Tuesday, 14 May 2024
ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล

วิเคราะห์นโยบายพรรคการเมืองในเวทีเลือกตั้ง 66 เป็นไปได้ไหม? ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันของเพื่อไทย

วิเคราะห์นโยบายของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๖

เชื่อว่า เศรษฐกิจของประเทศน่าจะมีปัญหาอย่างแน่นอน เมื่อมีพรรคการเมืองหาเสียงด้วยการกำหนดอัตราค่าจ้างและเงินเดือนโดยไม่ได้คำนวณจาก ‘ดัชนีราคาผู้บริโภค’ (Consumer Price Index : CPI)

เมื่อพรรคเพื่อไทย ชูนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำสูงกว่าปัจจุบันเกือบสองเท่าภายใน ๔ ปี แต่ตอนที่เรียนปริญญาโทผู้เขียนเคยเรียนวิชาที่มีการสอนเกี่ยวกับการคำนวณอัตราค่าจ้างเงินเดือนมา จึงมีข้อสงสัยสงสัยว่า วิธีคิดค่าจ้างขั้นต่ำของพรรคการเมืองพรรคนั้น ใช้ฐานคิดคำนวณจากอะไร ‘หลักการหรือหลักกู’

ศาสตราจารย์ สมพงษ์ จุ้ยศิริ

ด้วยความที่เป็นลูกศิษย์ของ ศาสตราจารย์ สมพงษ์ จุ้ยศิริ ปรมาจารย์ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ท่านหนึ่งของประเทศ จำได้ว่า ท่านสอนเรื่องการคำนวณอัตราค่าจ้างเงินเดือนว่า ต้องคำนวณจาก ‘ดัชนีราคาผู้บริโภค’ (Consumer Price Index : CPI)

ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) คือ เครื่องมือทางสถิติที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกของสินค้าและบริการโดยเฉลี่ยที่ผู้บริโภคจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการจำนวนหนึ่ง ณ เวลาหนึ่งเทียบกับปีฐาน (Base Year) โดยดัชนีราคาผู้บริโภคกำหนดขึ้นจากความต้องการศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวและการวัดระดับการครองชีพของประชากร เพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชากรให้ดียิ่งขึ้น

แนวคิดพื้นฐานของดัชนีราคาผู้บริโภค พัฒนามาจากแนวคิดของดัชนีค่าครองชีพ (Cost of living index) ซึ่งต้องการวัดค่าใช้จ่ายในการบริโภคของผู้บริโภคในเดือนหนึ่งๆ โดยยังรักษามาตรฐานการครองชีพตามระดับที่กำหนดไว้ได้ ซึ่งเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เนื่องจากมาตรฐานการครองชีพยังขึ้นกับปัจจัยอื่น ได้แก่ รายได้ จำนวนสมาชิกในครัวเรือน ภาษี คุณภาพสินค้า เทคโนโลยี และราคาสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไป

ดังนั้น จึงได้มีการนำดัชนีราคาผู้บริโภคมาใช้แทนโดยให้มีปริมาณและลักษณะของสินค้าที่คงที่แต่เปลี่ยนแปลงเฉพาะราคาสินค้าเท่านั้น แม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคจะไม่สามารถแทนดัชนีราคาค่าครองชีพได้อย่างสมบูรณ์ แต่อาจกล่าวได้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคเป็นตัวประมาณค่าดัชนีค่าครองชีพได้ดีในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการบริโภค 

‘Valerie’ หญิงเมืองน้ำหอม ผู้ประท้วงเสื้อกั๊กเหลือง ถูกดำเนินคดีข้อหา ‘หมิ่นประมาทประธานาธิบดีฝรั่งเศส’

ประเทศประชาธิปไตยอย่างเช่น ‘ฝรั่งเศส’ ก็มีการดำเนินคดีกับผู้ที่หมิ่นประมาทประธานาธิบดี ดังเช่นกรณีของ Valerie หญิงผู้ประท้วงกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองที่ได้ปฏิเสธว่า เธอไม่ได้จงใจเรียกประธานาธิบดี Emmanuel Macron ว่า ‘ขยะ’ บนโซเชียลมีเดีย

มีรายงานว่า หญิงชาวฝรั่งเศสรายนี้อาจต้องเผชิญกับโทษจำคุก 6 เดือน และค่าปรับอีก 22,500 euros เนื่องจากการโพสต์กล่าวหาว่า ประธานาธิบดี Emmanuel Macron ว่าเป็น ‘ขยะ’ ในเพจของเธอบนโซเชียลมีเดีย นั่นเป็นไปตามรายงานข่าวของ ‘La Voix du Nord’ สื่อท้องถิ่น เมื่อวันอังคารที่ 28 ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่าหญิงคนนี้ชื่อ ‘Valerie’ จาก St. Martin

ด้วยข้อหาดูหมิ่นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เธอยืนยันว่า เธอไม่ได้ตั้งใจที่จะอธิบายถึงประธานาธิบดี Macron แบบนั้นด้วยซ้ำ โดยกล่าวโทษระบบการแก้ไขภาษาอัตโนมัติบนโทรศัพท์ของเธอ และอ้างว่า รัฐบาลกำลัง ‘เอาเธอเป็นตัวอย่าง’

ผู้ประท้วงเสื้อกั๊กเหลืองผู้นี้ถูกจับกุมเมื่อวันศุกร์ (24 มี.ค.) หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นายปรากฏตัวที่ประตูอพาร์ตเมนต์ของเธอ เธอบอกกับสำนักข่าว

โดย ‘Valerie’ ถูกนำตัวไปที่สถานีตำรวจท้องที่ โดยไม่ทราบว่าเป็นการล้อเล่นหรือไม่

เธอบอกว่า พวกเขาสงสัยว่าเธอเขียนคำว่า ‘Macron ordure’ (มาครง ขยะ) บนกำแพงในชุมชน Arques ของเขต Pas-de-Calais ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส

แต่เธอก็อธิบายโดยปฏิเสธข้อกล่าวหา พร้อมระบุว่า “ฉันแค่ถ่ายรูปและยิ้มกับมัน”

นอกจากนี้ เธอยังพบกับโพสต์บน Facebook เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมีข้อความว่า “ขยะจะปราศรัยในวันพรุ่งนี้เวลา 13.00 น. สำหรับคนที่ไม่มีอะไรเลย เราเจอขยะในทีวีเสมอ” เป็นวันที่ก่อนที่ประธานาธิบดี Macron จะมีกำหนดให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์กับสำนักข่าวใหญ่สองแห่งของฝรั่งเศส

ส่องนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดของ ‘ก้าวไกล’ ความไม่เข้าใจในหลักการจัดระเบียบการปกครองของไทย

วิเคราะห์นโยบายของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๖

น่าแปลกที่พรรคการเมืองพรรคนี้ ไม่เข้าใจในหลักการจัดระเบียบการปกครองของประเทศไทย ซึ่งแบ่ง
เป็น ๓ รูปแบบได้แก่ 

๑. ส่วนกลาง โดยราชการส่วนกลางมีอำนาจการตัดสินใจและการดำเนินการต่าง ๆ ได้แก่ คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สังกัดราชการส่วนกลาง ที่สามารถใช้อำนาจบริหารครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นหลักที่ถือเอาสิทธิขาดในการปกครองเป็นที่ตั้ง

๒. ส่วนภูมิภาค โดยเกิดขึ้นจากข้อจำกัดของราชการส่วนกลางทำให้ล่าช้า และไม่ทั่วถึงทุกท้องที่พร้อม ๆ กัน ราชการส่วนกลางจึงแบ่งมอบอำนาจการตัดสินใจทางการบริหารในบางเรื่องให้เจ้าหน้าที่ของราชการส่วนกลางที่ส่งไปประจำปฏิบัติหน้าที่ในภูมิภาค/เขตการปกครองต่าง ๆ (Field office) สามารถปฏิบัติงานให้บรรลุ นโยบาย และเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของราชการส่วนกลาง

๓. ส่วนท้องถิ่น โดยราชการส่วนกลาง โอนอำนาจการปกครอง หรือ การบริหารบางส่วนบางเรื่องที่เกี่ยวกับการให้บริการสาธารณะให้องค์กรหรือนิติบุคคลอื่นรับไปดำเนินการแทน ภายในอาณาเขตตามแต่ละท้องถิ่น ด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่น โดยมีอิสระพอสมควร มีราชการส่วนกลางทำหน้าที่เพียงกำกับดูแลและสนับสนุน (มิใช่การบังคับบัญชา) เป็นหลักที่ถือเอาเสรีภาพของประชาชนที่จะปกครองตนเองเป็นที่ตั้ง

รูปแบบของหน่วยงานปกครองท้องถิ่น แม้จะมีความหลากหลายในการจัดองค์กร/รูปแบบของหน่วยการปกครองท้องถิ่น แต่โดยทั่วไปอาจสรุปได้ว่า มีหน่วยการปกครองท้องถิ่นอยู่ ๓ รูปแบบ คือ...

(๑) หน่วยการปกครองท้องถิ่นประเภทมหานคร ได้แก่การบริหารมหานครต่าง ๆ อาทิ กรุงโตเกียว นครนิวยอร์ก กรุงลอนดอน สำหรับบ้านเราได้แก่ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา (ทั้งสองแห่งถูกจัดให้เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด ฯลฯ

(๒) หน่วยการปกครองท้องถิ่นของชุมชนที่เป็นเมือง อาทิ เทศบาล (บ้านเรามี ๓ ประเภทตามความหนาแน่นของประชากรได้แก่ นคร เมือง และตำบล) หรือ ในสหรัฐอเมริกา เรียกว่า เทศมณฑล (County)

(๓) หน่วยการปกครองท้องถิ่นของชุมชนขนาดเล็ก / ชุมชนชนบท อาทิ เมืองขนาดเล็ก/หมู่บ้าน (Village) ของสหรัฐอเมริกา หรือ องค์การบริหารส่วนตำบลของไทย

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ประเทศไทยมีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดครบทุกจังหวัด โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย สภาจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัด โดยสภาจังหวัดประกอบด้วยสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติ กำหนดนโยบายการบริหารและควบคุมฝ่ายบริหาร อันมีหัวหน้าฝ่ายบริหาร คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด (ปัจจุบันหัวหน้าฝ่ายบริหารคือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง) เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารงาน ด้วยการนำมติหรือนโยบายของสภาจังหวัดไปพิจารณาดำเนินการ โดยมีพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดได้แก่พื้นที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ของเทศบาลและสุขาภิบาล (ซึ่งยกเลิกไปแล้ว หลังจากการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลจนครบทั่วประเทศ)

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้มีพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งกำหนดให้สภาตำบลซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยย้อนหลัง ๓ ปีตั้งแต่ ๑๕๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป จัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล มีฐานะเป็นราชการส่วนท้องถิ่น และเป็นนิติบุคคล ทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่มีพื้นที่ในการดำเนินกิจการ จึงสมควรปรับปรุงบทบาทและอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้สอดคล้องกันและปรับปรุงโครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ได้มีการตราพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยกำหนดให้พื้นที่จังหวัดเป็นพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด มีผู้บริหารสูงสูด คือ ตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดโดยความเห็นชอบของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ปัจจุบันมาจากการเลือกตั้งโดยตรงแล้ว) เป็นผู้ปกครองและบังคับบัญชาข้าราชการส่วนจังหวัด และดำเนินกิจการส่วนจังหวัดควบคู่ไปกับสภาจังหวัด  

โอกาสริบหรี่!! ‘José Salvador Alvarenga’ ชายผู้รอดชีวิต หลังลอยเรือกลางมหาสมุทรแปซิฟิกนานถึง 438 วัน

สวัสดีนักอ่านทุกท่านครับ วันนี้ผมมีเรื่องราวน่าสนใจมาเล่าให้ทุกท่านได้อ่านกันอีกแล้ว วันนี้จะขอเล่าเกี่ยวกับเรื่องการเอาชีวิตรอดกลางทะเลของผู้ชายที่ชื่อว่า José Salvador Alvarenga ผู้ซึ่งลอยเรืออยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นเวลากว่า 438 วัน เป็นระยะเวลากว่า 6,700 ไมล์ ต้องบอกเลยว่าเรื่องราวของเขานั้นนับเป็นเรื่องเหลือเชื่อและมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก ๆ

แต่ก่อนจะเล่าเรื่องของ José Salvador Alvarenga ผมขอเล่าเรื่องที่คล้าย ๆ กันก่อน โดยเรื่องนี้เกิดขึ้นราว ๆ 200 ปีก่อน สมัยนั้นการขนส่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือการขนส่งทางเรือ ซึ่ง ณ ตอนนั้นเรื่องราวที่เกิดขึ้น เกิดกับกัปตันเรือที่ชื่อ Jukichi และลูกเรืออีกสี่คน โดยพวกเขาได้ออกเดินเรือ Tokujomaru เพื่อนำถั่วเหลืองไปส่งที่เมืองเอโดะ (เมืองโตเกียวในปัจจุบัน) แต่โชคร้ายที่พวกเขาประสบกับพายุลูกใหญ่ และพายุก็ทำให้เสากระโดงเรือของพวกเขาเสียหายหนัก

แม้เรือจะเสียหาย แต่ก็ยังสามารถลอยลำอยู่กลางทะเลอันเวิ้งว้างได้ กัปตันเรือแลลูกเรือกินอาหารและดื่มน้ำที่บรรทุกมาจนหมด ทำให้ต้องรองน้ำฝนเก็บไว้ดื่ม และต้องกินถั่วเหลืองที่บรรจุกมาแทน 

เวลาผ่านไปหลายเดือน พวกเขาก็เริ่มป่วยด้วยโรคเลือดออกตามไรฟัน เนื่องจากร่ากายขาดสารอาหาร และเมื่อเวลาผ่านไปอีก ลูกเรือบางคนก็เสียชีวิตไปทีละคน เวลาผ่านไปราวๆ หนึ่งปี ก็เหลือเพียงแค่กัปตันเรือและลูกเรืออีกสองคน (Otokichi และ Hanbe) เท่านั้น

สุขภาพของพวกเขาเริ่มย่ำแย่ และมีแววว่าจะเสียชีวิตในอีกไม่นาน แต่ท้ายที่สุดเรือของพวกเขาก็ลอยมาติดที่นอกชายฝั่ง California ในปี 1815 ทำให้พวกเขาทั้งสามคนเป็นชาวญี่ปุ่นกลุ่มแรกที่มาเหยียบชายฝั่งของสหรัฐอเมริกา

