Tuesday, 13 May 2025
TodaySpecial

10 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 ‘สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2’ เสด็จเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรก

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้แทนพระองค์ในการต้อนรับ สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 (Pope John Paul II) ประมุขแห่งวาติกัน ซึ่งเสด็จเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรก ณ ท่าอากาศยานทหาร กองบัญชาการกองทัพอากาศ ดอนเมือง

โดยในระหว่างการเยือนไทยนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาได้เสด็จไปเยี่ยมค่ายผู้อพยพที่พนัสนิคม และทรงรณรงค์เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพเหล่านั้น อีกทั้งยังทรงบริจาคเงินสดช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอินโดจีน เป็นจำนวน 1 ล้านบาท

ขณะที่ภาพที่ยังคงตราตรึงในความทรงจำอย่างมิรู้ลืมเลือน ก็คือ การก้มลงจูบผืนแผ่นดินไทยขององค์สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์นปอลที่ 2 และภายหลังจากเยือนประเทศไทย พระองค์ยังได้เสด็จเยือนสาธารณรัฐเกาหลี ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะโซโลมอน อีกด้วย

12 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 วันก่อตั้ง ‘สวนโมกขพลาราม’ สถานปฏิบัติธรรมอันสงบและร่มรื่น

‘ท่านพุทธทาสภิกขุ’ คือหนึ่งในภิกษุที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยให้ความเคารพนับถือ แม้ปัจจุบันท่านจะละสังขารไปกว่า 30 ปี แต่ยังมีสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ นั่นคือ ‘สวนโมกขพลาราม’ วันนี้ถือเป็นวันครบรอบ 89 ปี ของการก่อตั้งสถานที่แห่งนี้

สวนโมกขพลาราม ถูกสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2475 แต่เดิม ณ สถานที่แรก สร้างขึ้นที่วัดร้างตระพังจิก อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ในครั้งนั้น ท่านพุทธทาสภิกขุ พร้อมด้วยโยมน้องชาย และคณะธรรมทานอีก 4-5 คน ได้ออกเสาะหาสถานที่ที่มีความวิเวก และเหมาะสมที่จะเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม

กระทั่งได้มาเจอกับวัดร้างแห่งนี้ บนเนื้อที่กว่า 60 ไร่ จึงได้จัดทำเพิงที่พักแบบเรียบง่าย พร้อมกับเข้าอยู่เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2475 ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชาในปีนั้นพอดี โดยที่มาของชื่อ ‘สวนโมกขพลาราม’ เนื่องมาจากบริเวณวัดดังกล่าวมีต้นโมก และต้นพลาขึ้นอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ยังมีความหมายโดยนัยว่า ‘เป็นสวนป่าอันมีกำลังแห่งความหลุดพ้นจากทุกข์’

ต่อมาในปี พ.ศ.2486 สวนโมกข์ได้ย้ายมาอยู่ที่ ‘วัดธารน้ำไหล’ บริเวณเขาพุทธทอง ริมทางหลวงหมายเลข 41 อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี โดยท่านพุทธทาสมีความปรารถนาให้สวนโมกข์เป็นสถานที่แสวงหาความสงบและศึกษาธรรม ภายในวัดจึงมีโรงมหรสพทางวิญญาณ ซึ่งเป็นอาคารที่รวบรวมภาพศิลปะ คำสอนในศาสนานิกายต่าง ๆ รวมทั้งมีภาพพุทธประวัติมากมาย

นอกจากนี้รอบบริเวณวัดยังเป็นสวนป่าร่มรื่น ที่เต็มไปด้วยปริศนาธรรม โดยปราศจากโบสถ์และศาลาอย่างวัดทั่วไป ต่อมาภายหลังจากท่านพุทธทาสมรณภาพในปี พ.ศ.2536 สวนโมกข์แห่งนี้ก็ยังคงมีพระภิกษุและพุทธศาสนิกชน เดินทางมาตักบาตร ฟังธรรม และปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์อยู่เรื่อยมา นับถึงวันนี้ ผ่านมาแล้วกว่า 93 ปี สถานที่แห่งนี้ก็ยังคงทำหน้าที่ช่วยฝึกจิต ชำระใจ และนำทางผู้คนให้ค้นพบกับความสงบ เหมือนดังเช่นที่เป็นมานับจากวันแรก

13 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เปิด 'พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง'

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง ต.อู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เพื่อเก็บรักษา รวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในสมัยต่างๆ ที่ขุดค้นพบ ซึ่งแสดงถึงวิวัฒนาการของมนุษย์แต่ละยุคสมัย เครื่องมือ เครื่องใช้สมัยหินใหม่ ถึงสมัยสัมฤทธิ์ พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดนแถบสุพรรณบุรี เช่น วัฒนธรรมลาวโซ่ง เป็นต้น

สำหรับการก่อตั้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง นั้น เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2446 ในสมัยของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้มีการตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรี และเสด็จสำรวจเมืองโบราณอู่ทอง จากนั้นก็ทรงนิพนธ์เล่าเรื่องเมืองอู่ทองในรายงานเสด็จตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรี รวมถึงทรงนิพนธ์หนังสือเรื่องนิทานโบราณคดีขึ้นมา

จากนั้นก็ได้มีการสำรวจทำแผนผังเมืองโบราณอู่ทอง และในปี พ.ศ. 2502 กรมศิลปากรก็ได้จัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง นี้ขึ้นมาเป็นอาคารชั่วคราว เพื่อไว้เก็บรักษาโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองโบราณอู่ทองค่ะ จนมาในปี พ.ศ.2508-2509 กรมศิลปากร ก็ได้จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทองขึ้นแบบถาวร และเปิดเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2509


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top