การเลือกตั้งกับค่าไฟแพง “สำรองไฟฟ้าเกินความจำเป็น” วาทกรรมฮิตใช้โจมตีรัฐบาล โดยไม่คำนึงถึงความเสียหาย หากสำรองไฟฟ้าไว้ไม่เพียงพอ

ประเด็น ‘ค่าไฟฟ้าแพงมหาโหด’ กลายเป็นข่าวใหญ่ของสื่อหลายสำนัก เป็นประเด็นหาเสียงของนักการเมืองและพรรคการเมือง และถูกหยิบยกขึ้นมาโจมตีของนักเคลื่อนไหว โดยหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นคือจัดให้มีกระแสไฟฟ้าสำรองไว้เป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นประเด็นที่ใช้โจมตีว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรองกระแสไฟฟ้าสำรองไว้เป็นจำนวนมาก เป็นพฤติกรรมและพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนพลังงาน กระทั่งมีคนบางพวกบางกลุ่มกล่าวหาว่า มีการสมรู้กันทุจริตฉ้อโกงประเทศชาติและฉ้อโกงประชาชนด้วยการกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองมากจนล้นเกิน

ทำไมประเทศไทยจึงต้องจัดให้มีกระแสไฟฟ้าสำรองไว้เป็นจำนวนมาก? เพราะหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้บริการกระแสไฟฟ้าแก่ประชาชนย่อมต้องทราบดีว่าแต่ละปี แต่ละห้วงเวลา ประเทศไทยต้องใช้กระแสไฟฟ้าเป็นจำนวนเท่าใด จะต้องเตรียมกระแสไฟฟ้าปริมาณเท่าใด เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ของผู้บริโภคในทุกฤดูกาล เมื่อประเทศจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าและจำเป็นต้องมีการสำรองกระแสไฟฟ้าไว้ให้เพียงพอต่อการใช้สอยโดยไม่ขัดสน ซึ่งปริมาณการสำรองที่พอเหมาะพอดีจะมีผลต่อประสิทธิภาพและสมรรถนะในการทำกำไรของการประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับไฟฟ้า ซึ่งผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องใช้สติปัญญาความสามารถและเปี่ยมด้วยความรับผิดชอบจึงจะสามารถรักษาประโยชน์แห่งรัฐและองค์กร ตลอดจนประโยชน์ของประชาชนได้ 

เพราะหากการสำรองกระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการใช้แล้วก็จะเกิดผลกระทบต่อการให้บริการแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะถ้ากระทบต่อการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็จะกลายความเสียหายมากมาย ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากมีการสำรองกระแสไฟฟ้าไว้จนมากเกินต่อความจำเป็น และเกินกว่าอัตรามาตรฐานปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่ควรสำรอง ก็จะเกิดความเสียหายแก่หน่วยงาน เพราะทุกจำนวนที่มีการสำรองกระแสไฟฟ้านั้นจะต้องจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่ผู้จำหน่าย ไม่ว่าจะมีการใช้กระแสไฟฟ้านั้นหรือไม่ก็ตาม เพราะปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าสูงสุดย่อมต้องทราบดีอยู่แล้ว เพราะสถิติบันทึก จึงสามารถประมาณการความต้องการกระแสไฟฟ้าได้ 

‘การสำรองไฟฟ้า’ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักคือ
1. กำลังผลิตสำรองของระบบผลิตไฟฟ้า (Standby Reserve) เป็นโรงไฟฟ้าสำรองตามแผนการผลิตไฟฟ้า โดยมาตรฐานสากลจะกำหนดไว้ราว 15 เปอร์เซ็นต์ ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเนื่องจากในการวางแผนการผลิตไฟฟ้า จะต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ อย่างรอบคอบ อาทิ ความต้องการไฟฟ้าที่อาจเพิ่มสูงกว่าการพยากรณ์ การหยุดซ่อมโรงไฟฟ้า การเสื่อมสภาพของโรงไฟฟ้า ความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง ข้อจำกัดของระบบส่งในแต่ละพื้นที่ และลักษณะทางเทคนิคของ โรงไฟฟ้าแต่ละประเภท

2. กำลังผลิตสำรองพร้อมจ่าย (Spinning Reserve) เป็นกำลังผลิตสำรองจากโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องอยู่ หรือ สามารถ สั่งเพิ่มการจ่ายไฟฟ้าได้ทันทีที่ระบบมีความต้องการ ซึ่งตามมาตรฐานจะอยู่ที่ 800-1,600 เมกะวัตต์ หรือ อย่างน้อยมากกว่า กำลังผลิตของโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด เพื่อรองรับหากเกิดเหตุการณ์ขัดข้องที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนาดใหญ่ เช่น กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติก็สามารถสั่งจ่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทันที ป้องกันปัญหาไฟฟ้าตกหรือดับ ซึ่งอาจลุกลามจนเกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง (Blackout) ได้

อย่างไรก็ตาม ‘การสำรองไฟฟ้า’ ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันขึ้นกับเงื่อนไขและฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยประเทศที่มีเสถียรภาพด้านพลังงานไฟฟ้าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่าความต้องการค่อนข้างสูง โดย กฟผ. ได้ศึกษาระบบการผลิตไฟฟ้าของหลายประเทศเอาไว้ ดังนี้ (ข้อมูลของปี พ.ศ. 2563)

-สเปน มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 100% เทียบกับ ค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 80% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่า ความต้องการ 180%

-อิตาลี มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 81% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 55% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่า ความต้องการ 136%

-โปรตุเกส มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 65% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 65% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่า ความต้องการ 130%

-เดนมาร์ค มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 32% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 98% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่า ความต้องการ 130%

-เยอรมนี มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 13% เทียบกับ ค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบอีก 98% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 111%

-เนเธอร์แลนด์ มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 65% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 28% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 93%

-สวิสเซอร์แลนด์ มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 81% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 11% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิต ที่มากกว่าความต้องการ 92%

-จีน มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 68% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 23% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่า ความต้องการ 91%

-ออสเตรเลีย มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 44% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 21% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 65%

-สวีเดน มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 36% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 21% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 57%

-มาเลเซีย มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 47% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 4% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่า ความต้องการ 51%

-ไทย มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 22% เทียบกับ ค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 17% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่า ความต้องการ 39% 
(ที่มา : The Bangkok Insight)

จากตัวอย่างของหลาย ๆ ประเทศที่มีเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า ล้วนแต่มีกำลังการผลิตมากกว่าความต้องการใช้ในประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องของการวางแผนและการบริหารจัดการของหน่วยงานที่ดูแลระบบไฟฟ้าของประเทศได้ ดังนั้น การมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin : RM) ในแผน PDP ซึ่งเป็นแผนผลิตกำลังไฟฟ้าของประเทศ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ประเทศไทยจะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในยามที่เกิดเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ หรือกรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ก็ยังจะมีไฟฟ้าใช้ เพียงพอที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม อันจะเป็นการเอื้อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก

แต่เหตุผลที่ไม่มีใครหยิบยกมา พูด บอก กล่าว อธิบายเลยว่า ทำไมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจึงต้องจัดให้มีกระแสไฟฟ้าสำรองไว้เป็นจำนวนมาก เหตุผลสำคัญนั้นก็คือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Alternative Energy) หรือ พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan : AEDP2015) ที่ใช้ระหว่างปี พ.ศ. 2558-2579 โดยบูรณการร่วมกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือแผนพีดีพี ซึ่งในแผนพีดีพีฉบับล่าสุด จะต้องมีการส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ในสัดส่วน 20% ในปี พ.ศ. 2579 แต่หากคิดรวมในภาพรวมทั้งที่ใช้ผลิตเป็นไฟฟ้า ความร้อน และเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง การส่งเสริมพลังงานทดแทนตามแผน AEDP2015 จะมีสัดส่วน 30% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี พ.ศ. 2579

แน่นอนที่เราท่านทั้งหลายต่างก็มองในเบื้องแรกว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Alternative Energy) หรือ พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ไม่ว่าจะเป็นจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) หรือ พลังลม (Wind Energy) แต่พลังงานทั้งสองแบบนี้ไม่สามารถควบคุมความสม่ำเสมอของพลังงานได้ กรณีพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากสภาพอากาศและดวงอาทิตย์ไม่ได้ส่องแสงตลอดเวลา แม้ว่าบ้านเราจะอยู่ในเขตภูมิอากาศร้อน แต่ความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทำได้เพียง 6-8 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ถ้าไม่มีแบตเตอรี่เพื่อเก็บกักให้เพียงพอต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ต้องมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อ 16-18 ชั่วโมงที่ไม่มีพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย และหากความเข้มของพลังงานแสงอาทิตย์นั้นอาจไม่สูง และมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าในปริมาณมาก จึงจำเป็นต้องใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์และพื้นที่ติดตั้งที่มากตามไปด้วย ในกรณีของพลังงานลมก็เช่นกัน ลมในประเทศไทยมีความเร็วค่อนข้างต่ำ อีกทั้งความแรงของลมขึ้นอยู่กับสภาวะอากาศ ในบางฤดูอาจไม่มีลมเลยก็เป็นไปได้ จึงยากที่จะควบคุมความสม่ำเสมอได้

ดังนั้นเพื่อคงความสม่ำเสมอของพลังงานไฟฟ้า (Uniformity of Electric Energy) รัฐจึงต้องจัดให้มีกระแสไฟฟ้าสำรองไว้เป็นจำนวนมากเพื่อให้พลังงานไฟฟ้าเพียงพอต่อการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ ด้วยประสบการณ์การเกิด Blackout (เหตุการณ์ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง) ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับกินพื้นที่ 14 จังหวัดของภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร, ระนอง, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, พัทลุง, พังงา, กระบี่, ภูเก็ต, ตรัง, สตูล, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส มาแล้ว 

โดยภาคอุตสาหกรรมได้ประเมินความเสียหายในครั้งนั้นว่า ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมห้องเย็น แปรรูปประมง แปรรูปยางพารา ที่ได้รับความเสียหายจากการที่เครื่องจักรหยุดทำงานกะทันหัน ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยาง-ถุงยางอนามัย ได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นการผลิต 24 ชั่วโมง เรื่องนี้จึงทำให้แนวคิดของการสำรองกระแสไฟฟ้าแบบ ‘เหลือดีกว่าขาด’ จึงถูกนำมาใช้ในบ้านเราจนทุกวันนี้ 

และประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การถูกคัดค้านการสร้างเขื่อนโดย NGO ก็เป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้เราไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มเติม/ทดแทนจากพลังงานน้ำ (Water Energy) ได้ ซึ่งการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำมีความสม่ำเสมอของพลังงานไฟฟ้ามากกว่าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะไม่ต่างกับประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีความมั่นคงทางพลังงาน ขาดความสม่ำเสมอของพลังงานไฟฟ้า จนต้องติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อใช้เองในกรณีที่ไฟฟ้าดับ พลังงานไฟฟ้าในปัจจุบันถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบันแล้ว โดยเฉพาะฤดูร้อนซึ่งต้องเปิดเครื่องปรับอากาศนานกว่าปกติ คงต้องคิดพิจารณาว่า จะเลือกจ่ายค่าไฟฟ้าถูกลง แต่มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงาน หรือจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาที่เป็นอยู่ แต่พลังงานไฟฟ้ามีความสม่ำเสมอแน่นนอนเช่นทุกวันนี้ ที่สำคัญอย่าได้เชื่อนักการเมืองว่า สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ เพราะถ้ามีการทำเช่นนั้น ย่อมต้องมีการชดเชยแก่ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้า ซึ่งก็ต้องเอาเงินชดเชยมาจากงบประมาณแผ่นดินอย่างแน่นอน


เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล 
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