ทั้งสามได้รับความช่วยเหลือจนสุขภาพดีขึ้น และได้เดินทางกลับประเทศญี่ปุ่น แต่น่าเศร้าที่ Hanbe เสียชีวิตระหว่างการเดินทางกลับ จึงเหลือเพียงแค่กัปตัน Jukichi และ Otokichi ที่รอดชีวิตกลับมาเหยียบแผ่นดินเกิด

เมื่อมาถึง Jukichi ได้รับเกียรติมากมาย และได้รับนามสกุล Oguri ด้วย

จวบจนถึงปัจจุบันนี้เรื่องราวของทั้งสี่คนยังเป็นสถิติโลกในเรื่องการรอดชีวิตในทะเลเป็นเวลาที่ยาวนานที่สุด โดยพวกเขาใช้ชีวิตกลางทะเลรวมทั้งสิ้น 484 วัน ระยะทางกว่า 5,000 ไมล์

สำหรับเรื่องราวการรอดชีวิตของ José Salvador Alvarenga นั้นนับเป็นเรื่องราวที่ถููกพูดถึงในหลากหลายแง่มุม บางคนก็เคลือบแคลงใจที่เขาสามารถรอดชีวิตมาได้ บางคนก็ชื่นชมในความอทนของเขา 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2014 ขณะนั้นตัวเขาอายุราวๆ 37 ปี ได้ว่ายน้ำเข้าฝั่งที่ Tile Islet ซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Ebon Atoll บนหมู่เกาะ Marshall ในสภาพเปลือยกาย ถือมีด และตะโกนเป็นภาษาสเปน เขาได้รับการรักษาในโรงพยาบาลในเมืองมาจูโร ก่อนที่จะบินกลับไปหาครอบครัวในเอลซัลวาดอร์ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2014 

สื่อรายงานว่าเขาใช้ชีวิตในทะเลตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2012 และรอดชีวิตจากการกินปลาดิบ เต่า นกตัวเล็ก ปลาฉลาม และน้ำฝน โดยใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่ประมาณ 14 เดือนก่อนถูกพบ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2012 José Salvador Alvarenga ได้ออกเรือจากหมู่บ้านชาวประมง Costa Azul ในเม็กซิโก พร้อมด้วย Ezequiel Córdoba ชาวประมงวัย 23 ปี เพื่อนร่วมงานของเขา ซึ่งพวกเขาไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน 

Alvarenga ตั้งใจจะใช้เวลา 30 ชั่วโมงในการตกปลาทะเลน้ำลึก ซึ่งในระหว่างนั้นเขาหวังว่าจะจับปลามาร์ลิน และปลากะพง แต่เพื่อนร่วมงานที่คุ้นเคยของเขาไม่สามารถทำงานได้ เจ้านายจึงให้ Córdoba ที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อนเลยไปกับเขาแทน 

ทั้งสองออกเรือกรรเชียงเล็กไฟเบอร์กลาสขนาด 7 เมตร (23 ฟุต) ซึ่งติดตั้งเครื่องยนต์เพียงเครื่องเดียว และถังน้ำแข็งสำหรับเก็บปลา (ซึ่งต่อมาเป็นที่เก็บน้ำฝนสำหรับดื่ม) 

แต่เมื่อออกจากฝั่งได้ไม่นานเรือของทั้งคู่ก็ถูกพายุพัดจนเรือออกนอกเส้นทาง เครื่องยนต์รวมทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาในเรือส่วนใหญ่เสียหาย แม้ว่า Alvarenga จะพยายามติดต่อเจ้านายของเขาทางวิทยุก่อนที่มันจะใช้การไม่ได้ เพราะแบตเตอรี่หมด แต่ก็ไม่เป็นผล

พายุกินเวลานาน 5 วัน เมื่อพายุสงบลง Alvarenga และ Córdoba ต่างก็ไม่รู้ว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน หรือจะกลับบ้านได้อย่างไร พายุได้ทำลายเครื่องมือประมงส่วนใหญ่ของพวกเขา เหลือเพียงอุปกรณ์พื้นฐาน ไม่มีเครื่องยนต์ ไม่มีใบเรือ และไม่มีกระทั่งไม้พาย 

และแม้ว่าพวกเขาจะจับปลาสดได้เกือบ 500 กิโลกรัม (1,100 ปอนด์) แต่ก็ต้องทิ้งลงน้ำ เพื่อรักษาสมดุลของเรือให้ลอยอยู่ได้

ขณะที่ทางด้าน เจ้านายของ Alvarenga ก็ได้ให้ทีมค้นหาออกตามหาพวกเขา แต่ก็ต้องล้มเลิกไป เนื่องจากทัศนวิสัยไม่ดี

เวลาหลายวันผ่านไป Alvarenga และ Córdoba ได้เรียนรู้วิธีหาอาหาร Alvarenga สามารถจับ ปลา เต่า แมงกะพรุน และนกทะเล ได้ด้วยมือเปล่า และเก็บเศษอาหารและเศษพลาสติกที่ลอยอยู่ในน้ำมาใช้บ้างเป็นครั้งคราว พวกเขาต้องดื่มน้ำจากน้ำฝนที่ตกลงมา แต่ก็มีบ่อยครั้งที่ต้องดื่มเลือดเต่า หรือปัสสาวะของตัวเอง 

เรืองประมงลำเล็ก ๆ ลอยไปเรื่อย ๆ โดยไร้ซึ่งทั้งจุดหมายและความหวัง สี่เดือนผ่านไป Córdoba มีอาการอาหารเป็นพิษ และเริ่มหมดความหวัง เขาตัดสินใจหยุดกินอาหารจนตาย 

Alvarenga เล่าว่า สี่วันหลังการตายของ Córdoba เขาคิดจะยอมแพ้ด้วยการฆ่าตัวตายเช่นกัน แต่ด้วยความเชื่ออันแรงกล้าทางศาสนาจึงพยายามอดทนต่อไป 

Alvarenga อ้างว่า Córdoba ขอให้เขาสัญญาว่าจะไม่กินศพของเขา หากเขาเสียชีวิต ดังนั้น Alvarenga จึงเก็บศพของ Córdoba ไว้บนเรือ และพูดกับศพนั้นด้วยซ้ำ 

หลังจากหกวันที่เพื่อนเพียงคนเดียวของเขาตายไป Alvarenga ก็ตระหนักว่า ตนเองกำลังใกล้ที่จะวิกลจริตแล้ว จึงทิ้งศพลงน้ำ

เจ้าถิ่นเจ๋ง!!! ร้านสะดวกซื้อเจ้าถิ่นใน ‘อินโดนีเซีย’ แข็งแกร่ง!! แม้แต่ ‘7-11’ ยังต้องยอมแพ้ - ล้มเลิกกิจการ

สวัสดีนักอ่านทุกท่านครับ วันนี้ผมมีเรื่องราวน่าสนใจจากประเทศเพื่อนบ้านมาเล่าสู่กันฟังครับ หากพูดถึงร้านสะดวกซื้อในไทยที่เราเห็นได้บ่อย เข้าใช้บริการบ่อย ก็ต้องนึกถึง 7-Eleven ถูกต้องไหมครับ และเป็นที่รู้กันโดยทั่วว่า 7-Eleven ประสบความสำเร็จในประเทศไทยอย่างยิ่ง

แต่ถึงแม้ว่า 7-Eleven จะประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายในหลาย ๆ ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็น ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมาร์ แต่ใน ‘อินโดนีเซีย’ แล้วนั่น กลับเป็นเรื่องที่ยากแสนยาก และไม่มีทีท่าว่าจะสามารถเจาะตลาดร้านสะดวกซื้อของประเทศนี้ได้

เหตุผลหลัก ๆ ที่เป็นเช่นนั้น คือ ‘อินโดนีเซีย’ มีเครือข่ายร้านค้าสะดวกซื้ออยู่แล้ว เช่น ‘Indomaret’ และ ‘Alfamart’ ที่สามารถพบเจอได้เกือบทุก ๆ ๑ กม. หรือน้อยกว่านั้น และร้านค้า ๒ เจ้านี้จะกระจายตัวอยู่ตามเมืองใหญ่หรือเมืองเล็ก ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่ 7-Eleven ทำแล้วได้ผลดีในประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ร้านสะดวกซื้ออย่าง Lawson's และ Family Mart ก็ใช้วิธีการนี้ด้วยเช่นกัน

นอกจาก 7-Eleven จะนิยมเปิดร้านสะดวกซื้อภายในอาคาร สำนักงาน หรือในพื้นที่ที่มีคนพลุกพล่าน โดยกำหนดเป้าหมายไปยังพื้นที่ที่ Indomaret และ Alfamart ตั้งอยู่ หวังให้มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการแล้ว 7-Eleven ยังอัปเกรดร้านให้เป็นร้าน ‘ระดับพรีเมียม’ โดยมีบริการสถานที่นั่งรับประทานอาการ ดื่มเครื่องดื่ม และมี Wi-Fi ให้ใช้ฟรีอีกด้วย

ดูเหมือนว่ากลยุทธ์นี้จะดึงดูดความสนใจจากลูกค้าได้ แต่ก็เพียงแค่ในระยะแรกที่เป็นกระแสเท่านั้น เพราะเมื่อเวลาผ่านไปผู้คนมักจะเข้ามาซื้อเพียงเครื่องดื่มที่มีราคาถูก เพียงหวังจะได้นั่งในร้านเพื่อใช้ Wi-Fi ฟรีเป็นเวลาหลายชั่วโมง ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้ 7-Eleven มีรายได้น้อย ในขณะที่ค่าใช้จ่ายสูง (ค่าไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และค่าเช่าพื้นที่ในพื้นที่ระดับพรีเมียม) 

7-Eleven เป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น นักเรียนนักศึกษา อายุระหว่าง 18 - 25 ปี โดยลูกค้ากลุ่มนี้จะใช้ 7-Eleven เป็นสถานที่แฮงก์เอาต์ และสถานที่ท่องเที่ยวทั้งในกลางวันและกลางคืน (24 ชม.) โดยมีการนำเสนอรายการอาหารและเครื่องดื่มของ 7-Eleven แบบดั้งเดิมเช่น Slurpee และของว่างพร้อมกับอาหารท้องถิ่นและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นั่นจึงไม่แปลกใจว่าทำไมถึงฮิตในกล่มวัยรุ่น

ในปี ค.ศ. 2020 7-Eleven มีสาขามากถึง 70,750 แห่งทั่วโลก แต่ร้าน 7-Eleven แต่กลับไม่มีสักสาขาเดียวในอินโดนีเซีย เนื่องจากในปี ค.ศ. 2017 7-Eleven ได้ประกาศปิดสาขาทั้งหมด หลังเข้ามารุกธุรกิจในประเทศนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 

การดำเนินงานของ 7-Eleven ในอินโดนีเซียจะดำเนินงานผ่านผู้ให้บริการท้องถิ่นคือ PT Modern Internasional ซึ่งจัดการบริการที่ตรงกันข้ามกับร้านสะดวกซื้อในอเมริกาที่เน้นการซื้อกลับบ้านและของกินเล่นยามดึก หลังเริ่มธุรกิจได้ไม่นาน บริษัท PT Modern Internasional ก็เริ่มขยายตัวภายในกรุงจาการ์ตา โดย 7-Eleven เปิดสาขาแห่งที่ 21 ภายในปี ค.ศ. 2010 และมีสาขาครบ 100 แห่งในปี ค.ศ. 2012 

ในปี ค.ศ. 2013 บริษัทมียอดขายสูงสุดประมาณ 78 แห่งจากร้านค้าทั้งหมด 190 แห่ง ดูเหมือนว่าอนาคตของ 7-Eleven ในอินโดนีเซียจะสดใส แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ใช่ เนื่องจากประสบปัญหาที่แก้ไม่ตกเพราะลูกค้าไม่ยอมใช้เงินในร้าน แม้ว่าจะมีลูกค้าจำนวนมากใน 7-Eleven แต่ก็จ่ายเงินซื้อเครื่องดื่มเพียงแก้วเดียว แล้วนั่งนาน ๆ หลายชั่วโมง 

บริษัท PT Modern Internasional ได้ออกมาบอกด้วยว่า “ยอดขายที่ขาดหายไปเป็นเพราะการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งรายเดิมและรายใหม่ เช่น Family Mart และ Alfamart”

มองชีวิตเป็นที่ตั้ง เปิดทาง 'หลากศาสตร์' สู่กระบวนการทางการแพทย์ เพื่อรักษาผู้ป่วยสิ้นหวังด้วยหลักเมตตาธรรม

ทุกวันนี้สังคมไทยยังคงขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวทางการแพทย์อยู่อีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของกระบวนการรักษาที่มีความสลับซับซ้อน แต่สิ่งซึ่งผู้เขียนอยากนำมาเสนอในบทความนี้คือ ความปรารถนาให้ผู้คนได้รู้และเข้าใจเรื่องราวของการเข้าถึงกระบวนการการรักษาด้วยหลักเมตตาธรรมทางการแพทย์  รวมทั้งไม่เพิกเฉยละเลยในศาสตร์ต่าง ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือและรักษาชีวิตมนุษย์ทุกผู้ทุกคนบนโลกใบนี้

ในการรักษาตามศาสตร์ทางการแพทย์แผนปัจจุบันนั้น กระบวนการในการรักษาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานทางการแพทย์โดยหน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกำหนดขึ้นมา ครอบคลุมตั้งแต่ บุคลากร วิธีการปฏิบัติ ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ ฯลฯ ดังนั้นกระบวนการรักษาโดยรวมจึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดขึ้นมา แต่ก่อนถึงการกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานต่าง ๆ เหล่านั้นจะมีกระบวนการที่เรียกว่า “การวิจัยทางคลินิก” (Clinical Trial) อันเป็นหนึ่งในกระบวนการทดสอบใน “มนุษย์” ว่า ยา วัคซีน วิธีการรักษา วิตามิน อาหารเสริม หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ฯลฯ ที่คิดค้นขึ้นมาใหม่นั้น สามารถรักษาโรคได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ และปลอดภัยเพียงพอสำหรับการขึ้นทะเบียนเพื่อใช้และจำหน่ายแล้วหรือยัง 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว วิทยาการทางการแพทย์ในยุคปัจจุบันมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยอยู่ตลอดเวลา ทำให้มียาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานสากล แต่ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ดังกล่าวเหล่านี้ได้ผ่านการทดลองในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นเดียวกับมนุษย์ในแต่ละสิ่งอย่างนับร้อย ๆ ชีวิต เป็นร้อย ๆ ครั้ง ไม่ว่าจะเป็น หนู สุกร กระต่าย หรือ ลิง ซึ่งผ่านการทดลองอย่างปลอดภัยจนมั่นใจว่า สามารถนำไปใช้ในมนุษย์ได้แล้ว แต่อาจจะใช้ในการรักษาโรคผู้ป่วยที่หมดหนทางในการรักษาตามมาตรฐานสากลเท่าที่มีอยู่ และได้ใช้วิธีการรักษาที่มีอยู่จนหมดแล้ว 

โดยเฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มที่เรียกว่า “ผู้ป่วยสิ้นหวัง” (Desperate patient) อันได้แก่ ผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคทางกายและ/หรือทางใจ โดยไม่มีโอกาสที่จะพ้นทุกข์ทรมาน และไม่สามารถใช้เวลาที่เหลือในชีวิตของตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้ ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ใหม่ ๆ ดังกล่าวอาจสามารถใช้รักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ และเป็นหลักการที่ยอมรับของวงการแพทย์ทั่วโลก ตามที่เรียกกันว่า Compassionate treatment หรือการรักษาด้วยหลักเมตตาธรรม ตามปฏิญญาเฮลซิงกิของแพทยสมาคมโลก ค.ศ. 2013 (WMA Declaration of Helsinki 2013)

การรักษาด้วยหลักเมตตาธรรมจึงเป็นหลักการทางการแพทย์ที่ถือว่า มีความเป็นสากล เพราะการใช้ยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติ อาทิ ยาชนิดใหม่เพื่อการวิจัย หรือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ นอกการทดลองทางคลินิก โดยผู้ป่วยที่มีสภาวะร้ายแรงหรือมีภาวะถูกคุกคามชีวิต ซึ่งไม่ตรงตามเกณฑ์การลงทะเบียนสำหรับการทดลองทางคลินิกที่กำลังดำเนินอยู่

ในสหรัฐอเมริกา การรักษาด้วยหลักเมตตาธรรมเริ่มต้นจากการจัดหายาสำหรับผู้ป่วยบางรายในช่วงปลายทศวรรษ 1970 โดยโครงการที่เป็นทางการเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1987 เพื่อตอบสนองต่อผู้ป่วย HIV/AIDS ที่ร้องขอการเข้าถึงยาที่กำลังพัฒนา และทำให้เกิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างสำคัญคือ Right-to-try laws (กฎหมายว่าด้วยสิทธิในการทดลอง) กลายเป็นกฎหมายของมลรัฐในสหรัฐอเมริกากว่าสี่สิบมลรัฐแล้ว 

แล้วที่สุดกลายเป็นกฎหมายของรัฐบาลกลางที่จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายสามารถเข้าถึงการรักษาเชิงทดลอง (ยา สารชีวภาพ อุปกรณ์) ที่ได้ผ่านการทดสอบระยะที่ ๑ แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา (FDA) เมื่อ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 2018 โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ก่อนที่จะมีกฎหมายว่าด้วยสิทธิในการทดลองใช้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา (FDA) เพื่อใช้ยาทดลอง ในปี ค.ศ. 2018 มี ๔๑ มลรัฐของสหรัฐอเมริกาได้ผ่านกฎหมายว่าด้วยสิทธิในการทดลอง กฎหมายว่าด้วยสิทธิในการทดลองใช้ของรัฐบาลกลางผ่านในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2018 นับตั้งแต่การลงนามในร่างกฎหมาย ผู้ป่วยหลายพันคนสามารถใช้วิธีการรักษาแบบทดลองตามกฎหมายนี้ได้ จากข้อมูลของ Scott Gottlieb ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมาธิการของ FDA ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ องค์การอาหารและยา (FDA) ได้อนุมัติคำขอของผู้ป่วยถึง 99% ในการเข้าถึงยาทดลอง ทั้งทางโทรศัพท์ทันทีหรือภายในไม่กี่วันก่อนที่จะมีการลงทะเบียนตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าว

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของความสำเร็จในการรักษาด้วยหลักเมตตาธรรมคือ กรณีของ Martin A. Couney ผู้คิดค้นตู้อบทารกซึ่งคลอดก่อนกำหนด (Neonatal incubators) เมื่อย้อนกลับไปในช่วงต้นทศวรรษ 1900 นักสุพันธุศาสตร์ (นักวิชาการซึ่งทำการประมวลความเชื่อและวิธีปฏิบัติว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพทางพันธุกรรมของประชากรมนุษย์) หลายคนได้เผยแพร่ความเชื่อที่ว่า ทารกที่คลอดก่อนกำหนดควรถูกกำหนดให้ตาย และไม่คุ้มค่าที่จะทำการรักษา

แต่ Martin Couney ท้าทายแนวคิดนั้นด้วยนิทรรศการของเขา ซึ่งเขาสร้างขึ้นหลังจากที่เขาดัดแปลงตู้ฟักไก่ให้เป็น “โรงเพาะฟักเด็ก” ในงาน Chicago world fair โดย Martin Couney ผู้ซึ่งไม่เคยได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ใด ๆ เลย แต่เขาได้ช่วยชีวิตทารกที่คลอดก่อนกำหนดมากกว่า ๗,๐๐๐ คนตลอดช่วงชีวิตของเขา โดยจัดแสดงไว้ในตู้อบทารกในนิทรรศการของเขาที่ Coney Island

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ณ กรุงปักกิ่ง สถานที่ที่ปลอดภัยมากที่สุดในโลก

สวัสดีนักอ่านทุกท่านครับ วันนี้ผมมีเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ณ กรุงปักกิ่ง มาเล่าให้อ่านครับ ต้องบอกเลยว่าเรื่องราวในวันนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง แต่จะน่าสนใจขนาดไหน ไปอ่านกันเลยครับ

ต้องบอกก่อนว่าโดยปกติแล้วสถานทูตสหรัฐฯ ทั่วโลกจะมีเจ้าหน้าที่ทหารจากนาวิกโยธินสหรัฐฯ ทำหน้าที่คุ้มกันอยู่ภายในอาณาบริเวณของสถานทูต แต่สถานทูตสหรัฐฯ ในประเทศจีนนั้นจะมีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในโลก เนื่องจากได้รับการคุ้มกันโดยกองกำลังติดอาวุธ Chinese wujing หรือ the People's Armed Police ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) ไม่ใช่โดยเจ้าหน้าที่ทหารของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ดังเช่น สถานทูตสหรัฐฯ อื่น ๆ ทั่วโลก

เพราะเหตุนี้จึงทำให้สถานทูตสหรัฐฯ ณ กรุงปักกิ่งได้รับการปกป้องมากที่สุด โดยกองทัพของประเทศที่ตั้งของสถานทูตเลยทีเดียว

เจ้าหน้าที่ของกองกำลังติดอาวุธ the People's Armed Police หรือ Chinese Military Police ซึ่งทำหน้าที่คุ้มกันสถานทูตสหรัฐฯ

