ความจริงเรื่อง 'ค่าไฟฟ้า' ความถูก-แพง ที่ทำ 'ก.พลังงาน' กลุ้ม ผลพวงจากทิศทางโลก ผสมโรงบิ๊กเอกชนผูกขาดก๊าซธรรมชาติ

ปัญหาด้านสาธารณูปโภคที่เรื้อรังมายาวนานและกลายเป็นประเด็นที่บรรดานักกิจกรรมทางการเมือง นักร้อง นักเคลื่อนไหว นักการเมือง นักวิชาการ ฯลฯ ตลอดจนเหล่ามนุษย์ผู้หิวโหยหาแสงทั้งหลาย มักจะหยิบยกขึ้นมาเป็นประจำก็คือ 'ปัญหาราคาค่าไฟฟ้า'

แน่นอน 'ค่าไฟฟ้าแพง' เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าพรรคการเมืองใดก็ตามมาเป็นรัฐบาล แต่เรื่องราวที่ผู้คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้ หลงลืม หรือไม่ได้ใส่ใจ ก็คือ รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานไม่ได้เป็นผู้กำหนดทั้งอัตราค่าไฟฟ้าหลัก (ค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งไม่ได้ปรับเปลี่ยนมาแล้วหลายปี) และ อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft : ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ) ค่า Ft ถูกกำหนดไว้เพื่อให้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงต้นทุนที่อยู่ในค่าไฟฟ้าฐานที่อยู่เหนือการควบคุมของการไฟฟ้า คือค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนแปลงไปจากต้นทุนคงที่ซึ่งคำนวณไว้ในค่าไฟฟ้าฐาน โดยมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ทำหน้าที่กำกับดูแล

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. อันเป็นคณะบุคคลจำนวน 7 คน (ประธานฯ 1 คน กรรมการ 6 คน ซึ่งได้รับการคัดสรรและได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง) ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน อันหมายถึง กิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน ดังนั้นการพิจารณาปรับขึ้นหรือลดอัตราค่าไฟฟ้า จึงไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานที่เพียงแต่ทำหน้าที่ในการทำให้ราคาต้นทุนพลังงานที่นำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลงให้มากที่สุด เพื่อให้สามารถลดค่า Ft ลงอันจะเป็นการช่วยเหลือประชาชนคนไทยได้

แต่เริ่มเดิมทีไทยเราผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือ พลังงานน้ำ เมื่อบ้านเมืองมีการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้า กอปรกับพลังงานถ่านหินที่มีอยู่ก็ลดน้อยลงไปตามการใช้งาน อีกทั้งยังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ นอกจากนั้นแล้วการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าก็ถูกคัดค้านโดย NGO และบรรดานักอนุรักษ์ธรรมชาติทั้งหลาย เพราะความเจริญก้าวหน้าของประเทศนำมาซึ่งความต้องการในการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซจึงเป็นกระบวนการหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าในเวลาต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันทุกวันนี้

ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยมาจาก 3 แหล่ง คือ...

- ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย 
- ก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา 
- ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่นำเข้าด้วยสัญญาระยะยาวและ LNG Spot

โดยที่ผ่านมาผู้ที่ผูกขาดจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติเพียงเจ้าเดียวของไทยก็คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และปัจจุบันยังคงผูกขาดก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและเมียนมา ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่นำเข้าด้วยสัญญาระยะยาวและ LNG Spot นั้น ปี พ.ศ. 2567 กกพ.พึ่งจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าสามารถนำเข้าเองได้เป็นปีแรก

ในปัจจุบันราคาซื้อขาย LNG จะแตกต่างกันตามภูมิภาค ทั้งยังมีโครงสร้างราคาที่ต่างกัน ได้แก่...

- ตลาดภูมิภาคอเมริกาเหนือ จะใช้ดัชนีราคา Henry Hub (HH) 
- ตลาดภูมิภาคยุโรป แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทที่ใช้ดัชนีราคา National Balancing Point (NBP) และประเภทที่ใช้ดัชนีราคา Title Transfer Facility (TTF)
- ตลาดภูมิภาคเอเชีย จะใช้ดัชนีราคา Japanese Crude Cocktail (JCC) 

นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งรูปแบบการซื้อขายออกเป็น 2 รูปแบบ คือ...

