฑ์ที่สร้างเพื่อเป็นเกียรติกับ Texas Rangers ที่รู้จักกันในชื่อ ‘Texas Ranger Hall of Fame and Museum’ ในเมืองเวโก

ภาพหมู่สมาชิกของหน่วย Texas Rangers
ในโอกาสการก่อตั้งหน่วยครบ 200 ปี

คุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสมาชิกของหน่วย Texas Rangers นอกเหนือจากคุณสมบัติที่จำเป็น สำหรับการเข้าทำงานกับสำนักงานความปลอดภัยสาธารณะของมลรัฐเท็กซัส แล้วยังมีข้อกำหนดพิเศษต่อไปนี้ คือ การเป็นหน่วย Texas Rangers ผู้สมัครแต่ละคนจะต้องเป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกา มีสภาพร่างกายที่ยอดเยี่ยม และมีประวัติที่โดดเด่นอย่างน้อย 8 ปี ในประสบการณ์กับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีส่วนร่วมในการสืบสวนอาชญากรรมที่สำคัญ โดยปัจจุบันผู้สมัครจะต้องทำงานกับสำนักงานความปลอดภัยสาธารณะของมลรัฐเท็กซัส ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ชั้นสัญญาบัตรอย่างน้อยระดับ Trooper II

ผู้สมัครจะต้องมีภูมิหลังภายใต้การตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะนิสัย และความประพฤติที่ดี ผู้สมัครจะต้องมีใบขับขี่ของมลรัฐเท็กซัส โดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ที่จะกระทบต่อความสามารถของผู้สมัครในการปฏิบัติหน้าที่ มีการสอบเข้า และผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดจะต้องปรากฏตัวต่อหน้าคณะกรรมการ เพื่อสัมภาษณ์ด้วยปากเปล่าก่อนการคัดเลือกขั้นสุดท้าย

‘Jason Taylor’ หัวหน้าหน่วย Texas Rangers คนปัจจุบัน

สมาชิกของหน่วย Texas Rangers จะต้องเข้าร่วมการฝึกอบรมอย่างน้อย 40 ชั่วโมงในทุก 2 ปี แต่สำหรับสมาชิกของหน่วย Texas Rangers ส่วนใหญ่ได้รับการฝึกอบรมเกินมาตรฐาน สมาชิกของหน่วย Texas Rangers บางนายอาจได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมในด้านต่าง ๆ เช่น การสะกดจิตเชิงสืบสวน ซึ่งมีความสำคัญต่อการสืบสวนในคดีอาญาบางคดี ในปี ค.ศ. 2020 อายุเฉลี่ยของสมาชิกของหน่วย Texas Ranger อยู่ที่ 44 ปี

ณ วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2020 Texas Ranger Division มีเจ้าหน้าที่สัญญาบัตร 166 นาย สำหรับทั้งมลรัฐ โดยแบ่งออกเป็น 6 หน่วย โดย
- หน่วย A อยู่ที่เมือง Houston
- หน่วย B อยู่ที่เมือง Garland
- หน่วย C อยู่ที่เมือง Lubbock
- หน่วย D อยู่ที่เมือง Weslaco
- หน่วย E อยู่ที่เมือง El Paso
- หน่วย F อยู่ที่เมือง Waco
และมีสมาชิก Texas Rangers ระดับสัญญาบัตรประจำการตามเมืองต่าง ๆ ทั่วทั้งมลรัฐ โดย Texas Rangers ระดับสัญญาบัตรแต่ละคนมีหน้าที่รับผิดชอบอย่างน้อย 2 ถึง 3 เทศมณฑล ซึ่งบางแห่งมีพื้นที่ใหญ่กว่าเสียด้วยซ้ำ

สมาชิก Texas Rangers ยุคใหม่ (เช่นเดียวกับรุ่นก่อน ๆ ของพวกเขา) ไม่มีเครื่องแบบที่กำหนด แม้ว่ารัฐเท็กซัสจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของสมาชิก Texas Rangers ที่เหมาะสม รวมถึงข้อกำหนดให้สมาชิก Texas Rangers สวมเสื้อผ้าที่มีลักษณะแบบตะวันตก ปัจจุบัน การแต่งกายที่นิยม ได้แก่ เสื้อเชิ้ตและเน็กไทสีขาว กางเกงขายาวสีกากี/สีแทน หรือสีเทา หมวกแบบตะวันตกสีอ่อน เข็มขัดของ ‘Texas Rangers’ และรองเท้าบูทคาวบอย ในอดีต ตามหลักฐานรูปภาพสมาชิก Texas Rangers สวมเสื้อผ้าอะไรก็ได้ที่พวกเขาสามารถจ่ายได้หรือรวบรวมได้ ซึ่งมักจะสึกหรอจากการใช้งานหนัก ในขณะที่สมาชิก Texas Rangers ยังคงจ่ายค่าเสื้อผ้าเองของพวกเขาในปัจจุบัน แต่พวกเขาก็ได้รับค่าตอบแทนเริ่มต้น เพื่อชดเชยบางส่วนสำหรับค่ารองเท้าบูท เข็มขัดคาดปืน และหมวก