เรามาทำความรู้จักกองกำลังติดอาวุธ the People's Armed Police หรือ Chinese Military Police กันดีกว่า

กองกำลังติดอาวุธ the People's Armed Police หรือ Chinese Military Police เป็นทหารหน่วยพิเศษ หรือสารวัตรทหาร (ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ) ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) มักจะปฏิบัติงานด้านความมั่นคงภายใน เช่น คุ้มกันสถานทูต กวาดล้างผู้ค้ายาเสพติดอันตราย ต่อต้านการก่อการร้าย การปราบปรามความไม่สงบ ฯลฯ

เจ้าหน้าที่ของกองกำลังติดอาวุธ the People's Armed Police หรือ Chinese Military Police ซึ่งทำหน้าที่คุ้มกันสถานทูตสหรัฐฯ

นอกจากนี้การรักษาความปลอดภัยภายในอาณาบริเวณของสถานทูตสหรัฐฯ ในประเทศจีนนั้นจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำสถานทูตสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พลเรือนจาก The Diplomatic Security Service (DSS or DS) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ในคดีที่เกี่ยวกับกระทรวงการต่างประเทศ อาทิ การปลอมแปลงหนังสือเดินทางหรือวีซ่า การค้ามนุษย์ การปลอมแปลงเอกสาร การลักพาตัวระหว่างประเทศ การละเมิดรัฐบัญญัติการป้องกันผู้ได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลกลาง การจับกุมผู้ที่หนีคดีในต่างประเทศ และคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ


เจ้าหน้าที่พลเรือนจาก The Diplomatic Security Service (DSS or DS) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯขณะอพยพพลเมืองอเมริกันชุดแรก ๑๙๕ คนออกจากเมืองวูฮั่น อันเนื่องมาจากสถานการณ์ COVID-19 ในปี ค.ศ. 2020

การที่รัฐบาลจีนสั่งห้ามสถานทูตไม่ให้ที่พักแก่ทหารจากประเทศของตน ด้วยเพราะด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ 

ในปี ค.ศ. 1898 ระหว่างการกบฏนักมวยมีทหารต่างชาติซึ่งประจำการในสถานทูตแปดชาติ ได้แก่ อเมริกา ออสเตรีย-ฮังการี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น และรัสเซีย ได้กระทำการทารุณต่อประชาชนในท้องถิ่น 

นอกจากนี้ ยังมีความทรงจำที่เลวร้ายเกี่ยวกับสนธิสัญญาที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งมหาอำนาจตะวันตกหลายชาติได้ประกาศสงครามกับจีน และมีการบังคับรัฐบาลจีนให้จ่ายเงินชดเชยจำนวนมหาศาล สร้างสถานทูตและที่พักทหาร ฯลฯ 

ดังนั้นสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎของรัฐบาลจีน โดยเจ้าหน้าที่พลเรือนจาก The Diplomatic Security Service (DSS or DS) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในอาณาเขตของสถานทูต

"Discipline, Vigilance, Professionalism" (มีวินัย ระวังตัว มืออาชีพ) คำขวัญของ Marine Security Guard

แต่สถานทูตสหรัฐฯ ทั่วโลกโดยปกติแล้วใช้ทหารจาก Marine Security Guard (MSG) หรือ Marine Embassy Guard (หน่วยนาวิกโยธินรักษาความปลอดภัยประจำสถานทูตสหรัฐฯ) เป็นสมาชิกของกองกำลังนาวิกโยธินซึ่งทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำสถานทูตสหรัฐฯ ทั่วโลก (เดิมชื่อกองพันหน่วยนาวิกโยธินรักษาความปลอดภัย) ซึ่งเป็นองค์กรขนาดกองพันของกองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ (USMC) ซึ่งกองกำลังนาวิกโยธินรักษาความปลอดภัยของสถานทูตสหรัฐฯ สถานกงสุลอเมริกัน และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เช่น คณะผู้แทนสหรัฐประจำองค์การ NATO กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม 

นาวิกโยธินสหรัฐฯ มีประวัติในการร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน โดยย้อนกลับไปในยุคแรก ๆ ของประเทศ ตั้งแต่การชักธงชาติอเมริกันที่เมืองเดอร์นา กรุงตริโปลี ประเทศลิเบีย และภารกิจลับของ Archibald H. Gillespie ในแคลิฟอร์เนียช่วงสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก ไปจนถึงการกบฏนักมวยที่กรุงปักกิ่ง นาวิกโยธินสหรัฐฯ ได้ทำหน้าที่พิเศษหลายครั้งในภารกิจพิเศษในฐานะผู้นำสาร เป็นผู้คุ้มกันสถานทูตและคณะผู้แทนฯ และปกป้องพลเมืองอเมริกันในพื้นที่ที่ไม่สงบ 

เรื่องเหลือเชื่อ ‘Tsutomu Yamaguchi’ ผู้รอดชีวิตถึง ๒ ครั้งจากระเบิดปรมาณู เมื่อครั้งสหรัฐฯ ถล่มญี่ปุ่น ในสงครามโลกครั้งที่ 2

Tsutomu Yamaguchi ชายผู้รอดจากระเบิดปรมาณูถึงสองครั้งสองครา

โลกใบนี้มีการใช้ระเบิดปรมาณูในการทำสงครามเพียงสองครั้งคือ ช่วงตอนปลายของสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1945 โดยกองทัพสัมพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ประเทศญี่ปุ่นถึงสองลูก ได้แก่ Little Boy และ Fat Man

เหตุการณ์ในนั้นครั้งถือเป็นการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ไปจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนไม่น้อย แต่ในเหตุการณ์ร้ายแรงเช่นนี้ ยังมีเรื่องราวปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้เช่นกัน

ลูกระบิดปรมาณู Little Boy น้ำหนัก 4.4 ตัน
 
‘Tsutomu Yamaguchi’ เป็นมนุษย์ที่อยู่ในรัศมีของระเบิดปรมาณูแล้วรอดชีวิตจากการระเบิดของระเบิดปรมาณูครั้งแรก (ลูกระบิดปรมาณูลูกดังกล่าวชื่อว่า Little Boy ถูกทิ้งจากเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-29 ที่ชื่อว่า Enola Gay ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว ๙๐,๐๐๐-๑๔๖,๐๐๐ คน) ที่เมืองฮิโรชิมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945 

แม้ว่าตัว Yamaguchi จะถูกแรงอัดของระเบิดจนหมุนคว้างกลางอากาศราวกับถูกพายุทอร์นาโดพัดจนตกลงไปในคูน้ำ แต่หลังจากรับการรักษาและพักฟื้นอย่างรวดเร็ว เขาก็ตัดสินใจกระโดดขึ้นรถไฟกลับไปยังเมืองนางาซากิ และมาถึงในเวลาที่มีการทิ้งระเบิดปรมาณูลูกที่สอง (Fat Man ถูกทิ้งจากเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-29 ที่ชื่อว่า Bockscar ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกราว ๓๙,๐๐๐-๘๐,๐๐๐ คน) พอดี แต่เขาก็รอดชีวิตมาได้อีกครั้งหนึ่ง