- Spot คือการซื้อ-ขาย LNG ที่มีการส่งมอบเป็นรายเที่ยวเรือ เป็นไปตามราคาตลาดในช่วงเวลานั้นๆ 
- Term Contract คือ การซื้อ-ขาย ที่มีการส่งมอบสินค้าอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาที่แน่นอน โดยจะคำนวณตามสูตรราคาอ้างอิงกับดัชนีราคาน้ำมันหรือราคาก๊าซฯ ตามข้อตกลงในสัญญาซื้อ-ขาย

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับราคา LNG ในปัจจุบันก็คือ ยุโรปยกเลิกการสั่งซื้อ LNG จากรัสเซียอันเนื่องมาจากการคว่ำบาตรรัสเซียที่ทำสงครามกับยูเครน ทำให้ต้องนำเข้า LNG จากแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะตะวันออกกลางและแอฟริกา ราคา LNG จึงมีราคาเพิ่มขึ้น อีกทั้งการนำเข้า LNG มีต้นทุนค่าขนส่งและคลังจัดเก็บ ตลอดจนค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อันเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการซื้อขาย LNG กอปรกับแหล่งก๊าซของ บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่ว่าจะเป็นอ่าวไทยหรือเมียนมามีปริมาณการผลิตที่ลดลง เรื่องเหล่านี้จึงส่งผลกระทบต่อการคำนวณพิจารณาค่า Ft ซึ่งต้องนำราคา LNG ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวมานั้นไม่ว่ารัฐบาลจากพรรคไหนก็ตาม จึงไม่สามารถกำหนดราคาค่าไฟฟ้าได้ตามอำเภอใจ เพราะเป็นบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายของกกพ. แม้ว่าปัจจุบันภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะพยายามส่งเสริมการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานทางเลือก (Alternative energy) ไม่ว่าจะเป็นพลังงานธรรมชาติเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม หรือพลังงานน้ำ หรือพลังงานจากชีวมวล ฯลฯ ก็ตาม ต้องมีการจ่ายค่า Adder (ค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มโดยบวกเพิ่มจากอัตราค่าไฟฟ้าปกติเป็นระยะเวลา 7 หรือ 10 ปี ตามประเภทของโรงไฟฟ้า) ในอดีต และปัจจุบันจ่ายค่า  FiT (Feed-in-Tariff) อันเนื่องมาจากแม้จะไม่มีต้นทุนในการจัดหาเชื้อเพลิง แต่จะมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของพลังจากธรรมชาติ และความเสี่ยงจากความผันผวนของต้นทุนในการจัดหาเชื้อเพลิงในกรณีพลังงานจากชีวมวล 

นอกจากนั้นแล้วไทยยังต้องมีการ 'สำรองไฟฟ้า' เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย หากเกิดเหตุฉุกเฉินจึงต้องมีการสำรองไฟฟ้าให้เพียงพอ https://thestatestimes.com/post/2023042021 และ https://thestatestimes.com/post/2023042443 

ดังนั้นราคาค่าไฟฟ้าที่กกพ.กำหนด จึงเป็นไปตามบริบทที่แท้จริงตามสภาวะการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่มีการคำนวณค่า Ft หากไม่เช่นนั้นแล้วเหล่าบรรดานักกิจกรรมทางการเมือง นักร้อง นักเคลื่อนไหว นักการเมือง นักวิชาการ ฯลฯ ตลอดจนเหล่ามนุษย์ผู้หิวโหยหาแสงทั้งหลาย ยังไม่มีใครกล้านำข้อมูลที่นำมาสร้างเป็นกระแส 'ค่าไฟฟ้าแพง' ฟ้องร้องดำเนินคดีกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.เลยจนถึงทุกวันนี้


เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล