Friday, 26 April 2024
TodaySpecial

วันนี้เป็นวันพิเศษของหน่วยงานกองทัพไทย โดยเป็น ‘วันกองทัพอากาศไทย’ ที่เวียนมาบรรจบครบรอบกว่า 84 ปี ทั้งนี้กิจการบินของไทยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อรัชสมัยรัชกาลที่ 6

โดยเมื่อปี พ.ศ. 2454 ได้มีนักบินชาวเบลเยี่ยมชื่อ ชาลส์ แวน เด็น บอร์น นำเครื่องบินมาจัดแสดงในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่สนามม้าสระปทุม หลังจากนั้น กระทรวงกลาโหมจึงได้ตั้งแผนกการบินขึ้นในกองทัพบก พร้อมทั้งได้คัดเลือกนายทหารบก 3 คน เพื่อไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2457 แผนกการบินได้ยกฐานะขึ้นเป็นกองการบินทหารบก พร้อมกับได้เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ กระทั่งในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2461 กองบินทหารบกจึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกรมอากาศยานทหารบก

ต่อมาในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2478 กรมอากาศยานทหารบกก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น ‘กรมทหารอากาศ’ และในอีก 2 ปีถัดมา กรมทหารอากาศ ก็ได้รับการยกระดับฐานะขึ้นเป็น ‘กองทัพอากาศ’ ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2480 โดยมียศและเครื่องแต่งกายเป็นของตนเอง และมี นาวาอากาศเอก พระเวชยันต์รังสฤษฎ์ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศคนแรก

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กองทัพอากาศได้สร้างผลงานและยุทธเวหาครั้งสำคัญ ๆ เอาไว้มากมาย อาทิ เคยเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามอินโดจีน โดยปัจจุบัน กองทัพอากาศมีกำลังทางอากาศทั้งสิ้น 11 กองบิน กับ 1 โรงเรียนการบิน รวมทั้งมีอากาศยานรวมกว่า 320 ลำ

ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2480 ที่ได้รับการยกฐานะให้เป็น ‘กองทัพอากาศ’ ทำให้ในวันที่ 9 เมษายนของทุกปี ถูกยกให้เป็น ‘วันกองทัพอากาศไทย’ เพื่อเป็นการยกย่องถวายพระเกียรติจอมพล สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นพระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย รวมทั้งยังเป็นการยกย่องนายทหารทั้ง 3 ท่านที่ไปเรียนวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส จนสามารถนำความรู้มาเผยแพร่และพัฒนา ให้กองทัพอากาศก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/กองทัพอากาศไทย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้เมื่อ 11 ปีก่อน เรียกได้ว่า เป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่มีความรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่ง โดยเป็นปฏิบัติการ ‘ขอคืนพื้นที่’ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร จากผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า นปช.

การชุมนุมเรียกร้องครั้งนั้น เกิดขึ้นโดยกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง หรือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ที่รวมตัวกันเรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น ลาออกจากตำแหน่ง

การชุมนุมเริ่มต้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553 การเรียกร้องผ่านมาหนึ่งเดือน กระทั่งวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553 รัฐบาลตัดสินใจเข้าสลายการชุมนุมเป็นครั้งแรก โดยใช้คำว่า ‘ขอคืนพื้นที่’ จากผู้ชุมนุมที่ปักหลักอยู่ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ยาวไปถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เวลาล่วงเข้าสู่คืนของวันที่ 10 เมษายน เกิดเหตุการณ์ปะทะกันอย่างรุนแรง ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร กับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเฉพาะบริเวณสี่แยกคอกวัวและถนนดินสอ ที่มีการใช้อาวุธปืนบรรจุกระสุนจริง เข้าปะทะสู้กัน พร้อมกันนี้ยังมีกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ที่ภายหลังถูกเรียกว่า ‘กลุ่มชายชุดดำ’ นำกำลังติดอาวุธ เข้าก่อเหตุให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น

