รู้จัก ‘ROSOBORONEXPORT’ บริษัทส่งออก-นำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่เพียงผู้เดียวแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย

‘อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ’ เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้อย่างมากมายให้แก่ประเทศซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ โดย 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2019-2023) ข้อมูลจาก STOCKHOLM INTERNATIONAL PEACE RESEARCH INSTITUTE (SIPRI) ระบุว่า ประเทศที่ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์มากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดถึง 41.7% รองลงมาคือ ฝรั่งเศส มีส่วนแบ่งตลาด 10.9% และตามมาเป็นอันดับ 3 ได้แก่ สหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 10.5% น้อยกว่าฝรั่งเศสเล็กน้อย ด้วยเหตุสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจึงทำให้รัสเซียถูกมาตรการลงโทษ (Sanctions) ต่าง ๆ นานา ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียลดลง

สำหรับสหพันธรัฐรัสเซียแล้ว มีบริษัทที่ส่งออก/นำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์แต่เพียงผู้เดียว คือ ‘ROSOBORONEXPORT’ ซึ่งเดิมก่อตั้งขึ้นเป็น ROSOBORONEXPORT Federal State Unitary Enterprise (FSUE) ในปี 2000 โดยรัฐกฤษฎีกาของประธานาธิบดีแห่งรัสเซียและมีหน้าที่ในการดำเนินนโยบายของรัฐในด้านความร่วมมือทางเทคนิคการทหารระหว่างรัสเซียและต่างประเทศ ในปี 2007 บริษัทได้รับการจดทะเบียนเป็น ROSOBORONEXPORT Open (OJSC) บริษัทมหาชนจำกัด ต่อมาในปี 2011 Rostekhnologii (ปัจจุบันคือ Rostec) อันเป็นวิสาหกิจหลักของรัฐที่มีลักษณะเป็นบริษัท Holding ได้เข้าซื้อหุ้นของ ROSOBORONEXPORT OJSC 100% 

‘ROSOBORONEXPORT’ เป็นหน่วยงานสืบทอดกิจการอาวุธยุทโธปกรณ์ของอดีตสหภาพโซเวียต หรือสหพันธรัฐรัสเซียในปัจจุบัน เป็นหน่วยงานกลางของรัฐที่ดูแลรับผิดชอบในด้านเทคโนโลยีทางการทหารได้รับการก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1953 เมื่อมีการก่อตั้งแผนกวิศวกรรมทั่วไปภายในกระทรวงการค้าภายในและต่างประเทศของสหภาพโซเวียตตามการตัดสินใจของรัฐบาลโซเวียตในขณะนั้น ด้วยการขยายตัวของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จึงมีการจัดตั้งหน่วยงานส่งออกเฉพาะทางใหม่ ๆ ขึ้นหลายแห่ง 

ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 สหภาพโซเวียตมีบริษัทตัวกลางของรัฐ 2 แห่ง ได้แก่ Rosvooruzhenie และ Promexport และเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2000 บริษัทที่เป็นของรัฐทั้งสองแห่งก็ได้ควบรวมกิจการกันโดยรัฐกฤษฎีกาที่ 1834 ของประธานาธิบดีรัสเซีย โดยจัดตั้ง ‘ROSOBORONEXPORT Unitary’ ขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานกลางของรัฐเพียงแห่งเดียวสำหรับการส่งออกและนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซีย

19 มกราคม ค.ศ. 2007 Vladimir Putin ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ได้ลงนามในรัฐกฤษฎีกากำหนดให้บริษัท ROSOBORONEXPORT รับผิดชอบการส่งออกอาวุธทั้งหมด ทำให้สถานะอย่างเป็นทางการของ ROSOBORONEXPORT คือบริษัทส่งออกและนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์แต่เพียงผู้เดียวของสหพันธรัฐรัสเซีย ถือเป็นผู้ประกอบการชั้นนำในตลาดอาวุธระหว่างประเทศ ด้วยสถานะตัวแทนของรัฐทำให้บริษัทมีโอกาสพิเศษในการขยายและเสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในระยะยาวกับพันธมิตรต่างประเทศ ปัจจุบัน ลูกค้ารายใหญ่ซึ่งเป็นลูกค้าชั้นนำของ ROSOBORONEXPORT ได้แก่ จีน อินเดีย อัลจีเรีย ซีเรีย เวียดนาม เวเนซุเอลา และอิรัก ฯลฯ

