13 เมษายน ถูกยกให้เป็น ‘วันสงกรานต์’ และรวมทั้งยังเป็น ‘วันผู้สูงอายุ’ โดยมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ซึ่งประเพณีนี้ยังแผ่ขยายไปยังประเทศลาว กัมพูชา และพม่าอีกด้วยเช่นกัน

‘สงกรานต์’ ในภาษาสันสกฤต แปลว่า ผ่าน หรือ เคลื่อนย้าย ตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ หมายถึง พระอาทิตย์ที่ผ่านหรือเคลื่อนย้ายจากราศีมีน เข้าสู่ราศีเมษ ในช่วงเดือนเมษายน โดยยกให้การเคลื่อนของพระอาทิตย์นี้ เป็นวันตั้งต้นสู่ปีใหม่ ตามการคำนวนทางโหราศาสตร์

แต่เดิมประเทศไทยใช้ประเพณีตรุษสงกรานต์ เป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ระหว่างวันที่ 13 - 15 เมษายน จนเมื่อปี พ.ศ. 2431 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการเปลี่ยนให้เป็นวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยแทน และต่อมาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 คณะรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ได้ประกาศให้ใช้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2484 เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศอื่น ๆ ตามสากลทั่วโลก และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ประเพณีวันสงกรานต์แต่เดิม ใช้น้ำเป็นองค์ประกอบหลัก โดยใช้รดให้แก่กัน เพื่อความชุ่มชื่น รวมถึงใช้สรงน้ำพระ เพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ยังเป็นประเพณีที่ผู้คนจะได้เดินทางกลับภูมิลำเนาของตัวเอง เพื่อกลับไปหาครอบครัว ไหว้ขอพรจากพ่อแม่ และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ

ด้วยเหตุนี้เอง ต่อมาวันสงกรานต์จึงถูกระบุให้เป็น ‘วันผู้สูงอายุ’ ร่วมด้วย โดยเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2525 หลังองค์การอนามัยโลกรณรงค์ให้เป็นปีที่ส่งเสริมและให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ รัฐบาลไทยในยุคพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ จึงมีมติกำหนดให้ ทุก ๆ วันที่ 13 เมษายน เป็นวันผู้สูงอายุด้วยอีกวันหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการระลึกและให้ความสำคัญกับพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ตลอดจนครูบาอาจารย์ที่อบรมบ่มวิชามาตั้งแต่วัยเยาว์

แม้ปีนี้จะงดเว้นการรดน้ำให้แก่กัน เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด แต่ทางการยังอนุญาตให้มีการรดน้ำขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ได้ ในโอกาสนี้ จึงขอให้คนไทยได้ร่วมกันอนุรักษ์ประเพณี ตลอดจนวัฒนธรรมอันดีงามเอาไว้ พร้อมทั้งปฏิบัติอย่างเหมาะสมและปลอดภัย


ที่มา:

https://th.wikipedia.org/wiki/สงกรานต์

https://www.sanook.com/campus/948044/

https://www.thaihealth.or.th/Content/23793