เสียงปืนดังเป็นระยะตลอดค่ำคืนดังกล่าว ประชาชนที่มีบ้านเรือนบริเวณนั้นต่างพากันขวัญผวากันทั้งคืน สุดท้ายมีผู้เสียชีวิตกว่า 24 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 800 ราย นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญ ที่ถูกบันทึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

แต่ความเลวร้ายยังไม่ยุติเพียงแค่นั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ได้เข้าสลายการชุมนุม และขอคืนพื้นที่จากกลุ่มนปช. ณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ส่งผลให้แกนนำประกาศยุติการชุมนุม แต่หลังจากนั้น กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อมีความพยายามก่อความรุนแรง บุกทุบทำลายห้างสรรพสินค้า รวมทั้งวางเพลิงห้างฯ และสถานที่ทางราชการหลายแห่ง นับเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ ตลอดจนเป็นบาดแผลที่ยังฝังอยู่ในความรู้สึกของคนไทยหมู่มาก มาจนถึงปัจจุบัน


ที่มา:

https://th.wikipedia.org/wiki/การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ_พ.ศ._2553, https://www.khaosod.co.th/politics/news_2400891

หนึ่งในซีรีส์จีนที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นกันอย่างดี แต่รู้หรือไม่ว่า ในโลกความจริง ตัวละครอย่าง ‘เปาบุ้นจิ้น’ นั้น ก็มีตัวตนอยู่จริง ๆ และวันนี้ถูกบันทึกว่า เป็นวันเกิดของตำนานแห่งความยุติธรรมคนนี้

เปาบุ้นจิ้น หรือในภาษาจีนมาตรฐานเรียกว่า เปา เจิ่ง ภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า เปาจิ้น เกิดเมื่อ 11 เมษายน ราวปี ค.ศ. 999 เขาเป็นข้าราชการชาวจีนในรัชสมัยจักรพรรดิเหรินจง แห่งราชวงศ์ซ่ง เมื่ตอนอายุ 29 ปี เจ้าตัวสอบขุนนางชั้นสูงสุดผ่าน ได้เป็นราชบัณฑิตชั้นจิ้นชื่อ

เปา เจิ่ง หรือ เปาบุ้นจิ้น เริ่มต้นชีวิตข้าราชการจากการเป็นผู้ว่าการนครเทียนฉาง ก่อนที่ในปี ค.ศ. 1040 จะได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ว่าการตวันโจว โดยในเวลานั้น เจ้าตัวมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือในความเถรตรง ครั้งหนึ่ง ในช่วงที่เป็นผู้ว่าการตวันโจว มีการตรวจสอบพบว่า ผู้ว่าการคนก่อน ๆ มักขูดรีด ‘จานฝนหมึก’ จำนวนมากจากราษฎร ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่เปาบุ้นจิ้นว่าราชการอยู่ที่นั่น เจ้าตัวจึงขอใช้จานฝนหมึกแค่เพียงอันเดียว เพื่อเป็นการชดใช้ และแสดงให้เห็นถึงความตรงไปตรงมา

กระทั่งในปี ค.ศ. 1044 เปาบุ้นจิ้นก็ได้รับการเรียกเข้านครหลวงไคเฟิง เพื่อดำรงตำแหน่งผู้ตรวจกำกับ ซึ่งที่นี่เอง ที่ทำให้ชื่อเสียงของเปาบุ้นจิ้น ถูกพูดถึงไปในวงกว้าง ด้วยสาเหตุของการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำทุจริตของเหล่าขุนนาง และเจ้าหน้าที่มากมาย

เปาบุ้นจิ้นมีชื่อเสียงในการตรวจสอบการทุจริต และขึ้นชื่อเรื่องความเข้มงวด และไม่อดทนต่อความอยุติธรรม จนชื่อของเขากลายเป็นสัญลักษณ์ของคำว่า ‘ตงฉิน’ หรือความซื่อตรง และแม้จะมีตำแหน่งสูงในแวดวงราชการ แต่เปาบุ้นจิ้นกลับใช้ชีวิตเรียบง่าย มีบุคลิกภาพสุขุม จนเป็นที่เคารพของผู้คนมากมาย

