Saturday, 26 April 2025
สหพันธรัฐรัสเซีย

Army-2024 งานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์สุดยิ่งใหญ่ของสหพันธรัฐรัสเซีย ใต้นัย!! เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่มีอยู่ พร้อมสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ

(13 ส.ค. 67) Army-2024 เป็นงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ระดับนานาชาติของสหพันธรัฐรัสเซียซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 และจัดขึ้นและได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกระทรวงกลาโหมแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย และผสมผสานนิทรรศการและการสาธิตความสามารถของอุปกรณ์ทางทหารเข้ากับโปรแกรมการประชุมที่ครอบคลุมและการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของผู้เข้าชมจากต่างประเทศซึ่งประกอบด้วยผู้แสดงสินค้า คณะผู้แทน และผู้เยี่ยมชมจากต่างประเทศ

ผลงานของ Army-2024 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในช่วงเก้าปีที่ผ่านมา งานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์นี้ได้กลายเป็นหนึ่งในนิทรรศการอาวุธยุทโธปกรณ์ชั้นนำของโลก ซึ่งเป็นเวทีที่มีอำนาจในการหารือเกี่ยวกับแนวคิดและการพัฒนาที่สร้างสรรค์สำหรับกองกำลังติดอาวุธ

ผู้ดำเนินการอย่างเป็นทางการของ งานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งได้รับการมอบหมายจากกระทรวงกลาโหมของสหพันธรัฐรัสเซียคือ International Congresses and Exhibitions (MKB) โดย Army-2024 เป็นงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ระดับ จัดโดยกระทรวงกลาโหมของสหพันธรัฐรัสเซีย และได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นงานนิทรรศการที่สำคัญในรัสเซียในด้านเทคโนโลยีขั้นสูง อาวุธยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์ทางทหารสำหรับกองกำลังติดอาวุธและหน่วยงานด้านความปลอดภัย

โปรแกรมสาธิตกลางแจ้งจัดขึ้นเพื่อนำเสนอระบบอาวุธและอุปกรณ์ในสนามยิงปืนพิเศษพร้อมคำบรรยายสดและวิดีโอที่ฉายบนจอขนาดใหญ่ ซึ่งรับประกันความสำเร็จของการนำเสนอครั้งนี้ การนำเสนอเหล่านี้ได้รับการชื่นชมอย่างมากจากรัฐมนตรีกลาโหม คณะผู้แทนระดับมืออาชีพ และสื่อมวลชนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซียเยี่ยมชมบูธของผู้แสดงสินค้า รวมทั้งรัฐมนตรีกลาโหมของรัสเซีย คณะผู้แทนทหารและธุรกิจจากต่างประเทศเยี่ยมชมบูธของผู้แสดงสินค้า

Army-2024 เป็นงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นเวทีพิเศษในการสาธิตความสำเร็จที่ดีที่สุดในด้านการทหาร โดยมีการนำเสนอหน่วยอาวุธอัจฉริยะที่ทันสมัยและก้าวหน้า อุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการทหาร โครงการก่อสร้างและบำรุงรักษา ตลอดจนโอกาสอันยอดเยี่ยมสำหรับบริษัทและองค์กรต่าง ๆ ในการสาธิตผลิตภัณฑ์เพื่อบูรณาการเพิ่มเติมในการร่วมมือกันภายในกลุ่มอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

คำปราศรัยในการเปิดงาน Army-2024 ของประธานาธิบดี Vladimir Putin แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย 

“เพื่อน ๆ งานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ Army 2024 นำเสนอโปรแกรมที่แน่นขนัดและมีรายละเอียดมาก โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางการทหาร ข้าพเจ้าไม่สงสัยเลยว่างานนี้จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่มีอยู่และสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ โดยการลงนามในสัญญาที่เป็นประโยชน์ร่วมกันกับกระทรวงกลาโหมของรัสเซียและบริษัทในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อีกทั้งงานนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความร่วมมือของเรากับประเทศที่ใกล้ชิดและเป็นมิตรของเราในประเด็นความมั่นคงและในแง่ของการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ข้าพเจ้าขออวยพรให้ผู้เข้าร่วมในงาน Army-2024 จงประสบความสำเร็จและโชคดี"