ลูกระบิดปรมาณู Fat Man น้ำหนัก 4.67 ตัน

Tsutomu Yamaguchi (山口彊, Yamaguchi Tsutomu) (16 มีนาคม ค.ศ. 1916 - 4 มกราคม ค.ศ. 2010) เป็นวิศวกรชาวญี่ปุ่นและเป็นผู้รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดปรมาณูสองครั้งทั้งที่เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง 

แม้ว่าจะมีประชาชนอย่างน้อย ๗๐ คนที่ได้รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดทั้งสองครั้ง แต่เขาเป็นเพียงคนเดียวที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลญี่ปุ่นว่า เป็นผู้ที่รอดชีวิตจากการระเบิดของระเบิดปรมาณูทั้งสองครั้ง


 
Yamaguchi เกิดและอาศัยอยู่ที่เมืองนางาซากิ เข้าร่วมงานกับ Mitsubishi Heavy Industries ในช่วงทศวรรษที่ 1930 และทำงานเป็นช่างเขียนแบบซึ่งออกแบบเรือบรรทุกน้ำมัน 

ระหว่างสงครามเขาก็ยังอาศัยอยู่ในเมืองนางาซากิ แต่ได้เดินทางไปยังเมืองฮิโรชิมาเพื่อทำธุรกิจให้กับบริษัท Mitsubishi Heavy Industries ซึ่งเป็นนายจ้างของเขา เมื่อเมืองฮิโรชิมาถูกทิ้งระเบิดเมื่อเวลา 8.15 น. ของวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945 เขาได้รับบาดเจ็บ แต่ตัดสินใจเดินกลับมาที่เมืองนางาซากิในวันรุ่งขึ้น และแม้ว่าจะมีบาดแผลเต็มตัว แต่เขาก็กลับไปทำงานในวันที่ 9 สิงหาคม วันที่มีการทิ้งระเบิดปรมาณูเป็นครั้งที่สอง 

เช้าวันนั้น ขณะที่เจ้านายของเขาบอกว่าเขา "บ้า" หลังจากที่เขาบรรยายว่า ระเบิดปรมาณูลูกหนึ่งสามารถทำลายเมืองได้อย่างไร ระเบิดปรมาณูที่ทิ้งยังเมืองนางาซากิก็จุดชนวน ในปี ค.ศ. 1957 เขาได้รับการยอมรับว่าเป็น ‘Hibakusha’ (ผู้ได้รับผลกระทบจากระเบิดปรมาณู) ของเหตุระเบิดที่เมืองนางาซากิ 

แต่จนกระทั่งวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 2009 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้รับรองอย่างเป็นทางการว่า เขาอยู่ในเมืองฮิโรชิมาเมื่อสามวันก่อนการระเบิดที่เมืองนางาซากิด้วย เขาจึงเป็นบุคคลที่รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูทั้งสองครั้งสองครา เขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 2010 ขณะอายุได้ ๙๓ ปี


 Yamaguchi กล่าวว่า เขา "ไม่เคยคิดว่า ญี่ปุ่นควรจะเริ่มสงคราม"

กลุ่มควันรูปดอกเห็ดจากการระเบิดของระเบิดปรมาณูสูงกว่า 20,000 ฟิต ซ้ายเมืองฮิโรชิมา ขวาเมืองนางาซากิ

ระว่างสงครามโลกครั้งที่สอง Yamaguchi อาศัยและทำงานในเมืองนางาซากิ แต่ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1945 เขาต้องเดินทางไปทำงานที่เมืองฮิโรชิมาเป็นเวลาสามเดือน ในวันที่ 6 สิงหาคม เขาเตรียมจะออกจากเมืองพร้อมกับเพื่อนร่วมงานสองคน Akira Iwanaga และ Kuniyoshi Sato และกำลังเดินทางไปสถานีรถไฟเมื่อเขานึกขึ้นได้ว่าลืม Hanko (ตราประทับประจำตัวแบบที่ใช้กันทั่วไปในญี่ปุ่น) จึงเดินทางกลับไปยังที่ทำงานของเขาเพื่อนำติดตัว ในเวลา 8.15 น. ขณะเขากำลังเดินไปที่ท่าเทียบเรือ เมื่อเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-29 ของอเมริกา Enola Gay ได้ทิ้งระเบิดปรมาณู Little Boy ลงใกล้กับใจกลางเมือง ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 3 กิโลเมตร 

Yamaguchi จำได้ว่าเห็นเครื่องบินทิ้งระเบิดและปล่อยร่มชูชีพขนาดเล็ก ๒ ร่ม ก่อนที่จะมีแสงวาบขนาดใหญ่บนท้องฟ้า และตัวเขาก็ถูกพัดปลิวไป

การระเบิดทำให้แก้วหูของเขาแตก ทำให้เขาตาบอดชั่วคราว และทิ้งรังสีที่รุนแรงไว้บนด้านซ้ายของลำตัวครึ่งบน หลังจากกลับมาได้สติเขารีบคลานไปที่ที่กำบัง และหลังจากพักผ่อนแล้ว เขาก็ออกเดินตามหาเพื่อนร่วมงานของเขา โชคดีที่พวกเขารอดชีวิตมาได้และอยู่ด้วยกันทั้งคืนในที่หลบภัยทางอากาศก่อนที่จะเดินทางกลับเมืองนางาซากิในวันรุ่งขึ้น

‘เงินบาท’ สกุลเงินที่ยืดหยุ่นที่สุดในโลก แม้เคยเผชิญ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ เมื่อ 26 ปีก่อน

สวัสดีนักอ่านทุกท่านครับ วันนี้ผมมีเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับสกุลเงิน ‘บาท’ ที่เราๆ คุ้นเคยกันอย่างดีมาฝากครับ โดยเรื่องราวเกี่ยวกับสกุลเงินบาทครั้งนี้ ผมอ้างอิงมาจาก RUCHIR SHARMA ชาวอินเดีย ผู้ซึ่งเป็นนักลงทุน นักเขียน ผู้จัดการกองทุน และคอลัมนิสต์ของ Financial Times เขาเคยเป็นหัวหน้าฝ่ายธุรกิจระหว่างประเทศของ Rockefeller Capital Management และเคยเป็นผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของ Breakout Capital ซึ่งเป็นบริษัทการลงทุนที่เน้นตลาดเกิดใหม่ของ Morgan Stanley Investment Management ปัจจุบันเขาเป็นประธาน Rockefeller Capital Management  บริษัทการเงินระดับโลก โดยเขาได้เขียนบทความเกี่ยวกับสกุลเงินบาทไว้ดังนี้ครับ (บทความต้นฉบับ www.ft.com/content/f280de11-48c7-4526-aa92-ad1e1b7b6ed1)

ในปี ค.ศ. 1997 ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางและจุดเริ่มต้นของวิกฤตการเงิน (วิกฤตต้มยำกุ้ง) แต่หลังจากวิกฤตผ่านพ้นไปแล้ว สกุลเงินบาทกลับกลายเป็นสกุลเงินที่มีเสถียรภาพในระยะยาว

ตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1998 เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ซึ่งถือว่าดีกว่าสกุลเงินเกิดใหม่อื่น ๆ ในโลก และดีกว่าสกุลเงินฟรังก์สวิสและสกุลเงินที่เทียบเท่าทั้งหมดในประเทศที่พัฒนาแล้ว