สำหรับปฏิบัติภารกิจบนหลังม้า สมาชิก Texas Rangers ได้ดัดแปลงอุปกรณ์และอุปกรณ์ส่วนตัวให้เหมาะกับความต้องการของพวกเขา จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 อิทธิพลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดมาจาก Vaqueros (คาวบอยเม็กซิกัน) อานม้า เดือย เชือก และเสื้อกั๊กที่สมาชิก Texas Rangers ใช้ ล้วนแต่มีรูปแบบตามแบบของวาเกอโร สมาชิก Texas Rangers ส่วนใหญ่ชอบสวมหมวกปีกกว้างมากกว่าหมวกคาวบอย และพวกเขานิยมสวมรองเท้าบูทยาวถึงเข่า ทรงเหลี่ยมที่มีส้นสูงและหัวแหลมในสไตล์สเปนมากกว่า ทั้ง 2 กลุ่มใช้ซองปืนในลักษณะเดียวกัน โดยเป็นซองหนังอยู่ในตำแหน่งสูงรอบสะโพกแทนที่จะอยู่ต่ำที่ต้นขา ตำแหน่งนี้ทำให้ง่ายต่อการชักออกมาในขณะกำลังขี่ม้า

‘อุตสาหกรรม AV’ แหล่งผลิตรายได้มหาศาลของประเทศ กับการล่วงละเมิดเด็กผู้หญิง ที่คนในสังคมยอมปิดตาข้างหนึ่ง


‘JK business’ ธุรกิจด้านมืดของญี่ปุ่น

‘ประเทศญี่ปุ่น’ เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า เป็นประเทศที่เจริญเป็นอันดับ 1 ของทวีปเอเชีย และอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ในความเจริญก้าวหน้าแบบสุดล้ำของญี่ปุ่นนั้น ก็ยังคงมีด้านมืดอยู่เฉกเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ บนโลกใบนี้ ครั้งนี้จะขอหยิบยกเอาเฉพาะเรื่องราวที่มีความน่าสนใจมาก ๆ มาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้ก่อน เรื่องราวที่มีความน่าสนใจรองลงมาจะได้นำมาเล่าเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป


ด้วยเหตุที่รายได้สำคัญส่วนหนึ่งของรัฐฯ มาจาก ‘อุตสาหกรรมสื่อลามก’ (Adult video : AV) เพราะอุตสาหกรรมหนังโป๊ในญี่ปุ่นผุดขึ้นทั่วไปทุกหนทุกแห่ง จนกล่าวกันว่า อุตสาหกรรมหนัง AV เป็นตัวสร้างรายได้เข้ารัฐฯ รายใหญ่ รองจากอุตสาหกรรมยานยนต์ แม้แต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ปกติธรรมดา ก็กลายเป็นผลประโยชน์ของเหล่าบรรดายากูซ่านักเลงใหญ่ของญี่ปุ่นไปด้วย ผลประโยชน์อันมหาศาลของอุตสาหกรรม AV นี้กลายเป็นที่แหล่งรายได้ ซึ่งเป็นที่ต้องการของสาวญี่ปุ่นมากมายในฐานะตัวเลือกที่เป็นได้ทั้งอาชีพหลักและรายได้เสริม รวมไปถึงนักเรียน-นักศึกษาที่หลงเข้ามาและไม่สามารถออกจากโลกมืดนี้ได้ ส่วนหนึ่งก็เข้าไปสู่วงการค้าประเวณีในหมู่วัยรุ่นและนักศึกษา ธุรกิจมืดนี้เรียกกันทั่วไปว่า ‘Joshi Kosei’ หรือ ‘JK business’


‘JK business’ เป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการออกเดตหลอก ๆ กับสาวมัธยมปลาย เกิดขึ้นในราวปี ค.ศ. 2006 หลังจากที่ Maid café เป็นที่นิยมของบรรดาหนุ่ม ๆ นักเที่ยวในย่านอากิฮาบาระ กรุงโตเกียว ได้ยุติลง ทำให้ JK business เข้ามาแทนที่ ตัวย่อ ‘JK’ ย่อมาจาก ‘Joshi Kosei’ (女子高生) แปลว่า ‘นักเรียนมัธยมหญิง’ โดยหญิงสาวใน JK business ได้รับค่าจ้างสำหรับกิจกรรมทางสังคม เช่น การเดินและการพูดคุย และบางครั้งเป็นการทำนายโชคชะตา และอีกกิจกรรมหนึ่งคือ ‘การนวดกดจุด’


ในปี ค.ศ.2017 รายงานการค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่น ‘ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างครบถ้วนในการกำจัดการค้ามนุษย์’ และยังคง ‘อำนวยความสะดวกในการค้าประเวณีเด็กสาวญี่ปุ่น’ ต่อไป ญี่ปุ่นได้รับการยกระดับเป็นสถานะ ‘Tier 1’ (ประเทศที่รัฐบาลปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายตามรัฐบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และความรุนแรง ค.ศ. 2000 (TVPA) อย่างเต็มที่) ในช่วงสั้น ๆ ในรายงานปี ค.ศ. 2018 และ 2019 แต่ได้ถูกลดระดับอีกครั้งเป็นสถานะ ‘Tier 2’ ในรายงานของปี ค.ศ. 2020, 2021 และ 2022

‘Yumeno Nito’ ผู้ก่อตั้งองค์กร Colabo

‘Yumeno Nito’ ผู้ก่อตั้งองค์กร Colabo* ได้วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเพิกเฉยของรัฐบาลต่อปัญหานี้อย่างรุนแรง นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมอธิบายว่า “ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมที่น่าละอาย สร้างอุปสรรคไม่ให้วัยรุ่นที่หลบหนีกลับไปอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง ทำให้พวกเขาเสี่ยงที่จะถูกล่อลวง หรือบังคับให้เข้าสู่อุตสาหกรรมบริการทางเพศของหญิงสาวที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ”


รถบัสสีชมพูที่ของ Colabo ทำหน้าที่เป็นจุดพึ่งพิงสำหรับหญิงสาวอายุต่ำกว่า 18 ปี

*Colabo ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรของญี่ปุ่น ที่ช่วยเหลือเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศด้วยการให้คำปรึกษา และเชื่อมโยงพวกเขากับโครงการสนับสนุนของรัฐบาล ให้บริการเด็กสาววัยรุ่น ซึ่งหลายคนพบในสถานบันเทิงยามค่ำคืนของญี่ปุ่น การบริการของ Colabo รวมถึงรถบัสสีชมพูที่ทำหน้าที่เป็นจุดพึ่งพิงสำหรับหญิงสาวอายุต่ำกว่า 18 ปี เพื่อปรึกษา พูคุย รับประทานอาหาร และสร้างสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ของ Colabo


กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับ JK business เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายจังหวัดในญี่ปุ่น ได้ดำเนินนโยบายและบังคับใช้กฎหมายเพื่อปราบปราม JK business เพราะอาจนำไปสู่การค้าประเวณีของหญิงสาวที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หลายจังหวัดได้แก้ไขกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชนประจำจังหวัด เพื่อห้ามการทำ JK business จังหวัดคานางาวะเป็นจังหวัดแรกที่ดำเนินการแก้ไขกฎหมาย เพื่อควบคุม JK business ในปี ค.ศ. 2011 และในปี ค.ศ. 2014 ตำรวจคานางาวะได้เข้มงวดเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการขายบริการทางเพศ ของเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำให้จำนวนสถานบริการที่มีหญิงสาวอายุต่ำกว่า 18 ปีให้บริการในพื้นที่ลดจำนวนลงอย่างมาก


ในปี ค.ศ.2017 สภากรุงโตเกียวได้ออกกฎหมายหลักที่กำหนดเป้าหมาย เพื่อจัดการกับ JK business โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่นที่ทำเช่นนั้น ก่อนหน้านี้ ตำรวจนครบาลโตเกียวซึ่งครอบคลุมกรุงโตเกียวได้ปราบปราม JK business และจับกุมเด็กหญิงที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยใช้กฎหมายมาตรฐานแรงงานแห่งชาติ ธุรกิจที่กระทบต่อกฎหมายระเบียบศีลธรรมสาธารณะ และกฎหมายสวัสดิการเด็ก กฎหมายใหม่นี้ขยายขอบเขตของอุตสาหกรรม ที่ได้รับการควบคุมนอกเหนือจากการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชนของนครโตเกียวฉบับก่อนหน้า กฎหมายห้ามผู้เยาว์มีส่วนร่วมในกิจกรรม ที่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นทางเพศของลูกค้าเพศตรงข้าม เช่น การนวด การอนุญาตให้ลูกค้าถ่ายรูปหรือดูรูปถ่ายของตนเอง การมีส่วนร่วมในการสนทนากับลูกค้า การเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มแก่ลูกค้า และการไปเดินเล่นกับลูกค้า อย่างไรก็ตาม หากการกระทำเหล่านี้ไม่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นทางเพศของลูกค้า ก็ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังห้ามโฆษณาที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า มีเด็กหญิงที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะทำงานในสถานประกอบการ แม้ว่าจะไม่มีพนักงานที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะทำงานอยู่เลยก็ตาม ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายนี้ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน


ในปี ค.ศ.2018 จังหวัดโอซาก้าได้แก้ไขกฎหมายคุ้มครองเยาวชนของจังหวัด เพื่อกำหนดกฎระเบียบที่คล้ายคลึงกันกับของกรุงโตเกียว เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้เยาว์ ผู้กระทำผิดมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 เยน แม้ว่าธุรกิจจะเลิกจ้างพนักงานที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะแล้ว หลังการตัดสิน ทางการอาจออกคำสั่งระงับการดำเนินธุรกิจเป็นเวลา 6 เดือน การละเมิดคำสั่งนี้อาจส่งผลให้ถูกจำคุกสูงสุด 1 ปี หรือปรับสูงสุด 500,000 เยน และชื่อของสถานประกอบการจะถูกเปิดเผยต่อสาธารณะอีกด้วย


จากการสำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ณ สิ้นเดือนธันวาคม ค.ศ. 2021 มีสถานประกอบการที่ประกอบการ JK business ทั่วประเทศ 131 แห่ง ในจำนวนนี้ให้บริการนวดแก่ลูกค้า 99 ราย ให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม 22 ราย ให้ลูกค้าถ่ายรูปหรือดูรูป 7 ราย และทำกิจกรรม เช่น พูดคุย เล่นเกม หรือดูดวงกับลูกค้า 3 ราย โดย 71% ของสถานประกอบการที่ดำเนินการ JK business ตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว ในขณะที่ 20% ตั้งอยู่ในนครโอซาก้า ที่อยู่ในกรุงโตเกียว 29% ตั้งอยู่ในย่านอากิฮาบาระ 29% ในย่านอิเคะบุคุโระ และ 12% ในย่านชินจูกุ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวนธุรกิจที่ประกาศไม่ใช่จำนวนธุรกิจที่มีหญิงสาวอายุต่ำกว่า 18 ปี คอยให้บริการลูกค้าจริง ๆ แต่เป็นจำนวนธุรกิจที่โฆษณาว่า มีนักเรียนหญิงมัธยมปลายให้บริการลูกค้า ในสังคมญี่ปุ่นจะยอมรับในสิ่งเหล่านี้ แม้ว่าตัวพวกเขาเองจะเข้าใจว่าการปฏิบัตินั้นถูกตัดสินในทางลบก็ตาม เพราะชาวญี่ปุ่นจะไม่สร้างความเดือดร้อน หรือรบกวนคนรอบข้าง ดังนั้น พวกเขาจึงชอบที่จะจัดการเรื่องของตัวเองมากกว่าที่จะยุ่งเรื่องของคนอื่น


ปัจจุบัน รัฐบาลญี่ปุ่นได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับการค้าประเวณีผู้ใหญ่และเด็ก พระราชบัญญัติความมั่นคงในการจ้างงาน (ESA) และพระราชบัญญัติมาตรฐานแรงงาน (LSA) บังคับใช้แรงงานที่มีความผิดทางอาญา ซึ่งคุ้มครองเสรีภาพทางร่างกายและจิตใจของคนงาน และเป็นมาตรการต่อต้านการค้ามนุษย์ทางเพศ “พระราชบัญญัติว่าด้วยการควบคุมและการลงโทษ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีเด็กและภาพอนาจารและการคุ้มครองเด็ก” ได้กำหนดให้มีการแสวงหาประโยชน์ทางเพศในเชิงพาณิชย์จากเด็ก รวมทั้งการซื้อหรือขายเด็ก เพื่อวัตถุประสงค์ในการผลิตภาพอนาจารเด็กหรือการค้าประเวณี


เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 2013 มีมติของคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเกี่ยวกับ ‘นโยบายพื้นฐานเกี่ยวกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่อต้านการแสวงประโยชน์ทางเพศต่อเด็ก’ การตัดสินใจครั้งนี้มีขึ้นเพื่อกำจัดการตกเป็นเหยื่อทางเพศของเด็กหญิง ซึ่งเป็นผลมาจากการค้าประเวณีเด็กและการผลิตภาพอนาจารเด็ก คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ ได้รับมอบหมายให้ควบคุมมาตรการโดยรวมต่อการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ตำรวจยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีเด็ก จังหวัดหลัก 7 แห่ง ยังคงใช้กฎหมายห้ามประกอบการ JK business ห้ามหญิงสาวอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในบริการหาคู่โดยได้รับค่าตอบแทน หรือกำหนดให้เจ้าของ JK business ลงทะเบียนบัญชีรายชื่อพนักงานกับคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะในท้องถิ่น เป็นต้น โดยปัจจุบันนี้ ญี่ปุ่นยังคงเป็นสถานะ ‘Tier 2’ ในรายงานการค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประจำปี ค.ศ.2022 ซึ่งอยู่ในสถานะที่เท่ากันกับประเทศไทยของเรา

Operation fish ปฏิบัติการขนย้ายสมบัติครั้งใหญ่ที่สุดในโลก ของสหราชอาณาจักร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2



แหวนทองที่พลเมืองอังกฤษส่งมอบให้รัฐบาลเพื่อนำไปแปรรูปเป็นทองคำแท่ง

‘Operation fish’ (ปฏิบัติการปลา) เดือนกันยายน ค.ศ.1939 รัฐบาลอังกฤษได้ออกคำสั่งให้พลเมืองทุกคนที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร ต้องแสดงและมอบทรัพย์สิน โดยเฉพาะทองคำของตนให้กับกระทรวงการคลัง ด้วยเมฆพายุแห่งสงครามที่รวมตัวกันทำให้รัฐบาลอังกฤษเกิดความกลัวที่สหราชอาณาจักรมีโอกาสจะเพลี่ยงพล้ำ หากกองทัพเยอรมันยกพลบุกและยึดครองเกาะอังกฤษได้สำเร็จในที่สุด เพื่อให้อังกฤษมีเงินและทรัพยากรที่จะทำการสู้รบต่อไปได้ แม้ว่าเกาะอังกฤษจะถูกยึดครองก็ตาม ดังนั้น รัฐบาลอังกฤษจึงตัดสินใจขนย้ายสมบัติไปยังแคนาดา ประเทศในเครือจักรภพอังกฤษในทวีปอเมริกาเหนือ


ปืนพก Colt ขนาด .380 ที่ถูกสั่งซื้อโดย British Purchasing Commission

ก่อน Operation fish ได้มีการส่งขบวนเรือพร้อมทองคำและเงินมูลค่าหลายล้านปอนด์ เพื่อซื้ออาวุธจากสหรัฐอเมริกามาแล้ว โดย British Purchasing Commission (คณะกรรมาธิการจัดซื้อของอังกฤษ) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เดิมคือ คณะกรรมการจัดซื้อของแองโกล-ฝรั่งเศส (Anglo-French Purchasing Board) มีสำนักงานอยู่ในมหานครนิวยอร์ก ซึ่งทำหน้าที่จัดการในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากผู้ผลิตในอเมริกาเหนือ และหลังจากการยอมจำนนของฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1940 จึงกลายเป็น British Purchasing Commission คณะกรรมาธิการชุดนี้ยังรับผิดชอบต่อคำสั่งซื้อที่แต่เดิมเป็นของฝรั่งเศส เบลเยียม และต่อมาโดยนอร์เวย์ หลังจากการยอมจำนนต่อเยอรมันของประเทศเหล่านั้น