เปาบุ้นจิ้นถึงแก่อสัญกรรมที่เมืองไคเฟิง ในปี ค.ศ. 1062 โดยจักรพรรดิเหรินจงทรงรับศพเขาไว้ในพระราชานุเคราะห์ และประทานสมัญญาแก่เขาว่า ‘เซี่ยวซู่’ ซึ่งแปลว่า กตัญญูปูชนีย์

ชื่อเสียงของเปาบุ้นจิ้นนั้น ไม่ว่าจะกี่ยุคสมัย ก็ยังได้รับการกล่าวขานถึงมาโดยตลอด สะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงความซื่อตรง ที่ตัวเขาได้ทำเอาไว้ ไม่ว่าตัวจะจากไปนานเท่าไร แต่ความดีและความซื่อสัตย์จะคงอยู่ตลอดไป


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/เปาบุ้นจิ้น

วันนี้เป็นสำคัญของ ‘เมืองเชียงใหม่’ โดยเป็นวาระการครบรอบ 725 ปี ของการสถาปนาเมือง เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนา โดยมีพ่อขุนเม็งราย พ่อขุนรามคำแหง และพ่อขุนงำเมือง ทรงร่วมกันสร้างเมืองแห่งนี้ขึ้นมา

ในอดีต เชียงใหม่มีฐานะเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรนครรัฐอิสระ ชื่อว่าอาณาจักรล้านนา ภายใต้การปกครองของราชวงศ์มังราย ยาวนานประมาณ 261 ปี โดยพ่อขุนเม็งราย พ่อขุนรามคำแหง และพ่อขุนงำเมือง ทรงร่วมกันก่อสร้างเมืองใหม่แห่งนี้ขึ้น ณ ที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง บริเวณเชิงดอยสุเทพ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางแห่งอาณาจักรล้านนา และทรงขนานนามว่า ‘นพบุรีศรีนครพิงค์ เชียงใหม่’

ในปี พ.ศ. 2101 เชียงใหม่ได้เสียเมืองให้แก่พม่า และอยู่ภายใต้การปกครองของพม่ากว่า 200 ปี จนกระทั่งในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ทำสงครามขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่ และเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น เมืองรัตตนติงสาอภินวปุรี

ต่อมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระยากาวิละขึ้นเป็นพระบรมราชาธิบดี ปกครองนครเชียงใหม่ และสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน กระทั่งเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปฏิรูปการปกครอง โดยให้เรียกว่า มณฑลพายัพ ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ยกฐานะเมืองเชียงใหม่ ขึ้นเป็น ‘จังหวัดเชียงใหม่’ มาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันเชียงใหม่ ถือเป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือของประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ 20,107 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ และมีประชากรราว 1.76 ล้านคน มากเป็นอันดับ 5 ของประเทศ แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือรากเหง้าทางประเพณีวัฒนธรรมของชาวล้านนา ที่ยังฝังแน่นไม่เสื่อมคลาย จนถูกประกาศให้ว่า เป็นเมืองสร้างสรรค์ของโลกทางด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2560 และกำลังพิจารณาสมัครเป็นเมืองมรดกโลกขององค์การยูเนสโกอีกด้วย

วันนี้ถือเป็นวันครบรอบการสถาปนา 725 ปีของเมือง ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด เชียงใหม่ก็ยังเปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์ไม่เปลี่ยนแปลง

13 เมษายน ถูกยกให้เป็น ‘วันสงกรานต์’ และรวมทั้งยังเป็น ‘วันผู้สูงอายุ’ โดยมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ซึ่งประเพณีนี้ยังแผ่ขยายไปยังประเทศลาว กัมพูชา และพม่าอีกด้วยเช่นกัน

‘สงกรานต์’ ในภาษาสันสกฤต แปลว่า ผ่าน หรือ เคลื่อนย้าย ตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ หมายถึง พระอาทิตย์ที่ผ่านหรือเคลื่อนย้ายจากราศีมีน เข้าสู่ราศีเมษ ในช่วงเดือนเมษายน โดยยกให้การเคลื่อนของพระอาทิตย์นี้ เป็นวันตั้งต้นสู่ปีใหม่ ตามการคำนวนทางโหราศาสตร์

แต่เดิมประเทศไทยใช้ประเพณีตรุษสงกรานต์ เป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ระหว่างวันที่ 13 - 15 เมษายน จนเมื่อปี พ.ศ. 2431 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการเปลี่ยนให้เป็นวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยแทน และต่อมาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 คณะรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ได้ประกาศให้ใช้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2484 เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศอื่น ๆ ตามสากลทั่วโลก และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ประเพณีวันสงกรานต์แต่เดิม ใช้น้ำเป็นองค์ประกอบหลัก โดยใช้รดให้แก่กัน เพื่อความชุ่มชื่น รวมถึงใช้สรงน้ำพระ เพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ยังเป็นประเพณีที่ผู้คนจะได้เดินทางกลับภูมิลำเนาของตัวเอง เพื่อกลับไปหาครอบครัว ไหว้ขอพรจากพ่อแม่ และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ

ด้วยเหตุนี้เอง ต่อมาวันสงกรานต์จึงถูกระบุให้เป็น ‘วันผู้สูงอายุ’ ร่วมด้วย โดยเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2525 หลังองค์การอนามัยโลกรณรงค์ให้เป็นปีที่ส่งเสริมและให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ รัฐบาลไทยในยุคพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ จึงมีมติกำหนดให้ ทุก ๆ วันที่ 13 เมษายน เป็นวันผู้สูงอายุด้วยอีกวันหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการระลึกและให้ความสำคัญกับพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ตลอดจนครูบาอาจารย์ที่อบรมบ่มวิชามาตั้งแต่วัยเยาว์

แม้ปีนี้จะงดเว้นการรดน้ำให้แก่กัน เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด แต่ทางการยังอนุญาตให้มีการรดน้ำขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ได้ ในโอกาสนี้ จึงขอให้คนไทยได้ร่วมกันอนุรักษ์ประเพณี ตลอดจนวัฒนธรรมอันดีงามเอาไว้ พร้อมทั้งปฏิบัติอย่างเหมาะสมและปลอดภัย


ที่มา:

https://th.wikipedia.org/wiki/สงกรานต์

https://www.sanook.com/campus/948044/

https://www.thaihealth.or.th/Content/23793

วันนี้ นอกจากจะเป็นวันครอบครัวแล้ว ในทางราชการ ยังเป็นวันครบรอบ 146 ปี การสถาปนา ‘กระทรวงการคลัง’ อีกด้วย โดยเริ่มต้นเมื่อในรัชสมัยรัชกาลที่ 5

ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขึ้นครองราชย์ ได้ทรงวางระเบียบและปรับปรุงแก้ไขการบริหารราชการแผ่นดินให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2416 ทรงเริ่มทำการปฏิรูปการคลัง โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ เป็นที่ทำการของเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ สำหรับรวบรวมบัญชีเงินผลประโยชน์แผ่นดิน และตรวจตราการเก็บภาษีอากร

ต่อมา ทรงพระราชดำริว่า การภาษีอากรอันเป็นเงินผลประโยชน์สำหรับใช้จ่ายในราชการ และทำนุบำรุงบ้านเมือง ยังมีการจัดที่ไม่รัดกุม เงินผลประโยชน์ของรัฐบาลยังกระจัดกระจาย ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย จึงทรงปรึกษากับสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน พร้อมด้วยคณะเสนาบดี เพื่อตราพระราชบัญญัติกรมพระคลังมหาสมบัติขึ้น เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2418

นอกจากจะถือเป็นกฎหมายงบประมาณฉบับแรกของเมืองไทย พระราชบัญญัติกรมพระคลังมหาสมบัติฉบับนี้ ยังมีฐานะเป็นกระทรวง เนื่องจากใช้คำภาษาอังกฤษว่า Ministry of Finance ซึ่งต่อมาจึงถูกเรียกว่า กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีหน้าที่รับ จ่าย และรักษา เงินแผ่นดิน และเก็บภาษีอากรเงินขึ้นแผ่นดินตลอดทั่วพระราชอาณาจักร

วันเวลาผ่านไป จากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ถูกเปลี่ยนชื่อให้เป็น กระทรวงการคลัง แต่ยังถือเอาวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2418 เป็นวันแรกของการสถาปนากระทรวง ตราบจนถึงปัจจุบัน


ที่มา: https://www.mof.go.th/th/detail/2018-12-21-14-57-33/2018-12-21-16-02-08

‘ไททานิก’ ภาพยนตร์เรื่องดัง ที่ทำรายได้สูงสุด ติดอันดับสองของโลกตลอดกาลกันได้อยู่ และอย่างที่หลายคนทราบดี ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ จากเหตุการณ์เรือโดยสารไททานิกล่มลงกลางมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งในวันนี้ เป็นวันครบรอบ 109 ปี

เรือไททานิก มีชื่อเต็มว่า อาร์เอ็มเอส ไททานิก (RMS Titanic) เป็นหนึ่งในเรือโดยสารที่ได้ชื่อว่า มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1909 - 1911 โดยอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนดวูล์ฟฟ์ ในเบลฟาสต์ ประเทศไอร์แลนด์เหนือ โดยสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ถึง 2,223 คน

ไททานิก จัดว่าเป็นเรือโดยสารที่ได้รับการออกแบบให้มีความสะดวกสบายและความหรูหรามากที่สุดในยุคนั้น แต่ถึงกระนั้น ระบบความปลอดภัยทางทะเลก็ยังไม่ได้มีความทันสมัย และมีมาตรฐานที่สูงนัก ยกตัวอย่างเช่น บนเรือมีเรือชูชีพเพียงพอสำหรับผู้โดยสารแค่ 1,178 คนเท่านั้น

ไททานิก ออกเดินเรือเที่ยวแรก เมื่อวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 โดยเดินทางจากเมืองเซาท์แฮมป์ตัน สหราชอาณาจักร ไปยังนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา แต่เมื่อเดินทางออกไปได้ราว 600 กิโลเมตร เรือก็ชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง ทำให้ผนังกั้นนํ้าชั้นที่ 4 ไม่สามารถทนทานแรงดันนํ้าได้ ส่งผลให้นํ้าทะลักเข้ามาภายในตัวเรือ

ก่อนที่เรือจะจมลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก ช่วงเวลา 2 ชั่วโมงครึ่งก่อนหน้านั้น มีความพยายามในการอพยพผู้คนลงเรือชูชีพ แต่ด้วยอุปกรณ์ที่ไม่เพียงพอ และมีการแก่งแย่งกันอย่างไร้ระเบียบ ส่งผลให้มีผู้รอดชีวิตแค่เพียง 710 คน ส่วนที่เหลืออีกราว 1,514 คน ต้องจบชีวิตลงท่ามกลางอุณหภูมิที่หนาวเหน็บจนร่างกายทนไม่ไหว

ไททานิกถูกบันทึกว่า จมลงสู่ก้นมหาสุมทรแอตแลนติกในเวลา 2.20 น. ของเช้าตรู่วันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 ถึงวันนี้ ผ่านมาแล้วกว่า 109 ปี ผู้คนยังคงกล่าวขวัญถึงโศกนาฏกรรมดังกล่าว รวมทั้งร่วมกันไว้อาลัยต่อการสูญเสียครั้งใหญ่ เท่าที่โลกนี้เคยมีมา


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/อาร์เอ็มเอส_ไททานิก

หนึ่งในกีฬาที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศได้ตลอดมา นั่นคือ กีฬาชกมวย ประเทศไทยเคยมี ‘นักมวยแชมป์โลก’ มากมาย ‘โผน กิ่งเพชร’ คือนักมวยคนแรกที่คว้าแชมป์โลกให้ประเทศไทยได้สำเร็จ วันนี้เมื่อ 61 ปีก่อน เป็นวันที่นักชกคนนี้ก้าวขึ้นสู่ความเป็นแชมป์มวยโลก

โผน กิ่งเพชร หรือชื่อจริงว่า มานะ สีดอกบวบ เป็นชาวอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์โดยกำเนิด เขามีความรักชอบในกีฬาหมัดมวยมาตั้งแต่เด็ก จนเมื่อเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ที่โรงเรียนหัวหินวิทยาลัย เจ้าตัวก็เดินหน้าสู่เส้นทางสายอาชีพนักมวยเต็มตัว

โผนขึ้นชกมวยสากลอาชีพครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2498 โดยเอาชนะน็อก ‘นกนิด ท.ส.’ ได้ในยกที่ 2 พอเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น ต่อมาเจ้าตัวก็มีโอกาสขึ้นชกกับนักมวยต่างชาติเป็นครั้งแรก โดยเอาชนะน็อก มินธัม กัมพุช แชมป์รุ่นแบนตั้มเวทของกัมพูชาไปได้ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2499

ต่อมา โผนได้ขึ้นชิงแชมป์มวยภาคตะวันออกไกลฯ (OPBF) โดยเอาชนะคะแนน แดนนี่ คิด เจ้าของตำแหน่งชาวฟิลิปปินส์ไปได้ ทำให้เขาครองแชมป์ OPBF ในรุ่นฟลายเวท และมีชื่อติดอันดับโลก จนเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2503 โผนก็มีโอกาสขึ้นชกในฐานะผู้ท้าชิง ในรุ่นฟลายเวท โดยปะทะกับแชมป์โลกชาวอาร์เจนตินาที่ชื่อ ปัสคาล เปเรซ

ในการชกครั้งนั้น ถือเป็นครั้งที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินมาร่วมทอดพระเนตรด้วย

ซึ่งผลออกมาว่า โผนสามารถเอาชนะคะแนนไปได้ และได้ขึ้นครองตำแหน่งแชมป์โลกรุ่นฟลายเวท ของสภามวยโลก และสมาคมมวยโลกได้ในที่สุด

โผนสร้างผลงานเป็นแชมปฺโลกถึง 3 สมัย ก่อนจะเสียแชมป์ และภายหลังต้องประสบปัญหาทางร่างกาย จนต้องหันหลังให้กับอาชีพชกมวยในที่สุด เขาเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 47 ปี แต่ได้ฝากชื่อเสียงและความสามารถ จนถูกขนานนามว่า เป็นตำนานคนหนึ่งของวงการมวยสากลของเมืองไทย

วันนี้เมื่อ 61 ปีที่แล้ว เขาคือแชมป์โลกคนแรกในประวัติศาสตร์ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/โผน_กิ่งเพชร

วันนี้เป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทย โดยเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของ ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า และก่อตั้งอาณาจักรธนบุรี เมื่อกว่า 254 ปีมาแล้ว

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระนามเดิมว่า สิน เป็นคนไทยเชื้อสายจีน พระราชสมภพเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ พระองค์ทรงมีถิ่นกำเนิดในแถบภาคกลางมากกว่าจังหวัดตาก ซึ่งคาดกันว่า อยู่ในกรุงศรีอยุธยา

แต่เดิมพระองค์เป็นนายทหารในรัชกาลของสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2310 เกิดการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์ทรงรวบรวมกำลังพลกว่า 5,000 คน ก่อนจะนำทัพขับไล่ทหารพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ พร้อมทั้งอพยพผู้คนและทรัพย์สินลงมาทางใต้ และตั้งราชธานีใหม่ขึ้นที่เมืองธนบุรี โดยเรียกนามเมืองว่า ‘กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร’

ภายหลังการขึ้นทรงราชย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากในเวลานั้น มีขุนศึกที่ตั้งตัวเป็นก๊กเป็นเหล่าขึ้นมากมาย พระองค์ทรงแผ่ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง รวมทั้งยังทรงฟื้นฟูราชอาณาจักรในด้านต่าง ๆ ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติหลังสงคราม ทั้งการส่งเสริมกิจการด้านเศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และการศึกษา

ในรัชสมัยของพระองค์ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังกรุงธนบุรี โดยใช้เป็นสถานที่ประทับและว่าราชการ พร้อมกับปรับปรุงป้อมวิไชยเยนทร์ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์ เป็นที่สังเกตการณ์ได้ในระยะไกล รวมทั้งยังใกล้กับเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการเดินทัพที่สำคัญอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันป้อมดังกล่าวเป็นที่ตั้งของกองทัพเรือ

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงครองราชย์เป็นระยะเวลา 15 ปี และเป็นกษัตริย์องค์เดียวของอาณาจักรธนบุรี โดยมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 30 พระองค์ วันเวลาผ่านมา 250 ปีเศษ นับถึงวันนี้ พระองค์ยังทรงเป็นวีรกษัตริย์ของชาติไทยที่ประชาชนให้ความเคารพสักการะมากที่สุดพระองค์หนึ่ง รวมถึงมีพระบรมราชานุสรณ์ประดิษฐานมากที่สุดอีกด้วย


ที่มา: http://https://th.wikipedia.org/wiki/อาณาจักรธนบุรี

https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

‘องค์กรตำรวจ’ ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานราชการ ที่มีหน้าที่ปกป้องดูแลชีวิต ทรัพย์สิน และความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งวันนี้เมื่อ 119 ปีก่อน ถือเป็นวันสำคัญของหน่วยงาน เนื่องจากเป็น ‘วันสถาปนาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ’ ขึ้นเป็นครั้งแรก

แรกเริ่มเดิมที พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรขึ้นในประเทศไทย ณ มณฑลนครราชสีมา ในเวลาต่อมา กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือลงวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2445 กราบบังคมทูล

เรื่องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ย้ายที่ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธร ไปตั้งที่ ต.ห้วยจระเข้ อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม ซึ่งต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาและลงพระปรมาภิไธยพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ย้ายที่ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจตามที่ประสงค์

ภายหลังจึงได้ถือเอา วันที่ทรงลงพระปรมาภิไธยไว้แก่โรงเรียนเป็นครั้งแรก นั่นคือ วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2445 ให้เป็นวันสถาปนาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ นับแต่นั้นมา

ปัจจุบัน โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้การฝึก ศึกษา และอบรม เหล่านักเรียนนายร้อยตำรวจ และหลักสูตรนักเรียนอบรมชั้นสัญญาบัตรอื่น ๆ เพื่อให้มีคุณลักษณะที่เหมาะสม ทั้งนี้ ผู้ที่ศึกษาตามหลักสูตรหลักของในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จะเรียกว่า 'นักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.)'

ส่วนผู้ที่สำเร็จการศึกษาชั้นสูงตามหลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจ จะได้รับการแต่งตั้งยศเป็น 'ว่าที่ร้อยตำรวจตรี' ปัจจุบันโรงเรียนนายร้อยตำรวจบริหารงานภายใต้พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และพระราชบัญญัติโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พ.ศ. 2551 และย้ายที่ตั้งมาอยู่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 เป็นต้นมา


ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/โรงเรียนนายร้อยตำรวจ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top