เมื่อ ROSOBORONEXPORT เป็นบริษัทส่งออกและนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์แต่เพียงผู้เดียวของสหพันธรัฐรัสเซีย จึงทำให้บริษัทผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ของสหพันธรัฐรัสเซียไม่ต้องจัดการด้านการตลาดต่างประเทศด้วยตัวเอง ซ้ำตลาดในประเทศเองก็มีเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคงของสหพันธรัฐรัสเซียเท่านั้น ทั้งยังไม่ต้องวุ่นวายเรื่องใบอนุญาตส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์เหมือนเช่นประเทศตะวันตกอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกาต้องขออนุญาตกระทรวงต่างประเทศ และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ระบุไว้ในรายการกำหนดต้องขออนุญาตจำหน่ายต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น การขายเครื่องบินรบ แม้ว่าบริษัทผู้ผลิตต้องการที่จะขายเครื่องบินรบมากเพียงใดก็ตาม แต่คำสั่งซื้อต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาสหรัฐฯ ก่อน จึงจะดำเนินการต่อไปจนแล้วเสร็จได้ ทั้งนี้ไทยเรามีหน่วยงานที่มีภารกิจใกล้เคียงในลักษณะนี้คือ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) แต่ สทป. ยังคงทำหน้าที่ในทางวิชาการคือ การศึกษา วิจัย และพัฒนา อาวุธยุทโธปกรณ์ มากกว่าการทำตลาดต่างประเทศเช่นเดียวกับ ROSOBORONEXPORT

‘ประเทศไทย’ ก็เป็นหนึ่งในลูกค้าที่สั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากสหพันธรัฐรัสเซีย โดย ROSOBORONEXPORT หลายรายการ อาทิ กองทัพบก ซื้อเฮลิคอปเตอร์แบบ Mi-17V-5 เครื่องยิงจรวดต่อสู้อากาศยานแบบประทับบ่า 9K38 Igla อาวุธปืนเล็กยาวแบบ AK-104 (อาสาสมัครทหารพราน) กองทัพอากาศ ซื้อเครื่องบินแบบ Sukhoi Superjet ส่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซื้อเฮลิคอปเตอร์แบบ Ka-32 เป็นต้น 

อันที่จริงแล้วตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุคสงครามเย็น ไทยเราได้รับความช่วยเหลือทางทหารเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมหาศาลจากรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อให้เป็นหนึ่งในประเทศพันธมิตรต่อต้านสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน จนกระทั่งความพ่ายแพ้ของรัฐบาลต่าง ๆ ในประเทศเพื่อนบ้านของเรา ทำให้สหรัฐฯ ต้องถอนตัวออกจากภูมิภาคนี้ พร้อมกับตัดความช่วยเหลือทางทหารต่อประเทศไทย จนกระทั่งอาวุธยุทโธปกรณ์ตามความช่วยเหลือทางทหารจากรัฐบาลสหรัฐฯ หมดอายุสิ้นสภาพทหารใช้งาน กองทัพไทยจึงจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์จากประเทศต่าง ๆ 

ทั้งนี้สิ่งซึ่งกองทัพไทยจำเป็นต้องดำเนินการด้วยความเข้าใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ การบริหารความสมดุลอย่างเหมาะสมในการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ จากสองฟากฝ่ายซึ่งแบ่งข้างอย่างชัดเจนในปัจจุบัน เพื่อให้ไทยมีดุลยภาพทางทหารที่เหมาะสมที่สุดตามบริบทที่สมควรจะเป็นต่อไป


เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล