วันนี้เป็นวันพิเศษของหน่วยงานกองทัพไทย โดยเป็น ‘วันกองทัพอากาศไทย’ ที่เวียนมาบรรจบครบรอบกว่า 84 ปี ทั้งนี้กิจการบินของไทยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อรัชสมัยรัชกาลที่ 6

โดยเมื่อปี พ.ศ. 2454 ได้มีนักบินชาวเบลเยี่ยมชื่อ ชาลส์ แวน เด็น บอร์น นำเครื่องบินมาจัดแสดงในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่สนามม้าสระปทุม หลังจากนั้น กระทรวงกลาโหมจึงได้ตั้งแผนกการบินขึ้นในกองทัพบก พร้อมทั้งได้คัดเลือกนายทหารบก 3 คน เพื่อไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2457 แผนกการบินได้ยกฐานะขึ้นเป็นกองการบินทหารบก พร้อมกับได้เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ กระทั่งในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2461 กองบินทหารบกจึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกรมอากาศยานทหารบก

ต่อมาในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2478 กรมอากาศยานทหารบกก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น ‘กรมทหารอากาศ’ และในอีก 2 ปีถัดมา กรมทหารอากาศ ก็ได้รับการยกระดับฐานะขึ้นเป็น ‘กองทัพอากาศ’ ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2480 โดยมียศและเครื่องแต่งกายเป็นของตนเอง และมี นาวาอากาศเอก พระเวชยันต์รังสฤษฎ์ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศคนแรก

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กองทัพอากาศได้สร้างผลงานและยุทธเวหาครั้งสำคัญ ๆ เอาไว้มากมาย อาทิ เคยเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามอินโดจีน โดยปัจจุบัน กองทัพอากาศมีกำลังทางอากาศทั้งสิ้น 11 กองบิน กับ 1 โรงเรียนการบิน รวมทั้งมีอากาศยานรวมกว่า 320 ลำ

ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2480 ที่ได้รับการยกฐานะให้เป็น ‘กองทัพอากาศ’ ทำให้ในวันที่ 9 เมษายนของทุกปี ถูกยกให้เป็น ‘วันกองทัพอากาศไทย’ เพื่อเป็นการยกย่องถวายพระเกียรติจอมพล สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นพระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย รวมทั้งยังเป็นการยกย่องนายทหารทั้ง 3 ท่านที่ไปเรียนวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส จนสามารถนำความรู้มาเผยแพร่และพัฒนา ให้กองทัพอากาศก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/กองทัพอากาศไทย