รู้จัก ‘ROSOBORONEXPORT’ บริษัทส่งออก-นำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่เพียงผู้เดียวแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย

‘อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ’ เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้อย่างมากมายให้แก่ประเทศซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ โดย 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2019-2023) ข้อมูลจาก STOCKHOLM INTERNATIONAL PEACE RESEARCH INSTITUTE (SIPRI) ระบุว่า ประเทศที่ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์มากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดถึง 41.7% รองลงมาคือ ฝรั่งเศส มีส่วนแบ่งตลาด 10.9% และตามมาเป็นอันดับ 3 ได้แก่ สหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 10.5% น้อยกว่าฝรั่งเศสเล็กน้อย ด้วยเหตุสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจึงทำให้รัสเซียถูกมาตรการลงโทษ (Sanctions) ต่าง ๆ นานา ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียลดลง

สำหรับสหพันธรัฐรัสเซียแล้ว มีบริษัทที่ส่งออก/นำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์แต่เพียงผู้เดียว คือ ‘ROSOBORONEXPORT’ ซึ่งเดิมก่อตั้งขึ้นเป็น ROSOBORONEXPORT Federal State Unitary Enterprise (FSUE) ในปี 2000 โดยรัฐกฤษฎีกาของประธานาธิบดีแห่งรัสเซียและมีหน้าที่ในการดำเนินนโยบายของรัฐในด้านความร่วมมือทางเทคนิคการทหารระหว่างรัสเซียและต่างประเทศ ในปี 2007 บริษัทได้รับการจดทะเบียนเป็น ROSOBORONEXPORT Open (OJSC) บริษัทมหาชนจำกัด ต่อมาในปี 2011 Rostekhnologii (ปัจจุบันคือ Rostec) อันเป็นวิสาหกิจหลักของรัฐที่มีลักษณะเป็นบริษัท Holding ได้เข้าซื้อหุ้นของ ROSOBORONEXPORT OJSC 100% 

‘ROSOBORONEXPORT’ เป็นหน่วยงานสืบทอดกิจการอาวุธยุทโธปกรณ์ของอดีตสหภาพโซเวียต หรือสหพันธรัฐรัสเซียในปัจจุบัน เป็นหน่วยงานกลางของรัฐที่ดูแลรับผิดชอบในด้านเทคโนโลยีทางการทหารได้รับการก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1953 เมื่อมีการก่อตั้งแผนกวิศวกรรมทั่วไปภายในกระทรวงการค้าภายในและต่างประเทศของสหภาพโซเวียตตามการตัดสินใจของรัฐบาลโซเวียตในขณะนั้น ด้วยการขยายตัวของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จึงมีการจัดตั้งหน่วยงานส่งออกเฉพาะทางใหม่ ๆ ขึ้นหลายแห่ง 

ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 สหภาพโซเวียตมีบริษัทตัวกลางของรัฐ 2 แห่ง ได้แก่ Rosvooruzhenie และ Promexport และเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2000 บริษัทที่เป็นของรัฐทั้งสองแห่งก็ได้ควบรวมกิจการกันโดยรัฐกฤษฎีกาที่ 1834 ของประธานาธิบดีรัสเซีย โดยจัดตั้ง ‘ROSOBORONEXPORT Unitary’ ขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานกลางของรัฐเพียงแห่งเดียวสำหรับการส่งออกและนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซีย

19 มกราคม ค.ศ. 2007 Vladimir Putin ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ได้ลงนามในรัฐกฤษฎีกากำหนดให้บริษัท ROSOBORONEXPORT รับผิดชอบการส่งออกอาวุธทั้งหมด ทำให้สถานะอย่างเป็นทางการของ ROSOBORONEXPORT คือบริษัทส่งออกและนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์แต่เพียงผู้เดียวของสหพันธรัฐรัสเซีย ถือเป็นผู้ประกอบการชั้นนำในตลาดอาวุธระหว่างประเทศ ด้วยสถานะตัวแทนของรัฐทำให้บริษัทมีโอกาสพิเศษในการขยายและเสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในระยะยาวกับพันธมิตรต่างประเทศ ปัจจุบัน ลูกค้ารายใหญ่ซึ่งเป็นลูกค้าชั้นนำของ ROSOBORONEXPORT ได้แก่ จีน อินเดีย อัลจีเรีย ซีเรีย เวียดนาม เวเนซุเอลา และอิรัก ฯลฯ

เมื่อ ROSOBORONEXPORT เป็นบริษัทส่งออกและนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์แต่เพียงผู้เดียวของสหพันธรัฐรัสเซีย จึงทำให้บริษัทผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ของสหพันธรัฐรัสเซียไม่ต้องจัดการด้านการตลาดต่างประเทศด้วยตัวเอง ซ้ำตลาดในประเทศเองก็มีเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคงของสหพันธรัฐรัสเซียเท่านั้น ทั้งยังไม่ต้องวุ่นวายเรื่องใบอนุญาตส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์เหมือนเช่นประเทศตะวันตกอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกาต้องขออนุญาตกระทรวงต่างประเทศ และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ระบุไว้ในรายการกำหนดต้องขออนุญาตจำหน่ายต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น การขายเครื่องบินรบ แม้ว่าบริษัทผู้ผลิตต้องการที่จะขายเครื่องบินรบมากเพียงใดก็ตาม แต่คำสั่งซื้อต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาสหรัฐฯ ก่อน จึงจะดำเนินการต่อไปจนแล้วเสร็จได้ ทั้งนี้ไทยเรามีหน่วยงานที่มีภารกิจใกล้เคียงในลักษณะนี้คือ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) แต่ สทป. ยังคงทำหน้าที่ในทางวิชาการคือ การศึกษา วิจัย และพัฒนา อาวุธยุทโธปกรณ์ มากกว่าการทำตลาดต่างประเทศเช่นเดียวกับ ROSOBORONEXPORT

‘ประเทศไทย’ ก็เป็นหนึ่งในลูกค้าที่สั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากสหพันธรัฐรัสเซีย โดย ROSOBORONEXPORT หลายรายการ อาทิ กองทัพบก ซื้อเฮลิคอปเตอร์แบบ Mi-17V-5 เครื่องยิงจรวดต่อสู้อากาศยานแบบประทับบ่า 9K38 Igla อาวุธปืนเล็กยาวแบบ AK-104 (อาสาสมัครทหารพราน) กองทัพอากาศ ซื้อเครื่องบินแบบ Sukhoi Superjet ส่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซื้อเฮลิคอปเตอร์แบบ Ka-32 เป็นต้น 

อันที่จริงแล้วตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุคสงครามเย็น ไทยเราได้รับความช่วยเหลือทางทหารเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมหาศาลจากรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อให้เป็นหนึ่งในประเทศพันธมิตรต่อต้านสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน จนกระทั่งความพ่ายแพ้ของรัฐบาลต่าง ๆ ในประเทศเพื่อนบ้านของเรา ทำให้สหรัฐฯ ต้องถอนตัวออกจากภูมิภาคนี้ พร้อมกับตัดความช่วยเหลือทางทหารต่อประเทศไทย จนกระทั่งอาวุธยุทโธปกรณ์ตามความช่วยเหลือทางทหารจากรัฐบาลสหรัฐฯ หมดอายุสิ้นสภาพทหารใช้งาน กองทัพไทยจึงจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์จากประเทศต่าง ๆ 

ทั้งนี้สิ่งซึ่งกองทัพไทยจำเป็นต้องดำเนินการด้วยความเข้าใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ การบริหารความสมดุลอย่างเหมาะสมในการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ จากสองฟากฝ่ายซึ่งแบ่งข้างอย่างชัดเจนในปัจจุบัน เพื่อให้ไทยมีดุลยภาพทางทหารที่เหมาะสมที่สุดตามบริบทที่สมควรจะเป็นต่อไป

จากความหลากหลายสู่ภัยความมั่นคงทางศีลธรรม กับวาทกรรมต่อต้าน LGBT ในยุทธศาสตร์อำนาจของรัสเซีย

(24 เม.ย. 68) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหพันธรัฐรัสเซียได้ผลักดันนโยบายและวาทกรรมทางการเมืองที่แสดงออกถึงการต่อต้านขบวนการ LGBT อย่างชัดเจน ไม่เพียงแต่ในเชิงวัฒนธรรมและสังคม หากแต่ยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ โดยมีการจัดให้ "ขบวนการ LGBT" เป็นภัยคุกคามต่ออัตลักษณ์ของชาติ ศีลธรรมดั้งเดิม และความมั่นคงของรัฐ ความเคลื่อนไหวล่าสุดในการขึ้นบัญชี LGBT movement เป็น “องค์กรหัวรุนแรง” หรือแม้แต่ “องค์กรก่อการร้าย” สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของวาทกรรมอำนาจ ซึ่งมุ่งเน้นการผูกโยง “ความหลากหลาย” เข้ากับ “ความเสี่ยงทางความมั่นคง” โดยจะอธิบายผ่านบริบททางการเมืองและสังคมของรัสเซียต่อประเด็น LGBT ดังนี้

ในสมัยสหภาพโซเวียต ความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศถือเป็น “พฤติกรรมเบี่ยงเบน” และถูกทำให้เป็นอาชญากรรมภายใต้ประมวลกฎหมายอาญาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1934 ตามนโยบายของโจเซฟ สตาลิน ซึ่งมาตรา 121 ของกฎหมายอาญาโซเวียตระบุว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน (เฉพาะในผู้ชาย) มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี แนวคิดของโซเวียตสะท้อนการมองว่า LGBT เป็นภัยต่อโครงสร้างครอบครัวแบบสังคมนิยม และถูกเชื่อมโยงกับ “ความเสื่อมทรามของทุนนิยมตะวันตก” แม้ในยุคหลังสงครามเย็นภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน แม้รัสเซียจะยกเลิกมาตราดังกล่าวในปี ค.ศ. 1993 แต่อคติทางสังคมและการตีตราก็ยังคงอยู่ในระดับสูง

กฎหมายปี ค.ศ. 2013 หรือที่รู้จักในชื่อ “กฎหมายต่อต้านการโฆษณาเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเพศที่ไม่เหมาะสมกับเยาวชน” (Law on the Propaganda of Non-Traditional Sexual Relationships to Minors) มีสาระสำคัญคือการห้ามเผยแพร่เนื้อหาที่ “ส่งเสริมความสัมพันธ์รักร่วมเพศ” ต่อเด็กและเยาวชน โดยมีบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญา เช่น ปรับเงิน หรือจำกัดสิทธิ์ทางสื่อสารมวลชน ต่อมาในปี ค.ศ. 2022 กฎหมายดังกล่าวได้ถูกขยายขอบเขตให้ครอบคลุม “การโฆษณา LGBT ในที่สาธารณะ” ทั้งหมดไม่จำกัดเฉพาะต่อผู้เยาว์ ซึ่งหมายความว่าการพูดถึงความหลากหลายทางเพศในเชิงบวก การจัดกิจกรรม หรือสื่อที่เกี่ยวข้องสามารถถูกปรับโทษตามกฎหมายได้อย่างกว้างขวาง นี่เป็นพัฒนาการสำคัญที่รัฐรัสเซียได้บูรณาการวาทกรรมต่อต้าน LGBT เข้าสู่กลไกของกฎหมายอย่างเป็นทางการ

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2023 ศาลฎีกาของรัสเซียได้มีคำวินิจฉัยให้ “ขบวนการ LGBT International Public Movement” เป็น “องค์กรสุดโต่ง” «экстремистская организация» ตามคำร้องจากสำนักงานอัยการสูงสุด โดยให้เหตุผลว่ากลุ่มดังกล่าว “ทำลายคุณค่าดั้งเดิมของชาติและเป็นภัยต่อศีลธรรม” ต่อมาในปี ค.ศ. 2024 มีการประกาศโดยทางการบางระดับว่าการแสดงออกเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศอาจเข้าข่าย “การก่อการร้ายทางวัฒนธรรม” (cultural terrorism) หรือ “ภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอารยธรรมของรัสเซีย” นี่ไม่ใช่แค่การกำหนดให้ LGBT movement เป็นกลุ่มผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับการต่อต้าน LGBT ไปสู่ระดับความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงจาก “วาทกรรมทางศีลธรรม” ไปสู่วาทกรรมความมั่นคงและรัฐนิยม

เมื่อเราวิเคราะห์ในมิติของวาทกรรมความมั่นคง (Security Discourse) และทฤษฎีวาทกรรม (Discourse Theory) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) โอเล่ วีเวอร์ (Ole Wæver) และสจ๊วต ฮอลล์ (Stuart Hall) โดยเฉพาะเมื่อรัฐใช้วาทกรรมในการกำหนดว่า “อะไรคือภัยคุกคาม” และ “ใครคือศัตรูของชาติ” พบว่าในทศวรรษที่ผ่านมารัฐรัสเซียได้ใช้วาทกรรมที่ร้อยเรียง LGBT เข้ากับภาพของ “ภัยต่อความมั่นคงทางศีลธรรม” ตัวอย่างวลีสำคัญที่ปรากฏในสื่อและกฎหมายรัฐ ได้แก่

1) “ภัยต่อเด็ก”: โดยเฉพาะในกฎหมายปี ค.ศ.2013 ที่เน้นการปกป้องเยาวชนจาก “โฆษณา” ความหลากหลายทางเพศ กรอบนี้ทำให้รัฐสามารถนำเสนอการต่อต้าน LGBT ในฐานะการปกป้องเด็กแทนที่จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
2) “สงครามอารยธรรม”: รัฐบาลและสื่อกระแสหลักใช้แนวคิดว่าค่านิยมตะวันตกที่ยอมรับ LGBT คือการรุกรานทางวัฒนธรรม (Cultural Aggression) และรัสเซียต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องอัตลักษณ์ดั้งเดิม
3) “ภัยจากตะวันตก”: LGBT ถูกโยงเข้ากับภาพลักษณ์ของ “ตะวันตกที่เสื่อมทราม” ที่ต้องการแทรกแซงและทำลายโครงสร้างครอบครัวของรัสเซีย

วาทกรรมเหล่านี้ทำหน้าที่ จัดระเบียบความคิดของประชาชน และสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามภายใต้กรอบของ “การปกป้องชาติ”

การวิเคราะห์แนวนี้สามารถวางอยู่บนฐานความคิดของซามูเอล ฮันติงตัน (Samuel Huntington) 
ซึ่งมองว่าโลกหลังสงครามเย็นจะเข้าสู่การขัดแย้งระหว่าง “อารยธรรม” แทนอุดมการณ์ รัสเซียได้หยิบยืมกรอบนี้มาใช้ในเชิงวาทกรรมเพื่อวาดภาพความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมรัสเซีย (ที่เน้นความเป็นครอบครัว, ศีลธรรม, ศาสนาออร์โธดอกซ์) กับอารยธรรมตะวันตกที่เสื่อมทราม (ที่ยอมรับเสรีภาพทางเพศ) ดังน้น LGBT จึงถูกนำเสนอในฐานะเครื่องมือหรือผลพวงของลัทธิฝรั่งนิยม (Westernism) ที่คุกคามคุณค่าของโลกสลาฟ เป็นส่วนหนึ่งของ “การรุกรานด้วยซอฟต์พาวเวอร์” (soft power invasion) ที่มุ่งทำลายอัตลักษณ์ของรัสเซียจากภายใน