RUCHIR บอกว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1998 หรือเมื่อ ๒๕ ปีก่อนในเดือนนี้ (กุมภาพันธ์) กรุงเทพฯ กลายเป็นจุดศูนย์กลางของวิกฤตการเงินในเอเชีย การระเบิดของเงินบาทครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดการล่มสลายของสกุลเงินและตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ประท้วงมากมายตามท้องถนนทั่วทั้งภูมิภาค และเกิดความวุ่นวายจนลุกลามใหญ่โต ในขณะที่ผู้นำโลกต่างก็พยายามชะลอการแพร่ระบาดของวิกฤตการเงินครั้งนี้ไม่ให้ลามไปทั่วโลก เศรษฐกิจของไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่างก็ตกอยู่ในภาวะถดถอยและซบเซา

เมื่อครั้งนั้นเศรษฐกิจไทยหดตัวเกือบร้อยละ ๒๐ เนื่องจากหุ้นราคาร่วงมากกว่าร้อยละ ๖๐ และค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ราคาหุ้นในกรุงเทพ ‘ถูก’ อย่างไม่น่าเชื่อ แต่ก็ไม่มีใครกล้าซื้อหุ้นไทย

เรื่องราววิกฤตในครั้งนั้นถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ และบทส่งท้ายกลับสร้างความประหลาดใจ เพราะตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1998 เป็นต้นมา เรื่องราวเกี่ยวกับเงินบาทของประเทศไทยได้จางหายไปจากเรดาร์ทางการเงินทั่วโลก ด้วยเงินบาทได้พิสูจน์แล้วว่า มีความยืดหยุ่นอย่างไม่ธรรมดา โดยสามารถรักษามูลค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ได้ดีกว่าสกุลเงินเกิดใหม่อื่น ๆ ของโลก และดีกว่าสกุลเงินอื่นในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมด (ยกเว้นฟรังก์สวิส)

ในทางตรงกันข้ามที่ประเทศอินโดนีเซีย ในปี ค.ศ. 1998 เกิดเหตุการณ์ล้มอำนาจเผด็จการซูฮาร์โต เงินรูเปียห์ซื้อขายกันที่เกือบ 15,500 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ ลดลงจาก 2,400 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ ก่อนเกิดวิกฤต เงินบาทซื้อขายที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งก่อนวิกฤตไม่เคยต่ำกว่า 26 บาทต่อดอลลาร์

ขณะที่ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยแทบไม่รู้สึกว่าสินค้าราคาแพง พวกเขาสามารถหาห้องพักโรงแรมระดับ 5 ดาวได้ในราคาที่ต่ำกว่า 200 ดอลลาร์ต่อคืนได้ อาหารค่ำรสเลิศในภูเก็ตในราคาเพียง 30 ดอลลาร์เท่านั้น แม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่า แต่ประเทศไทยก็สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ศูนย์กลางของวิกฤตกลายเป็นจุดยึดของความมั่นคง และเป็นบทเรียนแก่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่น ๆ

หลังปี ค.ศ. 1998 สังคมเกิดใหม่จำนวนมากหันมาใช้ระบบการเงินแบบอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารในอินโดนีเซียเปลี่ยนจากการตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์มากมายมาเป็นต้นแบบของการจัดการที่ดี ฟิลิปปินส์และมาเลเซียมีการเคลื่อนไหวเพื่อควบคุมการขาดดุล แต่ไม่มีที่ใดในภูมิภาคนี้ที่เปลี่ยนแนวทางเศรษฐกิจแบบออร์โธดอกซ์* มากกว่าในประเทศไทย หลีกเลี่ยงส่วนเกินที่อาจทำให้ผู้คนทั้งในและนอกระบบเศรษฐกิจเกิดความแตกตื่น

เศรษฐกิจแบบออร์โธดอกซ์ คือ เมื่อเผชิญกับความขาดแคลนแล้วมนุษย์ตัดสินใจอย่างไร ซึ่งอาจเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล การตัดสินใจของครอบครัว การตัดสินใจทางธุรกิจ หรือการตัดสินใจทางสังคม และหากมองไปรอบ ๆ ตัวอย่างระมัดระวังแล้ว จะเห็นว่า ความขาดแคลนเป็นความจริงของชีวิต

รู้จัก Muhammad Huzaifa ฝ่าชีวิตสังเวชด้วยการศึกษา แม้โอกาสไม่เอื้อเท่าเด็กอื่นที่มีทรัพยากรล้นหัว

เด็กชายคนนี้คือ Muhammad Huzaifa เด็กขายน้ำผลไม้จากเมือง Mutan ในปากีสถาน เรื่องราวของ Huzaifa เป็นเรื่องราวที่อบอุ่นใจที่สุดเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนเคยได้ยินมาจนถึงตอนนี้ เป็นเรื่องราวของความทุ่มเทและการทำงานหนักอย่างแท้จริง

Huzaifa มาจากพื้นที่ชนบทของ Multan ในปากีสถาน Huzaifa รู้อยู่เสมอว่า การศึกษาเป็นเพียงประตูบานเดียวที่จะพาเขาออกจากชีวิตอันน่าสังเวชที่เป็นอยู่

เนื่องจากเขาเป็นเด็กกำพร้า เขาต้องทำงานหลายชั่วโมงต่อวันในโรงกลึงเพื่อให้ได้ทั้งสองเรื่อง 

Huzaifa เป็นเพียงผู้ที่อยู่รอดเพียงคนเดียวของครอบครัวของเขาที่สามารถเหลือรอดได้ในโลกที่โหดร้ายใบนี้

ในการให้สัมภาษณ์ เขาเล่าว่า เขาได้นอนเพียงคืนละสามชั่วโมงเพื่อเรียนเองต่อ และเขายังต้องทำงานที่ร้านผลไม้ของลุงนอกเหนือจากโรงกลึงที่ทำอยู่เป็นประจำเพื่อหาเงินเรียนต่อ

การทำงานอย่างหนักและความทุ่มเทของเขาส่งผลให้มีการสอบเข้าศึกษาที่ยอดเยี่ยม (เทียบเท่ากับการ O Level ของสหราชอาณาจักร) โดยเขาได้คะแนน A++ ด้วยคะแนน 1,050/1,100 คะแนน 

ชะตากรรมของเขานั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลง เพราะต้องการใช้เงินทุนการศึกษาจำนวนมหาศาลสำหรับการเล่าเรียนในมหาวิทยาลัย ส่งผลทำให้เขาต้องเลิกเรียน แล้วผันตัวมาเป็นพ่อค้าขายน้ำผลไม้ริมถนน

หลังจากผ่านไป ๖ เดือน เด็กผู้หญิงคนหนึ่งก็ได้บอกเล่าเผยแพร่เรื่องราวของเขาทางสื่อสังคมออนไลน์ เรื่องราวของเขาจึงกลายเป็นไวรัล เขาได้รับการยอมรับในหลายแพลตฟอร์มรวมถึง Parhlo.pk ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นที่นิยมที่สุดของปากีสถานด้วย

รองอธิการบดีของ GCU Lahore ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่กวีชื่อดัง Alama Iqbal และ Faiz Ahmed Faiz ยอมรับความกระหายในความใคร่รู้ของเขา จึงมอบทุนการศึกษาเต็มจำนวนให้กับเขา ขณะนี้เขากำลังศึกษาอยู่ที่นั่นโดยไม่ต้องความกังวลใจใดๆ เลย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top