Sir Winston Churchill นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อ ‘Winston Churchill’ จัดตั้งรัฐบาลในปี ค.ศ.1940 สงครามกับเยอรมันกำลังดำเนินไปโดยฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายย่ำแย่ เพื่อให้มีหลักประกันว่า สหราชอาณาจักรจะสามารถสู้รบต่อไปได้ แม้เกาะอังกฤษจะถูกยึดครองก็ตาม Churchill จึงวางแผนจัดส่งทรัพย์สมบัติของอังกฤษจำนวนมหาศาลไปเก็บเพื่อความปลอดภัยในแคนาดา จากการที่รัฐบาล Churchill ได้ใช้อำนาจในช่วงสงคราม (กฎอัยการศึก) ยึดทรัพย์สินที่ชาวอังกฤษทุกคนได้ถูกบังคับให้ลงทะเบียนเมื่อกันยายน ค.ศ.1939 และทำการขนย้ายทรัพย์สินเหล่านั้นไปยังท่าเรือ Greenock ในสกอตแลนด์ภายใต้การคุ้มกันอย่างเป็นความลับสุดยอด


เรือ HMS Emerald

จากนั้น ทรัพย์สินทั้งหมดก็ถูกขนส่งโดย ‘เรือรบ HMS Emerald’ ซึ่งออกเดินทางเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ.1939 พร้อมด้วยด้วยเรือพิฆาตคุ้มกันจำนวนหนึ่งได้แล่นไปยังแคนาดา การเดินทางของขบวนเรือครั้งนี้อยู่ภายใต้การควบคุมที่เข้มงวด เพื่อเป็นการรักษาความลับและลวงพรางศัตรู ลูกเรือทุกนายต้องสวมเครื่องแบบ ‘สีขาวเขตร้อน’ เพื่อสร้างความสับสนให้กับเยอรมัน ในขบวนเรือคุ้มกันประกอบด้วยเรือประจัญบาน HMS Revenge และ HMS Resolution และ HMS Enterprise รวมถึงเรือลาดตระเวน HMS Caradoc ระหว่างทางขบวนเรือเผชิญกับพายุที่รุนแรงลูกหนึ่ง ที่ทำให้เกิดคลื่นลมแรงจนขบวนเรือต้องลดความเร็วลง จนเกือบจะกลายเป็นเป้าหมายง่ายๆ สำหรับเรือดำน้ำของเยอรมันที่พยายามเข้ามามาด้อมๆ มองๆ แต่ในที่สุดขบวนเรือก็มาถึงท่าเรือเมืองแฮลิแฟกซ์ของแคนาดา ทรัพย์สมบัติของอังกฤษก็ถูกขนย้ายด้วยรถไฟ และถูกส่งไปยังกรุงออตตาวาซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคนาดา ก่อนส่งต่อไปยังนครมอนทรีออล


อาคาร Sun Life ในนครมอนทรีออล

ทองคำแท่งน้ำหนักสองล้านปอนด์ (900 ตัน) มูลค่าราว 1.948 ล้านบาทในปัจจุบัน อันเป็นทรัพย์สินของอังกฤษ ถูกเก็บไว้ในห้องนิรภัยใต้ดินที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษใต้อาคาร Sun Life ในนครมอนทรีออล ภายใต้การคุ้มกันตลอดเวลาโดย ตำรวจของ Royal Canadian Mounted และมีการปล่อยข่าวลืออย่างต่อเนื่องว่า มีการเก็บเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักรไว้ที่นครมอนทรีออล โดยไม่มีการพูดถึงทองคำจำนวนมหาศาล เพื่อเป็นการอำพรางกิจกรรมที่เกิดขึ้นในอาคาร Sun Life โดยที่พนักงาน 5,000 คน ที่ทำงานในอาคาร Sun Life ไม่เคยสงสัยเลยว่า มีทองคำจำนวนมหาศาลถูกเก็บไว้ในห้องใต้ดินของอาคาร


แม้จะมีผู้คนจำนวนมากเข้าร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ แต่หน่วยข่าวกรองของเยอรมันก็ไม่เคยทราบหรือระแคะระคายข้อมูลเกี่ยวกับปฏิบัติการนี้เลย นักบัญชีและการเงินหลายร้อยคนทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อจัดรายการเนื้อหาของทรัพย์สินที่ถูกขนย้ายมา เมื่อเสร็จปฏิบัติการแล้วก็พบว่า ‘ทองคำ’ มูลค่าราว 1.948 ล้านบาท ที่ถูกส่งจากสหราชอาณาจักรไปยังแคนาดานั้น ไม่สูญหายเลยแม้แต่แท่งเดียว



มีแผ่นหินจารึกบนกำแพงด้านนอกของ Martins Bank บนถนน Water Street ในนครลิเวอร์พูลเป็นที่ระลึกถึงทองคำ ซึ่งถูกเก็บไว้ที่นั่นระหว่างเดินทางไปแคนาดา ระบุข้อความว่า…

“ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1940 เมื่อประเทศนี้ถูกคุกคาม ทองคำสำรองบางส่วนของประเทศถูกนำมาจากกรุงลอนดอน และถูกเก็บเพื่อความปลอดภัยในห้องใต้ดินของ Martins Bank”

ตัวเลขทองคำสำรองของอังกฤษในปัจจุบันอยู่ที่ 310 ตัน (ในขณะที่ตัวเลขทองคำสำรองของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 244 ตัน) ทองคำถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ได้รับความนิยมสูง เพราะเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ ไม่สามารถพิมพ์ออกมาใหม่ได้เหมือนเงิน และมูลค่าของทองคำไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากการรักษามูลค่ามีมาแต่อดีต ดังนั้น เมื่อมีเกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซาหรือเข้าสู่วิกฤติ ราคาทองคำจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น ดังนั้นทองคำเป็นหลักประกันที่จับต้องได้ที่ดีสุดสุดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

 

‘Kim Ung-Yong’ มนุษย์ที่ฉลาดที่สุดในโลก ที่ยังมีชีวิตอยู่ กับเส้นทางชีวิตที่เลือกจะขอมี ‘ความสุข’ มากกว่า ‘ความสำเร็จ’


‘Kim Ung-Yong’ เด็กชายอัจฉริยะที่ทำให้โลกต้องตะลึง!!


‘Kim Ung-Yong’ หรือ ‘คิม อุงยอง’ ชายชาวเกาหลีใต้ ผู้ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘มนุษย์ที่ฉลาดที่สุดในโลกที่ยังมีชีวิตอยู่’ โดย Guinness World Records นั้นได้บันทึกสถิติว่าชายผู้นี้เป็น ‘คนที่มี IQ สูงที่สุดในโลก’ โดย IQ ของเขาสูงถึง 210 เลยทีเดียว


คุณจะทำอย่างไร? ถ้าคุณเป็นคนที่ฉลาดที่สุดในโลก อาจฟังดูเป็นเรื่องที่ไร้สาระ แต่คำถามนี้เป็นสิ่งที่คิม อุงยอง ต้องเผชิญอยู่เสมอมา

คิม อุงยอง เกิดมาพร้อมกับความถนัดโดยกำเนิด และเป็นความถนัดด้านการเรียนรู้ที่ไม่สามารถหาตัวจับได้ ความสามารถทางสติปัญญาของเขาเป็นที่ประจักษ์ตั้งแต่อายุยังน้อย ความอัจฉริยะของเขาเริ่มเด่นชัดมากยิ่งขึ้นก่อนที่เขาจะเดินได้ด้วยซ้ำ เรื่องราวของเขานั้น นับเป็นหนึ่งในเรื่องที่ไม่ธรรมดาเลย เพราะเขามีความสามารถที่เหนือความคาดหมายที่สุดของคนปกติ และประสบความสำเร็จทางสติปัญญาอย่างน่าทึ่ง น่าแปลกที่วันนี้แทบจะไม่มีใครรู้จักชื่อของเขาเลย เกิดอะไรขึ้นกับ ‘คิม อุงยอง’ เด็กอัจฉริยะจากเกาหลีใต้คนนี้? 


‘Kim-Ung Yong’ หรือ ‘คิม อุงยอง’ เป็นลูกชายของ ‘Kim Soo-Sun’ บิดาผู้เป็นศาสตราจารย์ฟิสิกส์ของ Hanyang University และ ‘Yoo Myung-Hyun’ มารดาผู้เป็นอาจารย์ที่ Seoul National University เพราะเหตุนี้ เขาจึงดูเหมือนจะถูกลิขิตให้ไปสู่ความยิ่งใหญ่ทางวิชาการตั้งแต่เริ่มต้น อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครสามารถจินตนาการได้ว่าสติปัญญาของเขาจะพัฒนาไปจนถึงขีดสุดได้อย่างไร


เขาเกิดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2505 ในกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ คิมไม่เสียเวลาเติมพลังสติปัญญาเลย เมื่อคิมอายุเพียง 4 เดือน เขาก็เริ่มพูดได้ พอ 6 เดือน เขาก็สามารถพูดจาสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว เมื่ออายุ 1 ขวบ เขาก็มีความเชี่ยวชาญทั้งอักษรเกาหลีและอักษรจีนมากกว่า 1,000 ตัวแล้ว จากการเรียน Thousand Character Classic ซึ่งเป็นบทกวีจีนในศตวรรษที่ 6 ความสามารถทางสติปัญญาของเขามีความโดดเด่นตั้งแต่อายุยังน้อยมาก เขาสามารถอ่านและเขียนได้หลายภาษา อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมัน และอังกฤษ ตอนอายุ 3 ขวบ เขาสามารถแก้โจทย์แคลคูลัสได้แล้ว นอกจากนี้ เขายังจัดพิมพ์หนังสือเรียงความ คัดลายมือ พร้อมภาพประกอบความยาว 247 หน้า ด้วยความช่วยเหลือจากพ่อแม่ของเขาได้อย่างน่าประหลาดใจ!!


สติปัญญาที่เหลือเชื่อของ คิม อุงยอง ดูเหมือนจะมีอยู่ตั้งแต่ตอนที่เขาเกิด และถึงแม้จะอายุน้อย แต่พรสวรรค์ของคิมก็ไม่อาจปฏิเสธได้ เด็กอัจฉริยะชาวเกาหลีใต้คนนี้ได้รับความสนใจจากนานาชาติอย่างรวดเร็ว เมื่อเอายุได้ 5 ขวบ เขาก็สามารถพูดภาษาต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่วถึง 5 ภาษา อาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส เขาได้เข้าเรียนเป็นนักศึกษาพิเศษของภาควิชาฟิสิกส์ที่ Hanyang University ซึ่งมีบิดาของเขาเป็นอาจารย์อยู่ที่นั่นอีกด้วย เห็นได้ชัดตั้งแต่เริ่มแรกว่า ความสามารถอันโดดเด่นของคิมนั้นจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของเขา และอาจเปลี่ยนกระทั่งความเป็นมนุษย์ไปตลอดกาล


Terence Tao บุคคลที่มี IQ 230 สูงที่สุดในโลกในปัจจุบัน


‘บุคคลที่มีไอคิวสูงที่สุดในโลก’ ความเฉลียวฉลาดอันน่าทึ่งและความสามารถพิเศษของคิมนั้น เปรียบเสมือนแม่เหล็กดึงดูดความสนใจมากมายตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่ออายุ 4 ขวบ คิมสร้างความประหลาดใจด้วยการทำคะแนนแบบทดสอบ IQ ที่ออกแบบมาสำหรับเด็กอายุ 7 ขวบได้อย่างน่าทึ่งถึง 210 คะแนน ความสำเร็จที่น่าประทับใจนี้ทำให้เขาได้รับการบันทึกว่า ‘เป็นผู้ที่มี IQ สูงที่สุดในโลก’ โดย Guinness Book of World Records (Terence Tao เป็นเจ้าของสถิติ IQ ที่สูงที่สุดในโลกที่ 230 คะแนนในปัจจุบัน)


ชื่อเสียงของเขาเผยกระจายอย่างต่อเนื่อง เมื่อเขาได้แสดงความสามารถทางคณิตศาสตร์ทางโทรทัศน์ช่อง ‘Fuji TV’ ของญี่ปุ่น ขณะที่เขาอายุได้เพียง 4 ปี 8 เดือน คิมเคยออกรายการโทรทัศน์ แสดงความสามารถแก้โจทย์คณิตศาสตร์ชั้นสูง ที่เรียกว่า ‘สมการดิฟเฟอเรนเชียล’ (Differential Equation) ที่ซับซ้อนได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว (ซึ่งปกติจะมีเรียนในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 3) จนบรรดาผู้ชมต่างประหลาดใจ

ในที่สุดสติปัญญาที่ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งของคิม ก็ได้ดึงดูดความสนใจขององค์กรอวกาศที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก ความเฉลียวฉลาดที่ไม่ธรรมดาของ ‘คิม อุงยอง’ ทำให้เขาได้รับคัดเลือกจาก ‘NASA’ องค์การอวกาศที่มีชื่อเสียงระดับโลก ให้เข้าร่วมงานเมื่อเขาอายุได้ 8 ขวบ ครอบครัวเขาจึงคว้าโอกาสนั้นไว้ เขาทำงานให้กับ NASA ประมาณหนึ่งทศวรรษ ในช่วงเวลานี้ เขาทำให้เพื่อนร่วมงานประหลาดใจอย่างต่อเนื่องด้วยความจำอันยอดเยี่ยม และความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน


อย่างไรก็ตาม การทำงานที่ NASA นั้นไม่ใช่เพียงแค่ความฝันเท่านั้น และชีวิตใหม่ของเขาก็ไม่ง่ายเลย เขารู้สึกโดดเดี่ยวและเดียวดาย ไม่มีเพื่อนนอกจากผู้ใหญ่ที่เขาทำงานด้วย ซึ่งอายุมากกว่ามาก และยุ่งเกินกว่าจะมาสังสรรค์กับเขา แม้จะยังไม่ใช่วัยรุ่น แต่เขาก็ทำงานหนักอย่างเหลือเชื่อ และทำประโยชน์อันมีค่ามากมายให้กับองค์กร แต่ในที่สุดเขาก็ท้อแท้กับงานที่ทำอยู่ คิมรู้สึกว่างานวิจัยของเขาถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการทำลายล้าง และบรรดาเจ้านายของเขาต่างก็ได้รับเครดิตจากการทำงานหนักและความคิดของเขา คิมรู้สึกว่า ตัวเองไม่มีคุณค่า ซ้ำยังถูกตีราคาเป็นมูลค่า และไม่มีความสุขเลย จนกระทั่งในที่สุด คิมและครอบครัวตัดสินใจเดินทางกลับเกาหลีใต้ในปี พ.ศ. 2521 เมื่อเขาอายุได้ 16 ปี และได้เข้าเรียนต่อจนจบ เขาสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จำเป็นทั้งหมด และได้รับประกาศนียบัตรเทียบเท่ามัธยมปลายในเวลาเพียง 2 ปี หลังจากนั้น เขาสมัครเข้าเรียนใน Chungbuk National University ในสาขาวิศวกรรมโยธาจนจบปริญญาเอก