ในเชิงทฤษฎีอัตลักษณ์ (Identity Politics) และวาทกรรมของเออร์เนสโต้ ลาคลาวและชองทัล มูฟเฟ (Ernesto Laclau & Chantal Mouffe) ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญในสาย post-Marxist ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการวิเคราะห์การเมืองแบบวาทกรรม โดยเฉพาะในประเด็นอัตลักษณ์ ความขัดแย้ง และอำนาจของรัฐ 
พวกเขาปฏิเสธแนวคิดที่มองวาทกรรมเป็นเพียงการใช้ภาษาหรือการสื่อสารทั่วไป แต่เสนอว่า “วาทกรรมคือโครงสร้างของความหมาย” ที่มีผลต่อการจัดระเบียบโลกความจริง (social reality) โดยวาทกรรมคือกลไกที่ สร้างความจริง มากกว่าที่จะสะท้อนความจริง การผลิตอัตลักษณ์ของชาติรัสเซียยุคปูตินอาศัยการสร้าง “คู่ตรงข้าม” อย่างเข้มข้น โดย“เรา” คือประชาชนรัสเซียที่ยึดมั่นในคุณค่าดั้งเดิมของชาติ ศาสนา ครอบครัว ในขณะที่ “พวกเขา” คือกลุ่มเคลื่อนไหว LGBT, นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน, ตะวันตก และ NGO ต่างชาติ ซึ่งการกำหนดว่าใคร “ไม่ใช่พวกเรา” คือกลไกสำคัญในการรวมพลังชาติผ่านศัตรูร่วม ซึ่งในกรณีนี้ LGBT ถูกทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการคุกคามความมั่นคงทางวัฒนธรรมทั้งในด้านศีลธรรม ครอบครัว และอธิปไตย

เมื่อเราพิจารณา “LGBT ในฐานะศัตรูที่ผลิตได้” ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นร่วมสมัยที่สำคัญในรัฐศาสตร์เชิงวิพากษ์และทฤษฎีอำนาจ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาผ่านแนวคิดของมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) จิออจิโอ อากัมเบน (Giorgio Agamben) และฌาคส์ เดอริดา (Jacques Derrida) ที่มองว่ารัฐสามารถ “ผลิตความจริง” และ “กำหนดศัตรู” เพื่อควบคุมสังคมได้ เราพบว่า รัฐรัสเซียได้ใช้ประเด็น LGBT มาจัดระเบียบทางศีลธรรม (Moral Ordering of Society) ของสังคม รัฐชาติในยุคหลังสมัยใหม่โดยเฉพาะรัฐที่มีแนวโน้มอำนาจนิยมแบบอนุรักษนิยม มักใช้อำนาจทางวาทกรรมในการกำหนดขอบเขตของ "ศีลธรรมที่ถูกต้อง" ซึ่งเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ชาติ เช่น ศีลธรรมแห่งครอบครัว (Familial Morality) ศาสนาออร์โธดอกซ์ และเพศตามกำเนิดและบทบาททางเพศที่ชัดเจน กลุ่ม LGBT จึงถูกจัดให้อยู่นอกกรอบนี้และถูกใช้เป็น “คนอื่น” (Other) ที่รัฐสามารถจัดความหมายว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงทางวัฒนธรรมและจริยธรรม เช่นเดียวกับการที่รัฐเคยจัด “กลุ่มศัตรูของชนชั้น” หรือ “กลุ่มแปลกแยกทางอุดมการณ์” ในยุคสงครามเย็น วาทกรรมแบบนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงนโยบายทางเพศแต่เป็นการควบคุมความจริงในระดับอัตลักษณ์ของประชาชน

นอกจากนี้ LGBT ยังถูกกำหนดให้อยู่ในฐานะเป้าเบี่ยงเบนความสนใจจากวิกฤตเศรษฐกิจหรือสงครามซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่รัฐใช้อธิบายและควบคุมความไม่พอใจจากประชาชนคือ “การผลิตศัตรูภายใน” เพื่อเบี่ยงประเด็นจากความล้มเหลวของรัฐในด้านอื่น เช่น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ ความสูญเสียในสงครามหรือความไม่พอใจของสาธารณะในบริบทการเมืองระหว่างประเทศ ในกรณีรัสเซียตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.2022 เป็นต้นมา กลุ่ม LGBT ถูกนำเสนอผ่านสื่อรัฐในฐานะสัญลักษณ์ของความเสื่อมทรามที่รุกรานจากตะวันตก และเป็น “เป้าหมายที่ง่าย” ต่อการโจมตีได้โดยไม่ต้องเผชิญแรงต้านจากผู้มีอำนาจหรือกลุ่มทุน แนวทางนี้คล้ายกับกลไกของ “แพะรับบาป” (scapegoating) ที่ใช้ในระบอบอำนาจนิยมหลายแห่ง เช่น การต่อต้านยิวของเยอรมนียุคนาซี 

การสร้างศัตรูภายในยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรวมศูนย์อำนาจให้กับวลาดิมีร์ ปูตินผู้นำ ลดทอนการถ่วงดุลจากฝ่ายค้านหรือภาคประชาสังคม รวมถึงกำหนดกรอบของ “ความรักชาติ” ให้หมายถึง “การปกป้องค่านิยมต่อต้าน LGBT” ผู้นำสามารถ “ผูกขาดคุณค่าทางศีลธรรม” ได้ภายใต้กรอบว่าเป็น “ผู้พิทักษ์ชาติจากภัยเสื่อมทราม” วาทกรรมนี้ยังส่งเสริมการสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษนิยม ศาสนา และชนชั้นแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโดยให้ความรู้สึกมีส่วนร่วมกับการปกป้องชาติ โดยไม่ต้องเข้าใจนโยบายเศรษฐกิจหรือการเมืองระหว่างประเทศ

เมื่อเราพิจารณาในระดับนานาชาติ รัสเซียไม่ได้เป็นรัฐเดียวที่ใช้วาทกรรมต่อต้าน LGBT เพื่อยืนยัน “อัตลักษณ์ของรัฐ” หรือ “ปกป้องศีลธรรม” ยังมีอีกหลายประเทศที่ใช้วาทกรรมการต่อต้าน LGBT ยกตัวอย่างเช่นฮังการี ภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บาน ฮังการีได้ผ่านกฎหมายห้ามเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ LGBT ในสื่อที่เด็กเข้าถึงได้ในปี ค.ศ. 2021 วาทกรรมเน้นว่า LGBT เป็นภัยคุกคามต่อครอบครัวแบบดั้งเดิมและค่านิยมของชาติ รัฐบาลออร์บานยังอ้างว่า ยุโรปตะวันตกพยายาม “บังคับ” ค่านิยมเสรีนิยมเข้าสู่ประเทศยุโรปตะวันออก ในขณะที่อิหร่าน การมีเพศสัมพันธ์เพศเดียวกันยังคงผิดกฎหมายและมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต กลุ่ม LGBT ต้องดำรงชีวิตใน “พื้นที่เงา” โดยไม่มีการคุ้มครองจากรัฐ และถูกกีดกันจากการศึกษา การทำงาน และบริการสาธารณะ รัฐมักใช้ศาสนาและกฎหมายชารีอะห์เป็นเครื่องมือในการควบคุมอัตลักษณ์และศีลธรรม เมื่อเปรียบเทียบกับรัสเซีย รัสเซียตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างฮังการี (แนวอำนาจนิยมแบบเลือกตั้ง) และอิหร่าน (รัฐศาสนา) รัฐใช้ “ศีลธรรมรัสเซียดั้งเดิม” เป็นกรอบการจัดระเบียบทางอุดมการณ์ โดยนำเสนอ LGBT เป็นภัยต่ออารยธรรมสลาฟ-ออร์โธดอกซ์ และ “ภัยจากตะวันตก”

ดังนั้นวาทกรรมต่อต้าน LGBT ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ระดับสัญลักษณ์ทางการเมือง แต่มีผลกระทบที่ชัดเจนต่อการดำรงชีวิต กฎหมาย “ต่อต้านโฆษณา LGBT” (ในปี ค.ศ. 2013 และขยายในปี ค.ศ. 2022) ทำให้กิจกรรมทางวัฒนธรรม การให้ข้อมูล และการแสดงออกทางอัตลักษณ์ถูกตีความว่า “ผิดกฎหมาย” ปี ค.ศ. 2023-2024 กลุ่ม LGBT ถูกจัดเป็น “องค์กรสุดโต่ง” ส่งผลให้องค์กรช่วยเหลือและพื้นที่ปลอดภัยต้องปิดตัว มีรายงานว่ากลุ่ม LGBT ถูกตำรวจตรวจสอบอย่างเข้มข้นในโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถานที่ทำงาน กลุ่มอนุรักษนิยมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐมักใช้ความรุนแรงกับกลุ่ม LGBT โดยไม่มีการลงโทษทางกฎหมายพื้นที่ออนไลน์ที่กลุ่ม LGBT เคยใช้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือช่วยเหลือกัน กำลังถูกตรวจสอบและแบนอย่างเป็นระบบ

องค์กรสิทธิมนุษยชน อย่างเช่น Human Rights Watch และ Amnesty International ได้ออกแถลงการณ์ประณามรัสเซียหลายครั้งว่า “ล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน” มีการรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของ LGBT ในรัสเซีย ซึ่งถูกใช้ในการนำเสนอในเวทีสหประชาชาติ ในขณะที่ประชาคมระหว่างประเทศ สหภาพยุโรป (EU) ได้แสดงท่าทีประณามและกำหนดมาตรการจำกัดความร่วมมือทางวัฒนธรรมบางด้าน UN Human Rights Council ตั้งข้อสังเกตว่า รัสเซียมีแนวโน้มละเมิดหลักการ “non-discrimination” ตามพันธกรณีของกติการะหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเทศพันธมิตรของรัสเซียบางแห่ง เช่น เบลารุส, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย กลับสนับสนุนท่าทีดังกล่าวของรัสเซีย โดยอ้างเรื่อง “อธิปไตยทางวัฒนธรรม”

บทสรุป ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านของระเบียบโลก รัสเซียได้ใช้ LGBT ไม่เพียงในฐานะกลุ่มประชากร แต่ในฐานะ “วาทกรรมทางการเมือง” ที่สามารถจัดระเบียบอุดมการณ์ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชน ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับโลกภายนอก ภายใต้ยุทธศาสตร์ของอำนาจแบบอนุรักษนิยม รัฐบาลรัสเซียได้ลดทอน “ความหลากหลายทางอัตลักษณ์” ให้กลายเป็น “ภัยความมั่นคงของชาติ” ผ่านการสร้างศัตรูภายใน การควบคุมทางศีลธรรม และการประกาศใช้กฎหมายที่มีลักษณะกดทับพื้นที่ของกลุ่มเพศหลากหลาย กลไกของรัฐอาศัย วาทกรรมความมั่นคง (securitization discourse) โดยผูกโยง LGBT เข้ากับแนวคิด “ภัยจากตะวันตก”, “ภัยต่อเด็ก”, และ “สงครามอารยธรรม” เพื่อทำให้ประชาชนยอมรับมาตรการที่จำกัดสิทธิเสรีภาพได้ภายใต้ข้ออ้างเพื่อความมั่นคงและศีลธรรมของชาติ การสร้าง “เรา–พวกเขา” (us–them) ดังกล่าวยังทำหน้าที่ผลิต “ศัตรูที่จัดการได้” (manageable enemy) เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ การคว่ำบาตร หรือภาวะสงคราม อย่างไรก็ตามแนวโน้มในอนาคตชี้ให้เห็นว่า การเมืองอัตลักษณ์ (identity politics) กำลังกลายเป็นสนามต่อสู้สำคัญในการกำหนดทิศทางของระเบียบโลกใหม่ รัฐต่าง ๆ โดยเฉพาะอำนาจที่ต่อต้านเสรีนิยมตะวันตกอาจหันมาใช้วาทกรรมแบบเดียวกันนี้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรูปแบบอำนาจที่รวมศูนย์และต่อต้านสิทธิมนุษยชน ในบริบทนี้ LGBT ไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มเปราะบางทางสังคม แต่กลายเป็นจุดตัดของอุดมการณ์ อำนาจ และภูมิรัฐศาสตร์ ที่ควรถูกทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top