‘ฉนวน Gaza’ เขตกักกันอันแสนสิ้นหวัง-ไร้มนุษยธรรม ที่ทั่วโลกมองข้าม ชนวนเหตุในการโต้ตอบด้วยความรุนแรงจากกลุ่มฮามาสต่ออิสราเอล

ฉนวน Gaza เขตกักกันที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ทำไมกลุ่ม ‘Hamas’ จึงกล้าโจมตีอิสราเอลอย่างบ้าเลือด ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าจะต้องถูกอิสราเอลตอบโต้เอาคืนอย่างรุนแรง เมื่อได้พยายามหาข้อมูลที่เขียนจากแหล่งข้อมูลที่มีความเป็นกลางที่สุด ก็ทำให้ได้บทความนี้มา ซึ่งเป็นบทความที่เขียนโดย ‘War Child International’ องค์กรเอกชนที่ไม่หวังผลกำไร (NGO) ที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยสงครามจากความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธในที่ต่าง ๆ บนโลกนี้

คำเตือนที่สิ้นหวัง 
ชาว Gaza เรียกบ้านของพวกเขาว่าเป็น ‘เขตกักกัน’ ที่เสมือนกับเป็น ‘เรือนจำกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก’ ด้วยจำนวนผู้คนร่วม 2 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ที่นี่ บนพื้นที่เพียง 365 ตารางกิโลเมตร ประชากรในฉนวน Gaza สองในสามอายุน้อยกว่า 25 ปี อาศัยอยู่ในสถานที่ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ‘António Guterres’ เลขาธิการสหประชาชาติ ได้เตือนว่า ฉนวน Gaza จะไม่สามารถอยู่อาศัยได้ภายในปี 2020 เว้นแต่จะมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อปรับปรุงบริการและโครงสร้างพื้นฐาน

ด้วยผลจากการปิดล้อม ชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza ต้องดิ้นรนกับสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ อันเนื่องมาจากอัตราความยากจนและการว่างงานที่สูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ฉนวน Gaza มีความหนาแน่นของประชากรสูงมาก สำนักงานสถิติกลางกาซา ระบุว่า มีผู้คนอาศัยอยู่ประมาณ 5,453 คนต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งมากกว่าความหนาแน่นของประชากร 13 เท่าในพื้นที่ที่ถูกอิสราเอลยึดครอง คือ 400 คนต่อตารางกิโลเมตร ความยาวของฉนวน Gaza ไม่เกิน 41 กม. และความกว้างระหว่าง 6 ถึง 12 กม. สถิติท้องถิ่นแสดงให้เห็นว่า อัตราการว่างงานในฉนวน Gaza เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยแตะระดับ 50.2% และเนื่องจากการปิดล้อมฉนวน Gaza อย่างต่อเนื่องและยาวนาน การโจมตีของอิสราเอล ทำให้ประชากรชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza ประมาณ 85% อยู่ในระดับที่ ‘ต่ำกว่าเส้นของความยากจน’

สงครามใหญ่ 4 ครั้งในรอบ 16 ปี

เด็ก ๆ และผู้ปกครองในฉนวน Gaza ไม่รู้อะไรเลยนอกจากชีวิตภายใต้การปิดล้อม และไม่สามารถออกไปไหนได้ แม้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวก็ตาม หนึ่งทศวรรษหลังจากที่กลุ่ม Hamas ยึดครองดินแดนที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ผู้อยู่อาศัยต้องมีชีวิตที่ต้องผ่านการสู้รบครั้งใหญ่ถึง 4 ครั้ง ในปี 2008-2009, 2012, 2014 และ 2021 และตอนนี้กำลังอยู่ในครั้งที่ 5

ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 2018 มีประชากรในฉนวน Gaza ได้รับบาดเจ็บแล้วกว่า 23,500 ราย มากกว่า 5,500 รายถูกยิงโดยกองกำลังความมั่นคงของอิสราเอล ผลการประท้วงตามแนวชายแดนส่งผลให้มีเด็กได้รับบาดเจ็บ 4,250 ราย และมีผู้เสียชีวิต 31 ราย (ไม่นับรวบเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในห้วงเวลานี้)

การจัดการกับความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า
หลายปีมานี้ สถานการณ์ในฉนวน Gaza ย่ำแย่ลงจนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ระบบการดูแลสุขภาพและการศึกษาในท้องถิ่นจวนเจียนที่จะล่มสลาย และการเผชิญกับความรุนแรงในระยะยาวยังคงส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ ทั้งทางสุขภาพกายและสุขภาพทางใจของเด็ก ๆ และเยาวชน พ่อแม่ ผู้ดูแล และนักสังคมสงเคราะห์ต้องดิ้นรน เพื่อรับมือกับความเครียดในระดับที่ท่วมท้นและหันไปใช้วิธีทุก ๆ รูปแบบเพื่อเอาชีวิตรอด พวกเขาไม่สามารถให้การสนับสนุนแก่เด็ก ๆ ตามที่ต้องการได้

การวิจัยแสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่มีอัตราสูงในฉนวน Gaza ทำให้เกิดภาวะทางจิตซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมมากมาย รวมถึงโรคความเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า อาการเหล่านี้มีความรุนแรงในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เด็กกว่าครึ่งหนึ่งในฉนวน Gaza กล่าวว่า “พวกเขาไม่มีความหวังอะไรเลยสำหรับอนาคตของพวกเขา”

‘Rami’ เด็กชายชาวปาเลสไตน์วัย 10 ขวบ เติบโตภายใต้การปิดล้อมฉนวน Gaza ของอิสราเอล

เรื่องราวของ ‘Rami’ (10 ขวบ) ผู้ซึ่งเติบโตภายใต้การปิดล้อมฉนวน Gaza ของอิสราเอล
‘Rami’ เป็นเด็กชายชาวปาเลสไตน์วัย 10 ขวบ เขาและน้องชายอีก 3 คน ต้องใช้ชีวิตในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกอิสราเอลยึดครองมาทั้งชีวิต ‘Haifa’ แม่ของเด็ก ๆ พยายามดิ้นรนเพื่อปกป้องลูก ๆ ของเธอจากความทุกข์ทรมานตลอดกาล และการถูกคุกคามจากความรุนแรง

“พื้นที่ที่เราอาศัยอยู่นั้นอันตรายมากในช่วงสงคราม มีการโจมตีด้วยขีปนาวุธเป็นประจำ” เธอกล่าว

ครอบครัวนี้ต้องอพยพออกจากบ้านหลายครั้งหลายหน เพื่อหลบหนีการโจมตีด้วยรถถังและระเบิดของอิสราเอล “หลายปีแห่งความหวาดกลัว มันหมายความว่า เราไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้ ไม่ใช่เพียงแค่ด้านจิตใจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงด้านการเงินด้วย” เธอกล่าวเสริม โดยอ้างถึงนโยบายการปิดล้อมและการปิดเมืองอย่างถาวรที่บังคับใช้ในฉนวน Gaza

เพื่อเรียนรู้วิธีจัดการกับประสบการณ์ของเธอและช่วยเหลือลูก ๆ Haifa จึงเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการของ ‘War Child’ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กในสภาวะสงคราม ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจการให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตของสังคมในฉนวน Gaza โดยเจ้าหน้าที่ของ War Child ได้สัมภาษณ์พวกเขาเกี่ยวกับเวลาที่พวกเขาเข้ามาร่วมโครงการ Haifa กล่าวว่า “ฉันรู้สึกสบายใจมากที่ได้อยู่กับกลุ่มนี้ ฉันสามารถปรับตัวได้ในเวลาไม่นาน และรู้สึกว่าได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนเป็นอย่างดี ฉันยังคงต้องฝึกหัดจินตนาการและผ่อนคลายมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งช่วยให้ฉันมีทัศนคติเชิงบวกมากขึ้น”

ก่อนที่จะเข้าร่วมกลุ่มที่รับการดูแลของ War Child ทำให้ Haifa พบว่า การแสดงความรู้สึกของเธอออกมานั้นเป็นเรื่องยาก เธอไม่อยากสร้างภาระให้คนรอบข้าง ในระหว่างการประชุม เธอเรียนรู้ที่จะเปิดใจอย่างช้า ๆ แต่แน่นอน สิ่งนี้ได้ช่วยให้ Haifa สร้างความผูกพันอันแน่นแฟ้นกับแม่ของเธอ และเรียนรู้ที่จะพึ่งพาผู้อื่นเพื่อรับการสนับสนุน Haifa พบว่า แม่ของเธอสามารถให้ที่หลบภัยแก่เธอได้อย่างแท้จริง “ฉันกลัวมากในระหว่างการสู้รบ และลูก ๆ ของฉันก็ได้รับความหวาดกลัวนั้นไปด้วย”

Rami กับแม่และน้องชาย

ความฝันแรกของ Rami คือการเป็นศัลยแพทย์เพื่อที่เขาจะสามารถช่วยเหลือผู้คนได้ Haifa ได้เรียนรู้มากมายเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก ๆ ของเธอ เมื่อก่อนบางครั้งเธอก็อารมณ์เสีย แต่ตอนนี้เธอต้องนับหนึ่งถึงสิบเพื่อสงบสติอารมณ์ เธอยังสอนวิธีนี้ให้สามีของเธอและเตือนเขาเสมอเมื่อเขาโกรธลูก ๆ พ่อ-แม่ทั้งสองกลายเป็นผู้รับฟังที่ดีและพยายามให้กำลังใจลูกให้มากที่สุด Rami ได้เห็นความแตกต่างซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในตัวแม่ของเขา เธอไม่ดุเขาและน้อง ๆ ของเขาอีกแล้ว แต่กลับเล่นกับพวกเขาแทน นอกจากนั้นเธอยังแบ่งปันแบบฝึกหัดการผ่อนคลายกับพวกเขาอีกด้วย Rami กล่าวเสริมว่า “ตอนนี้ผมรู้สึกว่า มันง่ายขึ้นที่จะบอกแม่เกี่ยวกับความรู้สึกและปัญหาของตัวผมเอง หลังจากนั้นไม่นาน ผมก็รู้สึกอายน้อยลง และตอนนี้ผมก็กล้าที่จะแสดงรู้สึกมากขึ้น” Rami บอก

กล้าที่จะฝัน
Rami มีความสุขมากที่ได้มีส่วนร่วมกับโปรแกรมของ War Child ในฉนวน Gaza “มันช่วยให้ผมได้รู้จักเพื่อนใหม่ หลังจากนั้นไม่นาน ผมก็รู้สึกเขินอายน้อยลง และทุกวันนี้ผมก็กล้าที่จะแสดงรู้สึกมากขึ้น” ตอนนี้เขาตั้งตารอถึงอนาคตและสิ่งที่เขาต้องการจะบรรลุในปีต่อ ๆ ไป “ความฝันแรกของผมคือ การเป็นศัลยแพทย์เพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้คนได้ เป็นคุณหมอมีความรัก ความฝันที่สองของผมคือ การสร้างครอบครัวและมีลูกเป็นของตัวเอง”

*ชื่อทั้งหมดในบทความนี้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความปลอดภัยของเด็ก ๆ ที่เข้าร่วมในโครงการของ War Child

ที่มา : https://www.warchildholland.org/stories-of-children/Rami/

ทางเข้าออกฉนวน Gaza ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของอิสราเอล

บทความนี้เป็นเรื่องราวอีกด้านที่เกิดขึ้นในฉนวน Gaza ภายใต้การปิดล้อมของอิสราเอล อันเป็นสาเหตุในการโจมตีอิสราเอลของกลุ่ม Hamas ส่วนตัวแล้วไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงใด ๆ ในการแก้ไขปัญหา เพราะประวัติศาสตร์ของโลก ไม่เคยมีครั้งใดที่สามารถการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งสำเร็จลงได้ ด้วยการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นประหัตประหารกัน แม้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นลักษณะเลือดเข้าตาหรือจนตรอกของชาวปาเลสไตน์ก็ตาม สิ่งที่ประเทศตะวันตกปล่อยให้อิสราเอลกระทำต่อชาวปาเลสไตน์ เป็นเรื่องราวที่ไม่ปรากฏในสื่อหลักของโลกตะวันตก ไม่ว่าการปิดล้อมฉนวน Gaza การให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza มีไฟฟ้าใช้ได้เพียงวันละ 4 ชั่วโมง การขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภคอย่างหนักในฉนวน Gaza และการปิดล้อมไม่ให้นำอาหารและเวชภัณฑ์เข้าไปในฉนวน Gaza ของอิสราเอล ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น

ทางเข้าออกฉนวน Gaza ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของอิสราเอล

โดยอิสราเอลได้เพิ่มแรงกดดันต่อชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza นับตั้งแต่ปี 2007 ด้วยการสร้างกำแพงรักษาความปลอดภัยรอบฉนวน Gaza อันเป็นส่วนสำคัญของการลงโทษของอิสราเอลต่อประชาชนชาวปาเลสไตน์ หลังจากชัยชนะของกลุ่ม Hamas ในการเลือกตั้งรัฐสภาปาเลสไตน์เมื่อต้นปี ค.ศ. 2006 และการยึดครองฉนวน Gaza ของกลุ่ม Hamas ในกลางปี 2007 กำแพงล้อมรอบฉนวน Gaza จากตะวันออกไปเหนือมีระยะทางประมาณ 65 กม. และสร้างอาคารสถานีคอนกรีต 6 แห่งตามแนวพรมแดนติดกับฉนวน Gaza ซึ่งอิสราเอลได้มีการควบคุมฉนวน Gaza ทั้งน่านน้ำและน่านฟ้าของตน และมีกำหนดข้อจำกัดที่เข้มงวดในการเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้าเข้าออกฉนวน Gaza ทั้งมีการปิดกั้นห้ามเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้าเข้าออกอยู่บ่อยครั้ง

เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza มีทางเลือกเพียง 2 ทาง คือ 1.) การต่อสู้กับผู้ปิดล้อม หรือ 2.) ขอให้อิสราเอลยอมผ่อนปรนมาตรการลดการปิดล้อม และยอมปล่อยให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza ใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรีตามปกติ

เพราะท้ายที่สุดแล้ว เหตุการณ์ความรุนแรงก็ต้องเกิดขึ้น เป็นเพราะกลุ่ม Hamas มองว่าเป็นความชอบธรรมในการเปิดฉากโจมตีอิสราเอล ด้วยเรื่องราวต่าง ๆ ที่อิสราเอลเป็นผู้กระทำต่อชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza และทำให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza โดยกลุ่ม Hamas จึงต้องตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ 1 คือ การสู้รบกับอิสราเอลที่ปิดล้อมนั่นเอง

ซึ่งอันที่จริงแล้วสิ่งที่ประชาคมโลกควรจะทำ นอกจากการประณามต่อการใช้ความรุนแรงของกลุ่ม Hamas แล้ว ก็คือการกดดันให้อิสราเอลปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza ด้วยความมีมนุษยธรรม เพื่อไม่ให้กลุ่ม Hamas มีเหตุผลอ้างในการโจมตีอิสราเอลอีกต่อไป