หาก ‘กกต’ จับมือ ‘iLaw’ ตั้งทีมสังเกตการณ์เลือกตั้ง 66 ทั้งที่รับเงินจากต่างชาติ หวังร้ายต่อประชาธิปไตยไทย

จากเมื่อวันที่ 23 เม.ย. พ.ศ. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้เข้าพบกับ ร.ต.อ.มนูญ วิเชียรนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย 3 ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง มอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานกับ iLaw เกี่ยวกับการแจ้งเหตุการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งในการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ เพื่อสัมภาษณ์และจัดทำคลิปเผยแพร่เกี่ยวกับการแจ้งเหตุ แจ้งข้อมูล เบาะแสการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เงินรางวัล และการคุ้มครองพยาน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กับ iLaw เพื่อให้การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

การที่กกต.ร่วมมือกับ iLaw ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การจัดทำคลิปแจ้งเหตุ-เบาะแสทำผิดเลือกตั้งนั้น อาจจะด้วยเป็นเจตนาดีของกกต.เอง แต่กกต.ก็ควรจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบถึงหน่วยงานหรือองค์กรที่จะทำกิจกรรมร่วมกันด้วย เพราะภารกิจหลักที่สำคัญยิ่งของ กกต. คือ จัดการเลือกตั้งตามหลัก “สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย”

โดยตัวเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งเอง น่าจะทราบดีว่า iLaw เป็นกลุ่มองค์กรเอกชนที่รับเงินสนับสนุนจาก NED ของสหรัฐฯ (หรือเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็น CIA ภาคประชาชน) เพื่อมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศ ซึ่ง iLaw ก็ยอมรับเองว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึง พ.ศ. 2565 iLaw ได้รับการสนับสนุนงบประมาณหลักสำหรับการดำเนินงาน จากองค์กรต่าง ๆ ดังนี้

1. Open Society Foundation (OSF)

2. National Endowment for Democracy (NED)

3. Fund for Global Human Rights (FGHR)

4. American Jewish World Service (AJWS)

ที่มา : https://www.ilaw.or.th/about

ทั้ง ๆ ที่มีหน่วยงานทั้งเอกชนและรัฐของไทยเองตั้งมากมายออกมาช่วยกันตรวจสอบเลือกตั้งให้สุจริต แต่กกต.กลับไปร่วมมือกับองค์กร NGO ที่รับเงินต่างประเทศ ซึ่งกกต.อาจจะเข้าข่ายทำผิดกฎหมายเสียเอง

โปรดอ่านข้อมูลเพิ่มเติมจาก “ความจริงที่คนไทยต้องทำใจ!! หาก 'สหรัฐฯ' และ 'โซรอส' ยังไม่หยุด ความพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งของไทยจะไม่สูญสิ้น” https://thestatestimes.com/post/2023042648

อีกทั้ง iLaw มีพฤติการณ์และพฤติกรรมร่วมในการเคลื่อนไหวเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้งร่วมกับพรรคการเมืองคือ พรรคก้าวไกล (ตั้งแต่ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่) มาอย่างต่อเนื่องและแนบแน่น และ iLaw ก็ยังมีพฤติการณ์และพฤติกรรมร่วมในการเคลื่อนไหวตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ว่า “เป็นการล้มล้างการปกครอง” ร่วมทั้ง iLaw ยังเข้าไปมีส่วนในการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 ร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองอีกด้วย

และเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2566 สำนักข่าว VOA (Voice of America) ภาคภาษาไทยรายงานว่า ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือทนายจูน จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการบริหาร โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) ได้เดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน และพบปะกับเจ้าหน้าที่อาวุโสแห่งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ สมาชิกณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการด้านวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ ทั้งคู่ได้ถ่ายทอดความกังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ว่า อาจจะไม่ใช่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม เพราะระบบการเมือง ระบบกฎหมาย และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ยังอยู่ภายใต้กลไกที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในขณะที่ประชาชนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี

จากบรรดาข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้หยิบยกมาเสนอให้ท่านผู้อ่านได้พินิจพิจารณาแล้วนั้น กิจกรรมต่าง ๆ ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทำร่วมกับ iLaw นั้น จะทำให้การเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เป็นไปตามหลัก “สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย” ได้อย่างไร? หาก กกต.ยังคงดึงดันที่จะทำกิจกรรมร่วมกับ iLaw ต่อไป อาจจะเป็นการกระทำในลักษณะที่เป็นการยอมให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งผ่าน iLaw อันน่าจะส่งผลกระทบทางลบต่อการเลือกตั้งในภาพรวมมากกว่าผลกระทบทางบวกอย่างแน่นอน