Kim Ung-Yong ในวัยหนุ่ม

การตัดสินใจออกจากองค์การ NASA ของคิมนั้น ทำให้สังคมเกาหลีใต้เต็มไปด้วยความสงสัยและมีคำวิจารณ์จากผู้ที่เห็นว่า การออกจากองค์การ NASA ของเขาเป็นการเสียพรสวรรค์อันน่าทึ่งของเขาไปโดยเปล่าประโยชน์ แม้จะประสบความสำเร็จก่อนหน้านี้ทั้งหมด แต่ชีวิตที่เหลือ (หลังจากออกจากองค์การ NASA) ของเขาก็จะเต็มไปด้วยคำวิจารณ์ประเภทนี้ และใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในฐานะ ‘อัจฉริยะที่ล้มเหลว’

โดยหลังจากจบปริญญาเอกแล้ว คิม อุงยองเข้าทำงานอย่างเงียบๆ ในบริษัทเกาหลีใต้ที่ชื่อ ‘Chungbuk Development’ โดยทำงานเป็นผู้จัดการระดับกลาง แม้ว่า อดีตเด็กอัจฉริยะคนนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากบางคนว่าเป็น ‘อัจฉริยะที่ล้มเหลว’ เนื่องจากไม่ได้ใช้ชีวิตตามสติปัญญาอันน่าทึ่งที่เขามี ถึงกระนั้น เขายังคงมองโลกในแง่ดีและค่อนข้างพอใจกับชีวิตของเขา


Kim Ung-Yong เป็นอาจารย์พิเศษที่ Chungbuk University

ในปี พ.ศ. 2550 เขาทำงานเป็นอาจารย์พิเศษที่ Chungbuk University จนกระทั่งต่อมาในปี พ.ศ. 2557 ในที่สุดเขาก็สมหวัง เพราะความฝันตลอดชีวิตของเขาคือ ‘การเป็นอาจารย์’ เขาออกจากบริษัท Chungbuk Development เข้าเป็นอาจารย์ของ Shinhan University ได้รับตำแหน่งรองศาสตราจารย์ เมื่อ 14 มีนาคม พ.ศ. 2557 และยังรับตำแหน่งรองประธานของ North Kyeong-gi Development Research Center หลังจากเริ่มงานใหม่ คิมได้บอกกับสื่อต่างๆ ว่า เขารู้สึกตื่นเต้นอย่างเหลือเชื่อ โดยกล่าวว่า “ผมจะอุทิศตัวเองเพื่อสอนคนรุ่นต่อไป” แม้ว่า ประวัติของเขาจะดูไม่ธรรมดา แต่ดูเหมือนว่า คิม อุงยอง จะตัดสินใจตั้งแต่อายุยังน้อยที่จะให้ความสำคัญกับ ‘ความสุข’ มากกว่า ‘สถิติโลก’ ทำให้เขาเลือกที่จะหันหลังให้กับ IQ ที่สูงมากๆ และ ‘ความสำเร็จ’ ในวัยเด็กของเขา


ปัจจุบัน Kim Ung-Yong เป็นศาสตราจารย์ของ Chungbuk University

บทเรียนที่ต้องเรียนรู้จากชายที่ฉลาดที่สุดในโลก ซึ่งหลาย ๆ คนอาจมองชีวิตของคิม อุงยอง ว่า น่าผิดหวัง หรือล้มเหลว แต่มีบทเรียนที่ดีกว่าให้เรียนรู้จากเรื่องราวชีวิตที่พลิกผันและน่าสนใจของเขา การตัดสินใจของ คิม อุงยอง เป็นตัวอย่างหนึ่งในการเลือกชีวิตที่สงบสุขและมีความสุขมากกว่าความรุ่งโรจน์ ความสำเร็จ หรือความมั่งคั่ง แม้ว่าเขาจะมีความสามารถพิเศษทางปัญญาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แต่เขากลับไม่พบความสุขกับบทบาทของเขาในฐานะ ‘เด็กอัจฉริยะ’ จนกระทั่งเขาใช้ชีวิตอย่างสงบและสบายขึ้น เขาจึงพบว่า “ตัวเองมีความสุข”


Kim Ung-Yong สรุปถึงทางเลือกของตัวเขาเองว่า 
“ผมกำลังพยายามที่จะบอกกับคนอื่นๆ ว่า ผมมีความสุขในแบบที่ผมเป็น”

คิม อุงยอง มีส่วนในการช่วยเหลือสังคมมากมายตั้งแต่อายุยังน้อย บางทีหนึ่งในบทเรียนที่สำคัญที่สุดที่ได้จากเขาคือ การตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกความสุข เขากล่าวว่า “ชีวิตของเขาเป็นของเขาเอง ไม่ใช่คนรอบข้าง หรือวิสัยทัศน์ของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับลูกหลานของพวกเขา” และเขายังกล่าวสรุปถึงทางเลือกของตัวเขาเองว่า “ผมกำลังพยายามที่จะบอกกับคนอื่นๆ ว่า ผมมีความสุขในแบบที่ผมเป็น”

หวังว่าเรื่องราวของ คิม อุงยอง จะช่วยให้พ่อ-แม่ในสังคมไทยได้เข้าใจลูกๆ และปล่อยให้ลูกๆ ได้เป็นอย่างที่พวกเขาอยากเป็น เพียงแต่พ่อ-แม่ช่วยดูแลให้ลูกอยู่ในแนวทางที่มีความเหมาะสมและพอดี โดยพิจารณาด้วยเหตุและผลที่ถูกต้อง ซึ่งทั้งพ่อ-แม่ และลูกๆ ต่างฝ่ายต่างยอมรับได้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top